Thursday, 3 July 2025
ECONBIZ NEWS

‘สุริยะ’ ยัน รถไฟฟ้า 20 บาททุกสีทุกสาย มาแน่ คาดสามารถประกาศใช้เดือนกันยายน นี้

‘สุริยะ’ ยืนยัน นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาททุกสีทุกสาย ประกาศใช้ในเดือน ก.ย. นี้ ชี้ รถไฟฟ้า 20 บาท ดันผู้ใช้บริการ สายสีม่วง-สายสีแดง โต 10.86%

(13 ก.พ. 68) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ที่ในปัจจุบันได้ดำเนินการมาแล้วกว่า 1 ปี 2 เดือนในโครงการรถไฟฟ้า 2 เส้นทาง ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - คลองบางไผ่ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ - รังสิต และช่วงบางซื่อ - ตลิ่งชัน ได้ผลตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี สะท้อนได้จากข้อมูลในช่วงที่ผ่านมาที่มีสถิติการมีผู้ใช้บริการสูงที่สุด (นิวไฮ) ตั้งแต่เปิดให้บริการ โดยทั้ง 2 สายดังกล่าว มีปริมาณผู้โดยสารรวม 3,054,439 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.86 และรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.28 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ นายสุริยะ ยืนยันจะประกาศใช้นโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายในโครงการรถไฟฟ้าทุกสี ทุกสาย และทุกเส้นทางภายในเดือนกันยายน 2568 ตามที่เคยกำหนดไว้ ภายใต้การขับเคลื่อนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. …. ผ่านการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม ที่ในขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการตามกระบวนการ คาดว่า จะประกาศราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ในช่วงกลางปี 2568 และเสนอประกาศกฎหมายลำดับรองภายในเดือนกันยายน 2568

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า เมื่อนโยบายนี้ ครอบคลุมในทุกเส้นทาง จะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอย่างแน่นอน นอกจากนี้ เมื่อมีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้นแล้ว คาดว่า รถไฟฟ้าสายสีม่วง และรถไฟฟ้าสายสีแดง จะมีรายได้เท่ากับหรือมากกว่าช่วงก่อนเริ่มนโยบายภายในปี 2568 หรือเร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้ จากเดิมที่คาดว่าภายในระยะ 2 ปี 7 เดือนหลังจากเริ่มนโยบาย ซึ่งส่งผลให้ภาครัฐอาจจะไม่ต้องชดเชยส่วนต่างรายได้ให้กับทั้ง 2 โครงการดังกล่าวแล้ว

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า จากแนวโน้มปริมาณผู้โดยสารที่ตอบรับนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายนั้น ถือว่า เป็นสัญญาณที่ดีที่รัฐบาล และกระทรวงคมนาคมได้ช่วยลดภาระค่าครองชีพในการเดินทางให้กับพี่น้องประชาชน อีกทั้งยังจูงใจให้หันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งเป็นอีก 1 ปัจจัยในการช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 และสร้างโอกาสในการเดินทางอย่างเท่าเทียมของคนทุกกลุ่มด้วย

มาสด้าทุ่ม 5,000 ล้าน!! ดันไทยขึ้นแท่นฐานผลิต B-SUV Mild Hybrid เตรียมผลิต 1 แสนคันต่อปี ส่งออกญี่ปุ่น-อาเซียน-ตลาดโลก

(13 ก.พ.68) นายมาซาฮิโร โมโร (Masahiro Moro) ประธานและซีอีโอของบริษัท มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีของไทยเพื่อหารือเกี่ยวกับแผนการขยายการลงทุนในประเทศไทย โดยมาสด้าเตรียมทุ่มงบกว่า 5,000 ล้านบาท เพื่อใช้ไทยเป็นฐานการผลิตหลักของรถยนต์อเนกประสงค์ B-SUV แบบ Mild Hybrid (MHEV) ตั้งเป้าการผลิตที่ 100,000 คันต่อปี เพื่อส่งออกไปยังตลาดทั่วโลก

แผนการลงทุนครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากมาตรการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หรือบอร์ดอีวี ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้เห็นชอบไปเมื่อเดือนธันวาคม 2567 โดยมาตรการดังกล่าวรวมถึงการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์ Hybrid (HEV) และ Mild Hybrid (MHEV) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 7 ปี ตั้งแต่ปี 2569 ถึง 2575 นอกจากนี้ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ยังได้ออกมาตรการส่งเสริมเพื่อกระตุ้นการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ผลิตที่นำเทคโนโลยีอัตโนมัติและระบบหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต

นายมาซาฮิโร โมโร เปิดเผยว่า มาสด้ามีประวัติการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมายาวนานกว่า 70 ปี และได้ลงทุนสร้างฐานการผลิตมาอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มจากโรงงาน AutoAlliance (AAT) ในจังหวัดระยองเมื่อปี 2538 เพื่อผลิตรถยนต์นั่งและรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และโรงงาน Mazda Powertrain Manufacturing Thailand (MPMT) ในจังหวัดชลบุรี เมื่อปี 2558 สำหรับการผลิตเครื่องยนต์และเกียร์อัตโนมัติ โรงงานเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตของมาสด้าและซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้อง

สำหรับการลงทุนครั้งล่าสุด มาสด้ามุ่งมั่นผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์พลังงานทางเลือก (xEV) โดยเพิ่มงบลงทุนกว่า 5,000 ล้านบาทเพื่อผลิต B-SUV Mild Hybrid ซึ่งเป็นรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าเข้ามาช่วยขับเคลื่อนเพื่อลดการใช้เชื้อเพลิง ลดมลภาวะ และเพิ่มความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล รถยนต์รุ่นนี้จะถูกผลิตเพื่อจำหน่ายภายในประเทศและส่งออกไปยังญี่ปุ่น กลุ่มประเทศอาเซียน และตลาดโลก การลงทุนดังกล่าวยังครอบคลุมถึงการผลิตชิ้นส่วนสำคัญ เช่น เครื่องยนต์ เกียร์ และแบตเตอรี่ โดยตั้งเป้าที่จะเริ่มกระบวนการผลิตภายในปี 2570

นอกจากการขยายฐานการผลิต มาสด้ายังให้ความสำคัญกับการพัฒนาเครือข่ายซัพพลายเชนในประเทศเพื่อรองรับเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ โดยการลงทุนนี้ถือเป็นก้าวสำคัญภายใต้แนวทาง Multi-Solution ของมาสด้า ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความร่วมมืออันยาวนานระหว่างบริษัทกับประเทศไทย พร้อมทั้งมีส่วนช่วยสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์และเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว

รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (11) : ‘ไฟฟ้าสำรอง’ ใช่...สาเหตุของ ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ หรือไม่?

