Tuesday, 22 April 2025
ECONBIZ NEWS

เริ่มแล้ว!! รฟท.เปิดขายตั๋วรถไฟทางไกล ย้ายบริการจากหัวลำโพง สู่ 'สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์'

รฟท.ดีเดย์ (1 พ.ย. 65) เปิดบริการจำหน่ายตั๋วรถไฟที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เตรียมการย้ายขบวนรถทางไกล รถด่วน รถเร็วทุกสาย ยกเว้นสายตะวันออก จาก ‘หัวลำโพง’ ไปสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ย้ำมีความพร้อมเดินทางสะดวก เชื่อมสายสีแดง และ MRT สีน้ำเงิน

นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ตามที่การรถไฟฯ ได้จัดทำแผนการเปิดใช้ ‘สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์’ ซึ่งจะปรับเปลี่ยนสถานีต้นทางปลายทางของรถไฟทางไกล กลุ่มขบวนรถด่วนพิเศษ รถด่วน และรถเร็วทุกสาย (ยกเว้นสายตะวันออก) จากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) เป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์

โดยจะเปิดให้บริการจำหน่ายตั๋วโดยสารรถไฟที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการปรับสถานีต้นทางปลายทางรถไฟทางไกลของรถไฟทางไกล อำนวยความสะดวก และเป็นทางเลือกใหม่ให้แก่ผู้ใช้บริการ พร้อมเปิดให้บริการในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565

สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์มีเคาน์เตอร์จำหน่ายตั๋วโดยสารของระบบรถไฟทางไกลอยู่ในบริเวณชั้น 1 ฝั่งทางด้านทิศเหนือ ที่ให้บริการขบวนรถไฟทางไกล (ฝั่ง LD) และฝั่งทางด้านทิศใต้ อยู่ระหว่างระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง และรถไฟฟ้า MRT (ฝั่ง CT)

ในเบื้องต้นจะเปิดให้บริการจำหน่ายตั๋วรถไฟทางไกล บริเวณด้าน CT ก่อน เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นจุดเชื่อมต่อกับผู้โดยสารที่เดินทางด้วยระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง และรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ซึ่งสามารถอำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารที่มีความประสงค์ซื้อและจองตั๋วโดยสารขบวนรถไฟทางไกล สามารถซื้อตั๋วโดยสารได้ทุกขบวน ทั้งตั๋วประจำวัน ตั๋วล่วงหน้า และตั๋วขบวนรถนำเที่ยวของการรถไฟฯ

'เฉลิมชัย' ชงแผนพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม 5 ปี พร้อมดีเดย์ฉบับแรกของประเทศ 1 มกราคม 2566

'เฉลิมชัย' ดีเดย์แผนพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม 5 ปี ฉบับแรกของประเทศ 1 มกราคม 2566 ด้าน 'อลงกรณ์' พอใจการปฏิรูปบริการดิจิทัลภาครัฐของกระทรวงเกษตรฯ 175 ระบบคืบหน้า 95% 

(31 ต.ค. 65) นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 และ คณะกรรมการบริหารศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) ภายใต้ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีเกษตร 4.0 ของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานการประชุมผ่านระบบทางไกลออนไลน์ ZOOM Cloud Meeting ครั้งที่ 5/2565 พร้อมด้วย นายวุฒิพงศ์ เนียมหอม รองเลขาธิการ ส.ป.ก., นายโฆสิต สุวินิจจิต ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนธุรกิจเกษตร (Agribusiness), นายกฤชฐา โภคาสถิตย์ ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน e-Commerce, ดร.วราภรณ์ พรหมพจน์ ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะ, นายฉันทานนท์ วรรณเขจร ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน Big Data และ Gov Tech, นายสัญชัย รัศมีจีรวิไล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ศทส.), ดร.เจษฎา วิชาพร รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร, รศ.ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, รศ.ดร.พัชรศักดิ์ อาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี, นายสุวิทย์ รัตนจินดา ประธานสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย และนายจิตติศักดิ์ ศรีปัญญา ผู้อำนวยการกองนโยบายเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรและเกษตรกรรมยั่งยืน ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการฯ 

อีกทั้ง ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง ภาคการศึกษา ภาคเอกชน และศูนย์ AIC จากทั่วประเทศ 492 ราย ร่วมประชุมติดตามผลการดำเนินงานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน ทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ด้าน Big Data และ Gov Tech ด้านเกษตรอัจฉริยะ ด้าน e-Commerce และด้านธุรกิจเกษตร (Agribusiness) 

โดยที่ประชุมได้รับทราบรายงานความก้าวหน้าผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการฯ ภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 
ดังนี้...

1. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนธุรกิจเกษตร (Agribusiness) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานผลความก้าวหน้าการดำเนินงานผลการส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าเกษตรผ่านระบบออนไลน์ มีมูลค่าการจำหน่ายสินค้า จากวันที่ 27 เมษายน 2563 ถึง วันที่ 15 ตุลาคม 2565 เป็นเงินจำนวน 523,792,120 บาท และในการขับเคลื่อนบูรณาการงานด้านการส่งเสริมธุรกิจเกษตร จะมีการจัดงาน Creative and Innovation for Agribusiness ระหว่างวันที่ 18-20 พฤศจิกายน 2565 ณ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อตก.) โดยคณะทำงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์เชิงเกษตร เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน

2. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อน e-Commerce ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานผลความก้าวหน้าการดำเนินงาน ในความพร้อมและการขายสินค้าเกษตรแบบพรีออร์เดอร์ และการจัดฝึกอบรมเกษตรกรรายย่อยด้านช่องทางการทำตลาดออนไลน์ ผ่านช่องทาง tiktok 

3. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานความก้าวหน้าการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการเกษตรอัจฉริยะ ปี 2565-2566 จำนวน 3 โครงการ ได้แก่  (1) การพัฒนา IoTs Platform สำหรับการผลิตทุเรียนแปลงใหญ่อัจฉริยะ (2) แอปพลิเคชันทำนายและตรวจวิเคราะห์ศัตรูพืช (โรคพืช แมลงศัตรูพืช และวัชพืช) ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) (3) การพัฒนาเครื่องจักรกลเกษตร (เครื่องสาง+เครื่องม้วนใบอ้อย) เพื่อแก้ปัญหาการเผาอ้อย และความก้าวหน้าการเชื่อมโยงและเข้าถึงข้อมูลสภาพอากาศของเกษตรกรเพื่อสนับสนุนการทำเกษตรอัจฉริยะ

4. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อน Big Data และ Gov Tech ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีความก้าวหน้าการดำเนินงานด้าน Gov Tech โครงการบริการออนไลน์ e-Service ระบบบริการภาครัฐของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีการให้บริการในรูปแบบ Digital ทั้งสิ้น จำนวน 175 บริการ เป็น Digital Service จำนวน 166 บริการ คิดเป็น 95% เหลืออีก 5% อยู่ระหว่างดำเนินการให้เป็น Digital Service จำนวน 9 บริการ ซึ่งนายอลงกรณ์แสดงความชื่นชมและพอใจต่อความคืบหน้าโดยขอให้บรรลุ 100% ในปีนี้

ส่วนการพัฒนาระบบบริการดิจิทัลที่เชื่อมโยง NSW แล้ว จำนวน 55 บริการ มีการอนุมัติและเป็น e-Signature ทั้งสิ้น 5 หน่วยงาน 46 บริการ มีการชำระเงิน และเป็น e-Payment ทั้งสิ้น 4 หน่วยงาน 38 บริการ อีกทั้งได้มีการรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินงานด้าน Big Data โดยศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ ได้ดำเนินการจัดทำโครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลการเกษตร มีระบบงานที่พัฒนาขึ้น จำนวน 5 ระบบ โดยผู้สนใจสามารถเข้าใช้งานผ่านทางเว็บไซต์ http://nabc.go.th/app/application ได้แก่...

(1) ระบบการบูรณาการข้อมูลและจัดทำรายงาน 
(2) ระบบการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) 
(3)ระบบปฏิทินการผลิตสินค้าเกษตร 
(4) ระบบ Coaching Program Platform (CPP)
และ (5) ระบบ Public AI ให้บริการข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลทางการเกษตร

ที่ประชุมยังรับทราบผลการดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) ในเรื่องต่างๆ ดังนี้...

