Friday, 4 July 2025
ECONBIZ NEWS

'พลังงาน' เปิดเกมรุก!! จับมือ 5 หน่วยงาน  ส่งเสริมปั๊มฯ ลุย EV Charging Station 

(15 ม.ค.67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาเปิดเผยถึงแผนการรองรับการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ว่าในปี 2567 กรมธุรกิจพลังงาน มีแผนจัดทำมาตรฐานติดตั้งทางไฟฟ้าและกำหนดกรอบการให้บริการติดตั้ง EV Charging Station รวมถึงการลงนาม MOU ระหว่าง 5 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมธุรกิจพลังงาน, สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน, การไฟฟ้านครหลวง, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

ขณะเดียวกัน ยังได้เตรียมแผนลดชนิดหัวจ่ายน้ำมันกลุ่มดีเซล ให้เหลือน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเกรดพื้นฐานชนิดเดียว (บี 7) เนื่องจากเป็นน้ำมันที่สามารถใช้กับรถยนต์มาตรฐานยูโร 5 ได้ทุกรุ่นทุกยี่ห้อ และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 (น้ำมันทางเลือก) เริ่ม 1 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป 

นอกจากนี้ ยังได้มีการพัฒนาระบบ e-Service เพื่อยกระดับการให้บริการประชาชน มีการพัฒนาระบบ Stockpile และ e-Fuelcard และปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ e-Safety e-Trade และ e-License และระบบสำรองข้อมูลเพื่อรองรับการดำเนินงานในรูปแบบ e-Service รวมทั้ง มีแผนส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจใหม่ (New Business) ของผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่มุ่งไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ

สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2566 และแผนการดำเนินงานในปี 2567 โดยภาพรวมได้ดำเนินการปรับปรุงมาตรฐานคุณภาพของน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นมาตรฐานยูโร 5 (กำมะถัน ไม่เกิน 10 ppm) เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป พร้อมทั้งมีการส่งเสริมการติดตั้ง EV Charging Station ภายในสถานีบริการน้ำมันอีกด้วย

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวเสริมว่า "สำหรับการส่งเสริมการติดตั้ง EV Charging Station ภายในสถานีบริการน้ำมันนั้น หนึ่งในยุทธศาสตร์ที่เราจะใช้ คือ การทำให้กระบวนการอนุมัติอนุญาต มีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากขึ้น จากการร่วมปรับกระบวนการของแต่ละหน่วยงานให้มีช่วงเวลาที่สอดคล้องกันรวมถึงปรับข้อกำหนดมาตรฐานไฟฟ้าให้สอดคล้องกันทั้ง กรมธุรกิจพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และ ทั้ง 3 หน่วยงานการไฟฟ้าในประเทศไทย ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง และ PEA หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค"

‘นายกฯ’ เตรียมพร้อม!! ประชุมเวิลด์อีโคโนมิกฟอรัม จ่อคุยเอกชนยักษ์ใหญ่ของโลก กระตุ้นลงทุนในไทย

(15 ม.ค. 67) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีกำหนดพบหารือผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก ในห้วงระหว่างการประชุม World Economic Forum (WEF) ประจำปี 2567 เชื่อมั่นการหารือเหล่านี้จะนำมาซึ่งการค้าและลงทุน สร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจมหาศาลให้ไทย ในสาขาการค้าการลงทุนที่สำคัญ ซึ่งบริษัทเอกชนรายใหญ่ที่จะพบหารือกับนายกรัฐมนตรี

อาทิ DKSH ผู้ให้บริการด้านการขยายตลาด ตั้งแต่การจัดหาแหล่งผลิต การวิจัยและวิเคราะห์ตลาด การตลาด การขาย การกระจายสินค้า โลจิสติกส์ และการบริการหลังการขาย ผลิตภัณฑ์และสินค้ามากมายหลายประเภท โดย DKSH ประเทศไทย เป็นหนึ่งในองค์กรที่ใหญ่ที่สุดในประเทศในด้านยอดขาย และเป็นประเทศที่มีการดำเนินกิจการที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่ม DKSH

Dubai Port World ผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์การขนส่งสินค้า การดำเนินงานท่าเรือ การขนส่งสินค้าทางทะเล และเขตการค้าเสรี ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2548 ให้บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ 70 ล้านตู้ โดยมีเรือนำเข้าประมาณ 70,000 ลำต่อปี ซึ่งเท่ากับประมาณถึง 10% ของปริมาณการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทั่วโลก และมีพื้นที่ให้บริการในท่าเรือกว่า 82 แห่งในกว่า 40 ประเทศ

Standard Chartered ธนาคารชั้นนำระดับสากลและมีเครือข่ายทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความชำนาญที่ส่งเสริมธุรกิจที่มีศักยภาพให้เติบโต พร้อมเป้าหมายส่งเสริมความยั่งยืน 3 ด้านคือ การเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance) การเป็นองค์กรที่รับผิดชอบ (Responsible Company) และการสร้างความเท่าเทียมในชุมชน (Inclusive Communities) สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล

Telenor บริษัทโทรคมนาคมชั้นนำระดับโลก มีลูกค้าประมาณ 175 ล้านคนใน 8 ประเทศทั่วภูมิภาคนอร์ดิกและในเอเชีย

Coca Cola หนึ่งในบริษัทเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นเจ้าของหรือมีใบอนุญาตยี่ห้อเครื่องดื่มมากกว่า 200 ยี่ห้อ โดยก่อตั้งในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 และได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI เพื่อจัดตั้งสำนักงานใหญ่ภูมิภาคในปี พ.ศ. 2553

Nestlé บริษัทผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มชั้นนำระดับโลก มีสินค้าจำหน่ายอยู่ใน 190 ประเทศทั่วโลก โดยมีโรงงานผลิต 344 โรงงานใน 77 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย ทั้งนี้ เนสท์เล่ ในประเทศไทย มีแนวทางที่เน้นการขับเคลื่อนสิ่งดี ๆ เพื่อผู้บริโภค (Good for You) และการขับเคลื่อนสิ่งดี ๆ เพื่อโลกของเรา (Good for the Planet) ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทยที่เน้นการดูแลสุขภาพของคนไทย และการดูแลสิ่งแวดล้อม

Grab ผู้ให้บริการจัดส่ง การเดินทาง พัสดุ การเงิน การบริหารจัดการธุรกิจและอื่นๆ ผ่าน Application เดียว ช่วยเชื่อมโยงผู้บริโภคจากทุกสาขาอาชีพกับผู้ประกอบการนับล้านใน 500 เมืองและ 8 ประเทศ

Robert Bosch บริษัทเทคโนโลยีด้านการขับเคลื่อนชั้นนำของโลก และเชี่ยวชาญด้าน อุตสาหกรรม สินค้าอุปโภคบริโภค เทคโนโลยีพลังงานและอาคาร ดำเนินงานในกว่า 60 ประเทศทั่วโลก และมีบริษัทในเครือมากกว่า 468 แห่ง โดยมีการลงทุนในประเทศไทย รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ในปี พ.ศ. 2557 บริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ จำนวน 24 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 6.3 พันล้านบาท (165 ล้านยูโร)

