Saturday, 10 May 2025
TheStatesTimes

กรุงปักกิ่ง เตรียมเปิดสอนหลักสูตร AI ในชั้นประถม-มัธยม สานเป้าหมายดันจีนสู่มหาอำนาจด้านเทคโนโลยี AI

โรงเรียนในกรุงปักกิ่งเตรียมบรรจุหลักสูตรปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการเรียนการสอนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ตามเป้าหมายของจีนในการเป็นผู้นำด้าน AI

คณะกรรมการการศึกษาเทศบาลนครปักกิ่งระบุผ่านแถลงการณ์บนเว็บไซต์ว่า ตั้งแต่ภาคการศึกษาฤดูใบไม้ร่วงที่จะเริ่มขึ้นในวันที่ 1 ก.ย.นี้ โรงเรียนในกรุงปักกิ่งจะต้องจัดการเรียนการสอนด้าน AI อย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อปีการศึกษา โดยโรงเรียนสามารถเปิดเป็นวิชาเฉพาะ หรือบูรณาการเข้ากับหลักสูตรที่มีอยู่แล้ว เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศและวิทยาศาสตร์

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า จีนมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำนวัตกรรมด้าน AI มานานแล้ว แต่ภาค AI เพิ่งได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นทั่วโลกเมื่อต้นปีนี้ หลังจากสตาร์ตอัปสัญชาติจีนอย่างดีปซีค (DeepSeek) เปิดตัวโมเดล AI ที่อ้างว่ามีประสิทธิภาพทัดเทียมกับโมเดลที่พัฒนาโดยบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ แต่ใช้ทรัพยากรน้อยกว่ามาก

แผนการศึกษานี้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลจีนที่ประกาศในที่ประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ (NPC) ซึ่งมุ่งสนับสนุนการประยุกต์ใช้โมเดล AI ขนาดใหญ่ ตลอดจนการพัฒนาอุปกรณ์อัจฉริยะรุ่นใหม่และอุปกรณ์การผลิต

หวย จิ้นเผิง รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการของจีน กล่าวเมื่อวันพุธ (5 มี.ค.) ระหว่างการประชุมสภานิติบัญญัติประจำปีว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนโดย AI เปิดโอกาสสำคัญให้กับภาคการศึกษา พร้อมย้ำว่าจีนจะเผยแพร่สมุดปกขาวว่าด้วยการศึกษา AI ในปี 2568

11 มีนาคม พ.ศ. 2484 ‘ไทย-ฝรั่งเศส’ เจรจาลงนามเพื่อสันติภาพ กรณีพิพาทอินโดจีนช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

วันนี้ในอดีต 11 มีนาคม 2484 'ประเทศไทย-ฝรั่งเศส' ทำพิธีเจรจาลงนามเพื่อสันติภาพในข้อตกลงกรณีพิพาทอินโดจีน วันที่ชาติไทยได้ดินแดนที่เสียไปในยุคล่าอาณานิคมคืนกลับมา (ชั่วคราว)

11 มีนาคม เป็นอีกวันสำคัญของประวัติศาสตร์ชาติไทยในอดีต โดยเมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2484 ประเทศไทยและฝรั่งเศส ได้มี พิธีเจรจาลงนามเพื่อสันติภาพ ในข้อตกลงกรณีพิพาทอินโดจีน หรือ 'สงครามอินโดจีน' ระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศส ณ กรุงโตเกียว 

เหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นเหตุความขัดแย้งระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศส ที่เกิดขึ้นระหว่างที่สงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังดำเนินการรบติดพันอยู่ในทวีปยุโรป แต่ยังไม่ขยายมาสู่ทวีปเอเชีย และยังมีมูลเหตุสืบเนื่องมาจาก ประเด็นการอ้างสิทธิ เหนือดินแดนอินโดจีนบางส่วน ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส คือ ดินแดนลาวและกัมพูชา ซึ่งเคยเป็นของไทยมาก่อน ก่อนที่จะสูญเสียให้ฝรั่งเศสไป ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ที่เป็นยุคล่าอาณานิคม ของมหาอำนาจโลกตะวันตก ช่วงปี พ.ศ. 2410-2449 

ครั้งนั้นประเทศไทย จำต้องยอมทำสัญญา และเสียดินแดนให้แก่ฝรั่งเศสรวม 5 ครั้ง โดยประเทศไทยได้เสียจำนวนเนื้อที่ที่เสียไปประมาณ 467,000 ตารางกิโลเมตร เกือบเทียบเท่ากับเนื้อที่ของประเทศไทยในปัจจุบัน นอกจากนั้นยังเสียพี่น้องไทยในแคว้นเขมร 2,900,000 คน ในแคว้นลาว 940,000 คน เพื่อรักษาดินแดนส่วนใหญ่ไว้ 

ต่อมา ในช่วงระหว่างเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝรั่งเศสเกิดความห่วงใย ต่ออาณานิคมของตนเอง ในภูมิภาคอินโดจีน เพราะเกรงว่าประเทศไทย จะส่งกำลังเข้ายึดครองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ ที่ถูกฝรั่งเศสยึดครองไป เนื่องจากท่าทีของญี่ปุ่น ที่มีท่าทียอมรับไทยเป็นพันธมิตร ในฐานะกลุ่มเอเชีย ที่ยังไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของชาติใดมาก่อน

เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2483 ฝรั่งเศสได้มาทาบทามกับไทย เพื่อเจรจาทำสัญญาไม่รุกรานกัน รัฐบาลไทยภายใต้การนำของ 'พล.ต.หลวง พิบูลสงคราม' หรือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ตอบไปในวันพุธที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2483 ว่า

