Thursday, 29 May 2025
TheStatesTimes

'สุชาติ-รวมไทยสร้างชาติ' หนุนภาคธุรกิจไทย ใช้ประโยชน์จาก FTA มั่นใจ!! ช่วยลดอุปสรรคทางการค้า-ขยายตลาดส่งออกคล่อง

(2 ส.ค.67) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้รับมอบหมายจากนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้ลงพื้นที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี พร้อมกับกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เพื่อพบผู้ประกอบการบริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบรนด์มาม่า และบริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคจำเป็นทั้งของใช้ส่วนตัวและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เช่น สบู่ ครีมอาบน้ำ แชมพู ยาสีฟัน ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน เป็นต้น โดยสินค้าของทั้งสองบริษัทมีทั้งที่วางจำหน่ายในประเทศทั้งในตลาดออนไลน์ และออฟไลน์ และส่งออกไปประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะในส่วนของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่าได้รับความนิยมมากในเอเชีย และมีการส่งออกไปยังสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกาออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ และแอฟริกาด้วย รวม 68 ประเทศ

นายสุชาติ ชมกลิ่น กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งสองบริษัทมีการจ้างแรงงานรวมเกือบ 10,000 คน และได้รับทราบว่ามีการนำนวัตกรรมมาพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์และปรับปรุงคุณภาพ ตลอดจนเพิ่มความหลากหลายของสินค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ และมีการนำโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาใช้ด้วย สำหรับบทบาทของกระทรวงพาณิชย์นั้นจะเป็นลมใต้ปีกให้แก่ผู้ประกอบการที่ช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการสร้างโอกาสในการขยายตลาดจากความตกลงการค้าเสรีหรือ FTA ที่มีทั้งหมด 15 ฉบับ กับประเทศคู่ค้า 19 ประเทศ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจะดำเนินการในเรื่องนี้ในเชิงรุกต่อไป

ประเทศคู่ค้า FTA ที่ยกเว้นการจัดเก็บภาษีนำเข้าศุลกากรบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ อาเซียน, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, จีน และชิลี นอกจากนี้ FTA แต่ละฉบับยังช่วยลดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีด้วย เช่น กฎระเบียบทางการค้าต่าง ๆ ที่อาจเป็นภาระสำหรับผู้ประกอบการไทย การทำ FTA จึงถือเป็นแต้มต่อทางการค้าให้แก่ผู้ประกอบการ ให้สามารถขยายตลาดส่งออกนำรายได้เข้าประเทศ เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม

ในส่วนของการดูแลพี่น้องประชาชนผู้บริโภค รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้เน้นย้ำให้ผู้ประกอบการร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ในการดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น ตลอดจนร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่องต่อไป ซึ่งบริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ฯ และบริษัท ไลอ้อนฯ ได้ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่มาโดยตลอด 

ทั้งนี้ ในวันที่ 1-3 สิงหาคม 2567 กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายในจะจัดงานธงฟ้าราคาประหยัด ณ บริเวณลานกิจกรรมหน้าศาลากลางจังหวัดชลบุรี อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี โดยจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคราคาประหยัดเพื่อลดค่าครองชีพให้แก่ประชาชน ซึ่งนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะเดินทางไปเป็นประธานเปิดงานด้วย

มูลนิธิคลังสมอง วปอ. เปิดศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์กองทัพไทย ให้ นพม.17 แถลงผลงาน วิชาการ 'ความท้าทายของประเทศไทยในการใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อเข้าสู่สังคม Net Zero ในปี 2050'

เมื่อวันที่ (31 ก.ค.67) พลเอก บุญสร้าง เนียม ประดิษฐ์ ประธานคลังสมองอาวุโส วปอ. เพื่อสังคม ปวิธายุวัฒน์ เป็นประธานการเสวนาทางวิชาการ คลังสมอง วปอ. เพื่อ สังคม ครั้งที่ 1/2567 เรื่อง "สรรสร้างสังคม Net Zero ปี 2050 ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ณ ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์กองทัพไทย เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา แหลมแท่น จ.ชลบุรี 

ในโอกาสนี้ได้รับเกียรติจาก พลเอก นรินทร์ แทบประสิทธิ์ ประธาน มูลนิธิคลังสมอง วปอ. เพื่อสังคม , คณะผู้บริหารมูลนิธิฯ ,พลโทมนัส แถบทอง ผู้อำนวยการ หลักสูตร ผู้นำพอเพียงเพื่อความมั่นคง (นพม.) พร้อมผู้เข้ารับการอบรม หลักสูตรผู้นำพอเพียงเพื่อความมั่นคง รุ่นที่ 17 ร่วมรับฟังการเสวนาครั้งนี้
 
อีกทั้งในวันที่ 1 สิงหาคม 2567 ได้มีการแถลงผลงานทางวิชาการของผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรผู้นำพอเพียงเพื่อความมั่นคง รุ่นที่ 17 (นพม.17) ซึ่งประกอบไปด้วยกรอบวิชาการ 6 กลุ่ม คลังสมอง วปอ. เพื่อสังคม จากประเด็น "ความท้าทายของประเทศไทยในการใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อเข้าสู่สังคม Net Zero ในปี 2050" โดยครอบคลุมทุกด้านของยุทธศาสตร์ความมั่นคง คือ ด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ ด้านวิทยาศาสตร์ ด้านสังคมจิตวิทยา ด้านการป้องกันประเทศ และด้านยุทธศาสตร์ ณ ห้องประชุมใหญ่ อาคาร Convention Hall ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์กองทัพไทยฯ แหลมแท่น จ.ชลบุรี

‘เงือกสาวแคนาดา’ วัย 17 ปี คว้าเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ 2024 ลั่น!! ขอมอบเหรียญนี้ให้คุณแม่ ที่ต้องพ่ายแพ้ไปเมื่อ 40 ปีก่อน

(2 ส.ค.67) จากเพจเฟซบุ๊ก ‘MGR SPORT’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า…

‘ซัมเมอร์ แมคอินทอช’ นักว่ายน้ำสาวดาวรุ่งวัย 17 ปี ชาวแคนาดา คว้าเหรียญทองประเภทผีเสื้อ 200 เมตร หญิง พร้อมทำลายสถิติโอลิมปิกเกมส์ ด้วยเวลา 2:03.03 นาที

ทั้งนี้ เมื่อได้รับเหรียญทองเธอได้มองไปครอบครัวที่อยู่บนอัฒจันทร์ ก่อนที่เธอจะให้สัมภาษณ์กับสื่อในภายหลังว่า "เหรียญทองนี้หนูขอมอบให้คุณแม่"

สำหรับ ซัมเมอร์ แมคอินทอช เป็นลูกสาวของ ‘จิลล์ ฮอร์สตีด’ อดีตนักกีฬาว่ายน้ำ ที่เคยลงทำการแข่งขันในโอลิมปิกเกมส์ 1984 ในท่าผีเสื้อ 200 เมตร หญิง ซึ่งคุณแม่ของเธอในเวลานั้นจบอันดับ 9

