Sunday, 11 May 2025
TheStatesTimes

'ปิยบุตร' มอง!! อำนาจการยุบสภาของ 'มาครง' แบบไม่ต้องรับผิดชอบ อาจทำให้เห็น 'ระบอบกษัตริย์แบบสาธารณรัฐ' ในฝรั่งเศสอีกไม่นาน

(11 มิ.ย.67) รศ. ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้าได้โพสต์ข้อความผ่านแพลตฟอร์ม X (ทวิตเตอร์) มีเนื้อหา ระบุว่า...

[การยุบสภาของ Macron ทำให้มีโอกาสมากที่นายกรัฐมนตรีของฝรั่งเศสคนถัดไปจะมาจากพรรคขวาจัด]

รัฐธรรมนูญ 1958 ของสาธารณรัฐที่ 5 + การแก้รัฐธรรมนูญให้ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยตรงในปี 1962 ของเดอโกลล์ (ซึ่งแก้รัฐธรรมนูญโดยวิธีที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ใช้ช่องมาตรา 11 นำไปออกเสียงประชามติโดยไม่ผ่านรัฐสภาก่อน) + แนวปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญของประธานาธิบดีแต่ละคนที่บงการนายกรัฐมนตรีได้ 

= ทำให้ระบอบที่เรียกกันว่า 'กึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี' มีแนวโน้มขยับไปเป็น 'กษัตริย์แบบสาธารณรัฐ' หรือ Monarchie républicaine มากยิ่งขึ้น 

กล่าวคือ ประธานาธิบดีมีอำนาจเด็ดขาด โดยไม่ต้องรับผิดชอบ สั่งฝ่ายบริหารได้ สั่งนายกรัฐมนตรีได้แต่ไม่ต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภา แถมมีอำนาจพิเศษแบบ มาตรา 16 อำนาจกดปุ่มนิวเคลียร์ และอำนาจยุบสภาได้ตามอำเภอใจด้วย 

ในระบบรัฐสภา ประธานาธิบดีหรือกษัตริย์ มีอำนาจยุบสภา แต่ไม่สามารถยุบสภาได้ตามอำเภอใจ ต้องมาจากการริเริ่มของนายกรัฐมนตรี และเป็นไปตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนด (ให้นึกถึงกรณี เยอรมนี และ UK) 

ในระบบประธานาธิบดี ประธานาธิบดีไม่มีอำนาจยุบสภา (ให้นึกถึงกรณี USA) 

เมื่อค่ำวานนี้ Macron ยุบสภา เป็นการใช้อำนาจเด็ดขาดของตนเอง โดยไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ในทางการเมือง ก็ไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะตนเอง ก็ยังอยู่ตำแหน่งต่อถึงปี 2027 

ส่วนนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และสภา (ซึ่งเสียงของพรรคฝ่ายค้านก้ำกึ่งกับพรรครัฐบาลพอสมควร) ต้องพ้นจากตำแหน่งหมด ไล่ให้คนอื่น ๆ ไปเลือกตั้งกันใหม่ ส่วนตนเองอยู่ในตำแหน่งต่อ สบายใจ อีก 3 ปี

ฟังสุนทรพจน์แถลงเมื่อวานแล้ว ทำทีว่านี่คือความรับผิดชอบจากผลการเลือกตั้งสภายุโรป นับว่าน่าขยะแขยงทีเดียว รับผิดชอบประสาอะไร ตนเองอยู่ต่อ แต่ให้คนอื่นพ้นจากตำแหน่งหมด และทำให้สภาที่มีเสียงฝ่ายซ้ายก้ำกึ่งกับรัฐบาล หายไปด้วย

(ลองเปรียบเทียบดู ถ้าลองให้ประธานาธิบดีเยอรมนี หรือกษัตริย์อังกฤษ ยุบสภา ได้ตามอำเภอใจ อะไรจะเกิดขึ้น) 

นี่คือ จุดอ่อนของรัฐธรรมนูญ 1958 นับวัน ประธานาธิบดีฝรั่งเศส จะกลายสภาพเป็นกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิ เพียงแต่ว่ามาจากการเลือกตั้งทุก 5 ปี เท่านั้น 

การยุบสภาของ Macron จะยิ่งทำให้พรรคขวาจัดได้ที่นั่งในสภามากขึ้น อารมณ์ผู้คนต้องการคนมาถ่วงดุลกับ Macron และคนที่มีกระแสสูง (ดูจากผลการเลือกตั้งล่าสุด 9 มิ.ย.) ก็คือ Jordan Bardella นักการเมืองหนุ่ม ผู้เชี่ยวชาญการใช้สื่อโซเชียล โดยเฉพาะ TikTok วัย 28 ปี จากพรรคขวาจัด Rassemblement national (RN) นั่นเอง 

พรรค RN เตรียมประกาศแคมเปญ เลือกตั้ง สส.30 มิ.ย. นี้ คือ การเลือกให้ Bardella เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นไปได้ว่า ก่อนฤดูร้อนนี้ เราจะเห็นประเทศฝรั่งเศส มีนายกรัฐมนตรีมาจากพรรคขวาจัด และเสียงข้างมากในสภา มาจากพรรคขวาจัด 

ส่วน Macron ก็ไม่ต้องรับผิดชอบ เอารัฐธรรมนูญมาใช้เป็นเครื่องมือ ให้ประโยชน์แก่ตนเองสูงสุด ลอยตัวอยู่เหนือความรับผิดใดๆ เป็นประธานาธิบดีหล่อๆ เท่ๆ พูดจาคำใหญ่โตสวยๆ ทิ้งทวน 3 ปีสุดท้าย สบายใจเฉิบ (ครบสองวาระ ลงเลือกตั้ง 2027 ไม่ได้แล้ว) 