"ยินดีจะรับข้อเสนอของฝรั่งเศส แต่ใคร่ขอให้ฝ่ายฝรั่งเศสตกลงดังนี้คือ"
1. วางแนวเส้นเขตแดนลำแม่น้ำโขง ให้เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ กล่าวคือถือหลักร่องน้ำลึกเป็นเกณฑ์
2. ให้ปรับปรุงเส้นเขตแดนให้เป็นไปตามธรรมชาติ คือ ให้ถือว่าแม่น้ำโขง เป็นเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับอินโดจีน ตั้งแต่ทิศเหนือมาจดทิศใต้ จนถึงเขตแดนกัมพูชา โดยให้ฝ่ายไทยได้รับดินแดนทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ตรงข้ามกับหลวงพระบาง และตรงข้ามกับปากเซ (ซึ่งเป็นจุดที่มีปัญหาเขตแดนบ่อย ๆ) คืนมา
3. ให้ฝรั่งเศสรับรองว่า ถ้าอินโดจีนของฝรั่งเศส เปลี่ยนจากอธิปไตยฝรั่งเศสไป ฝรั่งเศสจะคืนอาณาจักรลาวและกัมพูชาให้ไทยตามเดิม

ซึ่งต่อมาในวันเสาร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2483 ฝรั่งเศสได้ตอบบันทึกของไทย เรื่องการปรับปรุงเส้นเขตแดนดังนี้

1. รัฐบาลฝรั่งเศสจะจัดผู้แทนอินโดจีนมาประชุม (ซึ่งเดิมตกลงไว้ว่าจะส่งเจ้าหน้าที่ชั้นระดับเอกอัครราชทูตมาประชุม)

2. ฝรั่งเศสไม่ยอมเจรจาปัญหาดินแดนอื่น ๆ นอกจากปัญหาเรื่องเกาะในลำน้ำโขง

3. ฝรั่งเศสยืนยันการรักษาสถานภาพทางการเมือง และบูรณภาพแห่งดินแดนอินโดจีนไว้ ต่อการอ้างสิทธิทั้งปวง และการรุกรานไม่ว่าจะมีกำเนิดมาจากทางใด

หลังได้รับคำตอบดังกล่าว วันที่ 8 ตุลาคม 2483 พล.ต.หลวง พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น ได้ขอ มติสนับสนุนการเรียกร้องดินแดนไทยคราวที่เสียให้แก่ฝรั่งเศสไปเมื่อ ร.ศ. 112 คืน ประชาชนชาวไทยเกือบทั้งประเทศ พร้อมใจกันเดินขบวนเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส นับเป็นการเดินขบวนครั้งใหญ่ที่สุด หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

จากนั้นสถานการณ์ยิ่งตึงเครียดมากขึ้น เมื่อทั้งสองฝ่ายต่างจัดหน่วยกำลังทหาร เผชิญหน้ากันตามชายแดน จนเกิดการปะทะกันในที่สุด เมื่อฝรั่งเศสได้ส่งเครื่องบินเข้ามาทิ้งระเบิดที่จังหวัดนครพนม ในวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2483 ก่อนที่เหตุการณ์ความขัดแย้งครั้งนี้ จะกลายเป็นสงครามที่รุนแรง โดยหนึ่งในการรบที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักคือ การรบที่เกาะช้างวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2484 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังสงครามอินโดจีนฝรั่งเศส ได้สงบลงด้วยข้อตกลงพักรบ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2484 ญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจในเอเชียขณะนั้น เข้ามาเป็นผู้เจรจาไกล่เกลี่ย กรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ที่ไซ่ง่อน บนเรือรบญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2484 

มีการตกลงทำสัญญาเลิกรบกันที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2484 มีนายโซสุเกะ มัดซูโอกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่น เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายญี่ปุ่น ฝ่ายไทยมีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงการต่างประเทศไทยเป็นหัวหน้าคณะ และฝ่ายฝรั่งเศสมี อาร์เซน อังรี เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำกรุงโตเกียวเป็นหัวหน้า

"ข้อความในสนธิสัญญา ระบุว่า ฝรั่งเศสจะยอมเสียดินแดนแขวงหลวงพระบางฝั่งขวาแม่น้ำโขง แคว้นจำปาศักดิ์ และแคว้นเขมร ให้แก่ไทย ข้อตกลงดังกล่าว จึงทำให้กรณีพิพาทจบลงด้วยดี" 

และในวันถัดมา 12 มีนาคม พ.ศ.2484 รัฐบาลไทยได้ประกาศให้เป็นวันหยุดราชการ และประดับธงชาติญี่ปุ่นคู่กับธงชาติไทยเป็นเวลา 3 วัน พร้อมกับให้มีการสวนสนามฉลองชัยที่พระนคร ในวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2484 ก่อนจะมีการลงนามในอนุสัญญาโตเกียว ซึ่งเป็นอนุสัญญาสันติภาพระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 โดยมีกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์เป็นหัวหน้าคณะลงนาม

นอกจากนี้ รัฐบาลได้แต่งตั้งนายควง อภัยวงศ์เป็นประธานกรรมการรับมอบดินแดนคืนจากรัฐบาลฝรั่งเศส ดินแดนที่ได้กลับคืนมาครั้งนี้ รัฐบาลไทยได้แบ่งออกเป็น 4 จังหวัด คือ พระตะบอง พิบูลสงคราม จำปาศักดิ์ และลานช้าง 

และภายหลังจากที่กองทัพไทย มีชัยชนะต่ออินโดจีนฝรั่งเศส พล.ต.หลวงพิบูลสงคราม ได้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศจอมพล จอมพลเรือ จอมพลอากาศ ในวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2484 โดย จอมพล ป.พิบูลสงคราม หรืออดีตพล.ต.หลวงพิบูลสงคราม ทำพิธีเปิดอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเพื่อเทิดทูนวีรกรรมของทหาร ตำรวจ และพลเรือนที่เสียชีวิตไปในการรบจากสงครามครั้งนี้

