Thursday, 10 July 2025
ECONBIZ NEWS

‘วิชัย ทองแตง’ แชร์ 3 เคล็ดไม่ลับปั้น Startup ไทยให้แกร่ง ‘พันธมิตร-เครือข่าย-ควบรวม’ ต้องปึ้ก!! ในยุคโลกหมุนไว

(20 มิ.ย.67) จากช่อง ‘GodfatherOfStartup’ ได้โพสต์คลิปวิดีโอช่วงหนึ่งจากโครงการ ‘Chiangmai Web3 City And Metaverse เปิดสปอตไลท์ส่องหา Unicorn’ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 – 30 มิถุนายน 2565 ณ สถานที่อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเทศบาลตำบลแม่เหียะ โดยคลิปดังกล่าวเป็นการบรรยายของ 'คุณวิชัย ทองแตง' Godfather of Startup ซึ่งมีเนื้อหาที่ให้มุมมองสำคัญต่อ Startup ไทยไว้อย่างน่าสนใจมากๆ โดยเนื้อหาในวันนั้นมีรายละเอียดดังนี้...

“เมื่อได้ฟังข้อสรุปสุดท้ายของท่านรัฐมนตรี (คุณชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในขณะนั้น) ที่ว่า ‘เดินเร็วหรือเดินช้า ไม่สำคัญเท่าเดินให้ถูกทาง การจับมือเดินร่วมกัน ของพวกเราในครั้งนี้ จะเป็นการจับมือเดินเพื่อไปสู่เป้าหมายที่ดีกว่าเดิม และ Startup ของไทยเหล่านี้ คือ อนาคตที่ประเทศมองข้ามไม่ได้” ถ้อยคำจากคุณวิชัยที่ต้องการส่งสารไปถึง Startup ไทย

คุณวิชัย ยังได้กล่าวต่ออีกว่า “หลายท่านคงจะเคยอ่านหนังสือ 2 เล่มของผม (‘ลงทุนสไตล์ วิชัย ทองแตง’ และ ‘ปั้นหุ้น’) ผมอยากจะแนะนำให้กลับไปอ่านดูหน่อย แล้วเราจะเข้าใจบริบทของการทำธุรกิจเพื่อนำธุรกิจเข้าสู่ตลาดทุนได้อย่างถูกต้อง เพราะคำตอบทั้งหลายอยู่ในหนังสือสองเล่มนี้หมดแล้ว”

ในวันนั้น คุณวิชัย ยังได้เผยถึงเศรษฐกิจช่วงดังกล่าวด้วยว่า “ช่วงนี้เป็นช่วงเศรษฐกิจขาลง ทำให้ Startup หลายรายเริ่มปลดพนักงานออก เพื่อเก็บเงินสดเอาไว้ในมือ ดังนั้นผมจึงอยากจะนำสูตรหนึ่งมาแชร์เป็นเคล็ดลับเพื่อความมั่นคงแก่บรรดา Startup โดยผมอยากให้จับตามอง 3 สิ่ง ได้แก่ Recession (ภาวะเศรษฐกิจถดถอย) / Inflation (เงินเฟ้อ) และ Stagflation (ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว)...

“เราหนี 3 สิ่งนี้ไม่ได้ในช่วงเวลานี้ ยังไงเราก็ต้องเจอกับภาวะเศรษฐกิจกำลังถดถอย และเงินเฟ้อขึ้นสูง อย่างวันนี้เงินเฟ้อพุ่งขึ้นไป 7.1% เมื่อปี 2013 เงินเฟ้อ 12% ว่างงาน 9% แต่ที่น่ากลัวคือ เรากำลังเจอภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้นพร้อมๆ กันระหว่าง ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และ เงินเฟ้อ บวกกับ GDP ประเทศลดลงต่อเนื่อง 2 ไตรมาสติดต่อกัน แถมคนว่างงานมีเพิ่มขึ้น ของแพงขึ้น นี่เป็นสิ่งที่พวกเราควรต้องระวัง ศึกษาให้ถ่องแท้ จะมามัวตกใจไม่ได้ ต้องมีแผนสำรองใหม่ๆ อยู่ตลอด เพื่อให้ธุรกิจสามารถเดินต่อไปได้อย่างมั่นคง ไม่ต้องคาดหวังสูง แต่ต้องเดิน ต้องปลุกใจ ให้กล้า เผชิญหน้า ท้าทาย ไม่ว่าจะยากแค่ไหน”

เกี่ยวกับประเด็น Startup ที่เป็นคนรุ่นใหม่มีความปรารถนาสูงส่งในการสร้างความฝันอันยิ่งใหญ่ของตนเองแค่ไหน? คุณวิชัย ได้กล่าวในฐานะผู้กำลังปลุกปั้น Startup / SMEs และบริษัทที่จะมีศักยภาพเติบโตด้วยว่า “ก็ต้องถามกลับว่า พวกเรายังคงรักษาความฝันนี้ไว้หรือเปล่า เคยมีคำกล่าวจากอดีตประธานาธิบดีเยอรมนี (Angela Merkel) เคยบอกไว้ว่า [กำแพงเบอร์ลิน ไม่สามารถจำกัดความคิด ความเป็นตัวตนความฝัน และจินตนาการของฉัน เธอบอกให้พังกำแพงแห่งความเขลาและจิตใจที่คับแคบ ให้กับสิ่งที่มันมิอาจเป็นอยู่เช่นนั้นได้ตลอดไป เราต้องพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง]” 

