Saturday, 5 July 2025
ECONBIZ NEWS

‘กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม’ พอใจ!! ความคืบหน้าโครงการส่งเสริมวิทย์ฯ เพื่อเด็กไทย

กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เดินทางไปตรวจเยี่ยม โครงการโปรแกรมการชมพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ดิจิทัล (Digital Science Museum Guides Program) เมื่อวันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566  

(6 ก.พ. 66) นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 
พร้อมด้วย นายสมบูรณ์ เมฆไพบูลย์วัฒนา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการบริหารเทคโนโลยีดิจิทัลและการสื่อสาร และนางสุรีพร พรโสภณวิชญ์ ผู้อำนวยการกองบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมเจ้าหน้าที่กองทุนฯ ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยม โครงการโปรแกรมการชมพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ดิจิทัล (Digital Science Museum Guides Program ณ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) โดยงานในครั้งนี้ มี นายสุวรงค์ วงษ์ศิริ รองผู้อํานวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ให้การต้อนรับ

'บิ๊กตู่' ปลื้ม!! ทัวร์จีนมองไทยเป็นประเทศในฝัน เชื่อ!! ปีนี้ นทท.จีน เข้าไทยไม่น้อยกว่า 5 ล้านคน

(6 ก.พ. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ยินดีที่ประเทศไทยได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง โดยไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางในฝัน ของนักท่องเที่ยวจีน ที่ต้องการมาเยือนหลังมีการผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 

นายอนุชา กล่าวว่า ทางการจีนประกาศเปิดประเทศ และอนุญาตให้บริษัทนำเที่ยว บริษัทท่องเที่ยวออนไลน์ทั่วประเทศจีน รวมถึงธุรกิจตั๋วเครื่องบิน-โรงแรม ดำเนินกิจการจัดการท่องเที่ยวสำหรับชาวจีนแบบหมู่คณะ ไป 20 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย เริ่มตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ.นี้ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้จัดแคมเปญดึงดูด และมีมาตรการรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน ที่จะเดินทางมาประเทศไทย โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เดินหน้ากลยุทธ์ 'China is Back' ดึงนักท่องเที่ยวจีนกลับมาทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ โดยร่วมกับภาคเอกชนจัดแคมเปญใหญ่ Two Lands, One Heart (ไทย-จีน ใช่อื่นไกล พี่น้องกัน) ส่งเสริมการตลาดดึงนักท่องเที่ยวจีนมาท่องเที่ยวไทย พร้อมทั้งใช้เครื่องมือทางดิจิทัลในลักษณะ Worldwide Platform และสานต่อกลยุทธ์ Celebrity Marketing และเร่งฟื้นเที่ยวบินรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวจีน และร่วมกับพันธมิตรขายแพ็กเกจท่องเที่ยว ทั้งเดินทางข้ามชายแดนทางบก (R3A) รถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว และเรือครุยส์แม่น้ำโขง ทั้งนี้ ททท. ตั้งเป้าหมายดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนมาไทยได้ไม่น้อยกว่า 5 ล้านคนในปีนี้

บทสรุปการเปลี่ยนแปลง 'สถานีกลางฯ' หลังผ่านไป 2 สัปดาห์ รถไฟตรงเวลา - ผู้โดยสารปรับตัว - เจ้าหน้าที่คุ้นเคย

(6 ก.พ. 66) เพจ 'โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure' ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า...

สรุปการเปลี่ยนแปลง สถานีกลางฯ หลังผ่านไป 2 สัปดาห์ รถไฟตรงเวลา, ผู้โดยสารปรับตัว, เจ้าหน้าที่คุ้นเคย สู่ศักราชใหม่ของระบบราง 

เมื่อวานผมได้ไปสังเกตการณ์ การพัฒนาการของสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ หลังจากที่เปิดให้บริการมา 2 สัปดาห์ ผ่านดรามาต่าง ๆ และการเปลี่ยนแปลงระบบการให้บริการใหม่

เลยขอมาเล่าให้เพื่อน ๆ ฟังกันหน่อยครับ ขอแบ่งเป็นส่วน ๆ คือ...

