Saturday, 17 May 2025
TheStatesTimes

29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 ในหลวง ร.9 ทรงปลูกต้นนนทรี 9 ต้น ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

วันนี้ เมื่อ 60 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ยังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทรงปลูกต้นนทรี 9 ต้น พร้อมร่วมการแสดงดนตรีที่หอประชุมของมหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรก

วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงได้เสด็จพระราชดำเนินยังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตามคำกราบบังคมทูลเชิญเสด็จของคณะกรรมการสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

และได้ทรงปลูกต้นนนทรี 9 ต้น ณ บริเวณหน้าหอประชุม มก. ทั้งยังมีพระราชดำรัสถึงบุคลากรและนิสิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในคราวนั้นว่า

“ขอฝากต้นไม้นี้ให้มหาวิทยาลัยและนิสิตช่วยกันรักษาให้ดี อย่าให้หงอย ขอฝากนิสิตทั้งหลาย ขอให้ช่วยกันรักษาตัวเองให้ดี และอย่าลืมว่าตัวเองนั้นจะอยู่กันได้ก็ด้วยแผ่นดินไทย ขอให้ช่วยรักษาแผ่นดินไทยไว้ด้วย คนไทยถ้าไร้แผ่นดินก็จะหงอยกันหมด อยู่กันไม่ได้ และเราก็ไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น”

นอกจากนี้ในการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระมหากรุณาธิคุณร่วมการแสดงดนตรีที่หอประชุมของมหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรก อันนำไปสู่การเสด็จ ‘เยี่ยมต้นนนทรี’ ที่ทรงปลูกและ ‘ทรงดนตรี’ สืบเนื่องมาจนถึงปี พ.ศ. 2515

โดย ‘ต้นนนทรี’ เป็นต้นไม้สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 เพราะต้นนนทรีเป็นไม้ยืนต้น มีอายุยืนยาวนาน มีใบเขียวตลอดทั้งปี ลักษณะใบเป็นฝอยคล้ายใบกระถิน ดอกสีเหลืองประปรายด้วยสีขาว ช่อดอกเป็นพวงระย้า ฝักไม่ยอมทิ้งต้น ทนทานในทุกสภาพอากาศของเมืองไทย 

ซึ่งต้นนนทรีทั้ง 9 ต้น ได้สร้างความเป็นสง่าราศี เป็นขวัญกำลังใจ เป็นจิตวิญญาณและให้ความร่มเย็น แก่เหล่าลูกนนทรีมาโดยตลอด ปัจจุบันนนทรีทั้ง 9 ต้นเจริญเติบโตเป็นไม้ใหญ่ เต็มวัย มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ย 53 เซนติเมตร มีความสูงเฉลี่ย 15 เมตร 

มีพื้นที่เรือนยอดปกคลุม 123 ตารางเมตรต่อต้น หรือพื้นที่เรือนยอดรวม 1,108 ตารางเมตร ด้วยต้องยืนตระหง่านฝ่าร้อนฝ่าฝนและหนาวมาเป็นระยะเวลายาวนานย่อมถูก โรคภัยเบียดเบียน มหาวิทยาลัยได้เฝ้าดูแลต้นนนทรีทั้ง 9 ต้น ด้วยความใส่ใจมาตลอด พร้อมทั้งทำศัลยกรรมตกแต่งปิดโพรงภายในจากการทำลายของโรคอย่างถูกวิธี เพื่อให้นนทรีทั้ง 9 ต้นดำรงความเป็นเกียรติประวัติแก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สืบไป

30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อ ‘กรมทหารเรือ’ เป็น ‘กองทัพเรือ’

วันนี้ เมื่อ 90 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อ ‘กรมทหารเรือ’ เป็น ‘กองทัพเรือ’ ขึ้นตรงต่อกระทรวงกลาโหม 

