เทคโนโลยีชั้นนำ แผนงานที่ดี การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และทัศนะคติของแม่ทัพ คือสามประสานทรงพลังของ ชาคริต ทีปกรสุขเกษม กรรมการผู้จัดการ CPANEL ผู้นำพาตลาดคอนกรีตสำเร็จรูปโตพุ่งทะยานสวนโควิดฯ และยังไปต่อไม่หยุด
สำหรับอุตสาหกรรมอสังหาฯ ในบ้านเรา การก่อสร้างแบบก่ออิฐฉาบปูนกลายเป็นข้อด้อยด้านความรวดเร็ว ทันเวลา และผู้สร้างมีต้นทุนสูงทั้งแรงงานและวัสดุอุปกรณ์มากมายหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อวัสดุก่อสร้างหลายอย่างเริ่มขาดแคลน อาทิ อิฐมวลเบา เมื่อเทียบกับการใช้คอนกรีตสำเร็จรูป ฉะนั้นเจ้าของเทคโนโลยีเบอร์ต้นๆ ของไทย หัวเรือใหญ่ CPANEL อย่าง “ชาคริต ทีปกรสุขเกษม” จึงรวมสามประสานให้ลงตัว ทั้งเทคโนฯ แผนงาน และ ทัศนคติการบริหารทีม มุ่งสู่ความเป้าหมาย
ท่ามกลางศึกแข่งขันในวงการอสังหาริมทรัพย์และวัสดุก่อสร้างตลอดหลายสิบปีที่ เริ่มต้นจากร่วมงานกับพ่อผู้เป็นเจ้าของ บริษัท ผลิตภัณฑ์คอนกรีตชลบุรี จำกัด (มหาชน) หรือ CCP (ผลิตคอนกรีตผสมเสร็จ คอนกรีตสำเร็จรูปสำหรับงานโครงสร้างงานระบบ และคอนกรีตสำเร็จรูปสำหรับงานตกแต่ง) เขาจึงมีต้นทุนความเข้าใจรูปแบบและแนวทางธุรกิจวัสดุใช้ก่อสร้าง โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนอิฐมอญ ราคาจึงถีบตัวสูงต่อเนื่อง และปัญหาขาดแคลนแรงงานฝีมือก่ออิฐฉาบปูน นั่นคือจุดเริ่มต้นอีกครั้งในการศึกษาโครงการลงทุน Precast Concrete ที่ใช้ในงานอสังหาฯเพื่อการอยู่อาศัย และอาคารประเภทอื่นๆ ด้วยระบบ Fully Automated
“จากจุดนั้น ทำให้ผมก่อตั้งบริษัท ซีแพนเนล จำกัด ขึ้นในปี 2555 ภายใต้วิสัยทัศน์การเป็นผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มประสิทธิภาพของทั้งอุตสาหกรรมก่อสร้าง และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และทำให้ผู้บริโภคได้บ้านหรืออาคารในราคาที่เข้าถึงได้ครับ”
การเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับปูนซีเมนต์ และงานคอนกรีตนับตั้งแต่บริหารงานที่ CCP “ชาคริต” มุ่งมั่น เรียนรู้ ต่อยอด และทำเป้าหมายให้สำเร็จ ปรับความเข้าใจในอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างประเภทงานคอนกรีตสมัยใหม่ และกล้าลงทุนนำเข้าและใช้งานเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิต Precast Concrete จากวิศวกรผู้จัดจำหน่ายเครื่องจักรจาก Vollert Anlagenbau GmbH ประเทศเยอรมนี “มันต้องนำความรู้มาประยุกต์ เชื่อมโยงด้านระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ Management Information System (MIS) ที่ผมจบการศึกษามา และทำงานร่วมกับวิศวกรผู้จัดจำหน่ายเครื่องจักรในการออกแบบสายการผลิตอย่างเข้าอกเข้าใจ และมีประสิทธิภาพ และควบคุมโดยระบบคอมพิวเตอร์ทุกขั้นตอนการผลิตครับ” เขาชี้จุดสำคัญว่า เทคโนโลยี และการเชื่อมโยงระบบเป็นแกนสำคัญของงาน
ชาคริตและทีมนับว่าเป็นผู้ริเริ่มพัฒนานวัตกรรมด้วยการนำ Software ต่างๆ มาทำงานเชื่อมโยงกันและบริหารงานก่อสร้างบนระบบ Building Information Modeling หรือ BIM ในการบริหารจัดการ ตั้งแต่การออกแบบ ควบคุมการผลิต การทำงานหน้างาน ทำให้บริษัทสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพ เป็นไปตามมาตรฐานระดับสากล
