'รองโฆษกฯ' เผย รบ. ไฟเขียวจดตั้งบริษัท 2 คนได้ เอื้อ กลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก หนุน ศก. เติบโตในระยะยาว

(17 ก.พ. 66) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้ดำเนินการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการลดขั้นตอน อุปสรรค เพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจและทยอยมีผลบังคับใช้อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 23) พ.ศ. 2565 มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 7 ก.พ. ที่ผ่านมา มีสาระสำคัญในการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยหุ้นส่วนบริษัท เริ่มมีผลบังคับใช้ โดยจะเอื้อให้เกิดการก่อตั้งธุรกิจง่ายขึ้น มีความคล่องตัว ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และสนับสนุนให้ภาคธุรกิจเป็นกลไกสำคัญต่อการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ได้มีการปรับปรุงแก้ไขในหลายประเด็น อาทิ การลดจำนวนขั้นต่ำของผู้เริ่มก่อตั้งบริษัทเป็น 2 คน จากเดิมที่กำหนดขั้นต่ำไว้ที่ 3 คน ซึ่งเกณฑ์ในเรื่องนี้จะทำให้มีการจัดตั้งธุรกิจได้ง่าย เอื้อต่อการเกิดธุรกิจขนาดเล็กหรือวิสาหกิจเริ่มต้น (Start Up) มากขึ้น โดยกฎหมายได้ปรับปรุงให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง กำหนดวิธีประชุมกรรมการ ให้สามารถดำเนินการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้

ส่วนการส่งคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ กำหนดวิธีบอกกล่าว เรียกประชุมใหญ่เป็น 2 กรณี ตามชนิดใบหุ้น โดยกรณีผู้ถือหุ้นชนิดระบุชื่อมีการลดขั้นตอนการพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ ส่วนกรณีหุ้นชนิดผู้ถือ ได้กำหนดให้มีการลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่หรือโฆษณาในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ได้

นอกจากนี้ ยังมีบทบัญญัติที่เอื้อต่อความคล่องตัวอื่น ๆ เช่น การกำหนดให้หนังสือบริคณห์สนธิสิ้นสุดลง ในกรณีที่ไม่ดำเนินการจดทะเบียนตั้งบริษัทภายใน 3 ปี ส่งผลดีต่อผู้ประกอบการ
รายอื่น ที่ต้องการใช้ชื่อบริษัทชื่อเดียวกับบริษัทที่ได้จดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธินั้น รวมถึงการกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการควบรวมบริษัทที่ให้สามารถรวมกันได้ใน 2 ลักษณะ คือ

1.) การควบบริษัท (รวมกันแล้วเกิดเป็นนิติบุคคลใหม่)
2.) การผนวกบริษัท (บริษัทหนึ่งยังคงมีสภาพเป็นนิติบุคคล ส่วนบริษัทอื่นสิ้นสภาพนิติบุคคลไป) จากเดิมที่มีเฉพาะลักษณะการควบบริษัทเท่านั้น

ซึ่งบทบัญญัติเรื่องนี้จะช่วยลดภาระให้ไม่ต้องมีการจดทะเบียน หรือดำเนินการส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับนิติบุคคลใหม่เมื่อต้องมีการควบรวมกิจการ

นอกจากนั้น ได้บัญญัติเพื่อคุ้มครองผู้ถือหุ้น โดยการกำหนดระยะเวลาในการจ่ายปันผลให้ต้องแล้วเสร็จภายใน 1 เดือน นับแต่วันประชุมใหญ่ หรือกรรมการลงมติจากเดิมที่ไม่ได้มีการกำหนดไว้ ซึ่งจะเป็นการคุ้มครองสิทธิผู้ถือหุ้นรายย่อยให้ได้รับเงินปันผลมากขึ้น สำหรับผู้สนใจเกี่ยวกับข้อกฎหมายสามารถคลิกที่ลิงค์ดังนี้ เพื่อศึกษาในรายละเอียดต่อไป  https://bit.ly/3kaj69E