Friday, 4 July 2025
ECONBIZ NEWS

คาดปี 68 ไทยมีอินฟลูเอนเซอร์ทะลุ 3 ล้าน หน้าใหม่วันละ 2,740 คน แบรนด์จับตา เงินโฆษณาพุ่ง

(4 ก.พ. 68) MI GROUP เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับวงการอินฟลูเอนเซอร์ไทย โดยคาดการณ์ว่าปีนี้จำนวนอินฟลูเอนเซอร์ในประเทศไทยจะแตะเกือบ 3 ล้านราย เพิ่มขึ้นถึง 1 ล้านคนจากปีก่อน ซึ่งคิดเป็น 4.5% ของประชากรไทย สะท้อนถึงความนิยมอาชีพนี้ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีคนไทยหันมาเป็นอินฟลูเอนเซอร์เฉลี่ยวันละเกือบ 2,740 คน หรือประมาณ 114 คนต่อชั่วโมง

นายภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MI GROUP เปิดเผยว่า สื่อดิจิทัลยังคงเป็นช่องทางหลักในการสื่อสารและการตลาดในปีนี้ โดยคาดว่ามูลค่าตลาดจะแตะ 38,938 ล้านบาท เติบโตขึ้น 15% จากปีก่อน และครองสัดส่วนถึง 45% ของเม็ดเงินโฆษณาและสื่อสารการตลาดทั้งหมด 

ที่น่าสนใจคือ 1 ใน 3 ของเม็ดเงินสื่อดิจิทัลจะถูกใช้ไปกับ "อินฟลูเอนเซอร์" บนแพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งสะท้อนถึงความสำคัญของครีเอเตอร์ในตลาดไทย ที่แบรนด์ต่างๆ เลือกใช้เพื่อเพิ่มยอดขายโดยตรงมากกว่าการสร้างแบรนด์ 

MI GROUP ประเมินว่าการเติบโตของอินฟลูเอนเซอร์ในไทยมาจากกลุ่ม Micro และ Nano อินฟลูเอนเซอร์เป็นหลัก ซึ่งประกอบด้วยผู้ใช้จริง พ่อค้า แม่ค้า นักขาย รวมถึงมืออาชีพและสมัครเล่นที่ทำ Affiliate Marketing ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ 

นอกจากนี้ ตลาดไทยยังให้ความสำคัญกับครีเอเตอร์มากกว่าประเทศอื่นๆ ส่งผลให้แบรนด์ต่างๆ เลือกใช้งบประมาณในส่วนนี้มากเป็นพิเศษ โดยเม็ดเงินที่ลงไปในอินฟลูเอนเซอร์คิดเป็น 1 ใน 3 ของเม็ดเงินสื่อดิจิทัลทั้งหมด 

สรุปแล้ว วงการอินฟลูเอนเซอร์ไทยกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด พร้อมกับบทบาทที่สำคัญในกลยุทธ์การตลาดของแบรนด์ต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการขยายตัวของสื่อดิจิทัลที่ยังคงครองตำแหน่งผู้นำในอุตสาหกรรมสื่อและการโฆษณา

ครม. ไฟเขียวรถไฟความเร็วสูง โคราช-หนองคาย 357 กม. ขณะที่ นายกฯ เร่งเฟสแรก กทม.- โคราช หลังสร้างช้ากว่ากำหนด

(4 ก.พ. 68) ครม. อนุมัติรถไฟความเร็วสูงเฟส 2 โคราช-หนองคาย 357 กม. จ่อเชื่อมรถไฟลาวที่เวียงจันทน์ทะลุถึงจีน คาดเสร็จปี 73 ขณะที่ นายกฯ เร่งรัดเฟสแรก กทม.- โคราช 253 กม. หลังสร้างช้ากว่ากำหนด 

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งที่ 5 ประจำปี 2568 กระทรวงคมนาคม (คค.) ได้ขอเสนอ ครม. พิจารณาอนุมัติให้ดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา–หนองคาย กรอบวงเงิน 341,351.42 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 8 ปี (ปีงบฯ 68-75) โดยให้รัฐบาลรับภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ โดยให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณรายปี และให้กระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินกู้ และค้ำประกันเงินกู้ให้ตามความเหมาะสม

ทั้งนี้ เรื่องนี้เป็นการดำเนินการตามร่างบันทึกความร่วมมือระหว่างไทยและจีนว่าด้วยการกระชับความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ ซึ่งที่ผ่านมา ครม. มีมติเมื่อ 11 กรกฎาคม2560 ที่อนุมัติให้ รฟท. ดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง กทม. -หนองคาย (โครงการฯ ระยะที่ 1) กทม.- นครราชสีมา ระยะทางประมาณ 253 กม. วงเงิน 179,413 ล้านบาท โดยรัฐบาลรับภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (ปีงบฯ 60-63) ซึ่งปัจจุบันโครงการฯ ระยะที่ 1 ล่าช้ากว่ากำหนด โดยมีความคืบหน้าโดยรวมร้อยละ 35.74 ที่คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2571

นายจิรายุ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงคมนาคม โดย รฟท. ได้ขออนุมัติดำเนินโครงการฯ ระยะที่ 2 ประกอบด้วย การดำเนินการใน 2 ส่วน ได้แก่

ส่วนที่ 1 การก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากโครงการฯ ระยะที่ 1 ที่จะเริ่มต้นที่จังหวัดนครราชสีมา ไปจนถึงจังหวัดหนองคาย วงเงิน 335,665.21 ล้านบาท ระยะทาง 357.12 กม. ประกอบด้วย 5 สถานี ได้แก่ (1) สถานีบัวใหญ่ (2) สถานีบ้านไผ่ (3) สถานีขอนแก่น (4) สถานีอุดรธานี และ (5) สถานีหนองคาย โดยจะเริ่มก่อสร้างในปีงบฯ 68 และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปีงบฯ 75 (รวม 8 ปี)

ส่วนที่ 2 การก่อสร้างศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้านาทา วงเงิน 5,686.21 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นการก่อสร้างศูนย์บริการเปลี่ยนถ่ายสินค้าทางรถไฟ ทั้งขาเข้า - ขาออก ระหว่างทางขนาด 1 เมตร ของรถไฟไทย และขนาดทางมาตรฐาน 1.45 เมตร ของโครงการรถไฟลาว – จีน ในรูปแบบศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One stop service) 

สำหรับโครงการฯ ระยะที่ 2 เมื่อพิจารณา EIRR เชิงกว้าง กรณีโครงการฯ ระยะที่ 1 + 2 พบว่า มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจอยู่ที่ร้อยละ 13.23 ซึ่งยังมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ อีกทั้ง คกก.การรถไฟฯ มีมติเห็นชอบโครงการฯ ระยะที่ 2 และ คกก.สิ่งแวดล้อมฯ ได้เห็นชอบรายงาน EIA ของโครงการฯ ระยะที่ 2 ด้วยแล้ว