แม้ 40 ปีที่แล้ว คุณแม่ จิลล์ ฮอร์สตีด จะไม่สามารถคว้าเหรียญรางวัลกลับบ้านไปได้ แต่ ซัมเมอร์ แมคอินทอช ผู้เป็นลูกสาว เอาเหรียญนี้มาให้คุณแม่ได้ภาคภูมิใจ

สำหรับการแข่งขันในประเภท ผีเสื้อ 200 เมตร หญิง ซัมเมอร์ แมคอินทอช คว้าเหรียญทองไปครอง ส่วนเหรียญเงินเป็นของ เรแกน สมิธ จากสหรัฐอเมริกา และเหรียญทองแดง ได้แก่ จาง ยู่เฟย แชมป์เก่า จากจีน

ส่องเมนูสวัสดิการภายใน 'ทบ.' มื้อละ 10 บาท ถูกกว่าทหารเกณฑ์ จัดเต็มด้วย 'ต้ม-ผัด-แกง-ทอด' หมุนเวียน ตบท้ายด้วยของหวาน

(2 ส.ค. 67) ภายหลังตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันในโซเชียลมีเดีย กรณีทหารกองประจำการของหน่วยทหารหน่วยหนึ่งใน กทม. อัดคลิปรีวิวอาหารเช้า ประกอบด้วย 2 เมนู ต้มจืดแตงกวาใส่ไข่ กุนเชียงทอด สภาพเหมือนอาหารบูด มีแต่น้ำ พร้อมฝากถึงผู้บังคับบัญชาเข้ามาดูแล

ต่อมา กองทัพบก โดย พ.อ.ริชฌา สุขสุวานนท์ รองโฆษกกองทัพบก ออกมายอมรับว่า ผู้บังคับหน่วยดังกล่าวได้ทราบเหตุการณ์แล้ว จึงได้พูดคุยทำความเข้าใจกับกำลังพล รวมถึงยอมรับข้อบกพร่องในการกำกับดูแลการแจกจ่ายอาหารให้กับกำลังพลที่ปฏิบัติหน้าที่เวรรักษาการณ์ พร้อมทั้งให้ปรับปรุงเมนูอาหาร และวิธีการแจกจ่ายอาหารให้กำลังพลที่ปฏิบัติหน้าที่เวรรักษาการณ์ ได้รับอย่างทั่วถึงพร้อมเพียงกัน 

ทั้งนี้ กระทรวงกลาโหม ได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการหักเบี้ยเลี้ยงและเงินเดือนของทหารกองประจำการในส่วนราชการ สังกัดกระทรวงกลาโหม เป็นไปด้วยความเรียบร้อยโดยหน่วยที่รับผิดชอบ กำกับดูแล รวมถึงให้การสนับสนุนการฝึกทหารใหม่ สามารถใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม เป็นไปในรูปแบบเดียวกัน ตรงตามนโยบายของกระทรวงกลาโหม 

กลุ่มค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต้องหักจากเงินเดือนพลทหาร คือ การหักค่าประกอบเลี้ยง ประมาณ 2,100 บาทต่อเดือน หรือวันละประมาณ 70 บาท หรือ มื้อละ 23 บาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อนำไปเปรียบเทียบราคาและคุณภาพอาหาร ซึ่งเป็นสวัสดิการภายในกำลังพลในกองบัญชาการกองทัพบก พบว่า ราคาถูกกว่าเท่าตัวของมื้ออาหารทหารกองประจำการ โดยแยกเป็น ทหารชั้นสัญญาบัตร และทหารชั้นประทวน ซึ่ง กินเมนูเดียวกัน ในราคามื้อละ 10 บาท โดยแต่ละมื้อ จะประกอบด้วย ต้ม แกง ผัด ทอด หมุนเวียนกันไป ตบท้ายด้วยของหวาน

สำหรับเมนูในวันนี้ คือ ส้มตำไทย 1 จาน ต้มแซ่บหมู 1 ถ้วย ข้าวสวยพร้อมไก่ทอด 2 ชิ้น ส่วนของหวาน ลอดช่องน้ำกะทิ

ในขณะที่บุคคลทั่วไปที่เข้ามาติดต่อราชการ สามารถเข้ามาใช้บริการ โดยคิดราคาคนละ 40 บาท

โดยสวัสดิการอาหารกลางวันกำลังพล ขายในกองบัญชาการกองทัพบก หัวละ 10 บาท เกิดขึ้นในยุค พล.อ.วิมล วงศ์วานิช อดีตผู้บัญชาการทหารบก หวังช่วยเหลือและลดค่าใช้จ่ายของกำลังพล ซึ่งเป็นการนำเงินส่วนตัวของ พล.อ.วิมล มาอุดหนุน ในส่วนต่างราคาอาหาร แต่ต่อมา เนื่องจากวัตถุดิบประกอบอาหารมีราคาเพิ่ม ทำให้กองทัพบกต้องจัดงบประมาณมาอุดหนุนจนถึงปัจจุบันนี้

‘อนุทิน’ สั่งทุกจังหวัด ‘ลดค่าแผง-จัดขายของราคาถูก’ ช่วยประชาชนช่วง 3 เดือน ก่อนได้ใช้ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’

(2 ส.ค.67) ทำเนียบฯ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมหารือโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจของกระทรวงพาณิชย์ ที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ เป็นประธานว่า กระทรวงพาณิชย์ ได้เสนอต่อที่ประชุมว่าจะมีมาตรการระยะสั้นระหว่างปัจจุบันถึงเดือนตุลาคม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจก่อนที่ประชาชนจะได้เงินจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตในไตรมาสที่ 4 ของปี อาทิ การทำให้สินค้าราคาถูกลง สนับสนุนผู้ประกอบการรายเล็กให้มีช่องทางค้าขาย และขอให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ลดราคาสินค้า เพื่อให้ประชาชนได้ซื้อสินค้าในราคาต่ำลง 

ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยก็ได้นำมาตรการที่ว่าไปกำชับทุกจังหวัดทั่วประเทศให้ช่วยประชาสัมพันธ์และหาช่องทางรวมถึงจัดพื้นที่ให้มีการขายสินค้ามากขึ้น อาทิ ศาลากลางจังหวัด รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ และสั่งการให้องค์การตลาดของกระทรวงมหาดไทยลดค่าเช่าแผงในช่วง 3 เดือนนี้ด้วย

รู้จัก 'จิตรากร ตันโห' คนรุ่นใหม่ผู้มีแนวคิดแบบประนีประนอม ภายใต้มุมมองความสมดุลแห่งอำนาจ หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา 'มายาธิปไตย 2475 #เทสที่สร้างร่างที่เป็น'

ถือเป็นอีกหนึ่งงานเสวนาที่ห้ามพลาด!! กับ 'มายาธิปไตย 2475 #เทสที่สร้างร่างที่เป็น' ในวันอังคารที่ 6 สิงหาคมนี้ ที่ห้องประชุมชั้น 12 อาคารศรีศรัทธา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

โดยงานนี้ ได้รับเชิญผู้ร่วมเสวนาผู้ทรงเกียรติหลายท่าน ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ...