กองทัพเรือมีกำเนิดควบคู่มากับการสร้างอาณาจักรไทยนับตั้งแต่กรุงสุโขทัยเป็นราชธานี กองทัพไทยในสมัยเดิมนั้นมีเพียงทหารเหล่าเดียวมิได้แบ่งแยกออกเป็นกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ อย่างเช่นในสมัยปัจจุบัน หากยาตราทัพไปทางบกก็เรียกว่า ทัพบก หากยาตราทัพไปทางเรือก็เรียกว่า ทัพเรือ การจัดระเบียบการปกครองบังคับบัญชากองทัพไทยในยามปกติยังไม่มีแบบแผนที่แน่นอน ในยามศึกสงครามได้ใช้ทหารทัพบกและทัพเรือรวม ๆ กันไป ในการ ยาตราทัพเพื่อทำศึกสงครามภายในอาณาจักรหรือนอกอาณาจักร ก็มีความจำเป็นต้องใช้เรือเป็นพาหนะในการลำเลียงทหารและเครื่องศัสตราวุธ 

เรือนอกจากจะสามารถลำเลียงเสบียงอาหารได้คราวละมาก ๆ แล้ว ยังสามารถลำเลียงอาวุธหนัก เช่น ปืนใหญ่ ไปได้สะดวกและรวดเร็วกว่าทางบกด้วย จึงนิยมยกทัพไปทางเรือจนสุดทางน้ำแล้วจึงยกทัพต่อไปทางบก กิจการทหารเรือดำเนินไปเช่นนี้จนถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

พ.ศ. 2394 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กิจการทหารเรือเริ่มแบ่งออกมาชัดเจน และแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ทหารเรือวังหน้า ขึ้นตรงกับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กับทหารเรือวังหลวง หรือทหารมะรีนสำหรับเรือรบ ขึ้นตรงกับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) สมุหพระกลาโหม โดยทหารเรือวังหน้ามีหน่วยขึ้นในสังกัด คือ กรมเรือกลไฟ กรมอาสาจาม และกองทะเล (บางทีเรียกว่ากองกะลาสี) ส่วนกรมอรสุมพลมีหน่วยขึ้นในสังกัด คือ กรมเรือกลไฟ กรมอาสามอญ และกรมอาสาจาม ซึ่งทหารทั้งสองหน่วยนี้เป็นอิสระจากกัน

พ.ศ. 2408 ในสมัยต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การปกครองประเทศยังเป็นระบบจตุสดมภ์อยู่โดยมีกรมพระกลาโหมว่าการฝ่ายทหาร ในขณะนั้นกิจการฝ่ายทหารเรือแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ทหารเรือวังหน้า หรือทหารเรือฝ่ายพระราชวังบวร ขึ้นตรงกับกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ) และทหารเรือวังหลวง หรือกรมอรสุมพล ขึ้นตรงกับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ และต่อมาในปี พ.ศ. 2412 ขึ้นตรงกับเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ สมุหพระกลาโหม

พ.ศ. 2435 ได้มีการจัดระเบียบการปกครองแผ่นดินใหม่ และยกเลิกการปกครองแบบจตุสดมภ์ กำหนดให้มีกระทรวงในราชการ โดยกระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่ปกครองบรรดาหัวเมืองต่างๆ ทั่วพระราชอาณาจักร เป็นผลให้กระทรวงกลาโหม ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับการปกครองทางหัวเมือง คงมีหน้าที่เกี่ยวกับราชการทหารอย่างเดียว จึงได้โอนกรมทหารเรือมาขึ้นกับกระทรวงกลาโหม

11 ธันวาคม พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนฐานะกรมทหารเรือเป็นกระทรวงทหารเรือ และในวันเดียวกันนั้นก็ได้ประกาศแต่งตั้งจอมพลเรือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ

8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2474 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมกระทรวงทหารเรือกับกระทรวงทหารบกเป็นกระทรวงเดียวกัน ภายใต้นามกระทรวงกลาโหม เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก เป็นผลทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบกระเทือนดังกล่าวนี้ด้วย ทำให้ฐานะทางการเงินและเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในภาวะตกต่ำ จำเป็นต้องพิจารณาตัดทอนรายจ่ายของประเทศให้น้อยลงให้สมดุลกับรายได้ เป็นผลทำให้มีการปรับปรุงการจัดระเบียบราชการใหม่ด้วย 