ทั้งนี้ เลขาฯ ครม. ได้สรุปความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เห็นควรให้กระทรวงคมนาคม เร่งจัดทำรายงานผลการศึกษาความเหมาะสมของรูปแบบการบริหารจัดการรถไฟความเร็วสูง เสนอ ครม. พิจารณาโดยเร็ว และให้การรถไฟฯ ศึกษารูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการ และเสนอขออนุมัติพร้อมกันกับการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยให้ทบทวนและปรับปรุงสมมติฐานที่ใช้ในการศึกษาให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงในปัจจุบัน

โดยนายกรัฐมนตรี สั่งการว่า ขอให้ กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ เร่งรัดดำเนินโครงการฯ ระยะที่ 1 ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เนื่องจากล่าช้ากว่าแผนมานานแล้ว 

จากนั้น ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบในหลักการโครงการฯ ระยะที่ 2 โดยให้กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ ดำเนินการตามความเห็นของสภาพัฒน์ฯ ก่อนดำเนินการต่อไป และให้รับความเห็นของหน่วยงานไปพิจารณาด้วย โดยให้ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ และมติ ครม. ที่เกี่ยวข้องต่อไป

‘เอกนัฏ’ นำ 6 หน่วยงานรัฐ-เอกชนเปิดศูนย์บริการรัฐแบบเบ็ดเสร็จ ปักหมุด ‘อมตะซิตี้’ ชลบุรี เพิ่มศักยภาพออกใบอนุญาตรวดเร็ว - โปร่งใส

(4 ก.พ. 68) 6 หน่วยงานรัฐ จับมือ กลุ่มอมตะ ร่วมเปิดศูนย์ “Government All-Service Center” ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี มุ่งยกระดับการให้บริการครบวงจร กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ลดขั้นตอน อุปสรรคในการขอใบอนุญาตต่างๆ เพิ่มความเชื่อมั่นด้านการลงทุนในพื้นที่ EEC พร้อมดึงนักลงทุนสู่ฐานผลิตสำคัญของประเทศ 

เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 68 ) กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานส่งเสริมการลงทุน สำนักงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก(EEC)  การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ. ) และกลุ่มอมตะ  ร่วมพิธีเปิดศูนย์บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จให้บริการผู้ประกอบการแบบครบวงจร (Government All-Service Center ) อย่างเป็นทางการและเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกที่จัดตั้งศูนย์ฯ นี้  โดยมีนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม  นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก  นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน  นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ รักษาการผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และนายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) 

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า   การดำเนินงานของศูนย์บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จแบบครบวงจร  (Government All-Service Center )   เป็นความร่วมมือของ  6  องค์กร ประกอบด้วย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก(EEC)  สำนักงานส่งเสริมการลงทุน การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ. ) และกลุ่มอมตะ  เพื่อยกระดับการให้บริการ อำนวยความสะดวก ต่อนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ที่เข้ามาติดต่อหน่วยราชการ สามารถใช้บริการผ่าน ศูนย์บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จฯ  ทั้งในด้านการขอใบอนุญาต การยื่นคำขอรับสิทธิประโยชน์ การขออนุญาตนำเข้า และส่งออก เป็นต้น  ที่จะครอบคลุมการให้บริการในพื้นที่ EEC  ซึ่งเป็นศูนย์ฯ แห่งแรกที่ จัดตั้ง ใน จ.ชลบุรี โดยจะเห็นว่า พื้นที่ดังกล่าวมีสถานประกอบการด้านอุตสาหกรรมจำนวนมาก ดังนั้นศูนย์ฯ จะเป็นเครื่องมือ และกลไกสำคัญในการผลักดันให้เกิดการลงทุน เพื่อให้มีความพร้อมในทุกๆด้าน นับเป็นการสนับสนุนภารกิจของกระทรวงอุตสาหกรรมภายใต้นโยบาย "การปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจใหม่" ที่มีเป้าหมายให้เศรษฐกิจไทย มีความสะอาด สะดวก และโปร่งใสมากยิ่งขึ้น จึงเป็นก้าวสำคัญในการให้บริการสำหรับผู้ประกอบการและประชาชนที่เข้ามาติดต่อประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ลงทุน จ.ชลบุรี 

“ ความร่วมมือภาครัฐ และเอกชนในครั้งนี้ เป็นการยกระดับบริการให้กับผู้ประกอบการที่สามารถลดระยะเวลากับหน่วยราชการในขั้นตอนต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรวดเร็ว ทำให้เกิดความเชื่อมั่นกับนักลงทุนที่จะเข้ามาใช้พื้นที่ ใน EEC  เพื่อการลงทุน ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคการผลิต ในการวางระบบการบริหารจัดการด้านการติดต่อหน่วยงานราชการให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ซึ่งในอดีตอาจต้องใช้ระยะเวลายาวนาน ทำให้สูญเสียโอกาสในการลงทุนของผู้ประกอบการ” 

ด้านนายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการเปิดศูนย์บริการแห่งนี้ว่า  “การจัดตั้งศูนย์บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จ “ เป็นกลไกที่สำคัญ ที่จะเอื้อต่อการลงทุน  เพราะพื้นที่การลงทุนในภาคตะวันออก มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจประเทศ ทั้งการนำเข้า และส่งออกสินค้า นับเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของภูมิภาค ดังนั้นการอำนวยความสะดวก ในด้านการขอใบอนุญาตต่าง ๆจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการให้บริการ ให้สอดรับกับภาวะการแข่งขัน และยังคงรักษาขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศได้ 

“Government All-Service Center” ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ แต่ยังเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการลงทุนและการพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน   เป็นการผนึกกำลังร่วมกัน ระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นด้านการอนุมัติ และอนุญาต จากหน่วยราชการที่มีประสิทธิภาพ สู่การพัฒนาประเทศในยุคที่ต้องการความสะดวก รวดเร็ว และทันสมัยอย่างแท้จริง.”นายวิกรม กล่าว

นายพรรษา ใจชน ผู้จัดการฝ่ายประสานงานราชการและนิติกรรม บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้บริหารศูนย์บริการราชการ Government All-Service Center เปิดเผยถึงแนวทางการบริหารจัดการศูนย์ฯ ว่า อมตะมุ่งเน้นการให้บริการและรองรับกิจกรรมต่างๆ ของผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป เพื่อสอดคล้องกับปรัชญา “All Win” ซึ่งเป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจของกลุ่มอมตะ

