Tuesday, 22 April 2025
TheStatesTimes

สมาคมสื่อสร้างสรรค์เพื่อสังคม เดินทาง ยื่นหนังสือติดตาม!! ทุจริตสอบท้องถิ่น สายบริหารกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ประจำปี 2567

(9 เม.ย.68) ที่สำนักงาน ป.ป.ช.คณะกรรมการสมาคม โดย นายอภิรัฐ กุนกันไชย  นายกสมาคมสื่อสร้างสรรค์เพื่อสังคม เดินทาง ยื่นหนังสือ ทวงถามความคืบหน้า ที่ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

จาก กรณี ที่ ทางสมาคม สื่อสร้างสรรค์ เพื่อสังคม โดย นาย อภิรัฐ กุนกันไชย  นายกสมาคมสื่อสร้างสรรค์เพื่อสังคม ดำเนินการ ต่อต้าน ทุจริตในการสอบคัดเลือกข้าราชการในงบประมาณปี 2567 ของกรมส่งเสริม การปกครองส่วนท้องถิ่น 

ซึ่งได้แจ้งความร้องทุกข์แล้วเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2567 และได้รับแจ้งจากกองบัญชาการตำรวจ สอบสวนกลางได้ส่งสำนวนคดีมาให้ท่านไต่สวนมูลความผิดของผู้ถูกกล่าวหา

จึงมาขอติดตามความคืบหน้า ว่าทาง  สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้ดำเนินการไต่สวน กระทำความผิดในครั้งนี้ อย่างไรแล้ว

ประธานอาเซียน วอนสมาชิกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผนึกกำลัง ย้ำความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว รับมือภาษีศุลกากรสุดโหดจากสหรัฐฯ

(9 เม.ย. 68) นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซียและประธานอาเซียนประจำปี 2568 ได้แถลงเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมมือกัน เพื่อรับมือกับความท้าทายจากการเรียกภาษีศุลกากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการดำเนินนโยบายการค้าโดย ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ซึ่งได้ใช้มาตรการภาษีศุลกากรที่เข้มงวดต่อสินค้าจากหลายประเทศ 

ในคำแถลงที่ออกมาเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา นายอันวาร์กล่าวว่า “อาเซียนต้องยืนหยัดในฐานะกลุ่มที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในการเผชิญกับนโยบายการค้าและภาษีศุลกากรที่ไม่เป็นธรรมจากประเทศภายนอก” 

เขายังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการ “ระลึกถึงประวัติศาสตร์ที่ประเทศในอาเซียนมีร่วมกัน” และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวที่มีความสำคัญในการรักษาผลประโยชน์ร่วมของภูมิภาคในยุคที่การค้าโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

สำหรับการดำเนินนโยบายภาษีศุลกากรของทรัมป์ ถูกมองว่าเป็นการสร้างอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศต่าง ๆ และได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของหลายประเทศ รวมถึงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับสหรัฐฯ อย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะในด้านการส่งออกสินค้าทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเทคโนโลยี

นายอันวาร์กล่าวว่า นโยบายดังกล่าวของสหรัฐฯ มีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจของประเทศในอาเซียน โดยการหักหลังนโยบายการค้าเสรีจากบางประเทศจะทำให้การค้าระหว่างประเทศ ที่เคยเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของภูมิภาคได้รับผลกระทบอย่างหนัก

ทั้งนี้ อาเซียนถือเป็น ผู้ส่งออกสินค้ารายใหญ่เป็นอันดับ 4 ไปยังสหรัฐฯ รองจากแคนาดา เม็กซิโก และจีน โดยในปี 2566 มูลค่าการค้ารวมกับสหรัฐฯ สูงถึง 3.96 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 11.2% ของการค้าทั้งหมดของอาเซียนกับทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม การเก็บภาษีศุลกากรจากสหรัฐฯ ในปัจจุบันมีผลกระทบอย่างมากต่อบางประเทศในอาเซียน โดยเฉพาะ กัมพูชา ซึ่งเผชิญภาษีศุลกากรสูงถึง 49% ขณะที่ ลาว และ เวียดนาม ต้องเผชิญภาษีที่ 48% และ 46% ตามลำดับ ขณะที่ มาเลเซีย เองก็ไม่รอดจากการเก็บภาษีที่สูงถึง 24% จากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นอัตราภาษีที่สูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

ปักกิ่งโต้เดือด ‘ไม่ยอมอยู่ใต้การแบล็กเมล์’ หลังสหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าจีน 104% ทำเนียบขาวเตือนอย่าตอบโต้ทรัมป์ ชี้ผู้นำสหรัฐฯ จะไม่ยอมอ่อนข้อแม้แต่น้อย

(9 เม.ย. 68) ความตึงเครียดด้านการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนพุ่งขึ้นอีกระลอก หลังจากที่ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนอีก 50% เพื่อโต้ตอบการตอบโต้จากปักกิ่ง ส่งผลให้ภาษีนำเข้าสินค้าจีนรวมจากฝั่งสหรัฐฯ พุ่งแตะ 104% อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ทรัมป์ให้เหตุผลว่า จีนยังคงใช้นโยบายการค้าที่ไม่เป็นธรรม และการตอบโต้ที่ผ่านมาจากปักกิ่งเป็น “การท้าทายอย่างชัดเจน” ต่ออำนาจทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยแถลงว่า “จีนเล่นเกมนี้มานานเกินไปแล้ว ถึงเวลาที่สหรัฐฯ ต้องยืนหยัดและปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ”

แม้จะถูกกดดันอย่างหนักจากฝั่งวอชิงตัน แต่ปักกิ่งยืนยันว่าจะไม่ยอมอ่อนข้อต่อสิ่งที่ระบุว่าเป็น 'การแบล็กเมล์ทางเศรษฐกิจ' และมองว่าการกระทำของสหรัฐฯ เป็นการใช้อำนาจฝ่ายเดียวและกีดกันทางการค้า

ในการสนทนาทางโทรศัพท์กับ อูร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง ของจีนระบุว่า “จีนมีเครื่องมือทางนโยบายที่เพียงพอในการรับมือกับแรงกระแทกจากภายนอก และยังมั่นใจว่าเศรษฐกิจจีนจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน”

นอกจากนี้ หลี่เฉียงยังเน้นย้ำว่า การตอบโต้ของจีน ไม่ใช่เพียงเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเองเท่านั้น แต่รวมถึงการปกป้องกฎกติกาการค้าในระดับสากล ที่ทุกประเทศควรยึดถือร่วมกัน

ขณะที่ แคโรไลน์ ลีวิตต์ โฆษกทำเนียบขาว ออกมาแสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่า สหรัฐฯ จะไม่ยอมอ่อนข้อ และระบุว่าจีนกำลัง 'ทำพลาดอย่างหนัก' ด้วยการตอบโต้สหรัฐฯ

“ประเทศต่างๆ เช่น จีน ซึ่งเลือกที่จะตอบโต้และพยายามเพิ่มโทษต่อการปฏิบัติต่อคนงานชาวอเมริกันอย่างไม่เป็นธรรม และกำลังทำผิดพลาด”