พ.ศ. 2475 มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองประเทศ กองทัพเรือถูกลดฐานะเป็นเพียงกรมทหารเรือเช่นเดิม กรมต่างๆ ของทหารเรือลดฐานะมาเป็นกองทั้งหมด เว้นแต่กรมเสนาธิการทหารเรือเท่านั้น นอกจากนั้นส่วนราชการของทหารเรือบางส่วนซึ่งได้เอาไปรวมกับฝ่ายทหารบกก็กลับมาสังกัดอยู่ในกรมทหารเรือตามเดิม

30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อกรมทหารเรือเป็นกองทัพเรือ ให้เป็นการสอดคล้องกับการเรียกชื่อส่วนรวมของทหารบกว่ากองทัพบก และขึ้นตรงต่อกระทรวงกลาโหม

‘สุริยะ’ ไฟเขียว ‘ทางด่วน-มอเตอร์เวย์’ วิ่งฟรี 7 วัน อำนวยความสะดวก ปชช. ตั้งแต่ 28 ธ.ค. - 3 ม.ค.67

(28 พ.ย. 66) ที่กระทรวงคมนาคม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุม เรื่องแนวทางการเตรียมความพร้อมการดำเนินการตามแผนอำนวยความสะดวก และความปลอดภัยรองรับการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2567 โดยมีผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ เข้าร่วม ว่า ในวันที่ 6 ธันวาคมนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมคณะเตรียมลงพื้นที่โครงการมอเตอร์เวย์หมายเลข 6 เส้นทางปากช่อง-สีคิ้ว-ขามทะเลสอ ตรวจสอบความเรียบร้อยเรื่องความปลอดภัย และเรื่องการติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้ครบถ้วน ก่อนเปิดให้บริการในช่วงปีใหม่ 2567 รวมถึงจะมีการพิจารณาเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการต่อไป

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการมอบของขวัญปีใหม่ 2567 แก่พี่น้องประชาชน จึงได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมร่วมกันให้บริการพิเศษแก่พี่น้องประชาชน ประกอบด้วย ยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมมอเตอร์เวย์ 2 เส้นทาง ได้แก่ มอเตอร์เวย์หมายเลข 7 (กรุงเทพฯ-เมืองพัทยา) และมอเตอร์เวย์หมายเลข 9 (สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ถนนกาญจนาภิเษก ตอนบางปะอิน-บางพลี และตอนพระประแดง-บางแค ช่วงพระประแดง-ต่างระดับบางขุนเทียน) โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2566 เวลา 00.01 น. ถึงวันที่ 3 มกราคม 2567 เวลา 24.00 น. เป็นเวลา 7 วัน

การยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษบูรพาวิถี และทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2566 เวลา 00.01 น. ถึงวันที่ 3 มกราคม 2567 เวลา 24.00 น. เป็นเวลา 7 วัน 

การยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษเฉลิมมหานคร ทางพิเศษศรีรัช และทางพิเศษอุดรรัถยา โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2566 เวลา 00.01 น. ถึงวันที่ 1 มกราคม 2567 เวลา 24.00 น. เป็นเวลา 2 วัน

การเปิดใช้มอเตอร์เวย์หมายเลข 6 จาก ปากช่อง-เลี่ยงเมืองนครราชสีมา เปิดให้บริการ 4 ช่องจราจร (ไป-กลับ) ระยะทาง 77.493 กิโลเมตร เฉพาะรถยนต์ 4 ล้อเท่านั้น และมีจุดบริการห้องน้ำ 1 จุด คือ ช่วงปากช่อง-สีคิ้ว กม. ที่ 147 ทั้งทิศทางขาเข้าและขาออก การเปิดให้ทดลองวิ่งฟรีบนมอเตอร์เวย์หมายเลข 81 (บางใหญ่-กาญจนบุรี) ช่วงด่านนครปฐมฝั่งตะวันตก-ด่านกาญจนบุรี ระยะทาง 50 กิโลเมตร

“ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ที่จะถึงนี้ผมขอให้พี่น้องคนไทยมีความสุข เดินทางด้วยความระมัดระวัง และมีความปลอดภัย โดยกระทรวงคมนาคมพร้อมที่จะอำนวยความสะดวก และดูแลประชาชนในทุกมิติ ตามนโยบายคมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน” นายสุริยะ กล่าว

