Monday, 19 May 2025
TheStatesTimes

‘ญี่ปุ่น’ ซึ้ง!! ขอบคุณ ‘ไทย’ ช่วยกอบกู้ ‘ธุรกิจใกล้ตาย’ ให้พ้นจากวิกฤติ หลังยอดสั่งสินค้าจากไทยพุ่ง ด้านคนญี่ปุ่นแห่คอมเมนต์ขอบคุณเพียบ!!

เมื่อไม่นานนี้ สำนักข่าวเอเอ็นเอ็นของญี่ปุ่น ได้มีการเผยแพร่สกู๊ปข่าวเกี่ยวกับ ‘ประเทศไทย’ ที่ได้มีส่วนช่วยกอบกู้ธุรกิจเก่าแก่ที่กำลังใกล้ตายในประเทศญี่ปุ่น ให้พลิกฟื้นจากสภาวะวิกฤติ จนสามารถกลับมารุ่งเรืองขึ้นได้อีกครั้ง โดยทางสำนักข่าวเอเอ็นเอ็น ระบุว่า…

กระแสญี่ปุ่นฟีเวอร์ในไทย ซึ่งมีมานานแล้ว และยังคงบูมอยู่จนถึงทุกวันนี้ กำลังมีส่วนช่วยเศรษฐกิจญี่ปุ่นอย่างที่เราไม่เคยคาดคิด นักข่าวของเอเอ็นเอ็นถึงกับบินมาถ่ายทำสกู๊ปนี้ที่เจปาร์ค ในอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี และที่ฮาราจุกุไทยแลนด์ในกรุงเทพฯ ซึ่งตกแต่งสถานที่เหมือนกับอยู่ญี่ปุ่นไม่มีผิด และที่สำคัญคือ มีการนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก

โดยเฉพาะเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว ที่ก้าวกระโดดขึ้นมา เพราะวิกฤติโควิด-19 ทำให้คนไทยไปเที่ยวที่ญี่ปุ่นไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น ‘มันหวานญี่ปุ่น’ ที่เมื่อปี 2022 มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นจากปี 2020 เกือบ 2 เท่า จาก 1,000 ตัน เพิ่มเป็นเกือบ 2,000 ตัน หลังจากที่ก่อนหน้าช่วงโควิด-19 เพิ่มขึ้นแค่หลัก 10 ต่อปี

อีกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือ ตัวเลขนำสินค้าประเภท ‘ชาเขียว’ รวมถึง ‘มัทฉะ’ ที่คนไทยนิยมดื่มกัน ซึ่งเมื่อปี 2022 มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นจากปี 2020 ถึง 37.6% จาก 436 ล้านเยน เป็น 638 ล้านเยน

และสินค้าตัวสุดท้าย ที่เจ้าของธุรกิจถึงกับบอกว่า “คนไทยช่วยพวกเขาจาก ‘ภาวะใกล้ตาย’ จริงๆ” คือ สินค้าจำพวก ‘เครื่องเคลือบ’ เจ้าของธุรกิจเครื่องเคลือบในญี่ปุ่นบอกว่า ที่ญี่ปุ่น ธุรกิจเครื่องเคลือบ มีการแข่งขันตัดราคากันหนักมาก จนโรงงานที่เป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็กๆ ทำแบบเน้นคุณภาพ แทบจะอยู่กันไม่ได้แล้ว แต่ยอดออเดอร์จากไทยเมื่อไม่กี่ปีมานี้ จากบรรดาร้านอาหารญี่ปุ่นระดับพรีเมียม หรือร้านซูชิโอมากาเสะ ทำให้ภาชนะระดับพรีเมียมของพวกเขา ยังสามารถขายออกได้ (อ้างอิงจากเพจ WA Japan) โดยแค่ยอดขายจากไทยประเทศเดียว ก็ขายได้มากถึง 70 ล้านเยน หรือเกือบ 18 ล้านบาทแล้ว ทำให้จากที่เคยจะต้องปลดพนักงานเหลือแค่ 1 ใน 4 แต่ตอนนี้มีออเดอร์เข้ามาจากประเทศไทยมากจนแทบจะทำกันไม่ทันแล้ว แถมคนไทยยังสนใจพวกเครื่องเคลือบลายพิเศษ ลายใหม่ๆ ลายแบบลิมิเต็ด ทำให้พวกเขากลับมามีไฟในการสร้างสรรค์ผลงานอีกครั้ง

เมื่อมาลองส่องคอมเมนต์ของคลิปสกู๊ปข่าวของสำนักข่าวเอเอ็นเอ็นในยูทูบ ก็ยิ่งทำให้ใจฟูมากขึ้นไปอีก เพราะมีคนญี่ปุ่นมาคอมเมนต์ขอบคุณคนไทยกันเป็นจำนวนมาก ยกตัวอย่างท็อปคอมเมนต์ของชาวญี่ปุ่นท่านหนึ่งที่บอกว่า “ฉันดีใจมากที่มีประเทศที่รักญี่ปุ่นมากขนาดนี้”

ส่วนคอมเมนต์ที่ 2 บอกว่า “ฉันรู้สึกประทับใจที่สถานที่ท่องเที่ยวเหล่านี้ ไม่ใช่ฝีมือคนญี่ปุ่น แต่เป็นคนไทยทำขึ้นเอง”

อีกคอมเมนต์หนึ่งบอกว่า “มันเจ๋งมากที่คนไทยทำธุรกิจเหล่านี้ ด้วยความเคารพต่อวัฒนธรรมและประเพณีของเราจริงๆ ไม่ใช่แค่เรื่องธุรกิจ”

ส่วนคอมเมนต์สุดท้ายบอกว่า “ฉันขอไปเที่ยวประเทศที่รักเราแบบนี้ดีกว่าไปเที่ยวประเทศเพื่อนบ้าน แล้วเจอกันนะคนไทย”