'รมว.ปุ้ย' เผยแนวทางสำคัญ พัฒนาอุตฯ ไทยสู่ความยั่งยืน ผ่าน The Journey of Sustainable Partnership 2024

กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมไทย มุ่งเน้นความยั่งยืน ภายใต้ความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของโลกทั้งในด้านเทคโนโลยี สภาพภูมิอากาศ และการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ พร้อมกำหนดนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมไทยใน 4 มิติ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่จะเป็นอนาคตของประเทศ

(15 ม.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษ ‘ทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย’ กับ ‘พิมพ์ภัทรา’ ในงาน ‘The Journey of Sustainable Partnership 2024’ ถึงทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย ภายใต้ความท้าทายและโอกาส ว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีความซับซ้อนมากขึ้น ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สงครามในยูเครน และความขัดแย้งทาง ภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมไทยเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ทั้งการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การแข่งขันในภูมิภาคที่รุนแรงขึ้น และความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรมได้กำหนดนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สู่ความยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความสำเร็จอย่างสมดุลใน 4 มิติ ทั้งด้านความสามารถในการแข่งขัน การได้รับการยอมรับจากชุมชนและสังคม การตอบโจทย์กติกาสากลด้านสิ่งแวดล้อม และการกระจายรายได้สู่ชุมชน ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

นโยบายที่สำคัญของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้แก่ การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย เน้นอุตสาหกรรมที่จะเป็นอนาคตของประเทศ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมชีวภาพ โดยเร่งพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในประเทศเพื่อยกระดับการผลิต ให้สามารถแข่งขันในระดับภูมิภาคได้ พร้อมเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทาน Value Chain ของโลก รวมทั้งสนับสนุนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในอุตสาหกรรมเหล่านี้

ขณะเดียวกันจะพัฒนาอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ โดยนำมาตรฐาน ผลิตภาพ และนวัตกรรม (SPRING) มาเป็นเครื่องมือเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงเชื่อมโยงกับภาคบริการ อาทิ อุตสาหกรรมรีไซเคิล อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมก่อสร้างที่มีนวัตกรรม (Innovative Construction) การผลักดันอุตสาหกรรม Soft Power ที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยเป็นเครื่องยนต์สร้างการเติบโตและรายได้ให้กับประเทศ รวมทั้งพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง กำหนดมาตรฐานการปล่อยมลพิษในพื้นที่อุตสาหกรรมให้เข้มงวดขึ้น ควบคู่กับการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหามลพิษทางน้ำ อากาศ และ กากของเสีย ขณะที่มาตรฐานความปลอดภัยในการประกอบกิจการต่างๆ จะผลักดันมาตรฐานอุตสาหกรรมเพื่อมุ่งสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล เพื่อให้การบริการ การขออนุมัติอนุญาต และการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นไปอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ การให้บริการในรูปแบบ One Stop Service ต้องเข้าถึงและใช้งานง่าย มีความโปร่งใส เพื่อลดอุปสรรค และอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชน

นอกจากนี้ ยังส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพ ให้มีความเข้มแข็งและอยู่รอดได้ ภายใต้สถานการณ์ความเสี่ยงต่างๆ ด้วยการสนับสนุนองค์ความรู้ ผู้เชี่ยวชาญ เทคโนโลยี เตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่อ่อนไหวสูงที่ต้องมีการบริหารจัดการน้ำอย่าง มีประสิทธิภาพร่วมกันระหว่างภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรม

“กระทรวงฯ ให้ความสำคัญกับโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน (ชุมพร-ระนอง) (Landbridge) ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่จะสร้างโอกาสการลงทุนใหม่ๆ ให้กับประเทศไทย ช่วยเชื่อมโยงทางกายภาพระหว่างภาคใต้ของประเทศไทยกับประเทศในภูมิภาค รวมถึงประเทศจีนตอนใต้ เป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนสินค้า ซึ่งจะช่วยลดเวลาและระยะทางการขนส่งจากเดิม ทำให้ประหยัดต้นทุนการขนส่ง เพิ่มศักยภาพทางการค้าของประเทศไทยกับกลุ่มประเทศที่อยู่ทางด้านมหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก อีกทั้งยังรองรับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เชื่อว่าหากทุกฝ่ายร่วมกันบูรณาการการทำงานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ประเทศไทยจะมีศักยภาพรองรับการลงทุนมากขึ้นในอนาคต” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (บอร์ด กนอ.) กล่าวว่า กนอ. ตระหนักถึงความสำคัญของการลงทุนภาคเอกชนต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ในปี 2567 กนอ. จึงกำหนดแผนฟื้นฟูการลงทุน โดยลดบทบาทการเป็น regulator มาเป็น facilitator ที่มุ่งเน้นอำนวยความสะดวกและสนับสนุนผู้ประกอบการ ในทุกด้าน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน โดยแผนฟื้นฟูการลงทุนของ กนอ. ประกอบด้วย 1.การพัฒนาพื้นที่และโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมและพื้นที่เชิงพาณิชย์ใหม่ ๆ ให้พร้อมรับการลงทุน 2.ส่งเสริมการลงทุน โดยจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายและการตลาด เพื่อดึงดูดนักลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงจัดหาแหล่งเงินทุนและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ 3.พัฒนาผู้ประกอบการด้วยการส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล และ 4.สร้างความยั่งยืนโดยเน้นพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและชุมชนโดยรอบอย่างยั่งยืน ซึ่งคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคมเป็นหลัก

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรม เป็นคู่ค้าที่สำคัญของ กนอ. ที่ผ่านมาทุกฝ่ายให้ความร่วมมือในการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรม รวมทั้งบริหารจัดการสถานประกอบการให้อยู่ในมาตรฐานของ กนอ. ตลอดจนสร้างแรงงานที่มีศักยภาพ ไปจนถึงการสร้างห่วงโซ่อุปทานให้กับหลายกลุ่มอุตสาหกรรมของประเทศ เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น งานในวันนี้ (15 ม.ค.67) จึงเป็นโอกาสในการต่อยอดธุรกิจ ทิศทางการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมของประเทศ รวมถึงการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน เพื่อผลักดันนโยบายของรัฐบาลไปสู่ความเจริญเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนทางด้านเศรษฐกิจและสังคมต่อไป ภายใต้แนวคิดที่ว่า นิคมอุตสาหกรรมอยู่คู่กับชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

สำหรับงาน ‘The Journey of Sustainable Partnership 2024’ มีผู้เข้าร่วมกว่า 100 คน อาทิ น.ส.ศิรินันท์ ศิริพานิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม, นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, นายยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, นางอัญชลี ชวนิชย์ นายกสมาคมนิคมอุตสาหกรรมไทยและพันธมิตร ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม และผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน เช่น บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน), บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน), บมจ. เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) และ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด

‘สุริยะ’ สั่ง ‘บขส.’ เร่งเครื่องรีโนเวท ‘หมอชิต 2’  เล็งปรับปรุงสถานีให้ดีขึ้น หวังปิดจ็อบภายในสิ้นปีนี้

