Thursday, 10 July 2025
ECONBIZ NEWS

‘รัดเกล้า’ เผยข่าวดี!! 'ไทย-ติมอร์' เดินหน้าส่งเสริมความสัมพันธ์รอบด้าน ร่วมลงนาม ‘Free visa’ กระชับความร่วมมือ ‘ท่องเที่ยว-ศก.-วัฒนธรรม’

(22 มิ.ย.67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์–เลสเต เดินหน้ากระชับความร่วมมือและส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศ ผ่านร่างความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย กับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต ว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราประเภทท่องเที่ยวสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดา ซึ่งได้มีการลงนามในช่วงการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความมั่นคงของติมอร์ ระหว่างวันที่ 20-21 มิ.ย.ที่ผ่านมา

รองโฆษกรัฐบาล กล่าวว่า ติมอร์มีความประสงค์จะจัดทำความตกลงฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางระหว่างประชาชนของไทยและติมอร์เพื่อการท่องเที่ยว รวมทั้งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำหรับการเป็นสมาชิกอาเซียนของติมอร์ ติมอร์จึงได้เสนอขอจัดทำความตกลงฯ เพื่อขอให้ฝ่ายไทยพิจารณา ซึ่งที่ประชุม ครม. (18 มิ.ย.67) ได้มีมติเห็นชอบแล้วตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ โดยมีสาระสำคัญ อาทิ ความตกลงฉบับนี้มีไว้เพื่ออำนวยความสะดวกให้บุคคลสัญชาติไทยและบุคคลสัญชาติติมอร์เดินทางเข้าดินแดนของภาคีอีกฝ่ายหนึ่งด้วยวัตถุประสงค์เพื่อการท่องเที่ยว โดยไม่ต้องมีการขอรับการตรวจลงตรา เป็นระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน มีผลบังคับใช้ในวันที่ 30 วันนับจากวันที่ได้รับการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งสุดท้ายโดยคู่ภาคีว่าได้ปฏิบัติตามขั้นตอนภายในที่จำเป็นของตนเพื่อให้ความตกลงฉบับนี้มีผลบังคับใช้จนกว่าจะถูกบอกเลิกโดยคู่ภาคีอีกฝ่ายหนึ่ง

นางรัดเกล้า กล่าวอีกว่า ภาคีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจระงับการปฏิบัติตามความตกลงฉบับนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติ การรักษาความสงบเรียบร้อยของสาธารณะ หรือสาธารณสุข โดยการระงับและการเพิกถอนการระงับดังกล่าวจะต้องทำโดยการบอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรต่อภาคีอีกฝ่ายหนึ่งผ่านช่องทางการทูตอย่างน้อย 30 วันล่วงหน้า เป็นต้น โดยความตกลงฯ ดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกในการเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ โดยจะมีผลเชิงบวกต่อการส่งเสริมความสัมพันธ์ไทย - ติมอร์ ในภาพรวมยิ่งขึ้น โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ตลอดจนความสัมพันธ์ระดับประชาชน

รองโฆษกรัฐบาล กล่าวว่า ทั้งนี้ กต. แจ้งว่า ร่างความตกลงฯ มีถ้อยคำและบริบทที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ ดังนั้น ร่างความตกลงฯ จึงเป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งจะต้องขอความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีก่อนการลงนามและดำเนินการให้มีผลผูกพัน แต่ไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา และหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างความตกลงฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไว้ ขอให้ กต. สามารถดำเนินการได้ โดยนำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าว

'อ.พงษ์ภาณุ' คิกออฟ!! ปฏิบัติการรักษ์โลก หนุนแผนดำเนินงานสีเขียวองค์กรไทย ร่วม 'อบก.' เคาะขึ้นทะเบียน-รับรองโครงการลดก๊าซฯ แก่องค์กรเข้าเกณฑ์

เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.67 TGO ได้มีจัดการประชุมคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ครั้งที่ 7/2567 โดยมี นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ประธานกรรมการ TGO ร่วมกับผู้แทนปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม : สส.) เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร พร้อมด้วยที่ปรึกษาคณะกรรมการฯ และคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

สำหรับสาระการประชุมในครั้งนี้ ได้มีการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองฉลากคาร์บอน (คาร์บอนฟุตพริ้นท์) และขึ้นทะเบียนและการรับรองโครงการลดก๊าซเรือนกระจก ในโครงการ Premium T-VER / โครงการ Standard T-VER / โครงการ Standard T-VER หมวด 'โครงการป่าชุมชน' / โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) และ การอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองประเภทนิวทรัลองค์กร

>> สำหรับในส่วนของ โครงการ Premium T-VER ที่ประชุมมีมติเห็นชอบขึ้นทะเบียนจำนวน 4 โครงการ โดยมีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลด/กักเก็บได้ รวมทั้งสิ้น 19,517 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี (tCO2eq/year) ซึ่งโครงการทั้งหมดดำเนินกิจกรรมเพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟูลดความเสื่อมโทรมของพื้นที่ป่า และการปลูกป่าเสริม ประกอบด้วย...

1. โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วม กฟผ. ปี พ.ศ. 2566 (ตำบลแม่ตีบ อำเภองาว จังหวัดลำปาง) โดย กรมป่าไม้ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
2. โครงการฟื้นฟูป่าชายเลนเพื่อระบบนิเวศ ที่ยั่งยืนของประเทศไทย (กลุ่ม 1) โดย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และบริษัท สยาม ทีซี เทคโนโลยี จำกัด
3. โครงการปลูกป่าชายเลนช่วยโลกลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทย (กลุ่ม 1) โดย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง บริษัท สยาม ทีซี เทคโนโลยี จำกัด และบริษัท วิสุทธิ คอนซัลแตนท์ จำกัด
4. โครงการเพิ่มแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ของประเทศไทย ผ่านการจัดการป่าชายเลนอย่างยั่งยืน โดยเอสซีจี เคมิคอลส์ (เอสซีจีซี) โดย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน)

>> ในส่วนของโครงการ Standard T-VER ที่ประชุมมีมติเห็นชอบขึ้นทะเบียนจำนวน 26 โครงการ โดยมีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลด/กักเก็บได้ รวมทั้งสิ้น 87,649 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี (tCO2eq/year) ประกอบด้วย...

1. โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ โซลาร์ ออร์เคสตรา ที่บริษัท ไทย-เยอรมัน โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) (CPA3)
2. โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ โซลาร์ออร์เคสตราที่บริษัท เมืองทองอุตสาหกรรมอาลูมีเนียม จำกัด (CPA4)
3. โครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์ เฮเฟเล่ โลจิสติกส์ เซ็นเตอร์ บางนา
4. โครงการโซลาเซลล์ของ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน)
5. โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ของบริษัท จินป่าว พรีซิชั่น อินดัสทรี่ จำกัด ที่โรงงานสมุทรปราการ
6. โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาอาคารของบริษัท ทิปโก้ เอฟแอนด์บี จำกัด และบริษัท ทิปโก้ฟูดส์ จำกัด (มหาชน)
7. โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (998.44 kWp) โดยบริษัท คิงส์ ซิง ออโต้ โมบาย พาร์ท จำกัด
8. โครงการกักเก็บและเผาทำลายก๊าซมีเทน โดย บริษัท น้ำตาลและอ้อยตะวันออก จำกัด (มหาชน)
9. โครงการปลูกป่าอย่างยั่งยืนพื้นที่สวนป่าสักของบริษัท คาร์บอน ทีค จำกัด ตำบลหงส์หิน อำเภอจุน จังหวัดพะเยา
10. โครงการปลูกป่าอย่างยั่งยืนพื้นที่สวนป่าสักของบริษัท คาร์บอน ทีค จำกัด จังหวัดอุตรดิตถ์
11. โครงการปลูกป่าอย่างยั่งยืนพื้นที่สวนป่าสักของบริษัท คาร์บอน ทีค จำกัดอำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์
12. โครงการปลูกป่าอย่างยั่งยืน ณ วัดเขาสาป ตำบลเพ อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง
13. โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ประเภทป่าไม้และพื้นที่สีเขียวจังหวัดเชียงรายและพะเยา โดยบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) และกรมป่าไม้
14. โครงการป่าชุมชนบ้านห้วยหมากเอียกเหนือและป่าชุมชนบ้านนาเจริญ ตำบลป่าซาง อำเภอเวียงเชียงรุ้ง จังหวัดเชียงราย
15. โครงการป่าชุมชนตำบลป่าป้อง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่
16. โครงการป่าชุมชนบ้านหินเพิง ตำบลคลองพน อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่
17. โครงการป่าชุมชนบ้านทุ่งหยีเพ็ง ตำบลศาลาด่าน อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่
18. โครงการป่าชุมชนอำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่
19. โครงการป่าชุมชนอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ (โครงการที่ 4)
20. โครงการป่าชุมชนอำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย
21. โครงการป่าชุมชนอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
22. โครงการป่าชุมชนอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่
23. โครงการป่าชุมชนอำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่
24. โครงการป่าชุมชนอำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ
25. โครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด โดยบริษัท รีกัล จิวเวลลี่ แมนูแฟคเจอร์ จำกัด
26. โครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อสร้างความยั่งยืนในระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม อำเภอแกลง จังหวัดระยอง โดย บริษัท สยาม ทีซี เทคโนโลยี จำกัด

>> ในส่วนโครงการ Standard T-VER หมวด 'โครงการป่าชุมชน' ที่ประชุมมีมติเห็นชอบขึ้นทะเบียน จำนวน 11 โครงการ (รวม 67 ป่าชุมชน พื้นที่ 90,412 ไร่) โดยโครงการทั้งหมดดำเนินกิจกรรมเพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู ลดความเสื่อมโทรมของพื้นที่ป่าชุมชน และการปลูกป่าเสริม มีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลด/กักเก็บได้ รวมทั้งสิ้น 50,575 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี (tCO2eq/year) ประกอบด้วย...

1. โครงการป่าชุมชนบ้านห้วยหมากเอียกเหนือและป่าชุมชนบ้านนาเจริญ ตำบลป่าซาง อำเภอเวียงเชียงรุ้ง จังหวัดเชียงราย
2. โครงการป่าชุมชนตำบลป่าป้อง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่
3. โครงการป่าชุมชนบ้านหินเพิง ตำบลคลองพน อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่
4. โครงการป่าชุมชนบ้านทุ่งหยีเพ็ง ตำบลศาลาด่าน อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่
5. โครงการป่าชุมชนอำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่
6. โครงการป่าชุมชนอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ (โครงการที่ 4)
7. โครงการป่าชุมชนอำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย
8. โครงการป่าชุมชนอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
9. โครงการป่าชุมชนอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่
10. โครงการป่าชุมชนอำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่
11. โครงการป่าชุมชนอำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ

>> ในส่วนของโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) ที่ประชุมมีมติเห็นชอบรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจก จำนวน 13 โครงการ โดยมีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลด/กักเก็บได้ รวมทั้งสิ้น 1,326,753 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq) ประกอบด้วย...

1. โครงการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ที่นครสวรรค์ ประเทศไทย
2. โครงการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ที่พิษณุโลก ประเทศไทย
3. โครงการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ที่ลำปาง ประเทศไทย
4. โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังลม หนุมาน 1
5. โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังลม หนุมาน 5
6. โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังลม หนุมาน 8
7. โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังลม หนุมาน 9
8. โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังลม หนุมาน 10
9. โครงการผลิตไฟฟ้าจากลม หาดกังหัน 126 เมกะวัตต์
10. โครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากชีวมวล ขนาด 9.9 เมกะวัตต์ โดย ท่าฉาง กรีน เอ็นเนอร์ยี่
11. โครงการกักเก็บและใช้ประโยชน์จากก๊าซมีเทน โดย บริษัท ปาล์มดีศรีนคร จำกัด
12. โครงการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าแสงสว่างจากหลอดไอปรอทความดันสูงเป็นแอลอีดีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน
13. โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย

ทั้งนี้ ในภาพรวมโครงการ T-VER มีการรับรองคาร์บอนเครดิตที่เข้าสู่ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตภายในประเทศรวมทั้งสิ้นมากกว่า 19.4 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยการดำเนินโครงการดังกล่าวยังก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วม (Co-benefit) ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เช่น เพิ่มพื้นที่สีเขียวและความหลากหลายทางชีวภาพให้ชุมชน ลดมลพิษด้านสิ่งแวดล้อม เพิ่มรายได้แก่ชุมชน เพิ่มมูลค่าของเสียหรือของเหลือทิ้งทางการเกษตรและครัวเรือน เป็นต้น

>> สุดท้าย ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองประเภทนิวทรัลองค์กร สำหรับ 4 องค์กร ออฟเซตองค์กร / สำหรับ 2 องค์กร และนิวทรัลอีเวนต์ สำหรับ 6 อีเวนต์ ซึ่งมีการชดเชยปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร และอีเวนต์ โดยมีจำนวนคาร์บอนเครดิตจากโครงการ T-VER ที่ซื้อมาชดเชย รวมทั้งสิ้น 27,821 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq) ได้แก่...

นิวทรัลองค์กร สำหรับ 4 องค์กร...
1. บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน)
2. บริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน)
3. บริษัท บาฟส์ขนส่งทางท่อ จำกัด
4. บริษัท ซิตี้ฟูด จำกัด

ออฟเซตองค์กร สำหรับ 2 องค์กร...
1. บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด
2. บริษัท เอ็ม ดี เอ็กซ์ จำกัด (มหาชน) สาขานิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ ซิตี้

นิวทรัลอีเวนต์ สำหรับ 6 อีเวนต์...
1. งาน 62nd ICCA Congress 2023
2. งานประชุมสามัญผู้ถือหุ้น บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ประจำปี 2567
3. งาน Bangchak Open 2024

4. งาน Unlocking Potential : I-RECs in Thailand
5. พิธีมอบทุนการศึกษาบุตรพนักงาน รางวัลอายุงาน รางวัลปฏิบัติงานสม่ำเสมอ AFCR ระยอง ประจำปี 2567
6. การประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2567 โดย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)

‘นักวิชาการสิ่งแวดล้อม’ เผย คนไทยต้องเสีย ‘ภาษีคาร์บอน’ เพิ่มขึ้น ชี้!! เป็นการกระตุ้นให้ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

(22 มิ.ย.67) ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หัวข้อ คนไทยกำลังจะต้องเสียภาษีคาร์บอนเพิ่มขึ้นอีกรายการ...เพื่อช่วยกันลดโลกร้อน มีเนื้อหาดังนี้

1. ปี 2569 ยุโรปจะเริ่มเก็บภาษี Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM หรือภาษีนำเข้าคาร์บอนเป็นมาตรการปรับราคาสินค้านำเข้าบางประเภทก่อนเข้าพรมแดนของสหภาพยุโรป เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง อุตสาหกรรม มีเป้าหมาย จากเดิม 5 กลุ่มสินค้า ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย และไฟฟ้าให้เพิ่มเป็น 7 กลุ่มสินค้าโดยรวมไฮ โดรเจนและสินค้าปลายน้ำบางรายการ เช่น น็อตและสกรูที่ทำจากเหล็กและเหล็ก กล้า ด้วย โดยผู้นำเข้าจะต้องซื้อใบรับรอง CBAM ตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้านั้นและต้องจ่ายภาษีคาร์ บอนตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้าที่ตนนำเข้า นอกจากนี้ยุโรปกำลังจะมีการขยายไปที่สินค้าประเภทอื่น ๆ อีกด้วย เช่น สารอินทรีย์พื้นฐานพลาสติกและโพลีเมอร์ แก้ว เซรามิค ยิปซัม กระดาษ เป็นต้น ผู้ส่งออกไทยเตรียมตัวจ่ายเพิ่ม...

2.สำหรับประเทศไทย ในปีงบประมาณปี 68 กรมสรรพสามิตจะเริ่มจัดเก็บภาษีคาร์ บอน (Carbon Tax)นำร่อง โดยจะนำภาษีคาร์บอนแทรกอยู่ในโครงสร้างภาษี คาดว่าจะเก็บภาษีคาร์บอนอยู่ที่ 200 บาทต่อตันคาร์บอนโดยเริ่มต้นที่น้ำมันดีเซลก่อนซึ่งน้ำมันดีเซล 1 ลิตรจะปล่อยก๊าซคาร์ บอนไดออกไซด์ 0.0026 ตันคาร์บอน ดังนั้น น้ำมันดีเซล 1 ลิตรจะเสียภาษีคาร์บอนเท่ากับ 0.46 บาทต่อลิตรโดยบวกไว้ในราคาน้ำมัน

3. ภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) เป็นภาษีที่เก็บจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก โดยฐานภาษีคาร์บอนที่ใช้ในการจัดเก็บ มี 2 แบบ คือ
1.จัดเก็บภาษีทางตรงจากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตสินค้า
2. จัดเก็บภาษีทางอ้อมตามการบริโภค
...ต่อไปผู้บริโภคเองอาจจะสามารถตัดสินใจเลือกอุดหนุนผลิตภัณฑ์ที่มีการปล่อยคาร์ บอนต่ำและสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้โดยดูจากฉลากคาร์บอนที่ติดมากับสินค้า

4.ประเทศไทยปักหมุดมุ่งสู่การเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)ภายในปี 2593 รวมถึงขยับสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์(Net zero emissions)ภายในปี 2608 ได้ตั้งเป้าการลดก๊าซเรือนกระจกในรูปคาร์บอนไดออกไซด์ จากค่าสูงสุดของไทย 388 ล้านตันต่อปี ลงไปเหลือ120 ล้านตันต่อปี โดยแผนระยะสั้นจากนี้ไปจนถึง ปี ค.ศ. 2573 จะลดก๊าซเรือนกระจก ให้ได้ 40%

‘ดีป้า’ เผย ดัชนีชี้วัดความสามารถ ในการแข่งขันเมืองอัจฉริยะ ชี้!! ‘วังจันทร์วัลเลย์-ภูเก็ต’ ครองแชมป์ จาก 5 องค์ประกอบ