(1) การบริหารการขับเคลื่อนศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center : AIC) จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งได้ดำเนินการติดตั้งระบบการบริหารจัดการน้ำ เพื่อพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อรายงานสถานการณ์น้ำ ระดับน้ำ และระยะเวลาระบายน้ำ พัฒนาระบบเตือนภัยน้ำท่วมสำหรับเกษตรกรในพื้นลุ่มต่ำ กรณีศึกษา โครงการบางระกำโมเดล โดยเกษตรกรจะสามารถเข้าถึงระบบได้โดยผ่านทางโทรศัพท์มือถือ และคอมพิวเตอร์

(2) ผลการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในฐานะศูนย์ AIC จังหวัดนครราชสีมาและ ศูนย์ความเป็นเลิศโคเนื้อในโครงการพัฒนาการปรับปรุงพันธุ์และการขุนวัวโคราชวากิว ให้มีไขมันแทรกสูง โดยใช้พ่อพันสายพันธุ์วากิวแท้ 100% (Full Blood) ที่มีการตรวจยีนการสร้างไขมันแทรกเป็นที่ยอมรับทั่วโลก และสามารถนำมาผสมกับแม่พันธุ์โคผสมสายพันธุ์ต่างๆในประเทศไทยสามารถให้ลูกที่มีไขมันแทรกสูง เนื้อคุณภาพ สามารถส่งขายได้ในราคาดี เป็นที่ต้องการของตลาด โดยในปัจจุบันเกษตรกรรายย่อยทางภาคอีสานสามารถขุนเองให้ได้มาตรฐานตรงตามที่ตลาดต้องการ

(3) แผนพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม 5 ปี (พ.ศ. 2566 - 2570) ฉบับแรกของประเทศสอดรับกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่13 โดยฝ่ายเลขาฯ ได้แจ้งประสานไปยังสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดทุกจังหวัดเพื่อให้จัดทำแผนฯ และส่งข้อมูลภายใน 30 พ.ย. 2565 ซึ่งพร้อมจะเสนอให้รัฐมนตรีเกษตรฯ ประกาศแผนดังกล่าวในวันที่ 1 มกราคม 2566

'ดอน' เผย 'สี จิ้นผิง' มาร่วมประชุม APEC 2022 ย้ำ!! ดูแลความปลอดภัยสูงสุด

APEC 2022 นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ เผย 'สี จิ้นผิง' มาร่วมประชุมแน่นอน ย้ำดูแลความปลอดภัยสูงสุด

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในการประชุมเอเปคครั้งนี้ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ถือเป็นการประชุมที่ยิ่งใหญ่ในรอบ 3 ปีที่จะมีการประชุมเต็มรูปแบบ โดยทุกประเทศใน 21 เขตเศรษฐกิจจะมาเข้าร่วมประชุม เพียงแต่ว่าจะอยู่ในระดับไหนเท่านั้น

โดยแขกที่ได้รับเชิญอย่างเป็นทางการที่จะมาเยือนที่ทำเนียบรัฐบาลนั้น มีประมาณ 6-7 ประเทศ รวมถึงนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งจีนถือเป็นการเยือนพิเศษ เพราะมีการพูดคุยกันมานานแล้ว ส่วนนายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียคงต้องรอต่อไป ซึ่งจนถึงวันนี้ยังยืนตามนี้ไปก่อน ส่วนจะเปลี่ยนหรือไม่ต้องรออีกสักระยะ

สำหรับสหรัฐอเมริกาจะส่งนางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ มาแทนตามที่โฆษกสหรัฐฯ ได้ชี้แจงไว้ ส่วนเขตบริหารพิเศษฮ่องกงและไต้หวัน แม้ไม่ได้เป็นประเทศ แต่ก็ถือว่าเป็นเขตเศรษฐกิจ ที่เหลือเป็นระดับผู้นำที่จะเดินทางมา เช่นเดียวกับประเทศมาเลเซียที่ส่งตัวแทนมา เนื่องจากกำลังมีการเลือกตั้งในประเทศในวันที่ 29 พ.ย. และประเทศเม็กซิโกที่มีปัญหาในบ้านเมือง

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ตัวชี้วัดภาคการผลิตของไทยที่ยัง ขยายตัวต่อเนื่อง

ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง สำหรับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ล่าสุดกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า MPI เดือนกันยายน 2565 ขยายตัวร้อยละ 3.36 และไตรมาส 3 ปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 8.06 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 

ส่งผลให้ 9 เดือนแรก MPI ขยายตัวร้อยละ 2.83 ส่วนการส่งออกสินค้าอุตฯ ขยายตัวร้อยละ 7.92 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 22 รับผลบวกจากรถยนต์มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น 