'โอ๊ต' จิตรากร ตันโห จบการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนิสิตปริญญาโท สาขาคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สำหรับ 'โอ๊ต' จิตรากร ตันโห ถือเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีมุมมองต่อภาพภูมิรัฐศาสตร์ไทยอย่างมีเหตุมีผล เปิดรับฟังความรอบด้าน และมักจะนำเสนอบทความเชิงสร้างสรรค์สู่สังคมไทยอย่างต่อเนื่อง

โอ๊ต เคยกล่าวว่า ตนเป็นคนที่มีแนวคิดแบบประนีประนอมและเชื่อในระบอบการปกครองแบบผสม (Mixed Constitution) ซึ่งเป็นระบอบการเมืองที่ว่ากันว่าสามารถทำให้เกิดความสมดุลทางการเมือง และจะไม่มีผู้เล่นทางการเมืองคนใดสามารถใช้ระบบดังกล่าวเพื่อทำลายอีกฝ่ายได้ ประกอบด้วย 3 ส่วนผสมกัน 

ส่วนแรกก็คือ The One (เอกบุคคล หรือประมุข) ส่วนสองเรียกว่า The Few (คณะบุคคล) ส่วนสามก็คือ The Many (มหาชน หรือประชาชน) การที่เราจะปกครองประเทศหรือรัฐ 

"เราต้องทำให้ทั้ง 3 ส่วนเสมอกัน ไม่ให้ประมุขของประเทศมีอำนาจมากเกินไป ไม่ให้คณะบุคคลมีอำนาจมากเกินไป รวมถึงไม่ให้ประชาชนมีอำนาจมากเกินไปด้วย ซึ่งแนวคิดการไม่ยอมให้ใครมีอำนาจมากเกินไปสะท้อนออกมาอย่างชัดเจนมากในสหรัฐฯ ในตอนแรกผู้นำสหรัฐฯ บอกว่าเขาไม่ได้สร้างประชาธิปไตย เขาบอกว่าจะสร้างสาธารณรัฐ ซึ่งในการบอกว่าเขาจะสร้างสาธารณรัฐ แนวคิดพื้นฐานคือวางอยู่บนความไม่ไว้วางใจใครเลย ดังนั้นเลยออกมาในรูปแบบของกลไกในการถ่วงดุลอำนาจไม่ให้ใครมีอำนาจมากเกินไป คำถามคือในประเทศไทยเราใช้กรอบการปกครองแบบนี้ได้สมดุลหรือยัง?"

โอ๊ต เผยอีกว่า 'หากพิจารณาการเมืองไทยในอดีตที่ผ่านมา จะพบว่าไม่เคยสมดุลเลย อย่างช่วง พ.ศ. 2490 - พ.ศ. 2500 เป็นช่วงที่ทหารเข้ามาปกครองล้วน ๆ ประชาชนหรือ The Many ถูกฆาตกรรมออกมาจากระบอบการปกครอง รวมทั้งในตอนนั้นเอง บุคคลหรือพระมหากษัตริย์ก็เป็นเพียงผู้สำเร็จราชการแทน จะเห็นว่ามันไม่ครบองค์ประกอบในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ขณะที่ไทยเริ่มใช้กรอบเรื่องการถ่วงดุลอำนาจมามองการเมืองไทยตั้งแต่ทศวรรษ พ.ศ. 2520 เป็นต้นมา ซึ่งจะเห็นว่ามันเพิ่งครบองค์ประกอบออกตอนช่วง พ.ศ. 2520 เอง"

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของ โอ๊ด ให้ความคิดเห็นอีกว่า "ร่วม 40 กว่าปีมานี้ ประเทศไทยเดินมาไกลแล้ว ประชาชนเริ่มมีอำนาจมากขึ้นกว่าสมัยก่อน และผมรู้สึกว่าเรามีความหวังนะ เด็กรุ่นใหม่หลาย ๆ คน มีการคิดวิเคราะห์ที่น่าสนใจมากขึ้น ทุกคนรู้สึกอยากจะแก้ไขประเด็นสังคมกันมากขึ้น แต่ทุกคนก็ต้องไม่พยายามจัดการทุกอย่างอยู่คนเดียว อย่าจับทุกปัญหาไปวางในม็อบหนึ่งม็อบ ต้องสร้างเครือข่ายแล้วผลักดันไปด้วยกัน ที่สำคัญแต่ละฝ่ายต้องไม่พยายามชี้นิ้วไปหาอีกฝ่ายว่าไม่เป็นประชาธิปไตย เราต้องทำให้สังคมไทยเกิด ‘ความโอบอ้อมอารี' โดยเริ่มต้นจากทางภาษาก่อน แล้วมันจะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนความทรงจำที่ทำให้เกิดการยอมรับซึ่งกันและกันได้ในทุกเรื่องมากขึ้น"

สำหรับงานเสวนา 'มายาธิปไตย 2475 #เทสที่สร้างร่างที่เป็น' จะจัดขึ้นในวันอังคารที่ 6 สิงหาคมนี้ เวลา 10.00 - 12.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 12 อาคารศรีศรัทธา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

พร้อมรับชม '2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ Dawn of Revolution' ในเวลา 13.30 - 16.40 ณ สถานที่เดียวกัน

📌 สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถลงทะเบียนสำรองที่นั่งเข้าร่วมกิจกรรมฟังเสวนาและชมภาพยนตร์ 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ ได้ที่: https://docs.google.com/forms/d/1utXQT68NCUZks5YYcILGBQ91B76zILkSoQ7srQ2ymoc/viewform?ts=66a737cb&edit_requested=true

รู้จัก 'ผศ.ดร.เพิ่มศักดิ์ จะเรียมพันธ์' 'นักวิชาการรุ่นใหม่' ผู้หวังให้สังคมไทยไม่มองตนถูกต้องที่สุด ส่วนผู้อื่นผิดหมด หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา 'มายาธิปไตย 2475 #เทสที่สร้างร่างที่เป็น’

ถือเป็นอีกหนึ่งงานเสวนาที่ห้ามพลาด!! กับ 'มายาธิปไตย 2475 #เทสที่สร้างร่างที่เป็น' ในวันอังคารที่ 6 สิงหาคมนี้ ที่ห้องประชุมชั้น 12 อาคารศรีศรัทธา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

โดยงานนี้ ได้รับเชิญผู้ร่วมเสวนาผู้ทรงเกียรติหลายท่าน ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ...

ผศ.ดร.เพิ่มศักดิ์ จะเรียมพันธ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง / ผู้ช่วยศาสตราจารย์ กลุ่มวิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และ รองผู้อำนวยการศูนย์การเมือง สังคม และอาณาบริเวณศึกษา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ผศ.ดร.เพิ่มศักดิ์ ถือเป็นบุคคลที่มีความสนใจเชิงลึกในทฤษฎีการเมือง, ปรัชญาสังคมศาสตร์, การเมืองการปกครองไทย รวมถึงทฤษฎีประชาธิปไตย สะท้อนผ่านผลงานทางวิชาการ และ งานวิจัยมากมาย อาทิ...

