Monday, 28 April 2025
TodaySpecial

29 กรกฎาคม ของทุกปี  ‘วันภาษาไทยแห่งชาติ’ ถือเป็นวันที่ระลึกถึงภาษาของชาติไทย

วันภาษาไทยแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันที่คนไทยควรตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย ซึ่งเป็นภาษาประจำชาติ อันเป็นเอกลักษณ์และวัฒนธรรมทางภาษาที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์

วันภาษาไทยแห่งชาติ มีขึ้นเพื่อรำลึกถึงความสำคัญของภาษาไทย ในราวปี พ.ศ. 1826 พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์ ‘ลายสือไทย’ ขึ้นเป็นครั้งแรก ดัดแปลงมาจากอักษรมอญและเขมร มีพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ เพื่อใช้แทนความหมายและเสียงต่างๆ ในภาษาไทย ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็น ‘อักษรไทย’ ที่เราใช้กันในปัจจุบันนั่นเอง

สำหรับวันภาษาไทยแห่งชาติ ประกาศใช้ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2542 โดยมีความเป็นมาจากเหตุการณ์เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) เสด็จพระราชดำเนินไปอภิปรายหัวข้อ ‘ปัญหาการใช้คำไทย’ ในการประชุมวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 พระองค์ท่านทรงแสดงความห่วงใยในภาษาไทย โดยทรงมีพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า

“เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษานี้ก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียงคือ ให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่า วิธีใช้คำมาประกอบประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สาม คือ ความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้ สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่ายๆ ก็ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่าๆ ที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก”

ต่อมาในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542 เป็นวันเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 9 เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ทางคณะรัฐมนตรีได้มีมติลงความเห็นให้ วันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี เป็น ‘วันภาษาไทยแห่งชาติ’ และใช้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

‘โชคสองชั้น’ ภาพยนตร์ฝีมือคนไทยเรื่องแรก ได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์พัฒนากร

‘โชคสองชั้น’ เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรก ที่สร้างและผลิตโดยคนไทยทั้งหมด เป็นภาพยนตร์เงียบ ถ่ายทำด้วยฟิล์มขาว-ดำขนาด 35 มม. ผลิตโดย กรุงเทพ ภาพยนตร์ บริษัท (ต่อมา คือ บริษัท ภาพยนตร์ศรีกรุง ของมานิต วสุวัต ร่วมกับคณะนักหนังสือพิมพ์สยามราษฎร์ และศรีกรุง)

ภาพยนตร์ โชคสองชั้น เข้าฉายครั้งแรกเมื่อ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2470 ที่โรงภาพยนตร์พัฒนากร มีจำนวนผู้ชมสูงสุด 4 คืน กับ 1 วัน เท่ากับ 12,130 คน ทำลายสถิติเมื่อสี่ปีก่อนหน้า ของภาพยนตร์เรื่อง นางสาวสุวรรณ ปัจจุบันหนังเรื่องนี้ได้รับความเสียหายจากความเสื่อมสภาพ โดยหอสมุดแห่งชาติได้ค้นพบฟิล์มและพิมพ์สำเนาใหม่เอาไว้ได้เพียง 42 ฟุต คิดเป็นภาพนิ่งทั้งหมด 1,319 ภาพ รวมความยาวประมาณ 1 นาที

ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2555 เนื่องในวันอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทยของหอภาพยนตร์ ขณะมีอายุเก่าแก่ที่สุด 85 ปี ในบรรดา 25 เรื่อง

กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัดเวทีระดมความคิด ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ก่อนวางโรดแมปแผนปฏิบัติการระยะยาว ปี 2567 – 2571 ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว 

26 กรกฎาคม 2566 - โรงแรม เซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการ และคอนเวนชัน เซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ 

นายภุชพงศ์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม รับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีต่อการจัดทำแผนปฏิบัติการระยะยาว (พ.ศ. 2567 - 2571) และแผนปฏิบัติการประจำปี พ.ศ. 2567 ภายใต้โครงการกำกับ ติดตาม บริหารจัดการแผนงานและตัวชี้วัดของกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีคณะปรึกษาจากสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินกิจกรรมการประชุม

นายภุชพงศ์ กล่าวว่า กิจกรรมการประชุมรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีต่อการจัดทำแผนปฏิบัติการระยะยาว (พ.ศ. 2567 - 2571) และแผนปฏิบัติการประจำปี พ.ศ. 2567 ในครั้งนี้ ถือว่ามีความสำคัญในการระดมความคิดเห็นและสร้างการมีส่วนร่วมในการทำงานร่วมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนให้กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีแนวทางการปฏิบัติงานที่สามารถบรรลุผลลัพธ์ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ การวางระบบและ กลไกในการกำกับติดตามการดำเนินการตามตัวชี้วัดการประเมินผลการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพในปีถัดไป

“นับเป็นโอกาสดีที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ร่วมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงสร้างสรรค์ ตลอดจนการสร้างเครือข่ายและสนับสนุนการทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดแผนปฏิบัติการระยะยาวของกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่นำประโยชน์มาสู่ประเทศชาติและประชาชนต่อไป” นายภุชพงศ์ กล่าว

นางสุรีพร พรโสภณวิชญ์ ผู้อำนวยการกองบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดการประชุมในครั้งนี้ ว่า เนื่องจากระเบียบคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติว่าด้วยการบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2561 ข้อ 14 ระบุให้ สำนักงานจัดทำแผนการดำเนินงานประจำปีโดยสอดคล้องกับนโยบายและแผน   ระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อเสนอคณะกรรมการบริหารกองทุนพิจารณาอนุมัติอย่างน้อย 60 วันและส่งให้กระทรวงการคลังอย่างน้อย 30 วันก่อนเริ่มปีบัญชี เพื่อพิจารณาอนุมัติก่อนการใช้จ่ายเงิน พร้อมทั้งตัวชี้วัดการดำเนินงานทุนหมุนเวียนกำหนดให้มีการประเมินการปรับปรุงแผนปฏิบัติการระยะยาว และแผนปฏิบัติการประจำปี โดยรวมถึงแผนปฏิบัติการดิจิทัล และแผนบริหารทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพและสามารถนำไปใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมานั้น ได้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อ จัดทำแผนปฏิบัติการระยะยาว (พ.ศ. 2567 -2571) และแผนปฏิบัติการประจำปีพ.ศ. 2567 เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นภายในกองทุนในการปรับแผนดังกล่าวให้มีความทันสมัยสอดคล้องกับสถานการณ์ และแนวโน้มการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำหรับการประชุมในครั้งนี้     มีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อแผนปฏิบัติการระยะยาว (พ.ศ. 2567 - 2571) และแผนปฏิบัติการประจำปี พ.ศ. 2567 โดยมีผู้แทนของหน่วยงานจากกองทุนต่าง ๆ ผู้ขอรับทุน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาเข้าร่วมการประชุม เพื่อนำข้อมูลและความคิดเห็นที่ได้นำไปใช้ประกอบการทำแผนปฏิบัติการต่อไป

31 กรกฎาคม พ.ศ. 2466  กำเนิด ‘รถแท็กซี่’ ในประเทศไทย เริ่มออกวิ่งให้บริการเป็นครั้งแรก

วันนี้เมื่อ 100 ปีก่อน รถแท็กซี่ (Taxi) เริ่มมีขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทย โดย พลโท พระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เพื่อช่วยทหารอาสาในสงครามโลกครั้งที่ 1 ให้มีอาชีพหลังจากปลดจากราชการ

ในครั้งนั้น ได้นำเอารถเก๋งออสติน (Austin) ขนาดเล็กออกวิ่งรับจ้าง ติดป้ายรับจ้างไว้ข้างหน้า-หลังของตัวรถ คิดค่าโดยสารเป็นไมล์ โดยตกไมล์ละ 15 สตางค์ ซึ่งนับว่าแพงมากเมื่อเทียบราคากับค่าโดยสารในปัจจุบัน ในสมัยนั้นจึงนิยมเรียกกันว่า ‘รถไมล์’ เพราะเก็บค่าโดยสารตามเลขไมล์ระยะทางที่วิ่ง

ในสมัยบุกเบิกใหม่ ๆ นั้นมีรถแท็กซี่อยู่เพียง 14 คัน แต่ก็ประสบปัญหาขาดทุนจนต้องเลิกกิจการในที่สุด เนื่องจากค่าโดยสารแพง ผู้ใช้บริการยังไม่คุ้นเคยจึงไม่ยอมนั่ง ประกอบกับเมืองกรุงเทพฯ ยังมีขนาดเล็ก และมีรถรับจ้างอื่น ๆ อยู่มากและราคาถูกกว่า

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2490 ก็มีผู้นำรถยนต์นั่งมาให้บริการในลักษณะรถแท็กซี่อีกครั้ง รถที่นำมาบริการในช่วงนั้นเป็นรถยี่ห้อ เรโนลต์ (Renault) สมัยนั้นจึงเรียกแท็กซี่ว่า ‘เรโนลต์’ ได้รับความนิยมจากคนทั่วไปเป็นอย่างมาก เนื่องจากสะดวกรวดเร็วกว่ารถจักรยานสามล้อถีบ ซึ่งมีชุกชุมในยุคนั้น ด้วยเหตุนี้ทำให้อาชีพขับรถแท็กซี่เป็นที่ฮือฮา มีผู้นำรถเก๋งไปทำเป็นรถแท็กซี่กันมากขึ้น จนขยายไปต่างจังหวัด จนต้องมีการควบคุมกำหนดจำนวนรถมาจนถึงทุกวันนี้ 

