Monday, 7 July 2025
ECONBIZ NEWS

'มูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน' ผนึกกำลัง 'ภาครัฐ-เอกชน' จัดแข่งขันพัฒนาแอปฯ มุ่งชดเชยคาร์บอนในหน่วยธุรกิจ SMEs

เมื่อวันที่ 10-11 ส.ค. 66 มูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน ผนึกกำลังร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนดำเนินโครงการแข่งขันการพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อการชดเชยคาร์บอนในหน่วยธุรกิจขนาดเล็ก ครั้งที่ 1/2566 โดยมี ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เกียรติเข้าร่วมกล่าวเปิดโครงการฯ ซึ่งโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชนในการพัฒนาระบบการชดเชยคาร์บอนสำหรับหน่วยธุรกิจขนาดเล็กในธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจขนส่งสาธารณะ และสถานประกอบการขนาดเล็ก ซึ่งจะเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับ SMEs ในการปรับตัวเข้าสู่ตลาดคาร์บอนเครดิต เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเป้าหมายประเทศไทยในการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065

ดร.สุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานกรรมการมูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน กล่าวว่า มูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชนมีความตั้งใจที่จะส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนเป้าหมาย Net Zero โดยเฉพาะการนำระบบดิจิทัลเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการการซื้อขายคาร์บอนที่กำลังเป็นกระแสของโลก ที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งโครงการนี้ จะเปิดโอกาสให้น้อง ๆ นักศึกษาได้ใช้ความรู้ความสามารถทางด้านเทคโนโลยีมาพัฒนาและประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนากลไกเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ซึ่งต้องขอขอบคุณหน่วยภาครัฐและเอกชนทั้ง 8 หน่วยงาน ที่ให้การสนับสนุนโครงการครั้งนี้ อาทิ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก สถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท เอสโคโพลิส จำกัด

คุณพรอรัญ สุวรรณพลาย กรรมการมูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน กล่าวว่า โครงการแข่งขันการพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อการชดเชยคาร์บอนในหน่วยธุรกิจขนาดเล็ก ครั้งที่ 1/2566 มีเยาวชน นิสิตนักศึกษาในระดับปริญญาตรีขึ้นไป สมัครเข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 13 ทีม และมีผู้ได้รับรางวัล ดังนี้

-รางวัลชนะเลิศ ทุนการศึกษา 200,000 บาท ได้แก่ ทีม Greenie จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี สาขาการเงิน 

-รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ทุนการศึกษา 100,000 บาท ได้แก่ ทีม Carbonzero จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ 

-รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ทุนการศึกษา 50,000 บาท ได้แก่ ทีม Chestnut จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ 

-รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 3 ทุนการศึกษา 20,000 บาท ได้แก่ ทีม CC Da Rock!!! จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาสิ่งแวดล้อม

-รางวัลชมเชย มูลค่ารางวัลละ 10,000 บาท 3 รางวัล ได้แก่ 1.ทีม Deviate จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง สาขาคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ 2.ทีม Viridis จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล 

นอกจากนี้ภายในงานนี้ มูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชนจัดให้มีพิธีลงนามความร่วมมือกับ หน่วยงานเอกชน ในการส่งเสริมให้ธุรกิจขนาดเล็กได้มีส่วนร่วมในการตระหนักถึงความเป็นสังคมคาร์บอนต่ำเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero ร่วมกับ 3 หน่วยงาน ดังนี้

บริษัท เอสโคโพลิส จำกัด, บริษัท เคเชอร์ เพย์เมนท์ จำกัด และบริษัท เอสโคโพลิส จำกัด ในการขยายช่องทางการซื้อคาร์บอนเครดิตรองรับการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ เพื่อสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และต่างชาติ ได้มีโอกาสส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ หรือ Green Tourism ผ่านการซื้อคาร์บอนเครดิตพร้อมกับการชำระเงินค่าสินค้าหรือบริการ เพื่อชดเชยจำนวนคาร์บอนเครดิตจากกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การเข้าพักในโรงแรม ร้านอาหาร เป็นต้น ซึ่งบจก.เอสโคโพลิส เป็นโบรกเกอร์ซื้อ-ขาย คาร์บอนเครดิต ในแพลตฟอร์ม FTIX โดยมีพันธกิจมุ่งเน้นให้เกิดความโปร่งใสในการซื้อ-ขาย คาร์บอนเครดิต เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถนำไปชดเชยได้ตามวัตถุประสงค์ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเดินหน้าสู่ Net Zero

ปตท. ส่ง on-ion เดินหน้าขยายสถานีชาร์จ EV ผนึก SC เจาะกลุ่มที่อยู่อาศัย ตั้งเป้า 400 หัวจ่ายในปี 66

(15 ส.ค. 66) นายเชิดชัย บุญชูช่วย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) พร้อมด้วย นายโทรณ หงศ์ลดารมภ์ Head of EV Charger Business บริษัท อรุณ พลัส จำกัด และนายดิเรก ตยาคี Head of Technology Solutions บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (SC Asset) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาธุรกิจให้บริการสถานีอัดประจุสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ระหว่าง บริษัท อรุณ พลัส จำกัด และ บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อส่งเสริมการใช้และให้บริการยานยนต์ไฟฟ้า ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้รถ EV เติมเต็มพลังงานสะอาดได้แบบไม่ต้องแวะรอชาร์จ

นายเชิดชัย เปิดเผยว่า บริษัท อรุณ พลัส จำกัด ภายใต้แบรนด์ ออน-ไอออน (on-ion) เร่งเดินหน้าขยายธุรกิจสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station) ในพื้นที่โครงการบ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม และอาคารสำนักงาน โดยจับมือพันธมิตรผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ครบวงจรอย่าง SC Asset ติดตั้ง EV Charging Station ในเฟสแรก จำนวน 40 เครื่อง ภายใต้โครงการเรฟเฟอเรนซ์ (Reference) โค้บบ์ (COBE) และโครงการอื่น ๆ โดยจะเริ่มโครงการแรกที่เรฟเฟอเรนซ์ สาทร-วงเวียนใหญ่ ใกล้ใจกลางธุรกิจย่านสาทร พร้อมให้บริการช่วงต้นปี 2567 ตอบโจทย์ทุกการอยู่อาศัยที่สะดวกสบาย รองรับความต้องการของผู้ใช้ EV ในเมืองที่เพิ่มสูงขึ้น

