Tuesday, 22 April 2025
TheStatesTimes

ปักกิ่งลั่น…ขอไม่ทนกับการกลั่นแกล้งจากสหรัฐฯ ที่ใช้นโยบายเลือกข้างเป็นอาวุธ หวังตัดจีนพ้นเวทีเศรษฐกิจ

(21 เม.ย. 68) กระทรวงพาณิชย์ของจีนออกแถลงการณ์เตือนประเทศคู่ค้าไม่ให้ยอมรับแรงกดดันจากสหรัฐฯ ในการจำกัดความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีน เพื่อแลกกับการยกเว้นภาษีศุลกากร โดยระบุว่าจีนจะดำเนินมาตรการตอบโต้หากผลประโยชน์ของตนถูกละเมิด 

โฆษกกระทรวงพาณิชย์ของจีนกล่าวว่า จีน “คัดค้านอย่างหนักแน่น” ต่อแนวทางดังกล่าว ซึ่งถือเป็นการบิดเบือนกลไกการค้าสากลและทำลายหลักการของการค้าเสรีอย่างร้ายแรง 

“การประนีประนอมไม่ได้นำมาซึ่งสันติภาพ และการประนีประนอมไม่ได้สร้างความเคารพ” โฆษกกล่าว พร้อมย้ำว่า “การแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวชั่วคราวโดยไม่คำนึงถึงผู้อื่น เพื่อแลกกับสิ่งที่เรียกว่าข้อยกเว้น เปรียบเสมือนการขอหนังเสือ สุดท้ายแล้วเสือจะไม่เกิดประโยชน์ใดๆ และจะส่งผลเสียต่อทั้งผู้อื่นและตัวเราเอง”

“จีนจะไม่ยอมรับข้อตกลงใดๆ ที่ไม่เคารพต่อผลประโยชน์ของจีน หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเดินหน้าตามแนวทางนี้ จีนพร้อมจะใช้มาตรการตอบโต้อย่างเด็ดขาด”

ก่อนหน้านี้ สำนักข่าว Bloomberg และ Financial Times รายงานตรงกันว่า สหรัฐฯ กำลังพิจารณาใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นเครื่องต่อรอง เพื่อชักจูงประเทศคู่ค้า เช่น เม็กซิโก เวียดนาม หรือชาติอาเซียน ให้ลดการนำเข้าเทคโนโลยีหรือสินค้าจากจีน รวมถึงจำกัดการลงทุนของบริษัทจีนในภาคส่วนยุทธศาสตร์

ท่าทีดังกล่าวของสหรัฐฯ ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจผ่านวิธีการ “แยกเศรษฐกิจ” (Decoupling) ซึ่งทำลายหลักความเป็นธรรมในการค้าระหว่างประเทศ และสร้างความไม่แน่นอนให้กับเศรษฐกิจโลกในภาพรวม

สถานการณ์นี้ส่งผลให้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากทั้งสองฝ่าย โดยจีนพยายามเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้ากับภูมิภาคนี้ ขณะที่สหรัฐฯ พยายามจำกัดอิทธิพลของจีนในภูมิภาค 

ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก โดยนักวิเคราะห์เตือนว่าความขัดแย้งที่ยืดเยื้ออาจชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลก

สำหรับประเทศไทยและประเทศในอาเซียน การรักษาสมดุลระหว่างสองมหาอำนาจนี้เป็นสิ่งที่ท้าทาย โดยต้องพิจารณาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคงในระยะยาว

จดหมายจาก ‘แกรนด์ดยุกอดอล์ฟ’ แห่งลักเซมเบิร์กสู่บางกอก ร่องรอยแห่งมิตรภาพข้ามทวีปในยุคสมัย ‘รัชกาลที่ 5’

(21 เม.ย. 68) เพจเฟซบุ๊ก ปราชญ์ สามสี เผยแพร่เรื่องราวน่าทึ่งจากประวัติศาสตร์ซึ่งเชื่อมโยงโลกตะวันตกกับสยามในยุครัชกาลที่ 5 ผ่านจดหมายจากแกรนด์ดยุกอดอล์ฟแห่งลักเซมเบิร์กถึงกรุงเทพฯ โดยมีผู้รับคือ “F. Grahlert” ช่างอัญมณีหลวงผู้มีบทบาทสำคัญในการออกแบบและสร้างเครื่องราชูปโภคให้กับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในปี ค.ศ. 1906 (พ.ศ. 2449) โปสการ์ดตอบกลับจากแกรนด์ดยุกอดอล์ฟแห่งลักเซมเบิร์ก ถูกส่งข้ามทวีปมายังชายฝั่งบางกอก โดยมีปลายทางคือบริษัท “F. Grahlert & Co.” - ช่างอัญมณีผู้ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการให้ดูแลเครื่องราชูปโภคของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งสยาม

โปสการ์ดดังกล่าวลงวันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ. 1906 จากเมืองลักเซมเบิร์ก และเดินทางถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ 8 สิงหาคมของปีเดียวกัน นี่ไม่ใช่เพียงแค่หลักฐานทางไปรษณีย์ แต่เป็นหน้าต่างที่เปิดให้เรามองเห็นโลกแห่งความสัมพันธ์ระหว่างราชสำนักสยามกับโลกตะวันตกผ่านเส้นทางการค้าและศิลปะ

ตามบันทึกในหนังสือ Twentieth Century Impressions of Siam (1908) โดย Arnold Wright และ Oliver T. Breakspear F. Grahlert ได้เดินทางเข้ามายังกรุงเทพฯ ประมาณปี ค.ศ. 1890 ในฐานะช่างอัญมณีหลวง ก่อนจะเปิดร้านของตนเองใกล้พระบรมมหาราชวัง ซึ่งถือเป็นร้านจำหน่ายและออกแบบเครื่องประดับแห่งแรกของกรุงเทพฯ ในสไตล์ยุโรป