นักวิชาการ NGO และสื่อบางสำนักมักหยิบยกเอาเรื่องของ “การมี ‘ไฟฟ้าสำรอง’ มากจนเกินความต้องการ จนทำให้ ‘ค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment หรือ ค่า AP)’ อันเป็นต้นทุนค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่การไฟฟ้าฯ จ่ายให้กับโรงไฟฟ้าเอกชนเป็นค่าความพร้อมในการเดินเครื่องเพื่อจ่ายไฟฟ้า ไม่ว่าโรงไฟฟ้าจะผลิตหรือไม่ ก็ตาม สูงมาก” ว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้ ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ ซึ่ง TST ได้อธิบายถึงข้อเท็จในส่วนที่เกี่ยวข้องใน “รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (7) : ‘ไฟฟ้าสำรอง’ ปริมาณ เหตุผล และความจำเป็น” แล้ว สำหรับตอนนี้จะได้ขยายความข้อเท็จจริงให้ท่านผู้อ่านได้รู้และเข้าใจได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ทำไม? นักวิชาการ NGO และสื่อบางสำนักจึงอ้างว่า ‘ไฟฟ้าสำรอง’ ของไทยนั้นมากถึง 50% แต่ขณะที่โฆษกกระทรวงพลังงานได้อธิบายชี้แจงโดยระบุว่า ‘ไฟฟ้าสำรอง’ ในปัจจุบันอยู่ที่ 25.5% เท่านั้น แล้วทำไมตัวเลข ‘ไฟฟ้าสำรอง’ ของนักวิชาการ NGO และสื่อบางสำนัก จึงมากกว่าตัวเลขปริมาณ ‘ไฟฟ้าสำรอง’ ที่โฆษกกระทรวงพลังงานได้ระบุไว้ถึงหนึ่งเท่าตัว นั่นก็เป็นเพราะวิธีการคำนวณตัวเลขปริมาณ ‘ไฟฟ้าสำรอง’ ของ 2 ฝ่ายแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง จึงขออธิบายหลักการคำนวณปริมาณ ‘ไฟฟ้าสำรอง’ ของ 2 ฝ่ายเป็นข้อมูลพอสังเขปดังนี้  

กระทรวงพลังงานใช้วิธีการคำนวณ ‘ไฟฟ้าสำรอง’ จากปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak Load) ของปี ซึ่งวันที่ใช้ไฟฟ้ามากที่สุดของปี พ.ศ. 2567 คือ วันที่ 29 เมษายน 2567 เวลา 20.56 น. มีค่าเท่ากับ 36,477.80 เมกะวัตต์ และหักด้วยปริมาณไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานทดแทนหรือพลังงานหมุนเวียน อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานชีวมวล จึงไม่สามารถนำมานับรวมในปริมาณพลังงานไฟฟ้า 100% ได้ อันเนื่องมาจากพลังไฟฟ้ากลุ่มนี้ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตลอดเวลา ไม่สามารถพึ่งพาได้ตลอด 24 ชั่วโมง ด้วยปัจจัยช่วงเวลา (พลังงานแสงอาทิตย์ผลิตได้เพียงวันละ 6-8 ชั่วโมง) ฤดูกาล (ฤดูฝนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์) จึงทำให้ไม่สามารถนำปริมาณไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานทดแทนหรือพลังงานหมุนเวียนมาคำนวณเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองที่แท้จริงได้

ในขณะที่ตัวเลขปริมาณ ‘ไฟฟ้าสำรอง’ ที่นักวิชาการ NGO ซึ่งสื่อบางสำนักอ้างว่ามากถึง 50% นั้น ใช้วิธีคำนวณจากปริมาณการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยทั้งปี โดยคิดรวมเอาปริมาณไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานทดแทนหรือพลังงานหมุนเวียนเข้าไปด้วย ซึ่งข้อเท็จจริงในการคำนวณตัวเลขปริมาณ ‘ไฟฟ้าสำรอง’ หากต้องการคิดรวมเอาปริมาณไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานทดแทนหรือพลังงานหมุนเวียนเข้าไป นั่นหมายความว่า ต้องสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนหรือพลังงานหมุนเวียนได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือมีการเก็บกักพลังงานไฟฟ้าด้วยแบตเตอรี่เพื่อให้สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยยังไม่มีผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้ารายใดสามารถทำได้เลย แม้แต่ กฟผ. เองก็ตาม

นอกจากนี้ นักวิชาการ NGO และสื่อบางสำนักยังได้อ้างว่า การจัดทำ ‘แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (แผน PDP)’ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้นเอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ จึงทำให้ ‘ไฟฟ้าสำรอง’ มากจนเกินความต้องการ นั่นคือความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง เพราะในการจัดทำ ‘แผน PDP’ คณะทำงานที่รับผิดชอบจัดทำการพยากรณ์ประมาณการความต้องการใช้ไฟฟ้าที่จะเกิดขั้นในอนาคตนั้น จะต้องใช้ข้อมูลจากการพยากรณ์ประมาณการตัวเลข ‘ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product หรือ GDP) ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้คำนวณออกมาเป็น ‘ตัวเลข’ ประมาณการไว้แล้วเป็นหลัก 