ปัจจุบันแท็กซี่ในเมืองไทยเป็นรถปรับอากาศ ติดมิเตอร์คิดอัตราค่าโดยสารตามระยะทางและเวลา นอกจากนี้ ยังมีรถยนต์ส่วนบุคคลนำมาให้บริการผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ อีกด้วย ซึ่งนับว่าเป็นวิวัฒนาการรถแท็กซี่ในประเทศไทย จากอดีตจนถึงปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกอบพิธีพระบรมราชาภิเษกเสด็จขึ้นครองราชย์

วันนี้เมื่อ 199 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชาภิเษกเสด็จขึ้นครองราชย์ เป็นล้นเกล้ารัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรี

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย หรือ ล้นเกล้ารัชกาลที่ 2 ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสุลาไลย หรือ ‘เจ้าจอมมารดาเรียม’ ต่อมาได้รับการเฉลิมพระอิสริยศักดิ์ขึ้นเป็น สมเด็จพระศรีสุลาลัย เป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ล้นเกล้ารัชกาลที่ 3 เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2330 ณ พระราชวังเดิม ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

ในขณะที่พระองค์ประสูตินั้น สมเด็จพระราชชนกดำรงพระอิสริยยศที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร พระองค์จึงมีสกุลยศชั้นหม่อมเจ้าพระนามว่า ‘หม่อมเจ้าชายทับ’

จนกระทั่ง สมเด็จพระบรมชนกนาถได้รับอุปราชาภิเษกขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในปี พ.ศ. 2349 พระองค์จึงมีพระอิสริยยศเป็น ‘พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าชายทับ’

เมื่อสมเด็จพระราชชนกได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 2 ใน พ.ศ. 2352 พระองค์จึงได้เลื่อนฐานันดรศักดิ์ขึ้นเป็นพระองค์เจ้าชั้นเอก ออกพระนามว่า ‘พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าชายทับ’

จนนปี พ.ศ. 2356 ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทรงกรม เป็น ‘พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์’

แต่แล้วในปี พ.ศ. 2367 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต โดยที่ยังมิได้ตรัสมอบหมายการสืบราชสันตติวงศ์ บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการได้ประชุมปรึกษากันและมีสมานฉันท์เป็น ‘อเนกมหาชนนิกร สโมสรสมมุติ’ ให้เชิญเสด็จ พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ขึ้นครองสิริราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ลำดับที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สืบต่อมา

โดย พระสุพรรณบัฎที่เฉลิมพระปรมาภิไธย ซึ่งทูลเกล้าฯ ถวายในวันทรงรับพระบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.  2367 ก็ยังคงใช้พระปรมาภิไธยเช่นเดียวกับรัชกาลที่ 1 และที่ 2 โดยราษฎรทั่วไปไม่ออกพระนามพระมหากษัตริย์ แต่เรียกว่า ‘พระพุทธเจ้าอยู่หัว’

ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2394 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จึงทรงทำพิธีจารึกพระสุพรรณบัฎถวายพระปรมภิไธยใหม่ว่า ‘พระบาทสมเด็จพระปรมาทิวรเสฎฐ มหาเจษฎาบดินทร์ สยามมินทรวโรดม บรมธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตร พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว’

ต่อมา พ.ศ. 2461 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ถวายพระนามใหม่เป็น ‘พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทร มหาเจษฎาบดินทร์ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว’ พระปรมภิไธยอย่างย่อคือ ‘พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาเจษฎาบดินทร์ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว’ อักษรพระปรมาภิไธยย่อ คือ ‘จปร.’ หมายถึง ‘พระบาทสมเด็จพระปรมินทร์ มหาเจษฎาบดินทร์ บรมราชาธิราช’

เมื่อ พ.ศ. 2538 มีพระราชาคณะจาก 15 วัด ได้มีลิขิตเสนอให้ถวายพระราชสมัญญาแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า ‘ธรรมิกมหาราช’ ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ออกพระนามพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็น 3 แบบ คือ ‘พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว’ , ‘พระมหาเจษฎาราชเจ้า’ และ ‘พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า’

อันมีความหมายว่า ‘พระมหาราชเจ้าผู้มีพระทัยตั้งมั่นในการบำเพ็ญพระราชกิจ’