- ผู้โดยสาร
ผมต้องชื่นชมผู้โดยสารที่ปรับตัว และทำความเข้าใจกับขั้นตอนในการใช้บริการใหม่ ซึ่งพอทุกคนเข้าใจ ทุกอย่างก็ราบรื่นยิ่งขึ้น

เริ่มตั้งแต่การเข้าแถว รอขึ้นชานชาลา ไปจนถึงการขึ้นรถ เพื่อเตรียมออกเดินทางภายใน 20 นาที

แต่ในหลาย ๆ ส่วนก็ยังต้องปรับปรุงอยู่บ้าง เช่น ป้ายสัญลักษณ์ และหน้าจอแสดงผลในระดับดิน ซึ่งทราบจากพี่ ๆ ที่อยู่ในการรถไฟว่า ตอนนี้กำลังออกแบบ และเตรียมติดตั้งอยู่

- เจ้าหน้าที่การรถไฟแห่งประเทศไทย
ก็ต้องชื่นชมทีมงานทุกส่วนของการรถไฟที่ได้ปรับเปลี่ยน รวมถึงจัดเตรียมระเบียบใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับการให้บริการในสถานีกลาง

โดยเฉพาะทีมงานที่อยู่หน้างานทั้งฝ่ายประชาสัมพันธ์ เจ้าหน้าที่สถานี และทีมบริหารจัดการเดินรถ

จนทำให้ ระยะเวลาที่เลท ในวันแรกบางขบวนถึง 3 ชั่วโมง จนล่าสุด ก็ตรงเวลามา 2 วันติดต่อกันแล้ว ซึ่งก็หวังว่าจะรักษามาตรฐานนี้กันอย่างต่อเนื่อง

กลุ่ม ปตท. ดันเทคโนโลยีดิจิทัล หนุน ศก.สร้างสรรค์ ช่วยขับเคลื่อนเสน่ห์ Soft Power ไทยสู่เวทีสากล

กลุ่ม ปตท. ร่วมขับเคลื่อน Soft Power ไทย ดันเทคโนโลยีดิจิทัลหนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พร้อมส่งออกคอนเทนต์ไทยคุณภาพสู่เวทีสากล จับมือพันธมิตรต่อยอดต้นทุนวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย สนับสนุน ‘ระบบนิเวศสร้างสรรค์’ ผ่านอุตสาหกรรมคอนเทนต์ มุ่งพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้ได้มาตรฐานสากล รองรับการผลิตคอนเทนต์ไทยสู่ตลาดโลก เพื่อพัฒนารายได้และคุณภาพชีวิตคนไทย ยกระดับเศรษฐกิจประเทศให้เติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน

เมื่อวันที่ 3 ก.พ.66 นายเชิดชัย บุญชูช่วย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ซอฟท์พาวเวอร์ (Soft Power) เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญในการแพร่ขยายอิทธิพลทางค่านิยม หรือ วัฒนธรรม ที่นานาประเทศผลักดันให้เป็นกลยุทธ์ในการเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) 

ปตท. เล็งเห็นถึงโอกาสของการต่อยอดแนวคิดดังกล่าว เพื่อรุกเข้าสู่ธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงานให้พร้อมรับการแข่งขันบนเวทีโลก ด้วยวิสัยทัศน์ “Powering Life with Future Energy and Beyond” จึงจัดตั้งโครงการ Soft Power for Better Thailand ขึ้น เพื่อนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยยกระดับการพัฒนาซอฟท์พาวเวอร์ไทย หรือ 'เสน่ห์ไทย' ที่เกิดจากวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีปฏิบัติอันเป็นภูมิปัญญาของประเทศไทย ที่อยู่ในความสนใจของชาวต่างชาติ ซึ่งนอกจากจะเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้กลับเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยแล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสทางธุรกิจที่จะสามารถดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนเพื่อขยายฐานอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Industry) ในประเทศไทย ที่จะช่วยสนับสนุนนโยบายภาครัฐในการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย หลังสถานการณ์โรคติดเชื้อ COVID-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลกได้อีกทางหนึ่งด้วย 

