Monday, 19 May 2025
TheStatesTimes

‘จีน’ ประกาศเร่งพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยี ‘6G’ เดินหน้าขับเคลื่อนการกำหนดมาตรฐานระดับโลก

(6 ธ.ค.66) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของจีน ประกาศมาตรการเร่งรัดการพัฒนาและการสร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยี 6G

จางอวิ๋นหมิง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ กล่าวว่า กระทรวงฯ ทำงานร่วมกับกลุ่มหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดวัตถุประสงค์การพัฒนา เดินหน้าการวิจัยและพัฒนาทางเทคโนโลยี และบ่มเพาะความร่วมมือระดับโลก

กระทรวงฯ ยังอำนวยความสะดวกแก่การจัดตั้งกลุ่มการส่งเสริมไอเอ็มที-2030 (6G) และจัดสรรคลื่นความถี่ 6 กิกะเฮิรตซ์ สำหรับระบบ 5G และ 6G ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนเชิงนโยบาย

นอกจากนั้นกระทรวงฯ จะเสริมสร้างรากฐานการใช้งาน 6G และเกื้อหนุนการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่างๆ เพื่อบ่มเพาะระบบนิเวศ 6G อันแข็งแกร่ง พร้อมขับเคลื่อนการกำหนดมาตรฐาน 6G ระดับโลก

คำสอนจาก ‘พ่อ’ การทำความดีที่ไม่จำเป็นต้องอวดใคร หากความสำเร็จนั้นไซร้ กลายเป็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นจริง

‘ปิดทองหลังพระ’ และ ‘สามัคคี’ คำสอนของ ‘พ่อ’ ที่เน้นย้ำการทำความดี สร้างประโยชน์แก่ผู้อื่นโดยมิได้หวังลาภยศ ผ่านพระพุทธรูปและพระบูชา 

ราวปี พ.ศ. ๒๕๐๘ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงมีพระราชดำริที่จะสร้างพระพุทธรูปบูชาพร้อมพระพิมพ์เพื่อบรรจุที่ฐานบัวหงายของพระพุทธรูป เพื่อมอบให้กับจังหวัดและหน่วยงานราชการต่าง ๆ ทั่วประเทศ 

‘พระพุทธนวราชบพิตร’ บรรจุพระ ‘พระสมเด็จจิตรลดา’ พระบูชาทรงสร้าง เพื่อความสมัครสมานสามัคคีของคนในชาติ 

ในหลวงรัชกาลที่ ๙ โปรดเกล้าฯ ให้ นายไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ข้าราชการกองหัตถศิลป กรมศิลปากร เข้ามาเป็นปั้นหุ่นพระพุทธรูปสำคัญและเป็นผู้แกะแม่พิมพ์พระพุทธรูปพิมพ์นี้ โดยพระองค์ทรงตรวจพระพุทธศิลป์ด้วยพระองค์เอง จนเป็นพอพระราชหฤทัยจึงได้ดำเนินการเททองในวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๙ และโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสำคัญองค์นี้ว่า ‘พระพุทธนวราชบพิตร’ โดยบริเวณฐานบัวหงายขององค์พระจะมี ‘พระสมเด็จจิตรลดา’ บรรจุอยู่ด้วย

เมื่อจัดสร้าง ‘พระพุทธนวราชบพิตร’ แล้วเสร็จ พระองค์จึงทรงพระราชทานไปยังจังหวัดต่างๆ โดยจังหวัดหนองคาย เป็นจังหวัดแรกที่ได้รับพระมหากรุณาพระราชทานพระพุทธนวราชบพิตร ในวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๐

ในโอกาสนั้นในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระราชดำรัสแก่ชาวจังหวัดหนองคาย โดยขออัญเชิญบางตอนมาดังนี้

...พระพุทธนวราชบพิตรองค์นี้ นอกจากจะถือว่าเป็นนิมิตหมายแห่งคุณพระรัตนตรัย อันเป็นที่เคารพสูงสุดแล้ว ข้าพเจ้ายังถือเสมือนเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ของประเทศไทย และความสามัคคีกลมเกลียวกันของประชาชนชาวไทยอีกด้วย...

...ขออานุภาพแห่งพระพุทธนวราชบพิตร จงปกปักรักษาท่านให้พ้นจากทุกข์ภัยทุก ๆ ประการ บันดาลให้เกิดความสุขสวัสดี มีความก้าวหน้ารุ่งเรืองในการประกอบอาชีพ และมีความสมัครสมานกัน ในอันที่จะร่วมกันสร้างเสริมความมั่นคง และความเจริญก้าวหน้าให้แก่บ้านเมืองของเราสืบไป...

