Wednesday, 9 July 2025
ECONBIZ NEWS

‘อโกด้า’ เผย ‘ข้อมูลการค้นหาที่พัก’ ของ 'นทท.ไทย' ช่วงต้นฤดูฝน พบ 'เมืองรอง' อยู่ในลิสต์ค้นหาเพื่อไปท่องเที่ยว 'เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า'

(19 มิ.ย.67) อโกด้า แพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับการท่องเที่ยว รายงานข้อมูลการค้นหาที่พักในช่วงต้นฤดูฝน จากข้อมูลพบว่า เมืองรองกำลังได้รับความสนใจในกลุ่มนักท่องเที่ยวไทยเพื่อเดินทางไปสถานที่ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก โดยการค้นหาที่พักในเมืองรองผ่านอโกด้ามีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงต้นฤดูฝน

จากข้อมูลพบว่า จังหวัดเมืองรองที่นักเที่ยวชาวไทยค้นหามากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จันทบุรี, นครศรีธรรมราช, นครนายก, ราชบุรี และเชียงราย ตามลำดับ

โดยจังหวัดเมืองรองเหล่านี้มีที่เที่ยวที่หลากหลาย เที่ยวได้ไม่จำเจ ตั้งแต่การออกเที่ยวเพื่อดื่มดำไปกับธรรมชาติ จนถึงการไปชิมอาหารรสชาติพื้นเมือง สถิติการค้นหาเมืองรองมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นถึง 23% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่าน

โดยจากทั้ง 5 เมืองรองที่ถูกค้นหามากที่สุด นครนายก เป็นจังหวัดที่มียอดการค้นหาเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า ซึ่งการค้นหาเมืองรองที่เพิ่มขึ้นนี้ ชี้ให้เห็นถึงเทรนด์การท่องเที่ยวที่นักเดินทางต้องการค้นหาประสบการณ์ที่ยังไม่เคยสัมผัสมาก่อนจากเมืองรองมากขึ้น

‘Bitkub’ ผนึก ‘Celo’ เสิร์ฟความรู้ 'สินทรัพย์ดิจิทัล-บล็อกเชน' เตรียมความพร้อมคนไทย เข้าสู่ยุค ‘Web 3.0’ ได้อย่างยั่งยืน

เมื่อวานนี้ (18 มิ.ย.67) บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด ผู้ให้บริการ Bitkub Exchange ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลสัญชาติไทย และบริษัท บิทคับ แล็บส์ จำกัด ผู้ให้บริการ Bitkub Academy ศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีบล็อกเชนและสินทรัพย์ดิจิทัล ประกาศความร่วมมือกับ Celo Foundation ผู้พัฒนาเครือข่ายบล็อกเชน Celo เพื่อส่งเสริมการใช้งานเทคโนโลยีบล็อกเชนและเตรียมความพร้อมคนไทยเข้าสู่โลกในยุค Web 3.0 ควบคู่ไปกับความยั่งยืน

โดยความร่วมมือนี้มีความตั้งใจพัฒนาความรู้ให้เข้าถึงได้ง่ายและแพร่หลายยิ่งขึ้นผ่าน Celo Foundation ซึ่งเป็นผู้พัฒนาเครือข่ายบล็อกเชน Celo ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงการใช้งานได้สะดวกและเน้นการใช้งานที่ยั่งยืนด้วยการเป็นเทคโนโลยีบล็อกเชนที่มีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นลบ

นายสุกฤษฏิ์ พุทธวิริยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แล็บส์ จำกัด เปิดเผยว่า “การเตรียมความพร้อมคนไทยให้มีทักษะที่จำเป็นและสามารถแข่งขันได้ในโลกยุค Web 3.0 เป็นเป้าหมายของการดำเนินงานที่สำคัญของ Bitkub Academy โดยการสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายบล็อกเชนชั้นนำของโลกรายต่าง ๆ เป็นการเปิดโอกาสให้คนไทยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่หลากหลายและมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน โดย Bitkub Academy กับ Celo Foundation มีเป้าหมายร่วมกันในการยกระดับความรู้ความเข้าใจเทคโนโลยีบล็อกเชนและ Web 3.0 ให้เข้าถึงได้ง่ายและผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางความรู้ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

นายอรรถกฤต ชิมผลาพิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด กล่าวเสริมว่า “Bitkub Exchange มีความยินดีที่เกิดความร่วมมือกับ Celo Foundation ในครั้งนี้ ในฐานะศูนย์ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลชั้นนำของไทย ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. เรามีความตั้งใจที่จะช่วยเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในโลกสินทรัพย์ดิจิทัลที่กำลังพัฒนา ซึ่ง Celo Foundation เป็นมูลนิธิที่สนับสนุนความรู้และการใช้งานบล็อกเชน รวมถึงมีธรรมาภิบาลในด้านความยั่งยืนอีกด้วย เรามั่นใจว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยให้เทคโนโลยี Web 3.0 สามารถเป็นพื้นที่ที่เข้าถึงได้สำหรับคนไทยทุกคน”

Angelo Kalaw, Ecosystem Strategy and Innovation Lead จาก Celo Foundation กล่าวเสริมว่า “เรารู้สึกยินดีสำหรับความร่วมมือกับ Bitkub ในครั้งนี้ ซึ่งจะช่วยขยายการใช้งานระบบนิเวศบล็อกเชนของ Celo เข้าสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมเพิ่มการใช้งานเทคโนโลยี Web 3.0 ไปทั่วภูมิภาค นอกจากนี้ เรายังมุ่งกระจายความรู้เกี่ยวกับ Regenerative Finance (ReFi) และพาผู้ใช้งานอีกหลายล้านคนเข้าสู่โลก Web 3.0 ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของการสร้างชุมชนผู้ใช้งาน Celo หรือ “เกาะ Celo” DAO ในประเทศไทยเช่นเดียวกัน”

เนื้อหาดังกล่าวมาจาก บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด จัดทำร่วมโดย บริษัท บิทคับ แล็บส์ จำกัด ซึ่งไม่ใช่ผู้ประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต.