‘กู้ภัยอินเดีย’ ช่วย ‘41 คนงาน’ สำเร็จ!! หลังติดในอุโมงค์ถล่มมานาน 17 วัน

(29 พ.ย.66) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เจ้าหน้าที่กู้ภัยอินเดียช่วยเหลือคนงาน 41 คน ที่ติดอยู่ในอุโมงค์ถนนทางตอนเหนือของประเทศ ที่พังถล่มลงมาเมื่อ 17 วันก่อน ได้ครบทั้งหมดแล้ว

โดยเมื่อวานนี้ (28 พ.ย.) เจ้าหน้าที่กู้ภัยอินเดียสามารถช่วยเหลือคนงานก่อสร้าง 41 คน ที่ติดอยู่ในอุโมงค์ที่พังถล่มในรัฐอุตตราขัณฑ์ แถบเทือกเขาหิมาลัย ภาคเหนือของอินเดีย ตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ออกมาได้ทั้งหมดแล้ว ไม่กี่ชั่วโมงหลังสามารถขุดเจาะทะลุเศษหิน ดินและคอนกรีต จนถึงตัวคนงาน

หลังได้รับการช่วยเหลือจากอุโมงค์ คนงานหลายคนที่สวมแจ็กเก็ตกันหนาวสีเข้มและหมวกนิรภัยสีเหลือง ล้วนได้รับการต้อนรับในสไตล์อินเดีย ด้วยพวงมาลัยดอกดาวเรือง โดยมุขมนตรีแห่งรัฐอุตตราขัณฑ์ และรัฐมนตรีช่วยกระทรวงทางหลวงของรัฐบาลกลาง

การอพยพกลุ่มคนงานเริ่มต้นขึ้นหลังจากเจ้าหน้าที่กู้ภัยเจาะท่อเข้าไปในอุโมงค์สำเร็จ แล้วใช้เปลติดล้อเลื่อนดึงคนงานก่อสร้างทั้ง 41 คน ผ่านท่อเหล็กความกว้าง 90 เซนติเมตร กระบวนการทั้งหมดเสร็จสิ้นภายใน 1 ชั่วโมง จากนั้นรถพยาบาลฉุกเฉินนำตัวคนงานจากสถานที่เกิดเหตุมายังโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้เคียงในเมืองชินยาลีซอร์ มุขมนตรีรัฐอุตตราขัณฑ์ แถลงว่า คนงานทั้งหมดจะยังคงพักอยู่ในโรงพยาบาล เพื่อตรวจร่างกายและให้อยู่ในความดูแลของแพทย์

'วีระศักดิ์' เปิดความประทับใจ 'บุคคลในโลกมืด' ใต้การดูแล 'สุดละเอียดอ่อน' 'ทุกสัมผัส-คำอธิบาย' จากใจ ช่วยเติมไฟให้ท่องเที่ยวเชิงไทยทรงคุณค่า

(29 พ.ย. 66) นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา, อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, อดีตเลขาธิการมูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย ได้โพสต์เนื้อหาผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในหัวข้อ 'โลกที่คนตาดี ยังมองไม่เห็น' (ตอนที่ 2) ระบุว่า...

เมื่อผมและคุณกฤษณะ ละไลไปกันถึงอาคารผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศ

เราได้ให้การต้อนรับ Miss Martine Williamson สตรีตาบอดทั้งสองข้างอย่างสนิท ชาวนิวซีแลนด์ เธอเป็นประธานสหภาพคนตาบอดโลก มีประสบการณ์เดินทางไปครบทุกทวีปทั่วโลก เพื่อขึ้นกล่าวปาฐกถาเกี่ยวกับการกระตุ้นให้กำลังใจแก่ประชาคมต่าง ๆ ในการทำกิจกรรมร่วมกับคนตาบอด

วันนี้ Miss Martine เดินทางมากล่าวปาฐกถาในการประชุมสหภาพคนตาบอดโลกภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกที่ภูเก็ต เธอออกบินจาก นิวซีแลนด์บ้านเกิด โดยใช้เวลาบิน 10 ชั่วโมงครึ่งแล้วแวะเปลี่ยนเครื่องที่สิงคโปร์ จากนั้นบินต่ออีกเกือบ 2 ชั่วโ*-+มงเข้าถึงสนามบินนานาชาติภูเก็ต

