Friday, 4 July 2025
ECONBIZ NEWS

'อ.พงษ์ภาณุ' ซัด!! แบงก์ชาติไม่ลดดอกเบี้ย เหมือนตบหน้ารัฐบาล-คนไทยทั้งประเทศ

(17 ม.ค. 67) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ได้เผยถึงกรณีแบงก์ชาติไม่ลดดอกเบี้ย ถือเป็นการตบหน้ารัฐบาลและคนไทยทั้งประเทศผ่าน THE STATES TIMES ว่า...

การปฏิเสธไม่ลดดอกเบี้ยเมื่อวานนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่มีการระบุเหตุผลที่น่าเชื่อถือ เพียงแต่กล่าวว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันเหมาะสมแล้ว ถือเป็นการไม่ให้เกียรติคนไทยและรัฐบาล ทั้ง ๆ ที่ขณะนี้เครื่องชี้ทางเศรษฐกิจหลายตัวบ่งบอกว่าเศรษฐกิจไทยกำลังดิ่งลงสู่ภาวะเงินฝืด (Deflation) และถดถอย (Recession) ไม่ว่าจะเป็นอัตราเงินเฟ้อติดลบ 3 เดือนติดต่อกัน อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Innterest Rate) สูงสุดเป็นประวัติการณ์และอาจจะสูงที่สุดในโลก อัตราเติบโตของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ติดลบต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี

"เราไม่สามารถหาคำอธิบายอื่นที่เหมาะสมกว่าที่จะกล่าวว่าธนาคารแห่งประเทศไทยไม่มีความรับผิดชอบ และบกพร่องต่อหน้าที่อย่างร้ายแรง การที่แบงก์ชาติกล่าวอ้างปัญหาโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย เป็นเพียงความพยายามที่จะบิดเบือนประเด็นเพื่อโยนความผิดให้กับคนอื่น ทั้ง ๆ ที่เป็นที่ยอมรับในทางวิชาการว่าเสถียรภาพของราคาเป็นเรื่องของนโยบายการเงิน ภายใต้กรอบ Inflation Targeting โดยตรง และผลการทำงานที่ผ่านมา 2 ปีพิสูจน์แล้วว่าธนาคารแห่งประเทศไทยล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการดูแลเสถียรภาพราคา จากเงินเฟ้อสูงสุดในโลกในปี 2565 มาเป็นเงินฝืดในปี 2566 การปัดความรับผิดชอบออกไปจากนโยบายการเงิน ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงตามกฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทย จึงเป็นการแสดงถึงความไม่เป็นมืออาชีพเอาเสียเลย"

อ.พงษ์ภาณุ กล่าวอีกว่า สถานการณ์เช่นนี้ ถือเป็นการตอกย้ำความขัดแย้งระหว่างนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง ซึ่งไม่เป็นผลดีกับประเทศเลย และควรถึงเวลาแล้ว ที่จะต้องอ้างความบกพร่องต่อหน้าที่อย่างร้ายแรงตามกฎหมาย เพื่อเปลี่ยนตัวผู้รับผิดชอบนโยบายการเงิน ก่อนที่จะสายเกินไป จนบ้านเมืองเสียหายไปกว่านี้

‘รมว.ปุ้ย’ เร่ง!! สมอ. ประกาศสินค้าควบคุม 46 รายการ เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน-คุ้มครองความปลอดภัย ปชช.

(17 ม.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้เร่งรัดให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. กำหนดมาตรฐานเพื่อให้ทันกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า ตลอดจนคุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้า 

โดยในปีนี้ สมอ. ได้ขออนุมัติบอร์ดกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ไว้ทั้งสิ้นจำนวน 600 เรื่อง แบ่งเป็นมาตรฐานกำหนดใหม่ 443 เรื่อง และมาตรฐานเดิมที่ต้องทบทวนอีกจำนวน 157 เรื่อง ครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรม S-curve 105 เรื่อง เช่น ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ ฯลฯ กลุ่ม New S-curve 120 เรื่อง เช่น หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม การบินและโลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ การแพทย์ครบวงจร ฯลฯ กลุ่มมาตรฐานตามนโยบาย 32 เรื่อง เช่น นวัตกรรม สมุนไพร ฯลฯ กลุ่มส่งเสริมผู้ประกอบการ 163 เรื่อง เช่น หลอดรังสีอัลตราไวโอเลตใช้สำหรับการทำผิวสีแทน สายไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ แผงเซลล์แสงอาทิตย์ ฯลฯ และกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ๆ 23 เรื่อง เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ ฯลฯ ซึ่งในจำนวน 600 เรื่องนี้ เตรียมประกาศเป็นสินค้าควบคุมเพื่อความปลอดภัยของประชาชนจำนวน 46 เรื่อง เพิ่มเติมจากที่ สมอ. ประกาศไปแล้ว 144 เรื่อง 

ด้าน นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า สินค้าที่จะประกาศเป็นสินค้าควบคุมภายในปี 2567 นี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 46 เรื่อง แบ่งเป็นมาตรฐานบังคับใหม่ 25 เรื่อง เช่น แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าและรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า การชนด้านข้างและด้านหน้าของรถยนต์ ตู้กดน้ำดื่ม เครื่องใช้ไฟฟ้าที่เติมปรอท คาร์ซีทสำหรับเด็ก ดวงโคมไฟฟ้า ชิ้นส่วนท่อไอเสียรถจักรยานยนต์ รถยนต์ขนาดเล็กที่ติดตั้งระบบก๊าซเพิ่มเติม ลวดชุบแข็งและอบคืนตัวสำหรับคอนกรีต
อัดแรง เหล็กแผ่นเคลือบอะลูซิงค์ เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ท่อยางและท่อพลาสติกสำหรับใช้กับก๊าซหุงต้ม ถังดับเพลิงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ กระป๋องสเปรย์ต่าง ๆ ถุงพลาสติกบรรจุอาหาร และกระดาษสัมผัสอาหาร เป็นต้น และมาตรฐานที่บังคับต่อเนื่องอีก 21 เรื่อง เช่น เหล็กแผ่นสำหรับงานโครงสร้าง เข็มพืด เครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับการดูแลผม ขน หรือผิว เครื่องทอดน้ำมันท่วมปริมาณน้ำมันไม่เกิน 5 ลิตร กระทะทอด เตาอบไมโครเวฟ เครื่องปรับอากาศ แบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ แบตเตอรี่โน๊ตบุ๊ค สวิตช์ไฟฟ้า เครื่องตัดวงจรกระแสเหลือสำหรับใช้ในที่อยู่อาศัย และเคเบิลเส้นใยนำแสงโทรคมนาคมภายนอกอาคาร เป็นต้น 