ลีวิตต์ กล่าวอีกว่า ประธานาธิบดีทรัมป์มีความแข็งแกร่ง และจะไม่มีวันแตกหัก พร้อมยืนยันว่า การตัดสินใจทางการค้าของผู้นำสหรัฐฯ มุ่งเน้นไปที่การปกป้องผลประโยชน์ของแรงงานและเศรษฐกิจอเมริกัน ซึ่งจีนต้องการทำข้อตกลง กับสหรัฐฯ แต่ “ไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มต้นอย่างไร" และปฏิเสธที่จะเปิดเผยเงื่อนไขใด ๆ ที่ประธานาธิบดีทรัมป์อาจพิจารณา เพื่อผ่อนคลายมาตรการภาษีที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ มาตรการภาษีล่าสุดของทรัมป์มีผลกระทบอย่างกว้างขวาง ทั้งในฝั่งผู้ผลิตจีน และห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก โดยเฉพาะบริษัทสหรัฐฯ ที่พึ่งพาสินค้าและชิ้นส่วนจากจีน อาจต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นักวิเคราะห์ชี้ว่า การเดินหน้าเพิ่มกำแพงภาษีต่อจีนเป็นสัญญาณว่า สหรัฐฯ พร้อมเปิดศึกการค้าเต็มรูปแบบ และคาดว่าปักกิ่งจะตอบโต้กลับอีกระลอกในไม่ช้า

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#4 “สงครามกลางเมืองในกัมพูชา” คร่าชีวิตคนนับล้าน

(15 เม.ย. 68) อีกหนึ่งสมรภูมิในสงครามอินโดจีนคือ “สงครามกลางเมืองในกัมพูชา” หลังจากนาวิกโยธินสหรัฐฯ ยกพลขึ้นบกในเวียตนามใต้ในเดือนมีนาคม 1965 ซึ่งเป็นการเพิ่มระดับความพยายามในการทำสงครามของสหรัฐอเมริกาในเวียตนามใต้ ในไม่ช้าหน่วยอื่นๆ ของสหรัฐอเมริกาก็ตามมา กองกำลังคอมมิวนิสต์ (เวียตนามเหนือและเวียตกง) ได้เพิ่มการโจมตีทั้งกองทหารอเมริกันและกองทัพเวียตนามใต้ สหรัฐฯ จึงส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดโจมตีเป้าหมายในเวียตนามเหนือ เมื่อเจ้าสีหนุกษัตริย์กัมพูชาทรงตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับสหรัฐอเมริกา และทรงเสริมสร้างความสัมพันธ์กับเวียตนามเหนือ แม้ว่าพระองค์จะทรงรู้สึกไม่ไว้วางใจเวียตนามเช่นเดียวกับเขมรแดงก็ตาม ในปี 1967 กองทัพเวียตนามเหนือและกองกำลังกบฏเวียตนามใต้ (เวียตกง) ปฏิบัติการจากเขตป่ารักษาพันธุ์ซึ่งตั้งอยู่ในกัมพูชา กองกำลังสหรัฐและเวียตนามใต้ได้ทำการตอบโต้ด้วยการบุกข้ามพรมแดนมาโจมตีกองกำลังดังกล่าวในกัมพูชา 

เดือนมีนาคม 1969 ในความพยายามที่จะทำลายเส้นทางการขนส่งเสบียงของเวียตนามเหนือ ประธานาธิบดีนิกสันได้สั่งการทางลับให้กองทัพอากาศสหรัฐทำการทิ้งระเบิดโดยไม่มีการจำกัดพื้นที่ในเขตกัมพูชาตะวันออก ต่อมาในปีเดียวกันนั้นเอง เจ้าสีหนุได้ทรงฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตกับสหรัฐอเมริกา แต่ในขณะนั้น สถานะของพระองค์ในกัมพูชากลับไม่มั่นคงอย่างยิ่งในเดือนมีนาคม 1970 ขณะที่พระองค์เสด็จเยือนสหภาพโซเวียต สมัชชาแห่งชาติกัมพูชาได้ลงมติถอดถอนพระองค์ออกจากตำแหน่งประมุข หลังจากที่มีการประท้วงอย่างกว้างขวางในเมืองหลวงเพื่อต่อต้านการมีอยู่ของกองทัพเวียตนามเหนือในประเทศ ในเวลาต่อมาจอมพล Lon Nol ได้เข้าควบคุมรัฐบาลซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา และเปลี่ยนระบบการปกครองจากประขาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (ราชอาณาจักรกัมพูชา) เป็นประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ (สาธารณรัฐกัมพูชา) เจ้านโรดมสีหนุจึงเสด็จไปประทับยังกรุงปักกิ่ง และทรงรับคำแนะนำจากจีนให้ทรงต่อต้านการรัฐประหารโดยการเข้าควบคุมรัฐบาลแนวร่วมพลัดถิ่น ซึ่งรัฐบาลดังกล่าวเป็นพันธมิตรกับจีนและเวียตนามเหนือ และใช้กองกำลังคอมมิวนิสต์กัมพูชา (เขมรแดง) ที่นำโดย Saloth Sar ซึ่งเพียงไม่กี่วันก่อนนั้นได้สู้รบกับกองทัพกัมพูชาของพระองค์เอง

รัฐบาลใหม่ของจอมพล Lon Nol ได้รับความนิยมในช่วงแรก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากคำมั่นสัญญาอันเพ้อฝันของเขาที่จะกำจัดกองกำลังคอมมิวนิสต์เวียตนามออกจากกัมพูชา แต่ในความเป็นจริง การเผชิญหน้าที่เกิดขึ้นได้ลากกัมพูชาเข้าสู่ความขัดแย้งในเวียตนามอย่างสมบูรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในเดือนพฤษภาคม 1970 กองกำลังเฉพาะกิจของกองทัพสหรัฐและเวียตนามใต้บุกโจมตีกัมพูชาตะวันออก แต่กองกำลังคอมมิวนิสต์กัมพูชาได้ล่าถอยไปทางตะวันตกแล้ว จากนั้นรัฐบาล Lon Nol ได้เปิดฉากขึ้นโจมตีสองครั้ง และถูกกองทัพเวียตนามเหนือโจมตีกลับ แล้วหลังจากนั้น กองทัพของรัฐบาล Lon Nol ก็เริ่มตั้งรับ เมื่อการสนับสนุนเขมรแดงของเวียตนามเหนือลดลงในปี 1973 หลังจากข้อตกลงหยุดยิงที่ปารีสกับกองทัพสหรัฐ แต่เขมรแดงปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามข้อตกลง แต่พวกเขายังคงถูกโจมตีทางอากาศจากสหรัฐฯ อย่างหนัก แม้ว่า สหรัฐฯ และกัมพูชาจะไม่ได้อยู่ในสภาวะสงครามต่อกัน และกองทหารสหรัฐเองก็ไม่ประสบภัยอันตรายจากฝ่ายกัมพูชาก็ตาม แม้ว่าการทิ้งระเบิดของสหรัฐฯ ทำให้การโจมตีของเขมรแดงต่อกรุงพนมเปญช้าลง แต่กลับเป็นสร้างความหายนะให้กับชนบทรอบเมืองหลวงที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นแทน ในปลายปี 1973 รัฐบาล Lon Nol ก็ควบคุมได้เพียงแต่กรุงพนมเปญ ดินแดนทางตะวันตกเฉียงเหนือ และเมืองในจังหวัดต่าง ๆ ไม่กี่แห่งเท่านั้น ระหว่างนั้นเจ้าสีหนุก็ทรงเสื่อมความสำคัญลง เมื่อสิ้นสุดปี 1973 เขมรแดงได้ครอบงำทุกองค์ประกอบของกลุ่มต่อต้านไว้หมดแล้ว แต่คงอ้างว่า เจ้าสีหนุยังทรงเป็นผู้นำเขมรแดงอยู่ ขณะนั้นระบอบการปกครองอันโดดเดี่ยวของ Lon Nol ในกรุงพนมเปญยังคงได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ เป็นจำนวนมาก มีการทุจริตเกิดขึ้นอย่างมากมาย และที่สุดในเดือนเมษายน 1975 รัฐบาลของ Lon Nol ก็ล่มสลายลง กองกำลังเขมรแดงได้บุกเข้ายึดกรุงพนมเปญอย่างรวดเร็ว และสั่งให้ชาวเมืองละทิ้งเมืองไปใช้ชีวิตในพื้นที่ชนบททันที กรุงพนมเปญและเมืองเล็ก ๆ ทั่วประเทศถูกกวาดล้างในเวลาไม่ถึงสัปดาห์ ชาวกัมพูชาหลายพันคนเสียชีวิตระหว่างการถูกบังคับเดินทางไปยังชนบท และในเวลาต่อมา สภาพความเป็นอยู่ของชาวกัมพูชาก็เลวร้ายลงเรื่อย ๆ ในห้วงเวลานั้นมีชาวกัมพูชานับล้านคนพยายามอพยพหลบหนีออกจากกัมพูชา และในจำนวนนั้นหลายแสนคนได้หลบหนีเข้ามาอยู่ในค่ายผู้อพยพในราชอาณาจักรไทย

