วันที่ 19 มีนาคม 2564 เวลา 14.30 น. ที่อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท บ้านติ้ว ต.เมืองพาน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผช.รมว.วัฒนธรรม เป็นประธานเปิด “ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” เพื่อยกระดับเป็นแหล่งท่องเที่ยวมาตรฐานระดับสากล เตรียมความพร้อมในการนำเสนอขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก โดยมี นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม , นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร นายวันชัย จันทร์พร รอง ผวจ.อุดรธานี ร่วมพิธี
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูหินจอมธาตุ-ภูพระบาท (เตรียมการ) พื้นที่ 3,430 ไร่ พบหลักฐานทางโบราณคดีและโบราณสถาน กระจายอยู่ทั่วบริเวณ และเกิดขึ้นในหลายยุคหลายสมัย ตั้งแต่ภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ 54 จุด มากที่สุดในประเทศไทย , เพิงผาหินขนาดใหญ่ , วัดที่สร้างขึ้นในสมัยลานช้างกว่า 70 แห่ง รวมทั้งรอยพระพุทธบาท 3 รอย ที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับตำนานพระธาตุพนม สมเด็จพระขนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราขสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด “อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2535
นายมนตรี ธนภัทรพรชัย หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท นำ นายปรเมศวร์ฯ ผช.รมว.วัฒนธรรม พร้อมคณะ เข้าชมนิทรรศการภายในอาคารศูนย์ฯ เป็นอาคารภายนอกโปร่งแสง จัดแสดงเนื้อหาพัฒนาการด้านวัฒนธรรม วิถีชีวิต ความเชื่อ และศาสนา ของผู้คนในพื้นที่ภูพระบาท และใกล้เคียง รวมทั้งมีห้องให้บริการสืบค้นข้อมูลสารสนเทศ โดยห้องจัดแสดงแบ่งออกเป็น 6 ส่วน คือ ธรรมชาติบนภูพระบาท , ธรณีวิทยาแห่งเทือกเขาภูพาน , ภูพระบาทภูเขาศักดิ์สิทธิ์ , ห้องโบราณคดีผ่านสื่อผสมผสาน , ห้องอริยสงฆ์ภูพระบาท และ ห้องชาติพรรณไทยพวน
จากนั้นคณะ ขึ้นรถไฟฟ้าบริการท่องเที่ยว เข้าชมกลุ่มโบราณสถาน และสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แบบประเพณีอีสาน ด้วย “ขันหมากเบ็ง” ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ ที่มนุษย์ที่อยู่ในยุคต่างกัน ได้ดัดแปลงเพิงผาหินทราย ลายล้อมด้วยใบเสมาขนาดต่าง ๆ ให้เป็นศาสนสถานประดิษฐานพระพุทธรูป เป็นกลุ่มกระจายอยู่ทั่วภูพระบาท โดยเริ่มต้นที่ หอนางอุสา ก่อนเดินเท้าชมพื้นที่โดยรอบ อาทิ หีบศพพ่อตา , หีบศพเท้าบารส , หีบศพนางอุสา และถ้ำพระ ตลอดเส้นทางเดินถูกปรับแต่งให้เดินได้สะดวก พร้อมป้ายอธิบายความเป็นมา รวมทั้งป้ายชื่อต้นไม้ตลอดทาง
นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า กรมศิลปากร ได้จัดสรรงบประมาณ 15.34 ล้านบาท จากงบยุทศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ แผนงานบูรณาการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว กีฬา และวัฒนธรรม พัฒนาและปรับปรุงศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเดิม เพื่อเพิ่มศักยภาพอาคารปฏิบัติการ และอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้มารับบริการ ยกระดับเป็นแหล่งท่องเที่ยวมาตรฐานสากล เตรียมความพร้อมเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
“นอกจากนี้ยังบริการให้ข้อมูลด้วยเทคโนโลยี ที่ผสมโลกของความเป็นจริงกับโลกเสมือน หรือ AR สำหรับเด็ก เยาวชน ผู้สูงวัย และคนพิการ ทั้งนี้เนื้อหาที่จัดแสดง เหมาะสำหรับผู้มารับริการหลายช่วงอายุ ที่มีความสนใจในพัฒนาการด้านวัฒนธรรม วิถีชีวิต ความเชื่อ และศาสนาของคนในพื้นที่ภูพระบาท และบริเวณใกล้เคียง โดยได้รับความอนุเคราะห์ข้อมูล และวัตถุจัดแสดงจากชาวไทยพวนบ้านผือ ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ ”
นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผช.รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เป็นแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ และภูมิทัศน์ศักดิ์สิทธิ์ของผู้คนในลุ่มน้ำโขงและอุดรธานี ที่มีความพร้อมและศักยภาพ สำหรับการเสนอชื่อขึ้นเป็นมรดกโลกแห่งใหม่ โดยกรมศิลปากรจะเสริมสร้างศักยภาพ ให้มีความพร้อมในทุกด้าน เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาขึ้นทะเบียน นอกจากจะได้อนุรักษ์โบราณสถานอย่างเหมาะสมแล้ว ยังได้ปรับปรุงศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ยกระดับให้ได้มาตรฐานระดับสากล หวังว่าวันนี้จะเป็นก้าวแรกของศูนย์ฯ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาในด้านอื่น ๆ ต่อไป
สำหรับ“อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” เคยได้ขึ้นบัญชีชั่วคราวรับการประเมินเป็นมรดกโลกจากยูเนสโก ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 ศูนย์มรดกโลกได้รับเอกสารฉบับสมบูรณ์ วันที่ 30 มกราคม 2558 , ผู้เชี่ยวชาญ ICOMOS ลงพื้นที่วันที่ 17-24 กันยายน 2558 , ต่อมาประเทศไทยต้องส่งข้อมูลเพิ่มเติมตามคำขอวันที่ 2 พฤศจิกายน 2558 , ICOMOS ส่งรายงานการประเมินฉบับสมบูรณ์วันที่ 11 มีนาคม 2559 เพื่อให้เสนอต่อที่ประชุมใหญ่ยูเนสโก ที่กรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี ระหว่างวันที่ 10-20 กรกฎาคม 2559 แต่ประเทศไทยถอนตัว เพราะเชื่อว่าเอกสารไม่สมบูรณ์ ต่อมาวันที่ 9 เมษายน 2562 ครม.ตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนนำเสนออีกครั้ง โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่าง การจัดทำข้อมูลเพิ่มเติม
ภาพ/ข่าว : นายกฤษดา จันทร์ดวง (ผู้สื่อข่าว)