Monday, 7 July 2025
ECONBIZ NEWS

‘ไทย’ คว้าอันดับ 2 ‘กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา’ ที่น่าลงทุนที่สุดในเอเชีย แซงหน้า!! ‘เวียดนาม’ หลัง Milken Institute ของสหรัฐฯ จัดทำขึ้น

(20 มี.ค.67) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า จากการประกาศผลดัชนีโอกาสด้านการลงทุนระดับโลก (Global Opportunity Index) หรือ GOI ซึ่งจัดทำโดย Milken Institute สหรัฐอเมริกา พบว่า ไทยครองอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย (Emerging and Developing : E&D) ที่น่าลงทุนที่สุด (https://milkeninstitute.org/report/global-opportunity-index-2024) 

ด้าน โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ดัชนี GOI จัดทำขึ้นเพื่อให้ข้อมูลแก่นักลงทุนทั่วโลกที่มองหาโอกาสในการลงทุนในต่างประเทศ และให้ข้อมูลแก่ประเทศต่างๆ ที่ต้องการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ โดยดัชนีนี้อิงตามตัวชี้วัด 100 รายการ แบ่งออกเป็น 5 หมวดหมู่ ได้แก่

1. การรับรู้ทางธุรกิจ
2. พื้นฐานทางเศรษฐกิจ
3. บริการทางการเงิน
4. โครงสร้างเชิงสถาบัน
5. มาตรฐานและนโยบายระหว่างประเทศ 

ทั้งนี้ ประเทศไทย อยู่ในอันดับ 2 ในกลุ่ม E&D ในภูมิภาคเอเชีย โดยอันดับ 1-5 กลุ่ม E&D ในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ มาเลเซีย ไทย จีน อินโดนีเซีย และเวียดนาม

ส่วนในอันดับโลก ไทยอยู่ในอันดับ 37 ทั้งนี้ กลุ่ม E&D ในภูมิภาคเอเชีย รายการการรับรู้ทางธุรกิจไทยอยู่อันดับ 21 ในพื้นฐานทางเศรษฐกิจ อยู่อันดับ 22 บริการทางการเงินอันดับ 29 โครงสร้างเชิงสถาบันอันดับ 51 และมาตรฐานและนโยบายระหว่างประเทศอันดับ 68 โดยประเทศที่น่าลงทุนที่สุดในโลกได้แก่ เดนมาร์ก

โดยตามรายงาน ประเทศในกลุ่ม E&D ในภูมิภาคเอเชีย มีผลประกอบการที่ดีกว่าภูมิภาคอื่น ดึงดูดเงินทุนมากกว่าครึ่งหนึ่ง (53.2%) ไหลเข้าสู่ประเทศ E&D ระหว่างปี 2018-2022 เพิ่มส่วนแบ่งใน E&D มากขึ้น 7.3% จาก 45.9% ระหว่างปี 2013-2017

“นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ กำหนดนโยบายให้ทันสมัย สอดคล้องจูงใจนักลงทุน รวมทั้งพัฒนาและอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน (Ease of doing Business) อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ไทยเป็นที่สนใจจากนักลงทุนต่างชาติ พร้อมกับได้ออกไปรับฟังว่าสิ่งสำคัญที่นักลงทุนรายใหญ่ระดับโลกต้องการคืออะไร เพื่อปรับกระบวนทัศน์ และยุทธศาสตร์ของไทยให้ตอบรับกับความต้องการของนักลงทุนรายใหญ่ พร้อมกันนี้ Message สำคัญที่นายกรัฐมนตรีส่งต่ออย่างต่อเนื่องคือ ประเทศไทยเปิดแล้ว พร้อมรองรับการลงทุน และเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่จะลงทุนในประเทศไทย” นายชัย กล่าว

'ปตท.สผ.' เผย!! เพิ่มการผลิตก๊าซฯ ได้ถึง 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันแล้ว  ตามแนวทาง 'พีระพันธุ์' เพื่อบรรเทาผลกระทบด้านค่าไฟฟ้าให้แก่ ปชช.

(20 มี.ค.67) นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า หลังจากที่ ปตท.สผ. ได้ชนะการประมูลและเป็นผู้ได้รับสิทธิในสัญญาแบ่งปันผลผลิตแปลงสำรวจ G1/61 ในทะเลอ่าวไทย ในปี 2561 จากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน โดยได้ลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิต ในปี 2562 บริษัทฯ ได้เร่งดำเนินงานทุกด้านอย่างเต็มความสามารถ เพื่อเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซฯ ให้ได้ตามแผนงาน โดยได้ปรับปรุงสิ่งติดตั้งและอุปกรณ์ให้มีเสถียรภาพและมีความปลอดภัยสูงขึ้น รวมถึงติดตั้งแท่นหลุมผลิต (wellhead platform) 12 แท่น เจาะหลุมผลิต (production well) เพิ่มกว่า 300 หลุม และวางท่อก๊าซธรรมชาติ เพื่อเพิ่มอัตราการผลิตให้สูงขึ้นตามลำดับ จนถึงระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในวันนี้ (20 มี.ค. 67) เพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานของประชาชน และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

“การเพิ่มการผลิตก๊าซธรรมชาติในโครงการ G1/61 ถือเป็นภารกิจสำคัญของ ปตท.สผ. ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทตระหนักเป็นอย่างยิ่งถึงความสำคัญของก๊าซฯ ในอ่าวไทย ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหลักที่รองรับความต้องการใช้พลังงานทั้งภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม จึงได้เร่งดำเนินการทุกขั้นตอนเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตก๊าซฯ ให้ได้เร็วที่สุด และในวันนี้ โครงการ G1/61 สามารถผลิตได้ถึงระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งความสำเร็จในครั้งนี้ มาจากความมุ่งมั่นของพนักงานทุกคน รวมทั้ง การสนับสนุนจากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่จะช่วยลดผลกระทบด้านพลังงานให้กับประชาชน และสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ” นายมนตรี กล่าว

สำหรับแผนงานต่อไป ปตท.สผ. มีแผนที่จะติดตั้งแท่นหลุมผลิตเพิ่มเติมอีกปีละประมาณ 8 แท่นและเจาะหลุมผลิตเพิ่มอีกประมาณ 300 หลุมต่อปี โดยในปี 2567 บริษัทจะใช้เงินลงทุนในโครงการ G1/61 เป็นจำนวนกว่า 30,000 ล้านบาท เพื่อให้โครงการ G1/61 เป็นหนึ่งในโครงการของ ปตท.สผ. ที่เป็นหลักในการเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศในระยะยาวต่อไป

ทั้งนี้ แผนการเร่งโครงการ G1/61 ดังกล่าว ได้รับการกระตุ้นโดย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่กำชับให้ภาคเอกชนต้องผลิตได้อยู่ในระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ภายในวันที่ 1 เมษายนนี้ เพื่อช่วยลดผลกระทบด้านค่าไฟฟ้า และเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ

‘พีระพันธุ์’ ปลื้ม!! แหล่งเอราวัณผลิตก๊าซ 800 ล้านลบ.ฟ./วัน แล้ว เชื่อ!! ช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า - สร้างค่าไฟเป็นธรรมให้ ปชช.

