Saturday, 5 July 2025
THE STATES TIMES TEAM

พบผู้ป่วยโควิด รายที่ 14 เป็นคนนอย์เวย์ อายุ 74 ปี เบื้องต้นกักตัวตัวตามมาตรฐานอย่างถูกต้อง แต่ยืนยันตรวจเชื้อมีอาการ และเข้ารักษาตัวที่ขอนแก่น ผู้ว่าฯ สั่งเร่งตรวจสอบไทม์ไลน์อย่างละเอียด

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 22 มี.ค.2564 ที่ห้องประชุมแก่นชัย ชั้น 5 ศาลากลาง จ.ขอนแก่น นายสมศักดิ์  จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น พร้อมด้วย นพ.สมชายโชติ  ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุข จ.ขอนแก่น ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนหลังผลตรวจยืนยันพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในพื้นที่ จ.ขอนแก่น ท่ามกลางความสนใจจากบุคลากรทางการแพทย์และสื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก

นายสมศักดิ์  จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น กล่าวว่า ผู้ป่วยรายดังกล่าวเป็นชาวนอย์เวย์ อายุ 74 ปี  ซึ่งเดินทางเข้าประเทศไทยผ่านสนามบินสุวรณภูมิ ในวันที่ 5 มี.ค. จากนั้นเข้ารับการกักตัว ในสถานที่ที่รัฐกำหนด เป็นเวลา 14 วัน โดยในวันที่ 7 มี.ค. เข้ารับการตรวจเชื้อครั้งแรกไม่พบการติดเชื้อ และเข้ารับการตรวจเชื้อครั้งที่ 2 ในวันที่ 17 มี.ค.ไม่พบการติดเชื้อเช่นกัน ก่อนจะครบกำหนดการกักตัวในวันที่ 20 มี.ค. ซึ่งเจ้าตัวเดินทางกลับขอนแก่น ทันที โดยลงเครื่องที่สนามบินขอนแก่น ในวันที่ 20 มี.ค. ไฟท์เที่ยง โดยมีลูก 2 คนเดินทางมารับและกลับบ้านที่จังหวัดข้างเคียงกับขอนแก่น

“จนกระทั่งวันที 21 มี.ค.ผู้ป่วยเริ่มมีอาการบ่งชี้ โดยเฉพาะปวดเมื่อยตามร่างกาย จึงให้ครอบครัวเข้ารับการตรวจที่ รพ.เอกชนแห่งหนึ่งของ จ.ขอนแก่น แต่ด้วยมาตรฐานคุมเข้มที่จังหวัดของเรากำหนดไว้อย่างเข้มงวด ซึ่งผู้ป่วยทุกรายจะต้องรายงานข้อมูลต่าง ๆ ให้กับเจ้าหน้าที่ได้รับทราบซึ่ง รพ.เอกชน แห่งนี้ได้ซักประวัติและตรวจหาเชื้อซ้ำอีกครั้ง ซึ่งผลยืนยันติดเชื้อโควิด-19 ในช่วงค่ำ จึงมีการส่งต่อการรักษามาที่ รพ.ศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตามระบบการส่งต่อผู้ป่วยที่เข้มงวดทันที”

ขณะที่ นพ.สมชายโชติ  ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุข จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ทุกขั้นตอนเมื่อผู้ป่วยถึงทีมแพทย์ ตั้งแต่ รพ.เอกชน และส่งต่อมายัง รพ.ศรีนครินทร์ เป็นไปตามขั้นตอนการปฎิบัติงานที่เข้มงวด ตามมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุด ทำให้ขณะผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19 รายที่14 ของ จ.ขอนแก่น นั้นอยู่ในการดูแลของทีมแพทย์ตามขั้นตอนของการรักษาแล้ว  ขณะเดียวกันทีมสอบสวนโรคได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบไทม์ไลน์ผู้ป่วยอย่างละเอียด เริ่มตั้งแต่การเดินทางมาที่ขอนแก่น ด้วยสายการบินแห่งหนึ่ง ซึ่งผู้ที่นั่งใกล้ชิดกับผู้ป่วยคือ 3 แถวหน้าและ 3 แถวหลังจะต้อเข้ารายงานตัวและเข้ารับการตรวจเชื้อทันที

ขณะเดียวกันกลุ่มเสี่ยงสูง 2 คนคือคนในครอบครัวของผู้ป่วยนั้นขณะนี้ได้มีการเข้ารายงานตัวและเข้ารับการตรวจเชื้อกับทางแพทย์แล้ว ส่วนกลุ่มเสี่ยงต่ำ 17 คนนั้น ขณะนี้ทยอยเข้ารายงานตัวและเข้ารับการตรวจอย่างต่อเนื่องเช่นกัน อย่างไรก็ตามขณะนี้ทีมสอบสวนโรค จะลงพื้นที่ที่บ้านของผู้ป่วย รวมทั้งการซักรายละเอียดต่างๆอย่างละเอียดเพื่อให้มาตรการควบคุมและป้องกันและการควบคุมพื้นที่เป็นไปอย่างรัดกุม

นักเรียนโรงเรียนบ้านปากคลอง เก็บมะม่วงหิมพานต์ขายเป็นรายได้เสริม เพื่อสร้างทักษะชีวิต และอาชีพของนักเรียน

นายมนัส  สัจจสุจริตกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านร่าหมาด และรักษาราชการผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปากคลอง อำเภอเกาะลันตา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากระบี่ เปิดเผยว่า โรงเรียนบ้านปากคลอง เป็นโรงเรียนขนาดเล็กอยู่ในพื้นที่ใกล้ทะเล ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีอากาศร้อนอบอ้าว จึงทำให้ต้นมะม่วงหิมพานต์ที่ปลูกเอาไว้ จำนวนกว่า 20 ต้น  มีผลออกมาเยอะมาก  

ทางโรงเรียนได้ฝึกสร้างทักษะอาชีพให้กับนักเรียน เพื่อให้นักเรียนมีทักษะชีวิตด้วยการสร้างงานในสิ่งที่มีอยู่ในชุมชน  โดยการเก็บ มะม่วงหิมพานต์ขาย สร้างรายได้เสริมให้กับนักเรียนอีกทางหนึ่ง โดยมีแม่ค้า หรือชาวบ้านในชุมชนมารับซื้อในโรงเรียน  ซึ่งมีราคาจำหน่ายดังนี้ ผลติดเมล็ด ขายกิโลกรัมละ 35 บาท ผลเอาเมล็ดออก กิโลกรัมละ 20 บาท และเมล็ดอย่างเดียว กิโลกรัมละ 60 บาท   