“ปตท. มุ่งมั่นเพิ่มศักยภาพความพร้อมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า และเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานแห่งอนาคตอย่างต่อเนื่อง โดยมีแผนขยายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าพร้อมบริการครบวงจร ภายใต้แบรนด์ on-ion ให้ครอบคลุมครบทุกกลุ่มเป้าหมาย อาทิ พื้นที่ศูนย์การค้า โรงแรม อาคารสำนักงาน ร้านอาหาร และพื้นที่โครงการที่อยู่อาศัยกว่า 400 หัวจ่าย ในปี 2566 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ของกลุ่ม ปตท.” นายเชิดชัย กล่าว

นายดิเรก กล่าวว่า SC Asset ได้ร่วมมือกับ on-ion ซึ่งเป็นพาร์ตเนอร์ ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า กับทางสถาบันนวัตกรรม บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) มาตั้งแต่ปี 2563 นับว่าเป็นการเพิ่มศักยภาพในการร่วมมือให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น และยังเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การพัฒนาสินค้าและบริการของ SC ตามแนวคิด Human-Centric ที่มีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง เพื่อค้นหาความต้องการ และโซลูชันต่าง ๆ ด้านที่อยู่อาศัย ตั้งแต่การออกแบบ การก่อสร้าง และพัฒนานวัตกรรมให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคซึ่งเทรนด์ปัจจุบันที่มีแนวโน้มการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ในอนาคตการมี EV Charging Station ในโครงการ จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักสำคัญที่ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อบ้าน และคอนโดฯ นอกจากจะเป็นประโยชน์ทางตรงที่ผู้บริโภคได้รับแล้ว การนำเทคโนโลยีนี้เข้ามายังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้ โครงการของ SC ที่มีการติดตั้ง EV Charging Station ลูกค้าจะสามารถ สั่งชาร์จ ตรวจสอบสถานะการณ์ชาร์จ และ ชำระเงิน ผ่านทางรู้ใจแอป (RueJai App) ได้ทันที

‘ชัยวุฒิ’ เข้าชี้แจงต่อที่ประชุมวุฒิสภา ย้ำ พ.ร.ก. ปราบภัยไซเบอร์ ช่วยลดเหยื่อมิจฉาชีพ

(15 ส.ค.66) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พร้อมด้วย ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และนายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมด้วยผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานกฤษฎีกา สำนักงาน กสทช. สำนักงาน ปปง. กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทยเข้าร่วมชี้แจงต่อที่ประชุมวุฒิสภา โดยมีวาระการพิจารณาพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566

โดยนายชัยวุฒิ กล่าวว่า ปัจจุบันประชาชนผู้สุจริตถูกคนร้ายใช้วิธีการทางเทคโนโลยีหลอกลวงทำให้เสียหายทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก เป็นอันตรายร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อแก้ไขปัญหาบัญชีม้า ชิมม้า และระงับยับยั้งการโอนเงินของคนร้ายต่อเป็นทอด ๆ เพื่อให้สามารถติดตามทรัพย์สินคืนให้กับผู้เสียหายได้ทันเป็นสำคัญ

ซึ่งสาระสำคัญของพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ดังนี้
พระราชกำหนดฯ ฉบับนี้ มีทั้งหมด 14 มาตรา

มาตราที่ 1, 2 และ 3 บัญญัติเกี่ยวกับชื่อเรียก วันที่บังคับใช้ และคำนิยาม ตามลำดับ

มาตรา 4 กรณีที่มีเหตุอันควรสงสัย ให้ฝ่ายธนาคาร และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มีหน้าที่ เปิดเผย หรือแลกเปลี่ยนข้อมูล และส่งให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องนำไปใช้ประโยชน์เพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

มาตรา 5 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจ กรมสอบสวนดีพิเศษ และสำนักงาน ปปง. สั่งให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ เปิดเผยข้อมูลการลงทะเบียน หรือข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ และมีหน้าที่ส่งให้ผู้สั่งภายในระยะเวลาที่กำหนด

มาตรา 6 กรณีที่ธนาคารพบเหตุอันควรสงสัย ให้มีหน้าที่ระงับการทำธุรกรรมนั้น และแจ้งธนาคารที่ รับโอนต่อทุกทอด ระงับการทำธุรกรรมที่รับโอนไว้ทันที เป็นการชั่วคราวไม่เกินเจ็ดวัน เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง และแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจ หรือ เลขาธิการ ปปง. ดำเนินการตรวจสอบ

มาตรา 7 กรณีที่ธนาคารได้รับแจ้งจากผู้เสียหายโดยตรง ให้ธนาคารระงับการทำธุรกรรมนั้นไว้ทันที และแจ้งให้ธนาคารที่รับโอนต่อทุกทอด ระงับการทำธุรกรรมที่ รับโอนไว้ด้วย พร้อมกับแจ้งผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในเวลา 72 ชั่วโมง เมื่อพนักงานสอบสวนรับคำร้องทุกข์แล้ว ให้พิจารณามีคำสั่งไปยังธนาคาร ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันได้รับคำร้องทุกข์ หากไม่มีคำสั่งภายในกำหนดเวลา ให้ธนาคารยกเลิกการระงับการทำธุรกรรม

มาตรา 8 วรรคแรก การแจ้งข้อมูลหรือหลักฐาน ตามมาตรา 6 และมาตรา 7 สามารถกระทำทางโทรศัพท์หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้

มาตรา 8 วรรคสอง 1) การร้องทุกข์ในความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีจะกระทำต่อพนักงานสอบสวน ณ สถานีตำรวจแห่งใดในราชอาณาจักร และจะร้องทุกข์ทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ โดยให้ถือว่าเป็นการร้องทุกข์โดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2) การสอบสวนหรือดำเนินการเกี่ยวกับความผิดดังกล่าว ให้พนักงานสอบสวนที่รับคำร้องทุกข์ไม่ว่าจะประจำอยู่ที่สังกัดใด หรือพนักงานสอบสวนที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกำหนดให้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ มีอำนาจสอบสวนหรือดำเนินเกี่ยวกับความผิดดังกล่าวได้ไม่ว่าความผิดนั้นเกิดขึ้น ณ ที่ใดในราชอาณาจักร

มาตรา 9 ผู้ใดเปิดบัญชีม้า หรือใช้ซิมม้า มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 10 และมาตรา 11 ผู้ใดโฆษณาเกี่ยวกับบัญชีม้า ซิมม้า มีโทษจำคุก ตั้งแต่ 2-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2-5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 12 การเปิดเผย แลกเปลี่ยน เข้าถึง จัดเก็บ รวบรวม การใช้ข้อมูลบุคคลตามตามพระราชกำหนดฯ นี้ ไม่อยู่ภายใต้การบังคับของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

