Friday, 16 May 2025
TheStatesTimes

'เศรษฐา' ร่ายยาว!! ของบ 3.75 ลลบ.เติมเศรษฐกิจโตเต็มศักยภาพ พร้อมคำมั่น!! ปลายปี 'ดิจิทัลวอลเล็ต' ถึงมือประชาชน

(19 มิ.ย.67) ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร วาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท โดยในปีนี้ไม่มีการตั้งงบประมาณเพื่อชดใช้เงินคงคลัง

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ชี้แจงเหตุผลการของบประมาณว่า ร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ 2568 เป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากปีงบประมาณฯ 2567 มีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้เต็มศักยภาพ สร้างรายได้ให้กับประชาชนและประเทศ ผ่านการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภา และวิสัยทัศน์ Ignite Thailand ซึ่งประกอบด้วยการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลาง 8 อุตสาหกรรม บนการพัฒนา 6 พื้นฐานสำคัญ มาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการงบประมาณ ในการพัฒนาและจัดสรรทรัพยากรของประเทศให้บรรลุเป้าหมาย รวมทั้งคำนึงถึงความสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ รัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และแผนการปฏิบัติราชการของกระทรวง เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ และประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม

นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2568 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.5-3.5 มีการปรับลดลงจากประมาณการเดิมที่ประมาณการไว้ในแผนการคลังระยะปานกลาง ปีงบประมาณ 2568-2571 โดยมีแรงสนับสนุนจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งออกสินค้าตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก การขยายตัวของการอุปโภคบริโภค และการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ จากความยืดเยื้อของความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ และการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้า ที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และสร้างความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุน สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในปี 2568  คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 2568 จะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.7–1.7 และดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มเกินดุลร้อยละ1.5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 

“ในช่วงปลายปี 2567 นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จะถึงมือคนไทย 50 ล้านคน เกิดเป็นพายุหมุนทางเศรษฐกิจ กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงตั้งแต่ระดับฐานราก กระจายไปยังพื้นที่ทั่วประเทศ ก่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย การสั่งผลิตสินค้า การจ้างงาน และหมุนกลับมาเป็นเงินภาษีให้กับภาครัฐ เพื่อใช้ในการลงทุนเพื่อสร้างขีดความสามารถให้กับประเทศต่อไป” นายกฯ กล่าว

นายเศรษฐา กล่าวว่า ช่วงต้นปี 2567 รัฐบาลได้ประกาศวิสัยทัศน์ Ignite Thailand เป็นเป้าหมายของการพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของ 8 ด้านได้แก่ ศูนย์กลางการท่องเที่ยว ศูนย์กลางการแพทย์
และสุขภาพ ศูนย์กลางเกษตรและอาหาร ศูนย์กลางการบิน ศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาค ศูนย์กลางการผลิตยานยนต์แห่งอนาคต ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล และศูนย์กลางการเงิน บนการพัฒนา 6 พื้นฐานที่สำคัญได้แก่ การเป็นรัฐบาลดิจิทัลเพื่อความโปร่งใส ความเสมอภาคเท่าเทียม ความสะอาดและปลอดภัย ระบบขนส่งที่เข้าถึงและสะดวก การศึกษาและเรียนรู้สำหรับทุกคน พลังงานสะอาดและมั่นคง

กลยุทธ์ของการมุ่งไปสู่ 8 ศูนย์กลาง คือการต่อยอดจุดแข็งของประเทศด้านต่างๆ เช่น สถานที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม ทักษะของคนไทย โครงสร้างพื้นฐาน และอุตสาหกรรมในปัจจุบันที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนต่อยอดให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมของภูมิภาคและของโลกได้ เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว, อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ, อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร, อุตสาหกรรมการขนส่งและการบิน เป็นต้น

นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ครึ่งปีแรกของปี2567 แสดงให้เห็นว่าการท่องเที่ยว
เป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยมีเป้าหมายไว้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศทั้งปีมากกว่า 36.7 ล้านคน กลับไปสู่ระดับสูงใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด และรัฐบาลมีแผนที่จะทำให้ปี 2568 เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวที่ยิ่งใหญ่ เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวให้มากยิ่งขึ้น และกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวผ่านการเฟ้นหาจุดเด่น จัดเทศกาล กิจกรรม คอนเสิร์ต หรือการแสดงต่างๆ เพื่อเพิ่มระยะเวลาการพำนัก และค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของนักท่องเที่ยวในอนาคต ซึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องมีการขยายโครงสร้างพื้นฐานทางอากาศมากยิ่งขึ้น ทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางทางการบิน โดยรัฐบาลจะเดินหน้าขยายโครงข่ายสนามบินทั่วประเทศเพื่อให้รองรับผู้โดยสารได้มากขึ้น และขยายกำลังความสามารถในการขนส่งทางอากาศ การขนส่งควบคุมอุณหภูมิ และเชื่อมต่อไปยังการขนส่งทางรถ ราง และเรืออย่างครบวงจร ทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งจากไทยไปยังกลุ่มประเทศ CLMV และเชื่อมต่อ
ไปยัง Land Bridge เพื่อไปทั่วโลกได้ 

ส่วนเกษตรกรรมและอาหารเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถยกระดับสู่อุตสาหกรรมมูลค่าสูง โดยรัฐบาลมีมาตรการที่จะดูแลภาคส่วนนี้ตั้งแต่ต้นน้ำโดยการบริหารจัดการน้ำ ดิน พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจ การแปรรูป และดูแลบริหารอย่างครบวงจร ทำให้ภาคเกษตรและอาหารแข็งแรงยิ่งขึ้น

