Monday, 7 July 2025
ECONBIZ NEWS

ตามติด 6 เดือน 'รมว.ปุ้ย' ใต้ภารกิจพาอุตสาหกรรมไทยโตรอบทิศ 'ปูพรม EEC-ระบบนิเวศสีเขียว-EV-เงินทุนคนตัวเล็ก-ฮาลาล-ปุ๋ยโปแตซ'

(15 มี.ค.67) รัฐบาลได้ทำงานมาครบ 6 เดือน โดยกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม และการพัฒนาผู้ประกอบการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันต่อการค้าโลก ซึ่งภาคอุตสาหกรรมกำลังเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลผลิตอุตสาหกรรมของไทยที่ลดลงต่อเนื่อง

น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้สัมภาษณ์พิเศษ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า จากการปรับเปลี่ยนของกติกาโลก โดยเฉพาะมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) และการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งกระทรวงพลังงาน มีนโยบาย Green Energy และกระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบาย Green Industries สอดรับกัน

ทั้งนี้ นโยบายอุตสาหกรรมจะต้องสนับสนุน Green Productivity เพื่อตอบโจทย์กติกาการค้าโลก ซึ่งรวมถึงใช้พลังงานสะอาด เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงสร้างบรรยากาศการลงทุน และเน้นย้ำการอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน อาทิ

1.การจัดหาไฟฟ้าสีเขียวด้วยกระบวนการรับรองอย่างมีมาตรฐานและมีปริมาณเพียงพอ รองรับความต้องการพลังงานสะอาดของภาคอุตสาหกรรม โดยมีนโยบายส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 ตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG และภายใต้โครงการไฟฟ้าสีเขียว หรือ UGT (Utility Green Tariff) จะยกระดับอุตสาหกรรมรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียวเพิ่มขึ้น

ปลดล็อคอุปสรรคผลิตไฟดซลาร์เซลล์

2.ประสานภาคเอกชน อาทิ ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ ภาคอสังหาริมทรัพย์ ภาคศูนย์การค้า ภาคโรงแรม และภาคบริการ พบว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีแนวโน้มเติบโตก้าวกระโดด เพราะราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นทำให้มีผู้ประกอบการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ กฎหมายโรงงานกำหนดให้การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปกำลังผลิตเกิน 1 เมกะวัตต์ ต้องขอใบอนุญาตโรงงาน (รง.4) ซึ่งเร่งแก้กฎกระทรวงเพราะเทคโนโลยีพัฒนาไปเร็วทำให้ผลิตไฟฟ้าได้ปริมาณมาก หรือพื้นที่ติดตั้งลดลงถึง 2.7 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2557 และลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 500 tCO2/เมกะวัตต์/ปี เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 62,500 ต้น 

3.การส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เริ่มสนับสนุนมาตรการ EV3.0 และเพิ่มเป็นมาตรการ EV3.5 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ส่งเสริมการลงทุน EV ประมาณ 40,000 ล้านบาท และปี 2567 มีหลายบริษัทเริ่มการผลิตในไทย

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะกลับมาเป็นเสือที่ตื่นและผงาดอยู่ในท็อป 10 ของผู้ผลิตยานยนต์และ EV ของโลก ซึ่งปัจจุบันเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์โลก โดยอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยต้องปรับสู่การผลิตยานยนต์ที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อให้สอดคล้องทิศทางตลาดโลก

"นายกฯ ตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นฐานการผลิต EV และชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก ตามนโยบาย 30@30 ซึ่งเดิมไทยเป็นศูนย์กลางส่งออกรถพวงมาลัยขวาต้องอยู่ได้ พร้อมปรับผู้ผลิตชิ้นส่วนรถสันดาปเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องมือแพทย์ ยุทโธปกรณ์”

เติมทุนคู่พัฒนายกระดับ ‘เอสเอ็มอี’

น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า การดูแลเอสเอ็มอีซึ่งมีจำนวน 95% ของวิสาหกิจทั้งหมด ส่วนใหญ่ต้องการเงินทุนแต่มีความเสี่ยงสูงที่จะไม่รอด จึงต้องเติมทุนคู่พัฒนาเอสเอ็มอีทุกระดับ ทั้งรายที่อ่อนแอและมีความเข้มแข็ง

“ปัจจุบันมีหน่วยงานจำนวนมากมีบทบาทช่วยเหลือเอสเอ็มอีทั้งภาคการผลิต การค้า และบริการ จะช่วยดูข้อมูลอุตสาหกรรมโลกว่าเทรนด์โลกไปถึงไหน และแจ้งผู้ประกอบการทุก 3 เดือน เพื่อตรวจสอบว่ากิจการที่ทำอยู่ไปต่อได้หรือไม่ และจะเข้าไปสนับสนุนอย่างไร”

นอกจากนี้ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ส่วนกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มีโครงการติดปีกให้เอสเอ็มอี ในขณะที่บริษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ช่วยค้ำประกันเงินกู้ รวมถึงกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ (กอป.) ช่วยเหลือสินเชื่อเพื่อเพิ่มศักยภาพ และเงินทุนหมุนเวียนเสริมสภาพคล่อง

"ปีงบประมาณ 2567 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมีเป้าหมายส่งเสริมผู้ประกอบการ 18,400 ราย สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท ภายใต้งบประมาณ 1,000 ล้านบาท ยอมรับว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอน่าเป็นห่วงเพราะเทรนด์ที่เปลี่ยนไป ส่วนดาวรุ่ง คือ อุตสาหกรรมชิปที่เป็นเทรนด์อนาคต”

นายกฯ อยากเห็นปุ๋ยถุงแรกผลิตที่ไทย

สำหรับการลงทุนเหมืองแร่โปแตชในปัจจุบันออกประทานบัตร 3 เหมือง ได้แก่ บริษัท 1.บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน)  จ.ชัยภูมิ 2.บริษัท ไทยคาลิ จำกัด จ.นครราชสีมา 3.บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด จ.อุดรธานี 

ทั้งนี้มีปริมาณการผลิตรวมกัน 3 ล้านตันต่อปี ซึ่งหากดึงโปแตชมาทำปุ๋ยได้สำเร็จจะสร้างรายได้ให้ประเทศ โดยช่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้ราคาแพงมาก ซึ่งปริมาณโปแตชทั้ง 3 เหมือง เพียงพอต่อการใช้ในประเทศและส่งออก และช่วยความมั่นคงว่าจะมีปุ๋ยใช้ในราคาไม่แพง

นอกจากนี้ ผู้รับประทานบัตรมีปัญหาสภาพคล่องหรือบางบริษัทมีปัญหาเงินทุน ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมต้องหาทางให้เดินหน้าต่อ ซึ่งได้เชิญทั้ง 3 บริษัทมาร่วมความคืบหน้า และนายกรัฐมนตรีต้องการเห็นปุ๋ยกระสอบแรกที่ผลิตจากไทย ซึ่งมีนักลงทุนต่างชาติสนใจแต่ต้องศึกษากฎหมายอย่างรอบคอบ โดยแนวโน้มโครงการเป็นไปได้ดีจากการที่นายกฯ เดินทางไปดูเหมือง และเดินทางไปต่างประเทศได้หานักลงทุนที่ไหนสนใจ

