Wednesday, 3 July 2024
THE STATES TIMES TEAM

WHO ออกแถลงการณ์ แนะนำประเทศต่าง ๆ ใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ฉีดให้ประชาชนต่อไป ชี้ประโยชน์ที่ได้รับ มีมากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกแถลงการณ์ในวันนี้ (17 มี.ค.) ระบุว่า ประเทศต่างๆควรใช้วัคซีนโควิด-19 ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าต่อไป ในระหว่างที่คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญของ WHO ยังคงทำการพิจารณาทบทวนความปลอดภัยของวัคซีนดังกล่าว หลังมีรายงานการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนบางราย

“การฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ไม่ได้ช่วยลดอาการป่วยหรือเสียชีวิตจากโรคอื่น โดยอาการลิ่มเลือดอุดตันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้บ่อย และอาการลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำนับเป็นโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจที่พบเห็นมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ทั่วโลก”

WHO ระบุว่า แม้เป็นเรื่องปกติที่ประเทศต่าง ๆ จะทำการแจ้งเกี่ยวกับผลข้างเคียงที่เกิดจากการฉีดวัคซีน แต่สิ่งนี้ไม่ได้หมายความว่ามีความเชื่อมโยงโดยตรงกับการฉีดวัคซีน อย่างไรก็ดี ถือเป็นเรื่องดีที่จะมีการสืบค้นในเรื่องนี้ และสิ่งนี้แสดงว่าระบบการเฝ้าระวังยังคงใช้การได้ ขณะที่ระบบการควบคุมยังคงมีประสิทธิภาพ

WHO แถลงว่า จะทำการเปิดเผยผลการสืบค้นต่อสาธารณะโดยเร็วที่สุด ทันทีที่คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญของ WHO เสร็จสิ้นการพิจารณาทบทวนความปลอดภัยของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งขณะนี้ WHO มองว่าประโยชน์ที่ได้รับจากการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า มีมากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น และ WHO ขอแนะนำให้ประเทศต่าง ๆ ยังคงใช้วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าต่อไป

ขณะนี้ หลายประเทศในยุโรปต่างพากันระงับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า หลังมีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตจากอาการแข็งตัวของเลือดที่ผิดปกติ และบางรายมีอาการลิ่มเลือดอุดตันในปอดหลังได้รับวัคซีน

เกษตรกระบี่ พาไปชมการผลิตกาแฟขี้ชะมดและการจัดการสวนกาแฟอย่างมืออาชีพ ในงาน Field Day 2564 ที่อำเภอลำทับ

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2564 เวลา 10.00 น. นายธนากร ชูจิตต์ นายอำเภอลำทับ เป็นประธานเปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูการผลิตใหม่ (Field Day) ปี 2564 มีนายอนุชา ยาอีด เกษตรจังหวัดกระบี่ พบปะพี่น้องเกษตรกรที่มาร่วมงาน และนางสาวจันทร์ฉาย เพ็ญเขตวิทย์ เกษตรอำเภอลำทับ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดงาน ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร(ศูนย์เครือข่าย) หมู่ที่ 3 ตำบลดินแดง อำเภอลำทับ จังหวัดกระบี่

นายธนากร ชูจิตต์ นายอำเภอลำทับ กล่าวว่า การจัดงานในวันนี้เป็นการกระตุ้นให้เกษตรกรเกิดความตระหนักในการทำการเกษตร ซึ่งต้องมีการใช้เทคโนโลยีและข้อมูลในการผลิตทางการเกษตร นำไปสู่การลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พัฒนาคุณภาพผลผลิตและเชื่อมโยงตลาด มีการพัฒนาให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ และความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ

โดยใช้ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร เป็นแหล่งเรียนรู้ของอำเภอ ดังนั้น การเริ่มต้นปีการเพาะปลูกใหม่ ถ้าเกษตรกรนำองค์ความรู้ที่เหมาะสม ในแต่ละพื้นที่ไปประยุกต์ใช้ในไร่นาและสวนของตนเองได้ จะทำให้เกิดประสิทธิภาพการผลิตได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญ หากมีการขยายผลหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เกษตรกรได้เข้าถึงและนำไปใช้ ก็จะทำให้เกษตรกรมีความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ รวมถึงสังคมก็จะมีแต่ความสุข

นางสาวจันทร์ฉาย เพ็ญเขตวิทย์ เกษตรอำเภอลำทับ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีและบริการการเกษตรเพื่อเริ่มต้นฤดูการผลิตใหม่ (Field Day) ปี 2564 ในวันนี้ สืบเนื่องมาจากภาคการเกษตรของไทยได้เข้าสู่ฤดูการผลิตใหม่แล้ว  ซึ่งโดยทั่วไปถือว่าวันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี  เป็นวันเริ่มต้นปีเพาะปลูก  ดังนั้นเพื่อให้การผลิตมีประสิทธิภาพจึงจำเป็นต้องมีการใช้องค์ความรู้ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ โดยมีองค์ประกอบของศูนย์ ได้แก่ เกษตรกรต้นแบบ แปลงเรียนรู้  หลักสูตรการเรียนรู้ และฐานการเรียนรู้ 