“ปัจจุบันศูนย์บริการราชการ พร้อมให้บริการผ่าน 6 หน่วยงานหลัก และในอนาคต กลุ่มอมตะมีแผนขยายการให้บริการเพิ่มเติม โดยเชิญหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และองค์กรที่มีบทบาทสำคัญต่อสังคมเข้ามาให้บริการภายในพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมอมตะ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการอำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจและประชาชนได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” นายพรรษา กล่าว

อย่างไรก็ตาม นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ถือเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยมีผู้ประกอบการมากกว่า 800 ราย เข้าดำเนินธุรกิจอยู่ในพื้นที่ นับเป็นจุดเริ่มต้นของการให้บริการที่มุ่งเน้นการอำนวยความสะดวกให้แก่ภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนรองรับนักลงทุนใหม่ที่เล็งเห็นศักยภาพของอมตะ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้พื้นที่แห่งนี้เติบโตเป็นศูนย์กลางธุรกิจและอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งได้ในอนาคต

บอร์ดกองทุนดีอี อนุมัติงบ 2 พันล้าน หนุนพัฒนาเทคโนโลยี 3 ด้าน “การใช้ประโยชน์– ความปลอดภัย - พัฒนาบุคลากรดิจิทัล”

(3 ก.พ. 68) บอร์ดกองทุนดีอี เห็นชอบอนุมัติโครงการจัดทำนโยบายส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและอวกาศ พร้อมอนุมัติกรอบวงเงิน 2 พันล้านบาท หนุนพัฒนาเทคโนโลยีสำคัญ 3 ด้าน “การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ประโยชน์ – ความปลอดภัยในโลกดิจิทัล - การพัฒนาบุคลากรดิจิทัล”

เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2568 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ครั้งที่ 1/2568 โดยมีนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดีอี พร้อมด้วย นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตลอดจนคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมประชุม ณ ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบอนุมัติโครงการหรือกิจกรรมของกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตามมาตรา 26 (1) และ (2) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (เพิ่มเติม) เพื่อเป็นการส่งเสริมในการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รวมทั้งยังได้อนุมัติโครงการสำคัญ ได้แก่ โครงการจัดทำนโยบายส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและอวกาศ (Digital and Space Infrastructure Investment Policies) เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยอาศัยโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีอวกาศ

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบกรอบนโยบายการให้ทุนสนับสนุนจากกองทุนฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ภายในวงเงิน 2,000,000,000 บาท (สองพันล้านบาท) ประกอบด้วย 3 ด้าน ได้แก่ ด้าน Digital Technology (High Impact & Scalability) “การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ประโยชน์” ด้าน Digital Trust & Security “ความปลอดภัยในโลกดิจิทัล” และด้าน Digital Manpower “การพัฒนาบุคลากรดิจิทัล” 

ด้านนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวเสริมว่า กรอบนโยบายการให้ทุนประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ทั้ง 3 ด้านดังกล่าว เป็นการส่งเสริมการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่สอดคล้องและเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งส่งเสริมการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ก่อให้เกิดประโยชน์และผลกระทบต่อประชาชน ในวงกว้าง อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลในอนาคต 

ทั้งนี้ กองทุนดีอีเปิดให้ยื่นแบบคำขอรับทุนส่งเสริม สนับสนุน หรือให้ความช่วยเหลือจากกองทุนฯ ผ่านทางระบบยื่นแบบคำขอฯ โดยผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารได้ที่ https://defund.onde.go.th/

รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (6) : ‘ไฟฟ้าสำรอง’ จำเป็นหรือไม่...ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าอย่างไร???

(3 ก.พ. 68) ทำไมประเทศไทยจึงต้องมี ‘ไฟฟ้าสำรอง’ เป็นเพราะหน่วยงานที่มีหน้าที่ให้บริหารจัดการด้านไฟฟ้าต่าง ๆ กพช. กกพ. กฟผ. กฟน. และ กฟภ. ย่อมต้องทราบดีอยู่แล้วว่า ในแต่ละปี ในแต่ละห้วงเวลา ประเทศไทยต้องใช้ปริมาณไฟฟ้าเป็นจำนวนเท่าใด และจะต้องเตรียมไฟฟ้าในปริมาณเท่าใดเพื่อให้เพียงพอต่อการใช้งานของประชาชนคนไทยผู้ใช้ไฟฟ้าให้ได้ตลอด 24 ชั่วมโมงอย่างต่อเนื่องไม่มีการหยุดเลยในทุกฤดูกาล ทุกสภาวะอากาศ ฯลฯ เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าอย่างไม่มีการหยุดพัก จึงจำเป็นต้องมีการสำรองไฟฟ้าไว้ให้เพียงพอต่อการใช้งานโดยไม่มีการขัดข้องหรือติดขัด ด้วยปริมาณการสำรองที่พอเหมาะพอดีจะมีผลต่อประสิทธิภาพและสมรรถนะในการทำกำไรของการประกอบการธุรกิจไฟฟ้า ซึ่งผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง รับผิดชอบ จะต้องใช้ สติปัญญา ความสามารถ และความรับผิดชอบ จึงจะสามารถรักษาประโยชน์ของทั้ง รัฐ และองค์กร ตลอดจนประโยชน์ของพี่น้องประชาชนคนไทยได้

เพราะหากการสำรองไฟฟ้าไม่เพียงพอต่อการใช้งานแล้วก็จะเกิดผลกระทบต่อการให้บริการแก่ประชาชนและผู้ประกอบการ โดยเฉพาะถ้ากระทบต่อการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งจะกลายความเสียหายอย่างมากมาย ในทางตรงกันข้าม ถ้าหากมีการสำรองกระแสไฟฟ้าไว้จนมากเกินต่อความจำเป็น และเกินกว่าอัตรามาตรฐานปริมาณของกระแสไฟฟ้าที่ควรสำรอง ก็จะเกิดความเสียหายแก่หน่วยงาน เพราะการสำรองไฟฟ้านั้นจะต้องจ่าย  ‘ค่าพร้อมจ่าย (Availability Payment หรือ ค่า AP)’ ซึ่งเป็นค่าความพร้อมเดินเครื่องเพื่อจ่ายไฟฟ้าให้แก่ผู้ผลิตไฟฟ้า ไม่ว่าจะมีการใช้ไฟฟ้านั้นหรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้ ช่วงเวลที่มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องย่อมต้องทราบดีอยู่แล้ว จากข้อมมูลจากสถิติบันทึกจะช่วยคำนวณเพื่อประมาณการปริมาณความต้องการไฟฟ้าในช่วงเวลา และกำหนดปริมาณ ‘ไฟฟ้าสำรอง’ ที่ถูกต้อง ใกล้เคียง และเหมาะสมที่สุดได้ 