‘พระสมเด็จจิตรลดา’ พระพลังแผ่นดิน พระเครื่องที่ไม่ต้องมีพิธีพุทธาภิเษก 

นอกจาก ‘พระสมเด็จจิตรลดา’ ที่บรรจุไว้ใน ‘พระพุทธนวราชบพิตร’ แล้วนั้น ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงสร้างพระพิมพ์ด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เองอย่างต่อเนื่องมาอีกจำนวนหนึ่ง ให้เป็นขวัญและกำลังใจให้กับ ข้าราชบริพาร ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ที่ได้สร้างความดี ความชอบและสร้างคุณประโยชน์แก่ชาติบ้านเมือง อย่างไม่ย่อท้อ ท่ามกลางสถานการณ์ของสงครามเย็นที่มีแต่ความหมิ่นเหม่ต่อความมั่นคงของชาติ ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๐๘ - ๒๕๑๓ 

ความพิเศษของ ‘พระสมเด็จจิตรลดา’ เริ่มจากมวลสารที่นำมาจัดสร้าง อันประกอบด้วย... 

มวลสารส่วนพระองค์ อันได้แก่ ดอกไม้แห้งจากมาลัยที่ประชาชนได้ทูลเกล้าฯ ถวาย ในคราวเสด็จพระราชดำเนินเปลี่ยนเครื่องทรง ‘พระแก้วมรกต’ / เส้นพระเจ้า (เส้นพระเกศา) / สีจากผ้าใบที่ทรงเขียนภาพฝีพระหัตถ์ / ชันและสีซึ่งทรงขูดจากเรือใบพระที่นั่ง

มวลสารศักดิ์สิทธิ์จากสถานที่ต่างๆ  อันได้แก่ ดอกไม้แห้ง, ผงธูป, เทียนบูชา จากพระพุทธรูปสำคัญต่างๆ เช่น พระแก้วมรกต, พระพุทธชินสีห์, พระพุทธชินราช และจากพระอารามหลวงที่สําคัญ / น้ำจากบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งนำมาใช้เป็นน้ำสรงมุรธาภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก / ดินจากสังเวชนียสถานทั้ง 4 แห่งในประเทศอินเดีย เป็นต้น 

ทรงสร้างขึ้นด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง โดยทรงใช้เวลาหลังจากทรงพระอักษร และทรงงานอันเป็นพระราชภารกิจหลัก หลังจากนั้นพระองค์ก็จะทรงกดพิมพ์องค์พระทุกองค์ด้วยพระองค์เองจนดึกดื่น บางครั้งก็ถึงรุ่งสาง รวมสร้างองค์พระ ๒,๕๐๐ องค์ ทุกองค์มีเอกสารส่วนพระองค์ (ใบกำกับพระ) ซึ่งแสดงชื่อ นามสกุล วันที่รับพระราชทาน และหมายเลขกำกับทุกองค์ 

นัยยะสำคัญขององค์พระพิมพ์พระราชทาน ‘พระพลังแผ่นดิน’

เมื่อในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน ‘พระสมเด็จจิตรลดา’ แก่ผู้ใด พระองค์จะทรงมีพระราชดำรัสแก่ผู้รับพระราชทานว่า... 

“ให้ปิดทองที่หลังองค์พระปฏิมาแล้วเอาไว้บูชาตลอดไป ให้ทำความดีโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใด ๆ”

“ขณะปิดทองให้ตั้งจิตเป็นสมาธิอธิษฐานขอให้ความดีงามที่มีอยู่ในตัว จงดำรงอยู่ต่อไป และขอให้ยังความเป็นสิริมงคล จงบังเกิดแก่ตัวยิ่งขึ้น อีกทั้งให้ประสบแต่ความสุขความเจริญในทางที่ดีงาม” 

โดยทรงพระราชทานพระบรมราชาธิบายเรื่องการ ‘ปิดทองหลังพระ’ ไว้ด้วยว่า... 

“ที่ให้ปิดทองหลังพระก็เพื่อจะได้เตือนตัวเองว่า การทำความดีไม่จำเป็นต้องอวดใคร หรือประกาศให้ใครรู้ ให้ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ และถือว่าความสำเร็จในการทำหน้าที่เป็นบำเหน็จรางวัลที่สมบูรณ์แล้ว” 

‘ยูเนสโก’ ประกาศขึ้นทะเบียน ‘ประเพณีสงกรานต์ไทย’ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ

(6 ธ.ค.66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก จัดการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 18 ณ เมืองคาเซเน สาธารณรัฐบอตสวานา

โดยมีวาระการพิจารณา ‘ประเพณีสงกรานต์ประเทศไทย’ ขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม รายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ

โดยรัฐบาลมอบหมายให้ นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุม

'นลินี ทวีสิน' พบทูตเยอรมนี เร่งเจรจา THAI-EU FTA เชิญชวนลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า

นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยภายหลังการหารือกับนายแอ็นสท์ ว็อล์ฟกัง ไรเซิลเอกอัครราชทูตราชสาธารณรัฐเยอรมนี ประจำประเทศไทย ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่า ทั้งสองฝ่ายต่างยินดีที่การเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย - สหภาพยุโรป (THAI-EU FTA) รอบแรกเริ่มต้นด้วยดี ซึ่ง FTA ฉบับดังกล่าวจะเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ สนับสนุนการจ้างงานของแรงงานไทย ตลอดจนสร้างแต้มต่อทางการแข่งขัน ในขณะเดียวกันก็จะเป็นโอกาสดีที่มาตรฐานและกฎระเบียบต่าง ๆ ของไทย ไม่ว่าจะเป็นด้านทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิแรงงาน สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน จะถูกปรับปรุงให้มีความทันสมัยและเป็นสากลมากยิ่งขึ้น 