พอถึงปี 2027 อาจเห็นประธานาธิบดีฝรั่งเศสมาจากพรรคขวาจัด

ตรวจแนวรบ 'อัยการ' คดี 112 ส่อแววยืดคดีจนได้ 'อสส.คนใหม่' พลิกเกม 'นายใหญ่' ให้คล้าย 'คดีบอสกระทิงแดง'

8.พชร ยุติธรรมดำรง ดำรงตำแหน่ง 1 ต.ค. 2548 - 30 ก.ย. 2550    
9.ชัยเกษม นิติสิริ ดำรงตำแหน่ง 1 ต.ค. 2550 - 2552    
10.จุลสิงห์ วสันตสิงห์ ดำรงตำแหน่ง 1 ต.ค. 2552 - 30 ก.ย. 2556    
11.อรรถพล ใหญ่สว่าง ดำรงตำแหน่ง 1 ต.ค. 2556 - 26 มิ.ย. 2557    
12.ตระกูล วินิจนัยภาค ดำรงตำแหน่ง 27 มิ.ย.2557 - 30 ก.ย. 2558    
13.ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร ดำรงตำแหน่ง 1 ต.ค. 2558 - 30 ก.ย. 2560    
14.เข็มชัย ชุติวงศ์ ดำรงตำแหน่ง 1 ต.ค. 2560 - 30 ก.ย. 2562 
15.วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ ดำรงตำแหน่ง 1 ต.ค. 2562 - 30 ก.ย. 2564    
16.สิงห์ชัย ทนินซ้อน ดำรงตำแหน่ง 1 ต.ค. 2564 - 30 ก.ย. 2565    
17.นารี ตัณฑเสถียร ดำรงตำแหน่ง 1 ต.ค. 2565 - 30 ก.ย. 2566    
18.อำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ ดำรงตำแหน่ง 1 ต.ค. 2566 - ปัจจุบัน    
19.ไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ (ผ่านมติกอ./รอวุฒิสภาพิจารณา)

วันนี้ขออนุญาตร้อยเรียงวิเคราะห์บทวิเคราะห์แบบง่าย ๆ ด้วยการนำรายชื่ออัยการสูงสุด (อสส.) ที่มีมาตั้งแต่ปี 2534 มาทบทวนให้ดูตั้งแต่ท่านที่ 8 พชร ยุติธรรมดำรง จนมาถึงว่าที่อสส.คนใหม่ คนที่ 19  ไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ (ที่ว่ากันว่าเป็นทีมงานมือดีของ อสส.ชัยเกษม นิติสิริ) ซึ่งอยู่ในกระบวนการ การพิจารณาของวุฒิสภา

เปิดสภาสมัยวิสามัญในวันที่ 19 มิ.ย.นี้ วุฒิสภาจะตั้งกรรมาธิการฯ ตรวจสอบคุณสมบัติและพฤติกรรมพฤติการณ์ต่าง ๆ ก่อนที่จะนัดแนะกันลงมติในอีกประมาณ 2 เดือนข้างหน้า ซึ่งตอนนั้นอาจจะเป็น สว. ชุดใหม่แล้วก็ได้ แค่ได้คะแนนเสียงข้างมาก 'อสส.คนใหม่' ก็จะชื่อ 'ไพรัช' หลังการโปรดเกล้าฯ

ย้อนดูรายชื่อ อสส.ข้างต้นแล้ว ก็ต้องหมายเหตุประเทศไทยเอาไว้ว่า มี อสส. ถึง 2 คน ที่สั่งฟ้องคดีนายทักษิณ ชินวัตร ข้อหาความผิด ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพ์ คนแรกคือ ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ คนที่สองคือ อำนาจ เจตน์เจริญรักษ์

กรณีท่านอำนาจนั้น ทักษิณทำหนังสือขอความเป็นธรรม ทางอัยการสั่งให้สอบเพิ่มมาครั้งหนึ่งแล้ว แต่ที่สุดวันที่ 29 พ.ค. ที่ผ่านมาก็สั่งฟ้อง

ขณะนี้ทีมทนายทักษิณร้องขอความเป็นธรรมอีกครั้ง อ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมเพราะ "พนักงานสอบสวนขณะนั้น (2558-2559) ถูกข่มขู่จากรัฐบาล คสช. จนขาดความเป็นอิสระในการรวบรวมพยานหลักฐานคดี ทำให้นายทักษิณไม่ได้รับความเป็นธรรม..."

อ่านกันไม่ยาก...นี่เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายเพื่อประวิงเวลา หรือยืดคดีออกไป...คล้าย ๆ คดีบอส กระทิงแดง ซึ่งตามหน้าไพ่ขณะนี้เขาว่ากันว่า หากสามารถยืดสุดติ่งไปจนไปถึง อสส.คนใหม่ได้ บางทีเหตุการณ์อาจเปลี่ยนแปลงได้...

ซุ่มเสียงของทักษิณในงานบวชน้องชาย สส.เพื่อไทยที่ปทุมธานีเมื่อ 8 มิ.ย. ฟังดูเหมือนจะไปตามนัดอัยการ เพื่อนำตัวทักษิณส่งฟ้องศาล แต่หากฟังซ้ำดี ๆ ทักษิณไม่ได้ตกปากรับคำเป็นมั่นเหมาะว่าจะไป...เพราะดูเหมือนเขาจะมั่นใจว่า การร้องขอความเป็นธรรมซ้ำสองรอบนี้ อย่างน้อยน่าจะมีการยืดเวลาออกไป...