ทั้งนี้  มะม่วงหิมพานต์เป็นผลไม้ที่มีคุณประโยชน์ทุกส่วนของต้น ไม่ว่าจะเป็นใบ ผล ต้น เมล็ด ยาง เปลือก  เช่น เม็ดมะม่วงหิมพานต์มีแมกนีเซียมสูง  ช่วยในการทำงานของหัวใจ มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นพลังงาน ช่วยป้องกันอาการหมดเรี่ยวแรงได้เป็นอย่างดี  ผลและใบของมะม่วงหิมพานต์มีสรรพคุณช่วยลดไข้ ยางจากต้นช่วยแก้อาการเลือดออกตามไรฟัน เปลือกจากต้นช่วยแก้อาการปวดฟัน ใช้กลั้วคอล้างปาก น้ำคั้นจากผลใช้ดื่มเป็นยาขับปัสสาวะได้ ช่วยรักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ด้วยการใช้ใบแก่นำมาบดใส่บริเวณที่เป็นแผล

ในภาคใต้ยังนิยมนำใบอ่อนของมะม่วงหิมพานต์มาเป็นผักกินกับอาหารได้อย่างอร่อย  นำผลมาทำเป็นอาหารได้หลากหลายชนิด และนำเมล็ดไปอบ เพื่อทานเป็นของว่างกินเล่นได้อย่างดีอีกด้วย  สนใจสั่งซื้อมะม่วงหิมพานต์ ติดต่อได้ที่นายมนัส  สัจจสุจริตกุล หมายเลขโทรศัพท์  087-9114068 


ภาพ / ข่าว  ณัฏฐพงษ์ ศรีปล้อง (กระบี่)  / นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ (หาดใหญ่ สงขลา)

กรมประมง เปิดเวทีจัดเสวนา “ความสำเร็จของฟาร์มทะเลและเขตอนุรักษ์สัตว์น้ำ โดยชุมชนมีส่วนร่วมของจังหวัดสงขลา” พร้อมมอบเงินอุดหนุนพัฒนาอาชีพ 15 ชุมชน ประมงท้องถิ่นและปล่อยกุ้งกุลาดำ กว่า 1 ล้านตัว ลงทะเลสาบสงขลา

หาดจันทร์สว่าง (หาดปลาไก่) ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา กรมประมงจัดพิธีเปิดโครงการเสวนาสร้างเครือข่ายองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นระดับจังหวัด ในหัวข้อ “ความสำเร็จของฟาร์มทะเลและเขตอนุรักษ์สัตว์น้ำ โดยชุมชนมีส่วนร่วมของจังหวัดสงขลา” โดย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้ นายเดชอิศม์ ขาวทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 5 สงขลา เป็นประธาน มีนายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง พร้อมด้วยนายปัญญา จินดาวงศ์ นายอำเภอสิงหนคร ข้าราชการ คณะครูและนักเรียน รวมถึงพี่น้องชาวประมงจาก 15 ชุมชนในพื้นที่ จำนวนกว่า 500 คน เข้าร่วม

นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มาตรา 25 ว่าด้วยเรื่องของการส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสนับสนุนชุมชนประมงท้องถิ่นในการจัดการ การบำรุงรักษา การอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนจากทรัพยากรสัตว์น้ำภายในที่จับสัตว์น้ำในเขตประมงทะเลชายฝั่ง โดยกำหนดให้กรมประมงดำเนินการให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนในเรื่องการมีส่วนร่วม การรวมกลุ่ม การให้คำปรึกษาแก่ชุมชน การเผยแพร่ความรู้ในการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมของชุมชน ฯลฯ ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กรมประมงได้ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นด้านชายฝั่งไปแล้วกว่า 459 ชุมชน เช่นโครงการพัฒนาอาชีพและเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนประมงพื้นบ้าน , โครงการสร้างความเข้มแข็งกลุ่มการผลิตด้านการเกษตร , โครงการพัฒนาอาชีพและส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนประมง

กรมประมงจึงกำหนดจัดโครงการเสวนาสร้างเครือข่ายองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นระดับจังหวัด ช่วงระหว่างเดือนมีนาคม - สิงหาคม 2564 ในพื้นที่ 23 จังหวัดชายทะเล เพื่อสร้างเครือข่ายชุมชนประมงท้องถิ่นให้เกิดความเข้มแข็ง องค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์และบทเรียนจากการดำเนินงานพัฒนาอาชีพและเสริมสร้างความเข้มแข็งชองชุมชนประมงชายทะเล และแนวทางการขับเคลื่อนเสริมสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมขององค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นในการบริหารจัดการประมงทะเลอย่างยั่งยืน อีกทั้ง เป็นการกระชับความสัมพันธ์ความร่วมมือระหว่างชุมชนกับเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรชุมชน

สำหรับกิจกรรมในวันนี้ ภายในงานมีการเสวนา ในหัวข้อ “ความสำเร็จของฟาร์มทะเลและเขตอนุรักษ์สัตว์น้ำ โดยชุมชนมีส่วนร่วมของจังหวัดสงขลา” พิธีมอบเงินอุดหนุนพัฒนาอาชีพ 15 ชุมชน กิจกรรมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ ได้แก่ กุ้งกุลาดำ จำนวน 1 ล้านตัว โดยปล่อยในทะเลชายฝั่งบริเวณหาดจันทร์สว่าง และขบวนคาราวานเรือประมงพื้นบ้าน จำนวน 20 ลำ ยังได้นำกุ้งกุลาดำ (500,000 ตัว) ไปปล่อยในเขตอนุรักษ์และเขตสร้างแหล่งอาศัยสัตว์น้ำของชุมชนอีกด้วย อีกทั้งยังมีการมอบพันธุ์สัตว์น้ำให้แก่ผู้แทนองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น จำนวน 10 ชุมชน เพื่อนำไปบริหารจัดการเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติของชุมชนให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ ชาวประมงพื้นบ้านสามารถเข้าถึงทรัพยากรสัตว์น้ำได้อย่างทั่วถึงทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น มีคุณภาพที่ดีขึ้นจากการประกอบอาชีพประมง และชุมชนประมงเกิดความเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้

นอกจากนี้ ยังมีการจัดนิทรรศการให้ความรู้ทางการประมงมากมาย อาทิ มาตรฐานประมงพื้นบ้านยั่งยืน มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรในอ่าวไทย เขตทะเลหลวง เขตทะเลชายฝั่ง การบริหารจัดการทรัพยากรประมงโดยใช้แนวทางระบบนิเวศ การตลาด (ปลากะพง) โรคสัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากชาวประมง อีกด้วย

ทั้งนี้ การดำเนินโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์และบทเรียนจากการดำเนินงานพัฒนาอาชีพและส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนประมงชายทะเล เสริมสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมขององค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น ระหว่างภาคประชาชนกับภาครัฐ ภายใต้บริบทและวิถีของชุมชน เกิดความมั่นคงในอาชีพประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืน หวังเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความเข้มแข็งให้กับพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านทั้ง 23 จังหวัด เกิดการมีส่วนร่วมในการบริหารทรัพยากรประมงของชุมชน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยให้เกิดความยั่งยืนของอาชีพประมงภายใต้ความยั่งยืนของทรัพยากร ตามนโยบายที่ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เน้นย้ำให้กรมประมงบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ควบคู่ไปกับคุณภาพชีวิตที่ดีของพี่น้องชาวประมง


