Tuesday, 22 April 2025
TheStatesTimes

เหยื่อผู้เคราะห์ร้ายจากหลังคาไนต์คลับถล่ม ดับพุ่ง 184 ศพ ปฏิบัติการกู้ภัยยังคงเดินหน้า โดมินิกันประกาศไว้อาลัยให้กับผู้เสียชีวิต

(10 เม.ย. 68) เหตุการณ์หลังคาไนต์คลับถล่มในกรุงซันโตโดมิงโก เมืองหลวงของสาธารณรัฐโดมินิกัน ยังคงสร้างความสะเทือนใจให้กับประเทศ หลังจากที่ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้เพิ่มขึ้นเป็น 184 รายแล้ว 

อย่างไรก็ตาม ปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยยังคงดำเนินต่อไปอย่างเต็มที่ แต่นับตั้งแต่ช่วงบ่ายวันอังคารที่ 8 เมษายน ยังไม่มีการพบผู้รอดชีวิตเพิ่มเติม จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ไนต์คลับแห่งหนึ่งในกรุงซันโตโดมิงโกเมื่อช่วงเช้าของวันจันทร์

สำหรับคลับ Jet Set ในตำนานแห่งนี้ในวันเกิดเหตุได้จัดคอนเสิร์ตของ ‘รับบี้ เปเรซ’ นักร้องเมอเรงเก้คนดังชาวโดมินิกัน ซึ่งเสียชีวิตในที่เกิดเหตุด้วยจากคำยืนยันของผู้จัดการและครอบครัวของเขา นอกจากนี้ในคอนเสิร์ตดังกล่าวยังเต็มไปด้วยนักดนตรี นักกีฬาอาชีพ และเจ้าหน้าที่รัฐ พร้อมผู้เข้าร่วมอีกประมาณ 500 ถึง 1,000 คน

เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและหน่วยกู้ภัยยังคงขุดค้นซากอาคารอย่างระมัดระวังเพื่อหาผู้ประสบภัยที่อาจติดอยู่ภายใน ขณะที่ทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เข้ามาช่วยเหลือในการดูแลผู้ได้รับบาดเจ็บ

สื่อท้องถิ่นรายงานโดยอ้างคำพูดของ ฆวน มานูเอล เมนเดซ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินของประเทศเมื่อวันพฤหัสบดีว่า มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุครั้งนี้อย่างน้อย 184 ราย เมนเดซยังเน้นย้ำว่านี่เป็นเพียง “ตัวเลขเบื้องต้น” เท่านั้น

“จนกว่าเราจะตรวจสอบทุกอย่างเสร็จสิ้น เราจะไม่ทอดทิ้งใคร เราจะอยู่ที่นี่จนกว่าจะสามารถกู้ทุกคนกลับมาได้ ไม่ว่าจะยังมีชีวิตอยู่หรือเสียชีวิตก็ตาม” เมนเดซกล่าว

การสอบสวนเบื้องต้นระบุว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากการพังทลายของโครงสร้างอาคารหลังจากที่ฝนตกหนักและมีลมพัดแรง แต่ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นสาเหตุหลัก โดยกระทรวงโยธาธิการได้เข้ามาตรวจมาตรวจสอบเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวและส่งไปยังสำนักงานนายกเทศมนตรี แต่สำนักงานนายกเทศมนตรีก็ไม่ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ดังกล่าวเช่นกัน

ทั้งนี้ ทางการสาธารณรัฐโดมินิกันได้ประกาศไว้อาลัยให้กับผู้เสียชีวิตและกำลังดำเนินการช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บอย่างเต็มที่ 

12 เมษายน พ.ศ. 1839 'พญามังราย' พระมหากษัตริย์แห่งล้านนา ทรงสถาปนาเมือง ‘นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่’

วันนี้ เมื่อ 729  ปีก่อน ‘พญามังราย’ พระมหากษัตริย์แห่งล้านนา ทรงสถาปนากรุงเวียงเชียงใหม่ (เชียงใหม่ในปัจจุบัน) เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรล้านนา

‘พญามังราย’ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์มังราย ทรงเริ่มต้นรวบรวมเมืองหรือแคว้นขนาดเล็กที่กระจัดกระจายและเป็นอิสระต่อกัน ให้รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จนพัฒนาเป็นรัฐขนาดใหญ่ขึ้น โดยในระยะแรกพญามังรายทรงรวมแคว้นโยนกก่อน แล้วพยายามขยายอำนาจสู่หัวเมืองขนาดเล็กอื่น ๆ เป็นบริเวณกว้าง จากนั้นเริ่มขยายอำนาจสู่แคว้นหริภุญไชยที่มีความเจริญรุ่งเรืองในดินแดนแถบนี้

เมื่อพญามังรายยึดเมืองหริภุญไชยแล้วได้ผนวกเข้ากับแคว้นโยนก หลังจากนั้นได้เข้ายึดเมืองเขลางค์นคร พญามังรายจึงครอบครองดินแดนส่วนใหญ่ของภาคเหนือ และสถาปนาขึ้นเป็นอาณาจักรล้านนา นอกจากนี้ ทรงได้ทำสัญญาระหว่างพญางำเมืองและพ่อขุนรามคำแหง ใน พ.ศ. 1830 เพื่อสร้างความมั่นใจว่าในการขยายอำนาจสู่แม่น้ำปิงนั้นจะไม่ถูกพญางำเมืองและพ่อขุนรามคำแหงขัดขวาง

หลังจากยึดเมืองหริภุญไชยได้แล้ว ทรงครองแคว้นอยู่ระยะหนึ่ง แล้วย้ายมาสร้างอีกเมืองหนึ่ง คือ เวียงกุมกาม โดยมีพระประสงค์ให้เป็นเมืองหลวงของอาณาจักร แต่ที่ตั้งของเวียงกุมกามเป็นที่ลุ่มต่ำ น้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก พญามังรายจึงพยายามหาชัยภูมิเพื่อสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่ จนพบพื้นที่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง ตอนเหนือของเวียงกุมกาม บริเวณเชิงดอยสุเทพ เป็นบริเวณที่มีชัยภูมิดีเหมาะแก่การสร้างราชธานีถาวรและเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนา พระองค์ได้เชิญพระสหาย คือ พญางำเมืองและพ่อขุนรามคำแหง มาร่วมพิจารณาการสร้างเมือง พญามังรายทรงสร้างเมืองแห่งใหม่นี้โดยให้ชื่อว่า “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” ใน พ.ศ. 1839 ซึ่งถือเป็นปีแห่งการสถาปนาเมืองเชียงใหม่อย่างเป็นทางการ โดยวันสร้างเมืองเชียงใหม่ได้กำหนดฤกษ์ยามดวงเมืองไว้ คำนวณตามปีสุริยคติ ตรงกับวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 1839