“ปตท. จับมือพันธมิตรภาคส่วนต่างๆ ทั้งจาก บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (ARV) บริษัทในกลุ่ม ปตท. ที่มีธุรกิจเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีด้านซอฟท์พาวเวอร์ ผ่านการนำเทคโนโลยีมาช่วยยกระดับการสร้างสรรค์คอนเทนต์ไทย ภายใต้แนวคิด TECH CREATE FUN คือ การนำเทคโนโลยี (TECH) เช่น Virtual Reality, Augmented Reality, Drone และ Metaverse เป็นต้น มาเสริมศักยภาพในการสร้างสรรค์ผลงาน (CREATE) เช่น ภาพยนตร์ ดิจิทัลคอนเทนต์ หรือ งานศิลปะ เพื่อให้ทั้งผู้สร้างสรรค์ผลงานและผู้ชมได้สัมผัสประสบการณ์ที่ดีขึ้น (FUN) รวมไปถึงยังมีความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ในการจัดกิจกรรมเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาซอฟท์พาวเวอร์ไทย ด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมคอนเทนต์ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ทั้งการพัฒนาทักษะบุคลากร การสนับสนุนด้านทรัพยากรและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง โดยมียุทธศาสตร์สำคัญในการดำเนินงาน 3 ด้าน ได้แก่...

1. สร้างคอนเทนต์ไทยสู่สากล ผ่านโครงการ Content Lab โดยร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) (CEA) จัดโปรแกรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการการใช้งานเทคโนโลยีสมัยใหม่สำหรับผลิตภาพยนตร์ ซีรีส์ งานโฆษณา งานอีเวนต์ และเกม ให้กับนักเรียน นักศึกษา นักสร้างอนิเมชั่น และบุคคลทั่วไปที่สนใจ เพื่อต่อยอดการสร้างสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) สำหรับการสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่ทันสมัยเทียบเท่ามาตรฐานระดับสากล รวมถึงได้รับประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีการถ่ายทำชั้นนำของประเทศไทย โดยจะมีกิจกรรม Open House โครงการในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ที่จะถึงนี้

2. สร้างบุคลากรเพื่อรองรับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ผ่านโครงการ TGIF - Technology is Fun โดยนำเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องในการยกระดับซอฟท์พาวเวอร์ จัดแสดงที่มหาวิทยาลัย 11 แห่งทั่วประเทศ ในช่วงเดือนมีนาคม - กันยายน 2566 เพื่อเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษา ได้มีโอกาสเข้าถึงองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย สร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานที่จะสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นซอฟท์พาวเวอร์ของประเทศได้ในเชิงพาณิชย์ 

และ 3. จัดแสดงศักยภาพซอฟท์พาวเวอร์ด้านศิลปะไทย ผ่านนิทรรศการ “Locating the Locals: A Virtual Exhibition by PTT” โดยคัดเลือกผลงานบางส่วนจากการจัดประกวดศิลปกรรม ปตท. ที่เคยได้รับรางวัลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 นำออกจัดแสดงอีกครั้ง โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้ชมบนพื้นที่จัดแสดงศิลปะแบบเสมือนจริง (Virtual Art Gallery) ซึ่งนอกจากการจัดแสดงครั้งแรก ณ หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ เมื่อช่วงปลายปี 2565 ที่ได้การตอบรับเป็นอย่างดีแล้ว นิทรรศการนี้จะมีการจัดแสดงขึ้นอีกในงาน Bangkok Design Week 2023 ณ River City Bangkok ระหว่างวันที่ 4 - 12 กุมภาพันธ์ 2566 และ Isan Creative Festival 2023 ณ จ.ขอนแก่น ระหว่างวันที่ 1 - 9 เมษายน 2566 ซึ่งผู้สนใจยังสามารถชมนิทรรศการในโลกเสมือนที่ virtualspacebyptt.com ได้อีกด้วย”