จาก 'เดโมกราเตีย' ถึง 'เดโมคราซี่' การเปลี่ยนไปของมโนทัศน์ 'ประชาธิปไตย' / นักสอพลอประชาชนแห่งประชาธิปไตยเอเธนส์กับบทเรียนต่อประชาธิปไตยไทยร่วมสมัย / 'การศึกษากำเนิดและความเสื่อมของระบอบประชาธิปไตยเอเธนส์' / 'การเมืองของกระบวนการกำหนดนโยบายโฉนดชุมชน' / 'ระบอบการปกครองลูกผสมไทย: 'บทเรียน' หรือ 'ลางร้าย' ต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในอาเซียน' / 'คุณธรรม' ใน 'เจ้าผู้ปกครอง' ของมาคิอาเวลลี' และอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ ในฐานะนักวิชาการรุ่นใหม่ ผศ.ดร.เพิ่มศักดิ์ มักจะมองการเมืองไทยในปัจจุบันและสะท้อนออกมาสู่สังคมได้อย่างจี้ใจดำผู้คนเสมอ โดยอาจารย์ เคยเผยถึงนิยามหนึ่งของ 'การเมือง' ให้รับทราบกันด้วยว่า...

'การเมืองไทยในปัจจุบัน มันไม่ใช่การเมืองแล้ว แต่มันคือ การยุทธ์ การรบ หรือการสงครามมากกว่า และทุกฝ่ายเลยที่เข้าร่วมแบบไม่มีข้อยกเว้น ตั้งแต่ นักการเมือง, ทหาร, ตำรวจ, นักวิชาการ, นักกิจกรรม, นักศึกษา ผมเห็นแต่ละฝ่ายจ้องจะเอาชนะคะคานกันอย่างเดียว พูดกันตรง ๆ ฝั่งเสื้อแดงขึ้นก็บี้ เสื้อเหลือง-เสื้อน้ำเงิน-เสื้อเขียว ให้ตายไปข้าง เสื้อเหลือง-เสื้อน้ำเงิน ขึ้นก็บี้เสื้อแดงให้ตายไปอีกข้าง สุดท้ายบี้กันเองจนเละ เสื้อเขียวเข้ามาก็จัดการทุกฝ่าย อย่างที่เห็น ๆ กันอยู่

"ฉะนั้นผมถือว่าสิบกว่าปีที่ผ่านมา มีแต่สัญญาณอันตรายของการเมืองไทย สังคมของเรามาถึงจุด ที่น่าเป็นห่วงมาก ดูเหมือนว่าเราไม่อยากจะอยู่ร่วมกันแล้ว ที่มันน่ากลัวคือ สังคมเราแบ่งขั้วแบบสุดโต่ง ไร้เหตุผลกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ใครมีแนวคิดทางการเมืองเป็นเสื้อสีอะไรก็เห็นตัวเองถูกอยู่พวกเดียว พวกอื่นผิดหมด บ้านเมืองเรามาถึงจุด ๆ นี้ได้อย่างไร ไม่ดูเหตุดูผลกันแล้ว แต่ไปดูที่เป็นพวกใคร เป็นฝ่ายไหน ถ้าไม่ใช่กลุ่มตัวเองแค่อ้าปากก็ผิดแล้ว แล้วผมคิดว่ามันเป็นกันทุกกลุ่ม แย่พอกันทั้งหมด"

ผศ.ดร.เพิ่มศักดิ์ เผยอีกว่า "ถ้ากรอบคิดในการมองการเมืองไทยเป็นแบบนี้ อนาคตการเมืองไทยจะเละเป็น 'ซีเรีย' แน่นอน แต่ทางออกยังมี อย่างผมเองถือว่ามีโอกาสดีที่ตอนเรียนปริญญาโทได้ไปเป็นผู้ช่วยวิจัยที่ศึกษาวิธีคิดของกลุ่มเสื้อเหลืองและเสื้อแดง พอเราได้ลงไปสัมผัสพี่น้องเสื้อแดงและเสื้อเหลืองอย่างใกล้ชิด มันเห็นเลยว่า เขาหวังดีต่อบ้านเมืองด้วยกันทั้งคู่ ผมเชื่อว่าคนเราพอสัมผัสกันมันมองกันออก มันอ่านใจกันออก ในยุคนี้ก็เหมือนกัน ทหารก็ไม่ได้แย่กันทั้งกองทัพ หรือแม้แต่ตัวเราเองยังมีดี มีชั่ว มีถูก มีผิดกันทั้งหมด...

"อย่ามองความเห็นตัวเองถูกไปทั้งหมด แล้วมองคนอื่นผิดหมด โทษทุกอย่างยกเว้นตัวเอง ต้องเลิกเสียที ถ้าคิดอย่างนี้ได้ก่อน อคติหรือการเหมารวมที่มันนำไปสู่ความขัดแย้งกันระหว่างกลุ่มมันจะเบาบางลง มันจะเริ่มคุยกันได้ คุยกันรู้เรื่อง ถอยคนละก้าวบ้าง สังคมเราจึงพอจะเห็นทางออกจากวิกฤตนี้"

สำหรับงานเสวนา 'มายาธิปไตย 2475 #เทสที่สร้างร่างที่เป็น' จะจัดขึ้นในวันอังคารที่ 6 สิงหาคมนี้ เวลา 10.00 - 12.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 12 อาคารศรีศรัทธา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

พร้อมรับชม '2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ Dawn of Revolution' ในเวลา 13.30 - 16.40 ณ สถานที่เดียวกัน

📌 สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถลงทะเบียนสำรองที่นั่งเข้าร่วมกิจกรรมฟังเสวนาและชมภาพยนตร์ 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ ได้ที่: https://docs.google.com/forms/d/1utXQT68NCUZks5YYcILGBQ91B76zILkSoQ7srQ2ymoc/viewform?ts=66a737cb&edit_requested=true

รู้จัก ‘ฤกษ์อารี นานา’ อดีตนักเรียนไทยในต่างแดน ผู้ไม่ถูกกลืนตัวตน-ละทิ้งความเป็นไทย หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา ‘มายาธิปไตย 2475 #เทสที่สร้างร่างที่เป็น’

ถือเป็นอีกหนึ่งงานเสวนาที่ห้ามพลาด!! กับ 'มายาธิปไตย 2475 #เทสที่สร้างร่างที่เป็น' ในวันอังคารที่ 6 สิงหาคมนี้ ณ ห้องประชุมชั้น 12 อาคารศรีศรัทธา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

โดยงานนี้ ได้รับเชิญผู้ร่วมเสวนาผู้ทรงเกียรติหลายท่าน ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ แมน-ฤกษ์อารี นานา ทายาทของ ‘ไกรฤกษ์ นานา’ นักประวัติศาสตร์ชื่อดังของประเทศไทย ซึ่งต้องบอกว่าเป็นบุคคลทรงคุณค่าและมีดีกรีไม่ธรรมดาเลยทีเดียว

โดย ฤกษ์อารี นานา จบการศึกษาระดับปริญญาตรี รัฐศาสตร์การเมืองการปกครอง Institut Catholique de Vendee ประเทศฝรั่งเศส และระดับปริญญาโท เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา SOAS University of London ประเทศอังกฤษ และเคยปฏิบัติงานเป็นเจ้าหน้าที่สถานทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย

สำหรับมุมมองต่อประเทศฝรั่งเศสรวมถึงประเทศในแถบยุโรป ‘ฤกษ์อารี นานา’ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในรายการ UTN World กับ แมน นานา EP.1 ซึ่งได้เล่าเรื่องราวขณะที่ตนได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศส สรุปได้ว่า…

สมัยนั้นระบบการศึกษาที่ฝรั่งเศส ก็มีความคล้ายคลึงกับในไทย คือ เน้นท่องจำ เน้นทฤษฎีซะส่วนใหญ่ แต่จะต่างกันตรงเด็กส่วนใหญ่จะมีเป้าหมายในการทำคะแนนที่แข่งกับตัวเองอย่างมาก และถึงขั้นต้องทำคะแนนให้ได้ดีกว่าเด็กโรงเรียนอื่นด้วย โดยที่ฝรั่งเศสเขาจะวัดคะแนนเป็นเต็ม 20 คะแนน แต่ถ้าเมืองไทยจะเป็นเกรด 1-2-3-4 ซึ่งถ้าอยู่ที่ฝรั่งเศสคะแนนเต็ม 20 หากทำได้สัก 15 ก็ถือว่าเก่งมากแล้ว 

“มีช่วงหนึ่งที่ผมไปสอบวิชาเศรษฐศาสตร์ (เทียบระดับพอ ๆ กับ ม.6 ของไทย) ผมทำคะแนนได้ 19 คุณครูกับเพื่อน ๆ ก็ตกใจอย่างมาก” ฤกษ์อารี นานา กล่าวพร้อมอธิบายเพิ่มเติมต่อว่า “การที่คนที่นั่นรู้สึกตกใจในสิ่งที่คนเอเชีย ซึ่งเป็นคนไทย คนที่พวกเขาคิดว่ามาจากประเทศด้อยพัฒนาทำได้จากคะแนนที่สูงเช่นนั้น ส่วนสำคัญเพราะ หากการพัฒนาของประเทศไทย จะเป็นการพัฒนาทุก ๆ เรื่องไปตามการพัฒนาของประเทศ ซึ่งนั่นก็หมายรวมถึงความสามารถด้านการศึกษา แต่กลับกันกับฝรั่งเศสหรืออาจจะหมายรวมถึงยุโรปด้วยนั้น จะยังคงความเป็นอนุรักษ์นิยมค่อนข้างสูง”

“พวกเขายังชื่นชมในประวัติศาสตร์ของประเทศตน ทวีปตน ที่เคยยิ่งใหญ่ล้ำหน้าใครในโลก เรียนรู้เร็ว เจริญเร็ว แต่วันนี้พวกเขาเริ่มหยุดเจริญแล้ว และความเจริญที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ก็ล้วนมาจากบุญเก่า”

สังเกตได้ที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งปัจจุบันกำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ แต่ยังอยู่ได้เพราะชื่อเสียงด้านการศึกษา ทำให้มีนักเรียนต่างชาติเข้ามาเรียนมากมายในลอนดอน ซึ่งหากถ้าไม่มีนักเรียนต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนเอเชียด้วยแล้ว ก็นึกภาพอนาคตของประเทศนี้ไม่ออกเช่นกัน เพราะนักเรียนที่ไปเรียนต่อ ล้วนแล้วแต่ไปสร้างรายได้ให้กับประเทศของเขาทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ค่าเรียนต่อ ค่าเช่าบ้าน ค่าร้านอาหาร ค่า Shopping และอื่น ๆ … ความขลังของบุญเก่ายังมีผลอยู่

จากมูลเหตุเหล่านี้ จึงทำให้ประเทศในยุโรป (ฝรั่งเศส) ยังกระหยิ่มยิ้มย่อง และทำให้เขามองว่าเอเชียอย่างเรา ยังไงก็ยังล้าหลัง

“เวลาเขามองประเทศไทยวันนี้ เขายังรู้สึกว่าเหมือนมองเมืองไทยในยุคเลย 20 ปีที่แล้วไปอีกไกล คนไทยขี่ช้างอยู่ คนไทยขี่เกวียนอยู่ จนกระทั่งวันที่เพื่อนของผมที่เป็นคนฝรั่งเศสได้มาไทย ก็ตกใจกันอย่างมาก เพราะเมืองไทยมีการใช้จ่ายผ่านการสแกนคิวอาร์โค้ด ใช้จ่ายกันตั้งแต่ร้านค้าใหญ่ ๆ ไปจนถึงร้านค้าเล็ก ๆ เมืองไทยมีรถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดิน ที่ไม่มีความสกปรก ไม่มีขอทาน รถไฟฟ้าไม่มีกลิ่นฉี่ ดูดีมาก แต่ในปารีสกลับมีหนู มีคนปัสสาวะเรี่ยราด มีขอทาน แล้วก็มีคนเล่นยาด้วยในรถไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งคนฝรั่งเศสคนไหนที่ได้มาเปิดหูเปิดตาในไทยตอนนี้ พูดได้แค่คำเดียวว่า ‘ศิวิไลซ์’ มาก ๆ...

“ไม่เพียงเท่านี้ เขายังมองอีกว่า บ้านเราอารยะ มีมารยาทสูง เอาแค่ในรถไฟฟ้าของไทย ผู้คนจะมีมารยาทในการใช้งาน ไม่โวยวาย ไม่คุยเสียงดัง เข้า-ออก ตามคิวอย่างเป็นระเบียบ และยังเอื้อเฟื้อต่อเด็ก, สตรีมีครรภ์ และ คนชรา ได้นั่งก่อน กลับกันในรถไฟฟ้าที่ยุโรป เช่น ในฝรั่งเศส ใครจะโทรศัพท์หาใคร จะตะโกนยังไงก็ได้ เพราะเขามองว่ามันก็เป็นสิทธิ์ของเขา หนักข้อคือจะกินข้าวเลอะเทอะยังไงก็ได้ ซึ่งตรงนี้ในมุมมองคนฝรั่งเศสที่ได้มาไทย เขายอมรับเลยว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่เจริญแล้ว”

นอกจากมุมมองต่อประเทศฝรั่งเศสและประเทศในยุโรปแล้ว ‘ฤกษ์อารี นานา’ ก็ยังเคยแสดงความคิดเห็นต่อกรณีที่เข้ามามีบทบาททางการเมืองไว้ด้วยว่า “ที่เข้ามาเพราะมีเรื่องหนึ่งที่ฝังลึกอยู่ในใจมานาน ก่อนจะกลับมาไทย คนที่จบเมืองนอกมาเหมือนกัน โดยเฉพาะที่ฝรั่งเศส แล้วพูดถึงความเท่าเทียม อะไรต่าง ๆ ในสังคม แล้วอ้างประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศส แต่อยากให้ดูว่า ฝรั่งเศสก็ไม่ได้เจริญขึ้นมากกว่า 400 ปีที่แล้ว ไม่ได้มีความเท่าเทียมกัน ก็ยังมีชนชั้นเหมือนเดิม ซึ่งเกิดขึ้นจากระบบทุนนิยม รัฐบาลต้องลดความเหลื่อมล้ำนั้นในสังคม”