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียตนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’

ตลอดเดือนเมษายน 2568 พบกับเรื่องราวของมหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน 
ในโอกาสครบ 50 ปีแห่งการสิ้นสุดสงคราม วันที่ 30 เมษายน 2518

แคนาดาเอาคืน เก็บภาษีนำเข้ารถยนต์-ชิ้นส่วนจากสหรัฐฯ 25% หวังป้องแรงงาน 500,000 คน จากนโยบายการค้าที่ยากจะยอมรับ

(9 เม.ย. 68) ฟรองซัวส์-ฟิลิปป์ ชองปาญ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแคนาดา แถลงยืนยันเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า มาตรการตอบโต้ทางการค้าของแคนาดาจะมีผลบังคับใช้ในเวลา 00.01 น. วันที่ 9 เมษายน 2568 ตามเวลาฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ (EDT) หรือตรงกับเวลา 11.01 น. ตามเวลาในประเทศไทย เพื่อเป็นการตอบสนองต่อการที่สหรัฐฯ เก็บ ภาษีนำเข้าเกินควรจากอุตสาหกรรมยานยนต์ของแคนาดา

ในแถลงการณ์ที่เผยแพร่โดยกระทรวงการคลัง แคนาดาระบุว่า มาตรการตอบโต้นี้จะมีลักษณะ “ตอบโต้อย่างเด็ดเดี่ยว” โดยมีเป้าหมายเพื่อตอบโต้ภาษีศุลกากรที่ไม่เป็นธรรมซึ่งกระทบต่อ แรงงาน ธุรกิจ และอุตสาหกรรมหลัก ของประเทศ

“รัฐบาลแคนาดาจะไม่ยอมให้ภาษีศุลกากรที่ไม่ยุติธรรมจากประเทศใดมาทำลายเศรษฐกิจของเรา เราจะตอบโต้ด้วยมาตรการที่ชัดเจน รวดเร็ว เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของแคนาดา” ชองปาญกล่าวในแถลงการณ์

สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นหนึ่งในเสาหลักของเศรษฐกิจแคนาดา การที่สหรัฐฯ ตัดสินใจเรียกเก็บภาษีนำเข้าในภาคส่วนนี้ จึงจุดชนวนความไม่พอใจอย่างรุนแรงจากฝั่งออตตาวา

โดยมาตรการตอบโต้ดังกล่าวได้รับการประกาศโดยนายกรัฐมนตรี มาร์ค คาร์นีย์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีเป้าหมายเพื่อ “ปกป้องอุตสาหกรรมยานยนต์ของแคนาดาอย่างถึงที่สุด” และมีเนื้อหาหลักสำคัญ 2 ประการ ได้แก่

1.การเก็บภาษีนำเข้า 25% สำหรับรถยนต์ประกอบสำเร็จ ที่นำเข้าจากสหรัฐฯ และไม่ได้อยู่ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรี CUSMA (Canada–United States–Mexico Agreement)

2.การเก็บภาษีนำเข้า 25% สำหรับชิ้นส่วนรถยนต์ ที่ผลิตจากประเทศที่ไม่ใช่แคนาดาหรือเม็กซิโก หากอยู่ในรถยนต์ประกอบสำเร็จที่นำเข้าจากสหรัฐฯ ภายใต้ข้อตกลง CUSMA

ความเคลื่อนไหวของรัฐบาลแคนาดาเกิดขึ้นเพื่อตอบโต้ภาษีศุลกากรที่สหรัฐฯ ประกาศบังคับใช้เมื่อ 3 เมษายน 2568 ซึ่งเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ของแคนาดาในอัตรา 25% และวางแผนจะขยายไปยัง ชิ้นส่วนรถยนต์บางรายการในวันที่ 3 พฤษภาคม 2568

ทั้งนี้ ภาษีดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อ แรงงานมากกว่า 500,000 คน ในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ของแคนาดา ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ ข้อมูลจากปี 2567 ระบุว่า แคนาดานำเข้ารถยนต์จากสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 3.56 หมื่นล้านดอลลาร์แคนาดา หรือราว 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

แคนาดาย้ำว่าจะเดินหน้าตอบโต้ภาษีศุลกากรที่เกินกว่าเหตุเหล่านี้อย่างเด็ดเดี่ยว พร้อมแสดงจุดยืนว่าจะปกป้องผลประโยชน์ของประเทศในทุกช่องทางที่เป็นไปได้

10 เมษายน พ.ศ. 2455 ‘เรือไททานิค’ ออกเดินทางเที่ยวปฐมฤกษ์ จากท่าเรือเซาแธมป์ตัน มุ่งหน้าสู่เมืองนิวยอร์ก

ในวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2455 (ค.ศ. 1912) ไททานิค (RMS Titanic) เรือยักษ์ใหญ่ที่มีความหรูหรา ใหญ่โต และแข็งแรงที่สุดในต้นศตวรรษที่ 20 ขนาดที่คนเชื่อกันว่าเรือลำนี้ ‘ไม่มีวันอับปาง’ ได้ออกเดินทางเที่ยวปฐมฤกษ์จากท่าเรือเซาแธมป์ตัน ประเทศอังกฤษ มุ่งหน้าสู่เมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา 

หลังเดินทางออกจากเซาแธมป์ตันในวันที่ 10 เมษายน ค.ศ. 1912 ไททานิค แวะจอดรับ-ส่งผู้โดยสารที่เมืองเชอร์บูร์ก ที่เชอร์บูร์ก (Cherbourg) ในฝรั่งเศส และควีนส์ทาวน์ (ปัจจุบันคือ โคฟ, Cobh) ในไอร์แลนด์ ก่อนมุ่งหน้าไปทางตะวันตกมุ่งสู่นิวยอร์ก วันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1912 ห่างจากเซาแธมป์ตันไปทางใต้ราว 600 กิโลเมตร ไททานิค ชนเข้ากับภูเขาน้ำแข็ง การชนแฉลบทำให้แผ่นลำเรือไททานิค เกิดความเสียหาย น้ำได้ทะลักเข้าไปในเรือ แล้วได้เปิดห้องกั้นน้ำทั้งหมด แต่ทว่า ผนังกั้นน้ำชั้นที่ 4 ได้รับความเสียหายจากเพลิงไหม้จากห้องเก็บถ่านหิน ทำให้ผนังกั้นน้ำชั้นที่ 4 ไม่สามารถทนทานแรงดันน้ำได้ จึงส่งผลให้น้ำทะลักเข้ามาภายในตัวเรือ

