Friday, 24 May 2024
THE STATES TIMES TEAM

กรมบัญชีกลาง เปิดทาง ข้าราชการ และบุคคลในครอบครัวที่เสี่ยงหรือติดเชื้อโควิด-19 สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลในระบบเบิกจ่ายตรงได้ โดยไม่ต้องทดรองจ่ายเงิน

นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ผู้รับเบี้ยหวัด ผู้รับบำนาญ (ผู้มีสิทธิ) และบุคคลในครอบครัวที่เสี่ยงหรือติดเชื้อโควิด-19 สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลในระบบเบิกจ่ายตรงได้ โดยไม่ต้องทดรองจ่ายเงินไปก่อน โดยผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัวที่มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ หอบเหนื่อย หรือมีอาการของโรคปอดอักเสบ สามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของทางราชการและสถานพยาบาลเอกชน หากแพทย์ได้สอบสวนโรค หรือแพทย์วินิจฉัยว่าติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัวสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้

ทั้งนี้หากรักษาในสถานพยาบาลของทางราชการ กรณีผู้ป่วยนอกผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสามารถเบิกค่าตรวจได้เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 2,200 บาทต่อครั้ง ส่วนกรณีติดเชื้อโควิด และสถานพยาบาลรับตัวไว้เป็นผู้ป่วยในแล้ว สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเติมได้ เช่น ค่าตรวจเบิกได้เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 2,200 บาทต่อครั้ง ค่าห้องพักสำหรับควบคุมหรือดูแลรักษา เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 2,500 บาทต่อวัน ค่ายารักษาเฉพาะผู้ติดเชื้อโควิด เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 7,200 บาท

ขณะที่ในกรณีแพทย์ผู้รักษาเห็นว่า อาการดีขึ้นสามารถส่งตัวไปพักฟื้น ณ สถานที่ที่สถานพยาบาลของทางราชการได้จัดหาไว้เป็นการเฉพาะ ให้มีสิทธิได้รับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 1,500 บาทต่อวัน และในกรณีที่สถานพยาบาลของทางราชการมีความจำเป็นต้องส่งตัวผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัวที่ติดเชื้อโควิดผู้มีสิทธิมีสิทธิได้รับเงินสวัสดิการนอกเหนือจากค่าพาหนะส่งต่อ รายการค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลและค่าบริการทำความสะอาดฆ่าเชื้อบนรถพาหนะส่งต่อ ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 3,700 บาท ต่อครั้งที่มีการส่งต่อ

ส่วนสถานพยาบาลเอกชน กรณีติดเชื้อโควิด-19 การเบิกค่ารักษาพยาบาลจะครอบคลุมตั้งแต่สถานพยาบาลเอกชนรับตัวไว้เป็นผู้ป่วยใน จนถึงสิ้นสุดการรักษา รวมถึงการส่งตัวผู้ป่วยไปเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลเอกชนแห่งอื่นที่ได้จัดเตรียมไว้ กรณีไม่ติดเชื้อโควิด-19 การเบิกค่ารักษาพยาบาลจะครอบคลุมตั้งแต่สถานพยาบาลเอกชนรับตัวไว้เป็นผู้ป่วยใน จนถึงผู้ป่วยได้รับแจ้งผลการตรวจที่ยืนยันว่าไม่ติดเชื้อโควิด-19

 

ติดเชื้ออย่าตระเวนหาเตียง!! ’สาธารณสุข’ เปิดสายด่วน-ไลน์ ‘สบายดีบอต’ เพิ่มช่องทางเช็กเตียงว่าง ยันเตียงมีเพียงพอรองรับผู้ป่วย

14 เมษายน 2564 นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการบริหารจัดการเตียงสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ว่า ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทุกรายต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาลเท่านั้น ซึ่งระหว่างรอเตียงขอให้อยู่บ้านไม่เดินทางออกไปข้างนอก โดยยอมรับว่าที่ผ่านมาประชาชนที่ไปตรวจหาเชื้อ-19 แล้วพบว่ามีผลบวกคือติดเชื้อ จึงกังวลเรื่องการหาเตียงเพื่อทำการรักษา ซึ่งในช่วงแรกยืนยันว่าโรงพยาบาลเอกชน มีความสามารถในตรวจแลบได้ดี แต่ระยะแรกการองรับเตียงไม่ทันยังขลุกขลัก เพราะมีตัวเลขมาก ตอนนี้มีการหารือร่วมกันหลายหน่วยงานรองรับให้ผู้ติดเชื้อทุกคน ยืนยันว่าการจัดการเตียงในพื้นที่กทม.และปริมณฑล มีเพียงพอ

ทั้งนี้ จากข้อมูลวันที่ 13 เมษายน ที่ผ่านมา มีการตรวจสอบเตียงในสังกัดโรงพยาบาลต่างๆทุกแห่งครอบคลุมทั้งกรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค กรมสุขภาพจิต กระทรวงกลาโหม กทม.โรงพยาบาลตำรวจ โรงเรียนแพทย์ เอกชน รวม 4,703 เตียง และเตียงสนาม อีก 1,482 เตียง รวมมีทั้งหมด 6,185 เตียง และมีการเข้ามาใช้เตียงแล้วแล้ว 3,460 เตียง และมีเตียงว่างในโรงพยาบาลเอกชน 1,000 เตียง แต่ที่ยังเข้าใช้ไมได้เพราะต้องรองรับผู้ป่วยหนัก และกึ่งไอซียู จึงไม่สามารถนำคนที่ไม่มีอาการรุนแรงเข้าไปใช้ นอกจากนี้ยังจัดหา Hospitel อีก 3,000 เตียง สำหรับโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงกลาโหมกำลังดำเนินการเตรียม โรงพยาบาลสนาม ส่วนกรมการแพทย์เตรียมเปิด Hospitel คาดว่ารับได้ 450 เตียง (อีก 2 วัน) และโรงพยาบาลรามาธิบดี เตรียมเปิด Hospitel อีก 2 แห่ง

นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีการทำสายด่วน จัดหาเตียงใน กทม. ดังนี้ 1669 สายด่วน 1668 สายด่วนกรมการแพทย์ (เฉพาะกิจ) รับสาย 08.00-22.00 น.ทุกวัน 1330 สายด่วนสปสช.รับสายตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน และทางแอปพลิเคชันไลน์ "สบายดีบอต" เพียงเพิ่มเพื่อนและกรอกข้อมูล ซึ่งสำหรับผู้ป่วยที่ติดต่อหาเตียงอาจมีความล่าช้า 2-3 วัน แต่ขอให้รอไม่ตระเวนออกไปข้างนอกซึ่งจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่เชื้อแก่ผู้อื่นได้

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ กำชับ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ดูแลพระสงฆ์ช่วงโควิด-19 ระบาด หลังพบวัดในจังหวัดแพร่ ต้องปิดวัดกักตัว 14 วัน บิณฑบาตไม่ได้

เมื่อวันที่ 14 เม.ย.นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี พระสงฆ์สังกัดวัดเมธังกราวาส จ.แพร่ ต้องปิดวัด กักตัว งดทุกิจกรรมสงฆ์ และบิณฑบาตไม่ได้ ว่า ได้สั่งการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) ตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว พบว่ามีพระที่เดินทางกลับจากพื้นที่กรุงเทพมหานครและพบผลการตรวจเชื้อเป็นบวกจริง คือ พระมหากิติชัย  รองเจ้าอาวาสวัดเมธังกราวาส โดยมีไทม์ไลน์ ดังนี้

 

1. วันที่ 7 เมษายน 2564 พระมหากิติชัย รองเจ้าอาวาสวัดเมธังกราวาส เดินทางกลับมาจากกรุงเทพฯ โดยสายการบินนกแอร์ และมีคนขับรถไปรับที่สนามบิน

2. วันที่ 8 เมษายน 2564 พระมหากิติชัย รองเจ้าอาวาสวัดเมธังกราวาส ร่วมฉันภัตตาหารกับพระในวัด จำนวน 4 รูป

3. วันที่ 9 เมษายน 2564 ได้รับแจ้งจากสาธารณสุขจังหวัด ว่ามีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด เดินทางจากเที่ยวบินเดียวกันกับพระมหากิติชัย ทางสาธารณสุขจังหวัดแจ้งให้กักตัว

4. วันที่ 10 เมษายน 2564 พระมหากิติชัย และพระภิกษุอีก 4 รูป และโยมใกล้ชิด 4 คน กักตัวอยู่ในห้องพัก

5. วันที่ 11 เมษายน 2564 พระมหากิติชัย และพระภิกษุอีก 4 รูป และโยมใกล้ชิด 4 คน กักตัวอยู่ในห้องพัก ในวันเดียวกัน พระครูเวทย์สังฆกิจ เจ้าอาวาส กลับมาจากจังหวัดน่าน ตอนเย็น (ไม่ได้ใกล้ชิดกับพระมหากิติชัย แต่ ใกล้ชิดกับพระ 4 รูป และ โยมใกล้ชิด 4 คน)

6. วันที่ 12 เมษายน 2564 พระมหากิติชัย ไปตรวจหาเชื้อโควิด 19 ที่ รพ.แพร่ และรอฟังผลที่วัดเมธังกราวาส

7. วันที่ 13 เมษายน 2564 พระมหากิติชัย ไปตรวจหาเชื้อโควิด 19 ที่ รพ.แพร่ราม ผลออกเป็นบวก (ติดเชื้อ) ถูกส่งตัวเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลแพร่

8. วันที่ 14 เมษายน 2564 พระภิกษุและโยม 8 รูป/คน ไปตรวจหาเชื้อโควิด 19 ที่ รพ.แพร่ราม ผลออกเป็นลบทั้ง 8 รูป/คน (ไม่พบเชื้อ) แต่ทางโรงพยาบาลแพร่ราม แนะนำให้กักตัวต่ออีก 14 วัน

นายอนุชา กล่าวว่า  ขอแสดงความเป็นห่วงต่อคณะสงฆ์ ทั้งที่ปฏิบัติศาสนกิจในวัด และที่อยู่ระหว่างการเดินทาง ซึ่งที่ผ่านมาได้เคยแจ้งประสานไปยังวัดผ่านทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ขอความร่วมมือให้วัดทุกวัดปฏิบัติตามมติ มหาเถรสมาคม(มส.) และมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด ของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะแนวทางและมาตรการในการรณรงค์ประเพณีสงกรานต์ ปลอดภัยได้บุญ พุทธศักราช 2564 ที่ขอความร่วมมือทุกวัดปฏิบัติตามมาตรการ และพิจารณาจัดศาสนาพิธีและส่งเสริมโบราณประเพณีของวัดตามแบบนิวนอร์มอล ที่มหาเถรสมาคมได้มีมติให้ทุกวัดปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  โดยให้มีการตรวจคัดกรองพุทธศาสนิกชนที่จะมาทำบุญ ไหว้พระ รวมถึงทำความสะอาดบริเวณวัด ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ การใช้เจลล้างมือ มีป้ายแนะนำญาติโยม โดยขอความร่วมมือจาก อสม. ในพื้นที่ในการดูแลหากมีการแพร่ระบาด จึงเชื่อมั่นว่าทุกวัดได้ถือปฏิบัติตามมาตรการที่ขอความร่วมมือดังกล่าว

 