เหตุการณ์ครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ประเทศไทย สามารถได้สิทธิประโยชน์จากมหาอำนาจยุโรปได้ แต่อย่างไรก็ตาม หลังการทำพิธีลงนามเพื่อสันติภาพ ในข้อตกลงกรณีพิพาทอินโดจีน ชาวไทยได้ชื่นชมยินดีกับดินแดนที่ได้กลับคืนมาไม่นานนัก เมื่อฝรั่งเศสพลิกสถานการณ์เป็นฝ่ายชนะในสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงมีเสียงทางการเมืองระหว่างประเทศมากขึ้น ในที่สุดฝรั่งเศสจึงบีบบังคับให้ไทย ต้องคืนดินแดนดังกล่าวกลับไปให้ฝรั่งเศสอีก

'ภูเก็ต' ยืนหนึ่งเมืองทำเงินสูงสุดกวาดรายได้ 4.9 แสนล้าน รัฐเร่งเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจ หวังดัน GDP ไทยโตต่อเนื่อง

เมื่อวานนี้ (9 มี.ค. 68) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาการบริหารจัดการพื้นที่ฝั่งอ่าวไทยในจังหวัดสงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ตามที่นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดสงขลาเมื่อเดือนที่ผ่านมาในเรื่องการพัฒนาท่าเรือเพื่อเพิ่มจุดท่องเที่ยวสำคัญในจังหวัดสงขลาและจังหวัดในฝั่งอ่าวไทย

ทั้งนี้ คณะฯได้ติดตามการพัฒนา การให้บริการแก่นักท่องเที่ยว ที่ใช้บริการท่าเรืออำเภอดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นท่าเรือเฟอร์รี่ที่ขนคนและยานพาหนะซึ่งผู้แทนกรมเจ้าท่ายืนยันว่ายังมีความพร้อมและเพียงพอในการบริหารจัดการนักท่องเที่ยวไปยังเกาะสมุยซึ่งถือว่าเป็นจุดสำคัญอีกจุดหนึ่งที่รับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากฝั่งอันดามัน เช่น จังหวัดกระบี่ พังงา ภูเก็ต ที่สามารถเดินทางข้ามฝั่งมาเที่ยวที่ฝั่งอ่าวไทยบริเวณท่าเรือดังกล่าวนี้ เป็นจำนวนมาก

ส่วนที่อำเภอเกาะสมุย โครงการจัดทำท่าเทียบเรือสำราญขนาดใหญ่ซึ่งคาดว่าเริ่มก่อสร้างในเร็ววันนี้จะแล้วเสร็จในปี 2575 ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายในการศึกษาจัดทำจุดจอดเรือเพื่อเชื่อมโยงการท่องเที่ยวฝั่งตะวันออกของอ่าวไทยโดยเฉพาะจุดท่าเทียบเรือสำราญขนาดใหญ่ ที่อำเภอเมือง จังหวัดสงขลาต่อเนื่องมายังเกาะสมุย สุราษฎร์ฯ เพื่อเพิ่มจุดและเดินทางท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยวในฝั่งอ่าวไทย เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายทะเลฝั่งอ่าวไทยของภาคใต้ 

นายจิรายุ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังได้ติดตามผลการดำเนินงานการจัดการน้ำเสีย บนเกาะสมุย และความคืบหน้าโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) ที่ห้องประชุมมุกสมุย เทศบาลนครเกาะสมุย อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี โดยมีนายชัชชัย มณี ปลัดอำเภอเกาะสมุย รักษาราชการแทนนายอำเภอเกาะสมุย นายสิทธิศักดิ์ ยิ่งเชิดสุข นายช่างโยธาชำนาญงาน ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการคุณภาพน้ำเสียของเทศบาลนครเกาะสมุย และรายงานเกี่ยวกับความคืบหน้าโครงการก่อสร้างท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ ที่เกาะสมุย ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการโดยกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม โดยนายอดูลย์ ระลึกมูล ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาเกาะสมุย ได้รายงานความพร้อมในการดำเนินการว่าเป็นไปตามกำหนดการที่รัฐบาลได้มอบหมาย

“รัฐบาลให้ความสำคัญ กับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ในภาคใต้ เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ และสนับสนุนการท่องเที่ยวและการเพิ่มประสิทธิภาพของตำรวจท่องเที่ยว และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ในเรื่องของการจัดทำแหล่งท่องเที่ยวระดับชาติในภูมิภาคอาเซียนซึ่งนักท่องเที่ยวจะสามารถใช้เรือสำราญขนาดใหญ่เดินทางจากสิงคโปร์เข้าสู่สงขลาผ่านมายังสุราษฎร์ธานีเกาะสมุย ไปยังพัทยาและประเทศต่างๆทางฝั่งตะวันออกได้”

สำหรับโครงการท่าเทียบเรือสำราญขนาดใหญ่นี้ การดำเนินงาน เป็นไปตามเป้าหมายคาดว่าในปี 2572 จะสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ และจะแล้วเสร็จในปี 2575 ซึ่งจะเป็นการสร้างช่องทางการท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยวที่นิยมเดินทางด้วยเรือสำราญระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น

ส่วนการบริหารจัดการน้ำเสียในพื้นที่อำเภอเกาะสมุยแม้ว่าองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นผู้ดำเนินการเองแต่ก็ยังมีงบประมาณไม่เพียงพอ ในที่ประชุมได้ประสานกับองค์การจัดการน้ำเสียกระทรวงมหาดไทยให้ร่วมกันดำเนินการเพื่อจัดทำบ่อบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่ต่อไป