เครื่องถึงสนามบินภูเก็ตช่วงเช้าตรู่ ตรงเวลากับที่ผมและ คุณกฤษณะ ละไล บินจากดอนเมืองไปถึงสนามบินภูเก็ตเช่นกัน

ปรากฏว่ากระเป๋าเดินทางใบใหญ่ของ Miss Martine ไม่ตามมาจากสิงคโปร์ แม้เธอจะไม่แสดงความกังวลออกมามากนัก แต่เราก็สัมผัสได้ว่าเธอต้องไม่สบายใจแน่นอน สอบถามแล้ว ในกระเป๋าที่พลัดหลงไปนั้นมีทั้งเสื้อผ้าและยาประจำตัวที่เธอจำเป็นต้องใช้ทุกวัน

เราจึงขอรบกวนให้ทีมเจ้าหน้าที่ของ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) ที่มาทำหน้าที่ฝ่ายต้อนรับคณะเดินทางของคนตาบอดจากนานาประเทศที่สนามบินภูเก็ต ให้ช่วยติดตามกระเป๋าของ Miss Martine จากสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ให้

***(ได้ทราบต่อมาว่ากระเป๋าเดินทางของเธอถูกพบว่ายังตกค้างอยู่ที่สนามบินสิงคโปร์ และสายการบินรับว่าจะรีบส่งขึ้นเครื่องบินลำถัดไปที่จะออกจากสิงคโปร์มาที่ภูเก็ต คาดว่ากระเป๋าควรจะมาถึงที่สนามบินภูเก็ตในช่วงเย็นวันเดียวกัน)

***(ในเวลาที่ผมเขียนต้นฉบับชิ้นนี้ กระเป๋าเดินทางถูกนำส่งไปถึงห้องพักของ Martine เรียบร้อย)

ด้วยเหตุนี้ ผมและคุณกฤษณะจึงตัดสินใจขึ้นรถตู้ที่จะนำ Miss Martine จากสนามบินภูเก็ตไปส่งยังโรงแรมที่พักเพื่อจะได้ดูแลเป็นเพื่อนเธอไปด้วย

การนั่งรถตู้จากสนามบินภูเก็ตไปยังโรงแรมดวงจิตรีสอร์ท ย่านหาดป่าตอง สถานที่จัดการประชุมสหภาพคนตาบอดโลก เอเชียแปซิฟิก ยังไง ๆ ก็ต้องใช้เวลาเดินทางด้วยรถยนต์นานราวหนึ่งชั่วโมงเศษ

ฝนตกเบา ๆ และตกยาว ๆ ทำเอารถติดตลอดทาง การจราจรเคลื่อนตัวช้า ทำให้เรามีโอกาสสอบถาม Miss Martine ว่าในการเดินทางของเธอไปประเทศต่าง ๆ นั้นอะไรคือ บริการการท่องเที่ยวที่เธออยากได้รับมากที่สุด

เธอตอบอย่างชัดเจนว่า สำคัญที่สุดคือ มิตรภาพและความมีไมตรีของคนในพื้นที่

ส่วนในแง่การบริการนั้น เธออยากได้ความปลอดภัยในการเดินเที่ยวในละแวกรอบ ๆ ที่พักแรม อยากใช้ประสาทสัมผัสต่าง ๆ รับประสบการณ์ที่มีเสน่ห์ของเมืองนั้นๆ สิ่งที่จะช่วยได้มาก คือ การมีไกด์หรือเครื่องอุปกรณ์เช่นหูฟังอิเล็กทรอนิกส์ที่จะบอกเล่าให้ทราบถึงสิ่งที่อยู่ตรงหน้า เช่น การไปเยี่ยมพิพิธภัณฑ์ การไปหอแสดงนิทรรศการ เธออยากรับรู้สิ่งรอบตัว และเมืองรอบข้าง เธอบอกว่าอย่างที่ผมกำลังสื่อสารอยู่กับเธอนี่แหละ...

