Sunday, 11 May 2025
TheStatesTimes

‘เอกนัฏ’ เยือนจีน ปูทางอุตสาหกรรมไทยเติบโต ชูแนวทางยกระดับไทย-จีน เพื่อความยั่งยืนในอนาคต

(7 มี.ค. 68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และ นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดราชบุรี เขต 4 พรรครวมไทยสร้างชาติ พร้อมคณะ ได้เดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนระหว่างวันที่ 4-7 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา เพื่อยกระดับความร่วมมือทางการค้าการลงทุนระหว่างไทยและจีน โดยเฉพาะในด้านอุตสาหกรรมใหม่และเทคโนโลยีที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว

การเยือนในครั้งนี้ได้มีการหารือกับ รองผู้ว่าการมณฑลอานฮุย เพื่อขยายความร่วมมือในโครงการ Two Country, Twin Parks ซึ่งเป็นการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมร่วมระหว่างมณฑลอานฮุยของจีนและประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการลงทุนจากจีนในประเทศไทย โดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ เช่น พลังงานสะอาด (Clean Energy), เทคโนโลยี AI และอุตสาหกรรมดิจิทัลใหม่ๆ ที่จะช่วยส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต

นอกจากนี้ คณะจากกระทรวงอุตสาหกรรมยังได้มีการหารือกับผู้บริหารระดับสูงของ บริษัท GAC Aion, Huawei และ BYD บริษัทชั้นนำของจีนที่มีความเชี่ยวชาญในด้านยานยนต์ไฟฟ้า, อุปกรณ์เทคโนโลยี และพลังงานสะอาด โดยในระหว่างการพบปะกัน ผู้บริหารของทั้งสามบริษัทได้แสดงความสนใจที่จะเพิ่มการลงทุนในประเทศไทย รวมทั้งเสนอแผนพัฒนาทักษะแรงงานไทยให้พร้อมรองรับอุตสาหกรรมใหม่ๆ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้าและพลังงานสะอาด

นายอัครเดช กล่าวว่า “การหารือในครั้งนี้ได้รับการต้อนรับจากบริษัทชั้นนำของจีนอย่างดีเยี่ยม ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยสามารถเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมใหม่ได้อย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี AI หรืออุตสาหกรรมสะอาด ซึ่งจะสร้างโอกาสใหม่ให้กับประเทศและภาคธุรกิจไทยในอนาคต”

สำหรับการเยือนจีนในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนา และยกระดับความร่วมมือทางอุตสาหกรรมระหว่างประเทศไทยกับจีน ซึ่งจะช่วยเปิดโอกาสให้ธุรกิจไทยเติบโตในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูงและรองรับความท้าทายของยุคดิจิทัลได้อย่างยั่งยืน

รอง ผบ.ตร.แถลงผลการจับกุมผู้ต้องหา 2 ราย ซุกซ่อนบุหรี่ไฟฟ้า 35,600 ชิ้น พร้อมอุปกรณ์ที่ใช้ในการเปิดร้านจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ภายในบ้านพัก

(7 มี.ค.68) เวลา 09.00 น. พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มอบหมายให้ พล.ต.อ.ประจวบ วงศ์สุข รอง ผบ.ตร. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผอ.ศปปง.ตร.) เป็นประธานแถลงผลการตรวจค้นจับกุมแหล่งซุกซ่อนบุหรี่ไฟฟ้ารายใหญ่ โดยมี พล.ต.ท.อัคราเดช พิมลศรี ผู้ช่วย ผบ.ตร. , พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. , พล.ต.ต.กิตนิ์ธเนศ ธนนันท์ทวีสิน ผบก.ภ.จว.นนทบุรี ,พล.ต.ต.โชติวัฒน์ เหลืองวิลัย ผบก.สส.บช.น. , พล.ต.ต.พัฒนศักดิ์ บุบผาสุวรรณ ผบก.ปคบ. , พล.ต.ต.สรัลพัฒน์ ยศสมบัติ ผบก.กต.2 และผู้เกี่ยวข้องร่วมแถลง ณ บ้านพักในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ต.ไทรม้า อ.เมือง จ.นนทบุรี

ทั้งนี้ ช่วงประมาณต้นเดือนมีนาคม 2568 ได้มีพลเมืองดีเข้ามาให้ข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ว่ามีการขนย้ายบุหรี่ ไฟฟ้าจำนวนมากออกจากร้านที่ลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า บริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานครและพื้นที่ข้างเคียง เจ้าหน้าที่ตำรวจเชื่อว่าเป็นการขนออกเพื่อหลบเลี่ยงการถูกตรวจค้นจับกุม ในช่วงที่มีความเข้มข้นในการระดมกวาดล้างการกระทำความผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า จึงได้ทำการสืบสวนติดตามเรื่อยมา จนกระทั่งทราบว่ามีการขนบุหรี่ไฟฟ้านำมาเก็บซุกซ่อนไว้ในบ้านพักในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ต.ไทรม้า อ.เมือง จ.นนทบุรี ซึ่งพบว่าบ้านหลังดังกล่าวมีการใช้สิ่งของปกปิดอำพรางรั้วไว้อย่างมิดชิด จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจ กองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขอหมายค้นต่อศาลจังหวัดนนทบุรี และศาลได้อนุมัติหมายค้น 

ล่าสุดวันนี้ (7 มีนาคม 2568) เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สนธิกำลังกันเข้าทำการตรวจค้นบ้านหลังดังกล่าว ผลการตรวจค้นพบของกลางเป็นบุหรี่ไฟฟ้าจำนวนหลายยี่ห้อคละกัน ประมาณ 35,600 ชิ้น รวมมูลค่ากว่า 1 ล้านบาท และยังตรวจพบอุปกรณ์ที่ใช้ในการเปิดร้านจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าอีกจำนวนหนึ่ง การปฏิบัติการในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมผู้ต้องหา 2 ราย แจ้งข้อหา “ฝ่าฝืนคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ขายสินค้าที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคสั่งห้ามขาย (บุหรี่ไฟฟ้าและน้ำยาสำหรับเติมบุหรี่ไฟฟ้า)” ตามคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 และ “ซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใดซึ่งของอันตนพึงรู้ว่าเป็นสิ่งต้องห้ามนำเข้าในราชอาณาจักร” ตามมาตรา 256 พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 