“อย่างไรก็ดีมองว่า ปัจจุบันประเทศไทยดีที่สุด และดีมากกว่านี้ได้แต่ต้องปรับปรุงแก้ไข โดยไม่ใช้วิธีการยกเลิก ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นการทำการเมืองที่ง่ายเกินไป และที่ผ่านมาก็ไม่ได้ทำให้วิถีชีวิตคนดีขึ้น ถ้าไม่มีหลักในตัวเอง”

ไม่เพียงเท่านั้นยังได้ฝากความห่วงใยไปยังเยาวชนรุ่นใหม่ของไทยด้วยว่า “เป็นห่วงคนรุ่นใหม่เหมือนกัน ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่จบเมืองนอกมาก็ไม่อยากให้คนไทยสรรเสริญต่างชาติมากเกินไป เพราะคนไทยก็มีอะไรหลาย ๆ อย่างที่ดี และต้องปรับปรุงแก้ไขให้มันดีขึ้น ไม่อยากเห็นคนรุ่นใหม่ด้อยค่าตัวเอง ให้มองประเทศไทยดีกว่านี้เป็นประเทศที่มีประสิทธิภาพที่ดีกว่านี้และมีความหวังไม่ใช่ต้องย้ายประเทศ ผมก็มีเพื่อนฝรั่งเศสย้ายมาไทย และเขาก็สรรเสริญประเทศไทยดีทุกอย่าง”

สำหรับงานเสวนา 'มายาธิปไตย 2475 #เทสที่สร้างร่างที่เป็น' จะจัดขึ้นในวันอังคารที่ 6 สิงหาคมนี้ เวลา 10.00 - 12.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 12 อาคารศรีศรัทธา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

พร้อมรับชม '2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ Dawn of Revolution' ในเวลา 13.30 - 16.40 ณ สถานที่เดียวกัน

📌 สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถลงทะเบียนสำรองที่นั่งเข้าร่วมกิจกรรมฟังเสวนาและชมภาพยนตร์ 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ ได้ที่: https://docs.google.com/forms/d/1utXQT68NCUZks5YYcILGBQ91B76zILkSoQ7srQ2ymoc/viewform?ts=66a737cb&edit_requested=true

รู้จัก ‘วิวัธน์ จิโรจน์กุล’ ผู้กำกับภาพยนตร์แอนิเมชัน ‘2475 Dawn of Revolution’ หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา ‘มายาธิปไตย 2475 #เทสที่สร้างร่างที่เป็น’

ถือเป็นอีกหนึ่งงานเสวนาที่ห้ามพลาด!! กับ 'มายาธิปไตย 2475 #เทสที่สร้างร่างที่เป็น' ในวันอังคารที่ 6 สิงหาคมนี้ ณ ห้องประชุมชั้น 12 อาคารศรีศรัทธา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

โดยงานนี้ ได้รับเชิญผู้ร่วมเสวนาผู้ทรงเกียรติหลายท่าน ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ ซัง-วิวัธน์ จิโรจน์กุล ผู้กำกับภาพยนตร์แอนิเมชัน 2475 Dawn of Revolution หรือ 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ ซึ่งเป็นผู้สนใจในประวัติศาสตร์ไทยในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 และมุ่งมั่นคืนความเป็นธรรมให้ในหลวงรัชกาลที่ 7 โดยใช้วิธีบอกเล่าผ่านภาพยนตร์แอนิเมชัน เพื่อสื่อสารให้คนไทยรู้ว่าในหลวง ร.7 สู้เต็มที่ และพยายามจะทำให้การเปลี่ยนแปลงการปกครองในไทยเกิดขึ้นอย่างราบรื่นที่สุด

โดยคุณ วิวัธน์ จิโรจน์กุล เคยได้ให้สัมภาษณ์ถึงจุดเริ่มต้นการทำภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องนี้ไว้ว่า…

“แอนิเมชันเรื่องนี้ใช้เวลาสร้างนานถึง 3 ปี มีทีมงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดประมาณ 30-40 คน มีทั้งคนที่เข้ามาแล้วก็ออกไป จุดเริ่มต้นมาจากคนกลุ่มเล็ก ๆ แล้วจึงหาทีมงานเพิ่มในภายหลัง หลายคนเป็น ‘ตัวจี๊ด’ พร้อมปะทะโต้เถียงบนโลกโซเชียล แต่ตนก็ได้บอกไปว่า ‘ตีกันไป-มา’ แบบนั้นไม่ได้ประโยชน์ มาทำความจริงป้อนให้เป็นความรู้จะดีกว่า…

“ซึ่งขั้นตอนที่ยากที่สุดในการทำงานภาพยนตร์เรื่องนี้คือการหาหลักฐานข้อมูล แล้วถึงจะหยิบประเด็นจากหลาย ๆ มุมมอง เพื่อหาว่ามุมมองต่าง ๆ มองเรื่องนี้ที่เป็นเรื่องเดียวกันคือเรื่องอะไร เราถึงหยิบพวกนี้มาเล่า”

และแม้จะเลือกการนำเสนอกึ่ง ๆ จะเป็นนิยาย (Fiction) แต่ข้อมูลที่นำเสนอมาจากบันทึกจริงในประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าโดยบุคคลต่าง ๆ ที่อยู่ในช่วงเวลานั้นซึ่งรวมถึงของฝ่ายคณะราษฎรผู้ก่อการด้วย ทั้งนี้ เมื่อรวบรวมข้อมูลมาได้แล้วก็ต้องมาเลือกอีกว่าจากข้อมูลจำนวนมากจะนำเสนออย่างไรให้พอดีกับเวลาประมาณ 2 ชั่วโมงได้โดยสอดคล้องกับเป้าหมายหลักคือให้เข้าใจบทบาทของรัชกาลที่ 7 ที่พยายามประคับประคองสถานการณ์ในยุคเปลี่ยนผ่านให้ไปรอด

เช่น รัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ร่างโดยคณะราษฎรหลายคนที่ร่วมก่อการก็ไม่ได้อ่าน แต่รัชกาลที่ 7 ท่านอ่านและแนะนำให้ไปแก้ไขมาใหม่ นอกจากนั้นยังมีความขัดแย้งภายในกลุ่มคณะราษฎร ระหว่างหลวงประดิษฐ์มนูธรรมกับพระยาทรงสุรเดช ซึ่งเข้าใจได้ว่าหลวงประดิษฐ์ฯ หรือนายปรีดี มีความเป็นนักวิชาการแนวคิดหัวก้าวหน้า ณ ช่วงเวลานั้น แต่ยอมรับว่ายังมีรายละเอียดอีกมากที่ไม่ได้ใส่เข้าไป 

วิวัธน์ จิโรจน์กุล ยังได้กล่าวถึงประเด็นดรามาเกี่ยวกับงบประมาณในการทำภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องนี้ด้วยว่า…