‘รถไฟลอยน้ำ’ ชมเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ กลับมาแล้ว การรถไฟฯ เริ่มเปิดให้บริการเที่ยวแรก 5 พ.ย.นี้

การรถไฟฯ จัดขบวนรถไฟลอยน้ำต้อนรับฤดูกาลท่องเที่ยว พาไปสัมผัสลมหนาวกลางเขื่อนกับขบวนรถพิเศษนำเที่ยวเส้นทางกรุงเทพ – เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2565 – มกราคม 2566 เริ่มเที่ยวแรก 5 พฤศจิกายน นี้

นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวที่กำลังมาถึงนี้ การรถไฟฯ ขอเชิญชวนประชาชน และนักท่องเที่ยว ร่วมเดินทางสัมผัสลมหนาวเส้นทางอันซีนหนึ่งเดียวของเมืองไทย นั่งรถไฟลอยน้ำสุดโรแมนติก กลางเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ โดยได้จัดขบวนรถพิเศษนำเที่ยว เส้นทางกรุงเทพ – เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ – กรุงเทพ ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2565 – มกราคม 2566 โดยเปิดให้บริการเที่ยวแรก 5 พฤศจิกายน 2565 และเริ่มจำหน่ายตั๋วโดยสารพร้อมกันทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 ผู้สนใจสามารถติดต่อซื้อตั๋วโดยสารล่วงหน้าได้ที่สถานีรถไฟทุกแห่งทั่วประเทศ หรือระบบ D-Ticket รวมถึงสามารถจองเดินทางเป็นหมู่คณะแบบเช่าเหมาคันหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ หมายเลขโทรศัพท์ 1690 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือเฟซบุ๊กแฟนเพจ ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย 

สำหรับประวัติขบวนรถไฟลอยน้ำ เดิมเป็นทางรถไฟสายกรุงเทพ บัวใหญ่ หนองคาย อยู่ในบริเวณลุ่มน้ำป่าสักในอำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี และต่อมาพื้นที่ดังกล่าวถูกพัฒนาเป็นเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ตามโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อใช้กักเก็บน้ำ แก้ไขความเดือดร้อนของประชาชน พร้อมกับมีการสร้างทางรถไฟยกระดับขึ้นเหนือน้ำเพื่อใช้สัญจรไปยังจังหวัดต่างๆ ได้ ซึ่งเมื่อขบวนรถไฟวิ่งลัดเลาะไปตามขอบของอ่างเก็บน้ำ  และมองออกไปนอกหน้าต่างจะดูคล้ายกับรถไฟแล่นไปบนผิวน้ำ ขบวนรถไฟนี้จึงได้ชื่อว่า “รถไฟลอยน้ำ” 

ทั้งนี้ ขบวนรถพิเศษนำเที่ยวเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จะเปิดให้บริการแบบเช้าไปเย็นกลับ ซึ่งในปีนี้ได้กำหนดจัดในทุกวันเสาร์ และอาทิตย์ ตลอดเดือนพฤศจิกายน 2565 – มกราคม 2566 รวม 24 วัน ประกอบด้วย 

วันที่ 5–6, 12-13, 19-20, 26-27 พฤศจิกายน 2565 
วันที่ 3-4, 10-11, 17-18, 24-25 ธันวาคม 2565 
วันที่ 7-8, 14-15, 21-22, 28-29 มกราคม 2566 

‘สุริยะ’ แนะคนไทย ‘ลอยกระทง’ ด้วยวัสดุธรรมชาติ รักษ์สิ่งแวดล้อม แถมช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชน

กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมสืบสานวัฒนธรรมประเพณีลอยกระทง ชวนคนไทยใช้กระทงจากวัสดุธรรมชาติ และปล่อยโคมลอยได้มาตรฐาน มผช. ร่วมรักษาสิ่งแวดล้อม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และกระจายรายได้สู่ชุมชน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลลอยกระทง ที่จะมาถึงนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมขอเชิญชวนคนไทยเลือกใช้กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น กระทงเปลือกข้าวโพด และกะลามะพร้าวที่ได้รับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ ของไทยเพื่อร่วมกันอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของคนไทยให้คงอยู่ ซึ่งนอกจากจะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมตามนโยบาย BCG Model ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าแล้ว ยังเป็นการอุดหนุนสินค้าของคนไทย ช่วยกระจายรายได้ และกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจระดับชุมชนอีกด้วย

“กระทงจากเปลือกข้าวโพด และกระทงจากกะลามะพร้าว เป็นสินค้าชุมชนที่ผลิตโดยผู้ผลิตชุมชน และ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน หรือ มผช. จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เป็นสินค้าที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม มีความประณีต สวยงาม ไม่มีกลิ่นของสารเคมีสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ และนอกจากจะแนะนำให้ใช้กระทงจากวัสดุธรรมชาติในเทศกาลลอยกระทงแล้ว ผมขอแนะนำให้ปล่อยโคมลอยที่ได้มาตรฐาน มผช. ด้วย เพราะโคมลอยที่ได้มาตรฐาน ตัวโคมจะใช้วัสดุจากธรรมชาติ มีปริมาณเชื้อเพลิง ไม่เกิน 55 กรัม ใช้เวลาในการเผาไหม้ ไม่เกิน 8 นาที ซึ่งเหมาะสมกับระยะเวลาที่โคมลอยอยู่ในอากาศ และเมื่อตกลงมาสู่พื้นก็ไม่เป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ รวมทั้งให้ยึดถือปฏิบัติตามประกาศมาตรการป้องกันและการรักษาความปลอดภัยของส่วนราชการในพื้นที่อย่างเคร่งครัด โดยจะควบคุมการปล่อยโคมลอยในพื้นที่เฝ้าระวัง โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้สนามบิน เพื่อไมให้โคมลอยเข้าไปติดในเครื่องบิน หรือลอยเข้าไปตกตามชุมชน ซึ่งรัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรมห่วงใยชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ไม่อยากให้เกิดความเสียหายในเทศกาลแห่งความสุขนี้” นายสุริยะฯ กล่าว

นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า “ปัจจุบัน มีผู้ผลิตกระทงเปลือกข้าวโพดที่ได้มาตรฐาน มผช. อยู่ที่จังหวัดกำแพงเพชร จำนวน 4 ราย ได้แก่ 1) กลุ่มกระทงทรงธรรม 2) กลุ่มกระทงเปลือกข้าวโพดบ้านลานดอกไม้ 3) นางเตือนคนึง ราชา และ 1) นางวิรัตน์ ทวนธง และมีผู้ผลิตกระทงจากกะลามะพร้าวที่ได้มาตรฐาน มผช. จำนวน 40 ราย

สวนดุสิตโพล สำรวจท่องเที่ยวหลังโควิดส่วนใหญ่มองว่าดีขึ้น สิ้นปี – ปีใหม่มอง ‘เชียงใหม่’ น่าไปที่สุด เน้นพักผ่อนนอนรร. มองปัจจัยค่าใช้จ่ายเหมาะสมเที่ยวในประเทศ แนะรัฐกระตุ้นท่องเที่ยวเป็นวาระแห่งชาติ

วันนี้ (30 ต.ค.) หลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย และรัฐบาลประกาศให้เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ประชาชนสามารถเดินทาง ไปเที่ยวใช้ชีวิตได้ตามปกติ ทำให้หลายฝ่ายมองว่าการเปิดประเทศและการกระตุ้นเรื่องท่องเที่ยวในช่วงปลายปีน่าจะเป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้บรรยากาศในประเทศกลับมาคึกคัก เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ เรื่องคำตอบท่องเที่ยวไทยหลังโควิด-19 จำนวนทั้งสิ้น 1,148 คน (สำรวจทางออนไลน์) ระหว่างวันที่ 23-28 ตุลาคม 2565 สรุปผลได้ ดังนี้

1. หลังจากประกาศยกเลิกโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ประชาชนคิดว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวไทยในช่วงสิ้นปีนี้จะเป็นอย่างไร

ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา 79.88% เหมือนเดิม 17.94% แย่ลงกว่าปีที่ผ่านมา 2.18%

2. ในช่วงสิ้นปี-ปีใหม่นี้ ประชาชนคิดว่าจังหวัดใดน่าท่องเที่ยวมากที่สุด
อันดับ 1 เชียงใหม่ 38.85%
อันดับ 2 เชียงราย 19.30%
อันดับ 3 น่าน 15.79%
อันดับ 4 ภูเก็ต13.28%
อันดับ 5 ประจวบคีรีขันธ์ 12.78%

3. ประชาชนสนใจการท่องเที่ยวแบบใด
อันดับ 1 เน้นการพักผ่อน พักโรงแรมที่สวยงาม สะดวกสบาย 55.62%
อันดับ 2 ไปทะเล ชายหาด 51.41%
อันดับ 3 เที่ยววัด ทำบุญ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ 45.43%