ที่เธออยากได้รับ เนื่องจากในการพาเธอนั่งรถผ่านสวนยาง ผ่านย่านการค้า ผ่านอนุสาวรีย์ ผ่านทุ่งโล่ง ผ่านสถานศึกษา ผมก็จะสาธยายให้ข้อมูลเธอไปเรื่อย ๆ ทำให้เธอสามารถหลับตาจินตนาการตามได้เป็นระบบ

ผมใช้นิ้วชี้ของผมลองเขียนแผนที่ประเทศไทยลงบนฝ่ามือของเธอเพื่ออธิบายว่าภูเก็ตอยู่ตรงไหนของประเทศไทย วาดรูปแผนที่ขวานทอง และประเทศเพื่อนบ้านของไทยในแต่ละทิศ ลักษณะอาหารการกินและภูมิประเทศโดยง่าย ๆ ของแต่ละภาคของไทย

เหล่านี้ช่วยทำให้เธอมีความสุขกับการรับรู้ข้อมูลผ่านการสัมผัสและการลากเส้นสมมุติบนฝ่ามือของเธอ

เธอกล่าวขอบคุณอย่างพึงพอใจ ซักถามอะไรต่อไปอีกหลาย ๆ อย่างด้วยความตื่นตาตื่นใจ

ในการช่วยพยุงเธอเดินขึ้นลงรถตู้ ผมสังเกตได้ว่าขาเธอไม่มีแรง เธออธิบายว่าเธอเพิ่งประสบอุบัติเหตุหกล้มในบ้านเธอที่นิวซีแลนด์ ทำให้เธอเดินไม่ถนัด เข้าใจว่าคงมีอาการเส้นพลิกที่ส่วนใดส่วนหนึ่ง

ดีที่ผมยังพอจะมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรง จึงสามารถให้เธอถ่ายน้ำหนักมาใส่ที่แขนของผมได้เต็มที่ งานนี้ยิ่งทำให้เราตระหนักว่า ทางลาดมีประโยชน์และปลอดภัย ใช้สะดวกกว่าบันได การมีราวจับที่มั่นคงแข็งแรงจะช่วยให้ผู้ใช้งานสะดวกกว่า ปลอดภัยกว่า

เธอก้าวเดินด้วยความยากลำบาก ยิ่งถ้าเจอบันไดหลายขั้น ธรณีประตู พื้นเปลี่ยนระดับบ่อย ๆ ผมต้องพากษ์ให้เธอรู้ล่วงหน้าแทบทุกสองก้าว เพื่อให้เธอขยับแข้งขาให้สอดรับกับสภาพพื้นที่

คุณกฤษณะเห็นว่ารถติด และขณะนั้นเกือบเที่ยงวันแล้ว คุณกฤษณะจึงขอเชิญชวนให้เราแวะหยุดรถทานกลางวันก่อนจะฝ่าการจราจรจากด้านเหนือของเกาะภูเก็ตซึ่งเป็นย่านที่ตั้งของสนามบิน ไปสู่โรงแรมที่พักย่านตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะ ซึ่งต้องแล่นรถอ้อมเกาะ ผ่านภูเขาที่เส้นทางคดเคี้ยว น่าจะต้องใช้เวลาอีกนานพอควร เกรงเธอจะหิวข้าวเสียก่อน เพราะเมื่อเทียบกับเวลาที่นิวซีแลนด์แล้ว เท่ากับประมาณใกล้ทุ่มนึงของเธอแล้ว

เธอพยักหน้ารับไมตรี

เราจึงพาเธอแวะทานอาหารแบบติ่มซำภูเก็ต แม้เธอมองไม่เห็นอาหาร แต่เธอก็สามารถตักและจับอาหารรับประทานได้อย่างราบรื่น แสดงว่าเธอจดจำระยะของจาน แก้วน้ำ และกระดาษเช็ดปากที่เราจัดวางไม่ห่างจากตัวเธอ และพามือของเธอให้ไปแตะทุกอย่าง ๆ ละหนึ่งครั้งก่อนเริ่มทานอาหารเที่ยงด้วยกัน เธอทานไม่มากนักก็หยุด ปกติเธอจะทานไม่มากนัก แต่ออกปากชมว่าอาหารมีรสชาติดี อร่อย ถูกปาก