(15 ม.ค.67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากที่ตนได้มีนโยบายในการเร่งพัฒนาปรับปรุงสถานีขนส่งผู้โดยสาร หมอชิต 2 ถนนกำแพงเพชร นั้น ทางบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) จะมีการดำเนินการใน 2 ประเด็น ควบคู่กันไป คือ 1. ปรับปรุงสถานีหมอชิต 2 ที่ถนนกำแพงเพชรในปัจจุบันให้มีสภาพที่ดีขึ้น เช่น การปรับปรุงสภาพพื้นที่ต่างๆ มีการติดเครื่องปรับอากาศเพิ่มเติม ปรับปรุงพื้นที่พักคอยของผู้โดยสาร ปรับปรุงห้องน้ำ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ และการดูแลความปลอดภัยผู้โดยสาร ไม่ให้มีพื้นที่ลับตา เป็นต้น โดยให้ บขส.เร่งจ้างที่ปรึกษาในการออกแบบ และเร่งดำเนินการปรับปรุงให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2567

2. ดำเนินการย้ายสถานีขนส่งหมอชิต 2 ไปอยู่ใกล้สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ โดยให้ บขส.จ้างที่ปรึกษาศึกษารายละเอียด ออกแบบและกำหนดพื้นที่ที่เหมาะสม มูลค่าการลงทุน รูปแบบการลงทุน ให้ศึกษาแล้วเสร็จภายในปีนี้ โดยให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นหน่วยงานกลางในการพิจารณาร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในฐานะหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ เนื่องจาก บขส.ใช้พื้นที่ ย่านพหลโยธินจาก รฟท. 

นายสุริยะกล่าวว่า สำหรับมูลค่าการลงทุน รูปแบบการลงทุนทั้งหมดจะเป็นเท่าไรนั้นต้องรอผลการศึกษาออกมาก่อน ส่วนตัวเลข 7,000 ล้านบาทนั้นไม่ใช่มูลค่าลงทุน แต่เป็นการประเมินทรัพย์สินที่ บขส. มีในปัจจุบัน คือที่สถานีขนส่งเอกมัย ซึ่งพบว่าพื้นที่ดังกล่าวมีมูลค่าสูง ดังนั้น หากอนาคตหลังย้ายสถานีขนส่งเอกมัยไปที่สถานีใหม่ใกล้สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์แล้ว บขส.สามารถนำพื้นที่สถานีขนส่งเอกมัยมาพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ 

“ต่อไปสถานีขนส่ง บขส.ที่กระจายอยู่หลายแห่งจะมารวมกันที่พื้นที่ใหม่ใกล้สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ทั้งสายเหนือ สายอีสาน สายใต้ และสายตะวันออก (เอกมัย) เป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่งที่สามารถเชื่อมต่อทางรางได้สะดวก การพัฒนาจะเป็นแนวตึกสูง มีพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่จะสร้างรายได้เพิ่ม ส่วนเรื่องการลงทุนพัฒนาสถานีขนส่งหมอชิตแห่งใหม่ ผมมองว่า บขส.ไม่มีปัญหา เพราะมีทรัพย์สินแค่ที่สถานีขนส่งเอกมัย ตีมูลค่าได้ 7,000 ล้านบาทแล้ว ซึ่งทั้งการปรับปรุงพื้นที่และความสะดวกสถานีหมอชิต 2 และการพัฒนาสถานีขนส่งแห่งใหม่จะเสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้” นายสุริยะกล่าว 

>> @รวมศูนย์ขนส่ง ผุดอาคารเพิ่ม รับรถสายใต้-ตะวันออก เชื่อมรางสะดวก 

นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า หลักการพัฒนาสถานีขนส่งหมอชิต 2 นั้น เบื้องต้นในระยะสั้นจะเป็นการพัฒนาปรับปรุงพื้นที่สถานีในปัจจุบัน ขณะที่ในระยะยาวจะมีการศึกษาออกแบบเพื่อขยายพื้นที่สถานีเพิ่มเติม โดยอาจจะก่อสร้างอาคารใหม่ประมาณ 2 อาคารเพื่อรองรับเส้นทาง บขส.ทั้งสายใต้และสายตะวันออก (เอกมัย) ที่จะมารวมกัน โดยจะขยายออกมาด้านที่เชื่อมต่อกับสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ซึ่งปัจจุบันหมอชิต 2-สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ฯ มีระยะทางห่างกันประมาณ ​800 เมตรเท่านั้น

“ต้องรอการศึกษาออกแบบเสร็จก่อนจะมีความชัดเจนมากขึ้น โดยจะเป็นการร่วมลงทุนเอกชน (PPP) หลักการคือ จะยังใช้สถานีหมอชิต 2 เดิมโดยปรับปรุงสภาพและสิ่งอำนวยความสะดวกให้ดีขึ้น และมีการก่อสร้างอาคารใหม่เพิ่มเติมเพื่อรองรับรถสายใต้ สายเอกมัยที่จะมาอยู่รวมกัน โดยขยายพื้นที่มาใกล้ทางสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และมีทางเดินเชื่อมต่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการใช้บริการ โดยจะขอเช่าใช้พื้นที่จาก รฟท. ซึ่งขณะนี้แผนพัฒนาพื้นที่ย่านพหลโยธินยังสามารถปรับปรุงได้เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพในปัจจุบัน”

>> @บขส.รอตั้งบอร์ดชุดใหม่ พร้อมเสนอแผนเดินหน้าตามนโยบาย

ด้าน นางสาวระพิพรรณ วรรณพินทุ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายบริหารการเดินรถ รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส. กล่าวว่า บขส.พร้อมดำเนินการตามนโยบายของ รมว.คมนาคม ในการพัฒนาปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ของสถานีหมอชิต 2 โดยตามขั้นตอนจะต้องนำเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) บขส.พิจารณาก่อน ซึ่งปัจจุบันบอร์ดบขส.ยังไม่ครบจึงยังประชุมไม่ได้ โดยอยู่ระหว่างเตรียมประชุมผู้ถือหุ้นบริษัท เพื่อแต่งตั้งบอร์ด บขส.ให้ครบตามระเบียบ 

‘นายกฯ’ ลั่น!! รัฐบาลพร้อมหนุนซอฟต์พาวเวอร์ทุกประเภท เล็งนำร่องวีซ่าพิเศษให้ นทท.ที่มาฝึกมวยไทย อยู่ยาว 90 วัน!!