4. ปัจจัยใดที่จะทำให้ประชาชนเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น
อันดับ 1 ค่าใช้จ่ายเหมาะสม คุ้มค่า 71.65%
อันดับ 2 ความสะดวกในการเดินทาง 68.50%
อันดับ 3 มีโปรโมชั่น ส่วนลดต่างๆ เช่น ค่าที่พัก ค่าเดินทาง ค่าอาหาร เป็นต้น 46.98%

มาตรการกระตุ้นศก.ภาครัฐ ดันอสังหาฯ พลิกฟื้น ยอดใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยทั่วประเทศพุ่ง

‘ทิพานัน’ เผยการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยทั่วประเทศในไตรมาส 2 ปี 2565 กลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 และมีการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยครึ่งปีแรกพุ่งกว่า มูลค่า 480,510 ล้านบาท สะท้อนผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และประชาชนให้ความเชื่อมั่นมาตรการรัฐบาล 'พล.อ.ประยุทธ์' เกิดการจ้างงาน กระตุ้นเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องและเศรษฐกิจฐานราก

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้มีมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องประกอบกับการเร่งตัวของภาคบริการหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุม การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีความเชื่อมั่นต่อการลงทุนมากขึ้น  

จากรายงานของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ พบว่า ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2565 มีการออกใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ ทั้งประเภท บ้านที่ประชาชนสร้างเอง และบ้านในโครงการจัดสรร มีจำนวนประมาณ 80,704 หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ที่มีจำนวน 75,803 หน่วย และหากเทียบกับข้อมูลย้อนหลัง พบว่า มีการออกใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นเป็นไตรมาสแรก หลังจากที่ลดลงติดต่อกันมาถึง 9 ไตรมาส นับตั้งแต่ ไตรมาส 1 ปี 2563 

ขณะที่ในด้านการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย ทั่วประเทศ จำนวน 95,316 หน่วย มูลค่า 257,009 ล้านบาท เพิ่มขึ้นทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่า ร้อยละ 9.0 และ 7.1 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 และในภาพรวมครึ่งปีแรกของปี 2565 มีการโอนกรรมสิทธิทั่วประเทศจำนวน 180,636 หน่วย มูลค่า 480,510 ล้านบาท เพิ่มขึ้นทั้งจำนวนและมูลค่าร้อยละ 6.4และ 3.1 ตามลำดับ

สะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว ที่ 5 อาจพาบึงกาฬทะยาน สู่จุดยุทธศาสตร์ เชื่อมโยง ‘ไทย-ลาว-เวียดนาม’

(29 ต.ค. 65) เพจ โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure ได้ Update ความคืบหน้าของสะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) ซึ่งเป็นประตูเชื่อมเพื่อนบ้านแห่งใหม่ เพื่อเชื่อมโยง ไทย-ลาว-เวียดนาม ไว้ว่า...

สะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) คืบหน้าแล้วกว่า 57% อีกหนึ่งจุดยุทธศาสตร์ เชื่อมโยงภูมิภาค ไทย-ลาว-เวียดนาม

อย่างที่หลายๆ คนทราบว่า ตอนนี้บึงกาฬ เป็นจังหวัดที่เนื้อหอมมาก เพราะเป็นทั้งจังหวัดใหม่ที่ยังขาดการพัฒนา และพัฒนาได้ง่าย พร้อมกับทรัพยากร ที่สดใหม่พร้อมพัฒนา แหล่งท่องเที่ยวที่นิยมใหม่ๆ และที่สำคัญเป็นเมืองชายแดนที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง

ทำให้ รัฐบาลมีการวางแผน และลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภายในบึงกาฬ เพื่อเชื่อมโยงบึงกาฬ กับจังหวัดข้างเคียง และประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างเต็มที่ แบ่งเป็น 

>> โครงการที่เริ่มก่อสร้างแล้ว...
- โครงการสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ)
- โครงการเลี่ยงเมืองบึงกาฬ เชื่อมสะพานมิตรภาพ

>> สะพานที่อยู่ระหว่างศึกษาและออกแบบ...
- ทางหลวงสายใหม่ อุดรธานี-บึงกาฬ
- สนามบินบึงกาฬ 

