Tuesday, 22 April 2025
TheStatesTimes

‘พีระพันธุ์’ เผย ก.พลังงาน เร่งผลักดันกฎหมายอีก 2 ฉบับ หวังช่วยควบคุมราคาน้ำมัน – สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน

(10 เม.ย. 68) พลังงาน เร่งออกกฎหมาย 2 ฉบับ หวังควบคุมการปรับราคาน้ำมันอิสระ และกำหนดให้ผู้ประกอบการแจ้งต้นทุนที่แท้จริง พร้อมวางแผนสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศ ด้วยการยกเลิกเก็บเงินเข้ากองทุนฯ แต่ให้ผู้ประกอบการส่งน้ำมันมาเก็บสำรองเป็นของรัฐแทน ชี้ปัญหาราคาพลังงานแพง เกิดจากแนวคิดที่ไม่ถูกต้องที่มุ่งเน้นไปยังผลกำไรของธุรกิจเอกชน มากกว่าความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ พร้อมยืนยันจะแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ในขณะที่ยังอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีพลังงาน

เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวบรรยายในหัวข้อ “ความมั่นคงทางพลังงานและการเปลี่ยนผ่านพลังงานในอนาคต” ให้แก่ผู้อบรมหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สำหรับผู้บริหารแห่งอนาคต (วปอ.บอ.) รุ่นที่ 2 ว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานกำลังอยู่ระหว่างการออกกฎหมาย 2 ฉบับเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานไทย ได้แก่ 1. กฎหมายการประกอบธุรกิจน้ำมันเชื้อเพลิง และ 2.กฎหมายกำกับการประกอบการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งการแก้ไขเป็นเรื่องยาก เนื่องจากปัจจุบันติดปัญหาการห่วงแต่ผู้ประกอบการและไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลด้านราคาพลังงานที่แท้จริงได้ ซึ่งการแก้ไขปัญหาราคาพลังงานจะต้องมุ่งเน้นไปที่ความมั่นคงด้านพลังงานเป็นหลักไม่ใช่มุ่งเน้นด้านธุรกิจเกินไป

โดยในเรื่องของความมั่นคงด้านพลังงานจะมุ่งเน้นไปที่พลังงาน 3 ชนิด คือ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และไฟฟ้า  ซึ่งในส่วนของน้ำมันนั้น ปัจจุบันการปรับราคาน้ำมันของผู้ประกอบการจะเป็นอิสระ ไม่มีใครควบคุม ซึ่งเมื่อเทียบกับการจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หากจะปรับราคาจะต้องขออนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ก่อน ขณะที่น้ำมันเป็นสิ่งจำเป็นและกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก จึงควรต้องมีการควบคุมเช่นกัน ดังนั้นจึงต้องออกกฎหมายการประกอบธุรกิจน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องแจ้งต้นทุนราคาน้ำมันด้วย

พร้อมกันนี้จะออกกฎหมายกำกับการประกอบการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งต่อไปการปรับราคาจำหน่ายต้องอยู่ภายใต้การกำกับ ไม่สามารถปรับราคาโดยอ้างการปรับเปลี่ยนราคาน้ำมันตามตลาดโลกได้ เนื่องจากกระบวนการซื้อน้ำมันมาขายเสร็จสิ้นไปตั้งแต่ 3 เดือนก่อน จะมาอ้างราคาน้ำมันโลกในปัจจุบันไม่ได้

นอกจากนี้เพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน ประเทศไทยควรมีการสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ได้กำหนดปริมาณสำรองน้ำมันมาตรฐานไว้ 90 วัน ที่ผ่านมาไทยยังดำเนินการไม่ได้เนื่องจากต้องใช้เงินจำนวนมาก  โดยไทยใช้น้ำมันอยู่ 120 ล้านลิตรต่อวัน ถ้าจะต้องสำรอง 90 วันต้องเก็บน้ำมันกว่าหมื่นล้านลิตร

ดังนั้นแนวทางที่กระทรวงพลังงานจะดำเนินการคือ การสำรองน้ำมันโดยไม่ต้องใช้เงิน ด้วยการเลิกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง แล้วเปลี่ยนเป็นเรียกเก็บน้ำมันจากผู้ค้าน้ำมันส่งเข้าคลังสำรองของภาครัฐแทน โดยตามกฎหมายกำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันต้องส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ เช่น จ่าย 10 บาทต่อลิตร หากเปลี่ยนเป็นน้ำมันจะได้ 12 ล้านลิตรต่อวัน หรือ 1 เดือนจะได้ 360 ล้านลิตร แต่ปัจจุบันผู้ประกอบการก็ผลักภาระการจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ ให้ประชาชนแทน ดังนั้นหากใช้วิธีนี้ประชาชนก็ไม่ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ และทำให้ราคาน้ำมันจำหน่ายปลีกลดลงได้ 10 บาทต่อลิตรทันที