(14 ม.ค.67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความ ถึงการสนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย โดยเฉพาะมวยไทย หลังรัฐบาลมีแผนเปิดตัววีซ่าพิเศษ สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องการเดินทางมาประเทศไทย เพื่อฝึกมวยไทย โดยจะอนุญาตให้อยู่ได้นานถึง 90 วัน เพื่อจบหลักสูตร ว่า…

“ผม และรัฐบาลไทยพร้อมสนับสนุน Soft Power ของไทยครับ การให้วีซ่าพิเศษ 90 วัน (จากวีซ่าปกติ 60 วัน) แก่คนที่สนใจจะเข้ามาเรียนมวยไทยเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ด้วยการใช้ความเป็นไทยส่งออกไกลไปทั่วโลกครับ

เราไม่ได้คิดให้วีซ่าพิเศษเฉพาะเพียงมวยไทยเท่านั้นนะครับ แต่ Soft Power อื่นๆ อย่าง รำไทย ดนตรีไทย การเรียนทำอาหารไทย ฯลฯ เราก็พร้อมสนับสนุน และกำลังเตรียมพิจารณาให้วีซ่าพิเศษเป็นลำดับต่อไปด้วยครับ” นายเศรษฐา กล่าว

‘สว.วีระศักดิ์’ ร่วมงานครบรอบ 25 ปี ‘PATA’ ก่อตั้ง สนง.ใหญ่ที่กรุงเทพฯ  พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนการท่องเที่ยวทั้งใน-นอกประเทศอย่างยั่งยืน

(14 ม.ค.67) เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา นับเป็นโอกาสครบรอบ 25 ปี ของการเข้ามาตั้งสำนักงานใหญ่ที่กรุงเทพฯ ของ ‘สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยว’ (Pacific Asia Travel Association) หรือ ‘PATA’ ที่ก่อตั้งมานานถึง 71 ปี (นับเป็นสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวสำหรับเอเชียแปซิฟิกที่เก่าแก่ที่สุด)

คุณปีเตอร์ ซีโมน ประธาน PATA ได้เชิญคุณวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มาเป็นผู้ขึ้นกล่าวนำการจัดกิจกรรม ‘Power of Networking’ ของ PATA ที่ห้องประชุมชั้น 3 ของอาคารทรู ดิจิทัล พาร์ค สุขุมวิท ซึ่งเป็นอาคารที่ตั้งของที่ทำการแห่งใหม่ของ PATA

กิจกรรมครั้งนี้ มีผู้บริหารในแวดวงการท่องเที่ยวเดินทางนานาชาติกว่า 50 ท่าน ทั้งจากภาครัฐ ภาคธุรกิจและภาคการเดินทาง ทั้งของไทยและนานาชาติเข้าร่วม เช่น ผู้บริหารสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ การบินไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สถานทูตจีนประจำประเทศไทย ผู้บริหารธุรกิจนำเที่ยวระหว่างประเทศ ผู้บริหารเครือโรงแรมใหญ่ ผู้บริหารสมาคมส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการนานาชาติ และผู้สื่อข่าวต่างประเทศด้านท่องเที่ยวประจำประเทศไทย

โดยคุณวีระศักดิ์ ได้กล่าวถึงประสบการณ์ที่ PATA มีมายาวนานในการช่วยทำให้ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ได้ปรากฏขึ้นบนแผนที่ท่องเที่ยวโลก หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และมีสำนักงานของ PATA กระจายอยู่ในหลายพื้นที่ของโลก ตั้งแต่จุดกำเนิดของ PATA ที่ฮาวาย ต่อมาขยายไปยัง ซานฟรานซิสโก, ปักกิ่ง, ลอนดอน, ฟิลิปปินส์ และในที่สุดย้ายที่ตั้งสำนักงานใหญ่เข้ามาตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ประเทศไทย เมื่อ 25 ปีที่แล้ว ว่าประสบการณ์ที่ได้ผ่านการเห็นการดำเนินการด้านท่องเที่ยวในประเทศต่างๆ ในยุคต่างๆ จะเป็นประโยชน์อย่างลึกซึ้ง ต่อการช่วยแนะนำแนวทางพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในประเทศไทย รวมทั้งจะช่วยขยายการท่องเที่ยวที่รับผิดชอบและยั่งยืนให้กับประเทศในภูมิภาค ให้ทำงานต่อเชื่อมกันไปในทิศทางเดียวกันได้อย่างดีอีกด้วย

‘ESG Investing’ แก้ปัญหาโลกร้อนได้จริงหรือไม่? ในวันที่ ‘การฟอกเขียว’ เพื่อลวงลงทุน ก็เริ่มแพร่หลาย

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'ESG Investing แก้ปัญหาโลกร้อนได้จริงหรือ?' เมื่อวันที่ 14 ม.ค.67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

เนื่องจากปัจจัยหลายประการบ่งชี้ว่าปี 2567 จะเป็นปีทองแห่งการลงทุนไทย จึงเป็นโอกาสอันเหมาะที่จะพิจารณาการลงทุน ESG ซึ่งเป็นกระแสการลงทุนที่กำลังมาแรงในขณะนี้ทั้งในตลาดโลกและตลาดไทย 

มีรายงานว่ากองทุน ESG ทั่วโลกมีทรัพย์สินภายใต้การบริหารอยู่ไม่น้อยกว่า 7.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัวใน 6 ปี ที่ผ่านมา ขณะที่ในประเทศไทยก็มีการระดมทุนผ่านกองทุนรวม ESG เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และล่าสุดรัฐบาลได้ให้สิทธิหักลดหย่อนภาษีเงินได้เป็นพิเศษสำหรับเงินลงทุน ไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย ในกองทุนรวมไทยยั่งยืน (Thailand ESG Fund) ซึ่งได้รับความสนใจพอสมควรจากนักลงทุน และคาดว่าจะสามารถระดมทุนได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนระยะยาว (8 ปี) ในหลักทรัพย์ ESG ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา

โดยธรรมชาติแล้ว หลักการลงทุนและหลักการ ESG มีพื้นฐานแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงธุรกิจลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนทางการเงิน ซึ่งหน้าที่ของบริษัทคือ การบริหารจัดการกิจการให้เกิดผลตอบแทนสูงสุดแก่ผู้ถือหุ้นภายใต้กรอบกฎหมายของสังคม แต่การดำเนินการดังกล่าวมักก่อให้เกิดผลกระทบภายนอก (Externalities) อันเป็นต้นทุนแก่สังคมหรือบุคคลที่สามที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย อาทิเช่น การปล่อยคาร์บอนไปในอากาศ การละเมิดสิทธิของแรงงาน การไม่เหลียวแลชุมชนที่กิจการตั้งถิ่นฐานอยู่ การติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นต้น 

กลับกันหลักการ ESG จะมุ่งที่การนำปัจจัยทางสังคม 3 ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาลให้ภาคธุรกิจมีความประพฤติดีทางด้านสังคม เพิ่มเติมจากการทำหน้าที่เพื่อผู้ถือหุ้น ซึ่งถือว่าเป็นการปรับเปลี่ยนปรัชญาของการลงทุนอย่างสิ้นเชิง ส่วนจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวมหรือไม่ หรือมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่านี้หรือไม่ น่าจะเป็นประเด็นเชิงนโยบายที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

อันที่จริงแล้ว ESG Investing ไม่ใช่เรื่องใหม่และเกิดขึ้นมาแล้วกว่า 20 ปี ในตลาดสหรัฐฯ ส่วนประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ริเริ่มการพัฒนาแนวปฏิบัติ ESG ตั้งแต่ช่วงหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง โดยเริ่มจาก... 