การผลิต Precast Concrete ด้วยระบบ Fully Automated ช่วยทำให้เกิดความรวดเร็วและมิติที่แม่นยำของชิ้นงาน ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบผลิตภัณฑ์และคำนวณค่าตามหลักวิศวกรรม ปัจจุบัน CPANEL ถือเป็นผู้ผลิต Precast หนึ่งในไม่กี่รายที่ผลิตโดยออกแบบให้โครงสร้างรองรับ แรงแผ่นดินไหว 100% ตามกฎกระทรวง ปี 2564 ทุกหลัง การควบคุมแผนการผลิตและเครื่องจักรภายในโรงงาน กระบวนการผลิตที่เป็นไปตามที่ออกแบบไว้ จนกระทั่งส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้องตามความต้องการของลูกค้าในเวลาอันสั้น ด้วยระบบและกระบวนการผลิตที่วางแผนไว้ กอปรกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้บริษัทสามารถผลิตแผ่นคอนกรีตสำเร็จรูปได้หลากหลายรูปแบบ ที่มีความซับซ้อนทางสถาปัตยกรรม และความซับซ้อนทางวิศวกรรมโครงสร้าง เพื่อตอบโจทย์ตามความต้องการของลูกค้า (Made-to-Order) ในหลากหลายโครงการ
“ผลิตภัณฑ์ Precast Concrete ของ CPANEL สามารถแก้ Pain Point การก่อสร้างในปัจจุบัน ทั้งลดต้นทุนแรงงานได้ถึงประมาณ 50% ลดระยะเวลาและขั้นตอนในการก่อสร้าง (รวมงาน Finishing) ประมาณ 30% ส่งผลให้ต้นทุนรวมของการก่อสร้างลดลง 15% ช่วยให้ลูกค้าประหยัดค่าใช้จ่าย ทั้งค่าแรง ลดเวลาการก่อสร้างส่งงานได้รวดเร็วขึ้น สุดท้ายลูกค้าจะได้ประโยชน์จากการที่สามารถประหยัดเวลาและลดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยรวมของโครงการ ทำให้ลูกค้าที่เป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์และผู้รับเหมาก่อสร้างนิยมหันมาเลือกใช้ Precast Concrete มากขึ้น นับเป็นหนึ่งในปัจจัยแห่งความสำเร็จของ CPANEL
“ในวันนี้ CPANEL มีลูกค้าที่เป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์กว่า 10 ราย ที่มีคำสั่งซื้อต่อเนื่อง อาทิ สัมมากร, ศุภาลัย, ริสแลนด์, บริทาเนีย, กานดา พร็อพเพอร์ตี้, เพอร์เฟค, เรียลแอสเสท, แสนสิริ, เอสเตทครีเอชั่น, มาย-กรีน, โนเบล อีกทั้งลูกค้าที่เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง อาทิ รุ่งฟ้าเสริม คอร์ปอเรชั่น, โกลว์ ไลท์ เอ็นจิเนียริ่ง, พรีบิลท์, กรีไทย คอนสตรัคชั่น, เชียร์ยู คอนสตรัคชั่น, คอนสตรัคชั่น ไลนส์”
คำถามสำคัญที่ข้ามไม่ได้ คือ อีเว้นต์ระดับโลกสองปีที่ผ่านมา อย่าง โควิด 19 ซ้ำเติมด้วย เงินเฟ้อที่ปรับตัวสูง ต้นทุนราคาวัตถุดิบ ส่งผลต่อคุณอย่างไร? ชาคริตเคลียร์ประเด็นนี้ว่า “ต้นทุนการผลิต ราคาวัตถุดิบต่างๆ ที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น แต่ด้วย economy of scale ของ CPANEL ที่สามารถขายผลิตภัณฑ์ในจำนวนมากขึ้น การพัฒนาเทคโนโลยีและบุคคลากรอย่างไม่หยุดยั้งและการสั่งซื้อวัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับสามารถเจรจาเรื่องราคากับลูกค้าได้ จึงทำให้บริษัทสามารถรักษาระดับการทำกำไรได้ในระดับที่น่าพอใจ”
สำหรับเรื่องเงินเฟ้อ ถ้าเป็นระยะยาวความสามารถในการบริโภคของผู้บริโภคน่าจะต่ำลง แต่ก็มองว่าความต้องการบ้านแนวราบยังคงมีอยู่ และยิ่งเงินเฟ้อเท่าไหร่ ยิ่งจำเป็นต้องลดแรงงาน และถ้ายิ่งก่อสร้างได้รวดเร็วยิ่งทำให้ผลกระทบเรื่องเงินเฟ้อสั้นลง ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการหันมาเลือกใช้ Precast Concrete มากขึ้น