Grahlert ไม่เพียงแต่รับใช้ราชสำนักเท่านั้น แต่ยังมีช่างฝีมือชาวไทยมากกว่า 50 คนในร้าน ซึ่งสามารถรังสรรค์เครื่องประดับทองและเงินด้วยศิลปะที่ประณีต ทั้งในแบบไทยดั้งเดิมและแบบตะวันตก งานของ Grahlert ได้รับการยอมรับว่าเป็นที่สุดของความวิจิตรในยุคนั้น

ความสัมพันธ์ระหว่างราชสำนักสยามกับ Grahlert ไม่ใช่เพียงเรื่องของเครื่องประดับหรือสินค้าแฟชั่น หากแต่คือความไว้วางใจระดับสูงสุด ในการรังสรรค์สัญลักษณ์แห่งพระราชอำนาจ - ไม่ว่าจะเป็นมงกุฎ พานทอง หรือเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ต้องใช้ในพระราชพิธีต่าง ๆ

วันนี้ อาคารร้าน F. Grahlert ได้เลือนหายไปตามกาลเวลา แต่โปสการ์ดจากแกรนด์ดยุกอดอล์ฟ ในนามแห่งยุโรป กลับยังเป็นหลักฐานสำคัญที่ยืนยันว่าครั้งหนึ่ง ช่างอัญมณีจากต่างแดนได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของราชสำนักไทย และฝากร่องรอยศิลปะไว้ในประวัติศาสตร์แห่งรัชกาลที่ 5 อย่างงดงาม

“อัญมณีไม่ได้เป็นเพียงเครื่องประดับ หากเป็นความศรัทธาที่ร้อยเรียงความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับโลก” — ปราชญ์ สามสี

‘โป๊ปฟรานซิส’ ผู้นำแห่งศรัทธา สิ้นพระชนม์อย่างสงบ ขณะมีพระชนมายุ 88 พรรษา ท่ามกลางความโศกเศร้าของคริสตชน

(21 เม.ย. 68) สำนักวาติกันออกแถลงการณ์ในช่วงค่ำของวันจันทร์ (21 เม.ย.) ตามเวลาท้องถิ่นว่า สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส หรือ โป๊ปฟรานซิส ประมุขคริสตจักรโรมันคาทอลิก ได้สิ้นพระชนม์ลงอย่างสงบ ขณะมีพระชนมายุ 88 พรรษา ท่ามกลางความโศกเศร้าของคริสตชนทั่วโลก

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ซึ่งมีพระนามเดิมว่า ฮอร์เก มาริโอ แบร์โกกลิโอ ประสูติเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2479 (ค.ศ. 1936) ณ กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ทรงได้รับการสถาปนาเป็นพระสันตะปาปาลำดับที่ 266 เมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2556 (ค.ศ. 2013) ต่อจากสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ที่ทรงสละตำแหน่ง ทรงเป็นพระสันตะปาปาองค์แรกจากทวีปอเมริกาใต้ และองค์แรกจากภายนอกยุโรปในรอบกว่า 1,200 ปี

ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีแห่งการทรงงาน โป๊ปฟรานซิสเป็นที่จดจำในฐานะผู้นำทางจิตวิญญาณที่เรียบง่าย อ่อนน้อม และมุ่งมั่นในการปฏิรูปคริสตจักร ทรงยึดหลักแห่งความเมตตา การให้อภัย และความเท่าเทียม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของมนุษย์ทุกศาสนา

หนึ่งในสาส์นที่ทรงเน้นย้ำเสมอ คือ ความห่วงใยต่อคนยากไร้และผู้ถูกกดขี่ในสังคม พระองค์ทรงเดินทางเยือนประเทศต่างๆ กว่า 50 ประเทศ รวมถึงประเทศในภูมิภาคเอเชีย เพื่อสร้างสะพานแห่งสันติภาพและความเข้าใจระหว่างวัฒนธรรม

ทางสำนักวาติกันจะมีการประกาศกำหนดการพระราชพิธีฝังพระศพอย่างเป็นทางการในเร็ว ๆ นี้ โดยมีผู้นำระดับโลกและผู้นับถือศาสนาคริสต์คาทอลิกทั่วโลกร่วมไว้อาลัย

“เราจำพระองค์ได้ในฐานะศิษยาภิบาลแห่งประชากรของพระเจ้า ผู้ทรงรักและฟังเสียงของผู้อ่อนแอที่สุดในหมู่เรา” คำแถลงจากวาติกันระบุ

22 เมษายน พ.ศ. 2485 มิตรภาพทางเศรษฐกิจในยามสงคราม วันที่เงินบาทผูกพันกับเงินเยนญี่ปุ่น ข้อตกลงค่าเงินที่เปลี่ยนทิศเศรษฐกิจไทยกลางพายุ ‘สงครามโลกครั้งที่ 2’

​เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2485 (ค.ศ. 1942) ประเทศไทยได้ลงนามในข้อตกลงทางการเงินกับจักรวรรดิญี่ปุ่นว่าด้วยเรื่อง “ข้อตกลงค่าเงินเยน-บาท” ซึ่งถือเป็นหนึ่งในข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง 

ข้อตกลงนี้มีผลต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการเงินระหว่างสองประเทศในขณะนั้น และสะท้อนถึงบทบาทของไทยในสงครามโลกครั้งที่สองและพัฒนาการของระบบการเงินระหว่างประเทศของไทยในศตวรรษที่ 20​

สาระสำคัญของข้อตกลง ได้แก่

1. การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเยนกับเงินบาท: กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเยนกับเงินบาทให้คงที่ตามข้อตกลงที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับ ซึ่งเป็นการปรับค่าเงินบาทให้มีมูลค่าน้อยลงจากอัตราเดิมที่ 155.7 เยน ต่อ 100 บาท เป็น 100 เยน ต่อ 100 บาท