จะอย่างไรก็ตาม แบไพ่เล่นกันแบบนี้...ทำเอาคนที่รักบ้านรักเมืองหัวใจสั่นรัว ตลาดหุ้นออกอาการสั่นไหว กลัว 'นายใหญ่' จะยิ่งเหลิงลมล้มดีล จนกลายเป็นจุดชนวนความวุ่นวายรอบใหม่ขึ้นมาจริง ๆ !!

🔎ส่อง SPR ของ ASEAN ใคร ‘แข็งแกร่ง’ ที่สุด

ปัจจุบันพลังงานจากเชื้อเพลิงปิโตรเลียมยังคงเป็นพลังงานหลักที่ชาวโลกจำเป็นต้องพึ่งพาเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งย่อมรวมถึงพลเมืองของกลุ่มประเทศ ASEAN ด้วย ASEAN หรือสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations) ถือกำเนิดขึ้นด้วยการลงนามของชาติสมาชิกเริ่มต้น 5 ประเทศใน ‘ปฏิญญากรุงเทพฯ’ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 1967 โดยมี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความร่วมมือในการเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม วัฒนธรรมในกลุ่มประเทศสมาชิก และการธำรงรักษาสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค และเปิดโอกาสให้คลายข้อพิพาทระหว่างประเทศสมาชิกอย่างสันติ 

ด้วยจำนวนประชากรของประชาคมเศรษฐกิจ ASEAN ร่วม 700 ล้านคน และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ความต้องการน้ำมันในอาเซียนจึงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ความต้องการน้ำมันเชื้อเพลิงสูงถึง 4.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน จึงเป็นกลุ่มประเทศที่มีการบริโภคเชื้อเพลิงพลังงานในปริมาณมากแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งทำให้ ASEAN ต้องมีความร่วมมือด้านเชื้อเพลิงพลังงานระหว่างกันด้วย โดย ASEAN เริ่มจัดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน (ASEAN Ministers on Energy Meeting: AMEM) ครั้งแรกในปี 1982 

โดยเล็งเห็นความสำคัญของการสร้างความมั่นคงทางพลังงานเพื่อรองรับการขยายตัว ทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ด้วยการสร้างเครือข่ายด้านพลังงานในระดับภูมิภาคที่อาศัยจุดแข็งและศักยภาพ ของแต่ละประเทศในอาเซียนที่มีแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติตลอดจนพลังงานทดแทนในรูปแบบต่าง ๆ และทำให้เกิดความตกลงว่าด้วยความมั่นคงทางปิโตรเลียมของ ASEAN (ASEAN Petroleum Security Agreement: APSA) ซึ่งได้ลงนามมาตั้งแต่ปี 1986 

APSA เป็นกลไกในการแบ่งปันปิโตรเลียมในภาวะฉุกเฉินด้านน้ำมันดิบและหรือผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมในเวลาหรือสถานการณ์ทั้งที่มีการขาดแคลนและมีอุปทานมากเกินไป โดย APSA กำหนดว่า ประเทศที่ขอรับความช่วยเหลือในกรณีที่เกิดภาวะการขาดแคลนปิโตรเลียมต้องขาดแคลนปิโตรเลียมอย่างน้อย 10% ของความต้องการภายในประเทศนั้น ๆ และ ความร่วมมือให้เป็นไปตามสมัครใจ โดยให้เลขาธิการคณะมนตรี ASEAN ว่าด้วยปิโตรเลียม (ASEAN Council on Petroleum (ASCOPE) Secretary-in-Charge) เป็นผู้ประสานงาน

แม้ว่า ASEAN จะมี APSA เป็นหลักประกันหากเกิดภาวะฉุกเฉินในด้านน้ำมันดิบและหรือผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมแล้วก็ตาม แต่ละประเทศสมาชิกต่างก็มีการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมเองด้วย ปัจจุบันสมาชิก ASEAN 10 ประเทศ (ยกเว้นกัมพูชาและลาว) มีโรงกลั่นน้ำมันรวมกันกว่า 30 โรง มีกำลังการกลั่นรวมกันราว 5.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยประเทศที่มีกำลังการกลั่นสูงสุดคือ สิงคโปร์ รองลงมาคือ ไทย และอินโดนีเซีย รวมสามประเทศสามารถกลั่นน้ำมันคิดเป็น 70% ของกำลังการกลั่นทั้งหมด โดยสิงคโปร์มีกำลังการกลั่นเหลือเพื่อการส่งออกมากที่สุด 1.2-1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน สามารถส่งออกได้ประมาณ 8 แสนถึง 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน 

ในขณะที่ไทยมีกำลังการกลั่นประมาณ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่เหลือส่งออกประมาณ 1.7 แสนบาร์เรลต่อวัน ด้วยปัจจัยนี้กอรปกับทำเลที่ตั้งที่เอื้อต่อการเป็นจุดศูนย์กลางการเดินเรือของเอเชีย จึงเป็นทั้งจุดรับน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางและจุดกระจายน้ำมันสำเร็จรูปไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ในทวีปเอเชียได้โดยสะดวก อีกทั้งตลาดซื้อ-ขายน้ำมันระหว่างประเทศที่เป็นแหล่งใหญ่มีเพียง 3 แห่ง คือ ตลาดนิวยอร์ก (NYMEX) ตลาดลอนดอน (IPE) และตลาดสิงคโปร์ (SIMEX) ทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปสิงคโปร์จึงกลายเป็นราคาน้ำมันอ้างอิงของภูมิภาคเอเชีย 