นับว่าเป็นข่าวที่น่าชื่นใจจริงๆ ที่ได้รู้ว่านอกจากประเทศไทยของเรานั้น จะได้ประโยชน์จากการต้อนรับนักท่องเที่ยวจากญี่ปุ่นแล้ว ฝ่ายไทยเองก็มีส่วนช่วยธุรกิจในประเทศญี่ปุ่นเหมือนกัน และที่สำคัญคือ มีสื่อที่มองเห็นแง่มุมนี้ และเผยแพร่ออกไปให้คนญี่ปุ่นได้รับรู้ จนทำให้พวกเขารู้สึกขอบคุณ และมองเห็นคุณค่าในประเทศไทยของเรา

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมประกาศเจตนารมย์ต่อต้านทุจริต โปร่งใส ไม่คอรัปชั่น กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เข้าร่วมกิจกรรม

วันที่ 6 ธันวาคม 2566 เวลา 09.00น. ที่ห้องประชุมอาคารกระทรวงยุติธรรม ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กทม. กระทรวงยุติธรรม จัดงาน"ประกาศเจตนารมย์ต่อต้านทุจริต"

เนื่องในสัปดาห์ต่อต้านทุจริตและส่งเสริมจริยธรรม 'ยุติธรรมต้าน โกงโปร่งใส ไม่คอรัปชั่น' โดยมี พัน
ตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธี พร้อมกล่าวนโยบาย ในการต่อต้านการทุจริตของกระทรวงยุติธรรมแก่สื่อมวลชนและผู้มีเกียรติที่เข้าร่วมงาน โดยมี นางพงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวรายงาน ตลอดจนคณะผู้บริหาร ข้าราชการและเจ้า
หน้าที่ในสังกัดกระทรวงยุติธรรมเข้าร่วม พร้อมทั้งร่วมกันถ่ายภาพหมู่เพื่อแสดงเชิงสัญลักษณ์ในการต่อต้านการทุจริต จากนั้นได้จัดการอภิปรายในหัวข้อ "ปัญหาการทุจริตและแนวทางการป้องกันการทุจริต
ในระบบราชการไทย" โดยได้รับเกียรติจาก นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป.ป.ช. และ ดร.มานะ นิมิตรมงคลเลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน(ประเทศไทย) เป็นวิทยากรผู้ทรง
คุณวุฒิร่วมบรรยายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกล่าวนโยบายต่อต้านการทุจริตตอนหนึ่งว่า "กระทรวงยุติธรรมจะขับเคลื่อนค่านิยมร่วมและวัฒนธรรมองค์กรของกระทรวงยุติธรรม โดยเฉพาะ "สุจริต จิตบริการ ยึดมั่น ความยุติธรรม" ที่เจ้าหน้าที่กระทรวง ยุติธรรมทุกคนมีความสำนึกว่าจะปฏิบัติหน้าที่อย่างเปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมาย และเพื่อให้ความยุติธรรม
เข้าถึงประชาชนได้อย่างแท้จริง"

โอกาสนี้ พันตำรวจโท ประวุธ วงศ์สีนิล  รองปลัดกระทรวงยุติธรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน พร้อมด้วยนางนลินนาถ ไกรนรา รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน พร้อมบุคลากรกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เข้าร่วมในพิธีดังกล่าวด้วย 

***********
กฤษฎา สมมาตร
รายงานข่าว

‘บริษัทดัง’ สั่งปลดเด็กเข้าใหม่ แถมบอกล่วงหน้า ‘วันเดียว’ พนง.ประจำยังไม่รอด สั่งหยุดยาวสูงสุด 3 เดือน จ่าย 75%

(6 ธ.ค.66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 ธ.ค.ที่ผ่านมา เพจเฟซบุ๊ก ข่าวสารชลบุรี-ระยอง รายงานว่า บริษัท ผลิตโซลาร์เซลล์ ในนิคมอมตะซิตี้ระยอง ปลดหมดพนักงานเพิ่งเข้าใหม่ไม่ถึงเดือน โดยบอกกล่าวล่วงหน้า 1 วัน พนักงานประจำยังไม่รอด สั่งหยุดยาวสูงสุด 3 เดือน จ่าย 75% พนักงานซับไม่ต่อสัญญา

ทั้งนี้ มีหนุ่มสาวฉันทนาเข้าไปแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก ทั้งยอมรับสภาพและว่าก็ดีได้เงินก้อน เพื่อไปต่อทุนหางานใหม่ บ้างก็ให้กำลังใจกัน บอกว่า สู้ๆ นะ

ขณะเดียวกันบางรายให้ข้อมูลว่า เป็นแบบนี้หลายโรงงานเลย เช่นว่า “ข้างโรงงานผม ปิดไปตั้งแต่ก่อนโควิด ตอนนี้เป็นป่า สามารถเข้าไปหางู หาต่อ หาผึ้ง ได้แล้ว” อีกรายบอกว่า “ขนาดหลายโรงงานที่วางแผนมาดี ก็ยังมีปลดกลางอากาศ ส่วนบางสาขาได้โอทีเยอะมาก” เป็นต้น

‘ttb’ จัดติวเสริมความรู้ ‘ESG’ ผู้ประกอบการไทย พัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืน ต่อยอดแข่งขันในเวทีโลก

(6 ธ.ค. 66) ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี จัดงานเสวนาติวเข้มความรู้ ESG ดึงบริษัทชั้นนำแชร์ประสบการณ์ นำองค์กรสู่ความยั่งยืน เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถพัฒนาองค์กรของตนเอง และแข่งขันได้ในเวทีโลก