นายกฯ กล่าวอีกว่า ปัญหาหนี้สินยังเป็นปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะในภาคครัวเรือนที่มีภาระหนี้สินสูงกว่าร้อยละ 91.3 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และยังมีภาระหนี้นอกระบบ โดยรัฐบาลได้มีมาตรการช่วยเหลือในการไกล่เกลี่ย และจับกุมเจ้าหนี้นอกระบบที่ทำผิดกฎหมาย เพื่อคืนอิสรภาพให้กับพี่น้องประชาชนที่เคยตกอยู่ในวังวนหนี้สินไม่รู้จบ ส่วนในภาคธุรกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประเมินว่าใน SMEs จำนวนกว่า 3.2 ล้านราย มีเพียงไม่ถึงครึ่งที่เข้าถึงสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน ทำให้ต้องอาศัยแหล่งสินเชื่อที่ไม่เป็นธรรม ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ ด้านการใช้จ่ายจำเป็นในการหมุนเวียนประจำวัน และการลงทุนเพื่อขยายธุรกิจ ส่งผลให้หลายบริษัทต้องปิดตัวลง การเจริญเติบโตในภาค SMEs อยู่ในระดับต่ำ สินเชื่อในกลุ่ม SMEs มีการขยายตัวติดลบร้อยละ 5.1 ในขณะที่สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ขยายตัวร้อยละ 3.3 ในไตรมาส 1 ของปี 2567

นายเศรษฐา กล่าวว่า ภายใต้สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุล เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่อง โดยประมาณการจัดเก็บรายได้จากภาษีอากร (สุทธิ) การขายสิ่งของและบริการ รายได้จากรัฐพาณิชย์ และรายได้อื่น รวมสุทธิทั้งสิ้น จำนวน 3,022,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 จากปีก่อน และหักการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามพ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 135,700 ล้านบาท คงเหลือเป็นรายได้สุทธิที่สามารถนำมาจัดสรร
เป็นรายจ่ายของรัฐบาล จำนวน 2,887,000 ล้านบาท ประกอบกับเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 865,700 ล้านบาท รวมเป็นรายรับทั้งสิ้น 3,752,700 ล้านบาท เท่ากับวงเงินงบประมาณรายจ่าย การจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล จึงมีความสำคัญและจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวอย่างเชื่องช้าให้เติบโตได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเม็ดเงินจำนวนมากจะไหลจากภาครัฐไปสู่ภาคเอกชน ก่อให้เกิดการสั่งซื้อสินค้า การบริการ และหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

นายกฯ กล่าวอีกว่า ฐานะการคลังนั้น หนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 มีจำนวน 11,474,154.0 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 63.37 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะ ตามกฎหมาย
ว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดไว้ต้องไม่เกินร้อยละ 70 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ปัจจุบันฐานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 30 เมษายน 2567 มีจำนวน 430,076.3 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะบริหารเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม บริหารรายรับและรายจ่ายของรัฐให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด 

ทั้งนี้ ฐานะการเงินด้านต่างประเทศของไทยในปัจจุบัน อยู่ในเกณฑ์ดี มูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 มีจำนวน 224,483.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 2.5 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ซึ่งจัดว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งมาก                         

นายเศรษฐา กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2568 มีวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 3,752,700 ล้านบาท จำแนกเป็นรายจ่ายประจำ จำนวน 2,704,574.7 ล้านบาท หรือร้อยละ 72.1 รายจ่ายลงทุน จำนวน 908,224 ล้านบาท หรือร้อยละ 24.2 ซึ่งเป็นสัดส่วนการลงทุนที่สูงที่สุดในรอบ 17 ปี และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 150,100 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.0 ทั้งนี้รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้เป็นรายจ่ายลงทุนกรณีการกู้เพื่อการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 10,198.7 ล้านบาท 

นอกจากนี้ ในส่วนของยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ได้กำหนดไว้ผ่าน 6 ยุทธศาสตร์ ดังนี้...

ยุทธศาสตร์ ที่ 1 ด้านความมั่นคง รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 405,412.8 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.8 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อพัฒนาความมั่นคง เช่นการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้  เสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ 

ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 398,185.9 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10.6 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อส่งเสริมให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้มีเสถียรภาพและยั่งยืน ผลักดันการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเป็นศูนย์กลางการขนส่ง และขยายโอกาสทางการค้า การลงทุน 
 

ยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 583,023.4 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 15.5 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน ปฏิรูประบบการศึกษาและสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต พัฒนาระบบบริการสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมทุกพื้นที่ ส่งเสริมการอนุรักษ์และพัฒนามรดกทางศิลปวัฒนธรรมสู่อุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ พัฒนาศักยภาพการกีฬาสู่ความเป็นเลิศและได้มาตรฐานสากล ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีสามารถพึ่งพาตนเองได้ รวมทั้งพัฒนาและยกระดับทักษะฝีมือแรงงานไทยให้ได้มาตรฐานรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายและการแข่งขันในตลาดโลก  

ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 923,851.4 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 24.6 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อให้คนไทยได้รับสวัสดิการพื้นฐาน บริการสาธารณะอย่างทั่วถึงเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ สนับสนุนการเตรียมความพร้อมสังคมไทยในการรองรับสังคมสูงวัย เพิ่มศักยภาพและยกระดับผู้ประกอบการธุรกิจ ส่งเสริมสภาพแวดล้อมและกลไกการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เร่งดำเนินการให้ประชาชนมีสิทธิในที่ดินทำกิน พัฒนาระบบสาธารณสุข ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาที่มีคุณภาพและมาตรฐาน รวมทั้งสร้างหลักประกันสวัสดิการ สำหรับแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ

ยุทธศาสตร์ที่ 5 ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย  จำนวน 137,291.9 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.7 ของวงเงินงบประมาณ เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน และสร้างการเติบโตบนสังคมเศรษฐกิจสีเขียว 

และ ยุทธศาสตร์ที่ 6 ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 645,880.9 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17.2 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อให้ระบบการบริหารราชการมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล มุ่งผลสัมฤทธิ์และผลประโยชน์ส่วนรวม

นายกฯ กล่าวอีกว่า ส่วนการดำเนินการภาครัฐนั้นรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้ จำนวน 659,053.7 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17.6 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายรองรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมายสำหรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ  แบ่งเป็นแผนงานบริหารเพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินหรือจะเป็นจำนวน 248,800.0 ล้านบาท เพื่อสำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น การเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง ภารกิจที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐ และเงินชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้าง รวมถึงการกระตุ้นและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ โดยคำนึงถึงวินัยทางการคลัง และแผนงานบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ จำนวน 410,253.7 ล้านบาท เพื่อให้การบริหารจัดการหนี้และการชำระหนี้ภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจ

“งบประมาณฯ 2568 จำนวน 3,752,700 ล้านบาท มีที่มาจากรายได้ที่คาดว่าจะจัดเก็บได้ จำนวน 2,887,000 ล้านบาท และเป็นการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 865,700 ล้านบาท แม้ว่างบประมาณปีนี้จะมีการขาดดุลเพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลได้จัดสรรรายจ่ายลงทุนไว้ จำนวน 908,224 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 24.2 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 27.9 และเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 17 ปีที่ผ่านมา การบริหารงบประมาณรายจ่ายทั้งหมดนี้ จะเป็นการใช้จ่ายเพื่อดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล และกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลจะดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ ใช้จ่ายเงินภาษีของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด กระตุ้นเศรษฐกิจให้เม็ดเงินไหลไปสู่ประชาชนและภาคธุรกิจ สร้างการเจริญเติบโตให้กับประเทศ พัฒนาศักยภาพอย่างยั่งยืน และเป็นไปตามกฎหมาย” นายเศรษฐากล่าว

'อาจารย์อุ๋ย ปชป.' ยินดี!! ไทยสมัครเป็นสมาชิก BRICS สะท้อนการรับมือระเบียบโลกใหม่จากหลายขั้วได้อย่างเหมาะสม

(19 มิ.ย. 67) จากกรณีที่ประเทศไทยได้แสดงเจตจำนงที่จะเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่ม BRICS เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา นั้น นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรืออาจารย์อุ๋ย นักวิชาการด้านกฎหมายและอดีตผู้สมัคร สส.กรุงเทพมหานคร เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...

ผมเห็นด้วยและขอแสดงความยินดีกับการที่ไทยแสดงความจำนงเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันของประเทศตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ ซึ่งจนถึงปัจจุบันประกอบด้วย บราซิล, อินเดีย, จีน, แอฟริกาใต้, อิหร่าน, อียิปต์, เอธิโอเปีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วมีขนาดเศรษฐกิจถึงร้อยละ 28.3 ของโลก และมีจำนวนประชากร ร้อยละ 45.5 ของประชากรโลก โดยรัฐสมาชิกจะยึดถือหลักการความเสมอภาค มีผลประโยชน์ร่วมกัน และไม่แทรกแซงกิจการภายใน ซึ่งสอดคล้องกับหลักการที่บัญญัติไว้ในกฎบัตร ASEAN 

โดยการเป็นสมาชิกนี้จะทำให้ไทยได้ประโยชน์ในหลายด้าน อาทิเช่น ยกระดับบทบาทของไทยในเวทีโลก เพิ่มบทบาทของไทยในการกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และเพิ่มโอกาสของไทยในการมีส่วนร่วมสร้างระเบียบโลกใหม่ที่มีความยุติธรรมมากขึ้น เพื่อยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า ทุนสำรอง การสื่อสารข้อมูล คุ้มครองการลงทุน ส่งเสริมการลงทุน ทลายกำแพงการค้า (Trade Barrier) และค้าขายด้วยสกุลเงินอื่นนอกเหนือจากดอลลาร์สหรัฐ 

นอกจากนี้เรายังเพิ่งแสดงความจำนงขอเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD ซึ่งเป็นกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วกว่า 30 ประเทศ ในยุโรปและอเมริกา และเราก็ยังคงเป็นสมาชิก APEC อยู่ด้วยซึ่งมีทั้งสหรัฐอเมริกา, จีน และรัสเซีย เป็นสมาชิกเช่นกัน ดังนั้น ใครจะมาบอกว่าเราเลือกข้าง คงไม่ใช่ แต่เป็นการแสวงหาโอกาสเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของประเทศ 

ด้วยสภาวการณ์ของโลกปัจจุบันที่มีความแปรปรวนและยืดหยุ่นสูง ประกอบกับเงื่อนไขทางภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศไทย การรักษาสมดุลระหว่างขั้วอำนาจโลกอย่างเหมาะสมและมียุทธศาสตร์เท่านั้น ที่จะทำให้ประเทศไทยพัฒนาก้าวหน้าอย่างมั่นคงและมีศักดิ์ศรีในเวทีโลก ผมขอให้กำลังใจรัฐบาลในเรื่องนี้และขอให้รัฐบาลใช้โอกาสอันมีค่านี้ สร้างประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศไทยและคนไทยครับ ด้วยความปรารถนาดี"

‘โซเชียล' สงสัย!! ทริปบุคลากรมหาลัยในภาคอีสาน จัด 'สัมมนา-ดูงาน' ที่ภูเก็ต แต่ทำไมดูเหมือนไปเที่ยว

(19 มิ.ย.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก หลังเพจเฟซบุ๊ก ‘ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน’ โพสต์ข้อความ ถึงบุคลากรมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในภาคอีสาน เดินทางไปสัมมนาดูงานที่ ภูเก็ต จำนวน 40 ชีวิต รวม 4 วัน 3 คืน 

โดยเนื้อความในโพสต์ ได้ระบุว่า… 

"สัมมนาทางทะเล คณะ... ขนบุคลากรกว่า 40 คน ไปดูงานสัมมนา 4 วัน 3 คืน ที่ภูเก็ต เมื่อวันที่ 15-18 พ.ค. 67 เริ่มทริปบินตรงจากขอนแก่นมุ่งสู่ภูเก็ต วันแรกเอาฤกษ์เอาชัยพากันไปไหว้พระ เดินดูเมืองเก่า ซื้อของฝาก เช้าวันต่อมาแวะไปดูงานที่ ม.สงขลานครินทร์ จนถึงบ่าย”

“วันที่ 17 พ.ค. 67 นั่งเรือชมวิวไปเกาะพีพี อ่าวมาหยา พร้อมดำน้ำดูปะการัง ตบท้ายมื้อค่ำด้วยโชว์ภูเก็ตแฟนตาซี และวันสุดท้ายไปลอดถ้ำ พายเรือแคนูที่พังงา แล้วบินกลับพร้อมความรู้ทางทะเลสุดฉ่ำ"

'มิสเตอร์เอทานอล' เตือนรัฐบาลอย่าทอดทิ้งเอทานอล พลังงานไทยจากหยาดเหงื่อของเกษตรกรกว่า1ล้านครัวเรือน

“อลงกรณ์”ห่วงอุตสาหกรรม
เอทานอลล่มสลายเกษตรกรล่มจม
เสนอ 5 มาตรการเดินหน้าอุตสาหกรรมเอทานอล