16 เมษายน พ.ศ. 2550 โศกนาฏกรรมกราดยิง ‘เวอร์จิเนียเทค’ คร่าผู้บริสุทธิ์ 32 ชีวิต กลายเป็นจุดเปลี่ยนระบบสุขภาพจิตและกฎหมายอาวุธปืนสหรัฐฯ

เหตุกราดยิงมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียเทค ที่คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ 32 ราย ถือเป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญและร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา โดยเกิดขึ้นในเช้าวันจันทร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2550 ผู้ก่อเหตุคือ โช ซึงฮุย (Cho Seung-Hui) นักศึกษาชาวเกาหลีใต้ อายุ 23 ปี ซึ่งศึกษาอยู่ในคณะศิลปศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้

เหตุการณ์เริ่มขึ้นเวลา 07.15 น. เมื่อโชยิงนักศึกษาและพนักงาน 2 รายเสียชีวิตภายในหอพัก จากนั้นอีกประมาณ 2 ชั่วโมงต่อมา เขาย้ายไปยังอาคารเรียนนอร์ริส ฮอลล์ และเปิดฉากยิงแบบไม่เลือกเป้าหมาย โดยใช้อาวุธปืนพก 2 กระบอก ก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างหนักภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่นาที ก่อนที่จะปลิดชีพตนเอง

แม้โชจะไม่ได้ทิ้งจดหมายลาตายอย่างเป็นทางการ แต่มีการพบเทปวิดีโอและเอกสารจำนวนมากที่เขาส่งไปยังสถานีโทรทัศน์ NBC News ในระหว่างพักการก่อเหตุ ซึ่งแสดงถึงอาการจิตใจไม่มั่นคง ความเครียด ความโกรธแค้น และความรู้สึกว่าถูกสังคมทอดทิ้ง

โช ซึงฮุย ได้รับการวินิจฉัยว่ามีปัญหาทางสุขภาพจิตมาก่อนหน้านี้ และเคยถูกสั่งให้เข้ารับการบำบัด อย่างไรก็ตาม ระบบการควบคุมอาวุธปืนของสหรัฐฯ ในขณะนั้นยังมีช่องโหว่ ทำให้เขาสามารถซื้อปืนได้ตามกฎหมาย

เหตุการณ์นี้สร้างความตื่นตระหนกไปทั่วประเทศสหรัฐฯ และทั่วโลก จุดประกายให้เกิดการถกเถียงอย่างจริงจังเกี่ยวกับ การควบคุมอาวุธปืน, ระบบสุขภาพจิต, และความปลอดภัยในสถานศึกษา 

เริ่มที่ มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียเทคมีการปรับปรุงมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด นอกจากนี้หน่วยงานด้านกฎหมายของรัฐเวอร์จิเนีย ได้ดำเนินการปิดช่องว่างของกฎหมายเกี่ยวกับการขายอาวุธให้ผู้ที่มีประวัติด้านสุขภาพจิต อีกทั้งเหตุการณ์นี้ยังถูกใช้เป็นกรณีศึกษาในการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ และในการกำหนดแผนฉุกเฉินของสถานศึกษาทั่วประเทศ

แกะรอยอคติจากปลายปากกา ผู้ต้องหาตามมาตรา 112 เรื่องเล่าจากบทความปี 2009 ของ ‘Paul Chambers’

(10 เม.ย. 68) ในโลกของนักวิชาการต่างชาติที่เขียนถึงประเทศไทย มีไม่กี่คนที่ข้าพเจ้าจำชื่อได้แม่นเท่า Paul Chambers ไม่ใช่เพราะลุ่มหลงในภูมิปัญญาของเขา แต่เพราะเขาเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ใช้คำว่า “เครือข่ายวัง” (network monarchy) อย่างสม่ำเสมอราวกับเป็นสูตรสำเร็จของทุกปัญหาไทย

ไม่ว่าจะรัฐประหารปีไหน หรือใครขึ้นเป็นนายกฯ ใหม่ สุดท้ายเขาก็จะพาเรื่องวกกลับไปสรุปว่าสถาบันฯ คือผู้เล่นเบื้องหลัง เป็น “ตัวแปรหลัก” ของทุกการเมืองไทย และกองทัพก็เป็นเพียง “หุ่นเชิดในระบบอุปถัมภ์”

ข้าพเจ้าเคยคิดว่าอาจเป็นเพียงความบังเอิญของคนมองไทยจากภายนอก แต่เมื่อได้อ่านบทความของเขาที่ลงใน New Mandala เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2009 ชื่อว่า
"Thailand’s military: perpetually political, forever factionalized, again ascendant"
ความสงสัยของข้าพเจ้ากลับกลายเป็นความมั่นใจ—ว่างานเขียนของเขาไม่ได้ต้องการ “เข้าใจไทย” หากแต่เป็นการ “ตั้งธง” เพื่อชี้นำผู้อ่านให้มองสถาบันกับกองทัพไทยในแง่ลบโดยมีเป้าหมายบางอย่างแอบแฝงอยู่

เบื้องหลังบทความวิชาการ: เมื่อพอล แชมเบอร์สสวมเสื้อคลุมนักวิชาการเพื่อจ้องรื้อโครงสร้างของสถาบัน

ในโลกวิชาการที่ควรตั้งอยู่บนฐานของข้อเท็จจริงและความเป็นกลาง งานเขียนของ พอล แชมเบอร์ส ใน New Mandala กลับเป็นตัวอย่างชัดเจนของการ บิดเบือนบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย และแทรกความคิดเชิงครอบงำของตะวันตกเข้ามาในบริบทที่เขาไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้

จุดตั้งต้นของการเหมารวม: สถาบันคือปัญหา

แชมเบอร์สพยายามผูกโยง สถาบันพระมหากษัตริย์ เข้ากับเครือข่ายอำนาจทางทหารโดยมี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นศูนย์กลาง ซึ่งในทางรูปแบบเหมือนจะเป็นการวิเคราะห์โครงสร้างอำนาจ แต่ในทางเนื้อหา กลับสอดแทรกอคติในลักษณะ “ลดทอนบทบาทของสถาบันให้เป็นเพียงเครื่องมือทางการเมือง”

เขาเขียนด้วยภาษาชี้นำเต็มเปี่ยม เช่น “palace-backed generals” หรือ “monarchical network,” วางน้ำหนักทุกบรรทัดเพื่อพาไปสู่บทสรุปเดียวว่า—สถาบันคือแกนกลางของโครงสร้างที่ขัดขวางประชาธิปไตย

แต่ข้าพเจ้ากลับพบสิ่งที่น่าสงสัยมากกว่านั้น:

เขาไม่พูดถึงบริบทความไม่มั่นคงของประเทศในช่วงหลังสงครามเย็น

เขาไม่แตะเลยถึงปัญหาคอร์รัปชันของนักการเมืองที่ทำให้ทหารต้องเข้ามา

เขามองข้ามการเคลื่อนไหวขององค์กรต่างชาติที่มีบทบาทในหลายวิกฤตการเมืองไทย

ทุกอย่างถูกโยนเข้ากองเดียวกัน—ว่าสถาบันฯ หนุนหลัง และกองทัพคือเครื่องมือ

นักวิชาการหรือนักปลุกปั่นแฝงตัว?

