Sunday, 27 April 2025
TodaySpecial

18 สิงหาคม ของทุกปี เป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ น้อมรำลึกถึง ร.4 ‘พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย’

18 สิงหาคม ‘วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ’ หนึ่งในวันที่มีความสำคัญในวงการวิทยาศาสตร์ไทย รำลึกถึงวันที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวงเมื่อ พ.ศ. 2411 ที่บ้านหว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์

ในวันที่ 18 สิงหาคม ของทุก ๆ ปี ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งในวันสำคัญของวงการวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ และการศึกษาของไทย เนื่องจากตรงกับวันที่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้เสร็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวง ที่ ต.หว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ หลังพระองค์ทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคาไว้อย่างแม่นยำ ล่วงหน้า 2 ปี ด้วยพระปรีชาสามารถด้านวิทยาศาสตร์ของพระองค์ จึงได้มีการถวายพระราชสมัญญานามให้ทรงเป็น ‘พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย’

และด้วยพระปรีชาสามารถด้านวิทยาศาสตร์นี้ คณะรัฐมนตรีจึงกำหนดให้วันที่ 18 สิงหาคมของทุกปี เป็น ‘วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ’ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ครั้งสำคัญทางวิทยาศาสตร์ดังกล่าว และเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงเป็น ‘พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย’ ไปพร้อมกัน

สำหรับความเป็นมาเสร็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยพระราชโอรส พระราชธิดา รวมทั้งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ (รัชกาลที่ 5) ขณะพระชนมายุ 16 พรรษา ได้เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค ไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวงที่ ตำบลบ้านหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในวันที่18 สิงหาคม พ.ศ. 2411

ด้วยทรงตั้งพระปณิธานแน่วแน่ที่จะพิสูจน์ผลการคำนวณของพระองค์ หลังจากที่ทรงใช้กล้องโทรทรรศน์คำนวณการเกิดสุริยุปราคาครั้งแรกได้อย่างแม่นยำ ล่วงหน้า 2 ปี ซึ่งพระองค์คำนวณไว้ว่า สุริยุปราคาจะเกิดขึ้นในวันอังคาร ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 10 ปีมะโรง สัมฤทธิศก จุลศักราช 1230 โดยจะเห็นหมดดวงและชัดเจนที่สุด ที่หมู่บ้านหัววาฬ ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่บริเวณ เกาะจาน ขึ้นไปถึงปราณบุรี และลงไปถึงเมืองชุมพร และโปรดฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุญนาค) ไปสร้างค่ายหลวงและพลับพลาที่ประทับ พร้อมกับเชิญคณะนักดาราศาสตร์จากประเทศฝรั่งเศส และเซอร์แฮรี ออด เจ้าเมืองสิงคโปร์เดินทางมาเข้าเฝ้าฯ และร่วมในการสังเกตการณ์ ซึ่งเมื่อถึงวันอังคารที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 เหตุการณ์ก็เป็นไปตามที่ทรงพยากรณ์ไว้ทุกประการ ไม่คลาดเคลื่อนแม้แต่วินาทีเดียว

องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่ง สหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ประกาศยกย่องพระเกียรติคุณของพระองค์ให้ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้วยพระราชกรณียกิจและพระเกียรติคุณนานัปการ โดยเฉพาะพระราชกรณียกิจด้านดาราศาสตร์

19 สิงหาคม พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จสู่สวิตเซอร์แลนด์ เพื่อทรงศึกษาต่อ

วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2489 เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จจากสยามสู่สวิตเซอร์แลนด์ เพื่อทรงศึกษาต่อ

ท่ามกลางเสียงโห่ร้องถวายพระพร ระหว่างที่รถพระที่นั่งแล่นผ่าน ฝูงชนส่งเสด็จเดินทางจากสยามประเทศเพื่อไปศึกษาต่อ ณ สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2489 ได้มีเสียงหนึ่งตะโกนแทรกมาเข้าพระกรรณว่า "ในหลวงอย่าทิ้งประชาชน" ในขณะนั้น ทรงนึกตอบในพระทัยว่า "ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้วข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนได้อย่างไร" 

นับเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่อยู่ในพระทัยของในหลวง ร.9 มาโดยตลอด พร้อมกับได้ทรงพระราชนิพนธ์บันทึกประจำวัน ‘เมื่อข้าพเจ้าจากสยาม สู่สวิตเซอร์แลนด์’ พระราชทานแก่หนังสือวงวรรณคดีไทย เพื่อถ่ายทอดความรู้สึกซาบซึ้งพระราชหฤทัยถึงน้ำใจของประชาชน ที่พร้อมใจกันมาส่งเสด็จอย่างมืดฟ้ามัวดินในครั้งนั้น

ในช่วงนั้น บรรยากาศแห่งความเศร้าสลดครอบคลุมชาติไทย มองไปทางไหนมีแต่สีแห่งความทุกข์ คือสีดำเต็มไปหมด ความมหาวิปโยคเพิ่งเกิดขึ้นกับทวยราษฎร์ข้าแผ่นดิน เพราะเพิ่งสูญเสียพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระปิยราชบรมราชกษัตริย์ไปอย่างไม่มีวันกลับ เหลือเพียงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ‘พระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่’ เพียงองค์เดียวเท่านั้นที่จะเป็นความหวังและที่พึ่งของไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ประชาชนได้ทุ่มเทความรัก ความหวงแหนยิ่งถวายแด่พระองค์จนหมดสิ้น

เมื่อถึงวันที่พระองค์ทรงอำลาผืนแผ่นดินไทยไปสู่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อทรงศึกษาต่อ ประชาชนทั้งหลายจึงรู้สึกเปล่าเปลี่ยว เหมือนคนไร้ที่พึ่ง ไร้พระบรมโพธิสมภารที่เคยร่มเย็น ขณะรถยนต์พระที่นั่งค่อย ๆ เคลื่อนอย่างช้า ๆ ผ่านหน้ามหาชนนับหมื่นนับแสนที่มาเฝ้าฯ ส่งเสด็จอยู่ด้วยความจงรักภักดี นาทีนั้นเอง ทุกคนรู้สึกตรงกัน เหมือนดวงใจถูกพรากหลุดลอยไป เกรงว่าพระองค์จะไม่เสด็จนิวัตประเทศไทยอีก เหลือสุดที่ประชาชนจะทนได้ จึงมีเสียงร้องทูลขอสัญญาว่า

"อย่าทิ้งประชาชน..."

"ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนได้อย่างไร"

นั่นคือพระราชสัจจะจากดวงพระราชหฤทัย ที่จะมีพระราชดำรัสกับประชาชนในขณะนั้น  

แม้เครื่องบินพระที่นั่งทะยานขึ้นสู่ฟ้ามหานครแล้ว แต่ถนนทุกสายยังเนืองแน่นด้วยประชาชนที่เฝ้ามอง ‘พระเจ้าอยู่หัว’ จนกระทั่งเครื่องบินลับหายไปจากสายตา พร้อมกับดวงใจของประชาชนที่เฝ้ารอพระองค์กลับมา...เป็นมิ่งขวัญตลอดไป

และเสียงร้องทูลขอสัญญาของประชาชนในวันนั้น ตรึงตราประทับอยู่ในพระราชหฤทัยตลอดมา เป็นสายใจผูกพัน ทำให้ทรงเป็น ‘พระเจ้าอยู่หัวของประชาชนอย่างแท้จริง’

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างประภาคาร เกาะสีชัง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างอัษฎางค์ประภาคารขึ้นเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2434 เพื่อใช้ส่องสัญญาณไฟนำทางให้แก่เรือต่าง ๆ ที่ออกเรือประมงตกปลา ตกหมึกในยามค่ำคืน เนื่องจากทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะสีชังมีศิลาสัมปะยื้อกีดขวางเส้นทางเดินเรือ และอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่เรือประมงที่แล่นเข้า - ออก