โดยน้ำค่อย ๆ ไหลเข้ามาในเรือและจมลง ผู้โดยสารและสมาชิกลูกเรือบางส่วนถูกอพยพในเรือชูชีพ โดยมีเรือชูชีพจำนวนมากถูกปล่อยลงน้ำไปทั้งที่ยังบรรทุกไม่เต็ม ผู้ชายจำนวนมาก กว่า 90% ในที่นั่งชั้นสอง ถูกทิ้งอยู่บนเรือ เพราะระเบียบ “ผู้หญิงและเด็กก่อน” ตามด้วยเจ้าหน้าที่ซึ่งบรรทุกเรือชูชีพนั้น ก่อน 2.20 น. เล็กน้อย ไททานิคแตกและจมลงโดยยังมีอีกกว่าพันคนอยู่บนเรือ คนที่อยู่ในน้ำเสียชีวิตภายในไม่กี่นาทีจากภาวะตัวเย็นเกิน (hypothermia) อันเกิดจากการแช่อยู่ในมหาสมุทรที่เย็นจนเป็นน้ำแข็ง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 1,500 คน จากผู้โดยสารราว 2,300 คน เนื่องจากเรือมีเสื้อชูชีพไม่พอและมีเรือกู้ภัยเพียง 20 ลำ นับเป็นหนึ่งในอุบัติเหตุทางเรือที่ร้ายแรงที่สุดของโลก

ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้รอดชีวิตเพียง 710 คนเท่านั้น ที่ถูกช่วยเหลือด้วยเรืออาร์เอ็มเอส คาร์พา เธีย (RMS Carpathia) อุบัติเหตุในครั้งนี้ สร้างความตกตะลึงให้ทั่วโลกเป็นอย่างมาก จากการสูญเสียชีวิตอย่างใหญ่หลวง และความล้มเหลวของกฎระเบียบและปฏิบัติการซึ่งนำไปสู่ภัยพิบัตินั้น การไต่สวนสาธารณะในอังกฤษและสหรัฐอเมริกานำมาซึ่งพัฒนาการหลักความปลอดภัยในทะเล หนึ่งในมรดกสำคัญที่สุด คือ การจัดตั้งอนุสัญญาความปลอดภัยของชีวิตในทะเลระหว่างประเทศ (SOLAS) ใน ค.ศ. 1914 ซึ่งยังควบคุมความปลอดภัยในทะเลตราบจนทุกวันนี้ ผู้รอดชีวิตหลายคนสูญเสียเงินและทรัพย์สินทั้งหมดและถูกทิ้งให้อดอยากแร้นแค้น หลายครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครอบครัวของลูกเรือจากเซาแธมป์ตัน สูญเสียเสาหลักของครอบครัวไป พวกเขาได้รับความช่วยเหลือจากความเห็นใจสาธารณะและการบริจาคของมูลนิธิที่หลั่งไหลเข้ามา

ทรัมป์เผยหลายประเทศแห่โทรหาพร้อมยื่นข้อเสนอ วอนขอทำข้อตกลงกับสหรัฐฯ หลังรัฐบาลเดินเกมกดดันสำเร็จ

โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวเมื่อคืนที่ผ่านมา (8 เม.ย. 68) ว่า ผู้นำจากหลายประเทศกำลังพยายามทำข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ หลังจากที่สหรัฐฯ ได้ประกาศภาษีศุลกากรใหม่ที่มีผลบังคับใช้ในเช้าวันพุธ (9 เม.ย. 68)

โดยในระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ในงานเลี้ยงอาหารค่ำของคณะกรรมการรัฐสภาพรรครีพับลิกันแห่งชาติ ทรัมป์กล่าวถึงการตอบสนองจากผู้นำต่างประเทศว่า

“ผมบอกคุณได้เลยว่า ประเทศเหล่านี้กำลังโทรมาหาผม พร้อมมาจูบก้นผม พวกเขาพยายามอย่างหนักที่จะทำข้อตกลง แล้วพูดว่าได้โปรด ได้โปรดท่าน ทำข้อตกลงเถอะ ผมจะทำให้ทุกอย่างครับท่าน” 

คำพูดของทรัมป์สะท้อนให้เห็นถึงท่าทีที่แข็งกร้าวในการต่อรองการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกับ จีน ซึ่งได้รับผลกระทบมากที่สุดจากภาษีที่มีอัตรา 104% สำหรับสินค้านำเข้าบางประเภท ขณะที่ ประเทศอื่นๆ รวมทั้ง สหภาพยุโรป กำลังเผชิญกับภาษีที่สูงถึง 50%

สำหรับการขึ้นภาษีนี้มีเป้าหมายไปที่สินค้าที่หลากหลายประเภทจากทั่วโลก ซึ่งก่อให้เกิด สงครามการค้าระหว่างประเทศใหญ่ ๆ ทั่วโลก โดยเมื่อมาตรการภาษีใหม่เริ่มมีผลบังคับใช้ ตลาดหุ้นในเอเชีย ได้ร่วงลงอย่างหนัก โดย ดัชนีนิเคอิ ของญี่ปุ่นร่วงลงกว่า 5% ขณะที่ ดัชนีฮั่งเส็ง ของฮ่องกง และดัชนีเวทเตทไต้หวัน ร่วงลงมากกว่า 4% และ 5% ตามลำดับ

ในสุนทรพจน์เดียวกัน ทรัมป์ยังได้เปิดเผยแผนการเก็บภาษีเพิ่มเติมสำหรับการนำเข้า ผลิตภัณฑ์ยา โดยกล่าวว่า

“เราจะจัดเก็บภาษียาของเรา และเมื่อเราทำเช่นนั้น ยาเหล่านั้นจะรีบไหลกลับเข้ามาในประเทศของเราอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเราเป็นตลาดขนาดใหญ่”

มาตรการภาษีนี้สะท้อนถึงการพยายามควบคุมตลาดยาในประเทศและการรักษาผลประโยชน์ภายในประเทศ แม้จะมีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับผลกระทบต่อราคายาและการเข้าถึงบริการทางการแพทย์สำหรับประชาชนก็ตาม

‘สเตฟาน บันเดรา’ กับกระแสนีโอนาซีในยูเครน ผู้ถูกกล่าวมีส่วนสังหารหมู่ชาวโปแลนด์และยิวช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

สเตฟาน บันเดรา (Stepan Bandera, 1909–1959) เป็นผู้นำของขบวนการชาตินิยมยูเครน (OUN – Organization of Ukrainian Nationalists) มีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องเอกราชของยูเครนจากสหภาพ โซเวียต ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาได้ร่วมมือกับฝ่ายอักษะ กลุ่มของเขา (OUN-B) ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรงและการสังหารหมู่ชาวโปแลนด์และชาวยิวในโวลฮีเนีย (Volhynia) และกาลิเซีย (Galicia) ในช่วงปีค.ศ. 1943–1944