โดยในเดือนมิถุนายน 2567 นี้ สมอ. จะประกาศให้เหล็กแผ่นเคลือบอะลูซิงค์ และเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีเป็นสินค้าควบคุมก่อน ตามด้วยสินค้าที่เหลือตามลำดับ จึงขอฝากถึงผู้ประกอบการที่ทำ และนำเข้าสินค้าดังกล่าว เตรียมยื่นขอ มอก. เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เลขาธิการ สมอ. 

'พงศ์พรหม' ชี้!! Digital Nomad โจทย์ใหญ่ที่ไทยควรดันไม่แพ้ 'แลนด์บริดจ์' หลังต่างชาติสายเทคฯ ชอบมา 'กิน-เที่ยว-ทำงาน' แต่กลับไม่เลือกลงทุน

(17 ม.ค. 67) นายพงศ์พรหม ยามะรัต ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'Pongprom Yamarat' ฝากถึงภาครัฐ ที่กำลังตื่นเต้นกับ Landbridge จนลืมสิ่งที่กำลังจะสำเร็จ และสร้างรายได้ไม่น้อยกว่า Landbridge รึเปล่า? ความว่า...

10 ปีมานี้เมืองไทยเป็น Digital Nomads hub ที่ใหญ่ติดท็อป 5 โลกมาโดยตลอด

(***Digital Nomads: คนที่ใช้ชีวิตอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ ของโลก ส่วนอาชีพก็คือการทำทุกอย่างที่ได้เงินโดยใช้ระบบออนไลน์ เพียงแค่มีแล็ปท็อปกับอินเทอร์เน็ต เพียงเท่านี้ก็สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้บนโลกใบนี้แล้ว บางคนอาจจะทำ E-commerce, Freelance, Remote Work ซึ่งไลฟ์สไตล์แบบนี้มันสนุกตรงที่สามารถทำงานด้วยแล้วก็เที่ยวด้วยได้)

ผมเจอข้อมูลนี้ในนิตยสาร Monocle เมื่อเกือบ 10 ปีก่อน

>> มีข้อดี...
เค้ามากันเยอะ แปลว่าเค้าชอบครับ 
ทำไมเขาไม่ไปฟิลิปปินส์, เวียดนาม, มาเลเซีย
ก็เพราะเราน่าอยู่ เราครบ คนเรานิสัยดี บ้านเราอยู่สบาย

>> มีข้อดี ก็มีข้อเสีย...
ผมอยู่ในวงการ tech มานานพอสมควร
เรามีพาร์ทเนอร์ทั้งอิสราเอล, อเมริกัน, จีน และสิงคโปร์
เค้าชอบมา Nomad ที่เรา แต่หากจะให้เปิดบริษัท...
‘วันนี้’ เค้าเลือก...
สิงคโปร์, จีน, ไต้หวัน และเวียดนามครับ

>> จึงเกิดปัญหาใหญ่
เค้ามาทำงานที่ไทย ไทยได้ค่าอาหาร ค่าที่พัก
แต่...
สิงคโปร์, จีน, ไต้หวัน, เวียดนาม ได้เงินภาษี และการสร้าง eco system ครับ ซึ่งเป็นเงิน และประโยชน์มากกว่าที่ไทยได้เป็นพัน เป็นหมื่นเท่า

>> สิงคโปร์ จีน ไต้หวัน มีอะไร?
1. การเปิดบริษัทที่เกี่ยวกับนวัตกรรม ได้รับการสนับสนุน เป็น fast track ทั้งภาษี จดทะเบียน ที่ตั้ง การช่วยโปรโมต และการคอร์รัปชันต่ำมาก พูดง่ายๆ ไปแล้วโอกาสเจ๊งต่ำ
2. ไปแล้วหาคนง่าย หมายถึง ดึงคนต่างชาติไปทำงานด้วยง่าย เพราะประเทศเหล่านี้คิดต่างจากไทย เค้าคิดถึงการ ‘ดูดมันสมอง’ เข้าประเทศ ส่วนไทยคิดแต่ว่า ‘ต่างชาติจะมาแย่งงานคนไทย’ รวมถึงคนของเขามีความสามารถสูงกว่าไทย จากการศึกษาที่ดีกว่า

>> แล้วเวียดนามหล่ะ?
1. ภาครัฐยังกระด้อกกระแด้กเหมือนไทยนี่แหละ แต่...
2. คนเวียดนามขยัน เรียนรู้เร็วกว่าคนไทย และมีทักษะนวัตกรรม เทคโนโลยีสูงกว่าคนไทย และค่าจ้างต่ำกว่าไทย ใครมองมุมนี้ล้วนๆ ก็ให้มาเวียดนาม จึงจะเห็นว่าการลงทุน บ.เทค ข้ามชาติมาเวียดนามจนแซงไทยแล้ว

>> กลับมาโอกาส
การที่ Nomad มาไทยเยอะ แปลว่าเค้าชอบ
นี่คือต้นทุนที่ใครก็แย่งไม่ได้ครับ 
แต่...
1. เราต้องมี รมว. DE, รมว. อว. และ รมว.ศึกษา ที่เห็นภาพกว่านี้ และรู้ว่านี่คือ priority
สมัยสุดท้ายที่มีการขับเคลื่อนเหล่านี้อย่างเป็นรูปธรรม คือยุค รอง สมคิด จาตุศรีพิทักษ์, ดร.อุตตม, ดร.พิเชษฐ, ดร.สุวิทย์ และ นพ.ธีระเกียรติ นั่นคือยุคทองเลย ... หลังจากนั้นก็ไร้ทิศทางต่อ
2. รมว. DE และ อว. ต้องติดอาวุธ ให้ Depa และ NIA ในการทำภารกิจนี้ให้สำเร็จ ในความเป็นจริงมีอีก 1 องค์การมหาชนที่ควรมาเกี่ยวข้อง แต่ไม่ได้ใช้ศักยภาพเต็มที่ คือ BEDO ที่ผมไม่ได้ยินข่าวคราวมานานมากแล้ว