ในวันนั้น คุณวิชัย ยังได้ให้หลักการสำคัญผ่านคีย์เวิร์ดที่เรียกว่า ‘2G’ ไว้ด้วยว่า “ผมขอฝาก 2G เล็ก ที่จะทำให้กลายเป็น 2G ใหญ่ ไว้ดังนี้ ได้แก่ 1.Growth และ 2.Gain คุณต้องสามารถสร้างกำไรและการเติบโตให้ได้ เพราะถ้าคุณสร้าง Growth ได้แปลว่าคุณเข้าใจตลาด เข้าใจเส้นทางของธุรกิจ และถ้าคุณเข้าใจ Gain ได้ แสดงว่าคุณมีความสามารถในการบริหาร หรือก็คือถ้าคุณมี 2 องค์ประกอบนี้เมื่อไร โอกาสที่จะได้รับการสนับสนุนให้ไปต่อได้อย่างรวดเร็วจะเกิดขึ้น บาง Startup สตาร์ทเท่าไหร่ก็ไม่อัป ส่วนบาง Startup พออัปแล้ว แต่ก็ไม่ต่อไม่ถูก ฉะนั้นต้องถามตัวเองอยู่เสมอว่า ‘What’s Next’ คำถามนี้ใช้ได้กับทุกๆ ธุรกิจ แล้วเราจะทำยังไงกันต่อไป”

เกี่ยวกับประเด็น ‘What’s Next’ ของ Startup คุณวิชัยก็ได้ให้หลักการสำคัญเพื่อสร้าง 2G ให้ใหญ่ขึ้นได้ด้วยว่า “เราต้อง ‘Collaboration’ หรือ ทำงานร่วมกัน หาพันธมิตร เพื่อส่งเสริมซึ่งกันและกัน จับมือกันเติบโต ต่อมาคือ ‘Connection’ ทุกคนล้วนมีคอนเน็กชัน จะมากน้อยแค่ไหนเพียงใดไม่สำคัญ อยู่ที่คุณจะขยายเครือข่ายของตัวเองได้หรือไม่ เพราะนี่คือการลดทอนความเสี่ยงทางธุรกิจที่สำคัญอย่างมาก และสุดท้าย ‘Mergers & Acquisition’ หรือ การควบรวม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสูตรที่สามารถทำให้เราไปสู่เป้าหมายของความสำเร็จได้เร็วขึ้น ยกตัวอย่างที่ผมเองได้ตัดสินใจควบรวมกับกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ เป็นการ M&A ที่ใหญ่มาก นั่นก็เพราะหากเราต้องการอะไรบางอย่าง (Wealth) เราก็ต้องยอมสูญเสียอะไรบางอย่าง ถ้าต้องการที่กระโดดให้ไกลกว่าเดิม ก็ต้องพร้อมที่จะย่อเข่า”

ท้ายสุด คุณวิชัย ยังได้ฝากถึง Startup รุ่นใหม่ด้วยว่า “แม้ความเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้จะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่ก็ขอให้ความเปลี่ยนแปลงนี้ ไม่ทำลายคุณธรรม 3 ข้อ ได้แก่...

1. เราจะไม่ใช้เทคโนโลยีเพื่อโกงหรือหลอกลวงผู้อื่น
2. เราจะเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์สังคมที่ดี มีคุณธรรม
3. เราจะแบ่งปันความรู้และโอกาสให้กับผู้ที่ด้อยกว่า

พวกเราจงกระตุ้นตัวเองอยู่เสมอ เพื่อการก้าวไปข้างหน้า”

‘กรมประมง’ จัดอบรมผู้ควบคุมเรือไทย ในโครงการ ‘ไต๋รักษ์ชาติ’  หวังยกระดับความรู้-เพิ่มพูนทักษะ-สร้างการยอมรับในระดับสากล

(20 มิ.ย.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมประมง ได้จัดโครงการ ‘ฝึกอบรมหลักสูตรผู้ควบคุมเรือประมงไทย เพื่อการจัดการประมงที่ยั่งยืน (ไต๋รักษ์ชาติ) รุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 19-21 มิถุนายน 2567 ณ โรงแรม คามิโอ แกรนด์ จังหวัดระยอง เป็นโครงการนำร่อง

ทั้งนี้ กรมประมงในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบดูแลทรัพยากรทางด้านการประมงของประเทศไทย ตระหนักถึงบทบาทและคุณค่าของ ‘ผู้ควบคุมเรือ’ หรือ ‘ไต๋’ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการทำประมง เป็นผู้หาปลา และเป็นหนึ่งในผู้สร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร ให้แก่มวลมนุษยชาติ ‘ไต๋’ เป็นอาชีพที่มีคุณค่า มีเกียรติและศักดิ์ศรีเช่นเดียวกับอาชีพอื่น และในขณะเดียวกันยังเป็นอาชีพที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในฐานะผู้จัดการเรือประมง ที่จะพาภาคประมงไทยพัฒนาไปสู่เจ้าสมุทรอีกครั้งหนึ่ง

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า เจ้าของเรือประมงพาณิชย์กว่าร้อยละ 90 จ้าง ‘ไต๋’ เป็นผู้ควบคุมเรือเพื่อออกทำการประมง ในแต่ละปี ‘ไต๋’ สามารถทำการประมงมีผลจับกว่า 1.3 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 71,500 ล้านบาท 

ดังนั้น ‘ไต๋’ เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคการประมง การบริหารจัดการทรัพยากรประมง รวมถึงการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากสัตว์น้ำ

เพื่อให้ภาคการประมงไทยบรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ การสร้างองค์ความรู้ที่จำเป็นจึงเป็นการติดอาวุธความรู้ให้แก่ ‘ไต๋’ เพื่อนำไปใช้ในการประกอบอาชีพ ทั้งองค์ความรู้ด้านมาตรการการจัดการทรัพยากรประมง ด้านการจัดการประมงทะเล ด้านกฎหมายประมง ด้านกระบวนงานที่สำคัญในภาคการทำประมง รวมถึงกฎหมายประมงระหว่างประเทศ กฎหมายในระดับภูมิภาค และพันธสัญญากับองค์กรต่างๆ (RFMO) ให้แก่ ‘ไต๋’ ล้วนแล้วเเต่จะสร้างประโยชน์ให้กับไต๋เรือ เพิ่มพูนทักษะ และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

สำหรับโครงการฝึกอบรมหลักสูตรผู้ควบคุมเรือประมงไทย เพื่อการจัดการประมงที่ยั่งยืน (ไต๋รักษ์ชาติ) รุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 19-21 มิถุนายน 2567 ณ โรงแรม คามิโอ แกรนด์ จังหวัดระยอง เป็นโครงการนำร่อง ซึ่งจัดขึ้นเพื่อรองรับ ‘ไต๋’ เรือประมงพาณิชย์ นายท้ายเรือ และชาวประมง ที่ทำการประมงในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรีและตราด รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียง จำนวน 50 คน