ลุยแก้ปัญหา ‘ผังเมือง’ หนุนการลงทุน

สำหรับกฎหมายผังเมืองถือเป็นอุปสรรคในบางพื้นที่ โดยพื้นที่ไหนอยากให้นักลงทุนเข้ามา เช่น เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยพื้นที่เดิมที่จะมีประเด็นที่ต้องปรับแก้ แต่รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับ EEC จึงต้องหาทางสนับสนุนทุกด้าน รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายที่มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้หารือกับบริษัทระดับโลกหลายแห่งที่สนใจมาลงทุนในประเทศไทย แต่ติดขัดปัญหาผังเมืองจึงได้ให้กระทรวงอุตสาหกรรมมาหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางแก้ปัญหา

ดันยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมฮาลาล

รวมทั้งกระทรวงอุตสาหกรรมมีแผนยกระดับอุตสาหกรรมอุตสาหกรรมฮาลาล ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่เห็นโอกาสจากการเติบโตในตลาดโลกที่มีมูลค่าสูงถึง 2.1 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี แต่ประเทศไทยส่งออกได้เพียงปีละเพียงแค่ 2.7% ของตลาดโลกเท่านั้น ขณะที่ศักยภาพของทรัพยากรของไทยยังมีโอกาสสูง

ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมได้นำเสนอ ครม.โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีระบุว่ารัฐบาลเห็นความสำคัญอาหารฮาลาลเพราะส่งออกไปตลาดที่มีชาวมุสลิมอาศัยหนาแน่น เช่น แอฟริกา ตะวันออกกลางดังนั้น จึงควรยกระดับความสำคัญอุตสาหกรรมฮาลาลซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ศึกษาข้อมูลพบว่ามีไม่น้อยกว่า 8 หน่วยงานที่ทำงานแยกกันอยู่จึงควรรวมที่เดียวกัน

ทั้งนี้ ล่าสุดได้ส่งเสริมการผลิตอาหารฮาลาล โดยเบื้องต้นกำหนดใช้พื้นที่สถาบันอาหารในระยะเริ่มต้นดำเนินการ และเสนอของบประมาณดำเนินการ 630 ล้านบาท

สำหรับการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศมุสลิมในฐานะผู้บริโภค สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) เตรียมจัดงาน Thailand International Halal Expo 2024 เพื่อเชื่อมโยงตลาดสินค้าฮาลาลทั่วโลก และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศจำนวน 57 ประเทศ ซึ่งจะมีเวทีสำหรับการจับคู่ธุรกิจกระตุ้นการลงทุนจากประเทศมุสลิมในอนาคต

“อุตสาหกรรมฮาลาลเรามีต้นทุน เมื่อก่อนไทยเป็นครัวของโลก คำว่าครัวของโลกต้องเป็นครัวของโลกจริงๆ เพื่อเพิ่มรายได้ผู้ประกอบการล่าสุดมีผู้ประกอบการญี่ปุ่นสนใจมาตั้งโรงงานเพื่อจะประทับตราฮาลาลที่ไทยเพื่อส่งออกอาหารญี่ปุ่น เพราะเขามั่นใจว่าเรามีต้นทุนที่ดี รวมถึงคุณภาพของวัตถุดิบด้วย”

‘อุตฯ ฟอกหนังไทย’ ปรับตัวเดินตาม ‘BCG โมเดล’ ตามเทรนด์อุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

จากรายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 16 มี.ค.67 ได้พูดคุยกับ ‘คุณสุวัชชัย วงษ์เจริญสิน’ นายกสมาคมอุตสาหกรรมฟอกหนังไทย ที่ปรึกษาและกรรมการกลุ่มอุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  ถึงสถานการณ์อุตสาหกรรมฟอกหนังของประเทศไทย ที่ถือว่าเป็นส่วนสำคัญของภาคการส่งออกและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาโดยตลอด 

โดยคุณสุวัชชัย กล่าวว่า “ภาพรวมของเศรษฐกิจโลก การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา และยุโรป สงครามที่เกิดขึ้นนั้น มีผลกระทบต่อประเทศไทยพอสมควรในมุมมองของเศรษฐกิจ อย่างกรณียุโรปเองก็ประสบปัญหาค่าครองชีพสูงขึ้น ทำให้ปศุสัตว์มีการปรับตัวสูงขึ้น วัตถุดิบมีอัตราแพงขึ้น ซึ่งเครื่องหนังเปรียบเสมือนสินค้าฟุ่มเฟือย อัตราการใช้งานก็ลดลงทำให้มูลค่าตลาดลดลง ส่วนทางสหรัฐอเมริกาและจีนเองก็มีผลกระทบอยู่เหมือนกัน ทำให้ส่งผลกระทบทั้ง Supply Chain ในระดับโลก ต้องบอกว่าเมืองไทยเรามีการส่งออกโดยได้รับคำสั่งซื้อส่วนใหญ่จากทางยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งประเทศไทยเองก็ส่งออกในห่วงโซ่นี้ทำให้ได้รับผลกระทบจาก Supply Chain อยู่พอสมควร”

คุณสุวัชชัย กล่าวถึงภาพรวมอุตสาหกรรมฟอกหนังไทยในตลาดโลกว่า “ประเทศไทยมีการส่งออก ขนมิงค์ (Mink Hair) หนังวัว ไปยังทวีปยุโรป เบาะรถยนต์ ส่งออกไปยังตะวันออกกลาง ส่วนกระเป๋าเดินทางก็ส่งออกอันดับต้น ๆ และรองเท้านำเข้ามาผลิตและประกอบเพื่อส่งออกกลับไปจำนวนมาก ส่วนจุดเด่นของเครื่องหนังไทยที่ต่างชาติยอมรับ คือ ความประณีตในการตัดเย็บ รูปแบบดีไซน์ และคุณภาพดีสม่ำเสมอ ทำให้มีคุณค่ามากขึ้น รวมถึงมีสินค้าหลากหลายรูปแบบมากกว่า เช่น หนังปลา หนังงู เป็นต้น  ซึ่งในอุตสาหกรรมฟอกหนังไทยมีการนำเข้าและส่งออก อยู่ประมาณ 20,000 ล้านบาท แต่ถ้ารวมกับกระเป๋าและเครื่องใช้ในการเดินทาง รองเท้า น่าจะอยู่ประมาณ 100,000 ล้านบาท”

คุณสุวัชชัย ระบุเพิ่มเติมว่า “ปัจจุบันทางสมาคมฟอกหนังไทยได้สร้างความร่วมมือกับทางสมาคมรองเท้า กระเป๋า เพื่อพัฒนาให้เกิด Young Designer รุ่นใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น วัตถุประสงค์เพื่อทำอย่างไรให้แบรนด์ไทยได้ครองใจทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ส่วนความต้องการของผู้ประกอบการต่อภาครัฐในปัจจุบัน คือ 

1.ต้นทุนการดำเนินงานลดน้อยลง 
2.ข้อกำหนดทางการค้าเปิดกว้างมากขึ้นเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมฟอกหนัง เช่น การขยาย FTA ให้มากขึ้น, ข้อกำหนดด้านปศุสัตว์ เป็นต้น”

คุณสุวัชชัย ยังได้กล่าวถึงเทรนด์การทำธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมว่า “ปัจจุบันสมาคมฟอกหนังไทย ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการฟอกหนังเน้นเป้าหมายผลิตสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สินค้าต้องย่อยสลายได้และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่กระทบต่อชีวิตประจำวันของผู้ใช้ การผลิต ออกแบบจะต้องอยู่ในการดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมทั้งหมด ซึ่งผู้ประกอบการหลายรายเริ่มพัฒนาสินค้าไปในทิศทางนี้แล้ว เช่น เมื่อผลิตสินค้าสารเคมีจะต้องไม่ตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม เป็นต้น”