ภาพ/ข่าว : นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์  หาดใหญ่ สงขลา

ผู้บังคับกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดน ที่ 446 นำกำลังพลลาดตระเวนตรวจสอบป่าต้นน้ำ แม่น้ำสุไหงโก-ลก

พ.ต.ท.อเนชา ตาวันผู้บังคับกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 446 อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาสพร้อมร.ต.ต.สมยศ หนูเอียดหัวหน้าชุดเฝ้าตรวจชายแดน 4408 พร้อมกำลังพล 4407 และ 4408 ร่วมลาดตระเวนตรวจสอบป่าต้นน้ำแม่น้ำสุไหงโก-ลกและลาดตระเวนสำรวจหลักเขตแดนที 72 ณ.หมู่ที่ 2 บ้านภูเขาทอง ตำบลภูเขาทอง อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาสและพักค้างแรม 1 คืนทีบริเวณหลักเขตแดนที่ 74            

วัตถุประสงค์ของการลาดตระเวนตรวจสอบป่าต้นน้ำในครั้งนี้เพื่อดูแลการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าและขบวนการพาคนข้ามเขตแดน แรงงานต่างด้าวและคนไทยทีติดอยู่ในประเทศมาเลเซียเข้ามาและเพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อโรคไวรัสโควิค 19 อีกด้วย


ภาพ/ข่าว : แวดาโอ๊ะ หะไร นราธิวาส

นักเรียนสตูล เนรมิตผืนดินร้างในโรงเรียน เป็นทุ่งทานตะวันแห่งการเรียนรู้ เชื่อมโยงการท่องเที่ยวในชุมชนสร้างรายได้

วันนี้ 22 มีนาคม 2564 นักเรียน ครู รวมถึงผู้ปกครอง กำลังสนุกสนาน เพลิดเพลินกับการถ่ายรูปกับทุ่งทานตะวันที่ชูช่อดอกเหลืองอร่าม ท้าแสงแดด บนพื้นที่ 2 ไร่ บริเวณหน้าโรงเรียนบ้านาท่าแลหลา  ต.กำแพง  อ.ละงู  จ.สตูล สร้างความสุข และเกิดการเรียนรู้ของนักเรียนภายใต้แนวคิด  การจัดกระบวนการเรียนการสอน และการบริหารจัดการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง บนหลักการความคุ้มค่า  "ทุกตารางเมตรคือแหล่งเรียนรู้"

โดยแปลงทานตะวันแห่งนี้เกิดขึ้น  โดยคณะครู และนักเรียนต้องการให้ทุกพื้นที่ของโรงเรียนใช้ประโยชน์ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งฝึกทักษะอาชีพ ฝึกนิสัยความรับผิดชอบ การช่วยเหลือกัน การทำงานเป็นทีม และเป็นส่วนหนึ่งของแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน แปลงทางตะวันแห่งนี้ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือ ของนักเรียน คณะครู และผู้บริหาร โดยนักเรียนแต่ละชั้นเรียนร่วมกันรับผิดชอบ  ตั้งแต่กกระบวนการแรก พรวนดิน  ลงเมล็ดพันธุ์  รดน้ำ ดูแลจนเบ่งบานสวยงาม  ผ่านกิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ โดยได้รับการสนับสนุนจากชุมชน และองค์การบริหารส่วนตำบลกำแพง

นายสนั่น หวันสมัน ประธานคณะกรรมการสถานศึกษา โรงเรียนบ้านท่าแลหลา กล่าวว่า เดิมทีโรงเรียนแห่งนี้ พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ว่าง ทางคณะกรรมการสถานศึกษาคณะครูผู้ปกครองมีแนวคิดว่าโรงเรียนแห่งนี้น่าจะเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับ ลูก ๆ หลาน ๆ ของเราในชุมชน พร้อมทั้งผู้ปกครองที่เข้ามามีส่วนร่วมในโรงเรียน ทุกตารางเมตรของโรงเรียนคือแหล่งเรียนรู้โดยเฉพาะพื้นที่ว่างเปล่า เราจึงปลูกดอกไม้เพื่อให้เด็กมีความรับผิดชอบ ในโรงเรียนร่วมกัน ร่วมกันใช้ประโยชน์ในพื้นที่ใช้สอยเพราะโรงเรียนของเราเป็นพื้นที่ว่างเปล่าไม่เยอะแต่ทุกตารางเมตรก่อให้เกิดประโยชน์ ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง

ในส่วนของพื้นที่ตรงนี้ทางองค์การบริหารส่วนตำบลก็เข้ามามีส่วนร่วม เป็นจุดเช็คอิน  เพื่อดึงคนจากภายนอกมาเที่ยวในชุมชนในตำบลของเราได้ด้วย  ตรงนี้เราไม่ได้เรียกร้องขอค่าบริการต่าง ๆ  แต่ในส่วน ของผู้มีจิตศรัทธา ก็ร่วมกันบริจาคสมทบทุนเพื่อให้กับลูกหลานในชุมชนในโรงเรียนเพื่อเป็นค่าดูแลได้ สำหรับดอกทานตะวันนี้จะแบ่งบานยาวไปจนถึงช่วงสงกรานต์ ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมได้ทุกวันฟรี

รวมทั้งทางโรงเรียนเองนั้นต้องการที่จะเชื่อมโยงการท่องเที่ยวในพื้นที่ เพื่อให้หมู่บ้านบริเวณรอบ ๆ โรงเรียนมีรายได้  รวมทั้งตำบลกำแพงนี้มีการท่องเที่ยว และการทำของฝากหลาย ๆ จุด และจะนำโรงเรียนแห่งนี้เป็นจุดเส้นทางการมาเที่ยวอีกด้วย เพราะปัจจุบันนี้ ของฝากในพื้นที่ทั้งขนม และสิ่งของขายได้จากนักท่องเที่ยวเดือน ๆ หนึ่งได้ 3,000 – 10,000 บาท หากมีดอกทานตะวัน ยิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาอีกด้วย


ภาพ/ข่าว  นิตยา แสงมณี  ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดสตูล

“ดาวม็อบ” แสงสว่างจากธรรมศาสตร์

ปีนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีอายุครบ 87 ปี แต่ดูเหมือนช่วง 2-3 ปีหลังมานี้ ‘ธรรมศาสตร์จะร้อนแรง’ เป็นพิเศษ อย่างที่หลายคนติดตามข่าวสาร ไม่ว่าจะเป็นม็อบสารพัดม็อบก็ดี เหล่าแกนนำม็อบก็ดี อาจารย์ และรวมถึงผู้สนับสนุนจากหลายฝั่งหลายฝ่ายก็ดี พอเชื่อมโยงกันให้ดี ๆ อ้าว ! ถนนทุกสาย วิ่งเข้า วิ่งออก จากคำว่า ‘ธรรมศาสตร์’ แทบทั้งสิ้น ?!

