Friday, 3 May 2024
อุบลราชธานี

ม.อุบลฯ พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล เปิดตลาดออนไลน์ซื้อ-ขาย ผลิตผลเกษตรอินทรีย์

มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดเวทีนำเสนอความก้าวหน้าและผลการดำเนินโครงการวิจัย “การพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับการจับคู่อุปสงค์และอุปทานสินค้าเกษตรในจังหวัดอุบลราชธานี และ จังหวัดศรีสะเกษ”

โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และหัวหน้าชุดโครงการวิจัย นำทีมนักวิจัยรายงานความก้าวหน้าและผลการดำเนินโครงการวิจัยฯ ดังกล่าว พร้อมทดลองใช้งานแพลตฟอร์มดิจิทัล Omart รับเกียรติจาก นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธาน และตัวแทนหน่วยงานภาครัฐเอกชน และกลุ่มเกษตรกรเกษตรอินทรีย์ เข้าร่วมรับฟังสรุปผล ณ ห้องประชุมปทุมวรราช ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา

รองศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยฯ และหัวหน้าชุดโครงการวิจัย  กล่าวว่าตามที่ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ในการดำเนินโครงการวิจัยฯ เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับการซื้อขายผลิตผลทางการเกษตร (เกษตรอินทรีย์) จับคู่และรองรับการซื้อขายผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์

โดยมีผลผลิตเกษตรอินทรีย์ภายในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี และ จ.ศรีสะเกษ เป็นโครงการนำร่อง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มช่องทางและศักยภาพในการซื้อและขายผลผลิตเกษตรอินทรีย์ แพลตฟอร์มดิจิทัลจะให้สารสนเทศต่าง ๆ ของทั้งฝั่งอุปสงค์ เช่น รายละเอียดเกี่ยวกับเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกร ประเภทผลผลิตที่เพาะปลูก ปริมาณของผลผลิตที่เพาะปลูกได้ วันเวลาในการเก็บเกี่ยวผลผลิต มาตรฐานหรือวิธีการเพาะปลูก ราคาขาย เป็นต้น และฝั่งอุปทาน เช่น ประเภทของผลผลิตที่ต้องการ ปริมาณของผลผลิตที่ต้องการ วันเวลาที่ต้องการผลผลิต ราคาซื้อ เป็นต้น

นอกจากนี้แล้ว แพลตฟอร์มดิจิทัลจะทำหน้าที่ในการจับคู่ระหว่าง อุปสงค์ และอุปทาน โดยนำเสนอผู้ผลิต (อุปสงค์) หรือผู้บริโภค (อุปทาน) ที่เหมาะสม และสอดคล้องกับข้อมูลที่ผู้ใช้ได้ป้อนเข้าไป จากแพลตฟอร์มดิจิทัลที่จะพัฒนาขึ้นมา ในโครงการวิจัยนี้ ผู้ผลิตจะสามารถวางแผน และตัดสินใจในการเพาะปลูกได้อย่างเหมาะสม เนื่องจากมีสารสนเทศเกี่ยวกับความต้องการของผลผลิตเกษตรอินทรีย์ ในขณะที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึง และได้มีผลผลิตเกษตรอินทรีย์

เนื่องจากมีสารสนเทศเกี่ยวกับผู้ผลิตและผลผลิตเกษตรอินทรีย์ แพลตฟอร์มดิจิทัลนี้จะสามารถช่วยให้การซื้อขายผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ได้ในทุกโอกาส รวมถึงในสถานการณ์ที่มีเกิดเหตุภัยพิบัติหรือโรคระบาด ซึ่งโครงการดำเนินการมาแล้วเป็นระยะเวลา 5 เดือน โดยความร่วมมือทีมนักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภฤกษ์ จันทร์จรัสจิตต์ นักวิจัย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า เป้าหมายของโครงการวิจัย เพื่อเป็นจุดศูนย์กลางที่เป็นแหล่งสารสนเทศดิจิทัลที่เชื่อมโยงระหว่างเกษตรกร (ผู้ขาย) และผู้บริโภค โดยเกษตรกรผู้ขายสามารถรวบรวมข้อมูล รายชื่อ แหล่งที่ตั้ง ปริมาณของผลิตผลเกษตรอินทรีย์ เพิ่มข้อมูลกระบวนการผลิต ในระบบสารสนเทศได้ เพื่อเป็นประโยชน์กับทั้งตัวเกษตรกรเองและผู้บริโภคที่สามารถคาดการณ์ และจับจองซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้ โดยรวบรวมข้อมูลกำลังการผลิตผลผลิตทางการเกษตร (เกษตรอินทรีย์) ความต้องการผลผลิตทางการเกษตร และพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับการซื้อขายผลิตผลทางการเกษตร