อำเภอลำทับได้คัดเลือกพื้นที่ของนายพิศิษฎ์  เป็ดทอง หมู่ที่ 3 ตำบลดินแดง เป็นศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรเครือข่าย กลุ่มผลิตกาแฟขี้ชะมด มีเป้าหมายในการพัฒนาเรื่องกาแฟ รวมถึงการทำการเกษตรโดยนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต

สำหรับวัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ มีดังนี้

1.) เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรเริ่มต้นการผลิตในปีการเพาะปลูกใหม่โดยใช้เทคโนโลยีและภูมิปัญญาที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่

2.) หน่วยงานต่าง ๆ มีการให้บริการด้านการเกษตรตามภารกิจเพื่อสนับสนุนเกษตรกรเริ่มต้นการผลิตในปีการเพาะปลูกใหม่

3.) เพื่อเผยแพร่ให้เกษตรกรรู้จักและใช้ประโยชน์จากศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ที่มีอยู่ในพื้นที่

กิจกรรมภายในงาน จัดให้มีสถานีเรียนรู้ต่าง ๆ ซึ่งแต่ละสถานี จะมีเนื้อหาที่สอดคล้องกันเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์/เป้าหมายของการจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีฯ   โดยมีจำนวน 5 สถานีเรียนรู้ ดังนี้

      สถานีที่ 1 บริการด้านวิชาการ

      สถานีที่ 2 การสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตกาแฟ

      สถานีที่ 3 การจัดการและตกแต่งสวนกาแฟ

      สถานีที่ 4 การปลูกไม้เศรษฐกิจในสวนกาแฟ

      สถานีที่ 5 การเลี้ยงชะมด

นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงองค์ความรู้  กิจกรรมทางการเกษตร และการให้บริการด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจากส่วนราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ กลุ่ม/สถาบันเกษตรกร ภาคเอกชน  ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นในการถ่ายทอดความรู้

สำหรับการจัดงานในครั้งนี้มีเกษตรกรในพื้นที่อำเภอลำทับ และพื้นที่ใกล้เคียงมาร่วมงานไม่น้อยกว่า 120 คน ซึ่งเกษตรกรจะสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพการเกษตรในพื้นที่ของตนเอง  โดยยึดหลักพอเพียง ความพอดีกับศักยภาพของตนเอง บนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเอง รวมทั้งมีความเอื้ออาทรต่อคนอื่นๆ ในสังคมเป็นประการสำคัญ


ภาพ/ข่าว : มโนธรรม ใจหาญ  รายงาน

ศาลฎีกากระบี่พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้ประหารชีวิต “บังฟัต” พร้อมอีก 8 คน ก่อเหตุวางแผนและฆ่า อดีตผู้ใหญ่บัติ เสียชีวิตพร้อมสมาชิกในครอบครัวรวม 8 ศพ

เมื่อปีพ.ศ.2560 ขณะที่ญาติผู้เสียชีวิตพอใจในคำตัดสิน  ขณะที่ผลพวงจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ครอบครัวผู้เสียชีวิตต้องสูญเสียบ้านที่อยู่อาศัย 

จากคดี นายซูริก์ฟัต หรือบังฟัต บ้านนบวงศ์สกุล อายุ 41 ปี พร้อมกับพวกรวม 8 คน ร่วมกันก่อเหตุสังหารโหดนายวรยุทธ หรือผู้ใหญ่บัติ สังหลัง อายุ 46 ปี อดีต ผญบ.หมู่ 1 ต.บ้านกลาง อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ พร้อมครอบครัวและญาติ ๆ รวม 8 ศพ เหตุเกิดที่บ้านเลขที่ 14/3 หมู่ 1 ต.บ้านกลาง อ.อ่าวลึก เมื่อวันที่ 9 ต่อเนื่องวันที่ 10 มี.ค.60  คดีดังกล่าวสร้างความสะเทือนขวัญแก่ประชาชนเป็นอย่างมาก  

หลังเกิดเหตุได้ 5 วัน ทางจนท.ตำรวจได้ ติดตามจับกุมตัว ผู้ก่อเหตุได้ทั้ง 8 คน  ประกอบด้วย นายซูริก์ฟัต บ้านนบวงศ์กุล หรือ บังฟัต อายุ 41 ปี  นายคมสรรค์ เวียงนนท์ (ม่อน) อายุ 36 ปี นายอับดุลเลาะ ดอเลาะ (เลาะห์) อายุ 30 ปี.นายอรุณ ทองคำ (กี้ร์) อายุ 29 ปี นายประจักษ์ บุญทอย (จักร์) อายุ 36 ปี.นายธนชัย จำนอง (โกบ) อายุ 41 ปี  นายธวัฒชัย บุญคง (ชัย) อายุ 37 ปีและ น.ส.ชลิดา สังข์โชติ อายุ 41 ปี ภรรยานายชูริก์ฟัต