‘การสำรองไฟฟ้า’ แบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลักคือ
1. กำลังผลิตสำรองของระบบผลิตไฟฟ้า (Standby Reserve) เป็นโรงไฟฟ้าสำรองตามแผนการผลิตไฟฟ้า โดยมาตรฐานสากลจะกำหนดไว้ราว 15 % ของความต้องการไฟฟ้าสูงสุดเนื่องจากในการวางแผนการผลิตไฟฟ้า จะต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ อย่างรอบคอบ อาทิ ความต้องการไฟฟ้าที่อาจเพิ่มสูงกว่าการพยากรณ์ การหยุดซ่อมโรงไฟฟ้า การเสื่อมสภาพของโรงไฟฟ้า ความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิง ข้อจำกัดของระบบส่งในแต่ละพื้นที่ และลักษณะทางเทคนิคของ โรงไฟฟ้าแต่ละประเภท

2. กำลังผลิตสำรองพร้อมจ่าย (Spinning Reserve) เป็นกำลังผลิตสำรองจากโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องอยู่ หรือ สามารถ สั่งเพิ่มการจ่ายไฟฟ้าได้ทันทีที่ระบบมีความต้องการ ซึ่งตามมาตรฐานจะอยู่ที่ 800-1,600 เมกะวัตต์ หรือ อย่างน้อยมากกว่า กำลังผลิตของโรงไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุด เพื่อรองรับหากเกิดเหตุการณ์ขัดข้องที่โรงไฟฟ้าพลังความร้อนขนาดใหญ่ เช่น กำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ ศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติก็สามารถสั่งจ่ายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นทันที ป้องกันปัญหาไฟฟ้าตกหรือดับ ซึ่งอาจลุกลามจนเกิดไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้าง (Blackout) ได้

อย่างไรก็ตาม ‘การสำรองไฟฟ้า’ ในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันขึ้นกับเงื่อนไขและฐานทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ โดยประเทศที่มีเสถียรภาพด้านพลังงานไฟฟ้าจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้ามากกว่าความต้องการค่อนข้างสูง โดย กฟผ. ได้ศึกษาระบบการผลิตไฟฟ้าของหลายประเทศเอาไว้ ดังนี้ (ข้อมูลของปี พ.ศ. 2563)
•สเปน มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการ 180%
•อิตาลี มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการ 136%
•โปรตุเกส มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการ 130%
•เดนมาร์ค มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการ 130%
•เยอรมนี มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการ 111%
•เนเธอร์แลนด์ มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการ 93%
•สวิสเซอร์แลนด์ มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการท 92%
•จีน มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการ 91%
•ออสเตรเลีย มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการ 65%
•สวีเดน มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการ 57%
•มาเลเซีย มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการ 51%

ตัวอย่างของหลาย ๆ ประเทศที่ระบบไฟฟ้ามีความเสถียร ล้วนแต่มีกำลังการผลิตมากกว่าความต้องการใช้ในประเทศทั้งสิ้น ด้วยการวางแผนและการบริหารจัดการของหน่วยงานที่ดูแลระบบไฟฟ้าของประเทศนั้น ๆ ดังนั้น การมี ‘กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin : RM)’ ใน แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan : PDP) อันเป็นแผนแม่บทในการผลิตไฟฟ้าของประเทศว่าด้วยการจัดหาพลังงานไฟฟ้าในระยะยาว 15 -20 ปี เพื่อให้มั่นใจได้ว่า ประเทศไทยจะมีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอในยามที่เกิดเหตุฉุกเฉินต่าง ๆ หรือกรณีเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ก็ยังจะมีไฟฟ้าใช้ เพียงพอที่จะสนับสนุนภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม อันจะเป็นการเอื้อให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันบนเวทีโลก ในตอนต่อไปจะได้เล่าถึงข้อเท็จจริงของ ‘การสำรองไฟฟ้า’ ของประเทศไทยในมิติต่าง ๆ ไม่ว่า ปริมาณ ‘ไฟฟ้าสำรอง’ ที่มีอยู่ ตลอดจน เหตุผลและความจำเป็นใน ‘การสำรองไฟฟ้า’ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้คนต่างไม่ได้คาดคิดหรือนึกถึงมาก่อน

MOSHI ตอบรับกระแสฟีเวอร์ ‘น้องหมูเด้ง’ เปิดตัวคอลเลกชันใหม่ในราคาย่อมเยาเข้าถึงได้

(3 ก.พ. 68) MOSHI ตอบรับกระแสฟีเวอร์ ‘น้องหมูเด้ง’ เปิดตัวคอลเลกชัน Moshi Moshi x MOO DENG ชูคอนเซ็ปต์สินค้าไลฟ์สไตล์ในราคาย่อมเยาเข้าถึงได้ เอาใจกลุ่มแฟนคลับทั่วประเทศ

‘บมจ. โมชิ โมชิ รีเทล คอร์ปอเรชั่น’ หรือ MOSHI ผู้นำในธุรกิจร้านค้าปลีกสินค้าไลฟ์สไตล์รายใหญ่ของประเทศไทย ตอบรับกระแสความฟีเวอร์ ‘น้องหมูเด้ง’ เปิดตัวคอลเลกชัน Moshi Moshi x MOO DENG ลิขสิทธิ์แท้จากสวนสัตว์เขาเขียว ชูคอนเซ็ปต์สินค้าไลฟ์สไตล์ในราคาย่อมเยาเข้าถึงได้ เอาใจกลุ่มแฟนคลับทั่วประเทศ พร้อมจัดโปรโมชันพิเศษ เพียงซื้อสินค้าครบ 199 บาทขึ้นไป รับฟรี! พัดหมูเด้ง จำกัด 1 ท่าน ต่อ 1 สิทธิ์ พร้อมเดินหน้าดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม ผ่านการสมทบทุนโครงการ "หมูเด้ง" ชวนช่วยผู้ประสบอุทกภัยและดูแลสวัสดิภาพเพื่อนสัตว์ฯ จำนวน 500,000 บาท