“ปัจจุบันเราไม่ได้ใช้สารเคมีที่ก่อให้เกิดมลพิษแล้ว ในส่วนของภาครัฐเองก็ส่งเสริม BCG โมเดลและเริ่มผลักดันผู้ประกอบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น” คุณสุวัชชัย เน้นย้ำ

ส่วนเป้าหมายของอุตสาหกรรมฟอกหนังไทย ปัจจุบันเราพยายามปรับตัวเข้าสู่ชุมชนมากขึ้น เรามุ่งเน้นไปที่ทำหนังอย่างไรให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนมากที่สุด การบำบัดน้ำเสียตอนนี้มีอยู่ในเขตประกอบการของเรา ซึ่งมีบ่อหนึ่งเราปิดบ่อเลย แต่เราได้แก๊สมีเทน (Methane) และเน้นไปด้านไบโอแก๊ส (Biogas) เพื่อได้พลังงานกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งเป็นที่แรกในเมืองไทย ที่สามารถเอาสิ่งปฏิกูลเหล่านี้มาเป็นพลังงานได้ 

อุตสาหกรรมฟอกหนังไทยถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายมาตลอด อยากฝากถึงประชาชนว่า ปัจจุบันนี้อุตสาหกรรมฟอกหนังเป็นหนึ่งในห่วงโซ่ธุรกิจ เราเป็นหนึ่งใน 45 อุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย เราไม่ได้มานั่งแก้ตัวว่าเป็นส่วนหนึ่งของมลพิษ แต่เราพยายามที่จะปรับตัวเข้าไปในชุมชนดูแลสิ่งแวดล้อม หรือติดตามเทรนด์ในการดำเนินธุรกิจในอนาคตที่เข้มข้นขึ้น สำหรับการจัดการกลิ่น น้ำเสีย ปัจจุบันสามารถเช็กได้ว่ามีมากหรือน้อยอย่างไร 

“การฟอกหนังใช้กระบวนการผลิตสมัยใหม่ การใช้สารเคมีที่แตกต่างจากเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมแบบใหม่ทันสมัยมากขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมฟอกหนังเป็นส่วนสำคัญในการเดินหน้าสู่ BCG โมเดล เพื่อทำให้มลพิษลดลงและส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด” คุณสุวัชชัย กล่าวทิ้งท้าย

‘สส.อัครเดช’ ชม ‘พีระพันธุ์’ กล้าหาญบี้ผู้ค้าน้ำมันแจ้งต้นทุน ชี้!! ช่วยป้องกันค้ากำไรเกินควร-สร้างราคาเป็นธรรมให้ ปชช.

เมื่อวานนี้ (15 ม.ค. 67) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์กรณี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ออกประกาศให้ผู้ค้าน้ำมัน หรือโรงกลั่นน้ำมัน ต้องแจ้งข้อมูลต้นทุนน้ำมัน เพื่อป้องกันการค้ากำไรเกินควร ว่า ถือเป็นความกล้าหาญของนายพีระพันธุ์ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีรัฐมนตรีคนใดกล้าทำเช่นนี้มาก่อน

ทั้งนี้ การออกประกาศกระทรวงพลังงานให้ผู้ค้าน้ำมัน ตามมาตรา 7 ต้องแจ้งต้นทุนนำเข้าของราคาน้ำมันที่แท้จริง เพราะว่าโรงกลั่นที่นำเข้าน้ำมัน เป็นผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ทั้งน้ำมันดิบ หรือน้ำมันที่กลั่นแล้ว จะต้องแจ้งต้นทุนการนำเข้า ส่วนค่าดำเนินการในการกลั่นก็ต้องไปแจ้งต้นทุนการกลั่นกับกรมสรรพากร ทำให้ภาครัฐรู้ต้นทุนที่แท้จริงของโรงกลั่น ทำให้ภาครัฐรู้ว่าโรงกลั่นมีกำไรหรือค่าการกลั่นที่แท้จริงเท่าไรกันแน่

นอกจากนั้น ประโยชน์ที่จะได้ตามมาคือ ทำให้การจ่ายเงินชดเชยของกองทุนน้ำมันสามารถรู้ต้นทุนที่แท้จริง ทำให้กองทุนน้ำมัน สามารถจ่ายเงินชดเชยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการขาดทุนของกองทุนน้ำมันได้ ตรงนี้ถือเป็นประโยชน์ ต่อประเทศชาติและพี่น้องประชาชนอย่างมากที่นายพีระพันธุ์กล้าหาญทำเช่นนี้

"ที่ผ่านมาไม่มีรัฐมนตรีพลังงานคนไหนกล้าออกประกาศแบบนี้ อาจเป็นเพราะเกรงใจนายทุน แต่ รมว.พลังงานคนปัจจุบัน กล้าหาญที่จะทำ เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมมากในการรักษาผลประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชน ตรงนี้เป็นการตอกย้ำสิ่งที่นายพีระพันธุ์กำลังทำคือ ‘รื้อ ลด ปลด สร้าง’ ตามนโยบายที่ประกาศไว้ เพื่อนำสิ่งที่ดีกว่ามาให้กับพี่น้องประชาชน และถือว่าเป็นสิ่งที่ทำได้จริง หลังจากนี้ก็จะมีการช่วยเหลือประชาชนทยอยออกมาเรื่อย ๆ ถือเป็นการปฏิวัติโครงสร้างราคาพลังงานครั้งใหญ่ของประเทศ" โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าว

‘นายกฯ’ ตอก!! ‘แบงก์ชาติ’ ชี้ หน่วยงานอื่นยังมีจิตสำนึก ลดดอกเบี้ยช่วยประชาชน

(15 มี.ค.67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการรับฟังแถลงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้เงินกู้แก่บุคลากรของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐว่า ขอขอบคุณเกี่ยวข้องที่เกี่ยวข้อง และชื่นชมในการตั้งใจทำงาน ส่วนตัวเชื่อว่า หลายคนอาจจะไม่ได้ประสบปัญหาเยอะแบบเดียวกับข้าราชการอีกหลายแสนคน ซึ่งข้าราชการเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศชาติ แต่ยังมีหนี้สิน ชักหน้าไม่ถึงหลัง 

“ทำงานเท่าไหร่ก็ไม่พอใช้ดอกเบี้ย ถือเป็นสารตั้งต้นหายนะของประเทศ ต้องขอใช้คำนี้ เพราะไม่ใช่แค่เพียงมีเงินไม่พอ แต่หันไปพึ่งสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นยาเสพติด เพื่อทำให้จิตใจดีขึ้น สบายใจขึ้น ถือเป็นความเข้าใจผิด หรือไปทุจริตประพฤติมิชอบ เป็นสารตั้งต้นที่ไม่ถูกต้อง”

เพราะฉะนั้นการรวมตัวกันในวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขกฎหมายว่าไม่ต้องออกจากราชการ มีเงินใช้ 30% รวมถึงสินเชื่อพิเศษ ลดดอกเบี้ย ซึ่งตนเข้าใจว่าหลายหน่วยงานต้อง หวังเรื่องการปันผลหรือผลกำไร แม้ว่าแบงก์ชาติจะไม่ลด แต่หน่วยงานช่วยกันลด ก็ขอขอบคุณจากใจจริง และเชื่อว่าข้าราชการในหน่วยงานนั้นๆ ก็ขอบคุณเช่นเดียวกัน