วันนี้นายอลงกรณ์ พลบุตร ฉายา“มิสเตอร์เอทานอล”(Mr.Ethanol)และรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคประชาธิปัตย์โพสต์ข้อความในเฟสบุ๊ค“อลงกรณ์ พลบุตร”เรื่อง อย่าทอดทิ้งเอทานอล พลังงานไทยจากหยาดเหงื่อเกษตรกร“แสดงความกังวลต่อนโยบาย”เอทานอล“ของกระทรวงพลังงานพร้อมเสนอ 5 มาตรการเดินหน้าอุตสาหกรรมเอทานอลโดยมีข้อความดังต่อไปนี้

อลงกรณ์ขับรถไถจากสวนจิตรลดาบุกทำเนียบรัฐบาลในเดือนกันยายนปี2544เพื่อโปรโมทโครงการเอทานอลจนคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในสัปดาห์ถัดมา

”อย่าทอดทิ้งเอทานอล พลังงานสะอาดจากหยาดเหงื่อของเกษตรกรไทย“

ผมกังวลใจที่ทราบว่ากระทรวงพลังงานจะไม่สนับสนุนเอทานอลน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพที่ผลิตจากอ้อยและมันสำปะหลังโดยการจำหน่ายน้ำมันจะเหลือเพียง น้ำมันเบนซินและน้ำมันแก๊สโซฮอล์95 (E10) ทั้งที่ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) สนับสนุนE20จะทำให้
การใช้เอทานอลลดลงถึง50%กระทบต่อเกษตรกรและอุตสาหกรรมเอทานอลที่ประเทศไทยเริ่มมาตั้งแต่ปี2544จนปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานเอทานอล28โรงมีกำลังการผลิต 6.8 ล้านลิตรต่อวัน เป็นอันดับ 7 ของโลก ซึ่งทุกวันนี้ผลิตเพียง3.1-3.2 ล้านลิตรต่อวัน หากในอนาคตปรับเหลือแค่ E10 ก็จะลดลงไปอีก50% อาจถึงการล่มสลายของอุตสาหกรรมเอทานอลและเกษตรกรล่มจม

“เมื่อปี2543เกิดวิกฤติการณ์น้ำมันประเทศไทยกระทบรุนแรงเพราะนำเข้าน้ำมันถึง90% ผมเสนอให้ประเทศไทยผลิตน้ำมันเอทานอล(แอลกอฮอล์)จากพืชซึ่งมีโรงงานต้นแบบของในหลวงในวังสวนจิตรลดาจึงได้รับแต่งตั้งจากรัฐมนตรีวิทยาศาสตร์ฯ.(ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์)เป็นประธานโครงการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจากพืชในต้นปี2544และเสนอรายงานต่อคณะรัฐมนตรี(ฯพณฯ.ชวน หลีกภัย)ให้ความเห็นชอบให้ผลิตเอทานอลเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อวันที่19 กันยายน 2544 เพื่อลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ ลดคาร์บอนและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยชาวไร่มันสำปะหลังซึ่งเป็นวัตถุดิบในการแปรรูปเป็นน้ำมันเอทานอลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจนได้รับฉายา”มิสเตอร์เอทานอล“ 

นับเป็นเวลากว่า20ปีที่อุตสาหกรรมเอทานอลเติบโตและมีน้ำมันแก๊สโซฮอล์(เบนซิน-แก๊สโซลีนผสมเอทานอล-แอลกอฮอล์)จำหน่ายทุกปั้มทั่วประเทศ มีน้ำมัน E10 E20และE85 (EคือEthanol, E10คือเอทานอล10%เบนซิน90% E20และE85มีส่วนผสมเอทานอล 20%และ85%) โดยอุตสาหกรรมยานยนต์ยอมรับการปรับแต่งเครื่องยนต์และอุตสาหกรรมน้ำมันก็ให้การสนับสนุน

การที่รัฐบาลปัจจุบันโดยกระทรวงพลังงานจะลดการส่งเสริมสนับสนุนจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเอทานอลและเกษตรกรชาวไร่อ้อยชาวไร่มันสำปะหลังประสบความเดือดร้อนอย่างรุนแรงเพราะเพียงแค่มีข่าวว่าจะลดเหลือเพียงน้ำมันE10ชาวไร่ก็ถูกกดราคาแล้ว

ผมจึงขอเสนอมาตรการให้รัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงพลังงานพิจารณา ดังต่อไปนี้
1. ส่งเสริมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง E20 เป็นน้ำมันพื้นฐานและยังคงจำหน่ายน้ำมัน E85
2. ขยายเวลาการบังคับ “มาตรการยกเลิกชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ” ตาม พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 รอบ2 เป็นเวลา 2 ปี ซึ่งปัจจุบันราคาน้ำมันกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ ก็เป็นราคาตามกลไกตลาดโลกและต้นทุนของเอทานอลอยู่แล้ว โดยกองทุนน้ำมันฯ ไม่ได้นำเงินไปช่วยชดเชยราคาแต่อย่างใด และยังเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ อีกด้วย
3. ส่งเสริมเอทานอลเกรดอุตสาหกรรมให้สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นได้ อาทิ ไบโอพลาสติก,อุตสาหกรรมยา,อุตสาหกรรมสีทาบ้านและอุตสาหกรรมเคมี เป็นต้นโดยแก้ไขหรือยกเลิก พระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 เพราะปัจจุบันเอทานอลไม่สามารถนำมาใช้ด้วยเกรงจะถูกนำไปผลิตเป็นเหล้าเถื่อนกระทบบริษัทผลิตเหล้าและองค์การสุราทั้งที่มีมาตรการป้องกันได้เหมือนการนำเอทานอลมาใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิง

4. ส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมไบโอรีไฟนารี่(Biorefinery)คืออุตสาหกรรมพลังงานและเคมีชีวภาพซึ่งเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตเพื่อต่อยอดเพิ่มมูลค่าเอทานอล
5. เพิ่มศักยภาพการส่งออกเอทานอล โดยภาครัฐสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต(Productivity)ของโรงงานและชาวไร่ให้มีผลผลิตสูงขึ้นสามารถแข่งขันชิงตลาดโลกได้
ประเทศของเราผลิตเอทานอลได้เกือบ7ล้านลิตรต่อวันแต่กลับหยุดส่งออกเอทานอลตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2556 หรือ11ปีมาแล้วโดยรัฐบาลขณะนั้นออกมาตรการระงับการส่งออกด้วยเกรงเอทานอลจะไม่พอใช้ในประเทศ โดยยกเว้นให้ส่งออกเป็นบางกรณี เช่น เดือนมีนาคม 2557 มีการส่งออกจำนวน 4 ล้านลิตรและเดือนธันวาคม 2563 ส่งออกเพียง 5.4 หมื่นลิตร มีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น และอังกฤษ ปัจจุบันกำลังการผลิตใช้เพียงครึ่งเดียวเหลือวันละ 3 ล้านลิตร หากส่งออกได้ก็จะเพิ่มกำลังผลิตได้เต็มกำลังการผลิตจริง 