‘กระทรวงพลังงาน’ เผยข่าวดี แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณในอ่าวไทย สามารถเพิ่มอัตราการผลิตเป็น 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หลังจากที่ผู้รับสัญญาเร่งดำเนินงาน จนสามารถดำเนินการเพิ่มอัตราการผลิตได้เร็วกว่าแผนที่กำหนด ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ให้ความสำคัญและกำชับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อความเป็นอยู่ของประชาชน

(20 มี.ค. 67) นายพีระพันธ์ุ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า “การเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติของแปลง G1/61 ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในวันที่ 20 มีนาคม 2567 นี้ เป็นการดำเนินการได้เร็วกว่าแผนที่กำหนด ถือว่าเป็นการแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของทั้งภาครัฐ คือ กระทรวงพลังงานโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และผู้ได้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต คือ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (ปตท.สผ. อีดี) ในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ

ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยผมและทีมงานได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมแท่นผลิตก๊าซธรรมชาติโครงการ G/61 (แหล่งเอราวัณ) เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อติดตามให้มีการบริหารจัดการและเพิ่มการผลิตปิโตรเลียมอย่างเต็มกำลังให้ได้ปริมาณตามที่กำหนด รวมทั้งมอบหมายให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติกำกับดูแลการดำเนินงานของผู้รับสัญญาอย่างใกล้ชิด เพราะก๊าซธรรมชาติถือเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศ

ดังนั้น การเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติ ให้เป็นไปตามเป้าหมาย จะมีส่วนช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าและรักษาระดับค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนได้”

ด้านนายวรากร พรหโมบล อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า “กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ในฐานะที่กำกับดูแลการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศ ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่มาโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานของแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 ซึ่งนับเป็นงานที่มีความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการใช้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตในกิจการปิโตรเลียม โดยได้มีการเตรียมโครงสร้างหน่วยงานและบุคลากรของกรมเพื่อรองรับภารกิจการดำเนินงานภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต ตลอดจนการติดตาม กำกับดูแล พร้อมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานต่าง ๆ ของบริษัท ปตท.สผ. อีดี ให้เป็นไปอย่างราบรื่น เพื่อให้การผลิตปิโตรเลียมจากแปลงดังกล่าวเป็นไปตามเป้าหมาย ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

“ทั้งนี้ แหล่งก๊าซธรรรมชาติเอราวัณ นับเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติในทะเลอ่าวไทยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และเป็นหัวใจสำคัญในการผลิตก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้า

“ซึ่งภายหลังจากนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะยังคงทำงานร่วมกับผู้รับสัญญาอย่างใกล้ชิด เพื่อรักษาระดับการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งดังกล่าวให้มีความต่อเนื่อง และสามารถสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เพื่อเป็นฐานในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศให้แข็งแกร่งต่อไป”

'สุริยะ' ปลื้ม!! มาตรการค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เดินหน้าทะลุเป้า 5 เดือน 'สีแดง-สีม่วง' ทุบสถิตินิวไฮ ยอดผู้โดยสารเพิ่มต่อคน-เที่ยว 18%

(20 มี.ค.67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติในหลักการในการดำเนินมาตรการอัตราค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 20 บาท หรือ 20 บาทตลอดสาย โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 เป็นต้นมา ในโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง สายนครวิถี (กรุงเทพอภิวัฒน์ - ตลิ่งชัน) และสายธานีรัถยา (กรุงเทพอภิวัฒน์ - รังสิต) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ช่วงเตาปูน - คลองบางไผ่ ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ตามนโยบาย Quick Win ของรัฐบาลนั้น

ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางราง (ขร.) รายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2566 - 14 มีนาคม 2567 พบว่า รถไฟชานเมืองสายสีแดง ทั้งสายกรุงเทพอภิวัฒน์ - ตลิ่งชัน และสายกรุงเทพอภิวัฒน์ - รังสิต มีผู้ใช้บริการเฉลี่ยวันละ 27,683 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้นจากก่อนมีมาตรการฯ 27.97% ที่มีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 21,632 คน-เที่ยว สูงกว่าประมาณการที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 10 - 20% ขณะที่ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีม่วง ช่วงเตาปูน - คลองบางไผ่ พบว่า มีผู้ใช้บริการเฉลี่ยวันละ 65,179 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้นจากก่อนมีมาตรการฯ 14.39% ที่มีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 56,979 คน-เที่ยว 

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาภาพรวมทั้งสายสีแดง และสายสีม่วง พบว่า ภายหลังมีมาตรการอัตราค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย มีผู้โดยสารใช้บริการรวมสองสายเฉลี่ยวันละ 92,714 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้น 17.94% จากเดิมก่อนมีมาตรการฯ ทั้งสองสายรวมกัน มีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 78,611 คน-เที่ยว ซึ่งมากกว่าประมาณการที่ตั้งไว้ และยังพบว่า ทั้งสองเส้นทาง มีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้น และมีผู้โดยสารใช้บริการมากสุดตั้งแต่เปิดให้บริการมา (Newhigh) อย่างต่อเนื่อง 

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า การดำเนินมาตรการอัตราค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย ตามนโยบายรัฐบาลนั้น จากการประเมินมูลค่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม พบว่า มาตรการดังกล่าว มีมูลค่าสูงถึงวันละ 2,640,000 บาท และคาดการณ์ว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนั้นโครงการดังกล่าวยังเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะ ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้กับประชาชน ลดภาวะมลพิษ และลดการใช้พลังงานภายในประเทศได้อีกด้วย

ขณะเดียวกันยังเป็นการสนับสนุนให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในระดับมหภาคจากการเพิ่มการเดินทางของประชาชน กระตุ้นเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เท่าเทียมในการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะ โดยกระทรวงคมนาคมได้เร่งผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งภายใน และภายนอกสถานี เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงระบบราง เช่น ถนนสายหลัก ถนนสายรอง ทางเดิน ทางรถจักรยาน เป็นต้น 

นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินโครงสร้างพื้นฐานภายนอกสถานีที่เอื้ออำนวยการเชื่อมต่อระหว่างสถานีกับ ย่านพาณิชยกรรม ย่านที่อยู่อาศัย และบริการสาธารณะต่างๆ รวมทั้งการจัดระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง (Feeder System) สามารถนำผู้โดยสารจากที่พักอาศัยเข้าสู่สถานีระบบขนส่งมวลชนทางราง เช่น รถโดยสารประจำทาง รถรับจ้างโดยสารสาธารณะ ขนส่งมวลชนสาธารณะระบบรางเบา หรือขนส่งมวลชนอื่นที่จะเชื่อมโยงการเดินทางจากใจกลางเมืองสู่พื้นที่รอบนอก เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร สามารถเพิ่มจำนวนผู้โดยสารเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นการเพิ่มรายได้ ลดภาระการชดเชยจากภาครัฐได้ต่อไป

'ตลท'. เผย!! 'SET-MAI' จ่ายเงินปันผลปี 2023 ลดลง 2.95 ชี้!! หมวดพลังงานยังจ่ายมากสุด 1.38 แสนล้าน

(19 มี.ค. 67) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผย ในปี 2023 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ทั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์ mai จำนวน 583 บริษัท มีการจ่ายเงินปันผลรวม 842 ครั้ง เป็นการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นรวมกว่า 5.93 แสนล้านบาท ลดลง 2.95% จาก 6.11 แสนล้านบาทในปี 2022

อย่างไรก็ตามหากพิจารณาการจ่ายเงินปันผลในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่ามูลค่าการจ่ายเงินปันผลให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยเติบโตเฉลี่ยปีละ 4.49%