ปตท. ร่วมแก้วิกฤตฝุ่น PM 2.5 หนุนพนักงาน Work from Home

เมื่อวันที่ 3 ก.พ.66 นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.)  กล่าวว่า จากสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่มีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศที่นิ่งและปิด ทำให้ฝุ่นละอองสะสมตัวมากขึ้น และส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนในวงกว้าง ปตท. ในฐานะบริษัทพลังงานของคนไทย เราตระหนักถึงปัญหาจึงมีนโยบายให้พนักงานที่ปฏิบัติงานอยู่ในกรุงเทพมหานคร, ปทุมธานี, นครราชสีมา, พระนครศรีอยุธยา, ระยอง, ราชบุรี และขอนแก่น ปฏิบัติงานในที่พัก (Work from Home) ระหว่างวันที่ 3 – 5 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อร่วมลดผลกระทบที่เกิดจากการสัญจร

ทั้งนี้ ปตท. ยึดมั่นดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการดูแลสังคม ชุมชม และสิ่งแวดล้อม พร้อมตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) ซึ่งเร็วกว่าที่ประเทศกำหนด ด้วยกลยุทธ์เชิงรุก 'ปรับ เปลี่ยน ปลูก' ปรับกระบวนการผลิต ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการให้ได้สูงสุด เปลี่ยนสู่ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มสัดส่วนการลงทุนโดยมุ่งธุรกิจพลังงานสะอาด อาทิ พลังงานหมุนเวียน ระบบกักเก็บพลังงาน และธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร ปลูกป่าเพิ่ม 2 ล้านไร่ โดย ปตท. เป็นแกนหลักในการปลูก 1 ล้านไร่ ภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) และกลุ่ม ปตท. อีก 1 ล้านไร่ เพื่อเพิ่มปริมาณการดูดซับก๊าซเรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศด้วยวิธีทางธรรมชาติ

'บิ๊กตู่' ลุย!! แผนพัฒนาตลาดทุนฯ ฉบับที่ 4 ชู!! 'เศรษฐกิจดิจิทัล' พาเศรษฐกิจไทยโตยั่งยืน

(4 ก.พ.66) น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากผลสำเร็จของแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 3 (ปี 2560-2564) ในการเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) เป็นแหล่งระดมทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทย และพัฒนาให้ตลาดทุนไทยเป็นจุดเชื่อมโยงของภูมิภาค เป็นต้น ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2566 ได้รับทราบแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2565 - 2570) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อพลิกฟื้นทางเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างแข็งแรง ให้ตลาดทุนไทยเป็นผู้นำระดับภูมิภาค ส่งเสริมทุกภาคส่วนให้เติบโตอย่างยั่งยืน สนับสนุนทุกภาคส่วนให้ปรับสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและเสริมสร้างความอยู่ดีมีสุขทางการเงินของประชาชน

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า แผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 4 ที่สานต่อจากแผนพัฒนาตลาดทุนฯ ฉบับที่ 3 ได้คำนึงถึงปัจจัยความท้าทาย และทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจโลก (Mega Trends) ที่ส่งผลกระทบต่อตลาดทุนในหลายด้านที่สำคัญ อาทิ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สังคมสูงวัย ภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ เป็นต้น รวมทั้งมุ่งเน้นการสร้างภูมิทัศน์ของภาคตลาดทุนไทยในอนาคต ภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ 29 แผนงาน ดังนี้...

ยุทธศาสตร์ที่ 1 ตลาดทุนเพื่อการแข่งขันได้ (Competitiveness) เป็นการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของทุกภาคส่วนในตลาดทุนไทยและระบบเศรษฐกิจ ประกอบด้วย 11 แผนงาน โดยมีแผนงานที่สำคัญ เช่น การแก้ไขพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 เป็นต้น

ยุทธศาสตร์ที่ 2 ตลาดทุนที่เข้าถึงได้ (Accessibility) เป็นตลาดทุนที่เอื้อให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ ประกอบด้วย 8 แผนงาน โดยมีแผนงานที่สำคัญ เช่น การสนับสนุนให้กลุ่มธุรกิจเป้าหมายซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคต (New Economy) กลุ่มธุรกิจที่เน้นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาต่อยอดจากอุตสาหกรรมเดิมเพื่อให้เติบโตต่อไปได้ในอนาคต (New S-curve) และกลุ่มธุรกิจด้านเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) การระดมทุนผ่าน LiVE Exchange ซึ่งเป็นตลาดหลักทรัพย์สำหรับ SMEs และ Startup เป็นต้น 