ส่วนในเรื่องของค่าไฟฟ้าที่อ้างว่าแพงเพราะราคาก๊าซธรรมชาติสูงขึ้นนั้น จากข้อเท็จจริงพบว่าการเฉลี่ยราคาใน Pool gas ทำให้คนไทยทั้งประเทศและโรงงานที่ไม่ใช้ก๊าซฯ ในการผลิตต้องแบกรับราคาเฉลี่ยในส่วนนี้โดยไม่เป็นธรรม ซึ่งกระทรวงพลังงานก็ต้องตรวจสอบด้วย

อย่างไรก็ตามการผลิตไฟฟ้าตามกฎหมายกำหนดให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีหน้าที่ผลิตไฟฟ้า แต่ในความเป็นจริงพบว่า ณ สิ้นปี 2567  กำลังผลิตไฟฟ้าของไทยรวมประมาณ 50,724.1 เมกะวัตต์ แต่ กฟผ. ผลิตจริงเพียง 16,226.02 เมกะวัตต์ คิดเป็น 32.06% ขณะที่ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ผลิตอยู่ 18,973.50 เมกะวัตต์ คิดเป็น 37.4%  และในจำนวน 18,973.50 เมกะวัตต์ เป็นของบริษัทรายเดียวถึง 16,000 เมกะวัตต์ และที่ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) กว่า 9,000 เมกะวัตต์ ก็มีปัญหาเรื่องสัญญาการให้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ที่ให้ราคาสูงและสัญญาการผลิตไฟฟ้าสามารถต่อได้โดยอัตโนมัติทุก 5 ปี ไม่มีสิ้นสุดสัญญา ปัญหาเหล่านี้มีส่วนทำให้ค่าไฟฟ้าแพงและเป็นปัญหาต่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศที่ต้องได้รับการแก้ไข

ส่วนปัญหาค่าความพร้อมจ่าย (AP ) ไฟฟ้า กรณีที่หน่วยงานรัฐไม่สั่งจ่ายไฟฟ้าก็ต้องจ่ายค่า AP ให้ผู้ผลิตไฟฟ้า แม้กระทั่งสั่งให้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าก็ยังต้องจ่ายค่า AP อยู่ดี กลายเป็นภาระของประชาชน โดยกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งหมด 50,724 เมกะวัตต์ ในปี 2567 มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) 36,000 เมกะวัตต์ แต่ถ้าเฉลี่ยการใช้ไฟฟ้าจะพบว่าใช้จริงเพียง 25,100 เมกะวัตต์เท่านั้น ส่วนที่เหลือ  25,600 เมกะวัตต์ เป็นไฟสำรองที่ต้องจ่าย AP โดยผู้ประกอบการไม่ต้องทำอะไรเลย

สำหรับในเรื่องของการเปลี่ยนผ่านพลังงานนั้น เป็นเรื่องของไฟฟ้าโดยตรง ซึ่งต้องเปลี่ยนกระบวนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซฯ ไปเป็นพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น เพื่อสิ่งแวดล้อมโลก ซึ่งในอนาคตจะส่งผลให้ต้องเลิกผลิตไฟฟ้าจากก๊าซฯ ถ่านหิน และน้ำมันทั้งหมด ดังนั้นแบตเตอรี่สำรองไฟฟ้าจะเกิดการพัฒนาขึ้นมาเก็บไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนไว้ จึงต้องเตรียมกฎหมายไว้รองรับ ส่วนการซื้อไฟฟ้าต่างประเทศที่ผ่านมา 6,234 เมกะวัตต์ โดยเฉพาะพลังน้ำจาก สปป.ลาว พบว่าค่าไฟฟ้า 2.60-2.70 บาทต่อหน่วย รวมค่าสายส่งเป็นกว่า 3 บาทต่อหน่วย ซึ่งแพงกว่าค่าไฟฟ้าจากก๊าซฯ ที่ 2.90 บาทต่อหน่วย ซึ่งต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงให้มากขึ้น

“ถ้าทุกคนที่เกี่ยวข้องกับประเทศ ไม่เลิกคิดด้านธุรกิจการค้า และผู้ประกอบการไม่หันมาคิดถึงความมั่นคงด้านพลังงาน การเปลี่ยนผ่านในอนาคตก็ไม่มีประโยชน์เพราะผลกำไรก็จะไปเป็นแบบเดิม และสิ่งต่างๆ นี้ เป็นสิ่งที่เราต้องเผชิญต่อไปในอนาคตถ้าเรานิ่งเฉย ผมปล่อยนิ่งเฉยไม่ได้ ทำได้แค่ไหนไม่ทราบ แต่ผมทำ เพราะผมไม่เคยคิดว่ามันร้ายแรงขนาดนี้ ฉะนั้นเราทุกคนเป็นเจ้าของประเทศ มีส่วนได้เสียด้านพลังงาน การเปลี่ยนผ่านพลังงานต่อไปอย่าให้มันเหมือนเดิมคือกลายเป็นทาสของผู้ประกอบการ ผมเป็นนักการเมืองมาแล้วก็ไป ช่วงที่ทำงานก็จะทำให้ดี ผมมีโอกาสมาทำงาน ถ้าประชาชนนั่งเฉยเปลี่ยนผ่านไปก็ไม่มีประโยชน์ ท่านต้องคิดว่าวางแผนอย่างไรให้ไทยหลุดพ้นจากการครอบงำธุรกิจการค้าด้านพลังงาน การเปลี่ยนผ่านไม่มีประโยชน์ถ้าไม่สามารถแก้ปัญหาการผูกขาดด้านพลังาน และจะกลายเป็นการทำทั้งหมดเพื่อรองรับภาคธุรกิจการค้าเท่านั้น”  นายพีระพันธุ์ กล่าว