ทีมวิจัย ได้พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับการซื้อขายสินค้าเกษตร พร้อมทดสอบและปรับปรุงแพลตฟอร์มดิจิทัล ผู้ซื้อ สามารถประกาศซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ต้องการ เลือกสินค้า รวบรวมสินค้าก่อนจะทำการยืนยันและชำระเงิน  ผู้ขาย สามารถเลือกขายสินค้าตามความต้องการ หรือประกาศขายสินค้าของตนเองได้ ทั้งนี้ ผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องลงทะเบียนเข้าใช้งานในระบบ ใช้ที่อยู่ เลขบัตรประชาชน และหมายเลขโทรศัพท์มือถือหรือ ID line ในการยืนยันข้อมูลเพื่อความปลอดภัย เมื่อเป็นสมาชิกแล้วสามารถค้นหาสินค้า แล้วทำการซื้อขายสินค้าได้ "สะดวก สบาย ปลอดสารพิษ ชีวิตมีสุข"

นับเป็นอีกหนึ่งผลงานวิจัยที่สอดคล้องกับพันธกิจมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี “สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่นำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภูมิภาคลุ่มน้ำโขง” และยุทธศาสตร์ที่ 2 “สร้างงานวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ท้องถิ่น และพัฒนาสู่ระดับสากล”

ลิ้งค์ข้อมูลเพจ และเว็ปไซต์ www.facebook.com/omart.ubu  

http://omart.ubu.ac.th/about/


ภาพ/ข่าว กฤษณะ วิลามาศรายงาน

จ.อุบลฯ และ กฟผ. ร่วมฟื้นฟูท่องเที่ยว หนุนเศรษฐกิจ ดันโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานหมุนเวียน และเป็น Landmark แห่งใหม่ของจังหวัด

จังหวัดอุบลราชธานี และ กฟผ. ร่วมฟื้นฟูท่องเที่ยว ดันโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานหมุนเวียน และจุดเช็คอินแห่งใหม่ของจังหวัด สร้างรายได้และอาชีพให้ชุมชน หนุนเศรษฐกิจจังหวัดในภาพรวม

วันที่ 29 มีนาคม 2564 นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วย นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร  ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร (Hydro-floating Solar Hybrid) หรือโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานหมุนเวียนและเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของ จ.อุบลราชธานี โดยมีส่วนราชการท้องถิ่น สื่อมวลชน ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. เข้าร่วมงาน ณ เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี

นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า หนึ่งในยุทธศาสตร์ของการพัฒนาจังหวัดอุบลราชธานี คือ ส่งเสริมการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว เพราะจังหวัดอุบลฯ มีแหล่งประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมประเพณีที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ทำให้การท่องเที่ยวถือเป็นรายได้หลักของจังหวัดอุบลราชธานี สำหรับเขื่อนสิรินธรของ กฟผ. นอกจากจะอำนวยประโยชน์ด้านชลประทาน การประปา การคมนาคมทางน้ำและการผลิตกระแสไฟฟ้าให้คนอุบลฯและประเทศไทยมาอย่างยาวนานแล้ว ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมไม่ขาดสาย

โครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดในเขื่อนสิรินธร จึงเป็นการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด จะดึงดูดให้นักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาชมความสวยงามของแผงเซลล์แสงอาทิตย์ลอยน้ำไฮบริดแห่งแรกในไทย สอดรับกับแนวทางการพัฒนาจังหวัดอุบลราชธานี ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยังทำให้ประชาชนในท้องถิ่นมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีอาชีพและรายได้ มีความสุขอย่างยั่งยืน

