Thursday, 8 May 2025
TheStatesTimes

‘เคทีซี’ ปักหมุดผู้นำบัตรเครดิต ออกแคมเปญ ‘บ๊ะจ่างพรีเมี่ยม’ พิชิตใจลูกค้า รับส่วนลดสูดสุง 20% หลังจับมือ ‘6 ห้องอาหารจีน’ จากโรงแรมชื่อดังครั้งแรก

(29 พ.ค.67) ‘เคทีซี’ ปักหมุดผู้นำบัตรเครดิตที่สร้างประสบการณ์สุดเอ็กซ์คลูซีฟให้กับสมาชิกอย่างต่อเนื่อง ด้วยกลยุทธ์การตลาดที่ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ของสมาชิก ล่าสุดจับมือห้องอาหารจีนชื่อดังจากโรงแรมชั้นนำ 6 แห่ง ออกแคมเปญ ‘บ๊ะจ่างพรีเมี่ยม’ ครั้งแรกของวงการ เพื่อให้สมาชิกชาวไทยเชื้อสายจีนได้เฉลิมฉลองเทศกาลไหว้บ๊ะจ่าง หรือ Dragon Boat Festival กับบ๊ะจ่างคุณภาพจากห้องอาหารจีนยอดนิยม ด้วยสิทธิพิเศษสำหรับสมาชิกบัตรเครดิตเคทีซีรับส่วนลดสูงสุดถึง 20% โดยไม่ต้องใช้คะแนน KTC FOREVER ระหว่างวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 - 15 มิถุนายน 2567 

ด้าน นางสาว ปริม ปัญญาเสรีพร ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายการตลาดบัตรเครดิต ‘เคทีซี’ หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เคทีซีวางกลยุทธ์การตลาดในหมวดห้องอาหารในโรงแรมด้วยการเน้นความเป็นผู้นำที่นำเสนอความแปลกใหม่ หลากหลายตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของสมาชิกที่มีความแตกต่าง รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์กับพันธมิตรโรงแรม เพื่อขยายฐานกลุ่มสมาชิกบัตรเครดิตที่มีกำลังซื้อสูง สำหรับเทศกาล ‘ไหว้บ๊ะจ่าง’ ในวันที่ 5 เดือน 5 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 10 มิถุนายน 2567 ถือเป็นอีกช่วงเวลาสำคัญทางวัฒนธรรมและเป็นประเพณีของชาวจีน รวมถึงคนไทยเชื้อสายจีน ซึ่งห้องอาหารจีนจะนำเสนอ ‘บ๊ะจ่าง’ ต้นตำรับของเชฟแต่ละแห่ง

ดังนั้น เคทีซีจึงได้รวบรวม 6 ห้องอาหารจีนยอดนิยมจากพันธมิตรโรงแรมชั้นนำในกรุงเทพมหานครร่วมกันออกแคมเปญ ‘บ๊ะจ่างพรีเมี่ยม’ เพื่อให้สมาชิกบัตรเครดิตเคทีซีสามารถเลือกสรรบ๊ะจ่างที่มีรสชาติพิเศษ อาทิ ไส้เห็ดและหอยเป๋าฮื้อ ไส้พุทราเชื่อม หรือรสชาติดั้งเดิมที่มีความโดดเด่นของซอสเอ็กซ์ โอ และไส้เผือกแปะก๊วยไข่เค็ม พร้อมแพ็กเกจที่สวยหรูเหมาะกับโอกาสในการซื้อให้เป็นของขวัญแก่ญาติผู้ใหญ่รวมถึงพันธมิตรทางธุรกิจ ด้วยสิทธิพิเศษส่วนลดสูงสุด 20% โดยไม่ต้องใช้คะแนน KTC FOREVER ระหว่างวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 - วันที่ 15 มิถุนายน 2567

สำหรับ 6 ห้องอาหารจีนชั้นนำในโรงแรมที่ร่วมรายการ ได้แก่ ห้องอาหารจีนพาโกด้า ไชนีส เรสเตอรองท์  โรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนปาร์ค / ห้องอาหารจีนเอเวอร์การ์เด้น โรงแรมเอเวอร์กรีน ลอเรล กรุงเทพฯ / ห้องอาหารจีนไชน่า พาเลซ โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ / ห้องอาหารจีนหนานเป่ย โรงแรมโรสวูด กรุงเทพฯ / ห้องอาหารจีนแชงพาเลซ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ และห้องอาหารเดอะ ซิลค์ โร้ด โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก, อะ ลักซ์ชูรี คอลเล็คชั่น โฮเทล 

‘รมว.ปุ้ย’ ร่วมเปิดบูธ ‘ศูนย์อุตฯ ฮาลาลไทย’ ในงาน THAIFEX 2024 พร้อมส่งเสริม-ผลักดัน ‘อุตฯ ฮาลาลไทย’ สู่ศูนย์กลางของภูมิภาค

(29 พ.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในพิธีเปิดบูธศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย ในงาน THAIFEX-Anuga Asia 2024 พร้อมเปิดเผยว่ากระทรวงฯ เตรียมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาลในภูมิภาค ผ่านการจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย การจัดตั้งคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ และยกระดับศักยภาพด้านมาตรฐานของผู้ประกอบการฮาลาลในประเทศ 

โดยในงานวันนี้ กระทรวงฯ นำผู้ประกอบการที่ได้รับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และมีศักยภาพพร้อมส่งออก เข้าร่วมออกแสดงสินค้าภายใต้บูธของศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทยและกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยมีประมาณการมูลค่าการเจรจาจับคู่ธุรกิจภายในงานกว่า 200 ล้านบาท และหลังจากนี้ กระทรวงฯ จะส่งเสริมให้ขยายการส่งออกไปยังตลาดที่มีศักยภาพทั่วโลก

ตลาดสินค้าฮาลาลมีขนาดใหญ่และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ปัจจุบันตลาดสินค้าฮาลาลโลกมีมูลค่ารวมกว่า 2.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2568 ครอบคลุมสินค้าและบริการที่หลากหลาย ทั้งอาหาร เครื่องสำอาง แฟชั่น การท่องเที่ยว โดยกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มมีสัดส่วนสูงสุดถึงร้อยละ 63 ของมูลค่าตลาดทั้งหมด 

สำหรับตลาดอาหารฮาลาลโลกมีมูลค่าประมาณ 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มเป็น 2 เท่าภายใน 5 ปี โดยมีแนวโน้มขยายตัวเร็วตามจำนวนประชากรมุสลิมโลกที่แนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมฮาลาลอย่างมาก และมีนโยบายที่จะยกระดับอุตสาหกรรมฮาลาลให้เป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ โดยมอบกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนและประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้เร่งดำเนินการขับเคลื่อนการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศไทยให้มีความแข็งแกร่งอย่างรอบด้านและสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก ผ่านกลไกสำคัญ ดังนี้

1. จัดตั้ง ‘คณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ (กอฮช.)’ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ลงนามในคำสั่งเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2567 โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และได้มอบหมาย ดร.นลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย รับผิดชอบภารกิจที่เกี่ยวกับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นรองประธาน พร้อมผู้แทนจากหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในแวดวงฮาลาลไทย อีก 21 หน่วยงาน เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันภายใต้การกำกับของกระทรวงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายและแนวทางในการพัฒนาสินค้าฮาลาล โดยเชื่อมโยงเอกลักษณ์ Soft Power ของไทย รวมถึงบูรณาการแนวทาง มาตรการ แผนงาน ด้านการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศ ให้เกิดการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ และผลักดันประเทศไทยให้เป็นผู้นำด้านการผลิตและการส่งออกสินค้าฮาลาลในภูมิภาค

2. เสนอ ‘แนวทางการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาล เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาลในภูมิภาค’ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 และมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว โดยในระยะ 1 ปีแรก หรือ Quick Win กระทรวงอุตสาหกรรมเน้นขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทยใน 3 ภารกิจหลัก ได้แก่

(1) จัดตั้ง ‘ศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย’ เพื่อสร้างกลไกสนับสนุน Ecosystem ของอุตสาหกรรมฮาลาลไทย โดยมีภารกิจในการยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิต มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ ควบคู่กับมาตรฐานสินค้าฮาลาลและมาตรฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมการค้าอุตสาหกรรมฮาลาลทั้งในและระหว่างประเทศ รวมถึงทำหน้าที่เป็น National Focal Point ในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ 