“รถจดทะเบียนสะสมมีกว่า 44 ล้านคัน ส่วนรถไฟฟ้ามีแสนกว่าคัน ดังนั้นน้ำมันสำหรับรถสันดาปภายในยังมีความต้องการอีกมาก การผลิตน้ำมันชีวภาพ(Biofuel)ทั้งเอทานอลและไบโอดีเซลมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงานและรัฐบาลใช้กองทุนน้ำมันอุดหนุนราคาดีเซลและแก๊สกว่าแสนล้านบาทโดยไม่ได้อุดหนุนราคาแก๊สโซฮอลล์มิหนำซ้ำกลับจะทำลายรากฐานของการพึ่งพาตัวเองของประเทศที่เราสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมเอทานอลจนเติบใหญ่เป็นอันดับ7ของโลกและช่วยลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ เรามาไกลเกินกว่าจะหันหลังกลับ ผมขอให้กระทรวงพลังงานและรัฐบาลทบทวนนโยบายเสียใหม่ อย่าทอดทิ้งเอทานอล พลังงานไทยจากหยาดเหงื่อของเกษตรกรกว่า1ล้านครัวเรือน “

‘IMD’ ปรับอันดับขีดความสามารถไทยปี 67 ขึ้น 5 อันดับ ขยับสู่อันดับ 25 จาก 30 วิ่งแซงมาเลเซียที่อยู่อันดับ 34

(19 มิ.ย. 67) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่าได้รายงานคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเขตเศรษฐกิจ 67 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งจัดอันดับโดย International Institute for Management Development หรือ IMD สวิตเซอร์แลนด์ ประจำปี 2566

โดยในส่วนของประเทศไทย อันดับของประเทศไทยดีขึ้น 5 อันดับ จากอันดับที่ 30 ในปี 2566 ขึ้นมาอยู่อันดับที่ 25 ในปีนี้ โดยอันดับของประเทศไทยยังถือว่าดีที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ในอาเซียนรองจากสิงคโปร์

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาปัจจัย 4 ด้านที่ใช้ในการจัดอันดับ ไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันดีขึ้นจากปีที่แล้วใน 2 ด้าน คือ สมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) และประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) โดยด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) มีอันดับดีขึ้นมากที่สุดถึง 11 อันดับ จากอันดับที่ 16 มาอยู่อันดับที่ 5 เนื่องจากในทางการคลังเราเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจากเดิม

ขณะที่ด้านประสิทธิภาพภาครัฐปรับเพิ่มขึ้น 3 อันดับ จาก 23 มาอยู่ที่ 20 ด้านโครงสร้างพื้นฐาน อยู่ในอันดับ 43 เท่าเดิม และด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ คงที่อยู่ในอันดับที่ 24

ส่วนในภาพรวมของเศรษฐกิจในอาเซียน จากเขตเศรษฐกิจในสมาชิกประชาคมอาเซียนรวม 10 เขตเศรษฐกิจ ยังคงมีเพียง 5 เขตเศรษฐกิจ คือ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ที่ได้รับการจัดอันดับโดย IMD

ซึ่งเขตเศรษฐกิจที่มีอันดับความสามารถในการแข่งขันสูงสุดของอาเซียนในปี 2567 ยังคงเป็นสิงคโปร์อันดับ 1 และเป็นที่น่าสนใจว่าทั้งไทย และอินโดนีเซีย ต่างสามารถพัฒนาอันดับขีดความสามารถขึ้นมาสูงกว่ามาเลเซียในปีนี้ โดยไทยได้รับการจัดอันดับ ที่ 25 และอินโดนีเซียที่ อันดับ 27 ในปีนี้ ตามมาด้วยมาเลเซีย อันดับ 34 และฟิลิปปินส์ อันดับ 52 ตามลำดับ

‘เกาะอังกฤษ’ เสน่ห์หาย มหาเศรษฐีแห่หอบเงินหนี ผลจากภาวะเศรษฐกิจ - แนวโน้มเปลี่ยนขั้วรัฐบาล

‘สหราชอาณาจักร’ กลายเป็นประเทศในโซนยุโรป ที่มีมหาเศรษฐีย้ายออกมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ในปีนี้ (2024) ที่มีการย้ายออกสุทธิมากถึง 9,500 ราย เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึง 2 เท่า และมีแนวโน้มที่จะย้ายออกเพิ่มขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง หลังรู้ผลการเลือกตั้งใหญ่ของอังกฤษในปีนี้ 

จากรายงานการสำรวจการโยกย้ายถิ่นฐานของ The Henley Private Wealth Migration ประจำปี 2024 พบว่าอังกฤษกลายเป็นประเทศที่มหาเศรษฐีอยากจะย้ายออกมาเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศจีนในปีนี้ แถมมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนอาจเรียกได้ว่าเป็นวิกฤติการย้ายถิ่นแบบ Exodus หรือการทิ้งถิ่นฐานของมหาเศรษฐีจำนวนมากอย่างไม่เคยมีมาก่อน

ซึ่งในปีนี้ มีเศรษฐีในอังกฤษ ย้ายออกไปประเทศอื่นแล้วถึง 9,500 เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ที่มีเศรษฐีย้ายออก 4,200 ราย นับว่าเพิ่มขึ้นถึงเท่าตัว

ถึงแม้ว่าจีนจะยังคงเป็นประเทศที่มีคนระดับเศรษฐีย้ายออกมากที่สุดในโลก ซึ่งมีตัวเลขการย้ายออกสุทธิอยู่ที่ 15,200 รายในปีนี้ แต่หากเทียบกับตัวเลขในอดีตที่อังกฤษเคยติดอันดับกลุ่มประเทศที่มีมหาเศรษฐีอยากย้ายเข้ามากที่สุด เป็นจุดหมายปลายทางระดับพรีเมียมที่ใครต่อใครสนใจที่จะย้ายถิ่นเข้ามาอยู่ นับว่าเป็นปัญหาที่ไม่ธรรมดาเลยสำหรับอังกฤษ