ยุทธศาสตร์ที่ 3 ตลาดทุนดิจิทัล (Digitalization) เป็นการส่งเสริม ประยุกต์ และใช้เทคโนโลยีและดิจิทัลในตลาดทุน ประกอบด้วย 6 แผนงาน โดยมีแผนงานที่สำคัญ เช่น โครงการ Digital Infrastructure (DIF) เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานกลางในตลาดทุน เป็นต้น

ยุทธศาสตร์ที่ 4 ตลาดทุนเพื่อความยั่งยืน (Sustainability) เป็นการมุ่งเน้นส่งเสริมความยั่งยืนของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนไทยและระบบเศรษฐกิจในระยะยาว ประกอบด้วย 1 แผนงาน ได้แก่ มาตรการส่งเสริมและพัฒนาให้ตลาดทุนไทยเติบโตอย่างยั่งยืน (ESG) 

ยุทธศาสตร์ที่ 5 ตลาดทุนเพื่อความอยู่ดีมีสุขทางการเงิน (Financial well-being) เป็นการมุ่งเน้นสร้างผลลัพธ์ทางการเงินที่ดี รวมถึงการสร้างโอกาสในการลงทุน โดยมีการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม ประกอบด้วย 3 แผนงาน โดยมีแผนงานที่สำคัญ เช่น การพัฒนาทักษะทางการเงินของคนไทย (Financial Literacy) ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงิน พ.ศ. 2565 - 2570 การปรับปรุงพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 เป็นต้น

ปตท. หนุนกิจกรรม ‘เดิน-วิ่ง OLYMPIC DAY 2023’ กระตุ้นคนไทยรักสุขภาพ - กระจายรายได้สู่ภูมิภาค

ปตท. ส่งเสริมสุขภาพคนไทย พร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจ สนับสนุนกิจกรรมเดิน-วิ่ง OLYMPIC DAY 2023 ใน 4 จังหวัด

(2 ก.พ. 66) นางกนกพร รอดรุ่งเรือง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารชื่อเสียงองค์กรและกิจการเพื่อสังคม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ร่วมงานแถลงข่าวพร้อมสนับสนุนการจัดกิจกรรม ‘เดิน - วิ่ง OLYMPIC 2023’ ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมี นายพิชัย ชุณหวชิระ รองประธานกรรมการ โอลิมปิกแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประธานอนุกรรมการฝ่ายกีฬาเพื่อมวลชนและสิ่งแวดล้อม ประธานจัดการแข่งขัน เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้ประชาชนหันมาออกกำลังกายเพื่อรักษาสุขภาพ

‘รมว.จุติ’ ยกย่อง ‘อาคม’ หลังขึ้นแท่น รมว.คลังแห่งปี 66 ช่วยพา ศก.ไทย ฝ่าภาวะวิกฤติซ้อนวิกฤติ

รมว.พม. ยินดี ‘อาคม เติมพิทยาไพสิฐ’ รับรางวัล รมว.คลังแห่งปี 2566 ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จากนิตยสาร The Banker ยกย่องบริหารเศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพในวิกฤติซ้อนวิกฤติ 

เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 66 นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) แสดงความยินดีกับ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในโอกาสที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแห่งปี 2566 (Finance Minister of the Year 2023) ของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จากนิตยสาร The Banker ในเครือ Financial Times สื่อสิ่งพิมพ์ด้านเศรษฐกิจและการเงินชั้นนำที่ได้รับความเชื่อถือในระดับสากล 

