Sunday, 6 July 2025
ECONBIZ NEWS

‘นิพนธ์’ ลุยยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านอาหาร มอบทุนส่งเสริม 14 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนโคลังกาสุกะ

‘เฉลิมชัย’ มอบ ‘นิพนธ์’ เดินหน้ายุทธศาสตร์ ทำชายแดนใต้เป็นพื้นที่ความมั่นคงทางด้านอาหาร มอบทุนส่งเสริม 14 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนโคลังกาสุกะ ห้าจังหวัดชายแดนใต้

เมื่อวานนี้ (26 ม.ค. 66) นายนิพนธ์ บุญญามณี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยได้รับมอบหมายจากนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีลงนามในสัญญากู้ยืมเงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร โครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโคของวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่จังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส พร้อมทั้งมอบป้ายสนับสนุนเงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ให้แก่วิสาหกิจชุมชนในพื้นที่จังหวัดปัตตานีและจังหวัดนราธิวาส จำนวน 14 กลุ่ม  และมอบนโยบายการขับเคลื่อน โครงการเมืองปศุสัตว์ภายใต้กรอบระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีนายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ รองผวจ. ปัตตานี นายอำเภอกะพ้อ หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน 14 กลุ่ม และกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่เข้าร่วมในพิธีดังกล่าว ณ สนามฟุตบอลตำบลปล่องหอย หมู่ที่ 5 ตำบลปล่องหอย อำเภอกะพ้อจังหวัดปัตตานี

โดยที่กองบริหารกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้พิจารณาอนุมัติ สัญญายืมเงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร โครงการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรเลี้ยงโคให้กับวิสาหกิจชุมชนจำนวน 14 กลุ่ม 14 โครงการ เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการต่อยอดอาชีพ การเลี้ยงโคเนื้อ และยกระดับสินค้าโคเนื้อให้เป็นสินค้าที่มีคุณภาพสูง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากระดับชุมชน นำไปสู่การพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้ออย่างยั่งยืน รวมวงเงินทั้งสิ้น 54,149,600 บาทประกอบด้วยจังหวัดปัตตานี จำนวน 13 กลุ่ม 13 โครงการ วงเงิน 50,538300 บาท 

และในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสจำนวน 1 กลุ่ม 1 โครงการ วงเงิน 3,611,300 บาท โดยนายนิพนธ์ บุญญามณี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานในพิธีลงนามในสัญญากู้ยืมเงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร โครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโคของวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่จังหวัดปัตตานีและจังหวัดนราธิวาส และมอบป้ายสนับสนุนเงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรให้แก่วิสาหกิจชุมชนในพื้นที่จังหวัดปัตตานีและจังหวัดนราธิวาสจำนวน 14 กลุ่ม โดยมีตัวแทนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโคลังกาสุกะ มารับมอบจากรองปลัดกระทรวงเกษตรฯ 

นายนิพนธ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมจะร่วมขับเคลื่อนการทำงานให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่เป็นรูปธรรม ผ่านโครงการสำคัญในพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เดินหน้าสู่ยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางอาหาร เช่นโครงการเมืองปศุสัตว์ชายแดนภาคใต้ โดยกรมปศุสัตว์และหน่วยงานในสังกัดได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานในพื้นที่ และการพัฒนางานด้านการเกษตร ได้มีการมอบหมายหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การพัฒนาส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน 'ฮาลาล' ในพื้นที่ชายแดนใต้ การพัฒนาแบบมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์เชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ

‘บิ๊กตู่’ เร่งเดินหน้าโครงการสนามบินอู่ตะเภา ยัน เริ่มก่อสร้างต้นปี 66 ช่วยฟื้นฟูอุตฯการบิน

‘บิ๊กตู่’ เร่งเดินหน้าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เริ่มก่อสร้างต้นปี 66 นี้แน่นอน คาดสร้างผลตอบแทน 3.05 แสนล้าน จ้างงานเพิ่ม 15,600 ตำแหน่ง/ปี ใน 5 ปีแรก ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโต ฟื้นฟูอุตสาหกรรมการบิน 