นายสง่า บุญสงเคราะห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โมชิ โมชิ รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ MOSHI เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ร่วมกับสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ภายใต้องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย (ZPOT)  ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อต่อยอดกระแสความนิยมของ ‘หมูเด้ง’ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทยที่โด่งดังไปทั่วโลก ผ่านการเปิดตัวคอลเลกชันใหม่ Moshi Moshi x MOO DENG พัฒนาคาแรคเตอร์น้องหมูเด้ง แบบ Officially เพื่อทำสินค้าไลฟ์สไตล์คาแรคเตอร์น้องหมูเด้งออกมาวางจำหน่ายแบบหลากหลาย ครอบคลุมความเป็นสินค้าไลฟ์สไตล์ ในคอนเซ็ปต์ราคาย่อมเยา เข้าถึงได้ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้ทุกช่วงวัย และพร้อมตอกย้ำรับกระแสความโด่งดัง เนื่องจากน้องหมูเด้งเรียกว่าเป็นที่ชื่นชอบของทุกเพศทุกวัย โดยบริษัทฯ ได้พัฒนาสินค้าขึ้นมาเพื่อเอาใจกลุ่มแฟนคลับทั่วประเทศ

สำหรับ Moshi Moshi x MOO DENG จะมีสินค้าจัดเต็มมากมาย ที่เต็มไปด้วยความน่ารักของน้องหมูเด้ง อาทิ สติ๊กเกอร์ลายสุดคิ้วท์ หมอนไดคัท สายห้อยบัตร กระเป๋านุ่มนิ่ม กระบอกน้ำร้อนเย็น รองเท้าแตะ และสินค้าอื่นๆอีกมากมาย ในราคาเริ่มต้นเพียง 20 บาท เท่านั้น เหมือนยกน้องหมูเด้งมาไว้ที่นี่ โดยวางเป้าขยายฐานลูกค้าทุกช่วงวัย เริ่มจัดจำหน่ายที่ร้าน Moshi Moshi จำนวน 107 สาขา และช่องทางออนไลน์ของ Moshi Moshi ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป สามารถติดตามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Facebook Moshi Moshi: https://www.facebook.com/moshimoshi.jp นอกจากนี้ ได้จัดโปรโมชันพิเศษ เพียงซื้อสินค้าครบ 199 บาทขึ้นไป รับฟรี! พัดหมูเด้ง จำกัด 1 ท่าน ต่อ 1 สิทธิ์ สินค้ามีจำนวนจำกัด สิ้นสุด 31 มกราคมนี้ หรือจนกว่าสินค้าจะหมด

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ที่ร่วมสมทบทุนในโครงการ "หมูเด้ง" ชวนช่วยผู้ประสบอุทกภัยและดูแลสวัสดิภาพเพื่อนสัตว์ เพื่อสนับสนุนในการดูแลชีวิต และสวัสดิภาพของสัตว์ป่านานาชนิด จำนวน 500,000 บาท โดยมีเป้าหมายในการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมไทย พร้อมทั้งสนันสนุนการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างยั่งยืนง โดยคำนึงถึงความสำคัญของการช่วยเหลือในทุกภาคส่วน  ทั้งเพื่อนมนุษย์ สิ่งมีชีวิต  และสิ่งแวดล้อม

“บริษัทฯ ต้องการออกสินค้ามาเพื่อตอบโจทย์ตลาดที่กำลังชื่นชอบน้องหมูเด้งอย่างมาก จึงได้ร่วมมือกับทางองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย (ZPOT) เพื่อขออนุญาตในการพัฒนาคาแรคเตอร์น้องหมูเด้งแบบ Officially เพื่อทำสินค้าไลฟ์สไตล์คาแรคเตอร์น้องหมูเด้งออกมาจำหน่าย โดยได้กระแสตอบรับดีมาก เพราะน้องหมูเด้งเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าทุกกลุ่มช่วงอายุ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเด็ก กลุ่มผู้ใหญ่วัยทำงาน หรือกลุ่มผู้ใหญ่ กลุ่มครอบครัว เรียกได้ว่าเหมาะกับทุกคน แม้กระทั่งนักท่องเที่ยวก็มาเหมาในสาขาท่องเที่ยว เพราะจุดเด่นของ MOSHI คือการพัฒนาสินค้าไลฟ์สไตล์ในคอนเซ็ปต์ราคาย่อมเยาเข้าถึงได้ ยิ่งทำให้ถูกใจกลุ่มลูกค้าได้เป็นอย่างดี” นายสง่า กล่าว

‘กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม’ จัดนิทรรศการ!! แสดงผลงาน ‘เซรามิกล้านนา’ เพื่อสร้างนักออกแบบรุ่นใหม่ ในกรอบการพัฒนา อุตสาหกรรมสร้างสรรค์

(2 ก.พ. 68) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม โดย ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัสดุอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ได้เล็งเห็นศักยภาพและโอกาสในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ ได้แก่จังหวัด เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ได้จัดนิทรรศการแสดงผลงานเซรามิก กิจกรรม’ยกระดับอัตลักษณ์เซรามิกล้านนาด้วยทุนทางวัฒนธรรม’ ภายใต้โครงการยกระดับฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ล้านนาสู่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Creative LANNA Forward) เมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ.2568 ณ โรงแรม แอท นิมมาน จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ในกรอบการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry) เพื่อสร้างนักออกแบบรุ่นใหม่ (Young & Smart Designer) รองรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์เซรามิกอัตลักษณ์ล้านนาให้สามารถแข่งขันได้ทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ เน้นการพัฒนาต่อยอดทางทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์เซรามิกอัตลักษณ์ล้านนาที่มีมูลค่าสูงด้วยความคิดสร้างสรรค์ เผยแพร่ผลงานการออกแบบและสามารถต่อยอดสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ ตามแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) 

โดยผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางได้มอบหมายให้ นายประสิทธิ์ ศรีพรหม อุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง เป็นประธานในพิธีกล่าวเปิดงาน และนายภาสันต์ วิชิตอมรพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาวัสดุอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ กล่าวรายงานในกิจกรรม ภายในงานผู้มีเกียรติทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเข้าร่วมกิจกรรม ได้แก่ นายกษิต พิสิษฐ์กุล กรรมการบริหารและรองเลขาธิการสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน นายจิตรเทพ เนื่องจำนงค์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทซีดีไอพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ดร.สิทธิชัย แดงประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี  (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) นายองอาจ กิตติคุณชัย ประธานกิตติมศักดิ์สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ นายปรกฤษฎิ์ สายหัสดี ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กรรมการเลขาธิการ นายสมิต ทวีเลิศนิธ รองประธาน ฝ่ายอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมอื่นๆสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ นายวิเชียร เชิดชูตระกูลทอง รองประธานฝ่ายนวัตกรรมและไอที สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ นายชัดชาญ เอกชัยพัฒนกุล รองประธาน ฝ่ายเศรษฐกิจและการลงทุน สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ นายปรีชา ศรีมาลา นายกสมาคมเครื่องปั้นดินเผาลำปาง นายปรัชญ์ชา ธณาธิปศิริสกุล อาจารย์ชมรมครูทัศนศิลป์จังหวัดลำปาง และนายณัฐนนท์ ภู่อริยพงศ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคลำปาง 