ต่อมาเมื่อวันที่ 12 ก.ค.62  ที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์ได้ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 1-7 โดยศาลให้ความเห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้ง 7 คน เป็นการกระทำที่อุกอาจ ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง และเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่บุคคลอื่น ชดใช้ค่าเสียหายให้กับญาติผู้เสียชีวิตทุกคนทนายจำเลยจึงได้ยื่นฏีกา  ส่วนจำเลยที่ 8 คือ น.ส.ชลิดา สังข์โชติ ภรรยานายชูริก์ฟัต ถูกตัดสินจำคุก 12 เดือน  และได้รับโทษครบกำหนดไปก่อนหน้านี้แล้ว

ความคืบหน้าเมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 18 มี.ค.64  ที่ ห้องพิจารณาคดี ที่ 8  ศาลจังหวัดกระบี่ ได้อ่านคำพิพากษาศาลฏีกา ผ่าน Video Conference จากศาลจังหวัดกระบี่  ไปยังจำเลย 7 คน ที่ถูกคุมขังในเรือนจำกลางนครศรีธรรมราช  โดยในวันนี้ทางญาติผู้เสียชีวิต  ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษาที่ศาลจังหวัดกระบี่ด้วย แต่ศาลไม่ได้อนุญาตให้เข้าร่วมรับฟังคำพิพากษาในห้องพิจารณาคดี โดยศาลได้นัดแยกให้มาฟังคำพิพากษาอีกครั้งในวันที่ 24 เมษายนนี้  จึงต้องรอติดตามผล ด้านนอกอาคารศาลจังหวัดกระบี่ ซึ่งผลการพิจารณาคดี ศาลฎีกาได้พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์  ให้ประหารชีวิตจำเลยทั้ง7 คน  สร้างความพึงพอใจแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต

หลังทราบผลพิพากษา ของศาลฏีกา นางอาส้า บุตรเติบ  แม่ยายของ ผู้ใหญ่บัติ  กล่าวว่า รู้สึกพอใจกับคำพิพากษา  ขอบคุณศาลที่ให้ความยุติธรรมต่อครอบครัว เนื่องจากตลอดเกือบ 4 ปี ที่ผ่านมาทางครอบครัว ต้องทนทุกข์ทรมานอย่างหนักทั้งจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไปทั้งหมดถึง 8 คน และยังต้องแบกรับภาระหนี้สินที่เกิดจากการที่บังฟัต นำบ้านหลังที่เกิดเหตุและบ้านของพ่อตา ไปจำนองไว้กับธนาคาร จนกระทั่งทำให้บ้านทั้งสองหลังซึ่งเป็นสมบัติชิ้นสุดท้ายของครอบครัวถูกธนาคารยึด  ทำให้คนในครอบต่างวิตกกังวลว่าจะไม่มีที่อาศัย  จึงอยากวอนขอความช่วยเหลือ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ด้านนายเกรียงศักดิ์  สารภี นายความ ของนายซริก์ฟัต และพวก กล่าวว่า หลังศาลฏีกามีคำพิพากษาให้ประหารชีวิต จำเลยทั้ง 7 คน  ก็ได้ปรึกษากับทางญาติจำเลย เพื่อหาทางยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษฯ ภายในเวลาระยะ 60 วัน หลังจากนี้


ภาพ/ข่าว : ณัฏฐพงษ์  ศรีปล้อง รายงาน

"คำรณวิทย์" ห่วงใยเด็กปทุมธานี วางยุทธศาสตร์การศึกษาให้มีที่เรียนระดับมหาลัยจบมามีงานทำ

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2564 เวลา 10:00 น. ที่โรงเรียนสามโคก ตำบลบ้านงิ้ว อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี และหัวหน้าส่วนราชการเข้าเยี่ยมชมและมอบนโยบายในการดำเนินงานเเนวทางการบริหารของโรงเรียนสามโคก สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี

โดยมี นายชูชาติ เที่ยงธรรม ผู้อำนวยการโรงเรียนสามโคก พร้อมด้วยคณะผู้บริหารโรงเรียนและนักเรียน รร.สามโคกให้การต้อนรับ โดยพล.ต.ท. คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี พร้อมด้วย นายเสวก ประเสริฐสุข นายเวนิต วัฒนธำรงค์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี นายยุทธนา แสงพงศานนท์ ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี และหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี ได้ชมนักเรียนแสดงความสามารถ ทางด้านภาษาต่างประเทศ การแสดงรำไทย โขน กลองยาว โปงลาง รวมถึงด้านกีฬา และมีการจัดบูธนิทรรศการผลงานนักเรียนที่ได้รางวัลในการแข่งขันต่าง ๆ ทั่วประเทศ จากนั้นได้เขียนบันทึกในสมุดเยี่ยมแสดงความชื่นชม ร.ร.สามโคกทุกด้านที่พัฒนาไปมาก และต้องพัฒนาต่อไป ลูก ๆ ร.ร.สามโคกต้องสู้ได้และชนะในทุกเวที