นายศรัณย์ ภู่พัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ทีเอ็มบีธนชาต กล่าวว่า ปัจจุบันนี้หลายประเทศเริ่มมีมาตรการทางการค้าเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น CBAM หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism ซึ่งเป็นมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป ที่จะเริ่มบังคับใช้กับสินค้าเหล็ก ซีเมนต์ กระแสไฟฟ้า ปุ๋ย อะลูมิเนียม และจะขยายไปยังสินค้ากลุ่มอื่นในอนาคต และยังมีมาตรการ CCA หรือ Clean Competition Act ที่จะมีการปรับราคาคาร์บอนสำหรับสินค้านำเข้าสหรัฐอเมริกา สำหรับประเทศไทยได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เช่นกัน ซึ่งเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย หรือ Thailand Taxonomy ออกมา เพื่อผลักดันภาคธุรกิจสู่แนวคิด ESG และยังได้แสดงเจตนารมณ์ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ของระดับประเทศ โดยได้ประกาศเป้าหมายการเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2065  

"นอกจากมาตรการระดับโลกและประเทศแล้ว บริษัทชั้นนำระดับโลกและบริษัทใหญ่หลายแห่งในไทย ก็เริ่มมีนโยบายกระตุ้นให้ซัพพลายเออร์และคู่ค้าของธุรกิจ ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย เช่น มีประกาศที่จะใช้พลังงานทดแทนให้ได้ 100% ครอบคลุมทุกร้านค้าและสำนักงานทั่วโลกภายในปี 2026 หรือ มีกฎให้ผู้ผลิตในห่วงโซ่อุปทานวัดและจัดเก็บข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อทำความเข้าใจการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่อุปทานของพวกเขาและดำเนินการลดอย่างมีนัยสำคัญกับผู้ผลิตในอนาคต และจะมีอีกหลายบริษัทที่ทยอยออกมาตรการออกมา ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรให้ความสำคัญกับ ESG มากขึ้น ไม่เช่นนั้นแล้วอาจสูญเสียโอกาสทางธุรกิจได้" นายศรัณย์ กล่าว

>> Climate Change เกิดแน่ แนะผู้ประกอบการเร่งประเมินตัวเอง 

ดร.ศรายุธ แสงจันทร์ กรรมการผู้จัดการกลุ่ม Health Products and Sustainability กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า มิตรผลเริ่มต้นปรับเปลี่ยนองค์กรโดยการวิเคราะห์ธุรกิจของตัวเอง เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งต้นน้ำคือ การปลูกอ้อย จากนั้นจึงต่อยอดไปยังเรื่องอื่นๆ ของ ESG โดยทางมิตรผลมองว่า Climate Change นั้น มีผลต่ออุตสาหกรรมเกษตรอย่างแน่นอน จึงมีการบริหารจัดการในเรื่องนี้ และกำหนดเป้าหมายที่จะเป็นองค์กร Net Zero สิ่งที่ได้ดำเนินการคือ พยายาม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ มีการพัฒนาโรงงานไฟฟ้าให้สามารถผลิตคาร์บอนเครดิต ขณะเดียวกันก็ทำให้ซัพพลายเออร์หันมาให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย

"แต่ละองค์กรควรมีแนวทางในการรับมือกับ Climate Change เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแน่นอน สิ่งแรกที่ต้องทำเพื่อเปลี่ยนผ่านในเรื่องนี้คือ การประเมินองค์กรตัวเองว่ามีกิจกรรมอะไรบ้าง เริ่มตั้งแต่รับวัตถุดิบเข้ามาจนถึงการส่งมอบสินค้า จากนั้นให้วัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแต่ละกิจกรรม เพื่อพิจารณาว่าจะมีมาตรการอย่างไรที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแต่ละจุดได้" ดร.ศรายุธ กล่าว

>> ตามโลกให้ทัน พิจารณาปัจจัยเสี่ยง มองหาโอกาสใหม่

ดร.ณัฐกร ไกรกุล ผู้จัดการฝ่าย (Vice President) Decarbonization Center of Excellence บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจควบคู่กับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน ช่วยให้บริษัทต่างๆ สามารถบริหารจัดการความเสี่ยงและโอกาสต่างๆ ได้ เช่น ประเด็นความเสี่ยงด้าน Climate Change ที่เป็นประเด็นสำคัญของโลก และมีกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับต่างๆ เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัท ในส่วนของ GC นั้น มีการดำเนินงานด้านความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง และบูรณาการเข้ากับการดำเนินธุรกิจ จนได้รับการยอมรับจากหน่วยงานต่างๆ เช่น DJSI, CDP และ EcoVadis เป็นต้น จนปัจจุบัน GC ได้ยกระดับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน โดยกำหนดกลยุทธ์และเป้าหมายระยะยาว เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 ผ่านแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจน ได้แก่ 1) Efficiency-Driven ผ่านโครงการอนุรักษ์พลังงาน การใช้พลังงานสะอาด และเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ 2) Portfolio-Driven ผ่านการปรับโครงสร้างธุรกิจที่เน้น Sustainable Product ให้มากขึ้น และ 3) Compensation-Driven ผ่านการศึกษาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Carbon Capture and Storage และการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยใช้คาร์บอนเครดิตจากโครงการปลูกป่าต่างๆ นอกจากนี้ GC ยังมีการกำหนดแนวทางการกำกับดูแล เพื่อให้มั่นใจได้ว่ากลยุทธ์และการดำเนินงานด้าน Decarbonization เป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

"เราต้องรู้ให้ทันว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร จากนั้นพิจารณาว่าอะไรคือปัจจัยเสี่ยง อะไรคือโอกาส เพื่อที่จะได้บริหารจัดการ ทั้งเรื่องความเสี่ยงและเรื่องของการสร้างธุรกิจใหม่ในอนาคต ถ้าเรามองว่า Climate Change จะส่งผลกระทบกับเรา ก็เป็นจุดเริ่มต้นให้หันมาพิจารณาว่าสินค้าและกระบวนการผลิตขององค์กรเรายังดำเนินต่อไปได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงแก้ไข อย่ารอช้า เพราะเราอาจเปลี่ยนไม่ทัน" ดร.ณัฐกร กล่าว