เบื้องต้นหนึ่งในผู้ต้องหาให้การว่าเป็นเจ้าของร้านจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร และรับคำสั่งมาจากผู้สั่งการให้ทำการเก็บรักษาบุหรี่ไฟฟ้าของกลางไว้ จากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมจะได้มีการขยายผลอย่างต่อเนื่องไปสู่การจับกุมผู้ร่วมขบวนการรายอื่นมารับโทษตามกฎหมายต่อไป

พล.ต.อ.ประจวบฯ กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็ก เยาวชน นักเรียน นักศึกษา พื้นที่ใกล้โรงเรียนหรือสถานศึกษา รวมถึงสถานบริการ สถานประกอบการ และพื้นที่สาธารณะในหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายของผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเอง หรือผู้อื่น สร้างความเดือดร้อน รำคาญแก่ประชาชนใกล้เคียง รัฐบาล โดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ให้ความสำคัญต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าดังกล่าว จึงกำหนดนโยบายให้มีการระดมกวาดล้างจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าในทุกมิติ ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นำโดย พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร. สั่งการให้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกหน่วย ระดมกำลังกวาดล้างจับกุมในทุกพื้นที่อย่างต่อเนื่องและเคร่งครัด และติดตามการขับเคลื่อนให้มีผลการปฏิบัติในทุกมิติอย่างเป็นรูปธรรม

เชียงใหม่-ท่าอากาศยานเชียงใหม่จัดพิธีทำบุญครบรอบ 37 ปี แห่งการดำเนินงาน

ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม. )ฉลองครบรอบ 37 ปี แห่งการดำเนินงานในฐานะศูนย์กลางการเดินทางทางอากาศที่สำคัญของภาคเหนือ พร้อมมุ่งสู่อนาคต ด้วยแผนพัฒนาที่จะรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

(7 มี.ค.68) ท่าอากาศยานเชียงใหม่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทชม.ทอท.) ครบรอบ 37 ปีการดำเนินงานในวันที่ 1 มีนาคม 2568  ได้จัดพิธีทำบุญ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ลแก่พนักงาน ลูกจ้างและผู้ที่ปฏิบัติงาน โดยมีนาวาอากาศโท รณกร เฉลิมแสนยากร ผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เป็นประธานในพิธีทำบุญ พร้อมด้วนหัวหน้าส่วนราชการ สายการบิน ผู้ประกอบการ ตลอดจนผู้บริหาร และพนักงานลูกจ้างท่าอากาศยานเชียงใหม่ เข้าร่วมพิธี อย่างพร้อมเพรียง สะท้อนถึงความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ให้เป็นศูนย์กลางการบินที่สำคัญของภูมิภาค ณ อาคารอเนกประสงค์ ท่าอากาศยานเชียงโหม่

นาวาอากาศโท รณกร เฉลิมแสนยากร ผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ กล่าวว่า ท่าอากาศยานเชียงใหม่เป็นท่าอากาศยาน 1 ใน 6 แห่ง ภายใต้การกำกับดูแลของ ทอท.ได้รับโอนกิจการจากกรมการบินพาณิชย์มาอยู่ในความดูแลของการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2531 และได้กลายเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือ โดยปัจจุบันรองรับผู้โดยสารมากกว่า 10 ล้านคนต่อปี และมีเส้นทางบินเชื่อมต่อทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงสายการบินชั้นนำที่ให้บริการอย่างต่อเนื่อง 

ปัจจุบันท่าอากาศยานเชียงใหม่ให้บริการเส้นทางการบินระหว่างประเทศ 21 เส้นทาง ให้บริการโดย 24 สายการบิน และให้บริการเส้นทางการบินภายในประเทศ 11 เส้นทาง ให้บริการโดย 6 สายการบิน ซึ่งสายการบินน้องใหม่ล่าสุดที่กำลังจะเริ่มให้บริการในวันที่ 27 มีนาคม 2568 คือสายการบินเฉิงตูแอร์ไลน์ ทำการบินเส้นทาง เฉิงตู-เชียงใหม่-เฉิงตู และมีสายการบินจากตะวันออกกลางอยู่ระหว่างการดำเนินการขอใบอนุญาต เพื่อทำการบินในช่วงปลายปีนี้ 

สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2567 ท่าอากาศยานเชียงใหม่มีผลการดำเนินงานที่สะท้อนถึงการฟื้นตัวและเติบโตของภาคการบินและการท่องเที่ยว จำนวนเที่ยวบินพาณิชย์ 59,493 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ร้อยละ 6.88  จำนวนผู้โดยสาร 9,082,071 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ร้อยละ 10.43 ปริมาณสินค้า 5,478,134 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ร้อยละ 4.23 

และเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต ท่าอากาศยานเชียงใหม่มีแผนพัฒนาขยายศักยภาพการรองรับผู้โดยสารให้เพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านคนต่อปี โดยมีการดำเนินโครงการพัฒนาใน 2 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1: เพิ่มขีดความสามารถจาก 8.5 ล้านคนต่อปี เป็น 16.5 ล้านคนต่อปี ระยะที่ 2: ขยายเพิ่มเป็น 20 ล้านคนต่อปี

ในส่วนของโครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 ปัจจุบันอยู่ระหว่างกระบวนการสำรวจและออกแบบโครงการพัฒนาระยะที่ 1 ควบคู่กับการดำเนินการโครงการศึกษาและจัดทำรายงานการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ : แผนพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่  

โดยโครงการพัฒนาไม่เพียงมุ่งเน้นด้านโครงสร้างพื้นฐาน แต่ยังให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์ล้านนา การพัฒนาการให้บริการ และความสะดวกสบายของผู้โดยสาร รวมถึงการรองรับระบบขนส่งมวลชน เช่น โครงการรถไฟฟ้า และการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านจราจรบริเวณโดยรอบ 

ผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ กล่าวอีกว่า “ตลอด 37 ปีที่ผ่านมา ท่าอากาศยานเชียงใหม่ เป็นกลไกหนึ่งในการส่งเสริม สนับสนุน ผลักดันให้มีการเจริญเติบโตในทุกมิติของจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือ เรามุ่งมั่นที่จะพัฒนาสนามบินให้ทันสมัย สะดวกสบาย และปลอดภัย รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการบิน และส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน"