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนมาผลิตไฟฟ้าเนื่องจากเป็นพลังงานสะอาดช่วยลดภาวะโลกร้อน โดยพัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร ขนาดกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ เป็นแห่งแรกที่สามารถผลิตไฟฟ้าผสมผสาน (Hybrid) ระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์และโรงไฟฟ้าพลังน้ำเข้าด้วยกัน โดยนำนวัตกรรมระบบบริหารจัดการพลังงาน หรือ Energy Management System (EMS) มาช่วยประเมินผลและสั่งการให้โรงไฟฟ้าทั้งสองประเภทผลิตไฟฟ้าสอดคล้องกับช่วงเวลาได้อย่างเหมาะสม ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องยาวนานขึ้น ช่วยลดความไม่แน่นอนของพลังงานหมุนเวียน และช่วยเสริมระบบผลิตไฟฟ้าให้มีความมั่นคงมากขึ้น ถือเป็นการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำแรกของไทยและมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก คาดว่าจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date: COD) ได้ในเดือนมิถุนายน 2564

นอกจากนี้ กฟผ. ยังได้เตรียมพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานหมุนเวียนให้กับนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป พร้อมสร้างเส้นทางเดินชมธรรมชาติ (Nature Walkway) เพื่อเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว แห่งใหม่ เตรียมเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ประมาณปลายปี 2564 นี้ โดย กฟผ. จัดเตรียมจุดจำหน่ายสินค้าชุมชน ร้านขายของที่ระลึก ร้านเช่าจักรยาน จุดบริการรถรับ-ส่งนักท่องเที่ยว บริเวณจอดแพท่องเที่ยว เป็นต้น คาดว่าจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยว สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับชุมชนได้อีกทางหนึ่ง

อุบลราชธานี - เอาไม่อยู่ ตรวจพบผู้ป่วยโควิดเพิ่ม 7 ราย รวมเป็น 102 ราย ส่วนใหญ่มีไทม์ไลน์เกี่ยวเนื่องกับสถานบันเทิง

วันที่ 17 เม.ย.64 ที่ห้องประชุมสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี แถลงข่าวสถานการณ์โควิด - 19 จังหวัดอุบลราชธานี พบผู้ป่วยเพิ่ม 7 ราย รวมจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด - 19 รอบใหม่ 102 คน พื้นที่ที่พบผู้ป่วยรายใหม่อยู่ในอำเภอบุณฑริก อำเภอเมือง อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ และอำเภอม่วงสามสิบ ส่วนใหญ่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย และมีประวัติเสี่ยงที่เกี่ยวเนื่องกับสถานบันเทิงในจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งทั้งหมดเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและมีอาการไม่รุนแรง 

ผวจ.อุบลราชธานี กล่าวว่า ขณะนี้จังหวัดอุบลราชธานีได้กำหนดมาตรการป้องกันควบคุมโรคและปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  ได้แก่ การห้ามการดำเนินการหรือจัดกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค ห้ามการใช้อาคารหรือสถานที่ของโรงเรียนและสถาบันการศึกษาทุกประเภทเพื่อจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือทำกิจกรรมใด ๆ ที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก ห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนมากกว่าห้าสิบคนขึ้นไป  ปิดสถานบริการ  ผับบาร์ คาราโอเกะ สถานประกอบกิจการอาบน้ำ อาบอบนวด ออกไปจนถึงวันที่ 24 เมษายน 2564 การกำหนดให้ทุกพื้นที่อำเภอและตำบลของจังหวัดอุบลราชธานีเป็นพื้นที่ควบคุม การจำหน่ายอาหาร และเครื่องดื่มและบริการบริโภคในร้านอาหารทั่วไป ร้านอาหารทั่วไป ร้านข้าวต้ม รถเข็นแผงลอยจำหน่ายอาหารเปิดได้ไม่เกิน 23.00 น. การจำหน่ายสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ห้ามไม่ให้มีการบริโภคในร้าน ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า เปิดได้จนถึงเวลา  21.00 น. และให้จำกัดจำนวนผู้เข้ารับบริการ

ขอความร่วมมือประชาชนในจังหวัดอุบลราชธานีงดหรือหลีกเลี่ยงการเดินทางโดยไม่มีเหตุจำเป็น โดยเฉพาะการเดินทางไปในพื้นที่ควบคุม งดการจัดกิจกรรมสังสรรค์ อยู่บ้าน หยุดเชื้อ และให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด ด้วยการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำหรือแอลกอฮอล์ รักษาระยะห่าง  ตรวจวัดอุณหภูมิ สำหรับมาตรการคัดกรองบุคคลเข้าพื้นที่ให้ผู้ที่มาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุด 18 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ นครปฐม ขอนแก่น ชลบุรี เชียงใหม่ ตาก นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ ภูเก็ต ระยอง สงขลา สมุทรสาคร สระแก้ว สุพรรณบุรี และอุดรธานี กักตัวเพื่อดูอาการ 14 วัน และสแกนแอปพลิเคชั่นไทยชนะและฮักอุบลเมื่อเข้าพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี


ภาพ/ข่าว  กิตติภณ  เรืองแสน

อุบลราชธานี - พัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องแต่งกายให้เป็น Premium OTOP

นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี พบปะกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องแต่งกายให้เป็น Premium OTOP กิจกรรมที่ 3 สร้างการรับรู้ภูมิปัญญาผ้าและเครื่องแต่งกาย  ณ หอประชุมไพรพะยอม มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี

โครงการดังกล่าวกรมการพัฒนาชุมชน ได้มอบหมายให้จังหวัดอุบลราชธานี ดำเนินการ กลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย ผู้ผลิต ผู้ประกอบการจากจังหวัดอุบลราชธานี ร้อยเอ็ด มุกดาหาร บึงกาฬ อำนาจเจริญ และจังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 50 กลุ่ม/ราย เพื่อเผยแพร่พระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้านการออกแบบเครื่องแต่งกายสิ่งทอและการอนุรักษ์ผ้าไทยให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ และพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องแต่งกายให้เป็นผลิตภัณฑ์พรีเมี่ยม เป็นที่ต้องการของตลาด

พร้อมนี้รองผู้ว่าราชการจังหวัด ได้กล่าวขอบคุณกรมการพัฒนาชุมชน โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนและคณะวิทยากร เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโครงการ ตลอดจนผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และได้เน้นย้ำให้ทุกภาคส่วน บูรณาการการดำเนินงานโครงการให้สำเร็จตามวัถุประสงค์ที่ตั้งไว้


ภาพ/ข่าว  กิตติภณ เรืองแสน

อุบลราชธานี- นิพนธ์ ลุยแจกโฉนดที่ดิน “อุบลราชธานี-อำนาจเจริญ” สร้างหลักประกันที่มั่นคงทางเศรษฐกิจ ในโครงการ“มอบโฉนดที่ดินทั่วไทย นำสุขคลายทุกข์ให้ประชาชน” ขอบคุณ ทุกฝ่ายช่วยดูแลรักษาชีวิตประชาชนจากโควิด-19

เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 ที่ศาลาประชาคม บ้านนาสีดาน้อย ตำบลชานุมาน อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานพิธีมอบโฉนดที่ดินให้แก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ตำบลชานุมาน อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ จำนวน 30 แปลง ตามโครงการ “มอบโฉนดที่ดินทั่วไทย นำสุขคลายทุกข์ให้ประชาชน” โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ  นายอำเภอชานุมาน เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอำนาจเจริญตลอดจนข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และประชาชนในพื้นที่ตำบลตำบลชานุมานร่วมในพิธี ซึ่งเป็นไปตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัดตามหลัก D-M-H-T-T-A  ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็นการป้องกันโรคโควิด-19

นายนิพนธ์ กล่าวว่า การมอบโฉนดที่ดินให้แก่ประชาชนในครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงมหาดไทย และนโยบายของกรมที่ดินในการที่จะเร่งรัดในการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินให้แก่พี่น้องประชาชนที่ถือครองที่ดินอยู่ และได้ทำประโยชน์ในที่ดินนั้นมายาวนาน และที่ดินนั้นไม่ใช่ที่ดินของรัฐในประเภทต่างๆ ในปีงบประมาณ 2564 นี้ กระทรวงมหาดไทย โดยตนในฐานะที่กำกับดูแลกรมที่ดิน ได้ลงนามประกาศเดินสำรวจที่ดินเพื่อออกโฉนดที่ดินหนังสือสำคัญของทางราชการแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินไปแล้วจำนวน 50 จังหวัด การมอบโฉนดที่ดิน ตามโครงการ "มอบโฉนดที่ดินทั่วไทย นำสุขคลายทุกข์ให้ประชาชน" ให้กับประชาชนเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ตำบลชานุมาน อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ  จึงเป็นหลักประกันความมั่นคงในกรรมสิทธิ์ ในที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน สามารถนำโฉนดที่ดินไปประกอบการพัฒนาในอาชีพของตนเอง เพิ่มผลผลิต และรายได้ ซึ่งเป็นผลดีในทางเศรษฐกิจของตนเอง