“ตอนแรกไม่รู้นะว่างบประมาณในการสร้างภาพยนตร์มันต้องใช้เท่าไรต่อเรื่องหนึ่ง แล้วเป็นเรื่องพีเรียด (Period - เนื้อเรื่องแนวย้อนยุคอิงประวัติศาสตร์) ต้องย้อนอดีต หาสถานที่ พร็อพ ขนาดวาด (รูป) แต่เมื่อริเริ่มโปรเจกต์แล้ว ก็เริ่มวางแผนการสร้าง ซึ่งจากการศึกษาก็พบว่า หากเป็นภาพยนตร์ที่ใช้นักแสดง ทุนสร้างอาจอยู่ที่ประมาณ 15-20 ล้านบาทเป็นอย่างน้อย อีกทั้งทุนประมาณนี้คงจะเป็นเพียงภาพยนตร์ที่ถ่ายทำด้วยฉากเขียว (Green Screen) แล้วใส่กราฟิกเป็นฉากหลังเข้าไป ผลงานที่ออกมาก็อาจไม่น่าดู หรือหากจะทำแอนิเมชันแบบ 3 มิติ เท่าที่ไปสอบถามราคามา พบว่าต้องใช้งบประมาณสูงถึง 100 ล้านบาท จึงมาสรุปที่การทำเป็นแอนิเมชัน 2 มิติ แต่ก็ยังไม่ได้เริ่มทำในทันที เพราะสอบถามราคาแล้วต้องใช้งบประมาณ 30 ล้านบาทซึ่งเวลานั้นยังมีทุนไม่พอ…

“ดังนั้นเพื่อที่จะให้แอนิเมชัน 2475 Dawn of Revolution เกิดเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาให้ได้ จึงใช้วิธีสร้างทีมนักวาดขึ้นมา สามารถทำรูปแบบเฟรมต่อเฟรม ออกแบบตัวละครและฉากทั้งหมด แล้วจึงนำเค้าโครงที่ร่างไว้นี้ไปให้สตูดิโอทำ ซึ่งพบว่าลดต้นทุนลงได้มาก แต่เมื่อเห็นผลงานแล้วก็ยังไม่ถูกใจ ท้ายที่สุดทีมงานจึงเลือกที่จะลงมือทำกันเองทั้งหมด โดยไปหาคนที่ชำนาญเรื่อง In Between หรือการเชื่อมต่อภาพแต่ละเฟรมให้ดูเหมือนตัวละครขยับเขยื้อนได้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแอนิเมชันมีความยาว 2 ชั่วโมง ต้องใช้รายละเอียดมากในขณะที่มีทีมงานน้อย…

“ใช้แรงงานเยอะแต่มีคนน้อย ดังนั้นจะเห็นว่าบางเฟรมเราก็จะใช้ซ้ำ ๆ บางเฟรมเราก็จะใช้ 3D มาผสม เพราะ 3D เราสามารถทำแล้ว Render ทีเดียว มันก็จะเป็นภาพขยับต่อเนื่อง ในฉากที่ทหารเยอะ ๆ เน้นใช้ 3D เข้ามาช่วย มันจะเป็นสื่อผสมหลาย ๆ อย่าง ใช้ Motion Graphic บ้าง ใช้ 3D ใช้ 2D ความรู้สึกผมเหมือนเป็นเชฟที่เห็นของเหลือในตู้เย็น สุดท้ายปรุงอย่างไรก็ได้ ออกมาให้มันเล่าเรื่อง 2 ชั่วโมงนี้จบอย่างที่เราต้องการ พอมันจบเสร็จปุ๊บ ก็รู้สึกโล่ง ตอนนั้นคือโล่ง เหมือนยกภูเขาออกจากอก มันเสร็จแล้ว แค่นั้นผมพอใจแล้ว หลังจากนั้นผมไม่สนใจแล้วคนดูจะรู้สึกอย่างไร…

“แอนิเมชันเรื่องหนึ่งใช้ทุนสร้างเป็นหลักสิบล้านบาท เป็นทุนของผมแล้ว 5 ล้านบาท แม้จะเป็นหนี้ก็ตาม เพื่อทำโปรเจกต์แอนิเมชัน 2475 Dawn of Revolution ผมต้องไปหยิบยืมเงินจากญาติสนิทมิตรสหายมาเพื่อทำให้สำเร็จ และในวันที่ผลงานแล้วเสร็จก็ถือว่าสำเร็จแล้ว เพราะได้ทำในสิ่งที่ต้องการมาตลอด…สำหรับผมวันนี้ถือว่าถึงตายก็ไม่เสียชาติเกิดแล้ว จะเป็นหนี้หรือล้มละลายก็ไม่เป็นไร  เพราะต่อให้ล้มละลายต้องปิดบริษัท ผมก็ยังไม่ตาย ไปทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ได้ ผมเพียงอยากให้ผลงานนี้ทำเสร็จสมบูรณ์”

“อย่างที่ผมบอก ไม่ว่าจะแลกด้วยอะไรผมต้องทำให้มันเสร็จ ดังนั้น ผมต้องบอกเลยว่าผมแลกไปเยอะมาก ดังนั้นการที่มากล่าวหาว่าผมได้รับงบประมาณจากกองทัพ หรือมีเงินจากส่วนไหน ๆ มาช่วยซัปพอร์ตโปรเจกต์นี้ ผมถือว่าดูถูกผมมากเลย ดังนั้นผมก็เลยมองว่าวิธีการทำแบบนี้ผมอาจจำเป็นต้องใช้กฎหมาย แต่ถ้าเกิดคุณมาด่าว่าบิดเบือน หรือด่าว่าแอนิเมชันห่วย-กาก ผมไม่กังวลอะไร ไม่ว่าอะไร คุณวิจารณ์ได้ แต่ถ้าเกิดคุณมาด้อยค่าความตั้งใจมุ่งมั่นของทีมงาน หรือเครดิตของคนที่ตั้งใจทุ่มเทเพื่องานนี้ ผมแค่ไม่ยอมเรื่องนี้เรื่องเดียว” วิวัธน์ กล่าว

นอกจากนี้ วิวัธน์ จิโรจน์กุล ยังได้เผยถึงกระแสและผลตอบรับหลังเผยแพร่ภาพยนตร์แอนิเมชันแล้วว่า… “ตั้งเป้าไว้ว่ามียอดรับชมประมาณหลักหมื่นวิวก็สูงแล้ว และแม้จะไม่ได้ตั้งเป้าว่าอยากได้ยอดวิวเท่านั้นเท่านี้ แต่ทุกครั้งที่ยอดวิวขึ้น คนที่สนับสนุนแอนิเมชันเรื่องนี้ก็ดีใจและตื่นเต้นไปกับทีมผู้สร้างด้วย ผมก็จะคอยรายงานยอดเป็นระยะ ๆ โดยมีหนึ่งในทีมงานมาช่วยวาดรูปประกอบทุก ๆ ครั้งที่ยอดเพิ่มครบ 1 แสนวิว…”

“สำหรับผมยอดวิวไม่สำคัญเท่าการที่มีคนเข้ามาดูแล้วรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้น” วิวัธน์ กล่าว

ส่วนประเด็นที่มีคนถามเข้ามามากมายว่า ทำไมไม่นำภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องนี้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์เหมือนภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆ วิวัธน์ จิโรจน์กุล ได้ตอบประเด็นนี้ไว้ว่า… 