2. การใช้เงินเยนเป็นสื่อกลางในบางธุรกรรม: ข้อตกลงนี้อนุญาตให้ใช้เงินเยนเป็นสื่อกลางในบางธุรกรรมในเขตที่ญี่ปุ่นมีอิทธิพลหรือควบคุมอยู่ ซึ่งช่วยให้การค้าและการขนส่งสินค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในช่วงสงครามเป็นไปได้อย่างสะดวก​

3. การสนับสนุนให้เกิดความสะดวกในการค้าและการขนส่งสินค้า: ช่วยสนับสนุนให้เกิดความสะดวกในการค้าและการขนส่งสินค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในช่วงสงคราม ซึ่งเป็นการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศในขณะนั้น

การผูกเงินบาทกับเงินเยนจึงไม่ใช่เพียงมาตรการทางเทคนิคด้านการเงิน หากแต่สะท้อนถึงการเลือกเชิงยุทธศาสตร์ของรัฐบาลไทยในการปรับตัวเข้ากับโครงสร้างอำนาจใหม่ที่ญี่ปุ่นได้กลายเป็นผู้นำของ “ระเบียบใหม่ในเอเชีย” หรือ Greater East Asia Co-Prosperity Sphere

อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวก่อให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ในภายหลังเกี่ยวกับความเป็นกลางของไทยในสงคราม ตลอดจนสร้างข้อผูกพันที่ส่งผลต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและการเงินในลักษณะพึ่งพิงคู่ค้าเพียงฝ่ายเดียว ทั้งนี้ เมื่อสงครามสิ้นสุดลงและข้อตกลงดังกล่าวถูกยกเลิก ความจำเป็นเร่งด่วนในการฟื้นฟูความน่าเชื่อถือของระบบการเงินไทยในเวทีระหว่างประเทศจึงกลายเป็นวาระสำคัญของภาครัฐในช่วงหลังสงคราม

ประสบการณ์จากการลงนามในข้อตกลงค่าเงินเยน–บาทในครั้งนั้น กลายเป็นบทเรียนสำคัญที่หล่อหลอมทิศทางของนโยบายการเงินระหว่างประเทศของไทยในยุคสงคราม และมีอิทธิพลต่อวิธีคิดของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจการคลังไทยในเรื่องของ “ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ” ซึ่งไม่ใช่เพียงเรื่องของตัวเลข แต่เป็นการวางยุทธศาสตร์ในฐานะประเทศขนาดกลางที่ต้องดำรงอยู่ท่ามกลางแรงดึงจากมหาอำนาจโลก

‘เอกนัฏ’ เดินหน้าพิจารณายกเลิกเหล็ก IF ลั่น พร้อมจัดการอุตสาหกรรมศูนย์เหรียญให้สิ้นซาก

‘เอกนัฏ’ สั่งเดินหน้าพิจารณาทบทวนยกเลิกการรับรองมาตรฐานเหล็ก IF ชี้เป็นเทคโนโลยีที่ก่อมลภาวะ และควบคุมคุณภาพให้สม่ำเสมอทำได้ยาก ตัวอย่างเช่นเหล็กตกคุณภาพซิน เคอ หยวน สตีล (SKY) พร้อมเดินหน้าจัดการอุตสาหกรรมศูนย์เหรียญอื่น ๆ ให้สิ้นซาก

(21 เม.ย. 68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เรื่องเหล็กตกคุณภาพที่ผลิตโดย บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด (SKY) ซึ่งโรงงานได้ถูกปิดไปเมื่อเดือนธันวาคม 2567 พบข้อพิรุธหลายประเด็นในการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะเรื่อง “ฝุ่นแดง” ซึ่งได้มีการขยายผลไปสู่การเพิกถอนสิทธิประโยชน์ BOI  และการสืบสวนร่วมกับดีเอสไอ โดยขอหมายศาลเข้าเก็บหลักฐานเพื่อดำเนินการทางกฎหมายต่อไป 

ส่วนอีกประเด็นที่มีความสำคัญต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมเหล็ก คือการทบทวนให้ยกเลิกการรับรองมาตรฐานเหล็กที่ผลิตโดยกระบวนการใช้เตาอินดักชั่น Induction Furnace (IF) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ดึงสิ่งสกปรกออกจากน้ำเหล็กได้ยาก รวมทั้งเป็นเตาแบบระบบเปิด สร้างมลภาวะฝุ่นและก๊าซพิษจากการผลิตเหล็กที่มากกว่า ถึงแม้ในทางทฤษฎีจะสามารถผลิตเหล็กที่มีคุณภาพได้ แต่ในกระบวนการผลิตจริง การควบคุมคุณภาพให้สม่ำเสมอนั้นทำได้ยาก ผู้ประกอบการจะต้องใส่ใจและเข้มงวดในการใช้วัตถุดิบคุณภาพดี มีกระบวนการปรับปรุงควบคุมคุณภาพอย่างละเอียด 

นายเอกนัฏ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยออก มาตรฐานอุตสาหกรรม หรือ มอก.เหล็กข้ออ้อย มารับรอง IF ตั้งแต่ปี 2559 ผู้ผลิตอย่าง SKY ได้รับ มอก.ตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งนับตั้งแต่ตนเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีฯ ได้ให้นโยบายชุดปฏิบัติการตรวจสุดซอย นำโดยนางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบ ระงับการผลิตและจำหน่าย รวมทั้งอายัดเหล็กจากหลายบริษัทที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งทั้งหมดพบว่าเป็นเหล็ก IF รวมถึงทาง SKY ด้วย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการที่ผลิตเหล็กจากเตา IF ไม่สามารถควบคุมคุณภาพวัตถุดิบให้มีคุณภาพที่ดีได้ โดยปัจจุบันเทคโนโลยีที่ผลิตเหล็กด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า Electric Arc Furnace (EAF) ที่ใช้ไฟฟ้าในการหลอมเหล็ก จะสามารถดึงสิ่งสกปรกออกจากน้ำเหล็กได้ดีกว่าเตา IF และเป็นเตาแบบระบบปิด สร้างมลภาวะฝุ่นและก๊าซพิษน้อยกว่า ควบคุมคุณภาพได้ง่ายและสมํ่าเสมอกว่า 