รัฐบาลสิงคโปร์จัดให้มี SPR ตั้งแต่หลังจากเกิดวิกฤตน้ำมันปี 1973 ทั้งหมดทั้งมวลนี้จึงทำให้ SPR ของสิงคโปร์แข็งแกร่งที่สุดใน ASEAN ด้วยโรงกลั่นน้ำมันและคลังน้ำมันที่ทันสมัย และเป็นหนึ่งในสามศูนย์การกลั่นน้ำมันที่สำคัญของโลกและส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปไปทั่วโลก รัฐบาลสิงคโปร์มีปริมาณการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงใน SPR เป็นน้ำมันดิบประมาณ 32 ล้านบาร์เรล และน้ำมันสำเร็จรูปอีกราว 65 ล้านบาร์เรล ซึ่งจะทำให้สิงคโปร์มีเชื้อเพลิงสำรองเพียงพอต่อการใช้งานสำหรับชาวสิงคโปร์กว่า 5.5ล้านคนนานถึง 451 วันเลยทีเดียว อาจจะถือว่ามากที่สุดในโลกก็ว่าได้ อินโดนีเซียประเทศเดียวของ ASEAN ที่เป็นสมาชิก OPEC โดยส่งออกน้ำมันปิโตรเลียมที่ไม่สามารถกลั่นเองได้วันละกว่า 600,000 บาร์เรล โดยมีการบริโภคเชื้อเพลิงอยู่ที่ประมาณ 1.3-1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ SPR ของอินโดนีเซียนั้นดำเนินการโดย PT Pertamina (Persero) บริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของรัฐบาลอินโดนีเซียสามารถตอบสนองความต้องการบริโภคน้ำมันสำเร็จรูปภายในประเทศได้เป็นเวลา 19-22 วัน ขณะนี้รัฐบาลอินโดนีเซียอยู่ระหว่างการพัฒนา SPR ให้สามารถจัดเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองให้ได้มากขึ้น 

ตั้งแต่ปี 1974 มาเลเซียผลิตน้ำมันได้ 9 พันล้านบาร์เรล และก๊าซธรรมชาติ 50 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ปัจจุบันมาเลเซียผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง 660,000 บาร์เรลและก๊าซประมาณ 7.0 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน  มาเลเซียบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงราว 708,000 บาร์เรลต่อวัน มาเลเซียต้องการขยายขีดความสามารถในการกักเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มมากขึ้นอันเนื่องจากความต้องการน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาค ทั้งสิงคโปร์ยังเผชิญกับข้อจำกัดด้านการจัดเก็บน้ำมัน ซึ่งมาเลเซียพยายามหาประโยชน์ด้วยการเป็นผู้ให้บริการทางเลือกสำหรับการจัดเก็บน้ำมันในภูมิภาค ประมาณการว่าปัจจุบันมาเลเซียน่าจะมีปริมาณ SPR อยู่ที่ 23.5 ล้านบาร์เรล ซึ่งเพียงพอต่อการใช้งานในประเทศราว 33 วัน และอยู่ระหว่างการก่อสร้างคลังน้ำมันเพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้ SPR เพิ่มเป็น 34.6 ล้านบาร์เรล เพียงพอต่อการใช้งานในประเทศราว 493 วัน ใน 2-3 ปีข้างหน้า

เวียดนามมีปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมสำรองแห่งชาติเท่ากับ 9 วันของการนำเข้าสุทธิ และไม่มีน้ำมันดิบสำรองของชาติ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MOIT) ของเวียดนามได้พยายามเสนอให้เพิ่มปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมสำรองเป็น 15 วันหรือ 30 วันของการนำเข้าสุทธิ เมียนมามีการจัดเก็บปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมสำรองรองรับการบริโภคในประเทศ 60 วัน โดยแบ่งเป็นเอกชนจัดเก็บในปริมาณสำหรับ 40 วัน และรัฐบาลจัดเก็บ (SPR) ในปริมาณสำหรับ 200 วัน ลาวมีการจัดเก็บปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมสำรองรองรับการบริโภคในประเทศ 16 วัน (เป็นน้ำมันสำเร็จรูป 60 ล้านลิตร) ฟิลิปปินส์มีการจัดเก็บน้ำมันสำรองยุทธศาสตร์ปิโตรเลียมแห่งชาติประมาณ 30 ล้านบาร์เรล สามารถรองรับการบริโภคในประเทศได้ 63 วัน กัมพูชามีการจัดเก็บปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมสำรองรองรับการบริโภคในประเทศ 30 วัน และบรูไนประเทศที่สามารถส่งออกน้ำมันดิบได้มากที่สุดใน ASEAN ได้กำหนดให้บริษัทผู้ผลิตน้ำมันต้องสำรองน้ำมันดิบ 50% ของปริมาณน้ำมันดิบที่จัดเก็บ 

และเป็นที่ทราบกันว่า ไทยเรามีการจัดเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมสำรองโดยบริษัทเอกชนผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงตามมาตรา 7 เพียงพอสำหรับการบริโภคในประเทศ 25-36 วันเท่านั้น ซึ่งยังคงต่ำกว่าปริมาณมาตรฐานน้ำมันสำรองของ IEA ที่ 50 วัน หลาย ๆ ประเทศที่เศรษฐกิจมีศักยภาพสูงมี SPR มีน้ำมันเชื้อเพลิงเพียงพอต่อการบริโภคสูงถึง 90 วัน ประเทศเหล่านั้นจึงไม่ต้องกังวลถึงผลกระทบในด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมที่อาจเกิดขึ้นได้ หากมีเหตุการณ์ที่ทำให้การขนส่งหรือการกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิงเกิดปัญหาอันไม่คาดคิดจนกระทบต่อการจัดการน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ เมื่อมี SPR เกิดขึ้นรัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานก็จะมีอำนาจในการต่อรองและถ่วงดุลระบบการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ อีกด้วย เพราะรัฐจะเป็นผู้ถือครองน้ำมันเชื้อเพลิงที่มากที่สุด โดยที่ SPR จะมีการหมุนเวียนจากการซื้อเข้าและจำหน่ายออกอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้รัฐบาลรู้ต้นทุนนำเข้าและราคาหลังการกลั่นได้โดยตลอด จึงสามารถกำกับดูแลราคาจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศที่สะท้อนได้อย่างแท้จริง ซึ่งทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้รับประโยชน์อย่างมากมาย 