"กรณ์" ชี้ ยังมีงบหลายแสนล้านที่ยังไม่ได้ใช้ แนะรัฐบาลโยกมาเยียวยาประชาชน ผู้ประกอบการ และซื้อวัคซีน ‘วรวุฒิ’ ย้ำ ตั้งสภาเอสเอ็มอี ต่อลมหายใจผู้ค้ารายย่อย 4 ล้านรายทั่วประเทศ "จาตุรนต์" ร่วมวงแจมคลับเฮ้าส์ แลกเปลี่ยนความเห็นด้วย

เมื่อวันที่ 13 เมษายน 64 เวลาประมาณ 19.30 น. พรรคกล้า ได้เปิดพื้นที่ ระดมสมองแบบคนต่างวัยต่างมุมมอง ผ่านแอปพลิชัน “คลับเฮ้าส์” (Clubhouse) แลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็น “ถ้าเป็นรัฐบาลจะรับมือคิดรอบนี้อย่างไร” โดยมี ผู้บริหารของพรรคกล้า นำโดย นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรค , นายวรวุฒิ อุ่นใจ , นายพงษ์พรหม ยามะรัต รองหัวหน้าพรรคกล้า ร่วมด้วยสมาชิกพรรค คนเจนกล้า และคนทั่วไป โดยมีนักการเมืองรุ่นเก๋าอย่างนายจาตุรนต์ ฉายแสง เข้ามาร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นด้วย  

นายกรณ์ กล่าวว่า ประเด็นปัญหาโควิด ขณะนี้มีหลายระดับมาก ตั้งแต่ผลกระทบเศรษฐกิจ จนถึงเรื่องของวัคซีน ตลอดจนความชัดเจนในการให้ความรู้กับประชาชนว่ากลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับการตรวจหาเชื้อนั้นต้องไปตรวจที่ไหน โดยมีน้องคนหนึ่งมาเล่าให้ฟังว่า ไปที่โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง แต่ไม่สามารถตรวจได้ สุดท้ายต้องไปโรงพยาบาลเอกชน ก็ได้รับแจ้งว่าตอนนี้ยุติการตรวจแล้ว แต่อีกสองวันต่อมา ดาราชื่อดังโชว์ผลตรวจว่าตัวเองไม่ติดโควิด ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเดียวกับที่น้องคนนั้นไปขอเข้ารับการตรวจแต่ได้รับการปฏิเสธ เกิดเป็นประเด็นกระทบความรู้สึกกัน ดังนั้นตอนนี้สิ่งที่ต้องการจากรัฐคือ ต้องให้ข้อมูลว่าโรงพยาบาลไหนบ้างที่รับหรือไม่รับตรวจ และถ้าไม่รับก็ต้องชัดเจนถึงเหตุผลที่ไม่รับ สถานพยายาลทุกที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคมซึ่งกรณีติดเชื้อแล้ว ตามกฎหมายคือกักตัวเองไม่ได้ ต้องในโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ปัญหาคือ บางโรงพยาบาลไม่ตอบรับ กลายเป็นว่าต้องไปอาศัยระบบอุปถัมภ์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าระบบมีปัญหา และจะมากขึ้นเรื่อย ๆ

"การโหลดแอป หรือการเช็คอิน ก็ไม่ได้มีข้อมูลเตือนว่าใครเสี่ยง ใครติด และไม่มีสัญญาณเตือนอะไร จนมีข่าวว่าผู้ติดโควิดขึ้นเครื่องบินไปลงที่ จ.นครศรีธรรมราชได้ สร้างความกังวลให้กับผู้ร่วมเดินทาง  ตอนนี้รัฐบาลต้องสื่อสารให้ชัดเจน และที่สำคัญคือการชี้แนะให้กับกลุ่มเสี่ยงว่าจะต้องไปตรวจที่ไหนบ้าง ถ้าตรวจแล้วติดต้องไปรักษาที่ไหน และถ้าไม่ติดต้องไปกักตัวที่ไหนได้บ้าง เพื่อลดความสับสนและความกังวลให้กับประชาชนที่ไม่รู้จะหันไปถามใคร ขณะเดียวกันในแต่ละจังหวัดมีมาตรฐานเหมือนกันหรือไม่ ผู้ว่าของทุกจังหวัดก็มาจากกระทรวงมหาดไทยเหมือนกัน นโยบายจากส่วนกลางให้อำนาจาผู้ว่าฯ แค่ไหน ถ้าให้ใช้วิจารณญาณส่วนตัวของผู้ว่าฯ แต่ละจังหวัด ผมก็ว่าไม่น่าจะถูกต้องนัก” นายกรณ์ กล่าว

หัวหน้าพรรคกล้า ยังกล่าวถึงกรณีมีข่าวว่า รัฐบาลจะเปิดโอกาสให้เอกชน สามารถซื้อวัคซีนมาฉีดได้เองว่า เท่าที่ดูข้อมูลประเทศอื่นยังไม่มีระบบนี้ ทั้ง อังกฤษ ญี่ปุ่น หรือแม้แต่สหรัฐอเมริกา ก็ยังถือว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะจัดสรรวัคซีนให้กับประชากรของเขา มีที่เดียวที่ถกกันเรื่องนี้คือประเทศมาเลเซีย แต่เขาก็ยังไม่ยอมให้เอกชนหรือประชาชนที่มีเงินสามารถซื้อวัคซีนได้ มองในมุมหนึ่งคือลดภาระของรัฐ ที่ไม่ต้องไปแย่งวัคซีนกับคนที่เงินไม่พอที่จะเข้าถึงวัคซีนได้เอง แต่มองอีกมุม เมื่อวัคซีนมีจำกัด การจัดสรรก็น่าจะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลหรือไม่ นอกจากนี้ ฐานะทางการเงินของประเทศเพียงพอที่จะผลักดันหนี้สาธารณะให้เพิ่มขึ้นหรือไม่ ถ้าสามารถช่วยให้ประชาชนดีขึ้น ตนเห็นด้วย แต่ก็ต้องไปดูงบที่ยังมีอยู่ด้วยว่า ได้ถูกใช้ไปอย่างเหมาะสมแล้วหรือยัง