เอา บ. Tech เข้ามาไทยให้มาก
โลกเค้ารบกัน นี่คือโอกาส
อันใหญ่ๆ อยู่สิงคโปร์ไป
เอาเล็ก-ถึงกลางมาไทย เดี๋ยวเค้าก็ใหญ่เอง
นี่ผมพูดถึง 4-50,000 ล้านบาทอยู่นะครับ

ครับ
โอกาสที่ใหญ่
ใหญ่กว่า Landbridge มาก
ทำตรงนี้ให้สำเร็จ จะรวยกว่าทำ Landbridge อีก

ส่วน Landbridge ผมไม่มีความเห็น เพราะไม่มีข้อมูล
ความเห็นส่วนตัวคือ
น่าสนใจ แต่ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมให้มาก

สำรวจแหล่งแร่ลิเทียมในไทย ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก 'ลบจุดอ่อน-เพิ่มศักยภาพ' ไทย สู่ผู้นำการผลิตรถ EV ในอาเซียนเต็มตัว

นับเป็นข่าวดี สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์อีวี ของไทย ที่นอกจากจะมีจุดแข็งในด้านการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ที่มีคุณภาพสูง ความเชี่ยวชาญในการผลิตรถยนต์ และยังมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่โดดเด่นกว่าประเทศคู่แข่ง ล่าสุดก็ได้มีการค้นพบแหล่งแร่ลิเทียมขนาดใหญ่ในประเทศไทย ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์อีวี ทำให้เพิ่มศักยภาพดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมอีวี ได้มากขึ้น และจะมีการลงทุนโรงงานแบดเตอรี่อีวีต้นน้ำมากขึ้น ส่งผลให้ไทยเป็นฐานการผลิตที่มีศักยภาพสูงอย่างรอบด้าน

โดยไม่นานมานี้ นายอดิทัต วะสีนนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผยว่า กระทรวงฯ ได้ให้การสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์อีวีอย่างเต็มที่ โดยสั่งการให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จัดหาและบริหารจัดการวัตถุดิบ เพื่อรองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมรถยนต์อีวี

โดยที่ผ่านมา ได้ออกใบอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษจำนวน 3 แปลง เพื่อสำรวจแหล่งลิเทียมในพื้นที่อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ซึ่งจากผลการสำรวจพบว่า หินอัคนีเนื้อหยาบมากสีขาวหรือหินเพกมาไทต์ ซึ่งเป็นหินต้นกำเนิดที่นำพาแร่เลพิโดไลต์สีม่วง หรือแร่ที่มีองค์ประกอบของลิเทียมมาเย็นตัวและตกผลึกจนเกิดเป็นแหล่งลิเทียมที่มีศักยภาพ 2 แหล่ง ได้แก่ แหล่งเรืองเกียรติ มีปริมาณสำรองประมาณ 14.8 ล้านตัน เกรดลิเทียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% อยู่ในเกรดระดับกลาง และแหล่งบางอีตุ้มที่อยู่ระหว่างการสำรวจขั้นรายละเอียดเพื่อประเมินปริมาณสำรอง

สำหรับแหล่งลิเทียมเรืองเกียรติแห่งนี้ ถือได้ว่าเป็นแหล่งที่มีปริมาณแร่ลิเทียมมมากเป็นอันดับ 3 ของโลกในปัจจุบัน เป็นรองเพียงประเทศโบลิเวีย และอาร์เจนตินา ซึ่งหากได้รับประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่แล้ว คาดว่าจะสามารถนำแร่ลิเทียมมาเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาด 50 kWh ได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคัน คาดว่าจะสามารถออกประทานบัตรผลิตแร่ได้ภายใน 2 ปี จึงเริ่มการทำเหมืองได้

ทั้งนี้ นอกจากทั้ง 2 แหล่งดังกล่าว กพร. ยังได้ออกใบอาชญาบัตรสำรวจแร่ลิเทียมไปแล้ว 6 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ และฝั่งตะวันตกที่ จ.ราชบุรี คาดว่าจะพบแร่ลิเทียมได้อีกหลายแหล่ง แต่ทั้งนี้ ในแหล่งแร่บางแห่งอาจจะไม่สามารถผลิตได้ เพราะอยู่ในพื้นที่ความมั่นคงทางทหาร ซึ่งปัญหานี้อาจจะหาทางออกได้ในอนาคต ทำให้คาดว่าจะสำรวจพบแร่ลิเทียมอีกหลายแห่งในประเทศไทย

ส่วน ข้อกังวลในด้านการทำเหมืองแร่ลิเทียมนั้น เทคโนโลยีการแต่งสินแร่ลิเทียมในปัจจุบันสามารถควบคุม และลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนได้เป็นอย่างดี รวมทั้งในกระบวนการสกัดแร่ลิเทียม ก็ไม่มีสารเคมีอันตรายเข้ามาเกี่ยวข้อง ในส่วนของ กพร. ก็จะเข้าไปกำกับดูแลอย่างเข้มงวดในทุกขั้นตอนการผลิต จึงมั่นใจว่าเหมืองใหม่ที่จะเกิดขึ้นนี้ จะมีความปลอดภัยต่อสุขภาพของประชาชนโดยรอบเหมืองลิเทียมอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ กพร. ได้พัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถ Reuse และ Recycle แบตเตอรี่ที่ใช้แล้วและนำกลับมาใช้เป็นแหล่งพลังงานซ้ำ (Second Life EV Batteries) สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก อาคารบ้านเรือน สำนักงาน หรือโรงงานอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร เพื่อรองรับการบริหารจัดการแบตเตอรี่ที่ผ่านการใช้งานแล้วในอนาคตตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนอีกด้วย

