Monday, 7 July 2025
ECONBIZ NEWS

รัฐบาล เตรียมเปิดตลาดนักท่องเที่ยวมุสลิม ปักหมุดไทยเป็น 1 ใน 5 จุดหมายปลายทางสำคัญ

(18 ส.ค. 66) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลพัฒนาและยกระดับการท่องเที่ยวอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เพื่อรองรับและขยายโอกาสทางการตลาดสำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวมุสลิมทั่วโลก พร้อมทำแผนยุทธศาสตร์ ตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็น 1 ใน 5 จุดหมายปลายทางสำหรับนักท่องเที่ยวมุสลิมภายในปี 2570 โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้ความสำคัญของตลาดนักท่องเที่ยวมุสลิม โดยจัดอบรมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวและบริการ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และผู้ที่สนใจ ในเรื่องพฤติกรรมนักท่องเที่ยวมุสลิม การออกแบบบริการรองรับตลาดนักท่องเที่ยวมุสลิม และชี้แจงแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวมุสลิม ระยะ 5 ปี (2566-2570) 

ซึ่งแผนยุทธศาสตร์ฯ ประกอบด้วย การยกระดับผู้ประกอบการท่องเที่ยวเพื่อเข้าสู่มาตรฐาน, การพัฒนาสินค้า บริการ และกิจกรรมด้านการท่องเที่ยว เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวมุสลิม, สนับสนุนการนำเทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวมุสลิม, บูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวมุสลิม และเพิ่มโอกาสทางการตลาด และสร้างการรับรู้ความพร้อมของประเทศไทยในการรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวมุสลิม

น.ส.รัชดา กล่าวว่า แผนยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและการแข่งขันได้อย่างยั่งยืนของรัฐบาล เพื่อยกระดับผู้ประกอบการด้านบริการเพื่อการท่องเที่ยวรองรับนักท่องเที่ยวมุสลิมที่เพิ่มขึ้น โดยประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญของนักท่องเที่ยวมุสลิมทั่วโลก ซึ่งในปี 2565 มีนักท่องเที่ยวมุสลิมเดินทางมาไทยกว่า 3 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพมีกำลังซื้อสูง นอกจากนี้ ข้อมูลจาก MasterCard-CrescentRating Global Muslim Travel Index 2022 จัดอันดับให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 3 ในกลุ่มประเทศ/รัฐ/เขตปกครอง ที่ไม่ใช่มุสลิม ซึ่งนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมนิยมมาท่องเที่ยว รองจาก สิงคโปร์ และไต้หวัน (https://www.crescentrating.com/reports/global-muslim-travel-index-2022.html)

“รัฐบาลเห็นถึงความสำคัญของตลาดนักท่องเที่ยวมุสลิม ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ มีกำลังซื้อสูง และขยายตัวอย่างรวดเร็ว จึงได้บูรณาการการทำงานร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรต่าง ๆ ในการสนับสนุน และพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการไทย ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเชื่อมั่นว่าแผนยุทธศาสตร์ที่มีประโยชน์นี้จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลชุดใหม่ เพื่อผลักดันให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ให้ไทยเป็น 1 ใน 5 จุดหมายปลายทางสำหรับนักท่องเที่ยวมุสลิมภายในปี 2570” น.ส.รัชดา กล่าว

‘รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน’ กับโอกาสทางเศรษฐกิจ จิ๊กซอว์สำคัญสู่ศูนย์กลางระบบรางอาเซียน

วันนี้ (17 ส.ค.66) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ลงพื้นที่ จ.สระบุรี เพื่อตรวจเยี่ยมงานอุโมงค์มวกเหล็กและลำตะคอง ช่วงอุโมงค์มวกเหล็ก อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ในโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา ระยะทางรวม 250.77 กม. ประกอบด้วยสถานีทั้งหมด 6 สถานี ได้แก่ สถานีกลางบางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา สระบุรี ปากช่อง และนครราชสีมา)

โดยงานโยธาสัญญาที่ 3-2 งานอุโมงค์มวกเหล็กและลำตะคอง โดยตัวอุโมงค์มวกเหล็กอยู่ระหว่างสถานีรถไฟผาเสด็จและสถานีรถไฟหินลับ มีลักษณะเป็นอุโมงค์เดี่ยว รางคู่ รูปทรงเกือกม้า ความยาว 3.465 กิโลเมตร สูง 8.50 เมตร กว้าง 11.50 เมตร ขณะนี้มีความคืบหน้างานก่อสร้างอยู่ที่ 1.43 กิโลเมตร คิดเป็น 41.3 % และคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2570

โครงการนี้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2560 เป็นรถไฟความเร็วสูงโครงการแรกของประเทศไทย ซึ่งหากดูตามระยะเวลาแล้ว อาจจะมองได้ว่าเป็นโครงการที่ใช้ระยะเวลาก่อสร้างยาวนาน ซึ่งหลายคนมักนำไปเปรียบเทียบกับโครงการรถไฟลาว-จีน ที่ใช้ระยะเวลาก่อสร้างเพียงไม่กี่ปีเท่านั้น แต่อย่าลืมว่าโครงการนั้นทางประเทศจีนเป็นผู้รับผิดชอบภาระทางการเงินถึง 70% ส่วนลาวรับผิดชอบภาระทางการเงินเพียง 30% โดยทางจีนเป็นผู้ออกแบบ ก่อสร้าง วางระบบ ทั้งหมด และเป็นแบบทางเดี่ยวรถไฟไม่สามารถวิ่งสวนกันได้ 

ขณะที่รถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน เฟส1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. สร้างแบบทางคู่ตลอดเส้นทาง โดยงบประมาณทั้งหมด ไทยรับผิดชอบลงทุนและก่อสร้างงานโยธาทางรถไฟทั้งหมด 100% 

ดังนั้น เมื่อเทียบกับการให้สัมปทานประเทศจีนรับเหมาก่อสร้างแบบเบ็ดเสร็จที่อาจจะก่อสร้างได้เร็วกว่าก็ตาม แต่รัฐบาลไทยมุ่งมั่นที่จะดำเนินโครงการที่ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ และการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านระบบรางในระยะยาวที่ยั่งยืนมากกว่า ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลในการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่จะสนับสนุนการขยายตัวของเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจโดยรอบเส้นทางรถไฟฯ เพราะนอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้รวดเร็วขึ้นแล้ว ยังทำให้เกิดการจ้างงาน ส่งเสริมการท่องเที่ยว นำมาสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจในที่สุด

ยิ่งไปกว่านั้น รถไฟความเร็วสูงไทย-จีนถือเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญภายใต้ความริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปในชื่อโครงการเส้นทางสายไหม ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลจีนกับประเทศอื่น ๆ อีกหลายประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และยกระดับการเดินทางข้ามพรมแดน

โครงการดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะส่งผลดีต่อไทย โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับโครงการเส้นทางสายไหมอื่น ๆ ทั่วโลก จากการศึกษาโครงการเส้นทางสายไหมในประเทศต่าง ๆ ของไอเอ็มเอฟและธนาคารโลก พบว่า รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคาย ซึ่งสามารถเชื่อมต่อไปยังนครหลวงเวียงจันทน์ จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย ช่วยลดต้นทุนทางการค้าการขนส่ง และเพิ่มมูลค่าที่ดินตลอดเส้นทาง 

และแน่นอนว่า ด้วยภูมิศาสตร์ที่ตั้งของประเทศไทย ที่อยู่ระหว่างกลางจีนและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) หากจีนต้องการขยายเส้นทางรถไฟเชื่อมเศรษฐกิจมาสู่ภูมิภาคอาเซียนย่อมต้องอาศัยระบบรางของไทย และจะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางระบบรางของภูมิภาคนี้ได้อย่างแน่นอน

Torpenguin ผุดฟรีสัมมนา Restaurant Technology & Franchise 2023 ยกระดับธุรกิจร้านอาหารด้วยเทคโนโลยี 8-9 ธ.ค.นี้ ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี

Torpenguin สื่อผู้ให้บริการข้อมูลข่าวสารด้านการจัดการธุรกิจสำหรับร้านอาหาร เตรียมจัดงาน Restaurant Technology & Franchise 2023 งานอีเวนต์และสัมมนาด้านการจัดการเทคโนโลยีสำหรับธุรกิจร้านอาหาร งานที่จะช่วยยกระดับธุรกิจร้านอาหารให้ก้าวหน้าด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย พบกับบูธแสดงสินค้าและบริการด้านการจัดการร้านอาหาร จากบริษัทชั้นนำกว่า 150 บูท เช่น เทคโนโลยีสำหรับร้านอาหาร, อุปกรณ์ครัวสำหรับร้านอาหาร, เครื่องมือด้านการตลาด, ซัพพลายเออร์, เทคโนโลยีด้านการเงิน, แฟรนไชส์และพื้นที่เช่ากว่า 60 บูท และสัมมนาจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ และตัวจริงในวงการร้านอาหารแถวหน้าของเมืองไทยกว่า 20 ชีวิต พร้อมกิจกรรมเวิร์กช็อปพิเศษจากกูรูคนดังในวงการ พร้อมแชร์ประสบการณ์ที่ไม่เคยมีที่ไหนมาก่อน 

และไฮไลต์สุดพิเศษ ‘ตัวอย่างร้านอาหารแห่งอนาคต’ พร้อมสัมผัสประสบการณ์จริงที่จะรวบรวมเทคโนโลยีต่าง ๆ มารวมไว้ในร้านเดียว ทั้งหมดนี้ ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย พบกันในวันที่ 8-9 ธันวาคม 2566 ณ อาคาร 6 อิมแพ็ค เมืองทองธานี 

พอลล์ กาญจนพาสน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด “กล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างมากที่ได้เห็นผู้จัดงานรุ่นใหม่เข้ามาในวงการจัดงาน Exhibition 

นอกจากจะมีในส่วนของงาน Exhibition ต่าง ๆ แล้ว ทางอิมแพ็คเองยังอยู่ในวงการร้านอาหารมามากกว่า 20 กว่าปี ซึ่งก็ได้เจอปัญหาอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ Operation ในร้าน Technology ในร้าน ปัญหาเรื่องของ Suppiler ซึ่งเราก็ได้เห็น Pain Point ของคนทำร้านอาหารมาค่อนข้างเยอะ ถึงแม้ว่าสถานการณ์ Covid-19 ได้ผ่านมาเรียบร้อย แต่พฤติกรรมลูกค้าก็ได้เปลี่ยนไปเยอะมาก เราก็หวังว่าในอนาคตอันใกล้ ด้วย Tool ใหม่ ๆ ที่เข้ามา จะสามารถช่วยให้เราปรับตัวไปตามโลกในยุคนี้ได้ 

ที่ผ่านมาเราได้เห็นหลาย ๆ งานเกิดจากผู้จัดที่เป็น Publisher มาก่อน ทำ Magazine เป็นนักข่าว แต่ยุคใหม่นี้จะเป็น Influencer ที่เริ่มปรับตัวมาเป็น Organizer ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการจัดงานแบบ Online หรือ Offline และเราเองก็ดีใจที่ได้ร่วมงานกับลูกค้ารุ่นใหม่อย่างคุณต่อ ที่จัด Restech 2023 ขึ้นมา ซึ่งเป็นงานที่มีจุดมุ่งหมายชัดเจนที่จะสร้าง Ecosystem คนทำร้านอาหาร หวังว่าจากการเข้าชมงานนี้ไม่ว่าจะเป็นทั้งในส่วนของ Exhibition และ Conference จะได้รับประโยชน์ และหวังว่างานนี้จะช่วยผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทยได้ และช่วยยกระดับ Community คนทำร้านอาหารให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น”

ธนพงศ์ วงศ์ชินศรี เจ้าของเพจ Torpenguin สื่อผู้ให้บริการข้อมูลข่าวสารด้านการจัดการธุรกิจสำหรับร้านอาหาร กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ว่า “SME ทุกคนคือปลาตัวเล็ก ๆ ไม่ว่าเราจะกินขนาดไหนก็ยังเป็นได้แค่ปลาตัวเล็ก ไม่นานก็จะโดนปลาตัวใหญ่กิน ซึ่งสิ่งที่เรากำลังทำอยู่คือ ‘การรวมปลาตัวเล็กให้กลายเป็นปลาฝูงใหญ่’ ที่ไม่ได้จะไปกินปลาตัวใหญ่ แต่จะเป็นภูมิคุ้มกัน เป็นเกราะกำบังไม่ให้ปลาตัวใหญ่มากินเราได้ Torpenguin เราจึงพยายามสร้าง Ecosystem สร้างระบบนิเวศที่ดีให้ปลาตัวเล็ก ๆ สามารถเติบโตต่อไปได้ มันก็เลยเป็นความพร้อมที่เราจะต้องจัดงานอีเวนต์บางอย่างขึ้นมา เลยเป็นที่มาของงาน Restech : Restaurant Technology & Franchise 2023