ในงานมีกิจการที่เข้าร่วมทั้งหมด 23 กิจการ โดยมีการประกวดนำเสนอยกระดับอัตลักษณ์เซรามิกล้านนาด้วยทุนทางวัฒนธรรม ผู้ได้รางวัลชนะเลิศในการประกวด ได้แก่ เตาหลวงสตูดิโอ เงินรางวัลมูลค่า 5,000 บาท เงินรางวัลรวมทั้งสิ้นมูลค่า 16,000 บาท และการเสวนาในหัวข้อ ‘การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเซรามิกสร้างสรรค์อัตลักษณ์เซรามิกล้านนา’ ตลอดทั้งงานมีการจัดแสดงผลงานอัตลักษณ์เซรามิกล้านนาของกิจการที่เข้าร่วม ทำให้มีคนสนใจและเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก

‘กระทรวงอุตสาหกรรม’ อัดฉีดเงิน 20 ล้านบาท ผ่าน 4 โครงการเด็ด เสริมแกร่ง!! สร้างความเท่าเทียมในการแข่งขัน รับเศรษฐกิจยุคใหม่

(2 ก.พ. 68) นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอี ตามแนวประชารัฐ เปิดเผยว่า ตามนโยบายการปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ที่ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เน้นย้ำเรื่องการสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันของ SME ไทยนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมเล็งเห็นถึงความสำคัญของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 99.5 ของผู้ประกอบการทั้งหมด และมีบทบาทสำคัญในการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชากรกว่า 12.8 ล้านคนทั่วประเทศ 

ปัจจุบัน SMEs กำลังเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน ทั้งจากสภาวะเศรษฐกิจ การแข่งขันที่รุนแรง และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว กระทรวงอุตสาหกรรมจึงมุ่งมั่นที่จะให้ความช่วยเหลือ SMEs อย่างครบวงจร ทั้งในด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ การพัฒนาศักยภาพธุรกิจ และการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ได้รับงบประมาณจำนวน 20 ล้านบาท เพื่อดำเนิน "โครงการส่งเสริมและพัฒนาเอสเอ็มอี" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับศักยภาพของ SMEs ไทย ให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก และเติบโตอย่างยั่งยืน

สำหรับ ‘โครงการส่งเสริมและพัฒนาเอสเอ็มอี’ ประกอบด้วย 4 โครงการย่อย ที่ครอบคลุม ความต้องการของ SMEs ในทุกมิติ ดังนี้

1. โครงการเสริมแกร่งการเงิน เพิ่มทุนหนุนธุรกิจ (สุขใจ) มุ่งเน้นเสริมสร้างความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับ SMEs ทุกขนาด(Micro/Small/Medium) ในทุกสาขาอุตสาหกรรม โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาศักยภาพ SMEs ในด้านการบริหารจัดการ และช่วยให้สามารถเข้าถึง
แหล่งเงินทุนเพื่อต่อยอดธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ กิจกรรมในโครงการประกอบด้วยอบรมเชิงปฏิบัติการ ‘บริหารเงิน ฉบับ SMEs’ การจัด Business Matching เชื่อมโยง SMEs กับแหล่งเงินทุน และการให้คำปรึกษาแนะนำ
ด้านการเงินแบบตัวต่อตัว โดยตั้งเป้าหมายไว้ที่ 60 กิจการ และ 300 คน ด้วยงบประมาณ 1.08 ล้านบาท

2. โครงการยกระดับธุรกิจเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน (เปิดใจ) มุ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจ SMEs ในอุตสาหกรรมศักยภาพ (S-Curve) สู่ยุคดิจิทัล และปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยนำเทคโนโลยี นวัตกรรม และโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ลดต้นทุน และสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยมีกิจกรรมต่างๆ เช่น การอบรม ‘Digital Transformation for SMEs’ การศึกษาดูงานธุรกิจต้นแบบด้าน BCG และการสนับสนุนการเข้าถึงเทคโนโลยีและเครื่องจักรที่ทันสมัย โครงการนี้ตั้งเป้าหมาย ไว้ที่ 200 กิจการ และ 400 คน ด้วยงบประมาณ 10 ล้านบาท

3. โครงการพัฒนาฮาลาลไทย รับรองได้ ขายส่งออกชัวร์ (มั่นใจ) มุ่งพัฒนาศักยภาพธุรกิจฮาลาลของ SMEs ให้ได้มาตรฐานสากล พร้อมขยายตลาดสู่ต่างประเทศ โดยให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการทุกขนาด (Micro/Small/Medium) ในอุตสาหกรรมฮาลาล ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การให้คำปรึกษาแนะนำการขอรับรองมาตรฐานฮาลาล การอบรม ‘เจาะตลาดฮาลาลโลก’ และการพัฒนาบรรจุภัณฑ์และกลยุทธ์ทางการตลาดสำหรับ
สินค้าฮาลาลเพื่อผลักดันให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ โดยตั้งเป้าหมายไว้ที่ 100 กิจการ และ 300 คน ด้วยงบประมาณ 7 ล้านบาท

4. โครงการพลิกชีวิต ฟื้นธุรกิจ ปรับหนี้ให้อยู่รอด (สู้สุดใจ) มุ่งช่วยเหลือ SMEs ที่กำลังประสบปัญหาหนี้สิน ให้สามารถฟื้นฟูกิจการและกลับมาดำเนินธุรกิจได้อีกครั้ง โดยเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ของกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ทุกขนาด (Micro/Small/Medium) ในทุกสาขาอุตสาหกรรมเข้าร่วมโครงการ เพื่อรับคำปรึกษาแนะนำ ในการปรับโครงสร้างหนี้ การเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้กับเจ้าหนี้และการอบรม ‘ปรับแผนธุรกิจ สร้างโอกาสใหม่’ โดยตั้งเป้าหมายช่วยเหลือ SMEs ไว้ที่ 40 กิจการด้วยงบประมาณ 1.92 ล้านบาท

“โครงการส่งเสริมและพัฒนาเอสเอ็มอีนี้ จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยคาดว่าจะช่วยให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และช่วยให้ลูกหนี้ของกองทุนฯ สามารถแก้ไขปัญหาหนี้สิน และพลิกฟื้นธุรกิจกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง” ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวทิ้งท้าย

‘ปีกทอง ทองใหญ่’ CEO คนใหม่ OR โชว์วิสัยทัศน์ ตั้งเป้าส่วนแบ่งการตลาดปีนี้ 38% กลับไปเท่ากับ ปี 66