‘รมว.ปุ้ย’ หนุน ‘อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ’ สร้างรายได้เข้าชาติ นำร่อง 4 กลุ่ม ‘พาหนะรบ-ต่อเรือ-อากาศยานไร้คนขับ-ปืน’

(18 มิ.ย. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ให้ความสำคัญกับการยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ทั้ง First S-curve และ New S-curve ที่มีศักยภาพในการเติบโตและสร้างรายได้ให้กับประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมป้องกันประเทศที่ได้มีการหารือกับนายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา และมีความเห็นตรงกันในการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมป้องกันประเทศในอันดับต้น ๆ ของอาเซียน โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจึงเล็งเห็นถึงโอกาสในการส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดยกำหนดผลิตภัณฑ์เป้าหมายที่มีศักยภาพเบื้องต้นนำร่อง 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.) กลุ่มยานพาหนะรบ 2.) กลุ่มอุตสาหกรรมต่อเรือ 3.) กลุ่มอากาศยานไร้คนขับ และ 4.) กลุ่มอาวุธและกระสุนปืนสำหรับการป้องกันประเทศและกีฬา 

การยกระดับอุตสาหกรรมดังกล่าว จำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการมาตรฐาน เช่น ห้องแล็บสำหรับทดสอบผลิตภัณฑ์ เพื่อให้มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับของสากล รวมถึงอุตสาหกรรมอื่น ๆ ด้วย ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักกติกาสากลที่ทั่วโลกให้การยอมรับ

ล่าสุด สมอ. ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการรับรองห้องแล็บระหว่างประเทศที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ ได้ให้การรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการทดสอบ ตามมาตรฐาน มอก. 17025-2561 หรือ ISO/IEC 17025 : 2017 แก่หน่วยงานใน 3 อุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ 1.) อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ คือ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ 2.) อุตสาหกรรมปิโตรเลียม คือ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และ 3.) อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ คือ บริษัท วชิรแล็บเพื่อสังคม จำกัด จึงทำให้ห้องแล็บที่ได้รับการรับรองจาก สมอ. ได้รับความเชื่อมั่นและเชื่อถือในระดับสากลด้วยเช่นกัน 

ด้าน นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้ สมอ. ได้มอบใบรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการทดสอบ ตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 : 2017 ให้แก่ 3 หน่วยงาน ได้แก่ 1.) สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เป็นองค์การมหาชนสังกัดกระทรวงกลาโหม ที่มีภารกิจด้านการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ได้รับการรับรองในสาขาโยธาและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ  โดยนำผลทดสอบไปใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตอาวุธปืน กระสุน แผ่นเกราะ กระจกกันกระสุน โล่นิรภัย รถกันกระสุน เส้นใยป้องกันการติดไฟ อากาศยานไร้คนขับ เป็นต้น     

2.) บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจสำรวจ พัฒนา และผลิตปิโตรเลียม เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ได้รับการรับรองในสาขาปิโตรเลียม โดยนำผลทดสอบไปใช้ประกอบในการสำรวจแหล่งปิโตรเลียม และการวิจัยเพื่อเพิ่มอัตราการผลิตน้ำมัน    

และ 3.) บริษัท วชิรแล็บเพื่อสังคม จำกัด เป็นบริษัทที่ร่วมทุนระหว่างมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ให้บริการวิเคราะห์ สุ่มตรวจ และรับรองอุปกรณ์ทางการแพทย์ ในรูปแบบวิสาหกิจเพื่อสังคม ได้รับการรับรองในสาขาวัสดุและอุปกรณ์ทางการแพทย์ สำหรับการทดสอบหน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียว และหน้ากากใช้ครั้งเดียวชนิด N95 โดยนำผลทดสอบไปใช้เพื่อการผลิตหน้ากากอนามัยและอุปกรณ์การแพทย์ที่มีคุณภาพ 

ทั้งนี้ การได้รับการรับรองจะช่วยให้ผู้ประกอบการ สามารถลดต้นทุนและลดระยะเวลาในการทดสอบ เพราะไม่ต้องส่งสินค้าไปทดสอบซ้ำอีกในต่างประเทศ เนื่องจาก สมอ. ได้ลงนามในข้อตกลงการยอมรับร่วม (Mutual Recognition Arrangement : MRA) กับองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการรับรองห้องปฏิบัติการ ซึ่งมีประเทศสมาชิกที่ลงนามในข้อตกลงการยอมรับร่วม จำนวน 118 ประเทศ จึงเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งเป็นการเพิ่มโอกาสในการเจรจาต่อรองทางการค้าของผู้ประกอบการไทยด้วย เลขาธิการ สมอ. กล่าว

‘mu Space’ ผนึก ‘ITEL’ ลงนามบันทึกความร่วมมือ ขับเคลื่อนนวัตกรรม-บริการผ่านเครือข่ายดาวเทียมในไทย

(18 มิ.ย. 67) mu Space and Advanced Technology Co., Ltd. (mu Space) และ Interlink Telecom Public Company Limited (ITEL) ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อสำรวจโอกาสใหม่ ๆ ในเครือข่ายและบริการโทรคมนาคมผ่านดาวเทียม โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 บันทึกข้อตกลงนี้กำหนดเวทีสำหรับการรวมความเชี่ยวชาญและทรัพยากรของทั้งสองผู้นำในอุตสาหกรรม เพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมและขยายการให้บริการในประเทศไทยและที่อื่น ๆ

mu Space ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย เป็นที่รู้จักกันดีในด้านการออกแบบ การผลิต การดำเนินงาน และการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศขั้นสูงของดาวเทียม บริษัทใช้ความสามารถของตนในการให้บริการดาวเทียมที่ล้ำสมัย 