เสมือนเป็น ‘โมเดลลิ่งการเมือง’ ดาวม็อบจากคณะนั้น อาจารย์ผู้เป็นแนวหลังจากคณะนี้ หรือศิษย์ผู้พี่ที่คอยให้กำลังใจจากคณะโน้น และอีกบลา ๆ ๆ

มันอาจจะร้อนแรงดี สำหรับคนกลุ่มหนึ่ง แต่มันก็เป็นเครื่องหมายคำถาม สำหรับคนอีกหลาย ๆ กลุ่ม ที่ต่างตั้งคำถามกลับมาระดับเบา ๆ ถึงหนักมาก ‘ที่นี่เป็นมหาวิทยาลัย บ่มเพาะการศึกษาเป็นพื้นฐาน แต่ที่กำลังทำและเป็นอยู่นั่น มันคืออิหยัง ?’

เรื่องทุกอย่างล้วนมีที่มา เมื่อมีผล ก็ต้องมีเหตุ ย้อนกลับไปเดย์วัน หรือวันแรกของการก่อตั้งมหาวิทยาลัย ด้วยชื่อก็ชัดเจนในตัวระดับหนึ่ง แต่เดิมชื่อของมหาวิทยาลัย คือ ‘มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง’ ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2477 จากเจตนารมย์ของ ศ.ปรีดี พนมยงค์

ในครั้งนั้น ทั้งอาจารย์ปรีดี และคณะราษฎร มีมุ่งหมายที่จะ ‘ยกระดับ’ การศึกษาของประชาชน เพื่อให้สอดคล้องกับระบอบการปกครองของประเทศที่เพิ่งเปลี่ยนใหม่ ดังตามประกาศของคณะราษฎร บางท่อนบางตอนที่ว่า ‘การที่ราษฎรยังถูกดูหมิ่นว่ายังโง่อยู่ ไม่พร้อมกับระบอบประชาธิปไตยนั้น เป็นเพราะขาดการศึกษา ที่พวกเจ้าปกปิดไว้ไม่ให้เรียนเต็มที่ 

แม้ในช่วงแรก การศึกษาที่ว่า จะมุ่งเน้นที่วิชากฎหมายและการเมือง แต่เป็นเรื่องเข้าใจได้ เพราะในเวลานั้น การจะหาครูบาอาจารย์ หรือที่เรียกว่า ‘ผู้รู้’ นั้น คงไม่ใช่เรื่องง่าย ทว่าต่อมา ในช่วงปี พ.ศ. 2495 ชื่อมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ก็ถูกเปลี่ยน โดยตัดคำว่า วิชา และการเมืองออก เหลือไว้เพียง ‘มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์’ พร้อมการขยับขยายภาควิชาและคณะเรียนให้มากขึ้น

ไม่ว่าเบื้องลึก เบื้องหลัง จะเป็นอย่างไร นั่นเป็นเรื่องของอดีต แต่สิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมคือ เมื่อมีวิชาให้เรียนมากขึ้น ประชาชนก็จะได้รู้มากขึ้น และกว้างขึ้น แต่ถึงกระนั้น ไม่ว่าจะธรรมศาสตร์ชื่อสั้น หรือธรรมศาสตร์ชื่อยาว ภาพที่ถูกติดเอาไว้ เหมือนรักไม่ยอมเปลี่ยนแปลง นั่นก็คือ การเมือง

ธรรมศาสตร์ กับ การเมือง อยู่คู่กันมาอย่างแยกไม่ออก

ไม่แปลก หากจิตวิญญาณของการสร้างแต่แรกเริ่ม จะยังคงอบอวลอยู่ในสถานที่แห่งนี้ มองในมิติกลับกัน การมีสถานที่ที่เป็นอัตลักษณ์สำคัญให้กับเรื่องใด ๆ ถือเป็นความสำเร็จของผู้สร้าง และกับสถานที่แห่งนั้น รวมทั้งกับคนรุ่นหลังไว้เพื่อศึกษา

เพียงแต่ เมื่อเวลาผ่านไป ภาพที่ติดกับมหาวิทยาลัย กลับถูกนำไปใช้ในบริบททางการเมืองอีกมากมาย ดีร้ายสลับกันไปอย่างแยกไม่ออก แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดและแข็งแรงขึ้นเรื่อย ๆ คือ ‘แบรนด์ธรรมศาสตร์‘ ที่ผูกติดกับการเมือง หากว่ากันในโลกการตลาด ถ้าแบรนด์แข็งแรง จะหยิบจับโฆษณาอะไรก็ทำได้โดยง่าย เพียงแต่ปัญหาสำคัญคือ คนที่หยิบจับแบรนด์ไปทำอะไรนั้น เอาไปทำเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองแค่ไหน อย่างไร ?

จึงเป็นที่มาของ ‘ธรรมศาสตร์ร้อนแรง’ ในวันนี้

ประวัติศาสต์ในอดีตมักสะท้อนเรื่องราวอยู่เสมอว่า มีกลุ่มคนไม่กี่คนนักหรอก ที่มักก่อปัญหาให้กับคนหมู่มาก ฉันใดฉันนั้น เวลานี้จึงมีไม่กี่คนนักหรอก ที่กำลัง ‘สุมไฟ’ ให้กับสถาบัน โดยสวนทางเจตนารมย์แรกเริ่ม ในการก่อตั้งขึ้นมาไปสิ้น

‘โง่เพราะขาดการศึกษา...’ แต่พอฉลาดขึ้นมา จึงทำแบบนี้หรือ ?

ปัจจุบัน ‘ธรรมศาสตร์’ มีคณะที่เปิดทำการสอนกว่า 19 คณะ มีวิทยาลัยและสถาบันที่แยกย่อยลงไปอีกมากมาย และประการที่สำคัญ มีบัณฑิตที่ผลิตออกไปนับแสนนับล้านคน คงเป็นการไม่ยุติธรรมเอาเสียเลย หากคนที่ได้ชื่อว่า เป็นศิษย์ร่วมสถาบัน คนที่ถูกประสิทธิ์ประสาทวิชาจากสถาบันแห่งนี้ คนที่เดินออกไปทำคุณประโยชน์ให้กับสังคมในบริบทอื่น ๆ อีกมากมาย จะถูกปรามาสว่า เป็นธรรมศาสตร์แบบเดียวกัน

แม้ ‘การเมือง’ จะเป็นเรื่องของทุกคน แต่เรา หรือแม้แต่มหาวิทยาลัย ก็ไม่จำเป็นต้องมี ‘การเมือง’ อยู่ตลอดเวลา เพียงแต่แค่รู้ว่า หน้าที่อันจริงแท้นั้น ควรทำอะไร และวางบทบาทอย่างไรให้ถูกที่ ถูกเวลา และเหมาะสมตามบริบทสังคม

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีอายุ 87 ปี โลกหมุนรอบตัวเองมา 31,755 รอบ มีผู้คนหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านสถานที่แห่งนี้มานับไม่ถ้วน วันนี้ชาวธรรมศาสตร์เชิดหน้ามองตึกโดม ที่ผ่านวันเวลาและความปวดร้าวทางการเมืองมาหลายต่อหลายครั้ง ตึกเก่าหลังแรกของสถาบันยังคงอยู่ คนต่างหากที่เปลี่ยนไป ไม่มีอะไรจีรัง แม้แต่การเมือง...