ขณะที่ปัญหาการขาดแคลนน้ำประปาในพื้นที่เกาะสมุยซึ่งพบว่ามีปริมาณความต้องการมากกว่าน้ำที่ส่งทางท่อจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีมาที่เกาะสมุย  ที่ประชุมได้ขอให้การประปาส่วนภูมิภาคพิจารณาเพิ่มเติมท่อส่งน้ำเพื่อให้เกาะสมุยมีน้ำประปาใช้ได้เพียงพอโดยเฉพาะช่วงไฮซีซั่น

ขณะที่ผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยว 3 กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว พลตำรวจตรี ภพพล จักกะพาก ที่ดูแลพื้นที่ 22 จังหวัดภาคใต้ กล่าวว่าปัญหาของเกาะสมุยและเกาะพะงันส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่มีมากกว่าที่พักบนเกาะพะงันทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปงานสำคัญคือฟูมูนปาร์ตี้แบบไปกลับทำให้เกิดอุบัติเหตุหลายครั้ง ทั้งนี้ได้ร่วมมือกับกรมเจ้าท่าในการกวดขันตรวจเรือโดยเฉพาะสัญญาณไฟและอุปกรณ์ชูชีพในเรือให้พร้อมตลอดเวลาซึ่งในส่วนของตำรวจท่องเที่ยวได้ดำเนินการตรวจสารเสพติดต่อผู้ขับขี่เรือระหว่างเกาะต่าง ๆ ของจังหวัดสุราษฎร์ธานีอย่างต่อเนื่อง

จากนั้น คณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่ดูความคืบหน้าของโครงการบริเวณแหลมหินคม ตำบลตลิ่งงามซึ่งห่างจากที่ว่าการอำเภอไปประมาณ 15 กิโลเมตร โดยพบว่าปัจจุบันไม่มีการต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่  อยู่ระหว่างขั้นตอนการมอบเงินที่ได้จากการเวนคืนที่ดินเพื่อจัดสร้างท่าเรือดังกล่าว ได้เน้นย้ำถึงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการขับเคลื่อนนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ

‘ก.พลังงาน’ แจง ฝายธงน้อย ไม่ใช่สาเหตุน้ำท่วมน่าน พร้อมเดินหน้าบริหารจัดการน้ำท่วม-น้ำแล้งอย่างยั่งยืน

พพ.ชี้แจงข้อเท็จจริง ฝายธงน้อยไม่ใช่สาเหตุของน้ำท่วมจังหวัดน่าน พร้อมเดินหน้ามาตรการบริหารจัดการน้ำ แก้น้ำท่วมช่วยภัยแล้งอย่างยั่งยืน

ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยนายนันทนิษฎ์ วงศ์วัฒนา รองอธิบดี พพ., นายชลน่าน ศรีแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน,นายทรงยศ รามสูต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน,นายณัฐพงษ์ สุปริยศิลป์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน,นายมังกร ศรีเจริญกุล สมาชิกวุฒิสภา, ผู้นำส่วนปกครองท้องถิ่น, หอการค้าจังหวัดน่าน, กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมหารือแนวทางแก้ไขปัญหาฝายธงน้อย จังหวัดน่าน เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบของโครงการต่อสถานการณ์ น้ำท่วมในพื้นที่ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2568 ณ ห้องประชุมบุญรอด-นิธิพัฒน์ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน

ดร.หิมาลัย เปิดเผยว่า ในที่ประชุมได้มีการนำเสนอผลการศึกษาทางอุทกวิทยา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าฝายธงน้อย ไม่มีผลกระทบต่อการเกิดน้ำท่วม โดยผลการจำลองสถานการณ์เปรียบเทียบระดับน้ำระหว่างกรณีที่มีฝายธงน้อยและไม่มีฝายธงน้อย พบว่าระดับน้ำแตกต่างกันเพียง 1-2 เซนติเมตร ซึ่งเป็นค่าที่ไม่มีนัยสำคัญต่อการเกิดน้ำท่วมในเขตเทศบาลเมืองน่าน ถึงแม้ว่าผลการศึกษาจะยืนยันว่าฝายธงน้อยไม่มีผลกระทบต่อสถานการณ์น้ำท่วม แต่เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พพ.มีแผนดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำและสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำธงน้อยเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตพลังงานสะอาด รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น พร้อมบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดมาตรการรองรับกรณีเกิดอุทกภัยในอนาคต

และจากการประชุมหารือร่วมกัน ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ข้อสรุปว่า โครงการฝายธงน้อยมีความสำคัญต่อการบริหารจัดการน้ำและพลังงานของจังหวัดน่านและประเทศ และไม่มีผลกระทบต่อสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดน่าน พพ.จะดำเนินการตามแผนที่กำหนดไว้ต่อไป เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ โดยจะทำการก่อสร้างประตูระบายน้ำและสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำธงน้อย ซึ่งการก่อสร้างประตูระบายน้ำเพิ่มเติม จะช่วยเพิ่มความสามารถในการเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ในช่วงฤดูฝน ลดความเสี่ยงจากน้ำท่วมและสามารถ กักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง เพื่อสนับสนุนภาคการเกษตรและการอุปโภคบริโภคของประชาชนในจังหวัดน่าน และนอกจากบทบาท  ในการบริหารจัดการน้ำ โครงการดังกล่าวนี้จะช่วยในการพัฒนาพลังงานทดแทนของประเทศ โดยสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าสะอาดได้ถึง 11.10 ล้านหน่วยต่อปี ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 6,438 ตัน CO2 ต่อปี และลดการใช้น้ำมันดีเซลเพื่อผลิตไฟฟ้าถึง 3.59 ล้านลิตรต่อปี คิดเป็นมูลค่าประหยัดพลังงานกว่า 98.75 ล้านบาทต่อปี 