ผู้แทนการค้าไทยเสริมว่า จากความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศเยอรมนี ตนจึงได้ใช้โอกาส เชิญชวนให้บริษัทเยอรมนีมาลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะการผลิตและประกอบแบตเตอรี่ในไทย ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการจะดึงดูดอุตสาหกรรมสีเขียวในไทยเพิ่มเติม นอกจากนี้ ยังนับว่าเป็นโอกาสและข่าวดีที่เยอรมนีมีการจัดตั้งกองทุนภูมิอากาศสีเขียว ซึ่งมีพันธกิจในการสนับสนุนเงินทุนแก่โครงการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งล่าสุดทราบว่ากองทุนดังกล่าวได้สนับสนุนเงินกว่า 38 ล้านยูโรเพื่อส่งเสริมการปลูกข้าวที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในไทย

‘รมว.ปุ้ย’ เตรียมชง ครม.ตั้ง ‘ศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาล’ เชื่อช่วยดัน GDP ภาคอุตฯ 1.2% ราว 5.5 หมื่นล้าน

‘รมว.พิมพ์ภัทรา’ เตรียมเสนอเรื่องเข้า ครม. ก่อตั้ง ‘ศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาล’ เชื่อช่วยสร้างตัวเลขทางเศรษฐกิจกว่า 5.5 หมื่นล้านบาท พร้อมเผยข้อเสนอกลไกการบริหารงานศูนย์ฯ ระยะสั้น 3 เดือน ลั่น!! ต้องมีการแต่งตั้งผู้แทนการค้าไทยที่รับผิดชอบเรื่องฮาลาลขับเคลื่อนวาระและกำกับดูแลอย่างจริงจัง

(6 ธ.ค.66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการผลักดันอุตสาหกรรมฮาลาลสู่ตลาดโลกว่า ล่าสุดกระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติดำเนินการจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาล และคณะทำงาน

ส่วนแนวทางการจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลนั้น จะมีข้อเสนอกลไกการบริหารงานศูนย์ฯในระยะสั้น 3 เดือน ได้แก่ จะต้องมีการแต่งตั้งผู้แทนการค้าไทยที่รับผิดชอบเรื่องฮาลาล ซึ่งเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยผู้แทนการค้าไทย เพื่อขับเคลื่อนวาระฮาลาล และทำหน้าที่กำกับดูแลศูนย์ฯ

หลังจากนั้นก็จะมีการขยายบทบาทและยกระดับศักยภาพสถาบันอาหารให้เป็นเจ้าภาพและศูนย์กลางการประสานงานเกี่ยวกับอุตฯฮาลาลของประเทศ (National Focal Point) เพื่อขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศ (Nation Agenda)

รวมถึงจะต้องมีขอยืมตัวข้าราชการ (Secondment) พนักงานราชการ หรือบุคลากรจากหน่วยงานของรัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อปฏิบัติงานในศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลที่จัดตั้งขึ้นในระยะทดลอง 1 ปี และต้องขอรับงบอุดหนุนจากสำนักงบประมาณตามนโยบายของรัฐบาล

ส่วนระยะยาวสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ประเมินผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินการ 1 ปีแรกตามตัวชี้วัดของการจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาล เพื่อปรับบทบาทตามความเหมาะสม

ทั้งนี้ เมื่อตั้งคณะทำงานได้เรียบร้อยแล้วคาดว่าเบื้องต้นน่าจะต้องใช้งบประมาณอยู่ที่ 630 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการใช้ในภารกิจส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้แก่

ขยายตลาดการค้าอุตสาหกรรมฮาลาลทั้งในและต่างประเทศ เช่น ซาอุดีอาระเบีย, แอฟริกา จีน เป็นต้น โดยคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณ 550 ล้านบาท แบ่งเป็น…

- เจรจาจัดทำกรอบความร่วมมือในการขยายตลาดสินค้า และบริการฮาลาล 150 ล้านบาท
- สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานเครือข่ายฮาลาล (Thai Halal Network)
- ส่งเสริมและขยายตลาดผ่านกิจกรรมการจัดงาน HaLal Expro 2024/กิจกรรมทางการทูต (งาน Thai Night) เพื่อเผยแพร่สินค้าฮาลาลไทย 300 ล้านบาท
- ส่งเสริมประชาสัมพันธ์ และสร้างภาพลักษณ์ สินค้าและบริหารฮาลาลไทยในภารกิจ MICE เช่น ท่องเที่ยว การบิน การประชุม/นิทรรศการนานาชาติ 100 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีภารกิจพัฒนาการผลิตและมาตรฐาน โดยเป็นการยกระดับการผลิตและพัฒนาต้นแบบสินค้าฮาลาล 75 ล้านบาท แบ่งเป็น…