ท่าอากาศยานเชียงใหม่ยังมีแผนพัฒนาต่อเนื่องในอนาคต โดยมุ่งเน้นการขยายอาคารผู้โดยสาร การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ และมาตรการเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ การใช้พลังงานสะอาดและการลดการปล่อยคาร์บอนสู่บรรยากาศ เพื่อให้สนามบินเติบโตอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมอยู่เคียงข้างกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม เป็นศูนย์กลางการบินระดับภูมิภาคที่พร้อมรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการเดินทางและการท่องเที่ยวในระดับสากล

สมุทรปราการ-อรัญญา สุวรรณบุตร นายกเทศมนตรีตำบลแพรกษา แถลงนโยบายต่อสภาพร้อมเดินหน้าพัฒนาท้องถิ่น

(7 มี.ค.68) สภาเทศบาลตำบลเเพรกษา ได้จัดการประชุมสภาเทศบาลตำบลเเพรกษา สมัยวิสามัญ ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ. 2568 โดยมี นายธนกฤษ ศิรกุลวัฒน์ รองประธานสภาเทศบาลตำบลแพรกษา เป็นประธานเปิดการประชุมสภาฯ โดยมีคณะผู้บริหาร คณะสมาชิกสภาเทศบาล 

พร้อมด้วย นายวรรณวุฒิ มาสุข รองปลัดเทศบาล รักษาราชการแทนปลัดเทศบาล หัวหน้าส่วนราชการ เข้าร่วมประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง ณ ห้องประชุมสภา ชั้น 5 สำนักงานเทศบาลตำบลแพรกษา อำเภอเมืองสมุทรปราการ 

โดยนางอรัญญา สุวรรณบุตร นายกเทศมนตรีตำบลแพรกษา ได้กล่าวแถลงนโยบายต่อที่ประชุมสภาเทศบาลตำบลแพรกษา ถึงนโยบายที่จะดำเนินการขับเคลื่อนพร้อมทั้งการพัฒนาท้องถิ่นและสานงานต่อให้แล้วเสร็จ เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างสูงสุด 

ประกอบด้วยนโยบายทั้ง 7 ด้าน คือ1. ด้านการศึกษา ระดับปฐมวัย ,ระดับประถมศึกษา ,ระดับมัธยมศึกษา และระดับอาชีวศึกษา 2. ด้านเศรษฐกิจ 3.ด้านคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม 4.ด้านสาธารณสุข 5. ด้านโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค 6. ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม 7. ด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

อย่างไรก็ตาม นางอรัญญา สุวรรณบุตร นายกเทศมนตรี ยังได้กล่าวต่อที่ประชุมอีกว่า จะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ที่กฎหมายบัญญัติให้กระทำได้ด้วยความทุ่มเท มุ่งมั่น และตั้งใจ เพื่อให้งานมีประสิทธิภาพ มีความยั่งยืน และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชนต่อไป

 

เชียงใหม่-แถลงผลการจับกุมผู้ต้องหาคดียาเสพติดรายสำคัญ 2 คดี ของกลางยาบ้าจำนวน 6,996,000เม็ด 

(7 มี.ค.68) เวลา 11.00 น. ตำรวจภูธรภาค 5 แถลงการณ์จับกุมคดียาเสพติดรายสำคัญ 2 คดี

1. สภ.สบปราบ จ.ลำปาง จับกุมผู้ต้องหาพร้อมของกลางยาบ้า 6,000,000 เม็ด  2. สภ.ห้วยไร่ จ.แพร่ ตรวจยึดยาบ้า 996,000 เม็ด โดยมี พล.ต.ท.กฤตธาพล ยี่สาคร ผบช.ภ.5 เป็นประธานการแถลงข่าว ณ ลานแถลงข่าว อาคารกองบังคับการสืบสวนสอบสวน ตำรวจภูธรภาค 5 อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่

ตามนโยบายรัฐบาล สั่งการให้หน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด บูรณาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยการอำนวยการของ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร, พล.ต.อ.ไกรบุญ ทรวดทรง,พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์, พล.ต.อ.ประจวบ วงศ์สุข รอง ผบ.ตร., พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผู้ช่วย ผบ.ตร., พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. และ พล.ท.กิตติพงษ์ แจ่มสุวรรณ มทภ.3 ได้รับบัญชาและข้อสังการนำไปสู่การปฏิบัติ

ตำรวจภูธรภาค 5 โดย พล.ต.ท.กฤตธาพล ยี่สาคร ผบช.ภ.5, พล.ต.ต.พิเชษฐ จีระนันตสิน, พล.ต.ต.นพดล กรึงไกร,พล.ต.ต.พรพิทักษ์ รู้ยืนยง, พล.ต.ต.ธนะรัชต์ ชุ่มสวัสดิ์, พล.ต.ต.พิชญา บุญขจร, พล.ต.ต.ธวัชชัย พงษ์วิวัฒนชัย รอง ผบช.ภ.5, พล.ต.ต.วรพงศ์ คำลือ ผบก.สส.ภ.5, พล.ต.ต.ภูมิปัญญ์ญา นวตระกูลพิสุทธิ์ ผบก.ภ.จว.ลำปาง และพล.ต.ต.พงษ์เดช คำใจสู้ ผบก.ภ.จว.แพร่ ฝ่ายทหาร นบ.ยส.35 โดย พล.ท.กิตติพงศ์ ชื่นใจชน มทน.๓/ผบ.นบ.ยส.35 ฝ่ายปกครอง โดย นายซุติเดช มีจันทร์ ผวจ.ลำปาง นายสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ ผวจ.แพร่ สำนักงาน ปปส.ภาค 5โดย นายธันวา ผุดผ่องผอ.ปปส.ภาค 5 

แถลงผลการสืบสวนจับกุมผู้ต้องหาคดียาเสพติดรายสำคัญ จำนวน 2 คดี 1. กรณี สภ.สบปราบ จว.ลำปาง จับกุมผู้ต้องหา 1 คน พร้อมของกลางยาบ้าจำนวน 6,000,000 เม็ด 2. กรณี สภ.ห้วยไร่ จว.แพร่ ตรวจยึดของกลางยาบ้าจำนวน  996,000 เม็ด รวมของกลางยาบ้าจำนวน  6,996,000เม็ด แก้ไขปัญหายาเสพติดในทุกมิติ