ด้าน พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า ผมได้เชิญ ผอ.กิจจา ชูประเสริฐ , ผอ.อารีวรรณ เอมโกษา , ผอ.สมชาย ฟักทอง , ผอ.วรพันธ์ แก้วอุดม , ผอ.วีระพงษ์ ประดิษฐ์ ซึ่งเป็นคณะที่ปรึกษาทางการศึกษาองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี มาเพื่อระดมความคิดในการทำงานร่วมกับ นายชูชาติ เที่ยงธรรม ผู้อำนวยการโรงเรียนสามโคก เราต้องการให้โรงเรียนสามโคกสามารถพัฒนาเด็กให้สู้กับโรงเรียนอื่น ๆ ได้ทุกเวที แต่ถ้าหากเรารับเด็กทั้งหมดโดยไม่ผ่านการคัดกรองก็จะไม่มีการแข่งขัน โดยมาร่วมกันอยู่เป็นจำนวนมาที่เดี่ยว ก็จะส่งผลกระทบให้โรงเรียนอื่นๆในพื้นที่เช่นจากที่เคยมีเด็กเกือบ 1,000 คน ทำให้เหลือเพียง 200 คน จึงต้องมีการแก้ไขทั้งระบบให้เด็กนักเรียนในจังหวัดปทุมธานีต้องพัฒนาไปด้วยกันทั้งจังหวัด อย่างเท่าเทียม

ซึ่งวันนี้ได้เห็นความสามารถการแสดงออกของเด็กพบว่าดีมากและไม่แพ้ใครเลย เพียงแต่ขาดการประชาสัมพันธ์รวมถึงไม่ได้สัมผัสกับอีก 22 โรงเรียนระดับมัธยมศึกษาอื่น ๆ ภายในจังหวัดปทุมธานี เบื้องต้นได้ประสาน ผอ.เขตการศึกษา เพิ่มโรงเรียนสามโคกเป็นโรงเรียนที่ 23 เพื่อให้มีการทำงานร่วมกันกับโรงเรียนอื่น  นอกจากนี้ในวันที่ 23 มีนาคม 2564 จะมีการ MOU กับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เพื่อให้เด็กที่จบ ม.6 มีการต่อยอดการศึกษาหลากหลายด้านในการประกอบอาชีพในอนาคต ซึ่งทางตนเองและคณะที่ปรึกษาทางการศึกษากำลังวางแผน ยุทธศาสตร์ทางการศึกษาให้เด็กนักเรียนปทุมเรียนจนจบ ระดับมหาวิทยาลัยและมีงานรองรับทำงานเลี้ยงชีวิตและครอบครัวต่อไป ไม่ใช่เรียนจนจบแต่ไม่มีงานทำ

ส่วน นายชูชาติ เที่ยงธรรม ผู้อำนวยการโรงเรียนสามโคก กล่าวว่า เนื่องจากลูก ๆ นักเรียนโรงเรียนสามโคกที่ได้เข้ามาเรียนก็มีความคาดหวังในการที่จะดูแล และสนับสนุน ในเรื่องของวิชาการ ทักษะอาชีพ ศีลปะ ดนตรี และกีฬา ถือว่าเป็นทักษะชีวิตสำหรับเขาที่จะออกไปเป็นคนที่มีคุณภาพ รวมถึง คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี ได้ให้นโยบายมาเพื่อสร้างเครือข่ายทางการศึกษาร่วมกับ สถาบันการศึกษาขั้นพื้นฐานในจังหวัดและเขต

รวมถึงสถาบันระดับอุดมศึกษาเพื่อเติมเต็ม ซึ่งทางโรงเรียนให้ความร่วมมือ ถือว่าคุณครูของโรงเรียนจะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้วิชาการ รวมถึงนักเรียนจะได้มีเวทีแสดงออกพบปะกับสังคมเพื่อการเรียนรู้ที่มากขึ้น และคาดหวังว่าลูก ๆ นักเรียนจะได้รับการสานต่อความรู้ความสามารถให้เป็นผู้ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีนำกลับมาตอบแทนท้องถิ่นให้จังหวัดปทุมธานีมีความเจริญก้าวหน้าต่อไป


ภาพ/ข่าว : ประภาพรรณ ขาวขำ / รายงาน

"ผู้ว่าฯ ปทุมธานี" ประชุมหารือ แนวทางการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยว ตลาดเก่าร้อยปี คลอง 12 หกวา

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2564 เวลา 09.30 น. ที่ ตลาดเก่า 100 ปี คลองสิบสอง อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เป็นประธานการประชุมหารือ แนวทางการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยว ตลาดเก่าร้อยปี คลอง 12 หกวา  

โดยมี นายสุทัศน์  คงแย้ม ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดปทุมธานี นายรนัชถ์ชัย พุ่มเจริญ นายอำเภอลำลูกกา  นางสาวธนียา นัยพินิจ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดปทุมธานี นางสาวฐิต์ณัฐ สมบัติศิริ วัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี นางสาวพิมพกานต์  พิพิธธนานันท์ ผอ.ททท.สำนักงานกรุงเทพ นายภัสพลภ์ ชัยสุริยาทวิกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดปทุมธานี  ผศ.ดร.ดรุณศักดิ์ ตติยะลาภะ รองคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎวไลยอลงกรณ์  ผู้แทนหัวหน้าส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ใหญ่บ้าน ประธานชุมชนพัฒนาตลาดเก่า ชุมชนตลาดเก่าร้อยปี คลอง 12 หกวา

พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมหารือแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวตลาดเก่าร้อยปี คลอง 12 หกวา เพื่อเป็นการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ข้อมูลตลาดเก่าร้อยปีให้เป็นที่รู้จักแก่นักท่องเที่ยว


ภาพ/ข่าว : ประภาพรรณ ขาวขำ รายงาน

"ศรชล.(MECC)" จัดกิจกรรมสร้างการตระหนักรู้ให้แก่กลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน

วันที่ 18 มีนาคม 2564 เวลา 09.00 น  ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติชุมพรคาบาน่า หมู่ที่ 8 ตำบลสะพลี อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร  นาวาเอก กิตติพงษ์ พุ่มสร้าง รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัดชุมพร ให้เกียรติมาเป็นประธานเปิด - ปิด กิจกรรมสร้างการตระหนักรู้ให้แก่กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านในเขตจังหวัดชุมพร ได้รับความสนใจจากชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่จังหวัดชุมพร และผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เข้าร่วมรับฟังจำนวน 80 คน

นาวาโท กรภัทร ศรีพิพัฒน์ กล่าว่า ด้วยศูนย์อำนวยการอำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัดชุมพร กำหนดจัดกิจกรรมสร้างการตระหนักรู้ในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเสริมสร้างการตระหนักรู้ และการมีส่วนร่วมของชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่จังหวัดชุมพร บรรยายถึงแนวทางการปฏิบัติงานตาม พ.ร.บ.ศรชล 2562 จากวิทยากร ศณชล จังหวัดชุมพร ได้รับรู้ถึงเรื่อง กฎ ระเบียบเกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรณีการประกอบอาชีพการประมงพื้นบ้าน จากวิทยากร ทช.  วิทยากรสำนักงานประมงจังหวัดชุมพร และวิทยากรจากอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร ศูนย์อำนวยการอำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัดชุมพร กำหนดให้มีขึ้นในวันที่ 18 มีนาคม 2564 ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติชุมพรคาบาน่า และจะเป็นประโยชน์แก่ทุกท่านที่เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งจะนำไปใช้ในการปฏิบัติงาน รวมถึงการปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ ต่อไป

นาวาเอก กิตติพงษ์ พุ่มสร้าง เปิดเผยว่า ขอขอบคุณผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและเข้าร่วมกิจกรรม สร้างการตระหนักรู้ให้แก่กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านด้วยศูนย์อำนวยการอำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัดชุมพร กำหนดจัดกิจกรรมสร้างการตระหนักรู้ในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเสริมสร้างการตระหนักรู้ และการมีส่วนร่วมของชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่จังหวัดชุมพร  และจะได้นำไปประกอบการใช้ชีวิตในการทำประมงพื้นบ้านอย่างถูกต้องต่อไป


ภาพ/ข่าว : ธนากร โกศลเมธี รายงานศูนย์ข่าวสารจังหวัดชุมพร

องคมนตรี เชิญถุงพระราชทาน มอบแก่ราษฎรกลุ่มบ้านปิยะมิตร 1 จ.ยะลา พร้อมกับเยี่ยมและให้กำลังใจ

เมื่อเวลา 09.10 น. วันที่ 18 มี.ค.63  นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี  และคณะฯ เดินทางไปยังวัดพุทธาธิวาส ต.เบตง อ.เบตง จ.ยะลา เพื่อนำเครื่องไทยธรรมพระราชทานไปถวายแด่พระสงฆ์ จำนวน 9 รูป โอกาสนี้ พระสงฆ์สวดมนต์ถวายพระพรชัยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยมีนายธีรุตม์ ศุภวิบูลย์ผล รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา หัวหน้าส่วนราชการ นักเรียนนักศึกษา ประชาชน เข้าร่วม

วัดพุทธาธิวาส สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2460 เดิมชื่อ “วัดเบตง”  ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่บนเนินเขา มีพระธาตุเจดีย์พระพุทธธรรมประกาศ ซึ่งมีความหมายว่า พระพุทธเจ้าทรงประกาศธรรม ตั้งโดดเด่นมองเห็นศิลปกรรมแบบศรีวิชัยประยุกต์สวยงามมาก โดยในองค์มหาธาตุเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ มหาธาตุเจดีย์องค์นี้สร้างขึ้นจากความคิดและการดำเนินการของอดีตประธานศาลฎีกา นายสวัสดิ์ โชติพานิช เพื่อเฉลิมฉลองและถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานนาม และเสด็จทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุบนยอดฉัตรเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2536

นอกจากนั้นยังมีพระพุทธธรรมกายมงคลประยุรเกศานนท์สุพพิธาน พระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์องค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย วิหารหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด และวิหารพระครูพิศิษฐ์อรรถการ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยกวัดพุทธาธิวาสเป็นอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญตั้งแต่วันที่ 2 เดือน ธันวาคม พ.ศ.2546