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวว่า เข้าใจว่าแต่ละหน่วยงานก็มีเป้าหมายของตัวเอง การที่ต้องเฉือนเนื้อเพื่อลดกำไร ถือเป็นเรื่องที่ดี และขอฝากข้อคิดว่า ต้องการให้หน่วยงานสหกรณ์เข้ามาร่วมโครงการนี้ให้มากขึ้น และขอให้ทำงานหนักขึ้น เชื้อเชิญให้เข้ามาอยู่ในระบบให้มากขึ้น เพราะทุกวันนี้หนี้สินเหล่านี้ไม่ได้ลดลงไป แต่เชื่อว่าทุกคนที่อยู่ตรงนี้มีขีดจำกัดในการทำงานพอสมควร เพราะเป็นผู้บริหารระดับสูง จึงจะต้องหาวิธีการการแก้ปัญหา จึงขอให้ทะเยอทะยานมากขึ้น พยายามช่วยเหลือประชาชนให้มากยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งก็เชื่อว่าผู้นำเหล่าทัพมีความใกล้ชิด และเข้าใจความลำบากของ ประชาชนอยู่แล้ว

จากนั้น นายเศรษฐา ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ที่ทุกหน่วยงานอยากให้มีการลดเบี้ยหมด ถือเป็นการลดรายจ่ายส่วนหนึ่ง อย่างน้อยหากธนาคารแห่งประเทศไทยยืนยันจะไม่ลดดอกเบี้ย แต่ก็มีหน่วยงานอื่นที่มีจิตใจสำนึกในการลดอัตราดอกเบี้ย ขอขอบคุณหน่วยงานเหล่านั้น เพราะการทำงานทำด้วยใจจริงๆ เชื่อว่าผู้บัญชาการเหล่าทัพ และผู้บริหารระดับสูง เห็นความลำบากของประชาชนจริงๆ โดยเฉพาะภาระหนี้สิน อย่างที่เคยกล่าวไว้ ภาระหนี้สินของประชาชน คือสารตั้งต้นของความหายนะของประเทศ ตอนนี้เราต้องช่วยกันก่อน

ส่วนหนี้ กยศ. ที่อยากให้ลดเหลือ 0.5 นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตรงนี้ตนเองก็จะไปช่วยดู และตระหนักดีว่าเป็นความเดือดร้อนของประชาชน ยืนยันว่าเรายังช่วยดูแลกันอย่างเต็มที่ ที่เรายังช่วยดูแลกันได้ ซึ่งได้บอกไปในที่ประชุมว่า หากช่วยกัน ช่วยกันได้อีก รวมถึงการขยายวงเงิน และบอกอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ไปด้วยว่า ควรที่จะเร่งเอาสหกรณ์เข้ามาอยู่ในโครงการด้วยโดยเร็ว และมีอีกหลายอย่างที่ทำกันได้อยู่ ซึ่งเราเพิ่งเริ่มทำกันมาได้เพียง 2 เดือนเท่านั้น เราได้ผลส่วนหนึ่งแล้ว ขณะที่ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี นายกิติรัตน์ ณ ระนอง ก็มีแรงใจในการทำเรื่องนี้มาก ลงไปพูดคุยในหลายหน่วยงาน พยายามทำให้ทุกคนมีความทะเยอทะยานในการช่วยเหลือ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว ดูจากแววตาของผู้บัญชาการเหล่าทัพทั้งหลายในวันนี้ ซาบซึ้งถึงความลำบากของประชาชน

มีผลแล้ว!! ‘พีระพันธุ์’ เร่งเครื่องนโยบาย ‘รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง’ ออกประกาศให้ผู้ค้าน้ำมันแจ้งข้อมูลต้นทุนน้ำมัน

เมื่อวานนี้ (14 มี.ค. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ตั้งแต่รับตำแหน่งได้เร่งทำงานทุกด้านเพื่อสร้างระบบพลังงานของประเทศขึ้นมาใหม่ตามแนวทางรื้อ ลด ปลด สร้าง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ประชาชนได้ใช้พลังงานในราคาที่เหมาะสม ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล และประเทศมีความมั่นคงอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง การแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2567 ซึ่งให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป โดยประกาศกระทรวงพลังงานฉบับดังกล่าวได้กำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 รายงานข้อมูลรายละเอียดราคาและต้นทุนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการนำเข้าและการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงต่ออธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทราบ ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการบันทึกบัญชีรายวัน

นอกจากนั้น ต้องแจ้งราคาต้นทุนเฉลี่ยและหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการคำนวณต้นทุนเฉลี่ยของน้ำมันเชื้อเพลิงในทุกไตรมาส และกรณีที่ผู้ค้าน้ำมันปรับปรุงการบันทึกบัญชี หรือเปลี่ยนแปลงข้อมูล จะต้องแจ้งให้อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทราบภายใน 7 วัน โดยข้อมูลที่ได้รับมาจะถือเป็นข้อมูลลับของทางราชการและมีการเก็บรักษาเป็นความลับอย่างที่สุด

สำหรับ ต้นทุนเฉลี่ยของน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งถือเป็นข้อมูลที่จำเป็นในการกำหนดนโยบายด้านการพลังงานที่เหมาะสมนั้น ประกอบด้วย ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งหมายความรวมถึง น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว น้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซล และต้นทุนอื่นที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการซื้อและขายน้ำมันเชื้อเพลิง เช่น ค่าขนส่ง ค่าประกันภัย ค่าตอบแทนนายหน้า ค่าใช้จ่ายในการแลกเปลี่ยนและโอนเงิน ค่าภาษี อากร หรือค่าธรรมเนียมอื่นใด ซึ่งผู้ประกอบการได้บันทึกบัญชีและมีหน้าที่ต้องชำระ โดยคำนวณเฉลี่ยเป็นหน่วยต่อลิตรในแต่ละรายไตรมาสของปีบัญชี

รมว.พลังงาน กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวมีความจำเป็นต่อการกำหนดนโยบายด้านพลังงานของประเทศ เพื่อให้ภาครัฐมีข้อมูลที่จำเป็นสำหรับกำหนดนโยบายด้านพลังงานให้เหมาะสมเพื่อให้น้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศมีราคาจำหน่ายที่ยุติธรรมสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ประชาชนได้รับการคุ้มครองไม่ให้มีการค้ากำไรเกินสมควรในการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง และผู้ประกอบธุรกิจทุกประเภทและทุกระดับมีความสามารถในการแข่งขันในระดับสากลเพิ่มมากขึ้น

“คงจำได้ว่าเมื่อรับตำแหน่งใหม่ ๆ ผมพยายามที่จะหาว่าต้นทุนพลังงานแต่ละชนิดคืออะไร ราคาที่ขายให้ประชาชนมีความถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่ แต่ไม่ได้รับคำตอบ โดยอ้างว่าเป็นความลับทางการค้าและกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้ ผมและทีมงานจึงศึกษาและพบว่าจริงๆแล้วมีช่องทางในการขอทราบข้อมูลแต่ยังไม่มีใครเคยทำมาก่อน จึงได้ดำเนินการยกร่างออกประกาศเพื่อกำหนดแนวทางและวิธีการให้ภาครัฐสามารถเข้าถึงข้อมูลต้นทุนได้” นายพีระพันธุ์กล่าว