จากนั้น นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย นายวุฒิพงษ์ นามบุตร ส.ส.อุบลราชธานี พรรคประชาธิปัตย์ ได้เดินทางต่อไปมอบโฉนดที่ดินให้แก่ประชาชน บ้านหนองแสง ตำบลดุมใหญ่ อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี ตามโครงการ “ มอบโฉนดที่ดินทั่วไทย นำสุข คลายทุกข์ให้ประชาชน” อีก จำนวน 30 แปลง

นายนิพนธ์ กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยโดยกรมที่ดินยืนยันว่านโยบายการเดินออกสำรวจโฉนดที่ดินก็จะเร่งรัดดำเนินการต่อไปในส่วนต่าง ๆ ของประเทศไทยให้พี่น้องประชาชน ได้สามารถเข้าถึงการมีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินของตนเองถือว่าเป็นความมั่นคงในการถือครองที่ดิน และเป็นการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการใช้ทรัพยากรที่ดินของชาติ สร้างความมั่นใจ ประชาชนไม่ต้องเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดี ข้อหาบุกรุกที่ดินของทางราชการ โดยโครงการที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เป็นอีกโครงการหนึ่งที่จะเอาที่ดินของรัฐ ที่ประชาชนทำมาหากินอยู่แล้วมาจัดให้กับประชาชน แม้ว่าประชาชนจะไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน แต่ก็ถือว่าประชาชนเข้าทำกินโดยชอบ เพราะมีกฎหมายให้ดำเนินการได้ ขณะเดียวกันจะมีการดำเนินการเร่งรัดการออกเอกสารสิทธิ์โดยกรรมสิทธิ์ที่เป็นนส.3 และนส.3ก ให้ออกเป็นโฉนดเพิ่มมากขึ้นด้วย” นายนิพนธ์ กล่าว

นอกจากนี้ นายนิพนธ์ ยังได้ขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ทั้งแพทย์ พยาบาล บุคลากรต่าง ๆ ที่ได้ช่วยกันดูแลป้องกันสถานการณ์โควิด ซึ่งมีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ทุกท่านได้ช่วยกันทำงานอย่างหนักแข่งกับเวลาเพื่อดูแลรักษาชีวิตประชาชนไท่ให้เหิดการสูญเสีย ซึ่งตนขอเป็นส่วนหนึ่งในการให้กำลังใจและสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้วิกฤตครั้งนี้ผ่านพ้นไปได้โดยเร็ว


ภาพ/ข่าว  นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา

อุบลราชธานี - แท็กซี่อุบลฯ นำรถแท็กซี่ เป็นแกลลอรี่เทียนพรรษาเคลื่อนที่ "คนอุบล ทำเทียนบูชาธรรม" หวังสร้างการรับรู้เพิ่ม ช่วงเทศกาลเข้าพรรษานับเป็นครั้งแรก

นายนิมิต สิทธิไตรย์ ประธานที่ปรึกษาสภาหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วยผู้บริหารบริษัทแท็กซี่สหการอุบลฯ นำรถแท็กซี่จำนวนมาก มาทำเป็น Gallery เทียนพรรษาสวยงามเคลื่อนที่ พร้อมข้อความป้ายซีทรูกระจกด้านหลังระบุ คนอุบล ทำเทียนบูชาธรรม การมีส่วนร่วมของรถแท็กซี่ และเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบไป 

โดยได้ดำเนินการเป็นครั้งแรก ทั้งนี้ แท็กซี่อุบล ได้พร้อมใจกันทำสติกเกอร์ Gallery เทียนพรรษา ติดไว้ที่ประตูรถด้านหลังซ้าย-ขวา รวมทั้งกระจกด้านหลังแท็กซี่โดยเขียนข้อความในป้ายซีทรูว่า “คนอุบล ทำเทียนบูชาธรรม" ทั้งนี้เพื่อ สร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ ต้นเทียนพรรษาอุบล ผ่านรถแท็กซี่ ซึ่งป้ายสติกเกอร์ดังกล่าว จะทำให้ผู้โดยสารรถแท็กซี่หรือนักท่องเที่ยว มาใช้บริการรถแท็กซี่ได้รับรู้ถึงต้นเทียนพรรษาที่สวยงามและการมีส่วนร่วมภาคภูมิใจ ในงานเทศกาลเทียนพรรษาอุบลราชธานีช่วงเทศกาลเข้าพรรษา