>>สินเชื่อสีเขียว-สินเชื่อสีฟ้า รองรับโปรเจกต์ทั้งใหญ่และเล็ก

นายกมลพันธ์ ลักษณา หัวหน้าการพัฒนาที่ยั่งยืน ทีเอ็มบีธนชาต กล่าวว่า ทีทีบี ช่วยให้ลูกค้าเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวได้อย่างราบรื่น ผ่านการพัฒนาสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม หรือ Green Loan ให้มีความหลากหลายมากขึ้นและยืดหยุ่นมากขึ้น มีทั้งอาคารสีเขียว พลังงานหมุนเวียน การจัดการของเสีย การป้องกันมลพิษ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การจัดการน้ำ และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ทีทีบี ยังได้ขยายจากสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อมไปสู่สินเชื่อเพื่อความยั่งยืนทางทะเล หรือ Blue Loan และยังมีสินเชื่อที่ส่งเสริมความยั่งยืน โดยคิดอัตราดอกเบี้ยตามผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของลูกค้า 

"หลายคนมองว่าการขอสินเชื่อด้านสิ่งแวดล้อมจะต้องทำในสเกลใหญ่ แต่ความจริงแล้วแค่โปรเจกต์เล็กๆ ก็สามารถขอสินเชื่อได้ ทีทีบี มีความยืดหยุ่นในการปล่อยสินเชื่อ ไม่จำเป็นต้องเป็นอาคารสีเขียวทั้งอาคาร หรือต้องเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานใหม่ทั้งหมด แค่เปลี่ยนเครื่องปรับอากาศ เปลี่ยนหลอดไฟ หรือเครื่องมือบางอย่างที่จะช่วยประหยัดพลังงานมากขึ้น หรือเปลี่ยนเป็นรถยนต์ EV ก็สามารถขอสินเชื่อได้" นายกมลพันธ์ กล่าวปิดท้าย

แยกให้ออก!! ‘สิทธิบัตรทอง VS สิทธิประกันสังคม’ ต่างกันอย่างไร?

‘การรักษาพยาบาล’ เป็นเรื่องน่ากังวลลำดับด้น ๆ ของคนไทย เนื่องจากมีภาพจำว่าจะต้องเสียเงินจำนวนมากต่อการเจ็บป่วยในแต่ละครั้ง และหากต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลก็จะทำให้ขาดรายได้ สูญเสียโอกาสทำมาหากิน และส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพเป็นทอดๆ

แต่สิ่งที่เข้ามาช่วยเหลือ ช่วยบรรเทาทุกข์ให้เบาลงก็คือ ‘สิทธิบัตรทอง’ และ ‘สิทธิประกันสังคม’ ซึ่งทั้ง 2 สิทธินี้มีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน วันนี้ THE STATES TIMES ได้รวบรวมเงื่อนไขการใช้สิทธิมาให้แล้ว จะแตกต่างกันอย่างไร มาดูกันค่ะ…

👉บัตรทองหรือบัตร 30 บาท (สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ)
 📌ไม่มีค่าใช้จ่าย ใช้ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง และไม่มีวงเงิน เพียงลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการหรือสถานพยาบาลประจำตัวแล้วใช้สิทธิได้ทันทีโดยใช้บัตรประชาชนใบเดียว
 📌ใช้กับสถานพยาบาลประจำที่ลงทะเบียนไว้ หรือเจ็บป่วยต่างพื้นที่เข้าสถานพยาบาลปฐมภูมิที่ไหนก็ได้
 📌เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติถึงแก่ชีวิต (สีแดง) เข้าสถานพยาบาลรัฐและเอกชนที่อยู่ใกล้ (สิทธิ UCEP เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่)

 📌มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย/เบื้องต้น ไม่ว่าสิทธิบัตรทองจะอยู่ที่สถานพยาบาลใด ก็เข้ารับบริการตามรายการนี้ได้
✅️เจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มโรค/อาการ ปรึกษาเภสัชกรและรับยาที่ร้านยากว่า 1,000 แห่งที่เข้าร่วมได้ทั่วประเทศ
✅️เจ็บป่วยเล็กน้อย 32 กลุ่มโรค/อาการ รับบริการที่คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่นกว่า 600 แห่งที่เข้าร่วมได้ทั่วประเทศ
✅️เจ็บป่วยเบื้องต้น 42 กลุ่มโรค/อาการ พบหมอออนไลน์ รอรับยาจัดส่งถึงบ้านได้ในพื้นที่ กรุงเทพฯ-ปริมณฑล 5 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร

 📌การย้ายหรือเปลี่ยนสถานพยาบาลประจำตัวทำได้ 4 ครั้งต่อปีงบประมาณ ใช้สิทธิได้ทันทีเมื่อเปลี่ยนแล้ว
 📌ครอบคลุมการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข สร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ตรวจวินิจฉัยโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็น
 📌ครอบคลุมค่าอาหารและค่าห้องสามัญเมื่อต้องแอดมิทที่โรงพยาบาล
 📌ได้เพียงสิทธิรักษาฟรี (บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข) ไม่มีเงินชดเชยว่างงาน เกษียณ เสียชีวิต เหมือนประกันสังคม