“งบฟื้นฟูที่กันไว้สี่แสนล้านนั้น วันนี้ใช้ไปนิดเดียว เท่าที่ทราบตอนนี้มีเหลืออยู่สองแสนกว่าล้าน ตอนนี้ควรจะโยกมาก่อน แทนที่จะนำไปใช้กับโครงการตามระบบราชการ ตามสภาวะปกติ แต่ให้นำมาใช้เพื่อเยียวยาช่วยเหลือเอสเอ็มอี ประชาชน และการซื้อวัคซีน ซึ่งหากรัฐบาลบอกว่าซื้อไม่ได้ ก็จะมีคำถามว่า แล้วที่บอกว่าจะเปิดให้เอกชนไปซื้อ เขาไปซื้อจากไหน อยากเรียนว่า ฐานะทางการคลังของประเทศขณะนี้ยังไม่มีปัญหา ถ้างบฟื้นฟูหมด ก็ยังมีงบฉุกเฉินแสนล้านที่ยังไม่ได้ใช้  และงบกระทรวงสาธารณสุขที่กันไว้ห้าหมื่นกว่าล้านเพิ่งใช้ไปนิดเดียว จากเดิมที่เราคิดว่าเรารอวัคซีนได้ เราจะซื้อที่เราจองไว้ รวมกับที่เราจะผลิตได้เอง จึงไม่ได้รีบร้อนเพราะคนไทยติดเชื้อน้อย แต่วันนี้ถ้าสถานการณ์เปลี่ยนไปก็ต้องเปลี่ยนวิธีคิด แล้วใช้เงินนี้แก้ปัญหาเฉพาะหน้า คือการฉีดวัคซีน และเยียวยาประชาชน” นายกรณ์ กล่าว

ด้านนายวรวุฒิ รองหัวหน้าพรรคกล้า กล่าวถึงโครงสร้างเศรษฐกิจที่ต้องปรับตัวตามสถานการณ์โควิดว่า การทำแอปพลิเคชันรวบรวมข้อมูลผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ เพื่อขอรับการเยียวยาจากภาครัฐบาล ในทางเทคนิคไม่ใช่เรื่องยาก อยู่ที่ว่าหน่วยงานภาครัฐยินดีที่จะแชร์ข้อมูลด้วยหรือไม่ ที่ผ่านมาหน่วยงานที่ทำหน้าที่ได้ดีคือ กระทรวงสาธารณสุขเนื่องจากมีกลไก อสม. ที่มีจำนวนนับล้านคนทั่วประเทศ ถ้ามีสภาเอสเอ็มอีของแต่ละจังหวัด ก็จะคล้ายกับ อสม. ที่มีหน่วยงานไปประสานงานในพื้นที่ได้ การทำฐานข้อมูลก็จะเป็นรูปธรรม การเยียวยาผู้ประกอบการก็จะง่ายขึ้น และเสนอให้รัฐบาลใช้โอกาสนี้เอาสินค้าเกษตรกรเข้าสู่ตลาดการค้าออนไลน์ให้มากขึ้น เวลานี้ เกษตรกร เอสเอ็มอี ผู้ประกอบการ เป็นจำนวนมากที่ใช้ออนไลน์ไม่เป็น ถ้ารัฐใช้โอกาสนี้ เชื่อว่าทุกคนจะขายของออนไลน์กันเป็นทั้งประเทศ  เนื่องจากเริ่มคุ้นชินกับการใช้แอพกระเป๋าตังมาแล้ว แต่ถ้าไม่ดำเนินการอย่างเร่งด่วนก็จะเกิดปรากฏการณ์โดมิโน่เอฟเฟกต์ หากรายย่อยเจ๊ง ธุรกิจต่อเนื่อง รวมถึงรายใหญ่ก็จะทยอยเจ๊งลงไปเรื่อย ๆ

นายพงษ์พรหม รองหัวหน้าพรรคกล้า กล่าวว่า มาตรการการตรวจคัดกรองของภาครัฐขณะนี้ มันทำหน้าที่ตรงไหน หลายคนใช้ชีวิตปกติทั้งที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง บางคนที่ตรวจพบว่าติดโควิด โทรหาโรงพยาบาลเพื่อให้ส่งรถมารับ แต่โรงพยาบาลบอกไม่มีรถ และบอกแค่เพียงให้ปฏิบัติตัวอย่างไร ในโรงพยาบาลมีการแยกการตรวจหาเชื้อโควิดกับโรคอื่น ๆ หรือไม่แค่ไหน มาตรการความปลอดภัยเป็นอย่างไร ตรงนี้ยังไม่ชัดเจน

ขณะที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นว่า การดูแลเยียวยาประชาชน ต้องใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะรายได้ของภาครัฐในรูปของภาษีน้อยกว่ารายจ่ายประจำ งบประมาณที่จะต้องนำไปใช้คือต้องเป็นเรื่องของการลงทุน หากผิดวัตถุประสงค์ก็เข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญได้ ส่วนเรื่องวัคซีน ขณะนี้ประเทศไทย ตกขบวนติดอันดับโลก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การแลกเปลี่ยนข้อมูลมีทั้งผู้มีประสบการณ์ตรงในภาครัฐ ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง และผู้ที่อยู่วงนอกที่อยากรู้ โดยมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันคือ ประเด็นเฉพาะหน้า ถ้าต้องกักตัว กักที่ไหน ถ้าป่วยรักษาที่ไหน จึงอยากให้ภาครัฐทำการประชาสัมพันธ์ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ และขยายการตรวจให้กว้างขึ้นเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล ซึ่งกลายเป็นสถานที่เสี่ยงไปโดยปริยายโดยทุกคนยอมรับว่า แม้จะมีการขยายเตียงไปยังโรงพยาบาลสนามก็ตาม แต่หากบุคลากรทางการแพทย์ยังคงที่ การดูแลก็ไม่มีทางทั่วถึง นอกจากนี้ยังมีการยกตัวอย่างภูเก็ตโมเดล ทำให้เอกชนกดดันเพื่อให้มีมาตรการช่วยเหลือ จนนำไปสู่นโยบายการเปิดเมืองให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวได้ มีการระดมฉีดวัคซีนให้กับประชาชนไปแล้ว 1 แสนราย และสิ่งที่ถกกันมากที่สุด คือถ้าต้องอยู่กับโควิดไปอีกนานรัฐบาลจะทำอย่างไร การให้ข้าราชการ work from home ร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่น่าจะเป็นทางออกที่ดี ธุรกรรม นิติกรรม หลายอย่างก็ไม่สามารถดำเนินการทางออนไลน์ได้ บางคนเสนอให้มีการปรับโครงสร้างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เอื้อต่อการรับมือวิกฤต