คาดว่าสติกเกอร์ดังกล่าว จะอยู่นานมากกว่า 3 เดือนแน่นอน เป็นความภาคภูมิใจและการมีส่วนร่วมของแท็กซี่อุบลราชธานี ที่พร้อมใจกันทำสติกเกอร์ติดบนรถแท็กซี่ โดยสมัครใจและไม่ใช้งบประมาณของทางราชการแต่อย่างใด


ภาพ/ข่าว  เอกชัย โปธา รายงาน

“บิ๊กตู่”พร้อมลงพื้นที่อุบลราชธานี 15 ต.ค. นี้ ตรวจเยี่ยมการบริหารจัดการน้ำของจังหวัดอุบลราชธานี และการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้า“บิ๊กตู่”พร้อมลงพื้นที่อุบลราชธานี 15 ต.ค. นี้ ตรวจเยี่ยมการบริหารจัดการน้ำของจังหวัดอุบลราชธานี และการใช้พลังงานหมุนเว

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เตรียมลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินการโครงการพลังงานทดแทน และศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบโคก หนอง นา ณ วัดป่าศรีแสงธรรม ตำบลห้วยยาง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมนมัสการพระปัญญาวชิรโมลี และเยี่ยมชมระบบสมาร์ทกริดศรีแสงธรรม ERC Sandbox และการจัดการศึกษาแบบไตรสิกขา (เน้นการพึ่งพาตนเอง) ของโรงเรียนศรีแสงธรรม

จากนั้น ตรวจเยี่ยมการดำเนินการโครงการพลังงานทดแทน ศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบโคก หนอง นา และพบปะเครือข่ายโคก หนอง นา ของวัดป่าศรีแสงธรรม และจิตอาสาพัฒนาชุมชน พร้อมร่วมกิจกรรมปลูกป่าเพอร์มาคัลเจอร์ ทำหลุม ปลูกป่า ห่มดิน ให้ปุ๋ยแห้ง ปุ๋ยน้ำ  อีกทั้ง ยังได้เยี่ยมชมฐานการเรียนรู้ “คนติดดิน” การสร้างบ้านดินด้วยเทคนิคเอิร์ธแบก” และฐานการเรียนรู้ “คนมีไฟ ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ควบคุมระบบการเปิด-ปิด ด้วยระบบ IOT เพื่อรดน้ำต้นไม้เป็นสมาร์ทฟาร์มในโคก หนอง นา” นอกจากนี้ ยังมีโครงการพระราชทาน โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง  โดยจะทำการปลูกต้นไม้รอบศาลาพระราชทาน และเยี่ยมชมแปลงนา กล้าต้นเดียว ฐานคนรักษ์แม่โพสพอีกด้วย 

ต่อจากนั้น เวลา 12.00 น. นายกรัฐมนตรีและคณะเดินทางออกจากวัดป่าศรีแสงธรรม โดยเฮลิคอปเตอร์ไปยังเขื่อนสิรินธร อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อตรวจเยี่ยมการบริหารจัดการน้ำของจังหวัดอุบลราชธานี และการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้า โดยใช้นวัตกรรม “โซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดกับพลังน้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก” พร้อมรับฟังรายงานการบริหารจัดการน้ำของจังหวัดอุบลราชธานี ก่อนเดินทางไปตรวจเยี่ยมการบรรเทาสาธารณภัยและการฟื้นฟูผู้ประสบภัยในพื้นที่ จังหวัดอุบลราชธานี ณ ศาลาประชาวาริน พร้อมเยี่ยมให้กำลังใจและมอบถุงยังชีพให้แก่ผู้ประสบภัย จำนวน 78 ครัวเรือน ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพฯ

‘ปลัดบุญชอบ’ พบ 5 เสือแรงงานอุบลราชธานี ย้ำ ทำงานเป็นทีม ถูกต้อง ยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง

นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดอุบลราชธานี ณ ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี โดยมี นายภูมา ธรรมกุล หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน นายเกริกไกร นาสมยนต์ ผู้ตรวจราชการกรม กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน นางสาวลัดดา แซ่ลี้ ผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานประกันสังคม พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการและเจ้าหน้าที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดอุบลราชธานี เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย โดยนายบุญชอบได้กล่าวมอบแนวทางการปฏิบัติราชการว่า จุดแข็งของกระทรวงแรงงาน มีหน่วยงานในสังกัดทั้ง 5 หน่วยในส่วนภูมิภาคที่เข้มแข็ง นอกจากนี้ กระทรวงแรงงาน ยังมีระบบฐานข้อมูลเชิงลึก ที่ค่อนข้างละเอียด ในภาพรวมถือว่ามีฐานข้อมูลที่ค่อนข้างดี โดยเฉพาะฐานข้อมูลของประกันสังคม ในอนาคตควรจะมีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลที่ถูกต้อง ระหว่างหน่วยงานในสังกัดให้สามารถนำข้อมูลด้านแรงงานมาใช้ประโยชนร่วมกันได้ 