‘นายกรัฐมนตรีหลี่เฉียง’ เรียกผู้เชี่ยวชาญหารือด่วน เตรียมต่อกรกับภาษีทรัมป์ ย้ำผู้ประกอบการปรับตัวตามสถานการณ์ เป้าหมายขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนเดินหน้าต่อไป

(10 เม.ย. 68) นายกรัฐมนตรีหลี่เฉียง ของจีนได้เป็นประธานการประชุมสัมมนากับผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและผู้ประกอบการในประเทศ เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน รวมถึงแผนการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต

การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหารือถึงความท้าทายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อมภายนอก และหาทางเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจจีน โดยผู้เข้าร่วมได้เสนอแนะแนวทางในการรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ รวมทั้งส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

แม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะเผชิญกับความยากลำบากจากปัจจัยภายนอก แต่ผู้เข้าร่วมประชุมต่างเห็นว่าเศรษฐกิจจีนยังคงมีจุดแข็งหลายประการ อาทิ ความยืดหยุ่นที่แข็งแกร่งและศักยภาพมหาศาลในการฟื้นตัว

นายกรัฐมนตรีหลี่เฉียงกล่าวว่า แม้ปีนี้จะมีสถานการณ์พิเศษและการท้าทายต่างๆ แต่จีนสามารถตอบสนองต่อความเสี่ยงและสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนด้วยความสงบที่มั่นคง พร้อมทั้งสามารถรักษาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปีได้

นายกรัฐมนตรีจีนยังกล่าวเสริมว่า จีนจะใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่องในการทำงานด้านเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพในไตรมาสที่สองและในอนาคต โดยจะดำเนินนโยบายมหภาคเชิงรุกมากขึ้น รวมถึงนำนโยบายใหม่ๆ มาใช้เมื่อสถานการณ์เหมาะสม

นอกจากนี้ เขายังกล่าวถึงการขยายอุปสงค์ภายในประเทศเป็นกลยุทธ์ระยะยาว และกระตุ้นความมีชีวิตชีวาของธุรกิจทุกรูปแบบอย่างเต็มที่

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีหลี่เฉียง มีความหวังว่าผู้ประกอบการจะปรับตัวตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง และขับเคลื่อนการเติบโต รวมถึงเสริมสร้างและยกระดับวิสาหกิจของตนให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นในอนาคต

‘ทุงสะเทวี’ นางสงกรานต์ 2568 ผู้เสด็จมาบนหลังครุฑลักษณะไสยาสน์หลับเนตร พร้อมคำทำนายประจำปีนี้ทั้งด้านดีและร้าย

เข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ หลายคนคงเคยได้ยินเรื่องราวของ 'นางสงกรานต์' หรือ 'เทวีสงกรานต์' ซึ่งเป็นหนึ่งในธรรมเนียมสำคัญของไทยที่สืบทอดกันมาช้านาน เป็นการทำนายแนวโน้มของปีนั้น ๆ ทั้งในเรื่องของบ้านเมือง เศรษฐกิจ และสภาพอากาศ โดยอิงจากตำแหน่งของดวงดาวตามโหราศาสตร์ไทย 

ใครคือนางสงกรานต์ประจำปี 2568
นางสงกรานต์ประจำปี 2568 มีนามว่า ทุงสะเทวี (หรือทุงษเทวี) เทวีองค์นี้เป็นหนึ่งในเจ็ดนางที่ผลัดเปลี่ยนกันมาในแต่ละปี โดยตำราโบราณระบุไว้ว่าลักษณะของเทวีจะสะท้อนถึงสถานการณ์ในปีนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นความอุดมสมบูรณ์ ความเปลี่ยนแปลง หรือภัยที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างคติความเชื่อและการดูดวงดาวอย่างลึกซึ้ง เทวีประจำปีจึงเปรียบเสมือน 'โหรหญิง' แห่งจักรวาล ที่มาบอกแนวทางชีวิตของปี 2568 นี้

ในปีนี้ ทุงสะเทวี ทรงพาหนะคือ ครุฑ เสด็จโดยท่านอนหลับเนตร (นอนหลับตา) ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษในปีนี้ โดยมีรายละเอียดเพิ่มเติมคือ ทรงพาหุรัด ทัดดอกทับทิม อาภรณ์แก้วปัทมราค ภักษาหารคือผลมะเดื่อ (อุทุมพร) พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงสังข์ สื่อถึงพลังอำนาจ การปกป้อง และการรู้แจ้งในสรรพสิ่ง เสด็จมาเหนือหลังครุฑซึ่งเป็นพาหนะสำคัญที่สื่อถึงความมั่นคงและความศักดิ์สิทธิ์ในทางโหราศาสตร์