โครงการฯ ได้เชิญวิทยากรจากภาครัฐ ภาคเอกชน และคณะทำงานร่วมเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทานอาหารทะเล (sea food task force) มาร่วมบรรยายในครั้งนี้ นอกจากนี้ยังมีการฝึกปฏิบัติภาคสนามการปฐมพยาบาลและการใช้เวชภัณฑ์สำหรับใช้ในเรือ ให้แก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรม และยังมีเจ้าหน้าที่จากมูลนิธิความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม Environmental Justice Foundation หรือ EJF เข้าร่วมสังเกตการณ์ในการฝึกอบรมในครั้งนี้อีกด้วย

อธิบดีกรมประมงกล่าวเพิ่มเติมว่า ภายหลังจากผู้เข้ารับการอบรมในหลักสูตร ‘ไต๋รักษ์ชาติ’ แล้ว ‘ไต๋’ และผู้เข้ารับการอบรม จะมีความรู้และความเข้าใจในการบริหารจัดการภาครัฐ กฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องต่างๆ อย่างถูกต้อง จะสามารถลดข้อผิดพลาดและป้องกันการกระทำความผิดในภาคการประมงที่ไม่ได้ตั้งใจได้อย่างมีนัยยะสำคัญ รวมถึงสามารถเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรของไทยให้เกิดความยั่งยืนในอนาคตได้ การจัดฝึกอบรมในรูปแบบเช่นนี้ จะมีการขยายขอบเขตไปอบรมให้แก่ผู้ทำการประมงพื้นที่อ่าวไทยตอนกลาง ตอนล่างและฝั่งทะเลอันดามัน โดยผู้ที่สนใจสามารถติดตามกำหนดการจัดฝึกอบรมในครั้งต่อไป จากทุกช่องทางสื่อสารของกรมประมง หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประมงจังหวัดในพื้นที่ หรือกองบริหารจัดการเรือประมงและทำการประมง กรมประมง เบอร์โทรศัพท์ 02-562-0600

‘รมว.ปุ้ย-SME D Bank' ผนึกพันธมิตร 'ภาครัฐ-มหาวิทยาลัย' ปั้นผู้ประกอบการยุคใหม่เปี่ยมศักยภาพ เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 

เมื่อวานนี้ (19 มิ.ย.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานและสักขีพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) 'ส่งเสริมและยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs พร้อมเข้าสู่แหล่งทุนควบคู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน' ระหว่างธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank โดย นายพิชิต มิทราวงศ์ กรรมการผู้จัดการ กับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) โดย ดร.ปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ  สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA โดย ดร.สุรอรรถ ศุภจัตุรัส รองผู้อำนวยการสำนักงาน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดี และ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี โดย ดร.สุพัตรา จันทนะศิริ คณบดี คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ณ อาคารปฏิบัติการโรงแรมและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี 

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับสร้างผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ สามารถปรับตัวตามเทรนด์โลกปัจจุบันและอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้น ยังเตรียมพร้อมเข้าถึงแหล่งทุนได้ด้วย สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งมั่นส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมให้มีศักยภาพ ผลักดันเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เพราะเมื่อมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นรากฐาน จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างแข็งแกร่ง รวมกันเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางแห่งอุตสาหกรรมเป้าหมาย สร้างอนาคตที่สดใสและยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND  

“กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานภายใต้กำกับ มุ่งเน้นสร้างประโยชน์แก่ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ด้วยแนวคิด 'รื้อ ลด ปลด สร้าง' หมายถึง 'รื้อ ลด ปลด' สิ่งที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการให้มากที่สุด ควบคู่กับ 'สร้างสิ่งใหม่ๆ' ที่จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเฉพาะการสร้าง 'ความรู้' เพราะเมื่อมีความรู้แล้ว จะทำให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ และใช้ทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญไม่ว่าจะมีวิกฤตใด ๆ เกิดขึ้นอีกในอนาคต ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย จะปรับตัว ก้าวตามทัน สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างเข้มแข็งและเติบโตอย่างต่อเนื่อง” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว

ด้านนายพิชิต มิทราวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กล่าวว่า SME D Bank พร้อมเคียงข้างผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หรือผู้ที่ต้องการเริ่มทำธุรกิจให้มีความพร้อมมากยิ่งขึ้น ซึ่งความร่วมมือระหว่างธนาคารกับหน่วยงานพันธมิตร ทั้งภาครัฐและสถาบันการศึกษาในครั้งนี้ จะนำความเชี่ยวชาญและศักยภาพของแต่ละหน่วยงาน มาเชื่อมโยงให้การสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยครบวงจรอย่างไร้รอยต่อ เพื่อยกระดับสร้างผู้ประกอบการเอสเอ็มอียุคใหม่สู่การเป็น Smart SMEs ตั้งแต่การเติมความรู้ด้านการเงิน หรือ Financial Literacy ทักษะการบริหารธุรกิจ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลต่อยอดธุรกิจ และการเตรียมพร้อมเข้าสู่แหล่งทุน 

ทั้งนี้ เมื่อผู้ประกอบการมีความพร้อมแล้ว และต้องการเงินทุน สามารถเข้าถึงแหล่งทุนจาก SME D Bank ที่มีผลิตภัณฑ์สินเชื่อไว้รองรับ ครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจ วงเงินกู้สูงสุด 50 ล้านบาท ควบคู่กับได้รับการพัฒนา ผ่านแพลตฟอร์ม 'DX by SME D Bank' (dx.smebank.co.th) ช่วยผู้ประกอบการต่อยอดยกระดับธุรกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่ง นอกจากนั้น ยังได้รับการสนับสนุนผ่านมาตรการภาครัฐต่าง ๆ ที่จะช่วยลดต้นทุน เพิ่มโอกาส ขยายตลาดและผลักดันเข้าถึงนวัตกรรมสมัยใหม่ด้วย 

‘BYD’ ประกาศลดราคา ‘Dolphin’ ทั้ง 2 รุ่น เปิดจอง 22 - 30 มิ.ย.นี้ หรือจนกว่าสินค้าหมด

(20 มิ.ย.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า BYD ประกาศลดราคา DOLPHIN ทั้ง 2 รุ่น หลังแฟนเพจเฟซบุ๊ก BYD RÊVER Thailand ได้โพสต์รูปภาพพร้อมข้อความระบุว่า…

BYD DOLPHIN DAY RUN OUT Campaign ดอลฟิน ดีลฟิน ๆ ที่สุดแห่งปี!