ทั้งนี้ ขณะนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างการพิจารณายกระดับศูนย์ดังกล่าวเป็น ‘สถาบันอุตสาหกรรมฮาลาลไทย’ หรือ Thai Halal Industry Institute โดยเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงฯ ซึ่งจะเร่งดำเนินการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาโดยเร็วต่อไป

(2) สร้าง ‘การรับรู้ถึงศักยภาพอุตสาหกรรมฮาลาลไทย’ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ผ่านงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติ เช่น Malaysia International Halal Showcase (MIHAS) รวมถึง THAIFEX-Anuga Asia 2024 ในวันนี้ เพื่อประชาสัมพันธ์การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลไทยของรัฐบาล และสร้างภาพลักษณ์อาหารไทยฮาลาลที่เชื่อมโยง Soft Power เอกลักษณ์อาหารท้องถิ่นให้เกิดเป็นเมนูอาหารฮาลาลไทย ผลักดันไปสู่ภาคบริการ เช่น การให้บริการบนสายการบิน การประชุมและสัมมนานานาชาติ การโรงแรมและท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างเตรียมจัดงาน Kick Off การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ในวันที่ 19 มิถุนายน 2567 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อแสดงศักยภาพการผลิตและมาตรฐานอุตสาหกรรมฮาลาลไทยไปสู่ผู้บริโภคและคู่ค้าทั้งในและต่างประเทศ ผ่านการจัดกิจกรรม เช่น Business Matching การสัมมนาฮาลาลระดับนานาชาติ การสาธิตการทำอาหารฮาลาลโดยเชฟไทยที่มีชื่อเสียง

(3) ผลักดัน ‘การส่งเสริมการค้าและขยายตลาดการค้าระหว่างประเทศ’ ผ่านการเจรจาและจัดทำกรอบความร่วมมือ หรือ MOU ระหว่างประเทศระดับทวิภาคีและพหุภาคี เพื่อขยายตลาดสินค้าและบริการฮาลาลของไทย โดยประเทศเป้าหมายในระยะแรก ได้แก่ บรูไนดารุสซาราม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เพื่อให้อุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศไทยมีความเข้มแข็งตลอดห่วงโซ่อุปทานการผลิต โดยขณะนี้ มีแผน การเจรจาในการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมทวิภาคี ไทย-บรูไน ณ กรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน ประเทศบรูไน ช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2567 และในการประชุมระดับรัฐมนตรี แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย ณ ประเทศมาเลเซีย ระหว่างเดือนสิงหาคม-กันยายน 2567

นอกจากนี้ การขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศไทย ในระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2567-2571) จะดำเนินอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาการผลิตและมาตรฐานอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ให้กับผู้ประกอบการทุกกลุ่ม เช่น อาหาร แฟชั่นมุสลิม ยา สมุนไพร และเครื่องสำอาง วิสาหกิจชุมชน ร้านอาหาร โรงแรมและที่พัก รวมถึงการขนส่งและโลจิสติกส์ ส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและขยายกลุ่มประเทศเป้าหมายไปยังเอเชียกลาง ตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือ ควบคู่การยกระดับ Thai Halal Ecosystem ด้านอื่น ๆ เช่น การพัฒนาห้องปฏิบัติการทดสอบผลิตภัณฑ์ฮาลาลไทย ให้ครอบคลุมผลิตภัณฑ์สินค้าและเพียงพอ การยกระดับฝีมือแรงงานและบุคลากรในอุตสาหกรรมฮาลาลสาขาต่าง ๆ การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมฮาลาล การสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคการส่งออกและเพิ่มส่วนแบ่งตลาดของสินค้าและบริการฮาลาลไทยในตลาดโลก ซึ่งจะเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันและความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้ประเทศไทยต่อไป

สำหรับงานในวันนี้ กระทรวงฯ ได้นำผู้ประกอบการที่ได้รับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและสถาบันอาหารกว่า 40 รายเข้าร่วมแสดงสินค้า เช่น โรงงานแปรรูปโคเนื้อฮาลาลมาตรฐานสากลที่มีศักยภาพดีที่สุดในอาเซียน ‘Befish’ ข้าวเกรียบปลาเมืองนราธิวาส ทำจากปลาทะเลแท้ มีแคลเซียมสูง และ ‘ท่าทองรังนก’ ที่เลี้ยงอย่างธรรมชาติไม่ใช้สารเคมีวัตถุเจือปนอาหาร เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพพร้อมส่งออก และมีการสาธิตการทำอาหารจากเชฟนูรอ โซ๊ะมณี สเต็ปเป้ เชฟอาหารไทยมุสลิม ผู้ก่อตั้งและเจ้าของร้าน ‘Blue Elephant’ ร้านอาหารไทยชื่อดังที่มีสาขาทั่วโลก เพื่อสร้างความรับรู้ถึงศักยภาพของอาหารฮาลาลไทยและนำเสนอผลิตภัณฑ์ฮาลาลจากผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ 

นอกจากนี้ ยังจัด Business matching เพื่อขยายตลาดให้กับผู้ประกอบการ โดยมีประมาณการมูลค่าการเจรจาจับคู่ธุรกิจภายในงาน 200 ล้านบาท โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะเสริมความเข้มแข็งและผลักดันการส่งออกสู่ตลาดโลกต่อไป

‘3 นวัตกรรมจุฬาฯ’ คว้ารางวัลเหรียญทอง - ถ้วยรางวัลพิเศษ เวทีนวัตกรรมนานาชาติ ในงาน ITEX 2024 ประเทศมาเลเซีย

(29 พ.ค.67) คณะกรรมการนานาชาติจากเวทีการนำเสนอ และประกวดนวัตกรรม ระดับนานาชาติ ในงาน 35th International Innovation & Technology Exhibition 2024 (ITEX 2024) เมื่อวันที่ 16-18 พฤษภาคม 2567 ณ Kuala Lumpur Convention Centre สหพันธรัฐมาเลเซีย ได้ประกาศมอบรางวัล จำนวน 4 รางวัล แบ่งเป็น รางวัลเหรียญทอง 3 รางวัล และรางวัลพิเศษ 1 รางวัล แก่ 3 ผลงานวัตกรรมจุฬาฯ ดังนี้

>> นวัตกรรมเจลทรานสเฟอร์โซมเก็บกักกรดเอเชียติกเพื่อใช้ทาลบเลือนรอยแผลเป็น

นวัตกรรมชิ้นนี้เป็นผลิตภัณฑ์เจลทรานสเฟอร์โซมที่พัฒนาขึ้น สามารถนำส่งสารสำคัญกรดเอเชียติกที่พบในพืชบัวบกเข้าสู่เมมเบรนผิวหนังจำลองได้ในปริมาณสูงหลังจากใช้ 8 ชั่วโมง จากการศึกษาทางคลินิกพบว่าเจลทรานสเฟอร์โซมเก็บกักกรดเอเชียติกช่วยลดปริมาณเม็ดสีผิวเมลานินซึ่งแสดงถึงประสิทธิภาพในการลดความเข้มของสีผิวที่ผิดปกติ อีกทั้งยังเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับผิวบริเวณแผลเป็นได้ เป็นนวัตกรรมทางเลือกสำหรับการรักษาแผลเป็น

เจลทรานสเฟอร์โซมเก็บกักกรดเอเชียติกเพื่อใช้ทาลบเลือนรอยแผลเป็น ได้รับรางวัลเหรียญทอง จาก ITEX2024 และ ถ้วยรางวัลพิเศษ Special Prize for the best international invention โดย Korea Invention Promotion Association ซึ่งผลงานดังกล่าวศึกษาวิจัยโดย ผศ.ภญ.ดร.รมย์ฉัตร ชูโตประพัฒน์ จาก ภาควิชาวิทยาการเภสัชกรรมและเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ภายใต้การสนับสนุนของ ชมรมจุฬาฯ สปินออฟ (Club Chula Spin-off)