นั่นก็เพราะว่าน้อยคนในวงการร้านอาหารให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ซึ่งถ้าคนทำร้านอาหารยังไม่ให้ความสำคัญ ในวันหนึ่งที่คนในธุรกิจอื่น ๆ ไปข้างหน้าหมดแล้ว ธุรกิจร้านอาหารกลายเป็นคนที่ถูกทิ้งอยู่เบื้องหลัง จึงรู้สึกว่าเราอยากจะเอาเรื่องร้านอาหารที่คนคิดว่าเป็นแค่การขายอาหารเพียงอย่างเดียว กับเรื่องเทคโนโลยีเรื่องยาก ๆ ที่ใครคิดว่าไกลตัว ให้กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น

สิ่งที่เราเห็นที่ผ่านมาก็คือ ต้นทุนค่าแรงของธุรกิจที่มันสูงขึ้นเรื่อย ๆ จาก 10% เป็น 15%-20% ของยอดขาย และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีก และจากสภาพการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันเจ้าของร้านอาหารในเมืองไทยมีกว่า 700,000 ราย แต่ Market Size อยู่ที่ 4 แสนล้านบาทเท่าเดิม นั่นหมายความว่าไม่แปลกใจเลยถ้าร้านเรายอดขายจะตก เพราะเรามีคู่แข่งเพิ่มขึ้น

เมื่อก่อนเชนร้านอาหารอยู่แต่ในห้าง แต่ในตอนนี้เขาออกมาทำการตลาดนอกห้างมากขึ้น ซึ่งถ้าเราไม่รู้จักเทคโนโลยีไม่ปรับตัว เราก็คงสู้เขาไม่ได้ ผมจึงเชื่อว่า เทคโนโลยีนี่แหละที่จะเป็นจุดเปลี่ยนให้คนตัวเล็กมีศักยภาพแข่งขันสู้กับเจ้าใหญ่ได้

รวมไปถึงพฤติกรรมของลูกค้า เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าตั้งแต่สถานการณ์ Covid-19 ที่ผ่านมา ว่าทุกอย่างคือ ทุกอย่างจัดการอยู่บนโทรศัพท์มือถือ POS การทำ CRM ไม่รู้จักการทำระบบบัญชีออนไลน์ ไม่รู้วิธียิงแอด ไม่รู้วิธีการไลฟ์ แล้วเราจะไปสู้เจ้าใหญ่ได้อย่างไร

เทคโนโลยีพัฒนามากขึ้น แต่มีราคาที่ถูกลง นี่คือโอกาสที่ SME อย่างเราที่จะเข้าถึงเทคโนโลยีในราคาที่ถูกได้ 

เหล่านี้แหละคือทั้งหมดที่เราอยากทำเพื่อให้เจ้าของร้านอาหารทุกคนได้เรียนรู้ และเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของตัวเอง”

Restaurant Technology & Franchise 2023 งานอีเวนต์และสัมมนาด้านการจัดการเทคโนโลยีสำหรับธุรกิจร้านอาหารโดยเฉพาะ พบกันวันที่  8-9 ธันวาคม 2566 ณ อาคาร 6 อิมแพ็ค เมืองทองธานี

SME D Bank ทุ่ม 500 ล้าน เปิดตัว ‘Micro OK’ สินเชื่อใหม่หนุน SMEs เข้าถึงเงินทุน

SME D Bank คลอดสินเชื่อใหม่ ‘Micro OK’ วงเงินรวม 500 ล้านบาท เพิ่มโอกาสผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายย่อยเข้าถึงแหล่งทุน โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน วงเงินสูงสุด 500,000 บาทต่อราย เปิดรับคำขอกู้ตั้งแต่วันนี้ถึง 30 ธ.ค. 66 

นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เปิดเผยว่า SME D Bank ธนาคารเพื่อเอสเอ็มอีไทย เดินหน้าทำงานเชิงรุก  พัฒนาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์สินเชื่อ และกระบวนการอำนวยสินเชื่อ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการเงินให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่ม Micro ที่มีศักยภาพเข้าถึงเงินทุนได้ง่าย รวดเร็ว ผ่านสินเชื่อใหม่ ‘Micro OK’ วงเงินรวม 500 ล้านบาท แจ้งความประสงค์ได้ง่ายด้วยระบบออนไลน์ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งลงทุน ขยาย ปรับปรุง ปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจการ หรือหมุนเวียนเสริมสภาพคล่อง ช่วยต่อยอดยกระดับธุรกิจเดินหน้าไม่มีสะดุด  

จุดเด่นสินเชื่อ ‘Micro OK’ เปิดกว้างให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่ม Micro (รายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี) ที่มีศักยภาพทุกกลุ่มธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นภาคผลิต ภาคค้าปลีกค้าส่ง และภาคบริการ ทั้งบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล วงเงินกู้สูงสุด 500,000 บาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 1.29% ต่อเดือน (MLR +8% ต่อปี) ระยะเวลาผ่อนชำระนานสูงสุด 5 ปี ที่สำคัญ ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน เปิดรับคำขอกู้ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2566 หรือเมื่อเต็มวงเงินโครงการ

อีกทั้ง พัฒนากระบวนการอำนวยสินเชื่อ ช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่าย รวดเร็ว ทุกที่ ทุกเวลา โดยแจ้งความประสงค์ผ่านออนไลน์ และพิจารณาคุณสมบัติด้วยระบบ Credit Scoring มีขั้นตอน ได้แก่ 

1. สแกน QR Code ในโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ หรือคลิกผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ของ SME D Bank เช่น เว็บไซต์ www.smebank.co.th หรือ LINE Official Account : SME Development Bank เป็นต้น 

2. กรอกรายละเอียดเบื้องต้น เช่น ข้อมูลการดำเนินธุรกิจ วงเงินที่ต้องการกู้ เป็นต้น 

3. เจ้าหน้าที่ธนาคารจะติดต่อกลับ เพื่อนัดหมายเข้าเยี่ยมสถานประกอบการ และพิจารณาอนุมัติสินเชื่อต่อไป หรือกรณีคุณสมบัติไม่ครบถ้วน เจ้าหน้าที่จะแนะนำเข้าสู่กระบวนการพัฒนาผู้ประกอบการ ช่วยเตรียมความพร้อม เพื่อพาเข้าถึงแหล่งทุนได้ในอนาคตต่อไป 

ผู้ประกอบการที่สนใจใช้บริการสินเชื่อ ‘Micro OK’ และบริการด้านการพัฒนา สามารถแจ้งความประสงค์ได้ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของ SME D Bank เช่น เว็บไซต์ www.smebank.co.th, LINE Official Account : SME Development Bank และสาขาของ SME D Bank ทั่วประเทศ เป็นต้น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 1357

ฤาทางออก 'การคลังไทย' จะไปรอดได้ในสังคมผู้สูงอายุ หากให้สวัสดิการ เฉพาะกับคนที่เสียภาษีให้รัฐเท่านั้น?