ทั้งนี้ นโยบาย EV 3.5 ของรัฐบาลสร้างแรงจูงใจให้บริษัทยานยนต์ไฟฟ้ารายใหม่ ๆ เข้ามาตั้งฐานการผลิตภายในประเทศ ซึ่งหากประเทศไทยมีปริมาณสำรองลิเทียมเป็นจำนวนมาก ย่อมเป็นส่วนสำคัญที่สร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่มูลค่าเป็นสัดส่วนที่สูงมากของรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ จะส่งผลดีต่อโครงสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและซัพพลายเชนทั้งระบบ ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจทั้งด้านการลงทุนและการจ้างงาน

รวมทั้งยังสร้างความได้เปรียบในการเป็นฐานการผลิตรถยนต์อีวี อันดับ 1 ของอาเซียน ลบจุดอ่อนเดิมที่ไม่มีเหมืองแร่ต้นน้ำแบตเตอรี่ เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งอย่างประเทศอินโดนีเซีย

สำหรับข้อมูล บริษัท สยามโลหะ อุตสาหกรรม จำกัด ได้รับอาชญาบัตรสำรวจแร่ 3 ใบ ได้แก่...

อาชญาบัตรพิเศษที่ 1/2562มีพื้นที่ 7,670 ไร่ (ประมาณ 12.27 ตร.กม.) ครอบคลุมพื้นที่ ต.ถ้ำ และ ต.กระโสม อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา

อาชญาบัตรพิเศษที่ 2/2562 มีพื้นที่ 7,433 ไร่ (ประมาณ 12.64 ตร.กม.) ครอบคลุมพื้นที่ ต.ถ้ำ ต.กะไหล และ ต.กระโสม อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา

อาชญาบัตรพิเศษที่ 3/2562 มีพื้นที่ 7,417 ไร่ (ประมาณ 11.87 ตร.กม.) ครอบคลุมพื้นที่ ต.ถ้ำ ต.กะไหล และ อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ปรับตัวทันเทคโนโลยี แต่ต้องรักษาพื้นฐานขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมของไทยให้มากที่สุด เพื่อจะทำให้เด็กก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทั้งที่ยังมีวัฒนธรรมที่เป็นสมบัติของประเทศ

'ดูไบเวิลด์' บิ๊กโลจิสติกส์-ท่าเรือ UAE เอาจริง!! จ่อลงทุน 'แลนด์บริดจ์' เช็กประวัติ!! เคยให้เปล่า 200 ล้าน วิจัยสร้างท่าเรือกับไทยมาแล้ว

เมื่อวานนี้ (16 ม.ค.67) ระดับโลก ไม่ใช่จะมาหลอกกันง่ายๆ ล่าสุด Dubai World บริษัทโลจิสติกส์ขนาดยักษ์ จาก UAE สนใจโครงการแลนด์บริดจ์ และมีการประสานข้อมูลกับ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. 

ทั้งนี้ บริษัทดังกล่าวได้หารือกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระหว่างการเข้าร่วมประชุม World Economic Forum (WEF) ประจำปี 2567 ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 15-19 ม.ค.2567 ภายใต้กำหนดร่วมการประชุม 'Thailand Landbridge: Connecting ASEAN with the World'

สำหรับ Dubai World (ดูไบเวิลด์) เป็นบริษัทชั้นนำของสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ซึ่งเชี่ยวชาญโลจิสติกส์ การขนส่งสินค้า การดำเนินงานท่าเรือ การขนส่งสินค้าทางทะเลและเขตการค้าเสรี ก่อตั้งปี 2548 ให้บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ 70 ล้านตู้ โดยมีเรือนำเข้า 70,000 ลำต่อปี คิดเป็น 10% ของปริมาณการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทั่วโลก และมีพื้นที่ให้บริการในท่าเรือ 82 แห่งใน 40 ประเทศ

โดยที่ผ่านมา มีความสนใจ ที่จะลงทุนด้านโลจิสติกส์ในไทยมาช้านาน 

เคยร่วมมือและศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ร่วมกับรัฐบาลในช่วงปี 2550 ในการพัฒนาสะพานเศรษฐกิจภาคใต้ โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเมื่อวันที่ 20 พ.ค.2551

Dubai World สนับสนุนแบบให้เปล่า เพื่อศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาท่าเรือระหว่างประเทศ 2 แห่ง บนชายฝั่งทะเลอันดามันและบนชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย วงเงิน 200 ล้านบาท ก่อนที่ประเทศไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งกระทบกับแผนการลงทุนของ Dubai World

กระทั่งรัฐบาลปัจจุบัน มีท่าทีสนับสนุนโครงการแลนด์บริดจ์ ทาง Dubai World จึงกลับมาให้ความสนใจในโครงการนี้ 

ด้าน สนข.รายงานด้วยว่า “Dubai World เป็นบริษัทแรกๆ ที่เข้ามาช่วยไทยในการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งขณะนั้นมีบริษัทจากจีนและอีกหลายแห่งที่มาช่วยศึกษา Dubai World จึงถือเป็นอีกหนึ่งเอกชนที่เข้าใจและรู้เรื่องแลนด์บริดจ์เป็นอย่างดี”

'ไบแนนซ์ ประเทศไทย' คิกออฟ!! เปิดเทรดคริปโตแล้ว กร้าว!! ปลอดภัย โปร่งใส มั่นใจคุณภาพการให้บริการ

(16 ม.ค. 67) เพจ Binance TH ประกาศว่า Binance TH by Gulf Binance แพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและนายหน้าสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย ได้เปิดให้สมัครสมาชิกได้แล้วตั้งแต่วันนี้ เพื่อเริ่มต้นเทรดคริปโทมากกว่า 110 คู่เหรียญ ฝากและถอนได้ด้วยเงินบาท

Binance TH by Gulf Binance คือแพลตฟอร์มที่ให้บริการศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (สำหรับการซื้อขายด้วยเงินบาท) และบริการนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (สำหรับการซื้อขายระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัล) โดยบริษัท กัลฟ์ ไบแนนซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท กัลฟ์ อินโนวา จำกัด ในเครือของ บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) และบริษัท ไบแนนซ์ แคปปิตอล แมเนจเมนท์ จำกัด ในเครือกลุ่ม Binance