‘Henley’ บริษัทที่ปรึกษาด้านการย้ายถิ่นฐานระบุว่า ช่วงระหว่างปี 1950 - 2000 ถือเป็นยุคทองของสหราชอาณาจักร ที่ครอบครัวชนชั้นสูง ตระกูลเศรษฐีทั่วทั้งยุโรป, แอฟริกา, เอเชีย และ ตะวันออกกลาง นิยมย้ายถิ่นมาลงหลักปักฐานในอังกฤษเป็นจำนวนมาก 

แต่ในวันนี้กลับไม่ใช่แล้ว กลุ่มคนที่มีทรัพย์สินมั่งคั่งในอังกฤษเริ่มมองหาประเทศทางเลือกอื่น ๆ ในการย้ายถิ่นที่อยู่ใหม่ เห็นได้ชัดเจนจากตัวเลขประชากรระดับเศรษฐีของอังกฤษลดลงถึง 8% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สวนทางกับจำนวนประชากรเศรษฐีในประเทศเศรษฐกิจหลักของกลุ่มชาติตะวันตกในช่วงเวลาเดียวกัน อาทิ เยอรมัน ที่มีจำนวนเศรษฐีเพิ่มขึ้นถึง 15% ในขณะที่สหรัฐอเมริกา มีจำนวนเศรษฐีเพิ่มมากถึง 62% 

แต่อะไรเป็นสาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เสน่ห์ของประเทศอังกฤษหายไป ไม่ชวนดึงดูดกลุ่มเศรษฐี นักลงทุนให้มาอยู่ได้อย่างที่แล้วมา?

แรกที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ ผลพวงจากผลประชามติ Brexit ซึ่งในช่วงปี 2017 - 2023 หลังจากที่อังกฤษออกจากการเป็นสมาชิกภาพของสหภาพยุโรปแล้ว มีตัวเลขประชากรเศรษฐีในอังกฤษย้ายถิ่นไปแล้วถึง 16,500 ราย และตัวเลขการย้ายถิ่นของคนกลุ่มนี้ยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดทุกปี 

แต่นั่นไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำเศรษฐีอังกฤษหอบเงินหนี ‘ฮานนาห์ ไวท์’ CEO ของสถาบันวิเคราะห์ยุทธศาสตร์รัฐบาล เผยว่าการย้ายถิ่นครั้งใหญ่ของเศรษฐีจะยิ่งเร่งสปีดเร็วขึ้นกว่าเดิมหลังรู้ผลการเลือกตั้งใหญ่ของอังกฤษในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้

จากผลโพลหลายสำนักในอังกฤษชี้ตรงกันว่าพรรคแรงงาน ฝ่ายซ้าย ที่เป็นฝ่ายค้านในปัจจุบันมีคะแนนนำเหนือพรรคอนุรักษ์ฝ่ายรัฐบาล ถึง 46% ต่อ 21% มีโอกาสคว้าชัยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลใหม่สูงมาก 

โดยพรรคแรงงานมีนโยบายการจัดเก็บภาษีที่เข้มงวด โดยเน้นการเก็บภาษีเพิ่มในกลุ่มคนต่างด้าว ลดช่องทางการหลีกเลี่ยงภาษี ยกเลิกการลดหย่อนภาษีสำหรับโรงเรียนเอกชน และเพิ่มภาษีสำหรับการซื้ออสังหาริมทรัพย์โดยบุคคลที่ไม่ได้ถือวีซ่าผู้อาศัยในอังกฤษ อีกทั้งขึ้นภาษีที่ดินเป็น 40% สำหรับที่ดินที่มีราคาสูงกว่า 325,000 ปอนด์ เพื่อนำภาษีเหล่านั้นมาลงให้กับกองทุนสวัสดิการสังคมต่าง ๆ ของชาวอังกฤษ 

ด้วยปัจจัยด้านนโยบายในการจัดเก็บภาษีคนรวย บวกกับสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ ภาวะเงินเฟ้อในประเทศ และ การถูกยกเลิกสิทธิพิเศษจากการเป็นสมาชิก EU ทำให้เศรษฐีในอังกฤษตัดสินใจย้ายออกอย่างมากมายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

นับเป็นความท้าทายที่สาหัสทีเดียวสำหรับรัฐบาลชุดใหม่ของอังกฤษ ในการฟื้นฟูประเทศ เรียกบรรยากาศที่เคยดึงดูดกลุ่มเศรษฐีมีเงินทั่วโลก ที่เคยหอบทรัพย์สินหลั่งไหลมาตั้งถิ่นฐานใน ‘ดินแดนแห่งผู้ดี’ เช่นในอดีต

เชียงราย การประชุมคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นเมียนมา – ไทย ครั้งที่ 99 (TBC– 99) 

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 พันเอก ณฑี  ทิมเสน ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจทัพเจ้าตาก/ประธานคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น ไทย–เมียนมา (TBC) ฝ่ายไทย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย และ พันโท อ่องลินอู ผู้บังคับกองพันเคลื่อนที่เร็วที่ 133/ประธานคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นเมียนมา – ไทย (TBC) ฝ่ายเมียนมา จังหวัดท่าขี้เหล็ก เป็นประธานร่วม ในการประชุมคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นเมียนมา-ไทย ครั้งที่ 99 (TBC – 99) โดยฝ่ายเมียนมา เป็นเจ้าภาพ  โดยมี ณ โรงแรม 1G1 จังหวัดท่าขี้เหล็ก สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

โดยในห้วงเวลาประมาณ 08.30 นาฬิกา ได้มีการพบปะพัฒนาสัมพันธ์และมอบของที่ระลึกระหว่าง พันเอก ณฑี ทิมเสน ประธานฯ ฝ่ายไทย และ พันเอก ตู๋ล่า ส่อ หวิน โซ ผู้บังคับการกองบังคับการยุทธศาสตร์ท่าขี้เหล็ก พร้อมทั้ง พันโท อ่องลินอู ประธานฯ ฝ่ายเมียนมา บริเวณกลางสะพานมิตรภาพ ข้ามแม่น้ำสาย แห่งที่ 1 อำเภอแม่สายฯ