- พัฒนาผลิตภัณฑ์ฮาลาลต้นแบบเพื่อผู้บริโภคมุสลิม 25 ล้านบาท
- พัฒนา/จัดทำ Role Model เพื่อยกระดับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมฮาลาล เพื่อการส่งออก เช่น โรงงานแปรรูป โรงฆ่าสัตว์ 50 ล้านบาท

สำหรับการดำเนินการดังกล่าวเชื่อว่าภายในระยะเวลา 3 ปีจะสามารถทำให้จีดีพี (GDP) ภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 55,000 ล้านบาท หรือประมาณ 1.2% ของจีดีพีภาคอุตสาหกรรม

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า สินค้าเป้าหมายในระยะแรกประกอบด้วย เนื้อสัตว์, อาหารทะเล ในรูปแบบของอาหารพร้อมรับประทาน (Ready-to-EAT) และอาหารฮาลาลโดยธรรมชาติ, อาหารมุสลิมรุ่นใหม่ (Snack Bar) อีกทั้งยังมีสินค้าประเภทแฟชั่นฮาลาล, เครื่องสำอาง, ยาสมุนไพร และท่องเที่ยว

อย่างไรก็ดี หน่วยงานที่จะต้องบูรณาการทำงานร่วมกันเบื้องต้น ประกอบด้วย กระทรวงอุตสาหกรรม, สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.), กรมเจาจรการค้าระหว่างประเทศ, กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ, กระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.), สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.), สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, กรมทรัพย์สินทางปัญญา, สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (สกอท.), สถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย, กรมประมง/กรมปศุสัตว์/กรมวิชาการเกษตร, กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก/กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ, สถาบันอาหาร, ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย), สถาบันฮาลาล (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) และห้องปฏิบัติการกลาง

“ปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมฮาลาลมีหลายหน่วยงาน เพราะฉะนั้น จะต้องรวบรวมทุกหน่วยงานเข้ามาทำงานร่วมกัน เพื่อให้ขับเคลื่อนนโยบายไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพ”

“พวงเพ็ชร ชูรัฐบาลดิจิทัล” ทำรัฐ โปร่งใส รวดเร็ว เน้นออนไลน์ ตอบสนอง ประชาชน

วันนี้ (6 ธันวาคม 2566) เวลา 10.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายจาก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานมอบรางวัลรัฐบาลดิจิทัลประจำปี 2566 “Digital Government Awards 2023” แก่หน่วยงานภาครัฐที่มีการยกระดับองค์กรสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล จำนวนทั้งสิ้น 150 รางวัล โดยมี นายนพรัตน์ เมธาวีกุลชัย ประธานกรรมการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงาน 

การมอบ “รางวัลรัฐบาลดิจิทัล” จัดขึ้นโดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสำรวจระดับความพร้อมการเป็นรัฐบาลดิจิทัลของหน่วยงานภาครัฐ ว่า ปัจจุบันภาครัฐมีบริการดิจิทัลที่หลากหลายมิติครอบคลุมบริการประชาชนในทุกช่วงชีวิตหรือไม่ เป็นสิ่งสะท้อนการพัฒนาและแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั้น ตั้งใจที่ภาครัฐปรับตัวสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งปัจจุบันภาครัฐมีบริการดิจิทัลที่หลากหลายมิติครอบคลุมบริการประชาชนในทุกช่วงชีวิต อาทิ แพลตฟอร์มบริการกลางและบริการดิจิทัลเพื่อประชาชน  ซึ่งในปีนี้ได้แบ่งรางวัลเป็น 5 รางวัล ได้แก่ 1) รางวัลรัฐบาลดิจิทัล สำหรับหน่วยงานมีคะแนนความพร้อมรัฐบาลดิจิทัลรวมสูงสุด 2) รางวัลเฉพาะด้านประจำปี ประกอบด้วย 3 รางวัลย่อย คือ รางวัลหน่วยงานคุณภาพด้านการใช้ธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ รางวัลหน่วยงานคุณภาพด้านการเปิดเผยข้อมูลผ่านศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ และรางวัลหน่วยงานคุณภาพด้านบุคลากรดิจิทัล 3) รางวัลผู้นำองค์กรดิจิทัลดีเด่น 4) รางวัลพัฒนาการดีเด่น และ 5) รางวัลท้องถิ่นดิจิทัล

นางพวงเพ็ชร กล่าวชื่นชมหน่วยงานที่ได้รับรางวัล แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับการพัฒนาให้สอดรับกับการเป็นสังคมดิจิทัล ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบันที่ต้องปรับตัวตามความต้องการของประชาชน เพื่อให้การติดต่อกับภาครัฐเป็นเรื่องง่าย สร้างความมั่นใจต่อผู้รับบริการ สะดวก โปร่งใส รวดเร็ว และสามารถเข้าถึงได้จากทุกที่  ซึ่งรัฐบาลตระหนักดีว่าการบริหารงานและการให้บริการที่ตอบโจทย์ประชาชนอย่างทันท่วงทีถือเป็นความสำคัญลำดับแรก โดยต้องปรับปรุงการบริการออนไลน์ภาครัฐ เพื่อให้ประชาชนติดต่อได้ง่าย เข้าถึงข้อมูลได้สะดวก ทั้งสวัสดิการ บริการสาธารณะ และประโยชน์ต่างๆ ที่ประชาชนพึงได้รับ