นายจุติ กล่าวว่า สิ่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของประเทศไทยได้รับรางวัลดังกล่าว เพราะความสามารถในการบริหารเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ ทำให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรเงินกู้อยู่ในระดับที่น่าเชื่อถือ ไม่ผันผวน อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับปานกลาง และหนี้สาธารณะอยู่ในเกณฑ์ดี อีกทั้งมีการจัดสรรงบประมาณที่ตอบโจทย์ประเทศ รักษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้เป็นอย่างดี

‘สุริยะ’ หนุนภาคอุตฯ ใช้ ‘ปูนไฮดรอลิก’ ทำคอนกรีต แทนปูนปอร์ตแลนด์ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

กระทรวงอุตสาหกรรม หนุนภาคอุตสาหกรรมใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ชี้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่า เร่ง สมอ. แก้ไขมาตรฐานคอนกรีตและปูนทั้ง 71 มาตรฐาน ให้สามารถใช้ปูนซีเมนต์ ไฮดรอลิกเป็นส่วนผสม เพื่อช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก

(2 ก.พ. 66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัญหาโลกร้อนเป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันแก้ไข เพื่อบรรเทาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดแก่ประชากรโลก กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลภาคอุตสาหกรรม จึงได้กำหนดนโยบายเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน โดยมอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เร่งรัดดำเนินการกำหนดมาตรฐานเพื่อช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว 

สุริยะ กล่าวว่า "ผมได้รับรายงานว่า สมอ. ได้มีการกำหนดและแก้ไขมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับคอนกรีตและปูนซีเมนต์ โดยให้สามารถใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกเป็นวัตถุดิบในการทำผลิตภัณฑ์คอนกรีตต่าง ๆ แทนการใช้ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ซึ่งการผลิตปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าการผลิตปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ โดยมีการคิดค้นพัฒนาการผลิตปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ซึ่งมีส่วนประกอบของปูนเม็ดในอัตราส่วนที่น้อยกว่าปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประมาณร้อยละ 10 ของปริมาณทั้งหมด โดยใช้วัสดุอื่นมาผสมทดแทน เช่น หินปูน กากถลุง และปอซโซลาน เป็นต้น"

สุริยะ กล่าวอีกว่า จากองค์ประกอบที่มีอัตราส่วนของปูนเม็ดน้อยลง จึงทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตน้อยลงตามไปด้วย โดยปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกนั้นมีคุณสมบัติและประสิทธิภาพในการนำไปใช้งานที่ดีเทียบเท่ากับปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ หากประมาณการเบื้องต้นในเชิงของการผลิตปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก 1 ตัน จะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 0.05 ตัน (CO2) เมื่อเทียบกับการผลิตปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ในปริมาณที่เท่ากัน ดังนั้น การนำปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกมาใช้งานทดแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ จึงเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อนได้

ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม สมอ. ได้กำหนดและแก้ไขมาตรฐานให้สามารถใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกในการทำผลิตภัณฑ์คอนกรีตต่างๆ แล้วจำนวน 71 มาตรฐาน ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการแก้ปัญหาโลกร้อน ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ จึงขอเชิญชวนให้ภาคอุตสาหกรรมและหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน นำปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกมาใช้งานทดแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนร่วมกัน

‘รัฐบาล’ คาด!! ปี 66 ต่างชาติเข้าไทย 28 ล้านคน สร้างมูลค่าการท่องเที่ยวแตะ 1.44 ล้านล้านบาท

(2 ก.พ. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้รับทราบแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวในประเทศไทยในปี 2566 จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากจำนวนนักท่องเที่ยวไทยเอง และ นักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง 

นายอนุชา กล่าวว่า จากสถิติของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เข้ามาเยือนในประเทศไทย ช่วงเดือนธันวาคม 2565 มีจำนวนมากถึง 2,241,195 คน โดยอันดับ 1 เป็นนักท่องเที่ยวจาก มาเลเซีย จำนวน 398,295 คน โดยจุดมุ่งหมายที่ได้รับความนิยม ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ชลบุรี สงขลา และ ภูเก็ต โดยเฉพาะ ภูเก็ต ที่บรรยากาศการท่องเที่ยวคึกคัก ทั้งในส่วนของย่านเมือง ทะเล หรือ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top