จากนั้น องคมนตรีและคณะเดินทางไปยังบ้านปิยะมิตร 1 ต.ตาเนาะแมเราะ อ.เบตง จ.ยะลา เพื่อเชิญถุงพระราชทาน จำนวน 60 ถุง ไปมอบแก่ราษฎรกลุ่มบ้านปิยะมิตร 1 เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับพี่น้องประชาชน สร้างความปลื้มปิติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ ในความห่วงใยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีต่อพสกนิกรปวงชนชาวไทยเสมอมา

บ้านปิยะมิตร 1 ได้จัดตั้งขึ้นเป็นหมู่บ้านยุทธศาสตร์แนวชายแดนไทย-มาเลเซีย โดยได้รับอนุมัติจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2531 ด้วยความร่วมมือของกองทัพภาคที่ 4 และกรมป่าไม้ ให้เข้าใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเบตง ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเบตง จังหวัดยะลา มีพื้นที่ 3,250 ไร่ โดยจัดสรรที่อยู่อาศัยให้ราษฎรครอบครัวละ 1 ไร่ ที่ทำกินครอบครัวละ 15 ไร่ ส่วนที่เหลือไว้เป็นที่ป่าชุมชุนส่วนรวมของหมู่บ้าน มีระยะเวลาสัญญา 30 ปี และตั้งชื่อว่า หมู่บ้านปิยะมิตร 1 ปัจจุบันมีจำนวนประชากรรวม 305 คน ชาวบ้านได้ร่วมกันจัดตั้งกลุ่มอาชีพ อาทิ กลุ่มสมุนไพรปิยะมิตร 1 จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2531

ส่วนใหญ่สมาชิกไม่รู้หนังสือและพูดไทยไม่ได้ อาศัยอยู่ในป่าทำให้มีความรู้เรื่องสมุนไพรเป็นอย่างดี จึงรวมกลุ่มกันเพื่อเป็นศูนย์รวมการรับซื้อสมุนไพรของสมาชิก และทำสมุนไพรขายเพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัว ปัจจุบันมีสมาชิก 210 ครัวเรือนและมีการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น นอกจากนี้ยังจัดตั้งกลุ่มท่องเที่ยวอุโมงค์ปิยะมิตร 1 เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้ มีอุโมงค์ ที่ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย สร้างขึ้นเป็นฐานปฏิบัติการ  ประกอบกับชาวบ้านมีการเข้าไปใช้ประโยชน์จากป่า จึงระดมทุนจากสมาชิกในชุมชนมาพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวแทน

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มปลูกผักน้ำ เนื่องจากชุมชน ตั้งอยู่ในพื้นที่ต้นน้ำและมีอากาศเย็น มีแหล่งน้ำสะอาดเหมาะกับการปลูกผักน้ำ ชาวบ้านจึงได้ทดลองปลูกซึ่งได้ผลดี ต่อมาในปี 2548 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานทุนทรัพย์ จำนวน 450,000 บาท เพื่อดำเนินการสร้างบ่อปลูกผักน้ำในพื้นที่ใหม่และให้เป็นศูนย์เรียนรู้ในชุมชน ซึ่งเป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ทำให้ราษฎรในชุมชนอยู่ดีกินดี มีความมั่นคงในการประกอบอาชีพอย่างยั่งยืนจวบจนถึงปัจจุบัน

จากนั้น องคมนตรี ได้พบพี่น้องประชาชนและเยี่ยมชมกิจกรรมของกลุ่มบ้านปิยะมิตร 1 อาทิ การปลูกผักน้ำ การบริหารจัดการด้านการค้าขาย และการดูแลรักษาป่าในพื้นที่ รวมถึงเยี่ยมชมและศึกษาประวัติศาสตร์ของอุโมงค์ปิยะมิตร


ภาพ/ข่าว : ธานินทร์ โพธิทัพพะ ปื๊ดเบตง

ร.13 พัน 3 ช่วยรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร ที่ตั้งใกล้หน่วย บรรเทาความเดือดร้อน ห้วงโควิดระบาด

กำลังพลจาก กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 13  ได้เข้าช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 โดยการช่วยเก็บถั่วฝักยาว ขนถ่ายผลผลิต และรับซื้อถั่่วฝักยาว ที่เป็นผลผลิตของเกษตรกร ไปประกอบเลี้ยงกำลังพล เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน บริเวณใกล้ที่ตั้งหน่วย โดยรับซื้อถั่วฝักยาวจาก นายพงษ์ศักดิ์ หยงเมือง บ้านเลขที่ 209 หมู่ที่ 13 บ้านหมูม่น ตำบลหมูม่น อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี จำนวน 30 กก.เป็นเงิน 1,200 บาท