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสรรคต ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานองค์ตะวันออก เมื่อวันพุธที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2394 สิริรวมพระชนมพรรษา 63 พรรษา 2 วันเวลาที่ครองราชย์ 26 ปี 8 เดือน 12 วัน

ทรงมีพระราชโอรส 22 พระองค์ พระราชธิดา 29 พระองค์ รวม 51 พระองค์ จากเจ้าจอมมารดา 35 ท่านในจำนวนนี้ประสูติก่อนบรมราชาภิเษก 38 พระองค์ และเมื่อบรมราชาภิเษกแล้ว 13 พระองค์ มิได้ทรงสถาปนาเจ้าจอมท่านใดเป็นพระมเหสี พระราชโอรสพระราชธิดา จึงดำรงพระอิสริยฐานันดรศักดิ์เป็น ‘พระองค์เจ้า’ มีสายราชสกุลที่สืบเนื่องมา 13 มหาสาขา ได้แก่ ศิริวงศ์ โกเมน คเนจร งอนรถ ลดาวัลย์ ชุมสาย ปิยากร อุไรพงศ์ อรณพ ลำยอง สุบรรณ สิงหรา ชมพูนุท

พระราชดำรัสสุดท้ายเมื่อก่อนเสด็จสวรรคต ที่ทำให้คนไทยในยุคสืบต่อมาสมควรต้องระลึกถึงไตร่ตรองเสมอเกี่ยวกับบ้านเมือง แม้เวลาจะล่วงแล้ว 153 ปีก็คือ 

“การศึกสงครามข้างญวน ข้างพม่า ก็เห็นจะไม่มีแล้วจะมีอยู่แต่ข้างพวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดี อย่าให้เสียทีแก่เขาได้การงานสิ่งใดของเขาที่คิดไว้ ควรจะเรียนเอาไว้ก็เอาอย่างเขาแต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว”

‘ซัดดัม ซุสเซน’ นำ อิรัก บุกยึด คูเวต จุดเริ่มต้นสงครามอ่าวเปอร์เซีย

วันนี้เมื่อ 33 ปีก่อน ประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน ส่งกองทัพอิรักกว่าแสนนายบุกเข้ายึดคูเวต โดยอ้างว่าคูเวตเป็นส่วนหนึ่งของอิรัก เป็นชนวนให้เกิดสงครามอ่าวเปอร์เซีย

สงครามอ่าวเปอร์เซีย (Gulf War) เปิดฉากขึ้น เมื่อประธานาธิบดี ซัดดัม ฮุสเซน (Suddam Hussein) แห่งอิรักออกคำสั่งให้กองกำลังทหารประมาณ 122,000 นาย พร้อมด้วยรถถังประมาณ 900 คัน บุกยึด ประเทศคูเวต (Kuwait) อย่างเงียบเชียบ เนื่องจากอิรักต้องการแหล่งน้ำมันของคูเวตและอ้างว่าคูเวตเป็นส่วนหนึ่งของอิรัก ซึ่งทั้งสองประเทศมีความขัดแย้งเรื่องพรมแดนมานาน

จากนั้นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้มีมติเป็นเอกฉันท์ ประณามการรุกรานและประกาศคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจแก่อิรัก พร้อมทั้งเรียกร้องให้อิรักถอนกำลังออกจากคูเวตภายในวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2534 
.
เมื่อครบกำหนดเส้นตาย จอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช (George H. W. Bush) ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐ อเมริกา นำกองกำลังผสม 34 ชาติของสหประชาชาติ เปิดฉากโจมตีอิรักและคูเวตทางอากาศเมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2534

กองกำลังพันธมิตรร่วมมือโจมตีอิรักอย่างต่อเนื่องด้วยยุทธการ ‘พายุทะเลทราย’ (Desert Storm) จากนั้นกองกำลังพันธมิตรได้เปิดฉากการโจมตีภาคพื้นดินต่ออิรักจนได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดในวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2534 สงครามครั้งนี้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต โดยทหารและประชาชนผู้บริสุทธิ์ฝ่ายอิรักเสียชีวิตประมาณ 200,000 ศพ และบาดเจ็บอีกนับไม่ถ้วน ส่วนฝ่ายสหประชาชาติเสียชีวิตประมาณ 378 ศพ และบาดเจ็บอีกประมาณ 1,000 คน

3 สิงหาคม พ.ศ. 2035  ‘คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส’ ออกเดินเรือเที่ยวแรก เริ่มต้นการค้นหาอินเดียและจีน

คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus) ออกเดินทางโดยมีลูกเรือ 90 คนกับเรือ 3 ลำได้แก่ ‘ซานตา มาเรีย’ (Santa Maria), ‘พินตา’ (Pinta) และ ‘ซาตา คลารา’ (Santa Clara) โดยได้รับการสนับสนุนจากกษัตริย์สเปน คือ พระเจ้าเฟอร์ดินานด์ ที่ 2 (Ferdinand II of Aragon) และ พระนางอิสซาเบลลา ที่ 1 (Isabella of Castile)

โดยเริ่มต้น จากท่าเรือเมืองเปลูซ (Palos) ประเทศสเปน แล่นเรือไปทางทิศตะวันตกข้ามมหาสมุทรแอตแลนติค ไปถึง เกาะบาฮามาส (The Bahamas) หมู่เกาะในมหาสมุทรแอตแลนติก ทางตะวันออกของอเมริกา เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2035 โดยที่โคลัมบัสคิดว่าเป็นส่วนหนึ่งของทวีปเอเชีย จากนั้นเขาเดินเรือต่อไปจนถึงคิวบา ฮิสปานิโอลา เปอร์โตริโก จาเมกา ตรินิแดด เวเนซุเอลา และคอคอดปานามา

โคลัมบัสเชื่อมาตลอดจนเสียชีวิตว่า เกาะบาฮามาสที่เขาค้นพบนั้นคือทวีปเอเชีย แต่แท้จริงแล้วเป็นหมู่เกาะทางตะวันออกของทวีปอเมริกา ภายหลังจึงมีการกำหนดให้วันที่ 12 ตุลาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันที่โคลัมบัสมาถึงอเมริกาเป็น ‘วันโคลัมบัส’ มีการเฉลิมฉลองกันในสหรัฐอเมริกาและประเทศต่าง ๆ ในทวีปอเมริกาใต้ ในอดีตเคยเชื่อกันว่าโคลัมบัสเป็นชาวยุโรปคนแรกที่ค้นพบอเมริกา แต่จริง ๆ แล้ว เลฟ เอริคสัน (Leaf Erikson) ชาวไวกิ้งเคยเดินทางมาพบทวีปอเมริกาก่อนหน้านี้ และเคยมีนิคมชาวไวกิ้ง ตั้งอยู่ทางตะวันออกของแคนาดาในศตวรรษที่ 11

รัชกาลที่ 5 ทรงฯ สถาปนา ‘กรมไปรษณีย์’ จุดเริ่มต้นของการสื่อสารของไทย

วันนี้เมื่อ 140 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนา ‘กรมไปรษณีย์’ ก่อนที่จะถือเอาวันนี้ เป็น ‘วันสื่อสารแห่งชาติ’

จุดเริ่มต้นของการสื่อสารในสมัยก่อนนั้น เกิดจากการสร้างเส้นทางคมนาคมและเส้นทางการค้า โดยมีการติดต่อข่าวสารกันอย่างง่าย ทั้งผ่านทางพ่อค้า ใช้ม้าเร็ว จนถึงการจัดตั้งคนเร็วไว้ตามเมืองสำคัญ ก็ถือเป็นพัฒนาการทางการส่งข่าวสารอย่างง่ายอีกช่องทางหนึ่งและเป็นเช่นนี้เรื่อยมาจนถึงยุคสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถือเป็นยุคแรกของ การไปรษณีย์ไทย ด้วยการจัดตั้งกรมไปรษณีย์ในประเทศไทย และการผลิต ‘แสตมป์ชุดโสฬส’ แสตมป์ชุดแรกของประเทศ รวมไปถึงจัดพิมพ์ไปรษณียบัตรครั้งแรก เพื่อรองรับกิจการไปรษณีย์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น

ปี พ.ศ. 2423 เจ้าหมื่นเสมอใจราช หัวหมื่นมหาดเล็กเวรสิทธิ์ ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถวายคำแนะนำให้เปิดบริการไปรษณีย์ขึ้นในประเทศไทย โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริเห็นชอบ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมหลวงภาณุพันธุวงศ์วรเดช ผู้ทรงมีประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดส่งหนังสือพิมพ์รายวัน ‘ข่าวราชการ’ ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการกรมไปรษณีย์

เมื่อสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมหลวงภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงวางโครงการและเตรียมการไว้พร้อมที่จะเปิดบริการไปรษณีย์แล้ว ได้ประกาศเปิดรับฝากส่งจดหมายหรือหนังสือ เป็นการทดลองในเขตพระนครและธนบุรีขึ้น เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2426 มีที่ทำการตั้งอยู่ ณ ตึกใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตอนปากคลองโอ่งอ่าง ด้านทิศเหนือ (ปัจจุบันถูกรื้อเพื่อใช้ที่สร้างสะพานคู่ขนานกับสะพานพระพุทธยอดฟ้า) ที่ทำการแห่งแรกนี้ใช้เป็นที่ทำการไปรษณีย์สำหรับจังหวัดพระนคร ด้วยเรียกกันว่า ‘ไปรษณียาคาร’