คุณหญิงกัลยา ปลื้ม เตรียมจัดอบรมออนไลน์แกนนำโค้ดดิ้งต่อ หลังปั้นศึกษานิเทศก์โค้ดดิ้งครบทุกพื้นที่ และมีครูอบรมทั่วประเทศแล้วกว่าสองแสนคน

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ขอขอบคุณครู และบุคลากรที่เกี่ยวข้องที่สนใจเข้าอบรมหลักสูตรโค้ดดิ้งเป็นจำนวนมาก แม้ในช่วงสถานการณ์การระบาดโควิด-19 เผยหลังเปิดอบรมหลักสูตรสำหรับศึกษานิเทศก์ Coding Mentor (CM) รุ่นที่ 2 ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก มีศึกษานิเทศก์ ทั่วประเทศเข้าอบรมทั้ง 2 รุ่นในปี 2563 และปี 2564 กว่า 800 คน ครบทุกเขตพื้นที่ พร้อมเดินหน้าต่อเตรียมจัดอบรมหลักสูตรสำหรับแกนนำ Coding Core Training (CCT) ในเดือน พ.ค.นี้อีก 600 คน

นางดรุณวรรณ  ชาญพิพัฒนชัย โฆษกประจำตัวรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้โค้ดดิ้งในโรงเรียนว่าขณะนี้เดินหน้าไปค่อนข้างมาก แม้ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็มีการเดินหน้าพัฒนาหลักสูตรออนไลน์ เพื่อเปิดโอกาสให้ครูทั่วประเทศสามารถที่จะเรียนโค้ดดิ้งได้ ซึ่งปัจจุบันมีครูเข้ารับการอบรมไปแล้วทั่วประเทศกว่า 2 แสนคน  รวมถึงล่าสุดได้มีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร อบรมการให้คำปรึกษาและการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณสำหรับนักศึกษานิเทศก์ Coding Mentor (CM) รุ่นที่ 2 รูปแบบออนไลน์ ผ่านระบบ ZOOM ทำให้ปัจจุบันมีศึกษานิเทศก์ Coding ทั่วประเทศแล้วกว่า 800 คน โดยผู้อบรมจะผ่านการอบรมโดยสมบูรณ์เมื่อส่งรายงานผลการนิเทศ Coding ของเขต หลังจากอบรมแล้วภายใน 2 เดือน โดยให้ลงมือปฏิบัติจริงด้วย ที่สำคัญคือสามารถนำเอาผลการนิเทศไปวางแผนพัฒนาตนเองให้ก้าวหน้าทางวิชาชีพได้

“การอบรมศึกษานิเทศก์ครั้งนี้ ใช้ระบบ ZOOM แต่สื่อสารสองทาง มีการแบ่งกลุ่มย่อยและมีวิทยากร กลุ่มย่อยนำอภิปราย ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้ารับการอบรมอย่างมาก จนหลายคนไม่กล้าปิดกล้อง และไม่ยอมไปห้องน้ำ เพราะกลัวพลาดสาระสำคัญ รวมไปถึงตอนนี้มีกลุ่มแลกเปลี่ยนเชิงวิชาการของศึกษานิเทศก์มีรุ่นพี่ที่ผ่านการอบรมมาช่วยกันพัฒนาและตอบข้อซักถาม ทุกคนมีความสนใจและกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้เป็นอย่างมาก ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี” นางดรุณวรรณ กล่าว

ส่วนในเดือนพฤษภาคมนี้มีเป้าหมายจะจัดอบรมเพิ่มพูนศักยภาพการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณสำหรับวิทยากรแกนนำ Coding Core Trainer (CCT) อีกจำนวนกว่า 600 คน ซึ่งเชื่อว่าจะได้รับความสนใจเข้ารับการอบรมเป็นอย่างมากเช่นเดียวกัน

นางดรุณวรรณ กล่าวต่อด้วยว่า คุณหญิงกัลยา ขอขอบคุณและให้กำลังใจครูทุกท่านที่เสียสละเวลาเข้ารับการอบรมและเห็นถึงความสำคัญของการเรียนโค้ดดิ้ง และกล่าวย้ำเสมอว่า “Covid cannot stop Coding” ส่วนแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมการเรียนโค้ดดิ้งในปีงบประมาณ 2564 นั้นคุณหญิงกัลยาได้ให้นโยบายโดยจะให้ขับเคลื่อนการเรียนการสอนโค้ดดิ้งให้ได้มากที่สุด เพื่อส่งเสริมผู้เรียนให้มีทักษะคิดวิเคราะห์ต่อไป

ทั้งนี้การเรียนการสอนโค้ดดิ้งจะไม่มุ่งเน้นไปที่ครูและนักเรียนเท่านั้น แต่จะกระจายการเรียนรู้ให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ และทุกช่วงวัย ภายใต้แนวคิด “Coding for All” เพราะไม่ว่าใครก็ตามจะต้องเรียนรู้และเข้าใจการคิดอย่างเป็นระบบ และนำมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตอย่างมีเหตุมีผล คิดเป็นขั้นเป็นตอน เเก้ปัญหาเป็น และถือเป็นการเตรียมคนในศตวรรษที่ 21  อย่างรู้เท่าทันดิจิทัลอักด้วย