ดร.หิมาลัย กล่าวเพิ่มเติมว่า "วันนี้ถือเป็นก้าวสำคัญที่ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันพิจารณาข้อมูลอย่างรอบด้าน และหาข้อสรุปร่วมกันได้อย่างเป็นเอกฉันท์ กระทรวงพลังงาน โดย พพ. พร้อมทำงานอย่างเต็มกำลังเพื่อให้โครงการฝายธงน้อยเป็นกลไกสำคัญในการแก้ปัญหาน้ำท่วมและช่วยลดภัยแล้งอย่างยั่งยืนต่อไป และพร้อมเข้าช่วยเหลือทันทีหากเกิดน้ำท่วมซ้ำระหว่างก่อสร้างประตูระบายน้ำเพิ่มเติม เราไม่ได้ทำเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง แต่เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ”

'กรมที่ดิน' ทยอยเพิกถอนโฉนด 'อัลไพน์' เผยหากครบ 120 วัน จะโอนกลับไปเป็น ‘ที่ธรณีสงฆ์’

‘เจ้าพนักงานที่ดิน จ.ปทุมธานี’ ทยอยเพิกถอนโฉนด ‘อัลไพน์’ พร้อมประทับตราห้าม ‘จำหน่ายจ่ายโอน’ เผยหากครบ 120 วัน จะโอนเป็น ที่ธรณีสงฆ์ ขณะที่ ‘เจ้าของที่ดิน’ ทยอยฟ้อง ‘ศาลปกครอง’ เพิกถอนคำสั่ง

จากกรณีเมื่อวันที่ 16 ม.ค.2568 นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านกิจการความมั่นคงภายใน ได้ลงนามคำสั่งเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์เดิมของนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย และมีคำสั่งให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ในที่ดินธรณีสงฆ์ของวัดธรรมิการามวรวิหาร (ที่ดินอัลไพน์) และส่งเรื่องให้กรมที่ดินดำเนินการ นั้น

ล่าสุดนายสมคิด จันทมฤก ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงความคืบหน้าในการเพิกถอนโฉนดที่ดินอัลไพน์ ว่า ได้รับทราบอย่างไม่เป็นทางการว่า เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี กรมที่ดิน ได้ดำเนินการทยอยขีดหลังโฉนดที่ถูกเพิกถอนแล้ว และประทับตราห้ามจำหน่ายจ่ายโอน แต่ยังไม่ครบทุกแปลง ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการดังกล่าวครบ 120 วัน แล้ว จึงจะดำเนินการโอนเป็นที่ธรณีสงฆ์

“เมื่อถึงขั้นตอนนั้น ทางสำนักงานที่ดินจังหวัดจะต้องรายงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบ” นายสมคิด กล่าว

นายสมคิด ระบุด้วยว่า หลังจากที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดได้เริ่มเขียนหลังโฉนดว่า ห้ามจำหน่ายจ่ายโอนที่ดินแล้ว ทราบว่าเจ้าของที่ดินบางรายได้ทยอยยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อเพิกถอนคำสั่งฯดังกล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ กรมที่ดินได้จัดทำเอกสารสรุปขั้นตอนการดำเนินการ ในกรณีที่รองปลัดกระทรวงมหาดไทย มีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งของปลัดกระทรวงมหาดไทย (นายยงยุทธ์ วิชัยดิษฐ) และให้คำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 2308/2544 ลงวันที่ 20 ธ.ค.2544 กลับมามีผล และกรณีการดำเนินการหลังมีการเพิกถอนรายการจดทะเบียน ตามคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 2308/2544 ลงวันที่ 20 ธ.ค.2544 ดังนี้

กรณีการดำเนินการของกรมที่ดิน เมื่อรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เพิกถอนคำสั่งของปลัดกระทรวงมหาดไทย (นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ)

เมื่อรองปลัดกระทรวงมหาดไทย เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์เดิม และวินิจฉัยอุทธรณ์ใหม่ โดยให้คำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 2308/2544 ลงวันที่ 20 ธ.ค.2544 กลับมามีผล กรมที่ดินจะแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ พร้อมทั้งสิทธิการฟ้องคดีให้กับกลุ่มเจ้าของที่ดิน ได้แก่ 1.กลุ่มเจ้าของที่ดินซึ่งไม่ได้อุทธรณ์ 16 ราย 20 แปลง เนื้อที่ 13-0-14.2 ไร่ และผู้รับโอนต่อมา และ 2.กลุ่มผู้อุทธรณ์เดิม 294 ราย 624 แปลง เนื้อที่ 911-2-60.8 ไร่ และผู้รับโอนต่อมา

จากนั้นสำนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี จะแจ้งให้บุคคลดังกล่าว ให้ส่งมอบโฉนดที่ดินเพื่อหมายเหตุการณ์เพิกถอน ซึ่งในกรณีที่ไม่ส่งมอบโฉนดที่ดินนั้น จะมีการออกใบแทน (มาตรา 61 วรรคหก แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน) โดยประกาศภายใน 30 วัน ตามข้อ 17 (6) กฎกระทรวงฉบับที่ 43 (พ.ศ.2537)

กรณีการดำเนินการภายหลังเพิกถอนรายการจดทะเบียน ตามคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 2308/2544 ลงวันที่ 20 ธ.ค.2544

เมื่อคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 2308/2544 ลงวันที่ 20 ธ.ค.2544 กลับมามีผล ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 20 และ 1446 อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี กลับเป็นทรัพย์มรดกของนางเนื่อม ชำนาญชาติศักดา ทางผู้จัดการมรดกต้องโอนมรดกตามพินัยกรรมของนางเนื่อมฯ ให้วัดธรรมิการามวรวิหาร

จากนั้นวัดธรรมิการามวรวิหาร จะยื่นขออนุญาตได้มา ซึ่งที่ดินตามมาตรา 84 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และผู้ว่าราชการจังหวัดปฏิบัติราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (คำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 95/2546 ลงวันที่ 20 มี.ค.2546) มีคำสั่งอนุญาตให้วัดฯได้มาซึ่งที่ดิน โดยวัดฯจะเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เฉพาะที่ดิน โดยการจดทะเบียนโอนมรดก ส่วนสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินนั้น จะไม่ตกเป็นของวัดฯ