กาฬสินธุ์ พายุฤดูร้อน หอบลูกเห็บพัดถล่มหลายพื้นที่ เร่งสำรวจช่วยเหลือ

เกิดพายุฤดูร้อนลมหมุนและลูกเห็บตกในหลายพื้นที่ใน จ.กาฬสินธุ์ โดยเฉพาะบริเวณจัดงานมหกรรมโปงลาง แพรวา และงานกาชาดในตัวจังหวัด ความแรงของพายุพัดเต้นท์ ร้านค้าได้รับความเสียหาย โชคดีไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ขณะที่หลายอำเภอเกิดฝนตกหนัก และลูกเห็บตก ด้านผู้ว่าฯกาฬสินธุ์สั่งให้ปภ.กาฬสินธุ์ และทุกอำเภอเร่งสำรวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือ

เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 21 มีนาคม 2564  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกิดลมพายุฤดูร้อนพัดผ่านเข้ามาในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งความแรงของพายุ นอกจากจะมีลมกระโชกแรงแล้ว ยังเกิดฝนตก และลูกเห็บตกในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณสนามหน้าศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ (หลังเก่า) ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานมหกรรมโปงลาง แพรวา และงานกาชาด จ.กาฬสินธุ์ ประจำปี 2564 โดยแรงลมได้พัดเต้นท์ ร้านค้า โต๊ะ เก้าอี้ ล้มระเนระนาด โชคดีที่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือผู้เสียชีวิต ส่วนสินค้า สิ่งของ ได้รับความเสียหายบางส่วน

สอบถามพ่อค้าซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ เล่าว่าก่อนเกิดเหตุมองเห็นท้องฟ้าสีแดง ก่อนที่จะมีลมหมุนพัดเข้ามา แต่ไม่มีฝนตก ซึ่งความแรงของลมพัดเอาเต้นท์ ร้านค้า โต๊ะ เก้าอี้ ที่อยู่ในงานพังเสียหาย ส่วนพ่อค้าแม่ค้า และประชาชนที่กำลังเดินในงานก็พากันวิ่งหลบเข้าที่ปลอดภัย ซึ่งเกิดมาไม่เห็นลมหมุนที่พัดแรงขนาดนี้ 

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าในห้วงเวลาเดียวกัน นอกจากในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ จะเกิดพายุลมพายุแรงแล้ว ยังมีรายงานว่าในพื้นที่หลายอำเภอ เช่น อ.กุฉินารายณ์  อ.ยางตลาด อ.เขาวง อ.กมลาไสย โดยเฉพาะที่อนุบาลโรงเรียนบ้านขมิ้น อ.สมเด็จ ซึ่งหลังคาอาคารเรียนถูกความแรงของพายุพัดและหอบหลังคาปลิวว่อน ได้รับความเสียหาย ทั้งนี้ ยังมีรายงานเพิ่มเติมว่า อิทธิพลของพายุฤดูร้อนที่เกิดขึ้นในช่วงดังกล่าว โดยเกิดกระแสลมกระโชกแรง ฝนตก และลูกเห็บตกเป็นบริเวณกว้าง โดยที่ อ.เขาวง มีลูกเห็บตกและลมพัดแรง ทั้งนี้จากพายุดังกล่าวทำให้บ้านเรือนราษฎรได้รับความเสียหาย ต้นไม้หักโค่น หลายครัวเรือนหลายอำเภอ

โดยล่าสุดนายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ กำชับให้นายธนทร ศรีนาค หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.กาฬสินธุ์ พร้อมนายอำเภอทุกอำเภอที่เกิดพายุ ประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เร่งสำรวจความเสียหาย พร้อมทั้งเข้าให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนแล้ว


ภาพ/ข่าว : ณัฐพงษ์ ประชากูล กาฬสินธุ์

จุดยืนที่ “ยืนเอง” หรือมีใคร “ชี้จุดยืน” ?

แม้จะผ่านมาแล้วหลายยุค หลายสมัย แต่คำถามตัวใหญ่ๆ ที่มักเกิดขึ้นกับ 'มหาวิทยาลัย' และ 'นักศึกษาธรรมศาสตร์'  คือ การถูก 'ตีตรา' ว่าเป็นกลุ่มเด็กหัวรุนแรงบ้าง หัวก้าวหน้าบ้าง ไม่รักชาติบ้านเมืองบ้าง หรือคิดย้อนแย้งกับบริบทของสังคมและวัฒนธรรมไทยในช่วงหนึ่งๆ บ้าง 

ในความเป็นจริงแล้ว ถ้าจะพูดให้ถูกนี่ไม่ควรเป็นการตีตราใส่  'ผ้าขาวบาง' ที่มี 'ความเป็นอิสระ'  ซึ่งพร้อมคิดต่าง เพราะหากมองในแง่บวก นี่คือหัวคิด ที่กล้าคิดกระตุกสังคมไทยแบบที่คัมภีร์ประชาธิปไตยได้กางไว้ให้เดินตาม

และส่วนตัวมองว่านี่ก็คือจุดเด่นของ 'เด็กธรรมศาสตร์' ที่มีเลือดประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัย 14 ตุลาคม 2516 / 6 ตุลาคม 2519 ไหลเวียนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการออกมาพูดเรื่องการปฏิรูประบบการเมือง สถาบันพระมหากษัตริย์ การศึกษา และอีกมากมาย ถือเป็นเรื่องอันดี ในยุคที่สังคมไทยมัวแต่ 'ถนอมน้ำใจ' กันแบบไม่รู้จบ

และหากพวกเขาเหล่านี้ ลุกออกมาแสดง 'จุดยืน' ทางความคิด แต่คนเห็นต่างกลับไปจำกัดความคิด อันนี้น่าจะเรียกว่า 'สังคมใจแคบ' เสียมากกว่าด้วย

อย่างไรก็ตาม มีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ในหลากหลายเหตุการณ์ที่ธรรมศาสตร์ 'มีซีน' ในสังคม มาพร้อมกับทิศของประชาธิปไตยบนจุดยืนแบบ 'ปัญญาชน' แท้จริงมากเพียงใด...

หากใครเห็นต่าง คือ ศัตรู ใครเชียร์ตรู คือ พวกพ้อง...ทำไมจึงเกิดมิติเหล่านี้เกิดขึ้นกับเมล็ดพันธุ์แห่งอนาคต ที่ช่วงแรกหลากหลายชนชั้นในสังคมชื่นชมและแอบเชียร์ห่าง ๆ อันนี้คือคำถามตัวโตๆ

ว่ากันตามตรงภายใต้รั้วแม่โดม คงมิได้มีแค่กลุ่มเด็กนักศึกษา แต่มีเหล่าคณาจารย์ / กลุ่มคนที่เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากความพ่ายแพ้ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง และขณะเดียวกันก็มีก้อนเนื้อทางการเมืองที่แสดงจุดยืนบางประการ คอยตีลู่ให้อนาคตของชาติเดินทางหรือไม่ ?

