Sunday, 27 April 2025
TodaySpecial

17 กันยายน พ.ศ. 2403 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ประกาศใช้เงินเหรียญบาทครั้งแรกในประเทศสยาม

วันนี้ เมื่อ 163 ปีก่อน สยาม ประกาศใช้เงินเหรียญบาทเป็นครั้งแรก โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดฯให้ผลิตขึ้นโดยเครื่องจักรที่สั่งจากประเทศอังกฤษ เพื่อใช้แทนเงินพดด้วง เป็นตราพระมหามงกุฎ-ช้างในวงจักร

ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงกระสาปน์สิทธิการ โรงกษาปณ์แห่งแรกของไทย ภายในพระบรมมหาราชวังบริเวณที่เคยเป็นโรง ทำเงินพดด้วงเดิม ด้านหน้าพระคลังมหาสมบัติ บริเวณมุมถนนใกล้กับทางออกประตูสุวรรณบริบาลด้านทิศตะวันออก และติดตั้งเครื่องจักรผลิตเหรียญกษาปณ์ขับเคลื่อนด้วยแรงดันไอน้ำเป็นเครื่องแรก ซึ่งเป็นเครื่องจักรที่สั่งจากประเทศอังกฤษ

วันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2403 รัชกาลที่ 4 ได้ออกประกาศพิกัดราคาเงินเหรียญบาทและเงินแป โดยให้นำเงินเหรียญอย่างใหม่ซึ่งเป็นเงินแบนที่ผลิตได้จากโรงกระสาปน์สิทธิการ นำออกใช้แทน เงินพดด้วง เหรียญดังกล่าวนั้น ด้านหน้าเป็นรูปพระมหามงกุฎ มีฉัตรกระหนาบทั้ง 2 ข้าง ด้านหลังเป็นรูปช้าง อยู่กลางพระแสงจักร เหรียญเนื้อเงินแท้ ราคา ๑ บาท น้ำหนัก 15.33 กรัม เส้นผ่าศูนย์กลางเหรียญ 31 มิลลิเมตร

และเหรียญชนิดต่าง ๆ ประกอบด้วยเหรียญเงินราคา 1 บาท กึ่งบาท สลึง เฟื้อง กึ่งเฟื้อง และเหรียทองพัดดึงส์อีกจำนวนหนึ่ง นับเป็นการปฏิวัติระบบเงินตราครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งของไทย

อนึ่ง โรงกษาปณ์แห่งนี้ ภายหลังจากการสร้างโรงกษาปณ์แห่งที่ 2 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นโรงหมอตอนหนึ่ง และเป็นคลังราชพัสดุอีกตอนหนึ่ง และต่อมาในปี พ.ศ. 2440 เกิดไฟไหม้หมดทั้งหลัง

18 กันยายน พ.ศ. 2505 ประกาศให้ ‘เขาใหญ่’ เป็นอุทยานแห่งชาติ นับเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของไทย

วันนี้ เมื่อ 61 ปีก่อน ผืนป่าเขาใหญ่ได้รับการประกาศให้เป็น ‘อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่’ นับเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของไทย 

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มีพื้นที่ 2,168 ตารางกิโลเมตร มีพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัดคือ นครนายก นครราชสีมา ปราจีนบุรี และสระบุรี ประกอบด้วยป่าหลายประเภท ทั้งป่าดงดิบชื้น ป่าดงดิบแล้ง ป่าดงดิบเขา ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ทุ่งหญ้า และป่าที่กำลังฟื้นตัวหลังถูกทำลาย 

ในอดีตป่าผืนนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของป่าดงพญาไฟ มีการสำรวจพบพืชพรรณ 2,000-2,500 ชนิด นก 340 ชนิด ผีเสื้อ 189 ชนิด และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 67 ชนิด เช่น ช้าง เสือโคร่ง กระทิง ชะนี เก้ง กวาง หมูป่า ฯลฯ ผืนป่าเขาใหญ่เป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำและลำธารใหญ่น้อยหลายสาย มีน้ำตกขนาดใหญ่ที่สวยงามหลายแห่ง อาทิ น้ำตกสาริกา น้ำตกนางรอง น้ำตกเหวนรก น้ำตกผากล้วยไม้ ฯลฯ 

ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของป่าเขตร้อนที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในแถบเอเชียอาคเนย์ ในที่สุดเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2548 คณะกรรมการมรดกโลก แห่งองค์การยูเนสโกได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ผืนป่าดงพยาเย็น-เขาใหญ่ ขึ้นบัญชีเป็นมรดกทางธรรมชาติของโลก นับเป็นแห่งที่ 2 ของไทยต่อจากเขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง 

รัฐประหารรัฐบาล ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ฝีมือ ‘พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน’ นำทีมยึดอำนาจ

ครบรอบ 17 ปี คณะทหารในนาม ‘คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ (คปค.) ซึ่งมี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้า ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ซึ่งกำลังปฏิบัติภารกิจอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

โดยในการรัฐประหารครั้งนี้ คปค. ได้ให้เหตุผลที่ต้องยึดอำนาจว่าการปกครองภายใต้รัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ก่อให้เกิดความขัดแย้งแบ่งฝ่าย สลายความรู้รักสามัคคีของคนในชาติ ต่างฝ่ายต่างมุ่งหวังเอาชนะ ด้วยวิธีการหลากหลายรูปแบบ และมีแนวโน้มนับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

โดยประชาชนส่วนใหญ่เคลือบแคลงสงสัยว่า การบริหารราชการแผ่นดิน ส่อไปในทางทุจริต ประพฤติมิชอบ อย่างกว้างขวาง หน่วยงานอิสระ ถูกการเมืองครอบงำ ทำให้การดำเนินกิจกรรมทางการเมือง เกิดปัญหา และอุปสรรคหลายประการ ตลอดจนหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นที่เคารพ เทิดทูน ของปวงชนชาวไทย อยู่บ่อยครั้ง แม้ว่าหลายภาคส่วนของสังคมจะได้พยายามประนีประนอม คลี่คลายสถานการณ์ มาโดยต่อเนื่องแล้ว ก็ไม่สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองได้

โดยทางทหารได้เตรียมการยึดอำนาจเริ่มตั้งแต่ตอนสาย ถึงตอนบ่ายกำลังทหารจากต่างจังหวัดก็เคลื่อนกำลังเข้าประจำการในกรุงเทพฯ ในตอนค่ำกำลังพลติดอาวุธพร้อมรถถัง ฮัมวี่ และบีเอ็มซีก็บุกเข้ายึดสถานีวิทยุโทรทัศน์และตรึงกำลังอยู่ตามสถานที่สำคัญ ๆ ทั่วกรุงเทพฯ ในเวลา 22.00 น. พ.ต.ท.ทักษิณได้ชิงออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขต กทม. สั่งปลด พล.อ.สนธิ แต่ยังประกาศไม่ทันจบ ทหารก็บุกเข้ามาตัดสัญญาณและออกประกาศการเข้ายึดอำนาจ จากนั้นก็ได้ออกประกาศ คปค. ฉบับต่าง ๆ ออกมา อาทิ...

ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 จัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวโดยให้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี จากนั้น คปค. ก็ถอยไปอยู่ในฐานะ ‘คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ’ (คมช.) คอยดูแลรัฐบาลชั่วคราวบริหารประเทศและเร่งกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี จากนั้นจะเลือกตั้งใหม่ภายในปี 2550

รัฐประหารครั้งนี้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายคือฝ่ายที่เห็นว่าประเทศชาติถึงจุดวิกฤติแล้ว รัฐประหารคือทางออกเดียวที่เหลืออยู่ ขณะที่อีกฝ่ายมองว่ารัฐประหารครั้งนี้เป็นการตัดตอนกระบวนการประชาธิปไตยไทย เป็นการฉีกรัฐธรรมนูญฉบับที่ได้ชื่อว่าเป็นของประชาชนมากที่สุด และนับเป็นการสูญเสียประชาธิปไตยอีกครั้งในรอบ 15 ปี หลังจากรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เมื่อปี 2535 ซึ่งการรัฐประหารครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 10 ของไทย โดยเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวดเร็ว และไร้การสูญเสียเลือดเนื้อ