ในช่วงเทศกาลจ่ายเงินปันผล คือ ในช่วงเดือนมีนาคม - พฤษภาคม 2023 บริษัทจดทะเบียนจ่ายเงินปันผลรวม 530 ครั้ง หรือคิดเป็น 62.9% ของจำนวนการจ่ายเงินปันผลทั้งหมดในปี 2023 โดยเดือนพฤษภาคม 2023 มีการจ่ายเงินปันผลมากที่สุดทั้งจากจำนวนครั้งและมูลค่าเงินปันผลจ่าย

โดยในเดือนพฤษภาคม 2023 มีการจ่ายเงินปันผลมากที่สุดรวม 449 ครั้ง คิดเป็น 53.3% ของจำนวนการจ่ายเงินปันผลทั้งหมดในปี 2023 และในแต่ละปีจะมีเทศกาลจ่ายเงินปันผลอีกหนึ่งรอบในช่วงเดือนกันยายนของทุกปี ซึ่งในเดือนกันยายน 2023 มีการจ่ายเงินปันผลรวม 175 ครั้ง หรือประมาณ 20.8% ของจำนวนการจ่ายเงินปันผลในปี 2023

ทั้งนี้ หมวดธุรกิจที่มีการจ่ายเงินปันผลมูลค่าสูงสุด 3 อันดับแรก ในปี 2566 ได้แก่ หมวดพลังงานและสาธารณูปโภค หมวดธนาคาร และหมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 

โดยบริษัทจดทะเบียนในหมวดพลังงานและสาธารณูปโภค (Energy and utilities sector) จ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นด้วยมูลค่ามากที่สุดมีมูลค่ารวมกว่า 1.38 แสนล้านบาท ตามมาด้วยบริษัทจดทะเบียนในหมวดธนาคาร (Banking sector) ที่จ่ายเงินปันผลด้วยมูลค่ารวม 1.31 แสนล้านบาท และหมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information & Communication Technology sector) 

ขณะที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai มีการจ่ายเงินปันผลรวมกว่า 7.19 พันล้านบาทในปี 2023

นอกจากสถิติเกี่ยวกับการจ่ายเงินปันผลของบริษัทจดทะเบียนแล้ว บริษัทจดทะเบียนมีการจ่ายปันผลเป็นหุ้นอีกด้วย โดยในปี 2023 มีบริษัทจดทะเบียนจำนวน 32 บริษัท มีการจ่ายปันผลเป็นหุ้นรวม 34 ครั้ง

หากพิจารณาความสามารถในการจ่ายเงินปันผลของบริษัทจดทะเบียนจากผลประกอบการ ประจำปี 2023 พบว่า บริษัทจดทะเบียนไทย 823 บริษัท ที่รายงานผลประกอบการ มีกำไรสุทธิรวมกว่า 9.47 แสนล้านบาท ซึ่งกำไรสุทธิรวมลดลง 2.6% จากปี 2022

อย่างไรก็ตาม 76.0% ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด (625 บริษัท) ยังคงมีกำไรสุทธิจากการดำเนินธุรกิจในปี 2023 แต่บริษัทเหล่านี้จะมีการพิจารณาจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายการจ่ายเงินปันผล และมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นของแต่ละบริษัท

'รมว.ปุ้ย' เตือน!! อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ต้องเร่งเครื่อง ปรับจุดเปลี่ยนให้เป็นโอกาส

(18 มี.ค. 67) อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยนั้น ถือเป็นอุตสาหกรรมหลักที่สามารถสร้างรายได้ทั้งในประเทศและการส่งออกได้อย่างมากในทุก ๆ ปี อ้างอิงจากข้อมูลของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ว่า ในปี 2566 มียอดการผลิตรถยนต์ในเดือน ม.ค.-ธ.ค. รวมทั้งสิ้น 1,841,663 คัน และมีการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปในช่วงดังกล่าวรวม 1,117,539 คัน มูลค่าการส่งออก 719,991.98 ล้านบาท แต่หากว่ามีการรวมกลุ่ม เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนอื่น ๆ อะไหล่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ชิ้นส่วน และอะไหล่รถจักรยานยนต์ จะส่งผลให้มีมูลค่าการส่งออกรวมทั้งสิ้น 1,046,201.01 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นมูลค่าที่สูงอย่างมาก

ขณะที่ในปี 2567 นี้เอง กลุ่มยานยนต์ ส.อ.ท.ก็ยังได้ประมาณการผลิตรถยนต์รวมทุกประเภทว่าจะอยู่ที่ 1,900,000 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 66 ที่ 3.17% แยกเป็นผลิตเพื่อการส่งออกที่ 1,150,000 คัน การผลิตเพื่อการจำหน่ายในประเทศ 750,000 คัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศนั้นยังเป็นกลุ่มที่สามารถจะสร้างรายได้ให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยได้อย่างต่อเนื่อง แต่ในกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยนั้นก็มีเรื่องที่ต้องจับตาและติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปได้อย่างราบรื่น และสามารถตอบสนองความต้องการของคนในสังคม รวมทั้งเทรนด์ของโลกได้

เนื่องด้วยปัจจุบันที่โลกกำลังเร่งเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน เพื่อที่จะมุ่งไปสู่การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์นั้น ทำให้กระบวนการทำงานต่าง ๆ ถูกปรับเปลี่ยนไปให้เหมาะสมกับบริบทนั้น ๆ รวมไปถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ปัจจุบันเริ่มให้ความสำคัญและพัฒนาความนิยมไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี โดยประเทศไทยตื่นตัวกับเรื่องนี้มาสักระยะหนึ่ง

น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เคยกล่าวไว้ในการปาฐกถาในหัวข้อ ‘ยุทธศาสตร์ยานยนต์ไทย สู่…ท็อปเทนโลก’ ว่า “เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะสามารถกลับมาเป็นเสือที่ตื่นและผงาดอยู่ในท็อป 10 ของฐานการผลิตยานยนต์ และยานยนต์ไฟฟ้าของโลก พร้อมกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการรักษาโลกส่งต่อให้คนรุ่นหลัง”

โดย น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไปสู่การผลิตยานยนต์ที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางตลาดโลก แต่ก็คงต้องยอมรับว่ามีคำถามที่ยังไม่มีคำตอบมากมายเช่นกัน อาทิ ภาพสัดส่วนของยานยนต์ในอนาคตจะเป็นอย่างไร เครื่องยนต์สันดาป (ไออีซี) จะหายไปเลยหรือไม่ สุดท้ายแล้วยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จะครองโลกหรือไม่ โดยไทยต้องมียุทธศาสตร์ทั้งรุกและรับ ต้องลุยไปข้างหน้าในขณะที่ยังต้องมีความยืดหยุ่นปราดเปรียวพร้อมปรับตัว ก้าวย่างต้องมีจังหวะที่พอเหมาะพอดี ไม่ช้าจนตกเวที ตามกระแสการเปลี่ยนแปลงไม่ทัน แต่ก็ไม่เร็วจนหลุดโค้ง

“การที่ประเทศไทยจะรักษาความเป็นฐานการผลิตยานยนต์แห่งอนาคต จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ที่ผสมผสานในหลาย ๆ ด้านทั้งยุทธศาสตร์ในเชิงรุก ใช้จุดแข็งที่ไทยมีในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ในภูมิภาค เพื่อเร่งปรับตัวก้าวให้ทันกับกระแสของอีวี ยานยนต์ไฟฟ้า และยุทธศาสตร์ในเชิงรับ ส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์เดิมให้สามารถยืนหยัด พัฒนายานยนต์เดิมให้สะอาดและประหยัดขึ้น และส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ประเภทเชิงพาณิชย์ ซึ่งยังไม่มีผู้เล่นในตลาดโลกมากนัก ถือเป็นโอกาสของผู้ผลิตของไทยที่ยกระดับการเป็นผู้ผลิตและการทำตลาดในประเทศและการส่งออก” น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าว