สำหรับคำทำนายนางสงกรานต์ประจำปี 2568 ปีนี้ตรงกับวันอาทิตย์ ซึ่งตามตำราโบราณถือว่าเป็นวันมหาสงกรานต์ที่ไร่นาเรือกสวน เผือกมัน จะไม่แพงนัก แสดงถึงภาคเกษตรกรรมที่มีแนวโน้มดีขึ้น แต่ในวันเนา (วันจันทร์) กลับมีคำทำนายว่าเกลือจะแพง นางพระยาจะร้อนใจ และมักจะเกิดโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ดังนั้นภาพรวมของปีนี้อาจมีทั้งด้านที่ดีและด้านที่ต้องระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพและอารมณ์ของผู้คน

นอกจากนี้ วันพุธเป็นวันเถลิงศก ซึ่งหมายถึงวันเริ่มต้นปีใหม่ไทยอย่างแท้จริง มีคำพยากรณ์ว่า ราชบัณฑิต ปุโรหิตโหราจารย์จะมีสุขสำราญเป็นอันมาก สื่อถึงการที่ผู้รู้ ผู้มีปัญญา หรือคนในวงวิชาการจะได้รับความเคารพนับถือและมีความเจริญก้าวหน้า

และด้วยนางสงกรานต์ปีนี้ เสด็จมาบนหลังครุฑในลักษณะนอนหลับตา (ไสยาสน์หลับเนตร) ซึ่งมีนัยว่า พระมหากษัตริย์จะเจริญรุ่งเรืองดี บ้านเมืองจะมั่นคง แต่อาจมีบางช่วงที่ประชาชนรู้สึกไม่มั่นใจในอนาคต ต้องอาศัยความเข้าใจและความร่วมมือร่วมใจกันมากขึ้น

โดยคำทำนายโดยรวมของปีนี้สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงที่ทุกคนควรเตรียมตัวรับมือ ด้วยการใช้สติ รอบรู้ และวางแผนอย่างมีเหตุผล ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนทางการเงิน การดูแลครอบครัว หรือการเตรียมสุขภาพกายใจให้พร้อมต่อสถานการณ์ไม่แน่นอน เป็นการเตือนให้เราเดินหน้าอย่างมั่นคง ใช้ความอดทนเป็นหลัก ยึดสติเป็นอาวุธ พร้อมเปิดใจเรียนรู้และพัฒนาตนเองในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการงาน ครอบครัว หรือสุขภาพ

เตรียมชง DSI รับกรณี ‘ซินเคอหยวน’ เป็นคดีพิเศษ พร้อมส่งทีมงานเก็บตัวอย่างเหล็กตึก สตง. ตรวจสอบเพิ่ม

(10 เม.ย.68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมจะดำเนินการตรวจสอบกรณีเหล็กตกมาตรฐานที่อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และกรณีการครอบครองฝุ่นแดง ของ บริษัท ซินเคอหยวน สตีล จำกัด อย่างถึงที่สุดและนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ โดยหลังจากนี้จะเข้าเก็บตัวอย่างเหล็กอีกครั้งในวันศุกร์ที่ 11 เมษายน 2568 นี้ หลังได้เข้าหารือและร่วมวางแผนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเข้าพื้นที่เพื่อให้เกิดความเป็นระบบและตรงตามวัตถุประสงค์ให้มากที่สุด โดยในวันนี้ (10 เมษายน 2568) ได้มอบหมายให้ นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม แถลงผลดำเนินการตรวจสอบที่ผ่านมา 

นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายเอกนิติ รมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุนทร แก้วสว่าง รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นายวิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย และนางวิรงรอง พรพิมลเทพ ผู้อำนวยการกองกฎหมาย (สมอ.) ร่วมแถลงข้อเท็จจริงในการตรวจสอบเหล็กที่ใช้ในการก่อสร้าง อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และกรณีการครอบครองฝุ่นแดงของ บริษัท ซินเคอหยวน สตีล จำกัด 

"หน้าที่เราคือตรวจสอบว่าได้มาตรฐานหรือไม่ เราบอกไม่ได้ว่าที่ตึก สตง. ถล่มเป็นเพราะเหล็กหรือไม่ เพราะจะมีหน่วยงานที่ตรวจสอบมาประกอบการพิจารณา จะบอกว่าเกิดจากเหล็กไม่ได้มาตรฐานอย่างเดียวก็คงไม่ใช่ ดังนั้น พรุ่งนี้ (11 เม.ย. 2568) ตนและเจ้าหน้าที่จะลงพื้นที่ตึก สตง. เพื่อเก็บตัวอย่างเหล็กเพิ่มเติม เพื่อให้มีความรัดกุมและรอบคอบที่สุดมากยิ่งขึ้น ส่วนเหล็กที่เคยตรวจแล้วยืนยันว่าจะไม่ตรวจซ้ำรอบแน่นอนตามมาตรฐาน สมอ. ไม่สามารถเปิดให้ทดสอบซ้ำแล้วซ้ำอีก" 