คดีที่ 1 สืบเนื่องเมื่อวันที่  4 มี.ค.68 เวลาประมาณ 22.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจด่านตรวจยาเสพติดสบปราบได้รับแจ้งจากสายลับ(ขอปิดนาม) ว่าจะมีกลุ่มขบวนการลักลอบลำเลียงยาเสพติดจำนวนมากผ่านพื้นที่ของ อ.สบปราบโดยจะใช้เส้นทางผ่านด่านตรวจยาเสพติดสบปราบ จึงได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบตามลำดับชั้น และได้สั่งการให้เฝ้าสืบสวนติดตามตรวจดูรถตามที่ได้รับแจ้ง

ต่อมาเวลาประมาณ 23.00 น. ของวันเดียวกัน มีรถยนต์กระบะ หมายเลขทะเบียน บว1067 กำแพงเพชร ขับเข้ามายังด่านตรวจยาเสพติดสบปราบ ซึ่งมีลักษณะตรงกับที่สายลับแจ้ง เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดคัดกรองรถจึงให้สัญญาณ ชิดขอบทางด้านซ้ายเพื่อทำการขอตรวจค้นรถคันดังกล่าว พบนายฐานพัฒน์ อายุ 38ปี เป็นผู้ขับขี่ จากการสอบถามทราบว่าจะเดินทางไป จว.กำแพงเพชร ขณะที่ทำการตรวจพบความผิดปกติเนื่องจาก นายฐานพัฒน์ ได้ใช้แอปพลิเคชันไลน์ติดต่อสื่อสารกับบุคคลอีกคนหนึ่งค้างไว้ ซึ่งเชื่อได้ว่ามีการลักลอบนำสิ่งของผิดกฎหมาย และจึงได้ทำการขอตรวจค้นตัวนายฐานพัฒน์ และรถคันดังกล่าว ผลการตรวจค้นไม่พบสิ่งของผิดกฎหมายใดๆ

ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม พร้อมพวกได้แบ่งกำลังออกตรวจสอบตามเส้นทางที่คาดว่า รถเป้าหมายจะจอดหลบจนเดินทางมาถึง ปั๊มน้ำมัน ปตท.สาขาสบปราบ จว.ลำปาง ได้พบรถบรรทุก  6 ล้อ ตู้ทึบ ทะเบียน 700-4340 กทม.จึงแสดงตัวขอตรวจสอบ พบนายนันท์นลิน อายุ  27 ปี แสดงตนเป็นเจ้าของรถ/ผู้ขับขี่ เมื่อสอบถามทราบว่าจะเดินทางไปจว.ลำปาง และขณะสอบถามแสดงอาการมีพิรุธ ลุกลี้ลุกลน พูดจาวกวนไปมาคล้ายลักลอบนำสิ่งของผิดกฎหมายมาด้วยจากการตรวจสอบเส้นทางเดินรถโดยละเอียดทราบว่าได้ขัดแย้งกัน และจากการซักถาม นายนันท์นลิน ผู้ขับขี่ โดยละเอียดได้รับสารภาพกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ได้รับจ้างบรรทุกสิ่งของจาก จว.ลำพูน ไปส่งปลายทาง จว.อ่างทอง เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม จึงได้เชิญตัวนายนันท์นลิน พร้อมนำรถบรรทุก 6ล้อคันดังกล่าว มาที่ด่านตรวจยาเสพติด สถ.สบปราบ เพื่อทำการตรวจค้นอย่างละเอียด ก่อนทำการตรวจค้นเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมได้แสดงความบริสุทธิ์ใจ ให้นายนันท์นลิน เป็นที่เรียบร้อยและให้ความยินยอม

ผลการตรวจค้นพบเป็น ยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1(เมทแอมเฟตามีน) จำนวนรวมประมาณ 6,000,000 เม็ด จึงได้ทำการจับกุมผู้ต้องหา และนำของกลางทั้งหมด นำส่ง พงส.สภ.สบปราบ เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย และหาตัวผู้กระทำผิดต่อไป

คดีที่ 2 สืบเนื่องเมื่อวันที่  5 มี.ค.68 เวลาประมาณ13.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดตรวจยึด ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ตั้งจุดตรวจสกัดกั้นยาเสพติด ณ บริเวณหน้าด่านตรวจเอกซเรย์ห้วยไร่ ต่อมาเวลาประมาณ 15.20 น. ได้มีนายธีระพลฯ อายุ 28 ปี ผู้ขับขี่ รถบรรทุก 6 ล้อ ทะเบียน 70-5070 พะเยา ได้มาแสดงตนต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขอให้เจ้าหน้าที่นำรถเข้าอุโมงค์เอกซเรย์ เนื่องจากเกิดความสงสัยว่า สิ่งของที่บรรทุกมา จากผู้ว่าจ้างใน อ.แม่สาย จว.เชียงราย และต้องนำไปส่งยังพื้นที่ปลายทาง จว.พัทลุง อาจเป็นสิ่งของ ผิดกฎหมาย 

ผลการตรวจพบเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 (เมทแอมเฟตามีน) ซุกซ่อนอยู่ในเครื่องเกียร์รถยนต์และถังปั๊มลม วางอยู่บริเวณท้ายรถบรรทุก รวมยาเสพติดจำนวน 996,000เม็ด เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดตรวจยึด จึงได้ทำการตรวจยึดของกลางทั้งหมดนำส่ง พงส.สภ.ห้วยไร่ เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย และหาตัวผู้กระทำผิดต่อไป

ตำรวจภูธรภาค 5 ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายตำรวจ ฝ่ายทหาร ฝ่ายปกครอง สำนักงาน ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ได้นำบัญชาและข้อสั่งการของรัฐบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการสกัดกั้นการลำเลียงยาเสพติดไม่ให้เข้าไปสู่พื้นที่ตอนในอย่างเข้มข้นและจริงจัง และนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

สรุปผลการจับกุมยาเสพติด ของ ตำรวจภูธรภาค 5 ห้วงตั้งแต่ 1ต.ค.67-5มี.ค.68 จับกุมคดียาเสพติด จำนวน 9,784 คดี คดียาเสพติดรายสำคัญ 92 คดี ตรวจยึดของกลางยาเสพติด- ยาบ้า 82 ล้านเม็ดเศษ ไอซ์  6,249 กิโลกรัมเศษ เฮโรอีน 148 กิโลกรัมเศษ เคตามีน 805 กิโลกรัมเศษฝิ่น 43กิโลกรัมเศษ ตรวจยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับยาเสพติดมูลค่าทรัพย์สินประมาณ 298 ล้านบาทเศษ