ต่อมาในปี พ.ศ. 2441 เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการกราบบังคมทูลเสนอความเห็นว่าราชการของกรมไปรษณีย์และราชการของกรมโทรเลข ซึ่งตั้งขึ้นก่อนกรมไปรษณีย์แล้วนั้นเป็นงานในด้านสื่อสารด้วยกันควรรวมเป็นหน่วยราชการเดียวกันเสียเพื่อความสะดวกแก่การดำเนินงาน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นเป็นการสมควรจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้รวมหน่วยงานทั้งสองเข้าด้วยกันเรียกว่า ‘กรมไปรษณีย์โทรเลข’

ต่อมาได้ย้ายไปใช้อาคารและที่ดินริมถนนเจริญกรุงเป็นที่ทำการและเรียกกันโดยทั่วไปว่า ‘ที่ทำการไปรษณีย์กลาง’ การไปรษณีย์เป็นบริการสาธารณะ จำเป็นต้องมีระเบียบข้อบังคับเพื่อให้ประชาชนผู้ใช้บริการและเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินบริการทราบและถือปฏิบัติ เมื่อเปิดการไปรษณีย์โทรเลขได้ประมาณ 2 ปีแล้ว รัฐบาลจึงได้ตรากฎหมายขึ้นในปี พ.ศ. 2428 เรียกว่า ‘พระราชบัญญัติการไปรษณีย์ไทย จุลศักราช 1248’

และเพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ที่ได้ทรงมีแก่กิจการไปรษณีย์ไทย คณะรัฐมนตรีจึงมีมติ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2526 กำหนดให้ วันที่ 4 สิงหาคมของทุกปีเป็น ‘วันสื่อสารแห่งชาติ’ และจัดงานวันสื่อสารแห่งชาติ ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2526 โดยจัดร่วมกับงานครบรอบ 100 ปี การสถาปนากรมไปรษณีย์โทรเลข และการเฉลิมฉลองปีการสื่อสารโลกของสหประชาชาติ

5 สิงหาคม พ.ศ. 2430 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนนายร้อย

วันนี้ในอดีต 5 สิงหาคม พ.ศ. 2430 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานกำเนิด ‘โรงเรียนทหารสราญรมย์’ ต่อมาคือ โรงเรียนนายร้อย จปร.

โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า กำเนิดขึ้นพร้อม ๆ กับ(กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์) โดยเริ่มจากการจัดตั้งทหารมหาดเล็กเด็กที่เรียกว่า ‘ทหารมหาดเล็กไล่กา’ จำนวน 12 คน ในช่วงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาได้ขยายกำลังขึ้นโดยฝึกข้าหลวงเดิมให้เป็นทหารมหาดเล็กสมทบกับพวกมหาดเล็กไล่การวม 24 คน จึงเรียกทหารในชุดนี้ว่า ‘ทหาร 2 โหล’ และต่อมาได้เพิ่มจำนวนทหารมหาดเล็กเป็น 72 คน แต่งตั้งเป็นกองทหารมหาดเล็กสำหรับรักษาพระองค์อย่างใกล้ชิด

พ.ศ. 2414 โปรดเกล้าฯ ให้ขยายกองทหารมหาดเล็กออกเป็นกองร้อย เรียกว่า ‘กอมปานี’ (Company) ถึง 6 กองร้อย จัดตั้งเป็น ‘กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์’

พ.ศ. 2415 โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งสถานที่สอนวิชาการและระเบียบการขึ้นในกรมทหารมหาดเล็ก รวมทั้งให้มีการสอนวิชาภาษาอังกฤษและภาษาไทยด้วย เรียกสถานศึกษาว่า ‘คะเด็ตทหารมหาดเล็ก’ ส่วนนักเรียนเรียกว่า ‘คะเด็ต’ (Cadet)