BYD DOLPHIN รุ่น Standard Range ราคาเพียง 559,900 บาท (จากราคา 699,999 บาท)
BYD DOLPHIN รุ่น Extended Range ราคาเพียง 699,900 บาท (จากราคา 859,999 บาท)

พร้อมติดตั้งฟิล์ม Ceramic ยี่ห้อ XUV MAX ทุกคัน และรับสิทธิพิเศษ RÊVER Care

พร้อมเปิดให้จองที่โชว์รูม BYD ทั่วประเทศวันที่ 22 มิ.ย. 67 เวลา 9.00 น. ตั้งแต่วันที่ 22 มิ.ย. 67 - 30 มิ.ย. 67 หรือจนกว่าสินค้าจะหมด

หมายเหตุ แคมเปญนี้ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการขายอื่นได้ เช่น Friend gets Friend แคมเปญ, Loyaty แคมเปญ เว้นแต่จะเป็นไปตามเงื่อนไขที่บริษัทกำหนด

‘สุริยะ’ เดินหน้าแผน ‘ลดค่าทางด่วน’ ไม่เกิน 50 บาท นำร่อง ‘งามวงศ์วาน-พระราม 9’ มั่นใจ!! ได้ใช้ภายในปีนี้

(20 มิ.ย.67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากที่ได้สั่งการให้หาแนวทาง ลดค่าทางด่วนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 สายงามวงศ์วาน-พระราม 9 ให้เหลือไม่เกิน 50 บาท ตลอดเส้นทาง (จากเดิมที่มีค่าทางด่วนสูงสุด 85 - 90 บาท) เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในการลดค่าใช้จ่ายการเดินทาง โดยความคืบหน้าในขณะนี้ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยคาดว่าจะเห็นความชัดเจน และเริ่มให้ประชาชนจ่ายค่าทางด่วนถูกลงภายในปี 2567 แต่อย่างไรก็ตามการลดค่าทางด่วนในอัตราไม่เกิน 50 บาทตลอดสายของทางด่วนช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 ทาง กทพ. จะมีการประเมินทุก ๆ 10 ปี เพื่อปรับให้สอดคล้องกับดัชนีราคาผู้บริโภค(CPI) ตามสถานการณ์ในขณะนั้น 

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้การจราจรที่ติดขัดช่วงสายงามวงศ์วาน-พระราม 9 และภาพรวมในบริเวณดังกล่าว จึงจำเป็นต้องก่อสร้างโครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 ช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 (Double Deck) โดยควรเร่งผลักดัน เพื่อแก้ไขปัญหาการสัญจรที่ติดขัดที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ยั่งยืนอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้การก่อสร้างโครงการดังกล่าว รัฐบาลไม่ต้องมีการลงทุนแต่อย่างใด โดยจะให้ทางผู้ประกอบการที่ได้รับสัมปทานเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด จึงต้องขยายสัญญาทางด่วนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 ไปอีก 22 ปี 5 เดือน โดยระยะเวลาสัญญาที่เพิ่มมานั้นมาจากการคำนวณทางการเงิน และผลตอบแทนจากการลงทุน (Equity IRR) ตามหลักวิชาการ และความเป็นธรรม ซึ่งยืนยันได้ว่าจะไม่ได้เอื้อผลประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการ และสามารถตรวจสอบรายละเอียดได้ทั้งหมด ทั้งนี้หากมีการก่อสร้าง คาดใช้ระยะเวลา ประมาณ 4 ปี และจะเปิดให้ประชาชนได้ใช้บริการต่อไป

"ผมยืนยันว่า การดำเนินการในเรื่องนี้ ไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนอย่างแน่นอน แต่ต้องการทำเพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนและประเทศชาติเป็นหลัก ช่วยลดภาระค่าครองชีพ และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ตนได้ให้นโยบายและเน้นย้ำว่า ทุกกระบวนการในการดำเนินงานนั้นตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างเคร่งครัด มีความละเอียดรอบครอบ โปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้" สุริยะ กล่าว

‘กระทรวงการคลัง’ เล็งพิจารณา ‘แพลตฟอร์มออนไลน์’ หลัง ‘Shopee-Lazada’ ขอร่วม ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ด้วย

(19 มิ.ย.67) นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า แพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ อาทิ ช้อปปี้ (Shopee) ลาซาด้า (Lazada) แสดงความสนใจอยากเป็นร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งแพลตฟอร์มยืนยันว่าสามารถทำได้ โดยมีกลไกการันตีว่าของส่งได้ในพื้นที่ต่างๆ ตามที่กำหนดตำแหน่งได้ และการันตีได้ว่าไม่มีการทุจริตเกิดขึ้นแน่นอน

ทั้งนี้ นายจุลพันธ์กล่าวว่า กระทรวงการคลังก็จะไปดูรายละเอียดในส่วนนี้ให้ อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขในปัจจุบันนี้ ดิจิทัลวอลเล็ต ยังไม่สามารถซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ เนื่องจากมีการควบคุมโลเคชั่น และยังเป็นการใช้จ่ายรูปแบบเผชิญหน้ากัน (face to face) เท่านั้น

นายจุลพันธ์กล่าวว่า นอกจากนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับสินค้าต้องห้าม โดยเป็นห่วงเรื่องการไหลสินค้านำเข้า ขณะที่โทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟนเป็นสินค้าที่นำเข้า มีแต่ที่ผลิตจากต่างประเทศเท่านั้น ดังนั้นต้องดูมิติการผลิต และจ้างงานภายในประเทศ จึงได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ไปสรุปรายละเอียด เพื่อให้มีความชัดเจน และอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่จะใช้ รวมทั้งต้องดูรายละเอียดว่าจะสามารถกำกับ ควบคุมการใช้จ่ายได้จริงหรือไม่

“เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศ ก็ไม่สามารถระบุได้ว่า สามารถซื้อได้เฉพาะยี่ห้อที่ผลิตในไทย แต่เรื่องสมาร์ทโฟนสามารถตอบได้อย่างชัดเจนว่าผลิตในต่างประเทศเท่านั้น ส่วนในเรื่องกลไกการกำหนดเรื่องร้านค้าก็มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์เป็นผู้กำหนด” นายจุลพันธ์กล่าว

นายจุลพันธ์กล่าวว่า ส่วนความคืบหน้าการส่งหนังสือให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความเรื่องการใช้งบประมาณเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนั้น ยังมีระยะเวลาในการดำเนินการ อย่างไรก็ตาม ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นหน่วยงานของรัฐ ฉะนั้น กลไกในการขับเคลื่อนนโยบาย หากอยู่ในกรอบหน้าที่ ก็เป็นภาระหน้าที่ที่ ธ.ก.ส.ต้องดำเนินการ เราก็ดำเนินการตามกฎหมาย ธ.ก.ส.ก็ยินดีดำเนินการ ยืนยัน ว่าสภาพคล่องของ ธ.ก.ส.ไม่ได้มีปัญหา

'SCB EIC' เผยผลสำรวจ!! Gen Y ไทย สถานะการเงินไม่สู้ดี ลูกจ้างยันฟรีแลนซ์มีรายได้ต่ำ 30,000 แถมไม่มีเงินเก็บสำรอง

(19 มิ.ย.67) BTimes รายงานว่า นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยเผชิญความเปราะบางมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ มีดังนี้...

ในด้านภาคครัวเรือน ปรากฏว่า ผลการสำรวจ SCB EIC Consumer survey เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 พบว่า ผู้บริโภคคนไทยราว 70% มีเงินสำรองฉุกเฉินไม่ถึง 3 เดือน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือนที่สำคัญ เกือบทั้งหมดของคนกลุ่มนี้ ไม่มีเงินสำรอง ส่วนใหญ่เป็นวัยทำงานอายุ 31 ถึง 40 ปี (เจนวาย) มีอาชีพเป็นลูกจ้างบริษัทเอกชน และประกอบอาชีพอิสระ

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีมากกว่า 1 ใน 3 หรือกว่า 33% ไม่มีประกันชนิดใดเลย จึงเป็นความเสี่ยงด้านค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้น หากมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดสะท้อนความเปราะบางสูงของผู้บริโภคกลุ่มนี้

สำหรับภาคธุรกิจนั้น โดยรวมมีแนวโน้มฟื้นตัว แต่บางกลุ่มธุรกิจยังคงมีสถานะเปราะบางค่อนข้างมาก โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก หรือ Small Business ที่มีภาระหนี้สูงมากขึ้น ท่ามกลางปัญหาโครงสร้างของภาคการผลิตไทย 

ทั้งนี้ SCB EIC คาดการณ์ว่า แม้รัฐบาลจะมีมาตรการการเงินเน้นช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจมากขึ้น แต่ยังต้องใช้เวลากว่ามาตรการจะมีผลช่วยเหลือในภาพกว้าง 

'สุริยะ' มั่นใจ 'โปรเจกต์แลนด์บริดจ์' เกิดแน่ หลังประธานดูไบเวิลด์ จ่อพบนายกฯ 1 ก.ค.นี้

(19 มิ.ย.67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย - อันดามัน หรือ แลนด์บริดจ์ โดยระบุว่า หลังจากที่ก่อนหน้านี้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้หารือกับผู้บริหารบริษัท Dubai Port World (DP World) เพื่อเชิญชวนให้มาลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ ล่าสุดสุลต่าน อะห์เหม็ด บิน สุลาเย็ม ประธานกลุ่มบริษัท และผู้บริหารของ DP World ประสานจะเดินทางมาหารือกับนายกฯ ในวันที่ 1 ก.ค.นี้

โดยกระทรวงฯ เตรียมความพร้อมนำคณะผู้บริหารของ DP World ลงพื้นที่จริงเพื่อสำรวจศักยภาพของการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งการประสานงานของทาง DP World ในครั้งนี้ ตอกย้ำได้ว่าโครงการแลนด์บริดจ์ เป็นโครงการที่ต่างชาติแสดงความสนใจร่วมทุน และจะเป็นโครงการที่เกิดขึ้นจริง 100% ภายในรัฐบาลนี้ โดยหากมีการลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์ จะช่วยกระตุ้นเม็ดเงินลงทุนลงระบบเศรษฐกิจมากถึง 1 ล้านล้านบาท

อย่างไรก็ดี DP World ถือเป็นบริษัทชั้นนำของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ซึ่งเชี่ยวชาญโลจิสติกส์ การขนส่งสินค้า การดำเนินงานท่าเรือ การขนส่งสินค้าทางทะเลและเขตการค้าเสรี ก่อตั้งปี 2548 ให้บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ 70 ล้านตู้ โดยมีเรือนำเข้า 70,000 ลำต่อปี คิดเป็น 10% ของปริมาณการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทั่วโลก และมีพื้นที่ให้บริการในท่าเรือ 82 แห่งใน 40 ประเทศ

ขณะที่ DP World เคยมีความร่วมมือกับกระทรวงคมนาคมในการพัฒนาสะพานเศรษฐกิจภาคใต้ โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเมื่อวันที่ 20 พ.ค.2551 ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอร่างบันทึกความเข้าใจในการให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าเพื่อศึกษาความเหมาะสมแนวทางการพัฒนาท่าเรือฝั่งทะเลอันดามันและสะพานเศรษฐกิจเชื่อมท่าเรือฝั่งอ่าวไทย