หลังการล่มสลายของจักรวรรดิรัสเซียในปี ค.ศ. 1917 ความพยายามสร้างรัฐชาติยูเครนเริ่มต้นขึ้น แต่ถูกรัฐโซเวียตควบรวมเข้าเป็นหนึ่งในสาธารณรัฐของสหภาพโซเวียตในปี ค.ศ. 1922 การเรียกร้องเอกราชของยูเครนทำให้ยูเครนกลายเป็นกระแสต้านอำนาจของรัฐรัสเซีย-โซเวียต ในทศวรรษ 1930 การปราบปรามทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมโดยเฉพาะยุทธการกวาดล้างทางชนชั้นและความอดอยากครั้งใหญ่ (Holodomor) ได้ส่งผลต่อการตื่นตัวของแนวคิดชาตินิยมยูเครน

บันเดราได้เข้าร่วมกับองค์การชาตินิยมยูเครน (OUN) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อปลดปล่อยยูเครนจากการปกครองของทั้งโปแลนด์และโซเวียต โดยเน้นความรุนแรง การลอบสังหาร และการก่อกบฏในรูปแบบกองโจร ในปี ค.ศ. 1934 เขาถูกจับในโปแลนด์หลังการลอบสังหารรัฐมนตรีมหาดไทยของโปแลนด์แม้จะถูกจำคุกแต่เขายังคงได้รับความเคารพในหมู่ชาตินิยมยูเครน ในปีค.ศ. 1940 ขบวนการ OUN แบ่งออกเป็นสองฝ่าย: OUN-M นำโดยอันเดรย์ เมลนิก (Andriy Melnyk) และ OUN-B นำโดยสเตฟาน บันเดรา

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองกลุ่ม OUN-B (องค์การชาตินิยมยูเครน - ฝ่ายบันเดรา) ได้จัดตั้งกองกำลังติดอาวุธของตนเองคือ กองทัพกบฏยูเครน «Українська повстанська армія, UPA» ขึ้นในปี ค.ศ. 1942 – 1943 โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างรัฐยูเครนอิสระภายใต้แนวคิดชาตินิยมสุดโต่ง หนึ่งในเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ของ UPA คือการขจัด 'ศัตรูภายใน' ได้แก่ ชาวโปแลนด์ ชาวยิวและชาวรัสเซียซึ่งถูกมองว่าเป็นอุปสรรคต่อการก่อตั้งรัฐชาติยูเครนที่ 'บริสุทธิ์ทางชาติพันธุ์' โดยชาวยิวถูกตราหน้าว่าเป็น 'ส่วนหนึ่งของคอมมิวนิสต์โซเวียต' และถูกกำจัดในฐานะศัตรูของรัฐยูเครนใหม่ ในช่วงเริ่มต้นของการยึดครองโดยนาซี (1941) สมาชิก OUN บางส่วนให้ความร่วมมือกับหน่วยสังหารของนาซี (Einsatzgruppen) ในการระบุตัวและข่มเหงชาวยิว ในช่วงปี ค.ศ. 1943 – 1944 กองกำลัง UPA ถูกกล่าวหาว่าดำเนินการ “การกวาดล้างชาติพันธุ์” (ethnic cleansing) ต่อชาวโปแลนด์ในภูมิภาคโวลฮีเนียและกาลิเซียซึ่งอยู่ภายใต้การยึดครองของนาซีเยอรมนีในเวลานั้น มีการจู่โจมหมู่บ้านชาวโปแลนด์กว่า 1,000 แห่ง รายงานจากทั้งฝั่งโปแลนด์และนักประวัติศาสตร์สากลระบุว่ามีชาวโปแลนด์เสียชีวิตราว 40,000 – 100,000 คน เหตุการณ์นี้ถูกเรียกว่า “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในโวลฮีเนีย” (Volhynian Genocide) โดยในปี ค.ศ. 2016 รัฐสภาโปแลนด์ลงมติประกาศว่าเหตุการณ์ในโวลฮีเนียเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยเจตนา

เมื่อเยอรมนีรุกรัสเซีย ในปี ค.ศ. 1941 บันเดราและ OUN-B ประกาศเอกราชของยูเครนในเมืองลวีฟ (Lviv) โดยหวังว่าเยอรมนีจะสนับสนุนรัฐยูเครนอิสระ แต่เมื่อฝ่ายนาซีไม่ยอมรับความเป็นเอกราชของยูเครนจึงทำให้บันเดราถูกจับโดยเกสตาโปและส่งไปยังค่ายกักกันซัคเซนเฮาเซน (Sachsenhausen) จนถึงปี ค.ศ.1944 แม้จะถูกกักขังแต่การกระทำของเขาถูกจดจำว่าเป็นก้าวที่กล้าหาญทางการเมืองในการประกาศเอกราชยูเครนอย่างเปิดเผย ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสงครามโลก

บันเดรานำเสนอแนวคิด “ยูเครนสำหรับชาวยูเครน” «Україна для українців» โดยเน้นการสร้างชาติผ่านการปลดปล่อยจากอำนาจโซเวียตและรัสเซีย การกำจัดอิทธิพลจากชาวยิวและโปแลนด์ การต่อสู้ด้วยกองกำลังกึ่งทหารและกองโจรในชนบทตะวันตก หลังถูกสังหารโดย KGB ในเยอรมนีตะวันตกในปี ค.ศ. 1959 ชื่อของสเตฟาน บันเดราได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการต้านโซเวียต โดยเฉพาะในยูเครนตะวันตก ซึ่งถือว่าเขาเป็น “นักสู้เพื่อเสรีภาพ” ขณะที่รัสเซียยังคงมองว่าเขาคือ “ผู้ทรยศและนาซี”

หลังเหตุการณ์ 'การปฏิวัติสีส้ม' (Orange Revolution) ในปีค.ศ. 2004–2005 ซึ่งนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ในยูเครน ประธานาธิบดีวิกเตอร์ ยูชเชนโกซึ่งมีจุดยืนในความเป็นชาตินิยมและความใกล้ชิดกับตะวันตกอย่างชัดเจน เขาได้ผลักดันแนวทางการฟื้นฟูประวัติศาสตร์ยูเครนผ่านมุมมองของชาตินิยมตะวันตก หนึ่งในนโยบายที่สำคัญคือการรื้อฟื้นบุคคลในประวัติศาสตร์ที่ต่อต้านจักรวรรดิรัสเซียและสหภาพโซเวียตให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของชาติยูเครน ในมุมมองของประธานาธิบดีวิกเตอร์ ยูชเชนโกบันเดราเป็น “นักสู้ผู้กล้าหาญเพื่ออิสรภาพของยูเครน” โดยไม่ให้ความสำคัญกับข้อครหาทางด้านสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือกับนาซีหรือการใช้ความรุนแรงของ OUN-B

ในวันที่ 22 มกราคม ปีค.ศ. 2010 ซึ่งเป็นวันแห่งความสามัคคีของชาวยูเครน ประธานาธิบดีวิกเตอร์ ยูชเชนโกได้ลงนามใน คำสั่งประธานาธิบดีที่ 46/2010 «Указ Президента України № 46/2010» ยกย่องบันเดราเป็นวีรบุรุษแห่งยูเครน «Герой України» ซึ่งเป็นเกียรติสูงสุดที่มอบให้กับพลเมืองที่ทำคุณประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่ประเทศ

