เชื่อว่าบัตรประชาชนที่อยู่ในมือของคนไทยหลายๆ คนตอนนี้ น่าจะเป็นบัตรประชาชนอเนกประสงค์ หรือ บัตรประชาชน Smart Card กันเกือบทั้งนั้นแล้ว
โดยบัตรดังกล่าวมีลักษณะแตกต่างจากบัตรทุกรุ่นที่ผ่านมา นั่นคือ ตัวบัตรทำด้วยพลาสติกชนิดพิเศษ ซึ่งจะมีความแข็งแรงทนทาน แถมรายการในบัตรนี้จะมีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษกำกับในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ เพื่อให้คุณได้ใช้งานได้แบบสากล
แต่ที่พิเศษ คือ ตัวบัตรจะมี 'ไอซี ชิป' สามารถเก็บข้อมูลหลายๆ อย่าง โดยจุได้มากถึง 80 กิโลไบต์ พร้อมกับลายพิมพ์นิ้วมือเจ้าของบัตร เพื่อใช้ในการพิสูจน์ยืนยันตัวบุคคล ตอนไปขอรับบริการต่างๆ ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ช่วยตรวจสอบป้องกันการปลอมแปลงบัตรไปในตัว
บางคนอาจจะถามว่าแล้วบัตรประชาชน Smart Card มันมีอะไรดี?
มันมีอยู่แล้วครับ เพราะทางภาครัฐได้พัฒนามาเพื่อให้การเข้าถึงข้อมูลและการดำเนินธุรกิจธุรกรรมต่างๆ ในโลกยุคดิจิทัลเชื่อมโยงกันได้ง่ายขึ้นแบบไม่วุ่นวายระหว่างประชาชน-รัฐ-เอกชน
อย่างการใช้งานที่เป็นรูปธรรม แล้วก่อให้เกิดภาพชัดๆ ก็ ‘โครงการเราชนะ’ ที่เปิดให้คนไม่มีสมาร์ทโฟน ใช้จ่ายผ่านบัตรประชาชน Smart Cart โดยใช้รูดหรือสแกนกับร้านค้าที่ร่วมรายการ เป็นต้น
เพียงแต่ในความเป็นจริง ความฉลาดหรือ Smart ของบัตรอาจจะยังไม่เพียงพอและไม่ครอบคลุมกับชีวิตประจำวันของคน จึงทำให้ส่วนใหญ่ยังนึกภาพคุณประโยชน์ของมันแบบชัดๆ ไม่ได้มากเท่าไร
THE STATES TIMES เคยได้ถามเกี่ยวกับความ Smart ของบัตรประชาชนรูปแบบนี้กับ ร.อ.ดร.จองชัย วงศ์ทรายทอง ส.ส.ชลบุรี พรรคพลังประชารัฐ หนึ่งในผู้ผลักดันให้โครงการบัตรประชาชน Smart Card เกิดและสามารถทำธุรกรรม - รับสวัสดิการต่าง ๆ ของรัฐได้อย่างสะดวก จนเข้าถึงคนทุกกลุ่ม ซึ่งเขาก็ได้บอกกับเราว่า...
“บัตรประชาชนแบบ Smart Card ที่เรามีกันอยู่ในทุกวันนี้นั้น มันมีประโยชน์อย่างมาก ทำให้กลุ่มคนที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยี เช่น ไม่มีสมาร์ทโฟน ก็สามารถลงทะเบียนรับการช่วยเหลือจากรัฐได้
"เพราะมันถูกพัฒนามาเพื่อรองรับธุรกรรมได้หลากหลาย โดยเฉพาะกับธุรกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งบัตรใบเดียวควรจะเป็นได้ทั้งบัตรประชาชน ใบขับขี่ ประกันสังคม ประกันสุขภาพ และเป็นอีวอลเล็ตในตัว พอจะไปทำธุรกรรมใด ๆ ก็แค่ใช้ข้อมูลต่าง ๆ เชื่อมโยงเพื่อเข้าถึงธุรกรรมใหม่ ๆ ได้ถึงกันอย่างสะดวก
"ฉะนั้นหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้าพัฒนาเรื่องนี้อย่างเต็มความสามารถ ผมเชื่อว่าผลสัมฤทธิ์จะทำให้เกิดความสะดวกหลายประการ ต่อการดำรงชีวิตของประชาชนทั้งในประเทศ และนักท่องเที่ยวต่างชาติ อีกทั้งเป็นการประหยัดต้นทุนในการที่ประเทศต้องผลิตเงินตราออกมาใช้อีกด้วยครับ
"และหากทุกหน่วยงานบูรณาการได้สำเร็จ จะส่งผลดีต่อประเทศจากจุดศูนย์กลาง คือ กรุงเทพมหานคร และจะเกิดผลกระทบในเชิงบวกต่อมายังหัวเมืองใหญ่อื่น ๆ ด้วย