ด้าน นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่ไทยต้องสนับสนุนคือเรื่องพลังงานหมุนเวียน พลังงานสีเขียวมากขึ้น เพราะบริษัทต่างชาติให้ความสำคัญเรื่องนี้ในการเข้ามาตั้งโรงงาน นอกจากนี้รัฐบาลต้องส่งเสริมเรื่องคนในอุตสาหกรรมรถไฟฟ้า เนื่องจากการมีโรงงานเข้ามาตั้ง เพราะหากประเทศมีความพร้อมทางภาคแรงงานจะสามารถสร้างการยอมรับจากประเทศอื่น ๆ ได้ และมีโอกาสกระจายสินค้าจากไทยไปต่างประเทศได้มาก โดยด้านคนหรือแรงงานนั้นเรื่องที่ต้องโฟกัสคือด้านหลักสูตรการเรียนการสอนของสถานศึกษาในปัจจุบัน เพื่อรองรับตลาดแรงงานในอนาคต รัฐต้องจับมือกับเอกชนพัฒนาให้แรงงาน นักศึกษา มีสถานที่ฝึกงาน และต้องผลักดันให้เกิดการร่วมทุนการค้าไทย

ด้าน นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการบริษัท เอ็มจี เซลล์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เอเชียเป็นตลาดใหญ่สุดในยอดขายรถยนต์ และเป็นอีวี 9.9 ล้านคันทั่วโลก เท่ากับ 14% โดยตลาดที่มีอัตราเติบโตคือ ตลาดที่ไม่มีพลังงานของตัวเอง สำหรับประเทศไทยรถยนต์สันดาปหรือรถน้ำมันจะยังไม่หายไปจากตลาด แต่เป็นโจทย์ที่ต้องกลับมาถามว่าทำอย่างไรให้รถยนต์สันดาปและอีวีโตไปด้วยกัน โดยรถอีวีเป็นตัวเสริม

ประเทศไทยยังขาดเรื่องแบตเตอรี่อยู่ เนื่องจากรัฐยังมองเป็นเรื่องวัตถุต้องห้าม ต้องทดสอบ จึงเป็นอุปสรรคมากกว่าโอกาส จึงอยากให้ภาครัฐส่งเสริมความต้องการในประเทศก่อน ซึ่งไทยพร้อมในทุกเรื่องของรถอีวีแล้ว โดยภาคเอกชนไทยเองก็มีศักยภาพ แต่ยังไม่โดดลงมาเล่น อยากให้รัฐบาลส่งเสริมให้เอกชนเข้ามา ซึ่งเอกชนไทยสามารถทำได้แน่ทั้งเรื่องการผลิตและรีไซเคิลแบตเตอรี่รถยนต์อีวี

“การทำให้ไทยติดท็อป 10 ผู้ผลิตรถไฟ้าทำได้ไม่ยาก แต่การทำให้ยั่งยืนถือเป็นเรื่องยาก เมื่ออุตสาหกรรมถูกดิสรัปชันแล้วก็จะเปลี่ยนแปลงไป เพราะโลกเปลี่ยนตลอดเวลา เราต้องเป็นเจ้าของเทคโนโลยีถึงจะช่วยให้เกิดความยั่งยืน ไม่เช่นนั้นจะถูกคู่แข่งแซง เพราะตลาดไทยไม่ใหญ่” นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว

นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า กติกาการค้าใหม่จะใช้เรื่องสิ่งแวดล้อมมากีดกันทางการค้า มองว่าไทยมีโอกาสมากกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน เพราะไม่ได้เป็นศัตรูกับใคร จึงเห็นว่าจีน ยุโรป มาลงทุนในไทย การผลักดันเรื่องสิ่งแวดล้อมจะเป็นตัวเสริมมาช่วยลดการกีดกันทางการค้า อยู่ที่ไทยจะฉวยโอกาสได้อย่างไร

ด้วยคำว่ากติกาใหม่นี่เอง จึงเป็นอีกด้านที่อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยจะต้องจับตา เพราะในปัจจุบันมีหลายประเทศเดินหน้าทำมาตรฐานใหม่ๆ โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าของไทย โดยล่าสุดอย่างที่ประเทศออสเตรเลียได้ออกกฎหมายการกำหนดมาตรฐานมลพิษใหม่ของรถยนต์ที่จัดจำหน่ายในประเทศออสเตรเลีย หรือที่เรียกว่า New Vehicle Efficiency Standard-NVES ที่มีแผนการบังคับใช้ในปี 2568 และหากมีการบังคับใช้มาตรฐานนี้จะส่งผลกระทบต่อการผลิตรถยนต์ของผู้ประกอบการในประเทศไทย และอาจทำให้การส่งออกจากประเทศไทยลดลง

ซึ่งปัจจุบันไทยมีการส่งออกรถยนต์ไปยังออสเตรเลียประมาณ 260,000 คันต่อปี และออสเตรเลียนำเข้ารถกระบะจากประเทศไทยมากที่สุดเป็นอันดับ 1 หรือคิดเป็น 48.25% ของปริมาณการนำเข้ารถกระบะทั้งหมด และหากมีการบังคับใช้มาตรฐานดังกล่าวแล้วรถยนต์ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดจะมีค่าปรับสูงมากถึง 100 เหรียญฯ/กรัม/กิโลเมตร และล่าสุดผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบได้ประสานกับกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อขอความช่วยเหลือ โดยต้องการเวลาที่เหมาะสมเพื่อการปรับตัวสำหรับการเปลี่ยนผ่าน ที่รวมถึงการที่ผู้ประกอบการต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตหลายส่วน จึงต้องการขอให้ทางการออสเตรเลียพิจารณาระยะเปลี่ยนผ่านอย่างน้อย 2-3 ปี ภายใต้ข้อตกลงว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (WTO TBT Agreement)

ขณะที่ ทางออสเตรเลียเองอยู่ระหว่างเวียนแจ้งกฎระเบียบดังกล่าวให้ประเทศสมาชิกมีโอกาสแสดงความคิดเห็น ภายในวันที่ 30 เม.ย.2567 และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้ดำเนินการแจ้งกฎระเบียบดังกล่าวของออสเตรเลียไปยังผู้เกี่ยวข้องในประเทศไทยทุกส่วน เช่น สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เป็นต้น เพื่อรวบรวมและรับฟังความเห็นอย่างเป็นทางการ ขณะเดียวกันนางสาวพิมพ์ภัทราได้มีการหารือกับผู้บริหารบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และผู้บริหาร สมอ. เพื่อร่วมกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว

อีกหนึ่งกติกาที่ต้องจับตามอง แม้จะไม่ใช่ด้านยานยนต์โดยตรงแต่ก็อาจจะมีการพัฒนามาจนถึงรูปแบบการเก็บภาษีกับรถยนต์ได้ ก็คือกติกาเกี่ยวกับการดูแลปัญหาขยะพลาสติกที่ทำให้ประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรปเริ่มมีการออกกฎหมายเพื่อจัดเก็บ ‘ภาษีพลาสติก’ เริ่มตั้งแต่การจัดเก็บภาษีหรือค่าธรรมเนียมถุงพลาสติกแล้ว เพราะในยุคที่ทั่วโลกต่างตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติก ทำให้ประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรปเริ่มมีการออกกฎหมายเพื่อจัดเก็บภาษีพลาสติก เริ่มตั้งแต่การจัดเก็บภาษีหรือค่าธรรมเนียมถุงพลาสติก