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า นโยบาย รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง เป็นสิ่งที่ผมให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ทั้งผมและข้าราชการกระทรวงพลังงาน ที่ปรึกษาและทีมกฎหมายจากกฤษฎีกาได้ทำงานอย่างหนัก ประชุมและค้นคว้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อหาวิธีที่จะทำให้ประชาชนได้ใช้พลังงานในราคาที่เป็นธรรม ซึ่งที่ผ่านมา มีการลดราคาพลังงานทั้ง น้ำมัน ไฟฟ้า ตรึงราคาก๊าซหุงต้ม แต่ก็เป็นเพียงมาตรการระยะสั้นเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ 

แต่นโยบายการรื้อระบบพลังงาน จะเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับประชาชนอย่างถาวร เมื่อภาครัฐมีข้อมูลที่ครบถ้วน รอบด้านและมีกฎหมายที่ให้อำนาจ ก็สามารถพิจารณาและตรวจสอบต้นทุนเพื่อภาคเอกชนมีกำไรในระดับสมเหตุสมผล ไม่สร้างภาระให้ประชาชนจนเกินกว่าเหตุและสามารถแข่งขันได้ ประเทศก็จะมีความมั่นคงด้านพลังงาน ประชาชนได้ใช้พลังงานในราคาที่เป็นธรรม

“วันนี้ก็ได้เริ่มต้นจากการให้ผู้ค้าน้ำมันต้องแจ้งข้อมูลการนำเข้าและส่งออกน้ำมัน และในอนาคตก็จะเริ่มปรับระบบพลังงานประเภทอื่นๆ ทั้ง ไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม ต่อไป ผมเชื่อว่า นโยบายการปรับโครงสร้างราคาพลังงานที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ จะสามารถแก้ไขปัญหาราคาพลังงานได้อย่างถาวร และผมจะดำเนินการให้สำเร็จให้เร็วที่สุด” นายพีระพันธุ์ กล่าว

‘พีระพันธุ์’ ออกประกาศ ‘ผู้ค้าน้ำมัน’ ต้องเปิดเผยข้อมูลต้นทุน  ป้องกันค้ากำไรเกินควร มุ่งสร้างความเป็นธรรม-มั่นคงด้านพลังงาน

(14 มี.ค.67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เปิดเผยว่า ตั้งแต่รับตำแหน่งเป็นต้นมาได้เร่งทำงานทุกด้านเพื่อสร้างระบบพลังงานของประเทศขึ้นมาใหม่ตามแนวทางรื้อ ลด ปลด สร้าง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ประชาชนได้ใช้พลังงานในราคาที่เหมาะสม ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล และประเทศมีความมั่นคงอย่างยั่งยืน

ล่าสุด เมื่อวานนี้ (13 มี.ค.67) ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง การแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2567 ซึ่งให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป โดยประกาศกระทรวงพลังงานฉบับดังกล่าวได้กำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 รายงานข้อมูลรายละเอียดราคาและต้นทุนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการนำเข้าและการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงต่ออธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทราบ ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการบันทึกบัญชีรายวัน พร้อมทั้งแจ้งราคาต้นทุนเฉลี่ยและหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการคำนวณต้นทุนเฉลี่ยของน้ำมันเชื้อเพลิงในทุกไตรมาส และกรณีที่ผู้ค้าน้ำมันปรับปรุงการบันทึกบัญชี หรือเปลี่ยนแปลงข้อมูล จะต้องแจ้งให้อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทราบภายใน 7 วัน โดยข้อมูลที่ได้รับมาจะถือเป็นข้อมูลลับของทางราชการและมีการเก็บรักษาเป็นความลับอย่างที่สุด

สำหรับต้นทุนเฉลี่ยของน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งถือเป็นข้อมูลที่จำเป็นในการกำหนดนโยบายด้านการพลังงานที่เหมาะสมนั้น ประกอบด้วย ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งหมายความรวมถึง น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว น้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซล และต้นทุนอื่นที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการซื้อและขายน้ำมันเชื้อเพลิง เช่น ค่าขนส่ง ค่าประกันภัย ค่าตอบแทนนายหน้า ค่าใช้จ่ายในการแลกเปลี่ยนและโอนเงิน ค่าภาษี อากร หรือค่าธรรมเนียมอื่นใด ซึ่งผู้ประกอบการได้บันทึกบัญชีและมีหน้าที่ต้องชำระ โดยคำนวณเฉลี่ยเป็นหน่วยต่อลิตรในแต่ละรายไตรมาสของปีบัญชี 

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวมีความจำเป็นต่อการกำหนดนโยบายด้านพลังงานของประเทศ เพื่อให้ภาครัฐมีข้อมูลที่จำเป็นสำหรับกำหนดนโยบายด้านพลังงานให้เหมาะสมเพื่อให้น้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศมีราคาจำหน่ายที่ยุติธรรมสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ประชาชนได้รับการคุ้มครองไม่ให้มีการค้ากำไรเกินสมควรในการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง และผู้ประกอบธุรกิจทุกประเภทและทุกระดับมีความสามารถในการแข่งขันในระดับสากลเพิ่มมากขึ้น

“คงจำได้ว่าเมื่อรับตำแหน่งใหม่ๆ ผมพยายามที่จะหาว่าต้นทุนพลังงานแต่ละชนิดคืออะไร ราคาที่ขายให้ประชาชนมีความถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่ แต่ไม่ได้รับคำตอบ โดยอ้างว่าเป็นความลับทางการค้าและกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้ ผมและทีมงานจึงศึกษาและพบว่าจริงๆ แล้วมีช่องทางในการขอทราบข้อมูลแต่ยังไม่มีใครเคยทำมาก่อน จึงได้ดำเนินการยกร่างออกประกาศเพื่อกำหนดแนวทางและวิธีการให้ภาครัฐสามารถเข้าถึงข้อมูลต้นทุนได้”

“นโยบาย รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง เป็นสิ่งที่ผมให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ทั้งผมและข้าราชการกระทรวงพลังงาน ที่ปรึกษาและทีมกฎหมายจากกฤษฎีกาได้ทำงานอย่างหนัก ประชุมและค้นคว้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อหาวิธีที่จะทำให้ประชาชนได้ใช้พลังงานในราคาที่เป็นธรรม ซึ่งที่ผ่านมา มีการลดราคาพลังงานทั้ง น้ำมัน ไฟฟ้า ตรึงราคาก๊าซหุงต้ม แต่ก็เป็นเพียงมาตรการระยะสั้นเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ แต่นโยบายการรื้อระบบพลังงาน จะเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับประชาชนอย่างถาวร เมื่อภาครัฐมีข้อมูลที่ครบถ้วน รอบด้านและมีกฎหมายที่ให้อำนาจ ก็สามารถพิจารณาและตรวจสอบต้นทุนเพื่อภาคเอกชนมีกำไรในระดับสมเหตุสมผล ไม่สร้างภาระให้ประชาชนจนเกินกว่าเหตุและสามารถแข่งขันได้ ประเทศก็จะมีความมั่นคงด้านพลังงาน ประชาชนได้ใช้พลังงานในราคาที่เป็นธรรม ซึ่งวันนี้ก็ได้เริ่มต้นจากการให้ผู้ค้าน้ำมันต้องแจ้งข้อมูลการนำเข้าและส่งออกน้ำมัน และในอนาคตก็จะเริ่มปรับระบบพลังงานประเภทอื่นๆ ทั้ง ไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม ต่อไป ผมเชื่อว่า นโยบายการปรับโครงสร้างราคาพลังงานที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ จะสามารถแก้ไขปัญหาราคาพลังงานได้อย่างถาวร และผมจะดำเนินการให้สำเร็จให้เร็วที่สุด” นายพีระพันธุ์ กล่าว