มาตรา 13 ในวาระเริ่มแรกให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา คณะหนึ่งเพื่อทำหน้าที่ 1) กำหนดแนวทางในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 2) ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเหตุอันควรสงสัย และ 3) ให้คำแนะนำและคำปรึกษาเกี่ยวกับการปฏิบัติงาน โดยให้ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แต่งตั้งเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แต่งตั้งเลขานุการร่วม

มาตรา 14 นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมรักษาการตามพระราชกำหนดฯ นี้

โดยการจัดทำพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 จะส่งผลให้การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ลดภาระและอำนวยความสะดวกในการร้องทุกข์ให้แก่ประชาชน และสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ และความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ และตระหนักรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยทางอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงาน ปปง. สำนักงาน กสทช. ธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ร่วมกันประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือน รูปแบบภัยทางออนไลน์ต่าง ๆ ไม่ให้ประชาชนหลงเชื่อหรือตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ และ ช่องทางการติดต่อในการแก้ปัญหาหากเกิดเหตุแล้ว ปรากฏบนสื่อต่าง ๆ ในทุกรูปแบบ

‘บิ๊กตู่’ ปลื้ม!! ความร่วมมือ ‘อินโดฯ-มาเลย์-ไทย’ ปี 64 ก้าวหน้า ดัน GDP โต หนุนร่วมพัฒนาทุนมนุษย์-การท่องเที่ยว เชื่อมโยงเศรษฐกิจแบบไร้รอยต่อ

(14 ส.ค. 66) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีต่อผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมของแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย ‘อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย’ (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle : IMT – GT) โดยกว่า 30 ปีที่ผ่านมา อนุภูมิภาคมีพัฒนาการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมาก ช่วยลดช่องว่างการพัฒนาภายในประเทศและอนุภูมิภาค ส่งเสริมบทบาทของประชาชนควบคู่ไปกับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจทั้ง 6 สาขา คือ 1.) สาขาการค้าและการลงทุน 2.) สาขาโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคม 3.) สาขาการท่องเที่ยว 4.) สาขาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 5.) สาขาการเกษตร อุตสาหกรรมการเกษตรและสิ่งแวดล้อม และ 6.) สาขาผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล 

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ยังได้ขยายพื้นที่ความร่วมมือครอบคลุม 35 รัฐ และจังหวัดของทั้ง 3 ประเทศ โดยมีมูลค่า GDP ภายในอนุภูมิภาคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 12,790 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2527 เป็น 405,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2564 และมีมูลค่าการค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้นจากในปี พ.ศ. 2527 ที่ 97,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 618,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2564

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ด้านโครงการความเชื่อมโยงทางกายภาพตามแนวระเบียงเศรษฐกิจทั้ง 6 สาขา มีกว่า 36 โครงการก็มีความก้าวหน้าอย่างมาก คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 57,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยโครงการดังกล่าวมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนอย่างไร้รอยต่อของทั้งสินค้า บริการ และคน อาทิ โครงการรถไฟเชื่อมหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์-กัวลาลัมเปอร์, โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งที่ 2 (สุไหงโก-ลก-รันเตาปันยัง), โครงการทางด่วนสุมาตรา และการฟื้นฟูการเชื่อมโยงทางอากาศ ภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ภายใต้แผนการดำเนินงานระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2565-2569) สาขาความร่วมมือต่างๆ มีความก้าวหน้าอย่างมาก อาทิ โครงการเพื่อพัฒนาเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางพลังงาน การเสริมสร้างการเชื่อมโยง และการฟื้นฟูการท่องเที่ยว ส่วนทิศทางการดำเนินงานในอนาคตนั้น มุ่งเน้นใน 6 ประเด็น เช่น การเพิ่มขีดความสามารถของทุนมนุษย์ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล การพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยว ภายในช่วงปีแห่งการท่องเที่ยว IMT-GT และการเร่งการลงนามกรอบความร่วมมือด้านศุลกากร การตรวจคนเข้าเมือง และตรวจโรคพืชและสัตว์ ระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย เป็นต้น

น.ส.รัชดา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรียินดีที่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ผลักดันความร่วมมืออินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย จนเกิดความสำเร็จที่จับต้องได้ เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ และเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ กว่า 30 ปีนับตั้งแต่ก่อตั้ง IMT-GT ตั้งแต่ปี 2536 ทั้ง 3 ประเทศได้ร่วมกันสร้างความก้าวหน้าที่สำคัญในการพัฒนาการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคและภูมิภาค มีวิสัยทัศน์และเป้าหมายร่วมกัน เพื่อทำให้อนุภูมิภาคนี้มีการบูรณาการ มีนวัตกรรม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และยั่งยืน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เกิดการเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อ

‘ดาวเทียม THEOS-2’ ฝีมือคนไทยดวงแรก เตรียมขึ้นสู่อวกาศ ก.ย.นี้ เพิ่มขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี รองรับการเติบโตของธุรกิจอวกาศ

(14 ส.ค.66) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานะโครงการระบบดาวเทียมสำรวจพร้อมระบบภาคพื้นดิน และระบบแอปพลิเคชันภูมิสารสนเทศสำหรับโครงการระบบดาวเทียมเพื่อการพัฒนา ‘THEOS-2’ ประกอบและทดสอบเสร็จสิ้นแล้ว เก็บไว้ภายใต้สภาวะควบคุมสภาพแวดล้อม ณ Airbus Test Facility เมืองตูลูส ประเทศฝรั่งเศส โดยคาดว่า จะปล่อยสู่วงโคจรได้ปลายเดือนสิงหาคม ถึงกันยายน 2566 ณ ฐานปล่อยจรวดในเมืองเฟรนช์เกียนาในทวีปอเมริกาใต้

ขณะที่ดาวเทียมเล็ก THEOS-2A ประกอบและทดสอบแล้วเสร็จ เก็บไว้ภายใต้สภาวะควบคุมสภาพแวดล้อม ณ อาคารประกอบและทดสอบแห่งชาติ AIT อุทยานรังสรรค์นวัตกรรม (SKP) อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี คาดว่า จะนำส่งขึ้นสู่อวกาศในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2566 เป็นต้นไป ณ ฐานปล่อยจรวดภายในศูนย์อวกาศสาธิต ธาวัน เมืองศรีหริโคตา ประเทศอินเดีย

“ดาวเทียม THEOS-2 ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจโลกดวงแรกของไทย มีการพัฒนาออกแบบโดยฝีมือคนไทย จะขึ้นสู่ห้วงอวกาศเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งกำหนดการสามารถเลื่อนได้ตามสถานการณ์และปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง” นางสาวรัชดา กล่าว