(27 ม.ค. 66) น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.) ให้ความสำคัญเดินหน้าปฏิรูปประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนในทุกมิติ โครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ถือเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญเร่งด่วน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุนระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศ จึงเร่งผลักดันโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เป็นหนึ่งในโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลักสำคัญของ EEC เพื่อยกระดับสนามบินอู่ตะเภาเป็นสนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลัก แห่งที่ 3 เชื่อมสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ด้วยรถไฟความเร็วสูง ทำให้ทั้ง 3 สนามบินสามารถรองรับผู้โดยสารรวมกันได้มากถึง 200 ล้านคนต่อปี ทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และ Logistics & Aviation เป็นศูนย์กลางของ 'มหานครการบินภาคตะวันออก' รวมถึงเป็น 'เมืองท่าที่สำคัญ' เชื่อมโยงขยายกรุงเทพไปทางตะวันออก ทั้งทางน้ำ ทางบก และทางอากาศ

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า สำหรับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ครอบคลุมพื้นที่กว่า 6,500 ไร่ ตั้งอยู่ในต.พลา อ.บ้านฉาง จังหวัดระยอง เป็นโครงการในรูปแบบ PPP มีมูลค่าการมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 290,000 ล้านบาท ล่าสุดเมื่อวันพุธที่ 28 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา ที่ประชุมกพอ.ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน ได้รับทราบและพิจารณาความก้าวหน้าของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก หลังจากเอกชนคู่สัญญา และกองทัพเรือ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงการใช้สนามบินอู่ตะเภาร่วมกัน (Joint Use Agreement) และรายงาน EHIA ได้รับการอนุมัติจาก คณะรัฐมนตรี โดย สกพอ. ได้แจ้งให้เอกชนรับสิทธิตามสัญญาแล้ว เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 จากนี้ สกพอ. จะแจ้งให้เอกชนเริ่มงานก่อสร้างได้ในช่วงต้นปี 2566  หลังจากเงื่อนไขบังคับก่อนตามสัญญาร่วมลงทุนครบถ้วน

‘ศักดิ์สยาม’ หารือร่วม ‘JETRO - หอการค้าญี่ปุ่น’ ยัน!! ไทยมีแผนพัฒนา ศก. หลังโควิด-19 คลี่คลาย

‘ศักดิ์สยาม’ หารือร่วม ‘JETRO - หอการค้าญี่ปุ่น’ ถกแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในไทย หวังการท่องเที่ยวปี 66 ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย พร้อมอัปเดตโปรเจกต์คมนาคม - ขับเคลื่อน EV - เปิดประเทศ

(26 ม.ค.66) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2566 นายคุโรดะ จุน (Mr.Kuroda Jun) ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น กรุงเทพฯ (JETRO Bangkok) และนายคาโต้ ทาเคโอะ (Mr.Kato Takeo) ประธานหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCCB) เข้าพบ เพื่อหารือแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย

ทั้งนี้ นายคุโรดะ จุน ได้รายงานในที่ประชุมถึงผลการสำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 (ก.ค.-ธ.ค. 2565) โดยแนวโน้มเศรษฐกิจจากทัศนะของผู้ประกอบการญี่ปุ่นยังเป็นไปในทิศทางบวก และดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ อาทิ ราคาต้นทุนวัตถุดิบและชิ้นส่วนที่สูงขึ้น รวมถึงราคาพลังงานที่ปรับราคาสูงขึ้น และอุปสงค์ที่มีต่อการส่งออกลดลง แต่ก็หวังว่าการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทย จะส่งผลดีกับเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศไทยในปี 2566