--------------

👉ประกันสังคม (ผู้ประกันตน)
 📌ต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนทุกเดือน ตามเงื่อนไขจึงจะสามารถใช้สิทธิได้
 📌ใช้กับโรงพยาบาลที่เลือกสิทธิไว้ กรณีฉุกเฉินเข้าที่ไหนก่อนก็ได้โดยไม่ต้องสำรองจ่าย
 📌เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติเข้าสถานพยาบาลรัฐและเอกชนที่อยู่ใกล้ (สิทธิ UCEP เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่)
 📌ใช้ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ไม่มีวงเงิน และไม่เสียค่าใช้จ่ายครอบคลุมการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข สร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ตรวจวินิจฉัยโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็น
 📌การย้ายสถานพยาบาลประจำตัวย้ายได้ปีละ 1 ครั้ง
 📌ถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน ไม่เกิน 900 บาท/ปี
 📌ค่าห้องและค่าอาหาร ไม่เกิน 700 บาท/วัน
 📌ได้รับเงินชดเชย กรณีว่างงาน เกษียณ เสียชีวิต

💢หมายเหตุ:
1. บัตรทองหรือบัตร 30 บาทมีได้ทุกคน หากไม่มีสวัสดิการรักษาพยาบาลอื่นของรัฐ (ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการและครอบครัว เป็นต้น)
2. พนักงานบริษัทได้สิทธิประกันสังคมอัตโนมัติ
3. กรณีลาออกจากงาน และไม่อยากส่งประกันสังคมต่อ (มาตรา 39 ) สามารถใช้สิทธิบัตรทองหรือบัตร 30 บาทได้ แต่ต้องลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการประจำก่อน

4. ผู้ประกันตนมาตรา 40 ใช้สิทธิ ‘บัตรทองหรือบัตร 30 บาท’ รักษาพยาบาล หรือหากได้รับสิทธิเบิกจ่ายตรงจากกรมบัญชีกลาง ก็ยังคงได้รับสิทธิได้ตามปกติ (มาตรา 40 ไม่ได้ให้ความคุ้มครองในเรื่องค่ารักษาพยาบาล แต่ให้เป็นเงินทดแทนการขาดรายได้ กรณีประสบอันตราย/เจ็บป่วย และกรณีทุพพลภาพ รวมถึงได้รับเงินค่าทำศพ กรณีตาย ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด)

หากต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม โทรสายด่วน สปสช. 1330 กด 0 ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง (โทรฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย)

‘คิม จองอึน’ น้ำตาแตก!! วอนคุณแม่เกาหลีเหนือปั๊มลูกเพิ่ม หลังอัตราการเกิดน้อยลง ย้ำ!! เป็นหน้าที่ของทุกคน

เมื่อวานนี้ (6 ธ.ค.66) สำนักข่าว The Independent รายงานว่า ‘คิม จองอึน’ ผู้นำเกาหลีเหนือ ได้หลั่งน้ำตาต่อหน้าคุณแม่ชาวเกาหลีเหนือนับพันคน ที่เข้าร่วมงานวันแม่แห่งชาติ ณ กรุงเปียงยาง เมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา หลังเขาขอให้พวกเธอช่วยเพิ่มประชากรเด็กแรกเกิด เพื่อหยุดการลดลงของอัตราการเกิดของประเทศ

โดยตอนหนึ่ง ‘คิม จองอึน’ ได้หยิบผ้าเช็ดหน้าขึ้นมาซับที่ดวงตา แล้วกล่าวกับพวกเธอว่า การเพิ่มอัตราการเกิด การดูแลเด็กที่ดี ตลอดจนงานบ้านเป็นหน้าที่ของคุณแม่ ซึ่งในประเทศเกาหลีเหนือคุณแม่ยังมีงานสังคมที่ต้องเข้าร่วมด้วย นั่นก็คือการเลี้ยงดูลูกให้พวกเขาสืบทอดระบบคอมมิวนิสต์ต่อไป สร้างเสริมความสามัคคีในครอบครัวและสังคม หยุดการลดลงของอัตราการเกิด และดูแลเด็กให้ดี ให้การศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) คาดการณ์ว่า อัตราการเจริญพันธุ์ หรือจำนวนเด็กโดยเฉลี่ยที่เกิดจากผู้หญิงในเกาหลีเหนือ อยู่ที่ 1.8 เท่านั้น ท่ามกลางอัตราการเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่องรับทศวรรษ ทว่ายังคงสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านของเกาหลีเหนือที่มีแนวโน้มลดลงคล้ายกัน เช่นที่ เกาหลีใต้ อัตราการเกิดในปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 0.78 และประเทศญี่ปุ่น ที่หยุดอยู่ที่ 1.26

โดยอัตราการเกิดที่ลดลงนี้ ส่งผลให้เกาหลีใต้ขาดแคลนกุมารแพทย์ บางเมืองยังได้จัดอีเวนต์จับคู่ เพื่อกระตุ้นอัตราการเกิดของประชากรในประเทศด้วย

อย่างไรก็ตาม สถาบันวิจัยฮุนได ในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ รายงานว่า ประเทศเกาหลีเหนือ มีประชากรประมาณ 25 ล้านคน ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาประสบกับภาวะขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง ซึ่งส่วนมากมาจากการเผชิญภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทำให้พืชผลเสียหาย กระทบต่อการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว ประกอบกับในช่วงปี 1970-1980 เกาหลีเหนือยังได้กำหนดโครงการคุมกำเนิด เพื่อชะลอการเติบโตของประชากรหลังสงคราม และความอดอยากได้ฆ่าประชากรไปมากกว่าแสนคน

ขณะที่ในปัจจุบันเกาหลีเหนือยังขาดแคลนทรัพยากร และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี จึงอาจเผชิญกับความยากลำบากในการฟื้นฟูและพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิต หากไม่มีการจัดหาแรงงานที่เพียงพอ

‘พีระพันธุ์’ เอาจริง!! มุ่งแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพง บรรเทาทุกข์ประชาชน