การแสดงออกเชิงก้าวร้าว ตาต่อตา ฟันต่อฟันสไตล์วัยกระเต๊าะ ที่ไม่ควรเกิด มันมาจาก 'จุดยืน' ของเด็กเอง หรือ 'จุดยืน' ของใคร ?

ครั้งหนึ่งเคยมีโอกาสได้คุย สุริยะใส กตะศิลา อดีตแกนนำพันธมิตร ที่วันนี้ผันตัวไปเป็นอาจารย์ในรั้วมหาวิทยาลัยรังสิต

หากลองคิดตามแบบไม่อคติ สิ่งที่ สุริยะ พูดถึงภาพสถาบันการศึกษาแบบไม่เอ่ยสถาบันนั้น น่าสนใจมาก !!

เขาเล่าว่า บทเรียน และประวัติศาสตร์ ทางการเมือง ถูกย้อมด้วยอุดมการณ์กลุ่มบุคคลที่เรียกได้ว่าครูและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การต่อสู้ที่ล้มเหลวทางการเมืองในยุคตัวเองอย่างเข้มข้น หล่อหลอมจนเป็น 'มายาคติ' ให้เด็กในคลาสผูกพัน

โอ้ !! ถ้าเป็นเช่นนั้น น่ากลัวนะ

เพราะหากเป็นเช่นนั้น หมายความว่า 'ซีน' ที่เกิดขึ้นบนเวทีการต่อสู้ทางการเมืองของเด็กรุ่นใหม่ยุคนี้ มันอาจจะไม่ได้มาจาก 'จุดยืน' ของเด็กทั้งหมด แต่ทั้งหมดมาจาก 'จุดยืน' ของใครที่โหดเหี้ยมในการลากเด็กเข้าไปเป็นแขนขาให้ตนแข็งแรงขึ้น

ดร.กิตติธัช ชัยประสิทธิ์ อาจารย์ด้านสถาปัตยกรรม สอนพิเศษด้านปรัชญาการเมือง เคยเล่าว่า เรื่องนี้มันเป็นภาพแบบ 'เดจาวู' โมเดลการเมืองที่เคลื่อนไหวในยุคนี้มันมีมาแล้ว แค่เปลี่ยนตัวละครจากประเทศจีน เป็นประเทศไทย

โดยมีกลุ่มบุคคล ที่เข้ามาปั่นให้คนเกลียดชัง ดูถูก เหยียดหยามกัน ปลุกปั่นให้มวลชนคิดว่าตนเองเป็นคน ‘ หัวก้าวหน้า ’ กว่าคนอื่นในประเทศ แล้วคิดว่าประเทศไม่ก้าวหน้าเพราะมีพวกคนแก่ฉุดรั้ง ต้องจัดการทิ้งไปให้หมด (ทั้ง ๆ ที่คนปลุกปั่นก็ ‘ หงอก ’ พอ ๆ กัน)

โมเดลการเมืองที่ปั่นให้เด็กวัยรุ่นเกลียดชังผู้ใหญ่ เกลียดครูบาอาจารย์ที่คิดต่าง เกลียดพ่อแม่ ถึงขั้นหากทำร้ายหรือทำให้อับอายได้ (เมื่อตนมีอำนาจ) ก็พร้อมจะทำ เพราะมันรู้สึก 'เท่ห์' และมองว่าคนจาก 'โลกเก่า' หรือ 'ล้าหลัง' คือพวกฉุดรั้งสังคม

โมเดลแบบนี้ เกิดขึ้นกับจีนในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม (Cultural Revolution) ระหว่างปี 1967 - 1977 ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร

เพราะสุดท้ายพอหมดช่วงนั้น ทุกคนก็ตาสว่าง แกนนำก็โดนจับ โดนประหาร เด็กวัยรุ่นจีนในวันนั้น วันนี้อายุ 60 - 70 ปี ก็พยายามลืม ๆ ไม่พูดถึงความผิดพลาดที่ตัวเองเคยตกหลุมพราง 'จุดยืน' ที่อาจจะไม่ใช่ของตนในช่วงนั้นอย่างถ่องแท้

เยาวชนในรั้วการศึกษา ณ วันนี้ เหมือนเครื่องมือชั้นดีของกลุ่มที่มี 'จุดยืน' ที่เคยล้มเหลว แล้วเฝ้ารอวันรื้อหรือเปลี่ยนประวัติศาสตร์การเมืองไทยและการเมืองโลก ให้รู้ในมุมที่จำกัดกับผลประโยชน์ในมุมตนเอง แล้วเด็ก ๆ ก็พร้อมคล้อยตามอย่างเพลิดเพลินเป็นตุเป็นตะ

ยกตัวอย่างให้พอขำจากเด็ก ๆ ที่พอได้เคยคุยกันมาบ้าง หลายคนยัง 'ตาใส' ใส่เหตุการณ์กีฬาสี (เหลือง - แดง) และมองว่าการถูกน้ำแรงดันฉีดจนขาถ่างของม็อบคณะราษฎร เป็นการกระทำที่เลวร้ายของประวัติศาสตร์ไทย ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้าช่วงกีฬาสี เขาฉีดกระสุนจริง ปาบึ้มใส่กันจนไส้แตก เด็ก ๆ ก็แค่ทำ 'ตาใส' ใส่ซ้ำอีกรอบ

หรือแม้แต่การตั้งคำถามว่า สถาบันกษัตริย์ มีไว้เพื่ออะไร ทั้ง ๆ ที่ในช่วงอายุ ก็มิได้ทราบและไม่สืบแสวงหาความเป็นมา แล้วปล่อยความคิดที่ยึดไปตาม 'ความคิด' ให้ผู้อื่นชักจูง ทำร้ายจิตใจคนไทยที่รับรู้ดีว่าตลอดช่วงพระชนม์ชีพของสถาบันทรงทำสิ่งใดไว้เพื่อคนไทย

นี่คือ 'จุดยืน' ที่มาพร้อมความเบือนบิดหรือไม่ ? (ไม่มีคำตอบให้ หากสุดท้ายคนรุ่นใหม่มักบอกว่าตนมีความคิดอยู่แล้ว)

อย่างไรเสีย ความคิดของเด็ก ก็เป็นเหมือนผ้าขาว อยู่ที่ใครจะป้ายอะไรเข้าไปใส่ เขาคงไม่ได้จ้องจะอาฆาตแค้น หรือไม่ได้ต้องการจะรื้อถอนโครงสร้างใด ๆ ของสังคมไทย อันนี้เป็นเรื่องที่การันตีได้ 100%

พวกเขาแค่อยากตั้งคำถาม แล้วก็อยากเห็นสังคมไทยที่เขารักดีกว่าเดิม

เพียงแต่มันก็อยู่ที่ว่า 'จุดยืน' ของพวกเขา อยู่บน 'ความคิด' ของเขาแค่ไหน แล้วจุดยืนนั้น ๆ มาจากการคิดพิจารณาข้อมูล เหตุการณ์ ประวัติศาสตร์แบบรอบด้านจริงแท้เพียงใด ?