G (Corporate Governance) หรือบรรษัทภิบาล ซึ่งเป็นมูลเหตุพื้นฐานของการเกิดวิกฤต โดยได้กำหนดโครงสร้างคณะกรรมการบริษัทจดทะเบียนให้มีกรรมการอิสระ (Independent Directors) การกำหนดให้มีคณะกรรมการตรวจสอบ (Audit Committee) การพัฒนาความรู้ด้าน CG โดยจัดตั้งสถาบันกรรมการ (Institute of Directors) การจัดทำมาตรฐาน ประเมินและให้รางวัล บริษัทจดทะเบียนเป็นต้น ต่อมาได้เริ่มวางมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติด้าน 

S (Social Responsibility) หรือความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อให้บริษัทจดทะเบียนมีการบริหารจัดการความสัมพันธ์และสื่อสารกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ต่างๆ อย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน คู่ค้า ลูกค้า หรือแม้แต่ชุมชน รวมทั้งมีการประเมินและมอบรางวัลเช่นกัน 

อย่างไรก็ดี ตัวแปรที่กำลังมาแรงคือ E (Environment) หรือสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับกระแสโลกสีเขียวที่มาพร้อมกับความวิตกกังวลกับปัญหาโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

ดังนั้น ตลท. และ ก.ล.ต. จึงได้กำหนดแนวทางให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนอย่างครบถ้วนโปร่งใส ที่เรียกว่า แบบ 56-1 One Report ทั้งนี้มิติด้านสิ่งแวดล้อมที่ต้องเปิดเผย ได้แก่ การจัดการพลังงาน การจัดการน้ำ การจัดการขยะและของเสีย และการจัดการก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น ตลอดจนมีการจัดทำการประเมินและดัชนีความยั่งยืน (Sustainability Index) เพื่อเป็นข้อมูลกับนักลงทุน

การนำมิติต่างๆ ทั้ง 3 ด้านมาประกอบการตัดสินใจลงทุน อย่างน้อยก็น่าจะทำให้ภาคธุรกิจมีความรับผิดชอบมากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม มิติต่างๆ เหล่านี้มีความสลับซับซ้อนหลากหลายและมิใช่มิติทางการเงิน (Non-financial) จึงยากที่นำมาประกอบการตัดสินใจอย่างถูกต้องแม่นยำเมื่อเปรียบเทียบกับมิติทางการเงิน (Financial) ที่มีมาตรฐานการบัญชีรองรับ แม้ว่าหน่วยงานกำกับดูแลพยายามจัดทำคู่มือ มาตรฐานรวมทั้งดัชนีในการประเมินความดีทางสังคม แต่การจัดอันดับ ESG (ESG Ratings) ก็ยังไม่เป็นที่น่าเชื่อถือ เมื่อเปรียบเทียบกับการจัดอันดับเครดิต (Credit Ratings) 

นอกจากนี้ การนำเอาตัวแปรจำนวนมากใน 3 กลุ่มรวมกันเป็นดัชนีตัวเดียวน่าจะไม่ถูกต้องในทางทฤษฎี เพราะตัวแปรแต่ละกลุ่มอาจขัดแย้งกันเอง (Tradeoff) เช่น ธุรกิจที่มี CG ไม่ดีอาจจะเป็นธุรกิจที่ส่งเสริมการลดคาร์บอนก็เป็นไปได้ ตัวแปรหลายตัวก็มีปัญหาในการวัดเชิงปริมาณและจำเป็นต้องใช้ดุลยพินิจในการให้คะแนน โดยเฉพาะตัวแปรด้านความรับผิดชอบทางสังมและด้าน CG ตัวแปรที่น่าจะวัดเชิงปริมาณได้ง่ายที่สุดน่าจะเป็นตัวแปรด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการปล่อยคาร์บอนหรือก๊าซเรือนกระจก

โดยหลักการแล้ว การลงทุน ESG จะให้ผลตอบแทนทางการเงินต่ำกว่าการลงทุนทั่วไป เนื่องจากธุรกิจจะมีภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้นจากการจัดการภารกิจทางสังคม กิจกรรมทางสังคมเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือชุมชนหรือการควบคุมมลพิษ ล้วนนำมาซึ่งค่าใช้จ่ายที่จำเป็น และยังอาจนำมาซึ่งการแทรกแซงจากภายนอกอันเป็นการบิดเบือนภารกิจหลักของธุรกิจในการสร้างผลตอบแทนสูงสุดแก่ผู้ถือหุ้น โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นรายย่อย ซึ่งมักจะได้รับผลกระทบมากกว่า เพราะไม่มีอำนาจควบคุมฝ่ายบริหาร 

อย่างไรก็ตาม กระแสต่อต้านการลงทุน ESG ก็เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกา อย่างในสหรัฐฯ ถึงขั้นมีการออกกฎหมายในบางรัฐ เช่น ฟลอริดา ห้ามมิให้นำปัจจัย ESG มาใช้ในการตัดสินใจลงทุนของกองทุนภาครัฐ กรณีการฟอกเขียว (Greenwashing) ซึ่งหมายถึงการหลอกลวงนักลงทุนโดยใช้กฎเกณฑ์ ESG เป็นเครื่องบังหน้า จนมีการจับกุมผู้บริหารกองทุนหลายแห่ง ซึ่งเห็นอยู่บ่อยครั้งทั้งในยุโรปและสหรัฐฯ 

นอกจากนี้ การกดดันธุรกิจโดยใช้กลไกตลาดทุนมาจัดระเบียบทางสังคม อาจไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด และอาจทำให้สังคมละเลยบทบาทของรัฐบาลในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมาย ทั้งๆ ที่รัฐบาลถืออำนาจรัฐที่จะจัดการกับผู้สร้างมลพิษ การแก้ไขปัญหาโลกร้อนที่ดีที่สุดคือ การลดการปล่อยคาร์บอน โลกได้พัฒนาเครื่องมือที่อิงกลไกตลาดที่ตั้งอยู่บนหลักการ Polluters Pay Principle กล่าวคือ ผู้ปล่อยมลพิษเป็นผู้รับผิดชอบต้นทุนทางสังคมที่เกิดขึ้นจากการกระทำของตน 

ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่รัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะจัดกลไกกำหนดราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) และจัดเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ซึ่งสะท้อนต้นทุนทางสังคมอย่างแท้จริง 

การเก็บภาษีคาร์บอนต้องอาศัยความกล้าหาญทางการเมือง แต่จะเป็นการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ตรงประเด็นกว่าการใช้กลไกตลาดทุน

ESG Investing ไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด ในการแก้ปัญหาโลกร้อน เพราะบิดเบือนการทำงานของตลาดทุน แต่ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย

เปิดสูตรค่าโดยสาร ‘ชมพู+BTS’ ตามแผนตั๋วร่วม  ปรับลดเพดาน 107 บาท ให้จบที่ไม่เกิน 65 บาท

เมื่อวันที่ 13 ม.ค.67 เพจ ‘โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure’ ได้โพสต์ข้อความในหัวข้อ ‘เข้าใจปัญหาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพู ต่อ BTS 107 บาท มายังไง??? แล้วแก้อย่างไรได้บ้าง เพื่อให้ประชาชนโดยสารได้ในราคาที่เหมาะสม!!’ ระบุว่า...

จากสัปดาห์ที่ผ่านมา ‘รถไฟฟ้าสายสีชมพู’ ได้เก็บค่าโดยสารอย่างเป็นทางการ พร้อมกับการเก็บค่าโดยสารใน BTS ส่วนต่อขยายสายเหนือ (หมอชิต-คูคต) ที่สามารถซื้อตั๋วโดยสารจากต้นทางสายสีชมพู เพื่อตรงเข้ากลางเมือง ด้วย BTS ได้ด้วยบัตรใบเดียว!!