‘เนต้า’ เริ่มผลิตรถยนต์ EV ในไทยแล้ว ประเดิมรุ่นแรก NETA V-II ส่งมอบ เม.ย. นี้

(14 มี.ค. 67) นาย ชู กังจื้อ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เนต้า ออโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทได้เริ่มเปิดสายพานการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการแล้วตั้งแต่ 13 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป โดยจะเริ่มผลิตรถยนต์ในรุ่น NETA V-II ซึ่งมีแผนเปิดตัวอย่างเป็นทางการในงานมอเตอร์โชว์นี้ เป็นรุ่นแรก

ทั้งนี้ NETA V-II ที่ผลิตจากโรงงานในประเทศไทยล็อตแรกจะทยอยส่งมอบถึงมือลูกค้าคนไทยได้ตั้งแต่ เมษายนนี้เป็นต้นไป 

“NETA พร้อมสนับสนุนนโยบายภาครัฐของไทยอย่างเต็มที่ ซึ่งการได้รับเอกสารอนุมัติและรับรองการประกอบกิจการในครั้งนี้ นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของ NETA และมีนัยสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจของเราในระดับสากล โดย NETA พร้อมนำเสนอรถยนต์ไฟฟ้าที่มีคุณภาพ พร้อมเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าที่ล้ำสมัย และมีระบบความปลอดภัยครบครัน ในราคาที่เข้าถึงได้ ซึ่งผลิตจากฐานการผลิตในประเทศไทยเพื่อคนไทยทุกคน”

สำหรับโรงงานประกอบรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของ NETA ในประเทศไทยเป็นความร่วมมือระหว่าง NETA กับ บริษัท บางชันเยนเนอเรลเอเซมบลี จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า100% แห่งแรกของ NETA ที่ตั้งอยู่นอกประเทศจีน อีกทั้งยังเป็นโรงงานผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแห่งแรกที่ตั้งอยู่ในเขตปลอดอากร ‘พระนครฟรีโซน’ นิคมอุตสาหกรรมบางชัน พื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร

ขณะที่ โรงงานในประเทศไทยนับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของแผนงานระดับสากลของ NETA ที่ไม่ได้เป็นเพียงการลงทุนสร้างฐานการประกอบรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ได้มาตรฐานการผลิตในระดับสากลของ NETA เพื่อรองรับการเติบโตของตลาดในภูมิภาคอาเซียนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการพัฒนาในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสนับสนุนให้ระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าของไทยในฐานะผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลกให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น โดยโรงงานในประเทศไทยแห่งนี้จะช่วยยกระดับความสามารถในการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของ NETA ทำให้สามารถส่งมอบรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่มาพร้อมนวัตกรรมที่ทันสมัยรุ่นต่างๆ เพื่อรองรับกับความต้องการของตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในไทย

นอกจากนั้น NETA มีแผนเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ด้วยการแนะนำรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% รุ่นใหม่ที่มาพร้อมเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าที่ล้ำสมัยอย่างน้อยปีละ 1 รุ่น ยิ่งไปกว่านั้นจะมีการขยายโชว์รูมและศูนย์บริการมาตรฐานของ NETA ให้ครอบคลุมทั่วประเทศเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับลูกค้าและรองรับจำนวนลูกค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ควบคู่ไปกับการยกระดับภาพลักษณ์ของแบรนด์และเน้นการมีส่วนร่วมของลูกค้าผ่านกิจกรรมรูปแบบต่าง ๆ 

‘รมว.ปุ้ย’ มุ่งยกระดับ ‘โกโก้ไทย’ สู่สินค้าพรีเมียมระดับโลก หารือ ‘แบรนด์ภราดัย’ ถ่ายทอดทักษะ-ความรู้สู่ผู้ประกอบการ

(14 มี.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โลกเดือดได้ส่งผลให้ราคาโกโก้ในตลาดโลกปัจจุบันพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยราคาซื้อขายโกโก้ล่วงหน้าที่ตลาดนิวยอร์กพุ่งขึ้นสูงถึงกว่า 7,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน หรือประมาณกว่า 240,000 บาท (ข้อมูล ณ 1 มีนาคม 2567) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนในช่วงเวลาเดียว ซึ่งมีการซื้อขายอยู่ที่กว่า 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ประกอบกับความต้องการโกโก้มีอย่างต่อเนื่องทั้งจากตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ สะท้อนได้จากการเติบโตของร้านคาเฟ่ ผลิตภัณฑ์ขนมหวาน ช็อกโกแลตพรีเมียม รวมถึงเทรนด์การรักสุขภาพ 

เนื่องจากโกโก้สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย อาทิ อาหารเพื่อสุขภาพชั้นดีเยี่ยม (Super Food) ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง จึงนับว่าเป็นความท้าทายของอุตสาหกรรมโกโก้ไทยที่จะมีโอกาสเติบโตไปยังตลาดโลก และยกระดับสู่การเป็นไทยโกโก้ฮับ (THAI COCOA HUB) ของอาเซียนในอนาคต อย่างไรก็ตาม โกโก้ไทยยังติดข้อจำกัดในหลายจุดตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ดังนั้น รัฐบาลจึงหาแนวทางผลักดันและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมโกโก้ไทยตลอดห่วงโซ่อุปทานด้วยการบูรณาการความร่วมมือระหว่างผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน 

ล่าสุด กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อร่วมกันศึกษาแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมโกโก้จากเจ้าของแบรนด์ ‘ภราดัย’ ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์โกโก้และคราฟต์ช็อกโกแลตสัญชาติไทยแท้ การันตีคุณภาพด้วยรางวัลเหรียญทองระดับโลกจากเวที Academy of Chocolate Award 2021 

โดยทาง ภราดัย มีข้อเสนอแนะและความต้องการที่จะให้ภาครัฐมุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพการผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์โกโก้ให้มีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด การส่งเสริมมาตรฐานผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อาทิ GMP GHPs Halal การเพิ่มมูลค่าโกโก้สู่ผลิตภัณฑ์พรีเมี่ยม การส่งเสริมและเพิ่มช่องทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ การเชื่อมโยงแบรนด์โกโก้ของไทยที่มีคุณภาพสู่ตลาดสากลมากขึ้น เช่น Cocoa Valley, กานเวลา, Bean to Bar, ONE MORE, SP COCO เป็นต้น

ตลอดจนการสนับสนุนและโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนกับสถาบันการเงินต่าง ๆ ขณะเดียวกัน ทางภราดัยมีความยินดีที่จะร่วมมือกับทางภาครัฐ โดยนำจุดแข็งที่ทางภราดัยมีอยู่แล้วมาร่วมถ่ายทอดทักษะและองค์ความรู้ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการหมักและการคั่วให้ได้คุณภาพและมาตรฐานที่ดี การคัปปิ้งโกโก้ (Cupping Cocoa) เพื่อทดสอบคุณภาพของโกโก้และค้นหาเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของโกโก้แต่ละพื้นที่ปลูก อันจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์โกโก้ไทยเติบโต สามารถแข่งขันกับตลาดโลก และขึ้นแท่นเป็นสินค้าพรีเมี่ยมได้ในอนาคต

นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ภายหลังจากการรับฟังความต้องการของผู้ประกอบการภราดัย รมว.อุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม เร่งเดินหน้าให้การส่งเสริมและสนับสนุนภราดัย โดยทางทีมดีพร้อมจะเข้าไปให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกในการเตรียมความพร้อมและตรวจประเมินสำหรับยื่นขอการรับรองผลิตภัณฑ์มาตรฐานฮาลาลจากสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เพื่อสามารถขยายโอกาสทางการตลาดสู่ตลาดฮาลาลในอนาคต 

นอกจากนี้ ดีพร้อม ยังสนับสนุนให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อนำไปปรับปรุงเครื่องจักรในกระบวนการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพการแปรรูปโกโก้ให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นผ่านโครงการ ‘ติดปีกเอสเอ็มอี หลักทรัพย์ไม่มี ดีพร้อมค้ำประกันให้’ ภายใต้นโยบาย DIPROM Connection ซึ่งจะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้นโดยใช้หนังสือค้ำประกันแทนหลักทรัพย์ 

ขณะเดียวกัน ดีพร้อม ยังได้วางแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมโกโก้ของไทยตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำในทุก ๆ มิติ ด้วยการบูรณาการความร่วมมือระหว่างผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน โดยในส่วนของต้นน้ำ ดีพร้อม มุ่งเน้นการพัฒนาและยกระดับศักยภาพเกษตรกรสู่ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะกระบวนการบ่มหมักเมล็ดโกโก้เพื่อให้ได้เมล็ดโกโก้ที่มีคุณภาพตามความต้องการของตลาด การส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกรคลัสเตอร์โกโก้ การนำนวัตกรรม เทคโนโลยี และการจัดการเกษตรอุตสาหกรรมสมัยใหม่มาปรับใช้ อาทิ เครื่องผ่าผลสดโกโก้ เครื่องคัดแยกเมล็ดโกโก้ และในส่วนของกลางน้ำ/ปลายน้ำ ดีพร้อม จะเน้นการพัฒนาและยกระดับศักยภาพการผลิต/การแปรรูปผลิตภัณฑ์โกโก้ การเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต การตรวจวิเคราะห์คุณภาพสารอาหารในโกโก้ ไม่ว่าจะเป็นการนำโกโก้บัตเตอร์มาผ่านกระบวนการทดสอบและตรวจหาสารสำคัญ อาทิ กรดไขมันอิสระ (free fatty acid) การพัฒนาต้นแบบเครื่องบีบสกัดโกโก้เพื่อให้ได้โกโก้บัตเตอร์ การส่งเสริมการสร้างระบบมาตรฐานต่าง ๆ การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ให้มีอัตลักษณ์พื้นที่ของแหล่งปลูกโกโก้และเชื่อมโยงสู่การท่องเที่ยวภายในจังหวัด 

รวมถึงเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการธุรกิจโกโก้และเกษตรกรในรูปแบบจัดตั้งสมาคมโกโก้ การเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ผลิตสู่ผู้ซื้อ ตัวอย่างเช่นที่ผ่านมา ทางทูตอุตสาหกรรมญี่ปุ่นได้นำเมล็ดโกโก้จากจังหวัดพะเยาและนครศรีธรรมราชไปเป็นเป็นตัวอย่างในการทดสอบคุณภาพ ทำให้เกิดการเจรจาซื้อขายกับผู้ประกอบการประเทศญี่ปุ่น จำนวน 5 ตัน และการร่วมมือกับสภาเกษตรกรแห่งชาติเพื่อจัดทำแผนการสร้างเครือข่ายระหว่างเกษตรกรผู้ปลูกและผู้ประกอบการที่ผลิตและแปรรูปโกโก้ 

นอกจากนี้ ดีพร้อม ยังส่งเสริมและสนับสนุนการเข้าถึงโอกาส (Reshape The Accessibility) ด้านการตลาดด้วยการผลักดันและเชื่อมโยงผู้ประกอบการอุตสาหกรรมโกโก้แบรนด์ชั้นนำของไทยสู่ตลาดสากลมากยิ่งขึ้น รวมถึงการพัฒนาและยกระดับการแปรรูปโกโก้สู่การเป็นอาหารแห่งอนาคต (future food) ด้วยการนำทุกส่วนของโกโก้มาแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายสู่การเป็นสินค้าพรีเมี่ยม อาทิ กลุ่มอาหารที่ให้ประโยชน์สูงต่อร่างกาย (Super Food) โกโก้ผง เนยโกโก้ ช็อกโกแลต เพื่อขยายโอกาสรองรับกระแสการปฏิวัติอุตสาหกรรมอาหารในกลุ่มซูเปอร์ฟู้ด (Super foods) และเทรนด์คนรักสุขภาพในปัจจุบัน โดยคาดว่าจะสามารถยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการอุตสาหกรรมโกโก้ให้มีขีดความสามารถการแข่งขันในระดับเวทีโลกได้มากขึ้น และกระตุ้นมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมเพิ่มขึ้นกว่า 8,000 ล้านบาท" นายภาสกร กล่าวทิ้งท้าย

‘รมว.ปุ้ย’ แง้ม!! เล็งหา ‘พันธมิตรใหม่’ ลุยลงทุนเหมืองโปแตซ หลังผู้รับประทานบัตร 3 ราย ขาดสภาพคล่อง ฉุดโครงการล่าช้า

เมื่อวานนี้ (13 มี.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดใจกับเครือเนชั่น ถึงแนวทางแก้ปัญหาโครงการลงทุนเหมืองโปแตช หลังผู้ได้รับ ประทานบัตร 3 ราย ขาดสภาพคล่อง จนทำให้โครงการล่าช้า โดยระบุว่า…

ปัจจุบันมีบริษัทที่ได้ประทานบัตรทำเหมืองแร่โปแตช 3 เจ้า แต่ยังไม่มีเจ้าไหนสามารถขุดแร่ขึ้นมาได้ จากเหมืองใน 3 จังหวัดได้แก่ ชัยภูมิ, อุดรธานี และนครราชสีมา เนื่องจากผู้ประกอบการที่ได้รับสัมปทานขาดเงินทุนขาดสภาพคล่องในการลงทุนที่จะขุดแร่โปแตซขึ้นมาใช้ประโยชน์

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า ทั้งนี้ โดยหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรม จะเป็นผู้ให้ประธานบัตรกับผู้ลงทุน ซึ่งถ้าจะถามว่าความรับผิดชอบสิ้นสุดแล้วหรือไม่? ก็ไม่ถึงกับสิ้นสุด เพราะยังต้องติดตามว่าผู้ที่ได้รับบัตรสามารถประกอบกิจการได้หรือไม่? อย่างไร? แต่แน่นอนว่า ทุกฝ่ายคาดหวังกับการขุดแร่โปแตช เพื่อนำมาทำเป็นปุ๋ยให้ได้โดยเร็ว เพราะจะช่วยให้เกิดความมั่นคงต่อประเทศในระยะยาว ไม่ต้องไปพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ เพราะทุกครั้งที่มีเหตุการณ์ใด ๆ เกิดขึ้น เช่น เมื่อสงคราม ราคาปุ๋ยก็จะพุ่งกระฉูด ดังนั้นทั้ง 3 ผู้ประกอบการที่ได้ประทานบัตรไป หากสามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่น ก็ถือเป็นความสำเร็จของกระทรวงอุตสาหกรรมเช่นกัน