สำหรับการหารือกับสมาคมผู้ผลิตเหล็กและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ทราบว่าปี 2567 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีกำลังการผลิตเหล็กด้วย EAF ถึง 4.3 ล้านตัน เพียงพอต่อความต้องการเหล็กเส้นในประเทศ 2.8 ล้านตัน จึงเห็นตรงกันว่า ถึงเวลาแล้วที่เราควรจะพิจารณายกเลิกเหล็กที่ผลิตแบบ IF ซึ่งตามกฎหมาย พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) หากมีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อยับยั้งไม่ให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนหรือระบบเศรษฐกิจ คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) สามารถพิจารณาและมีมติ ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมสามารถออกประกาศกระทรวงปรับแก้ไขยกเลิกการรับรองมาตรฐานเหล็ก IF ได้ โดยดำเนินการตามกรอบกฎหมายต่อไป 

"ผมได้ลงนามในหนังสือ ขอให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะประธาน กมอ. บรรจุวาระเพื่อพิจารณาทบทวนยกเลิก IF แล้ว และจนกว่าจะยกเลิก IF ก็คงจะต้องออกสำรวจตรวจจับ เสมือนแมวจับหนู สู้แก้ปัญหาแบบถอนราก จะได้ไปจัดการอุตสาหกรรมศูนย์เหรียญอื่น ๆ ให้สิ้นซากต่อไป" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าว 

‘วิว กุลวุฒิ’ ทะยานขึ้นมือ 2 โลก หลังสร้างประวัติศาสตร์คว้าแชมป์แบดฯ เอเชีย พร้อมตั้งเป้าภารกิจใหม่ซิวแชมป์ ‘ออลอิงแลนด์’

(21 เม.ย. 68) สหพันธ์แบดมินตันโลก (BWF) ประกาศอันดับโลกล่าสุดเมื่อวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา โดยมีข่าวดีสำหรับวงการแบดมินตันไทยเมื่อ ‘วิว’ กุลวุฒิ วิทิตศานต์ นักแบดมินตันชายเดี่ยวเจ้าของเหรียญเงินโอลิมปิก 2024 สร้างประวัติศาสตร์ให้กับประเทศไทยอีกครั้ง ด้วยการคว้าแชมป์ แบดมินตัน “เอเชีย แชมเปียนชิพส์ 2025” ที่เมืองหนิงโป ประเทศจีน เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2568

การคว้าแชมป์ในครั้งนี้ทำให้ วิว กุลวุฒิ กลายเป็นนักแบดมินตันชายเดี่ยวคนแรกจากประเทศไทยที่สามารถคว้าแชมป์เอเชียได้สำเร็จ สร้างความภาคภูมิใจและความสุขให้กับคนไทยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2568 ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ยังส่งผลให้ วิว กุลวุฒิ วิทิตศานต์ ขยับอันดับโลกขึ้นมาถึง 3 อันดับ จากเดิมที่เคยอยู่ในอันดับที่ 5 ของโลก ขึ้นมาเป็นมือ 2 ของโลกในประเภทชายเดี่ยว ซึ่งถือเป็นอันดับโลกที่ดีที่สุดในชีวิตของเขา โดยก่อนหน้านี้ ‘วิว’ เคยทำได้สูงสุดที่อันดับ 3 ของโลก

“เป้าหมายต่อไปของผมคือการคว้าแชมป์ออลอิงแลนด์ให้ได้ ผมเคยได้แชมป์โลกและเหรียญเงินโอลิมปิกมาแล้ว แต่ยังไม่เคยประสบความสำเร็จที่ออลอิงแลนด์เลย หวังว่าปีหน้าผมจะทำได้ดีขึ้นครับ” สุดยอดนักตบลูกขนไก่ไทยวัย 23 ปีกล่าว

สำหรับ 5 อันดับ นักแบดมินตันมือวางระดับโลก ประเภทชายเดี่ยว ประกอบด้วย

1. ฉือ หยู่ฉี (Shi Yuqi)  อายุ 29 ปี / จีน / 99,435 คะแนน

2. กุลวุฒิ วิทิตศานต์ (Kunlavut Vitidsarn) อายุ 23 ปี / ไทย / 89,138 คะแนน

3. อันเดรส แอนทอนเซ่น (Anders Antonsen) อายุ 27 ปี / เดนมาร์ก / 87,693 คะแนน

4. วิคเตอร์ แอ็กเซลเซ่น (Viktor Axelsen) อายุ 31 ปี / เดนมาร์ก / 87,610 คะแนน

5. หลี่ ซือเฟิง (Li Shifeng) อายุ 25 ปี / จีน / 81,656 คะแนน

การยึดกิจการ ‘Glavprodukt’ ของรัสเซีย สู่หมุดหมายการจัดเสบียงในสงครามอย่างเพียงพอ

(21 เม.ย. 68) ในช่วงต้นปี ค.ศ. 2025 รัฐบาลรัสเซีย โดยคำสั่งของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินได้ประกาศยึดกิจการของบริษัท Glavprodukt «Главпродукт» ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตอาหารกระป๋องรายใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยให้เหตุผลด้าน "ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของชาติ" ในบริบทของสงครามยูเครนและการเผชิญหน้ากับกลุ่มประเทศตะวันตก แม้ว่า Glavprodukt จะมีฐานการผลิตหลักอยู่ในรัสเซียและดำเนินธุรกิจมานานหลายสิบปี แต่บริษัทถูกระบุว่ามีความเกี่ยวข้องกับโครงสร้างการลงทุนของต่างชาติ โดยเฉพาะจากกลุ่มนักลงทุนที่มีถิ่นฐานในสหรัฐอเมริกา รัฐบาลรัสเซียจึงอ้างอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมทรัพย์สินของ "รัฐที่ไม่เป็นมิตร" (unfriendly states) ซึ่งผ่านการแก้ไขในช่วงหลังปี ค.ศ. 2022 เพื่อยึดกิจการและทรัพย์สินของต่างชาติที่อาจส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศ

การดำเนินการครั้งนี้เกิดขึ้นพร้อมกับการประกาศใช้ Glavprodukt เป็นฐานการจัดหาเสบียงให้กับกองทัพรัสเซียในแนวหน้าโดยเฉพาะในยูเครนตะวันออก การเคลื่อนไหวดังกล่าวจึงถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจของรัสเซียเข้าสู่รูปแบบ “เศรษฐกิจสงคราม” ที่รัฐมีบทบาทสูงในการควบคุมการผลิตสินค้าเชิงยุทธศาสตร์ ในขณะเดียวกันฝ่ายตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาได้แสดงความไม่พอใจต่อการกระทำดังกล่าวโดยมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิ์ในทรัพย์สินของนักลงทุน และอาจนำไปสู่ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจที่ลึกขึ้นในระดับพหุภาคี

Glavprodukt «Главпродукт» เป็นหนึ่งในบริษัทผลิตอาหารกระป๋องและอาหารแปรรูปรายใหญ่ของรัสเซียก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1991 หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต โดยสืบทอดโรงงานและสายการผลิตจากระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนกลางเดิมของโซเวียต บริษัทมีฐานการผลิตหลักอยู่ในกรุงมอสโกและแคว้นใกล้เคียง และได้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตอาหารกระป๋องและอาหารสำเร็จรูปจนกลายเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ได้รับความนิยมในตลาดรัสเซียและประเทศในเครืออดีตสหภาพโซเวียต โดย Glavprodukt มีชื่อเสียงจากผลิตภัณฑ์อาหารประเภทเนื้อกระป๋อง (Stewed meat) «тушёнка»  นมข้นหวาน (Condensed milk) «сгущёнка» และอาหารประเภทซุป (Soups) อาหารพร้อมรับประทาน (ready-to-eat meals) รวมถึงซีเรียล (cereals) ในช่วงทศวรรษที่ 2000 บริษัทเริ่มเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศผ่านกองทุนที่มีความเชื่อมโยงกับนักลงทุนจากยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งในภายหลังกลายเป็นหนึ่งในประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเมื่อรัฐบาลรัสเซียต้องการแทรกแซงการบริหารกิจการ

หลังการรุกรานยูเครนในปี ค.ศ. 2022 และมาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกกลุ่มธุรกิจอาหารรวมถึง Glavprodukt ได้รับบทบาทใหม่ในฐานะผู้จัดหาเสบียงให้กับหน่วยงานความมั่นคงและกองทัพรัสเซีย รัฐจึงเข้ามามีบทบาทควบคุมมากขึ้น โดยเฉพาะหลังปี ค.ศ. 2023 ที่มีการเร่งฟื้นระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเอง (self-reliance) ภายใต้นโยบาย “เศรษฐกิจแห่งอธิปไตย” «суверенная экономика» ในปี ค.ศ. 2025 รัฐบาลรัสเซียได้ประกาศยึดกิจการของ Glavprodukt อย่างเป็นทางการ โดยให้เหตุผลว่าบริษัทมีทรัพยากรสำคัญต่อความมั่นคงของชาติและไม่ควรอยู่ภายใต้การควบคุมของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะจาก "ประเทศที่ไม่เป็นมิตร"«недружественные государства»  

สถานการณ์ดังกล่าวไม่ได้เป็นเพียงแค่การยึดกิจการของบริษัทเอกชนที่มีประวัติยาวนานในรัสเซียเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงในยุทธศาสตร์ความมั่นคงและการเตรียมพร้อมสำหรับการต่อสู้ในสงครามที่ยาวนานขึ้น โดยเฉพาะการจัดหาสินค้าสำคัญสำหรับการเสริมสร้างเสบียงกองทัพรัสเซียในช่วงเวลาสงคราม ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของนักวิชาการหลายท่าน เช่น แดเนียล ฟรีดริช ลิสต์ (Daniel Friedrich List, 1841) นักเศรษฐศาสตร์ชาวเยอรมันที่มองว่า “รัฐควรปกป้องเศรษฐกิจในยามวิกฤตเพื่ออธิปไตยแห่งชาติ” โดยเฉพาะมุมมองของเคนเนธ เอ็น. วอลทซ์ (Kenneth N. Waltz, 1979) ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบียผู้คิดค้นและพัฒนาแนวคิดสัจนิยมใหม่ (Neorealism) ที่มองว่าความมั่นคงไม่อาจแยกออกจากเศรษฐกิจ — เศรษฐกิจที่ถูกควบคุมได้ คือ “อาวุธเชิงยุทธศาสตร์” ในทฤษฎี Neorealism ของวอลทซ์ รัฐถือเป็นผู้เล่นหลัก (primary actors) ในระบบระหว่างประเทศที่ไร้ศูนย์กลาง (anarchic structure) ซึ่งการอยู่รอด (survival) คือเป้าหมายสูงสุดของรัฐทุกแห่ง นั่นหมายความว่า ทุกกลไกภายในรัฐต้องถูกจัดสรรเพื่อสนับสนุน “อำนาจแห่งรัฐ” (power of the state) ในกรอบนี้เศรษฐกิจไม่ได้ถูกมองว่าเป็นระบบอิสระเชิงตลาดเท่านั้น แต่สามารถเป็น “เครื่องมือของอำนาจรัฐ” (instrument of state power) ได้ หากรัฐสามารถควบคุมมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การที่รัสเซียเข้ายึดครองกิจการของ Glavprodukt ซึ่งเดิมมีสถานะเป็นกิจการเอกชน (และเคยมีการลงทุนหรือถือหุ้นโดยนักธุรกิจต่างชาติหรือผู้มีความเกี่ยวข้องกับสหรัฐฯ) ถือเป็นตัวอย่างของการ "ทำให้รัฐควบคุมห่วงโซ่อุปทานอาหารเชิงยุทธศาสตร์" อย่างสมบูรณ์ การยึดกิจการเช่น Glavprodukt เป็นหนึ่งในแนวทางการ “ระดมทรัพยากรพลเรือนเพื่อสนับสนุนการทำสงคราม” หรือที่ในรัสเซียเรียกว่า “การวางแผนการระดมกำลังในยามสงคราม” «военное мобилизационное планирование» แนวโน้มของการทหารควบคุมพลเรือน (military-civilian fusion) แนวคิดนี้เกิดขึ้นในบริบทของสงครามยืดเยื้อที่รัฐต้องอาศัยทรัพยากรของภาคเอกชน เช่น โรงงานอาหาร, คลังสินค้า, ระบบขนส่งเพื่อหนุนภารกิจของกองทัพ ในขณะที่การควบคุมทรัพย์สินภาคเอกชนในนามของ “ความมั่นคงแห่งชาติ” กลายเป็นวิธีหนึ่งในการตอบโต้การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากตะวันตกและสร้าง “เศรษฐกิจสงคราม” ภายในประเทศ