บริเวณประภาคารมีเรือนให้คนรักษาประภาคารอยู่ทำหน้าที่ประจำ 1 หลังและเนื่องจากอัษฎางค์ประภาคารตั้งอยู่บริเวณส่วนปลายสุดของ ‘แหลมวัง’ ชาวบ้านบนเกาะสีชังจึงนิยมเรียกประภาคารแห่งนี้ในอีกชื่อหนึ่งว่า ‘ประภาคารแหลมวัง’ แต่ในปัจจุบันได้มีการสร้างประภาคารขึ้นใหม่ใกล้กับท่าเรือ เทวงษ์ (ท่าล่าง) ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะสีชัง อัษฎางค์ประภาคารจึงกลายเป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ขึ้นที่นักท่องเที่ยวนิยมอีกแห่งหนึ่ง

ต่อมาตัวประภาคารหินสัมปะยื้อ และบ้านพักของเจ้าหน้าที่ได้ชำรุดทรุดโทรมมาก และประกอบกับการคมนาคมไม่สะดวก ดังนั้น จึงได้ทำการบูรณะซ่อมแซมตัวประภาคารใหม่ และได้ย้ายบ้านพักของเจ้าหน้าที่ประภาคารไปตั้งอยู่บนเกาะขามใหญ่ (ตรงข้ามเกาะสีชัง) เมื่อ พ.ศ. 2512 มาจนถึงทุกวันนี้ สำหรับตัวเรือนตะเกียงที่ติดตั้งบนประภาคาร ได้ทำการเปลี่ยนแปลงจากระบบน้ำมันก๊าด มาใช้เป็นระบบตะเกียงก๊าซอเซทีลีน เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2471 และต่อมาได้เปลี่ยนแปลงมาใช้ตะเกียงระบบพลังงานแสงอาทิตย์ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2534


 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกาศให้ใช้หน่วย ‘สตางค์’ เป็นครั้งแรก

วันนี้เมื่อ 155 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ประกาศให้ใช้หน่วย ‘สตางค์’ เป็นครั้งแรก

ย้อนกลับไปในวันนี้เมื่อ 155 ปีที่แล้ว ซึ่งตรงกับวันที่ 21 สิงหาคม ปี พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือรัชกาลที่ 5 ได้มีการออกประกาศให้ใช้หน่วย ‘สตางค์’ เป็นครั้งแรก หลังจากที่ไทยใช้หน่วยของเงินเป็น ตำลึง บาท สลึง เฟื้อง ซึ่งถือเป็นระบบที่ยากต่อการคำนวณและการแลกเปลี่ยนในการใช้จ่ายต่าง ๆ

โดย 100 สตางค์ มีการกำหนดค่าให้เท่ากับ 1 บาท และนั่นถือเป็นจุดกำเนิดของหน่วยสากลที่นิยมใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน


 

22 สิงหาคม พ.ศ. 2407  วันก่อตั้งกาชาดสากล หลัง 12 ชาติยุโรป ลงนามในอนุสัญญาเจนีวา

วันนี้เมื่อ 159 ปีก่อน เป็นวันที่สภากาชาดสากลก่อตั้งขึ้นครั้งแรกที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ หลังจากประเทศในยุโรป 12 ชาติ ลงนามในอนุสัญญาเจนีวา

ย้อนกลับไปในวันนี้ เมื่อ 159 ปีที่แล้ว (22 สิงหาคม พ.ศ. 2407) อองรี ดูนังต์ (Henri Dunant) นักธุรกิจชาวสวิสเซอร์แลนด์ ได้ทำการร่างสัญญาฉบับหนึ่งขึ้นมา เพื่อร่วมลงนามกับประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรปเป็นจำนวน 12 ประเทศ เพื่อเสนอให้มีการก่อตั้งองค์กรกลางเพื่อดูแลทหารที่ได้รับบาดเจ็บจากสงคราม ซึ่งถูกเรียกว่า อนุสัญญาเจนิวา (Geneva Conventions) ฉบับที่ 1 และเกิดเป็นการก่อตั้ง ‘กาชาดสากล’ ขึ้น