“ผู้บัญชาการทหารเรือตรวจความพร้อมการจัดร้านกองทัพเรือ ในโอกาสครบรอบ ๑๐๐ ปี งานมหรสพรื่นเริงการกุศลที่สำคัญยิ่ง เพื่อหารายได้บำรุงสภากาชาดไทย ประจำปี 2566” 

พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือในฐานะประธานร้านกองทัพเรือ ในงานกาชาดประจำปี 2566 พร้อมด้วย คุณกีรตา พันธุ์เอี่ยม นายกสมาคมภริยาทหารเรือ  เดินทางมาตรวจเยี่ยมความพร้อมของร้านกองทัพเรือฯ โดยมี พล.ร.อ.สุวิน แจ้งยอดสุข รองผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะประธานกรรมการอำนวยการ ร้านกองทัพเรือ ในงานกาชาดประจำปี 2566 และผู้เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับ และนำตรวจความพร้อมของการเตรียมสถานที่ ณ สวนลุมพินี กรุงเทพมหานคร

ซึ่งในปี พ.ศ.2566 นี้ สภากาชาดไทยได้กำหนดกรอบการจัดงานโดยใช้ชื่อว่า “งานวันกาชาด ๑๐๐ ปี รื่นรมย์สุขฤดี ณ ที่แห่งการให้ #RedCrossFairCenturyOfCharity สื่อความหมายว่า ๑๐๐ ปี งานกาชาด นับเป็นศตวรรษแห่งการให้” ในรูปแบบย้อนยุค โดยในส่วนของกองทัพเรือ ได้ออกแบบร้านด้วยแนวคิด “ย้อนวันวานทะเลไทย ประชาชนภูมิใจ ทะเลไทยมั่นคง” ในบรรยากาศย้อนยุคของทะเลไทย และความร่วมสมัย ดำเนินการสร้างส่วนต่างๆ ตามแบบอาคารราชนาวิกสภาที่มีประวัติความเป็นมากว่า 100 ปี แสดงอัตลักษณ์ความเป็นทหารเรือ และยังมีการสร้างแบบจำลองเรือหลวงพระร่วงที่เป็นตัวแทนความรักความศรัทธาของประชาชนที่ร่วมบริจาคเงินในการจัดหาเรือให้กองทัพเรือ โดยการจัดร้าน และกิจกรรมสำคัญ ประกอบด้วย 

การแสดงดนตรีโดยกองดุริยางค์ทหารเรือที่ได้รับความสนใจจากประชาชนทุกปี  ร้านอาหารโดยกรมพลาธิการทหารเรือที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในรสชาติมาอย่างยาวนาน และพื้นที่แสดงนิทรรศการเรื่องราวของกองทัพเรือกับประชาชนโดยกรมกิจการพลเรือนทหารเรือ  นอกจากนี้ยังจัดให้มีการเล่นเกมส์ชิงโชคที่คัดสรรค์ของรางวัลอย่างพิถีพิถันจากกรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือ การจำหน่ายสินค้าที่แสดงความเป็นชาวเรือและสินค้าจากร้านเกษตรนาวีจากกรมสวัสดิการทหารเรือ และยังมีการจำหน่ายสินค้าในรูปแบบออนไลน์อีกด้วย

สำหรับบริเวณพื้นที่สมาคมภริยาทหารเรือ จัดให้มีการจำหน่ายสินค้าในสไตล์ทหารเรือที่คัดเลือกอย่างตั้งใจทุกชิ้น การเล่นเกมส์ชิงโชคที่คงความสนุกสนาน และการจำหน่ายสลากบำรุงสภากาชาดไทย ประจำปี 2566 ซึ่งนอกจากการได้ทำบุญกับสภากาชาดแล้วยังมีสิทธิ์ลุ้นรางวัลที่น่าสนใจอีกด้วย

กองทัพเรือขอเชิญชวนพี่น้องประชาชน มาร่วมงานกาชาดประจำปีและร่วมแต่งกายย้อนยุค ย้อนวันวานในปีพิเศษนี้ และเชิญชวนเยี่ยมชมร้านกองทัพเรือ ซึ่งเจ้าหน้าที่ทุกนายพร้อมให้การต้อนรับอย่างเต็มใจด้วยความเป็นชาวเรือ ในบรรยากาศที่แสนคลาสสิคของทหารเรือ โดยจะมีการจัดงาน ระหว่างวันที่ 8 - 18 ธ.ค.66 เป็นเวลา 11 วัน ณ สวนลุมพินี กรุงเทพมหานคร ระหว่างเวลา 11.00 - 22.00 น. 