บริษัทได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลจากกระทรวงการคลัง และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ได้แก่ ใบอนุญาตประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี, ใบอนุญาตประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล, ใบอนุญาตประกอบธุรกิจนายหน้าซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี และใบอนุญาตประกอบธุรกิจนายหน้าซื้อขายโทเคนดิจิทัล

บริการของบริษัทฯ มีดังนี้

1. บริการศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล บริษัทฯ จะให้บริการเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ผู้ใช้บริการสามารถวางคำสั่งซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัลกับผู้ใช้บริการอื่นภายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของบริษัทฯ ได้ โดยสอดคล้องกับกลไกการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลที่จะนำมาให้บริการซื้อขาย, กลไกการจับคู่, การชำระราคาและส่งมอบ รวมถึงกลไกการตรวจสอบสภาพตลาดที่เหมาะสม ทั้งนี้ บริการศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลจะให้บริการเฉพาะการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลด้วยสกุลเงินบาทเท่านั้น

และ 2. บริการนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล - บริษัทฯ จะให้บริการเป็นนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ผู้ใช้บริการสามารถวางคำสั่งซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล ผ่านบริษัทฯ ในฐานะนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อส่งไปยังศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลปลายทาง (sourced exchange) ที่เชื่อมต่อกับบริษัทฯ ได้ ภายใต้กลไกเงื่อนไขราคาที่ดีที่สุดตามสภาพตลาด ทั้งนี้ บริการนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลนี้จะให้บริการเฉพาะการซื้อขายระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัลด้วยกันเท่านั้น

คุณสมบัติ ในการลงทะเบียนเพื่อใช้งานบัญชีการใช้งาน Binance TH

-กรณีบุคคลธรรมดา อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์

-กรณีนิติบุคคล เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นและดำรงอยู่โดยชอบภายใต้กฎหมายของประเทศที่จัดตั้งขึ้น และมีความสามารถทางกฎหมาย และสามารถเข้าทำข้อตกลง

-ไม่เคยถูกระงับหรือถูกลบออกจากการใช้งานบริการของบริษัทมาก่อน

-ไม่มีบัญชีการใช้งานกับบริษัทฯ อยู่แล้ว

- การใช้บริการต้องไม่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย หรือกฎเกณฑ์ใดๆ ที่บังคับใช้ หรือนิติบุคคลที่ดำเนินการแทน ซึ่งรวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียงกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง

- ไม่มีสถานะความเป็นบุคคลอเมริกันตามกฎหมาย FATCA

‘รมว.ปุ้ย’ โชว์ 3 ผลงานเด่น ‘โรงงาน-กระตุ้นศก.ใต้-ขับเคลื่อนอุตฯ อีวี’ ด้าน 'บิ๊กโปรเจกต์' ช่วยชาวไร่อ้อย หนุนอุตฯ น้ำตาลทรายเป็นรูปธรรม

'รมว.พิมพ์ภัทรา' โชว์ผลงาน 90 วัน ผ่านการดำเนินงานขับเคลื่อน 3 แกนหลัก ย้ำการบังคับใช้กฎหมาย กำกับดูแล ตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด พัฒนาระบบการรายงาน ด้านสิ่งแวดล้อมลดการปล่อยมลพิษ แก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เน้นกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจเขตพื้นที่ภาคใต้ (Southern Industrial Fair) ผลักดันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และอุตสาหกรรม แร่โพแทช ดูแลคุ้มครองผู้บริโภค ตรวจสอบยึดอายัดผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานอย่างเข้มงวด รวมทั้งช่วยเหลือชาวไร่อ้อย สนับสนุนอุตสาหกรรมน้ำตาลเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

(16 ม.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภายหลังเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อ 7 กันยายน 2566 ได้กำหนดนโยบายเร่งด่วน 3 เดือนที่สามารถทำได้ทันที เพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมให้มีศักยภาพเป็นฟันเฟืองเศรษฐกิจใหม่สำหรับกระตุ้นรายได้ มวลรวมของประเทศ พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนการดำเนินงานใน 3 แกนหลัก คือ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม โดยแบ่งการดำเนินงานตามภารกิจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เน้นบังคับใช้กฎหมาย กำกับดูแล และตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด รวมถึงพัฒนาระบบการรายงานด้านสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อลดการปล่อยมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในระยะยาว

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ) จัดงาน 'อุตสาหกรรมแฟร์เมืองใต้ 2023 นครศรีธรรมราช' เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคใต้ และส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจเขตพื้นที่ภาคใต้ (Southern Industrial Fair) ภายใต้แนวคิด 'ช้อป ชิม เที่ยวเพลิน เดินหลาด'

สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภค โดยดำเนินการตรวจสอบและยึดอายัดผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานอย่างเข้มงวด รวมทั้งสร้างเครือข่ายร้านจำหน่ายที่มีเครื่องหมายมาตรฐาน มอก. เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค นอกจากนี้ สมอ. ยังเร่งผลักดันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยกำหนดมาตรฐาน EV แล้วเสร็จ จำนวน 150 มาตรฐาน และอยู่ระหว่างกำหนดมาตรฐานเพิ่มเติมอีก 29 มาตรฐาน รวมทั้งกำหนดมาตรฐานเครื่องยนต์ เพื่อควบคุมการระบายมลพิษเป็น EURO 5 และ EURO 6

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เร่งผลักดันโครงการเหมืองแร่โพแทช 3 โครงการ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยคาดว่าจะสามารถผลิตแร่โพแทชได้ภายใน 3 ปี โครงการเหมืองแร่โพแทชจะช่วยส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมผลิตปุ๋ยโพแทสเซียมในประเทศ ช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลิตผลทางการเกษตร นอกจากนี้ โครงการเหมืองแร่โพแทชยังจะช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ และกระจายรายได้สู่ชุมชน

สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานที่สำคัญในช่วง 3 เดือน ที่ผ่านมา โดยมุ่งเน้นช่วยเหลือชาวไร่อ้อย สนับสนุนอุตสาหกรรมน้ำตาล และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เร่งจ่ายเงินตัดอ้อยสดฤดูการผลิตปีที่ผ่านมา กำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฤดูการผลิตปี 2565/2566 โดยมีราคาเฉลี่ยทั่วประเทศที่ 1,197.53 บาทต่อตัน กำหนดราคาอ้อยขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2566/2567 โดยมีราคาที่ 1,420 บาทต่อตัน และแจกพันธุ์อ้อยพันธุ์ดีให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยไปปลูกและขยายพันธุ์ จำนวน 900,000 ต้น

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) มุ่งเน้นดำเนินงาน 3 ด้าน ได้แก่ การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมไปสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจตาม Mega Trend ของโลก การพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา และข้อมูลเศรษฐกิจอุตสาหกรรม โดยด้านการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมนั้น สศอ. ได้กำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย จำนวน 5 สาขา เพื่อเป็น New Growth Engine ในการต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจ นอกจากนี้ สศอ. ยังได้จัดทำข้อเสนอการจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลและคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลให้เติบโตอย่างยั่งยืน 

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) มุ่งมั่นพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและเขตประกอบการอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ โดยเน้นพัฒนานิคมอุตสาหกรรม Smart Park เพื่อเป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบในการพัฒนาเชิงนิเวศและนวัตกรรม นอกจากนี้ กนอ. ยังได้อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมของการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ เพื่อรองรับการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมเป้าหมาย New S-Curve ในอนาคต ปัจจุบัน กนอ. มีนิคมอุตสาหกรรมและเขตประกอบการอุตสาหกรรมรวม 68 แห่ง ใน 16 จังหวัด มีพื้นที่รวม 190,150 ไร่ มีโรงงานอุตสาหกรรมรวม 4,862 โรง มูลค่า การลงทุนรวม 10.84 ล้านล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงานทั้งสิ้น 984,723 ราย

“ในช่วง 90 วัน ของการทำหน้าที่ ดิฉัน ได้กำกับดูแลให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมเน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในทุกมิติ โดยให้ความสำคัญกับประเด็นสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม มุ่งเน้น การบังคับใช้กฎหมาย กำกับดูแล และตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด เพื่อลดการปล่อยมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในระยะยาว นอกจากนี้ เรายังมุ่งเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจภาคใต้ ส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจเขตพื้นที่ภาคใต้ (Southern Industrial Fair) เร่งผลักดันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และอุตสาหกรรมแร่โพแทช รวมทั้งคุ้มครองผู้บริโภค โดยดำเนินการตรวจสอบและยึดอายัดผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานอย่างเข้มงวด สร้างเครือข่ายร้านจำหน่ายที่มีเครื่องหมายมาตรฐาน มอก. และช่วยเหลือชาวไร่อ้อย สนับสนุนอุตสาหกรรมน้ำตาล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ” รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวปิดท้าย

‘นายกฯ’ เดินสำรวจ ‘สินค้าไทย’ ในซูเปอร์มาร์เก็ต นครซูริก พบ!! ได้รับความนิยมสูง จ่อเล็งขยายตลาดส่งออกเพิ่มขึ้น

เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 67 เวลา 17.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น นครซูริก สมาพันธรัฐสวิส ภายหลังหารือเตรียมการประชุม World Economic Forum ประจําปี 2567 กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย นายจิตติพัฒน์ ทองประเสริฐ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น เดินตรวจตลาดสินค้าไทยในนครซูริก เช่น ผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรส ข้าว น้ำมะพร้าว ที่จำหน่ายใน Coop City Supermarket นครซูริก สมาพันธรัฐสวิส

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากการพูดคุยกับเอกอัครราชทูตไทย รู้สึกปลื้มใจที่สินค้าไทยสามารถส่งออกขายได้ทั่วโลก และพบว่าสินค้าไทยเป็นที่ชื่นชอบของคนที่นี่ โดยรัฐบาลจะพยายามขยายตลาดสินค้าไทย โดยจัดหาสินค้าไทยส่งออกมายังสมาพันธรัฐสวิสเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากสินค้าประเภทดังข้างต้น เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ และผู้ประกอบการ SME ของไทย

‘รมว.ปุ้ย’ เชิญ ‘สถาบันมาตรฐานซาอุฯ’ เยือนไทย รับรองมาตรฐาน ‘ฮาลาลไทย’ หวังต่อยอดสู่ตลาดโลก

เมื่อวานนี้ (15 ม.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการเข้าพบคณะผู้บริหารองค์กรมาตรฐาน มาตรวิทยา และคุณภาพ แห่งซาอุดีอาระเบีย (The Saudi Standards Metrology and Quality Organization : SASO) เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2567 ณ กรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ด้านการมาตรฐาน ส่งเสริมการค้าการลงทุนและอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างไทยและซาอุดิอาระเบีย พร้อมเชิญผู้บริหาร SASO เยือนไทย เพื่อทำแผนงานความร่วมมือและลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) 

“ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้หารือกับนายซาอูด บิน ราชิด อัล อัสการ์ รองผู้อำนวยการองค์กรมาตรฐาน มาตรวิทยา และคุณภาพแห่งซาอุดิอาระเบีย หรือ SASO ในระหว่างงาน Future Mineral Forum 2024 ณ ศูนย์การประชุมนานาชาติคิงอับดุลลาซิส กรุงริยาด โดยทั้งสองฝ่ายมีความเห็นตรงกันที่จะยกระดับความสัมพันธ์ด้านการมาตรฐาน การยอมรับผลการตรวจสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ระหว่างกัน เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบียให้เพิ่มขึ้น 