นายบุญชอบ ยังได้ฝากถึงบุคลากรทุกคนให้มีความรับผิดชอบต่อการทำงาน บริการประชาชนให้เต็มที่ โดยให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานเป็นที่พึ่งของประชาชนโดยแท้จริง สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นตัวกลางในการประสานภารกิจของกระทรวงแรงงานในระดับพื้นที่ กรมการจัดหางานเน้นการจัดหางาน หางานให้คนทำ หาตำแหน่งงานว่างมาจับคู่ (Matching) กับคนหางาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มุ่งเน้นการพัฒนาฝีมือแรงงานโดยใช้ระบบไอที เพื่อปรับหลักสูตรให้สอดรับกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายในยุคที่เปลี่ยนแปลง กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน บังคับใช้กฎหมาย โดยใช้ระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดีในการทำงาน และคุ้มครองดูแลแรงงานให้เป็นไปตามกฎหมาย และสำนักงานประกันสังคม ดูแลมาตรการเยียวยาผู้ประกันตนนายจ้างลูกจ้างจากผลกระทบโควิด-19 

Bloomberg เผย 'โซลาร์เซลล์ลอยน้ำ' ที่เขื่อนสิรินธร ขนาดใหญ่เท่าสนามฟุตบอล 70 สนาม

ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และที่ปรึกษาด้านการสื่อสาร ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า... 

สำนักข่าว Bloomberg ตีข่าว “โซลาร์เซลล์ลอยน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในโลก" ที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี เริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าแล้ว โดยมีขนาดเท่ากับสนามฟุตบอล 70 สนาม มีแผงโซลาร์เซลล์ทั้งสิ้นถึง 145,000 แผง รวมกำลังการผลิต 45 เมกะวัตต์ ซึ่งความพิเศษอีกอย่างคือเป็นการผลิตไฟฟ้าแบบไฮบริดจ์ ผสมผสานการผลิตไฟฟ้าระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์และพลังน้ำ โดยโซลาร์เซลล์จะผลิตไฟฟ้าได้ในช่วงกลางวัน และพลังน้ำจะช่วยผลิตไฟฟ้าเสริมในช่วงกลางคืนหรือช่วงที่มีแสงไม่เพียงพอ ทำให้ผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง

จับหัวโจกและสมาชิกแก๊งหาดวัดใต้ ก่อเหตุรุมทำร้ายคู่อริ พบเกี่ยวข้องกับกลุ่มยิงอาวุธสงครามกลางเมือง

จากกรณีเมื่อวันที่ 24 ก.ย. 65 สื่อมวลชนและโซเชียลมีเดีย ได้นำเสนอคลิปวิดีโอ เกิดเหตุทำร้ายร่างกายกันที่บริเวณร้านอาหารซิ๊กตี้นายบาร์ เลขที่ 69 ต.ธาตุ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี โดยกลุ่มชายฉกรรจ์ประมาณ 10 คน ได้พังประตูร้านเข้าไปทำร้ายร่างกาย น.ส.จุฑามาศ หรือจูน คชนะ อายุ 23 ปี, นายปฏิวัติ บุญเสนอ อายุ 19 ปี และนายสุรวิสิฐ หรือโก้ วิจิตรพณิชยากุล อายุ 33 ปี พร้อมกับทำลายกล้องวงจรปิดภายในร้าน และนำฮาร์ดดิสของกล้องวงจรปิดของร้านที่เกิดเหตุไปด้วย 

โดยกลุ่มชายดังกล่าวมีความเกี่ยวพันกับแก๊งเอกมัยหรือแก๊งหาดวัดใต้ ที่เคยใช้อาวุธปืนสงครามยิงต่อสู้กับแก๊งคู่อริ มีผู้เสียชีวิต จำนวน 2 ราย ได้รับบาดเจ็บอีกจำนวนมาก ปรากฎเป็นข่าวดังเมื่อประมาณ เดือนสิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา นั้น
พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. จึงได้สั่งการให้ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร.และ พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผู้ช่วย ผบ.ตร. เร่งสืบสวนคลี่คลายคดีที่เกิดขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ลดความหวาดกลัวต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากคนร้ายก่อเหตุอย่างอุกอาจต่อหน้าประชาชนเป็นจำนวนมาก และยังมีความเกี่ยวพันกับกลุ่มแก๊งค์ที่เคยใช้อาวุธปืนสงครามก่อเหตุยิงถล่มกันใน พื้นที่ จ.อุบลราชธานี 

