ม.อุบลฯ พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล เปิดตลาดออนไลน์ซื้อ-ขาย ผลิตผลเกษตรอินทรีย์

มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดเวทีนำเสนอความก้าวหน้าและผลการดำเนินโครงการวิจัย “การพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับการจับคู่อุปสงค์และอุปทานสินค้าเกษตรในจังหวัดอุบลราชธานี และ จังหวัดศรีสะเกษ”

โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และหัวหน้าชุดโครงการวิจัย นำทีมนักวิจัยรายงานความก้าวหน้าและผลการดำเนินโครงการวิจัยฯ ดังกล่าว พร้อมทดลองใช้งานแพลตฟอร์มดิจิทัล Omart รับเกียรติจาก นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธาน และตัวแทนหน่วยงานภาครัฐเอกชน และกลุ่มเกษตรกรเกษตรอินทรีย์ เข้าร่วมรับฟังสรุปผล ณ ห้องประชุมปทุมวรราช ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา

รองศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยฯ และหัวหน้าชุดโครงการวิจัย  กล่าวว่าตามที่ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ในการดำเนินโครงการวิจัยฯ เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับการซื้อขายผลิตผลทางการเกษตร (เกษตรอินทรีย์) จับคู่และรองรับการซื้อขายผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์

โดยมีผลผลิตเกษตรอินทรีย์ภายในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี และ จ.ศรีสะเกษ เป็นโครงการนำร่อง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มช่องทางและศักยภาพในการซื้อและขายผลผลิตเกษตรอินทรีย์ แพลตฟอร์มดิจิทัลจะให้สารสนเทศต่าง ๆ ของทั้งฝั่งอุปสงค์ เช่น รายละเอียดเกี่ยวกับเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกร ประเภทผลผลิตที่เพาะปลูก ปริมาณของผลผลิตที่เพาะปลูกได้ วันเวลาในการเก็บเกี่ยวผลผลิต มาตรฐานหรือวิธีการเพาะปลูก ราคาขาย เป็นต้น และฝั่งอุปทาน เช่น ประเภทของผลผลิตที่ต้องการ ปริมาณของผลผลิตที่ต้องการ วันเวลาที่ต้องการผลผลิต ราคาซื้อ เป็นต้น

นอกจากนี้แล้ว แพลตฟอร์มดิจิทัลจะทำหน้าที่ในการจับคู่ระหว่าง อุปสงค์ และอุปทาน โดยนำเสนอผู้ผลิต (อุปสงค์) หรือผู้บริโภค (อุปทาน) ที่เหมาะสม และสอดคล้องกับข้อมูลที่ผู้ใช้ได้ป้อนเข้าไป จากแพลตฟอร์มดิจิทัลที่จะพัฒนาขึ้นมา ในโครงการวิจัยนี้ ผู้ผลิตจะสามารถวางแผน และตัดสินใจในการเพาะปลูกได้อย่างเหมาะสม เนื่องจากมีสารสนเทศเกี่ยวกับความต้องการของผลผลิตเกษตรอินทรีย์ ในขณะที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึง และได้มีผลผลิตเกษตรอินทรีย์

เนื่องจากมีสารสนเทศเกี่ยวกับผู้ผลิตและผลผลิตเกษตรอินทรีย์ แพลตฟอร์มดิจิทัลนี้จะสามารถช่วยให้การซื้อขายผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ได้ในทุกโอกาส รวมถึงในสถานการณ์ที่มีเกิดเหตุภัยพิบัติหรือโรคระบาด ซึ่งโครงการดำเนินการมาแล้วเป็นระยะเวลา 5 เดือน โดยความร่วมมือทีมนักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภฤกษ์ จันทร์จรัสจิตต์ นักวิจัย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า เป้าหมายของโครงการวิจัย เพื่อเป็นจุดศูนย์กลางที่เป็นแหล่งสารสนเทศดิจิทัลที่เชื่อมโยงระหว่างเกษตรกร (ผู้ขาย) และผู้บริโภค โดยเกษตรกรผู้ขายสามารถรวบรวมข้อมูล รายชื่อ แหล่งที่ตั้ง ปริมาณของผลิตผลเกษตรอินทรีย์ เพิ่มข้อมูลกระบวนการผลิต ในระบบสารสนเทศได้ เพื่อเป็นประโยชน์กับทั้งตัวเกษตรกรเองและผู้บริโภคที่สามารถคาดการณ์ และจับจองซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้ โดยรวบรวมข้อมูลกำลังการผลิตผลผลิตทางการเกษตร (เกษตรอินทรีย์) ความต้องการผลผลิตทางการเกษตร และพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับการซื้อขายผลิตผลทางการเกษตร

ทีมวิจัย ได้พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับการซื้อขายสินค้าเกษตร พร้อมทดสอบและปรับปรุงแพลตฟอร์มดิจิทัล ผู้ซื้อ สามารถประกาศซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ต้องการ เลือกสินค้า รวบรวมสินค้าก่อนจะทำการยืนยันและชำระเงิน  ผู้ขาย สามารถเลือกขายสินค้าตามความต้องการ หรือประกาศขายสินค้าของตนเองได้ ทั้งนี้ ผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องลงทะเบียนเข้าใช้งานในระบบ ใช้ที่อยู่ เลขบัตรประชาชน และหมายเลขโทรศัพท์มือถือหรือ ID line ในการยืนยันข้อมูลเพื่อความปลอดภัย เมื่อเป็นสมาชิกแล้วสามารถค้นหาสินค้า แล้วทำการซื้อขายสินค้าได้ "สะดวก สบาย ปลอดสารพิษ ชีวิตมีสุข"

นับเป็นอีกหนึ่งผลงานวิจัยที่สอดคล้องกับพันธกิจมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี “สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่นำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภูมิภาคลุ่มน้ำโขง” และยุทธศาสตร์ที่ 2 “สร้างงานวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ท้องถิ่น และพัฒนาสู่ระดับสากล”

ลิ้งค์ข้อมูลเพจ และเว็ปไซต์ www.facebook.com/omart.ubu  

http://omart.ubu.ac.th/about/


ภาพ/ข่าว กฤษณะ วิลามาศรายงาน