>> วัตกรรมการจัดการห่วงโซ่คุณค่าโกโก้ในระบบนิเวศโกโก้

นวัตกรรมการจัดการห่วงโซ่คุณค่าโกโก้ในระบบนิเวศโกโก้ใช้รูปแบบการดำเนินธุรกิจแบบ CSA (Community Support Agriculture) ซึ่งเป็นระบบตลาดสมาชิกแบบมีส่วนร่วมที่ผู้บริโภคสามารถสื่อสารความต้องการเชิงคุณภาพและปริมาณกับผู้ผลิตได้โดยตรงบนกลไกตลาดล่วงหน้าภายใต้กลไกราคาที่เป็นธรรม โดยการเชื่อมโยงเครือข่ายผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่คุณค่าโกโก้ที่มีพันธกิจในการพัฒนานวัตกรรมการจัดระดับคุณภาพโกโก้ผลสดและเมล็ดโกโก้ การบริการตรวจคุณภาพ การเชื่อมโยงตลาดที่เหมาะสมให้กับผลผลิตโกโก้และผลิตภัณฑ์จากโกโก้ รวมทั้งให้บริการข้อมูลและองค์ความรู้ด้านโกโก้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจตลอดห่วงโซ่คุณค่าโกโก้

การจัดการห่วงโซ่คุณค่าโกโก้ในระบบนิเวศโกโก้ ได้รับรางวัลเหรียญทอง จาก ITEX2024 ซึ่งผลงานดังกล่าวศึกษาวิจัยโดย ผศ.ดร.ธัญศิภรณ์ ณ น่าน จาก สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาฯ ภายใต้การสนับสนุนของ ศูนย์กลางนวัตกรรมทางสังคมแห่งจุฬาฯ (CU Social Innovation Hub)

>> นวัตกรรมเส้นโปรตีนไข่ขาว ไร้แป้ง พร้อมทาน

นวัตกรรมเส้นโปรตีนไข่ขาว 100% ที่ใช้เทคโนโลยีการเปลี่ยนแปลงโปรตีนไข่ขาว ทำให้ไข่ขาวต้มที่เคยแข็งกระด้างและเปราะหักง่ายกลายเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยวที่มีเนื้อสัมผัสนุ่มเด้ง มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ทำให้แตกต่างจากไข่ขาวต้มทั่วไป พลังงานต่ำ อีกทั้งยังไม่มีส่วนผสมของแป้งและกลูเตน สามารถฉีกซองแล้วทานได้ทันที สร้างประสบการณ์แปลกใหม่ที่ไม่เหมือนใครในโลกของนวัตกรรมอาหาร

เส้นโปรตีนไข่ขาว ไร้แป้ง พร้อมทาน ได้รับรางวัลเหรียญทอง จาก ITEX2024 ซึ่งผลงานดังกล่าวศึกษาวิจัยโดย ผศ.ดร.สถาพร งามอุโฆษ จาก ภาควิชาโภชนาการและการกำหนดอาหาร คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ ภายใต้การสนับสนุนของ ศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาฯ (CU Innovation Hub)

ทั้งนี้ งาน International Innovation & Technology Exhibition (ITEX) คือ งานนิทรรศการที่จัดขึ้นโดยความร่วมมือของ Malaysian Invention and Design Society (MINDS) และ C.I.S. ภายในงานมีการจัดแสดงผลงานนวัตกรรม เทคโนโลยี และผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายจากนานาชาติ อีกทั้งยังมีการจัดประกวดแนวคิดและสิ่งประดิษฐ์ โดยมีคณะกรรมการผู้มีประสบการณ์จากแวดวงวิชาการและหน่วยงานเอกชนที่มาจากหลากหลายอุตสาหกรรม ซึ่งปีนี้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นผู้คัดเลือกผลงานนวัตกรรมระดับอุดมศึกษา จำนวนทั้งสิ้น 54 ผลงาน เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการประกวดในเวทีดังกล่าว

'เขื่อนของพ่อ' เพื่อประโยชน์สุขของพี่น้องประชาชนชาวไทย เติมชีวิต เป็นมิตรเกษตร เขตป้องอุทกภัย โอกาสใหม่การท่องเที่ยว

‘เขื่อนภูมิพล’ ถือกำเนิดเกิดขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งรัฐบาลในขณะนั้นมีแนวคิดที่จะสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 

รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามได้อนุมัติการก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2496 แรกเริ่มใช้ชื่อว่า 'เขื่อนยันฮี' (ยันฮีชื่อของตำบลยันฮี อันเป็นที่ตั้งของเขื่อนภูมิพล) 

การเวนคืนได้เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2499 และเริ่มการก่อสร้างในปี พ.ศ. 2500 โดยว่าจ้างบริษัทผู้รับเหมาจากสหรัฐฯ และบริษัทอื่น ๆ จาก 14 ประเทศร่วมเป็นที่ปรึกษา 

ในปี พ.ศ. 2500 รัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตอัญเชิญพระปรมาภิไธย ‘พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร’ มาเป็นชื่อ ‘เขื่อนภูมิพล’ และได้เสด็จไปทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2504 การก่อสร้างแล้วเสร็จและทำรัฐพิธีเปิดเขื่อนเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2507 

‘เขื่อนภูมิพล’ เป็นเขื่อนอเนกประสงค์กั้นแม่น้ำปิงที่บริเวณเขาแก้ว อำเภอสามเงา จังหวัดตาก มีลักษณะเป็นเขื่อนคอนกรีตรูปโค้ง รัศมีความโค้ง 250 เมตร สูง 154 เมตร ยาว 486 เมตร ความกว้างของสันเขื่อน 6 เมตร อ่างเก็บน้ำสามารถรองรับน้ำได้สูงสุด 13,462 ล้านลูกบาศก์เมตร 

เมื่อแรกก่อสร้างเสร็จถือเป็นเขื่อนรูปโค้งที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 7 ของโลก ขณะที่ปัจจุบัน ‘เขื่อนภูมิพล’ ยังคงเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ที่สูงที่สุดในประเทศไทยและ ASEAN และอยู่ในอันดับที่ 8 ของโลก

เขื่อนแห่งนี้ ใช้เงินในการก่อสร้างทั้งสิ้นราว 2,250 ล้านบาท โดยเกือบครึ่งหนึ่ง (66 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เป็นเงินกู้จากธนาคารโลก

พร้อมกันนี้ ในปี พ.ศ. 2500 มีการตั้งรัฐวิสาหกิจขึ้นมาดูแลการก่อสร้างและบริหารโครงการนี้ในชื่อว่า 'การไฟฟ้ายันฮี' 

ในระยะแรกเขื่อนแห่งนี้ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 2 เครื่อง (รวม 70,000 กิโลวัตต์) จากที่สามารถติดตั้งได้ 8 เครื่อง ต่อมาได้มีการติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเครื่องที่ 3-6 กำลังผลิตเครื่องละ 70,000 กิโลวัตต์ และเครื่องที่ 7 กำลังผลิต 115,000 กิโลวัตต์ 

ต่อมาปี พ.ศ. 2511 'การไฟฟ้ายันฮี' ได้ถูกควบรวมกับรัฐวิสาหกิจ 'การลิกไนต์' และ 'การไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือ' กลายเป็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จนถึงทุกวันนี้

นอกจากนี้ และในปี พ.ศ. 2534 กฟผ. ได้ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเครื่องที่ 8 แบบสูบกลับ ขนาดกำลังผลิต 171,000 กิโลวัตต์ จึงต้องสร้างเขื่อนแม่ปิงตอนล่างปิดกั้นลำน้ำปิง อยู่ห่างจากเขื่อนภูมิพลลงมาทางท้ายน้ำ 5 กิโลเมตร เพื่อใช้อ่างเก็บน้ำเป็นอ่างล่าง โดยถูกออกแบบให้มีบานประตูระบายน้ำเปิดปิดสำหรับใช้กักเก็บน้ำแล้วสูบกลับไปใช้ผลิตไฟฟ้าอีกครั้ง สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในเดือน มกราคม 2539 ทำให้โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ‘เขื่อนภูมิพล’ มีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าติดตั้งทั้งสิ้น 779.2 เมกกะวัตต์ และสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ปีละประมาณ 1,062 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง จนทุกวันนี้

นอกจากเป็นเขื่อนที่ผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำแล้ว ‘เขื่อนภูมิพล’ ยังมีคุณูปการต่อประเทศไทยอีกมากมาย ด้วยความจุในการกักเก็บน้ำ 13,462 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยปริมาณน้ำที่ระบายออกไปจากเขื่อนจะถูกนำไปใช้ประโยชน์มากมายหลายด้าน เช่น...