แต่ ในปี พ.ศ. 2563 เศรษฐกิจไทยหดตัวอย่างต่อเนื่อง จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ติดลบถึง 6.1% นั่นหมายถึง ความต้องการการใช้พลังงานไฟฟ้าก็ติดลบในอัตราที่ใกล้เคียงเช่นเดียวกัน จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้ามากเกินความต้องการ และกลายเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมากำลังผลิตไฟฟ้าอยู่ในระดับสูง อันเนื่องจากสถานการณ์ดังกล่าว จนทำให้ตัวเลข ‘ไฟฟ้าสำรอง’ มากเกินต่อความจำเป็น และเกินกว่าอัตรามาตรฐานปริมาณของกระแสไฟฟ้าที่ควรสำรอง แต่มีผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้าตามสัญญาที่ทำไว้กับกฟผ. ได้มีการลงทุนสร้างและเดินเครื่องโรงงานผลิตไฟฟ้าขึ้นมาแล้ว ดังนั้นจึงต้องมีการจ่าย ‘ค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment หรือ ค่า AP)’ ซึ่งเป็นค่าความพร้อมเดินเครื่องเพื่อจ่ายไฟฟ้าให้แก่ผู้ผลิตไฟฟ้า ไม่ว่าจะมีการใช้ไฟฟ้านั้นหรือไม่ก็ตาม ซึ่งเป็นไปตามโครงสร้างของรูปแบบข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชนและเอกชน (Power Purchasing Agreement หรือ PPA) แต่ในปัจจุบันมีบริหารจัดการจนกระทั่ง ‘ไฟฟ้าสำรอง’ อยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้ว

การกล่าวอ้างและกล่าวหาว่า หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำ ‘แผน PDP’ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้นได้จงใจจัดทำ ‘แผน PDP’ ให้เอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ โดยนักวิชาการ NGO และสื่อบางสำนัก ได้มีนักการเมืองผู้หนึ่งรวบรวมข้อมูลหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการอ้างถึงความไม่ถูกต้องชอบธรรมของพฤติการณ์และพฤติกรรมดังกล่าว ยื่นฟ้องร้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบแล้ว ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการดำเนินคดี หลังจากกระบวนการยุติธรรมเสร็จสิ้นลง คำตัดสินในคดีนี้ก็จะเป็นการสร้างความชอบธรรมเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง และแสดงให้สังคมไทยได้เห็นว่า เรื่องนี้มีความไม่ชอบมาพากลและความไม่ถูกต้องเป็นไปตามที่มีกล่าวอ้างและกล่าวหาหรือไม่ ซึ่งกระบวนการยุติธรรมจะเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดที่จะพิสูจน์ได้ว่า สิ่งที่มีการฟ้องร้องนั้นจริงหรือเท็จ ถูกหรือผิด และควรเป็นไปอย่างไร แต่เท่าที่ผ่านมาจนทุกวันนี้ ยังไม่เคยปรากฏว่า มีหน่วยงานภาครัฐหน่วยงานใดแพ้คดีที่มีการฟ้องร้องลักษณะเช่นนี้มาก่อนเลย

เอกนัฏ’ ชื่นชม!! ‘ชาวไร่อ้อย - โรงงานน้ำตาล’ ชี้!! ฮีโร่ช่วยลดฝุ่น PM2.5 หลังอ้อยเผาเหลือ 9% ดันแปรรูปสู่พลาสติกชีวภาพ ดึงเงินลงทุน 2 หมื่นล้าน

(12 ก.พ. 68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากที่ตนได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ขอความร่วมมือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสด งดเผาอ้อยก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว และขอความร่วมมือโรงงานน้ำตาลให้รับเฉพาะอ้อยสดเข้าหีบ โดยชะลอ ระงับ ยับยั้ง และยุติการเผาไร่อ้อย พร้อมทั้งยุติการรับอ้อยเผาเข้าหีบ ตามแนวทางมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ฝุ่นละออง PM 2.5) ของรัฐบาลและมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2568 จากสถิติการรับอ้อยเข้าหีบของโรงงานน้ำตาล 58 แห่งทั่วประเทศ พบว่า ชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลให้ความร่วมมือในการตัดและรับอ้อยเผาเข้าหีบต่ำสุดในประวัติศาสตร์ ที่ระดับ 9% ดันอ้อยสดพุ่งกว่า 91% ส่งผลให้ฝุ่นพิษ PM2.5 ลดลง และมีส่วนช่วยให้ประชาชนได้รับอากาศบริสุทธิ์ ใช้ชีวิตประจำวันและทำกิจกรรมกลางแจ้งตามปกติ

นายเอกนัฏ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา ตนได้พบหารือกับนายโรเจอร์ มาร์คิโอนี่ ผู้อำนวยการธุรกิจทวีปเอเชีย และกรรมการผู้จัดการ บริษัท Braskem Siam บริษัท Braskem S.A. ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกในอุตสากรรมการพลาสติกชีวภาพ มีความสนใจที่จะมาลงทุนในประเทศไทย โดยมีแผนจัดตั้งโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพ ซึ่งต้องการเฉพาะวัตถุดิบเอทานอลที่ผลิตจากอ้อยที่ปลูกโดยไม่ก่อมลพิษ และปัญหาสิ่งแวดล้อม คือ จะต้องผลิตจากอ้อยตัดสดไม่เผาแปลงเท่านั้น โดยมีด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท กำลังการผลิต 2 แสนตันต่อปี โดยจะต้องใช้เอทานอล 500 ล้านลิตรต่อปี ถือเป็นโอกาสทองของประเทศไทยที่จะมีอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงในประเทศ เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อยกระดับทักษะการทำงานแรงงานไทยให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังได้แลกเปลี่ยนและหารือแนวทางทางการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการปลูกและเก็บเกี่ยวอ้อยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการเผาอ้อย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายภาครัฐในการลดมลพิษทางอากาศและส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างยั่งยืน

“ผมขอชื่นชมและขอขอบคุณเกษตรกรชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล ซึ่งเป็นฮีโร่ของคนไทยช่วยลดฝุ่น PM2.5 จากการร่วมมือร่วมใจผลักดันการตัดอ้อยสด ลดการเผาอ้อย ช่วยให้คนไทยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี อากาศบริสุทธิ์ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว และเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมชีวภาพในภูมิภาคอาเซียน การพัฒนาอ้อยสดไม่เผาให้เป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับพลาสติกชีวภาพจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเกษตรกรไทย ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล และผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกอย่างยั่งยืน” นายเอกนัฏ กล่าวทิ้งท้าย

รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (10) : ‘การปล่อยให้เอกชนผลิตไฟฟ้ามากขึ้น’ ทำให้ ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ จริงหรือไม่!!!