ส่วน Interlink Telecom Public Company Limited (ITEL) เป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมชั้นนำในประเทศไทยที่มีความเชี่ยวชาญในบริการเครือข่ายไฟเบอร์และโซลูชันศูนย์ข้อมูล ด้วยใบอนุญาตครบวงจรจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ITEL พร้อมที่จะให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมที่ครอบคลุม ทำให้เป็นพันธมิตรที่สำคัญในโครงการนี้

ความร่วมมือระหว่าง mu Space และ ITEL ถูกขับเคลื่อนด้วยวิสัยทัศน์ร่วมในการเพิ่มประสิทธิภาพการเชื่อมต่อผ่านดาวเทียม LEO และขยายการเข้าถึงเครือข่ายโทรคมนาคม โดยการรวมความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดาวเทียมของ mu Space เข้ากับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่แข็งแกร่งของ ITEL พันธมิตรนี้มุ่งหวังที่จะสร้างผลลัพธ์ที่เสริมกันซึ่งเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองบริษัทและลูกค้าของพวกเขา

“ที่ mu Space เรามุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนขอบเขตของเทคโนโลยีอวกาศและดาวเทียม ความร่วมมือนี้กับ ITEL เป็นก้าวสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการเชื่อมต่อดาวเทียม LEO ในประเทศไทยและที่อื่น ๆ ด้วยการรวมความเชี่ยวชาญของเรากับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่แข็งแกร่งของ ITEL เราตั้งตารอที่จะนำเสนอโซลูชันนวัตกรรมที่จะปฏิวัติการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและผลักดันการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลในพื้นที่ที่ห่างไกลที่สุด ร่วมกันเรากำลังสร้างอนาคตที่อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอยู่ในความสามารถของทุกคน” เจมส์ เยนบำรุง, CEO ของ mu Space

“บันทึกข้อตกลงนี้กำหนดพื้นฐานสำหรับการรวมบริการดาวเทียม LEO เข้ากับลูกค้าเดิมของ ITEL ที่ต้องการใช้ดาวเทียมเพื่อตอบสนองความต้องการในพื้นที่ห่างไกลและชนบท”

“บันทึกข้อตกลงนี้ถือเป็นก้าวสำคัญสู่อนาคตที่เชื่อมต่อมากขึ้น โดยการใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญร่วมกัน mu Space และ ITEL มุ่งมั่นที่จะนำเสนอโซลูชันนวัตกรรมที่เพิ่มความเชื่อมโยงและการเข้าถึง รวมถึงเป็นเวทีสำหรับข้อตกลงและโครงการอื่น ๆ ในอนาคตที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมให้ก้าวไปข้างหน้า” แถลงการณ์จาก CEO ของ Interlink

สำหรับ mu Space เป็นผู้ผลิตอวกาศและผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อตั้งขึ้นในปี 2560 โดยเจมส์ เยนบำรุง ภารกิจของบริษัทคือการแก้ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติที่ลดลงบนโลก โดยค้นหาทรัพยากรทางเลือกในอวกาศ mu Space ผลิตแพลตฟอร์มดาวเทียมที่มุ่งเน้นไปที่ดาวเทียมขนาดเล็ก ซึ่งเราได้พัฒนาและผลิตด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย เราให้บริการแบบครบวงจรรวมถึงบริการดาวเทียมประสิทธิภาพสูงและการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมที่เชื่อถือได้ mu Space เป็นบริษัทอวกาศที่มีการบูรณาการในแนวดิ่งอย่างเต็มที่ด้วยโรงงานขั้นสูงเพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการในขณะที่ลดต้นทุนเพิ่มเติมจากห่วงโซ่อุปทานที่กว้างขวาง สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมโปรดเยี่ยมชม: www.muspacecorp.com และติดตามเราบน Facebook: mu Space Corp.

ในส่วนของ Interlink Telecom Public Company Limited (ITEL) เป็นผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมในประเทศไทย โดยมีใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมประเภทที่ 3 จากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ITEL ให้บริการโทรคมนาคมผ่านเครือข่ายใยแก้วนำแสงทั่วประเทศไทย บริษัทให้บริการต่าง ๆ เช่น interlink dark fiber, interlink wavelength, interlink international private leased circuits และเทคโนโลยี interlink multi-protocol label switching รวมถึงการติดตั้งเครือข่ายโทรคมนาคมและบริการกระจายเสียง

ITEL ยังให้บริการพื้นที่ศูนย์ข้อมูลรวมถึงการให้บริการ co-location, cloud computing และบริการกู้คืนจากภัยพิบัติ ITEL ก่อตั้งขึ้นในปี 2550 และมีสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

‘ผู้ว่าฯ ตราด’ ดัน ‘สุนัขพันธ์ุไทยหลังอาน’ สู่อัตลักษณ์ของจังหวัด พร้อมต่อยอดเอกลักษณ์แห่ง 'ความซื่อสัตย์' สร้างสรรค์ ศก.ชุมชน

(17 มิ.ย. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ณ พิพิธภัณฑสถานเมืองตราด ต.บางพระ อ.เมือง จ.ตราด นายณัฐพงษ์ สงวนจิตร ผู้ว่าราชการจ.ตราดเป็นประธานเปิดโครงการ ‘หลังอานหมาดี: อัตลักษณ์ตราด สู่ผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์’