ทั้งนี้ มีการลงนามระหว่างสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และ DP World เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2551 ซึ่งอยู่ช่วงนายสันติ พร้อมพัฒน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นรัฐบาลพรรคพลังประชาชนที่ต่อมาถูกยุบพรรค และกลายมาเป็นพรรคเพื่อไทย โดยการลงนามครั้งนั้น สุลต่าน อะห์เหม็ด บิน สุลาเย็ม ประธานกรรมการบริหารกลุ่ม DP World มาลงนามด้วยตัวเอง

สำหรับ โครงการแลนด์บริดจ์ มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 1.001 ล้านล้านบาท จะแบ่งเป็น ท่าเรือฝั่งระนอง 330,810 ล้านบาท ท่าเรือฝั่งชุมพร 305,666 ล้านบาท และโครงสร้างพื้นฐานการเชื่อมต่อทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและทางรถไฟ 358,517 ล้านบาท โดย สนข.ศึกษาพบว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่มีความคุ้มค่าในการลงทุน มีผลตอบแทนการลงทุนโครงการวัดจาก Internal Rate of Return (IRR) สูงกว่า 10% ต่อปี อีกทั้งเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในพื้นที่ภาคใต้จาก 2% เป็น 10% ต่อเนื่องอย่างน้อย 10 ปี

ขณะที่สถานะปัจจุบันโครงการผ่านการศึกษาและเปิดรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชน รวมทั้งกระทรวงคมนาคมได้จัดโรดโชว์นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างเร่งผลักดัน พ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (พ.ร.บ. SEC) เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ และเป็นปัจจัยบวกสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนทั้งด้านกฎหมาย สิทธิประโยชน์ ตลอดจนการจัดเก็บอัตราภาษีเงินได้

ทั้งนี้ สนข.ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมาที่กระทรวงคมนาคมแล้ว เตรียมเสนอ ครม. พิจารณาเห็นชอบภายในเดือน ก.ย.นี้ ก่อนเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป ซึ่งมั่นใจว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2568 หลังจากนั้นมีเป้าหมายออกประกาศเชิญชวนนักลงทุนภายในไตรมาส 4 ปี 2568 พร้อมเปิดประมูลได้ภายในไตรมาส 2 ปี 2569 ก่อนจะเริ่มเวนคืนที่ดินในไตรมาส 4 ปี 2569 และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2569 เพื่อเปิดให้บริการในปี 2573

‘IMD’ ปรับอันดับขีดความสามารถไทยปี 67 ขึ้น 5 อันดับ ขยับสู่อันดับ 25 จาก 30 วิ่งแซงมาเลเซียที่อยู่อันดับ 34

(19 มิ.ย. 67) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่าได้รายงานคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเขตเศรษฐกิจ 67 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งจัดอันดับโดย International Institute for Management Development หรือ IMD สวิตเซอร์แลนด์ ประจำปี 2566

โดยในส่วนของประเทศไทย อันดับของประเทศไทยดีขึ้น 5 อันดับ จากอันดับที่ 30 ในปี 2566 ขึ้นมาอยู่อันดับที่ 25 ในปีนี้ โดยอันดับของประเทศไทยยังถือว่าดีที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ในอาเซียนรองจากสิงคโปร์

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาปัจจัย 4 ด้านที่ใช้ในการจัดอันดับ ไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันดีขึ้นจากปีที่แล้วใน 2 ด้าน คือ สมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) และประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) โดยด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) มีอันดับดีขึ้นมากที่สุดถึง 11 อันดับ จากอันดับที่ 16 มาอยู่อันดับที่ 5 เนื่องจากในทางการคลังเราเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจากเดิม

ขณะที่ด้านประสิทธิภาพภาครัฐปรับเพิ่มขึ้น 3 อันดับ จาก 23 มาอยู่ที่ 20 ด้านโครงสร้างพื้นฐาน อยู่ในอันดับ 43 เท่าเดิม และด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ คงที่อยู่ในอันดับที่ 24

ส่วนในภาพรวมของเศรษฐกิจในอาเซียน จากเขตเศรษฐกิจในสมาชิกประชาคมอาเซียนรวม 10 เขตเศรษฐกิจ ยังคงมีเพียง 5 เขตเศรษฐกิจ คือ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ที่ได้รับการจัดอันดับโดย IMD

ซึ่งเขตเศรษฐกิจที่มีอันดับความสามารถในการแข่งขันสูงสุดของอาเซียนในปี 2567 ยังคงเป็นสิงคโปร์อันดับ 1 และเป็นที่น่าสนใจว่าทั้งไทย และอินโดนีเซีย ต่างสามารถพัฒนาอันดับขีดความสามารถขึ้นมาสูงกว่ามาเลเซียในปีนี้ โดยไทยได้รับการจัดอันดับ ที่ 25 และอินโดนีเซียที่ อันดับ 27 ในปีนี้ ตามมาด้วยมาเลเซีย อันดับ 34 และฟิลิปปินส์ อันดับ 52 ตามลำดับ

'เศรษฐา' ร่ายยาว!! ของบ 3.75 ลลบ.เติมเศรษฐกิจโตเต็มศักยภาพ พร้อมคำมั่น!! ปลายปี 'ดิจิทัลวอลเล็ต' ถึงมือประชาชน

(19 มิ.ย.67) ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร วาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท โดยในปีนี้ไม่มีการตั้งงบประมาณเพื่อชดใช้เงินคงคลัง

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ชี้แจงเหตุผลการของบประมาณว่า ร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ 2568 เป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากปีงบประมาณฯ 2567 มีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้เต็มศักยภาพ สร้างรายได้ให้กับประชาชนและประเทศ ผ่านการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภา และวิสัยทัศน์ Ignite Thailand ซึ่งประกอบด้วยการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลาง 8 อุตสาหกรรม บนการพัฒนา 6 พื้นฐานสำคัญ มาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการงบประมาณ ในการพัฒนาและจัดสรรทรัพยากรของประเทศให้บรรลุเป้าหมาย รวมทั้งคำนึงถึงความสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ รัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และแผนการปฏิบัติราชการของกระทรวง เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ และประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม

นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2568 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.5-3.5 มีการปรับลดลงจากประมาณการเดิมที่ประมาณการไว้ในแผนการคลังระยะปานกลาง ปีงบประมาณ 2568-2571 โดยมีแรงสนับสนุนจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งออกสินค้าตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก การขยายตัวของการอุปโภคบริโภค และการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ จากความยืดเยื้อของความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ และการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้า ที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และสร้างความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุน สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในปี 2568  คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 2568 จะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.7–1.7 และดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มเกินดุลร้อยละ1.5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 

“ในช่วงปลายปี 2567 นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จะถึงมือคนไทย 50 ล้านคน เกิดเป็นพายุหมุนทางเศรษฐกิจ กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงตั้งแต่ระดับฐานราก กระจายไปยังพื้นที่ทั่วประเทศ ก่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย การสั่งผลิตสินค้า การจ้างงาน และหมุนกลับมาเป็นเงินภาษีให้กับภาครัฐ เพื่อใช้ในการลงทุนเพื่อสร้างขีดความสามารถให้กับประเทศต่อไป” นายกฯ กล่าว

นายเศรษฐา กล่าวว่า ช่วงต้นปี 2567 รัฐบาลได้ประกาศวิสัยทัศน์ Ignite Thailand เป็นเป้าหมายของการพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของ 8 ด้านได้แก่ ศูนย์กลางการท่องเที่ยว ศูนย์กลางการแพทย์
และสุขภาพ ศูนย์กลางเกษตรและอาหาร ศูนย์กลางการบิน ศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาค ศูนย์กลางการผลิตยานยนต์แห่งอนาคต ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล และศูนย์กลางการเงิน บนการพัฒนา 6 พื้นฐานที่สำคัญได้แก่ การเป็นรัฐบาลดิจิทัลเพื่อความโปร่งใส ความเสมอภาคเท่าเทียม ความสะอาดและปลอดภัย ระบบขนส่งที่เข้าถึงและสะดวก การศึกษาและเรียนรู้สำหรับทุกคน พลังงานสะอาดและมั่นคง

กลยุทธ์ของการมุ่งไปสู่ 8 ศูนย์กลาง คือการต่อยอดจุดแข็งของประเทศด้านต่างๆ เช่น สถานที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม ทักษะของคนไทย โครงสร้างพื้นฐาน และอุตสาหกรรมในปัจจุบันที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนต่อยอดให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมของภูมิภาคและของโลกได้ เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว, อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ, อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร, อุตสาหกรรมการขนส่งและการบิน เป็นต้น

นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ครึ่งปีแรกของปี2567 แสดงให้เห็นว่าการท่องเที่ยว
เป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยมีเป้าหมายไว้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศทั้งปีมากกว่า 36.7 ล้านคน กลับไปสู่ระดับสูงใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด และรัฐบาลมีแผนที่จะทำให้ปี 2568 เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวที่ยิ่งใหญ่ เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวให้มากยิ่งขึ้น และกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวผ่านการเฟ้นหาจุดเด่น จัดเทศกาล กิจกรรม คอนเสิร์ต หรือการแสดงต่างๆ เพื่อเพิ่มระยะเวลาการพำนัก และค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของนักท่องเที่ยวในอนาคต ซึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องมีการขยายโครงสร้างพื้นฐานทางอากาศมากยิ่งขึ้น ทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางทางการบิน โดยรัฐบาลจะเดินหน้าขยายโครงข่ายสนามบินทั่วประเทศเพื่อให้รองรับผู้โดยสารได้มากขึ้น และขยายกำลังความสามารถในการขนส่งทางอากาศ การขนส่งควบคุมอุณหภูมิ และเชื่อมต่อไปยังการขนส่งทางรถ ราง และเรืออย่างครบวงจร ทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งจากไทยไปยังกลุ่มประเทศ CLMV และเชื่อมต่อ
ไปยัง Land Bridge เพื่อไปทั่วโลกได้ 

ส่วนเกษตรกรรมและอาหารเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถยกระดับสู่อุตสาหกรรมมูลค่าสูง โดยรัฐบาลมีมาตรการที่จะดูแลภาคส่วนนี้ตั้งแต่ต้นน้ำโดยการบริหารจัดการน้ำ ดิน พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจ การแปรรูป และดูแลบริหารอย่างครบวงจร ทำให้ภาคเกษตรและอาหารแข็งแรงยิ่งขึ้น

นายกฯ กล่าวอีกว่า ปัญหาหนี้สินยังเป็นปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะในภาคครัวเรือนที่มีภาระหนี้สินสูงกว่าร้อยละ 91.3 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และยังมีภาระหนี้นอกระบบ โดยรัฐบาลได้มีมาตรการช่วยเหลือในการไกล่เกลี่ย และจับกุมเจ้าหนี้นอกระบบที่ทำผิดกฎหมาย เพื่อคืนอิสรภาพให้กับพี่น้องประชาชนที่เคยตกอยู่ในวังวนหนี้สินไม่รู้จบ ส่วนในภาคธุรกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประเมินว่าใน SMEs จำนวนกว่า 3.2 ล้านราย มีเพียงไม่ถึงครึ่งที่เข้าถึงสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน ทำให้ต้องอาศัยแหล่งสินเชื่อที่ไม่เป็นธรรม ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ ด้านการใช้จ่ายจำเป็นในการหมุนเวียนประจำวัน และการลงทุนเพื่อขยายธุรกิจ ส่งผลให้หลายบริษัทต้องปิดตัวลง การเจริญเติบโตในภาค SMEs อยู่ในระดับต่ำ สินเชื่อในกลุ่ม SMEs มีการขยายตัวติดลบร้อยละ 5.1 ในขณะที่สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ขยายตัวร้อยละ 3.3 ในไตรมาส 1 ของปี 2567