ทั้งนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ โดยดำเนินการเตรียมความพร้อมทางโครงสร้างพื้นฐานด้านอวกาศหลายส่วนและมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับกิจการด้านอวกาศของประเทศ อาทิ สถานีควบคุมและรับสัญญาณดาวเทียมและการพัฒนาระบบปฏิบัติการดาวเทียมภาคพื้นดิน ระบบคลังข้อมูลจากดาวเทียมที่พร้อมใช้ ศูนย์ปฏิบัติการความเป็นเลิศและนวัตกรรมการบินและอวกาศที่ได้รับการรับรองคุณภาพและมาตรฐานสากล

รวมถึงศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียมแห่งชาติ หนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานด้านอุตสาหกรรมการบินและอวกาศของประเทศ ตั้งอยู่ภายในอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ ที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เป็นศูนย์ที่มีความทันสมัยได้มาตรฐานสากล เพื่อรองรับการพัฒนาชิ้นส่วนอุปกรณ์ สร้าง ประกอบ และทดสอบดาวเทียม

รวมทั้ง รัฐบาลให้ความสำคัญของการพัฒนากำลังคน เพื่อรองรับการเติบโตของกิจการด้านอวกาศ ภายใต้โครงการ THEOS-2 ซึ่งหลังจากที่วิศวกรดาวเทียมของไทย 22 คน ได้ไปฝึกฝน เรียนรู้ และลงมือปฏิบัติจริงอย่างเข้มข้น ณ สหราชอาณาจักรและกลับมาต่อยอดให้กับบุคลากรในประเทศ

จากนั้นจะมีการดำเนินการต่อในเรื่อง การสร้างวิศวกรใหม่ โดยการรับวิศวกรรุ่นใหม่ หรือที่มีความสนใจในการสร้างดาวเทียมมาร่วมทีมพัฒนา และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับผู้ที่สนใจทั่วไป ทั้งภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัยและประชาชนทั่วไป และในอนาคตอันใกล้เรากำลังจะสร้างดาวเทียมดวงใหม่โดยฝีมือคนไทย 100% ในนาม ‘THEOS-3’

“พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ เพื่อขับเคลื่อนไทย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่น และมีแนวคิดที่ต้องการให้ไทยพัฒนาส่วนของเทคโนโลยีอนาคตเหล่านี้ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งก็เพื่อการแข่งขันในโลกสมัยใหม่ เท่าทันวิวัฒนาการ และเพื่อความก้าวหน้าทั้งทางเศรษฐกิจ และสังคม นำพาประเทศและประชาชนให้คุ้นชินกับอุตสาหกรรมอนาคต พัฒนาสู่ประเทศที่มั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน” นางสาวรัชดา กล่าว

‘โครงการรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน’ ทยอยเปิดเพิ่ม ‘เหนือ-อีสาน-ใต้’ ปีนี้ หวังรัฐบาลหน้าสานต่อ เพิ่มเส้นทางครอบคลุม 50 จังหวัด ตามแผนในปี 72

(14 ส.ค.66) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความคืบหน้าโครงการรถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง ที่ได้เริ่มดำเนินการในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะทยอยเปิดให้บริการในเดือนกันยายน เป็นต้นไป และเมื่อเสร็จสมบูรณ์ทั้งหมด จะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ เชื่อมโยงการค้าและโลจิสติกส์ในหลากหลายพื้นที่ ทั้งภายในและระหว่างประเทศ รวมทั้งยังจะเป็นการยกระดับและอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้รวดเร็ว และแก้ปัญหาการจราจรที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนไทยดีขึ้น

น.ส.รัชดา กล่าวว่า โครงการรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน 5 เส้นทาง ได้แก่

1. เส้นทางสายเหนือ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 145 กิโลเมตร 
2. เส้นทางสู่ตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กิโลเมตร 
3. เส้นทางสายใต้ ช่วงนครปฐม-ชุมพร ระยะทาง 421 กิโลเมตร (ช่วงนครปฐม-หัวหิน ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ และช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร) ซึ่งได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ช่วงต้นปี 2561 และคาดว่าสามารถเปิดใช้บริการได้ในปี 2566-2567 

น.ส.รัชดา กล่าวว่า โดยรถไฟทางคู่ สายเหนือมีความคืบหน้า ประมาณ 80% เส้นทางสายอีสาน ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ (สระบุรี-นครราชสีมา) ได้เปิดใช้งานสถานีใหม่ 7 แห่งแล้ว และมีแผนจะเปิดเดินรถทางคู่ช่วงบันไดม้า-คลองขนานจิตร ประมาณกันยายน 2566 ในขณะที่เส้นทางสายใต้ ช่วงเขาเต่า-ประจวบคีรีขันธ์ ก็ได้เปิดใช้ทางคู่แล้วเช่นกัน โดยมีแผนเตรียมจะทยอยเปิดให้บริการช่วงบางสะพานน้อย (ประจวบฯ)-ชุมพร ภายในปลายปี 2566 นี้ 

น.ส.รัชดา กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่ 2 โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และ ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ซึ่งขณะนี้มีแผนก่อสร้างอยู่ระหว่างดำเนินการ 4 สัญญา

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ซึ่งหากเส้นทางรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน 5 เส้นทางแล้วเสร็จสมบูรณ์ จะครอบคลุมระยะทาง 700 กิโลเมตร คาดว่าจะช่วยเพิ่มความจุของเส้นทาง รองรับขบวนรถได้มากขึ้น และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งผู้โดยสาร และการขนส่งสินค้าทางรางของประเทศ เพิ่มความเร็วในการเดินรถ และลดเวลาในการเดินทางลงเฉลี่ยอย่างน้อย 1 ชั่วโมงจากปัจจุบัน มากไปกว่านั้น รัฐบาลได้มีแผนการดำเนินการรถไฟทางคู่ระยะสองไว้แล้ว 

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ซึ่งหากได้รับการขับเคลื่อนต่อจะขยายเส้นทางรถไฟทางคู่ครอบคลุมกว่า 50 จังหวัด มีเส้นทางรวมกันมากกว่า 3,000 กิโลเมตร ภายในปี 2572 ทำให้สามารถรองรับขบวนรถได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 2 เท่าตัว สามารถทำความเร็วในการขนส่งสินค้าได้จากเดิม 29 กิโลเมตร/ชั่วโมง เป็น 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง และทำความเร็วในการขนส่งผู้โดยสารเพิ่มจากเดิม 50 กิโลเมตร/ชั่วโมง เป็น 100-120 กิโลเมตร/ชั่วโมง