(22 มิ.ย.67) ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า โพสต์เฟซบุ๊กว่า สำนักงานเมืองอัจฉริยะประเทศไทย ภายใต้การกำกับดูแลของ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) แถลงรายงานดัชนีชี้วัดความสามารถในการแข่งขันเมืองอัจฉริยะประเทศไทย ประจำปี 2566 (Thailand Smart City Competitiveness Index (TSCCI) 2023) จาก 30 เมือง 23 จังหวัด 

โดยพิจารณาจาก 5 องค์ประกอบของแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ได้แก่ การกำหนดวิสัยทัศน์ เป้าหมาย วัตถุประสงค์ และลักษณะของเมืองอัจฉริยะ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางกายภาพและดิจิทัล การพัฒนาระบบข้อมูลและความปลอดภัย การบริการระบบเมืองอัจฉริยะ 7 ด้าน และการระบุแนวทางการลงทุนและการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน ซึ่งดัชนีชี้วัดความสามารถในการแข่งขันเมืองอัจฉริยะประเทศไทยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ประกอบด้วยการจัดอันดับเมืองอัจฉริยะตามพื้นที่ (City-based) และการจัดอันดับเมืองอัจฉริยะตามจังหวัด (Province-based)

สำหรับเมืองอัจฉริยะตามพื้นที่ (City-based) ที่ได้รับคะแนนชี้วัดความสามารถในการแข่งขันสูงที่สุด 3 อันดับแรกของปี 2566 ประกอบด้วย เมืองอัจฉริยะวังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง 83.55% สามย่านสมาร์ทซิตี้ กรุงเทพมหานคร 79.02% และคลองผดุงกรุงเกษม กรุงเทพมหานคร 74.55% 

ขณะที่เมืองอัจฉริยะตามจังหวัด (Province-based) ที่ได้รับคะแนนชี้วัดความสามารถในการแข่งขันสูงที่สุด 3 อันดับแรก คือ จังหวัดภูเก็ต 83.60% จังหวัดฉะเชิงเทรา 76.78% และ จังหวัดขอนแก่น 53.81% 

โดยสามารถดูรายงานดัชนีชี้วัดความสามารถในการแข่งขันเมืองอัจฉริยะประเทศไทย ประจำปี 2566 (TSCCI 2023) ได้ที่ https://short.depa.or.th/mpITe และผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับเมืองอัจฉริยะประเทศไทยได้ที่ http://www.smartcitythailand.or.th

‘ครม.’ สั่ง ‘มท.’ เร่งพิจารณาแก้กฎหมาย ‘หนุนอสังหาฯ’ ให้สิทธิคนต่างชาติ ซื้อคอนโดฯ ได้ 75% พร้อมถือครองได้ 99 ปี

(22 มิ.ย.67) แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ นร 0503/12790 ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2567 ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านอสังหาริมทรัพย์ 

โดยมีเนื้อหาระบุว่า ตามที่ได้ยืนยันมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 เรื่อง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ และการเตรียมการเพื่อรองรับการดำเนินการยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก (Thailand Vision) ไปเพื่อดำเนินการ ความละเอียดแจ้งแล้ว นั้น 

ล่าสุดในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ได้เสนอว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (9 เมษายน 2567) เรื่อง มาตรการ กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษามาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องนั้น เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับมหภาค และดึงดูดนักลงทุนขนาดใหญ่ให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยมีปัจจัยต่างๆ ที่จะส่งเสริมการเข้ามาทำงานของชาวต่างชาติที่มีศักยภาพ 

จึงขอให้ กระทรวงมหาดไทย ศึกษาความเป็นไปได้ พิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการให้สิทธิคนต่างด้าว สามารถถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุด จากเดิมไม่เกิน 49% เป็นไม่เกิน 75% โดยอาจกำหนดเงื่อนไขอื่นที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการของนิติบุคคลอาคารชุด เช่น การจำกัดสิทธิการออกเสียงของคนต่างด้าว และนิติบุคคลต่างด้าวที่ได้เข้ามาถือกรรมสิทธิ์ในภายหลังจากที่เกินอัตราส่วน 49% และพิจารณาทบทวนการกำหนดระยะเวลาของทรัพย์อิงสิทธิตามพระราชบัญญัติทรัพย์อิงสิทธิ พ.ศ. 2562 โดยกำหนดให้ทรัพย์อิงสิทธิมีกำหนดเวลาได้ไม่เกิน 99 ปี

เปิด 'แนวรุก-ความพร้อม' ผลิตภัณฑ์ชูอร่อยใต้เงา 'เจดีฟู้ด' สู่เป้าหมาย 'เข้าตลาดหุ้น-ลุ้นขยายตลาดต่างแดน 50%'

จากรายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับคุณธีรดา หอสัจจกุล รองกรรมการผู้จัดการบริหาร บริษัท เจดีฟู้ด จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทฯ ก่อตั้งโดยคนไทย และเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเครื่องปรุงรส และอาหารแปรรูประดับประเทศ สร้างชื่อเสียงในระดับโลก ถึงเป้าหมายและกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ พร้อม ๆ ไปกับการรับมือสภาพการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ

คุณธีรดา กล่าวว่า บริษัท เจดีฟู้ด จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งขึ้นโดยคุณพ่อ นายธีรบุล หอสัจจกุล ซึ่งมีความเชี่ยวชาญและอยู่ในวงการอาหารมายาวนาน ในปี 2542 บริษัทฯ ได้เริ่มต้นประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายวัตถุดิบส่วนผสม (Food Ingredients) ตามสูตรที่พัฒนาขึ้นเองเพื่อจำหน่ายให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมประเภทขนมขบเคี้ยวและบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โดยลักษณะผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัทฯ แบ่งเป็น สินค้ารับจ้างผลิต OEM และกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสอาหาร แบ่งเป็น ผงปรุงรส, อาหารอบแห้ง, ซอสน้ำจิ้ม และไส้เบเกอรี่ (ฟิลลิ่ง)

คุณธีรดา กล่าวว่า อุตสาหกรรมเครื่องปรุงรสในปัจจุบันของไทยมีการแข่งขันกันสูงกว่าเมื่อก่อนมาก มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามากขึ้น อย่างไรก็ตามทางบริษัทฯ ยังมีส่วนแบ่งทางการตลาดในอันดับต้น ๆ เนื่องจากมีประสบการณ์มายาวนานและมีการจัดทำระบบการผลิตให้ได้มาตรฐาน รสชาติอร่อย คุณภาพดี เพื่อให้ส่งออกสินค้าไปทั่วโลก