กาฬสินธุ์-ม.กาฬสินธุ์เปิดประชุมวิชาการระดับชาติ-นานาชาติ ครั้งที่ 3 

มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์จัดประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ประจำปี 2568 ครั้งที่ 3 หัวข้อ “นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืน”

(7 มี.ค.68) ที่อาคารกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ (พื้นที่ในเมือง) รองศาสตราจารย์ ดร.คมกฤต เล็กสกุล รองผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ประจำปี 2568 ครั้งที่ 3 หัวข้อ“นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืน” (INNOVATION AND TECHNOLOGY FOR SUSTAINABLE AREA-BASED DEVELOPMENT: KSU INNO-TECH 2025 FOR SABD) โดยมีนายผดุงศักดิ์ อิ่มเอิบ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กีรวิชญ์ เพชรจุล รักษาราชการแทนอธิการบดีม.กาฬสินธุ์ นายวิทยา ปัญจมาตย์ ผอ.ทสจ.กาฬสินธุ์ คณะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ นักวิจัย คณาจารย์และนักศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้าร่วมกิจกรรมพิธีเปิดและประชุม  

ซึ่งการประชุมครั้งนี้ประกอบไปด้วยกิจกรรมสำคัญ ได้แก่ การปาฐกถาพิเศษ โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ การนำเสนอผลงานวิจัยระดับชาติและนานาชาติ ครอบคลุมหลากหลายสาขาวิชา และนิทรรศการทางวิชาการและนวัตกรรม ที่นำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กีรวิชญ์ เพชรจุล รักษาราชการแทนอธิการบดี ม.กาฬสินธุ์ ในนามผู้แทนคณะกรรมการดำเนินโครงการประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ประจำปี 2568 ครั้งที่ 3 หัวข้อ“นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืน” กล่าวว่า มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์มุ่งมั่นที่จะเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาความรู้และนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางวิชาการและสังคมอย่างยั่งยืน การประชุมวิชาการในครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ "นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืน" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีสำหรับนักวิจัย นักวิชาการ คณาจารย์ นักศึกษา และผู้สนใจจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สามารถนำไปใช้พัฒนาเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบและยั่งยืน

'มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง เสริมสร้าง อนาคตเด็กไทย' มอบทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนในถิ่นทุรกันดารพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี รุ่นที่ 3 (ครั้งที่ 3) ประจำปี พ.ศ. 2568 

(7มี.ค.68) มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง นำโดย นายนิพนธ์ ลีละศิธร กรรมการ พร้อมด้วย นางสาวดวงชุตา ติยะพจนพรกุล ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายสังคมสงเคราะห์ นำทีมแผนกส่งเสริมการศึกษาและอาชีพลงพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี มอบทุนการศึกษาระดับมัธยมศึกษาสำหรับเยาวชนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน รุ่นที่ 3 (ครั้งที่ 3) ประจำปี พ.ศ. 2568 ประกอบด้วย โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 45  อำเภอพนมทวน โรงเรียนร่มเกล้า กาญจนบุรี (ในโครงการพระราชดำริ) โรงเรียนทองผาภูมิวิทยา โรงเรียนสมาคมป่าไม้แห่งประเทศไทยอุทิศ โรงเรียนบ้านเกริงกระเวีย โรงเรียนบ้านห้วยเสือ อำเภอทองผาภูมิ และโรงเรียนอุดมสิทธิศึกษา อำเภอสังขละบุรี รวม 7 แห่ง จำนวน 60 ทุน รวมงบประมาณทั้งสิ้น 450,000 บาท (สี่แสนห้าหมื่นบาทถ้วน) พร้อมกันนี้ มูลนิธิฯ ได้สนับสนุนเงินค่าพาหนะ สำหรับโรงเรียนที่นำนักเรียนเดินทางมารับทุนฯ ในครั้งนี้ รวมจำนวน 9,000 บาท (เก้าพันบาทถ้วน) นอกจากนี้ ยังได้มอบกระปุกออมสิน พร้อมปฏิทินแขวนมูลนิธิฯ บรรจุถุง ให้แก่นักเรียนที่มารับทุนฯ โดยมี ผู้อำนวยการโรงเรียน คณะครู อาจารย์ และผู้แทนนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ ร่วมรับมอบ ณ โรงเรียนทองผาภูมิวิทยา อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี

การมอบทุนการศึกษา เป็นหนึ่งในนโยบายหลักของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง เพื่อช่วยเหลือสังคม “สร้างชีวิต” ให้เยาวชนมีโอกาสเท่าเทียมทางการศึกษา เติมเต็มความหวังเป็นอนาคตของครอบครัวสังคม และประเทศชาติ โดยตลอดระยะเวลากว่า 115 ปี ที่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ได้ขยายขอบข่ายโครงการต่าง ๆ ออกไปอย่างกว้างขวาง ไม่เพียงแต่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แก่ผู้ตกทุกข์ได้ยากโดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา เท่านั้น แต่ยังได้พัฒนาคุณภาพชีวิตอีกในหลายทาง เพื่อเป็นองค์กรสาธารณกุศลที่ช่วยเหลือประชาชนครบวงจรในทุกๆ ด้าน ต่อไป ดังปณิธาน มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ช่วยชีวิต รักษาชีวิต สร้างชีวิต”

ติดตามข่าวสาร และกิจกรรมการช่วยเหลือของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งได้ที่เว็บไซต์ www.pohtecktung.org ได้ที่เฟซบุ๊ก แฟนเพจ www.facebook.com/atpohtecktung

รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (16) : จะแก้ปัญหา ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ ได้อย่างไร? สุดท้ายอาจต้องพึ่งแผน PDP ฉบับใหม่ พร้อมบังคับใช้อย่างจริงจัง