น.ส.รัชดา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อย่างมาก ดังเห็นได้จากผลงานที่ผ่านมา ได้นำไปสู่การขยายเส้นทางรถไฟฟ้า รถไฟรางคู่ ท่าเรือ สนามบิน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ การเดินทางและการขนส่งสินค้าเชื่อมโยงระหว่างจังหวัด ภาค และระหว่างประเทศ ภายใต้ต้นทุนที่ลดลง ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

‘พิชัย จาวลา’ แชร์!! ‘ทฤษฎีผลประโยชน์’ ที่ทำให้คนรวยกลุ่มน้อย ยังรวยต่อไปแบบไม่หยุดยั้ง

เมื่อไม่นานมานี้ ‘คุณพิชัย จาวลา’ นักลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ ได้กล่าวถึง หลักการหลักคิดของ 'ทฤษฎีผลประโยชน์' ที่ทำให้คนรวยราว 20% ของประเทศ ยังคงรวยต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง โดยระบุว่า…

“ความแตกต่างที่แท้จริงของ ‘คนรวย’ กับ ‘คนชั้นกลาง’ อยู่ตรงนี้ คือ คนรวยจะหาวิธีเพิ่มกําไรโดยไม่เพิ่มความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา แต่คนชั้นกลางจะคิดว่า จะเล่นเกมไฮริสไฮรีเทิร์น คิดว่าถ้าจะได้กําไรเพิ่ม ต้องเสี่ยงเพิ่ม ซึ่งคนรวยไม่ทําเพราะธุรกิจเขาใหญ่แล้ว เขาเสี่ยงไม่ได้ ผิดครั้งเดียวเขาอาจจะล้มได้ เพราะฉะนั้นสมองเขาจะอยู่ในจุดนี้ตลอดเวลาว่า“ทํายังไงฉันถึงจะเพิ่มกําไรได้ แต่ความเสี่ยงต้องไม่เพิ่ม” ซึ่งมีวิธีเยอะแยะ โดยเริ่มจากตรงนี้ พอเน้นความมั่นคงแล้วกําไรอาจจะน้อย ก็ไม่เป็นไร อาศัยปริมาณเอา ทําให้ขยายได้เร็วและกู้ได้เยอะ ก็เป็นกําไรตรงนั้นแทน สามารถรับรู้กําไรระหว่างทางได้ ยังมีเครื่องมือทางการเงิน อย่างเช่น การขยายเทอมกับแบงก์ ซึ่งจะเพิ่มทำกําไรให้เราได้อีก แล้วก็รับรู้ด้วยการเอาเข้าลีก หรือเอาเข้าตลาดหุ้นอะไรต่าง ๆ ซึ่งก็จะกลายเป็นกําไรที่มาก แต่โดยที่ไม่ได้เน้นกําไรทางตรงอาจจะได้ในระดับหนึ่ง ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในการบริหารของเราด้วย ว่ากําไรทางตรงเราจะน้อยหรือมาก แต่โดยหลักคิดทั่วไปมันมักจะน้อย เหมือนกับว่าถ้าเราเน้นทําเลดีในสุขุมวิท เราจะหา 10% หาไม่ได้ ต้อง 6-7% แต่มั่นคงที่สุด โดยหลักแล้วมันมักจะน้อย แต่ว่าก็ไปเอากําไรทางอื่นแทนอย่างที่ผมบอก ซึ่งตรงนี้รายละเอียดมันเยอะ”

คุณพิชัย จาวลา ได้นําเสนอทฤษฎี ‘ระบบผลประโยชน์’ เอาไว้ โดยกล่าวว่า “เป็นธรรมชาติที่สุดของมนุษย์แล้วคือเรื่องของ ‘ผลประโยชน์’ การที่เราใช้ทฤษฎีนี้ เพราะผมคิดว่าทฤษฎีนี้ตอบสนองต่อความต้องการพื้นฐานหรือสัญชาตญาณลึก ๆ ของเรา ที่เราอยากจะรู้ ซึ่งมนุษย์ทุกคนอยากจะได้เงินง่ายและสบาย อยากจะรู้ทิศทาง หรืออยากจะรู้วงจร ถ้าเรารู้ตรงนี้แล้ว เราจะสามารถวางกลยุทธ์ต่าง ๆ ได้ดีและถูกต้อง เพราะว่าในทฤษฎีผลประโยชน์ สิ่งที่เราต้องยึดมั่น คือทิศทางผลประโยชน์ของคนส่วนน้อย โดยเราจะต้องเป็นคนส่วนน้อย”

ระบบคิดใหม่หรือทฤษฎีผลประโยชน์ให้แนวคิดไว้ว่า ในตลาดหุ้นระบบทุนนิยมคือภาคใหญ่ที่สําคัญที่สุด และระบบทุนนิยม จะไม่เปิดช่องให้คนส่วนใหญ่ทํากําไรได้พร้อม ๆ กัน เพราะว่ามันขัดแย้งกับระบบทุนนิยมในโลกของความเป็นจริง ทําให้ในตลาดหุ้นจะมีแต่คนส่วนน้อยเท่านั้น 20% ที่จะได้กําไรมาก ๆ จากคนส่วนใหญ่ 80% สิ่งที่ขับเคลื่อนเงินตราคือผลประโยชน์ของคนกลุ่มน้อย โดยที่คนกลุ่มน้อยนั้น มีเม็ดเงินจํานวนมหาศาลมากกว่าคนส่วนใหญ่ และเงินจํานวนมหาศาลของคนกลุ่มน้อยนั้น สามารถกําหนดทิศทางของราคาหุ้นได้ชนิดที่เรียกว่า ถ้าคนกลุ่มน้อยซื้อหรือขายก็จะมีผลต่อราคาหุ้นให้ ‘ขึ้น’ หรือ ‘ลง’ ทันที ดังนั้น คําถามสําคัญในตลาดหุ้น คือ ในเวลาที่หุ้นถูกถล่มขายจนราคาดิ่งเหว ใครเป็นคนรับซื้อ? เพราะซื้อจะต้องเท่ากับขายเสมอจึงจะเกิดการจับผู้ซื้อขายได้ ซึ่ง คุณพิชัย ได้เรียกเหตุการณ์นี้ไว้ว่า ‘ระบบ’ หรือ คนส่วนน้อยเป็นคน ‘ซื้อหุ้น’ ไว้ ในขณะที่คนส่วนใหญ่เป็นคนขาย