20 กันยายน วันพระราชสมภพ 2 พระมหากษัตริย์ไทย ล้นเกล้า รัชกาลที่ 5 และ รัชกาลที่ 8

วันนี้ นับเป็นอีกวันรำลึกที่สำคัญยิ่ง เพราะวันที่ 20 กันยายน เป็นวันพระราชสมภพของพระเจ้าแผ่นดินถึง 2 พระองค์ ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งประสูติเมื่อวันนี้ของ 166 ปีก่อน ตรงกับวันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 แรม 3 ค่ำเดอน 10  ปีฉลู

และ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 ซึ่งพระราชสมภพเมื่อวันนี้ของ 94 ปีก่อน ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 11 ปีฉลูเหมือนสมเด็จพระบรมอัยกาธิราช (ปู่) อีกด้วย

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี  ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 4 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระองค์แรกในพระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ (ในเวลาต่อมาทรงได้รับการสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศเป็น สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี และสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ พระบรมราชชนนี ตามลำดับ)

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสวยราชสมบัติเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 11 ขึ้น 15 ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ. 2411 เสด็จสวรรคต เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 11 แรม 4 ค่ำ ปีจอ ตรงกับวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453

เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นที่รักใคร่ของพสกนิกรทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ พระองค์จึงได้รับการถวายพระราชสมัญญานามว่า “สมเด็จพระปิยมหาราช” ซึ่งมีความหมายว่า “พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน”

สำหรับ พระราชประวัติของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร หรือ ล้นเกล้า ร.8 นั้นพระองค์เป็นพระโอรสในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ (ภายหลังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) และหม่อมสังวาลย์ (ภายหลังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี)

พระองค์มีพระเชษฐภคินี และพระอนุชาร่วมพระชนกชนนีอีก 2 พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช (ภายหลังทรงขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร)

พระองค์เสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 ขณะที่มีพระชนมายุเพียง 8 พรรษา และทรงประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ดังนั้น จึงมีการแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพื่อทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินจนกว่าพระองค์จะทรงบรรลุนิติภาวะ

พระองค์เสด็จนิวัตพระนครครั้งแรกภายหลังทรงราชย์เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 และครั้งที่สองเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2488

แต่ก่อนถึงกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพียง 4 วัน พระองค์ก็ได้เสด็จสวรรคตด้วยทรงต้องพระแสงปืนเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ณ ห้องพระบรรทม พระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง รวมระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติทั้งสิ้น 12 ปี

และเนื่องจากด้วยวันที่ 20 กันยายน เป็นวันที่เป็นสิริมงคล เนื่องจากตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์ แห่งราชวงศ์จักรีถึงสองพระองค์ด้วยกัน และได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติในขณะที่ยังทรงพระเยาว์ จึงถือเอาวันนี้เป็นวันเยาวชนแห่งชาติ อีกด้วย

21 กันยายน ของทุกปี เป็นวันสันติภาพโลก (The International Day of Peace) ร่วมรณรงค์หยุดใช้ความรุนแรงทั่วโลก

วันที่ 21 กันยายน ของทุกปี กำหนดให้เป็น วันสันติภาพโลก (The International Day of Peace) เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนทุกคนหยุดใช้ความรุนแรงกันทั่วโลก

ย้อนไปในปี ค.ศ. 1981 คณะกรรมการสหประชาชาติได้ลงประกาศรับรองโดยคอสตาริกา โดยประกาศให้ทุกวันอังคารที่ 3 กันยายนที่เป็นวันเปิดประชุมสามัญนั้นเป็น วันสันติภาพโลก หรือ วันสันติภาพสากล เพื่อเป็นการให้ความสำคัญกับสันติภาพ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา เดิมแล้ววันสันติภาพไม่ได้กำหนดไว้แน่นอนเช่นทุกวันนี้ จากนั้นในปี ค.ศ. 2001 หรืออีกประมาณ 20 ปีต่อมา ก็ได้มีมติใหม่จากสหราชอาณาจักรและคอสตาริกากำหนดให้วันที่ 21 กันยายนของทุกปีเป็นวันยุติการสู้รบ และประกาศให้เป็นวันสันติภาพโลก หรือวันสันติภาพสากล (The International Day of Peace) เพื่อเป็นการรณรงค์ให้ประชาชนทุกคนหยุดใช้ความรุนแรงกันทั่วโลก และหยุดการทำสงครามตลอดทั้งวัน 