- ด้านการเกษตร ทำหน้าที่ในการทดและส่งน้ำในลุ่มน้ำปิง ฤดูฝนได้ 1,500,000 ไร่ ฤดูแล้งได้อีก 500,000 ไร่ ส่งน้ำไปช่วยพื้นที่ในโครงการเจ้าพระยาใหญ่สำหรับเพาะปลูกในฤดูแล้งได้อีก 2,000,000 ไร่ ตลอดจนถึงการสนับสนุนพื้นที่เพาะปลูกในพื้นที่จังหวัดตากและกำแพงเพชรถึง 7.5 ล้านไร่

- ใช้สำหรับการอุปโภคและบริโภคของพี่น้องประชาชนคนไทยทั้งที่อยู่เหนือและใต้เขี่อน 
- เป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำ เมื่อได้ทำการขุดลอกและตกแต่งแม่น้ำปิงบางตอนสำเร็จแล้ว จะ
- สามารถใช้เป็นทางคมนาคมจากเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ไปจนถึงอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ได้ตลอดปี

- เป็นแหล่งท่องเที่ยว บริเวณโดยรอบเขื่อนมีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติหลากหลายเส้นทาง และ
- บริการล่องแพชมความสวยงามของทัศนียภาพของตัวเขื่อนและแก่งต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียง
- เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำจืดที่สำคัญของประเทศ

- ช่วยป้องกันน้ำเค็มสำหรับการผลิตน้ำประปาในเขต กทม. นนทบุรี ปทุมธานี และนครปฐม
- บรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง รวมถึงในเขตทุ่งเจ้าพระยา ในช่วงฤดูฝน

ปัจจุบันนี้ในประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะ สาธารณรัฐประชาชนจีนก็ยังคงมีการสร้างเขื่อนอเนกประสงค์โดยเน้นในเรื่องของการผลิตกระแสไฟฟ้า เก็บกักน้ำ และป้องกันอุทกภัยอยู่ 

แต่สำหรับประเทศไทย ด้วยกระแสต่อต้านการสร้างเขื่อนจาก NGO ที่เป็นกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ทำให้แนวคิดในการสร้างเขื่อนใหม่ ๆ ในประเทศไทยถูกคัดค้านอย่างรุนแรงเรื่อยมา จนต่อไปในอนาคตข้างหน้าคงเป็นการยากมาก ๆ ที่จะมีการสร้างเขื่อนขึ้นในประเทศไทยได้อีก และคนไทยคงไม่มีโอกาสที่จะได้รับประโยชน์จากเขื่อนอเนกประสงค์เช่นนี้อีก แม้ว่าสังคมไทยจะได้รับอรรถประโยชน์โภคผลเกิดขึ้นจาก 60 ปีของ ‘เขื่อนภูมิพล’ มาแล้วมากมายก็ตาม 

"…ข้าพเจ้าเห็นพ้องกับรัฐบาลว่า โครงการอเนกประสงค์โครงการแรกของประเทศไทยนี้ เป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาเศรษฐกิจก้าวใหม่ให้ไพศาลออกไป ปัจจุบันน้ำเป็นปัจจัยหล่อเลี้ยงชีวิต และน้ำกับไฟฟ้าส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าของชีวิต เมื่อพลเมืองเพิ่มมากและเร็ว ก็ต้องเพิ่มน้ำและไฟฟ้าให้ทันความต้องการของพลเมือง…" พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินเปิดเขื่อนภูมิพล 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2507

‘นักวิจัยญี่ปุ่น’ สร้าง ‘LignoSat’ ดาวเทียมไม้ดวงแรกของโลก เตรียมส่งขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวดขนส่ง ‘สเปซเอ็กซ์’ กันยายนนี้

(29 พ.ค.67) สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ดาวเทียมไม้ดวงแรกของโลก ที่มีทรงลูกบาศก์ พัฒนาโดยทีมนักวิจัยญี่ปุ่น มีกำหนดจะถูกจรวดขนส่งของบริษัท สเปซเอ็กซ์ ส่งขึ้นสู่อวกาศในเดือนกันยายนนี้

ดาวเทียมไม้ดวงแรกนี้ ได้รับการตั้งชื่อว่า ดาวเทียม LignoSat ทำจากไม้จากต้นแมกโนเลีย มีขนาดกว้างคูณยาวเพียง 10 เซนติเมตร ได้รับการพัฒนาโดยทีมนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยเกียวโต ร่วมกับบริษัท ซูมิโตโม ฟอเรสตรี ถูกคาดหมายว่าจะเผาไหม้โดยสมบูรณ์เมื่อกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกอีกครั้ง ซึ่งผู้พัฒนาคาดหวังว่าด้วยวิธีการนี้จะช่วยหลีกเลี่ยงการใช้ดาวเทียมที่สร้างจากอนุภาคโลหะ ซึ่งอาจก่อผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและการโทรคมนาคม

‘ดาวเทียมที่ไม่ได้ทำจากโลหะควรกลายเป็นกระแสหลัก’ ทาคาโอะ โดอิ นักบินอวกาศและศาสตราจารย์พิเศษแห่งมหาวิทยาลัยเกียวโต กล่าวในการแถลงข่าวเปิดตัวดาวเทียมไม้ดวงแรกของโลก

ทีมผู้พัฒนามีแผนที่จะมอบดาวเทียมไม้ดวงนี้ให้กับองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) ในสัปดาห์หน้า หลังจากนั้นจะถูกส่งขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวดขนส่งของสเปซเอ็กซ์ ที่ศูนย์อวกาศเคนเนดี้ ในเดือนกันยายน เพื่อมุ่งหน้าสู่สถานีอวกาศนานาชาติ (ไอเอสเอส) ต่อไป

จากสถานีไอเอสเอส ดาวเทียมไม้ LignoSat จะถูกปล่อยจากโมดุลทดลองของญี่ปุ่นบนไอเอสเอส ที่จะทำการทดสอบความแข็งแรงและความทนทานของดาวเทียมไม้ดวงแรกนี้

“ข้อมูลจากดาวเทียมไม้จะถูกส่งกลับมายังทีมนักวิจัยที่สามารถตรวจสอบสัญญาณของแรงตึงและดูว่าดาวเทียมสามารถทนต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิครั้งใหญ่ได้หรือไม่” โฆษกหญิงของบริษัท ซูมิโตโม ฟอเรสตรี กล่าว

112 ดีล(ไม่)ลับ สยบ 'นายใหญ่' ลุ้นชะตา 18 มิ.ย. คุกไม่คุก?

“..ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 112 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 1 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 3, 14(3) พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 มาตรา 8..”

คือ ข้อหาเต็ม ๆ ของท่านอัยการสูงสุด (อสส.) คนปัจจุบัน นายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ ที่ลงนามสั่งฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2567 และทีมโฆษกมาเปิดอ่านแถลงกัน 29 พ.ค. แต่เสียดายที่ทักษิณรู้ทัน เมื่อวาน (28 พ.ค.) ให้ทนายยื่นหนังสือขอเลื่อน อ้างเหตุป่วยโควิด มีใบรับรองแพทย์ถูกต้องเรียบร้อย...

ว่ากันว่าถ้าทักษิณมาตามนัด อัยการนำตัวส่งศาล...ก็จะได้ลุ้นกันระทึกว่า 'ทักษิณ' จะต้องถูกคุมตัวเข้าเรือนจำหรือไม่ เพราะใครต่อใครพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าศาลไม่น่าจะให้ประกันตัว เหตุเพราะทักษิณยังมีคดีต้องโทษคุมขังอยู่อีกคดี และวันนี้ยังเป็นนักโทษที่ได้รับการพักโทษเท่านั้น ยังไม่พ้นโทษ...โน่น 20 ส.ค. จึงจะพ้นโทษ...

ศาลเคยมีแนวคำวินิจฉัยไม่อนุญาตให้ประกันตัวจำเลยที่มีคดีซ้อนทำนองนี้มาก่อน...งานนี้เลยมีหนาว...

ถ้าลากคดีค่อยสั่งฟ้องหลังวันที่ 20 ส.ค. ศาลก็คงอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวได้โดยสะดวก เพราะเหลือคดีเดียว เหมือนที่ศาลเมตตาให้ประกันตัวน้อง ๆ สามนิ้ว...