ดังนั้นนโยบายการสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (SPR) ของ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ต้องเกิดขึ้นและถูกนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างแท้จริงโดยเร็วที่สุด

'ภูมิธรรม' วอน!! อย่าเปรียบปมหุ้นยุคนี้ตกกว่ายุคลุงตู่ ชี้!! เป็นไปตามสถานการณ์-รอคดีการเมืองคลี่คลาย

(11 มิ.ย.67) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์กรณีการสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนหลังจากหุ้นไทยร่วงหนัก เป็นผลสืบเนื่องจากความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์การเมืองในประเทศว่า หุ้นมีขึ้นมีลงเป็นเรื่องปกติเป็นธรรมชาติ สิ่งที่เรามีปัญหาคือเราไปเข้าใจกันว่ายังมีความไม่เชื่อมั่นต่างๆ ซึ่งตนคิดว่าสถานการณ์ตอนนี้คลี่คลายแล้ว แม้จะมีสถานการณ์ที่ต้องขึ้นศาลหลายเคสหลายกรณีก็ไปห่วงกันว่าจะมีปัญหา แต่หากดูนายกรัฐมนตรีท่านก็ทำงานเต็มที่ ดังนั้น สถานการณ์จึงเป็นเรื่องชั่วคราวเดี๋ยวก็คลี่คลาย รัฐบาลก็พยายามทำหน้าที่ต่างๆ ให้ดีที่สุด

เมื่อถามย้ำว่า สถานการณ์การเมืองวันนี้ดูเหมือนยังไม่คลี่คลาย นายภูมิธรรม กล่าวว่า มันเพิ่งเกิดขึ้นวันสองวันจะไม่คลี่คลายอย่างไร และที่ดูว่ายังไม่คลี่คลาย เพราะว่าเดือนนี้ยังมีขึ้นศาล ก็ต้องรอขึ้นศาลให้เรียบร้อยก่อน ซึ่งตนคิดว่าไม่น่ามีอะไร และคิดว่ามันเป็นข่าวสถานการณ์ที่พอผ่านไปแล้วไม่มีอะไรก็จบ เหมือนหลายเรื่องที่ตนเคยเจอ พอสถานการณ์เปลี่ยนไปมันก็เปลี่ยนแค่วันเดียวเลย มันจึงไม่ใช่ปัญหาถาวร

เมื่อถามว่า ความเชื่อมั่นในยุคพรรคเพื่อไทยดูเหมือนต่ำกว่ายุคพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ นายภูมิธรรม กล่าวว่า จะมาพูดเรื่องนี้แบบนี้ไม่ได้ การที่ความเชื่อมั่นจะขึ้นหรือลงไม่ใช่พรรคเพื่อไทยหรือว่าลุงตู่ แต่เป็นเรื่องของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งต้องดูไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง

‘เวียดนาม’ ผงาด!! อันดับ 2 ส่งออก ‘ทุเรียน’ สู่ตลาดจีน ชี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 91 ไล่หลัง ‘ทุเรียนไทย’ มาติดๆ

เมื่อวานนี้ (10 มิ.ย. 67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สื่อท้องถิ่นเวียดนามรายงานว่า เวียดนามกลายเป็นผู้ส่งออกทุเรียนสู่จีนรายใหญ่อันดับสอง ตามหลังไทยเพียงเล็กน้อย

โดยหน่วยงานการนำเข้าและส่งออก สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนาม ระบุว่า การส่งออกทุเรียนของเวียดนามไปยังจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 91 เมื่อเทียบปีต่อปีในช่วง 4 เดือนแรก (มกราคม-เมษายน) ของปี 2024

การส่งออกทุเรียนของเวียดนามกำลังขยายตัวเนื่องจากมีราคาที่แข่งขันได้ โดยราคาทุเรียนเฉลี่ยอยู่ที่ 4,662 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 171,000 บาท) ต่อตันในช่วงสี่เดือนแรกปีนี้ เทียบกับราคานำเข้าเฉลี่ยของจีนที่ 5,395 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 198,000 บาท)

หน่วยงานฯ เปิดเผยว่า ทุเรียนสดใหม่จากเวียดนามถูกส่งไปยังจีนด้วยราคาที่สมเหตุสมผล มีการขนส่งที่รวดเร็ว และมีฤดูกาลเก็บเกี่ยวตลอดทั้งปี

อนึ่ง เวียดนามส่งออกสินค้าเกษตรไปยังจีน 14 รายการ อาทิ ทุเรียน รังนก มันเทศ แก้วมังกร ลำไย มะม่วง ขนุน แตงโม กล้วย มังคุด ลิ้นจี่ และเสาวรส

20 มิถุนายน พ.ศ. 2309 ‘ค่ายบางระจัน’ ถูกบุกตีแตก ต้องเสียค่ายให้แก่พม่า ปิดฉากวีรกรรมความกล้าหาญ หลังพระนครไม่สนับสนุน