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ได้กล่าวขอบคุณข้อเสนอแนะ และยืนยันเป้าหมายของรัฐบาลไทย ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลาย โดยกระทรวงคมนาคมยังคงดำเนินภารกิจในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง สนับสนุนมาตรการส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในภาคการขนส่งสาธารณะ มุ่งเน้นการดำเนินการด้านความเป็นกลางด้านคาร์บอน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามขอบเขตของกิจกรรมทางธุรกิจ

ทั้งนี้ ได้ยกตัวอย่างการดำเนินโครงการถไฟขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า (EV on Train) ที่จะเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมภายใน 4 ปี และการสานต่อการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครและชานเมือง พร้อมทั้งแจ้งความคืบหน้าโครงการ Landbridge โดยอยู่ในขั้นตอนการจัดทำ Concept Design เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ก่อนการประชาสัมพันธ์โครงการฯ (Road Show) ทั้งในและต่างประเทศเพื่อดึงดูดความสนใจของนักลงทุนทั่วโลก

ฟรุ้ทบอร์ด ไฟเขียวแก้ปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ เล็งใช้เส้นทาง ‘รถไฟจีน-ลาว’ รองรับฤดูกาลผลไม้ ปี 66

ฟรุ้ทบอร์ด เห็นชอบ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ ตามนโยบายของรัฐมนตรีเกษตรพร้อมจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการตู้และขบวนรถไฟจีน-ลาว รองรับฤดูกาลผลไม้ ปี 2566 

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการ (ฟรุ้ทบอร์ด-Fruit Board) เปิดเผยภายหลังการประชุมวันนี้ว่า ที่ประชุมได้รับทราบ

1.) รายงานความก้าวหน้าโครงการเยียวยาเกษตรกรชาวสวนลำไย ปี 2564/2565 รอบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี

2.) รายงานความก้าวหน้าโครงการพัฒนาลำไยอย่างยั่งยืน ปี 2566 – 2568 จากการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครั้งที่ 1/2565 มีมติมอบกรมส่งเสริมการเกษตรฝ่ายเลขาฯ ดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลและจัดทำแนวทางหรือโครงการนำร่องการแก้ไขปัญหาผลผลิตลำไยอย่างยั่งยืนระยะยาว โดยการปรับโครงสร้างการผลิตลำไยในฤดู และนอกฤดู ให้เท่ากับร้อยละ 60 : 40 ภายในปี 2567 เพื่อให้ลำไยมีการกระจายการผลิตได้ทั้งปี ผลผลิตในฤดูไม่ซ้อนทับกันมาก เป็นทางเลือกให้แก่ตลาดได้ทุกฤดูกาล/ทุกเทศกาล ที่ต้องการลำไย โดยในฤดูกาลปกติจะลดภาวะ over supply ลงได้ร้อยละ 10 แต่ประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรไม่ลดลง

3.) รายงานสถานการณ์การผลิตไม้ผล ปี 2566 โดยคณะทำงานพัฒนาระบบข้อมูลและโลจิสติกส์ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

4.) รายงานผลการประชุมคณะทำงานศึกษาโครงการมหานครผลไม้และการขนส่งผลไม้ผ่านสนามบินจันทบุรี ครั้งที่ 1/2565
โดยใช้แนวทางการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน เป็นการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership หรือ PPP) 

5.) รายงานผลการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาและบริหารการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า 