หนึ่งในสาเหตุของปัญหา ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ ที่ประชาชนคนไทยผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ค่อยรู้ก็คือ ระบบการควบคุมต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าที่เรียกว่า ‘Merit Order’ โดยเมื่อมีความต้องการไฟฟ้า ระบบการผลิตไฟฟ้าจะเริ่มต้นผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำที่สุดเป็นลำดับแรก และหากความต้องการไฟฟ้าลดลง จะลดการเดินเครื่องในโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนการผลิตสูงก่อน แล้วจึงดำเนินการลดการเดินเครื่องไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำสุดเป็นลำดับสุดท้าย ซึ่งไม่สามารถทำได้จริง ทั้ง ๆ ที่ระบบนี้น่าจะช่วยแก้ไขปัญหา ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ ได้ แต่ความเป็นจริงแล้วกลับมิได้เป็นเช่นนั้นเลย ด้วยเพราะเงื่อนไข Must Take และ Must Run จากเหตุผลดังนี้

การรับซื้อไฟฟ้าของ กฟผ. จากผู้ประกอบการเอกชนนั้น จะเป็นไปตามนโยบายที่ภาครัฐกำหนด และการสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าก็เป็นไปตาม พรบ. ประกอบกิจการพลังงานปี 2550 โดยยึดหลักความเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ โดย กฟผ. รับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) และผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) เป็นไปตามนโยบายที่ภาครัฐกำหนด เพื่อส่งเสริมให้เอกชนเข้ามาลงทุนดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้า เพิ่มการแข่งขันในกิจการพลังงาน และช่วยลดภาระการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งภาครัฐเป็นผู้คัดเลือกผู้ผลิตไฟฟ้าฯ ที่มีราคาต่ำสุดในช่วงเวลานั้น ๆ โดยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ตามลำดับ ซึ่ง กฟผ. เป็นเพียงผู้รับซื้อไฟฟ้าตามราคาที่รัฐกำหนด และดำเนินการตามระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าฯ ซึ่งมีความโปร่งใสและตรวจสอบได้เท่านั้น

แม้ว่า ศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า กฟผ. จะเป็นผู้ควบคุมการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าทั้งหมด แต่เงื่อนไขการสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้า กฟผ. ต้องปฏิบัติตาม พรบ. ประกอบกิจการพลังงานปี 2550 เพื่อให้เกิดการสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าอย่างเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ แต่ต้องยึดหลักเกณฑ์การสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าตามลำดับคือ เริ่มจากการสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าประเภทจำเป็นต้องเดินเครื่องเพื่อรักษาความมั่นคง (Must Run) เป็นลำดับแรก เพราะหากไม่เดินเครื่องโรงไฟฟ้าประเภทนี้แล้ว ระบบไฟฟ้าจะเกิดความมั่นคงลดลงอาจทำให้ไฟฟ้าดับได้ เช่น โรงไฟฟ้าในพื้นที่ที่มีการซ่อมบำรุงสายส่งไฟฟ้า ลำดับถัดมาคือ สั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าประเภทจำเป็นต้องรับซื้อขั้นต่ำตามสัญญา (Must Take) ทั้งด้านไฟฟ้าและสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ ได้แก่ โรงไฟฟ้า SPP เพราะหากไม่เดินเครื่องโรงไฟฟ้าเหล่านี้อาจนำไปสู่การจ่ายเงินค่าซื้อไฟฟ้าหรือก๊าซธรรมชาติขั้นต่ำโดยไม่ได้รับพลังงานไฟฟ้า 

จากนั้นจึงสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนการผลิตต่ำที่สุดตามลำดับ (Merit Order) ได้แก่ โรงไฟฟ้า กฟผ. และโรงไฟฟ้า IPP เพื่อให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าต่ำที่สุด จากหลักเกณฑ์ดังกล่าว กฟผ. จึงต้องสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าประเภท Must Run เป็นลำดับแรก โดยลำดับถัดมาคือ สั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าประเภท Must Take แล้วจึงสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าตาม Merit Order ท้ายสุด ด้วยเงื่อนไขนี้ทำให้ กฟผ. ไม่สามารถเลือกซื้อไฟฟ้าจากเอกชนที่มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ต่ำสุดเป็นลำดับแรกได้ รวมถึงไม่สามารถเลือกสั่งเดินเครื่องจักรเฉพาะโรงไฟฟ้าของ กฟผ. เองได้ด้วยเช่นกัน

การรับซื้อไฟฟ้าของ กฟผ. จากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซฯ หรือถ่านหิน จำเป็นต้องมีค่าความพร้อมจ่ายหรือค่า AP (Availability Payment) เนื่องจากต้องเตรียมโรงไฟฟ้าให้พร้อมจ่ายไฟฟ้าและผลิตไฟฟ้าตามการสั่งการของศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า ซึ่งการกำหนดค่า AP เป็นแนวปฏิบัติในทางสากลสำหรับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว โดยสะท้อนต้นทุนค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่เอกชนผู้ลงทุนได้จ่ายไปก่อน ในขณะที่ กฟผ. จะจ่ายเป็นรายเดือนตามความพร้อมจ่ายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าเท่านั้น แต่หากไม่สามารถเตรียมโรงไฟฟ้าให้มีความพร้อมจ่ายตามที่กำหนด ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนทั้ง IPP หรือ SPP ก็จะถูกปรับตามสัญญา ดังตัวอย่างที่อธิบายให้เข้าใจได้ง่ายและเห็นภาพได้ชัดเจน คือ การทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเปรียบเสมือนกับการทำสัญญาเช่ารถยนต์มาใช้งาน ซึ่งผู้เช่าจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ 2 ส่วน คือ (1)ค่าเช่ารถที่ต้องจ่ายทุกเดือน ไม่ว่าจะมีการใช้รถหรือไม่ก็ตาม เช่นเดียวกับค่า AP ของโรงไฟฟ้า ส่วนค่าน้ำมันจะจ่ายมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระยะทางการใช้งาน เปรียบได้กับค่าพลังงานไฟฟ้า หรือค่า EP (Energy Payment) เป็นค่าเชื้อเพลิงที่โรงไฟฟ้าเอกชนจะได้รับก็ต่อเมื่อศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าสั่งการให้โรงไฟฟ้าเดินเครื่องผลิตพลังงานไฟฟ้าเท่านั้น