อย่างไรก็ตามเมื่อทั้ง 3 เกิดปัญหาไม่มีเงินทุนขาดสภาพคล่อง ก็ต้องเริ่มมองไปถึงการเปิดโอกาสดึงกลุ่มทุนที่มีศักยภาพรายใหม่ ๆ เข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งปัจจุบันต้องบอกว่ามีเสียงตอบรับที่ดีมาก ๆ อยู่แล้ว เนื่องจากมีหลายบริษัทที่สนใจทั้งจากไทยและเทศที่อยากจะเข้ามาร่วม เพียงแต่ต้องยอมรับว่า ประทานบัตรนั้นมีอายุและถือเป็นสิทธิ์ของผู้ที่ได้รับไป แต่เมื่อไรก็ตามถ้าประธานบัตรหมดอายุขึ้นมา ตัดสิทธิ์ก็จะวนกลับมาที่กระทรวงอุตสาหกรรมใหม่อีกรอบหนึ่ง นั่นจึงทำให้ทางกระทรวงฯ จึงยังต้องเฝ้าดูและคอยกระตุ้นผู้ที่ถือบัตรฯ อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามทั้ง 3 ผู้ประกอบการก็มีความพยายามในการขับเคลื่อนภารกิจของตน เพราะเกี่ยวกับเรื่องนี้ท่านนายกฯ ก็ลงมากำชับด้วยตัวเอง ขณะเดียวกันทุกครั้งที่ท่านไปปฏิบัติภารกิจที่ต่างประเทศ ก็จะพยายามมองหาผู้ที่สนใจที่มีศักยภาพมาร่วมลงทุนด้วยเช่นกัน

เมื่อถามถึงผลลัพธ์ของเหมืองโปแตซที่ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยลดราคาปุ๋ยของไทยได้มากน้อยแค่ไหน? รมว.พิมพ์ภัทรา เผยว่า “3เหมืองนี้เพียงพอที่จะทำให้ไทยมีปุ๋ยใช้ในประเทศได้เพียงพอและมากพอที่จะส่งออกได้ด้วย ซึ่งตรงนี้ถือเป็นความมั่นคงของประเทศอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ใดๆ ขึ้นในโลก เมื่อเรามีต้นทุนปุ๋ยเป็นของตนเอง อย่างน้อยก็ไม่ต้องพึ่งพาต่างประเทศ”

'รมว.ปุ้ย' เร่งออก มอก. ภาคบังคับเพิ่ม 2 เท่า สกัด 'สินค้าราคาถูก-ด้อยคุณภาพ' พังตลาดไทย

(13 มี.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงประเด็นเรื่องกำลังผลิตภาคอุตสาหกรรมไทยลดลง ว่า ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่ามาจากการที่ผลิตภัณฑ์ หรือสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เร่งออกมาตรฐานบังคับใช้ หรือ มอก. ให้ได้มากกว่าที่ผ่านมา 2 เท่า เพราะเชื่อว่าอย่างน้อยจะช่วยเป็นหลักประกัน และสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้บริโภคด้วยว่าจะเลือกใช้ของถูกแต่ไม่มีมาตรฐาน หรือของถูกที่ได้มาตรฐาน

"ยอมรับว่าการที่ภาคการผลิตชะลอตัวอาจจะเป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมเองก็มีหน้าที่ในการดูแล และสนับสนุน เพราะเวลานี้ผู้ประกอบการเองนำหน้ารัฐบาลไปมาก ดังนั้น สิ่งสำคัญก็คือจะทำอย่างไรให้ไม่เกิดอุปสรรค ควบคู่ไปกับการสนับสนุน"

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมากระทรวงฯเองก็มีมาตรการที่ดูแลผู้ประกอบการไทย และผู้บริโภค เพียงแต่การดูแลจะต้องทำให้ได้อย่างทั่วถึง โดยในส่วนของผู้บริโภคเองย่อมต้องการสินค้าที่ราคาไม่แพง แต่ประเด็นที่สำคัญคือ จะต้องมีคุณภาพด้วย ซึ่งกระทรวงฯมีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงอย่าง สมอ. คอยช่วยดูแลอยู่ ในการสร้างมาตรฐาน มอก.

โดยสินค้าที่จะเข้ามาจำหน่ายในไทยจะต้องได้รับการยอมรับ หรือผ่านมาตรฐาน มอก. จากการตรวจสอบอย่างเข้มงวด แต่ปัจจุบันมีปัญหาจากการสั่งสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ หรือถูกมาพักไว้ตามแนวตะเข็บชายแดนก่อนนำเข้า

อย่างไรก็ตาม ต้องเรียนว่ากระทรวงฯคงดูแลรับผิดชอบเพียงหน่วยงานเดียวไม่ไหว จะต้องมีหน่วยงานอื่นร่วมมือกันด้วย โดยก่อนหน้านี้ได้มีการหารือกับกระทรวงพาณิชย์ในการดูแลสินค้านำเข้าให้มีคุณภาพ เพราะหากสินค้าไม่มีคุณภาพเข้ามาเป็นจำนวนมากย่อมกระทบกับผู้ประกอบการไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะต้นทุนถูกกว่า ซึ่งการดูแลจึงต้องทำควบคู่กันไปทั้งผู้ผลิต และผู้บริโภค

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวต่อไปอีกว่า ในระยะต่อไปสินค้าที่จะนำเข้ามาจำหน่ายในไทย จะต้องมีกระบวนการในการตรวจสอบมาตรฐาน ตั้งแต่สินค้าชิ้นเล็ก เช่นปลั๊กไฟ หากไม่ได้มาตรฐานอาจจะเป็นอันตรายต่อชีวิต และครอบครัว หรือเหล็ก ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงความมั่นคงของประเทศ โดยปัจจุบันมีทั้งผู้ผลิตในประเทศไทย และเหล็กนำเข้าจากต่างประเทศที่ผ่าน มอก. อย่างถูกต้อง และไม่ถูกต้อง

"ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องช่วยกัน โดยมองว่าไม่ใช่ช่วยกันเฉพาะการนำเข้า เพราะไม่ใช่ข้อห้าม แต่สิ่งสำคัญสินค้าจะต้องได้มาตรฐาน"

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวอีกว่า ต้องทำความเข้าใจด้วยว่ามาตรฐานมี 2 แบบ คือ มาตรฐานบังคับใช้ และมาตรฐานทั่วไป โดยที่ผ่านมากระทรวงฯพบข้อมูลแล้วว่าเรื่องมาตรฐานเริ่มมีปัญหากับผู้ประกอบการในประเทศ จึงมีการยกระดับให้เป็นมาตรการบังคับ แต่ก็ต้องยอมรับว่าการออกมาตรฐานไม่ใช่สิ่งที่ทำได้โดยง่าย เพราะจะต้องมีเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ ตั้งแต่วิธีการผลิต และการตรวจคุณภาพ ซึ่งอาจจะไม่ทันกับจำนวนสินค้าที่หลั่งไหลเข้ามา


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top