(11 ก.พ. 68) “การปล่อยให้การผลิตไฟฟ้าไปอยู่ในมือของภาคเอกชนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ” เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ นักวิชาการ NGO และสื่อบางสำนัก มักหยิบยกมากล่าวอ้างว่า มีส่วนสำคัญที่ทำให้ ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ ซึ่งกลับกลายเป็นความย้อนแย้งกับการเรียกร้องให้ “เพิ่มการใช้กลไกตลาดเข้าไปในระบบไฟฟ้า เพื่อทำให้เกิด ‘ตลาดซื้อขายไฟฟ้า’ อย่างเสรี” ขึ้นในประเทศไทย เพราะ ‘ตลาดซื้อขายไฟฟ้า’ อย่างเสรี ย่อมหมายถึงผู้ประกอบการเอกชนสามารถที่จะเข้ามามีบทบาทใน ‘กิจการไฟฟ้า’ มากขึ้นทั้งระบบตั้งแต่ ‘ต้นน้ำ’ ไปจนกระทั่งถึง ‘ปลายน้ำ’ 

โดยที่ มาตรา 56 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ได้ระบุเอาไว้ว่า “รัฐต้องจัดหรือดำเนินการให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึง ตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามรัฐธรรมนูญ และในวรรคสอง ได้ระบุว่า “โครงสร้างหรือโครงข่ายพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐ อันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ โดยความมั่นคงของรัฐนั้นจะให้เอกชนเป็นเจ้าของเกิน 51 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้” ดังนั้น แม้ว่า เอกชนจะเข้ามามีบทบาทในกิจการไฟฟ้า โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น แต่คงอยู่ในกรอบกติกาภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งมีการวางแผนและกำหนดนโยบายโดย กพช. และกำกับดูแลการประกอบกิจการโดย กกพ. มี กฟผ. ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารจัดการในส่วนของการซื้อและขายไฟฟ้า จากข้อมูล ณ เดือนธันวาคม พ.ศ. 2567 กำลังผลิตตามสัญญาของระบบที่กฟผ. รับผิดชอบดูแลบริหารจัดการคือ 51,414.30 เมกะวัตต์ โดยแบ่งเป็นของ กฟผ. 31.62% เอกชนรายใหญ่ (IPP) 38.12% เอกชนรายเล็ก (IPP) 18.13% และนำเข้าจากต่างประเทศอีก 12.13% (ในส่วนของเอกชนรายใหญ่ (IPP) รายหนึ่งคือ RATCH มีกฟผ. เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับที่หนึ่ง (45%)

การที่ผู้ประกอบการเอกชนเข้ามามีส่วนในการผลิตไฟฟ้าเกิดจากรัฐบาลในปี พ.ศ. 2533 ได้ให้การส่งเสริมเอกชนได้เข้ามามีบทบาทในการผลิตไฟฟ้า เพื่อจะเป็นการเพิ่มการแข่งขันในกิจการพลังงานไฟฟ้า ทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและผู้บริโภคมีพลังงานไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอในราคาที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังจะเป็นการลดภาระการลงทุนของรัฐและลดภาระหนี้สินของประเทศ ส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น กรณีของโครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ซึ่งใช้ระบบพลังงานความร้อนร่วม เป็นต้น ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าได้รับบริการและคุณภาพไฟฟ้าที่ดีขึ้น เป็นการสนับสนุนให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนากิจการด้านพลังงานของประเทศ และเป็นส่วนในการช่วยพัฒนาตลาดทุนของประเทศอีกด้วย

ด้วย นโยบายลดภาระการลงทุนภาครัฐ และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าของรัฐบาลในปี พ.ศ. 2535 ทำให้มีมติ ครม. เห็นชอบเรื่องแนวทางในการดำเนินงานในอนาคตของ กฟผ. โดยกำหนดขั้นตอนและแนวทางให้เอกชนมีบทบาทมากขึ้นในกิจการไฟฟ้าของไทย ให้มีการลงทุนจากภาคเอกชนในการผลิตไฟฟ้ารูปแบบของผู้ผลิตไฟฟ้าฟ้าอิสระหรือรายใหญ่ (IPP) ต้องขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ. เท่านั้น และให้ออกระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็ก (SPP) ซึ่งใช้พลังงานนอกรูปแบบ เป็นการแบ่งเบาภาระทางด้านการลงทุนของรัฐในระบบการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าด้วย โดย กฟผ. ได้ประกาศรับซื้อไฟจากเอกชนรายใหญ่เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2537 ซึ่งปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจะอยู่ภายใต้มติเห็นชอบของ ‘คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)’ มาจนถึงปัจจุบัน และ ‘คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)’ ทำหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงาน อันหมายถึง กิจการไฟฟ้า กิจการก๊าซธรรมชาติ และกิจการระบบโครงข่ายพลังงาน

สภาพการณ์ที่เป็นอยู่ของ ‘กิจการไฟฟ้า’ ทั้งระบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ น่าจะมีความเหมาะสมที่สุดกับบริบทของประเทศไทยแล้ว ด้วย ‘กิจการไฟฟ้า’ ยังคงอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐ ด้วยความเป็นกิจการรัฐวิสาหกิจจึงคงวัตถุประสงค์และความมุ่งหมายในการเป็นกิจการที่ดำเนินงานเพื่อบริการสาธารณะสำหรับประชาชนคนไทย ในอีกมิติหนึ่งที่มีความสำคัญคือ ความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งปรากฏให้เห็นในหลาย ๆ ประเทศ อาทิ ประเทศเพื่อนบ้านด้านตะวันตก ซึ่งมีปัญหาไฟฟ้าดับเป็นประจำ จนกิจการธุรกิจต่าง ๆ ต้องมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไว้ใช้เอง หรือหลาย ๆ ประเทศในละตินอเมริกา ซึ่งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาจนปัจจุบัน ทั้งนี้ จากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการที่จำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น ความต้องการไฟฟ้าในภูมิภาคอเมริกากลางและใต้จึงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และส่งผลให้เกิดความขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าไปทั่วทั้งภูมิภาค ตั้งแต่บราซิลที่ขาดแคลนทรัพยากรไปจนถึงเวเนซุเอลาซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันเอง ท่ามกลางความต้องการพลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ภูมิภาคนี้ต้องดิ้นรนกับปัญหาต่าง ๆ มากมายในการสร้างกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ บราซิลและชิลีได้ชะลอแผนการสร้างเขื่อนพลังงานน้ำแห่งใหม่เมื่อไม่นานนี้ อันเนื่องจากปัญหาสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม จนทำให้ทั้งสองประเทศต้องมองหาแหล่งพลังงานอื่นเพื่อตอบสนองความต้องการที่คาดการณ์ไว้ ในโคลอมเบียการก่อการร้ายภายในประเทศส่งผลให้โครงสร้างพื้นฐานการส่งและจำหน่ายไฟฟ้าในเขตชนบทหลายแห่งต้องถูกทำลายลง ภูมิภาคนี้โดยรวมจึงมีความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าที่สูงมาก 