“ประเด็นแรกเวลาทำหนังเสร็จ ถ้าเกิดจะเอาไปฉายตามโปรแกรมทั่วไปปกติ จะต้องผ่านกองเซ็นเซอร์ก่อน จัดเรตหนัง อนุญาตเรียบร้อยแล้วถึงจะฉายโรงได้ แต่ผมก็ประเมินแล้ว ผมเข้ากองเซ็นเซอร์ผมโดนหั่นเหี้ยนแน่เลย ประเด็นที่ผมกังวลที่สุดคือเราอาจจะโดนตัดฉากรัชกาลที่ 7 ออก กลัวว่าจะกระทบ เพราะผมบอกว่าเรื่องนี้ การเล่าเรื่อง 2475 ถ้าเราไม่เล่าในมุมของสถาบัน เรื่องนี้ไม่มีทางเล่าจบ ดังนั้นผมเลยคิดว่าผมแค่ฉายปฐมทัศน์แล้วผมฉายออนไลน์ให้ดูฟรี มันไม่จำเป็นต้องผ่านกองเซ็นเซอร์ เราสามารถทำได้…

“เหมือนเราทำสารคดี (Documentary) สักอันหนึ่ง แต่เป็นการเล่าในรูปแบบแอนิเมชัน และเปิดฉายให้ดูฟรีเพื่อให้ความรู้ ผมเลยมองแค่มุมนั้น ผมไม่ได้คิดว่าจะต้องเปิดฉาย ‘หาเงิน’ อะไร เราเชิญพวกพี่ ๆ ไปดู (รอบปฐมทัศน์ในโรงภาพยนตร์) คนที่เป็น Royalist คนที่รักสถาบันเข้าไปดู ผมอยากทดสอบด้วยว่าเราเล่าในมุมนี้รับไหวไหม? รับได้ไหมที่นำในหลวงรัชกาลที่ 7 มาเป็นคาแร็กเตอร์”

วิวัธน์ จิโรจน์กุล ได้ยืนยันทิ้งท้ายไว้ว่า “ความตั้งใจของการสร้างแอนิเมชัน 2475 Dawn of Revolution ไม่ใช่เพื่อทำร้ายหรือทำลายใคร แต่เพื่อทำประวัติศาสตร์ให้ชัดเจนและเป็นประวัติศาสตร์ที่เป็นธรรมต่อทุกคน”

สำหรับงานเสวนา 'มายาธิปไตย 2475 #เทสที่สร้างร่างที่เป็น' จะจัดขึ้นในวันอังคารที่ 6 สิงหาคมนี้ เวลา 10.00 - 12.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 12 อาคารศรีศรัทธา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

พร้อมรับชม '2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ Dawn of Revolution' ในเวลา 13.30 - 16.40 ณ สถานที่เดียวกัน

📌 สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถลงทะเบียนสำรองที่นั่งเข้าร่วมกิจกรรมฟังเสวนาและชมภาพยนตร์ 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ ได้ที่: https://docs.google.com/forms/d/1utXQT68NCUZks5YYcILGBQ91B76zILkSoQ7srQ2ymoc/viewform?ts=66a737cb&edit_requested=true

รู้จัก 'ปัณฑา สิริกุล' หัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการวางเส้นเรื่อง 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา 'มายาธิปไตย 2475 #เทสที่สร้างร่างที่เป็น’

ถือเป็นอีกหนึ่งงานเสวนาที่ห้ามพลาด!! กับ 'มายาธิปไตย 2475 #เทสที่สร้างร่างที่เป็น' ในวันอังคารที่ 6 สิงหาคมนี้ ที่ห้องประชุมชั้น 12 อาคารศรีศรัทธา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

โดยงานนี้ ได้รับเชิญผู้ร่วมเสวนาผู้ทรงเกียรติหลายท่าน ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ...

คุณหมู 'ปัณฑา สิริกุล' นักเขียนบท (2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ Dawn of Revolution), นักเขียนบทสารคดี, ผู้ผลิตสารคดี และเป็นผู้ศึกษาแนวคิดการทำงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 มากว่า 30 ปี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่มาของฝนหลวง แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงที่แท้จริงนั้นคืออะไร

นอกจากนี้ คุณปัณฑา ยังถือเป็นผู้ชำนาญการด้านประวัติศาสตร์อีกด้วย นั่นจึงทำให้เธอกลายมาเป็นอีกหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการวางเส้นโครงเรื่อง และเกลาเส้นเรื่อง 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ Dawn of Revolution ให้มีความน่าสนใจและย่อยง่ายแก่ผู้ชมที่ไม่เคยรับทราบประวัติศาสตร์มาก่อน

ทั้งนี้ ในบทสัมภาษณ์หนึ่งที่มีการกล่าวถึงทีมเขียนบท คุณปัณฑา ได้ยอมรับว่า กว่าภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวจะออกสู่สายตาประชาชนได้ จำเป็นต้องได้ข้อมูลที่มีที่มาที่ไปชัดเจน ไม่ใช่การมโนหรือปั้นแต่งขึ้นเอง เหตุการณ์ที่อยู่ในเรื่องทั้งหมด ล้วนเป็นเรื่องราวที่มีการถูกบันทึกทางประวัติศาสตร์ โดยเธอต้องใช้หนังสืออ้างอิงประมาณ 4-5 ลัง เพื่อเรียบเรียงข้อมูลทางประวัติศาสตร์ และเขียนบทดังกล่าวขึ้นมา

"สำหรับภาพยนตร์เรื่อง 2475 Dawn of Revolution เป็นการกล่าวถึงเหตุการณ์ของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าคณะราษฎร นำโดยพระยาพหลพลพยุหเสนายึดพระราชอำนาจจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ และเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2475 ก่อนจะนำไปสู่เหตุการณ์ต่าง ๆ ในกลุ่มคณะราษฎรตามมา" คุณปัณฑา กล่าวและเสริมว่า...

"โดยภาพยนตร์ดังกล่าวเป็นการเผยแพร่ และสร้างการรับรู้ ประวัติศาสตร์ชาติไทย ในเหตุการณ์ ห้วงปี พ.ศ. 2475 ที่ถูกต้อง เพื่อเป็นการเสริมสร้าง และปลูกฝังอุดมการณ์ความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ให้กับกำลังพล ครอบครัว และเยาวชนต่อไป"

สำหรับงานเสวนา 'มายาธิปไตย 2475 #เทสที่สร้างร่างที่เป็น' จะจัดขึ้นในวันอังคารที่ 6 สิงหาคมนี้ เวลา 10.00 - 12.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 12 อาคารศรีศรัทธา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

พร้อมรับชม '2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ Dawn of Revolution' ในเวลา 13.30 - 16.40 ณ สถานที่เดียวกัน

📌 สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถลงทะเบียนสำรองที่นั่งเข้าร่วมกิจกรรมฟังเสวนาและชมภาพยนตร์ 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ ได้ที่: https://docs.google.com/forms/d/1utXQT68NCUZks5YYcILGBQ91B76zILkSoQ7srQ2ymoc/viewform?ts=66a737cb&edit_requested=true


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top