นิราช/นันทพล ทิพย์ศรี รายงาน 0909535645

#กองทัพเรือ #ROYALTHAINAVY 
#งานกาชาดประจำปี #RedCrossFairCenturyOfCharity

‘เก่ง ธชย’ งง!! เจอดรามาหลังร่วมงาน ‘แอนโทเนีย’ เหตุเป็น PD มิสแกรนด์ เชื่อ!! ‘บอสณวัฒน์’ เข้าใจ

(6 ธ.ค.66) เจอดรามาสงครามนางงามเข้าจนได้ สำหรับศิลปินมากความสามารถที่โดดเด่นเรื่องวัฒนธรรมไทยอย่างพ่อยักษ์ ‘เก่ง ธชย’ ที่รับงานแสดง ขับร้องเสภา ซึ่งเป็นการแสดงเพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทย ร่วมกับการแสดงคณะหุ่นละครเล็ก โจหลุยส์ ในงานกิจกรรมวันพ่อ

พร้อมการแสดงพระแม่ธรณีบีบมวยผมในชื่อ พระมาตุเรศ วสุนธรา เทวีแห่งแผ่นดิน ของ ‘แอนโทเนีย โพซิ้ว’ ที่เป็นส่วนหนึ่งของโชว์สุดอลังการและแสนประทับใจครั้งนี้

แต่มิวายมีแฟนนางงามบางกลุ่มดรามาติติงว่า "เก่ง ธชย เป็น PD (โปรดิวเซอร์) กองประกวดมิสแกรนด์มุกดาหาร 2024 ร่วมงานกับ MU ได้ด้วยหรือ?" ทำเอา ‘เก่ง ธชย’ ถึงกับยืนงงในดงสงครามนางงาม แต่หลายๆ คอมเมนต์ก็เข้าใจถึงบริบทการเป็นศิลปิน

โดย ‘เก่ง ธชย’ เผยว่า "เห็นข่าวแล้วตกใจ งงมากครับว่า ดรามาอะไรกัน ทำไมโยงกันมั่วแบบนี้แล้วคนที่เสียหายมันคือผมเต็มๆ อาชีพหลักเราคือ ศิลปิน นักร้องนักแสดง ที่ผมเน้นวัฒนธรรมไทยอย่างชัดเจน มีงานพ่อของแผ่นดิน น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ติดต่อเข้ามาให้ขับเสภา ประกอบกับการแสดงร่วมกับหุ่นละครเล็ก โจหลุยส์ ที่เราร่วมงานด้านวัฒนธรรมกันเป็นประจำอยู่แล้ว ผมก็รับงานปกติ

และก็ทราบเพิ่มเติมว่ามี ‘แอนโทเนีย โพซิ้ว’ มาร่วมการแสดงด้วย และทั้งหมดมันคือโชว์ที่ทุกฝ่าย ทุกคนตั้งใจทำให้ออกมาให้ดีที่สุด เป็นการนำเสนอวัฒนธรรมไทยที่รวมกันเป็นหนึ่งเดียว ตอนรับงานผมก็คิดดีแล้วว่า มันคืองานแสดง ในบริบทของงานศิลปิน

ครั้งนี้ไม่ได้เกี่ยวกับการเป็น PD (โปรดิวเซอร์) หรือเวทีประกวดใดๆ ถ้าเป็นในส่วนของการเป็น PD (โปรดิวเซอร์) มิสแกรนด์มุกดาหาร 2024 ผมก็เต็มที่ ทำให้ออกมาให้ดีที่สุดอย่างที่ทุกคนได้เห็นกัน และผมมั่นใจว่า ทางบอสณวัฒน์ และเวทีแม่อย่างมิสแกรนด์ไทยแลนด์เข้าใจ, ให้เกียรติ และเคารพการตัดสินใจในการทำงานในส่วนนี้ของผมครับ

ผมไม่เข้าใจว่า มาโยงกันทำไม ผมรู้ดีว่าผมทำหน้าที่อะไร ในบริบทไหน ยิ่งงานที่เราได้โชว์ในด้านวัฒนธรรมของไทยแล้วเนี่ย เราคนไทยควรสนับสนุนกันนะครับ อย่ามาตั้งแง่ งอแงกันเลย ซอฟต์พาวเวอร์ของไทยมันจะไปไกลได้มากขึ้นนะครับ ผมต้องขอบคุณทุกคนที่เข้าใจ รวมถึงคนเห็นต่าง แต่อย่างที่บอกไปข้างต้นแหละครับ แยกแยะกันหน่อยครับ คนที่ตั้งใจทำงานด้านวัฒนธรรมมันก็มีน้อยใจเหมือนกันนะครับ ที่อยู่ๆ ก็มีดรามาแบบนี้ ขอบคุณครับ"

‘สว.วีระศักดิ์’ ร่วมพิธีเปิดงาน ‘พึ่งพา RUN’ มูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสมทบทุนช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

เมื่อวานนี้ (5 ธ.ค. 66) มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย จัดกิจกรรม ‘พึ่งพา RUN’ ครั้งที่ 1 ภายใต้งานเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ประจำปี 2566 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติองค์ประธาน และนายกกิตติมศักดิ์ มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย เพื่อเป็นการส่งเสริม และสนับสนุนให้ประชาชนทั่วไป หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพสร้างกิจกรรมที่เกิดประโยชน์ ให้กับตนเองและครอบครัว เพื่อสร้างภาพลักษณ์ของมูลนิธิฯ และเฉลิมฉลองการดำเนินงานตลอด 28 ปี ที่ผ่านมาของมูลนิธิ ฯ เพื่อนำรายได้สมทบทุนและใช้สำหรับกิจกรรมของมูลนิธิฯ

สำหรับงานในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากนายวีรศักดิ์ โควสุรัตน์ กรรมการมูลนิธิฯ และรองประธานกรรมการอำนวยการจัดงานฯ กล่าวเปิดงาน ระบุว่า…กิจกรรมวิ่งการกุศล ‘พึ่งพา RUN’ ในวันนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการจัดงานเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ในโอกาสครบรอบ 28 ปี จัดตั้งมูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-10 ธันวาคม 2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์  ภายใต้แนวคิด “น้ำพระทัยสองพระมิ่งขวัญเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) เปี่ยมล้นพระเมตตาผู้ประสบอุทกภัย" เพื่อเทิดพระเกียรติพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ องค์นายกกิตติมศักดิ์ตลอดชีพ และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา องค์ประธานกรรมการ มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ในการทรงงานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยตลอดระยะเวลากว่า 28 ปี และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ องค์นายกกิตติมศักดิ์ตลอดชีพทรงพระกรุณาประทานถ้วยรางวัลให้แก่ผู้ชนะเลิศการแข่งขันจำนวน 2 ถ้วย เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของขวัญและกำลังใจของผู้ร่วมกิจกรรม นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดไม่ได้ แก่คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ปี 2566 

ภายหลังมีผู้เข้าแข่งขันวิ่งเข้าเส้นชัย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองประธานกรรมการที่ปรึกษา และประธานกรรมการบริหารมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย เป็นประธานมอบรางวัลให้แก่ผู้ชนะการแข่งขันวิ่งการกุศล ‘พึ่งพา RUN’ ชิงถ้วยประทานพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ณ สวนเบญจกิติ

สำหรับกิจกรรมพึ่งพา RUN แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ Mini Marathon 10 กิโลเมตร ประเภทบุคคลหญิงและชาย และ Fun Run (เดิน/วิ่ง) 3 กิโลเมตร บรรยากาศภายในงานคึกคัก มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งแบบวิ่งในงาน และ Virtual Run รวมกว่า 300 คน ผู้ร่วมกิจกรรมทุกคนจะได้รับเสื้อวิ่ง และเหรียญวิ่งผลิตจากเส้นใยขวดพลาสติกรีไซเคิล สอดคล้องกับรูปแบบการจัดงานเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) 2566 คือ Sustainability เพื่อรณรงค์ให้ทุกหน่วยงานได้เห็นถึงความสำคัญของการนำกลับมาใช้ใหม่ สนับสนุนอุตสาหกรรมที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นมิตรกับโลก 

นอกจากนี้ภายในงานผู้ร่วมงานยังได้รับประทานอาหารเช้าเมนูข้าวเหนียวไก่ทอดสูตรประทานฯ และไอศกรีมจากมูลนิธิ ณภาฯ อีกด้วย

‘อุ๊งอิ๊ง’ แจง!! จัดกิจกรรมสงกรานต์ 77 จว.ทั่วประเทศ หวังให้ทั้งเดือนเมษายนมีงานต่อเนื่อง เพื่อดึงดูด นทท.

(6 ธ.ค. 66) ที่ เดอะกรีนเนอรี่ รีสอร์ท เขาใหญ่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาโครงการเสริมสร้างศักยภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และบุคลากรทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย ว่า อยากให้สมาชิกทุกคนมาร่วมกิจกรรมที่ทีมงานได้เตรียมไว้ ซึ่งทุกคนได้ร่วมกิจกรรมอย่างสนุกสนานมาก และมีการระดมสมองกัน มีการละลายพฤติกรรมเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมากขึ้น

เมื่อถามว่ามีการใช้งบประมาณเกี่ยวกับซอฟต์พาวเวอร์เป็นจำนวนมาก น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า คณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ที่ตนเป็นประธานอยู่ ได้ประชุมเรื่องงบประมาณที่ใช้จบไปแล้ว ก็เหลือการนำเข้าที่ประชุมที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อเคาะและนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งงบดังกล่าวนี้กว่าจะเสร็จก็น่าจะเดือน พ.ค.2567 ซึ่งจะเป็นงบทั้งปี ตั้งแต่ปี 2567-2568 เพราะฉะนั้นจะเป็นไปตามกระบวนการแน่นอนตามที่นายกรัฐมนตรีได้พูดไว้