ถึงตอนนี้สรุปว่า ขณะที่คดีเศรษฐา ทวีสิน มีวิษณุ เครืองาม มาเป็นตัวช่วย แต่คดีทักษิณน่าเหนื่อยใจแทน มีเหลี่ยมมุมที่ชวนติดตามและชวนคิด

1) ต้องลุ้นกันวันที่ 18 มิ.ย. ทักษิณจะมาตามนัดของอัยการหรือไม่...ฟังทนายวิญญัติ ชาติมนตรี ก็ออกอาการแปลก ๆ แปร่ง ๆ เพราะบอกทำนองว่ารอให้ถึงวันนั้นแล้วจะรู้เอง แต่ตามหลักท่านมีหน้าที่ต้องไปตามนัด…

2) งานนี้ต้องชื่นชมท่าน อสส.คนปัจจุบัน นายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ ที่จะเกษียณเดือน ก.ย.ปีนี้ ซึ่งทราบว่าปัจจุบันท่านป่วยอยู่ ถ้าจะหาทางลากยาวไปก็ย่อมทำได้ แต่ท่านไม่ยอมแม้จะมีใครต่อใครไปล็อบบี้ท่านถึงขอบเตียงโรงพยาบาลก็ตาม...ทั้งนี้ก็ต้องขอบคุณ อสส.ท่านก่อน...ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์   ยุทธภัณฑ์บริภาร ที่ได้สั่งฟ้องเอาไว้ก่อนแล้วตั้งแต่ 19 ก.ย. 2559

3) ถ้าคดีลากยาวไปถึง อสส.ท่านต่อไป คือนายไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ ก็ไม่แน่ว่าจะมีการสั่งฟ้องหรือไม่ เพราะดูปูมหลังแล้ว นายไพรัชค่อนข้างทำงานใกล้ชิดกับนายชัยเกษม นิติสิริ อดีต อสส. ซึ่งวันนี้เป็นแคนดิเดตนายกศของพรรคเพื่อไทย...

4) ดีลลับมีจริง ไม่มีจริง ก็ว่ากันไป...แต่ข้อตกลงการกลับไทยของทักษิณนั้นมีแน่...ไม่แปลกที่วันนี้ทักษิณได้กลายเป็นตัวประกันในการรักษาสมดุลสมการอำนาจการเมืองแบบที่เป็นอยู่ ให้เดินหน้าต่อไป...แต่อย่านอกใจไปจับมือส้มหรือคิดล่มชาติล้มสถาบันเป็นอันขาด..!!

ดูกันดี ๆ ครับคุณผู้อ่านท่านผู้ชม...การเมืองเดือน มิ.ย.-ก.ค. มีอะไรให้หวาดเสียวตื่นเต้นอีก 3-4 เรื่อง...ขอยกยอดไปว่ากันครั้งต่อไป

เชียงใหม่-สสส.-มสส.จับมือสื่อมวลชนเชียงใหม่ เปิดเวทีทุกฝ่ายถกปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5

29 พฤษภาคม 2567 ที่โรงแรมอโมร่า ท่าแพ จ.เชียงใหม่ มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ(มสส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ร่วมกับสื่อมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ จัดประชุมโฟกัส กรุ๊ป เรื่อง “PM 2.5 ... ปัญหาซ้ำซากภาคเหนือไร้ทางแก้จริงหรือ? โดยมี นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสื่อสารมวลชน กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)กล่าวเปิดการประชุม   

สสส.-มสส.จับมือสื่อมวลชนเชียงใหม่ เปิดเวทีทุกฝ่ายถกปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ทั้งอบจ.เชียงใหม่ คณะแพทย์ศาสตร์มช. สภาลมหายใจเชียงใหม่ ชี้กระทบทั้งเศรษฐกิจและสุขภาพ นักท่องเที่ยวลดลงทุกปีเสียรายได้ปีละหมื่นล้านบาท งานวิจัยระบุสัมพันธ์กับมะเร็งปอด ทุกฝ่ายเรียกร้องเลิกทำงานเป็นแท่ง กระจายอำนาจชุมชน มีการวิจัยสาเหตุที่ชัดเจนอย่าโทษชาวบ้านอย่างเดียว ภาครัฐอย่าปิดบังความจริง พร้อมเรียกร้องนายกรัฐมนตรีใช้งบกลางคัดกรองมะเร็งปอดและเพิ่มสิทธิประโยชน์ในระบบประกันสุขภาพของประชาชน นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสื่อสารมวลชน กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวเปิดการประชุมว่านับว่าเป็นโอกาสดีที่สื่อมวลชนจ.เชียงใหม่และมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) ซึ่งได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานจากสสส.เสริมพลังสื่อมวลชนร่วมขับเคลื่อนงานด้านสุขภาวะร่วมกันจัดเวทีระดมความคิดเห็นเพื่อแก้ไขปัญหา ลดผลกระทบต่อสุขภาพและผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากปัญหามลพิษทางออากาศจาก PM 2.5 ในจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือ งานวิจัยลงตีพิมพ์ในวารสารราชภัฏเชียงใหม่ที่ศึกษาผลกระทบของPM 2.5 ต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 20 สัญชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวมากที่สุดโดยใช้ จ.เชียงใหม่ และ กทม.เป็นตัวแทนนักท่องเที่ยวที่เกิดปัญหามลพิษทางอากาศช่วงปี 2557ถึง ปี 2561 พบว่าปัญหาPM 2.5 ทำให้นักท่องเที่ยวลดลงโดยเฉพาะในเดือนเมษายนและพฤษภาคม หากดัชนีค่าฝุ่น  PM 2.5 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากค่าเฉลี่ยรายเดือนจะทำให้นักท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ลดลง 106,060 คน สอดคล้องกับตัวเลข ของนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเชียงใหม่ลดลงเช่น  ปี2561 มีนักท่องเที่ยว จำนวน 10.84 ล้านคน ปี2562 มีนักท่องเที่ยวจำนวน 11 ล้านคน แต่ในปี 2565 นักท่องเที่ยวลดลงเหลือ 5.9 ล้านคนและปี 2566 ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวจำนวน  7.7 ล้านคน       

ส่วนผลกระทบด้านสุขภาพนั้นองค์การอนามัยโลกระบุชัดเจนว่าอัตราการตายประชากรโลกมีความสัมพันธ์กับความเป็นพิษทางอากาศ โดยทุกๆ 10 ไมโครกรัมของฝุ่น PM 2.5 มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น 8 ถึง 14 เปอร์เซ็นต์ องค์การอนามัยโลกกำหนดให้ PM 2.5 จัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็งซึ่งเป็นสาเหตุ 1 ใน 8 ของประชากรโลกที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร สอดคล้องกับการวิจัยผลกระทบมลพิษต่อสุขภาพในพื้นที่อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ พบว่าการตายรายวันและความเจ็บป่วยของประชาชนสัมพันธ์กับปัญหาหมอกควันในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายนของปี 2559 และปี 2560 ข้อมูลจากหลายองค์กรระบุตรงกันว่าภาคเหนือมีอัตราการป่วยเป็นมะเร็งปอดมากที่สุดเมื่อเทียบกับภาคอื่นทั้งๆที่อัตราการสูบบุหรี่ลดลง  การประชุมในวันนี้นอกจากได้ข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ สภาลมหายใจเชียงใหม่และผู้แทนสื่อมวลชนเชียงใหม่แล้ว จะได้แลกเปลี่ยนความเห็นและเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อลดผลกระทบและแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป

ผศ.พญ.พุดตาน วงศ์ตรีรัตนชัย รองคณบดีด้านสื่อสารองค์กร คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัย เชียงใหม่ กล่าวว่า ปัญหา PM 2.5 ที่เกิดขึ้นมีผลกระทบต่ออวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ปอด หัวใจ สมอง ตา ส่งผลต่อทารกในครรภ์ การได้รับฝุ่นพิษ PM 2.5 ทุก ๆ 22 ไมโครกรัม เฉลี่ย 20 ชั่วโมง จะเท่ากับการสูบบุหรี่ 1 มวน ซึ่งถือว่ารุนแรงมาก จากตัวเลขที่มีการรวบรวมค่าเฉลี่ย PM 2.5 รายวัน ในตัวเมืองเชียงใหม่ ตลอดเดือนมีนาคม 2562 โดยเฉพาะในวันเสาร์ที่ 23 มีนาคม 2562 คนเชียงใหม่ทุกเพศทุกวัยสูบบุหรี่ไปคนละ 18 มวน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการสื่อสารกับประชาชนเพื่อให้รับรู้แนวทางปฏิบัติตัวตามระดับของฝุ่น PM 2.5 ทั้งกลุ่มประชาชนทั่วไป และกลุ่มเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง 