ยุทธศาสตร์รัฐนิยมทางเศรษฐกิจที่ดึงกิจการอาหารรายใหญ่เข้าสู่การควบคุมโดยรัฐสะท้อนแนวทางเศรษฐกิจที่มุ่งสู่ “รัฐควบคุมยุทธศาสตร์หลัก” โดยเฉพาะในช่วงสงคราม โดยหลังการยึดครองมีรายงานว่า Glavprodukt อยู่ภายใต้การกำกับของหน่วยงานด้านการส่งกำลังบำรุงของกองทัพ «Минобороны» หรืออาจอยู่ภายใต้การควบคุมร่วมกับกระทรวงเกษตรหรือหน่วยงานภาคอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ «ОПК» 
ซึ่งลักษณะดังกล่าวคล้ายกับสหภาพโซเวียตซึ่งเคยมีระบบโรงงานอาหาร “รัฐวิสาหกิจ” ที่ผลิตอาหารเฉพาะสำหรับทหาร เช่น в/ч 83130  หรือจีนที่มีระบบ “บริษัทอาหารกึ่งทหาร” ภายใต้การควบคุมของกองทัพปลดปล่อยประชาชน ในขณะที่สหรัฐฯ การผลิต MRE (Meals Ready to Eat) มีบริษัทเอกชนเช่น Sopakco, Wornick Group แต่สัญญาผลิตถูกควบคุมโดยรัฐบาลกลาง ในยูเครนยูเครนมีการประสานงานกับผู้ผลิตท้องถิ่นเพื่อผลิตอาหารให้ทหารแนวหน้าโดยได้รับการสนับสนุนจากภาคประชาชน

Glavprodukt มีสายการผลิตอาหารกระป๋องประเภทโปรตีน เช่น เนื้อวัวกระป๋อง, สตูว์, ซุป และอาหารพร้อมรับประทาน (ready-to-eat meals) ซึ่งเหมาะสมกับระบบโลจิสติกส์ของกองทัพรัสเซียที่ต้องการอาหารคงทนและสะดวกในสนามรบ โดยมีการปรับสูตรหรือบรรจุภัณฑ์ให้ตรงตามมาตรฐานทหาร เช่น บรรจุในภาชนะทนแรงกระแทกหรือพร้อมเปิดในภาคสนาม โรงงานของ Glavprodukt กลายเป็นฐานผลิตเสบียงหลักให้กับกองทัพรัสเซียในแนวรบยูเครน โดยมีรายงานว่ามีคำสั่งผลิตล่วงหน้าเพื่อสำรองเป็นคลังยุทธปัจจัย (mobilization reserve)

การยึด Glavprodukt จึงเป็นการเปลี่ยนผ่านสู่ยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางอาหารของรัสเซีย โดยมีรายละเอียดดังนี้

1) จากการผลิตเพื่อผู้บริโภคทั่วไปสู่การเสริมสร้างเสบียงทางทหาร
เมื่อรัฐบาลรัสเซียเข้าควบคุมกิจการของ Glavprodukt บริษัทที่เดิมเน้นการผลิตอาหารกระป๋องและอาหารแปรรูปสำหรับผู้บริโภคทั่วไปกลับต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การผลิตเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของกองทัพรัสเซีย โดยเฉพาะในยุคที่ประเทศกำลังเผชิญกับสงครามในยูเครนและมาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก ผลิตภัณฑ์ของ Glavprodukt เช่น stewed meat «тушёнка»  และซุปกระป๋อง «консервы» ซึ่งเป็นอาหารที่มีอายุการเก็บรักษานานได้กลายเป็นเสบียงหลักสำหรับทหารในพื้นที่สงคราม การเปลี่ยนผ่านจากการผลิตอาหารสำหรับประชาชนทั่วไปสู่การผลิตเสบียงทางทหารเป็นการตอบสนองอย่างชัดเจนต่อนโยบายของรัฐบาลรัสเซียในการจัดหาทรัพยากรที่จำเป็นในสงคราม

2) ยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการพึ่งพาตนเอง
การเข้ามาควบคุมกิจการของ Glavprodukt โดยรัฐบาลรัสเซียไม่เพียงแค่การสนับสนุนการผลิตเสบียงสำหรับกองทัพเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางเศรษฐกิจในระยะยาวที่มุ่งเน้นการพึ่งพาตนเอง (self-reliance) ท่ามกลางมาตรการคว่ำบาตรที่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตอาหารและเสบียงทหารในรัสเซีย นอกจากนี้ยังเป็นการปรับเปลี่ยนระบบการจัดหาผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศให้เป็นระบบภายในประเทศ โดย Glavprodukt กลายเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของรัสเซีย ซึ่งทำให้สามารถรักษาความมั่นคงของเสบียงและลดการพึ่งพาการนำเข้าจากประเทศตะวันตก