พ.ท.บริสุทธิ์ สุจินพรหม ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 13 กล่าวว่า กรมทหารราบที่ 13 โดย พ.อ.มงคล หอทอง ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 13 สั่งการให้หน่วย กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 13 นำกำลังพลเข้าช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน บริเวณรอบที่ตั้งหน่วย ห้วงเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ทั้งนี้เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนและเพิ่มรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกรในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อนำมาประกอบเลี้ยงให้กับกำลังพลภายในหน่วยได้รับประทานพืชผักสดใหม่ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และยังการสร้างขวัญ กำลังใจ และพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐด้วยการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในช่วงวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19

นายพงษ์ศักดิ์ หยงเมือง เกษตรกร กล่าวว่า ขอขอบคุณทางกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 13 เป็นอย่างยิ่งที่ได้ให้การช่วยเหลือ สนับสนุนในครั้งนี้ เพื่อได้เป็นกำลังใจให้แก่เกษตรกร รายได้ที่ได้ ก็จะได้เอามากไว้จุนเจือครอบครัวต่อไป

จังหวัดราชบุรี แถลงสถานการณ์โควิด-19 หลังพบผู้ป่วยเพิ่มจากคลัสเตอร์ตลาดบางแค

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2564 ที่ห้องประชุมสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดราชบุรี นายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี พร้อมแพทย์หญิงปาจรีย์ อารีย์รบ แพทย์ประจำสาธารณสุขจังหวัดราชบุรี และนายแพทย์ชวนนท์ อิ่มอาบ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดราชบุรี ร่วมกันแถลงรายงานสถานการณ์ โควิด-19 และมาตรการควบคุมการระบาดของจังหวัดราชบุรี

โดยสถานการณ์ โควิด-19 จังหวัดราชบุรีช่วงวันที่ 11 - 17 มีนาคม 2564 จังหวัดราชบุรีพบผู้ป่วยยืนยัน รายใหม่ 12 ราย รวมผู้ป่วยยืนยันระลอกใหม่ปัจจุบัน จำนวน 46 ราย ขณะนี้รับการรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 13 ราย รักษาหาย 33 ราย ทั้งนี้ผู้ป่วยรายใหม่มีความเกี่ยวข้องกับตลาดที่เขตบางแค จากการตรวจเชิงรุกของ กทม. พบเป็นชาวจังหวัดราชบุรี  4 ราย และมีผู้สัมผัสสี่ยงสูงในครอบครัว พบไทม์ไลน์ไปหลายพื้นที่ของจังหวัดราชบุรี จนขยายวงเชื่อมโยงไปถึงบุคคลในโรงเรียนเอกชน สถานที่ราชการ

ประกอบด้วย รายที่ 35 เพศชาย อายุ 28 ปี ตำบลดอนกระเบื้อง อำเภอบ้านโป่ง อาชีพค้าขายที่ตลาดวันเดอร์ บางแค

รายที่ 36,37,38 เพศชาย จำนวน 1 คน  อายุ 49 ปี เพศหญิง จำนวน 2 คนอายุ 47 ปี และ อายุ 41 ปี อาศัยที่ตำบลเจดีย์หัก อำเภอเมือง อาชีพค้าขายที่ตลาดวันเดอร์ บางแค กทม. รักษาที่ รพ.ราชบุรี 

รายที่ 39,40 เป็นเพศหญิงอายุ 24 ปี และอายุ18 ปี เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงของรายที่ 36,37 อาชีพรับราชการ และนักเรียนตามลำดับ รักษาที่ รพ.ราชบุรี

รายที่ 41,42.43 เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงรายที่ 37 เพศชาย อายุ 48 ปี เพศหญิง อายุ 39 ปี เด็กหญิง อายุ 7 เดือนอาศัยที่ตำบลเกาะพลับพลา อำเภอเมือง มีอาชีพรับราชการ รักษารพ.ราชบุรี

รายที่ 44 เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงรายที่ 40 เพศหญิง อายุ 18 ปี ตำบลป่าไก่ อำเภอปากท่อ เป็นนักเรียน รักษาที่ รพ.ปากท่อ

รายที่ 45 เป็นผู้สัมผัสเสียงสูงรายที่ 40 เพศหญิง อายุ 18 ปี ตำบลหนองพันจันทร์ อำเภอบ้านคา เป็นนักเรียน รักษาที่ รพ.บ้านคา

รายที่ 46 เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงซึ่งทำงานที่เดียวกันกับรายที่ 42 เพศหญิง อายุ 34 ปี อาชีพรับราชการ รักษา รพ. ราชบุรี

ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงสูงของผู้ป่วยรายใหม่ ทั้งหมดได้รับการตรวจแล้ว อย่างไรก็ดีหากสงสัยว่าสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยรายใหม่ หรือมีประวัติเดินทาง ไปตลาด ทั้ง 6 แห่ง ย่านบางแค ให้รีบปรึกษาแพทย์ หรือเจ้าหน้าสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อรับการคัดกรอง ประเมินความเสี่ยงและพิจารณาตรวจหาเชื้อโควิด-19 หลีกเสี่ยงเดินทางไปในชุมชนแออัด