นอกจากนี้ จากการตรวจสอบยังพบข้อผิดปกติอีกบางอย่าง อาทิ ค่าไฟฟ้าจากเดิมจ่ายที่เดือนละ 130 ล้านบาท แม้จะลดลงเหลือหลักล้านบาท และหลักแสนบาท แต่ที่พบคือค่าน้ำที่ลดลงน้อยมาก จึงเป็นคำถามที่บริษัทต้องชี้แจงเพิ่มเติม

“ในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2567 – มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ทีมสุดซอยของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนินการยึดอายัดเหล็กเส้นกลม เหล็กข้ออ้อย และเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ที่ไม่ได้มาตรฐาน จากโรงงานผู้ผลิตในจังหวัดชลบุรี ระยอง ปราจีนบุรี นครราชสีมา และสระแก้ว จำนวน 7 ราย ซึ่งเป็นโรงงานร่วมทุนกับต่างชาติ 4 ราย และโรงงานไทย 3 ราย รวมมูลค่ายึดอายัด 361,413,115 บาท” 

“ก่อนหน้านี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ทำหนังสือเพื่อขอข้อมูลชี้แจงข้อเท็จจริงจากซินเคอหยวนว่าได้ขายเหล็กล็อตที่มีปัญหาให้แก่ตัวแทนจำหน่ายรายใดไปบ้างหรือไม่ แต่กลับได้คำตอบเพียงแค่ว่าไม่ได้ขายเหล็กให้โครงการก่อสร้างตึก สตง. โดยตรง จึงไม่สามารถตอบได้ ซึ่งเท่ากับกระทรวงอุตสาหกรรมไม่ได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ใด ๆ ต่อประชาชน เพราะประชาชนมีความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัย ว่ามีเหล็กเส้นที่มีปัญหาอยู่ในอาคารอื่น ๆ อีกหรือไม่ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมจะมอบหมายให้ สมอ. พิจารณาต่อไปว่าในกรณีนี้ถือว่าสามารถเอาผิดฐานไม่ให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลตามมาตรา 56 พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมได้หรือไม่ ส่วนเรื่องการครอบครองฝุ่นแดง ที่ได้ทำหนังสือไปสอบถามข้อเท็จจริงแล้ว ก็ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนจาก ซินเคอหยวนเช่นกัน” 

“ในส่วนของ มอก.20 เหล็กเส้นกลม และ มอก. 24 เหล็กข้ออ้อยที่ผลิตจากเตาหลอมเหล็กชนิด IF (Induction Furnace) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีหลอมเหล็กแบบเก่า ซึ่งมีเสียงวิจารณ์วงกว้างถึงปัญหาเรื่องคุณภาพและความบริสุทธิ์ของเหล็ก รัฐมนตรีเอกนัฏ ได้สั่งการให้ สมอ. ศึกษาแนวทางแก้ไข หรือ ยกเลิก มอก. เหล็กเส้นจากเตาหลอมเหล็ก IF ชนิดนี้ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและความสม่ำเสมอของมาตรฐานผลิตภัณฑ์เหล็กเส้นไทยในอนาคต” นายพงศ์พล กล่าว

“สำหรับกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวว่า สมอ. ได้ต่ออายุใบอนุญาต มอก. ให้กับ บริษัท ซินเคอหยวน สตีล จำกัด เมื่อเดือนมกราคม 2568 ที่ผ่านมานั้น ขอยืนยันอีกครั้งว่าเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง โดยข้อเท็จจริงคือ บริษัทดังกล่าว ปัจจุบันยังถูกแจ้งเตือนก่อนสั่งพักใช้ใบอนุญาตฯ ตามมาตรา 40 กรณีผลิตภัณฑ์ไม่เป็นไปตามมาตรฐานห้ามผลิต ห้ามจำหน่าย สินค้าเหล็กเส้นที่ทดสอบไม่ผ่านมาตรฐาน ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 ตามการยืนยันของ สมอ. ซึ่งสินค้าไม่ได้มีการต่ออายุใบอนุญาต มอก. ตามข่าวที่เผยแพร่ไปแต่อย่างใด”

ทั้งนี้ วานนี้ (9 เม.ย. 68) นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย สมอ. ได้เข้าพบ เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ร่วมหารือกันเพื่อวางแนวทางในการรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อเข้าที่เกิดเหตุอย่างเป็นระบบ และกำหนดหน้างานให้ชัดเจน เพื่อให้ใช้เวลาน้อยในการทำงาน ได้ตามวัตถุประสงค์ให้มากที่สุด ซึ่งหลังจากที่ได้แบ่งหน้าที่กันและเข้าไปดูหน้างานจริงในที่เกิดเหตุ จึงได้กำหนดเรียงลำดับหน่วยงานต่าง ๆ ที่จะเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุ โดยคิวแรกเป็นของกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่ง สมอ.  มีกำหนดจะเข้าไปเก็บตัวอย่างเหล็กในที่เกิดเหตุเพิ่มเติม ในวันศุกร์ที่ 11 เมษายน 2568 

หลังจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะบูรณาการแลกเปลี่ยนและสนับสนุนข้อมูลร่วมกันเพื่อเอาผิดกับโรงงานผลิตเหล็กดังกล่าวตามกฎหมายของแต่ละหน่วยงาน ซึ่ง DSI สามารถรับเป็นคดีพิเศษได้ เนื่องจากมีความซับซ้อนและกระทบต่อระบบเศรษฐกิจภาพรวม กรณีนี้นับเป็นต้นแบบของการทำงานของหน่วยงานรัฐเพื่อสู้กับธุรกิจศูนย์เหรียญในประเทศไทย และกระทรวงอุตสาหกรรมจะดำเนินการกับโรงงานดังกล่าวตามกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ หากตรวจสอบพบว่ามีการผิดกฎหมายข้อใดจะดำเนินการให้ถึงที่สุด

ขอนแก่น- โชว์ผลงานปราบยาเสพติดในรอบ 6 เดือน 

จังหวัดขอนแก่น โชว์ผลงาน 6 เดือนปราบยาเสพติด ยึดยาบ้ากว่า 9 ล้านเม็ด ยึดทรัพย์กว่า 56 ล้านบาท “ผู้ว่าฯไกรสร” เดินหน้าปิดล้อมทั้งจังหวัดค้น 106 เป้าหมาย พร้อมเตือนพวกฉวยโอกาสลักลอบนำยาเสพติดเข้าพื้นที่ช่วงสงกรานต์ เพราะชุดการข่าวเกาะติดทุกความเคลื่อนไหวของทุกกลุ่มหมดแล้ว
    
เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ (9 เม.ย.68) ที่ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด จ.ขอนแก่น นายไกรสร กองฉลาด ผวจ.ขอนแก่น พร้อมด้วย พ.ต.อ.ถนอมสิทธิ์ วงษ์วิจารณ์ รอง ผบก.ภ.จว.ขอนแก่น ,นพ.อภิชัย ลิมานนท์ นายแพทย์สาธารณสุข จ.ขอนแก่น ร่วมกันแถลงข่าวผลการปิดล้อมตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย 106 จุดในพื้นที่ 26 อำเภอของ จ.ขอนแก่น พร้อมกันเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา 

โดยเจ้าหน้าที่สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้รวม 100 คน แยกเป็นผู้เสพ 78 คน ผู้เสพ 22 คนยาบ้า 225,349 เม็ด,ยาไอซ์ 1.2 กรัม ตรวจยึดอาวุธปืน 14 กระบอก เครื่องกระสุน 51 นัดยึดทรัพย์ 894,830 บาท

นายไกรสร กองฉลาด ผวจ.ขอนแก่น กล่าวว่า การปิดล้อมตรวจค้นและรีเอ็กซเรย์พื้นที่เป้าหมายเป็นมาตรการที่คณะทำงานร่วมทุกฝ่ายระดมกำลังกันอย่างต่อเองและเต็มที่เพื่อกวาดบ้านของตนเองให้สะอาด ซึ่งในช่วงเช้ามืดที่ผ่านมา ทั้ง 26 อำเภอได้กระจายกำลังปิดล้อมตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย พร้อมกันโดยมี รอง ผวจ.ขอนแก่น ลงพื้นที่ปฎิบัติงานร่วมกับตำรวจ,ฝ่ายปกครอง,ปปส. และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งสามารถตรวจยึดของกลางได้จำนวนมาก ขณะที่ผลการดำเนินงาน 6 เดือนที่ผ่านมา ภาพรวมทั้งจังหวัดมีการตรวจค้นไปแล้ว 1,745 เป้าหมาย,จับกุมผู้ต้องหา 5,379 คน แยกเป็นผู้เสพ 2,936 คน ผู้ค้า 2,443 คนตรวจยึดยาบ้า 9,298,778 เม็ด ยาไอซ์ 4,454.45 กรัม ตรวจยึดอาวุธปืน 106 กระบอกเครื่องกระสุน 213 นัดและยึดทรัพย์แล้วรวม 56,741,925 บาท

“ขอเตือนพวกที่คิดจะฉวยโอกาสลักลอบนำเข้ายาเสพติดหรือนำยาเสพติดจากพื้นที่ต่างๆเข้ามาในพื้นที่ จ.ขอนแก่น ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ขอให้คิดใหม่เพราะเจ้าหน้าที่ยังคงคุมเข้มในมาตรการป้องกันและปราบปรามอย่างเข้มงวด โดยไม่มีวันหยุด ควบคู่กับการอำนวยความสะดวกและบริการประชาชนนักเดินทาง ซึ่งขณะนี้ชุดการข่าวของจังหวัด,ตำรวจและ ปปส.ได้ติดตามและเฝ้าจับตากลุ่มบุคคลหรือกลุ่มต้องสงสัยหรือกลุ่มต่างๆทั้งหมดแล้ว ซึ่งหากพบว่ากระทำความผิดก็จะดำเนินการจับกุมตามขั้นตอนของกฎหมายทันทีไม่มีละเว้น”