สิ่งที่น่าสังเกตคือ แชมเบอร์สไม่ได้ตั้งคำถามกับความชอบธรรมของการเลือกตั้ง หรือกลุ่มทุนผูกขาดที่แทรกซึมการเมืองไทย หากแต่เลือกโจมตีเฉพาะ “ความใกล้ชิดระหว่างกองทัพกับสถาบันพระมหากษัตริย์” ราวกับว่า สถาบันเป็นต้นเหตุของความล้าหลังและไม่เป็นประชาธิปไตย

นี่ไม่ใช่เพียงความเข้าใจผิด แต่คือเจตนาแทรกแซงในระดับโครงสร้าง

การพยายามแปะป้ายว่าสถาบันเป็น “ศูนย์กลางอำนาจที่ครอบงำการเมือง” คือความพยายาม เปลี่ยนสถานะของสถาบันจาก “สัญลักษณ์แห่งชาติ” ให้กลายเป็น “ฝ่ายหนึ่งในความขัดแย้ง” ซึ่งถือเป็นการจงใจสร้างภาพเท็จและกระทบต่อความมั่นคงของชาติ

บทความเดียวที่กลายเป็นพิมพ์เขียวของทุกงานหลังจากนั้น

สิ่งที่ข้าพเจ้าพบคือ: บทความในปี 2009 นี้ กลายเป็นพิมพ์เขียวของทุกสิ่งที่ Paul Chambers จะเขียนในทศวรรษถัดมา ไม่ว่าจะกรณีรัฐประหารปี 2557 การเมืองหลังการเลือกตั้ง 2562 หรือการเปลี่ยนแปลงผู้นำกองทัพ เขายังคงลากสถาบันเข้าไปเกี่ยวข้องเสมอ ไม่ว่าจะมีหลักฐานชัดเจนหรือไม่ก็ตาม

การเชื่อมโยงแบบข้ามขั้นตอน (shortcut reasoning) ที่เขาใช้ เป็นกลยุทธ์การสร้างวาทกรรมมากกว่างานวิเคราะห์—พูดง่าย ๆ คือเขา “วางหมากไว้ก่อน แล้วเขียนให้เข้าหา”

อคติที่แฝงอยู่ในโครงสร้างของภาษา

เมื่อข้าพเจ้าพิจารณาบทความปี 2009 ให้ลึกลงไป สิ่งที่สะดุดใจที่สุดไม่ใช่เพียงเนื้อหา แต่คือภาษาที่เขาเลือกใช้:

เขาใช้คำที่พาให้ผู้อ่าน “คล้อยตาม” โดยไม่ได้ตั้งคำถาม เช่น “again ascendant,” “factionalized by royal patrons”

เขาไม่เคยเปิดพื้นที่ให้อธิบายสถาบันในมิติที่เป็น ศูนย์รวมใจ หรือ หลักประกันของเสถียรภาพรัฐ

เขาไม่ให้เครดิตกับบทบาทการประสานและคลี่คลายความขัดแย้งที่สถาบันเคยทำมา

ทั้งหมดนี้ทำให้ข้าพเจ้ามั่นใจว่า - Chambers ไม่ได้เขียนเพื่ออธิบาย แต่เขียนเพื่อ “เจาะความชอบธรรม” ของสถาบันในสายตานานาชาติ

การเมืองเชิงวาทกรรม: กับดักของภาษาและความเป็นอาณานิคม

แชมเบอร์สใช้กลวิธีแบบ “วาทกรรมวิพากษ์” ซึ่งเป็นเครื่องมือที่นิยมในวงการรัฐศาสตร์สายตะวันตก เช่นการใช้คำว่า “networks of palace-backed military elites” หรือ “network monarchy” ที่ดูเหมือนจะมีน้ำหนักทางวิชาการ แต่ เป็นการสร้างภาพว่าไทยถูกครอบงำโดยกลุ่มอภิสิทธิ์ชนที่ไม่ผ่านประชาธิปไตย

คำถามคือ ทำไมนักวิชาการฝรั่งเหล่านี้ไม่ตั้งคำถามกับ ประธานาธิบดีที่ใช้อำนาจผ่านกองทัพในลาตินอเมริกา หรือราชวงศ์ตะวันออกกลางที่เป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ?

คำตอบชัดเจน—พวกเขาไม่ได้ต้องการความยุติธรรมทางวิชาการ แต่ต้องการ เปลี่ยนสมการอำนาจของโลกให้เป็นไปตามค่านิยมตะวันตกเท่านั้น

ความเข้าใจผิดที่จงใจสร้าง: สถาบันมิได้สั่งการ แต่ดำรงอยู่เพื่อรักษาสมดุล

แม้ในหลายช่วงเวลา สถาบันจะมีความสัมพันธ์กับกองทัพในฐานะองค์อุปถัมภ์ แต่การเหมารวมว่าสถาบัน “ควบคุม” หรือ “กำหนดการเมืองไทย” คือการบิดเบือนที่ร้ายแรง

ในรัฐธรรมนูญไทย สถาบันเป็นกลางทางการเมืองและมิได้มีอำนาจบริหารใด ๆ การที่กองทัพจะอ้างความจงรักภักดีนั้น เป็นเรื่องของยุทธศาสตร์การวางตนทางการเมืองของกองทัพเอง มิใช่เจตนาของสถาบัน
การวิเคราะห์โดยเหมารวมว่าสถาบัน “เอื้อ” หรือ “หนุน” รัฐประหารทุกครั้ง จึงไม่ใช่ข้อเท็จจริง แต่เป็น ความพยายามสร้างตราบาปให้สถาบันผ่านงานวิชาการ

เรื่องนี้สำคัญอย่างไร?