โดย พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ได้สั่งการให้ พล.ต.ท.สมประสงค์ เย็นท้วม ผบช.ภ.3, พล.ต.ต.ชูสวัสดิ์ จันทร์โรจนกิจ ผบก.สส.ภ.3 และพล.ต.ต.สถาพร เอมโอษฐ์ ผบก.ภ.จว.อุบลราชธานี เร่งสืบสวนติดตามจับกุมคนร้าย จากการรวบรวมพยานหลักฐาน และสอบสวนปากคำผู้เสียหาย ทราบว่ากลุ่มชายฉกรรจ์ที่ก่อเหตุ มีนายเอกรินทร์ หรือ เสี่ยเอก เป็นหัวหน้าแก๊ง โดยมีสาเหตุเกิดจาก น.ส.จุฑามาศฯ ผู้เสียหาย มีปากเสียงทะเลาะวิวาทกับหญิงคนสนิทของเสี่ยเอก ทำให้เสี่ยเอกโกรธแค้นยกพวกมารุมทำร้าย น.ส.จุฑามาศฯ และบุคคลที่เกี่ยวข้อง จนได้รับบาดเจ็บ

ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถติดตามจับกุมผู้ต้องหา จำนวน 7 ราย ตามหมายจับศาลจังหวัดอุบลราชธานี มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1.) นายเอกรินทร์ หรือเอก สุนทราเมธากุล อายุ 45 ปี ที่อยู่ 33 ถ.ห่อบำรุ่ง ต.วารินชำราบ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี 
2.) นายกิรินทร์ หรือเดียร์ เกลียวทอง อายุ 25 ปี ที่อยู่ 31/2 ซอยสุขาอุปถัมป์ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี  
3.) นายอรรถพล หรืออิฐ ทัศน์ศรี อายุ 30 ปี ที่อยู่ 41/3 ถ.เขื่อนธานี ต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี  
4.) นายยศกฤศ หรือเต๋า ตุยาสัย อายุ 29 ปี ที่อยู่ 97 ถ.เขื่อนธานี ต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี  
5.) นายวุฒิพงศ์ หรือบัวขาว ทองบ่อ อายุ 27 ปี ที่อยู่ 140 ม.5 ต.หนองขอน อ.เมือง จ.อุบลราชธานี  
6.) นายสุรชาติ หรือหนุ่ย ตุยาสัย อายุ 27 ปี ที่อยู่ 97 ถ.เขื่อนธานี ต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี  
7.) นายชุมพร หรือเหลื่อม สะอาด อายุ 32 ปี ที่อยู่ 64 ม.8 ต.บุ่งไหม อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี 

โดยกล่าวหาว่า ปล้นทรัพย์ และร่วมกันบุกรุกเคหสถานโดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย, โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป, ในเวลากลางคืนและร่วมกันทำให้เสียทรัพย์และซ่องโจร

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า คดีนี้เป็นอีกคดีที่ได้รับความสนใจจากประชาชนและสื่อมวลชน กลุ่มผู้ก่อเหตุลงมือกระทำผิดโดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย อีกทั้งยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ต้องหาที่เคยก่อเหตุใช้อาวุธสงครามยิงกันกลางเมืองอุบลราชธานีมาแล้ว เชื่อว่ายังมีผู้ก่อเหตุอยู่อีก 

ดังนั้นจึงต้องเร่งขยายผลจับกุมตัวมาดำเนินคดีอย่างเด็ดขาดให้หมดทุกราย ซึ่งหลังจากนี้จะสั่งการให้ทางภ.จว.อุบลราชธานี มีมาตรการในการป้องกันเหตุลักษณะเช่นนี้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้มีเหตุรุนแรงเกิดซ้ำรอยขึ้นมาได้อีก พี่น้องประชาชนชาวอุบลราชธานีจะได้อยู่กันโดยสงบสุข มีความเชื่อมั่นในการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจมากกว่านี้ ลดความหวาดกลัวภัยให้กับประชาชนในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top