(ลิงก์รายละเอียดการศึกษา ตามนี้ https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=1535116113593529&id=491766874595130)

>> โครงการที่อยู่ระหว่างศึกษาแผนแม่บท...
- มอเตอร์เวย์+รถไฟ MR3 บึงกาฬ-สุรินทร์

ซึ่งทั้งหมดนี้ จะเห็นเลยว่า ตอนนี้บึงกาฬกำลังเป็นจังหวัดที่น่าจับตามองมากๆ

มาดูรายละเอียด สะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) กันหน่อย

จริงๆ ผมเคยโพสต์รายละเอียดสะพานมิตรภาพนี้มาตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว ตามลิงก์นี้ https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=598828117222338&id=491766874595130&mibextid=nJa2DX

ซึ่งช่วงนั้นผมมีงานอยู่ที่เมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ ตรงข้ามกับจังหวัดบึงกาฬ เลยทำให้เข้าใจสภาพพื้นที่ และความน่าดึงดูดของจังหวัดนี้เลย

>> สะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) 

- สะพานเป็นรูปแบบ สะพานคานขึง (Extradose Bridge) ซึ่งช่วยให้ลดจำนวนเสา กลางแม่น้ำเพียง 4 ต้น ระยะห่างระหว่างเสา 150 เมตร 
- ความยาว สะพาน 1.35 กิโลเมตร
- ความยาวถนน รวมเลี่ยงเมือง 15 กิโลเมตร 
- พร้อมอาคารด่าน ตม. 2 ฝั่ง
- อัตลักษณ์ สะพาน เป็นรูปแคน 

***มูลค่าก่อสร้างรวม 3,640 ล้านบาท

ซึ่งด่านนี้จะเน้นการขนส่งสินค้าทางเกษตร เช่น มันสำปะหลัง ยางพารา เพื่อมาแปรรูปที่ฝั่งไทย

(ปัจจุบัน การเดินทางข้ามฝากด้วยแพขนานยนต์ ซึ่งเป็นจุดข้ามสำคัญ เช่น รถไฟที่ใช้ในการก่อสร้างรถไฟ ลาว-จีน ก่อนหน้านี้)

'ทิพานัน' มั่น 'บิ๊กตู่' พาไทยฮับผลิตอีวีแห่งอาเซียนได้แน่ หลังผู้ผลิตสนร่วมมาตรการส่งเสริมลงทุนเพียบ

'ทิพานัน' โชว์ยอดใช้รถอีวีเติบโต 7 เดือนแรก ปี 65 กว่า 2 หมื่นคัน ชี้ 'พล.อ.ประยุทธ์' นำไทยเป็นฐานการผลิตรถอีวีใหญ่ในภูมิภาคได้แน่นอน หลังผู้ผลิตรถอีวีสนใจเข้าร่วมมาตรการส่งเสริมลงทุนเพียบ เกิดการจ้างงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจครั้งใหญ่

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากแผนพลังงานแห่งชาติที่กำหนดกรอบให้ไทยมียานยนต์ไฟฟ้า หรือรถอีวี ที่ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด โดยตั้งเป้าให้ ปี 2030 ต้องมีการใช้รถอีวีเพิ่มมากกว่า 50% เพื่อให้ปี 2040 สามารถทดแทนยานยนต์ที่ใช้น้ำมันได้ 100% ในกลุ่มรถใหม่ ซึ่งจะช่วยให้ไทยสามารถลดการใช้พลังงานน้ำมัน และส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการเกิดฝุ่น pm 2.5 ด้วย โดยรัฐบาลได้ออกมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมรถอีวีอย่างครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นเงินอุดหนุนรถยนต์ และรถกระบะคันละ 70,000-150,000 บาทต่อคัน และรถจักรยานยนต์ 18,000 บาทต่อคัน ลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์จาก 8% เป็น 2% และรถกระบะเป็น 0% ลดอากรขาเข้ารถยนต์ที่ผลิตต่างประเทศ และนำเข้าทั้งคัน (CBU) สูงสุด 40% สำหรับรถยนต์ ถึงปี 2566 และยกเว้นอากรขาเข้าส่วนประกอบรถยนต์อีวี จำนวน 9 รายการ เพื่อนำมาผลิตหรือประกอบอีวีในประเทศ (CKD) จำนวน 9 รายการ ส่งผลให้แนวโน้มการใช้รถอีวีของไทยเพิ่มสูงขึ้น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top