หลังจากนั้น ได้เดินทางเข้าร่วมการประชุมฯ ณ ห้องประชุมโรงแรม 1G1 จังหวัดท่าขี้เหล็กฯ โดยมีคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น (TBC) จากหน่วยงานต่างๆ ของทั้งไทยและเมียนมา เข้าร่วมประชุมฯ ซึ่งการประชุมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้คณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นทั้ง 2 ฝ่าย ได้ประสานความร่วมมือ และสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน เพื่อขจัดเงื่อนไขและปัญหาต่างๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี อันจะส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ และประชาชนทั้ง 2 ฝ่าย โดยในวันนี้ในที่ประชุมได้มีการหารือในเรื่องต่างๆ ได้แก่ การแก้ไขปัญหาของทั้ง 2 ประเทศร่วมกัน การขอความร่วมมือต่างๆ เช่น การช่วยเหลือคนไทยที่ถูกหลอกไปทำงานในเมียนมา, การติดตั้งเครื่องเตือนภัยน้ำท่วมเพื่อประโยชน์ของทั้ง 2 ประเทศ การแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณด่านพรมแดน รวมถึงงานด้านความมั่นคง และด้านอื่นๆ อีกทั้งยังได้มีการขอบคุณที่ทั้ง 2 ฝ่าย ในการร่วมกันแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันที่ผ่านมา การช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาต่างๆ จากเหตุการณ์ที่ผ่านมาได้สำเร็จอย่างดียิ่ง สำหรับบางปัญหาที่อยู่เหนือกว่าอำนาจที่คณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น (TBC) ไม่สามารถตัดสินใจแก้ปัญหาได้ ก็จะนำเรียนหน่วยเหนือ เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป            

หลังจากจบการประชุมฯ ได้มีการรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน และในห้วงบ่าย ฝ่ายเมียนมา ได้นำบุคลากรของฝ่ายไทย เดินทางศึกษาวัฒนธรรม/เยี่ยมชมสถานที่สำคัญต่างๆ ของฝ่ายเมียนมา และยังมีการแข่งขันกอล์ฟเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ที่ดีของทั้ง 2 ประเทศ และในห้วงเย็น ฝ่ายเมียนมาได้ส่งฝ่ายไทย บริเวณกลางสะพานมิตรภาพข้ามแม่น้ำสาย แห่งที่ 1 เพื่อเดินทางกลับไทย ต่อไป ซึ่งจากการจัดประชุมฯ ดังกล่าว ทำให้ทั้งฝ่ายไทย และฝ่ายเมียนมา มีความสัมพันธ์ที่ดี และแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยจะยังคงรักษาความสัมพันธ์ที่ดีอย่างนี้สืบต่อไป

ภาพ/ข่าว สันติ วงศ์สุนันท์
หัวหน้าศูนย์ข่าวอำเภอแม่สายจังหวัดเชียงราย/รายงาน

‘ลิซ่า’ เตรียมปล่อยซิงเกิลใหม่ ‘Rockstar’ 28 มิ.ย.นี้ ผลงานแรกภายใต้ค่าย LLOUD - RCA Records

(19 มิ.ย.67) กระแสไวรัลในโลกออนไลน์กำลังฮือฮาสนั่นถึงสาว ‘ลิซ่า ลลิษา มโนบาล’ หรือ ‘ลิซ่า BLACKPINK’ ซีอีโอสาวบริษัท LLOUD ได้ออกมาเปิดเผยวันปล่อยซิงเกิลใหม่ล่าสุดของเธอที่มีชื่อว่า ‘Rockstar’ โดยทุกคนเตรียมตัวรับความปังพร้อมกันในวันที่ 28 มิ.ย. 07.00 น. ตามเวลาประเทศไทย

ทั้งนี้ เพลง Rockstar จะเป็นเพลงแรกที่ได้ปล่อยภายใต้สัญญาข้อตกลงระหว่างบริษัท LLOUD และ RCA Records ซึ่งเป็นผลงานซิงเกิลที่ 4 ต่อจาก LALISA, MONEY และ SG โดยเพลงนี้ลิซ่าจะเป็นผู้ครองลิขสิทธิ์มาสเตอร์เองทั้งหมด

เท่านั้นไม่พอ เมื่อ 5 วันที่ผ่านมา ลิซ่าได้สปอยล์เพลงแบบเบา ๆ ผ่านบัญชีติ๊กต็อกส่วนตัวมีเสียงกระซิบเบา ๆ ว่า ‘Baby, I’m a rockstar’ ซึ่งลิซ่าทุบสถิติกินเนสส์เวิลด์เรคคอร์ดส์ในการเข้าถึงผู้ติดตาม 1 ล้านคนภายใน 2 ชั่วโมง 18 นาที แถมยังมียอดวิว 82 ล้านวิวอีกด้วย

‘อีลอน มัสก์’ ทำนายอนาคต การพูดคุยผ่าน ‘มือถือ’ จะล้าสมัย มนุษย์จะสื่อสารกันผ่านความคิด ด้วยการฝังชิปในสมองแทน

(19 มิ.ย. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โทรศัพท์มือถือจะกลายเป็นสิ่งล้าสมัยในอนาคต และจะถูกแทนที่ด้วยชิปที่จะถูกฝังลงในสมองของมนุษย์โดยตรงแทน จากคำทำนายเมื่อเร็ว ๆ นี้ของ อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีด้านเทคโนโลยี

บริษัทด้านเทคโนโลยีประสาท Neuralink ของ มัสก์ ทำการฝังชิปสมองเป็นครั้งแรกในตัวของนายโนแลนด์ อาร์โบห์ ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก วัย 30 ปี ย้อนกลับไปในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ขั้นตอนการผ่าตัดดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการใส่ชิปคอมพิวเตอร์ขนาดพอ ๆ กับเหรียญดอลลาร์ เข้าไปในพื้นที่ของสมองซึ่งควบคุมความเคลื่อนไหว จากนั้นชิปถูกใช้บันทึกและถ่ายทอดสัญญาณสมองแบบไร้สายไปยังแอปพลิเคชันหนึ่งที่ถอดรหัสความเคลื่อนไหวตามเจตนาของผู้ป่วย

คำทำนายล่าสุดของ มัสก์ เป็นการตอบโต้ข้อความหนึ่งที่โพสต์บนแพลตฟอร์มเอ็กซ์ โดยบัญชีล้อเลียนชื่อว่า ‘ไม่ใช่ อีลอน มัสก์’ ในวันอาทิตย์ (16 มิ.ย. 67) ซึ่งข้อความดั้งเดิมเขียนว่า "คุณจะติดตั้ง Neuralink interface (เทคโนโลยีที่เชื่อมต่อสมองมนุษย์กับคอมพิวเตอร์) ในสมองของคุณ เพื่อเปิดทางให้คุณควบคุม X phone ใหม่ ผ่านทางความคิดหรือไม่?"