ข้าพเจ้ามองว่านี่ไม่ใช่เพียง “บทความหนึ่งชิ้นในอดีต” แต่คือ รากฐานของวาทกรรมที่ถูกใช้ซ้ำแล้วซ้ำอีก ผ่านเวทีสื่อตะวันตก สื่อภาษาอังกฤษ และแม้กระทั่งนักศึกษาบางกลุ่มในประเทศไทย

เมื่อกรอบคิดที่มีอคติถูกเผยแพร่โดยนักวิชาการต่างชาติที่ได้รับเครดิตในเวทีโลก งานของเขาจึงไม่ใช่แค่ “ข้อคิดเห็น” แต่กลายเป็น เครื่องมือแทรกแซงความเข้าใจของสังคมไทย

และทั้งหมดนี้… เริ่มจากบทความปี 2009 ที่คนส่วนใหญ่ไม่ทันได้ระวัง

ปัจฉิมบท: ความเป็นวิชาการมิใช่เกราะกำบังอคติ

งานเขียนของ Paul Chambers ทำให้ข้าพเจ้าระลึกอยู่เสมอว่า ความเป็นนักวิชาการมิใช่ข้อยกเว้นจากความลำเอียง

เพราะหากเราไม่ตั้งคำถามกับ “ความรู้ที่ถูกผลิตขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์อื่น” เราก็อาจยอมให้คนภายนอกเป็นผู้กำหนดอนาคตของเราโดยที่เราไม่รู้ตัว

> และเพราะเหตุนี้เอง ข้าพเจ้าจึงต้องเริ่มต้นที่บทความเล็ก ๆ ในปี 2009เพื่อเปิดโปงอคติที่แฝงอยู่หลังถ้อยคำที่ดูเหมือนเป็นกลาง แต่แท้จริงแล้ว—ไม่เป็นกลางเลยแม้แต่น้อย.

แล้วข้าพเจ้าเชื่อว่างานเขียนหลังจากนี้ จะมีหลายๆงานเขียนที่เข้าล่วงไปถึง บ้านเมืองไม่น้อยเลยทีเดียว

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติประชุมตำรวจทั่วประเทศ ขับเคลื่อนมาตรการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม และการอำนวยความสะดวกการจราจร ช่วงเทศกาลสงกรานต์

(10 เม.ย.68) เวลา 15.00 น. พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนมาตรการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม และการอำนวยความสะดวกด้านการจราจร ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2568 โดยมี พล.ต.อ.ประจวบ วงศ์สุข รอง ผบ.ตร. , พล.ต.ท.ณพวัฒน์ อารยางกูร ผู้ช่วย ผบ.ตร. , พล.ต.ท.กฤษฎา สุรเชษฐพงษ์  ผู้ช่วย ผบ.ตร. , พล.ต.ท.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย ผู้ช่วย ผบ.ตร. , พล.ต.ท.สมประสงค์ เย็นท้วม ผู้ช่วย ผบ.ตร. และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุม ศปก.ตร. ชั้น 20 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ยูเนสโกได้ประกาศขึ้นทะเบียน “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นภาพลักษณ์และประเพณีที่ดีงามของไทย ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนายได้ตระหนักถึงหน้าที่ การรักษาความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อย บรรยากาศที่ดีงาม ในงานประเพณีดังกล่าว จึงกำชับให้ทุกหน่วยดำเนินการ ดังนี้  

1. มาตรการด้านการข่าว และการป้องกันเหตุ : ให้ทุกหน่วยติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ และสถานการณ์ในภาพรวม เพื่อบริหารจัดการมาตรการรักษาความปลอดภัย การบริหารจัดการในพื้นที่ โดยกำชับให้มีการทำแผน ซักซ้อมการปฏิบัติ เน้นการแสดงกำลัง Show of Force ตรวจค้น บังคับใช้กฎหมาย , การละเล่นต่าง ๆ จะต้องไม่เกินเลย ไม่ฝ่าฝืนกฎหมายหรือกระทำใด ๆ ที่ก่อความวุ่นวาย จะต้องจุดชุดปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ ระงับเหตุได้อย่างทันท่วงที ไม่ปล่อยให้เหตุลุกลามบานปลาย จะต้องกำหนดแผนเผชิญเหตุ พื้นที่ทางการแพทย์ กองอำนวยการร่วมในการช่วยเหลือประชาชน เช่น ปฐมพยาบาลเบื้องต้น การช่วยเหลือคนหายพลัดหลง ทรัพย์สินสูญหาย  

2. มาตรการการรักษาความปลอดภัยพื้นที่จัดงาน : เทศกาลสงกรานต์ 2568 นี้ มีสถานที่การจัดงานขนาดใหญ่ทั่วประเทศ จำนวน 71 แห่ง อาทิ ในกรุงเทพมหานคร จำนวน 20 แห่ง เช่น ถนนข้าวสาร , สนามหลวง , ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ , พื้นที่ จ.ชลบุรี 6 แห่ง , จ.เชียงใหม่ 7 แห่ง , จ.ภูเก็ต 2 แห่ง , จ.นครราชสีมา 1 แห่ง กำชับให้ทุกพื้นที่ ทุกหน่วย เตรียมแผนการปฏิบัติและแผนเผชิญเหตุ มาตรการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ต้องชัดเจน มอบหมายผู้รับผิดชอบพื้นที่ให้ชัดเจน มีความเข้าใจบทบาท หน้าที่ สามารถตอบสนองและปฏิบัติได้ จัดเตรียมข้อมูลพื้นที่รับผิดชอบ ซักซ้อมการปฏิบัติ กรณีที่มีผู้เข้าร่วมงานจำนวนมาก จะต้องตัดสินใจในการระงับหรืองดการละเล่น กิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ระมัดระวังไม่ให้คนหนาแน่นจนเกิดอันตรายต่อประชาชน , ตรวจสอบกล้องวงจรปิด ระบบการติดต่อสื่อสาร และเส้นทางหลัก เส้นทางรอง เส้นทางฉุกเฉิน และอำนวยความสะดวกด้านการจราจรในบริเวณที่จัดงานให้มีการไหลเวียนของยานพาหนะ กำหนดจุดรับ ส่ง จุดจอดรถ โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยในบริเวณดังกล่าวด้วย เพื่อป้องกันอาชญากรรมเกี่ยวกับทรัพย์สิน

3. มาตรการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม : กำชับการเปิดสัญญาณไฟวับวาบ การตรวจสอบบุคคล ยานพาหนะต้องสงสัย การตั้งจุดตรวจ จุดสกัด และผู้บังคับบัญชาตรวจสอบสถานที่ในโครงการ “ตำรวจร่วมใจ ยกระดับความปลอดภัยบ้านประชาชน” (ฝากบ้าน 4.0) ร่วมกับเจ้าหน้าที่สายตรวจ จราจร และฝ่ายสืบสวนด้วย เน้นย้ำทุกพื้นที่ต้องไม่ให้มีการก่อเหตุซ้ำรอยจากการปฏิบัติที่ผ่านมา ผบก. ผกก. หัวหน้า สน./สภ. ต้องดูแลรับผิดชอบในพื้นที่อย่างชัดเจน เตรียมแผนและคัดกรองบุคคลให้ไม่มีอาวุธ หรือสิ่งเทียมอาวุธ อย่างเด็ดขาด 