โดยก่อนเปิดงาน ผู้ว่าราชการจังหวัดตราดได้ทำความรู้จักกับสุนัขทุกตัว ทั้งตัวใหญ่และลูก ซึ่งแต่ละตัวมีคนเลี้ยงที่มีชื่อเสียงและได้รับรางวัลของจังหวัดตราดมาร่วมแสดง และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอุ้ม ท่ามกลางหัวหน้าส่วนราชการ และภาคเอกชน องค์กรปกครองท้องถิ่น นักเรียน ร่วมงานกว่า 120 คน พร้อมทั้งยังมีซุ้มแสดงสินค้าสุนัขหลังอานทั้งเสื้อ กางเกง และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มีความสวยงามและมีเอกลักษณ์ของแต่ละหน่วยงาน

ด้านนางอิศรา อิงคเพียรกุล ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองตราด กล่าวว่า โครงการ ‘หลังอานหมาดี: อัตลักษณ์ตราด สู่ผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์’ เป็นโครงการที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนส่งเสริมการดำเนินงานชุมชนและแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จากกรมส่งเสริมวัฒนธรรมกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งการดำเนินโครงการนี้ เกิดขึ้นจากการบูรณาการความร่วมมือระหว่างสภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองตราด สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตราด เทศบาลเมืองตราด และสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดตราด

โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้เรื่อง สุนัขพันธุ์ไทยหลังอาน เนื่องในโอกาสที่จังหวัดตราด ได้ประกาศให้ ‘สุนัขพันธุ์ไทยหลังอาน’ เป็นรายการเบื้องต้นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของจังหวัดตราด ประจำปี งบประมาณ พ.ศ.2567 และเพื่อเป็นการสร้างการตระหนักรู้ถึงคุณค่าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมท้องถิ่น และการนำเสนอผลงานที่สร้างสรรค์ต่อยอดจากอัตลักษณ์ของ สุนัขพันธุ์ไทยหลังอาน ช่วยส่งเสริมการสร้างรายได้จากมรดกภูมิปัญญาเป็นการขับเคลื่อนให้เกิด Soft Power ในอีกมิติหนึ่ง

นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ตนเองเป็นคนหนึ่งที่เลี้ยงสุนัข และเลี้ยงมานานหลายปีสมัยที่รับราชการในภาคอีสาน และเลี้ยงสุนัขพันธ์ร็อตไวเลอร์ ที่หลายคนมองว่าน่ากลัวและอันตราย แต่สุนัขทุกตัว ทุกพันธ์ุมีความรักเจ้าของ ซื่อสัตย์ จดจำเจ้าของได้แม่น แม้จะห่างหายไปนาน เพราะเขาจะจำกลิ่นได้แม่นยำ และสุนัขพันธุ์ไทยหลังอานสายพันธุ์ของจังหวัดตราด ก็มีลักษณะเฉพาะที่โดดเด่น เป็นความภาคภูมิใจ จนถูกนำมาเสนอเป็นของเด่นของดีในคำขวัญของจังหวัดตราด และวันนี้ได้รับการประกาศให้เป็นรายการเบื้องต้นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของจังหวัดตราด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ด้านความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล ด้วยต้องใช้เทคนิคเคล็ดลับการเลี้ยงดูที่ต้องสั่งสมประสบการณ์ มากด้วยภูมิปัญญาในการเพาะเลี้ยงให้ได้สุนัขพันธุ์ไทยหลังอานที่คงเอกลักษณ์ของสุนัขพันธุ์ไทยหลังอานของจังหวัดตราดไว้

สำหรับสุนัขพันธุ์ไทยหลังอาน เป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจและสร้างคุณค่าทางสังคมให้กับจังหวัดตราด การส่งเสริมการเลี้ยงสุนัขพันธุ์ไทยหลังอาน ‘อัตลักษณ์ตราด’ เพื่อการอนุรักษ์ และต่อยอดให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจของจังหวัดตราด นอกจากนี้ยังมีคุณค่าในฐานะมรดกทางวัฒนธรรม ที่สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยการใช้ความคิดสร้างสรรค์ด้านการออกแบบมาพัฒนาเป็นสินค้า ที่สร้างสรรค์โดยคนตราดเอง เช่นเสื้อ กางเกง ผ้าทอ ผลิตภัณฑ์ที่ระลึก ซึ่งสร้างความประทับใจ และได้รับความนิยมจากคนตราด และนักท่องเที่ยว ช่วยส่งเสริมการสร้างรายได้สู่ชุมชนได้อีกรูปแบบหนึ่งตามแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์อีกด้วย

'บริษัทจากกำแพงเพชร' ชนะประมูลข้าว 10 ปี จบราคาที่ 286 ล้านบาท ฟากรัฐ ชี้!! ข้าวเกณฑ์ดี ยกให้ผู้ได้ประเมินราคาขายเอง ไม่ฟิกซ์ขั้นต่ำ

(17 มิ.ย. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์การคลังสินค้า (อคส.) เปิดให้บริษัทที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติจำนวน 7 ราย เข้ายื่นซองเสนอราคาซองประมูลข้าวเก่า 10 ปี โครงการรับจำนำข้าวปี 56/57 ปริมาณ 15,000 ตัน จาก 2 คลังใน จ.สุรินทร์ ณ ห้องประชุมองค์การคลังสินค้า (10601) ชั้น 6 ตั้งแต่เวลา 09.00-12.00 น.

ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีสื่อมวลชนเข้ามาสังเกตการณ์เป็นจำนวนมาก โดยบริษัทที่ผ่านคุณสมบัติ ทยอยมายื่นซองเสนอ 6 ราย จากผู้ผ่านคุณสมบัติ 7 ราย ได้แก่บริษัท วีเอท อินเตอร์เทรดดิ้ง จำกัด จังหวัดกำแพงเพชร / บริษัท ธนสรร ไรซ์ / บริษัท เอส.เอส.เอ็ม.อาร์.การเกษตร / บริษัท ทรัพย์แสงทองไรซ์ / บริษัท สหธัญ และ บริษัท บีเอ็นเค การเกษตร 2024

โดยแต่ละบริษัทเสนอซื้อที่แตกต่างกัน บางบริษัทซื้อ 1 คลัง บางบริษัทซื้อทั้ง 2 คลัง โดยบริษัท 6 รายที่ยื่นซองเสนอซื้อข้าวประมูลของรัฐที่ยื่นเสนอซื้อทั้ง 2 คลัง เช่น 

1.บริษัท วีเอท อินเตอร์เทรดดิ้ง จังหวัดกำแพงเพชร 
2.บริษัท ธนสรร ไรซ์ จำกัด จังหวัดชัยนาท 
3.บริษัท ทรัพย์แสงทองไรซ์ จำกัด จังหวัดสุพรรณบุรี 
4.บริษัท บี เอ็น เค การเกษตร 2024 จำกัด จังหวัดนครสวรรค์ 

ส่วนบริษัทที่เสนอซื้อ 1 คลัง เช่น 
1.บริษัท เอส.เอส.เอ็ม.อาร์.การเกษตร จำกัด จังหวัดนครสวรรค์ 
2.บริษัท สหธัญ จำกัด จังหวัดนครปฐม

ขณะที่บริษัท อุบลไบโอเกษตร จำกัด จังหวัดอุบลราชธานี ไม่ได้เข้ามายื่นซองเสนอราคาในการประมูลข้าวครั้งนี้ แม้ว่าจะผ่านคุณสมบัติ

จากนั้นคณะกรรมการเปิดซองประมูล ปรากฏว่า คลังสินค้า บริษัท พูนผลเทรดดิ้ง จำกัด หลัง 4 ประมาณข้าวรวม 3,356 ตัน มีผู้ยื่นซองเสนอซื้อครบทั้ง 6 ราย ได้แก่ บริษัท วีเอท อินเตอร์เทรดดิ้ง จังหวัดกำแพงเพชร เสนอราคาประมูลที่ 64.01 ล้านบาท / บริษัท ธนสรร ไรซ์ จังหวัดชัยนาท เสนอราคาประมูลที่ 60.4 ล้านบาท

บริษัท สหธัญ จังหวัดนครปฐม ยื่นประมูลในราคา 62.7 ล้านบาท / บริษัท บีเอ็นเค การเกษตร 2024 จังหวัดนครสวรรค์ เสนอราคาประมูลที่ 53.7 ล้านบาท / บริษัท เอส.เอส.เอ็ม.อาร์.การเกษตร จังหวัดนครสวรรค์ เสนอราคาประมูลที่ 56.08 ล้านบาท / บริษัท ทรัพย์แสงทอง ไรซ์ จากจังหวัดสุพรรณบุรี เสนอราคาประมูลที่ 40.9 ล้านบาท

ส่วนคลังสินค้ากลางกิตติชัย (หลัง 2) ปริมาณรวม 11,656 ตัน มีผู้ยื่นซองเสนอราคา จำนวน 4 ราย ได้แก่ บริษัท วีเอท อินเตอร์เทรดดิ้ง จังหวัดกำแพงเพชร เสนอราคาประมูลที่ 222.9 ล้านบาท / บริษัท ธนสรร ไรซ์ จังหวัดชัยนาท เสนอราคาประมูลที่ 209.8 ล้านบาท / บริษัท บีเอ็นเค การเกษตร 2024 จังหวัดนครสวรรค์ เสนอราคาประมูลที่ 186.5 ล้านบาท / บริษัท ทรัพย์แสงทอง สุพรรณบุรี เสนอราคาประมูลที่ 182.04 ล้านบาท

สำหรับผู้ที่เสนอราคาสูงสุดทั้ง 2 คลัง คือ บริษัท วีเอท อินเตอร์เทรดดิ้ง จังหวัดกำแพงเพชร รวมราคาประมูลทั้ง 2 คลัง กว่า 286 ล้านบาท หากคำนวณแล้วจะเฉลี่ยประมูลไปในราคากิโลกรัมละ (กก.) 19 บาท

โดยทางคณะทำงานรับ-เปิดซองและต่อรองราคาข้าวในสต๊อกของรัฐ ได้ต่อรองราคา เพื่อให้ได้ราคาประมูลที่สูงขึ้นอีก ทั้งนี้ จะมีการประกาศชื่อบริษัทที่ชนะการประมูล ผ่านเว็บไซต์ อคส. ที่ www.pwo.co.th ไม่เกินวันที่ 21 มิ.ย.นี้ ซึ่งกำหนดต้องทำสัญญาซื้อขายภายใน 15 วันนับตั้งแต่ อคส.แจ้งผลเป็นทางการ

นายศุภชัย วรอภิญญาภรณ์ ประธานกรรมการ บริษัท ธนสรรไรซ์ จำกัด หนึ่งในผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ ระบุว่า การประมูลข้าวครั้งนี้ถือว่ามีความคึกคัก มีผู้เข้าร่วมประมูลหลายรายแสดงให้เห็นว่า ทุกบริษัทมองว่าข้าวในคลังยังมีคุณภาพใช้ได้สามารถนำไปขายต่อได้ ซึ่งขณะนี้ตลาดข้าวมีความต้องการสูง และราคาข้าวในตลาดอยู่ในเกณฑ์ดี โดยข้าวขาว 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นข้าวใหม่อยู่ที่กิโลกรัมละ 21.50 บาท ในส่วนของบริษัทที่มาประมูลครั้งนี้คือส่งออกเป็นหลัก โดยตลาดที่มีความต้องการข้าวได้แก่ บราซิล อิรัก