โดยสัญลักษณ์ที่หลาย ๆ คนน่าจะคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี คือจะใช้เป็นรูปกากบาทสีแดงบนพื้นที่มีสีขาว ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ของธงประจำชาติสวิตเซอร์แลนด์นั่นเอง

และด้วยการทำงานขององค์กรกาชาดนี้ ที่เข้ามามีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เป็นอย่างดี ส่งผลให้ นายอังรี ดูนังต์ ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพครั้งแรกของโลกในปี พ.ศ. 2444 อีกด้วย

23 สิงหาคม พ.ศ. 2553 รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ

วันนี้ เมื่อ 13 ปีที่แล้ว เป็นวันเปิดให้บริการ รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ หรือ รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อย่างเป็นทางการวันแรก

รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ (Airport Rail Link) หรือ รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นโครงการระบบขนส่งมวลชนแบบพิเศษ เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2553 ปัจจุบันต้นสถานีของ ARL คือ พญาไทและปลายสถานี คือสนามบินสุวรรณภูมิ โดยใช้ระยะเวลาการเดินทาง 25 นาที

ในวันที่ 25 ตุลาคม 2564 รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ‘AERA1’ (เอราวัน) ภายใต้ผู้รับสัมปทานรายใหม่ คือ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ของกลุ่มซี.พี. และพันธมิตร จากผู้รับสัมปทานรายเดิม คือ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) บริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)

ในอนาคต ‘รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์’ จะมีการรวมรถไฟฟ้าสายนี้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน สุวรรณภูมิ ดอนเมือง และอู่ตะเภา โดยใช้เส้น Airport Rail Link เดิมเป็นส่วนต่อขยาย โดยแนวเส้นทางส่วนที่ต่อขยายคือ สถานีพญาไท เชื่อมต่อกับสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งเป็นสถานีต้นทางของรถไฟชานเมืองสายสีแดง บางซื่อ- รังสิต และ บางซื่อ-ตลิ่งชัน และจะเชื่อมต่อไปยังสถานีดอนเมือง

ทั้งนี้ หากก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้งาน ระยะเวลาที่ใช้เดินทางจาก สถานีพญาไทไปสนามบินดอนเมืองจะใช้เวลาเพียง 10-15 นาทีเท่านั้น ซึ่งจะทำให้การเดินทางสู่สองสนามบินเป็นเรื่องง่ายดาย ทั้งลดระยะเวลาการเดินทางและมีความสะดวกสบายที่มากขึ้น

24 สิงหาคม พ.ศ. 2557 โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของไทย

วันนี้เมื่อ 9 ปีที่แล้ว ในหลวง รัชกาลที่ 9 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของไทย

ประกาศราชกิจจานุเบกษา พระบรมราชโองการ ประกาศแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี มีเนื้อหาดังนี้

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ได้บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งตามมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ลงมติเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2557 เห็นชอบด้วยในการแต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

จึงทรงพระราชดำริว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้ที่สมควรไว้วางพระราชหฤทัยให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 19 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี บริหารราชการแผ่นดินตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 24 สิงหาคม 2557 เป็นปีที่ 69 ในรัชกาลปัจจุบัน
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ 
นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

26 สิงหาคม พ.ศ. 2461 ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงอภิเษกสมรส กับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี

วันนี้เมื่อ 105 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอภิเษกสมรส กับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี 

พระราชพิธีอภิเษกสมรสพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2461 ณ พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน ถือเป็นการอภิเษกสมรสครั้งแรกในสยาม ซึ่งได้นำแบบอย่างธรรมเนียมการสมรสของชาวตะวันตกมาปรับใช้ มีพิธีการจดทะเบียนสมรสเป็นคู่แรกของสยาม และมีการพระราชทานของชำร่วยเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สยาม ซึ่งเป็นแม่แบบพิธีแต่งงานของไทยที่สืบต่อกันมาจนถึงยุคปัจจุบัน