(31 ม.ค.68) หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ของ OR ประกาศวิสัยทัศน์มุ่งเสริมความแข็งแกร่งองค์กรผ่าน 3 พันธกิจหลัก ทั้ง Seamless Mobility, All Lifestyles และ Global Market โดยใช้ดิจิทัลและนวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อน พร้อมผลักดันไทยสู่การเป็น Oil Hub แห่งภูมิภาค ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ครบวงจร ด้วยแนวคิด 'They grow We grow' เพื่อสร้างการเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน

หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เปิดเผยในโอกาสที่ได้เข้ารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ว่า ตนพร้อมสานต่อวิสัยทัศน์ 'Empowering All toward Inclusive Growth' หรือ 'เติมเต็มโอกาส เพื่อทุกการเติบโตร่วมกัน' พร้อมเน้นย้ำถึงการต่อยอดนโยบาย OR SDG ที่มุ่งสร้างสมดุลในทุกมิติ ทั้ง ด้าน S: Small การสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อย ด้าน D: Diversified การลงทุนในธุรกิจที่เสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจหลักของ OR และ ด้าน  G: Green การดูแลสิ่งแวดล้อม โดยที่ผ่านมา OR ได้สร้างผลงานที่โดดเด่น อาทิ การยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนผ่านโครงการไทยเด็ด การสนับสนุนผู้เปราะบางทางสังคมผ่าน Café Amazon for Chance รวมถึงการติดตั้ง Solar Roof ในสถานีบริการ PTT Station ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมตั้งเป้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2030 และ Net Zero ในปี 2050 พร้อมทั้งตั้งเป้าที่จะทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดของ OR เพิ่มขึ้น 2-3% ในปี 68 หรือเติบโตอยู่ที่ระดับ 38% เหมือนปี 66 หลังจากที่ปัจจุบันอยู่ที่ 35% 

ในด้านการขับเคลื่อนธุรกิจ OR จะมุ่งเน้นการใช้ Digitalization & Innovation เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการเสริมความแข็งแกร่งของธุรกิจ โดยที่ผ่านมา OR ถือเป็นบริษัทแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่นำระบบ SAP S/4 HANA มาใช้ในอุตสาหกรรมน้ำมันและค้าปลีก พร้อมพัฒนา Control Tower Dashboard เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและตัดสินใจทางธุรกิจ โดยมุ่งเสริมความเข้มแข็งใน 3 พันธกิจสำคัญ ได้แก่  Seamless Mobility มุ่งเสริมความเป็นผู้นำในธุรกิจน้ำมันผ่านการขยายเครือข่ายสถานีบริการและเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการพัฒนาสู่พลังงานทางเลือก เช่น สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า EV Station PluZ และการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ โดยใช้กลยุทธ์ Thailand Mobility Partner ในการเปลี่ยนผ่านจากธุรกิจน้ำมัน (Fossil Based) สู่ธุรกิจพลังงานแบบผสมผสาน (New Energy-Based) ด้าน All Lifestyles มุ่งเสริมความแข็งแกร่งของ Café Amazon ตลอด Value Chain พร้อมแสวงหาโอกาสการลงทุนร่วมกับพันธมิตรในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงเริ่มศึกษาธุรกิจ Health & Wellness ที่มีโอกาสเติบโตสูง ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์กระจายพอร์ทการลงทุน (Diversify Portfolio) และ Global Market ที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนในประเทศที่มีศักยภาพสูง โดยมีแผนลงทุนเพื่อสร้างความเข้มแข็งในโครงสร้างพื้นฐานในต่างประเทศ 

นอกจากนี้ OR จะมุ่งเน้นการขับเคลื่อนองค์กรอย่างรอบด้าน พร้อมผลักดันประเทศไทยสู่การเป็น Oil Hub แห่งภูมิภาค ด้วยการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ครบวงจร ทั้งการเชื่อมโยงเครือข่ายด้านน้ำมันระหว่างประเทศ และการสร้าง New Magnet เพื่อยกระดับระบบนิเวศทางธุรกิจให้แข็งแกร่ง สอดคล้องกับวิสัยทัศน์การเติมเต็มโอกาส เพื่อสร้างการเติบโตร่วมกันอย่างมั่นคงและยั่งยืน

“การขับเคลื่อนองค์กรในยุคที่มีความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ จะต้องสร้างความแข็งแกร่งจากภายใน ควบคู่ไปกับการสร้างการเติบโตในทุกมิติ ทั้งด้านธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการปรับแนวความคิดการดำเนินธุรกิจภายใต้หลักการ 'They grow We grow' โดยจะสร้างความเชื่อมั่นและการสื่อสารที่ใกล้ชิดผ่านโครงการ 'CEO on tour' เพื่อพบปะพูดคุยกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ พนักงาน พันธมิตร นักลงทุน และสื่อมวลชน” หม่อมหลวงปีกทอง กล่าวเสริมในตอนท้าย

ในโอกาสนี้ หม่อมหลวงปีกทอง ได้เปิดตัว Facebook Fanpage 'ต้น ปีกทอง - Tone Peekthong' อย่างเป็นทางการ เพื่อเป็นช่องทางในการสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลอีกด้วย

รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (5) : ‘ก๊าซธรรมชาติ’ เชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าของไทย

บอกเล่าเรื่องของ ‘ค่าไฟฟ้า’ ก็ต้องพูดถึงเรื่องราวเกี่ยวกับเชื้อเพลิงพลังงานที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยด้วย ซึ่งในปัจจุบันเราใช้ ‘ก๊าซธรรมชาติ’ เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า เพราะสมัยก่อนมีการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้า แต่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ด้วยคุณสมบัติของ ‘ก๊าซธรรมชาติ’ ซึ่ง ถูกและสะอาดกว่าน้ำมัน ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และไม่มีพิษ ในสถานะปกติมีสภาพเป็นก๊าซ หรือไอที่อุณหภูมิและความดันบรรยากาศ โดยมีค่าความถ่วงจำเพาะต่ำกว่าอากาศ จึงเบากว่าอากาศ เมื่อเกิดการรั่วไหลจะฟุ้งกระจายไปตามบรรยากาศอย่างรวดเร็ว จึงไม่มีการสะสมลุกไหม้บนพื้นราบ และเมื่อเผาไหม้จะเป็นเชื้อเพลิงสะอาดและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้เชื้อเพลิงประเภทน้ำมันและถ่านหิน จัดว่าเป็นพลังงานที่มีความปลอดภัยสูงสุดอย่างหนึ่งในปัจจุบัน