ห้วงที่ผ่านมา วันที่ 21-30 มีนาคม 2568 ได้มีการระดมกวาดล้างอาชญากรรมทั่วประเทศ เน้นเป้าหมายการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด และบุคคลตามหมายจับ โดยจับกุมตรวจยึดอาวุธปืนได้ 5,398 กระบอก เครื่องกระสุน 39,069 และบุคคลตามหมายจับ 18,746 ราย และการระดมกวาดล้างอาชญากรรมของ ศูนย์ปราบปรามคนร้ายข้ามชาติและเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ห้วงวันที่ 7-9 เมษายน 2568 จับกุมชาวต่างชาติกระทำผิดกฎหมาย รวม 8,687 ราย

4. มาตรการด้านการจราจร : เส้นทางที่ประชาชนใช้จำนวนมาก จะต้องมีการปรับแผนการเร่งความเร็วรถอย่างต่อเนื่อง เตรียมการพื้นที่พักรถ ประสานสถานีให้บริการน้ำมันเชื้อเพลิง จุดชารท์รถไฟฟ้า และประสานหน่วยงานในการช่วยเหลือรถเสีย ซ่อมแซม ยกรถ ขอคืนพื้นที่การจราจร

ทั้งนี้ ได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วประเทศในการดูแลการจราจร ซึ่งคาดการณ์ว่าปีนี้จะมีปริมาณรถเข้า-ออกกรุงเทพมหานคร ในช่วงวันที่ 11 - 17 เมษายน 2568 จำนวนมากกว่า 7 ล้านคัน (มากกว่าช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 ที่มีจำนวนประมาณ 6.8 ล้านคัน) โดยคาดว่าประชาชนจะเริ่มเดินทางตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2568 ปริมาณรถที่จะออกมากที่สุดในวันที่ 12 เมษายน 2568 (คาดการณ์ที่ 6.7 แสนคัน) ปริมาณรถที่จะกลับเข้ากรุงเทพมหานครมากที่สุดในวันที่ 16 และ 17 เมษายน 2568 (คาดการณ์วันละ 5.8 แสนคัน) ตั้งเป้าลดจำนวนการเกิดอุบัติเหตุทางถนน จำนวนผู้เสียชีวิต และจำนวนผู้บาดเจ็บ (admit) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับสถิติช่วงเทศกาลสงกรานต์ เฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง โดยเฉพาะช่วงควบคุมเข้มข้น 7 วัน ระหว่างวันที่ 11 – 17 เมษายน 2568

นอกจากนี้ สั่งการให้สำรวจจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ที่มีปัจจัยจากสภาพถนนที่เป็นจุดเสี่ยง เพื่อประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาต่อไป และกำหนดช่องหรือแนวทางเดินรถขึ้นและล่อง และควบคุมหรือห้ามเลี้ยวรถในทางร่วมทางแยกในถนนบางสาย ห้ามรถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไปเดินรถในบางเส้นทาง พร้อมกำชับการบังคับใช้กฎหมาย 10 ข้อหาหลัก โดยกำหนด 5 เน้นหนัก ได้แก่ เมาแล้วขับ , ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด , ไม่สวมหมวกนิรภัย , ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย , ขับรถย้อนศร และบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดเมาแล้วขับซ้ำภายในสองปีนับแต่วันที่กระทำผิดครั้งแรก และสอบสวนขยายผลกรณีผู้ขับขี่เป็นเด็กหรือเยาวชนด้วย

5. มาตรการด้านการประชาสัมพันธ์ : กำชับโฆษกหน่วย โดยเฉพาะในพื้นที่การจัดงาน หน่วยที่ดูแลภาพรวมการจราจร ได้แก่ กองบังคับการตำรวจจราจร และกองบังคับการตำรวจทางหลวง จะต้องมีการประชาสัมพันธ์เส้นทาง การปฏิบัติตนในพื้นที่การจัดงาน การกระทำที่สุ่มเสี่ยง ฝ่าฝืนกฎหมาย การให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบ การบริหารจัดการพื้นที่ และการประชาสัมพันธ์การทำงานของเจ้าหน้าที่อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งให้โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติประสานหน่วยงานช่วยเหลือในการประชาสัมพันธ์ การประชาสัมพันธ์ในภาพรวมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเอื้ออาทรในการใช้ทาง และเตรียมความพร้อมก่อนการเดินทาง

ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนต้องการแจ้งเหตุ ขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือสอบถามเส้นทางจราจร ได้ที่สายด่วน 191 หรือ 1599 , สายด่วนกองบังคับการตำรวจจราจร 1197 และสายด่วนกองบังคับการตำรวจทางหลวง 1193 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

จีนเปิดเผยข้อมูลสำคัญจากยาน ‘ฉางเอ๋อ-6’ ด้านไกลของดวงจันทร์น้ำน้อยกว่าฝั่งใกล้ บ่งชี้ถึงความแห้งแล้ง

(10 เม.ย. 68) การค้นพบล่าสุดจากตัวอย่างหินดวงจันทร์ที่ยานสำรวจฉางเอ๋อ-6 (Chang'e-6) ของจีนนำกลับมายังโลก เผยให้เห็นว่าชั้นแมนเทิลหรือชั้นเนื้อดาวของดวงจันทร์ในบริเวณด้านไกล มีน้ำน้อยกว่าเมื่อเทียบกับด้านใกล้ ซึ่งบ่งชี้ว่าซีกด้านไกลของดวงจันทร์ที่มักหันออกจากโลกนั้นมีแนวโน้มแห้งแล้งกว่ามาก

การศึกษานี้เผยแพร่ในวารสาร เนเจอร์ (Nature) เมื่อวันที่ 9 เมษายน พบว่าตัวอย่างจากชั้นหินในบริเวณด้านไกลของดวงจันทร์มีน้ำเพียง 2 ไมโครกรัมต่อกรัม ซึ่งต่ำที่สุดเท่าที่เคยบันทึกได้ ขณะที่ตัวอย่างจากด้านใกล้พบว่ามีปริมาณน้ำสูงถึง 200 ไมโครกรัมต่อกรัม

หูเซิน ศาสตราจารย์จากสถาบันธรณีวิทยาและธรณีฟิสิกส์ กล่าวว่าความเข้มข้นของน้ำในตัวอย่างล่าสุดนี้อยู่ที่ 1-1.5 ส่วนต่อล้านส่วน ซึ่งแม้แต่ทะเลทรายที่แห้งแล้งที่สุดบนโลกยังมีน้ำอยู่ถึง 2,000 ส่วนต่อล้านส่วน

โดยในส่วนของการศึกษานี้ ยานฉางเอ๋อ-6 ซึ่งถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อเดือนพฤษภาคม 2024 ได้ลงจอดที่แอ่งขั้วใต้-เอตเคนของดวงจันทร์ และนำตัวอย่างหินมาจากด้านไกลของดวงจันทร์เป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นการเปิดเผยข้อมูลใหม่ที่ไม่เคยมีการศึกษามาก่อน