ในตอนต่อไปจะได้อธิบายถึงข้อเท็จจริงในรายละเอียดให้ผู้อ่าน TST ได้พอรู้และเข้าใจในเรื่องของ “การมี ‘ไฟฟ้าสำรอง’ มากจนเกินความต้องการ จนทำให้ ‘ค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment หรือ ค่า AP)’ อันเป็นต้นทุนค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่กฟผ. ต้องจ่ายให้กับโรงไฟฟ้าเอกชน เป็นค่าความพร้อมในการเดินเครื่องเพื่อจ่ายไฟฟ้า ไม่ว่าโรงไฟฟ้าจะผลิตหรือไม่ก็ตาม ซึ่งถือเป็นเป้าหลักที่สำคัญและใหญ่ที่สุดที่นักวิชาการ NGO และสื่อบางสำนัก ได้ระบุเอาไว้ว่า เป็นสาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้ ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ ว่าเป็นจริงดังที่มีการนำมาหยิบยกกล่าวอ้างหรือไม่ 

‘อัครเดช’ ประสานความร่วมมือทูตพาณิชย์รัสเซีย เร่งดัน FTA ไทย-รัสเซีย เชื่อสร้างประโยชน์การค้า 2 ประเทศ

(11 ก.พ. 68) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี เขต 4 และโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า จากการที่ตนได้หารือกับนาย Yuri Lyzhin ทูตพาณิชย์ของกระทรวงพาณิชย์รัสเซีย และตัวแทนผู้ประกอบการของรัสเซีย เช่น นาย Ivan D. Ignatov จากบริษัท RUSAL และนาย Artem Asatur จากบริษัท Aluminium Association ที่ฝ่ายรัสเซียมีข้อเสนอในการจัดทำเขตการค้าเสรี(Free Trade Area) กับทางรัฐบาลไทย เพื่อส่งเสริมและยกระดับเศรษฐกิจ การค้าการลงทุนในไทยของนักธุรกิจชาวรัสเซียให้มากขึ้น เนื่องด้วยเล็งเห็นถึงศักยภาพและโอกาสในการเติบโตของประเทศไทย ซึ่งตนเห็นด้วยและได้ตอบรับกับแนวคิดดังกล่าว พร้อมตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด เพื่อศึกษาร่างกฎระเบียบและข้อตกลง FTA ไทย-รัสเซียด้านอุตสาหกรรมโลหะโดยเฉพาะอลูมิเนียมเพื่อยกระดับการค้าการลงทุนของทั้ง 2 ประเทศโดยนำเสนอรัฐบาลผ่านสภาผู้แทนราษฎร

“ในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีที่ไทยกับรัสเซียจะร่วมกันเจรจาผลักดัน FTA ไทย-รัสเซีย ให้ประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรม หลังทั้งคู่เคยพยายามผลักดันร่วมกันมาตั้งแต่ 6 ปีที่แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้จนถึงปัจจุบัน โดยในครั้งนี้ตนในฐานะประธานคณะกรรมาธิการอุตสาหกรรมสภาผู้แทนราษฎรจะเข้ามาร่วมสนับสนุน เพื่อดำเนินการจัดทำข้อตกลง FTA ไทย-รัสเซีย ให้รัฐบาลพิจารณาดำเนินการ อันจะช่วยยกระดับเศรษฐกิจและสร้างผลประโยชน์อันมหาศาลให้กับทุกภาคส่วนในประเทศไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการและภาคแรงงาน เพราะถ้า FTA ดำเนินการแล้วเสร็จจนมีผลบังคับใช้ ตนเชื่อว่ารัสเซียจะเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้นอย่างแน่นอน ในทางเดียวกันผู้ประกอบการไทยก็จะสามารถส่งสินค้าไปขายในรัสเซียได้ปริมาณมากขึ้น เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับไทยได้มากยิ่งขึ้นเช่นกัน” นายอัครเดช กล่าวทิ้งท้าย

DIPROM ชวนร่วมโครงการ Angel Fund Connect พร้อมขยายเวลาสมัครร่วมชิงทุนสนับสนุนถึง 20 ก.พ.นี้

(11 ก.พ. 68) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ขอเชิญ Startup ที่เคยเข้าร่วมโครงการ DIPROM Angel Fund และ DIPROM Startup Connect สมัครเข้าร่วม โครงการ Angel Fund Connect 2025 เพื่อเชื่อมโยงแหล่งเงินทุนและตลาดให้ธุรกิจของคุณเติบโต พร้อมกับชิงเงินสนับสนุนธุรกิจมูลค่ารวมกว่า 4 ล้านบาท

สำหรับโครงการนี้ เหมาะสำหรับผู้ประกอบการประสบปัญหาขายของไม่ได้, กำไร 1 บาท หาได้ยากกว่าเดิม ต้องเตรียมพร้อมหาโอกาสตลาดใหม่ๆ รวม รวมถึงอยากต่อยอดธุรกิจแต่แหล่งเงินทุนหายากเหลือเกิน

พร้อมกันนี้ DIPROM ยังเปิดโอกาสสำหรับ Influencer / Content Creator / Marketer ที่มีไอเดีย ปัง! มีแพลตฟอร์ม พร้อม! และต้องการพาธุรกิจไปไกลกว่าเดิม สมัครเข้าร่วมโครงการ Angel Fund Connect เพื่อต่อยอดธุรกิจ และเปลี่ยนคอนเทนต์ให้เป็นทุน! พร้อมร่วมชิงเงินรางวัลมูลค่ารวมกว่า 1 ล้านบาท

สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถติดต่อได้ที่ กองส่งเสริมผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่  กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทร.02-430-6873 ต่อ 1625 หรือ สมัครได้ที่ลิ้งค์ : https://forms.gle/PerABjPkUx2QJVph8
ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568