(17 ส.ค.66) จากเฟซบุ๊ก 'Chalermporn Tantikarnjanarkul' โดยคุณเฉลิมพร ตันติกาญจนากุล ได้โพสต์แสดงความเห็นถึงแนวทางที่จะทำให้การคลังไทยไปรอดในสังคมผู้สูงอายุ ไว้ว่า...

ความจริงที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงคือ ถ้าอยากให้ฐานะการคลังของไทยไปรอดในสังคมผู้สูงอายุ ทางที่ดีที่สุด ยุติธรรมที่สุด ไม่ใช่หาเงินมาทำสวัสดิการถ้วนหน้า หรือเลือกช่วยเฉพาะคนลำบากยากเข็ญ เพื่อลดรายจ่ายลงให้ได้มากที่สุดแบบที่พยายามทำ

แต่เป็นการให้สวัสดิการ เฉพาะกับคนที่เสียภาษีให้รัฐเท่านั้น จ่ายมาเกินกี่ปี ถึงได้สิทธิก็ว่าไป

ใครจ่ายก็ได้ ใครไม่จ่ายก็อด ก็ตรงไปตรงมา

แต่ไม่มีใครกล้าบอกแบบนี้ เพราะจะกลายเป็นคนใจร้าย ไร้น้ำใจ 

ปัญหาคือถ้านับในปัจจุบัน คนที่ไม่เคยเข้าระบบภาษีเงินได้เลยน่าจะมีอยู่มาก และอาจมีจำนวนไม่น้อยที่อยู่ไม่ได้ หากไม่พึ่งสวัสดิการ หากทำแบบนี้ อาจจะเป็นการปล่อยคนเป็นล้าน ๆ คนให้จมน้ำโดยไม่เหลียวแล

ถ้าทำเลยไม่ได้ เราอาจใช้การประกาศล่วงหน้า เช่น ในอีก 10 ปีข้างหน้า ใครที่ไม่เคยเสียภาษี ไม่มีสิทธิได้รับสวัสดิการใด ๆ แล้วนะ ระหว่างนี้ ก็อุดรูรั่วทางภาษี เอาคนมาเข้าระบบให้หมด ให้ฐานรายได้กว้างขึ้น จะได้มีเงินมากพอไปช่วยคนที่จนมาก เอาตัวไม่รอดจริง ๆ

แต่แน่นอน ก็จะมีคำถามตามมาว่า ถ้าเข้าระบบภาษีแต่รายได้ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี เลยไม่ต้องเสียเลย ฉันอยู่กลุ่มไหน?

และคำถามคลาสสิกตลอดกาลอย่าง

ถึงไม่เคยเสียภาษีเงินได้แต่ฉันก็เสียภาษีมูลค่าเพิ่มนะเฟ้ยยยย ใครบอกฉันไม่เสียภาษี!

ผมว่าเราเลิกเพ้อฝันแล้วอยู่กับความจริง แล้วเริ่มทำทุกอย่างให้มันถูกร่องถูกรอยเสียตั้งแต่วันนี้ ยอมรับก่อนว่ายังไง ฐานภาษีตอนนี้ ก็แบกทุกคนไม่ไหวแน่ ๆ ถ้าคนส่วนใหญ่ไม่เข้ามาช่วยกันแบก

‘เศรษฐพุฒิ’ ชี้!! ดอกเบี้ยใกล้ ‘จุดสมดุล’ ยัน!! หนี้ครัวเรือนยังไม่ลามเป็น ‘วิกฤติ’

(16 ส.ค.66) นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า สำหรับทิศทางการดำเนินนโยบายการเงิน ในระยะข้างหน้า เชื่อว่าเริ่มเข้าใกล้ ‘จุดสมดุล’ หรือถึงจุดที่ ‘ดอกเบี้ย’ อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งถือเป็นการถอนคันเร่ง เพื่อให้เหมาะสมกับเศรษฐกิจไทย และเพื่อเอื้อให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้ตามศักยภาพ ภายใต้เงินเฟ้อที่อยู่ในกรอบ ซึ่งไม่สร้างความไม่สมดุล หรือสร้างความเปราะบางในการกู้ยืมต่างๆ แต่ส่วนดอกเบี้ยจะหยุดที่ใดนั้น คงต้องดูการพิจารณาของ กนง.ในระยะข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยอยู่ภายใต้ความไม่แน่นอนของโลกมากขึ้น จากหลากหลายตัวแปรที่เกิดขึ้น ในประเทศไทยเอง แม้จะผ่านการเลือกตั้งมาค่อนข้างนาน แต่ยังไม่มีรัฐบาล เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นสารพัด และความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเป็นความเสี่ยงที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ และไม่รู้ว่าช็อกมาจากไหน

ดังนั้นสิ่งที่ทำได้คือ การวางแผนการดำเนินธุรกิจ ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และต้องสร้างภูมิคุ้มกัน งบดุล หรือสภาพคล่องต้องแข็งแกร่ง และการก่อหนี้ไม่ควรมากเกินไป โดยเฉพาะ ‘หนี้ครัวเรือนของไทย’ ปัจจุบันที่อยู่ระดับสูง และเป็นตัวที่สร้างความเปราะบาง และต้องเร่งจัดการปัญหาอย่างเร่งด่วน 

เมื่อถามว่าหนี้ครัวเรือนในปัจจุบันถึงขั้นวิกฤติหรือไม่ นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ยังไม่ใช่ แต่ต้องเร่งจัดการ และหากปล่อยไป จะกลายเป็นวิกฤติได้ ดังนั้นสิ่งที่ต้องเร่งทำคือ การเทกแอ็กชัน และพยายามลดหนี้ครัวเรือน ลดในระยะข้างหน้าเพื่อให้อยู่ในระดับความยั่งยืน

‘EA’ เตรียมขายกรีนบอนด์ 3 รุ่น อายุ 1-5 ปี อันดับเครดิต A- ผลตอบแทน 3.20 - 4.15% ต่อปี

บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ผู้นำในธุรกิจพลังงานสะอาด โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เตรียมแผนเสนอขายหุ้นกู้ให้กับผู้ลงทุนทั่วไปและผู้ลงทุนสถาบัน (Public Offering) จำนวน 3 รุ่น ผ่านสถาบันการเงินชั้นนำ 6 แห่ง โดยหุ้นกู้ดังกล่าวได้รับการจัดอันดับเครดิตจากทริสเรทติ้ง เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 ที่ระดับ A- สะท้อนถึงกระแสเงินสดที่แข็งแรงจากธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ธุรกิจผลิตแบตเตอรี่ และ ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง 

นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA กล่าวว่า “บริษัทฯ ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลเพื่อออกและเสนอขายหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือที่รู้จักกันในชื่อ กรีนบอนด์ (Green Bond) ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เรียบร้อยแล้ว โดยหุ้นกู้ที่จะเสนอขายให้กับผู้ลงทุนทั่วไปมีจำนวน 3 รุ่น คือ 

1.หุ้นกู้รุ่นอายุ 1 ปี อัตราผลตอบแทนระหว่าง 3.20 - 3.40%  
2.หุ้นกู้รุ่นอายุ 3 ปี อัตราผลตอบแทนระหว่าง 3.50 - 3.70%  
3.รุ่นกู้รุ่นอายุ 5 ปี อัตราผลตอบแทนระหว่าง 3.95 - 4.15%  

ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยและวันจำหน่ายที่แน่นอน บริษัทฯ จะประกาศให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง ผ่าน 6 สถาบันการเงินชั้นนำ”

“บริษัทฯ เป็นผู้นำในธุรกิจพลังงานสะอาดในระดับภูมิภาค มีกระแสเงินสดที่แข็งแรงจากธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ธุรกิจผลิตแบตเตอรี่ และ ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องภายใต้แนวคิด ‘MISSION NO EMISSION’ โดยมีโรงงานผลิตแบตเตอรี่ที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์กำลังการผลิตเริ่มต้นที่ 1 GWh และกำลังขยายกำลังการผลิตที่ 4 GWh ในช่วงไตรมาสที่ 2/2567 อีกทั้งมีโรงผลิตและประกอบยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์มีกำลังการผลิตสูงสุด 9,000 คันต่อปี โดยที่ผ่านมา EA ได้ส่งผลิตภัณฑ์ด้านยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์อย่างต่อเนื่อง เช่น รถโดยสารไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า เรือโดยสารไฟฟ้า ตลอดจนมีสถานีชาร์จ ยานยนต์ไฟฟ้ากว่า 490 สถานี ครอบคลุมทุกภูมิภาค จึงมั่นใจว่าการเสนอขายหุ้นกู้ในครั้งนี้จะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากนักลงทุนเหมือนเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา และเชื่อว่า หุ้นกู้ EA ที่จำหน่ายในครั้งนี้จะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับผู้ลงทุนต้องการลงทุนในกิจการที่มีความมั่นคง และต้องการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่น่าพอใจภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้” นายอมรกล่าวเพิ่มเติม

สำหรับผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนของบริษัทฯ ในไตรมาส 2/2566 มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีรายได้รวมอยู่ที่ 16,860.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 6,589.79 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 64.16 โดยในไตรมาสที่ 2/2566 บริษัทฯ มีรายได้รวม จำนวน 7,956.26 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 2,502.19 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 45.88 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 5,454.07 ล้านบาท โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากธุรกิจรถโดยสารไฟฟ้าและรถเพื่อการพาณิชย์ ธุรกิจแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน รวมถึงธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 

นอกจากนี้ นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ยังได้รับโล่เชิดชูเกียรตินักบริหารดีเด่นแห่งปี 2566 สาขาบริหารและพัฒนาองค์กรและรางวัล CEO Awards จากความมุ่งมั่นกว่า 15 ปีในการดำเนินธุรกิจ ‘Green Product’ ได้แก่ ธุรกิจไบโอดีเซล, ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน, ธุรกิจผลิตแบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ และ ธุรกิจสถานีอัดประจุไฟฟ้า สามารถขับเคลื่อนนวัตกรรมพลังงานสะอาดให้เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศและระดับสากล ทำให้องค์กรให้เติบโตควบคู่ไปกับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ EA ได้รับรางวัลด้านองค์กรยอดเยี่ยม ได้แก่ รางวัล Most Innovative Energy Solution Provider Thailand 2021 โดย World Business Outlook, รางวัล Outstanding Company Performance Award 2022 ในกลุ่มบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสูงกว่า 100,000 ล้านบาท โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและวารสารการเงินธนาคาร 

รางวัลในประเภทนวัตกรรมยอดเยี่ยมด้านผลิตภัณฑ์ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อ ได้แก่ รางวัล Emerging Technology of the Year : The 2020 Global Energy Awards ผลงานเรือโดยสารไฟฟ้า MINE Smart Ferry โดย : S&P Global Platts, รางวัลนวัตกรรมยอดเยี่ยมแห่งปี ผลงานเรือโดยสารไฟฟ้า MINE Smart Ferry โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน), รางวัล Best Innovative Company Award 2022 ผลงานนวัตกรรมแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน AMITA Technology (Thailand) โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและวารสารการเงินธนาคาร อีกทั้งบริษัทฯ ได้รับการประเมินเป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืน MSCI ESG Ratings 2023 : A โดย : MSCI และสมาชิกดัชนีวัดความเสมอภาคทางเพศ Bloomberg Gender Equality Index (GEI) โดย : Bloomberg

ปัจจุบัน บริษัทฯ อยู่ระหว่างการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งยังไม่มีผลบังคับใช้ สำหรับผู้ลงทุนทั่วไปที่สนใจจองซื้อหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.sec.or.th หรือติดต่อผ่านสถาบันการเงินทั้ง 6 แห่ง ดังนี้

-ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ยกเว้นสาขาไมโคร โทร. 1333 หรือจองซื้อทางออนไลน์ผ่าน Bualuang mBanking
-ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ โทร. 02-777-6784 หรือจองซื้อทางออนไลน์ผ่านแอป SCB EASY
-ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) โทร. 02-626-7777 (โดยบุคคลธรรมดาสามารถจองซื้อทางออนไลน์ผ่าน แอปพลิเคชัน - CIMB Thai Digital Banking ได้อีก 1 ช่องทาง)
-บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) โทร. 02-658-5050
-บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด โทร. 02-846-8675
-บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) โทร. 02-820-0410

ทรู-ดีแทค ยกระดับป้องกันภัยไซเบอร์ สร้างความมั่นใจลูกค้าใช้โครงข่าย และทุกบริการดิจิทัล