3) การป้องกันผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตร
การยึด Glavprodukt ยังสะท้อนถึงความพยายามของรัฐบาลรัสเซียในการป้องกันผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรที่ส่งผลต่อการดำเนินงานของบริษัทต่างชาติในรัสเซีย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารและการจัดหาผลิตภัณฑ์ที่สำคัญสำหรับภาคทหารและภาคการผลิตทั่วไป การลดการพึ่งพาผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศทำให้ Glavprodukt สามารถพัฒนาการผลิตอาหารภายในประเทศได้มากขึ้น โดยไม่ต้องพึ่งพา
ซัพพลายเออร์จากประเทศที่ "ไม่เป็นมิตร" ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในยุทธศาสตร์การรักษาความมั่นคงของรัสเซีย

4) การควบคุมเศรษฐกิจสงครามและการจัดหาทรัพยากร
การยึด Glavprodukt ยังเป็นส่วนหนึ่งของการควบคุมเศรษฐกิจในช่วงสงครามที่รัฐบาลรัสเซียพยายามจัดสรรทรัพยากรไปยังพื้นที่ที่สำคัญที่สุด เช่น กองทัพและการสนับสนุนการดำเนินการทางทหาร โดย Glavprodukt ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการผลิตเสบียงทหาร จึงได้รับความสำคัญสูงสุดในแผนการจัดหาทรัพยากรของรัฐ

5) มุมมองในระดับภูมิรัฐศาสตร์
การยึดกิจการของ Glavprodukt ยังเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในภูมิรัฐศาสตร์ของรัสเซียในยุคปัจจุบัน ที่มุ่งเน้นการรักษาความมั่นคงทั้งทางทหารและเศรษฐกิจ ท่ามกลางการปะทะกับประเทศตะวันตก การควบคุมกิจการสำคัญ เช่น Glavprodukt ที่ผลิตอาหารสำคัญสำหรับการทำสงคราม กลายเป็นการแสดงออกถึงการสร้างอำนาจของรัฐในภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำและมีการคว่ำบาตรจากภายนอก

ผลกระทบของการยึดกิจการของ Glavprodukt
1) ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารภายในประเทศ การเข้ายึดกิจการ Glavprodukt ไม่ได้เป็นเพียงการเพิ่มศักยภาพด้านเสบียงให้กับกองทัพ แต่ยังส่งผลเป็นลูกโซ่ต่อระบบอุตสาหกรรมอาหารทั้งระบบ ได้แก่ 1) การควบรวมทรัพยากร การที่รัฐเข้ายึดโรงงานอาหารรายใหญ่ทำให้เกิดการควบคุมห่วงโซ่อุปทานในระดับสูง ตั้งแต่วัตถุดิบ (เนื้อสัตว์ พืชผัก) ไปจนถึงกระบวนการผลิต บรรจุภัณฑ์ และการกระจายสินค้า 
2) กระทบการแข่งขัน ผู้ประกอบการรายย่อยในอุตสาหกรรมอาหารอาจเผชิญการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมกับรัฐ เนื่องจากรัฐสามารถเข้าถึงทรัพยากรและการสนับสนุนด้านโลจิสติกส์ที่เหนือกว่า 3) อุปสงค์พิเศษในช่วงสงครามเมื่ออุปสงค์สำหรับการจัดหาอาหารกองทัพพุ่งสูงขึ้น อุตสาหกรรมอาหารภาคพลเรือนอาจถูกเบียด ส่งผลต่อราคาสินค้าและความมั่นคงด้านอาหารของประชาชน

4) ผลกระทบต่อการจัดการกับบริษัทต่างชาติในบริบทสงคราม Glavprodukt เคยมีผู้ถือหุ้นสัญชาติอเมริกันหรือกลุ่มทุนที่มีความเกี่ยวข้องกับตะวันตก การยึดครองกิจการจึงสะท้อนกลยุทธ์ของรัสเซียในการจัดการ “ทรัพย์สินศัตรู” หรือ “ทรัพย์สินที่ไม่เป็นมิตร” «недружественные активы» รัสเซียได้วางหลักการต่าง ๆ เกี่ยวกับกรณีนี้เอาไว้ภายใต้กฎหมายฉุกเฉิน (เช่น «Указ Президента РФ №302/2023»)   รัฐสามารถเข้ายึดกิจการของบริษัทต่างชาติที่ “ถอนตัว” จากรัสเซีย หรือที่ “คุกคามความมั่นคงของชาติ”นอกจากนี้รัสเซียยังมีการตอบโต้การคว่ำบาตรซึ่งเป็นการ “ตอบโต้กลับ” ทางเศรษฐกิจต่อการคว่ำบาตรของตะวันตก โดยใช้วิธี mirror sanctions หรือการยึดทรัพย์สินบริษัทต่างชาติ ส่งผลกระทบต่อนักลงทุนทำให้บรรยากาศการลงทุนในรัสเซียยิ่งตึงเครียด นักลงทุนต่างชาติที่ยังคงอยู่ในรัสเซียอาจต้องเลือก “ทำงานร่วมกับรัฐ” หรือยอม “ถอนตัวโดยเสียทรัพย์สิน”