โดยจะเห็นได้จากการประกาศใช้ระเบียบเพื่อควบคุมการใช้ด้วยถุงพลาสติกหูหิ้วชนิดบางของสหภาพยุโรปเมื่อปี พ.ศ.2558 (Directive (EU) 2015/720 amending Directive 94/62/EC as regards reducing the consumption of lightweight plastic carrier bags) ที่ห้ามประเทศสมาชิกแจกถุงพลาสติกหูหิ้วกับผู้บริโภค เพื่อควบคุมปริมาณขยะพลาสติกที่เกิดจากถุงพลาสติก แต่ขยะพลาสติกไม่ได้มีเพียงแค่ถุงพลาสติก เมื่อผู้ประกอบการ ผู้ผลิตสินค้าหันมาใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single-use plastics) เพิ่มมากขึ้นเพื่อตอบสนองความสะดวกสบายของผู้บริโภค ทำให้ขยะพลาสติกกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นมหาศาลและตกค้างรั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง

การแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านนโยบายและมาตรการ European Green Deal ในปี 2562 สหภาพยุโรปได้จัดทำแผนปฏิบัติการเศรษฐกิจหมุนเวียนของสหภาพยุโรป (The EU’s Circular Economy Action Plan) ซึ่งมีการระบุที่จะใช้มาตรการภาษีกับพลาสติกและบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่รีไซเคิลไม่ได้ ประจวบกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้สหภาพยุโรปมองว่าการเก็บภาษีพลาสติกจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติก พร้อมไปกับการสร้างแหล่งรายได้ใหม่ในการฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป

มีการคาดการณ์ว่า ภาษีพลาสติกของสหภาพยุโรปนี้จะช่วยให้สหภาพยุโรปมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 7 พันล้านยูโรต่อปี และเป็นแหล่งรายได้ใหม่สำหรับงบประมาณของสหภาพยุโรปในช่วงปี พ.ศ. 2564-2570 แม้จะเป็นการนำร่องดำเนินการในช่วงแรกที่อาจจะไม่ได้ส่งผลกระทบมายังอุตสาหกรรมอื่น ๆ อย่างเช่น กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ หรือยานยนต์ที่มีพลาสติกเป็นส่วนประกอบ แต่เชื่อว่าโมเดลการดูแลเรื่องขยะพลาสติกนั้นจะถูกพัฒนาไปอีกหลายขั้นตอน จนสุดท้ายแล้วในอนาคตอันใกล้นี้อาจจะต้องกลับมาทบทวนอีกครั้งสำหรับภาคการผลิตต่าง ๆ ถึงกระบวนการการกำจัดที่เข้าที่เข้าทางเพื่อไม่ให้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่อไป

'รมว.ปุ้ย' เยือนถิ่นล้านนา 'เชียงราย-พะเยา-แพร่-น่าน' ลุยยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน สร้างรายได้เพิ่ม

'รมว.พิมพ์ภัทรา' แอ่วเมืองเหนือ เยือนถิ่นล้านนา 'เชียงราย-พะเยา-แพร่-น่าน' ลุยพัฒนา และยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน พร้อมสนับสนุนเงินทุน เทคโนโลยี ความรู้ ส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก และสร้างแบรนด์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้ผู้ประกอบการ กระจายรายได้สู่ชุมชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมเตรียมนำข้อเสนอของภาคเอกชนเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 

(18 มี.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นำคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจราชการและประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2567 กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (จังหวัดเชียงราย พะเยา แพร่ น่าน) ระหว่างวันที่ 17-19 มีนาคม 2567 ซึ่งก่อนที่จะมีการประชุมคณะรัฐมนตรีฯ ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมกิจกรรมของผู้ประกอบการชุมชนภาคเหนือในพื้นที่จังหวัดแพร่ 

โดยในจุดแรกได้ไปเยี่ยมชมการดำเนินกิจการของชุมชนหมู่บ้านตีเหล็กบ้านร่องฟอง ตั้งอยู่ที่ศูนย์การแสดงสินค้า และผลิตภัณฑ์ชุมชน หมู่ 5 ตำบลร่องฟอง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ ดำเนินกิจการอุตสาหกรรมตีเหล็ก และอุตสาหกรรมผ้ามัดย้อม มีจำนวนสมาชิก/พนักงาน ตีเหล็กประมาณ 800 ครัวเรือน ทำผ้าประมาณ 700 ครัวเรือน โดยมียอดขายปีล่าสุด ตีเหล็กประมาณ 20-30 ล้านบาท และผ้าประมาณ 20 ล้านบาท ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการเกษตร ได้แก่ มีด เคียว จอบ เสียมพร้า ฯลฯ และผลิตภัณฑ์ชุดเสื้อผ้ามัดย้อม กางเกงขาก๊วยเสื้อผ้าแฟชั่น และเสื้อกันหนาว 

ทั้งนี้ หมู่บ้านตีเหล็กบ้านร่องฟอง ได้ขอรับการสนับสนุนแหล่งเงินทุน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ผลักดันการแก้ปัญหาผังเมืองจังหวัดเพื่อให้สามารถขยายกิจการโรงงานได้ โดยในปี 2567 กระทรวงอุตสาหกรรม จะเข้าไปส่งเสริม สนับสนุน ได้แก่ 

1) การสนับสนุนเงินทุน โดย ธพว. และกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอี ตามแนวประชารัฐ เช่น โครงการสินเชื่อ BCG Loan, สินเชื่อ SME 3D, สินเชื่อ SME Refinance, สินเชื่อ SME Speed Up, สินเชื่อ Micro SME และสินเชื่อลดโลกร้อน (Decarbonize Loan) 

2) การพัฒนาผลิตภัณฑ์  เพื่อเพิ่มมูลค่า โดย กสอ. ให้คำปรึกษาแนะนำเพื่อพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์เดิมสู่ผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ใหม่ ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ของใช้บนโต๊ะอาหาร ชุดมีดทำครัว มีดเดินป่า ของใช้ของตกแต่งบ้าน เป็นต้น 

3) การผลักดันการแก้ไขปัญหาผังเมือง สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด และกลุ่มผู้ประกอบการ ได้ยื่นข้อเสนอการแก้ไขผังเมืองจังหวัด แก่คณะกรรมการผังเมืองจังหวัดเรียบร้อยแล้ว โดยอยู่ระหว่างกระบวนการของกระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง และกระทรวงอุตสาหกรรมในการแก้ไขปัญหาผังเมืองเชิงนโยบายในภาพรวมต่อไป 

จากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ลงพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลร่องกาศ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ เพื่อเยี่ยมชมกิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการยกระดับผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์จังหวัดแพร่ เพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชน หรือ โครงการ 'แพร่-กระจาย' ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งมีกิจกรรมฝึกอบรมการทำตลาดออนไลน์ เช่น การสร้าง Story telling และเทคนิคการถ่ายภาพอย่างมืออาชีพ เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของฝากของที่ระลึกจากชิ้นส่วนไม้สักที่มีฟังก์ชั่นการใช้งานหลากหลาย 