โดยเฉพาะผลที่เกิดขึ้นต่อสุขภาพ ไม่ได้เกิดโรคมะเร็งปอดอย่างเดียว แต่ยังมีผลต่อสมองของเด็กและผู้ใหญ่ด้วย ก่อให้เกิดอาการซึมเศร้า สมาธิสั้น พัฒนาการช้าลง และ IQ ต่ำลงในเด็ก ส่วนในผู้ใหญ่มีผลต่อโรคสมองเสื่อมทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์เพิ่มมากขึ้น หลอดเลือดสมองตีบและแตก มีผลงานการวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ระบุชัดเจนว่า ฝุ่น PM 2.5 ทำให้เลือดกำเดาไหล เพราะมีผลต่อช่องจมูก ส่งผลให้ตาแดงอักเสบ ส่วนอัตราการตายจากมะเร็งปอด แยกรายภาค ตั้งแต่ปี 2553 – 2562 ภาคเหนือมีอัตราการตายจากมะเร็งปอดมากกว่าภาคอื่น ซึ่งเป็นผลมาจาก ฝุ่น PM 2.5 ด้วยเช่นกัน

นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่าเชียงใหม่ติดอันดับเมืองท่องเที่ยวที่ดีที่สุดในโลก แต่เมื่อเกิดปัญหา PM 2.5 ทำให้เกิดผลกระทบทั้งด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อมและเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจปีละ 10,000 ล้านบาท นักท่องเที่ยวยกเลิกเที่ยวบิน 50-60 เปอร์เซ็นต์ สาเหตุของปัญหาหมอกควันพิษ PM 2.5 มาจากหลายสาเหตุทั้งการเผาในที่โล่ง ไฟป่า  การคมนาคมขนส่ง โรงงานอุตสาหกรรม และฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง ประกอบกับที่ตั้งของเมืองเชียงใหม่มีสภาพเป็นแอ่งกะทะทำให้การแก้ปัญหายากมากขึ้น นอกจากนั้นยังมีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาที่ไม่เป็นเอกภาพเพราะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวนมากซึ่งในระยะหลังเริ่มดีขึ้นเพราะมีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการป้องกันแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ทุกระดับทั้งระดับจังหวัด อำเภอและตำบล

สำหรับบทบาทของอบจ.เชียงใหม่ในการแก้ไขปัญหานั้น นายพิชัย กล่าวว่า มีหลายมิติคือ ทั้งการให้ใช้สถานที่จัดตั้งเป็นศูนย์บัญชาการระดับจังหวัด อบจ.เชียงใหม่ เป็นที่แรกของประเทศไทยที่ให้งบประมาณสนับสนุนแก่มูลนิธิป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นควัน จ.เชียงใหม่ ต่อเนื่องทุกปี เช่นปี 2564 จำนวน 13.67 ล้านบาท ปี 2565 จำนวน 13.67 ล้านบาท ปี 2566 จำนวน 10.87 ล้านบาท และปี 2567 จำนวน 10.99 ล้านบาท นอกจากนั้นยังสนับสนุนอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ เช่น เครื่องมือทำแนวกันไฟ อากาศยานไร้คนขับ เครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศพร้อมจอแสดงผลทั้งจังหวัด 250 เครื่อง มอบเรือตรวจการณ์ในพื้นที่ป่ารอบเขื่อนแม่กวงอุดมธารา การแจกหน้ากาก N 95 ให้กับประชาชน มีการล้างถนน ติดตั้งเครื่องพ่นละอองฝอยเพิ่มความชุ่มชื้นในอากาศ 

พร้อมกันนั้นยังมีการจัดทำระบบข้อมูลและการสื่อสารเผยแพร่ เช่นโครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลและเว็บไซต์รายงานสถานการณ์ฝุ่นควัน PM 2.5 โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จัดเก็บบันทึกข้อมูลชุมชนและศูนย์วิชาการของจังหวัดเพื่อดำเนินการตัดสินใจในเวลาที่เหมาะสมในการกำจัดเชื้อเพลิงในแต่ละวัน มีการอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรเตรียมความพร้อมสำหรับสถานการณ์ PM 2.5 รวมทั้งจัดทำ Application และอบรมการใช้ เพื่อประโยชน์ในการเผยแพร่ข้อมูลและให้ประชาชนแจ้งเบาะแสต่าง ๆ ด้วย

นายชัชวาล ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจ เชียงใหม่ กล่าวว่าการแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่มีความซับซ้อนเชื่อมโยงกันทั้งด้านคมนาคม พลังงาน อุตสาหกรรม เกษตร ป่าไม้ สิ่งแวดล้อมและเชื่อมโยงไปถึงต่างประเทศ ปัญหาโลกร้อนและผลประโยชน์ทับซ้อน กุญแจสำคัญคือการแก้ปัญหาแบบบูรณาการโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยใช้มิติทางสังคมควบคู่กฎหมาย จากข้อมูลสถานการณ์ปี 2567 จุดความร้อนจากไฟไหม้ ของเชียงใหม่ดีขึ้นแต่ยังไม่เป็นตามเป้าที่จะให้ลดลง 50% แต่สิ่งที่ยังไม่น่าพอใจก็คือ จำนวนวันของคุณภาพอากาศที่เกินค่ามาตรฐานถึง 87 วันก็ถือว่ายังมากอยู่  

ดังนั้นการสรุปบทเรียนต้องวิเคราะห์ผลที่เกิดขึ้นอย่างจริงจังลงลึกไปถึงเหตุปัจจัยและเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ อุปสรรคสำคัญในการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ของเชียงใหม่และภาคเหนือว่าเพราะเรามีระบบราชการรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลางทำงานเป็นแท่งในจังหวัดมีหน่วยงานส่วนกลางอยู่ 157 หน่วย ผู้ว่าราชการจังหวัดดูแลอีก 23 หน่วย และมีองค์กรปกครองท้องถิ่น 211 หน่วย ทำให้การบูรณาการแผนและงบประมาณมีข้อจำกัด ต่อมาคือการบริหารสถานการณ์ภายใต้ พ.ร.บ.ป้องกันบรรเทาสาธารณะภัยยังทำงานเชิงรับถ้ามีอุบัติภัยจึงจะสามารถใช้งบประมาณใช้คนใช้เครื่องจักรได้ และเรายังมีความล่าช้าของการวางแผนแม้จังหวัดเชียงใหม่จะมีการวางแผนตั้งแต่ต้นปี2566แต่กว่าแผนจะเสร็จประมาณเดือนพฤศจิกายนทำให้งบประมาณล่าช้าจนต้องใช้เงินจากส่วนกลาง ดังนั้นแผนทุกอย่างควรจบในเดือนตุลาคม และเดือนธันวาคมต้องมีงบประมาณชัดเจนแล้ว

ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวอีกว่า ยังมีปัญหาพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าประกาศทับซ้อนพื้นที่ชุมชนที่อยู่ในเขตป่าที่มีความขัดแย้งมาอย่างยาวนานจึงควรจะใช้รูปแบบเดียวกันกับการแก้ปัญหาเขตป่าสงวนที่มี พ.ร.บ.ป่าชุมชนรองรับทำให้ชุมชนมีส่วนร่วมแก้ปัญหาได้ดีขึ้น ส่วนการกระจายอำนาจแบบมีส่วนร่วมแม้จะทำได้ดีแต่ยังไม่ลงลึกถึงชุมชนโดยเฉพาะประชาชนที่ทำมาหากินอยู่ในป่ายังไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างจริงจัง  