ผมอนุมานว่าเธอออกเดินทางจากบ้านที่นิวซีแลนด์มาตั้งแต่เกือบ 21 ชั่วโมง มาแล้ว เชื่อว่าน่าจะอ่อนเพลียพอควร คงอยากพักผ่อนมากกว่าสิ่งใดละ

คุณกฤษณะและคณะแยกตัวไปถ่ายทำรายการที่จุดอื่น ๆ ผมกับคุณมน ผู้ช่วยคนตาบอดประจำ สว.มณเทียร บุญตัน จึงพาเธอขึ้นรถมุ่งไปยังที่พักโรงแรมกันต่อ

กว่าจะได้กุญแจห้อง พาเปลี่ยนเป็นรถกอล์ฟไฟฟ้าของโรงแรม พาขึ้นลงอาคารหลักที่ล็อบบี้โรงแรมจนไปถึงบันไดขั้นสุดท้ายก่อนไขกุญแจประตูเข้าห้องก็ล่วงไปอีกเกือบ 30 นาที

แต่เมื่อเราส่งเธอเข้าถึงห้องนอนในโรงแรมที่พักแล้ว ผมไม่ลืมที่จะถามเธอว่า เธอจะประสงค์ให้พาเธอเดินคลำทุกฝาผนังของห้องพักหรือไม่ เธอบอกทันทีว่า เป็นคำถามที่ดีมาก เพราะนั่นจะช่วยให้เธอจดจำได้ ว่าห้องนอนมีรูปร่างอย่างไร อะไรอยู่ทิศทางไหนจากทางเข้าและเตียงนอน พาเธอเดินไปเหยียบให้ถึงส่วนของห้องน้ำ ที่ยืนอาบน้ำ สัมผัสให้รู้ตำแหน่งชักโครก แตะคันโยกเปิดปิดฝักบัวน้ำอุ่น แตะอ่างล้างมือ และย้ายผ้าเช็ดตัว ให้มาวางกองบนเตียงนอน

เธอต้องการจะพยายามจดจำว่ามีพื้นเปลี่ยนระดับภายในห้องนอนอยู่จุดไหนบ้างมือจับประตูทางเข้าออกอยู่ตรงไหน ล็อคอย่างไร และสอบถามเธอว่าต้องการให้ตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศที่กี่องศา และเธอขอทราบที่เสียบแผ่นพลาสติกแข็งหรือกุญแจห้องเพื่อทำให้ระบบไฟฟ้าต่างๆของห้องทำงาน ว่าติดอยู่ที่ตำแหน่งใดจากบานประตูเข้าห้อง

ละเอียดอ่อนใช่มั้ยครับ?

หมดเวลาไปกว่า 15 นาทีเพื่อการพาให้คลำทำความรู้จักห้อง

เราอาจไม่ต้องทำอย่างนี้บริการคนตาบอดทุกคนที่เดินทางมา ถ้าเค้ายังแข็งแรง กระเป๋าเดินทางไม่หาย หรือมีเพื่อนร่วมเดินทางไว้สนทนาปลอบโยน ให้กำลังใจกันและกันในยามไม่สบายตัว

แต่ผมเลือกทำในระดับเกินมาตรฐาน เพราะเห็นแล้วว่าเธอน่าจะกำลังไม่สู้จะสบายตัวและไม่สู้จะสบายใจ

สิ่งใดที่เราพอเข้าใจได้ ลองเอ่ยปากถามว่าอยากให้เราช่วยพาทำอย่างนั้นอย่างนี้ไหม ถ้าเธอบอกว่าอยากได้ เราก็เพียงแต่ต้อง 'ทำเป็น'

ถ้าทำไม่เป็น ย่อมไม่ทันนึกถาม เมื่อไม่ทันนึกถาม เราก็คงส่งเธอถึงห้องพักแบบบังกาโล ไร้กระเป๋าที่จะผลัดผ้า ไร้หยูกยา ไร้ ชุดนอน ไร้ครีมทา ไร้กรรไกรตัดเล็บ หรืออะไร ๆ ที่ปกติมีใช้ในฐานะข้าวของประจำติดตัวติดกระเป๋า