"ผมรอวันที่บัตรนี้จะฉลาดสมชื่อจริง ๆ... "
อย่างไรก็ตาม เรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพของบัตรสมาร์ทการ์ดนั้น ทาง ร.อ.ดร.จองชัย เป็นหัวแรงสำคัญที่พยายามผลักดันแบบสุดซอย โดยเขาบอกว่าเคยได้นำเรียนผ่านสภาฯ เป็นครั้งที่ 2 ไปแล้ว
"ผมพยายามชี้ให้สภาฯ เห็นว่า เราต้องการพัฒนาบัตรประชาชนแบบสมาร์ทการ์ดในปัจจุบันให้ใช้งานให้ได้หลากหลายกว่านี้ เช่น รับเงินเยียวยาเข้าบัตรและสามารถไปกดเงินสดที่ตู้ ATM รวมถึงการทำธุรกรรมอื่น ๆ ทางราชการและเอกชนได้อย่างปลอดภัยและมีความเป็นส่วนตัว”
ร.อ.ดร.จองชัย ยังบอกอีกว่า บัตรประชาชน Smart Card ที่ทุกคนมี ต้องสมาร์ทให้สมกับชื่อ ต้องใช้งานได้หลากหลาย ให้คุ้มกับงบประมาณที่สร้างขึ้นมา เนื่องจากประเทศไทยใช้งบประมาณมหาศาล เพื่อเปลี่ยนมาเป็นบัตรฝังชิปไปแล้ว จะให้อยู่แค่การยืนยันตัวตนกับรับการเยียวยาโครงการที่มาเป็นระยะ ๆ คงไม่เพียงพอ แต่ต้องให้บัตรนี้เป็นบัตรที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของธุรกรรมในชีวิตประจำวันของคนให้ได้
"ถามว่าทุกวันนี้บัตรสมาร์ทการ์ดใช้ทำอะไรได้บ้าง ผมว่าหลายคนคงนึกออกยาก นอกจากมีวาระสำคัญใดๆ เข้ามาให้ต้องใช้ ซึ่งผมว่ามันต้องเป็นได้มากกว่านั้น เอาง่าย ๆ ผมไม่คิดไปไกล ขอแค่ต่อยอดให้บัตรใบนี้พัฒนาฐานข้อมูลให้ดีและปลอดภัย แล้วตอนที่ได้รับเงินเยียวยามา สามารถไปกดเงินที่ตู้ ATM ได้เลย เอาแค่นี้ได้ก่อน คนก็จะรับรู้ได้ถึงประโยชน์จากการมีตัวตนของบัตรนี้”
“อีกประเด็นที่ผมเคยพูดถึงเรื่องบัตร Smart Card ต่อการใช้ในระบบขนส่งมวลชน ควรจะเป็นบัตรใบเดียว เชื่อมโยงทุกโครงข่าย"
"ยกตัวอย่างหันไปมองอังกฤษที่มี Oyster Card ส่วนญี่ปุ่น มี Pasmo และ Suica ขณะที่ ฮ่องกง ก็มี Octopus ซึ่งเป็นตัวอย่างหนึ่งของการใช้ Smart Card บัตรเดียวในระบบขนส่งมวลชน ซึ่งเกิดประสิทธิภาพอย่างมาก”
“แต่พอมองย้อนกลับมาที่ประเทศไทยแล้ว บัตรสมาร์ทการ์ด เติมเต็มชีวิตหรือสร้างความภาคภูมิใจใดต่อคนไทยได้บ้าง อันนี้น่าคิดจริง ๆ"
ทั้งนี้ ร.อ.ดร.จองชัย คาดหวังที่จะเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงมาศึกษาถึงวิถีการดำเนินชีวิตอันหลากหลายของประชาชนในแต่ละวัน แล้วทำให้บัตรสมาร์ทการ์ดไปสร้างประโยชน์ได้ตรงจุด เช่น ทุกวันนี้ยังไม่สามารถใช้บัตรกับระบบขนส่งสาธารณะในไทยได้ ไม่มีการพัฒนาความครอบคลุมเชื่อมใยงกันในหลากหลายบริการผ่านบัตรเดียว รวมไปถึงยังไม่สามารถนำไปใช้ในร้านสะดวกซื้อต่าง ๆ เป็นต้น
"อันนี้น่าคิดนะ เพราะในวันที่เราพูดถึงสังคมยุค Cashless Society หรือสังคมไร้เงินสดบ่อยขึ้นทุกวัน แต่เรากลับใช้ประโยชน์ใด ๆ จากมันไม่ได้เลย ยิ่งช่วงโควิดที่ผ่านมา ประชาชนให้ความสนใจกับเรื่องนี้มากขึ้น เพราะมองว่าเงินหรือธนบัตรก็เป็นแหล่งสะสมโรค แต่จนแล้วจนรอด ก็ยังไม่มีอะไรเกิด สรุปบัตรนี้ยังฉลาดไม่สมชื่อ"
ติดตามเฟสบุ๊ค ร้อยเอก ดร.จองชัย วงศ์ทรายทอง - ผู้กองเบิร์ด
ได้ที่ https://www.facebook.com/jongchai