“เราตั้งงบประมาณไว้ประมาณ 5,100 ล้านบาท มาจากภาคเอกชนทุก ๆ สาขาที่คุยกันไว้ 11 สาขา ซึ่งเราไม่ได้ของบเพิ่ม เป็นงบที่มีอยู่ในกระทรวง แล้วในแต่ละกระทรวงก็จะนำมารวมกัน เพื่อทำเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ และตัวเลขนี้รัฐบาลไม่ได้คิดขึ้นมา เป็นการร่วมมือทำงานกันระหว่างผู้รู้จริงคือภาคเอกชน ซึ่งรัฐบาลคอยอำนวยความสะดวกให้กับสิ่งที่เอกชนรู้อยู่แล้วในแต่ละสาขา ซึ่งเอกชนมีความระมัดระวังอยู่แล้วในการใช้งบประมาณ และมีตัวเลขออกไปแล้วว่าแต่ละสาขาใช้งบประมาณเท่าไร” น.ส.แพทองธาร กล่าว

เมื่อถามว่าจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในการใช้งบจะทำให้คณะกรรมการมีโอกาสมาดูว่าจะปรับลดอะไรบ้างหรือไม่ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า เสียงวิพากษ์วิจารณ์ หรือคอมเมนต์ต่าง ๆ เรารับฟังแน่นอน และดีใจที่ทุกคนให้ความสนใจกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์เพราะมีความหลากหลายมาก ๆ ถ้ามีคนสนใจเยอะ ๆ ตนเชื่อว่าอุตสาหกรรมต้องดีและแข็งแรงขึ้นแน่นอน 

เมื่อถามว่าดึงงบมาจากกระทรวงไหนบ้าง น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ดึงงบมาจากหลายกระทรวง เช่น กระทรวงการท่องเที่ยวฯ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวัฒนธรรม เป็นต้น ซึ่งเป็นงบที่อยู่ในกระทรวงนั้นอยู่แล้ว แต่เรานำมาจัดแจงให้เห็นภาพว่าทำอะไรบ้าง

เมื่อถามว่าหลังจากที่ประกาศกิจกรรมสงกรานต์ออกมาแล้วหลายคนได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ตนได้สื่อเรื่องสงกรานต์ไปในเฟซบุ๊กของตนเอง และเห็นการตีความกลับมา ว่า จะให้สาดน้ำกันทั้งเดือน “อันนี้ก็หนาวเหมือนกันนะคะถ้าสาดน้ำกันทั้งเดือน” ซึ่งตนไม่ได้หมายความแบบนั้น แต่จะเป็นเรื่องของการจัดกิจกรรม 77 จังหวัดทั่วประเทศ แน่นอนวันที่ 13-15 เม.ย. เรามีอีเวนต์ทุกปีอยู่แล้ว แต่เราจะพยายามให้ทั้งเดือนเมษายน มีงานทั่วประเทศ เพื่อรอนักท่องเที่ยวเข้ามาให้มีจุดเที่ยวในประเทศไทยยาวนานขึ้น อยู่นานขึ้น นั่นคือจุดมุ่งหมาย แต่ถ้าจะให้สาดน้ำ 30 วันก็คงจะไม่ได้

“อิ๊งอยากให้ทุกคนมูฟออนจากการนิยามซอฟต์พาวเวอร์ได้แล้ว เรากำลังจะทำเรื่องที่ใหญ่กว่านั้น เพื่อพัฒนาประเทศให้ไปถึงจุดที่ยิ่งใหญ่อลังการ อันนี้เรามองไปถึงจุดข้างหน้า แล้วเราจะปักหมุดว่าเราจะเป็นประเทศที่ดันซอฟต์พาวเวอร์ออกจากประเทศ ทำให้คนทั่วโลกรู้จักเรา เข้าใจเรา ชอบวัฒนธรรมของเรา นี่คือสิ่งที่เราพยายามทำอยู่ เราไม่ได้พยายามนิยามคำว่าซอฟต์พาวเวอร์แล้ว” น.ส.แพทองธาร กล่าว

เมื่อถามว่าในฐานะที่เป็นผู้นำหญิงคนหนึ่ง ขณะนี้มีมาดามแป้ง มาดามเดียร์ ขึ้นมาชิงตำแหน่งใหญ่ ๆ สำคัญ ๆ ในประเทศ มองว่าจะทำให้ผู้หญิงขึ้นมามีบทบาทอย่างไรได้บ้าง น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ตนมองว่าการที่ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทเป็นเรื่องที่ดี ความคิดหรือว่าภาพจำในอดีตที่ผ่านมา อาชีพนั้น อาชีพนี้เหมาะกับผู้ชายเท่านั้น ซึ่งตนมองว่าคำนั้นไม่สามารถใช้ได้ในปัจจุบันนี้แล้ว ตนคิดว่าทั้งผู้หญิงผู้ชายมีสิทธิ์ทุก ๆ อาชีพเมื่อมีใจรัก เมื่อมีความสามารถ และได้รับโอกาส เพราะฉะนั้นจะผู้หญิงผู้ชายได้หมดและตนยินดีในด้านของการเมือง หรือด้านของตำแหน่งสำคัญ ๆ ที่มีผู้หญิงจะเข้ามามีบทบาทเยอะขึ้น เป็นเครื่องหมายว่าเปิดโอกาสให้ผู้หญิงและผู้ชายทำได้ทั้งนั้น เปิดโอกาสให้ทุกคนมีสิทธิ์เท่ากัน 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top