ประเทศไทยได้มีการสำรวจพบแหล่ง ‘ก๊าซธรรมชาติ’ 2 แหล่ง คือ ในทะเลบริเวณอ่าวไทย และบนบก อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น จึงได้นำมาใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 โดยการนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า และในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อทดแทนการใช้ถ่านหินและน้ำมันเตา ซึ่งมีราคาสูงและต้องนำเข้าจากต่างประเทศในแต่ละปีมหาศาล และขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญความผันผวนของราคาน้ำมันตลาดโลกซึ่งเสี่ยงต่อความมั่นคงด้านพลังงาน การนำก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยขึ้นมาใช้ จึงเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการพึ่งพาพลังงานที่มีอยู่ภายในประเทศของเราเองอย่างเป็นรูปธรรม และเนื่องด้วยก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงที่สะอาด คุณภาพดีและราคาถูกกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น ๆ ทำให้ปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติของไทยสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี ผู้รับสัมปทานสำรวจและผลิตก๊าซจึงได้เสาะแสวงหาแหล่งก๊าซใหม่ ๆ เพื่อนำก๊าซจากแหล่งที่มีอยู่ขึ้นมาใช้ให้ได้มากที่สุด ขณะเดียวกันหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ได้พยายามนำก๊าซธรรมชาติมาใช้ให้ได้ประโยชน์สูงสุด นอกเหนือจากการนำไปเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรมและยานพาหนะ โดยให้การสนับสนุนพิเศษในการนำก๊าซธรรมชาติ มาเป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์ที่เรียกว่า ‘CNG (Compressed Natural Gas)’ หรือ ‘NGV (Natural Gas for Vehicle)’ นั่นเอง

ปัจจุบันประเทศไทยใช้ ‘ก๊าซธรรมชาติ’ จากแหล่งอ่าวไทย ราว 63.5% ซึ่งกำลังจะหมดไป และนำเข้าจากเมียนมา ราว 16% (จากแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติยาดานา และแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเยตากุน) ภายใต้สัญญาซื้อขาย 30 ปี ซึ่งจะครบสัญญาในปี พ.ศ. 2571 และ 2574 การนำเข้า ‘ก๊าซธรรมชาติ’ จากเมียนมาถือเป็นความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางพลังงานของไทย ด้วยย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2558 เมียนมาต้องซ่อมบำรุงแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติ จนต้องหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติให้ไทย ซ้ำในปัจจุบันเองเมียนมาก็มีปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในจนอาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบการจ่าย ‘ก๊าซธรรมชาติ’ เข้ามาในประเทศไทยได้ จึงต้องเพิ่มการนำเข้า ‘ก๊าซธรรมชาติ’ ในรูปของ ‘ก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas : LNG) ซึ่งก็คือ ‘ก๊าซธรรมชาติ’ ที่ถูกทำให้กลายเป็นของเหลวโดยผ่านกระบวนการทำให้เย็นลง เพื่อสามารถบรรจุในถังเก็บเพื่อการขนส่งได้

เมื่อ ‘ก๊าซธรรมชาติ’ จากแหล่งเดิมที่ไทยใช้ในการผลิตไฟฟ้าเริ่มผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้ต้องนำเข้า LNG จากประเทศผู้ผลิตทั่วโลก (ราว 20.5%) แต่เมื่อเกิดสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนขึ้นใน ปี พ.ศ. 2565 ประเทศสมาชิกองค์การ NATO ซึ่งเคยนำเข้า LNG จากรัสเซียเพื่อใช้เป็นพลังงานในครัวเรือน ยกเลิกการซื้อ LNG จากรัสเซีย จึงทำให้ LNG ในแหล่งผลิตต่าง ๆ มีราคาพุ่งสูงขึ้นตั้งแต่นั้นมา ราคา LNG ในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้น รวมถึงสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่านั้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการคำนวณ ‘ค่าไฟฟ้า’ ของไทยด้วย โดยเฉพาะ ‘ค่าไฟฟ้าผันแปร’ หรือ ‘ค่า Ft (Fuel Adjustment Charge (at the given time))’ ซึ่งใช้ในการคำนวณเพื่อปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ โดยเป็น ‘ค่าไฟฟ้า’ ในส่วนที่มีการปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้นหรือลดลงเป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าจากเอกชนหรือประเทศเพื่อนบ้าน รวมไปถึงค่าใช้จ่ายที่การไฟฟ้าฯไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะเป็นผู้พิจารณาปรับค่า Ft ทุก 4 เดือน (แต่จนถึงทุกวันนี้คนไทยส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่า รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานเป็นผู้ที่กำหนดราคาค่าไฟฟ้า) 

แต่เดิมการนำเข้า ‘ก๊าซธรรมชาติ’ ของไทยนั้นถูกผูกขาดโดย ปตท. ทั้งจากแหล่งในอ่าวไทยและเมียนมา และ LNG ก็เช่นกัน พึ่งจะไม่นานมานี้เองที่ ‘ผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้าเอกชน’ สามารถจะนำเข้า LNG ได้เอง ปัญหาความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางพลังงานของไทยจากการใช้ ‘ก๊าซธรรมชาติ’ และ LNG เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้านั้น กำลังได้รับการแก้ไขโดย พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ด้วยการจัดตั้ง ‘ระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve : SPR)’ เพื่อให้รัฐสามารถถือครองสำรองน้ำมันและก๊าซสำรองให้เพียงพอใช้ในประเทศได้ถึง 90 วัน ปัจจุบันการสำรองดังกล่าวดำเนินการโดยผู้ค้า ‘ก๊าซธรรมชาติ’ และ LNG มีการสำรองในปริมาณที่ค่อนข้างน้อยมาก ด้วยปริมาณที่สำรองที่มีอยู่จึงต้องแบกรับความเสี่ยงจากผลกระทบทั้งด้านปริมาณและราคาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

สำหรับตอนต่อไปจะได้บอกเล่าถึงเรื่องของ ‘ไฟฟ้าสำรอง’ ด้วยการกำหนดให้มี ‘ไฟฟ้าสำรอง’ ในปริมาณที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมกับสถานการณ์ตามบริบทของการใช้ไฟฟ้าในขณะที่เป็นอยู่นั้น จะเป็นปัจจัยที่ (1)ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้น เนื่องจาก กฟผ. จะต้องเสีย ‘ค่าพร้อมจ่าย (ค่า AP)  มากขึ้น และ (2)เกิดความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้า หาก ‘ไฟฟ้าสำรอง’ ไม่เพียงพอต่อการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านไฟฟ้าของประเทศที่อาจเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ในปัจจุบัน ยังมีข้อถกเถียงโต้แย้งถึงความถูกต้องเหมาะสมของปริมาณ ‘ไฟฟ้าสำรอง’ ที่ประเทศไทยอย่างมากมาย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top