“เราเข้าใจกลไกอย่างแท้จริง เราจะรู้เลยว่าวิกฤตเศรษฐกิจทั้งหมด ส่วนมากจะเริ่มจากภาคการเงินกับภาคอสังหาฯซึ่งมันจะมีกลไกผลประโยชน์อยู่ในนั้น พอเรารู้ก่อน เราสามารถปกป้องตัวเองจากความเสียหายได้ ซึ่งความลับจริง ๆเหมือนกับว่า 10 ปี 20 ปี 30 ปี เราได้ใช้ครั้งหนึ่งก็คุ้มแล้ว เพราะหากเราเข้าใจกลไกผลประโยชน์จริง ๆ เราจะรู้ว่าในปี 40 มันอยู่แบบนั้นไม่ได้ ถ้าดูผิวเผิน ณ ขณะนั้น เรารู้สึกเหมือนกับว่า เวลาที่มองย้อนหลัง มันรู้สึกเหมือนกับว่ามันง่าย แต่ต้องคิดดี ๆ ว่า ณ ขณะที่เกิด ทําไม? ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ แบงก์ชาติ หรือแบงก์พาณิชย์ ทําไมถึงพลาดหมด ทั้งที่เป็นคนเก่งคนฉลาดทั้งนั้น…จริง ๆ แล้วมันไม่ง่าย” คุณพิชัย กล่าว

แนวทางการใช้ทฤษฎีผลประโยชน์ คือ ถ้าคุณอยากจะตีความว่าคนส่วนน้อยซื้อหุ้นเมื่อไหร่?

ให้ดูที่ในช่วงเวลานั้น เหตุผลของการซื้อหุ้นจะต้องไม่มีเลย เช่น ตัวเลขทางเศรษฐกิจไม่ดี หนี้ครัวเรือนสูง อัตราว่างงานสูง ปัจจัยพื้นฐานไม่ดี กราฟไม่สนับสนุนเหตุการณ์ในอดีตบ่งชี้ว่าราคาต้องลงต่อ ทุก ๆ อย่างที่อยู่รอบตัวจะต้องชี้ว่าห้ามซื้อหุ้นในเวลานี้ ซึ่งถ้าเกิดเหตุการณ์แบบที่ว่ามานี้จริง ๆ ก็ให้คุณซื้อหุ้น เพราะในสถานการณ์แบบนี้คุณจะต้องทําตรงข้ามกับคนส่วนใหญ่

คุณถึงจะเป็นคนส่วนน้อยในตลาด เมื่อคนส่วนน้อยเริ่มซื้อหุ้น ราคาหุ้นก็จะค่อย ๆ ขยับขึ้นจากจุดที่ทุกคนไม่คิดว่าจะเป็นจุดต่ำสุด ราคาจะค่อย ๆ ขยับขึ้น ทั้ง ๆ ที่ยังมีข่าวร้ายอยู่เต็มตลาด เมื่อขึ้นไปจนถึงจุด ๆ หนึ่งแล้ว ก็เริ่มจะมีข่าวดีขึ้นมาบ้าง หลังจากนั้นทุกคนในตลาดก็จะเริ่มกล้าซื้อหุ้นมากขึ้น แล้วก็ทยอยกันมาซื้อจนหุ้นเต็มพอร์ต และเมื่อถึงจุด ๆหนึ่ง ที่ทุกคนคิดว่าราคาจะไปต่ออีก หลังจากนั้นราคาหุ้นก็จะค่อย ๆ ลดต่ำลง เพราะมีคนอีกกลุ่มเริ่มขายหุ้นทิ้ง

“เราต้องอยู่นอกกรอบอย่างแท้จริง เพราะว่าการที่เราเป็นคนส่วนน้อยกับการที่เราจะถูกผิดตามเหตุผลมันคนละเรื่องกันโดยสิ้นเชิง เราไม่สามารถจะเป็นคนส่วนน้อยได้ด้วย และก็คิดถูกตามตรรกะทุกอย่างได้ด้วย มันเป็นไปไม่ได้ ถ้าเราจะเป็นคนส่วนน้อยจริง ๆ เวลานั้น คนส่วนใหญ่เวลาเทไปทางใดทางหนึ่งทางเดียวกันหมด เขาผิดไม่ได้นะ เขาต้องถูกเพราะฉะนั้นต่อจากนี้ไปถ้าเกิดว่าหุ้นจะเป็นขาขึ้นจริง ๆ ตามที่ทฤษฎีผลประโยชน์มอง ซึ่งไม่ได้หมายความว่าผมคิดถูกนะ แต่เพราะผมเป็นคนเดียว”

“ในตลาดหุ้น เราสามารถเติบโตแบบโมเดลของดอกเบี้ยทบต้นได้ ซึ่งเหมือนกับที่ Warren Buffett ใช้ ซึ่งในช่วงแรกของการลงทุนของเขา จะไม่หวือหวา ไม่ตื่นเต้น แล้วไม่ได้เป็นที่รู้จักด้วย เพราะเขาเติบโตเอื่อย ๆ กว่าคนจะรู้ตัวเขาก็เติบโตแบบก้าวกระโดดแล้วตอนท้าย ซึ่งโมเดลของการเติบโตแบบทบต้น สามารถใช้ในตลาดหุ้นได้ เพียงแต่ผมไม่ได้ใช้ ผมใช้ในทฤษฎีผลประโยชน์ ซึ่งตอนนี้ถ้าเราจะบอกว่า หุ้นจะขึ้นไปเท่านู้นเท่านี้ เราไม่ได้พูดในมุมของวีไอ แต่จะพูดในมุมของทฤษฎีผลประโยชน์ เพราะวีไอตอบไม่ได้…และจะตอบได้แค่ว่ากําไรของบริษัทจะโตแน่นอนในอนาคตแต่จะขึ้นเมื่อไหร่ไม่รู้ ก็คือโฟกัสที่ภาพนี้ แต่ตรงนี้ผมใช้ทฤษฎีผลประโยชน์ ซึ่งตรงผมก็มั่นใจเหมือนเดิม มั่นใจกว่าเดิม”

 

เปิดทดสอบเดินรถไฟฟ้า 'สายสีชมพู' 15 สิงหา 66 ก่อนเปิดให้ประชาชนทดลองนั่งจริงกันยายน

เมื่อวานนี้ (13 ส.ค.66) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม.แจ้งความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรีว่า บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด ผู้รับสัมปทานโครงการดังกล่าว ได้ทำการทดสอบระบบการเดินรถตั้งแต่ศูนย์ซ่อมบำรุง (DEPOT) ไปยังสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) รวม 30 สถานี หรือตลอดแนวเส้นทางของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู

ซึ่งภาพรวมพบว่าไม่มีปัญหาติดขัด ทางรฟม.จึงคาดว่าจะเริ่มทดสอบการเดินรถไฟฟ้าเสมือนจริง (Trial Run) ในวันที่15 สิงหาคมนี้