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ กล่าวว่า หลังจากการเปิดซองในช่วงบ่าย จะมีกระบวนการต่อรองราคา หากทำได้เร็ว คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในวันนี้ ซึ่งการที่มีผู้สนใจมาซื้อข้าว ถือเป็นตัวสะท้อนได้ดีว่า ข้าวไม่ได้มีปัญหาอะไร แม้จะเก็บมานาน แต่ขึ้นอยู่กับวิธีการจัดเก็บ และผู้ซื้อเอง ก็ต้องนำไปปรับปรุงต่อ

นายภูมิธรรม กล่าวว่า ส่วนในเรื่องของราคา ไม่ได้มีการกำหนดราคาขั้นต่ำ เพราะต้องการให้โอกาสผู้ประกอบการประเมินเอง และวัตถุประสงค์ที่จะนำไปใช้ แต่จะใช้กระบวนการต่อรองเพื่อให้ได้ราคาที่ดีที่สุด ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ มีราคาในใจ ที่เหมาะสมกับความเป็นจริงของสภาพข้าว จากก่อนหน้านี้ที่มีการด้อยค่า ขายเป็นอาหารสัตว์กิโลกรัมละ 4-5 บาทเท่านั้น แต่ยังเชื่อมั่นว่าจะได้มากกว่านี้แน่นอน ซึ่งหากขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 15-18 บาท น่าจะมีมูลค่ากว่า 400 ล้านบาท หักค่าใช้ต่างๆแล้ว คาดว่าจะนำเงินกลับเข้ารัฐ ได้ไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาทแน่นอนทั้งนี้ มั่นใจว่าการขายข้าวได้จบภายในวันนี้ ถือเป็นการปิดตำนานโครงการจำนำข้าวได้ทั้งหมด ซึ่งเป็นการทำงานตามหน้าที่ โดยเฉพาะการสะสางงาน ที่คั่งค้างอยู่ ในฐานะที่มานั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าวเปิดเผยถึงกรณีการประมูลข้าว 10 ปี ขององค์การคลังสินค้า ที่ผู้ชนะมีการเสนอราคาสูงถึง 19 บาทต่อกิโลกรัมว่า เป็นเรื่องเหลือเชื่อ เพราะราคาที่ประมูลได้ไม่สมเหตุสมผลสูงเกินจริง เนื่องจากข้าวหอมมะลิในสต๊อกรัฐบาลล็อตนี้ เป็นข้าวที่เก็บมานานถึง 10 ปี ไม่มีความหอมหลงเหลืออยู่แล้ว คุณภาพจึงเทียบเท่ากับข้าวขาวปกติ แต่เมื่อเปรียบเทียบราคา ข้าวขาว 5% ข้าวใหม่คุณภาพดีในปัจจุบันพบว่าราคาอยู่ที่ 21.50 บาท ต่อกก. 

ขณะที่ข้าวซึ่งมีอายุมากถึง 10 ปี ในสต๊อกรัฐบาล สามารถประมูลขายได้ในราคาสูงถึง 19 บาท ถือว่าเป็นราคาที่ผิดปกติ เพราะหากมีการบวกรวมค่าขนส่ง ค่าปรับปรุงคุณภาพข้าวแล้วจะทำให้ข้าว 10 ปีมีต้นทุนที่สูงกว่าข้าวขาวใหม่ หากเป็นพ่อค้าจริง ๆ ก็คงซื้อข้าวใหม่ในตลาดไปขายดีกว่าไปประมูลข้าวเก่า 10 ปีคุณภาพไม่ดีที่ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายอื่นอีก

สำหรับรายละเอียดข้าวที่จะนำมาเปิดประมูล มีปริมาณ 15,000 ตัน แยกเป็น 

1.คลังกิตติชัย หลัง 2 (ข้าวหอมมะลิ 100%) รวม 26,094 ตัน หรือ 258,106 กระสอบจาก 24 โรงสี และได้ระบายข้าวสารแล้ว 3 ครั้ง คงเหลือ 11,656 ตัน หรือ 112,711 กระสอบ 

2.คลัง บจก.พูนผลเทรดดิ้ง หลัง 4 (ข้าวหอมมะลิ 100%) ปริมาณ 9,567 ตัน หรือ 94,637 กระสอบ ซึ่งระบายข้าวสารแล้ว 4 ครั้ง คงเหลือ 3,356 ตัน หรือ 32,879 กระสอบ

'รมว.ปุ้ย' ย้ำ!! ท่าที FTA ไทย - EU  ต้องปกป้องอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย

(17 มิ.ย. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้มอบนโยบายให้กับ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ในฐานะผู้แทนประเทศไทยในการเจรจาต่อรองด้านอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า ให้ปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ในการประชุมภายใต้การเจรจาความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement - FTA) ไทย - สภาพยุโรป (EU) รอบที่ 3 ระหว่างวันที่ 17-20 มิถุนายน 2567 ณ กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม ซึ่งก่อนหน้านี้ ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรอบที่ 2 ที่กรุงเทพมหานคร มาแล้ว

สำหรับการประชุมรอบที่ 3 ที่จะเกิดขึ้น ณ กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม สมอ. จะเป็นผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมในการเจรจาจัดทำอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า โดยมีประเด็นหารือสำคัญที่ EU นำเสนอ เช่น การยอมรับผลการตรวจสอบและรับรอง เพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งออกและนำเข้า การตรวจติดตามสินค้าในตลาด มาตรฐาน กฎระเบียบทางเทคนิค และกระบวนการตรวจสอบและรับรองในสาขายานยนต์  ซึ่งประเทศไทยเห็นว่าเป็นประเด็นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนหลายภาคส่วน การเจรจาจึงต้องมีความรอบคอบเพื่อให้มีพันธกรณีที่เหมาะสม เป็นประโยชน์กับภาคอุตสาหกรรมไทย และคุ้มครองความปลอดภัยผู้บริโภค