อันนี้ก็ยากจะให้คำตอบอีกเช่นกัน...


อ้างอิง:

https://www.thaipost.net/main/detail/74529

เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี เตรียมพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวในเทศกาลสงกรานต์ มั่นใจระบบมาตรการป้องกันโควิด – 19

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2564 เมื่อเวลา 15.00 น. สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) โดยสำนักงานเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี จัดแถลงข่าว การเตรียมความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวของเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยได้รับเกียรติจาก นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการแถลงข่าว ณ เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี 

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เนื่องจากเทศกาลสงกรานต์ในปีนี้ ยังอยู่ในช่วงการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ของจังหวัดเชียงใหม่อยู่ในระดับที่ปลอดภัย แต่ก็ยังคงต้องดำเนินการตามมาตรการป้องการการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มงวด ซึ่งเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยการนำกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ชนิดตรวจวัดอุณหภูมิความร้อนมาติดตั้งบริเวณทางเข้า เพื่อคัดกรองนักท่องเที่ยวก่อนการเข้าพื้นที่ รวมทั้งการแสกน QR Code ไทยชนะ การติดตั้งจุดบริการแอลกอฮอล์ในทุกพื้นที่รอบบริเวณ ฉีดพ่น และเช็ดถูทำความสะอาดรถให้บริการ และจุดให้บริการต่าง ๆ แก่นักท่องเที่ยว ทุก ๆ 2 ชั่วโมง รวมทั้งการเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 - 2 เมตร และการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวในการเข้าพื้นที่ โดยจะต้องลงทะเบียนก่อนการเข้าเที่ยวชมทุกครั้ง

โดยการเข้ามาตรวจเยี่ยมพื้นที่ของเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีในครั้งนี้ ได้เข้าดูกิจกรรม Behind the zoo และการให้บริการในพื้นที่เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ซึ่งคาดว่าในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์นี้จะมีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจเข้าเที่ยวชมจำนวนมาก ขอให้นักท่องเที่ยวมั่นใจในมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ของเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี และที่สำคัญต้องขอความร่วมมือนักท่องเที่ยวในการลงทะเบียนก่อนการเข้าเที่ยวชม เพื่อเป็นช่วยกันป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด - 19 อีกทางหนึ่ง

และสำหรับการเตรียมความพร้อมการจัดกิจกรรมวันสงกรานต์ของเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีในปีนี้ นอกจากการเน้นย้ำเรื่องมาตรการความปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว ยังเน้นการจัดงานในรูปแบบการสืบสานและอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นร่วมกับชุมชน ให้นักท่องเที่ยวได้ร่วมเรียนรู้และลงมือทำ ผ่านกิจกรรมการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ อาทิ การตัดตุง การพับดอกใบเตย การจัดซุ้มสรงน้ำพระ การจัดจุดถ่ายภาพรดน้ำดำหัวตามประเพณีสงกรานต์ลานนา การจัดกาดหมั้วชุมชน เป็นต้น และกิจกรรมอื่นๆ ที่สร้างสีสันการท่องเที่ยว โดยจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 9 - 17 เมษายน 2564 นี้

นอกจากนี้ เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีได้ร่วมมือกับสายการบินไทยสมายล์, แอร์เอเชีย, นกแอร์, เวียตเจ็ท และไลอ้อน แอร์ มอบของขวัญพิเศษให้แก่นักท่องเที่ยว กับกิจกรรม “บินลัดฟ้าสู่ล้านนา” ตลอดเดือนเมษายนนี้ ซึ่งในระหว่างวันที่ 1 - 30 เมษายน 2564 มอบส่วนลด 20% และพิเศษสุดสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาในช่วงวันสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 10 - 16 เมษายน 2564 ที่เดินทางมากับสายการบินไทยสมายล์, แอร์เอเชีย, นกแอร์, เวียตเจ็ท และไลอ้อน แอร์ เพียงแสดงบัตรโดยสาร หรือ Boarding Pass ที่เดินทางมาจังหวัดเชียงใหม่ ภายใน 7 วัน พร้อมบัตรประชาชน รับส่วนลด 50% ในการเที่ยวชมเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี

และมอบแพ็กเกจ “ราคาเดียวได้เที่ยวได้พัก” ให้แก่นักท่องเที่ยวที่ต้องการมาพักผ่อนและสัมผัสบรรยากาศแบบธรรมชาติ โดยมอบราคาพิเศษที่พักเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี รีสอร์ท ในราคา 999 บาท พร้อมบัตรเข้าชมฯ 2 ท่าน โดยแสดงบัตรโดยสาร หรือ Boarding Pass พร้อมบัตรประชาชน โดยจุดหมายปลายทางในบัตรโดยสารต้องเป็นจังหวัดเชียงใหม่ ภายใน 7 วัน (นับจากวันที่มาถึง) และสงวนสิทธิ์การจองล่วงหน้า

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี โทร. 053 - 999000 หรือ Line@ : nightsafari, Facebook: เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี Chiang Mai Night Safari


ภาพ/ข่าว : นภาพร ขัติยะ เชียงใหม่

เชียงใหม่ เปิดโครงการพัฒนา และฝึกอบรมหลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุ สำหรับมัคคุเทศก์ ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 รุ่นที่ 1

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2564 รองศาสตราจารย์  ดร.ชรินทร์ เตชะพันธ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้เกียรติ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการพัฒนาและฝึกอบรมหลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุสำหรับมัคคุเทศก์ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) รุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 22 มีนาคม – 2 เมษายน 2564  ณ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธานี แก้วธรรมานุกูล คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมด้วย  แขกผู้มีเกียรติจากหน่วยงานผู้สนับสนุนโครงการ และเครือข่ายพันธมิตร ได้แก่ ผศ. สุรพงษ์ เลิศทัศนีย์ ที่ปรึกษาอาวุโสโครงการเมดิโคโพลิสเชียงใหม่ ภายใต้ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) , นายมานพ แซ่เจีย นายกสมาคมมัคคุเทศก์เชียงใหม่ , นายพัลลภ แซ่จิว ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชียงใหม่ , ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ และสมาคมสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่