>> ความก้าวหน้าของงานก่อสร้างล่าสุดในเดือน ก.ค. 2556

- งานโยธาช่วงแคราย - มีนบุรี อยู่ที่ 97.35%

- งานระบบรถไฟฟ้า คืบหน้า 97.74%

- ความก้าวหน้ารวมสะสมอยู่ที่ 97.54%

นอกจากนี้บริษัทฯ จะเปิดให้ประชาชนร่วมทดลองใช้บริการฟรี ระหว่างเดือน กันยายน-ตุลาคม 2566 ก่อนจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ จัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพู ในเดือนพฤศจิกายน 2566 ซึ่งภาพรวมของโครงการถือว่าเร็วกว่าแผนกำหนดไว้

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู จะก่อสร้างเป็นทางวิ่งยกระดับตลอดสาย มีสถานีให้บริการทั้งหมด 30 สถานีและมีศูนย์ซ่อมบำรุงและจุดจอดแล้วจร (Park and ride) บริเวณสถานีมีนบุรี โดยโครงการยังมีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า 4 สายหลัก ได้แก่

1. รถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่สถานีมีนบุรี

2. รถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ที่สถานีหลักสี่

3. รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ

4. รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) ที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี

>> สถานีให้บริการจำนวน 30 สถานี ได้แก่

- PK01 สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี สถานีต้นทางตั้งอยู่ริมถนนรัตนาธิเบศร์ บริเวณหน้าศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรีและบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) และเป็นสถานีเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ

- PK02 สถานีแคราย ตั้งอยู่บนถนนติวานนท์ บริเวณด้านหน้าสถาบันทรวงอก

- PK03 สถานีสนามบินน้ำ ตั้งอยู่บนถนนติวานนท์ใกล้กับสามแยกสนามบินน้ำ

- PK04 สถานีสามัคคี ตั้งอยู่บนถนนติวานนท์ ใกล้ทางแยกเข้าถนนสามัคคี ระหว่างคลองบางตลาดกับถนนสามัคคี

- PK05 สถานีกรมชลประทาน ตั้งอยู่บนถนนติวานนท์ ใกล้กับโรงเรียนชลประทานวิทยา

- PK06 สถานีแยกปากเกร็ด ตั้งอยู่บริเวณหัวมุมทางแยกปากเกร็ด ก่อนเข้าสู่ถนนแจ้งวัฒนะ

- PK07 สถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณหน้าห้างบิ๊กซี ซุปเปอร์เซ็นเตอร์และโฮมโปร ก่อนถึงทางแยกเลี่ยงเมืองปากเกร็ด

- PK08 สถานีแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28 ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ ใกล้กับห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลแจ้งวัฒนะ บริเวณซอยแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28

- PK09 สถานีศรีรัช ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณซอยแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 35 ก่อนถึงทางด่วนศรีรัช ใกล้กับหมู่บ้านเมืองทองธานี

- PK10 สถานีเมืองทองธานี ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณหน้าสำนักงานซ่อมบำรุงกรมทางหลวงและห้างแม็คโครซุปเปอร์สโตร์ สาขาแจ้งวัฒนะ

- PK11 สถานีแจ้งวัฒนะ 14 ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ ระหว่างบิ๊กซีแจ้งวัฒนะ และซอยแจ้งวัฒนะ 14

- PK12 สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณหน้ากรมการกงสุล ใกล้กับศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550

- PK13 สถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ ระหว่างซอยแจ้งวัฒนะ 5 และซอยแจ้งวัฒนะ 7

- PK14 สถานีหลักสี่ ตั้งอยู่บริเวณจุดตัดถนนแจ้งวัฒนะและถนนวิภาวดีรังสิตสามารถเชื่อมต่อกับโครงการระบบรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ทางเดินยกระดับลอยฟ้า (Skywalk)

- PK15 สถานีราชภัฏพระนคร สถานีสุดท้ายบนถนนแจ้งวัฒนะ ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร

- PK16 สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ ตั้งอยู่บริเวณวงเวียนอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ สามารถเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ด้วยทางเดินยกระดับลอยฟ้า (Skywalk)

- PK17 สถานีรามอินทรา 3 สถานีแรกบนถนนรามอินทราตั้งอยู่บริเวณหน้าโครงการลุมพินี รามอินทรา-หลักสี่ และศูนย์พัฒนากีฬากองทัพบก

- PK18 สถานีลาดปลาเค้า ตั้งอยู่บนถนนรามอินทราระหว่างซอยรามอินทรา 21 และซอยรามอินทรา 23 ใกล้กับห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีเอ็กซ์ตร้า

- PK19 สถานีรามอินทรา กม.4 ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ระหว่างซอยรามอินทรา 33 และซอยรามอินทรา 37

- PK20 สถานีมัยลาภ ตั้งอยู่บนถนนรามอินทราหน้าปากซอยรามอินทรา 41 ใกล้กับสามแยกมัยลาภ

- PK21 สถานีวัชรพล ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ถัดจากทางพิเศษฉลองรัช บริเวณซอยรามอินทรา 59 และซอยรามอินทรา 61

- PK22 สถานีรามอินทรา กม.6 ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ช่วงระหว่างซอยรามอินทรา 40 และซอยรามอินทรา 42

- PK23 สถานีคู้บอน ตั้งอยู่บนถนนรามอินทราช่วงระหว่างซอยรามอินทรา 69 และซอยรามอินทรา 46

- PK24 สถานีรามอินทรา กม.9 ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ใกล้กับโรงพยาบาลสินแพทย์ ช่วงระหว่างซอยรามอินทรา54 และซอยรามอินทรา 56

- PK25 สถานีวงแหวนรามอินทรา ตั้งอยู่บนถนนรามอินทราถัดจากถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออก ใกล้ศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ และ The Promenade

- PK26 สถานีนพรัตน์ ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ใกล้ซอยรามอินทรา 103/1 และโรงพยาบาลนพรัตน์

- PK27 สถานีบางชัน ตั้งอยู่บนถนนบริเวณซอยรามอินทรา 113 และซอยรามอินทรา 115

- PK28 สถานีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ ตั้งอยู่บนถนนรามอินทราใกล้กับโรงเรียนเศรษฐบุตรบำเพ็ญ ระหว่างซอยรามอินทรา 121 และ ซอยรามอินทรา 123

- PK29 สถานีตลาดมีนบุรี สถานีแรกบนถนนสีหบุรานุกิจ ตั้งอยู่บริเวณหน้าตลาดนัดจตุจักร 2