5) เป็นการส่งสัญญาณทางภูมิรัฐศาสตร์โดยการใช้รัฐเป็นเครื่องมือเศรษฐกิจในภาวะสงคราม
การยึดกิจการอาหารกระป๋องอย่าง Glavprodukt ไม่ใช่เพียงการเคลื่อนไหวภายในประเทศ แต่เป็นการส่ง “สัญญาณทางภูมิรัฐศาสตร์” อย่างชัดเจนไปยังตะวันตก แสดงให้เห็นถึงรัฐเป็นเครื่องมือสงครามทางเศรษฐกิจ (Economic Warfare) โดยรัสเซียใช้รัฐเป็นกลไกควบคุมทรัพยากรยุทธศาสตร์ ตอบโต้การคว่ำบาตร และสร้าง “เศรษฐกิจแบบปิดล้อม” (Autarky) เพื่อเสริมความมั่นคงให้กับรัฐ โดยรัสเซียมีแนวทางหลัก 3 ประการ ได้แก่ 1) ยึดกิจการต่างชาติและเปลี่ยนการควบคุมไปสู่รัฐ 2) พัฒนาผลิตภัณฑ์ในประเทศแทนสินค้าเทคโนโลยีตะวันตก และ 3) ใช้ระบบการเงินทางเลือก เช่น การซื้อขายพลังงานด้วยรูเบิลหรือเงินหยวน 
การยึดบริษัท Glavprodukt ยังบ่งชี้ว่า รัสเซียพร้อม “ใช้เศรษฐกิจเป็นอาวุธ” เช่นเดียวกับที่ตะวันตกใช้ระบบการเงินและการค้าเป็นเครื่องมือควบคุมนอกจากนี้ยังการสร้างแนวร่วมทางเศรษฐกิจใหม่โดยรัสเซียอาจเชื่อมต่อ Glavprodukt กับตลาดในกลุ่ม BRICS หรือ SCO เช่น ส่งอาหารให้จีน อิหร่าน หรือประเทศแอฟริกาเพื่อลดการพึ่งพาตะวันตก

บทสรุป
กรณีการเข้ายึดกิจการบริษัท Glavprodukt โดยรัฐรัสเซียมิได้เป็นเพียงการเคลื่อนไหวในเชิงอุตสาหกรรมอาหารเท่านั้นแต่ยังสะท้อนถึงยุทธศาสตร์ที่ลึกซึ้งกว่านั้น ซึ่งครอบคลุมทั้งมิติทางเศรษฐกิจ ความมั่นคง และภูมิรัฐศาสตร์ในบริบทของสงครามยืดเยื้อกับตะวันตก ในระดับภายในการผนวกกิจการของภาคเอกชนเข้าสู่โครงสร้างของรัฐช่วยให้รัสเซียสามารถควบคุมระบบเสบียงของกองทัพได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบต่อตลาดภาคพลเรือน ทั้งในแง่การแข่งขันและเสถียรภาพด้านอาหาร โดยเฉพาะในบริบทของเศรษฐกิจที่ถูกคว่ำบาตรอย่างหนัก ในระดับระหว่างประเทศการเข้ายึด Glavprodukt เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ตอบโต้ตะวันตกผ่านการใช้ “เศรษฐกิจเป็นเครื่องมือของรัฐ” ซึ่งสะท้อนการเปลี่ยนแปลงทิศทางของนโยบายเศรษฐกิจรัสเซียที่เน้นการพึ่งตนเอง การตัดขาดจากทุนต่างชาติ และการสร้างพันธมิตรทางเศรษฐกิจใหม่ในกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ตะวันตก กล่าวโดยสรุป กรณีของ Glavprodukt ชี้ให้เห็นว่า “อาหาร” ไม่ได้เป็นเพียงปัจจัยสี่สำหรับประชาชนเท่านั้น แต่ยังกลายเป็น “อาวุธยุทธศาสตร์” ในการต่อรอง สู้รบ และรักษาอธิปไตยในยุคที่สงครามถูกขยายออกจากสนามรบสู่สนามเศรษฐกิจและการทูต

ยานอวกาศรัสเซีย ‘ซายุซ MS-26’ ลงจอดในคาซัคสถาน นำลูกเรือกลับสู่โลกตามกำหนด หลังทำภารกิจบน ISS กว่า 7 เดือน

(21 เม.ย. 68) ยานอวกาศ ซายุซ MS-26 ของรัสเซียประสบความสำเร็จในการพานักบินอวกาศ 3 นายเดินทางกลับสู่พื้นโลกอย่างปลอดภัย หลังจากปฏิบัติภารกิจในวงโคจรนอกโลกนานกว่า 7 เดือน บนสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station: ISS)

ลูกเรือประกอบด้วยนักบินอวกาศชาวรัสเซีย อเล็กซีย์ ออฟชินิน และ อีวาน วากเนอร์ รวมถึงนักบินอวกาศชาวอเมริกันจากนาซา โดนัลด์ เพ็ตติต ซึ่งการเดินทางกลับของเขาในครั้งนี้ตรงกับวันคล้ายวันเกิดปีที่ 70 ของเจ้าตัวอีกด้วย

องค์การนาซาระบุผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย X (อดีต Twitter) ว่า “นักบินอวกาศโดนัลด์ เพ็ตติต กลับสู่โลกในวันเกิดของเขาเอง อายุครบ 70 ปี ในวันเดียวกับที่เขาใช้ร่มชูชีพเหินฟ้ากลับบ้าน”

สำหรับภารกิจครั้งนี้เน้นการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในสภาวะไร้น้ำหนักและเทคโนโลยีสำหรับการอยู่อาศัยระยะยาวนอกโลก โดยทั้งสามคนได้รับการตรวจสุขภาพเบื้องต้นทันทีที่ลงจอด และอยู่ในสภาพร่างกายแข็งแรงดี

ด้านองค์การอวกาศรัสเซีย (Roscosmos) รายงานว่า ยานซายุซ MS-26 ได้แยกตัวออกจากสถานีอวกาศในช่วงเช้าของวันที่ 19 เมษายน 2568 ก่อนที่จะเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก และลงจอดอย่างปลอดภัยในเขตคาซัคสถานตามกำหนดการในวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา พร้อมเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินที่เข้าดำเนินการช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ

การเดินทางกลับสู่โลกในครั้งนี้ไม่เพียงแต่เป็นการปิดฉากภารกิจสำคัญบนอวกาศ แต่ยังเป็นการตอกย้ำถึงความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แม้ในยามที่โลกเผชิญความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์

ทั้งนี้ ภารกิจของ ซายุซ MS-26 เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ของความสามารถทางด้านเทคโนโลยีอวกาศของรัสเซีย ซึ่งยังคงมีบทบาทสำคัญในโครงการสำรวจอวกาศระดับนานาชาติ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top