หลังจากนั้น ได้เดินทางไปยังห้างหุ้นส่วนจำกัด แพร่สักทองเฟอร์นิเจอร์ (ไทยแลนด์) ตั้งอยู่ที่ตำบลร่องกาศ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ ซึ่งประกอบกิจการเครื่องเรือนตกแต่งภายในอาคาร
จากไม้ เฟอร์นิเจอร์ไม้สักและผลิตภัณฑ์จากไม้สัก โดยผู้ประกอบการได้ขอรับการสนับสนุนจากกระทรวงอุตสาหกรรมในด้านเงินทุน เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับการลงทุนเครื่องจักร เพื่อยกระดับผลิตภาพการผลิต การติดตั้งระบบ Solar Rooftop เพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้า และ การสนับสนุนการปรับปรุงเครื่องจักรและกระบวนการผลิต 

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ไปเยี่ยมชมการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ 'การยกระดับผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์จังหวัดแพร่ เพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชน' ณ ที่ทำการชมรมสตรีอำเภอร้องกวาง ตำบลทุ่งศรี จังหวัดแพร่ ในหลักสูตรการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของฝากของที่ระลึกตามแนวทาง BCG ทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์จาก ขี้เลื่อยไม้สัก, เศษเหลือใช้วัสดุทางการเกษตร และถ่ายทอดองค์ความรู้ตามแนวคิด BCG มีผู้เข้ารับการอบรม จำนวน 200 คน 

และในจุดสุดท้าย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เดินทางไปตรวจราชการวิสาหกิจชุมชนสุรา สักทองแพร่ ซึ่งประกอบกิจการสุรากลั่นชุมชน มีผลิตภัณฑ์สุรากลั่นชุมชน สาโท ไวน์ ณ ห้องประชุมใหญ่ สุราสักทองแพร่ โดยได้ขอรับการสนับสนุนด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ การปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีศักยภาพ ส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกจากน้ำเสีย และของเสียจากกระบวนการผลิต เช่น กากส่าเหล้า มูลของสุกร ตามความเหมาะสมกับวิสาหกิจชุมชน รวมทั้งปัญหาข้อจำกัดเรื่องการโฆษณาประชาสัมพันธ์ พร้อมขอรับการสนับสนุนการสร้างแบรนด์และโฆษณาในพื้นที่ 

“ข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ประกอบการ จะเป็นเรื่องของเงินทุน การขอรับการสนับสนุนการติดตั้งระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่ และการสนับสนุนปรับปรุงเครื่องจักรและกระบวนการผลิต ซึ่งกระทรวงฯ พร้อมสนับสนุนเต็มที่ โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ ธพว. และกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ มีสินเชื่อสนับสนุนเงินทุน เช่น สินเชื่อ BCG โปรแกรมสินเชื่อสำหรับ SME และสินเชื่อลดโลกร้อน (Decarbonize Loan) 

“ขณะเดียวกันกรมโรงงานอุตสาหกรรม หรือ กรอ. ได้เสนอแก้ไขกฎกระทรวงกำหนดชนิด หรือ ประเภทของโรงงาน เพื่อแก้ไขชนิดหรือประเภทของโรงงานให้การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนหลังคา ไม่เข้าข่ายการเป็นโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานต่อไป ซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการแก้ไขคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในปี พ.ศ. 2567 พร้อมทั้งเตรียมผลักดันให้มีการแปลงเครื่องจักรเป็นทุนจาก Solar Roof top ได้อีกด้วย 

ส่วนข้อเรียกร้องของผลิตภัณฑ์สุรากลั่นชุมชน ได้มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ให้คำแนะนำในการขอการรับรอง มผช. และกำหนดมาตรฐานรองรับผลิตภัณฑ์ใหม่ พร้อมทั้งให้ กรอ.สนับสนุนการปรับปรุงกระบวนการผลิตผ่านโครงการ 'เร่งรัดการจดทะเบียนเครื่องจักรของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม' เพื่อเชิญชวนให้จดทะเบียนเครื่องจักรและให้คำแนะนำการเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักรให้กับสถานประกอบการ และส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก โดย กสอ. มีแผนการดำเนินโครงการยกระดับธุรกิจ SME ด้วยการประยุกต์ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG และส่งเสริมการสร้างแบรนด์ (Branding) และอัตลักษณ์ของแบรนด์ (Brand Identity) เพื่อสร้างตัวตนของแบรนด์ตอบสนองเป้าหมายทางธุรกิจ” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว 

สำหรับการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2567 ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (จังหวัดเชียงราย พะเยา แพร่ น่าน) ในวันพรุ่งนี้ (19 มี.ค.67) ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมมีโครงการตามข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) จังหวัดแพร่ ที่ขอรับการผลักดันจากกระทรวงฯ ในโครงการก่อสร้างศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้และออกแบบเฟอร์นิเจอร์ไม้สักแห่งประเทศไทย ในวงเงินงบประมาณ 270 ล้านบาท ในพื้นที่ตำบลร่องกาศ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ โดยใช้ระยะเวลาดำเนินโครงการในปี 2568 - 2571

จับตา!! 'พีระพันธุ์' เอาจริง!! 'ระบบสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์' สร้างความมั่นคงด้านพลังงานชาติ พาไทยหลุดขี้ข้าตลาดโลก

เป็นที่ทราบกันดีว่า ‘พลังงาน’ ถือเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของประชาชน รวมไปถึงภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ดังนั้น ทุกประเทศในโลกรวมทั้งประเทศไทยเอง จึงต้องมีการจัดหาพลังงาน ให้มีปริมาณที่เพียงพอ และมีราคาที่เหมาะสม 

โดยเฉพาะในด้านน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต แต่ทว่าประเทศไทยไม่มีแหล่งน้ำมันมากพอที่จะตอบสนองความต้องการใช้งาน จึงต้องนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศในปริมาณกว่า 90% ของจำนวนที่บริโภคอยู่ในปัจจุบัน

แน่นอนว่า การที่เราไม่สามารถผลิตน้ำมันได้เอง จึงถูกกำหนดราคาจากกลไกที่เรียกว่า ‘ตลาดโลก’ ซึ่งส่งผลให้ราคาผันผวน บางครั้งจะเห็นถึงการขึ้น - ลง แบบรายวัน 

และหากเกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่ หรือเกิดความตึงเครียดในภูมิภาคที่มีประเทศผู้ผลิตน้ำในรายใหญ่อย่างตะวันออกกลาง ก็จะยิ่งทำให้ราคาน้ำมันผันผวนหนักขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดังนั้น จึงจะเห็นว่า ประเทศมหาอำนาจหลายประเทศ ต่างก็มีระบบสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ หรือ SPR (Strategic Petroleum Reserve) กันแทบทั้งนั้น

ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เพื่อทำการสำรองน้ำมันเตรียมพร้อมรับมือหากเกิดภาวะวิกฤติ อย่าง ประเทศสหรัฐ อเมริกา ทางภาครัฐ จะเป็นผู้ดำเนินการสำรองน้ำมันให้มีเพียงสำหรับใช้งานอย่างน้อย 90 วันของการนำเข้าน้ำมันสุทธิ เพื่อนำมาใช้เมื่อยามฉุกเฉิน 

หากจำกันได้ เมื่อครั้งรัสเซียบุกยูเครน อย่างเต็มรูปแบบเมื่อต้นปี 2565 ส่งผลให้ในห้วงเวลานั้น ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทางประธานาธิบดีสหรัฐฯ 'โจ ไบเดน' ได้ประกาศจะระบายน้ำมันดิบ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นเวลา 6 เดือน จากคลังสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อบรรเทาปัญหาราคาน้ำมัน 

