คุยกับ​ 'ร.อ.ดร.จองชัย วงศ์ทรายทอง'​ ผู้อยู่เบื้องหลังบัตรประชาชน​ Smart Card ในมุมมองประชาชน​ ที่หวังให้บัตรนี้ Smart สมกับชื่อ

เชื่อว่าบัตรประชาชนที่อยู่ในมือของคนไทยหลายๆ​ คนตอนนี้​ น่าจะเป็นบัตรประชาชนอเนกประสงค์ หรือ บัตรประชาชน Smart Card กันเกือบทั้งนั้นแล้ว

โดยบัตรดังกล่าวมีลักษณะแตกต่างจากบัตรทุกรุ่นที่ผ่านมา นั่นคือ ตัวบัตรทำด้วยพลาสติกชนิดพิเศษ ซึ่งจะมีความแข็งแรงทนทาน แถมรายการในบัตรนี้จะมีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษกำกับในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ เพื่อให้คุณได้ใช้งานได้แบบสากล

แต่ที่พิเศษ​ คือ​ ตัวบัตรจะมี​ 'ไอซี ชิป'​ สามารถเก็บข้อมูลหลายๆ​ อย่าง​ โดยจุได้มากถึง 80 กิโลไบต์​ พร้อมกับลายพิมพ์นิ้วมือเจ้าของบัตร​ เพื่อใช้ในการพิสูจน์ยืนยันตัวบุคคล ตอนไปขอรับบริการต่างๆ ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ช่วยตรวจสอบป้องกันการปลอมแปลงบัตรไปในตัว

บางคนอาจจะถามว่าแล้วบัตรประชาชน​ Smart​ Card​ มันมีอะไรดี?

มันมีอยู่แล้วครับ​ เพราะทางภาครัฐได้พัฒนามาเพื่อให้การเข้าถึงข้อมูลและการดำเนินธุรกิจธุรกรรมต่างๆ​ ในโลกยุคดิจิทัลเชื่อมโยงกันได้ง่ายขึ้น​แบบไม่วุ่นวายระหว่างประชาชน​-รัฐ-เอกชน

อย่างการใช้งานที่เป็นรูปธรรม​ แล้วก่อให้เกิดภาพชัดๆ​ ก็ ‘โครงการเราชนะ’ ที่เปิดให้คนไม่มีสมาร์ทโฟน ใช้จ่ายผ่านบัตรประชาชน Smart Cart โดยใช้รูดหรือสแกนกับร้านค้าที่ร่วมรายการ​ เป็นต้น

เพียงแต่ในความเป็นจริง​ ความฉลาดหรือ​ Smart​ ของบัตรอาจจะยังไม่เพียงพอ​และไม่ครอบคลุมกับชีวิตประจำวันของคน​ จึงทำให้ส่วนใหญ่ยังนึกภาพคุณประโยชน์ของมันแบบชัดๆ​ ไม่ได้มากเท่าไร

THE​ STATES​ TIMES​ เคยได้ถามเกี่ยวกับความ Smart​ ของบัตรประชาชนรูปแบบนี้​กับ​ ร.อ.ดร.จองชัย วงศ์ทรายทอง ส.ส.ชลบุรี พรรคพลังประชารัฐ หนึ่งในผู้ผลักดันให้โครงการบัตรประชาชน Smart Card เกิดและสามารถทำธุรกรรม - รับสวัสดิการต่าง ๆ​ ของรัฐได้อย่างสะดวก จนเข้าถึงคนทุกกลุ่ม​ ซึ่งเขาก็ได้บอกกับเราว่า...

“บัตรประชาชนแบบ​ Smart​ Card​ ที่เรามีกันอยู่ในทุกวันนี้นั้น​ มันมีประโยชน์อย่างมาก​ ทำให้กลุ่มคนที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยี​ เช่น ไม่มีสมาร์ทโฟน​ ก็สามารถลงทะเบียนรับการช่วยเหลือจากรัฐได้

"เพราะมันถูกพัฒนามาเพื่อรองรับธุรกรรมได้หลากหลาย โดยเฉพาะกับธุรกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งบัตรใบเดียวควรจะเป็นได้ทั้งบัตรประชาชน ใบขับขี่ ประกันสังคม ประกันสุขภาพ และเป็นอีวอลเล็ตในตัว พอจะไปทำธุรกรรมใด​ ๆ ก็แค่ใช้ข้อมูลต่าง ๆ​ เชื่อมโยงเพื่อเข้าถึงธุรกรรมใหม่ ๆ​ ได้ถึงกันอย่างสะดวก

"ฉะนั้นหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้าพัฒนาเรื่องนี้อย่างเต็มความสามารถ ผมเชื่อว่าผลสัมฤทธิ์จะทำให้เกิดความสะดวกหลายประการ ต่อการดำรงชีวิตของประชาชนทั้งในประเทศ และนักท่องเที่ยวต่างชาติ อีกทั้งเป็นการประหยัดต้นทุนในการที่ประเทศต้องผลิตเงินตราออกมาใช้อีกด้วยครับ

"และหากทุกหน่วยงานบูรณาการได้สำเร็จ​ จะส่งผลดีต่อประเทศจากจุดศูนย์กลาง​ คือ​ กรุงเทพมหานคร และจะเกิดผลกระทบในเชิงบวกต่อมายังหัวเมืองใหญ่อื่น ๆ​ ด้วย