อีลอน มัสก์ ตอบกลับคำถามดังกล่าว โดยบอกว่า "ในอนาคตจะไม่มีโทรศัพท์มือถือ มีเพียงแค่ Neuralink"

ในเอกสารประชาสัมพันธ์ที่เผยแพร่เมื่อปีที่แล้ว Neuralink ระบุว่าโครงการ PRIME (Precise Robotically Implanted Brain-Computer Interface) เป็นการทดลองระดับคลินิก เพื่อศึกษาความปลอดภัยของกระบวนการฝังชิปลงในสมองของมนุษย์ด้วยหุ่นยนต์ และความปลอดภัยของตัวชิปเอง

เป้าหมายของการพัฒนาการฝังส่วนต่อประสานสมองเข้ากับคอมพิวเตอร์ไร้สายอย่างสมบูรณ์ จะเป็นครั้งแรกที่ช่วยให้มนุษย์มีขีดความสามารถในการควบคุมเคอร์เซอร์คอมพิวเตอร์ หรือคีย์บอร์ดผ่านทางความคิด จากนั้นมันจะเปิดทางสำหรับการบำบัดเชิงปฏิวัติสำหรับคนที่ป่วยพิการทางกายต่าง ๆ อย่างเช่นอัมพาตและตาบอด เช่นเดียวกับโรคภัยไข้เจ็บอื่น ๆ อย่างเช่นโรคอ้วน ออทิสติก ซึมเศร้า และโรคจิตเภท

ระหว่างให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2018 มัสก์ เคยบ่งชี้ว่าด้วยเทคโนโลยี Neuralink มันอาจทำให้วันใดวันหนึ่งมนุษย์จะสามารถสื่อสารกันโดยไม่จำเป็นต้องใช้คำพูดใด ๆ และมีความเป็นไปได้ของการบรรลุเป้าหมายสถานะของการอยู่ร่วมกันกับปัญญาประดิษฐ์

สำนักงานอาหารและยาแห่งชาติสหรัฐฯ อนุมัติการทดลองฝังชิปเป็นครั้งแรกในเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว หลายสัปดาห์หลังการผ่าตัดเมื่อเดือนมกราคม มัสก์เปิดเผยว่าบุคคลรายดังกล่าว ‘ฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์โดยปราศจากผลข้างเคียงใดๆ’ และมีศักยภาพในการเคลื่อนเมาส์คอมพิวเตอร์ไปรอบๆ จอผ่านความคิด

อย่างไรก็ตาม ในเดือนพฤษภาคม Neuralink ยอมรับว่าพวกเขาประสบกับปัญหาทางเทคนิคบางประการ หลังสายไฟขนาดเล็กจิ๋วที่ฝังลงไปในสมองเคลื่อนที่หลุดจากตำแหน่ง

กระนั้นก็ตามทางสำนักงานอาหารและยาแห่งสหรัฐฯ ได้ไฟเขียวให้ทดลองกับมนุษย์เป็นครั้งที่ 2 ตามรายงานของหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล เมื่อเดือนที่แล้ว โดยที่การทดลองครั้งถัดไป ซึ่งกำหนดไว้ในเดือนมิถุนายน จะมีการแก้ไขปรับปรุงในกระบวนการต่างๆ โดยที่ชิปจะถูกฝังลึกเข้าไปในสมองมากกว่าเดิม เพื่อป้องกันไม่ให้มันหลุดออกมา

ธรรมะประจำวันอาทิตย์ที่ 23 มิถุนายน 2567 : ชีวิตของเรา...ถูกกำหนดไว้แล้วไหม?

จากช่องติ๊กต็อก @dhamma_tv ได้เผยแพร่คำสอนเรื่อง ‘ชีวิตของเรา...ถูกกำหนดไว้แล้วไหม?’ จากรายการ ‘ธรรมะทำไม’ โดย ‘พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท)’ รองเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา เจ้าอาวาสวัดด่านใน

✨คำถาม: หากมีหมอดูแม่นมาก ที่รู้อนาคตของเราว่าจะเป็นอย่างไร? แสดงว่าอนาคตถูกลิขิตไว้แล้วใช่หรือไม่?

💛พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท): ถ้าตามคําสอนทางพระพุทธศาสนา หากทําบุญมาก ๆ คนที่อายุสั้นอาจจะอายุยืนได้ มีตัวอย่างคือพระอรหันต์องค์หนึ่งชื่อว่า ‘อายุวัฒนะกุมาร’ โดยอายุขัยจะต้องเสียชีวิตเมื่ออายุ 7 ปี แต่เพราะนิมนต์พระไปสวด 7 วัน 7 คืน ปรากฏว่าเด็กคนนี้รอดพ้นและอยู่มาได้จนอายุ 120 ปี แล้วที่ว่าหมอดูทํานายทายทักอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะหมอดูหรือโหราศาสตร์ ประมวลผลจากสถิติ แต่หากบุคคลนั้นไปสร้างกรรมดีมากหรือดวงดีแต่ไม่ทําดีเลย มันอาจจะไม่เป็นอย่างนั้น (ไม่ตรงสถิติ) ก็อาจจะติดคุกติดตะรางได้

✨คำถาม: มองภาพง่าย ๆ คนเรามีกรรม มีบุญมาก่อนหน้านี้แล้ว?

💛พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท): 
ต้องเข้าใจอีกนิดหนึ่งว่า ‘กรรม’ ไม่ใช่ทําร้าย ไม่ใช่คําชั่ว แต่แปลว่าการกระทํา บุญก็เป็นกรรมนะ แต่เป็นกุศลกรรม แต่ถ้ามั่นสร้างกรรมดีไปเรื่อย ๆ กรรมที่ไม่ดีก็จะตามไม่ทัน และพอนานวันเข้า ๆ ก็จะกลายเป็นอโหสิกรรม 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top