ข่าว/ภาพ : สุพจน์ วรสหวัฒน์ จ.ราชบุรี รายงาน

ศรีสะเกษ สั่งปิดโรงเรียนดัง หวั่นมีการแพร่เชื้อโควิด-19 หลัง Timeline ลูกของผู้ป่วยติดเชื้อนั่งรถตู้ไปเรียนหนังสือ

เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 64 ที่ ร.ร.ศรีสะเกษวิทยาลัย อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ นายยิ่งยง นันทวณิชชากร ผู้อำนวยการโรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัย ได้ลงนามในประกาศ ร.ร.ศรีสะเกษวิทยาลัย เรื่องแจ้งปิดสถานศึกษากรณีพิเศษ หลังจากที่คณะกรรมการโรคติดต่อ จ.ศรีสะเกษ ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

จังหวัดศรีสะเกษ ได้แจ้งประชาสัมพันธ์พบผู้ป่วยโควิด-19 ระลอกใหม่รายที่ จ.ศรีสะเกษ เพศหญิง อายุ 49 ปี อาชีพค้าขาย ที่ตลาดบางแควันเดอร์ กรุงเทพมหานคร มีภูมิลำเนาอยู่ที่ อ.วังหิน จ.ศรีสะเกษ และมีความเกี่ยวข้องเป็นผู้ปกครอง น.ร.ของ ร.ร.ศรีสะเกษวิทยาลัย ทาง ร.ร. ได้ตระหนักถึงความรุนแรงของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น จึงได้ประกาศปิดสถานศึกษา ด้วยเหตุพิเศษ อาศัยอำนาจตามความในระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2549 ข้อ 9 วรรค 1 (4) และที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 (2558) ว่าด้วยการเปิดและปิดสถานศึกษา

ผอ.ร.ร.ศรีสะเกษวิทยาลัย กล่าวว่า ตนจึงได้สั่งปิด ร.ร.ด้วยเหตุพิเศษ ตั้งแต่วันที่ 17- 23 มีนาคม 2564 และปิด ร.ร.ระหว่างวันที่ 24-26 มีนาคม 2564 เนื่องจาก ร.ร.เป็นสนามสอบโควตา มหาวิทยาลัยขอนแก่น และปิด ร.ร.ในวันที่ 29 มีนาคม 2564 เนื่องจากเป็นสนามสอบ O-Net ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6  รวมปิด ร.ร. พร้อมวันหยุดตั้งแต่วันที่ 17-29 มี.ค.64 ทั้งนี้ ร.ร. จะเปิดทำการเรียนการสอนตามปกติ ในวันที่ 30 มีนาคม 2564

ในช่วงปิด ร.ร.นี้ ทาง ร.ร.มีการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ (Online) ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น Google Classroom , Line , Facebook , 200m หรืออื่น ๆ น.ร. ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา ขอให้งดการเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด หรือพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้ น.ร. ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษาที่เดินทางกลับมาจากต่างจังหวัด หรืออยู่ในพื้นที่เสี่ยงทุกคนต้องแจ้งข้อมูลการเดินทางตามความจริง โดยไม่ปิดบังข้อมูลต่อ ผอ.ร.ร. หรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ขณะเดียวกัน ตนได้สั่งการให้นักการภารโรงทุกคนร่วมกันใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคเช็ดทำความสะอาดบริเวณอาคาร สถานที่และเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่เป็นของใช้ส่วนรวม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อีกด้วย

 

ด้าน นายธรรมรักษ์ จิตรดิษฐ์สกุล ผอ.ร.ร.นิคมสร้างตนเองห้วยคล้า 1 อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ เปิดเผยว่า เนื่องจากลูกของผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 นั่งรถตู้ไปเรียนที่ ร.ร.มารีวิทยาและ ร.ร.ศรีสะเกษวิทยาลัย โดยรถตู้ดังกล่าวมารับเด็กที่บ้านนิคมหมู่ 11 ด้วย และเด็ก น.ร.ที่อยู่บ้านนิคมเป็นเพื่อนบ้านของ น.ร. ที่ ร.ร.นิคม 1 มีการคลุกคลี รับประทานอาหารด้วยกัน เล่นด้วยกันกับเด็ก น.ร. ที่ ร.ร.นิคมสร้างตนเองห้วยคล้า 1 จำนวน 4 คน ส่วนผู้ปกครองของ น.ร.ได้ไปร่วมงานกับกลุ่มเสี่ยงที่ติดเชื้อโรค covid-19 ที่ อ.วังหินจำนวนหลายรายด้วยกัน จึงมีความจำเป็นต้องปิดเรียนเพื่อป้องกันโรคติดต่อ ตามมาตรการป้องกันโรค covid-19 ของ จ.ศรีสะเกษ ตนจึงได้สั่งปิดเรียนเป็นเวลา 5 วันตั้งแต่วันที่ 17- 21 มีนาคม 2564 ด้วยเหตุพิเศษ ทั้งนี้ทาง ร.ร. จะดำเนินการเปิดสอนชดเชย ให้ครบ 200 วันในโอกาสต่อไป


ภาพ / ข่าว : ศิริเกษ หมายสุข ผู้สื่อข่าว จ.ศรีสะเกษ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top