ด้านนายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ในฐานะที่ สมอ. เป็นผู้แทนประเทศไทย มีหน้าที่รับผิดชอบในการเจรจาอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้าที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดมาตรฐาน การประกาศใช้มาตรฐาน กฎระเบียบทางเทคนิค และกระบวนการตรวจสอบและรับรองระหว่างไทยกับ EU ที่มีสมาชิก 27 ประเทศ เพื่อให้เกิดความสะดวกและลดอุปสรรคทางการค้าที่เกิดจากการใช้มาตรการด้านเทคนิคมากีดกันทางการค้าระหว่างไทย และ EU ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายจะเจรจาในประเด็นคงค้างจากการประชุมครั้งที่ผ่านมา โดยท่าทีของไทยจะเจรจาบนพื้นฐานของความตกลง WTO และจะพิจารณาให้มีพันธกรณีเพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสม โดยหน่วยงานของไทยสามารถปฏิบัติได้ และเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย 

สำหรับประเด็นที่จะหารือเพิ่มเติมกับ EU คือ การกำหนดมาตรฐาน กฎระเบียบทางเทคนิค และการตรวจสอบรับรองผลิตภัณฑ์ยานยนต์และชิ้นส่วน โดยตระหนักถึงความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และความพร้อมของผู้ประกอบการไทยในการปฏิบัติตามพันธกรณี ซึ่งเป็นภารกิจหลักที่สำคัญของ สมอ. ในการเจรจาเพื่อ ลดอุปสรรคที่เกิดจากการใช้มาตรการด้านเทคนิคมากีดกันทางการค้า และช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ได้รับความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศ

‘SME D Bank’ ผนึก ‘ส.อ.ท.’ เปิดกล่องของขวัญเพื่อ SME ปี 2567 ช่วยเสริมสภาพคล่องผ่านสินเชื่อครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจกว่า 2 หมื่น ลบ.

(17 มิ.ย. 67) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล สนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเติบโตยั่งยืน ร่วมทัพมอบบริการ ‘เติมทุนคู่พัฒนา’ ในงาน ‘เปิดกล่องของขวัญเพื่อ SME ปี 2567’ จัดโดย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกของ ส.อ.ท. และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เข้าถึงแหล่งทุน อัตราดอกเบี้ยพิเศษ ที่เตรียมไว้รองรับ วงเงินรวมมากว่า  20,000 ล้านบาท ผ่านผลิตภัณฑ์สินเชื่อครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจ วงเงินกู้สูงสุด 50 ล้านบาท ผ่อนนานสูงสุด 15 ปี และปลอดชำระเงินต้นสูงสุด 12 เดือน ช่วยเสริมสภาพคล่อง ยกระดับธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน จัดครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ระหว่างเดือนมิถุนายน ถึง พฤศจิกายน 2567 

ไฮไลต์จาก SME D Bank ‘ด้านการเงิน’ ได้แก่ สินเชื่อ ‘Smile Biz ธุรกิจยิ้มได้’ ผ่อนปรนเงื่อนไขสุดพิเศษ ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ทำธุรกิจ 1 ปีก็กู้ได้ ดอกเบี้ยเริ่มต้นเพียง 6.50% ต่อปี 

นอกจากนั้น ยังมีสินเชื่อ ‘SME Refinance’ อัตราดอกเบี้ยคงที่ ปีแรกเพียง 2.99% ต่อปี ช่วยลดต้นทุนการเงิน ผ่อนหนักเป็นเบา, สินเชื่อ ‘BCG Loan’ ยกระดับธุรกิจเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 4.75% ต่อปี, สินเชื่อ ‘เสริมสภาพคล่องผู้รับเหมา’ สนับสนุนเข้าถึงงานจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่มีมูลค่ากว่า 1.3 ล้านล้านบาทต่อปี พร้อมรับแคมเปญพิเศษ สำหรับผู้ประกอบการที่ไม่เคยใช้สินเชื่อของ SME D Bank มาก่อน เมื่อยื่นกู้สินเชื่อและใช้วงเงิน ตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป รับ Cash Back ค่าวิเคราะห์โครงการ มูลค่าสูงสุด 5,000 บาท

ขณะเดียวกัน ยังมอบบริการ ‘ด้านการพัฒนา’ เสริมแกร่งธุรกิจครบวงจร ผ่านแพลตฟอร์ม ‘DX by SME D Bank’ (dx.smebank.co.th) ซึ่งบูรณาการการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษากว่า 50 แห่ง มาไว้ในจุดเดียว ให้บริการฟรี มีฟีเจอร์สำคัญ เช่น Business Health Check ระบบตรวจประเมินสุขภาพธุรกิจ, E-Learning รวบรวมหลักสูตรความรู้สำคัญ ช่วยเพิ่มศักยภาพการประกอบธุรกิจ เรียนรู้ได้ด้วยตัวเองตลอด 24 ชม., SME D Coach ที่ปรึกษาและให้คำแนะนำธุรกิจจากโค้ชมืออาชีพ, SME D Activity ระบบจองเข้าร่วมกิจกรรมเติมความรู้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี, SME D Market ขยายตลาดด้วย E-marketplace และจับคู่ธุรกิจ อีกทั้ง ยังมี SME D Privilege สิทธิประโยชน์พิเศษอื่น ๆ ให้อีกมากมาย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม Call Center 1357

‘Onitsuka Tiger-ดอยตุง’ เปิดตัวรองเท้าลายผ้าทอคอลเลกชันพิเศษ ผสมผสานงานฝีมือดั้งเดิมไทยและกลิ่นอายแฟชั่นสไตล์ญี่ปุ่น