‘ค่ายบางระจัน’ เป็นค่ายป้องกันตัวเองของชาวบ้านเมืองสิงห์บุรีและเมืองต่าง ๆ ที่พากันมาหลบภัยจากกองทัพพม่าที่บางระจัน ก่อนการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 สามารถต้านทานการเข้าตีของกองทัพพม่าได้หลายครั้ง และมีกิตติศัพท์เลื่องลือในด้านวีรกรรมความกล้าหาญในประวัติศาสตร์ไทย

ปี 2307 กองทัพพม่าภายใต้การนำของ ‘เนเมียวสีหบดี’ ยกเข้ามาในขอบคัณธสีมาด้านด่านระแหงแขวงเมืองตาก โดยกวาดต้อนผู้คนตัดกำลังของกรุงศรีอยุธยาทางหัวเมืองเหนือ ในขณะที่มังมหานรธา ตีเข้ามาทางหัวเมืองใต้ สกัดกำลังจากชายทะเลทิศใต้ โดยหมายใจบรรจบเข้าที่กรุงศรีอยุธยา

ต้นเดือนมกราคม 2308 กองทัพของเนเมียวสีหบดี ได้มาหยุดอยู่ที่เมืองวิเศษชัยชาญ และจัดให้ทหารพม่ากองหนึ่งเที่ยวกวาดต้อนทรัพย์สินและผู้คนทางเมืองวิเศษชัยชาญ ราษฎรต่างพากันโกรธแค้นต่อการกดขี่ข่มเหงของทหารพม่า จึงแอบคบคิดกันเพื่อลุกขึ้นต่อสู้

ในเดือน 3 พวกชาวเมืองวิเศษชัยชาญ เมืองสิงห์บุรี เมืองสรรคบุรี และชาวบ้านใกล้เคียงพากันคบคิดอุบายเพื่อล่อลวงทหารพม่า ทั้งรวบรวมผู้คนไว้เพื่อทำการต่อไป ในบรรดาชาวบ้านที่ร่วมกันอยู่นี้มีหัวหน้าที่สำคัญคือ นายแท่น นายโชติ นายอิน นายเมืองง ซึ่งได้หลอกลวงทหารพม่านำไปหาทรัพย์สิ่งของที่ต้องการ ทหารพม่าหลงเชื่อตามไป ก็ถูกนายโชติและพรรคพวกซุ่มอยู่บุกเข้ามาฆ่าฟันพม่าตายประมาณ 20 คน แล้วจึงพากันหนีไปยังบางระจัน

ในเวลานั้นชาวเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงต่างก็เข้ามาหลบอาศัยอยู่ที่บางระจันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีอาหารอุดมสมบูรณ์ ข้าศึกตามเข้าไปได้ยาก ชาวบ้านทั้งหลายจึงพาพรรคพวกครอบครัวอพยพหันมาพึ่งพระอาจารย์ธรรมโชติ ซึ่งมีกิตติศัพท์ว่ามีความเชี่ยวชาญทางวิทยาคมมาก

ต่อมานายแท่นและผู้มีชื่ออื่น ๆ ชักชวนชาวบ้านได้อีกประมาณ 400 คนเศษพากันมาอยู่ที่บ้านบางระจัน หลังจากนั้นก็ตั้งค่ายขึ้นล้อมรอบบ้านบางระจัน 2 ค่าย เพื่อป้องกันทหารพม่าที่จะยกติดตามมาและเพื่อจัดหากำลังและศัตราวุธในแถบตำบลนั้น นอกจากนี้มีคนไทยชั้นหัวหน้าที่เข้ามาร่วมด้วยอีก 7 คน คือ ขุนสรรค์ พันเรือง นายทองเหม็น นายจันหนวดเขี้ยว นายทองแสงใหญ่ นายดอกไม้ และนายทองแก้ว รวมหัวหน้าที่สำคัญของค่ายบางระจันครั้งนั้นรวม 11 คน ตั้งกองสู้กับกองทัพพม่า

การที่พม่าส่งกองทัพมาปราบค่ายบางระจันถึง 7 ครั้ง แต่ต้องแตกพ่ายทุกครั้งนั้น ทำให้แม่ทัพใหญ่ของพม่าวิตกมาก เนื่องจากชาวบ้านบางระจันมีกำลังเข้มแข็งขึ้นทุกที และไม่มีใครอาสาเป็นนายทัพ ขณะนั้นมีชาวรามัญผู้หนึ่งเคยอยู่เมืองไทยมานาน รู้จักนิสัยคนไทยและภูมิประเทศดี ได้เข้าฝากตัวทำราชการอยู่กับพม่าจนได้รับตำแหน่งสุกี้ หรือพระนายกอง สุกี้เข้ารับอาสาจะขอไปตีค่ายบางระจัน เนเมียวสีหบดีจึงแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพคุมพล 2,000 พร้อมทั้งม้าและสรรพาวุธทั้งปวง

สุกี้จึงเปลี่ยนกลยุทธ์ โดยใช้วิธีตั้งทัพอยู่เฉย ๆ เพราะรู้ว่าชาวบ้านใจร้อนเมื่อถูกยุทธวิธีรบแบบยืดเยื้อ ชาวบ้านก็มีใบบอกไปถึงกรุงศรีอยุธยาเพื่อขอปืนใหญ่และกระสุนมาต่อสู้กับพม่า แต่ได้รับการปฏิเสธ โดยกรุงศรีอยุธยา ส่งมาแต่นายกองมาช่วยดู ชาวบ้านจึงช่วยกันนำเศษทองเหลืองที่เรี่ยไรมาได้ หล่อเป็นปืนใหญ่ 2 กระบอก แต่ปืนร้าว ใช้งานไม่ได้สุกี้รู้แล้วว่ากองทัพชาวบ้าน ไม่ได้รับการสนับสนุนจากพระนคร จึงมั่นใจว่าชาวบ้านบางระจันเริ่มอ่อนแอ จึงสั่งให้ขุดอุโมงค์เข้าไปใกล้ค่ายบางระจัน แล้วเอาปืนใหญ่ตั้งหอสูงระดมยิงใส่ค่ายจนค่ายแตก ทำให้ไทยต้องเสียค่ายบางระจันแก่พม่า เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2309

