รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (6) : ‘ไฟฟ้าสำรอง’ จำเป็นหรือไม่...ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าอย่างไร???
(3 ก.พ. 68) ทำไมประเทศไทยจึงต้องมี ‘ไฟฟ้าสำรอง’ เป็นเพราะหน่วยงานที่มีหน้าที่ให้บริหารจัดการด้านไฟฟ้าต่าง ๆ กพช. กกพ. กฟผ. กฟน. และ กฟภ. ย่อมต้องทราบดีอยู่แล้วว่า ในแต่ละปี ในแต่ละห้วงเวลา ประเทศไทยต้องใช้ปริมาณไฟฟ้าเป็นจำนวนเท่าใด และจะต้องเตรียมไฟฟ้าในปริมาณเท่าใดเพื่อให้เพียงพอต่อการใช้งานของประชาชนคนไทยผู้ใช้ไฟฟ้าให้ได้ตลอด 24 ชั่วมโมงอย่างต่อเนื่องไม่มีการหยุดเลยในทุกฤดูกาล ทุกสภาวะอากาศ ฯลฯ เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าอย่างไม่มีการหยุดพัก จึงจำเป็นต้องมีการสำรองไฟฟ้าไว้ให้เพียงพอต่อการใช้งานโดยไม่มีการขัดข้องหรือติดขัด ด้วยปริมาณการสำรองที่พอเหมาะพอดีจะมีผลต่อประสิทธิภาพและสมรรถนะในการทำกำไรของการประกอบการธุรกิจไฟฟ้า ซึ่งผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง รับผิดชอบ จะต้องใช้ สติปัญญา ความสามารถ และความรับผิดชอบ จึงจะสามารถรักษาประโยชน์ของทั้ง รัฐ และองค์กร ตลอดจนประโยชน์ของพี่น้องประชาชนคนไทยได้
เพราะหากการสำรองไฟฟ้าไม่เพียงพอต่อการใช้งานแล้วก็จะเกิดผลกระทบต่อการให้บริการแก่ประชาชนและผู้ประกอบการ โดยเฉพาะถ้ากระทบต่อการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งจะกลายความเสียหายอย่างมากมาย ในทางตรงกันข้าม ถ้าหากมีการสำรองกระแสไฟฟ้าไว้จนมากเกินต่อความจำเป็น และเกินกว่าอัตรามาตรฐานปริมาณของกระแสไฟฟ้าที่ควรสำรอง ก็จะเกิดความเสียหายแก่หน่วยงาน เพราะการสำรองไฟฟ้านั้นจะต้องจ่าย ‘ค่าพร้อมจ่าย (Availability Payment หรือ ค่า AP)’ ซึ่งเป็นค่าความพร้อมเดินเครื่องเพื่อจ่ายไฟฟ้าให้แก่ผู้ผลิตไฟฟ้า ไม่ว่าจะมีการใช้ไฟฟ้านั้นหรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้ ช่วงเวลที่มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องย่อมต้องทราบดีอยู่แล้ว จากข้อมมูลจากสถิติบันทึกจะช่วยคำนวณเพื่อประมาณการปริมาณความต้องการไฟฟ้าในช่วงเวลา และกำหนดปริมาณ ‘ไฟฟ้าสำรอง’ ที่ถูกต้อง ใกล้เคียง และเหมาะสมที่สุดได้
‘การสำรองไฟฟ้า’ แบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลักคือ
1. กำลังผลิตสำรองของระบบผลิตไฟฟ้า (Standby Reserve) เป็นโรงไฟฟ้าสำรองตามแผนการผลิตไฟฟ้า โดยมาตรฐานสากลจะกำหนดไว้ราว 15 % ของความต้องการไฟฟ้าสูงสุดเนื่องจากในการวางแผนการผลิตไฟฟ้า จะต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ อย่างรอบคอบ อาทิ ความต้องการไฟฟ้าที่อาจเพิ่มสูงกว่าการพยากรณ์ การหยุดซ่อมโรงไฟฟ้า การเสื่อมสภาพของโรงไฟฟ้า ความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิง ข้อจำกัดของระบบส่งในแต่ละพื้นที่ และลักษณะทางเทคนิคของ โรงไฟฟ้าแต่ละประเภท
2. กำลังผลิตสำรองพร้อมจ่าย (Spinning Reserve) เป็นกำลังผลิตสำรองจากโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องอยู่ หรือ สามารถ สั่งเพิ่มการจ่ายไฟฟ้าได้ทันทีที่ระบบมีความต้องการ ซึ่งตามมาตรฐานจะอยู่ที่ 800-1,600 เมกะวัตต์ หรือ อย่างน้อยมากกว่า กำลังผลิตของโรงไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุด เพื่อรองรับหากเกิดเหตุการณ์ขัดข้องที่โรงไฟฟ้าพลังความร้อนขนาดใหญ่ เช่น กำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ ศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติก็สามารถสั่งจ่ายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นทันที ป้องกันปัญหาไฟฟ้าตกหรือดับ ซึ่งอาจลุกลามจนเกิดไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้าง (Blackout) ได้
อย่างไรก็ตาม ‘การสำรองไฟฟ้า’ ในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันขึ้นกับเงื่อนไขและฐานทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ โดยประเทศที่มีเสถียรภาพด้านพลังงานไฟฟ้าจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้ามากกว่าความต้องการค่อนข้างสูง โดย กฟผ. ได้ศึกษาระบบการผลิตไฟฟ้าของหลายประเทศเอาไว้ ดังนี้ (ข้อมูลของปี พ.ศ. 2563)
•สเปน มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการ 180%
•อิตาลี มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการ 136%
•โปรตุเกส มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการ 130%
•เดนมาร์ค มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการ 130%
•เยอรมนี มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการ 111%
•เนเธอร์แลนด์ มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการ 93%
•สวิสเซอร์แลนด์ มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการท 92%
•จีน มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการ 91%
•ออสเตรเลีย มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการ 65%
•สวีเดน มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการ 57%
•มาเลเซีย มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการ 51%
ตัวอย่างของหลาย ๆ ประเทศที่ระบบไฟฟ้ามีความเสถียร ล้วนแต่มีกำลังการผลิตมากกว่าความต้องการใช้ในประเทศทั้งสิ้น ด้วยการวางแผนและการบริหารจัดการของหน่วยงานที่ดูแลระบบไฟฟ้าของประเทศนั้น ๆ ดังนั้น การมี ‘กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin : RM)’ ใน แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan : PDP) อันเป็นแผนแม่บทในการผลิตไฟฟ้าของประเทศว่าด้วยการจัดหาพลังงานไฟฟ้าในระยะยาว 15 -20 ปี เพื่อให้มั่นใจได้ว่า ประเทศไทยจะมีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอในยามที่เกิดเหตุฉุกเฉินต่าง ๆ หรือกรณีเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ก็ยังจะมีไฟฟ้าใช้ เพียงพอที่จะสนับสนุนภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม อันจะเป็นการเอื้อให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันบนเวทีโลก ในตอนต่อไปจะได้เล่าถึงข้อเท็จจริงของ ‘การสำรองไฟฟ้า’ ของประเทศไทยในมิติต่าง ๆ ไม่ว่า ปริมาณ ‘ไฟฟ้าสำรอง’ ที่มีอยู่ ตลอดจน เหตุผลและความจำเป็นใน ‘การสำรองไฟฟ้า’ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้คนต่างไม่ได้คาดคิดหรือนึกถึงมาก่อน
เรื่อง : บทบรรณาธิการ THE STATES TIMES