ในอีกมุมหนึ่ง โควิค-19 ได้สร้างฐานพฤติกรรมใหม่ (New Normal Behavior) ให้แก่ผู้บริโภคเป็นปัจจัยเกื้อหนุนอย่างสูงต่อที่อยู่อาศัยแนวราบให้มีการขยายตัวไปยังเขตรอบนอกกรุงเทพมหานคร (De-Urbanization) ซึ่งเป็นที่ดึงดูดจากการที่ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับความหนาแน่นของที่อยู่อาศัย พื้นที่ใช้สอย และฟังก์ชั่นที่เอื้อต่อการทำงานที่บ้านมากขึ้นครับ
“ยังไม่รวมว่า เมกะโปรเจ็กต์ของภาครัฐร่วมกับเอกชนอย่างการขยายตัวของเครือข่ายรถไฟฟ้า โครงข่ายถนน และศูนย์การค้า ที่ขยายความเจริญครอบคลุมพื้นที่รอบนอกมากขึ้น สิ่งอำนวยความสะดวกต่อการใช้ชีวิตในเขตรอบนอกกรุงเทพมหานครในรูปแบบ Sharing Economy เช่น Delivery Service, Self-Storage Service ทุกส่วนล้วนส่งผลปัจจัยบวกขึ้นมา สวนกระแสโควิดฯ”
จากเรื่องข้างต้นเป็นคำตอบชัดว่า สินค้า Precast Concrete เป็นสินค้าที่จะเข้ามาทดแทนการก่อสร้างแบบเดิมๆ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าอสังหาริมทรัพย์เพื่ออยู่อาศัยแนวราบที่ก่อสร้างโดย Precast Concrete ในอีก 5 ปี ถึงปี 2568 จะมีอัตราการทดแทนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3% ต่อปีเป็นอย่างน้อย เพราะ Precast Concrete สามารถตอบโจทย์ได้เกือบทุกอย่าง ทั้งในแง่ของความเหมาะสมต่อโครงการที่พักอาศัยแนวราบ และข้อได้เปรียบทางต้นทุนและระยะเวลาการก่อสร้าง
“โควิดไม่ได้ส่งผลกระทบกับเรามากนัก ยกเว้นช่วงที่มีการล็อกดาวน์ ปิดไซต์งานก่อสร้างใน กทม. แต่ต่างจังหวัดยังคงเดินหน้าได้ ทำให้ในอนาคตมีแผนที่จะขยายกลุ่มลูกค้าไปต่างจังหวัดมากขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 10% ของยอดขาย”
ปัจจุบัน CPANEL ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai เพื่อระดมทุนขยายโรงงานแห่งใหม่ วางเป้าหมายขยายกำลังการผลิตเพิ่มเป็นเท่าตัว หรืออีก 7.2 แสนตารางเมตรต่อปี ใช้เงินลงทุนประมาณ 500 ล้านบาท สามารถเดินเครื่องการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2567
สำหรับหลักการและแนวคิดการบริหารงานของ “ชาคริต” นอกจากใส่ใจเรื่องรายละเอียดเพื่อสนองตอบต่อความต้องการของลูกค้าทั้งก่อนและหลังการขายแล้ว ในส่วนของพนักงานเอง ก็จะให้ความใส่ใจและดูแลทุกระดับทั้งสำนักงาน และโรงงาน ทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างชาติ
ซึ่ง “ชาคริต” วาดแผนในอนาคตไว้ว่าอยากจะได้ CEO จากพนักงานของตัวเอง มองว่าความสำเร็จที่แท้จริงนั่น เราต้องบ่มเพาะคนที่เก่งมาแทนเราในแต่ละเรื่อง ผมอยากได้ CEO ที่เชื่อถือได้ เพราะฉะนั้นผมต้องเชื่อว่าเขาเก่งพอและสามารถเรียนรู้ต่อได้ ต้องเชื่อว่าวันที่เขาอายุเท่าผม เขาต้องเก่งกว่าผม นี่คือสิ่งที่จะทำกับพนักงานทุกคน จะผลักดันพนักงานทุกคนจนส่งไม้ต่อได้สำเร็จ
นอกจากนี้ วัฒนธรรมความคิดของพนักงานมีความสำคัญในการบริหารธุรกิจ เราต้องดูแลบุคคลเหล่านี้ให้มีความรักองค์กร พร้อมจะอยู่กับบริษัทไปนานๆ ทั้งชาวไทยและต่างชาติ ซึ่งบริษัทไม่เคยมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงาน อย่างกรณีที่กระทรวงแรงงานเปิดโอกาสให้แรงงานต่างชาติแจ้งเปลี่ยนนายจ้างได้นั้น มีแรงงานมาเข้าคิวหรือมาลงทะเบียน เพื่อขอทำงานแล้วจำนวนมาก ซึ่งแรงงานเหล่านี้ส่วนใหญ่จะมาแบบปากต่อปาก เนื่องจากได้รับการชักชวนจากแรงงานเดิมที่ทำงานอยู่ในปัจจุบัน