‘ชัชชาติ’ ฮึ่ม!! รับไม่ได้เกิดเรื่องทุจริต พ้อ!! ความดีที่ทำสะสมมาไม่เหลือเลย

(11 มิ.ย. 67) เพจเฟซบุ๊กกรุงเทพมหานคร เปิดเผยคลิปวิดีโอ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในที่ประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 9/2567 เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2567 โดยนายชัชชาติ กล่าวตอนหนึ่งว่า 

“อาทิตย์ที่ผ่านมาเป็นอาทิตย์ที่ไม่ดี ชีวิตตนทำงานมาก็ไม่เคยเจอเรื่องนี้ เพราะชีวิตตนไม่เคยมีเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน เรายืนอยู่ตรงนี้ได้ ที่ตนมาเป็นผู้ว่าฯ เป็นรัฐมนตรี และเป็นหลายตำแหน่งในชีวิตได้ ก็เพราะเราไม่มีเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน นั่นคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตการทำงาน ตนว่าเรื่องความไว้วางใจคือสิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิต ถ้าเราไม่มีความไว้วางใจ เราทำงานไม่ได้แน่นอน ฉะนั้นนี่คือเรื่องใหญ่ ขอให้ทุกคนตระหนักไว้ด้วย เรื่องนี้ถ้ามีปัญหาตนรับไม่ได้ เรื่องทุจริต ไม่โปร่งใส”

นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า “ขอยืนยันผู้บริหารชุดนี้ไม่มีเรื่องพวกนี้ ถ้าใครจะไปอ้างตน หรือผู้บริหารทั้งหลาย ให้มาบอกเลย ไม่เช่นนั้นตนยืนอยู่ตรงนี้ไม่ได้ ความดีที่ทำมาทั้งหมดไม่เหลือเลย ตนไม่ได้แคร์ชื่อตนหรอก แต่ตนเป็นตัวแทนองค์กรของ กทม. ตนว่าเรื่องนี้ต้องจริงจัง ท่านรองปลัดทุกท่าน ปลัด ผู้บริหาร ชีวิตเราอยู่ได้ด้วยความไว้วางใจ ไม่ว่าเราจะอยู่ในตำแหน่งในก็ตาม ความไว้วางใจมาพร้อมกัน 2 เรื่อง คือความเก่งงาน และความเป็นตัวตน ฉะนั้นต้องเก่งและดี เราเสียอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ คนเก่งแต่ไม่ดี ก็ไม่ได้ คนไม่เก่งแต่ดีก็ไม่ได้เหมือนกัน ฉะนั้นต้องทั้งเก่งและดี ดังนั้นตนฝากขอให้รักษาเรื่องความไว้วางใจเท่าชีวิต”

21 มิถุนายน พ.ศ. 2542 ‘ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ’ เปิดอย่างเป็นทางการ หนุนกิจการขนาดเล็กที่มีศักยภาพ ได้มีหนทางระดมทุน

ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (Market for Alternative Investment - MAI) เป็นตลาดหลักทรัพย์แห่งที่สองของประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2542 และเปิดทำการซื้อขายวันแรกเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2544 มีจุดประสงค์การทำงานโดยทั่วไป เหมือนกับ ‘ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย’ หรือ The Stock Exchange of (Thailand) (SET) คือ ทำหน้าที่เป็นตลาดทุน เพื่อให้กิจการต่าง ๆ สามารถระดมเงินทุนเพิ่มเติมจากสาธารณะได้ แต่ตลาดใหม่นี้ จะเน้นไปที่กิจการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี - SME) และกิจการเกี่ยวกับนวัตกรรม โดยได้ผ่อนผันหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ลง เช่น ทุนชำระแล้วขั้นต่ำของหลักทรัพย์ในตลาดหลัก คือ 200 ล้านบาท ในขณะที่ขั้นต่ำของตลาดใหม่ ลดลงเป็น 40 ล้านบาท เป็นต้น เพื่อเปิดโอกาสให้กิจการขนาดเล็ก ที่ไม่สามารถเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ ได้มีหนทางในการระดมทุน รวมทั้งสนับสนุนอุตสาหกรรมการร่วมลงทุน (venture capital) เพื่อเพิ่มจำนวนบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

'แม่ค้าไก่สด อ.เบตง' โอด หลังราคาไก่สดปรับขึ้นกิโลฯ ละ 10 บ. ส่งผลกระทบหนัก ‘ทุนหาย กำไรหด’ วอนรัฐฯ เข้าคุมราคา

(11 มิ.ย. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ตลาดสดเทศบาลเมืองเบตง อ.เบตง จ.ยะลา ภายหลังจากมีการปรับราคาไก่สดขึ้นกิโลกรัมละ 10 บาท จากการตรวจสอบราคาไก่สดเป็นตัว ในตลาดสดเทศบาลเมืองเบตงพบมีการปรับราคาขึ้น จาก กก.ละ 45-50 บาท เป็น กก.ละ 80 บาท