ย้อนไปเมื่อวันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2461 เวลา 14.00 น. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขทัยธรรมราชา และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี หรือหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี สวัสดิวัตน์ พระอิสริยยศ ณ ขณะนั้น ณ พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน ถือเป็น ‘พระราชพิธีอภิเษกสมรสครั้งแรกในสยาม’

หลังจากการตรากฎมณเฑียรบาลว่าด้วย การเศกสมรสแห่งเจ้านายในพระราชวงศ์ พุทธศักราช ๒๔๖๑ ความตอนหนึ่งว่า “ให้เจ้านายในพระราชวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปจะทำการเศกสมรสกับผู้ใด ให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อน เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้วจึงจะทำการพิธีนั้นได้”

เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2461 สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนฯ ทำหนังสือกราบบังคมทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตอภิเษกสมรสกับ หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ความตอนหนึ่งว่า

“บัดนี้ ข้าพระพุทธเจ้าได้ปฏิพัทธ์รักใคร่กับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ธิดาแห่งเสด็จน้า และข้าพระพุทธเจ้าอยากจะใคร่ทำการสมรสกับเจ้าหญิงนั้น แต่เดิมข้าพระพุทธเจ้าได้ชอบพอกับหญิงรำไพพรรณี ฉันเด็กและผู้ใหญ่ และสมเด็จแม่ก็โปรดให้หญิงรำไพพรรณี มารับใช้ข้าพระพุทธเจ้าอยู่เสมอ ข้าพระพุทธเจ้าได้ กราบทูลสมเด็จแม่ว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะมีหนังสือกราบบังคมทูลใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเพื่อทราบพระราชปฏิบัติ ท่านก็ทรงเห็นด้วยกับข้าพระพุทธเจ้า ส่วนเสด็จน้านั้น ท่านรับสั่งว่าท่านไม่ทรงเกี่ยวข้องด้วย เพราะท่านได้ถวายหญิงรําไพไว้ขาดแด่สมเด็จแม่ตั้งแต่ยังเล็กๆ แล้ว…” (อ้างใน ราชเลขาธิการ 2531: 15)

ในพระราชพิธีอภิเษกสมรส สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขทัยธรรมราชา และหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ทรงลงพระนามในสมุด ‘ทะเบียนแต่งงาน’ แล้วพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยเป็น ‘ผู้สู่ขอตกแต่ง’ และ ‘ผู้ทรงเป็นประธานและพยานในการแต่งงาน’ และโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านายชั้นพระบรมวงศ์ลงพระนามเป็นพยาน รวม 12 พระองค์

นับว่าเป็น ‘ครั้งแรกที่มีการจดทะเบียนสมรสในพระราชวงศ์’ สะท้อนให้เห็นว่า สังคมไทยเริ่มมีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและวัฒนธรรมการครองเรือนให้เป็นแบบตะวันตก และยังเป็นแม่แบบของพิธีแต่งงานของไทยยุคใหม่ที่มีการจดทะเบียนสมรส

ในเวลาค่ำ พระราชทานเลี้ยงพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการที่มาร่วมงาน และได้ทรงพระราชทานของชำร่วย เป็นแหวนทองคำลงยาประดับเพชร ถือเป็น ‘ของชำร่วยวันแต่งงานครั้งแรกในประวัติศาสตร์สยาม’

25 สิงหาคม พ.ศ. 2565  พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ  รักษาการนายกฯ แทน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นวันแรก

วันนี้ เมื่อปีก่อน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นั่งเก้าอี้รักษาการนายกรัฐมนตรี แทน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ระหว่างรอวินิจฉัยอยู่ในตำแหน่งนายกฯ 8 ปี

จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมาก 5:4 รับคำร้อง วาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี และ สั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หยุดปฏิบัติหน้าที่ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2565 โดยในระหว่างนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จะปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีแทนไปจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยออกมา

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันในนาม ‘ลุงป้อม’ กับภาพลักษณ์ผู้ใหญ่ใจดี ยิ้มง่าย มีใบหน้าเปื้อนยิ้มตลอดเวลา