ทั้งนี้ ในการดำเนินการกับที่ดิน ซึ่งวัดฯเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ฯนั้น จะมี 3 แนวทาง คือ 1.วัดให้เจ้าของที่ดิน คนปัจจุบันเช่า ซึ่งกรณีระยะเวลาการเช่าเกินกว่า 3 ปี แต่ไม่เกิน 30 ปี ต้องได้รับ ความเห็นชอบจากกรมการศาสนา (ปัจจุบันสำนักงานพระพุทธศาสนา) ตามข้อ 4 (1) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2511) พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (พ.ศ.2505) 2.วัดฯขอออก หนังสือรับรอง ทรัพย์อิงสิทธิ ไม่เกิน 30 ปี (มาตรา 4 พ.ร.บ.ทรัพย์อิงสิทธิ พ.ศ.2562)

และ 3.วัดโอนที่ดิน โดยตราเป็น พ.ร.บ. (มาตรา 34 พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505) ซึ่งเป็นไปตามความเห็น ของคณะกรรมการกฤษฎีกา ลงวันที่ 1 เม.ย.2545 โดยให้เฉพาะบุคคลซึ่งได้สิทธิในที่ดินมาโดยสุจริต

ขณะที่การดำเนินการกับสิ่งปลูกสร้างบนที่ดิน ซึ่งไม่ตกเป็นของวัด นั้น มี 2 แนวทาง คือ 1.วัดฯต้องชดใช้ราคา ให้กับเจ้าของปัจจุบัน และ 2.เจ้าของขอรื้อถอนออกไป โดยเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการ

จีน-รัสเซีย-อิหร่าน ประกาศซ้อมรบทางทะเล ยกระดับความร่วมมือทางทหาร กระชับอำนาจในอ่าวเปอร์เซีย

(11 มี.ค. 68) สำนักข่าว Sputnik รายงานว่า กระทรวงกลาโหมจีนประกาศว่า จีน, รัสเซีย และอิหร่าน จะร่วมกันซ้อมรบทางทะเลบริเวณน่านน้ำใกล้ท่าเรือจาบาฮาร์ของอิหร่าน ในช่วงต้นเดือนมีนาคมนี้

แถลงการณ์จากกระทรวงกลาโหมจีนระบุว่า การซ้อมรบครั้งนี้มุ่งเน้นไปที่ การเสริมสร้างความมั่นคงทางทะเล การต่อต้านภัยคุกคามทางยุทธศาสตร์ และการประสานงานทางทหาร ระหว่างกองทัพเรือของทั้งสามประเทศ ซึ่งถือเป็นการขยายความร่วมมือทางทหารที่สำคัญ

การซ้อมรบระหว่าง จีน-รัสเซีย-อิหร่าน เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองและความมั่นคงระหว่างประเทศที่มีความตึงเครียด โดยก่อนหน้านี้ รัสเซียเพิ่งเสร็จสิ้นการซ้อมรบครั้งใหญ่ "Ocean-2024" ในทะเลญี่ปุ่นร่วมกับจีน ขณะที่จีนและอิหร่านก็กำลังพัฒนาความสัมพันธ์ทางทหารอย่างต่อเนื่อง

นักวิเคราะห์มองว่าการซ้อมรบครั้งนี้ อาจเป็นการส่งสัญญาณถึงชาติตะวันตกว่า พันธมิตรฝั่งตะวันออกกำลังแข็งแกร่งขึ้น และพร้อมปกป้องผลประโยชน์ของตนในภูมิภาค โดยเฉพาะในบริเวณอ่าวเปอร์เซียและมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญทางเศรษฐกิจและการทหาร

ทั้งนี้ รายละเอียดเกี่ยวกับรูปแบบการซ้อมรบ รวมถึงจำนวนกองกำลังและยุทโธปกรณ์ที่เข้าร่วม ยังคงต้องรอติดตามจากแถลงการณ์เพิ่มเติมของทั้งสามประเทศ

“จีน ตั้งกองทุน 1 ล้านล้านหยวน พัฒนาเทคฯ + สอนวิชา AI ระดับประถม/มัธยม ส่วนไทย จะสร้างคาสิโน + แจกเงินคนรุ่นใหม่ ไปชอปปิ้ง!”

(11 มี.ค. 68) รองศาสตราจารย์ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า จีน ตั้งกองทุน 1 ล้านล้านหยวนพัฒนาเทคฯ + สอนวิชา AI ระดับประถม/มัธยม ส่วนไทย จะสร้างคาสิโน + แจกเงินคนรุ่นใหม่ไปชอปปิ้ง

พร้อมระบุด้วยว่า เวียดนาม ข้างบ้านไทยแลนด์ก็เร่งพัฒนาคนรุ่นใหม่ รองรับอุตสาหกรรมเทคฯ และบุคลากรด้าน IT และนศ.ที่จบด้านเทคฯ มากกว่าไทย มาหลายปีแล้ว

โดยยกข้อมูลเป็นตัวอย่างเปรียบเทียบระหว่างเวียดนามกับไทยว่า บุคลากร IT ของเวียดนามอยู่ที่ 500,000 คน ส่วนไทยอยู่ที่ 170,000 คน ในขณะที่เด็กวิศวกรคอมพิวเตอร์จบใหม่ต่อปี เวียดนาม 50,000 คน ไทย 5,000 คน ในส่วนของเงินเดือนเริ่มต้มของวิศวกรซอฟต์แวร์ เวียดนาม 22,000 บาทต่อเดือน ไทย 40,000 บาทต่อเดือน ดังนั้นจะเห็นได้ว่าคนเวียดนามมีบุคลากร IT มากกว่า อายุเฉลี่ยต่ำกว่า แต่เงินเดือนคนเวียดนามถูกกว่าเกือบเป็นเท่าตัว