ทำให้เกิดการช็อกกับค่าโดยสารต่อ Trip ของการเดินทางต่อเนื่องตลอดเส้นทาง จากสายสีชมพูต่อสายสีเขียว เพื่อเข้ากลางเมือง ซึ่งราคาสูงสุดกว่า 107 บาท!!

ซึ่งเราต้องมาทำความเข้าใจ โครงสร้างราคาปัจจุบัน ของรถไฟฟ้าทั้ง 3 ส่วนนี้ก่อนนะครับ

1.) รถไฟฟ้าสายสีชมพู (ผู้ให้สัมปทาน รฟม.) ค่าโดยสาร 15-45 บาท ซึ่งถ้านับจากสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (จุดเชื่อมต่อ BTS) ซึ่งค่าโดยสารจะไปถึงค่าสูงสุด ตั้งแต่สถานีแยกปากเกร็ด และ สถานีนพรัตน์ ออกไป

2.) รถไฟฟ้าสายสีเขียว (BTS) ส่วนต่อขยายเหนือ หมอชิต-คูคต (เป็นของ กทม. เอง) ซึ่งปัจจุบันเก็บค่าโดยสารอัตราเดียว 15 บาท ตลอดสาย

3.) รถไฟฟ้าสายสีเขียว (BTS) ส่วนสัมปทานหลัก (ไข่แดง) ค่าโดยสาร 17-47 บาท ซึ่งถ้านับจากสถานีหมอชิต จะชนอัตราสูงสุด ที่สถานีสยาม

ซึ่งทั้งหมดอยู่ในระบบที่ BTS เป็นผู้ให้บริการ แต่แตกต่างที่เจ้าของสัมปทานต่างๆ ทำให้ คนที่เดินทางจากมีนบุรี เข้าสยาม ต้องจ่ายค่าโดยสารที่อัตราสูงสุด 107 บาท!!

แล้วเราทำอะไรได้บ้าง เพื่อให้ค่าโดยสารถูกลง?

1.) ให้ BTS ทำส่วนลดค่าแรกเข้า ภายในระบบที่ BTS เป็นผู้ให้บริการ เช่น ระหว่าง ชมพู และ เขียว ซึ่งจะสามารถลดราคาได้ 15 บาท ก็จะเหลือ 92 บาท

2.) เคลียร์ปัญหาสัมปทาน BTS-กทม. และเพิ่มข้อบังคับด้านการรองรับตั๋วร่วม และมาตรฐาน EMV ของ ให้ใช้กับระบบ BTS ได้

3.) แต่ที่สำคัญที่สุด คือ ‘ผลักดัน พรบ. ตั๋วร่วม’ ซึ่งจะจัดตั้งกองทุนตั๋วร่วม เพื่อเป็นกองทุนที่จ่ายส่วนต่างที่เกิน จากสัมปทาน และผลักดัน ตั๋วโดยสารกลาง ซึ่งก็อาจจะได้เห็นตั๋ววัน หรือตั๋วเดือน ที่จะใช้ได้ทั้งกรุงเทพทุกระบบการเดินทาง!!

ซึ่งจากการศึกษาเบื้องต้น ค่าโดยสารสูงสุดด้วยการใช้ระบบตั๋วร่วม อยู่ที่ 65 บาท/การเดินทาง!!

มาทำความเข้าใจ รายละเอียดการศึกษา การพัฒนาตั๋วร่วม ได้ที่เว็บไซต์ของโครงการ >> http://www.thaicommonticket.com

ซึ่งจากแผนการพัฒนาระบบตั๋ว ร่วมจำเป็นต้องมีการออก พรบ. ตั๋วร่วม โดยจะมีส่วนประกอบ คือ…

- จัดตั้งตั้งองค์กรกลางในการควบคุม และบริหารตั๋วร่วม
- จัดตั้งกองทุนส่งเสริมตั๋วร่วม ซึ่อจะมีที่มารายได้จากหลายด้าน เช่น การรับส่วนแบ่งรายได้จากสัมปทาน ค่าธรรมเนียมต่างๆ และการบริหารจัดการบัตร

โดยประชาชนจะได้ประโยชน์ จากตั๋วร่วม จากหลายส่วน คือ…

- ใช้บัตรมาตรฐานเดียว ซึ่งเป็นระบบเปิด ไม่ว่าหน่วยงานไหนก็ออกบัตรให้ได้ รวมถึงการใช้มาตรฐาน EMV ซึ่งติดอยู่ในบัตรเครดิต ทุกใบ

- รวมอัตราค่าโดยสารของทุกระบบ และทุกรูปแบบในบัตรเดียว 
ซึ่งในส่วนรถไฟฟ้ารวมทุกสาย สูงสุดไม่เกิน 65 บาท และลดค่าแรกเข้าระหว่างเปลี่ยนสาย

- มีส่วนลดค่าแรกเข้าเปลี่ยนระหว่างระบบขนส่ง เช่น รถเมล์ และ เรือ อย่างน้อย 10 บาท

ซึ่งถ้าสามารถผลักดัน พรบ.ตั๋วร่วมออกมาและถูกนำไปใช้ได้จริง จะช่วยให้ประชาชนประหยัดค่าเดินทางไปอีกมหาศาล!!

คงต้องขอฝากท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม สุรพงษ์ ปิยะโชติ - Surapong Piyachote กรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม และ สนข. ช่วยผลักดันเพื่อลดค่าครองชีพให้ประชาชนครับ

‘รมว.ปุ้ย’ ร่วมเปิดสายการผลิตรถไฟฟ้า ‘New GWM ORA Good Cat’ มุ่งดัน ‘ไทย’ สู่ฐานการผลิตยานยนต์-ชิ้นส่วนรายใหญ่แห่งอาเซียน

เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 67 ‘เกรท วอลล์ มอเตอร์’ จัดพิธีเฉลิมฉลองเปิดสายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ‘New GWM ORA Good Cat’ จาก โรงงาน เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จังหวัดระยอง พร้อมเปิดตัวและประกาศราคา New GWM ORA Good Cat ทั้ง 3 รุ่น อย่างเป็นทางการ ด้วยราคาเริ่มต้นที่ 799,000 บาท ตอกย้ำการเป็นผู้นำด้านยานยนต์ไฟฟ้าในไทย และฉลองความสำเร็จในการเป็นแบรนด์แรกในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ เพื่อชดเชยตามนโยบายการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐ หรือ ‘ZEV 3.0’ พร้อมส่งมอบให้กับผู้ขับขี่ชาวไทยภายในเดือนมกราคมนี้

โดยพิธีเปิดสายการผลิต ‘New GWM ORA Good Cat’ ได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ พิมภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หรือ ‘รมว.ปุ้ย’ ในการกล่าวเปิดงาน พร้อมด้วย นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน รวมถึงข้าราชการระดับสูงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันเป็นสักขีพยานในการส่งรถยนต์ New GWM ORA Good Cat คันแรกออกจากสายการผลิตจากโรงงานอัจฉริยะ เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) เตรียมพร้อมส่งมอบให้กับแฟนๆ ชาวไทย โดยมีคณะผู้บริหารของเกรท วอลล์ มอเตอร์ นำโดย มร. ไคล์ด เฉิง ประธาน, นายวุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์ รองประธานฝ่ายการตลาด เกรท วอลล์ มอเตอร์ ภูมิภาคอาเซียน และ นายณรงค์ สีตลายน กรรมการผู้จัดการ, มร.ไมเคิล ฉง ผู้จัดการทั่วไป เกรท วอลล์ มอเตอร์ (ประเทศไทย), มร.เกร็ก ลี รองประธานบริหาร ฝ่ายการผลิตในโรงงาน ภูมิภาคอาเซียน และ นายอำนาจ แสงจันทร์ รองประธานฝ่ายการผลิต เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) ร่วมให้การต้อนรับ