อีกทั้งยังได้มีการเชิญประเทศสมาชิก หน่วยงานต่าง ๆ มาเข้าร่วมงานเฉลิมฉลองและร่วมมือกันสร้างสันติภาพทั่วโลก ทั้งยังกำหนดให้ ค.ศ. 2001 - 2010 เป็นทศวรรษสากลเพื่อวัฒนธรรมสันติภาพและความไม่รุนแรงเพื่อเด็กของโลก มีจุดมุ่งหมาย 6 ประการดังต่อไปนี้

1. ให้ความเคารพต่อชีวิตทั้งมวล เคารพชีวิตและศักดิ์ศรีของแต่ละบุคคล โดยไม่แบ่งชนชั้น หรือลำเอียง
2. ไม่ใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะต่อเด็กและเยาวชน
3. แบ่งปันกับผู้อื่นอย่างมีน้ำใจ เพื่อขจัดการแบ่งแยก ความไม่ยุติธรรม และการกดขี่ทางการเมืองและเศรษฐกิจ
4. รับฟังเพื่อให้เกิดความเข้าใจต่อกัน เคารพเสรีภาพในการแสดงออก และยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรม
5. สงวนรักษาผืนโลก ฝึกดำเนินชีวิตอย่างรับผิดชอบ และเคารพต่อทุกชีวิตในโลก เพื่อรักษาสมดุลของธรรมชาติบนผืนโลก
6. สร้างความสมานฉันท์ เคารพต่อหลักประชาธิปไตย และให้โอกาสทุกฝ่ายมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสตรี

สำหรับสัญลักษณ์ของสันติภาพในการแทนความหมายของ สันติภาพ จะใช้เป็นภาพของนกพิราบคาบกิ่งมะกอกซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้กันอย่างสากล เนื่องจากชาวตะวันมีความเชื่อว่า นกพิราบ เป็นวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้า เป็นตัวแทนของความบริสุทธิ์ตามพระคัมภีร์ไบเบิล อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของเรียนเรียกร้องสิทธิมนุษยชน รวมถึงเป็นการแสดงสัญลักษณ์ทางวิชาชีพสื่อสารมวลชนอีกด้วย เพราะนกพิราบนั้นมีความสามารถในการจดจำเส้นทางได้อย่างแม่นยำ ผู้คนส่วนใหญ่จึงใช้นกพิราบในการสื่อสาร ส่วน กิ่งมะกอก ก็เป็นสิ่งที่ชาวกรีกโบราณใช้งานพิธีสำคัญ เป็นมงกุฎสวมให้ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งและมอบให้ผู้ชนะในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกด้วย

22 กันยายน ของทุกปี ‘วันแรดโลก - World Rhino Da’ ร่วมอนุรักษ์และต่อต้านการล่าเอานอ

จุดเริ่มต้นของวันแรดโลก ถือกำเนิดขึ้นในปี 2553 โดยองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wide Fund for Nature - WWF) แห่งแอฟริกาใต้ จากการริเริ่มของผู้หญิง 2 คน คือ ลิซ่า เจน แคมป์เบล และ ซิงห์ ที่มีความต้องการเหมือนกันในการก่อตั้งวันแรดโลกขึ้นมา เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองให้กับแรดทั้ง 5 สายพันธุ์ และผลักดันจนสามารถเกิดเป็นวันแรดโลกได้สำเร็จ จนกลายเป็นที่ยอมรับของทั่วโลกและองค์กรต่าง ๆ ที่หันมาร่วมกันอนุรักษ์แรด 5 สายพันธุ์ ได้แก่

1. แรดขาว (Ceratotherium simum) เป็นแรดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก พบในทวีปแอฟริกา

2. แรดดำ (Diceros bicornis) เป็นแรดที่มีความใหญ่รองมาจากแรดขาว พบในทวีปแอฟริกาเช่นกัน

3. แรดอินเดีย (Rhinoceros unicornis) พบในภูมิภาคเอเชียใต้ จัดเป็นแรดที่มีเพียงนอเดียว มีลักษณะเด่นคือ ผิวหนังหนาและมีรอยย่นเห็นได้ชัดเจน