แม่ค้าขายไก่สด ในตลาดสดเทศบาลเมืองเบตง กล่าวว่า มีการปรับราคาไก่กลมเป็นตัวจากเดิม กก.ละ 45-50 บาท ขึ้นเป็น 80 บาท เนื้อไก่ จาก กก.ละ 80 บาท ขึ้นเป็น กก.ละ 100 บาท ขาติดสะโพก จาก กก.ละ 80 บาท ขึ้นเป็น 100 บาท

โดยปกติแผงขายไก่สด จะขายไก่ วันละ 100 -150 ตัว ภายหลังมีการปรับราคาไก่สดขึ้นตนก็ได้รับผลกระทบ เช่นเดียวกัน ทำให้ปริมาณการขายไก่สดลดลง โดยเฉพาะในช่วงนี้ราคาสินค้าต่างๆ มีการปรับราคาสูงขึ้นเกือบทุกชนิด ส่งผลทำให้เนื้อไก่ปรับราคาตามราคาสินค้าอื่นๆ ไล่หลังกันมา ตอนนี้ตนได้ลดจำนวนการสั่งไก่เข้ามาขาย จากวันละ 100-200 ตัว เหลือเพียงวันละ 50-60 ตัว บางทียังขายไม่หมด

แม่ค้าขายไก่สด กล่าวอีกว่าไก่ขึ้นราคาเยอะมาก ล่าสุดเมื่อ 3 เดือนก่อน ก็ปรับขึ้นมาแล้วโดยปรับครั้งละ 5 บาทต่อกิโลกรัม ส่งผลให้ราคาไก่สดในปัจจุบัน ขาย กก.ละ 80 บาท เนื้อหน้าอก กก.ละ 100 บาท เนื้อน่องติดสะโพก กก.ละ 100 บาท ปีกไก่ กก.ละ 100 บาท ไก่กลมเป็นตัวปกติราคา กก.ละ 45-50 บาท ขึ้นมาเป็น 80 บาทแล้ว และยังไม่ทราบว่าราคาจะเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ แต่ถ้าขึ้นอีกฝากรัฐบาลช่วยควบคุมราคาอย่าให้แพงมากไปกว่านี้ เพราะราคานี้ที่ขายอยู่ก็แพงแล้วไหนจะต้องมีภาระในการจ่ายขนส่ง ไหนจะค่าลูกน้อง เอากำไรมาจากไหน

‘ส้มสายน้ำผึ้งฝาง’ ขึ้นแท่นสินค้า GI ลำดับที่ 5 จ.เชียงใหม่ สีสวย-กลิ่นหอม-หวานอมเปรี้ยว สร้างรายได้สู่ชุมชน 270 ลบ./ปี

(11 มิ.ย. 67) นางสาวกนิษฐา กังสวนิช รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ประกาศขึ้นทะเบียน ‘ส้มสายน้ำผึ้งฝาง’ สินค้า GI ลำดับที่ 5 ของจังหวัดเชียงใหม่ ต่อจากผ้าตีนจกแม่แจ่ม, ร่มบ่อสร้าง, ศิลาดลเชียงใหม่ และกาแฟเทพเสด็จ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนไปก่อนหน้านี้ 

‘ส้มสายน้ำผึ้งฝาง’ มีแหล่งกำเนิดเดิมอยู่ที่จังหวัดยะลา เรียกว่า ‘ส้มพันธุ์โชกุน’ ได้ถูกนำมาเพาะปลูกในพื้นที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง มีแหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญหลายสาย ได้แก่ แม่น้ำฝาง ลำห้วยแม่ใจ ลำน้ำแม่มาว ลำน้ำแม่เผอะ เขื่อนแม่มาว เขื่อนบ้านห้วยบอน ห้วยแม่งอน เป็นต้น

รวมไปถึงยังมีน้ำพุร้อน ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่น้ำอุณหภูมิสูงไหลพุ่งจากใต้ดินขึ้นสู่อากาศ ทำให้สภาพดินอุดมไปด้วยแร่ธาตุเหมาะสมต่อการเพาะปลูกส้มสายน้ำผึ้ง ด้วยแหล่งภูมิศาสตร์นี้ ทำให้ส้มสายน้ำผึ้งฝางสามารถเติบโตได้ดี มีผิวสีเขียวอมเหลือง เขียวอมส้ม มันวาว เนื้อกุ้งฉ่ำแน่น ชานและใยนุ่ม รสชาติหวานอมเปรี้ยว กลิ่นหอม มีอัตลักษณ์ชัดเจนแตกต่างจากส้มสายน้ำผึ้งจากแหล่งปลูกอื่น

หากเก็บเกี่ยวในช่วงฤดูหนาว ส้มสายน้ำผึ้งฝางจะมีผิวสีเหลืองอมส้ม มีความโดดเด่น จึงได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมากในช่วงเทศกาลปีใหม่และตรุษจีน อีกทั้งหน่วยงานในพื้นที่ยังให้การสนับสนุน ยกให้ส้มสายน้ำผึ้งฝางเป็นของดีจังหวัดเชียงใหม่ สร้างชื่อเสียงและรายได้ให้กับชุมชนให้พื้นที่กว่า 270 ล้านบาทต่อปี 

ทั้งนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาขอเชิญทุกท่านร่วมสนับสนุนผู้ประกอบการ GI และอุดหนุนสินค้า GI ไทย โดยติดตามข้อมูลสินค้า GI รายการต่าง ๆ และข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องได้ที่เพจ Facebook : GI Thailand หรือสอบถามเพิ่มเติมโทรสายด่วนกรมทรัพย์สินทางปัญญา 1368


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top