รองศาสตราจารย์ ดร.ชรินทร์ เตชะพันธ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า เซ็กชั่นที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) มากที่สุดก็คือ เช็กชั่นการท่องเที่ยว กลุ่มมัคคุเทศก์ ซึ่งเดิมมีอาชีพหลักอยู่ก็ทำให้ได้รับผลกระทบในระยะยาว  ยังคิดว่าในระยะ 1 ปียังไม่พลิกฟื้นที่สมบูรณ์ เพราะฉะนั้นจำเป็นที่จะต้องหาทางเลือกในการประกอบอาชีพให้เขา ประกอบกับทาง TCELS  สนับสนุนในเรื่องงบประมาณในการฝึกอบรมการดูแลผู้สูงอายุ ก็มองเป้าหมายมาที่กลุ่มของมัคคุเทศก์ก่อน เพื่อจะบรรเทาความเดือดร้อนจากผลกระทบโควิด 19

และเป็นการเตรียมคน เพราะว่าผู้สูงอายุไม่ได้มีเฉพาะคนไทย รวมถึงถ้าการท่องเที่ยวฟื้นกลับมาแบบสมบูรณ์ กลุ่มตลาดท่องเที่ยวใหญ่ที่ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มองเป้าไว้ในเรื่องโครงการเมดิโคโพลิส ก็คือ การทำให้เราเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ กลุ่มหนึ่งก็คือเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เป็นผู้สูงอายุ ฉะนั้นก็จะสอดรับกับกลุ่มมัคคุเทศก์ที่เข้ามา ในการรับการฝึกอบรมในครั้งนี้ ถึงแม้ว่าการท่องเที่ยวฟื้นตัวแล้วเขาไม่ได้ประกอบอาชีพนี้ แต่ท้ายที่สุดมีการท่องเที่ยวของกลุ่มผู้สูงอายุอยู่มัคคุเทศก์ก็สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปที่จะไปดูแลได้  

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธานี แก้วธรรมานุกูล คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า สืบเนื่องจากการบาดของโรคติดต่อทางเดินหายใจของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) ที่ระบาดไปทั่วโลก องค์การอนามัยโลกจึงได้ประกาศให้โรคติดเชื้อดังกล่าวเป็นภาวะฉุกเฉินระดับนานาชาติ (Public health emergency of international concern – PHEIC) ทำให้หลายประเทศออกมาตรการห้ามการเดินทางเข้า - ออกประเทศ โดยเฉพาะนักท่องเทียวจีนซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนสูงสุดที่เดินทางเข้ามาประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมากเนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นตัวแปรสำคัญในโครงสร้างทางเศรษฐกิจ

โดยในปี พ.ศ. 2563 พบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง ถึง 83.21% ส่งผลให้ผู้ประกอบอาชีพมัคคุเทศก์ในเมืองท่องเที่ยว เช่น จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับผลกระทบ และว่างงานเป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่าปัญหาการว่างงานเป็นปัญหาที่สำคัญ และควรบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบอาชีพมัคคุเทศก์อย่างเร่งด่วน เพื่ออุดหนุนให้ผู้ประกอบการและบุคลากรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทุกภาคส่วนให้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในขณะเดียวกันนี้ ประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ในปี พ.ศ. 2564 โดยจะมีประชากรผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป เกินกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวพบเช่นเดียวกันเกือบทุกประเทศทั่วโลก

คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับความไว้วางใจจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (Thailand Center of Excellence for Life Sciences – TCELS) , สมาคมมัคคุเทศก์เชียงใหม่, สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชียงใหม่และเครือข่ายพันธมิตร ให้เป็นผู้ดำเนินการจัดโครงการพัฒนาและฝึกอบรมหลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุสำหรับมัคคุเทศก์ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) รุ่นที่ 1 ขึ้น เพื่อเพิ่มทักษะความรู้ใหม่ด้านการดูแลผู้สูงอายุให้แก่มัคคุเทศก์ เพื่อแก้ไขปัญหามัคคุเทศก์ผู้ว่างงานอันเนื่องมากจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา-19 และเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุโดยบูรณาการความรู้ร่วมกับการให้บริการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยผู้เข้าอบรมจะได้เรียนทั้งภาคทฤษฎี/ภาคปฏิบัติ รวมถึงฝึกปฏิบัติภาคสนาม

สำหรับการจัดโครงการพัฒนาและฝึกอบรมในครั้งนี้ มีมัคคุเทศก์เข้าร่วมการอบรมทั้งสิ้น จำนวน 50 คน จากจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และเชียงราย โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการพยาบาลผู้สูงอายุของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ผศ. สุรพงษ์ เลิศทัศนีย์ ที่ปรึกษาอาวุโสโครงการเมดิโคโพลิสเชียงใหม่ ภายใต้ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า TCELS  ได้มาเริ่มโครงการเมดิโคโพลิสที่เชียงใหม่ เมื่อปลายปี 2562“และทราบจากหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ว่ากลุ่มมัคคุเทศก์ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) ทาง TCELS ก็ได้ไปปรึกษากับทางคณะพยาบาล ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่ามีความเป็นไปได้ไหมที่จะอบรมมัคคุเทศก์ให้มีความรู้เบื้องต้นในการดูแลผู้สูงวัยในระดับเบื้องต้น เพื่อที่จะนำความรู้เหล่านี้ไปช่วยในการดูแลผู้สูงวัย และนักท่องเที่ยว เป็นโครงการแรกที่เริ่มทำในปีนี้ และจะมีโครงการต่อๆไปที่ทำร่วมกับหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยเชื่อมโยงการท่องเที่ยวให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่” 

นายมานพ แซ่เจีย นายกสมาคมมัคคุเทศก์เชียงใหม่ กล่าวว่า เนื่องจากระหว่างที่โรคระบาดโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย และมัคคุเทศก์ก็ยังตกงาน และเพื่อเป็นการให้มัคคุเทศก์ได้เพิ่มทักษะในการดูแลผู้สูงอายุโดยเฉพาะหลังโควิด-19 นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาท่องเที่ยวที่ประเทศไทย  แล้วมัคคุเทศก์กลับมาทำงาน ก็จะได้ความรู้ ประสบการณ์ ทักษะในการดูแลผู้สูงอายุชาวต่างชาติ ซึ่งจะมีผลในด้านความปลอดภัยในสุขภาพของนักท่องเที่ยวในระหว่างที่มาเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่และประเทศไทยซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง

ที่ผ่านมามัคคุเทศก์ก็มีทักษะในการดูแลช่วยเหลือปฐมพยาบาลเบื้องต้นเท่านั้น การอบรมครั้งนี้ก็จะเพิ่มความรู้ให้มัคคุเทศก์ที่สามารถสังเกตและให้ความดูแลนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะผู้สูงอายุชาวต่างชาติเป็นความรู้ที่เราจะสามารถเรียนรู้แล้วไปต่อยอดใช้กับงานด้านมัคคุเทศก์ ทำให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวประเทศไทยแล้วมีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น เพราะมัคคุเทศก์ได้ผ่านการอบรมโครงการผู้ดูแลผู้สูงอายุมาแล้ว


ภาพ/ข่าว  วิภาดา เชียงใหม่


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top