(16 ส.ค. 66) ทรู คอร์ปอเรชั่น ก้าวสู่เทเลคอม-เทคคอมปานีชั้นนำอันดับ 1 ของไทย ย้ำภาพผู้นำซีเคียวริตี้ ทั้งโครงข่ายและบริการดิจิทัล เต็มรูปแบบ รวมทั้งปกป้องดูแลครอบคลุมทุกความปลอดภัยของลูกค้าและครอบครัว เปิดตัว ‘ทรู-ดีแทค ซีเคียวริตี้’ ชู 3 จุดเด่น End-to-end Protection ปกป้องภัยคุกคามทางโลกออนไลน์ครบวงจรทั้งบนเครือข่าย และแอปพลิเคชันตามมาตรฐานโลก, 24/7 Smart Monitoring ระบบป้องกันทันท่วงที ตรวจติดตามเฝ้าระวังการทำงานของระบบต่าง ๆ แบบอัจฉริยะแบบเรียลไทม์ ตลอด 24 ชั่วโมง, Best-in-class Partnership พร้อมผนึกกำลังกับพาร์ตเนอร์ชั้นนำระดับเวิลด์คลาสทั้งด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ อาทิ คลาวด์ สไตร์ท - พาโล อัลโต้ เน็ตเวิร์กส์ - เวคตร้า เอไอ และด้านประกันภัย อย่าง FWD ทิพยประกันภัย ส่งมอบบริการด้านความปลอดภัยแบบเหนือชั้น และประสบการณ์ที่ดีที่สุด การันตีจาก NIST (National Institute of Standards and Technology) สหรัฐอเมริกา 

ซึ่งประเมินค่า NIST Score ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่เหนือกว่าค่ามาตรฐานโลก (Global Benchmark) พร้อมดูแลเพิ่มความมั่นใจสูงสุดทุกการใช้บริการดิจิทัลกลุ่มทรู ทั้งดิจิทัลมีเดีย - ทรูไอดี, ดิจิทัลโฮม - TrueX และ ดิจิทัลเฮลท์ - หมอดีด้วยระบบ e-KYC พิสูจน์ตัวตนลูกค้าและการดูแลข้อมูลส่วนบุคคลขั้นสูงสุดระบบตรวจจับการบุกรุกโดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ 24 ชั่วโมง ตลอดจนจัดเต็มแพ็กเกจปกป้องคุ้มครอง ดูแลลูกค้ามอบประกันภัย ประกันชีวิตและอุบัติเหตุสุดคุ้ม รวมถึง ความคุ้มครองดูแลมือถือและแท็บเล็ตสุดพิเศษให้ลูกค้า ทรู-ดีแทค ใช้ชีวิตยุคดิจิทัลได้อย่างปลอดภัย สบายใจยิ่งขึ้นในทุก ๆ วัน

นายฐานพล มานะวุฒิเวช หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการตลาด บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภัยคุกคามทางดิจิทัลเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญในชีวิตผู้คน ทางทรูและดีแทคตั้งใจจริงที่จะทำให้ลูกค้าสบายใจ ในการใช้งานเทคโนโลยีในชีวิตประจำวันได้อย่างมั่นใจ ปลอดภัยยิ่งกว่า ซึ่งหลังการควบรวมกิจการทำให้เรานำความเชี่ยวชาญของทั้งทรูและดีแทค มารวมพลังเพื่อดูแลลูกค้าคนสำคัญให้รอดพ้นจากภัยคุกคามที่มากับโลกยุคดิจิทัล ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งในระดับองค์กร ระดับบุคคล ทรู จึงยกระดับความปลอดภัยขั้นสูงสุด เปิดตัว True I dtac SECURITY ที่จะสะท้อนการปกป้องและดูแลความปลอดภัยทุกระบบแบบครบวงจร ตอกย้ำถึงความปลอดภัยยิ่งกว่าเมื่อมีกันและกัน Safer together ลูกค้าจะมั่นใจได้ทันทีเมื่อเห็นสัญลักษณ์ True I dtac SECURITY บนสินค้าและบริการจากทรู ด้วย 3 จุดเด่นคือ 1.End-to-end Protection ป้องกันการโจมตีทางโลกไซเบอร์ครอบคลุม ครบครันทุกการใช้งานทั้งเน็ตเวิร์ก คลาวด์ และสมาร์ตดีไวซ์ รวมถึงบริการดิจิทัล 

2.24/7 Smart Monitoring ระบบป้องกันการโจมตีแบบทันท่วงที ดูแลความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมงแบบเรียลไทม์ 

3.Best-in-class Partnership ผสานความแข็งแกร่งกับพันธมิตรชั้นนำด้านเทคโนโลยีความปลอดภัยระดับโลก อาทิ บริษัท คลาวด์ สไตร์ท อินคอร์พอเรชั่น จำกัด บริษัท พาโล อัลโต้ เน็ตเวิร์กส์ และบริษัท เวคตร้า เอไอ รวมถึงบริษัทประกันชั้นนำอย่าง FWD และ ทิพยประกันภัย 

ทั้งนี้ นอกเหนือจากความมั่นใจระบบความปลอดภัยในโครงสร้างพื้นฐานแล้ว ทรูก็ยังตอกย้ำทุกความปลอดภัยลูกค้าคนสำคัญและครอบครัวในยุคดิจิทัล ด้วยแพ็กเกจที่ครอบคลุมทั้งการปกป้องคุ้มครองจากภัยไซเบอร์ทั้งในส่วนลูกค้าองค์กร และรายบุคคล การประกันภัย และประกันชีวิตและอุบัติเหตุสุดคุ้ม รวมถึง ความคุ้มครองดูแลมือถือและแท็บเล็ตสุดพิเศษอีกด้วย

นายประเทศ ตันกุรานันท์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านเทคโนโลยี บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หนึ่งในพันธกิจสำคัญของทรู คอร์ปอเรชั่น ที่มุ่งสู่ความเป็น เทเลคอม-เทคคอมปานีชั้นนำอันดับ 1 ของไทย คือการสร้างและขยายโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมให้แข็งแกร่ง และครอบคลุมทั่วประเทศรวมถึงการเพิ่มความปลอดภัยแบบสูงสุดให้กับลูกค้าผู้ใช้งานทุกบริการ ซึ่งการพัฒนา True I dtac SECURITY นี้ เป็นความตั้งใจของทีมงานทุกคนที่จะเพิ่มการป้องกันระบบโครงสร้างพื้นฐาน เครือข่าย คลาวด์ ทุกระบบแบบครบวงจร ให้ปลอดภัยจากภัยคุกคามในปัจจุบันแบบสูงสุด ผ่านระบบป้องกันภัยไซเบอร์อัจฉริยะ ครอบคลุม 5 ด้านทั้ง  

1.Infrastructure Security การป้องกันระบบโครงสร้างพื้นฐาน และอุปกรณ์การใช้งานให้ปลอดภัยจากภัยคุกคาม อาทิ ตรวจจับความผิดปกติหากมีการทำงานที่เข้าข่ายความเสี่ยงจะถูกห้ามใช้งานทันที การตรวจสอบช่องโหว่ของระบบ และแก้ไขก่อนถูกโจมตี การยืนยันเข้าใช้งานระบบปฏิบัติการด้วยผู้ดูแลระบบ เป็นต้น