ประสบความสำเร็จจากครั้งแรก Onitsuka Tiger (โอนิซึกะ ไทเกอร์) แบรนด์แฟชั่นสัญชาติญี่ปุ่น มีความภูมิใจที่จะนำเสนอการร่วมมือกันเป็นครั้งที่ 2 กับ โครงการพัฒนาดอยตุง ซึ่งถือเป็นโครงการหลักของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ได้สร้างสรรค์ รองเท้าที่เกิดจากความร่วมมือและความคิดริเริ่มในการก้าวข้ามพรมแดน ที่ได้นำลวดลายผ้าทอออริจินัลของดอยตุงมาเป็นการใช้วัสดุที่ได้รับการออกแบบใหม่และพัฒนาใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้มากขึ้น ด้วยเหตุนี้ผ้าทอในคอลเลกชันนี้จึงเป็นผ้าออริจินัลที่ทำขึ้นเป็นพิเศษสำหรับ ‘Onitsuka Tiger’ โดยเฉพาะ

สำหรับสินค้าในคอลเลกชันนี้เป็นการผสมผสานระหว่างงานฝีมือแบบดั้งเดิมของช่างฝีมือในประเทศไทย เข้ากับรองเท้ารุ่นไอคอนิก อันเป็นเอกลักษณ์ของ Onitsuka Tiger ทำให้เกิดเป็นรองเท้าที่รวมไว้ซึ่งคุณภาพอันเป็นเอกลักษณ์ทั้งแบบไทยและแบบเฉพาะของ Onitsuka Tiger โดยมีเป้าหมายคือการแสวงหาผลิตภัณฑ์ที่มีดีไซน์เหนือกาลเวลา โครงสร้างที่ทนทานและมอบความสบาย เมื่อสวมใส่ ซึ่งจะเหมาะสมกับผู้คนที่หลากหลายทั่วโลก 

รองเท้าทั้งหมดนี้ถูกสร้างขึ้นผ่านกระบวนการผลิตที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและวัสดุที่ยั่งยืน ความร่วมมือกันในครั้งนี้ยังสร้างคุณประโยชน์ต่อสังคมและการจ้างงานที่มีความหมายแก่ชาวดอยตุง รองเท้าอันเป็นเอกลักษณ์เหล่านี้เป็นการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมไทย-ญี่ปุ่น โดยที่มุ่งเน้นไปที่ประเด็นความยั่งยืน 

รองเท้าทุกรุ่นจะวางจำหน่ายในร้าน Onitsuka Tiger และบนอีคอมเมิร์ซ รวมทั้งร้านดอยตุง ซึ่งนอกเหนือจากรองเท้าแล้วในคอลลาบอเรชันโปรเจกต์ปีนี้ยังมีเครื่องแต่งกายที่จะวางขายเฉพาะร้านดอยตุงอีกด้วย

สำหรับรองเท้าโอนิซึกะ ไทเกอร์ รุ่นไอคอนิกครั้งนี้มีด้วยกัน 4 แบบ ได้แก่ 

-MEXICO 66 Thai-Exclusive Model มีจำหน่ายเฉพาะที่ประเทศไทยเท่านั้น 
-MEXICO 66 
-SERRANO CL
-MEXICO 66 PARATY

‘เศรษฐา’ ตรวจความคืบหน้า สนามบิน ‘เพชรหัวหิน’  เตรียมเดินหน้าสู่ การเป็น ‘Aviation Hub-Tourism Hub’ 

(16 มิ.ย.67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ทวิตผ่าน X ว่า 

สนามบิน ‘เพชรหัวหิน’ คืบหน้าไปมาก เราเดินหน้าสู่การเป็น Aviation Hub และ Tourism Hub ครับ

ก่อนหน้านี้ผมเคยมาตรวจความพร้อม และเร่งรัดการขยายรันเวย์ที่นี่แล้วครั้งหนึ่ง วันนี้ใช้เวลาช่วงวันหยุดมาตรวจความพร้อมของที่นี่อีกครั้ง เพราะตอนนี้มีสายการบินพาณิชย์ของแอร์เอเชียเปิดให้บริการในเส้นทางบิน หัวหิน-เชียงใหม่ แล้ว วันละ 1 เที่ยวบิน ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวมากขึ้น

เพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ ถือเป็นประตูบานหนึ่งสู่การเป็น Aviation Hub และ Tourism Hub โดยทางสายการบินแอร์เอเซียพร้อมเปิดเส้นทางบินจากภูมิภาคอื่นทั้งอีสาน และใต้ มาลงที่นี่เพิ่มเติมด้วย ซึ่งผมได้กำชับท่านรัฐมนตรีสุริยะ และท่านปลัดคมนาคม ที่เดินทางมาตรวจสนามบินด้วยกันวันนี้ เร่งดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ให้บริการ และประสานกับสายการบินพาณิชย์ต่าง ๆ ที่พร้อมให้บริการในพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากสามารถเปิดเส้นทางบินเพิ่มได้ครับ

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่แล้วครั้งหนึ่งในช่วงการประชุมครม. สัญจรที่จังหวัดเพชรบุรี  และ จะมีการเปลี่ยนชื่อจากท่าอากาศยานหัวหินเป็นท่าอากาศยาน “เพชรหัวหิน”เพื่อรองรับและเชื่อมโยงการท่องเที่ยวระหว่างหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์กับจังหวัดเพชรบุรี   ขณะเดียวกันก็เตรียมที่จะขยายเส้นทางเพิ่มจากเดิมที่มีเพียงแค่หัวหินเชียงใหม่ ไปยังพื้นที่ภาคอีสานและภาคใต้และในอนาคตจะมีการเปิดเส้นทางเพิ่มจากหัวหินไปมาเลเซีย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top