‘ปัญหาราคาพลังงาน’ เป็นสิ่งที่คนไทยทั้งประเทศ ทุกข์ทนมายาวนาน หวังว่าสักวันจะมีคนเข้ามาแก้ไข ปรับปรุง และสร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชน และแน่นอนว่าวันที่ประชาชนรอคอยมาถึงแล้ว นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีกว่าการกระทรวงพลังงานคนปัจจุบัน กำลังพยายามแก้ปัญหาพลังงานที่สุดจะยุ่งเหยิงนี้อยู่

โดยนายพีระพันธุ์ เคยโพสต์เฟซบุ๊กถึงเรื่องนี้ไว้ พร้อมระบุว่า…

“ขอให้มั่นใจค่าไฟจะไม่สูงอย่างที่เป็นข่าวครับ

ผมเข้าใจถึงความกังวลใจของพี่น้องประชาชนที่ถามกันมามากเรื่องราคาค่าไฟฟ้าภายหลังจากสิ้นสุดระยะเวลามาตรการลดค่าไฟฟ้าในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ว่าราคาอาจกระโดดสูงขึ้นถึงหน่วยละ 4.68 บาท หรือ 17% จากราคาปัจจุบันหน่วยละ 3.99 บาทตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เปิดให้มีการสอบถามและมีมติไป

ผมเองก็รับไม่ได้ถ้าราคาค่าไฟจะเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดอย่างนั้น เพราะถึง กกพ.จะมีมติแบบนั้น แต่เราก็ต้องบริหารจัดการเอาราคาค่าไฟลงมาให้ได้ ซึ่งผมได้สั่งการให้หน่วยงานต่าง ๆ เร่งประสานทุกจุดล่วงหน้าด้วยวิธีการใหม่ ๆ หลายรูปแบบแล้ว เพื่อไม่ให้ประชาชนไม่แบกรับค่าไฟฟ้าที่มากเกินไป จะพยายามทำให้ใกล้เคียงกับที่จ่ายอยู่ในปัจจุบันให้มากที่สุด

ผมขอให้ความมั่นใจว่ากระทรวงพลังงานยุคนี้ไม่ได้นิ่งนอนใจและทำงานล่วงหน้ามาระยะหนึ่งแล้วเพื่อให้ราคาค่าไฟอยู่ในระดับที่ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิมมากนัก ซึ่งต้องใช้หลายกลไกพร้อม ๆ กันภายใต้โครงสร้างในปัจจุบันที่ไม่ได้ให้อำนาจกับฝ่ายนโยบายมากนัก แต่จะพยายามทำอย่างเต็มที่เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชน

ทั้งนี้การที่ กกพ. ประกาศให้ประชาชนเห็นชอบแนวทางในการปรับอัตราค่าไฟฟ้าก่อนหน้านี้ เป็นเงื่อนไขตามกฎหมายที่จะต้องมีการประกาศเพื่อให้ประชาชนแสดงความคิดก่อนที่จะมีมติ แต่ทั้งนี้ไม่ได้เป็นที่สุด จะต้องมีการบริหารจัดการเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุดต่อไป

ทั้งหมดนี้จะเตรียมการให้เสร็จสิ้นและประกาศโดยเร็วที่สุด

ผมพูดเสมอว่านี่คือการแก้ไขปัญหาระยะสั้นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนภายใต้โครงสร้างแบบปัจจุบัน

แต่ที่กำลังดำเนินการแบบเข้มข้นที่สุด และทำงานกันไม่หยุดหย่อนทุกวัน คือการเร่งรวบรวมข้อมูลทุกด้านเกี่ยวกับพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ก๊าซ ไฟฟ้า พลังงานทดแทน และพลังงานสะอาด ให้ครบทุกมิติ เพื่อนำไปสู่การ รื้อ ลด ปลด สร้าง พลังงานให้มั่นคง เป็นธรรม และยั่งยืนทั้งระบบ

ไม่ยากครับถ้าแค่พูดเอาเท่ ฟังดูดีทรงภูมิ 

คนทำแบบนั้นมีเยอะแล้ว แต่ไม่เคยเห็นรูปธรรม พูดไปเรื่อย ๆ ใช่ครับ อะไร ๆ ก็แก้โครงสร้าง แต่จะแก้อะไร แก้อย่างไรครับ ส่งผลกระทบแบบไหน จะทดแทนด้วยอะไร ทั้งระบบต้องสอดคล้องและไม่ก่อภาระเพิ่มให้กับประชาชน

ย้อนกลับไปดูกันนะครับ กฎหมายแต่ละฉบับ รูปแบบที่ใช้กันอยู่ ใช้มานานเท่าไร ปล่อยกันมาสี่สิบปีแล้วนะครับ

ผมเองหลังแถลงนโยบายมาสองเดือนเศษ ผมไม่พูดมากแต่ลงมือทำ อย่างน้อยผมก็พยายามลดภาระให้ประชาชนไม่ว่าจะตามโครงสร้างแบบไหน ทั้งน้ำมันดีเซล เบนซิน ค่าไฟฟ้า ตรึงราคาค่าแก๊ส ผมดีใจที่พี่น้องประชาชนได้ประโยชน์อย่างเต็มที่

เวลาเดียวกันก็เร่งดำเนินการรวบรวมข้อมูลชนิดลงลึกทุกขั้นทุกตอน ทำงานกันหลายคณะ ทำมากกว่าพูดลอย ๆ ว่า “ปรับโครงสร้างๆๆ”

เมื่อข้อมูลครบถ้วนแล้ว ไม่นานครับ เพราะผมและคณะจะร่างกฎหมายเอง เป็นชุดและครอบคลุมทั้งหมด ตอบได้ทุกคำถาม เพราะยึดเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง

ผมศึกษา หาข้อมูล ถกเถียง คิดวิเคราะห์ คืบหน้าไปมากแล้ว แต่ยังไม่สมบูรณ์

เพราะนี่คือการลงมือทำจริง ไม่ใช่เพียงแค่พูดแล้วเสกออกมา

ขอให้มั่นใจ ผมเอาจริงแน่นอน

'รัฐบาลเศรษฐา' เดินหน้า เร่งดัน EEC เฟส 2  มั่นใจ!! ดึงเงินลงทุนจริง 5 แสนล้าน ใน 5 ปี