นอกจากนั้น ประเทศใหญ่ ๆ ที่มีการใช้บริโภคน้ำมันปริมาณมาก ต่างก็มีระบบสำรองน้ำมันของตัวเองเช่นกัน อย่างอินเดีย ที่เป็นประเทศผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก ในปัจจุบันจะมีหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ เป็นผู้บริหารจัดการระบบสำรองน้ำมัน โดยในเฟสแรก สามารถสำรองน้ำมันได้ 75 วัน และในเฟสที่ 2 มีเป้าหมายจะเพิ่มเป็น 90 วัน

ส่วนในกลุ่มประเทศในอาเซียนนั้น การสำรองน้ำมันส่วนใหญ่ จะเป็นการสำรองโดยภาคเอกชนหรือโรงกลั่นเป็นหลัก

เช่นเดียวกับ ประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบัน การสำรองน้ำมันจะอยู่กับฝั่งเอกชน โดยกำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันต้องสำรองน้ำมันดิบ 6% ของปริมาณการจำหน่าย และให้สำรองน้ำมันสำเร็จรูป 1% ของปริมาณการจำหน่าย โดยรวมแล้วไทยจะมีการสำรองน้ำมัน 7% ของปริมาณการจำหน่าย หรือ มีการสำรองน้ำมัน 25 วัน แม้ว่าปริมาณดังกล่าวยังอยู่ในระดับที่เหมาะสม 

แต่หากมองถึงความมั่นคงด้านพลังงานในระยะยาวของประเทศ ก็อาจกล่าวได้ว่าอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงไม่น้อย เพราะหากเกิดวิกฤติหรือเกิดสงครามขึ้น ปริมาณน้ำมันที่เอกชนสำรองไว้อาจจะไม่เพียงพอต่อความต้องการ

แต่อย่างไรก็ดี ทางกระทรวงพลังงาน ภายใต้การนำของ ท่านพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในส่วนนี้ จึงได้ตั้งคณะกรรมการจัดตั้งระบบสำรองและก๊าซฯ เพื่อศึกษาถึงความเป็นไปได้ของการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศ และรักษาเสถียรภาพทางด้านราคา ต่อไปประชาชนคนไทยจะได้ไม่ต้องมานั่งกังวลว่าราคาน้ำมันจะขึ้น-ลงแบบรายวัน เหมือนในอดีตที่ผ่านมา

และทราบมาว่า ทางคณะกรรมการฯ ที่ได้รับมอบหมายจาก ท่านพีระพันธุ์ กำลังทำงานอย่างหนักในการศึกษารูปแบบการสำรองน้ำมันและการรักษาระดับราคาที่เหมาะสมกับประเทศไทย คาดว่าภายในอีก 1-2 เดือนข้างหน้าก็จะแล้วเสร็จ และจะนำมาเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พิจารณาได้ 

แน่นอนว่า ระบบสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ เป็นอีกหนึ่งความหวัง ที่จะมาสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและสร้างความเป็นธรรมให้กับคนไทย ในอีกไม่นานเกินรอ.....เพราะทราบมาว่าท่านพีระพันธุ์ นั่งเป็นประธานการประชุมติดตามความคืบหน้าทุกสัปดาห์เลยทีเดียว

‘กาสิโนในไทย’ แรงเสริมภาคการท่องเที่ยว ในวันที่จุดขายทางธรรมชาติ เริ่มสึกกร่อน

ทีมข่าว THE STATES TIMES  ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'กาสิโนในไทย ถึงเวลารึยัง?' เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า…

อบายมุขกับการท่องเที่ยวอาจเป็นของคู่กัน มีการศึกษาของหลายสำนักระบุว่าธุรกิจการพนันมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ไม่เพียงแต่รายได้ทางตรงจากการเล่นการพนันเท่านั้น แต่ผลประโยชน์ยังได้กระจายไปยังธุรกิจต่อเนื่องต่างๆ ได้แก่ โรงแรม, ร้านอาหาร, ห้างสรรพสินค้า, การจัดประชุมและนิทรรศการ ทั้งในระดับประเทศ ระดับท้องถิ่น และระดับรากหญ้า นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเล่นการพนันและพักผ่อนหย่อนใจในสถานบันเทิงต่างๆ เป็นนักท่องเที่ยวรายได้สูงและใช้จ่ายสูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไป 

หลายประเทศ/เมืองประสบความสําเร็จจากการใช้ธุรกิจการพนันเป็นเครื่องดึงดูดนักท่องเที่ยว ลาสเวกัส น่าจะเป็นเมืองแห่งการพนันและบันเทิงเมืองแรกๆ ของโลกที่ประสบความสําเร็จมาอย่างยาวนาน แม้จะตั้งอยู่โดดเดี่ยวกลางทะเลทรายในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันลาสเวกัสได้กลายเป็นเมืองร่ำรวยที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาปีละกว่า 40 ล้านคน ลาสเวกัสยังเป็นโมเดลที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกยึดถือเป็นแบบอย่างในการพัฒนาธุรกิจการพนันและบันเทิงแบบครบวงจร

มาเก๊าเป็นเมืองการพนันอีกเมืองหนึ่งที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก และในบางช่วงเวลาได้สร้างรายได้การท่องเที่ยวได้มากกว่าลาสเวกัสเสียอีก เนื่องจากมาเก๊าเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษและเป็นที่เดียวที่รัฐบาลจีนอนุญาตให้มีกาสิโนถูกกฎหมาย จึงมีคนจีนเดินทางมาพักผ่อนหย่อนใจที่มาเก๊าเป็นจำนวนมาก

สิงคโปร์และญี่ปุ่นเป็นอีก 2 ประเทศที่เล็งเห็นประโยชน์จากการเปิดให้มีกาสิโนถูกกฎหมาย หลังจากเปิดได้เพียงไม่กี่ปี Marina Bay ได้กลายเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุดและสร้างรายได้มหาศาลของสิงคโปร์ ขณะที่ญี่ปุ่นก็เพิ่งจะอนุญาตให้จัดตั้งกาสิโนเป็นครั้งแรกที่เมืองโอซากา กำหนดเปิดดำเนินการได้ในอีก 5-6 ปีข้างหน้า เป็นที่น่าสังเกตว่าทั้งสองประเทศเป็นประเทศที่มีความอนุรักษ์นิยมไม่ยิ่งหย่อนกว่าไทย

ประเทศไทยเป็นประเทศที่เติบโตด้วยภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก วันนี้แม้ว่าการท่องเที่ยวจะเริ่มกลับมาหลังจากวิกฤตโควิด แต่ก็ยังไม่สามารถกลับสู่ระดับเดิมก่อนโควิดได้ การท่องเที่ยวของไทยพึ่งพาแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็น ชายหาด, เกาะแก่ง, อุทยาน เป็นต้น นับวันแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติเหล่านี้ก็จะสึกหรอไปจากความแออัดของนักท่องเที่ยว การลงทุนเพื่อสร้างแหล่งท่องเที่ยวแบบ Man-made Attractions แม้ว่าจะมีอยู่บ้าง แต่ก็น้อยเต็มทีและต้องถือว่ายังไม่เป็นระดับโลก