สภาทองคำโลก เผย ไทยทำสถิติสูงเป็นอันดับ 7 ของโลก ด้านความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำ ปี 67

(11 ก.พ.68) รายงานแนวโน้มความต้องการทองคำประจำไตรมาสที่ 4 และการสรุปภาพรวมตลอดปี 2567 ของสภาทองคำโลก (World Gold Council: WGC) ได้เปิดเผยข้อมูลความต้องการทองคำทั่วโลกที่รวมปริมาณการซื้อขายทองคำนอกตลาดหลักทรัพย์ ‎(Over-the-counter: OTC) ซึ่งได้ทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ด้วยจำนวนรวม 4,974 ตัน โดยประเทศไทยได้ก้าวขึ้นเป็นตลาดทองคำที่มีความแข็งแกร่งในปี 2567 และมีปริมาณความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำสูงเป็นอันดับ 7 ของโลก ที่จำนวน 39.8 ตัน คิดเป็นการเติบโตสูงถึง 17% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า  

สภาทองคำโลกระบุว่าความต้องการทองคำทั่วโลกในปี 2567 นั้นได้รับแรงขับเคลื่อนจากการซื้อทองคำอย่างต่อเนื่องและแข็งแกร่งของธนาคารกลาง และการเติบโตของความต้องการทองคำเพื่อการลงทุน ราคาทองคำที่ทำสถิติสูงสุดใหม่หลายครั้งและปริมาณความต้องการที่พุ่งสูงในปีที่ผ่านมา ได้ร่วมกันส่งผลให้ความต้องการทองคำรวมมีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3.82 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

ธนาคารกลางยังคงซื้อทองคำในปริมาณที่มหาศาลอย่างต่อเนื่องในปี 2567 โดยมีปริมาณการซื้อในระดับสูงกว่า 1,000 ตัน เป็นปีที่สามติดต่อกัน และการเข้าซื้อทองคำที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของธนาคารกลางในไตรมาสที่ 4 จำนวน 333 ตัน ได้ส่งผลให้ยอดรวมการซื้อทองคำของธนาคารกลางตลอดทั้งปีอยู่ที่ 1,045 ตัน

ด้านความต้องการทองคำเพื่อการลงทุนทั่วโลกนั้นได้เพิ่มขึ้นถึง 25% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า อยู่ที่ระดับ ‎1,180 ตัน ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดในรอบ 4 ปี โดยได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของการลงทุนในกองทุนซื้อขายแลกเปลี่ยน (ETF) ทองคำแท่งสำหรับนักลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567 ทั้งนี้กองทุน ETF ทองคำทั่วโลกได้เพิ่มปริมาณทองคำจำนวน 19 ตันในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 นับว่าเป็นกระแสการลงทุนในทิศทางไหลเข้าต่อเนื่องกันเป็นไตรมาสที่สองสำหรับสินทรัพย์ประเภทนี้ ขณะที่ความต้องการในทองคำแท่งและเหรียญทองคำทั่วโลกยังคงระดับใกล้เคียงกับปี 2566 อยู่ที่ปริมาณ 1,186 ตันสำหรับปี 2567 โดยประเทศไทยมีระดับความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำในไตรมาสที่ 4 จำนวน 14.6 ตัน เพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ทำให้ปริมาณความต้องการของประเทศไทยรวมตลอดทั้งปี 2567 อยู่ที่จำนวน 39.8 ตัน

เนื่องจากสภาวะราคาทองคำที่พุ่งสูง สภาทองคำโลกจึงมองว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อความต้องการทองคำเครื่องประดับนั้นเป็นแนวโน้มที่ไม่น่าแปลกใจ โดยปริมาณการบริโภคทองคำเครื่องประดับทั่วโลกสำหรับปี 2567 ได้ลดลง 11% อยู่ที่ระดับ 1,877 ตัน อย่างไรก็ตามความต้องการทองคำเครื่องประดับของไทยยังคงแข็งแกร่งและปรับลดลงเพียง 2% และมีความต้องการรายปีรวมเป็น 9.0 ตัน  ทั้งนี้การลดลงของความต้องการทองคำเครื่องประดับทั่วโลกส่วนใหญ่นั้นมีที่มาจากประเทศจีน ซึ่งปรับลดลง 24% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่อินเดียยังมีปริมาณความต้องการที่แข็งแกร่งและลดลงเพียง 2% เท่านั้น ภายใต้สภาวะของราคาทองคำที่ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์

นายเซาไก ฟาน (Shaokai Fan) หัวหน้าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมประเทศจีน) และหัวหน้าฝ่ายธนาคารกลางระดับโลก ของสภาทองคำโลก กล่าวว่า “ราคาทองคำที่สูงต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2567 นั้นถือว่าเป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับผู้บริโภคในตลาดกลุ่มประเทศอาเซียน อย่างไรก็ตามประเทศไทยนับว่ามีความแข็งแกร่งกว่าตลาดอื่น ๆ โดยมีปริมาณการบริโภคทองคำเครื่องประดับของไทยลดลงเพียง 2% ขณะที่ทั่วโลกได้ปรับลดลง 11% เราเชื่อว่าส่วนหนึ่งมาจากเศรษฐกิจภายในประเทศที่ได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งช่วยจำกัดระดับการปรับตัวลดลงของปริมาณความต้องการทองคำเครื่องประดับได้”

คุณเซาไก ‎ ฟาน กล่าวเสริมว่า “ปีที่ผ่านมานับว่าเป็นปีที่ความต้องการลงทุนในทองคำแท่งและเหรียญทองคำของประเทศไทยแข็งแกร่งมาก และสูงเป็นอันดับที่ 7 ของโลก โดยคนไทยได้มองว่าทองคำเป็นสินทรัพย์เชิงกลยุทธ์ที่ทั้งสามารถสร้างผลตอบแทนในระยะยาว และช่วยลดผลกระทบจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและตลาดหุ้นในประเทศได้ นอกจากนี้การเติบโตของแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อการออมทองคำในรูปแบบดิจิทัล ยังได้ช่วยสนับสนุนให้ความต้องการทองคำของประเทศไทยนั้นแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง”