- PK30 สถานีมีนบุรี ตั้งอยู่ริมถนนรามคำแหง บริเวณศูนย์ซ่อมบำรุงของระบบขนส่งมวลชนสายสีชมพูฯ ใกล้กับถนนรามคำแหง เป็นสถานีปลายทางของโครงการ และสามารถเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-มีนบุรีได้ด้วยทางเดินยกระดับลอยฟ้า (Skywalk)

วิเคราะห์!! กำแพงใหญ่ขวาง 'จีน' ผงาดแซงหน้าสหรัฐฯ ในเร็ววัน 'ค่าเงิน-ตลาด-นวัตกรรม-แรงฉกฉวยจากประเทศที่เคยตีห่าง'

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็นของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน เมื่อวันที่ 13 ส.ค.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

สหรัฐอเมริกาเป็นยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจของโลกมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 แม้ว่าจะมีบางช่วงเวลาที่อาจตกต่ำ 

แต่ภายหลังการวางระเบียบโลก Bretton Woods หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และโดยเฉพาะภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตและการพังทลายลงของกำแพงเบอร์ลินในราวต้น 1990 นั้น สหรัฐฯ ได้กลายเป็นผู้นำเดี่ยวของโลกอย่างแท้จริง 

โดยปัจจุบันเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีขนาดประมาณ 25% ของ GDP โลก ทิ้งอันดับ 2 อย่างจีนที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 18% ตามอัตราแลกเปลี่ยนตลาด

แม้ว่าจีนจะไล่มาเป็นที่ 2 แบบห่าง ๆ แต่โอกาสที่จะตามสหรัฐฯ ทันในอนาคตอันใกล้คงจะเป็นไปได้ยาก หากพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ อาทิ ปริมาณและคุณภาพของกำลังแรงงาน ขนาดของตลาดสินค้าบริการและทุน ตลอดจนระดับนวัตกรรมและเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ที่ยังคงล้ำหน้าอยู่หลายช่วงตัว 

นอกจากนี้ เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่มีหลายฝ่ายคาดการณ์ ว่าจะลดความสำคัญลงจากการที่รัฐบาลสหรัฐฯ ใช้เป็นอาวุธในการคว่ำบาตรฝ่ายตรงข้าม ก็ยังคงเป็นเงินสกุลหลักในทางการค้าการเงินและการลงทุนระหว่างประเทศ 

"ดอลลาร์ยังคงความเป็นเงินสำรอง (Reserve Currency) สกุลหลักของโลก โดยธนาคารกลางทั่วโลกยังถือเงินสกุลดอลลาร์เป็นสัดส่วนกว่า 60% ของทุนสำรองระหว่างประเทศ (International Reserves)" อ.พงษ์ภาณุ กล่าว

วันนี้ หลายประเทศที่เคยตีตัวออกห่างจากสหรัฐอเมริกา เช่น อินเดีย หรือแม้แต่ประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างเวียดนาม, อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ก็กำลังเอนเอียงกลับไปคบหากับสหรัฐฯ อย่างแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ด้วยเล็งเห็นโอกาสทางเศรษฐกิจที่จะพึงฉกฉวยได้ ไม่ว่าจะเป็นการโยกย้าย Supply Chains ออกจากจีน หรืออาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีพลานุภาพ 

แล้วประเทศไทยล่ะจะยอมปล่อยให้โอกาสเหล่านี้หลุดลอยไปได้อย่างไร?

‘บิ๊กตู่’ ดัน ‘แลนด์บริดจ์ไทย’ พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หวังเปลี่ยนทิศขนส่งโลกมาไทย เพื่อก้าวเป็นฮับ ศก.ในภูมิภาค

(13 ส.ค. 66) สำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องการขยายรากฐานเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อให้ไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งและการค้าของเอเชีย โดยได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาจัดทำโครงการแลนด์บริดจ์ (LandBridge) ให้เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านคมนาคม เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน ที่สำคัญหากเมื่อโครงการสามารถทำได้และสำเร็จ จะเป็นการเปลี่ยนทิศทางการขนส่งของโลกให้มาที่ไทย จนไทยกลายเป็นฮับทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้

ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) รายงานว่าปัจจุบันโครงการแลนด์บริดจ์ ยังอยู่ในขั้นตอนศึกษาการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โดยจะมีการจัดรับฟังความคิดเห็นครั้งแรกจากทั้งหมด 3 ครั้ง ในวันที่ 16-18 สิงหาคมนี้ในพื้นที่ จ.ระนอง และ จ.ชุมพร ซึ่งรัฐบาลมีความต้องการให้ได้ข้อมูลจากผู้ได้รับผลกระทบทุกฝ่ายอย่างครบถ้วน รอบด้าน และรอบคอบเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนและประเทศชาติ จึงได้จัดรับฟังความคิดเห็นสำหรัลผู้ได้มีส่วนได้เสียและพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เพื่อลดผลกระทบโครงการ ตามวันและเวลา ดังนี้

ท่าเรือระนอง
- วันพุธที่ 16 สิงหาคม  2566 เวลา 08.30-12.00 น. จัดขึ้นที่ห้องราชาวดี ชั้น 3 เฮอริเทจ แกรนด์ คอนเวนชั่น อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง

- วันพฤหัสบดีที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2566 เวลา 08.30-12.00 น. ที่ห้องประชุมอุทยานแห่งชาติแหลมสน ตำบลม่วงกลวง อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง

ท่าเรือชุมพร
- วันศุกร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2566 เวลา 08.30 – 12.00 น. ที่ห้องอวยชัยแกรนด์บอลรูม ชั้น 2 โรงแรมอวยชัยแกรนด์ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร

สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์ ประกอบด้วย โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกระนอง โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกชุมพร โครงการระบบรถไฟทางคู่ ช่วงชุมพร - ระนอง และโครงการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ช่วงชุมพร – ระนอง ซึ่งมีการคาดการไว้ว่าหากโครงการแล้วเสร็จ  จะสามารถรองรับเรือขนส่งสินค้าที่เติบโตและหันมาใช้เส้นทางนี้กว่า 400,000 ลำต่อปีได้ในปี 2594 รวมถึงการพัฒนาพื้นที่โดยรอบให้เป็นไปตามอุตสาหกรรมเป้าหมายด้วย

“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ มุ่งมั่นวางรากฐานการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมไทย ให้ทัดเทียมนานาประเทศ ผลักดันเชื่อมไทยสู่โลก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน การขนส่งสินค้าและบริการ การท่องเที่ยว กระจายความเจริญไปสู่ภาคใต้ และภาพรวมของประเทศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนทุกกลุ่ม เพื่อวางอนาคตที่ดีไว้ให้คนไทยทุกคน” สำนักนายกรัฐมนตรี เผย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top