 

กาฬสินธุ์ – ปลูกแล้วกัญชาต้นแรก ถูกกฎหมาย ขอขอบคุณพรรคภูมิใจไทย ผลักดันสร้างโอกาสและรายได้ให้ประชาชน

เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2564 ที่วิสาหกิจชุมชนพืชสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจใหม่  อ.เมืองกาฬสินธุ์ จ.กาฬสินธุ์ นายสนั่น พงษ์อักษร รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานปลูกกัญชาถูกกฎหมายต้นแรก ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนพืชสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจใหม่ มีนายพงศกร กรโสภา ผอ.รพ.สต.บ้านหนองแวงใต้, นางทศพร กรโสภา พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.สต.หนองแวงใต้, น.ส.สุภาพร คำยุธา ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนพืชสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจใหม่ พร้อมด้วยนายนิมิตร รอดภัย นายสถาพร ฉายประดิษฐ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ และนายยุทธนา เกียรติดำเนินงาม นายกสมาคมนักข่าวกาฬสินธุ์ และหัวหน้าศูนย์ข่าวเดลินิวส์ภาคอีสานตอนบน ร่วมเป็นสักขีพยาน

การปลูกกัญชาต้นแรกนี้ วิสาหกิจชุมชนพืชสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจใหม่ ได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายจาก องค์การอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้ส่งเมล็ดกัญชาให้กลุ่มทำการเพาะปลูก ที่ผ่านมาได้มีการอนุบาลเมล็ดพันธุ์จนเติบโตและมีความแข็งแรง จนสามารถนำไปปลูกภายในโรงเรือนตามมาตรการคุมเข้มของทาง อย. โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ และ รพ.สต.บ้านหนองแวงใต้ กำกับดูแล

นายนิมิตร รอดภัย ที่ปรึกษาวิสาหกิจชุมชนพืชสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจใหม่ ตำแหน่งนักวิชาการของวิสาหกิจชุมชนพืชสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจใหม่ กล่าวว่าการปลูกกัญชาให้มีคุณภาพตรงตามคุณภาพมาตรฐานของ อย. นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นการปลูกภายในโรงเรือนระบบปิด การปลูกจึงต้องดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอน ไม่ว่าจะเป็นการนำเมล็ดที่ได้รับมาจากทาง อย. มาเพาะจนมั่นใจว่าสามารถนำลงดินปลูก

“ในการปลูกนั้นเป็นลักษณะโรงเรือน เพื่อป้องกันศัตรูพืช มีการกางมุ้งและรดน้ำตามระยะเวลา ที่คาดว่าต้นกัญชาจะเติบโตได้นั้นจะมีระยะเวลาประมาณ 3-4 เดือน เพื่อให้มั่นใจในมาตรฐานก็ยังมีการจัดเวรยามดูแล ผ่านระบบน้ำ และกล้องวงจรปิดเพื่อป้องกันบุคคลภายนอกด้วย”

นายสนั่น พงษ์อักษร รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า การปลูกกัญชาเท่าที่ดูจากวิสาหกิจชุมชนพืชสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจใหม่ มองดูแล้วไม่ง่าย การเพาะปลูกต้องมีความเชี่ยวชาญ เพราะสิ่งสำคัญเมื่อต้นโตแล้วก็ยังต้องมาดูว่าเป็นต้นตัวผู้หรือตัวเมีย จะมีช่อดอกหรือไม่ ซึ่งหากเกษตรกรสนใจก็ต้องศึกษาให้ถี่ถ้วนเสียก่อน และควรจะไปปรึกษาหาความรู้จากทางเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งทางจังหวัดก็พร้อมที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่ และให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายเช่นกัน

ด้าน น.ส.สุภาพร คำยุธา ประธานวิสาหกิจชุมชนพืชสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจใหม่ กล่าวว่า การได้ปลูกกัญชาถูกต้องตามกฎหมาย ต้องขอบคุณพรรคภูมิใจไทย ที่ได้ผลักดันให้สามารถปลูกกัญชาได้ถูกต้องตามกฎหมาย ที่เป็นการสร้างรายได้ให้กับประชาชน เพราะกัญชาถือว่าเป็นพืชสมุนไพรที่มีมูลค่าในตัวและทางวิสาหกิจชุมชนฯ ก็พร้อมที่จะปฏิบัติตามกฎหมายในทุกขั้นตอน และในอนาคตในส่วนของ ลำต้น ใบ และราก เมื่อต้นกัญชาพร้อมที่จะตัดจำหน่าย ในส่วนผู้ที่สนใจจะนำไปแปรรูปต่อนั้น ก็สามารถติดต่อมาได้ที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนพืชสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจใหม่


ภาพ/ข่าว ณัฐพงษ์  ประชากูล จ.กาฬสินธุ์

โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯห่วง สถานการณ์โควิด-19 แบ่งโซนจังหวัดเร่งฉีดวัคซีน  จี้ ทุกหน่วยงาน เข้มมาตรการ - วอน ประชาชน มีสติ อย่าประมาท เดินทาง ช่วงวันหยุดที่เหลือ

เมื่อวันที่ 14 เม.ย. นายอนุชา  บูรพชัยศรี  โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวง กลาโหม ได้ติดตามสถานการณ์โควิด-19 และการเดินทางของประชาชน ตลอดช่วงวันหยุดที่ผ่านมาด้วยความห่วงใย พร้อมสั่งทุกหน่วยงานให้ดำเนินทุกมาตรการอย่างเข้มข้น  ทั้งการจัดเตรียมความพร้อมของโรงพยาบาลสนาม และเร่งการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19  ที่ได้เพิ่มเติมมาอีกจำนวน 1,000,000 โดสในเดือนนี้