ผลการศึกษานี้มีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการก่อตัวและวิวัฒนาการของดวงจันทร์ รวมถึงความแตกต่างของด้านใกล้และด้านไกลของดวงจันทร์ ซึ่งถูกพิจารณาว่ามีองค์ประกอบทางธรณีวิทยาและเคมีที่แตกต่างกันมาอย่างยาวนาน

แผนการสำรวจในอนาคตของจีน จีนได้ตั้งเป้าหมายสำคัญในการสำรวจดวงจันทร์ในอนาคต ซึ่งรวมถึงการสร้างฐานถาวรบนดวงจันทร์และการส่งนักบินอวกาศไปยังดวงจันทร์ภายในปี 2030 โดยการศึกษาเหล่านี้ยังมีบทบาทสำคัญในการพิจารณาการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์บนดวงจันทร์ในระยะยาว

ผลการศึกษานี้ไม่เพียงแค่ให้ข้อมูลใหม่เกี่ยวกับการศึกษาดวงจันทร์ แต่ยังมีนัยสำคัญในการช่วยผลักดันภารกิจการสำรวจในอนาคต และการเตรียมความพร้อมสำหรับการสร้างฐานที่อยู่อาศัยมนุษย์บนดวงจันทร์ในระยะยาว

'สุทธิพงษ์' เผยข้อบกพร่องของโครงการก่อสร้าง สตง. จากลิฟต์ถึงทางเดิน ยันเตรียมเปลี่ยนแผนสร้างสำนักงานใหม่

(10 เม.ย. 68) ที่อาคารรัฐสภา คณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณประชุมเพื่อสอบถามการก่อสร้างอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว โดย สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ประธานการประชุม ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง รวมถึง สุทธิพงษ์ บุญนิธิ รองผู้ว่าสำนักงาน สตง.

สุทธิพงษ์ เปิดเผยว่าเกิดความเข้าใจผิดในโครงการก่อสร้างที่มีบริษัท อิตาเลียนไทยฯ เป็นผู้ชนะการประมูลแท้จริง แต่ผู้ดำเนินการคือ ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 และมีการปรับแก้แบบการก่อสร้างในส่วนลิฟต์และทางเดินที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย

โดยจุดแกนกลางของลิฟต์ (Core Lift) มีการปรับแก้แบบ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีทั้งทางเดินหลักและทางเดินรอง การออกแบบทางเดินหลักต้องมีความกว้าง 2 เมตรตามกฎหมาย

แต่การก่อสร้างและปูกำแพงหินอ่อนเสร็จแล้วจะทำให้พื้นที่ทางเดินหายไปข้างละ 5 เซนติเมตร เหลือความกว้างเพียง 1.90 เมตร ส่วนทางเดินรองเหลือความกว้างเพียง 1.40 เมตร ซึ่งถือว่าผิดกฎหมายการก่อสร้าง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร จึงได้ทำเรื่องให้มีการปรับเปลี่ยนให้เป็นไปตามแบบ โดยมีวุฒิวิศวกรเป็นผู้เซ็นรับรองแบบ

สุทธิพงษ์ ยืนยันว่า “ไม่ว่าจะเป็นคณะของตนเองหรือคณะตรวจรับผู้ควบคุมงาน เราจะทำมากกว่าที่เราตรวจ เพราะถ้าผิดเมื่อไหร่ ทัวร์มันจะลงมากกว่าปกติ มันผิดจรรยาบรรณ” เขายังเสริมด้วยว่า “ถ้าผมจะสร้างบ้านเพื่อให้บ้านล้มทับคนของผม 2,400 คน ผมต้องเอาอำมหิตเบอร์ไหน ถ้าการออกแบบครั้งนี้เกิดจากความเผอเรอ หรือประมาทท่านกำลังจะฆ่าคนนะครับ วิศวกรท่านหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า แผ่นดินไหวไม่เคยฆ่าคน คนออกแบบนี่แหละเป็นคนฆ่าคน”

ทั้งนี้ สตง. ได้จัดทีมตรวจสอบโครงสร้างอาคาร พร้อมขอความร่วมมือจาก องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ACT) เพื่อเพิ่มความโปร่งใสในการบริหารโครงการ นอกจากนี้ยังรายงานการแจ้งประกันภัยวงเงิน 2,136 ล้านบาท เพื่อเยียวยาผู้ประสบภัย พร้อมกับการปรับแผนสร้างสำนักงานใหม่จากตึกสูงเป็นตึกแนวราบที่ดินเช่าจากการไฟฟ้าแห่งประเทศไทย

‘ดร.กอบศักดิ์’ ชี้ ‘ทรัมป์’ ขึ้นภาษีนำเข้าจีนแตะ 145% ไม่ใช่ 125% ส่งผลจีนต้องหาตลาดใหม่ แนะไทยเตรียมรับมือสินค้าจีนทะลัก

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงการปรับเพิ่มอัตราภาษีระหว่างสหรัฐ อเมริกา กับ จีน ว่า...
145% ไม่ใช่ 125% !!! แต่ไม่ใช่ของใหม่

การเพิ่มอัตรา Tariffs ใส่จีนเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายมาก แค่เขียนสั้นๆ ใน Executive Orders เช่น ในวันที่ 8 เมษายน  "ที่เคยเขียนไว้ว่า 34% ให้เอาออก และใส่คำว่า 84% เข้าไปแทน"

ในวันที่ 9 เมษายน อีกครั้ง "ที่เคยเขียนไว้ว่า 84% ให้เอาออก และใส่คำว่า 125% เข้าไปแทน" แค่นี้ก็จบ

หมายความว่า จีนต้องจ่ายภาษีนำเข้า ก่อน Reciprocal Tariffs 10 +10 = 20% สำหรับกรณี Fentanyl 

แต่เมื่อรวม Reciprocal Tariffs ที่ท่านประธานาธิบดีประกาศล่าสุด
10 + 10 + 125 = 145% !!!!

จึงไม่ใช่แค่ 125% ตามที่หลายคน (รวมถึงผมด้วย) เข้าใจกัน ภาษีที่สูงลิ่วนี้ ทำให้บริษัทต่างๆ ของสหรัฐเริ่มยกเลิกคำสั่งซื้อสินค้าจากจีน เช่น Amazon แจ้ง Suppliers ไปว่า ขอยกเลิก เพราะสู้ภาษีนำเข้าไม่ไหว 
พร้อมหันไปหาประเทศอื่นๆ 

แลกกันคนละหมัด สหรัฐวุ่นวายเพราะตลาดทุนที่ปั่นป่วน โดยเฉพาะตลาด Bonds จีนกำลังจะวุ่นวายเพราะ โรงงานต่างๆ ไม่มีคำสั่งซื้อจากสหรัฐ

และถ้าเทียบกัน 
สหรัฐส่งออกมาที่จีนเพียง 143.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ.
ส่วนจีนส่งออกมาที่สหรัฐ 438.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ.
หรือประมาณ 1 ต่อ 3 

หมายความว่าต่อไปจีนต้องหาตลาดใหม่ให้สินค้าตนเอง ประมาณเดือนละ 37 พันล้านดอลลาร์ สรอ. มากกว่าที่ไทยส่งออกไปทั้งโลกในแต่ละเดือนที่ 27 พันล้านดอลลาร์ สรอ.