4. แรดชวา (Rhinoceros sondaicus) พบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีลักษณะคล้ายคลึงกับแรดอินเดีย เป็นแรดชนิดที่หายากที่สุดในโลก และได้รับการจัดอันดับว่าเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมชนิดที่หายากที่สุดในโลกอีกด้วย 

5. กระซู่ หรือแรด 2 นอ หรือ แรดสุมาตรา, แรดขน (Dicerorhinus sumatrensis) มีลักษณะเด่นที่สุดคือ มี 2 นอ นอหน้าใหญ่กว่านอหลัง จัดเป็นสัตว์ตระกูลแรดที่มีขนาดเล็กที่สุด พบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นกัน มีลักษณะเด่นคือ มีขนปกคลุมทั้งลำตัว เป็นแรดที่หายากมากอีกชนิดหนึ่ง

ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดให้วันที่ 22 กันยายน ของทุกปี เป็นวันอนุรักษ์แรดโลก พร้อมกันนี้การจัดตั้งวันแรดโลก ยังเป็นอีกหนึ่งหนทางเพิ่มความตระหนักถึงการลดจำนวนลงของประชากรแรดทั่วโลก จนเกือบจะกลายมาเป็นสัตว์สูญพันธุ์ในปัจจุบัน และเป็นการ ร่วมรณรงค์ต่อต้านการล่าเอานอแรด และตระหนักถึงความสำคัญของประชากรแรดที่กำลังลดจำนวนลงอย่างน่าเป็นห่วง

23 กันยายน พ.ศ. 2445 ‘ธนบัตร’ ออกใช้เป็นครั้งแรกในสยาม มีลักษณะเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินของรัฐบาล

วันนี้ เมื่อ 121 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เปิดรับแลกเปลี่ยนธนบัตรแก่ประชาชนอย่างเป็นทางการ นับเป็นการนำ ‘ธนบัตร’ ออกใช้เป็นครั้งแรกในสยาม

แรกเริ่มก่อนที่จะมีการใช้ธนบัตรนั้น ไทยได้มีการออกใช้เงินกระดาษมาก่อนแล้ว เนื่องจากมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจการค้ากับชาติตะวันตกทำให้ความต้องการเงินตราภายในสยามเกินกำลังการผลิต เกิดความขาดแคลนเงินที่ผลิตจากโลหะจึงมีการออกเงินกระดาษ เรียกว่า หมาย ในสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อใช้ร่วมกันกับเหรียญโลหะแต่ก็ไม่เป็นที่นิยมใช้เนื่องจากคนทั่วไปยังคุ้นเคยกับการใช้เงินโลหะอยู่ ต่อมาเมื่อมีธนาคารพาณิชย์จากต่างประเทศ คือ ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ ธนาคารชาร์เตอร์ และธนาคารแห่งอินโดจีนได้ขออนุญาตนำบัตรธนาคารออกใช้เป็นตั๋วสัญญาในการชำระหนี้ในวงแคบระหว่างธนาคารและลูกค้าในช่วง พ.ศ. 2432 - 2445 โดยมีการเรียกบัตรธนาคารทับศัพท์ว่า แบงก์โน้ตหรือแบงก์ ซึ่งสร้างความเคยชินและเรียกธนบัตรของรัฐบาลที่ออกใช้ในภายหลังจนติดปากถึงทุกวันนี้ว่า แบงก์

จนกระทั่ง พ.ศ. 2445 จึงเข้าสู่วาระสำคัญในการออกธนบัตร กล่าวคือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชโองการให้ตรา พระราชบัญญัติธนบัตรสยาม รัตนโกสินทรศก 121 ขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2445 อีกทั้งโปรดให้จัดตั้ง กรมธนบัตร ในสังกัดกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เพื่อทำหน้าที่ออกธนบัตรและรับจ่ายเงินขึ้นธนบัตร และเปิดให้ประชาชนนำเงินตราโลหะมาแลกเปลี่ยนเป็นธนบัตรตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2445 จึงนับว่าธนบัตรได้เข้ามามีบทบาทในระบบการเงินของไทยอย่างจริงจังนับแต่นั้นมา