สภาทองคำโลกยังได้ระบุว่า ทองคำในภาคเทคโนโลยีได้ทำสถิติรายไตรมาสที่แข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 เป็นต้นมา โดยมีความต้องการจำนวน 84 ตัน การเติบโตของปริมาณทองคำที่ใช้ในเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และอิเล็กทรอนิกส์อย่างต่อเนื่อง ได้ทำให้ความต้องการทองคำในภาคเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า คิดเป็นปริมาณสุทธิรายปีรวม 326 ตัน

ด้านอุปทานทองคำทั่วโลกได้เพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบเป็นรายปี และทำระดับสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ที่ 4,794 ตัน จากทั้งการผลิตของเหมืองแร่และการรีไซเคิลทองคำที่เพิ่มสูงขึ้น

ด้านนายหลุยส์ สตรีท (Louise Street) นักวิเคราะห์การตลาดอาวุโส ของสภาทองคำโลก กล่าวว่า “ทองคำยังคงเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในปี 2567 โดยราคาทองคำได้ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 40 ครั้งในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามแนวโน้มความต้องการทองคำนั้นไม่ได้สม่ำเสมอตลอดทั้งปี 2567 โดยภาคธนาคารกลางมีความต้องการที่แข็งแกร่งในไตรมาสที่ 1 ก่อนจะชะลอตัวลงในช่วงกลางปี และกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งในช่วงไตรมาสที่ 4 ขณะที่นักลงทุนฝั่งตะวันตกได้หันกลับมาสนใจลงทุนในทองคำอีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งเมื่อรวมกับกระแสเงินทุนจากฝั่งเอเชียที่เพิ่มสูงขึ้น ได้ส่งผลให้กระแสการลงทุนในกองทุน ETF ทองคำทั่วโลกปรับทิศทางเป็นเชิงบวกในไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปี โดยความเคลื่อนไหวนี้มีที่มาจากการที่ธนาคารกลางหลายแห่งได้เริ่มต้นวัฏจักรการปรับลดอัตราดอกเบี้ย รวมถึงความไม่แน่นอนในระดับโลกที่เพิ่มสูงขึ้นจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐ และความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลาง”

คุณหลุยส์ สตรีท ได้กล่าวเสริมว่า “ในปี 2568 นี้ เราคาดว่าธนาคารกลางจะยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันตลาดทองคำต่อไป สนับสนุนด้วยนักลงทุนในกองทุน ETF ทองคำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากอัตราดอกเบี้ยปรับลดลง แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะยังมีความผันผวนก็ตาม ในทางกลับกันทองคำเครื่องประดับอาจยังคงชะลอตัวต่อไป เนื่องจากราคาทองคำที่สูงและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงตามไปด้วย ความไม่แน่นอนด้านภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจมหภาคนั้นน่าจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญของปี ซึ่งสภาวะนี้จะช่วยเสริมความต้องการทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ช่วยรักษามูลค่าและเป็นเครื่องมือลดผลกระทบจากความเสี่ยง"

ปตท. ติด TOP 5 บริษัทที่คนรุ่นใหม่อยากร่วมงานมากที่สุด สะท้อนความเชื่อมั่นการบริหารบุคลากรอย่างมีประสิทธิภาพ

(11 ก.พ. 68) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ติดอันดับท๊อป 5 จากการจัดอันดับ 50 บริษัทชั้นนำที่คนรุ่นใหม่อยากร่วมงานมากที่สุด (Top50 Companies in Thailand 2025) มาอย่างต่อเนื่อง จากการสำรวจของบริษัท WorkVenture สะท้อนความเชื่อมั่นและความทุ่มเทในการบริหารบุคลากรภายใต้แนวคิด TripleEX ได้แก่ การสนับสนุนให้พนักงานค้นพบและพัฒนาศักยภาพของตนเอง (EXplore your potential) การมอบโอกาสและประสบการณ์ที่หลากหลาย (EXperience diverse opportunities) และการส่งต่อคุณค่าและสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม (EXpand positive impact) ผ่านการพัฒนารูปแบบสวัสดิการที่เหมาะสมกับความต้องการของพนักงาน อาทิ Flexi Benefit ที่พนักงานสามารถเลือกสิทธิประโยชน์ตามไลฟ์สไตล์ของตนเอง การทำงานในรูปแบบ Work from Anywhere และเวลาทำงานแบบ Flexi-Time 

นอกจากนี้  ปตท. ยังสนับสนุนเรื่องการสมรสเท่าเทียมตามนโยบายภาครัฐ  เพื่อส่งเสริมความเสมอภาคและสิทธิของพนักงานทุกคน เป็นต้น

‘ฟีโบ้’ เดินหน้าผลิตบุคลากรป้อนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ยกระดับสู่สถาบันชั้นนำด้านวิทยาการหุ่นยนต์ในอาเซียน

(11 ก.พ. 68) เนื่องในโอกาสครบรอบ 65 ปี แห่งการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และ 30 ปี แห่งการก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้)  ในการนี้ ฟีโบ้จึงได้จัดกิจกรรมพิเศษภายใต้หัวข้อ “30 ปี ฟีโบ้: Robotics for Sustainable Future” เพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จและแสดงศักยภาพของประเทศไทยในด้านวิทยาการหุ่นยนต์และนวัตกรรมที่น่าสนใจ และกำลังเป็นกระแส รวมถึงการจัดแสดงผลงานตัวอย่างหุ่นยนต์ล้ำสมัย และนิทรรศการในรูปแบบอินเตอร์แอคทีฟ จัดขึ้น ณ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) ระหว่างวันที่ 6-8 กุมภาพันธ์ 2568

ผศ. ดร.สุภชัย วงศ์บุณย์ยง ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) กล่าวว่า ในปี พ.ศ. 2538 ฟีโบ้ได้ก่อตั้งขึ้นเป็นศูนย์ปฏิบัติการพัฒนาหุ่นยนต์ภาคสนาม โดย ดร.ชิต เหล่าวัฒนา มีพันธกิจด้านการพัฒนางานวิจัย และบริการวิชาการ ต่อมาในปี พ.ศ.2546 ได้ยกวิทยฐานะเป็น “สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม” โดยเริ่มแรกเป็นการจัดการเรียนการสอนระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ในหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เป็นที่แรกของไทย หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2552 จึงได้เปิดรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ให้บริการวิชาการแก่สังคม รวมถึงงานวิจัยพัฒนาที่เกี่ยวกับหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ตลอดจนเทคโนโลยีอื่น ๆ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันครบรอบ 30 ปี