ส่วนหนึ่งของสินค้าที่ถูกยกเลิกคงส่งมาบุกที่เมืองไทย 
เราคงต้องเตรียมการรับมือดีดีครับ

JSP ผนึก CDIP ผลักดันอุตสาหกรรมระดับจังหวัดสู่เทรนด์ยั่งยืน หลังพบธุรกิจสีเขียวโตแรง!! เป็นรองแค่อุตสาหกรรมเทคฯเท่านั้น

JSP ผนึก CDIP จับมือภาคอุตสาหกรรมระดับจังหวัดเปิดโครงการ OPOAI – C Next Steps ถ่ายทอดความรู้และนวัตกรรมแก่ผู้ประกอบการเพื่อยกระดับสู่ธุรกิจสีเขียว ที่เป็นเทรนด์การเติบโตสูงของโลก เป็นรองเพียงธุรกิจเทคโนโลยี

นายสิทธิชัย แดงประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (JSP) ผู้ให้บริการด้านสุขภาพอย่างครบวงจร ผู้นำในการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ Own Brand และการรับจ้างผลิต (OEM) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับคนและสัตว์ ยาแผนปัจจุบัน ยาสมุนไพร และเครื่องสำอาง เปิดเผยว่าบริษัท ซีดีไอพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ CDIP ซึ่งเป็นผู้วิจัยและพัฒนาในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับ JSP ล่าสุด CDIP ภายใต้การนำของ นายจิตรเทพ เนื่องจำนงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ได้ร่วมมือภาคอุตสาหกรรมระดับจังหวัดและระดับชุมชน ในการร่วมกันวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมท้องถิ่นให้เกิดการเพิ่มมูลค่าด้วยการสร้างธุรกิจนวัตกรรมสีเขียว ด้วยการวิจัยและพัฒนาวัตถุดิบเหลือใช้จากโรงงานระดับท้องถิ่นเป็นสินค้าเพื่อลดปริมาณการทิ้ง หรือ“ขยะเป็นศูนย์ (zero  waste)” ในกระบวนการผลิตของแต่ละโรงงาน

ล่าสุด JSP และ CDIP ได้นำร่องในการจับมือกับอุตสาหกรรม จ. อุตรดิตถ์ ในโครงการ กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมคู่ชุมชน ยกระดับผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรอุตสาหกรรมสู่ธุรกิจตลาดสมัยใหม่ (OPOAI – C Next Steps) โดยโครงการนี้จะเริ่มจากการจัดอบรมเพื่อปูพื้นความรู้ สู่การพัฒนากลุ่มเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชนการเกษตร กลุ่มสหกรณ์การเกษตร ผู้ประกอบการเกษตรแปรรูป ที่มีการรวมกลุ่มทำกิจกรรมของสมาชิก จนสามารถจัดทำร่างต้นแบบผลิตภัณฑ์ (Draft Prototype) อย่างน้อยกลุ่มละ 1 ผลิตภัณฑ์ พร้อมแผนธุรกิจ ในการสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร หลังการฝึกอบรมคณะกรรมการจะพิจารณาคัดเลือกกลุ่มที่ผ่านการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตร เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกร ให้มีความมั่นคงด้านอาชีพและมั่นคง ด้านรายได้อย่างยั่งยืนต่อไป

โดย JSP ได้โชว์เคสโครงการตัวอย่าง zero waste ด้วยการนำกากเจลาตินเหลือทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม ที่มีมากถึง 50 ตันต่อปี ที่เกิดจากความร่วมมือกับบริษัท CDIP ซึ่งเป็นทีมวิจัยและพัฒนา ที่ตั้งอยู่ในอุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย  จึงได้ทำการวิจัยและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ EM สารเพิ่มประสิทธิภาพพืช ภายใต้แบรนด์ 'ID.KASET' ซึ่งสามารถเปลี่ยน waste ให้เป็นผลิตภัณฑ์น้ำยา EM ที่มีมูลค่าสูงและเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกร ช่วยปรับสมดุลดินและน้ำ ช่วยให้พืชเจริญเติบโต ช่วยเกษตรกรลดการใช้สารเคมี รวมถึงสามารถกำจัดกากเจลาตินเหลือทิ้ง ให้เป็นประโยชน์ได้ถึง 450 กิโลกรัมต่อเดือน หรือคิดเป็น 12% ของเจลาตินเหลือทิ้งทั้งหมด

โดยก่อนหน้านี้ JSP ได้ร่วมมือกับ อบต.ศรีบัวบาน จ. ลำพูน เพื่อทำการทดสอบการฝังกลบให้เป็นอาหารของพืช ปรากฏว่าสามารถทำได้และปลอดภัย ช่วยลดต้นทุนค่ากำจัด 50,000 บาท แต่ก็ยังไม่สามารถเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ได้ ทำให้เกิดความคิดริเริ่มในการเพิ่มมูลค่าของเหลือทิ้งจากโรงงาน การร่วมมือกับ CDIP ครั้งนี้จึงเป็นความก้าวหน้าอีกขั้น ซึ่งทาง JSP และ CDIP จะไม่เพียงแต่นำผลิตภัณฑ์ ID.KASET ออกจำหน่าย ผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นปัจจัยสำคัญในการทำลายสิ่งแวดล้อมไปสู่พันธมิตรที่ดีกับภาคเกษตรกร

ทั้งนี้ การนำกากของเหลือใช้มาวิจัยและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการเกษตรเป็นตัวอย่างที่ดีในการยกมาให้กลุ่มอุตสาหกรรมชุมชนเรียนรู้เนื่องจากได้ประโยชน์ 2 ด้าน คือ ได้ลดปริมาณขยะเป็นศูนย์ และ ได้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเกษตรกรต่อยอดสินค้าที่ตอบสนองความต้องการผู้บริโภครุ่นใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพมากขึ้น อีกทั้งการที่เกษตรกรสามารถยกระดับสินค้าเป็นสินค้าออร์แกนิกจะช่วยเพิ่มมูลค่าและขยายกลุ่มเป้าหมายไปสู่ลูกค้าระดับบน 