เมื่อวานนี้ (6 ธ.ค.66) โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี (EEC) ที่เป็นเรือธงในการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ผ่านมา ได้ถูกหยิบยกมาสานต่อในรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกครั้ง 

ทั้งนี้ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ได้มีการพิจารณาเห็นชอบ ร่างแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (2566-2570) ที่เป็นกรอบดำเนินงานหลักของอีอีซี เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ร่วมบูรณาการในการพัฒนาเชิงพื้นที่ในทุกมิติ ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม

ถือเป็นการต่อยอดการพัฒนาอีอีซี จากระยะที่ 1 (2560-2565) ที่มีมูลค่าอนุมัติการลงทุนไปแล้วราว 2 ล้านล้านบาท ซึ่งจากการหารือทางที่ประชุมได้ให้หน่วยงานต่างๆ กลับไปจัดทำร่างแผนปฏิบัติการและการดำเนินงาน รวมถึงขอรับการจัดสรรงบประมาณให้ที่ประชุมพิจารณาอีกครั้งในเดือนมกราคม 2567

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี เปิดเผยว่า ในการประชุมบอร์ดอีอีซีล่าสุด ได้เห็นชอบร่างแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2566-2570 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ และจัดทำร่างแผนปฏิบัติการและการดำเนินงาน

รวมถึงขอรับการจัดสรรงบประมาณ โดยจะนำร่างแผนดังกล่าวสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบภายในเดือนธันวาคม 2566 นี้

แหล่งข่าวจากสกพอ.กล่าวว่า ร่างแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (2566-2570) เป็นการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อผลักดันให้เกิดการลงทุนจริงในพื้นที่อีอีซีระยะที่ 2 ให้ได้ โดยมีเป้าหมายไว้ราว 5 แสนล้านบาทในระยะเวลา 5 ปี หรือเฉลี่ยปีละ 1 แสนล้านบาท

ทั้งนี้จะช่วยสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมของพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Gross Provincial Cluster Product : GPCP EEC) ขยายตัวเฉลี่ย 6.3% และดัชนีความก้าวหน้าของคน (Human Achievement Index) ในพื้นที่ได้แก่ ดัชนีย่อยด้านชีวิตการงานและดัชนีย่อยด้านเศรษฐกิจ มีอัตราเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2%

“ในปี 2564 GPCP EEC เท่ากับ 2.36 ล้านล้านบาท คิดเป็น 14.6 % ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ซึ่งช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (ปี 2560-2562) เศรษฐกิจอีอีซีมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 2.1 % จากภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการเป็นหลัก”

สำหรับการผลักดันเป้าหมายดังกล่าว จะดำเนินงานภายใต้การพัฒนา 5 แนวทางประกอบด้วย 

1.ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายและบริการแห่งอนาคต ที่ตั้งเป้าหมายให้ได้มูลค่าความตกลงสิทธิประโยชน์ปีละ 2.5 แสนล้านบาท มีจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมเป้าหมายเพิ่มขึ้น 3.5 % ต่อปี สัดส่วนรายได้ของธุรกิจเอสเอ็มอีในอุตสาหกรรมเป้าหมายต่อจีดีพีในอีอีซีไม่น้อยกว่าปีละ 7 % รวมถึงจำนวนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอุตสาหกรรมเป้าหมายเพิ่มขึ้นปีละ 3.5 %

2. เพิ่มประสิทธิภาพ และการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค โดยมีเป้าหมายความสำเร็จของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลัก ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา แล้วเสร็จกว่า 90% ในปี 2570 การก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F1 แล้วเสร็จในปี 2570 

ขณะที่การก่อสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 แล้วเสร็จในปี 2569 โดยจะมีปริมาณการขนส่งสินค้าทางรางเพิ่มขึ้นปีละ 5% มีปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดไม่น้อยกว่า 5 % ในปี 2570 และมีปริมาณนํ้าต้นทุนเพียงพอต่อความต้องการใช้ในปี 2570 ที่ 2,888 ล้านลูกบาศก์เมตร

3. ยกระดับทักษะแรงงานให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและนวัตกรรม มีเป้าหมายผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้นปีละ 2.5% อัตราการว่างงานเฉลี่ยไม่เกินปีละ 0.83% มีแรงงานที่ได้รับการพัฒนาทักษะตามความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมายไม่น้อยกว่า 2 หมื่นคนต่อปี

4. พัฒนาเมืองให้มีความทันสมัย น่าอยู่อาศัยและเหมาะสมกับการประกอบอาชีพ มีเป้าหมายการพัฒนาเมืองใหม่และเมืองเดิมได้รับการพัฒนาตามแผน 2 เมือง มีอัตราการส่งต่อผู้ป่วยออกนอกพื้นที่ลดลงปีละ 10 % ปริมาณการล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง 20% ในปื2570 เมื่อเทียบกับปีฐาน และมีสัดส่วนการนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ไม่น้อยกว่า 15 % ต่อปี

5.เชื่อมโยงประโยชน์จากการลงทุนสู่ความยั่งยืนของชุมชน ซึ่งมีเป้าหมายที่จะเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนไม่น้อยกว่า 5 % ต่อปี

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ขณะที่แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการพัฒนาอีอีซี ระหว่างปี 2566-2570 ที่ผ่านมาได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีไปแล้ว ภายใต้ 3 ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประกอบด้วย