คุณธีรดา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้บริษัทฯ ยังสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย หรือ SME ที่มีความต้องการผลิตสินค้าอาหารแปรรูป เครื่องปรุงรส ในแบรนด์ของตัวเอง ซึ่งได้ให้บริการในรูปแบบ One Stop Service ให้คำปรึกษาตั้งแต่การเริ่มผลิต การเลือกรสชาติ การจดแจ้ง อย. และแนะนำการทำตลาดให้ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ให้เติบโตอีกด้วย

เมื่อถามถึงสัดส่วนของการทำตลาดของบริษัทฯ ในปัจจุบัน? คุณธีรดา เผยว่า แบ่งเป็น ตลาดในประเทศ และต่างประเทศ โดยการจัดจำหน่ายยังเน้นตลาดในประเทศอยู่ แต่เป้าหมายในอนาคตมองว่า จะขยายตลาดไปต่างประเทศ 50% 

เมื่อถามถึงเทรนด์ของรสชาติ? คุณธีรดากล่าวว่า เมื่อก่อนการผลิตรสชาติจะตอบโจทย์ผู้บริโภคผ่านรสชาติหลัก ๆ เช่น ต้มยำ, ชีส, ซีฟู้ด เป็นต้น แต่ปัจจุบันผู้บริโภคมีความต้องการมากขึ้น ซับซ้อนมากขึ้น เช่น ต้มยำ จากรสชาติต้มยำธรรมดา ก็ต้องเป็นต้มยำกุ้ง, ต้มยำหัวมันกุ้ง เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่าเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ตอบโจทย์ลูกค้า และท้าทายผู้ผลิตไปในตัว 

เมื่อถามถึงไลน์ผลิตภัณฑ์ของเจดีฟู้ด? คุณธีรดา เผยว่า ในปัจจุบันมีการออกสินค้าภายใต้ตราสินค้าของบริษัท (Brand) ได้แก่ แบรนด์โอเค (OK) ซึ่งเป็นผงปรุงรส และไส้เบเกอรี่ (ฟิลลิ่ง) มีการคิดสูตรใหม่ให้เหมาะสมกับอาหารและสินค้าเบเกอรี่, แบรนด์ Crispconut ซึ่งเป็นขนมขบเคี้ยวประเภทมะพร้าวอบกรอบ, แบรนด์ กินดี (Kindee) เป็นผลิตภัณฑ์ผงปรุงรสสำเร็จรูป ไม่มีส่วนผสมของผงชูรส 

นอกจากนี้ ยังมีแผนขยายสินค้าในรูปแบบต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น เช่น ก๋วยเตี๋ยวเรือกึ่งสำเร็จรูป เป็นต้น รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับแบรนด์ GOOD EATS ผลิตภัณฑ์ซุปกึ่งสำเร็จรูปและผลิตภัณฑ์ขนมโปรตีนอบกรอบที่ปราศจากผงชูรส โดยมีเป้าหมายยอดขายของบริษัทฯ ตั้งเป้าไว้ที่ 1,000 ล้านบาท ภายในปี พ.ศ. 2568 นี้

เมื่อถามถึงกลยุทธ์ของบริษัทฯ? คุณธีรดา กล่าวว่า มีการปรับตัวเสมอและติดตามเทรนด์ใหม่ตลอดเวลา และได้เรียนรู้จากคุณพ่อ เช่น ต้องศึกษาลูกค้าและแก้ Pain Point ของลูกค้าให้ได้ ว่าความต้องการของลูกค้า คืออะไรถ้าตอบโจทย์ลูกค้าได้ก็จะประสบความสำเร็จ ส่วนปัญหาอุปสรรคที่ผ่านมา มองว่าเรื่องโลกร้อนมีส่วนสำคัญทำให้วัตถุดิบไม่เพียงพอ ราคาวัตถุดิบในตลาดผันผวน ส่วนความภาคภูมิใจของคุณธีรดา คือ การนำพาบริษัทฯ เข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ประสบความสำเร็จ 

เมื่อถามถึงการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม? คุณธีรดา เล่าให้ฟังทิ้งท้ายว่า "ทางบริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) การลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือการปล่อยมลภาวะอื่น ๆ (Low Carbon Business) เราคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและความหลากหลายทางชีวภาพ การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายในการจัดการพลังงานและการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 20% ภายในปี 2570 เทียบกับปีฐาน 2564"

‘ประภัตร’ ชี้ช่องรัฐ ติดโซลาร์ให้เกษตรกร ช่วยลดภาระต้นทุน พร้อมหนุนปลูกต้นไม้ส่งตะวันออกกลาง เพิ่มรายได้มั่นคง

(21 มิ.ย. 67) นายประภัตร โพธสุธน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้พลังงานในภาคการเกษตร ภาคครัวเรือน ภาคการขนส่งเป็นจำนวนมาก เชื้อเพลิงส่วนใหญ่นำเข้ามาจากต่างประเทศและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น อีกทั้งมีราคาแพง จากข้อมูลพบว่า มีเกษตรกรที่ได้ขึ้นทะเบียนมากกว่า 8 ล้านครัวเรือน แต่ละครอบครัวมีค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ค่าใช้จ่ายในการประกอบอาชีพทางการเกษตรสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้าทางการเกษตรสูงขึ้นตาม และต้องยอมรับว่าประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาการใช้พลังงานเป็นอย่างมาก จึงมีความจำเป็นต้องเร่งแก้ไขปัญหาพลังงานในภาคเกษตรโดยเร็ว ก่อนที่จะเกิดวิกฤติอย่างรุนแรง