โดยข้อมูลจากตลาดหุ้นลอนดอนระบุว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านเศรษฐกิจสีเขียวเป็นอุตสาหกรรมที่มีผลงานดีเป็นอันดับ 2 รองจากธุรกิจด้านเทคโนโลยี มีมูลค่าการตลาดเกือบ 10 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการเติบโตสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปสู่การใส่ใจด้านความยั่งยืนที่จะให้ความสำคัญกับการอ่านฉลากผลิตภัณฑ์ว่าสินค้าแต่ละประเภทที่จะซื้อนั้นผลิตมาจากกระบวนการของธุรกิจสีเขียวหรือไม่ หากอุตสาหกรรมระดับชุมชนของไทยสามารถยกระดับไปสู่ธุรกิจสีเขียวได้ก็จะส่งผลให้เพิ่มมูลค่าไปสู่กลุ่มลูกค้าระดับบนที่พร้อมจะยอมจ่ายให้กับส่วนต่างราคาที่สูงขึ้นแต่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

‘รัฐบาลสหรัฐฯ’ ไล่นักเรียนต่างชาติพ้นแคมปัส เพิกถอนวีซ่า 300 คน โดยไม่มีคำเตือน ‘UCLA’ กระเทือนหนัก

(11 เม.ย. 68) ฮูลิโอ แฟรงค์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตลอส แอนเจลิส (UCLA) แถลงผ่านเว็บไซต์ทางการของมหาวิทยาลัยถึงกรณีที่รัฐบาลทรัมป์ได้มีคำสั่งเพิกถอนวีซ่านักเรียนต่างชาติ (student visas) มากกว่า 300 รายทั่วประเทศ โดยมีนักศึกษาของยูซีแอลเอที่ได้รับผลกระทบไม่ต่ำกว่า 10 คน และเหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นโดยไม่มีการแจ้งเตือนหรือชี้แจงล่วงหน้าจากรัฐบาลกลาง

อธิการบดีแฟรงค์ ระบุว่า นักศึกษาที่ได้รับผลกระทบอย่างน้อย 6 คน ที่ยังคงศึกษาอยู่ในปัจจุบัน และอีกประมาณ 6 คนที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาและอยู่ในช่วงฝึกงานภายใต้โปรแกรม OPT (Optional Practical Training) ซึ่งอนุญาตให้นักศึกษาต่างชาติทำงานต่อได้อีก 1-2 ปี หลังจบการศึกษา

มหาวิทยาลัยยูซีแอลเอ ซึ่งมีนักศึกษาจากเอเชียมากกว่า 26% ระบุว่าการยกเลิกวีซ่าเกิดขึ้นผ่านระบบ SEVIS (Student and Exchange Visitor Information System) ภายใต้การดูแลของกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ และจากโปรแกรม SEVP (Student and Exchange Visitor Program) ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลของทางสถาบัน พบว่ามีการยุติสถานภาพ (terminated) ของนักศึกษาปัจจุบันและอดีตนักศึกษาอย่างน้อย 12 คน

แม้จะไม่มีการระบุเหตุผลที่ชัดเจน แต่โดยปกติแล้วการยกเลิกวีซ่านักเรียนจะเกี่ยวข้องกับการละเมิดข้อกำหนดตามโปรแกรมวีซ่า เช่น การเรียนไม่ครบชั่วโมง การหยุดเรียนโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือการทำงานโดยผิดกฎหมาย ทั้งนี้ตัวเลขของผู้ได้รับผลกระทบยังคงไม่แน่นอนและอาจมีการเปลี่ยนแปลง

ในแถลงการณ์ระบุเพิ่มเติมว่า “จนถึงขณะนี้ ยูซีแอลเอยังไม่มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางได้ปฏิบัติการใด ๆ ภายในแคมปัส และยังไม่ได้รับคำชี้แจงใด ๆ จากรัฐบาลเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้”

อย่างไรก็ตาม ในเว็บไซต์ของหน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากรของสหรัฐฯ (ICE) มีข้อความระบุชัดว่า “หากคุณมีข้อมูลเกี่ยวกับการปลอมแปลงวีซ่านักเรียน หรือนักเรียนต่างชาติที่ลักลอบทำงานผิดกฎหมาย กรุณารายงานได้ที่นี่” ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการในครั้งนี้

ด้าน มาร์โค รูบิโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ กล่าวเมื่อเดือนที่แล้วว่า กระทรวงของเขาได้เพิกถอนวีซ่ามากกว่า 300 ฉบับ โดยส่วนใหญ่เป็นวีซ่านักเรียน ภายใต้การกำกับดูแลของเขา

หนึ่งในคดีที่ได้รับความสนใจอย่างมากในช่วงแรก คือกรณีของนักศึกษาที่ถูกกล่าวหาว่าให้การสนับสนุนองค์กรก่อการร้าย รวมถึงกรณีการจับกุม มะห์มูด คาลิล ภายหลังเข้าร่วมการประท้วงสนับสนุนชาวปาเลสไตน์ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย

สถานการณ์ในปัจจุบันสะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของนักเรียนต่างชาติในการเผชิญการเนรเทศ โดยมีการเพิกถอนวีซ่าอันเกิดจากความผิดเล็กน้อยในอดีต หรือในบางกรณีอาจไม่มีสาเหตุที่ชัดเจนเลย ตามคำกล่าวของทนายความด้านการย้ายถิ่นฐาน

สำหรับ การบังคับใช้กฎหมายกับนักศึกษาต่างชาติในสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของอเมริกา มีขึ้นท่ามกลางการปราบปรามผู้อพยพครั้งใหญ่ของรัฐบาลทรัมป์ ซึ่งรวมถึงการใช้อำนาจในเชิงรุกในการตะเพิดผู้อพยพบางราย และดำเนินการเนรเทศโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการไต่สวน

เจฟฟ์ โจเซฟ ประธานสมาคมทนายความด้านการย้ายถิ่นฐานอเมริกัน กล่าวว่า “เครื่องมือทั้งหมดที่มีอยู่ในกฎหมายเกี่ยวกับการย้ายถิ่นฐานล้วนเคยถูกใช้มาก่อนแล้ว แต่ครั้งนี้มันถูกใช้ในลักษณะที่สร้างความตื่นตระหนกและความโกลาหลในหมู่ประชาชน และสุดท้ายคนเหล่านั้นจะต้องออกจากประเทศไปโดยปริยาย”

อธิการบดีฮูลิโอ แฟรงค์ กล่าวปิดท้ายด้วยความห่วงใยว่า “เราต้องการให้นักศึกษานานาชาติของเรารู้ว่า คุณไม่ได้เผชิญสิ่งเหล่านี้เพียงลำพัง คุณเป็นส่วนหนึ่งของยูซีแอลเอ และเป็นส่วนสำคัญของชุมชนของเรา”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top