'ท่าอากาศยานเจิ้งโจว' แหล่งลงทุนแห่งอนาคต พร้อมเชื่อมต่อเศรษฐกิจโลก เสริมศักยภาพศูนย์กลางโลจิสติกส์ครบวงจร

(11 มี.ค. 68) เขตนำร่องทดลองเศรษฐกิจท่าอากาศยานเจิ้งโจว (Zhengzhou Airport Economic Comprehensive Experimental Zone) ซึ่งตั้งอยู่ในมณฑลเหอหนาน กำลังก้าวขึ้นเป็น ศูนย์กลางธุรกิจและโลจิสติกส์ระดับโลก พร้อมต้อนรับพันธมิตรทางธุรกิจจากทั่วทุกมุมโลก ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง เครือข่ายคมนาคมที่ครอบคลุม และคลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างรวดเร็ว

เขตเศรษฐกิจแห่งนี้โดดเด่นด้วยระบบ 'การเชื่อมโยงท่าทั้ง 4' ได้แก่ ท่าอากาศยาน สถานีรถไฟ ศูนย์ขนส่งทางถนน และท่าเรือบก ทำให้สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายโลจิสติกส์กับเศรษฐกิจโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ปัจจุบันสนามบินนานาชาติเจิ้งโจวซินเจิ้ง อยู่ที่ 40 อันดับแรกของโลกด้านปริมาณการขนส่งสินค้าและไปรษณียภัณฑ์ และมีเส้นทางขนส่งสินค้าเชื่อมโยง 28 ประเทศ และ 62 เมืองทั่วโลก

นอกจากนี้ ศูนย์ท่าเรือบกนานาชาติเจิ้งโจว ซึ่งเป็นศูนย์กลางรถไฟขนส่งสินค้าจีน-ยุโรปแห่งเดียวในภาคกลางของจีน คาดว่าจะสามารถรองรับ รถไฟ 10,000 ขบวน และสินค้ากว่า 10 ล้านตัน ภายในปี 2578

โดยเขตนำร่องเศรษฐกิจแห่งนี้กำลังกลายเป็น ศูนย์กลางการผลิตระดับสูง โดยมีอุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ นำโดย Foxconn, xFusion และ Loongson, อุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่ ขับเคลื่อนโดย BYD, Skyworth และ Geely, อุตสาหกรรมชีวการแพทย์ มีศูนย์กลางที่ Zhongyuan Medical Science City

อีกทั้งโรงงานของ Foxconn ในเจิ้งโจวได้ผลิตสมาร์ตโฟนไปแล้วกว่า 1.2 พันล้านเครื่อง ทำให้กลายเป็นฐานการผลิตอุปกรณ์อัจฉริยะที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในขณะที่ BYD ผลิตรถยนต์พลังงานใหม่ได้ถึง 545,000 คันในปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 169.8%

ส่งผลให้เขตเศรษฐกิจแห่งนี้ยังพัฒนาไปสู่ เทคโนโลยีขั้นสูงและนวัตกรรมใหม่ เช่น ดาวเทียมอวกาศ การกักเก็บพลังงาน และปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยศูนย์การคำนวณอัจฉริยะที่ใหญ่ที่สุดในจีนตอนกลางกำลังจะเปิดดำเนินการเต็มรูปแบบภายในไตรมาสแรกของปีนี้

สำหรับในอนาคต เขตนำร่องเศรษฐกิจท่าอากาศยานเจิ้งโจวตั้งเป้าที่จะเป็นศูนย์กลางใน 5 ด้าน ได้แก่ ศูนย์การผลิตขั้นสูง, ศูนย์โลจิสติกส์เพื่อธุรกิจ, ศูนย์นวัตกรรมและการประกอบการ, ศูนย์แฟชั่นเชิงสร้างสรรค์ และศูนย์พัฒนาทรัพยากรบุคคล ด้วยศักยภาพและนโยบายสนับสนุนที่แข็งแกร่ง เขตเศรษฐกิจแห่งนี้จึงพร้อมเปิดรับ นักธุรกิจและนักลงทุนจากทั่วโลก ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ การเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับนานาชาติ

‘เกาหลีใต้’ ประเทศที่เศรษฐกิจดีแต่คนไม่มีความสุข เหตุ ความมั่งคั่งอยู่ในมือไม่กี่ตระกูลใหญ่ - คนรุ่นใหม่ไม่สร้างครอบครัว

(11 มี.ค. 68) เพจ Business Backpacker by K-SME โพสต์ข้อความว่า เกาหลี = ประเทศที่ความสุขต่ำสุดในโลก

โดยระบุว่า มา Seoul ครั้งนี้, นี่คือสิ่งที่ได้ยินบ่อยๆ ทั้งจากข่าวจากคน 

แรกๆ ก็งงว่าเป็นไปได้อย่างไร, โดยเฉพาะกลุ่มเด็กรุ่นใหม่วัย 30 ปีลงมาที่เรียกบ้านเมืองตัวเองว่านรกบนดิน
ทั้งที่เกาหลีเป็นชาติพัฒนา, gpd ต่อหัวเกือบ 40000 usd [ต่อคนประมาณ 1.2 ล้านต่อปีหรือเดือนละแสนบาทไทย]

แต่ดูเหมือนว่าประชากรจะไม่มีความสุขเท่าไร 
หลักฐานแสดงออกมาใน Stat อื่นที่ไม่ใช่ตัวเงิน