การประกาศยกย่องให้สเตฟาน บันเดราเป็นวีรบุรุษของชาติยูเครนนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองทั้งภายในและระหว่างประเทศกับรัสเซีย ในยูเครนตะวันตกโดยเฉพาะแคว้นลวิฟและอิวาโน-ฟรานคิฟส์ค ยกย่องบันเดราเป็น 'วีรบุรุษทางจิตวิญญาณ' เป็น 'วีรบุรุษ' แห่งการต่อสู้เพื่อเอกราช มีการตั้งอนุสรณ์สถาน รูปปั้น ถนน และโรงเรียนในชื่อของเขา ในทางตรงกันข้ามในยูเครนตะวันออกและใต้ซึ่งมีประชากรรัสเซียจำนวนมากตอบโต้ด้วยความไม่พอใจเห็นว่าเป็นการให้เกียรติแก่ 'ผู้ร่วมมือกับนาซี' ในขณะที่ชนกลุ่มน้อยชาวยิวและโปแลนด์ประท้วงต่อต้านอย่างรุนแรง โดยกล่าวถึงบทบาทของ OUN-B ในการสังหารหมู่พลเรือนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐสภายุโรปออกมาแสดงความ “เสียใจอย่างสุดซึ้ง” (deep regret) ต่อการยกย่องบันเดราของรัฐบาลยูเครน เนื่องจากอาจบั่นทอนกระบวนการสมานฉันท์และการยอมรับคุณค่าร่วมของยุโรป รัฐบาลรัสเซียออกมาประณามคำสั่งของยูเชนโกทันที โดยระบุว่าเป็น “การฟื้นฟูแนวคิดฟาสซิสต์ในยุโรปตะวันออก”ความขัดแย้งนี้กลายเป็น 'สนามรบทางประวัติศาสตร์' (memory war) ระหว่างยูเครนและรัสเซีย

หลังจากประธานาธิบดีวิกเตอร์ ยูชเชนโกพ่ายแพ้การเลือกตั้งและวิกเตอร์ ยานูโควิช ซึ่งมีจุดยืนฝักใฝ่รัสเซียขึ้นเป็นประธานาธิบดี คำสั่งที่ยกย่องบันเดราถูกศาลปกครองในเมืองโดเนตสค์ถูกเพิกถอนในปี ค.ศ. 2011 โดยระบุว่า “บันเดราไม่ใช่พลเมืองของยูเครน” (ตามกฎหมายว่าด้วยสถานะพลเมืองปี ค.ศ. 1991) จึงไม่มีสิทธิได้รับเกียรตินี้ อย่างไรก็ตามการยกย่องดังกล่าวยังคงมีผลในเชิงสัญลักษณ์ในหมู่ชาตินิยมยูเครนและยังเป็นหัวข้อสำคัญในการต่อสู้ทางความทรงจำ (memory politics) โดยกลุ่มขวาจัดหรือนีโอนาซีบางกลุ่มในยูเครน เช่น Azov Battalion หรือกลุ่ม Right Sector อ้างอิงและเชิดชูบันเดราในเชิงอุดมการณ์

การเชื่อมโยงทั้งหมดของรัฐยูเครนกับบันเดรานั้นเป็นการขยายผลเชิงโฆษณาชวนเชื่อของรัสเซีย โดยรัสเซียกล่าวหาว่ายูเครนเป็น 'รัฐนาซี' ทั้งที่ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกีนั้นเป็นชาวยิว รัสเซียใช้ บันเดราเป็นภาพแทนของ 'ความสุดโต่งของยูเครน' เพื่อให้การบุกยูเครนเป็น 'ภารกิจการต่อต้านนาซี' «денацификация Украины» สื่อรัสเซียอย่าง RT และ Sputnik รวมถึงนักคิดฝ่ายสนับสนุนรัฐ อย่างเช่น อเล็กซานเดอร์ ดูกิน (Aleksandr Dugin) ได้ใช้ภาพของบันเดราเป็นสัญลักษณ์ของ 'ภัยคุกคามฟาสซิสต์' โดยในสายตาของโปแลนด์ รัสเซีย และยิว บันเดราถูกมองว่าเป็น “พวกหัวรุนแรงทางชาติพันธุ์” ที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รัสเซียใช้คำว่า “บันเดรอฟซึ่ย” «бандеровцы» เป็นวาทกรรมหลักในการวาดภาพลักษณ์ของผู้นำและกองกำลังยูเครนว่าเป็นพวก “ฟาสซิสต์-นีโอนาซี”เป้าหมายคือ ลดทอนความชอบธรรมของรัฐบาลยูเครน โดยโยงกับประวัติศาสตร์ที่โหดร้ายของ OUN-B เห็นได้จากคำปราศรัยของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2024 ที่กล่าวว่า เราจะทำการดีนาซิฟิเคชันยูเครน «денацификация Украины»... เพื่อปกป้องผู้คนจากบันเดรอฟซี่และพวกนีโอนาซี...” สัญลักษณ์ของบันเดราถูกใช้เป็นข้ออ้างเชิงอุดมการณ์ว่า “ยูเครนไม่ใช่รัฐประชาธิปไตยแต่เป็นรัฐหัวรุนแรงที่เคารพบูชาผู้ร่วมมือกับนาซี”

​ในรัสเซียชื่อของ สเตฟาน บันเดรา (Stepan Bandera) ถูกนำมาใช้เพื่อสร้างภาพลักษณ์ของความสุดโต่งและนีโอนาซีในยูเครนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการชี้นำและควบคุมความรับรู้ของประชาชนภายในประเทศ โดยเน้นไปที่ผู้สูงอายุที่มีความทรงจำเกี่ยวกับ "สงครามผู้รักชาติ" (Great Patriotic War) กับนาซีเยอรมนี​

การสร้างภาพศัตรูผ่านบันเดราของรัสเซีย โดยรัฐบาลและสื่อที่ควบคุมโดยรัฐได้ใช้ชื่อของบันเดราเพื่อเชื่อมโยงขบวนการชาตินิยมยูเครนกับนาซีเยอรมนี โดยเรียกผู้สนับสนุนยูเครนว่า "บันเดรอฟซี่" (Banderites) เพื่อสร้างความหวาดกลัวและความไม่ไว้วางใจต่อยูเครนในหมู่ประชาชนรัสเซีย ​โดยเน้นความทรงจำในสงครามโลกครั้งที่สองสำหรับผู้สูงอายุที่มีความทรงจำเกี่ยวกับสงครามกับนาซีเยอรมนี รัสเซียยังได้ใช้การเปรียบเทียบระหว่างบันเดรากับนาซีเพื่อกระตุ้นความรู้สึกชาตินิยมและความภาคภูมิใจในชัยชนะของสหภาพโซเวียตในสงครามครั้งนั้น ​รวมถึงการควบคุมสื่อและการเผยแพร่ข้อมูลโดยนำเสนอเนื้อหาที่เชื่อมโยงยูเครนกับนาซีและบันเดราอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างการรับรู้ที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ​

นอกจากนี้รัสเซียยังเชื่อมโยงยูเครนกับนาซีผ่านบันเดราเพื่อสร้างความชอบธรรมในการดำเนินการทางทหารของรัสเซียในยูเครน โดยอ้างว่ารัสเซียกำลังต่อสู้กับนีโอนาซีเพื่อปกป้องประชาชนช่วยกระตุ้นความรู้สึกชาตินิยมและความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ของรัสเซีย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีความทรงจำเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่สอง