6.) รายงานสรุปผลการประชุมเฉพาะกิจการเตรียมความพร้อมในการใช้เส้นทางรถไฟจีน – ลาว ซึ่งเป็นโอกาสของฝ่ายไทยและขยายเส้นทางการขนส่งทางรางเพื่อเพิ่มศักยภาพการนำเข้า - ส่งออกสินค้าไปจีนและผ่านจีนไปยังสหภาพยุโรปผ่านเส้นทางตะวันออกกลาง และเอเชียกลาง มีการดำเนินการ ดังนี้ (1) การจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการตู้และขบวนรถไฟ มีหน้าที่ในการรับจองตู้และขบวนรถไฟ เพื่อรองรับฤดูกาลผลไม้ ปี 2566 โดยความร่วมมือภาคีเครือข่ายภาคเอกชน โดยประสานงานกับสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย (2) การปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าผ่านทางรถไฟ ไทย - จีน -ลาว รวมไปถึงการขยายเส้นทางขนส่งสินค้าผ่านจีนไปสู่ภูมิภาคอื่น (3) เร่งรัดการเสนอขอรับงบประมาณสนับสนุนสำหรับระบบตรวจสอบ รวมไปถึงอุปกรณ์วิทยาศาสตร์และโครงการพื้นฐานของด่านส่งออกที่สำคัญ เช่น ด่านมุกดาหาร ด่านนครพนม และด่านหนองคาย (4) ส่งเสริมและประชาสัมพันธ์การขนส่งสินค้าเกษตรจากประเทศไทยสร้างการรับรู้ ข้อปฏิบัติ ข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางรถไฟไทย - จีน - ลาว ในระดับพื้นที่ควบคู่ไปด้วย

'รมว.สุชาติ' เยี่ยมการฝึกบุคลากรดูแลผู้สูงอายุ ป้อนสถานประกอบการ รองรับสังคมผู้สูงอายุ

(26 ม.ค. 66) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่จังหวัดเชียงรายเยี่ยมชมการฝึกเตรียมเข้าทำงาน หลักสูตร การดูแลผู้สูงอายุ 420 ชั่วโมง โดยมี ดร.อุดม สุวรรณพิมพ์ ผู้ช่วยคณบดี คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์, นางสาวบุปผา เรืองสุด รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทน อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน หัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดเชียงราย และผู้เข้ารับการฝึกอบรม ร่วมต้อนรับ ณ ศูนย์ฝึกอบรมวิสาหกิจชุมชนอำเภอแม่จัน (ป่าตึง) เชียงราย หลั่นล้าอีโคโนมี ต.ป่าตึง อ.แม่จัน จ.เชียงราย

นายสุชาติ กล่าวว่า ในวันนี้ผมและคณะได้ลงพื้นที่มายังจังหวัดเชียงราย เพื่อเยี่ยมชมการฝึกเตรียมเข้าทำงาน หลักสูตร การดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลภายใต้การนำของท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานส่งเสริมคนไทยมีงานทำ เพื่อพัฒนาศักยภาพกำลังแรงงานให้สามารถนำทักษะไปประกอบอาชีพทั้งในและต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน จึงได้ให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยให้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 20 เชียงราย เป็นผู้ดำเนินการฝึกตามโครงการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพื่อสนับสนุนส่งเสริมการสร้างทักษะฝีมือแรงงานให้ได้มาตรฐาน รวมทั้งพัฒนาบุคลากรหรือแรงงานที่ให้บริการด้านการดูแลผู้สูงอายุให้มีทักษะเพิ่มขึ้นเตรียมพร้อมก่อนเข้าทำงาน ตลอดจนการเตรียมความพร้อมให้กับประเทศไทยที่จะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ และหลายประเทศที่มีลักษณะของโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกัน ส่งผลให้ตลาดแรงงานทั้งในและต่างประเทศมีความต้องการผู้มีความรู้ด้านการดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น 

ด้าน นางสาวบุปผา เรืองสุด รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทน อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า โครงการดังกล่าว สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 20 เชียงราย ได้บูรณาการกับโรงเรียนนวัตกรรมบริหารจัดการสถานพยาบาล คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งได้รับการรับรองให้ดำเนินการฝึกอบรมนอกสถานที่จากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) มีผู้รับการฝึกซึ่งเป็นสมาชิกของวิสาหกิจชุมชนอำเภอแม่จัน (ป่าตึง) เชียงราย หลั่นล้าอีโคโนมี จำนวน 26 คน ฝึกระหว่างวันที่ 16 ม.ค.65 - 8 พ.ค. 66