นายประภัตร กล่าวว่า ตนมองเห็นสภาพปัญหา และพยายามหาทางแก้ไขปัญหามาโดยตลอดที่ผ่านมาได้เคยหารือกับ บริษัท แคปปิตอล ทรัสต์ กรุ๊ป จำกัด ประเทศนิวซีแลนด์ เป็นผู้ออก Digital Bond เพื่อระดมทุนกับนักลงทุนสถาบันในต่างประเทศอย่างถูกกฎหมายเชื่อมต่อกับ บริษัท ซีแอลเอ็มวี โฮลดิ้ง จำกัด เป็นผู้บริหารโครงการในประเทศไทย เพื่อติดตั้ง โซลาร์เซลล์ให้เกษตรกรและโครงการปลูกต้นไม้ส่งตะวันออกกลาง เพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร โดยโครงการโซล่าเซลล์จะช่วยทดแทนพลังงานที่มาจากน้ำมันเชื้อเพลิง เครื่องจักรกลการเกษตร ปั๊มน้ำไฟฟ้า โดรนสำหรับพ่นปุ๋ย โครงการปลูกต้นไม้ส่งตะวันออกกลางจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรไทย 

นายประภัตร กล่าวว่า โครงการนี้จะตั้งเป้าช่วยลดไฟฟ้าลงจากราคาปกติ เบื้องต้นได้มีการเร่งหารือกับผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม โดยให้เร่งศึกษาความเป็นไปได้ จัดหาแนวทางดำเนินงาน การตรวจสอบคุณภาพระบบโซลาร์เซลล์ และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความมั่นใจกับกองทุนต่างประเทศ และนักลงทุนสถาบันในต่างประเทศ 

นายประภัตร กล่าวว่า โครงการเหล่านี้จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มหาศาล ลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง โดยเกษตรกรไม่ต้องเสียค่าเชื้อเพลิง และมีรายได้เพิ่มกลับให้แต่ละครัวเรือนจากการปลูกต้นไม้เพื่อการส่งออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโครงการโซล่าร์เซลล์นำร่องประสบความสำเร็จ จะสามารถขยายผลติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ไปยังเกษตรกรทุกครัวเรือน และครัวเรือนอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในภาคเกษตรได้ ตนแนะนำให้บริษัทแคปปิตอลทรัสต์พิจารณาซื้อระบบโซลาร์เซลล์ที่มีคุณภาพสูง มีความน่าเชื่อถือระดับโลก เช่น บริษัท เทสล่า เพราะเชื่อว่าหากเกษตรกรในประเทศได้ใช้ระบบโซลาร์เซลล์จำนวนมากจากบริษ้ทชั้นนำอย่างเทสล่าก็จะเป็นผลดีต่อเกษตรกรไทยในราคาที่เหมาะสม

'รมว.ปุ้ย' หารือ 'ผบ.ทบ.' ดัน 'ฮาลาล' สร้างอาชีพ-ศก. 3 จว.ชายแดนใต้ เชื่อ!! หากผู้คนมีความเป็นอยู่ดี เศรษฐกิจดี ความขัดแย้งก็จะลดลง

(21 มิ.ย.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อํานวยการสํานักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าพบ พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผู้บัญชาการทหารบก เพื่อหารือถึงแนวทางการดําเนินงานเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาล การพัฒนาแนวทางการฝึกอาชีพให้แก่ทหารกองประจําการและการส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า มาตรการการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลในพื้นที่ภาคใต้ให้เป็น Halal Valley โดยกลไกหนึ่ง คือ การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลในพื้นที่ภาคใต้ของไทย โดยจะสนับสนุนการสร้างนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลในพื้นที่ภาคใต้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อผลักดันให้เกิดการจ้างงาน การสร้างอาชีพ การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานการผลิตและการบริการในพื้นที่ภาคใต้ และผลักดันให้ภาคใต้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาล โดยมีแผนปฏิบัติการส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาลในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  

นอกจากนี้ยังมีแนวทางการพัฒนาฝึกอาชีพให้กับทหารกองประจําการ ก่อนที่จะปลดประจําการออกไป โดยมุ่งเน้นส่งเสริมการฝึกอาชีพโดยการพัฒนาทักษะฝีมือตามความถนัด และสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน รวมถึงการจัดหางานให้แก่ทหารกองประจําการ ภายหลังจากปลดประจําการไปแล้วให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยให้ความสําคัญกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งจะเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต 

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวอีกด้วยว่า การส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ จำเป็นต้องปรับปรุงกรอบระยะเวลาการส่งออกให้มีความกระชับมากขึ้น โดยในปัจจุบันการขออนุญาตส่งออกยุทธภัณฑ์ ใช้ระยะเวลานาน ดังนั้นจึงต้องหารือถึงแนวทางแก้ไขเพื่อลดขั้นตอนการขออนุญาตและการปรับปรุงกฎหมายที่ล้าสมัย

ด้าน พล.อ.เจริญชัย กล่าวว่า พร้อมให้การสนับสนุนในทุกเรื่องที่ได้มีการหารือมา โดยเฉพาะอุตสาหกรรมฮาลาล ซึ่ง รมว.กลาโหม ได้มอบหมายให้เร่งหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อเดินหน้าให้เป็นรูปธรรม 

อย่างไรก็ตาม รมว.อุตฯ เชื่อว่าอุตสาหกรรมฮาลาลจะสร้างความมั่นคงทางด้านอาชีพและเศรษฐกิจให้กับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งต้องร่วมมือกันหลายฝ่าย เพราะทหารทำงานเพียงลำพังไม่ได้ เพราะความมั่นคงไม่ได้เกิดจากทหารแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นความมั่นคงทางเศรษฐกิจด้วย ถ้าประชาชนในพื้นที่มีความเป็นอยู่ที่ดี เศรษฐกิจที่ดี ความขัดแย้งก็จะลดลง

‘มาริษ’ เผย!! ภารกิจสำคัญต่อ 3 เพื่อนบ้าน 'เมียนมา-สปป.ลาว-กัมพูชา' หนุนความมั่นคงชายแดน เสริมการค้า-ท่องเที่ยว แก้ฝุ่นพิษข้ามพรมแดน 

(20 มิ.ย.67) มาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้แถลงภารกิจด้านการต่างประเทศตามที่นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน มอบหมาย ภายใต้หัวข้อ 'IGNITE Thailand, Re-ignite Thai Diplomacy ขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ด้วยการทูตมืออาชีพ' ในงาน Meet the Press#1 สื่อมวลชนทั้งชาวไทยและต่างประเทศร่วมรับฟังอย่างล้นหลาม

แนวทางการทำงานของกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ยุค รมว.มาริษ ที่ถือเป็นลูกหม้อของกระทรวงฯ แบ่งออกเป็น 3 มิติ เริ่มตั้งแต่ มิติฟื้นฟูภาพลักษณ์ของประเทศไทย มิติต่อไป คือ ความเชื่อมั่นจากประชาคมโลกกลับคืนมา เมื่อโลกเชื่อมั่นแล้วไทยจึงกลับไปมีบทบาทนำทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกอีกครั้ง ส่วนมิติที่ 3 คือความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ที่ รมว.บอกว่าแม้อยู่ข้อสุดท้าย แต่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก และ World Pulse สนใจมิตินี้เป็นพิเศษ เพราะเพื่อนบ้านมีส่วนอย่างยิ่งกับความมั่นคง การท่องเที่ยว และซอฟต์พาวเวอร์ 

รัฐมนตรีต่างประเทศ กล่าวอีกว่า นโยบายต่างประเทศของไทยเน้นส่งเสริมความมั่นคงแนวชายแดน ส่งเสริมการค้า ผลักดันการท่องเที่ยว และแก้ปัญหามลพิษ PM2.5 ข้ามพรมแดน 

"เรื่องความมั่นคง ทุกสายตามองไปที่เมียนมา สถานการณ์ในเมียนมามีผลอย่างมากต่อความมั่นคงตามแนวชายแดน และไม่ได้แค่ส่งผลกระทบต่อไทยแต่ยังสะเทือนไปทั้งภูมิภาค สิ่งที่ไทยทำไปแล้วคือช่วยแก้ไขปัญหายาเสพติด แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ธุรกิจสีเทา เราอยากเป็น Key player สร้าง Peace dialogue มุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อไป แต่สิ่งเหล่านี้เปราะบางต้องค่อย ๆ ทำ" 

รมว.มาริษ กล่าวอีกว่า ในด้านการท่องเที่ยว นโยบายสำคัญจากไอเดียนายกฯ เศรษฐา คือ 6 Countries 1 Destination โดยมีรถไฟความเร็วสูงเป็นตัวเชื่อม ซึ่งจะทำให้ไทยมีบทบาทโดดเด่นมากในด้านนี้ และการท่องเที่ยวระหว่างเพื่อนบ้านสามารถใช้ซอฟต์พาวเวอร์มาเป็นตัวทำตลาดได้ด้วย เพราะเพื่อนบ้านมีค่านิยมร่วมกัน ถ้าบูรณาการกันได้จะก่อให้เกิดความมั่นคงมากยิ่งขึ้น 

เมื่อพูดถึงเรื่องเพื่อนบ้านกับซอฟต์พาวเวอร์ World Pulse รมว.มาริษ กล่าวว่า นึกถึงตอนที่ไปคุยกับดาตุ๊ก โจจี ซามูเอล (H.E. Datuk Jojie Samuel) เอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศไทย ในงานเทศกาลอาหารปีนังครั้งที่ 2 เมื่อเดือน พ.ค. ท่านทูตชื่นชมกับแนวคิดของนายกฯ เศรษฐา เรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกัน และยอมรับว่าไทยมีทรัพยากรมากกว่า ซึ่งมาเลเซียจะใช้ความเชี่ยวชาญจากไทยส่งเสริมการท่องเที่ยวมาเลเซีย ส่วนนโยบาย 6 Countries 1 Destination มาเลเซียได้ประโยชน์ด้วยแน่นอน 

“แนวคิดริเริ่มของนายกฯ เศรษฐาดีมาก นายกฯ ของผมยินดีซัพพอร์ตเต็มที่” ท่านทูตย้ำในวันนั้น สอดรับกับแนวทางที่ รมว.ต่างประเทศไทยพูดบนเวทีพอดี พูดเหมือนกันแบบต่างกรรมต่างวาระ แสดงว่านโยบายสอดคล้องตรงกัน

สำหรับประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ที่ รมว.ต่างประเทศไปเยือนอย่างเป็นทางการประเทศแรกเมื่อวันที่ 30 พ.ค. เป็นหนึ่งในนโยบาย 6 Countries 1 Destination โดยไทยจะเพิ่มการเชื่อมต่อทางรถไฟกับ สปป.ลาวและจีน นอกจากนี้การที่ สปป.ลาวได้ชื่อว่าเป็นแบตเตอรีแห่งเอเชีย ความร่วมมือด้านพลังงานสะอาดจึงเป็นสาขาสำคัญอีกสาขาหนึ่ง

ส่วนกัมพูชา นายกรัฐมนตรีไปเยือนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 28 ก.ย.2566 นโยบายของไทยคือ ส่งเสริมการค้าชายแดน กลับมาเจรจากันเรื่องพื้นที่ทับซ้อน จะมีการเปิดสถานกงสุลในเสียมเรียบและเปิดจุดผ่านแดนเพิ่มเติม ร่วมมือกันกำจัดมลพิษ PM2.5 และเชื่อมโยงเครือข่ายโลจิสติกส์

นี่เป็นแค่ตัวอย่างประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน ยังมีมิตรประเทศอีกกว่า 100 ประเทศที่ไทยมีสัมพันธ์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง ความร่วมมือด้านธุรกิจ และความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชน ทั้งหมดนี้ถ้าเป็นไปด้วยดีย่อม IGNITE Thailand ได้ ผลประโยชน์ตกแก่ประชาชนระดับรากหญ้าของทั้งสองประเทศ 

‘พ่อค้าแม่ค้าบุรีรัมย์’ เริ่มบ่น!! ลูกค้าซื้อน้อยลง หลังช่วงนี้ข้าวของต่างๆ ยังคงขึ้นราคาไม่หยุด

(20 มิ.ย.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้ลงพื้นที่สำรวจราคาไข่ไก่ และผักสดชนิดต่าง ๆ ในตลาดค้าปลีกเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ พบว่า ตอนนี้มีพืชผักหลายชนิด ยังคงมีการปรับราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยทั้งพ่อค้าแม่ค้า และประชาชนที่มาจับจ่ายใช้สอยในตลาด ต่างบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า ข้าวของทุกอย่างแพงขึ้น ทำให้ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ทั้งคนขายและคนซื้อ รวมถึงคนซื้อก็เริ่มลดน้อยลงด้วย และเลือกซื้อเฉพาะที่จำเป็นจริง ๆ เท่านั้น