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ฟีโบ้สามารถสร้างกำลังคนหรือบุคลากรด้านวิศวกรหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติออกสู่สังคมตั้งแต่ระดับปริญญาตรี โท เอก รวมทั้งสิ้นกว่า 700 คน มีการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมากกว่า 1,000 แห่ง  ทั้งการจัดฝึกอบรมให้กับบุคลากรภาคอุตสาหกรรม เช่น โครงการ EEC ที่มีการอบรมไปแล้วกว่า 3,000 คน คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่าหนึ่งหมื่นล้านบาท โครงการหุ่นยนต์ภาคอุตสาหกรรม หุ่นยนต์บริการ หุ่นยนต์ทางการแพทย์ หุ่นยนต์ Entertainment และอื่นๆ ที่เป็นงานด้านวิจัยและพัฒนา (Research and Development: R&D) มากกว่า 300 โครงการ ปัจจุบันฟีโบ้ มุ่งมั่นเพื่อยกระดับเข้าสู่สถาบันชั้นนำระดับอาเซียนทางด้านวิทยาการหุ่นยนต์ รวมทั้งสร้างเครือข่ายพัฒนาหลักสูตรด้านหุ่นยนต์ ครูและนักเรียนของโรงเรียนทั่วประเทศภายใต้โครงการ School Consortium มากกว่า 100 โรงเรียน

“เนื่องจากทิศทางของโลกและเป็นนโยบายของ มจธ. ที่มุ่งไปในเรื่องความยั่งยืน หรือ Sustainability เราจึงต้องการให้งาน 30 ปี ฟีโบ้: Robotics for Sustainable Future ทำให้เห็นว่าหุ่นยนต์ จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับความยั่งยืนอย่างไร หรือทำให้เกิด Robotic Future ได้อย่างไร ดังนั้น ภายในงานที่จัดขึ้นก็จะมีส่วนที่เป็นการจัดนิทรรศการแสดงผลงานของนักวิจัย ภาคอุตสาหกรรม และผลงานของนักศึกษา รวมถึงงานเสวนาที่ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญและผู้เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้ประกอบการด้านหุ่นยนต์อัตโนมัติ และ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ทั้งในและต่างประเทศมาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และเทรนด์ของโลกจากนี้เข้าด้วยกัน” ผศ. ดร.สุภชัย กล่าว 

ภายในงาน ประกอบด้วย 4 ส่วน คือ โซนที่หนึ่ง โซนจัดนิทรรศการประวัติฟีโบ้และพันธมิตรที่เป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จของฟีโบ้ โซนที่สอง โซนการจัดแสดงหุ่นยนต์มาทำกิจกรรมต่างๆ ภายใต้ธีม Robotics ไทยแทร่ เป็นการผสานเทคโนโลยีแห่งโลกเสมือนกับหุ่นยนต์และ AI ที่จะสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ชมในรูปแบบความเชื่อไทยๆ เช่น หุ่นยนต์เขียนผ้ายันต์ ร่างทรง คนเล่นของ ซุ้มมือปืน เป็นต้น และยังมีห้องแสดงศิลปะดิจิทัลแบบ 360 องศา (Immersive Room) ให้ผู้ร่วมงานได้เข้าไปร่วมสนุก นอกจากนี้ยังมีการแสดงเทคโนโลยีสุดล้ำจากบริษัทชั้นนำ อาทิ หุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ที่มีระบบการจำลองการเคลื่อนไหวที่ล้ำสมัย และ Robo Dog จากพันธมิตร มาร่วมโชว์ในงานนี้ด้วย 

โซนที่สาม จะเป็นการแสดงนิทรรศการผลงานไอเดียและอินโนเวชันของนักวิจัย อาจารย์ และนักศึกษา ชั้นปี 1 ถึงปี 4 ที่จะเป็นงานด้านอุตสาหกรรมและงานทางการแพทย์ รวมถึงงานหุ่นยนต์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับความยั่งยืน  ส่วนในโซนที่สี่ จะเป็นโซน Professional ที่เกิดจากความร่วมมือกันทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีการประชุมวิชาการ การจัดสัมมนาเชิงอภิปรายจากผู้เชี่ยวชาญในวงการและจากภาคอุตสาหกรรม พันธมิตรและผู้ประกอบการด้านหุ่นยนต์อัตโนมัติในประเทศไทย อาทิ สมาคมซีไอโอไทย (Thai Chief Information Officer Association: TCIOA) สมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย (TARA) สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIAT) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (FTI) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (CoRE) ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) และกิจกรรมสำหรับเยาวชนและผู้สนใจเกี่ยวกับ VR โดย NVIDIA บริษัทชิปกราฟิกชั้นนำ มาร่วมจัดเวิร์กช็อป การจำลองโลกของหุ่นยนต์ไซเบอร์และจำลองโลกของ AI เข้าด้วยกัน

ผู้อำนวยการ ฟีโบ้ ยังได้กล่าวถึงทิศทางว่า “ฟีโบ้ ตั้งเป้าหมายไปสู่ “One of the Most Attractive Robotics Institutes in ASEAN” ภายในปี 2027 ดังนั้น การดำเนินงานนับจากนี้ คือ การสร้างคน โดยจะเน้นการเรียนการสอนที่พัฒนา Soft Skill ให้นักศึกษามากขึ้น เพื่อให้เขาได้เรียนรู้และปรับตัวได้ตลอดเวลา ควบคู่กับการพัฒนาความรู้และความสามารถพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพ (Hard Skill) อย่างเข้มข้น ซึ่งนักศึกษาจะได้รับประสบการณ์ (Learning Experience) ที่เขาจะหาไม่ได้จากที่อื่น เพื่อพัฒนาทักษะ High Skill และ R&D ให้นักศึกษาที่จบจากฟีโบ้ สามารถยืนอยู่ในเวทีทั้งในระดับประเทศและบนเวทีโลกได้ และการสร้างเทคโนโลยี เราจะมุ่งสร้างเทคโนโลยีที่สร้างผลกระทบสูง เน้นแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในโลก (Real World Problem) พัฒนานวัตกรรม R&D ให้เป็น World Class Attractive นี่คือทิศทางที่ฟีโบ้กำลังจะมุ่งไป”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top