จึงเป็นที่น่ายินดีที่ขณะนี้มีการผลักดันเรื่องการจัดตั้งกาสิโนถูกกฎหมายและสถานบันเทิงครบวงจร ซึ่งจากการศึกษาของหลายสำนัก รวมทั้งรัฐสภาและกระทรวงการคลัง พบว่ามีความเป็นไปได้และน่าจะมีประโยชน์มากกว่าผลเสีย แต่มีประเด็นสำคัญต่างๆ ที่ฝ่ายนโยบายต้องคำนึงถึง อาทิเช่น การกำกับดูแล การจัดเก็บภาษี การเลือกที่ตั้งที่เหมาะสม การสร้างความเชื่อมโยงกับ Soft Power ของไทย ผลกระทบทางสังคม เป็นต้น ประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้เป็นข้อห่วงใยที่เป็นประโยชน์และจำเป็นต้องเตรียมการไว้แต่เนิ่นๆ

เรื่องสำคัญที่อาจจะยังไม่มีการพูดถึง คือ เรื่องของตลาดและเทคโนโลยี หากกาสิโนที่จะมีการจัดตั้งขึ้นมุ่งเน้นลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นหลัก ซึ่งก็คงจะเป็นตลาดนักท่องเที่ยวจีนเป็นสำคัญ ก็คงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องแข่งขันกับกาสิโนอื่นในภูมิภาค รวมทั้งมาเก๊าของจีน คงจะไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะขอให้รัฐบาลจีนส่งเสริมให้คนจีนขนเงินมาเล่นการพนันในประเทศไทยในภาวะที่จีนกำลังมีปัญหาเศรษฐกิจและเงินทุนไหลออก ดังนั้นอาจจำเป็นต้องมีการพูดคุยกันแบบ G to G กับทางจีนเป็นประการแรก  ส่วนเรื่องเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีออนไลน์และ AI ซึ่งมีผลกระทบอย่างมากต่อธุรกิจบันเทิงทุกประเภท ก็อาจทำให้กาสิโนที่จะมีขึ้นมีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

'รัฐบาล' ยังไงดี? เค้าลางวิกฤตส่อชัดกับ 'รายใหญ่-คนตัวเล็ก' ถ้าบางนโยบายคล้ายรัฐบาลก่อน 'ดี-ไปไหว' น่าเร่งผลักให้ไว

ข่าวคราวสำคัญในรอบเดือนที่ผ่านมา มีประเด็นที่น่าสนใจอยู่ 2-3 ประเด็น ที่น่าจะเริ่มเห็นภาพแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2567 ของประเทศไทย ที่มีความน่ากังวลพอสมควร 

เรื่องที่ 1 บริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์ ยักษ์ใหญ่ ของไทย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง เริ่มจากประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อขยายอายุวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ จำนวน 5 รุ่น ขยายออกไปอีก 2 ปี พร้อมข้อเสนอเพิ่มดอกเบี้ยให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ ตามมาด้วยหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงต่อกรณี การจ่ายเงินเดือนพนักงานที่ไม่ครบถ้วน ซึ่งบริษัทฯ ยังขาดสภาพคล่องทางการเงิน 

เรื่องที่ 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย ประกาศมาตรการแก้หนี้ยั่งยืน สื่อสารไปยังธนาคารต่างๆ ให้กำหนดแนวทางการแก้ไขหนี้ ทั้งก่อนเป็นหนี้เสีย และหลังเป็นหนี้เสีย พร้อมทั้งสื่อสารช่องทาง Social ต่างๆ ให้ลูกหนี้ ได้รับทราบข้อมูล มีทางเลือกในการ ปิดจบหนี้เรื้อรัง เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางอย่างต่อเนื่อง ผ่านทั้งมาตรการเดิมและเพิ่มเติมมาตรการใหม่ ให้ครอบคลุมไปถึงการแก้หนี้เรื้อรัง และการคิดค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยที่เป็นธรรมยิ่งขึ้น ธปท.คงเริ่มเห็นสัญญาณบางอย่าง จึงต้องรีบออกมาตรการมาป้องกันการเกิดหนี้เสีย 

2 เรื่องนี้ น่าจะทำให้คาดการณ์ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2567 น่าจะหนักหนาพอสมควร จากเรื่องที่ 1 ตั้งแต่ปี 2566 เริ่มมีข่าวคราวบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ มีสัญญาณประชุมผู้ถือหุ้น ขอขยายวันครบกำหนดชำระหนี้หุ้นกู้มาเรื่อยๆ แน่นอนว่า บริษัทเอกชนในตลาดหลักทรัพย์ เป็นเสมือนกลุ่มเศรษฐกิจส่วนยอดพีระมิด ที่น่าจะเป็นกลุ่มที่เข้มแข็งทางการเงิน ส่งผลกระทบไปยังกลุ่มแรงงานที่ขาดรายได้ จากการถูกเลื่อนจ่ายเงินเดือน

สำหรับเรื่องที่ 2 ก็คงจะเป็นกลุ่มใหญ่ ในส่วนฐานของพีระมิด มีแผลเกิดขึ้น และเรื้อรังเป็นจำนวนมาก สัดส่วนหนี้สินต่อครัวเรือน ขยับสูงขึ้น อัตราแนวโน้มการขาดส่งชำระหนี้รายย่อย ยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง สอดคล้องกับสินเชื่อกลุ่มบ้านสำหรับรายย่อย สินเชื่ออุปโภคบริโภค สินเชื่อรถยนต์ ที่มีสัญญาณปฏิเสธการให้สินเชื่อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อกลไกการเติบโตทางเศรษฐกิจ เริ่มมีบาดแผลขึ้นหลายจุด ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลเองกลับไม่มีข่าวคราวในการออกนโยบาย หรือมาตรการมารักษาบาดแผล หรืออย่างน้อย ก็กันไม่ให้ลุกลามมากไปกว่านี้ 

ทว่า ข่าวคราวส่วนใหญ่ตอนนี้ ยังคงเป็นการเดินทางไปพบปะผู้นำยังต่างประเทศ ของนายกรัฐมนตรี จนมีสื่อนำเสนอว่าดำรงตำแหน่ง 6 เดือน เดินทาง 16 ประเทศ ซึ่งมีการชี้แจงว่า เพื่อเป็นการดึงนักลงทุนจากต่างประเทศ ให้มาลงทุน หรือเข้ามาจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ ทั้งที่ รายงานวิเคราะห์เศรษฐกิจและการเงิน เดือนมกราคม 2567 ของธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า การส่งออกปรับดีขึ้น การบริโภคภาคเอกชนและเศรษฐกิจในภาคบริการยังขยายตัวได้ ตามรายรับในภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น... 

ถ้าจะมีข่าวดีที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจบ้าง คงเป็นเรื่องที่ 3 ราคาทองคำ พุ่ง ทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ของทองคำในประเทศ ทำออลไทม์ไฮต่อเนื่องไม่หยุด ส่งผลให้สถานะการคลังของประเทศไทยค่อนข้างมีเสถียรภาพ เพราะมีทองตุนไว้ มากกว่า 244 ตัน เพื่อเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นการตุนทองคำสำรองไว้ก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่มีการซื้อทองคำเพิ่มจำนวนมาก จนติดอันดับ 9 ของเอเชีย

ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล คงถึงเวลาที่ต้องเริ่มสำแดงฝีมือ..? จะอาศัยสถานะทุนสำรองของประเทศที่มีมาก่อนเพียงอย่างเดียว คงไม่น่าจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้ งบประมาณการเบิกจ่ายของภาครัฐ มาตรการต่างๆ ที่จะต้องงัดออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องเร่งคลอดออกมา

คงไม่เป็นไร ถ้าบางมาตรการ จะคล้ายๆ กับรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ถ้าสุดท้าย สามารถผลักดันเศรษฐกิจไทย ให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างแข็งแกร่ง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top