ส่วนการวางแผนกำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศจำเป็นต้องมากกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มีอยู่เดิม ทั้งนี้เพื่อเป็นการรองรับต่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และพร้อมที่จะจ่ายไฟฟ้าหากเกิดกรณีต่าง ๆ อาทิ โรงไฟฟ้าหรือระบบส่งขัดข้อง การขัดข้องด้านการส่งเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าล่วงหน้าโดยอิงกับข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การคาดการอัตราความเจริญทางเศรษฐกิจ แต่ในช่วงเวลาเกือบ 3 ปีของการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้ทั่วโลกเกิดสภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ตามแผน PDP (2018 Rev.1) จึงทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศสูงกว่ากรณีปกติ โดยคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้แต่งตั้งคณะทำงานบริหารจัดการกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศเพื่อพิจารณาแนวทางในการบริหารกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองให้อยู่ในระดับเหมาะสม ตลอดจนเสนอแนะแนวทางบริหารจัดการให้สามารถรองรับการพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่เป็นภาระต่อประชาชนต่อไป ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ปัญหา ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ จึงต้องมีการพิจารณาแก้ไขปรับปรุงแผน PDP (2018 Rev.1) ให้มีความถูกต้องและเหมาะสมกับบริบทการใช้ไฟฟ้าของประเทศในปัจจุบัน ซึ่งความเป็นจริงต้องดำเนินการทุก 5 ปี แต่ผ่านมาหลายปีแล้วยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ เลย อาทิ การสั่งเดินเครื่องจักรโรงไฟฟ้าตาม Merit Order ก่อนเป็นอันดับแรก แล้วจึงพิจารณาสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าประเภท Must Run หรือ Must Take ตามความเหมาะสม ซึ่งรองพีร์ พีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้มีดำริให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้เตรียมดำเนินการปรับปรุงแก้ไขแผนฯ ดังกล่าวให้มีความถูกต้องและเหมาะสมกับสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าของประเทศในปัจจุบันโดยเร็ว ด้วยการสรุปบทเรียนจากผลกระทบในด้านต่าง ๆ อย่างครอบคลุมในทุก ๆ มิติที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าของประเทศที่ผ่านมา เพื่อให้แผน PDP ฉบับที่จะได้รับการปรับปรุงแก้ไขใหม่สร้างประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศชาติและพี่น้องประชาชนคนไทยผู้ใช้ไฟฟ้าต่อไป

10 มีนาคม พ.ศ. 2539 พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

วันนี้เมื่อ 29 ปีก่อน วันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ ‘สมเด็จย่า’ ของปวงชนชาวไทย ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระราชสมภพเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2443 มีพระนามเดิมว่า สังวาล ตะละภัฏ ทรงเป็นพระชายาในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็นพระราชชนนีในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเป็นพระอัยยิกาในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10

ตลอดพระชนม์ชีพ สมเด็จย่า ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อประชาชนชาวไทยอย่างมากมาย อาทิ ทรงให้การอุปถัมภ์ราษฎรชาวไทยภูเขาที่อาศัยในถิ่นทุรกันดาร เพื่อให้มีอาชีพ ตลอดจนมีคุณภาพชีวิตที่ดี จนเป็นที่มาของ ‘มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง’ นอกจากนี้ยังทรงเป็นแบบอย่างของความพอเพียง ทรงสอนพระโอรสและพระธิดา ให้รู้จัก ‘การให้’ มาตั้งแต่เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์

โดยสมเด็จย่าจะทรงตั้งกระป๋องออมสินเรียกว่า ‘กระป๋องคนจน’ หากทรงนำเงินไปทำกิจกรรมแล้วมีกำไร จะต้องถูก ‘เก็บภาษี’ หยอดใส่กระปุกนี้ 10% และทุกสิ้นเดือน สมเด็จย่าจะเรียกประชุมเพื่อตรัสว่า จะนำเงินในกระป๋องไปทำอะไร เช่น มอบให้โรงเรียนตาบอด มอบให้เด็กกำพร้า หรือทำกิจกรรมเพื่อคนยากจน

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงพระประชวร โดยมีพระอาการทางพระหทัยกำเริบและทรงเหนื่อยอ่อน โดยเข้าประทับรักษาพระองค์ ณ โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2538 จนกระทั่งในวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 ทรงมีพระอาการทรุดลง เนื่องด้วยมีพระอาการแทรกซ้อนทางพระยกนะ (ตับ) และพระวักกะ (ไต) ไม่ทำงาน พระหทัย (หัวใจ) ทำงานไม่ปกติ ความดันพระโลหิตต่ำทำให้เกิดภาวะเป็นกรดในพระโลหิต

คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาความผิดปกติของระบบต่าง ๆ แต่พระอาการคงอยู่ในภาวะวิกฤต จนเมื่อเวลา 21.17 น. สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จสวรรคต สิริพระชนมายุ 94 พรรษา ต่อมาจึงมีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2539 ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง

9 มีนาคม พ.ศ. 2459 วันเกิด ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ ผู้ที่ยูเนสโกยกเป็นบุคคลสำคัญของโลก

9 มีนาคม 2459 วันเกิด 'ป๋วย อึ๊งภากรณ์' นักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญ อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ ผู้ได้รับการยกย่องจากยูเนสโกให้เป็น บุคคลสำคัญของโลก เมื่อปี 2558

ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นที่รู้จักกันดีใน ฐานะนักเศรษฐศาสตร์สำคัญของประเทศไทย อดีตเคยเป็นทั้งอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเคยเป็นสมาชิกของขบวนการเสรีไทย

ขณะที่บทบาททางการเมืองนั้น มีส่วนสำคัญในเหตุการณ์ทางการเมือง 'ตุลาคม' ทั้งปี 2516 และ 2519 โดยแสดงความกล้าหาญ ในการส่งจดหมายในนาม 'นายเข้ม เย็นยิ่ง' ถึงจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยให้กับสังคม จุดประกายสำคัญๆให้กับขบวนการ 14 ตุลาคม 2516 

ทั้งนี้ สเตฟาน คอลินยองส์ (Stefan Collingnon) นักวิชาการร่วมสมัยชาวเยอรมัน ได้กล่าวยกย่อง ดร.ป๋วยว่าเป็น 'บิดาของเมืองไทยสมัยใหม่' (Founding Father of Modern Thailand) ในฐานะผู้วางรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย

นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2508 ดร.ป๋วย ได้รับ รางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ และได้รับการยกย่องจาก องค์กรยูเนสโกให้เป็น บุคคลสำคัญของโลก ในปี พ.ศ. 2558