ทั้งนี้ ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ภายหลังการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ มูลค่าการค้าของไทยกับซาอุดีอาระเบียได้เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 23 ใกล้แตะมูลค่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้น จึงเสนอให้พัฒนาความร่วมมือในเชิงเทคนิคระหว่างกัน โดยได้เชิญผู้บริหารจาก SASO มาเยือนไทยเพื่อขับเคลื่อนในเชิงรุกกับ สมอ. โดยเริ่มต้นจากการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อเป็นหมุดหมายแรกแห่งความร่วมมือ 

นอกจากนี้ ยังได้ขอให้ SASO สนับสนุนการให้การรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์อาหารและผลิตภัณฑ์ฮาลาลของไทย โดยสินค้าฮาลาลของไทย แม้ว่าจะเป็นสินค้าที่ดีมีคุณภาพ แต่ปัญหาอุปสรรคหนึ่งในด้านการค้าคือ การยอมรับผลการตรวจสอบรับรองและเครื่องหมายรับรอง โดยมูลค่าการส่งออกอาหารฮาลาลของไทยไปยังซาอุดีอาระเบีย นับว่ายังมีมูลค่าน้อยและมีส่วนแบ่งตลาดเพียงไม่ถึงร้อยละ 1 ของมูลค่าการนำเข้าของซาอุดีอาระเบีย จึงเป็นโอกาสของไทยที่จะขยายตลาดได้อีกมาก หากมีการยกระดับความร่วมมือด้านการมาตรฐานระหว่างกัน ทั้งนี้ การผลักดันอาหารและผลิตภัณฑ์ฮาลาลเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงอุตสาหกรรมและรัฐบาล ซาอุดีอาระเบียนับเป็นตลาดฮาลาลที่ใหญ่ จึงเริ่มต้นก่อน และมีแผนที่จะขยายความร่วมมือไปถึงพหุภูมิภาคอื่นด้วย” รมต.พิมพ์ภัทราฯ กล่าว

ด้าน นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า สมอ.ขานรับนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและรัฐบาล ได้เตรียมความพร้อมด้านการตรวจสอบรับรองมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมฮาลาล ทั้งในด้านกระบวนการตรวจรับรองมาตรฐานฮาลาลของประเทศไทย และกลุ่มประเทศคู่ค้าที่สำคัญ รวมทั้งโอกาสในการเพิ่มการส่งออกอาหารฮาลาลของไทย โดยดำเนินการควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานด้านการมาตรฐาน อาทิ หน่วยตรวจรับรองที่มีความพร้อมในการตรวจรับรองมาตรฐานฮาลาลตามกระบวนการที่ประเทศคู่ค้ากำหนด ผู้ตรวจรับรองมาตรฐานฮาลาลที่เชี่ยวชาญตามกระบวนการตรวจสอบตามระบบ ISO/IEC 17020 และบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมอาหารที่มีทักษะในการพัฒนาสถานประกอบการให้มีมาตรฐานฮาลาลตามข้อกำหนดของประเทศคู่ค้า ตลอดจนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อให้สามารถขยายตลาดส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลไปยังกลุ่มประเทศคู่ค้าใหม่ ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ความร่วมมือดังกล่าว นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะยกระดับงานด้านการมาตรฐานฮาลาลของทั้ง 2 ประเทศ ให้เกิดการยอมรับผลการตรวจสอบรับรองสินค้าฮาลาล เพื่อผลักดันสินค้าไทยสู่ตลาดมุสลิมโลก เลขาธิการ สมอ. กล่าว

‘แบงก์ชาติ’ แจง!! เหตุยังไม่ลดดอกเบี้ยแม้เงินเฟ้อลง ชี้!! ดอกเบี้ยไทยยังต่ำ เมื่อเทียบกับทั่วโลก

(15 ม.ค. 67) นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงินและเลขาคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) กล่าวถึงแนวทางการดำเนินนโยบายทางการเงินของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ว่าเป็นไปในทิศทางที่เหมาะสมแล้ว ไม่สามารถปรับดอกเบี้ยนโยบายตามกระแสข่าวได้ เพราะต้องให้ความสำคัญกับ 3 ด้านหลักคือ 1.) เศรษฐกิจขยายตัวอย่างยั่งยืน 2.) ควบคุมเงินเฟ้อยั่งยืน และ 3.) เสถียรภาพเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ยังให้ความเห็นต่อประเด็นที่ว่าดอกเบี้ยนโยบายการเงินสูงไปหรือไม่นั้น นายปิติยืนยันว่าทางกนง. ไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่ปัญหาเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวไม่ทั่วถึง ไม่อาจใช้นโยบายการเงินมาแก้ไขโดยง่าย การลดดอกเบี้ยมีต้นทุนและเสี่ยง ต้องใช้อย่างระมัดระวัง เพราะไม่เพียงแค่เรื่องคุมเงินเฟ้อ แต่จะมีปัญหาอื่น ๆ ตามมาอีก

"นโยบายดอกเบี้ยต้องดูหลายปัจจัยรอบด้าน เพื่อดูให้ออกว่าอะไรเป็นแก่น อะไรเป็นกระแส ต้องมองไประยะปานกลาง เพราะใช้เวลาส่งผ่านช่วงหนึ่ง เหมือนส่งบอลให้เพื่อนว่าจะวิ่งไปทางไหน"

สำหรับแนวทางกำหนดกรอบดอกเบี้ยนโยบายโดยคำนึงถึงการสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างยั่งยืนนั้น นายปิติขยายความว่า แม้ในปี 2566 เศรษฐกิจฟื้นตัวแล้วในหลายมิติ แต่ยังไม่ทั่วถึงเท่าที่ควรและไม่สมดุล เพราะขาดแรงส่งจากภาคส่งออกและการผลิต แต่เป็นการขยายตัวที่เน้นหนักที่ด้านท่องเที่ยวและบริการเป็นหลัก ทั้งนี้ยังมีบางจุดที่ยังไม่เป็นไปตามคาด เช่น การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวและปริมาณนักท่องเที่ยวจีน เช่นเดียวกับที่ภาคการผลิตและภาคการส่งออกไม่ฟื้นตัวเร็ซอย่างที่เคยประเมินไว้ เพราะอุปสงค์โลกยังเน้นฟื้นตัวที่ภาคบริการเป็นหลัก ยังไม่มีความต้องการซื้อสินค้าจากทั่วโลก