พ.ศ. 2423 โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกรมทหารหน้าขึ้น (ซึ่งต่อมาได้วิวัฒนาการเป็นกรมยุทธนาธิการ) จึงกำเนิด ‘คะเด็ตทหารหน้า’ ขึ้นอีกแห่งหนึ่ง ได้เร่งปรับปรุงกิจการทหารโดยลำดับ เมื่อเจริญกว้างขวางและเป็นแบบแผนขึ้นบ้างแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช จัดตั้งโรงเรียนสอนวิชาทหารสำหรับทหารบกทั่วไปขึ้น โดยให้ใช้พื้นที่บริเวณหลังพระราชวังสราญรมย์เป็นสถานที่ตั้ง (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกรมแผนที่ทหาร) โดยรวมคะเด็ตทหารมหาดเล็ก คะเด็ตทหารหน้า นักเรียนแผนที่ และส่วนที่เป็นทหารสก๊อตเข้าด้วยกัน ใช้ชื่อรวมว่า ‘คะเด็ตสกูล’ สำหรับนักเรียนเรียกว่า ‘คะเด็ต’ มีนายพันเอกนิคาล วอลเกอร์ (Nical Walger) เป็นผู้บังคับการคนแรก

5 สิงหาคม พ.ศ. 2430 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จมาทรงกระทำพิธีเปิดโรงเรียนคะเด็ตสกูล

14 มกราคม พ.ศ. 2431 ได้ตราข้อบังคับขนานนามโรงเรียนคะเด็ตสกูลเสียใหม่ว่า ‘โรงเรียนทหารสราญรมย์’

6 ตุลาคม พ.ศ. 2440 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กองโรงเรียนนายสิบมาสมทบด้วย เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น ‘โรงเรียนสอนวิชาทหารบก’

25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2441 ได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น ‘โรงเรียนทหารบก’ เปิดโอกาสให้รับบุคคลสามัญที่มีคุณสมบัติตามข้อกำหนดเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยได้ต่อมามีผู้สนใจเข้ารับการศึกษาเพิ่มมากขึ้น จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายนักเรียนนายสิบไปสังกัดกองพลทหารบกตามเดิม และ เมื่อ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2446 ได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น ‘โรงเรียนนายร้อยทหารบก’ เปิดการสอนใน 2 แผนก คือ โรงเรียนนายร้อยชั้นปฐม และโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม

5 ปีถัดมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าสถานที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกคับแคบไปแล้วไม่เพียงพอแก่การที่จะผลิตนักเรียนเพิ่มขึ้นทันกับความต้องการของสถานการณ์ในเวลานั้น ซึ่งขาดแคลนนายทหาร จึงโปรดเกล้าฯ ให้ซื้อที่ดินติดถนนราชดำเนินนอก เป็นเนื้อที่ประมาณ 30 ไร่เศษ ดำเนินการก่อสร้างโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม (ส่วนโรงเรียนนายร้อยชั้นปฐมยังคงอยู่ ณ โรงเรียนทหารสราญรมย์เดิม) เสร็จแล้วพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงกระทำพิธีเปิดโรงเรียนเมื่อ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2452

โรงเรียนนายร้อยชั้นปฐม และโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยมได้ดำเนินการมาด้วยดี ต่อมาเศรษฐกิจของชาติตกต่ำ กระทรวงกลาโหมจึงให้รวมโรงเรียนนายร้อยทั้งสองนี้เข้าด้วยกันเรียกชื่อว่า ‘โรงเรียนนายร้อยทหารบก’ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมยุทธศึกษาทหารบก

26 มีนาคม พ.ศ. 2471 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จมาพระราชทานกระบี่แก่นักเรียนนายร้อยทหารบกที่จบการศึกษาชั้นสูงสุดเป็นครั้งแรก และจากนั้นเป็นต้นมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานกระบี่แก่นักเรียนนายร้อยที่จบการศึกษาขั้นสูงสุดทุกปี

พ.ศ. 2477 ได้มีการจัดตั้งโรงเรียนเทคนิคทหารบกขึ้นในกรมยุทธศึกษาทหารบก เพื่อผลิตนายทหารบางเหล่าที่เป็นเหล่าสายเทคนิค

2 ธันวาคม พ.ศ. 2485 - 14 มกราคม พ.ศ. 2487 ได้มีการผลิตนักเรียนนายร้อยหญิงขึ้น 1 รุ่นจำนวน 28 คนและมีรุ่นเดียว

14 เมษายน พ.ศ. 2485 - พ.ศ. 2487 ได้มีการผลิตนักเรียนนายร้อยสำรองขึ้น 3 รุ่น และได้เปิดหลักสูตรอีกครั้งหนึ่งตั้งแต่ 30 เมษายน พ.ศ. 2499 อีก 6 รุ่น รวม 9 รุ่น