'บิ๊กตู่' จัดงานเฉลิมฉลอง 'ปีแห่งนวัตกรรมไทย-ฝรั่งเศสปี 2566' ตอกย้ำ!! ความร่วมมือ 'นวัตกรรมไทย-ฝรั่งเศส' เป็นรูปธรรม

(26 ม.ค. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ยินดีที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยและฝรั่งเศสขับเคลื่อนความร่วมมือด้านนวัตกรรมระหว่างกันอย่างต่อเนื่องจนเป็นรูปธรรม ผ่านการจัดงานเฉลิมฉลอง ‘ปีแห่งนวัตกรรมไทย - ฝรั่งเศสปี 2566 (2023 Thailand - France Year of Innovation)’ ในวันที่ 26 มกราคม 2566 ณ สวนเบญจกิติ กรุงเทพมหานคร

นายอนุชา กล่าวว่า ไทยและฝรั่งเศสมีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นมายาวนาน และมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดในหลายมิติ ซึ่งความร่วมมือด้านนวัตกรรมก็เป็นอีกมิติที่รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยทั้งสองฝ่ายได้กำหนดให้ปี 2566 เป็นปีแห่งนวัตกรรมไทย - ฝรั่งเศส เป็นการขับเคลื่อนที่ต่อเนื่องมาจากการเดินทางเยือนไทยของประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง เมื่อเดือนพ.ย.2565 ที่ผ่านมา โดยสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทย รวมถึงหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องของไทยและฝรั่งเศส ได้ประสานความร่วมมือกัน และมุ่งหวังที่จะสร้างความร่วมมือระหว่างกันในมุมมองที่ทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรม ที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบันของทั้งสองประเทศ

‘บิ๊กตู่’ พอใจ ศธ. เร่งแก้ปัญหาหนี้ครู ผนึก 13 หน่วยงาน แก้หนี้เป็นรูปธรรม - ลดเหลื่อมล้ำ

(26 ม.ค. 66) น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความห่วงใยการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนเป็นวาระสำคัญ 

ทั้งนี้พล.อ.ประยุทธ์พอใจกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้เร่งขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม โดยล่าสุดนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ‘การดำเนินการโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา’ ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ กับหน่วยงานและสถาบันการเงิน 12 แห่ง เพื่อต่อยอด ‘โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู สร้างโอกาสใหม่ให้ครูไทย’ และ ‘มหกรรมการเงินเพื่อครูไทย’ ที่มีการช่วยเหลือและปรับโครงสร้างหนี้ให้ครูที่เข้าร่วมโครงการไปแล้วกว่า 10,300 ล้านบาท รวมไปถึงการเจรจาลดดอกเบี้ยกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั่วประเทศ  

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ความร่วมมือของ 13 หน่วยงานในครั้งนี้ เป็นการบูรณาการและประสานความร่วมมือ เพื่อจัดกิจกรรมตามโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา และมีบทบาทหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินครูอย่างยั่งยืน โดยดึงจุดแข็งของแต่ละหน่วยงานเข้าช่วยเหลือจัดการแก้ไขหนี้และการอบรมความรู้ปลูกฝังวินัยการเงิน พร้อมทั้งให้สิทธิพิเศษต่าง ๆ สำหรับการชำระหนี้ การกู้ยืม การออม และการลงทุน เพื่อช่วยเหลือให้ครูและบุคลากรทางการศึกษามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

‘สุชาติ’ ขึ้นเชียงรายติดตามสถานการณ์แรงงาน เร่งพัฒนากำลังคนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ - ท่องเที่ยว

รมว.สุชาติ ขึ้นเชียงรายติดตามสถานการณ์แรงงาน พัฒนากำลังคน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ - ท่องเที่ยวภาคเหนือตอนบน 

