'รัฐบาล' ยังไงดี? เค้าลางวิกฤตส่อชัดกับ 'รายใหญ่-คนตัวเล็ก' ถ้าบางนโยบายคล้ายรัฐบาลก่อน 'ดี-ไปไหว' น่าเร่งผลักให้ไว

ข่าวคราวสำคัญในรอบเดือนที่ผ่านมา มีประเด็นที่น่าสนใจอยู่ 2-3 ประเด็น ที่น่าจะเริ่มเห็นภาพแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2567 ของประเทศไทย ที่มีความน่ากังวลพอสมควร 

เรื่องที่ 1 บริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์ ยักษ์ใหญ่ ของไทย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง เริ่มจากประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อขยายอายุวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ จำนวน 5 รุ่น ขยายออกไปอีก 2 ปี พร้อมข้อเสนอเพิ่มดอกเบี้ยให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ ตามมาด้วยหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงต่อกรณี การจ่ายเงินเดือนพนักงานที่ไม่ครบถ้วน ซึ่งบริษัทฯ ยังขาดสภาพคล่องทางการเงิน 

เรื่องที่ 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย ประกาศมาตรการแก้หนี้ยั่งยืน สื่อสารไปยังธนาคารต่างๆ ให้กำหนดแนวทางการแก้ไขหนี้ ทั้งก่อนเป็นหนี้เสีย และหลังเป็นหนี้เสีย พร้อมทั้งสื่อสารช่องทาง Social ต่างๆ ให้ลูกหนี้ ได้รับทราบข้อมูล มีทางเลือกในการ ปิดจบหนี้เรื้อรัง เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางอย่างต่อเนื่อง ผ่านทั้งมาตรการเดิมและเพิ่มเติมมาตรการใหม่ ให้ครอบคลุมไปถึงการแก้หนี้เรื้อรัง และการคิดค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยที่เป็นธรรมยิ่งขึ้น ธปท.คงเริ่มเห็นสัญญาณบางอย่าง จึงต้องรีบออกมาตรการมาป้องกันการเกิดหนี้เสีย 

2 เรื่องนี้ น่าจะทำให้คาดการณ์ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2567 น่าจะหนักหนาพอสมควร จากเรื่องที่ 1 ตั้งแต่ปี 2566 เริ่มมีข่าวคราวบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ มีสัญญาณประชุมผู้ถือหุ้น ขอขยายวันครบกำหนดชำระหนี้หุ้นกู้มาเรื่อยๆ แน่นอนว่า บริษัทเอกชนในตลาดหลักทรัพย์ เป็นเสมือนกลุ่มเศรษฐกิจส่วนยอดพีระมิด ที่น่าจะเป็นกลุ่มที่เข้มแข็งทางการเงิน ส่งผลกระทบไปยังกลุ่มแรงงานที่ขาดรายได้ จากการถูกเลื่อนจ่ายเงินเดือน

สำหรับเรื่องที่ 2 ก็คงจะเป็นกลุ่มใหญ่ ในส่วนฐานของพีระมิด มีแผลเกิดขึ้น และเรื้อรังเป็นจำนวนมาก สัดส่วนหนี้สินต่อครัวเรือน ขยับสูงขึ้น อัตราแนวโน้มการขาดส่งชำระหนี้รายย่อย ยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง สอดคล้องกับสินเชื่อกลุ่มบ้านสำหรับรายย่อย สินเชื่ออุปโภคบริโภค สินเชื่อรถยนต์ ที่มีสัญญาณปฏิเสธการให้สินเชื่อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อกลไกการเติบโตทางเศรษฐกิจ เริ่มมีบาดแผลขึ้นหลายจุด ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลเองกลับไม่มีข่าวคราวในการออกนโยบาย หรือมาตรการมารักษาบาดแผล หรืออย่างน้อย ก็กันไม่ให้ลุกลามมากไปกว่านี้ 

ทว่า ข่าวคราวส่วนใหญ่ตอนนี้ ยังคงเป็นการเดินทางไปพบปะผู้นำยังต่างประเทศ ของนายกรัฐมนตรี จนมีสื่อนำเสนอว่าดำรงตำแหน่ง 6 เดือน เดินทาง 16 ประเทศ ซึ่งมีการชี้แจงว่า เพื่อเป็นการดึงนักลงทุนจากต่างประเทศ ให้มาลงทุน หรือเข้ามาจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ ทั้งที่ รายงานวิเคราะห์เศรษฐกิจและการเงิน เดือนมกราคม 2567 ของธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า การส่งออกปรับดีขึ้น การบริโภคภาคเอกชนและเศรษฐกิจในภาคบริการยังขยายตัวได้ ตามรายรับในภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น... 

ถ้าจะมีข่าวดีที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจบ้าง คงเป็นเรื่องที่ 3 ราคาทองคำ พุ่ง ทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ของทองคำในประเทศ ทำออลไทม์ไฮต่อเนื่องไม่หยุด ส่งผลให้สถานะการคลังของประเทศไทยค่อนข้างมีเสถียรภาพ เพราะมีทองตุนไว้ มากกว่า 244 ตัน เพื่อเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นการตุนทองคำสำรองไว้ก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่มีการซื้อทองคำเพิ่มจำนวนมาก จนติดอันดับ 9 ของเอเชีย

ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล คงถึงเวลาที่ต้องเริ่มสำแดงฝีมือ..? จะอาศัยสถานะทุนสำรองของประเทศที่มีมาก่อนเพียงอย่างเดียว คงไม่น่าจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้ งบประมาณการเบิกจ่ายของภาครัฐ มาตรการต่างๆ ที่จะต้องงัดออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องเร่งคลอดออกมา

คงไม่เป็นไร ถ้าบางมาตรการ จะคล้ายๆ กับรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ถ้าสุดท้าย สามารถผลักดันเศรษฐกิจไทย ให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างแข็งแกร่ง