ทั้งนี้ จากการสำรวจแผงผัก พบว่า ยังคงมีการจำหน่ายในราคาคงเดิม และไม่ได้มีการปรับขึ้นราคาแต่อย่างใด โดยบรรดาพ่อค้าแม่ค้าที่ซื้อผักนำมาขายต่อ ต้องปรับกลยุทธ์การขาย เพื่อไม่ให้เสียลูกค้า โดยจะขายในราคาเดิม แต่จำนวนปริมาณจะลดน้อยลง อาทิ ถั่วฝักยาว จากแต่ก่อนเพียงไม่กี่สิบบาท ปัจจุบันราคาซื้อต้นทุนสูงถึงกิโลกรัมละ 90 บาท จากที่ก่อนหน้านี้แบ่งขายเฉลี่ยประมาณ 10-15 ฝัก 10 บาท ต้องนำแบ่งเหลือ 4-5 ฝัก 10 บาท ส่วนพืชผักชนิดอื่นๆ ก็ยังคงมีการปรับราคาสูงขึ้นเช่นเดียวกัน และคาดว่าน่าจะมีการปรับราคาสูงขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งไม่ต่างจากเนื้อไก่และไข่ไก่

โดยไข่ไก่ตอนนี้ก็มีการปรับขึ้นราคาหน้าฟาร์มด้วย ปรับขึ้นราคาแผงละ 6 บาท ถือว่าเป็นราคาที่สูง ซึ่งปัจจุบันมีราคาขายหน้าแผงอยู่ที่ ไข่ไก่เบอร์ 0 ราคาแผงละ 160 บาท ,ไข่ไก่เบอร์ 1 ราคาแผงละ 150 บาท ,ไข่ไก่เบอร์ 2 ราคาแผงละ 140 บาท ,ไข่ไก่เบอร์ 3 ราคาแผงละ 130 บาท และไข่ไก่เบอร์ 4 ราคาแผงละ 120 บาท ส่วนไข่เป็ดมี 2 ราคา คือแผงละ 150 กับ 160 บาทต่อแผง

ด้าน นางทองลอ กะเชื่อมรัมย์ เจ้าของร้านทองณภัสไข่ไก่สด อยู่ในตลาดค้าปลีกเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ บอกว่า ยึดอาชีพขายไข่มานานร่วม 30 ปี ตั้งแต่ปี 2540 ช่วงยุคไข้หวัดนกระบาด ก็ยังไม่เคยพบเคยเห็นว่าไข่ไก่จะมีราคาแพงมากถึงขนาดนี้ โดยทางผู้ค้าส่งแจ้งมาว่า ไข่ไก่ก็มีการปรับขึ้นราคาหน้าฟาร์มด้วย โดยจะมีราคาสูงขึ้นอีกเฉลี่ยแผงละ 6 บาท ซึ่งตั้งแต่ขายไข่มาร่วมจะ 30 ปี ก็ไม่เคบพบเคยเห็นว่า ไข่จะมีการปรับราคาสูงขึ้นถึง 6 บาทต่อแผง เคยเห็นอย่างมากก็แค่ 3 บาทต่อแผงเท่านั้น ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะมีการปรับราคาขึ้นในวันไหน แต่ทางผู้ค้าส่งได้แจ้งราคาขาย มายังพวกตนซึ่งเป็นผู้ค้าปลีก ว่าจะมีการปรับราคาไข่ไก่ขึ้นอีก

นางทองลอ บอกด้วยว่า ส่วนลูกค้าก็ยังคงนิยมซื้อไข่ไก่ ติดครัวไว้ประกอบอาหารรับประทานเช่นเดิม แต่เริ่มจะมีแนวโน้มการซื้อจะลดลงด้วย เนื่องจากรายได้ไม่สอดคล้องกับรายจ่าย จึงทำให้ไม่มีเงินที่จะจับจ่ายได้มากเหมือนก่อนหน้านี้ เพราะในช่วงนี้ข้าวของเครื่องใช้ทุกอย่าง มีราคาสูงขึ้นเรียกว่าแพงทุกอย่าง แม้กระทั่งไข่ไก่และไข่เป็ด ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักใช้ประกอบอาหารของทุกบ้านยังมีราคาแพง นอกจากส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้บริโภคแล้ว พ่อค้าแม่ค้าก็เดือดร้อนเช่นเดียวกัน เพราะจากที่เคยลงทุนซื้อไข่ไก่และไข่เป็ดมาขาย ต่อวัน 100 แผง เฉลี่ยราคาไม่ถึง 10,000 บาท แต่ทุกวันนี้หากซื้อไข่มาขาย 100 แผง จะต้องลงทุนถึง 15,000 บาท ทำให้ต้องหาเงินทุนมาเพิ่ม และหากเป็นไปได้ขอให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหา เพราะไข่ถือเป็นเมนูหลักที่แทบทุกบ้านต้องมีติดไว้ในครัวเรือน

ขณะที่ นางเย็น นะรารัมย์ เจ้าของแผงเย็นของชำ ซึ่งเปิดแผงขายทั้งผักสดและอาหารแห้ง ในตลาดค้าปลีกเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ บอกว่าตอนนี้มีพืชผักหลายชนิด ยังคงมีการปรับราคาต้นทุนสูงขึ้นกว่าปกติอย่างต่อเนื่อง อาทิ ถั่วฝักยาว กิโลกรัมละ 90 บาท ,มะเขือเทศสีดาลูกเล็ก กิโลกรัมละ 100 บาท ,ลูกท้อกิโลกรัมละ 100 บาท โดยมีการปรับราคาสูงขึ้นมาหลายเดือนแล้ว และคาดว่าน่าจะยังมีการปรับราคาสูงขึ้นอีก ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากภาคขนส่ง ที่น้ำมันได้มีการปรับราคาขึ้นอย่างเรื่อย ๆ จึงทำให้สินค้าอุปโภค-บริโภค และที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องปรับราคาสูงขึ้นตามไปด้วย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top