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุม หัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ประกอบด้วย จังหวัดเชียงราย แพร่ น่าน พะเยา เพื่อติดตามผลการดำเนินการตามนโยบายกระทรวงแรงงาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ไตรมาสที่ 1 ผลการเร่งรัดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว และส่งเสริมการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบ และการดำเนินการส่งเสริมการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานในเศรษฐกิจระดับชุมชน สินค้าอุตสาหกรรมในชุมชน วิสาหกิจชุมชน โดยมี นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวต้อนรับ ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน หัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 เข้าร่วมประชุมด้วย ณ ห้องประชุมจอมกิตติ ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดเชียงราย ต.ริมกก อ.เมือง จ.เชียงราย

‘สุชาติ’ เตือน นายจ้าง มีโทษหนัก ใช้แรงงานต่างด้าวลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย

กระทรวงแรงงานเตือนนายจ้างฝ่าฝืนกฎหมายจ้างคนต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวหนึ่งคน หากทำผิดซ้ำมีโทษถึงจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ คนต่างด้าวที่ลักลอบทำงานมีโทษปรับสูงสุด 50,000 บาท ถูกส่งตัวกลับประเทศต้นทาง

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กำชับให้กระทรวงแรงงานบริหารจัดการการทำงานของแรงงานข้ามชาติ ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 คลี่คลาย โดยคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจ และความสำคัญของกำลังแรงงานอันเป็นปัจจัยที่ขาดไม่ได้ในการฟื้นฟูประเทศ ซึ่งกระทรวงแรงงานมีการปรับกฎ ระเบียบ ข้อบังคับให้ยืดหยุ่นสอดคล้องตามสถานการณ์จริง โดยมุ่งหวังให้นายจ้าง สถานประกอบการ และแรงงานข้ามชาติ ปฏิบัติตามมติครม.ในคราวต่าง ๆ ที่อนุญาตให้แรงงานข้ามชาติอยู่และทำงานได้เป็นการชั่วคราว แต่ในปัจจุบันยังพบเห็นการลักลอบเข้ามาทำงานของคนต่างด้าวอยู่เนือง ๆ กระทรวงแรงงานจึงดำเนินการบูรณาการร่วมกับฝ่ายความมั่นคง ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง จัดชุดเฉพาะกิจตรวจสอบ ปราบปราม จับกุม และดำเนินคดี คนต่างด้าว นายจ้าง/สถานประกอบการ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการลักลอบทำงานของคนต่างด้าวผิดกฎหมาย เพื่อป้องปรามมิให้กระทำความผิดและลงโทษผู้กระทำความผิดให้เกิดความหลาบจำไม่กระทำผิดซ้ำอีก

'เจพี มอร์แกน' จัดอันดับให้หุ้นไทย เป็นหุ้นที่น่าลงทุนที่สุดในอาเซียน คาดดัชนี SET พุ่งขึ้น 7% แตะระดับสูงสุดที่ 1,800 จุด

(25 ม.ค. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้รับทราบรายงานกรณีบริษัทหลักทรัพย์เจพี มอร์แกน (JPMorgan Chase & Co.) เปิดเผยข้อมูลในการประชุม J.P. Morgan Thailand Conference ว่าตลาดหุ้นไทย เป็นตลาดหุ้นที่น่าลงทุนที่สุด เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่น ๆ ในอาเซียน 

นายอนุชา กล่าวว่า โดยเจพีมอร์แกนคาดการณ์ว่า ดัชนี SET ตลาดหุ้นไทยจะพุ่งขึ้นอีกราว 7% แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1,800 จุดในปี 2566 ซึ่งเพิ่มน้ำหนักความน่าลงทุน (overweight) ให้กับหุ้นกลุ่มต่อไปนี้ในตลาดหุ้นไทย ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภคกลุ่มสินค้าจำเป็น (consumer staples) สินค้าอุปโภคบริโภคกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย (consumer discretionary) และ กลุ่มเพื่อการดูแลสุขภาพ (healthcare sectors) อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา ดัชนี SET พุ่งขึ้นราว 4% โดยส่วนมากเป็นหุ้นกลุ่มสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ กลุ่มพลังงาน และกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top