‘กอบศักดิ์’ ชี้ ผลพวงปลด รมว.คลัง อังกฤษ สะท้อนนโยบายผิดทิศที่ขาดการกลั่นกรอง

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) และกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊กส่วนตัวว่า..บทเรียนราคาแพงของอังกฤษ !!!

หลายคนอยากรู้ว่า เมื่ออังกฤษยอมเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีคลัง ประเภทปลดกลางอากาศ เพื่อสังเวยแนวนโยบาย ที่ตลาดนักเศรษฐศาสตร์ และแม้กระทั่ง IMF มองว่า เป็นนโยบายที่ "ผิดทิศผิดทาง" และเป็น Big Policy Mistakes แล้วเรื่องจะจบหรือไม่

ในประเด็นนี้ หลังจากท่านรัฐมนตรีคลังคนใหม่ ประกาศนโยบายที่เรียกว่า เกือบจะเป็น Complete U-Turn หันหลังกลับจากรัฐมนตรีคลังคนก่อนหน้า 

ยอมหั่นการลดภาระภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จากเดิมที่ตั้งใจไว้ประมาณ 4.5 หมื่นล้านปอนด์ ให้เหลือเพียง 1.3 หมื่นล้านปอนด์

ลดการช่วยเหลือภาระของประชาชนเรื่องพลังงาน ในช่วงปีหน้า

พร้อมเตือนว่า ในช่วงปลายเดือนตุลาคม อังกฤษอาจจะมีนโยบายรัดเข็มขัดการใช้จ่ายบางส่วนประกาศออกมาเพิ่มเติม เพื่อเอา "การคลัง" ให้เข้าที่ และสร้างความเชื่อมั่นในตัวรัฐบาล

แม้ว่ารัฐบาลอังกฤษจะยอมซะขนาดนี้ บาดแผลและความเสียหาย จากการประกาศนโยบายที่ผิดพลาด ก็ยังปรากฏให้เราเห็น

ที่พอจะปรับตัวดีขึ้นบ้าง คงเป็นค่าเงินอังกฤษ ซึ่งกลับไประดับใกล้ ๆ ก่อนที่จะมีมาตรการ 1.13-1.14 ดอลลาร์/ปอนด์

อย่างไรก็ตาม ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล 30 ปี ซึ่งเคยขึ้นไปถึง 5% แม้จะลงมาบ้างที่ 4.4% แต่ก็ยังสูงกว่าก่อนที่จะออกมาตรการพลาดมา 1% !!!

ดัชนีตลาดหุ้นของอังกฤษ FTSE100 ยังติดลบอยู่ -4.4%

สะท้อนถึงความไม่มั่นใจในฝีมือของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา

สะท้อนความเสียหายในเชิง Policy Credibility ที่หมดไป 

และสะท้อนความเสี่ยงของการที่ท่านนายกจะมีนโยบาย "แปลก ๆ" ออกมาอีกที่ตลาด Price-in เผื่อเอาไว้

นอกจากนี้ การที่รัฐบาลอังกฤษต้องพลิกกลับมาอีกทาง จากการจะกระตุ้นสุดขั้ว มาเป็นรัดเข็มขัด เพื่อดึงความเชื่อถือ หรือ Credibility ให้กลับคืนมา 

หมายความว่า สถานการณ์ได้บังคับให้นโยบายอังกฤษล่าสุดต้อง "เอียงผิดไปอีกข้าง" เพื่อเอา "รถที่แฉลบออกไป" ของรัฐบาลให้เข้ากลับที่

ซ้ำเติมให้อังกฤษมีความเสี่ยงที่จะเกิด Recession ลึกมากขึ้นจากเดิม โดย Goldman Sachs บอกว่าจากที่เคยคิดว่าปีหน้าเศรษฐกิจอังกฤษจะติดลบ -0.4% ตอนนี้ปรับเพิ่มเป็น -1.0%

ที่น่ากังวลใจไปกว่านั้น คนเริ่มพูดกันแล้วว่า หลังจากรัฐมนตรีคลัง Kwarteng ได้ไปแล้ว อีกคนที่ช่วยคิดมาแต่ต้น (และน่าจะอยู่ข้างหลังของ Policy Mistakes ที่ประกาศออกมา) ก็คือ ท่านนายก Liz Truss ก็ควรไปเช่นกัน !!!

เพราะอังกฤษจะมีการเลือกตั้งใหญ่อย่างช้าที่สุดใน 2 ปีข้างหน้า ความผิดพลาดครั้งนี้ จึงกลายเป็นแรงกดดันสำคัญ ที่จะมาเขย่าเก้าอี้ของนายกอังกฤษคนปัจจุบันต่อไป

จึงนับเป็นบทเรียนราคาแพงให้กับอังกฤษและประเทศอื่น ๆ ว่า ตลาดช่วงนี้ อ่อนไหว และ ไม่ให้อภัยง่าย (unforgiving) 

นโยบายต่าง ๆ คงต้องกลั่นกรองออกมาให้ดี

หากพลาดพลั้ง จะนำมาซึ่งความเสียหายที่ยิ่งใหญ่ได้ 


ที่มา : https://www.facebook.com/photo.php?fbid=531091018832416&set=pb.100057945673869.-2207520000.&type=3