ธนบัตรที่นำออกใช้ตามพระราชบัญญัติธนบัตรสยาม รัตนโกสินทรศก 121 นั้น มีลักษณะเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินของรัฐบาลที่สัญญาจะจ่ายเงินตราให้แก่ผู้นำธนบัตรมายื่นโดยทันที ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติเงินตรา พุทธศักราช 2471 ซึ่งกำหนดให้เงินตราของประเทศประกอบด้วยธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ ตลอดจนให้ธนบัตรและเหรียญกษาปณ์เป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย จึงเป็นการเปลี่ยนลักษณะของธนบัตรจากตั๋วสัญญาใช้เงินมาเป็นเงินตราอย่างสมบูรณ์

24 กันยายน วันมหิดล น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบัน

24 กันยายน วันมหิดล ‘พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย’ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (กรมหลวงสงขลานครินทร์)

‘สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก’ ทรงพระราชสมภพวันที่ 1 มกราคม (ตามปฏิทินเก่าคือ ปี พ.ศ. 2434 แต่ตามปฏิทินใหม่คือ ปี พ.ศ. 2435) เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า มีพระเชษฐา และพระเชษฐภคินีที่ประสูติร่วมพระราชมารดา 7 พระองค์

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็นพระบรมราชชนกในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเป็นพระอัยกาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

พระองค์มีคุณูปการแก่กิจการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของประเทศไทย ประชาชนโดยทั่วไปคุ้นเคยกับพระนามว่า ‘กรมหลวงสงขลานครินทร์’ หรือ ‘พระราชบิดา’ และบางครั้งก็ปรากฏพระนามว่า ‘เจ้าฟ้าทหารเรือ’ และ ‘พระประทีปแห่งการอนุรักษ์สัตว์น้ำของไทย’ ส่วนชาวต่างประเทศเรียกพระนามว่า ‘เจ้าฟ้ามหิดล’

หลังพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พระองค์ทรงพระประชวร ต้องประทับในพระตำหนักวังสระปทุม และสวรรคตเมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2472 เวลา 16.45 น. เมื่อพระชนมายุ 37 พรรษา 8 เดือน 23 วัน

ด้วยความรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ผู้ที่เคยได้รับพระกรุณาในด้านต่าง ๆ จากพระองค์ จึงได้รวบรวมเงินจัดสร้างพระรูปประดิษฐานไว้ ณ โรงพยาบาลศิริราช โดยมอบให้กรมศิลปากรเป็นผู้ดำเนินการสร้าง มี ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ควบคุม

ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงกระทำพิธีเปิด เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2493 และ ในวันที่ 24 กันยายนปีเดียวกัน นักศึกษาแพทย์ได้ริเริ่มจัดงานขึ้นเป็นครั้งแรก เนื่องในวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ โดยมีพิธีวางพวงมาลา ถวายบังคมพระรูป อ่านคำสดุดีพระเกียรติ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์

ทางคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ประกาศให้วัน ที่ 24 กันยายน ของทุกปีเป็น ‘วันมหิดล’ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2494 เป็นต้นมา เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ในฐานะพระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของไทย

25 กันยายน พ.ศ. 2541 วันสถาปนา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง น้อมระลึกถึงสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐบาลตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงราย ก่อตั้งเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2541 ภายหลังการเรียกร้องของชาวจังหวัดเชียงรายที่ต้องการมีมหาวิทยาลัยในท้องถิ่น และเพื่อเป็นการระลึกถึงสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จึงใช้พระราชสมัญญา ‘แม่ฟ้าหลวง’ เป็นชื่อมหาวิทยาลัย

หลังจากที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จสู่สวรรคาลัย เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 ประชาชนชาวเชียงรายร่วมกับหน่วยราชการในจังหวัดเชียงรายเห็นพ้องต้องกันว่า โดยที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ไพศาลต่ออาณาประชาราษฎร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนชาวเชียงรายที่ได้ทรงเลือกจังหวัดเชียงรายเป็นสถานที่สร้างพระตำหนัก หรือบ้านหลังแรกของพระองค์ และทรงริเริ่มโครงการพัฒนาดอยตุง ซึ่งได้นำความเจริญรุ่งเรือง มายังจังหวัดและประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง

ฉะนั้น เพื่อแสดงความจงรักภักดีตลอดจนเพื่อสนองพระราชปณิธานของพระองค์ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการพัฒนาคน จึงได้เสนอให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยในจังหวัดเชียงรายต่อรัฐบาลที่มีนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรีการดำเนินการเพื่อการจัดตั้งมหาวิทยาลัยที่จังหวัดเชียงราย ได้มีความคืบหน้าเป็นลำดับ รัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา ได้มีมติเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2539 ให้จัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาที่จังหวัดเชียงราย โดยอาจยกฐานะสถาบันราชภัฏเชียงรายขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยก็ได้

ต่อมารัฐบาลพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ได้มีมติใหม่ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2540 ให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยแห่งใหม่ในจังหวัดเชียงราย และได้มีการตราพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงขึ้นเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2541 ในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้รับงบประมาณในการดำเนินการเพื่อการเตรียมการจัดตั้ง ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2541 และงบประมาณในการดำเนินการก่อสร้างมหาวิทยาลัยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2542 เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 2,325 ล้านบาท การก่อสร้างตามโครงการระยะแรกเสร็จสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2547 ใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 5 ปี บนพื้นที่ 4,997 ไร่ ณ บริเวณดอยแง่ม อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย

26 กันยายน พ.ศ. 2430 ไทย-ญี่ปุ่น ลงนามปฏิญญาทางพระราชไมตรี ปฐมบทสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ

วันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2430 หรือ เมื่อ136 ปีที่แล้ว ประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นได้ลงนามในปฏิญญาทางพระราชไมตรีและการพาณิชย์ระหว่างญี่ปุ่นและไทย เริ่มความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ

ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับไทย มีประวัติยาวนานหลายร้อยปี แต่มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการโดยการลงนามในปฏิญญาทางไมตรี และการพาณิชย์ เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2430

ที่ผ่านมาไทยและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและราบรื่น ความร่วมมือของทั้งสองประเทศครอบคลุมทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของประเทศ ไทยได้มุ่งกระชับความสัมพันธ์ และความร่วมมือกับญี่ปุ่นให้พัฒนาไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจ (strategic and economic partnership)

การเยือนสำคัญในระดับพระราชวงศ์ ที่สำคัญ คือในช่วงต้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ เพื่อทรงเจริญสัมพันธไมตรี พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 และหนึ่งในประเทศที่พระองค์เลือกเสด็จพระราชดำเนินเยือน คือ ประเทศญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. 2506

ในครั้งนั้น พระองค์ทรงเสด็จเยือนกรุงโตเกียว เมืองนาโงยา จังหวัดเกียวโต และนารา และฝ่ายญี่ปุ่นได้ถวายการต้อนรับ ด้วยการนำเสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงงานผลิตกล้องถ่ายรูป และวิทยุ เพื่อทอดพระเนตรเทคโนโลยีการผลิตของญี่ปุ่น ซึ่งชี้ให้เห็นว่าฝ่ายญี่ปุ่นทราบถึงความสนพระราชหฤทัยของพระองค์เป็นอย่างดี

การเสด็จพระราชดำเนินเยือนญี่ปุ่นในครั้งนั้น เป็นจุดเริ่มต้นแห่งพระราชไมตรีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ ซึ่งในขณะนั้นทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมารอะกิฮิโตะ

เพื่อทรงตอบแทนพระราชไมตรี มกุฎราชกุมารอะกิฮิโตะ พร้อมด้วยเจ้าหญิงมิชิโกะ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2507 ในครั้งนั้นมีเหตุการณ์อันเป็นที่ระลึกแห่งพระราชไมตรี และพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และนับเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่งของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ

ขณะที่ความสัมพันธ์ระดับประชาชนของทั้งสองประเทศก็มีความใกล้ชิดแนบแน่น ปัจจุบัน มีชาวไทยที่พำนักอยู่ในญี่ปุ่น ประมาณ 50,000 คน ในขณะที่มีชาวญี่ปุ่นที่พำนักอยู่ในประเทศไทยประมาณ 40,000 คน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top