เช่น 
- อัตราการเกิดของเด็กที่ต่ำสุดในโลก [ตกใจที่ต่ำกว่า Ukraine ด้วยซ้ำจาก Stat ปี 2024]
- การหย่าร้างที่ติดอันดับบนๆ 
- เดินถนนมีแต่คนแก่
- แต่ประเทศดันอยู่ในสภาวะสงครามตลอดเวลา [แถมยิ่งวันทั้ง Kim ทั้ง Trump ก็ดูบ้าๆ พยากรณ์อะไรไม่ได้...]
- ประชาชนทุกคนต้องเป็นทหาร 
- แต่ "ประชาชนทุกคน" ที่ว่าฯ ดันมีจำนวนเกิดใหม่น้อยลงๆ
- จากเดิมที่เคยทำนายว่าในเวลา 50 ปี, ถ้าเกาหลีใต้ยังคงเดินหน้าแบบนี้จะ "สิ้นชาติ" อาจเห็นผลในไม่ถึง 30 ปีหรือ 25 ปี
- เมื่อเมืองอื่นๆ ในเกาหลีมีเด็กเกิดใหม่น้อยลง, ธุรกิจในพื้นที่นั้นก็เริ่มตาย
- ยิ่งผลักให้เด็กจบใหม่มีทางเลือกเดียวคือเข้า Seoul 
- ต่างจังหวัดก็ยิ่งร้าง
- แต่เด็กจบใหม่เหล่านั้นเมื่อผ่านไปสี่ห้าปีก็เริ่มพบว่าต่อให้ทำงานหนักแค่ไหนก็ไม่มีสิทธิ Own อะไรเลยในประเทศนี้
- ตึกสวยๆ สูงๆ ใน Seoul ที่ตนเคยใช้ภูมิใจอวดใส่คนต่างชาติ, ความจริงเจ้าของทั้งหมดก็คือสี่ห้านามสกุลที่แบ่งประเทศกัน
- ส่วนตัวเองทำได้แค่เลิกงานแล้วเดินทางกลับห้องเช่ารูหนูใต้ดินชายขอบของ Seoul [บ้านสมัยก่อนมักมีห้องใต้ดินเผื่อไว้เป็น Shelter หากเกิดสงคราม]
- ผ่านไปสิบปีเริ่มแก่ลงทุกทีๆ 
- ไม่มีปัญญาแม้จะ Own ห้อง Own ตึก Own บ้าน, ไม่มีปัญญาจะสร้างครอบครัวหรือมีเด็กเกิดใหม่ที่รัฐ [และไอ้สี่ห้าตระกูลนั้น] เคี่ยวเข็ญทุกวันว่าคนรุ่นใหม่ทำไมไม่มี ๆ ๆ
- ที่เห็นหนุ่มสาวชาว Seoul เดินหล่อๆ สวยๆ กัน, เป็นแค่ฝันที่ครั้งหนึ่งเกาหลีสร้างไว้ ก่อนสมัย Pandemic 

ฉันมาธุระรอบนี้, ออกมาดูพื้นที่รอบนอกของ Seoul ถัดออกมาอีกที 
มีต่างชาติส่งข่าวอันหนึ่งมาให้ดู
ว่าด้วย Older Se x Workers ในเกาหลี

คนชราหญิงวัย 6x - 7x ปีที่ออกมาเดินเร่ขายตัวกลางดึกเพื่อหาเงินกินข้าววันต่อวัน
ทั้งที่บางคนมีลูกหลาน
แต่ความจริงคือลูกหลานเหล่านั้นแค่เอาตัวเองให้รอดไปวันๆ ก็แทบจะไม่ไหว
ไม่มีความหวัง
ไม่มีความภูมิใจ
ไม่มีอนาคต

ตัวเลข gdp ที่เกิดจากสี่ตระกูลใหญ่อาจจะปั่นขึ้นไปๆ
แต่คนรุ่นจากนี้อาจจะเริ่มสงสัย
ว่าฉันยังควรจะภูมิใจที่เกิดเป็นคนเกาหลีไหม
ในเมื่อไม่มีสิทธิ Own อะไรในประเทศนี้เลย 

‘เซเลนสกี’ เยือนซาอุฯ เข้าเฝ้าเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน หารือความร่วมมือทวิภาคีท่ามกลางสงครามยูเครน-รัสเซีย

(11 มี.ค. 68) สื่อซาอุดีอาระเบียรายงานว่า เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย ได้พบปะกับประธานาธิบดียูเครน โวโลดีเมียร์ เซเลนสกี ที่พระราชวังอัล-ซาลาม ในเมืองเจดดาห์ เมื่อช่วงค่ำวันจันทร์ (10 มี.ค.) โดยมีพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการก่อนที่ทั้งสองฝ่ายจะหารือเกี่ยวกับประเด็นสำคัญระดับทวิภาคีและระดับนานาชาติ

การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างยูเครนและรัสเซีย ขณะที่ซาอุดีอาระเบียยังคงรักษาบทบาทเป็นมหาอำนาจในตะวันออกกลางที่ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ทางการทูตและเศรษฐกิจในระดับโลก

สำนักข่าวของทางการซาอุดีอาระเบียระบุว่า มกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน และประธานาธิบดีเซเลนสกี ได้หารือถึงแนวทางการกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และพลังงานระหว่างสองประเทศ รวมถึงการสนับสนุนยูเครนในด้านมนุษยธรรมและการฟื้นฟูประเทศจากผลกระทบของสงคราม

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ความมั่นคงระหว่างประเทศ รวมถึงความพยายามในการหาทางออกทางการทูตสำหรับความขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่

แหล่งข่าวระบุว่า ซาอุดีอาระเบีย มีบทบาทสำคัญในเวทีโลกด้านพลังงาน และการไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง โดยได้แสดงท่าทีสนับสนุนแนวทางสันติภาพ รวมถึงการแก้ไขปัญหาผ่านกระบวนการทางการทูตมาโดยตลอด

การพบปะครั้งนี้สะท้อนถึงความพยายามของทั้งสองประเทศในการกระชับความสัมพันธ์และร่วมมือกันในหลายมิติ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และความมั่นคงของหลายประเทศ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top