นายเศรษฐา กล่าวว่า ภายใต้สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุล เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่อง โดยประมาณการจัดเก็บรายได้จากภาษีอากร (สุทธิ) การขายสิ่งของและบริการ รายได้จากรัฐพาณิชย์ และรายได้อื่น รวมสุทธิทั้งสิ้น จำนวน 3,022,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 จากปีก่อน และหักการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามพ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 135,700 ล้านบาท คงเหลือเป็นรายได้สุทธิที่สามารถนำมาจัดสรร
เป็นรายจ่ายของรัฐบาล จำนวน 2,887,000 ล้านบาท ประกอบกับเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 865,700 ล้านบาท รวมเป็นรายรับทั้งสิ้น 3,752,700 ล้านบาท เท่ากับวงเงินงบประมาณรายจ่าย การจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล จึงมีความสำคัญและจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวอย่างเชื่องช้าให้เติบโตได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเม็ดเงินจำนวนมากจะไหลจากภาครัฐไปสู่ภาคเอกชน ก่อให้เกิดการสั่งซื้อสินค้า การบริการ และหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

นายกฯ กล่าวอีกว่า ฐานะการคลังนั้น หนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 มีจำนวน 11,474,154.0 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 63.37 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะ ตามกฎหมาย
ว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดไว้ต้องไม่เกินร้อยละ 70 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ปัจจุบันฐานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 30 เมษายน 2567 มีจำนวน 430,076.3 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะบริหารเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม บริหารรายรับและรายจ่ายของรัฐให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด 

ทั้งนี้ ฐานะการเงินด้านต่างประเทศของไทยในปัจจุบัน อยู่ในเกณฑ์ดี มูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 มีจำนวน 224,483.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 2.5 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ซึ่งจัดว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งมาก                         

นายเศรษฐา กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2568 มีวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 3,752,700 ล้านบาท จำแนกเป็นรายจ่ายประจำ จำนวน 2,704,574.7 ล้านบาท หรือร้อยละ 72.1 รายจ่ายลงทุน จำนวน 908,224 ล้านบาท หรือร้อยละ 24.2 ซึ่งเป็นสัดส่วนการลงทุนที่สูงที่สุดในรอบ 17 ปี และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 150,100 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.0 ทั้งนี้รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้เป็นรายจ่ายลงทุนกรณีการกู้เพื่อการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 10,198.7 ล้านบาท 

นอกจากนี้ ในส่วนของยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ได้กำหนดไว้ผ่าน 6 ยุทธศาสตร์ ดังนี้...

ยุทธศาสตร์ ที่ 1 ด้านความมั่นคง รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 405,412.8 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.8 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อพัฒนาความมั่นคง เช่นการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้  เสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ 

ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 398,185.9 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10.6 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อส่งเสริมให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้มีเสถียรภาพและยั่งยืน ผลักดันการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเป็นศูนย์กลางการขนส่ง และขยายโอกาสทางการค้า การลงทุน 
 

ยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 583,023.4 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 15.5 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน ปฏิรูประบบการศึกษาและสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต พัฒนาระบบบริการสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมทุกพื้นที่ ส่งเสริมการอนุรักษ์และพัฒนามรดกทางศิลปวัฒนธรรมสู่อุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ พัฒนาศักยภาพการกีฬาสู่ความเป็นเลิศและได้มาตรฐานสากล ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีสามารถพึ่งพาตนเองได้ รวมทั้งพัฒนาและยกระดับทักษะฝีมือแรงงานไทยให้ได้มาตรฐานรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายและการแข่งขันในตลาดโลก  

ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 923,851.4 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 24.6 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อให้คนไทยได้รับสวัสดิการพื้นฐาน บริการสาธารณะอย่างทั่วถึงเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ สนับสนุนการเตรียมความพร้อมสังคมไทยในการรองรับสังคมสูงวัย เพิ่มศักยภาพและยกระดับผู้ประกอบการธุรกิจ ส่งเสริมสภาพแวดล้อมและกลไกการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เร่งดำเนินการให้ประชาชนมีสิทธิในที่ดินทำกิน พัฒนาระบบสาธารณสุข ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาที่มีคุณภาพและมาตรฐาน รวมทั้งสร้างหลักประกันสวัสดิการ สำหรับแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ

ยุทธศาสตร์ที่ 5 ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย  จำนวน 137,291.9 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.7 ของวงเงินงบประมาณ เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน และสร้างการเติบโตบนสังคมเศรษฐกิจสีเขียว 

และ ยุทธศาสตร์ที่ 6 ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 645,880.9 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17.2 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อให้ระบบการบริหารราชการมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล มุ่งผลสัมฤทธิ์และผลประโยชน์ส่วนรวม

นายกฯ กล่าวอีกว่า ส่วนการดำเนินการภาครัฐนั้นรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้ จำนวน 659,053.7 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17.6 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายรองรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมายสำหรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ  แบ่งเป็นแผนงานบริหารเพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินหรือจะเป็นจำนวน 248,800.0 ล้านบาท เพื่อสำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น การเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง ภารกิจที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐ และเงินชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้าง รวมถึงการกระตุ้นและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ โดยคำนึงถึงวินัยทางการคลัง และแผนงานบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ จำนวน 410,253.7 ล้านบาท เพื่อให้การบริหารจัดการหนี้และการชำระหนี้ภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจ

“งบประมาณฯ 2568 จำนวน 3,752,700 ล้านบาท มีที่มาจากรายได้ที่คาดว่าจะจัดเก็บได้ จำนวน 2,887,000 ล้านบาท และเป็นการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 865,700 ล้านบาท แม้ว่างบประมาณปีนี้จะมีการขาดดุลเพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลได้จัดสรรรายจ่ายลงทุนไว้ จำนวน 908,224 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 24.2 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 27.9 และเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 17 ปีที่ผ่านมา การบริหารงบประมาณรายจ่ายทั้งหมดนี้ จะเป็นการใช้จ่ายเพื่อดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล และกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลจะดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ ใช้จ่ายเงินภาษีของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด กระตุ้นเศรษฐกิจให้เม็ดเงินไหลไปสู่ประชาชนและภาคธุรกิจ สร้างการเจริญเติบโตให้กับประเทศ พัฒนาศักยภาพอย่างยั่งยืน และเป็นไปตามกฎหมาย” นายเศรษฐากล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top