ในห้วงสงครามมหาเอเชียบูรพา ประเทศไทยได้ทำสัญญาเป็นพันธมิตรไมตรีกับฝ่ายญี่ปุ่น เมื่อ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ในปี พ.ศ. 2486 ฝ่ายพันธมิตรได้ทำการโจมตีทางอากาศต่อที่หมายในกรุงเทพมหานครอย่างหนัก ทางราชการจึงคิดแผนการย้ายเมืองหลวงไปอยู่ ณ สถานที่แห่งใหม่ในเขต จ.เพชรบูรณ์ ในวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2487 นักเรียนนายร้อยทุกหลักสูตรและทุกคน จึงได้ออกเดินทางจากกรุงเทพมหานครไปขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟสามเสน ไปลงที่สถานีรถไฟตะพานหิน จ.พิจิตร จากนั้นเดินเท้าต่อไปอีก 112 ก.ม. เข้าสู่หมู่บ้านป่าแดง อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ เปิดทำการสอนนักเรียนนายร้อยอยู่ไม่นาน พอต้นปี พ.ศ. 2488 ได้เคลื่อนย้ายมาอยู่ใน จ.พระนครศรีอยุธยา จนกระทั่งสงครามสงบในเดือน กันยายน พ.ศ. 2488 โรงเรียนนายร้อยจึงได้กลับมาอยู่ ณ สถานที่ตั้งเดิม

พ.ศ. 2489 กระทรวงกลาโหมได้ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรของโรงเรียนนายร้อย เป็นหลักสูตรการศึกษา 5 ปีตามแบบอย่างโรงเรียนนายร้อยทหารบกของสหรัฐอเมริกา

1 มกราคม พ.ศ. 2491 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามโรงเรียนนายร้อยแทนชื่อเดิมว่า ‘โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า’

ต่อมาโรงเรียนนายร้อย พระจุลจอมเกล้า ณ ถนนราชดำเนินนอกอยู่ในสภาพแออัด ด้วยมีจำนวนนักเรียนนายร้อยเพิ่มขึ้น สถานที่ฝึกศึกษา เล่นกีฬา และสถานที่พักผ่อนไม่เพียงพอ ขาดสภาพสิ่งแวดล้อมสำหรับการเป็นโรงเรียนนายร้อยหลักของประเทศ ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชดำริให้โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า มีสถานที่ตั้งแห่งใหม่ ณ บริเวณเขาชะโงก อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก โรงเรียนนายร้อยแห่งนี้ได้กระทำพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2524 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพลเอกหญิงสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (ขณะดำรงพระยศพันเอก) ได้เสด็จฯ มากระทำพิธี

5 สิงหาคม พ.ศ. 2529 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จังหวัดนครนายก ถือเป็นการเปิดโรงเรียนนายร้อยแห่งใหม่อย่างเป็นทางการ และได้ดำเนินการสอนมาจนถึงปัจจุบัน

6 สิงหาคม พ.ศ. 2488 สหรัฐฯ ทิ้งระเบิดปรมาณู ‘เมืองฮิโรชิมา’ คร่าชีวิตชาวญี่ปุ่นทันที 80,000 คน

วันนี้เมื่อ 78 ปีที่แล้ว นับเป็นอีกหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ที่ชาวญี่ปุ่นและชาวโลกยากจะลืมเลือน เมื่อสหรัฐอเมริกา ทิ้งระเบิดปรมาณู เหนือเมืองฮิโรชิมา ส่งผลให้มีคนตายทันที 80,000 คน

วันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2488 เป็นอีกหนึ่งวันที่คนญี่ปุ่นไม่มีวันลืม เมื่อระเบิดปรมาณู ‘ลิตเติลบอย (Little Boy)’ ถูกทิ้งเหนือเมืองฮิโรชิมา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทันทีประมาณ 80,000 คน และมีผู้เสียชีวิตจากการได้รับกัมมันตภาพรังสีอีก 60,000 คน

‘ลิตเติลบอย (Little Boy)’ เป็นชื่อระเบิดปรมาณู ที่ถูกนำไปทิ้งเหนือเมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น โดยเครื่องบิน B-29 Superfortress (เครื่องบินลำนี้มีชื่อ Enola Gay) และระเบิดลูกนี้ ยังนับเป็นระเบิดปรมาณูลูกแรกที่ใช้ในการสงครามอีกด้วย

อาวุธนี้พัฒนาขึ้น ในระหว่างจัดตั้ง ‘โครงการแมนฮัตตัน’ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดย ‘จูเลียส โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์’ ผู้ที่ได้ฉายาว่า ‘บิดาแห่งระเบิดปรมาณู’

สำหรับ ‘ลิตเติลบอย’ มีความยาว 3 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 71 เซนติเมตร และน้ำหนัก 4,000 กิโลกรัม บรรจุธาตุยูเรเนียมประมาณ 64 กิโลกรัม และจากเหตุการณ์นี้ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทันทีประมาณ 80,000 คน และมีผู้เสียชีวิตจากการได้รับกัมมันตภาพรังสีอีก 60,000 คน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top