สำหรับแผนการกระจายวัคซีนโควิด-19 จำนวน  1 ล้านโดสในเดือนเมษายนนี้  มีเป้าหมายเพื่อควบคุมการระบาดในพื้นที่สีแดง และกระจายให้กลุ่มเป้าหมายใน 77 จังหวัด ประกอบด้วย 9 จังหวัดขนาดใหญ่พิเศษ ได้แก่ เชียงใหม่ ชลบุรี ขอนแก่น อุดรธานี นครราชสีมา  บุรีรัมย์  อุบลราชธานีและนครศรีธรรมราช   13 จังหวัดขนาดใหญ่ ประกอบด้วย เชียงราย นครสวรรค์ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ร้อยเอ็ด สกลนคร สุรินทร์  ชัยภูมิ ศรีสะเกษ สุราษฎร์ธานีและสงขลา และ  56 จังหวัดขนาดเล็ก อาทิ แม่ฮ่องสอน ลำพูน  นครนายก ลพบุรี เลย บึงกาฬ เป็นต้น 

แบ่งเป็น สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า  จำนวน  599,800 โดส  ควบคุมโรคระบาด พื้นที่สีแดง 100,000 โดส ประชาชนที่มีโรคประจำตัว 147,200 โดส  ตำรวจ ทหาร ด่านหน้า จำนวน 54,320 โดส รวมทั้งสำรองไว้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน 98,680 โดส   จนถึงวานนี้ (13 เมษายน 64 ) มีผู้ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด 19 แล้ว 579,305 โดส เป็นผู้ได้รับวัคซีนเข็มแรก จำนวน  505,744 ราย และผู้ได้รับวัคซีนเข็มสอง จำนวน 73,561 ราย

นายอนุชา กล่าวว่า "นายกรัฐมนตรียังเสียใจต่อการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ที่เกิดจากอุบัติเหตุจากการเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ด้วย โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ซึ่งยังคงเป็นยานพาหนะที่มีอุบัติเหตุสูงสุด โดยฝากความห่วงใยมาถึงพี่น้องประชาชนทุกคน ให้มีสติในการใช้ชีวิตประจำวัน  ไม่ประมาทในการใช้รถใช้ถนน ตรวจสภาพรถยนต์ และสภาพอากาศทุกครั้งก่อนออกเดินทาง  เมาไม่ขับ เพื่อลดจำนวนอุบัติเหตุ ในช่วงวันหยุดที่เหลืออยู่ พร้อมชื่นชมพี่น้องประชาชนที่ให้ความร่วมมือปฏิบัติตามคำแนะนำและมาตรการสาธารณสุข ลดการรวมกลุ่ม หลีกเลี่ยงการเดินทาง เน้นทำงานที่บ้าน หรือ work from home   มั่นใจว่า ไทยจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดและลดจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด19 ได้อย่างรวดเร็ว"

นายกฯสั่งเตรียมยกระดับคุมโควิด-19 ด้านกระทรวงสาธารณสุข จ่อชง ศบค.พิจารณา มาตรการล็อกดาวน์จังหวัดพื้นที่สีแดง เช่น กทม.-ปริมณฑล เชียงใหม่ ประจวบคีรีขันธ์ บางจังหวัดภาคตะวันออก

เมื่อวันที่ 14 เม.ย.พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) กล่าวว่า จากสถานการณ์ของ COVID-19 ในขณะนี้จากการประชุมร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข อยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การควบคุมสถานการณ์ ที่อาจต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ในบางพื้นที่ เช่น กทม.และปริมณฑล เชียงใหม่ ประจวบคิรีขันธ์ และภาคตะวันออกบางจังหวัด แต่การประกาศมาตรการใดๆ ทางศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) จะต้องฟังข้อมูลจากทีมงานของกระทรวงสาธารณสุขเป็นหลัก

นอกจากนี้นายกรัฐมนตรี สั่งการ เมื่อวันที่ 13 เม.ย.ที่ผ่านมาให้เตรียมยกระดับ โดยขณะนี้ทีมงานได้เตรียมการไว้แล้ว เช่น การยกระดับพื้นที่ที่ผ่อนคลาย ให้เป็นพื้นที่สีแดง แต่ศบค. ระวังไม่ให้กระทบกับประชาชนโดยรวม ทั้งนี้นโยบายรายพื้นที่ จะไม่ทำเหมือนทั้งประเทศ เพราะจะกระทบประชาชน ทั้งนี้มีความเป็นไปได้ต่อการนำมาตรการล็อกดาวน์ใช้ในพื้นที่แต่ต้องรอฟังข้อมูลจากสาธารณสุขอีกครั้ง

พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า มาตรการล็อกดาวน์ คือการห้ามเข้า-ออก ในพื้นที่จังหวัดควบคุม หรือหมายถึงพื้นที่ควบคุมสีแดงเข้ม  แต่จากการประเมินขณะนี้ยืนยันว่าสถานการณ์ระบาดสามารถควบคุมได้ ยังใช้การมองเป็น 3 มิติ คือ มิติพื้นที่ ที่ต้องเฝ้าระวังผู้ติดเชื้อสูง มิติกิจการใดที่เสี่ยง และกิจกรรมใดที่เสี่ยง ทั้งนี้ในวันพรุ่งนี้(15 เม.ย.)กระทรวงสาธารณสุข จะเสนอการยกระดับพื้นที่ให้ทาง ศบค.ชุดเล็ก พิจารณาอีกครั้ง  ขณะเดียวกัน ศบค.เป็นห่วงกลุ่มคนที่เสี่ยงติดเชื้อ หรือคนที่เข้าไปในพื้นที่เสี่ยง หรือคนติดเชื้อแล้วยังไปที่พื้นที่สาธารณะ จึงขอความร่วมมือกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงต้องกักตัวเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่ ส่วนโรงพยาบาลสนามที่รัฐบาล และ ศบค. จัดเตรียมไว้เพียงพอกับการรองรับผู้ติดเชื้อโควิด