สรุป สเตฟาน บันเดรายังคงเป็นบุคคลที่มีภาพลักษณ์หลากหลายและเต็มไปด้วยความขัดแย้งในประวัติศาสตร์ยูเครนสมัยใหม่ สำหรับชาวยูเครนบางส่วนโดยเฉพาะกลุ่มชาตินิยม บันเดราคือวีรบุรุษผู้ต่อสู้เพื่อเอกราชจากสหภาพโซเวียต อย่างไรก็ตาม ในสายตาของชาวรัสเซียและประชาคมนานาชาติบางกลุ่มเขาถูกมองว่าเป็นผู้นำขบวนการหัวรุนแรงที่มีบทบาทในการร่วมมือกับนาซีและมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง รัสเซียใช้ชื่อของบันเดราเป็นสัญลักษณ์ของ "นีโอนาซีในยูเครน" เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการแทรกแซงทางทหาร โดยเฉพาะในการอ้างว่าการ "ลดทอนลัทธินาซี" «денацификация» เป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของปฏิบัติการทางทหารในยูเครน กระบวนการนี้ไม่เพียงแต่สะท้อนยุทธศาสตร์ด้านข้อมูลของเครมลินเท่านั้น หากแต่ยังชี้ให้เห็นถึงการใช้ประวัติศาสตร์และสัญลักษณ์ทางชาติพันธุ์-การเมืองเพื่อควบคุมการรับรู้ของประชาชนทั้งในและนอกประเทศ ในบริบทของสงครามรัสเซีย–ยูเครนการถกเถียงเกี่ยวกับตัวตนและบทบาทของบันเดราจึงไม่ได้เป็นเพียงการต่อสู้ทางประวัติศาสตร์เท่านั้น หากแต่กลายเป็นสงครามแห่งการเล่าเรื่อง (narrative war) ที่มีเดิมพันคือความชอบธรรมของรัฐชาติ และการกำหนดภาพลักษณ์ของศัตรูในสายตาสาธารณะ

เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อสังคม ออกแถลงการณ์คัดค้านกฎหมายกาสิโน-พนันออนไลน์ ระบุแม้นายกฯ เลื่อนวาระพิจารณา แต่เรื่องนี้ไม่จบ  เร่งล่า50,000 ชื่อเพื่อทำประชามติ

(8 เม.ย. 68) นายจเรศักดิ์  ศักดิ์สินไพบูลย์  ประธานเครือข่ายนักกฎหมายเพื่อสังคม กล่าวคำแถลงการณ์ โดยระบุว่า เครือข่ายนักกฎมายเพื่อสังคมเป็นกลุ่มนักกฎหมายและทนายความจิตอาสา ที่มีวัตถุประสงค์ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงในรูปแบบต่างๆ  โดยเฉพาะผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิโดยผิดกฎหมายจากการกระทำของบุคคลและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ด้วยขณะนี้รัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ผลักดันร่างพระราชบัญญัติการประกอบการธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. …. รวมไปถึงความพยายามผลักดันให้การพนันออนไลน์ถูกกฎหมาย  โดยในส่วนของร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงฯ(ที่มีกาสิโน) นั้น อยู่ในระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร  เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาตามระเบียบวาระในวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2568 ในส่วนพนันออนไลน์พบว่าอาจใช้แค่กฎหมายในลำดับรองในการแก้ไขให้ทำได้  ซึ่งจะควบคู่ไปกับเกิดบ่อนกาสิโนอย่างสอดคล้องกัน และข่าวล่าสุดวันนี้ แม้นายกรัฐมนตรี จะขอให้สภาเลื่อนวาระการพิจารณา พ.ร.บ.ในวันพรุ่งนี้ออกไปแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเรื่องนี้จะจบ  ยังคงมีวาระที่รอเข้าสู่การพิจารณาในสมัยประชุมหน้า  จึงต้องเร่งล่ารายชื่อให้ครบ50,000 ชื่อเพื่อทำประชามติ ก่อนสภาเปิดสมัยหน้า

นายจเรศักดิ์  กล่าวว่า เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อสังคม ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวนี้จะก่อให้เกิดปัญหาและมีผลกระทบต่อสังคมเป็นวงกว้าง ทั้งปัญหาทางด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ  เพราะการพนันไม่มีผลต่อการสร้างระบบเศรษฐกิจที่ดีได้   ในทางกลับกันส่งผลกระทบต่อต้นทุนสาธารณะที่ประเทศชาติต้องแบกรับเพิ่มขึ้น ทั้งในด้านปัญหาสังคม ปัญหาครอบครัว ปัญหาอาชญากรรม  ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นในระบบราชการ  กระบวนการยุติธรรม การฟอกเงินของธุรกิจผิดกฎหมาย  กลุ่มผู้มีอิทธิพล และปัญหาอื่น ๆ ที่จะตามมาอีกมากมาย และหากเชื่อมโยงไปกับพนันออนไลน์ที่ถูกกฎหมายด้วยแล้วจะยิ่งทวีความรุนแรงของปัญหามากยิ่งขึ้น    

เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อสังคม ขอแสดงจุดยืนและข้อเสนอต่อการผลักดัน พ.ร.บ.การประกอบการธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร (ที่มีกาสิโน) และพนันออนไลน์ถูกกฎหมายดังนี้
1. ประชาชนต้องรับรู้โดยทั่วกันว่า ร่าง พ.ร.บ.การประกอบการธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร คือกฎหมายที่เป็นเพียงหน้าเค้กแต่กลบเนื้อในเอาไว้  ซึ่งคือกาสิโนนั่นเอง  เป็นเพียงเทคนิคของรัฐบาลที่พยายามหลบเลี่ยงไม่ตรงไปตรงมา  ซึ่งประชาชนต่างก็รู้เท่าทัน  จนเกิดคำถามและเสียงคัดค้านกันทั่วบ้านทั่วเมือง  ในขณะที่รัฐบาลสื่อสารตลอดเวลาว่าเสียงส่วนใหญ่สนับสนุน  แต่กลับพบว่ามาจากการเปิดรับฟังความคิดเห็นที่ไม่เป็นกลาง หมกเม็ดซึ่งผิดปกติอย่างมาก    
2. ร่าง พรบ.สถานบันเทิงฯ ที่มีกาสิโนฉบับนี้  ไม่ปรากฏอยู่ในนโยบายการหาเสียงของพรรคเพื่อไทย พรรคร่วมรัฐบาลหรือพรรคการเมืองใดๆเลย  เป็นเรื่องใหญ่ที่ส่งผลต่อชะตากรรมความเป็นอยู่ของคนไทยทั้งประเทศ  การดำเนินการในเรื่องนี้ซึ่งมีความผูกพันกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งประเทศ  จึงจำเป็นต้องให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นให้มากที่สุด
3. ประเทศไทยยังมิได้เตรียมความพร้อมใดๆเลยกับการรองรับให้มีกาสิโน  และผลกระทบที่จะตามมา ด้วยปัญหาที่มีอยู่เดิมและจะสัมพันธ์กับการมีบ่อนการพนัน  คือ การทุจริตคอรัปชั่น  การฟอกเงิน  กลุ่มผู้มีอิทธิพล การบังคับใช้กฎหมายที่หย่อนยาน  สิ่งเหล่านี้รัฐบาลยังไม่มีรูปธรรมในการจัดการป้องกันแก้ไข  การเดินหน้าท่ามกลางการไม่มีความพร้อม รังแต่จะสร้างปัญหาที่ใหญ่และหนักมากขึ้นให้กับประเทศ พบว่าในหลายประเทศมีการศึกษาเตรียมการ สร้างมาตรการรองรับก่อนจะตัดสินใจ เช่นสิงคโปร์ ใช้เวลานานร่วมสิบปีก่อนดำเนินการ จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะเร่งเดินหน้าสร้างหายนะให้กับประเทศ

4. เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อสังคม จึงขอคัดค้านการรีบเร่งเดินหน้า พรบ.สถานบันเทิงครบวงจร  รวมถึงการทำให้พนันออนไลน์ถูกกฎหมาย และขอเรียกร้องให้มีการทำประชามติ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการล่า 50,000 รายชื่อ เพื่อให้เกิดการทำประชามติในเรื่องนี้ โดยมูลนิธิรณรงค์หยุดพนันและเครือข่าย โดยการออกเสียงประชามตินั้นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ให้เป็นผู้จัดการและควบคุมดูแลการออกเสียงประชามติให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย สุจริต และเที่ยงธรรม  (รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 224 (1) และ (2)) รวมถึง กกต. มีอำนาจในการออกประกาศ ระเบียบ คำสั่ง ข้อกำหนดที่จำเป็นแก่การปฏิบัติงานให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 ประชาชนจำนวนอย่างน้อย 50,000 คน สามารถมีส่วนร่วมเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบในการทำประชามติได้ ดังนั้นสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงวุฒิสภา จึงควรร่วมกันสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน  ให้มีการทำประชามติก่อน สภาผู้แทนราษฎรจึงไม่ควรรับร่างกฎหมายฉบับนี้
5. เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อสังคม ยินดีร่วมมือกับทุกองค์กรที่ต้องการสังคมที่ปลอดภัยให้กับลูกหลานของพวกเราในการร่วมกันคัดค้านกาสิโนและพนันออนไลน์ถูกกฎหมายให้ถึงที่สุดต่อไป

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับสำนักงาน ปปง. แถลงผลปฏิบัติการปราบปรามการฟอกเงิน 2 ไตรมาส  ยึดทรัพย์สินได้กว่า 1,900 ล้านบาท

(9 เม.ย. 68) เวลา 10.00 น. พล.ต.อ.ประจวบ วงศ์สุข รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร./ผอ.ศปปง.ตร.) ร่วมกับ นายกมลสิษฐ์ วงศ์บุตรน้อย รองเลขาธิการ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) , พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล , พล.ต.ต.ชัยพจน สูวรรณรักษ์ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2/เลขานุการ ศปปง.ตร. พล.ต.ต.พัฒนศักดิ์ บุปผาสุวรรณ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค , และ พล.ต.ต.ภัคพงศ์ สายอุบล ผู้บังคับการอำนวยการ ตำรวจภูธรภาค 1 ร่วมแถลงผลการระดมกวาดล้างปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ห้วงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ถึง 6 เมษายน 2568 ณ ห้องสารสิน ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นศูนย์อำนวยการและสั่งการ ติดตามสถานการณ์ ประสานงาน และรายงานผลการปฏิบัติในภารกิจสืบสวน สอบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานฟอกเงิน 29 มูลฐานความผิด และส่งเรื่องให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ตามนโยบายของรัฐบาล โดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญในการปราบปราม และการบังคับใช้กฎหมายกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ได้มอบหมายให้ น.ส.จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลการแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดมีความรุนแรงมากขึ้นสร้างความเดือดร้อนรำคาญ อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายของผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า และประชาชนรอบข้าง โดยเฉพาะเยาวชน โดยให้ทุกหน่วยงานบูรณาการร่วมกันกับสำนักงาน ปปง. และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ในการกำหนดมาตรการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงได้กำหนดมาตรการคุมเข้มปราบปรามการครอบครอง และการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมาย โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ตามโรงเรียน สถานศึกษา หรือที่มีแหล่งข่าวว่าเป็นสถานที่พัก  ลักลอบเก็บอุปกรณ์ โกดัง ร้านค้า เพื่อนำออกไปจำหน่าย รวมทั้งร่วมบูรณาการกับกรมศุลกากรในการตรวจสอบการลักลอบการนำเข้าในราชอาณาจักร

พล.ต.อ.ประจวบ  วงศ์สุข รอง ผบ.ตร./ผอ.ศปปง.ตร. กล่าวว่า สำหรับการดำเนินงานของศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ประจำปีงบประมาณ 2568 ห้วง 6 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ถึง  31 มีนาคม 2568 ได้ดำเนินการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งมีผลการดำเนินคดีอาญาฟอกเงินในภาพรวม จำนวน 252 คดี และสามารถยึดอายัดทรัพย์ได้ จำนวน 1,902,710,831.63 บาท 

ในส่วนของการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าตามนโยบายรัฐบาล    พล.ต.อ.ประจวบฯ ได้สั่งการให้ทุกหน่วยทั่วประเทศเร่งปราบปรามปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้า โดยเฉพาะการลักลอบนำเข้า การครอบครอง และการจำหน่าย ในการนี้ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปปง.ตร.) ได้สั่งการให้ทุกหน่วยที่ดำเนินการจับกุมผู้กล่าวหารายงานตามระเบียบสำนักงานนายกรัฐมนตรีฯ ประสานความร่วมมือกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ดำเนินการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงิน และกลุ่มบุคคลที่มีพฤติการณ์ลักลอบเก็บอุปกรณ์ การนำออกไปจำหน่าย และการลักลอบนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า อันเป็นพฤติการณ์เข้าข่ายการกระทำความผิดมูลฐาน ลักลอบหนีศุลกากร ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ปัจจุบันมีผลการดำเนินการตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ ถึง 6 เมษายน 2568 สามารถจับกุมตัวผู้ต้องหา 2,337 ราย ของกลาง 1,610,443 ชิ้น มูลค่าของกลาง 296,170,159 บาท จำแนกเป็นคดีสำคัญรายใหญ่ที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน และสามารถตรวจสอบเส้นทางการเงินได้จำนวน 22 คดี ของกลาง 839,948 ชิ้น มูลค่า 202,863,310 บาท

นายกมลสิษฐ์ฯ รองเลขาธิการ ปปง. กล่าวว่า ในการการดำเนินการตามกฎหมายของสำนักงาน ปปง. เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้านั้น หากเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร จะเป็นความผิดมูลฐานไปสู่การยึดอายัดทรัพย์สินได้ โดย ปปง. จะสามารถดำเนินการได้ 2 แนวทาง คือ การดำเนินการดำเนินการทางอาญาในความผิดมูลฐาน “ฟอกเงิน”และทางแพ่งในการยึดอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดและการดำเนินการทางอาญาในความผิดมูลฐาน “ฟอกเงิน”

พล.ต.อ.ประจวบฯ ได้กำชับให้ทุกหน่วยทั่วประเทศเพิ่มความเข้มในการตรวจสอบ มิให้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าและแก๊สหัวเราะ ไม่ว่าจะเป็นการลักลอบนำเข้า จำหน่าย ครอบครอง หรือเป็นแหล่งซุกซ่อน หากพบการกระทำความผิด ให้สืบสวนขยายผลให้ได้ข้อเท็จจริง พยานหลักฐานและนำไปสู่การดำเนินคดีตามความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการ  ฟอกเงินฯ ทุกกรณี 

ทั้งนี้ ประชาชนที่พบเห็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าและแก๊สหัวเราะ สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทันที และสายด่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 191 หรือ 1599 ตลอด 24 ชั่วโมง 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top