พล.อ.ประวิตร เกิดเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2488 เพิ่งอายุครบ 78 ปีไปหมาด ๆ เป็นชาวกรุงเทพมหานครโดยกำเนิด เข้าเรียนที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ก่อนศึกษาต่อยังโรงเรียนเตรียมทหาร ในรุ่นที่ 6 โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 17 พร้อมกับจบการศึกษาหลักสูตรประจำ ชุดที่ 56 โรงเรียนเสนาธิการทหารบก เมื่อปี 2521

ในด้านการรับราชการทหาร พล.อ.ประวิตร ก้าวขึ้นมาเป็นผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 12 รักษาพระองค์ เมื่อปี 2532 ต่อด้วยผู้บัญชาการกรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ฯ เมื่อปี 2539 และค่อย ๆ ได้รับการขยับตำแหน่งสูงขึ้น จนได้มาเป็นผู้บัญชาการทหารบกเมื่อปี 2547 ในสมัยนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และถือได้ว่าเป็นนายทหารรุ่นพี่ที่สนิทสนมกับนายทหารอดีตผู้บัญชาการทหารบกสองนาย คือ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จนได้รับฉายาว่าเป็นพี่ใหญ่แห่งพี่น้อง 3 ป.

สำหรับเส้นทางการเมืองของพล.อ.ประวิตร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในปี พ.ศ. 2552 จากนั้น ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานที่ปรึกษา และเป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ภายหลังจากการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557

27 สิงหาคม พ.ศ. 2378  หมอบรัดเลย์ นายแพทย์ชาวอเมริกัน เริ่มการผ่าตัดเป็นครั้งแรกในสยาม

วันนี้เมื่อ 188 ปีก่อน หมอบรัดเลย์ เริ่มการผ่าตัดเป็นครั้งแรกในสยาม โดยผ่าตัดก้อนเนื้อที่หน้าผากของผู้ป่วยรายหนึ่งโดยไม่มียาสลบ

หมอบรัดเลย์ หรือ แดน บีช แบรดลีย์ (Dan Beach Bradley) เป็นนายแพทย์ชาวอเมริกัน ได้เดินทางเข้ามายังสยาม เมื่อ พ.ศ. 2378 โดยเข้ามาทำงานในคณะกรรมธิการพันธกิจคริสตจักร โพ้นทะเล (American Board of Commissioners for Foreign Missions) พักอาศัยอยู่กับมิชชันนารี ชื่อ จอห์นสัน ที่วัดเกาะ และได้เปิดโอสถศาลาขึ้นที่ข้างใต้วัดเกาะ รับรักษาโรคให้แก่ชาวบ้านแถวนั้นพร้อมทั้งสอนศาสนาคริสต์ให้แก่ชาวจีนที่อยู่ในเมืองไทย

ต่อมาหมอบรัดเลย์ได้เริ่มการผ่าตัดเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยผ่าตัดก้อนเนื้อ (ฝีขนาดใหญ่เหนือคิ้วซ้าย) ที่หน้าผากของผู้ป่วยรายหนึ่งโดยในขณะนั้นยังไม่มียาสลบ เป็นการผ่าตัดก่อนหน้าจะมีการใช้ยาสลบอีเทอร์ครั้งแรกในประเทศไทยถึง 13 ปี (ยาสลบอีเทอร์ใช้ครั้งแรกในไทยโดยหมอเฮาส์ในปี พ.ศ. 2391) การผ่าตัดสำเร็จด้วยดีท่ามกลางการเฝ้าดูและให้กำลังใจของชาวบ้าน

และอีกหนึ่งการผ่าตัดที่ได้รับการจารึกไว้คือเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2380 เกิดเหตุระเบิดของปืนใหญ่ที่บริเวณงานวัดประยุรวงศาวาส มีคนเสียชีวิต 8 คน และบาดเจ็บจำนวนมาก ซึ่งในเหตุการณ์นี้ได้มีพระภิกษุรูปหนึ่งได้รับบาดแผลฉกรรจ์หมอบรัดเลย์จึงได้คิดเห็นว่าต้องตัดแขนและขาทิ้ง เพื่อรักษาชีวิตไว้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top