ด้วยปัจจัยเชิงโครงสร้างเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัว จนส่งผลให้การส่งออกของไทยขยายตัวต่ำกว่าคู่แข่งมาก และดัชนีความซับซ้อนของสินค้าส่งออกของไทยเพิ่มเพียงเล็กน้อย ขณะที่หลายประเทศปรับเพิ่มสูงขึ้นกว่า สะท้อนว่าไทยกำลังสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน และไทยเองก็มีเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวน้อยลง เพราะขาดการพัฒนาเชิงโครงสร้างพื้นฐานเมื่อเทียบกับอินโดนีเซียและเวียดนาม

แต่มองว่าปี 2567 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวอย่างครบครันและสมดุลมากขึ้น จะมีทิศทางการส่งออกดีขึ้น จากปัจจัยที่วัฏจักรอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์โลกกลับมา แต่ปัญหาเชิงโครงสร้างยังทำให้ประโยชน์ที่ควรได้รับไม่มีมากเท่าที่ควร กนง.จึงให้ความสำคัญและยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในการประเมินภาพเศรษฐกิจในอนาคต

"เหตุผลที่เศรษฐกิจขยายตัวชะลอ เพราะปัจจัยทางโครงสร้าง และปัจจัยนอกประเทศที่เหนือการควบคุม เลยยังไม่สามารถปรับอัตราดอกเบี้ยลงได้"

สำหรับในมิติของเงินเฟ้อนั้น มองว่าการที่อัตราเงินเฟ้อปรับลดลงเป็นข่าวดี เพราะช่วยจำกัดค่าครองชีพของประชาชนไม่ให้สูงขึ้น และปัญหาเงินเฟ้อของไทยได้คลี่คลายไปพอสมควรแล้ว นอกจากนี้เงินเฟ้อที่ต่ำมาจากมาตรการรัฐ แต่จริง ๆ แล้วราคาสินค้าไม่ได้ลดลงเป็นวงกว้าง ทั้งนี้แม้ว่าเงินเฟ้อไทยปรับลดลงเร็ว จึงไม่เป็นภาระค่าใช้จ่ายแก่ผู้บริโภค อย่างไรก็ตามเงินเฟ้อคาดการณ์ยังอยู่ระดับ 2% และการลดลงของเฟ้อสะท้อนเรื่องอุปทานหรือการผลิตที่คลี่คลายลง โดยมองว่าเงินเฟ้อจะติดลบไปอีกถึงเดือนกุมภาพันธ์ แล้วจะค่อยเพิ่มขึ้นจึงคาดว่าปลายปีก็จะอยู่ 1-2% ตามระดับเป้าหมาย 

"ด้วยเงินเฟ้อที่ติดลบในช่วงนี้ก็ไม่ได้สะท้อนว่าเป็นเงินฝืดหรืออุปสงค์ที่ลดลงจริง จึงยังไม่ใช่เหตุผลที่ต้องลดดอกเบี้ยนโยบายลงทันที เพราะต้องดูให้รอบด้านไม่ใช่แค่เรื่องอัตราเงินเฟ้อ"

ส่วนมิติของการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยเพื่อดูแลเสถียรภาพทางการเงินนั้น นายปิติกล่าวว่า ระดับหนี้ที่สูงเป็นจุดเปราะบางสาคัญของเศรษฐกิจไทย โดยตัวเลขหนี้ต่อ GDP ลดลง แต่ยังอยู่ในระดับสูง นั่นคือหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 90.9% และหนี้ภาคธุรกิจต่อ GDP อยู่ที่ 87.4% เช่นเดียวกับที่สัดส่วนของหนี้ครัวเรือนไทยที่มีสินทรัพย์รองรับมีน้อยหรืออยู่ที่เพียง 34% เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่ส่วนใหญ่เกินกว่า 50% ซึ่งการกำหนดอัตราดอกเบี้ยต้องสอดรับกับศักยภาพพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจและการขยายตัวทางธุรกิจที่แท้จริง 

อย่างไรก็ตาม ดอกเบี้ยไทยยังต่ำเมื่อเทียบกับทั่วโลก แล้วเป็นไปในแนวทางที่กนง.ต้องการให้อยู่ในภาวะสมดุล เป็นกลาง และไม่ฉุดรั้งเศรษฐกิจ ให้มีเม็ดเงินเพียงพอไปหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจได้ แม้ค่าเงินบาทยังผันผวนแต่ยังอยู่ในระดับที่รับได้ 

ด้านนางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ยืนยันว่าการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เป็นไปอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะปัจจุบันยังส่งผ่านไปยังอัตราดอกเบี้ย MRR เพื่อดูแลลูกหนี้รายย่อย รวมถึงมีการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เปราะบางอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ได้เปรียบเทียบการส่งผ่านจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปยังอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ว่า ของไทยอยู่ที่ 69% สำหรับดอกเบี้ย MLR อยู่ที่ 64% สำหรับ MOR และ ที่ 49%  สำหรับ MRR ซึ่งโดยเฉลี่ยยังต่ำกว่าหลายประเทศ แม้อาจสูงกว่าเมื่อเทียบกับบางประเทศ เช่น อินโดนีเซีย

ส่วนประเด็นที่ผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ค่อนข้างสูงเป็นจุดที่เหมาะสมหรือไม่นั้น ทางแบงก์ชาติมองว่า เรื่องส่งต่างอัตราดอกเบี้ยเป็นกลไกตลาด ที่การส่งผ่านดอกเบี้ยนโยบายไปเงินฝากน้อยเกินไป โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ยังไม่ค่อยตึงตัว ทั้งนี้หน้าที่ของแบงก์ชาติต้องดูแลเรื่องความมั่นคงของธนาคารพาณิชย์ และดูแลเรื่องให้บริการอย่างเป็นธรรมกับผู้บริโภคด้วย นอกจากนี้ยังดูเรื่องต้นทุนการดำเนินธุรกิจของธนาคารพาณิชย์อยู่แล้ว เช่น การเก็บค่าธรรมเนียมที่เป็นธรรม 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top