เปิดประวัติ 'ป๋วย  อึ๊งภากรณ์' 

ดร.ป๋วย เกิดวันที่ 9 มีนาคม 2459 ที่ตลาดน้อย เขตสัมพันธ์วงศ์ กรุงเทพฯ บิดาชื่อ นายซา เป็นชาวจีนอพยพ มารดาชื่อ นางเซาะเซ้ง สำเร็จการศึกษาแผนกภาษาฝรั่งเศส จากโรงเรียนอัสสัมชัญ พระนคร ในปี พ.ศ. 2476 และได้รับการคัดเลือกให้เป็นครูสอนที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ระหว่างนั้นก็ได้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง และในปี 2480 ได้ปริญญา ธรรมศาสตรบัณฑิต 

ดร.ป๋วย เริ่มเป็นล่ามให้แก่อาจารย์ฝรั่งเศส ในมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง จนได้สอบแข่งขันจนได้รับทุนรัฐบาลไปศึกษาต่อทางเศรษฐศาสตร์และการคลังที่ ลอนดอน สคูล ออฟ อีโคโนมิกส์ ของมหาวิทยาลัยลอนดอนประเทศอังกฤษจนจบปริญญาเอก

ในช่วงที่ศึกษาที่อังกฤษนี้เอง ที่ ดร.ป๋วย ได้เข้าร่วมขบวนการเสรีไทยกับคนไทยในอังกฤษ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง (ขบวนการเสรีไทยจัดตั้งขึ้นใน 3 ประเทศ คือ ประเทศไทย ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศอังกฤษ) โดยมี นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้นำขบวนการเสรีไทยในประเทศไทย และดร.ป๋วย เคยเข้ามาปฏิบัติงานในประเทศไทยหลายครั้งแบบเป็นความลับ 

เส้นทางงานด้านเศรษฐกิจ  

ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ เข้ารับราชการในกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เมื่อปีพ.ศ. 2492  และอีก 4 ปีต่อมาได้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารของสภาพเศรษฐกิจแห่งชาติ  และได้ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยได้ 7 เดือน ก่อนถูกปลดจากเพราะเหตุการณ์ทางการเมือง 

กระทั่งปีพ.ศ. 2499 ดร.ป๋วย ได้เข้ารับตำแหน่งที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจการคลัง ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทยในอังกฤษระหว่างนี้ได้มีส่วนช่วยให้ไทยขายดีบุกและยางพาราแก่อังกฤษและประเทศในยุโรปได้มากขึ้น เมื่อไทยได้เข้าเป็นสมาชิกสภาดีบุกระหว่างประเทศ ดร.ป๋วย ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนไทย ได้รับเลือกเป็นประธานสภาดีบุกระหว่างประเทศ

กระในเวลาต่อมา ดร.ป๋วย ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกตำแหน่งหนึ่ง ในปลายปี 2502 ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดำรงตำแหน่งยาวนาน ถึง 12 ปี 

ผลงานของ ดร.ป๋วย ในขณะเป็นผู้ว่าการแบงก์ชาติ ถือว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างความมั่นคงแก่ระบบธนาคารพาณิชย์ โดยสามารถรักษาเสถียรภาพเงินตราทำให้เงินบาทได้รับความเชื่อถือทั้งในและนอกประเทศอย่างมาก

'ป๋วย อึ้งภากรณ์' วางรากฐานการศึกษา

ดร. ป๋วย เข้ารับตำแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปีพ.ศ. 2507 โดยจะลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ถูกนายกรัฐมนตรียับยั้งไว้ ซึ่งขณะนั้นคณะเศรษฐศาสตร์ มีอาจารย์ประจำเพียง 4 คนเท่านั้น ทำให้ดร.ป๋วย ได้เริ่มมีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานการศึกษา โดยได้ปฏิรูปงานสำคัญ 4 ด้าน 
1. การปรับปรุงหลักสูตรปริญญาตรี 
2. การผลิตอาจารย์ 
3. เริ่มหลักสูตรปริญญาโท สอนเป็นภาษาอังกฤษ 
4. ริเริ่มโครงการบัณฑิตอาสาสมัคร

ดร.ป๋วย เร่งผลิตอาจารย์ โดยประกาศรับสมัครคนรุ่นใหม่ แล้วหาทุนส่งไปเรียนต่างประเทศ ทำให้คณะเศรษฐศาสตร์เติบโตขึ้น ภายในเวลาไม่นาน ผลงานที่เป็นรูปธรรมก็ปรากฎ จำนวนอาจารย์ประจำคณะที่มีเพียงไม่กี่คน เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีอาจารย์เพิ่มขึ้นนับร้อยในปี 2518 โดยส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับปริญญาโทและเอก

จุดพลิกผันของชีวิต 

วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ดร.ป๋วย เผชิญกับเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญ เมื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถูกบุก นักศึกษาถูกสังหาร ดร.ป๋วยถูกกล่าวหาว่าเป็น 'คอมมิวนิสต์' จนต้องเดินทางออกจากประเทศไปอยู่ประเทศอังกฤษ 

ในช่วง ดร.ป๋วย อยู่นอกประเทศ ได้เดินทางไปพบคนไทยในต่างประเทศ และบุคคลสำคัญในประเทศต่างๆ เช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมนี สวีเดน เดนมาร์ก ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย เพื่อให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ เหตุการณ์บ้านเมืองในประเทศไทยเวลานั้น เพื่อเรียกร้องให้เกิดประชาธิปไตยในไทยอย่างสันติวิธี

กระทั่งปีพ.ศ. 2520 ได้เดินทางไปให้การต่อ คณะกรรมการวิเทศสัมพันธ์ สภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐอเมริกา ซึ่งสืบพยาน เรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ 6 ตุลา

กระทั่งวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้ถึงแก่อนิจกรรมที่บ้าน ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เนื่องจากเส้นโลหิตใหญ่ในช่องท้องโป่งแตก (aortic aneurysm) สิริอายุได้ 83 ปี ทางครอบครัวได้ทำการเผาศพและบรรจุอัฐินำกลับมาเมืองไทย วันที่ 16 สิงหาคม ก่อนที่ครอบครัวอึ้งภากรณ์ นำอังคารของ ดร.ป๋วยไปลอยทะเล ส่วนอัฐิบางส่วนนำไปบรรจุที่วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top