"ผมรอวันที่บัตรนี้จะฉลาดสมชื่อจริง ๆ... "

อย่างไรก็ตาม​ เรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพของบัตรสมาร์ทการ์ดนั้น​ ทาง​ ร.อ.ดร.จองชัย​ เป็นหัวแรงสำคัญที่พยายามผลักดันแบบสุดซอย โดยเขาบอกว่าเคยได้นำเรียนผ่านสภาฯ​ เป็นครั้งที่ 2​ ไปแล้ว​

"ผมพยายามชี้ให้สภาฯ​ เห็นว่า​ เราต้องการพัฒนาบัตรประชาชนแบบสมาร์ทการ์ดในปัจจุบันให้ใช้งานให้ได้หลากหลายกว่านี้ เช่น รับเงินเยียวยาเข้าบัตรและสามารถไปกดเงินสดที่ตู้ ATM รวมถึงการทำธุรกรรมอื่น ๆ​ ทางราชการ​และเอกชนได้อย่างปลอดภัยและมีความเป็นส่วนตัว”

ร.อ.ดร.จองชัย​ ยังบอกอีกว่า​ บัตรประชาชน Smart Card ที่ทุกคนมี ต้องสมาร์ทให้สมกับชื่อ​ ต้องใช้งานได้หลากหลาย ให้คุ้มกับงบประมาณที่สร้างขึ้นมา​ เนื่องจากประเทศไทยใช้งบประมาณมหาศาล เพื่อเปลี่ยนมาเป็นบัตรฝังชิปไปแล้ว​ จะให้อยู่แค่การยืนยันตัวตนกับรับการเยียวยาโครงการที่มาเป็นระยะ ๆ​ คงไม่เพียงพอ​ แต่ต้องให้บัตรนี้เป็นบัตรที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของธุรกรรมในชีวิตประจำวันของคนให้ได้

"ถามว่าทุกวันนี้บัตรสมาร์ทการ์ดใช้ทำอะไรได้บ้าง ผมว่าหลายคนคงนึกออกยาก​ นอกจากมีวาระสำคัญใดๆ​ เข้ามาให้ต้องใช้​ ซึ่งผมว่ามันต้องเป็นได้มากกว่านั้น​ เอาง่าย ๆ​ ผมไม่คิดไปไกล​ ขอแค่ต่อยอดให้บัตรใบนี้พัฒนาฐานข้อมูลให้ดีและปลอดภัย​ แล้วตอนที่ได้รับเงินเยียวยามา​ สามารถไปกดเงินที่ตู้ ATM ได้เลย เอาแค่นี้ได้ก่อน​ คนก็จะรับรู้ได้ถึงประโยชน์จากการมีตัวตนของบัตรนี้”

“อีกประเด็นที่ผมเคยพูดถึงเรื่องบัตร Smart Card ต่อการใช้ในระบบขนส่งมวลชน ควรจะเป็นบัตรใบเดียว เชื่อมโยงทุกโครงข่าย"

"ยกตัวอย่างหันไปมองอังกฤษที่มี Oyster Card ส่วนญี่ปุ่น มี Pasmo และ Suica ขณะที่ ฮ่องกง ก็มี Octopus ซึ่งเป็นตัวอย่างหนึ่งของการใช้ Smart Card บัตรเดียวในระบบขนส่งมวลชน ซึ่งเกิดประสิทธิภาพอย่างมาก”

“แต่พอมองย้อนกลับมาที่ประเทศไทยแล้ว​ บัตรสมาร์ทการ์ด​ เติมเต็มชีวิตหรือสร้างความภาคภูมิใจใดต่อคนไทยได้บ้าง อันนี้น่าคิดจริง ๆ"

ทั้งนี้​ ร.อ.ดร.จองชัย คาดหวังที่จะเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลง​มาศึกษาถึงวิถีการดำเนินชีวิตอันหลากหลายของประชาชนในแต่ละวัน​ แล้วทำให้บัตรสมาร์ทการ์ดไปสร้างประโยชน์ได้ตรงจุด เช่น​ ทุกวันนี้ยังไม่สามารถใช้บัตรกับระบบขนส่งสาธารณะในไทยได้​ ไม่มีการพัฒนาความครอบคลุมเชื่อมใยงกันในหลากหลายบริการผ่านบัตรเดียว รวมไปถึงยังไม่สามารถนำไปใช้ในร้านสะดวกซื้อต่าง ๆ​ เป็นต้น

"อันนี้น่าคิดนะ​ เพราะในวันที่เราพูดถึงสังคมยุค Cashless Society หรือสังคมไร้เงินสดบ่อยขึ้นทุกวัน แต่เรากลับใช้ประโยชน์ใด ๆ​ จากมันไม่ได้เลย​ ยิ่งช่วงโควิดที่ผ่านมา​ ประชาชนให้ความสนใจกับเรื่องนี้มากขึ้น​ เพราะมองว่าเงินหรือธนบัตรก็เป็นแหล่งสะสมโรค แต่จนแล้วจนรอด​ ก็ยังไม่มีอะไรเกิด​ สรุปบัตรนี้ยังฉลาดไม่สมชื่อ"


ติดตามเฟสบุ๊ค ร้อยเอก ดร.จองชัย วงศ์ทรายทอง - ผู้กองเบิร์ด

ได้ที่ https://www.facebook.com/jongchai