ฯพณฯ พิมภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า “เป็นที่ทราบกันดีว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญในประเทศ ปัจจุบันมีผู้ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์ BEV มูลค่าการลงทุนรวม 39,579 ล้านบาท มีผู้ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนผลิตชิ้นส่วน BEV มูลค่าการลงทุนรวม 16,055 ล้านบาท และมีผู้ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้า มูลค่าการลงทุนรวม 5,106 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของนโยบายและมาตรการส่งเสริมรวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

ทั้งนี้ บริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์หลากหลายรุ่นและได้รับความนิยมอยู่ในอันดับต้นๆ ของประเทศ โดยเฉพาะรุ่น ORA Good Cat ที่ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง การเปิดสายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า New GWM ORA Good Cat คันแรกในประเทศไทยในครั้งนี้ จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน ดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบริษัทฯ จะขยายการลงทุนในการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน รวมทั้งพัฒนารถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ และสนับสนุนการใช้ห่วงโซ่การผลิตในประเทศ เพื่อรักษาและต่อยอดการเป็นหนึ่งในฐานการผลิตยานยนต์พวงมาลัยขวา สำหรับจำหน่ายในประเทศและส่งออกในภูมิภาคอย่างยั่งยืน”

นายวุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์ รองประธานฝ่ายการตลาด เกรท วอลล์ มอเตอร์ ภูมิภาคอาเซียน กล่าวว่า “เกรท วอลล์ มอเตอร์ ถือเป็นเบรนด์ยานยนต์จีนรายแรกที่เข้ามาริเริ่มในประเทศไทยพร้อมแผนการดำเนินธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ โดยตลอดระยะเวลา 3 ปี ที่ได้เข้ามาดำเนินธุรกิจในไทย เกรท วอลล์ มอเตอร์ ไม่เพียงแต่เป็นแบรนด์ยานยนต์พลังงานใหม่จากประเทศจีนที่เป็นผู้เข้ามาบุกเบิก พร้อมขยายการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้ครอบคลุมในทุกเซ็กเมนต์ในตลาดประเทศไทย แต่เรายังเป็นผู้นำที่ได้รับการยอมรับในกลุ่มยานยนต์พลังงานใหม่ ที่ได้มีส่วนริเริ่มและพัฒนาสังคมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยให้เติบโตได้อย่างก้าวกระโดด นับตั้งแต่วันแรกของการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย เรายึดมั่นพันธกิจหลัก คือ ‘In Thailand For Thailand’ หรือ การเติบโตไปพร้อมกับการพัฒนาประเทศไทยและเพื่อคนไทย ด้วยความมุ่งมั่นในการส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพ เพื่อเติบโตเคียงคู่ไปกับสังคมไทยอย่างยั่งยืน

ในวันนี้รถยนต์ New GWM ORA Good Cat ได้เริ่มการผลิตจากสายการผลิตในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวสู่ยุคใหม่ของอุตสหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยในรอบ 60 ปี และทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่มีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 100% ในตลาดต่างประเทศของ เกรท วอลล์ มอเตอร์ และถือเป็นก้าวสำคัญของ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ในฐานะผู้มีส่วนสนับสนุนนโยบาย 30@30 ของภาครัฐ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของประเทศไทยที่มีต่อกลยุทธ์ระดับโลกของเกรท วอลล์ มอเตอร์”

การเปิดตัว New GWM ORA Good Cat จากสายการผลิตจากโรงงานภายในประเทศถือเป็นการดำเนินธุรกิจตามหนึ่งในพันธกิจของ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ในการผลิตเพื่อชดเชยการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า ตามนโยบายการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้ากับทางภาครัฐ หรือ ‘ZEV 3.0’ ที่ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ได้ทำการลงนามกับภาครัฐเป็นแบรนด์แรกๆ ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2565

นอกจากนี้ ยังถือเป็นอีกก้าวสำคัญของบริษัทฯ ในการผลิต New GWM ORA Good Cat ภายนอกประเทศจีนเป็นครั้งแรก ตามกลยุทธ์ ‘Ecological Go-Abroad’ ในการขยายธุรกิจสู่ตลาดต่างประเทศ โดยการนำระบบนิเวศทางด้านยานยนต์ที่ครอบคลุม เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมในภาพรวมอย่างรอบด้าน ตอกย้ำความพร้อมในการเดินหน้าผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางของการใช้ และการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงสนับสนุนการลงทุนและการจ้างงานให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ยกระดับการแข่งขัน พัฒนาศักยภาพแรงงานไทย สร้างความคึกคักให้เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย โดยตั้งแต่เดือนมีนาคม 2567 เป็นต้นไป บริษัทฯ ยังวางแผนที่จะใช้ชุดแบตเตอรี่ ที่ผลิตจากโรงงานผลิตแบตเตอรี่ SVOLT ที่ได้เข้ามาลงทุนและตั้งโรงงานผลิตในประเทศไทยตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปี 2566 อีกด้วย

‘New GWM ORA Good Cat’ รุ่นผลิตภายในประเทศ พร้อมจะเข้ามาครองใจแฟนๆ ชาวไทยอีกครั้ง ด้วยตัวเลือก 3 รุ่นย่อย ได้แก่ รุ่น PRO ในราคา 799,000 บาท และ รุ่น ULTRA ในราคา 899,000 บาท โดยทั้งรุ่น PRO และรุ่น ULTRA ให้กำลังสูงสุด 143 แรงม้า แรงบิดมอเตอร์ไฟฟ้าสูงสุด 210 นิวตันเมตร ระยะทางวิ่งสูงสุด 480 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง (NEDC Standard) และรุ่น GT เอาใจสายสปอร์ต มาในราคา 1,099,000 บาท ให้กำลังสูงสุด 171 แรงม้า แรงบิดมอเตอร์ไฟฟ้าสูงสุด 250 นิวตันเมตร ระยะทางวิ่งสูงสุด 460 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง (NEDC Standard)

New GWM ORA Good Cat รุ่น PRO และ ULTRA มีเฉดสีภายนอกทั้งหมด 5 สี ได้แก่ สีขาว (Hamilton White) สีขาวหลังคาสีดำ (Hamilton White with Black Roof) ซึ่งทั้งสองสีนี้จับคู่กับภายในสีดำ, สีเขียวหลังคาสีขาว (Verdant Green with White Roof) พร้อมสีภายในสีเขียวและเทา, สีเบจหลังคาสีน้ำตาล (Hazel Wood Beige with Brown Roof) พร้อมสีภายในสีเบจและน้ำตาล และสีเขียวพิสตาชิโอ (Pistachio Green) พร้อมสีภายในสีเขียวและเบจ ในขณะที่รุ่น GT มีสีภายนอกให้เลือกทั้งหมด 2 สี ได้แก่ สีดำ (Sun Black) และสีเทา (Aqua Grey) ซึ่งทั้งสองสีนี้จับคู่กับภายในสีดำและเหลือง พร้อมอุปกรณ์แต่งสปอร์ตสีเหลือง