นอกจากนั้นควรมีการวิจัยที่ชัดเจนว่าเหตุปัจจัยของการเผาคืออะไรไม่ควรแก้ปัญหาตามความรู้สึกหรือมีอคติว่าชาวบ้านเผาเพื่อหาเห็ด หาหน่อไม้ ล่าสัตว์ และควรมีกฎหมายหรือมาตรการจัดการกับบริษัทที่ไปลงทุนปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อ ป้องกันการเผาในที่โล่ง รัฐบาลต้องมีเจตจำนงทางการเมืองมีแผนที่ชัดเจนและสุดท้ายขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีจัดสรรงบฯ กลางเพื่อคัดกรองมะเร็งปอดโดยทันที โดยเพิ่มสิทธิประโยชน์การคัดกรองมะเร็งปอดในระบบหลักประกันสุขภาพทั้งบัตรทอง ประกันสังคม และข้าราชการโดยเร็ว  

นางอุบลนัดดา สุภาวรรณ บรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ กล่าวถึงบทบาทของสื่อมวลชนในเรื่อง PM 2.5 ว่าสื่อจะรวบรวมข้อมูลนโยบายจากส่วนกลางและหน่วยงานในพื้นที่มานำเสนอ เพื่อเพิ่มการตระหนักรู้ ช่วยกันเป็นหูเป็นตา มีการนำเสนอข้อมูลเชิงลึก เช่น ผลการวิจัย การลงพื้นที่ เก็บข้อมูลจากหน่วยงานและกลุ่มนักวิจัยหรือนักเคลื่อนไหวต่างๆ เพิ่มความถี่ในการนำเสนอข่าว ตอกย้ำ ว่าปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข โดยพยายามขยายประเด็นการนำเสนอที่หลากหลายมิติ เช่นการดำรงชีวิต การแก้ปัญหา การปรับตัวและการป้องกันตนเองของคนทำงานในด้านการท่องเที่ยว การเกษตร ภาคประชาชน นักวิจัย เจ้าหน้าที่ของรัฐ บุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งการรวบรวมข้อมูลและวิธีการแก้ปัญหาของต่างประเทศ หรือการนำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้เพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว

 สิ่งที่สื่อมวลชนอยากเรียกร้อง คือ ขอให้จังหวัดให้ข้อมูลที่เป็นความจริงกับสื่อมวลชน อย่างสร้างภาพและกลัวว่าข่าว PM 2.5 จะกระทบต่อการท่องเที่ยว แลกกับผลกระทบทางสุขภพาของคนเชียงใหม่ คุ้มกันหรือไม่ เราไม่อยากให้ผู้นำมาสร้างภาพ เช่น การปั่นจักรยาน การนั่งริมแม่น้ำปิง หรือการแจกหน้ากากอนามัย แต่อยากให้มีการวางแผนและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและยั่งยืน สื่อมวลชนพร้อมให้ความร่วมมืออยู่แล้ว แต่บางครั้งข้อมูลมามาถึงสื่อ ในวอร์รูม สื่อส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เข้าไปร่วมประชุม

สุดท้าย นายอภิวัชร์ เกตุทัต ประธานมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) ได้กล่าวขอบคุณวิทยากรและสื่อมวลชน พร้อมสรุปว่าข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากเวทีประชุมจะนำไปสู่การผลักดันมาตรการต่างๆเช่น การวางแผนสนับสนุนการทำงานของสภาลมหายใจเชียงใหม่และสื่อมวลชนเพื่อเผยแพร่ความรู้ใหม่ ๆ และข้อเท็จจริงที่ถูกต้องให้ประชาชนได้รับรู้เข้าใจปัญหาและปรับตัวเพื่อมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนตลอดจนรู้จักวิธีป้องกันอันตรายจากฝุ่น pm2.5

อธิบดีกรมอุทยานฯ ร่วมรับฟัง การนำเสนอกิจกรรมถอดบทเรียน (AAR) ไฟป่าในพื้นที่จังหวัดแพร่และจังหวัดน่าน

วันที่ 26 พ.ค. 2567 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นประธานการประชุมถอดบทเรียน (After Action Review : AAR) “การแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและpm2.5ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ สังกัด สบอ.13(แพร่)ท้องที่จังหวัดแพร่และจังหวัดน่าน” โดยมีผู้เข้าร่วมได้แก่ นายกมล นวลใย ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่13 ผู้อำนวยการส่วนแต่ละส่วน หัวหน้าพื้นที่ป่าอนุรักษ์และหน่วยงานร่วมบูรณาการฯ เพื่อร่วมกันสะท้อนปัญหา และทบทวนกระบวนการต่าง ๆ นำมาเป็นแนวทางการจัดทำแผนและการปฏิบัติงานในปีถัดไปให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น โดยมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานในแต่ละพื้นที่ป่าอนุรักษ์

สถานการณ์การเกิดไฟป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ในสังกัด สบอ 13(แพร่) ท้องที่จังหวัดแพร่และจังหวัดน่านในปีงบประมาณพ.ศ.2566 พบว่ามีพื้นที่เผาไหม้(Burnsca) 1,433,503 ไร่ และปี 2567 พบพื้นที่เผาไหม้  647,466 ไร่ ลดลง คิดเป็น 54.83% จำนวนจุดความร้อน(Hotspot)ในปี 2566 พบจำนวน 6,415 จุด และปี 2567 พบจุดความร้อน 3,474จุด พบว่าพบว่าลดลง 46.80%

ในบางพื้นที่ป่าอนุรักษ์พบจุด hotspot ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาแต่มีพื้นที่ที่ถูกเผาไหม้ลดลง เช่น อุทยานแห่งชาติแม่ยม จังหวัดแพร่ พบจุดhotspot ในปี 2566จำนวน 550 จุด ในปี 2567 พบ 480จุด ลดลงร้อยละ 12.7% แต่ในปี 2566 พบว่ามีพื้นที่เผาไหม้ 193,560 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 63.94ของพื้นที่ทั้งหมด แต่พื้นที่เผาไหม้ใน ปี2567 พบเพียงแค่จำนวน 93,613(ไร่) โดยคิดเป็นร้อยละ 30 ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งจะสังเกตได้ว่าเป็นผลการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ภาคสนามที่ปฏิบัติตามข้อสั่งการ “เห็นไว เข้าถึงไว ควบคุมและดับได้ไว“ 

อุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในท้องที่จังหวัดแพร่ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดลำปางบางส่วน ไม่มีหน่วยงานร่วมบูรณาการในพื้นที่ และไม่มีสถานีควบคุมไฟป่าแต่อย่างใด ดำเนินการโดยใช้กำลังเจ้าหน้าที่เพียง 45 นาย โดยอาศัยการสร้างภาคีเครือข่าย จิตสำนึกอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความร่วมของชุมชนเครือข่ายรอบอุทยานสามารถลดจำนวนจุด hotspot ในพื้นที่ได้ถึง 50.9 %เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

อุทยานแห่งชาติดอยภูคา เป็นอุทยานแห่งชาติในท้องที่จังหวัดน่านมีพื้นที่รับผิดชอบขนาดใหญ่จำนวน1,065,000 ไร่ ครอบคลุม 8 อำเภอ 24 ตำบล มีหน่วยงานร่วมบูรณาการจำนวน 38 หน่วยงาน ได้มีการ จัดทำแผนปฏิบัติการแบบบูรณาการเชิงพื้นที่ป่าอนุรักษ์โดยแบ่งเขตการจัดการจำนวน4 เขต เพื่อให้ทุกหน่วยงานในพื้นที่ร่วมบรูณการเข้ามามีบาทในการดำเนินแก้ไขปัญหาร่วมกัน พบว่า จำนวนจุดhotspotปี2566พบ 1,706 จุด ส่วนในปี 2567 พบจำนวน 615 จุด ลดลงคิดเป็นร้อยละ 63.96 ซึ่งเป็นตามนโยบายของทส.ที่ได้กำหนดไว้

อุทยานแห่งชาติศรีน่าน พบว่าเมื่อเทียบกับปี 2566 จุด hotspot ลดลงคิดเป็นร้อยละ 13.9 แต่มีพื้นที่เผาไหม้ลดลงคิดเป็นร้อยละ 62.84ของพื้นที่ทั้งหมด เกิดจากความร่วมมือของหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ผู้นำชุมชนและชุมชนในพื้นที่ร่วมกันบริหารจัดการแก้ไขปัญหาหมอกควัน ไฟป่าและpm 2.5 ทำให้สถานการณ์ภาพรวมดีขึ้น