วปอ.บอ รุ่นที่ 2 ร่วมกับโรงเรียนชุมพลทหารเรือ จัดกิจกรรมอนุรักษ์ทะเล ครบวงจรฟื้นฟูปะการัง และปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ เสริมสร้างความมั่นคงทางทะเล

ที่ บริเวณหาดเกล็ดแก้ว โรงเรียนชุมพลทหารเรือ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ นำนักศึกษาหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร สำหรับผู้บริหารแห่งอนาคต (วปอ.บอ) รุ่นที่ 2 จัดกิจกรรมอนุรักษ์ทะเลครบวงจรฟื้นฟูปะการัง และปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ นำโดย พลตรี ชัชวาลย์ พยุงวงศ์ ผู้อำนวยการหลักสูตร การป้องกันราชอาณาจักร ซึ่งมี นาวาเอก ยุทธนา ชูธงชัย ผู้บังคับการโรงเรียนชุมพลทหารเรือ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ ให้การต้อนรับ คณะ พร้อมด้วย หน่วยงานภาครัฐ-เอกชน ผู้นำชุมชุนกลุ่มประมงพื้นบ้านในพื้น เข้าร่วมกิจการ

โดยภายในกิจกรรม ทางคณะนักศึกษาหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร สำหรับผู้บริหารแห่งอนาคต (วปอ.บอ) รุ่นที่ 2 ได้ร่วมกันปลูกปะการัง และปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ ประกอบด้วย ปู 2,222 ตัว และกุ้ง 222,222 ตัว 

พลตรี ชัชวาลย์ พยุงวงศ์ ผู้อำนวยการหลักสูตร การป้องกันราชอาณาจักร กล่าาว สำหรับหลักสูตร การป้องกันราชอาณาจักร สำหรับผู้บริหารแห่งอนาคต รุ่นที่ 2  ที่จัดจัดกิจกรรมอนุรักษ์ทะเลครบวงจรฟื้นฟูปะการัง และปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ ขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสังคมในพื้นที่ภาคตะวันออก     

อีกทั้ง ยังเป็นการดำเนินงานที่มุ่งเน้นการดูแลและฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการลดมลพิษทางทะเล การปกป้องพื้นที่อ่าวและชายฝั่ง การอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ และที่สำคัญ เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน ท้องถิ่น ในการปกป้องทะเล ซึ่งสิ่งเหล่านี้ช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางทะเล ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม โดยได้มุ่งเน้นการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ และสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงให้นักศึกษานำไปบริหารจัดการความมั่นคงในอนาคต ต่อไป

กองทัพเรือ ผู้แทนกองทัพไทย จัดชุดปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว เมียนมา

พลเรือโท วัชระ พัฒนรัฐ ผู้บัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบ กล่าวให้โอวาทเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับ ชุดปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ระดับสูงในภาวะภัยพิบัติ (Medical Emergency Response Team : MERT) ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้แทนหน่วยแพทย์ กองบัญชาการกองทัพไทย ประสานผ่านกรมแพทย์ทหารเรือ​ ได้ให้โรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์​ ฐานทัพเรือสัตหีบ​ จัดชุดปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว ณ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ซึ่งพร้อมเดินทางปฏิบัติภารกิจ​เพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม​ ในวันที่​ 11 เมษายน​ 2568 

โดยได้ทำพิธีดังกล่าว ณ ห้องประชุมกฤษณจันทร์ กิจการสโมสรโรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ ฐานทัพเรือสัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2568

BYD ชี้ไม่กระทบจากนโยบายภาษีสหรัฐฯ มองเป็นโอกาสในการขยายตลาดเอเชียแปซิฟิก

(10 เม.ย. 68) นายหลิว เสวียเลี่ยง ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายขายประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัท บีวายดี ออโต้ อินดัสทรี จำกัด (BYD) เปิดเผยว่า การปรับขึ้นภาษีทั่วโลกโดยสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเริ่มมีผลตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน 2568 จะไม่มีผลกระทบต่อแบรนด์และธุรกิจของบีวายดีในภาพรวมแต่อย่างใด

นายหลิวกล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทมีการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งในด้านเทคโนโลยีและชิ้นส่วนรถยนต์ รวมถึงการออกแบบ ทำให้สามารถควบคุมกระบวนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังไม่มีแผนเข้าสู่ตลาดอเมริกาในขณะนี้ ซึ่งทำให้ไม่ต้องเผชิญกับผลกระทบจากนโยบายภาษีใหม่ของสหรัฐฯ

นอกจากนี้ นายหลิวยังกล่าวถึงกลยุทธ์การขยายตลาดทั่วโลกของบีวายดี โดยเน้นการลงทุนในตลาดภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นหลัก โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งถือเป็นฐานสำคัญในการขยายธุรกิจในภูมิภาคนี้ การปรับขึ้นภาษีของสหรัฐฯ อาจทำให้บริษัทเพิ่มโอกาสในการนำทรัพยากรไปลงทุนในตลาดเอเชียแปซิฟิกมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคนี้