 

ดร.พิมพ์รพี ขอ รัฐ ช่วยเอกชน ร่วมจ่ายเงินเดือน ประคองการจ้างงาน เป็นของขวัญวันครอบครัว หวั่น covid ระบาดยืดเยื้อทำคนตกงาน 3 ล้านคน กระทบเศรษฐกิจในครัวเรือนกลายเป็นความรุนแรงในครอบครัว

ดร.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ขอรัฐช่วยประคองการจ้างงาน เป็นของขวัญวันครอบครัวให้คนไทย มีเนื้อหาระบุว่า วันนี้ 14 เมษายน เป็นวันครอบครัวที่ทุกปีคนไทยจะเดินทางกลับไปเยี่ยมเยียนพ่อแม่ เป็นวันรวมญาติพี่น้องให้อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตาถามไถ่สารทุกข์สุขดิบแต่เมื่อ covid ออกอาละวาด วิถีชีวิตก็เปลี่ยนไปตั้งแต่ปีที่แล้ว เราต้องจำกัดการเดินทาง จึงกลายเป็นวันครอบครัวทางไกล พบกันแบบห่าง ๆ ผ่าน เครื่องมือสื่อสาร ถามไถ่กันด้วยความห่วงผ่านระบบออนไลน์ เป็นวิถีที่ต้องปรับบนความรับผิดชอบต่อทั้งตัวเอง ครอบครัวและสังคม สิ่งที่น่ากังวลคือโรคระบาดทำให้เกิดความเครียดในครอบครัวมากขึ้น ในขณะที่รัฐบาลกำลังพยายามแก้ไขปัญหามือเป็นระวิงสิ่งที่อยากให้ทำควบคู่ไปด้วยคือ การรณรงค์ ให้คำปรึกษา เพื่อคลายความเครียด ให้กับประชาชน ทั้งสายด่วนกรมสุขภาพจิต การให้ผู้นำหมู่บ้านสื่อสารผ่านเสียงตามสาย ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง รวมทั้งการให้กำลังใจปลอบประโลมประชาชนคนในพื้นที่

"ที่สำคัญคือต้องประคองการจ้างงานไว้ให้ได้หากจำเป็นรัฐควรพิจารณาข้อเสนอของเอกชนที่ให้รัฐช่วยจ่ายเงินเดือนส่วนหนึ่ง เพราะหากปล่อยให้ยืดเยื้อออกไป เอกชนคงพยุงตัวเองได้อีกไม่นาน เมื่อธุรกิจพังอัตราการว่างงานอาจสูงถึง 3 ล้านคน ตัวเลขจากการศึกษาของนักวิชาการด้านแรงงานทีดีอาร์ไอ ปัญหา เศรษฐกิจและสังคมจะตามมาอีกมาก แต่หากช่วยประคองการจ้างงานได้ จะช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจภายในบ้าน ลดความขัดแย้งในครอบครัวที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงภายในครัวเรือนด้วย นอกจากนี้รัฐบาลต้องเปลี่ยนวิธีการสื่อสารกับประชาชนจากที่เคยเน้นให้เกิดความกลัวต่อโรค covid-19 ต้องหันมาทำความเข้าใจว่าโลกนี้ไม่มีทางหายไปจากเราง่ายๆ เราจึงต้องอยู่ร่วมกับแบบมีสติ อยู่ในภาวะตระหนักแต่ไม่ตระหนก เพราะหากรัฐบาลยังย้ำแต่ ข้อมูลที่ทำให้เกิดความกลัว ความเครียดสะสมในสังคมจะรุนแรง จนกลายเป็นระเบิดอารมณ์พุ่งใส่รัฐบาลในที่สุด"ดร.พิมพ์รพี ระบุทิ้งท้าย

ธุรกิจท่องเที่ยวรายได้ทรุดหมื่นล้าน จากโควิดรอบใหม่ ชี้ มีโอกาสที่จะใช้ระยะเวลาควบคุมสถานการณ์นานกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อรายได้ในธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องที่สูญเสียไปคิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท จากคาดการณ์เดิมในช่วงเดือน มี.ค. 64 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่จะเกิดการระบาดระลอกที่ 3 ขณะที่ แผนการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยในช่วงนี้ยังมีความเสี่ยงจากสถานการณ์การระบาดของโควิด และมาตรการการควบคุมโรคของแต่ละจังหวัด

ทั้งนี้ยังมองว่า การระบาดของโควิดที่เกิดขึ้น ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 ต่อเนื่องถึงเทศกาลสงกรานต์ ได้ส่งผลกระทบทำให้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 นี้ รายได้ของการท่องเที่ยวในประเทศ หรือไทยเที่ยวไทย ซึ่งน่าจะมีมูลค่าประมาณ 1.37 แสนล้านบาท โดยคิดเป็นรายได้ท่องเที่ยวที่หายไปเป็นมูลค่ากว่า 1.3 แสนล้านบาท

การระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 นี้ มีโอกาสที่จะใช้ระยะเวลานานกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ในการควบคุมสถานการณ์ให้คลี่คลายกลับมา เนื่องจากพบผู้ติดเชื้อในประเทศมีจำนวนค่อนข้างสูง เชื้อโควิดเป็นไวรัสสายพันธุ์ที่แตกต่างจากเดิมที่ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ระบุว่าสามารถแพร่ได้เร็ว อีกทั้งต้นตอของการระบาดมาจากพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจในสัดส่วนสูง ขณะที่ การระบาดรอบนี้ เกิดขึ้นหลังรอบก่อนหน้าภายในระยะเวลาเพียง 3 เดือน จึงส่งผลกระทบต่อตลาดไทยเที่ยวไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 นี้ อย่างยากที่จะหลีกเลี่ยงได้


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top