สรุปจากข้อมูลดังกล่าวสถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่รับผิดชอบปี2567 สามารถบริหารจัดการแก้ไขปัญหาได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น จากการบูรณาการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ป่าอนุรักษ์และความร่วมมือของหน่วยงานภายนอก

ทั้งนี้นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานฯ ได้ให้แนวการปฏิบัติงานแก้ไขปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และpm2.5 นำไปวางแผนในการปฏิบัติงานต่อไป

แบนบุหรี่ไฟฟ้า 10 ปีแต่วิกฤตบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กพุ่งชึ้บุหรี่ไฟฟ้าเกลื่อนตลาด แม้รัฐเร่งปราบปราม

เพจ ‘มนุษย์ควัน’ ตั้งคำถามเนื่องใน ‘วันงดสูบบุหรี่โลก’ เหตุสถานการณ์ ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ วิกฤต หลังพบกรณีเด็กและเยาวชนซื้อขายบุหรี่ไฟฟ้าเถื่อนเกลื่อนเมือง แม้รัฐเร่งปราบปราม พร้อมยกผลสำรวจจากภาครัฐชี้เยาวชนไทยใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นกว่า 5.3 เท่าภายในเวลาไม่ถึงสิบปี ชี้บุหรี่ไฟฟ้าเติบโตตามแนวทางส่วนใหญ่ของโลกที่ให้ถูกกฎหมาย การเน้นปราบปรามอาจไม่ใช่ทางออก

นายสาริษฏ์ สิทธิเสรีชน เจ้าของเฟซบุ๊กเพจ “มนุษย์ควัน” ที่มีผู้ติดตามกว่า 2.6 หมื่นคน ได้โพสต์ข้อความว่าด้วยเรื่องของบุหรี่ไฟฟ้าและวันงดสูบบุหรี่โลกว่า “วันงดสูบบุหรี่โลกปีนี้หน่วยงานไทยมาในธีมบุหรี่ไฟฟ้า(อีกแล้ว) ปี 67 นี้ครบรอบ 10 ปีที่ประเทศไทยแบนบุหรี่ไฟฟ้าพอดี มีใครอยากเสนอคำขวัญที่สะท้อนความจริงกว่า ‘ร่วมปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า’ มั้ยครับ?”

นายสาริษฎ์ยังเผยอีกว่า “ในวันที่ 31 พฤษภาคมนี้จะเป็นวันงดสูบบุหรี่โลกประจำปี 2567 โดยมีคำขวัญประจำปีนี้ว่า ‘ร่วมปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า’ ผมจึงอยากถือโอกาสนี้พูดถึงเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าสักหน่อย”
“นับตั้งแต่ที่ประกาศแบนบุหรี่ไฟฟ้าไปเมื่อปี 2557 ขณะนี้ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 10 ของการแบนบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว แต่เชื่อว่ามีประชาชนคนไทยไม่น้อยที่งงกับคำกล่าวนี้ หลายคนถึงกับถามว่าประเทศไทยยังแบนบุหรี่ไฟฟ้าอยู่เหรอ นั่นก็เพราะประกาศแบนนั้นไม่สามารถจัดการปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในสังคมได้จริง ไม่ว่าจะด้วยความหละหลวมในการบังคับใช้กฎหมาย หรือประเด็นของการทุจริตคอรัปชัน” “ประเทศไทยเป็นประเทศแห่งการรณรงค์และปลูกจิตสำนึก ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดอะไร ผมเองก็เห็นด้วยว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่ของสำหรับเด็กหรือคนที่ไม่ได้สูบบุหรี่มาก่อน ทว่าความรุนแรงของปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในสังคมไทยในปัจจุบันนั้นน่าเป็นห่วงเกินกว่าที่การรณรงค์ เดินขบวน จัดงานวิ่ง จัดงานปั่นจักรยาน หรือเสวนาจะแก้ไขได้ทัน ในปัจจุบันนี้ตัวเลขจากผลสำรวจของภาครัฐชี้ว่าอัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเด็กไทยอายุ 13 ถึง 15 ปี มีเด็กและเยาวชนใช้บุหรี่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.3 ในปี 2558 เป็นร้อยละ 17.6 ในปี 2565 ซึ่งนับว่าเพิ่มขึ้นกว่า 5.3 เท่าภายในเวลา 7 ปี”

“นั่นชี้ให้เห็นว่า ขณะที่กฎหมายแบนบุหรี่ไฟฟ้าออกมา 10 ปีแล้ว อัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนก็พุ่งขึ้นสวนทางกับที่ใครๆ คาดหวัง” นายสาริษฎ์กล่าว
“เมื่อวันก่อนสดๆร้อนๆ หน่วยงานได้จับกุมร้านค้าบุหรี่ไฟฟ้าที่มีลูกค้าและผู้ขายเป็นเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นสิ่งที่เห็นได้แทบทุกวันจากหน้าข่าว การจับกุมบุหรี่ไฟฟ้าไม่เคยหายไปเพราะมีบุหรี่ไฟฟ้ามูลค่ามหาศาลหลายล้านบาทที่ทะลักเข้ามาจากประเทศจีนโดยไม่มีการตรวจสอบ จะดีกว่าไหมถ้าประเทศไทยมีกฎหมายมาควบคุมอายุผู้ซื้อผู้ขายบุหรี่ไฟฟ้าเช่นเดียวกับการสูบบุหรี่” นายสาริษฎ์ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ขณะนี้จะมีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า แต่ตนและผู้สูบบุหรี่ไทยอีกนับสิบล้านรายก็ได้แต่คาดหวังว่าผลพิจารณาจะแตกต่างจากเดิม เพราะแบนมา 10 ปีเหมือนไม่แบน สู้เอากฎหมายมาควบคุมให้มีการกำหนดอายุผู้ซื้อ ผู้ขาย ป้องกันการเข้าถึงของเด็กอย่างเข้มงวด เหมือนกว่า 70 ประเทศทั่วโลกที่กำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายจะควบคุมได้ดีกว่า

สตูล ศรชล. ปลูกต้นกล้า รุ่นที่ 2 รู้อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน

นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนเยาวชน นับเป็นกลไกสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง การสร้างองค์ความรู้และปลูกจิตสำนึก รวมทั้งการมีส่วนร่วมนั้น

วันนี้ 30 พ.ค.2567 เมื่อวันที่ 29 พ.ค.2567 นาวาเอกแสนย์ไท บัวเนียม รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัดสตูล หรือ ศรชล.สตูล เป็นประธานในพิธีเปิด กิจกรรม 'สร้างความรับรู้ในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล' เพื่อขับเคลื่อนการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้เกิดความยั่งยืน ครั้งที่ 2 ในการพัฒนาองค์ความรู้และปลูกจิตสำนึกในการรักษาทรัพยากรทางทะเลของชาติ ตลอดจนส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการช่วยกันดูแลรักษาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในพื้นที่ให้เกิดความยั่งยืน

โดยมีนาวาเอก รัฐพล แก้วกระจาย หัวหน้าศูนย์ควบคุมความมั่นคงท่าเรือจังหวัดสตูล ศรชล.ภาค 3 รายงานและ ได้ให้ความรู้ เกี่ยวกับการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล การอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งทรัพยากรป่าชายเลน และการนำผู้เข้าร่วม กิจกรรมฯ ลงพื้นที่เยี่ยมชมศึกษาธรรมชาติของทรัพยากรป่าชายเลนตำมะลัง และ ร่วมกันปลูกป่าชายเลน ณ ศูนย์เรียนรู้ธรรมชาติป่าชายเลนตำมะลัง กิจกรรมเก็บขยะ ชายฝั่งและปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำกุ้ง จำนวน 2,000 ตัว ที่ บริเวณท่าเทียบเรือตำมะลัง ซึ่งได้รับการสนับสนุน ต้นพันธุ์กล้าไม้และสถานที่ปลูกป่าชายเลน จากศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนที่ 24 (ตำมะลัง สตูล) และได้รับการสนับสนุนพันธุ์สัตว์น้ำ จากศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลสตูล ทั้งนี้มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมฯ เป็นนักศึกษาจากวิทยาลัยชุมชนสตูล และเจ้าหน้าที่หน่วยงานใน ศรชล.จังหวัดสตูล จำนวน 50 คน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top