การขยายธุรกิจของบีวายดีในตลาดเอเชียแปซิฟิกยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทมองว่าในระยะยาว ภูมิภาคนี้จะเป็นตลาดที่สำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า และบีวายดีจะเดินหน้าสร้างโอกาสและเสริมสร้างตำแหน่งทางการตลาดในภูมิภาคนี้อย่างมั่นคง

11 เมษายน พ.ศ. 2436 ในหลวง รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ เปิดเดินรถไฟสายปากน้ำ รถไฟสายแรกในสยามประเทศ ระยะทาง 21 กิโลเมตร

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2429 รัฐบาลสยามได้อนุมัติสัมปทานแก่ กอมปานีรถไฟ หรือ บริษัทรถไฟปากน้ำ บริหารงานโดยพระยาชลยุทธโยธินทร์ (อองเดร ดู เปลซี เดอ ริเชอลิเออ) ชาวเดนมาร์ก และพระนิเทศชลธี (แอลเฟรด ยอนลอบเตอด เยฟอานีเอช) ได้รับสัมปทานตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2429

บริษัทชาวเดนมาร์กสร้างทางรถไฟสายแรก ขึ้นในประเทศไทย ระหว่าง กรุงเทพฯ - สมุทรปราการ ระยะทาง 21 กิโลเมตร เพราะเล็งเห็นว่าทางรถไฟสายนี้จะอำนวยคุณประโยชน์ทางเศรษฐกิจและด้านยุทธศาสตร์ แม้ว่าบริษัทชาวเดนมาร์กจะได้รับอนุมัติสัมปทาน แต่บริษัทก็ยังไม่สามารถดำเนินก่อสร้างได้เนื่องจากขาดทุนทรัพย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยืมทุนทรัพย์ไปสมทบด้วยส่วนหนึ่ง นับเป็นพระปรีชาสามารถลึกซึ้งที่รัฐสนับสนุนยอมให้เป็นครั้งแรกในโครงการอุตสาหกรรมขนส่งที่เอกชนลงทุน

จากนั้น วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินแซะดินเป็นปฐมฤกษ์สร้างทางรถไฟสายกรุงเทพ-สมุทรปราการ

และในวันที่ 11  เมษายน พ.ศ. 2436 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดบริการ และเสด็จขึ้นประทับโดยสารขบวนรถไฟพระที่นั่ง พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ในพิธีเปิดการเดินรถครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัส ปรากฏความตอนหนึ่งว่า

"...เรามีความยินดีที่ได้รับหน้าที่อันเป็นที่พึงใจ คือจะได้เป็นผู้เปิดรถไฟสายนี้ ซึ่งเป็นที่ชอบใจและปรารถนามาช้านานแล้วนั้น ได้สำเร็จสมดังประสงค์ลงในครั้งนี้ เพราะเหตุว่าเป็นรถไฟสายแรกที่จะได้เปิดในบ้านเมืองเรา แล้วยังจะมีสายอื่นต่อ ๆ ไปอีกจำนวนมากในเร็ว ๆ นี้ เราหวังว่าจะเป็นการเจริญแก่ราชการและการค้าขายในบ้านเมืองเรายิ่งนัก..."

รถไฟสายปากน้ำ จากกรุงเทพฯ – สมุทรปราการ ระยะทาง 21 กิโลเมตร โดยรัฐบาลได้อนุมัติสัมปทานก่อสร้างและดำเนินกิจการโดย บริษัทรถไฟปากน้ำ ของชาวเดนมาร์ก มีสัญญาสัมปทาน 50 ปี เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2434 แล้วเสร็จในปี 2436 ค่ารถไฟในสมัยนั้น ไปกลับ 1 บาท มี 10 สถานี สถานีละ 1 เฟื้อง สถานีต้นทางคือสถานีหัวลำโพง รถจะหยุดรับส่งคนโดยสารที่ ศาลาแดง บ้านกล้วย พระโขนง บางนา สำโรง ศีรษะจระเข้ (หัวตะเข้) บ้านนางเกรง มหาวง แล้วก็ถึงปากน้ำสมุทรปราการ สิ้นอายุสัมปทานเมื่อเวลาเที่ยงคืน วันที่ 12 กันยายน 2479 รัฐบาลได้รับซื้อทรัพย์สินไว้มอบให้กรมรถไฟจัดการเดินรถ  

ต่อมา รัฐบาลสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้สั่งเลิกกิจการรถไฟสายนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2503 จึงสร้างอนุสรณ์แห่งทางรถไฟสายแรกของไทย การรถไฟแห่งประเทศไทย ตกลงจัดทำหมุดหลักฐานเป็นแท่งคอนกรีต ติดแผ่นโลหะจารึกข้อความติดตั้งไว้ในบริเวณถนนพระรามที่ 4 หน้าสถานีกรุงเทพอันเป็นจุดปลายทางตันของสถานีหัวลำโพง-ปากน้ำ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top