New GWM ORA Good Cat ยังคงเปี่ยมไปด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะอันล้ำสมัย ที่ช่วยอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการขับขี่ มากถึง 31 รายการ พร้อมเพิ่มระบบช่วยชะลอความรุนแรงของการชนครั้งที่ 2 เข้ามา และจากการรับฟังเสียงของผู้บริโภค เกรท วอลล์ มอเตอร์ได้นำฟังก์ชัน V2L (Vehicle to Load) หรือระบบจ่ายกระแสไฟฟ้าจากตัวรถยนต์ไปยังอุปกรณ์ไฟฟ้าเข้ามาในรุ่น ULTRA และรุ่น GT อีกด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น เกรท วอลล์ มอเตอร์ ยังเตรียมมอบความสุขให้ชาวไทยอย่างต่อเนื่อง ด้วยความร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรมและการนิคมอุตสาหกรรม มอบของขวัญปีใหม่ให้กับผู้ขับขี่ชาวไทย ช่วยการเป็นเจ้าของยานยนต์ไฟฟ้า GWM สุขใจยิ่งขึ้น พร้อมส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าภายใต้นโยบาย ZEV 3.0 มอบข้อเสนอสุดพิเศษมากมาย อาทิ ยืดระยะเวลาแคมเปญสุดพิเศษมอบข้อเสนอเดียวกับในงาน Motor Expo 2023 อาทิ อัตราดอกเบี้ยพิเศษ และฟรี ประกันภัยชั้นหนึ่ง ให้กับผู้ที่สนใจเป็นเจ้าของรถยนต์คอมแพ็คเอสยูวียอดนิยม HAVAL H6, เจ้าสิงโตอารมณ์ดี HAVAL JOLION และรถยนต์พรีเมียมออฟโรดเอสยูวี All New GWM TANK 300 HEV และ All New GWM TANK 500 HEV อีกด้วย

เกรท วอลล์ มอเตอร์ จะยังคงมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่อัดแน่นไปด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย ปลอดภัย และส่งเสริมการขับขี่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการยึดถือผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง โดยการร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อเดินหน้าเติมเต็มระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย ตลอดจนยกระดับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย สู่ระดับสากลได้อย่างยั่งยืน

'ผู้ประกอบการไทย' ชี้!! อนาคตสถานบันเทิงไทย ปี 67 หลังไฟเขียวตี 4 พร้อมแนะ!! จับตาตลาดท่องเที่ยวคาซัคฯ มาแรง หลังฟรีวีซ่า

จากรายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ได้พูดคุยกับ คุณพีระพล พิภวากร เจ้าของร้านอาหาร Ministry of Single และรองประธาน Kazakh Thai Alliance ในประเด็น 'อนาคตสถานบันเทิงไทย เปิดถึงตี 4 ดีจริงไหม?' โดยคุณพีระพล กล่าวว่า...

ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาร้านอาหารและสถานบันเทิงได้รับผลกระทบพอสมควร จากการที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวจากนโยบายของภาครัฐในขณะนั้น 

อย่างไรก็ตาม เมื่อปีที่ผ่านมาบรรยากาศการท่องเที่ยวไทยเริ่มดีขึ้น เพียงแต่ต้องมีการปรับบริบทและกลยุทธ์ใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยก่อนโควิด-19 กลุ่มเป้าหมายยังเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ปัจจุบันกลุ่มเป้าหมายเปลี่ยนเป็นคนไทยแล้ว

ฉะนั้นอยากให้ภาครัฐที่ออกนโยบายลงมาพูดคุยกับผู้ประกอบการถึงความต้องการจริงๆ ว่าต้องการอะไร เพื่อให้สอดคล้องกับธุรกิจ และมีความเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะการเปิดสถานบริการถึงตี 4 ก็ควรเข้มงวดในเรื่องกฎหมาย เช่น การเมาแล้วขับรถต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง นอกจากนี้ควรส่งเสริมผู้ประกอบการในด้านอื่นๆ เช่น การลดหย่อนภาษี มีกองทุนร้านอาหารเพื่อแปลงหนี้เป็นทุน หรือส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น เป็นต้น 

นอกจากนี้ คุณพีระพล ยังได้เปิดประเด็นสำคัญอีกเรื่องเกี่ยวกับมุมมองตลาดท่องเที่ยวคาซัคสถานหลังฟรีวีซ่า ซึ่งในฐานะรองประธาน Kazakh Thai Alliance คุณพีระพล กล่าวว่า...

พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวคาซัคสถานส่วนใหญ่จะมีวันหยุดยาวเป็นเดือนโดยเลือกจุดหมายมาเมืองไทยกันเป็นจำนวนมากในช่วงนี้หลังจากฟรีวีซ่า โดยนักท่องเที่ยวคาซัคสถานมีกำลังซื้อสูง นิยมท่องเที่ยวภูเก็ต, กระบี่ และพัทยา โดยแต่ละปีมาท่องเที่ยวเมืองไทยกว่า 300,000 คน 

ส่วนตลาดนักท่องเที่ยวไทยไปเที่ยวคาซัคสถานในปัจจุบันยังน้อยอยู่ด้วยหลายปัจจัย เช่น เที่ยวบินจากไทยไปคาซัคสถานยังไม่เพียงพอ โดยปัจจุบันรูปแบบการท่องเที่ยวต้องไปกับทัวร์เพียงอย่างเดียว ซึ่งตรงนี้ถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยอย่างมาก

ขณะเดียวกัน ในด้านการส่งเสริมการตลาดที่ประเทศคาซัคสถาน ก็ต้องบอกว่าเป็นข่าวดี เพราะยังมีความต้องการสินค้าจากประเทศไทยสูง เนื่องจากสินค้าไทยมีคุณภาพที่น่าเชื่อถือ คนในคาซัคฯ ก็เชื่อมั่นมาก หลายๆ ชนิดสินค้าก็ได้รับการตอบรับดี เช่น ผลไม้ไทย, น้ำจิ้มไก่, อาหารทะเลแปรรูปแช่แข็ง, เครื่องกระป๋อง เป็นต้น 

แน่นอนว่า ในส่วนของคาซัคสถานเอง ก็อยากนำสินค้ามาเปิดตลาดในไทยด้วยเช่นกัน เช่น เนื้อวัว, เนื้อม้า, เนื้อแกะ, ข้าวสาลี เป็นต้น 

คุณพีระพล ทิ้งท้ายอีกด้วยว่า ในปีนี้ช่วงหลังเดือนกุมภาพันธ์ ตนจะมีการจัดทริป Business Matching เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการไทยที่อยากไปเปิดตลาดธุรกิจที่คาซัคสถานอีกครั้ง ถ้าท่านใดสนใจท่องเที่ยวและร่วมทริป Business Matching สามารถสอบถามได้ที่ 095-936-9635


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top