1.การเพิ่มขีดความสามารถของระบบรางและทางนํ้า และเชื่อมต่อกับการขนส่งสินค้ารูปแบบอื่น
2.การยกระดับโครงข่ายคมนาคมรองรับการเดินทางของประชาชนอย่างไร้รอยต่อ และ
3.ยกระดับโครงข่ายคมนาคมด้วยมาตรการเชิงรุกและเทคโนโลยีที่ทันสมัย

ทั้งนี้ กำหนดให้มีการดำเนินโครงการทางด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งจำนวน 77 โครงการ วงเงินรวม 337,797.07 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการที่เริ่มดำเนินการในช่วงปี พ.ศ. 2566 จำนวน 29 โครงการ วงเงินรวม 125,599.98 ล้านบาท แบ่งเป็นวงเงินปี 66 ประมาณ 25,425.65 ล้านบาทและโครงการที่เริ่มดำเนินการในช่วงปี พ.ศ. 2567-2570 จำนวน 48 โครงการ วงเงินรวม 212,197.09 ล้านบาท

สำหรับโครงการตามแผนปฏิบัติการฯ พ.ศ. 2566-2570 รวม 77 โครงการ วงเงินรวม 337,797.07 ล้านบาท แบ่งเป็น

ภาครัฐลงทุน จากงบประมาณแผ่นดิน เงินกู้ และงบรัฐวิสาหกิจ จำนวน 61 โครงการ วงเงินรวม 178,578.07 ล้านบาท (52.87%)
ภาคเอกชนลงทุน และการร่วมทุนระหว่างภาครัฐ และเอกชน (PPP) จำนวน 16 โครงการ วงเงินรวม 159,219 ล้านบาท ( 47.13%)

ทั้งนี้เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 295,710.49 ล้านบาท ( 87.5%) ระบบสาธารณูปโภค 38,382.58 ล้านบาท ( 11.4%) และมาตรการส่งเสริม 3,704 ล้านบาท ( 1.1%)

ส่วนกรณีที่อีอีซีมีแผนจะขยายพื้นที่จังหวัดในระยะที่ 2 ออกไปนั้น ยืนยันว่ายังไม่มีแผนดังกล่าว เพราะการขยายพื้นที่ในระยะที่ 2 จะต้องออกกฎหมายเพิ่มเติมหรือออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เนื่องจากตามกฎหมายในปัจจุบันกำหนดให้อีอีซียังดำเนินการภายในพื้นที่ 3 จังหวัดตามเดิม ประกอบด้วย ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา

‘สถานทูตญี่ปุ่น’ ปลื้ม!! ‘ศาลโดเรมอน’ กลางกรุง ลั่น!! นี่แหละซอฟต์พาวเวอร์ที่แท้จริง

(7 ธ.ค.66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟสบุ๊ก ‘สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย’ ได้เผยแพร่ภาพ พร้อมระบุข้อความว่า “วันนี้ มีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมศาลเจ้าแห่งหนึ่ง ที่ว่ากันว่าหากมาขอพรแล้วพรที่ขอสมดังหวังจะต้องนำตุ๊กตาโดราเอมอนมาถวายให้กับศาลเจ้า 

‘โดราเอมอน’ หนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ของญี่ปุ่น ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั่วโลก ซึ่งไม่เพียงแต่เด็กเท่านั้น ‘โดราเอมอน’ ยังเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนทุกเพศทุกวัย ด้วยความน่ารักน่าเอ็นดูของโดราเอมอน จึงกลายเป็นของถวายแทนความขอบคุณให้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยบันดาลพรให้เป็นไปดังหวัง”

ทั้งนี้ ศาลเจ้านี้ ตั้งอยู่บริเวณหน้าห้องอาหารเรือนต้น โรงแรมมณเฑียร กรุงเทพฯ

ศาลฯ ตัดสิน ‘ไบรท์ ชินวัตร’ คดี ม.112 จำคุก 3 ปี แต่สารภาพ-เกิดดวงตาเห็นธรรม ให้รอลงอาญา 2 ปี

(7 ธ.ค. 66) นายชินวัตร จันทร์กระจ่าง หรือ ไบรท์ ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า เช้าวันนี้ ศาลพิพากษาจำคุก 3 ปี ในคดี 112 แต่ศาลแจ้งว่าผมได้กลับตัวกลับใจ และได้ทำงานบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม จึงให้รอลงอาญาไว้ 2 ปีและอยู่ในการดูแลของคุมประพฤติ

ส่วนคดีพรบ.ฉุกเฉินให้ปรับ 200 บาท ลดเหลือ 100 บาท อามีนได้มีโอกาสทำความดีแท้ ๆ เป็นคนแผ่นดินต่อไปครับ

นายชินวัตร ระบุว่า ศาลอาญากรุงเทพฯ ใต้นัดฟังคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 เป็นคดีแรกที่ผมทำการสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ที่ผ่านมาผมเคยหลงผิด "บัดนี้ดวงตาผมได้เห็นธรรมแล้ว"

ขอพระบารมีพระองค์ท่านทรงปกปักรักษาให้กระผมได้มีโอกาสทดแทนบุญคุณแผ่นดินในการทำหน้าที่เป็นผู้นำชุมชน เพื่อความผาสุขของพี่น้องในชุมชน ตามรอยเบื้องพระยุคลบาทของพระองค์ท่าน

อามีนน น้อมรับคำตัดสินของศาลไม่ว่าจะออกมารูปแบบใดก็ตาม

หากศาลตัดสินจำคุกกระผมก็น้อมรับคำตัดสิน ส่วนหน้าที่ในการพัฒนาชุมชนทีมงานคณะกรรมการชุมชนที่เหลืออยู่ก็จะดำเนินการทำตามปณิธานที่ตั้งไว้ต่อไป

หากศาลตัดสินให้รอลงอาญา ผมก็จะทำหน้าที่ที่พี่น้องประชาชนได้มอบหมายให้กับผมได้ทำการพัฒนาชุมชนอย่างเต็มที่แน่นอน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top