2.Network Security การป้องกันภัยคุกคาม และการโจมตีบนเครือข่ายที่ช่วยจำกัดสิทธิการเข้าถึงระบบ โดยกำหนดให้เฉพาะผู้ใช้งาน หรือผู้ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ป้องกันภัยคุกคามที่เข้ามาทาง เว็บ หรือแอปพลิเคชัน พร้อม Zero trust network ที่บังคับให้ทุกระบบต้องมีการขออนุญาตก่อนการเชื่อมถึงกัน

3. Cloud Security การป้องกันระบบโครงสร้างบนคลาวด์ ให้ปลอดภัยด้วยระบบช่วยตรวจสอบการตั้งค่า และช่องโหว่ต่าง ๆ ให้ถูกต้องและปลอดภัยอยู่เสมอ

4. 24/7 Smart Security Management ระบบเฝ้าระวังภัยคุกคาม ตรวจสอบและรับมือตลอด 24 ชั่วโมงด้วย Security Center Operation จากเจ้าหน้าที่ควบคู่ไปกับระบบ AI  รวบรวมข้อมูลการใช้งานจากระบบต่างๆ ในมาวิเคราะห์และหาสาเหตุเมื่อเกิดเหตุขึ้น

5. Best-in-Class Partnership ผสานความแข็งแกร่งกับพันธมิตรชั้นนำด้านเทคโนโลยีความปลอดภัยระดับโลก ยกระดับมาตรฐาน และเสริมความแข็งแกร่งในการให้บริการด้านบริหารจัดการระบบความปลอดภัยไซเบอร์

ด้านนายเอกราช ปัญจวีณิน หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านดิจิทัล บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในการให้บริการดิจิทัล ได้ให้ความสำคัญสูงสุดในเรื่องการดูแลความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ โดยการปกป้องข้อมูลแบบรอบด้านมาตรฐานระดับเวิลด์คลาส โดดเด่นด้วยการบริหารจัดการความปลอดภัยแบบบูรณาการ

(1) มีระบบตรวจจับการบุกรุกโดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีการวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ไม่ประสงค์ดี ซึ่งต่างจากพฤติกรรมการใช้งานของลูกค้าทั่วไป

(2) มีการใช้งานสถาปัตยกรรม Zero-trust

(3) ใช้งานระบบข่าวกรองไซเบอร์ (Threat Intelligence Platform)

(4) การพิสูจน์ตัวตนของลูกค้าด้วยระบบ e-KYC ที่มีการตรวจสอบตัวตน 2 ชั้นในการ log in เข้าสู่ระบบในครั้งแรก

(5) มีการดูแลข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มีการใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยขั้นสูงสุดในการปกป้องประวัติการรักษาพยาบาลของลูกค้า

นอกจากนี้ ลูกค้าทรู-ดีแทค มั่นใจ ยังจะได้รับการปกป้อง คุ้มครองในด้านประกันชีวิตด้วย โดย
ลูกค้าแบบรายเดือน เมื่อสมัครแพกเกจ 5G Together+ และ 5G Better+ จะได้รับฟรีประกันชีวิต และอุบัติเหตุ ความคุ้มครอง รวมสูงสุดกว่า 320,000 บาท รวมถึงลูกค้าแบบเติมเงิน ยิ่งอยู่ยิ่งได้ยิ่งใช้ยิ่งคุ้ม เมื่อเปิดเบอร์ใหม่ พร้อมสมัครแพกเกจ 300 บาท ได้เน็ตแรง แถมโทรฟรี พร้อมรับประกันความคุ้มครองชีวิต สะสมรวมสูงสุด 270,000 บาท 

ลูกค้าทรูออนไลน์ สมัครเน็ตบ้าน รับฟรีประกันภัยที่อยู่อาศัยจากทิพยประกันภัย และประกันชีวิต กรณีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ จาก FWD คุ้มครองนาน 24 เดือน  หรือจะเลือกปกป้องดูแลโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ตเครื่องใหม่ เพื่อให้มั่นใจว่าอุปกรณ์ของลูกค้าทุกคนได้รับการดูแลในทุกการใช้งาน ด้วย dtac Mobile Care หรือจะเป็น True Protech บริการดูแล และส่งซ่อมมือถือ ไม่ว่า ตก แตก เปียก พัง แม้แต่สูญหาย ก็อยู่ในบริการทั้ง 2 บริการนี้ เพียงเริ่มต้น 39 บาท ต่อเดือน เท่านั้น

‘บิ๊กตู่’ ปลื้ม!! ค่ายรถเมืองจีนเลือก ‘ไทย’ เป็นฐานผลิตใหญ่ ประเดิมลงทุนเฟสแรก 8.8 พันล้าน เดินหน้าดันไทยสู่ฮับ EV

(16 ส.ค. 66) สำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มุ่งเน้นให้ไทยเดินตามนโยบาย 30@30 คือการตั้งเป้าการผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ.2030 หรือ พ.ศ. 2573 เพื่อก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) และการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลกหรือศูนย์กลางของภูมิภาค (EV Hub) ซึ่งขณะนี้มีบริษัทผู้ผลิตรถ EV หลายสัญชาติ ได้ตัดสินใจเข้ามาสร้างโรงงานในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

“คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธาน ได้รายงานผลสำเร็จของการเดินทางเข้าพบกับนาย Zhu Huarong ประธานกรรมการและคณะผู้บริหาร บริษัท ฉางอัน ออโตโมบิล จำกัด (Changan Automobile) ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ของจีน เมื่อเดือน มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา โดยได้นำเสนอภาพการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทย มาตรการสนับสนุน รวมทั้งให้ความมั่นใจเรื่องความต่อเนื่องของนโยบายสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาลไทย ทำให้รัฐบาลจีนเห็นชอบให้บริษัทดังกล่าวยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอแล้ว โดยมีการลงทุนในเฟสแรกมูลค่ากว่า 8,800 ล้านบาท เพื่อจัดตั้งฐานการผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวาทั้งประเภท BEV, PHEV, REEV (Range Extended EV) กำลังการผลิตในระยะแรก 1 แสนคันต่อปี เพื่อตอบสนองความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยจะจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออกไปยังกลุ่มอาเซียน รวมถึงออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ แอฟริกาใต้ และตลาดอื่นๆ โดยบริษัทมีแผนเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าในไทยช่วงปลายปีนี้” สำนักนายกรัฐมนตรี เผย

สำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า นอกจากจะมาตั้งฐานผลิตที่ประเทศไทยแล้ว บริษัท ฉางอัน ออโตโมบิลยังมีแผนจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาชิ้นส่วนสำคัญ ซึ่งจะเป็นการเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยและถ่ายทอดเทคโนโลยีความรู้ให้กับคนไทยอีกด้วย ซึ่งบริษัท ฉางอัน เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าและระบบขับขี่อัจฉริยะ และเป็น 1 ใน 4 ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของจีน

“การที่ บริษัท ฉางอัน ตัดสินใจเลือกไทยเป็นฐานการผลิต สะท้อนถึงความเชื่อมั่นต่อมาตรการส่งเสริมการลงทุนของไทย รวมถึงศักยภาพและความพร้อมในด้านต่างๆ ที่สนับสนุนการแข่งขันอันเป็นผลงานเชิงประจักษ์ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงเชื่อว่าจะผลักดันให้ไทยก้าวสู่เป้าหมายการเป็นฮับ EV ได้ไม่ยาก ทั้งยังช่วยส่งเสริมลงทุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระจายรายได้ พลิกโฉมประเทศไทยตามกลยุทธ์ 3 แกนขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศสำหรับอนาคต” สำนักนายกรัฐมนตรี เผย

‘เอ็กโก’ โชว์กำไร Q2/66 แตะ 2.6 พันล้านบาท ชูกลยุทธ์ ‘4S’ เสริมแกร่ง-ต่อยอดธุรกิจโตอย่างยั่งยืน

บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป ประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 มีรายได้รวม 15,593 ล้านบาท และกำไรจากการดำเนินงาน 2,652 ล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าพาจู อีเอส ในเกาหลีใต้ ตอกย้ำความมั่นใจการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าหยุนหลินในไต้หวัน มีความคืบหน้าและเป็นไปตามแผน พร้อมงัดกลยุทธ์ ‘4S’ สร้างรายได้ เสริมแกร่งธุรกิจ ต่อยอดการเติบโตอย่างยั่งยืน

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยว่า ภาพรวมการดำเนินงานในครึ่งปีแรกของปี 2566 เอ็กโก กรุ๊ป ยังคงสามารถบริหารจัดการพอร์ตโฟลิโอโรงไฟฟ้าและต้นทุนเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าทุกแห่งอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ ทำให้สามารถสร้างรายได้จากการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น รวมทั้งความสามารถในการบริหารจัดการโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างให้เป็นไปตามแผนงาน ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้ ไม่ว่าจะเป็นโครงการเอเพ็กซ์ ในสหรัฐอเมริกา ที่สามารถก่อสร้างพร้อมกันได้ถึง 5 โครงการ ได้แก่ โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ ลม และระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (Battery Storage) ซึ่งมีจำนวนรวม 657 เมกะวัตต์ โครงการโรงไฟฟ้าเอ็กโก โคเจนเนอเรชั่น (ส่วนขยาย) ที่มีความก้าวหน้ากว่า 78% และโครงการโรงไฟฟ้าหยุนหลิน ในไต้หวัน ที่มีความคืบหน้าในการก่อสร้างได้ตามแผนงาน ในขณะที่ธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง ดังเช่นโครงการทีพีเอ็น ก็มีความพร้อมที่จะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้

สำหรับผลประกอบการในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 เอ็กโก กรุ๊ป มีรายได้รวมทั้งสิ้น 15,593 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 โดยมีกำไรจากการดำเนินงาน 2,652 ล้านบาท ลดลง 18% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักมาจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 3 แห่งใน สปป.ลาว ได้แก่ น้ำเทิน 1 น้ำเทิน 2 และไซยะบุรี มีปริมาณการขายไฟฟ้าลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำลดลงและมีการซ่อมบำรุง รวมทั้งโรงไฟฟ้าขนอมมีรายได้ค่าความพร้อมจ่าย (AP) ลดลง อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบวกจากรายได้ค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นของโรงไฟฟ้าพาจู อีเอส ในเกาหลีใต้ ในขณะที่มีกำไรสุทธิ 1,460 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 288% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

ด้านความคืบหน้าทางธุรกิจจนถึงปัจจุบัน เอ็กโก กรุ๊ป มีกำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มขึ้น 115 เมกะวัตต์ จากโครงการพลังงานหมุนเวียนที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างของเอเพ็กซ์ ในสหรัฐอเมริกา จำนวน 5 โครงการ ได้แก่ โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ 2 โครงการ โครงการพลังงานลม 1 โครงการ และโครงการระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ 2 โครงการ เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะเดินเครื่องเชิงพาณิชย์เอง 2 ใน 3 ส่วน และจำหน่ายโครงการออกไป 1 ใน 3 ส่วน ซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ของเอ็กโก กรุ๊ป ในรูปแบบไฮบริด 

สำหรับความคืบหน้าของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งหยุนหลิน ในไต้หวัน มีกังหันลมที่ติดตั้งแล้วเสร็จและจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน จำนวนทั้งสิ้น 20 ชุด โดยมีกำลังผลิตรวม 144 เมกะวัตต์ และสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบสะสมแล้วมากกว่า 620 กิกะวัตต์ชั่วโมง ปัจจุบันการก่อสร้างมีความคืบหน้ามากเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ประกอบกับโครงการอยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานด้านพลังงานของภาครัฐไต้หวัน (Taiwanese Bureau of Energy) เพื่อขอเลื่อนกำหนดแล้วเสร็จของโครงการตามที่ระบุไว้ในสัญญาบริหารจัดการให้สามารถเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ทั้งหมดให้ได้ภายในปี 2567 ซึ่งการหารือมีความคืบหน้าเป็นลำดับ ทั้งนี้ โครงการอยู่ระหว่างเจรจาปรับโครงสร้างการลงทุน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จตามแผนภายในปีนี้

“ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มีความท้าทายมากขึ้นในปัจจุบัน เอ็กโก กรุ๊ป ยังคงเดินหน้าต่อยอดธุรกิจไฟฟ้าและพลังงานอย่างยั่งยืน ด้วยการบริหารธุรกิจภายใต้กลยุทธ์ ‘4S’ เพื่อสร้างรายได้ให้บริษัทอย่างรวดเร็วและเสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ 

1) Strengthen financial performance เสริมความแข็งแกร่งในการแข่งขันด้านการเงิน 
2) Select high quality project ให้ความสำคัญกับการลงทุนในรูปแบบ M&A ทั้งโรงไฟฟ้า Conventional และ Renewable ที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อรับรู้รายได้ทันที 
3) Speed up projects under construction เร่งรัดบริหารโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามแผนงาน 
4) Streamline portfolio and improve operation บริหารพอร์ตโฟลิโอ โรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบัน 36 แห่ง และธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่องให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งกลยุทธ์ ‘4S’ สอดคล้องกับหนึ่งในพันธกิจหลักของบริษัทที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างมูลค่าให้แก่ผู้ถือหุ้นอย่างยั่งยืน” นายเทพรัตน์ กล่าวสรุป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top