ถ้าเราทำจนแน่ใจว่าเมื่อปิดประตูแยกย้ายกันไปแล้ว เธอจะอยู่เองตามลำพัง ทำกิจส่วนตัวได้

และในวันถัดมาเห็นเธอขึ้นกล่าวต้อนรับมวลสมาชิกและนั่งเคียงข้างรัฐมนตรีพัฒนาสังคมฯ ของไทยด้วยชุดเสื้อผ้าของเธอ ใบหน้าสดใส เราก็สบายใจ

สิ่งเหล่านี้นี่แหละครับ คือปัจจัยและความเข้าถึงใจที่สำคัญยิ่ง

ทักษะความละเอียดอย่างนี้ ผมเองก็ได้รับถ่ายทอดมาจากมัคคุเทศก์ไทย คุณนัตตี้ นิธิ สืบพงษ์สังข์ ว่าเวลาที่คุณนัตตี้พานักท่องเที่ยวยุโรปที่ตาบอดเดินทางเป็นคณะนับ 10 คนไปเที่ยวทั่วไทยนั้น คุณนัตตี้ต้องจัดผู้ช่วยไกด์ฝ่ายไทยมาประกบพาแขกฝรั่งเช็คอินเข้าแต่ละโรงแรมในแต่ละจังหวัดในอัตรา ผู้ช่วยหนึ่งคนประกบแขกนักท่องเที่ยวตาบอด 2 คน

ไม่งั้นถ้าจัดลูกทีมมาน้อยไป แปลว่าแขกจะต้องนั่งคอยจนกว่าจะถึงคิวของตัวในการพาสำรวจทำความรู้จักห้อง

ในบ่ายนั้น ผมออกมาเดินสำรวจดูกิจกรรมที่เจ้าของงานเตรียมสำหรับคนตาบอดนานาชาติที่มาถึงได้มีกิจกรรมทำไปพลาง ก่อนการประชุมในวันรุ่งขึ้น

มีการแสดงผลงานและสิ่งประดิษฐ์ที่คนพิการทำขึ้น งานเครื่องมืออ่านและผลิตอักษรหรือภาพนูนต่ำที่สามารถให้คนตาบอดลูบจับ สัมผัสใช้ เครื่องแลปท้อปของคนตาบอด แทบเลตคนตาบอด มีกิจกรรมให้คนตาบอดร้อยลูกปัด พันผ้าหุ้มสายหิ้วกระเป๋าถือ มีจำหน่ายเสื้อผ้าท้องถิ่นภาคใต้ อาหาร ขนมจากกลุ่มท่องเที่ยวชุมชน โดยมีทีมอาสาสมัครวัยเยาว์จากโรงเรียนนานาชาติที่กรุงเทพบินตามเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกแก่คนตาบอดนานาชาติ

และแน่นอน มีน้องแอนนี่ นางฟ้ากู่เจิ้งตาบอดชาวภูเก็ตมาเล่นดนตรีให้ฟังในวันประชุม ชุมชนเมืองเก่าภูเก็ตสนับสนุนและดูแลน้องแอนนี่เป็นอย่างดี

นับเป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์ มีประโยชน์อย่างดี เป็นบรรยากาศที่น่ารัก

สำหรับการทำนโยบายการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพสำหรับประเทศไทยนั้น

การได้แขกกระเป๋าหนักและดูแลง่ายๆ นั้น ใครๆ ก็ปรารถนา

แต่แขกที่มีกำลังจ่ายนั้น ก็ย่อมคาดหวังความเป็นมืออาชีพของเราที่สูงขึ้น รอบรู้ และลุ่มลึก สามารถให้ประสบการณ์ที่เขาไว้วางใจ

ความสามารถในการรับนักเดินทางต่างชาติที่ตาบอด คาดน่าจะเป็นความท้าทายที่สุดอย่างหนึ่งของระบบการท่องเที่ยวเดินทาง ถ้าไม่นับการขนย้ายผู้ป่วยเข้ามารับรักษานะครับ

ถ้าเราสามารถพัฒนาบุคลากรประจำเมือง ประจำพื้นที่ให้ดูแลแขกต่างชาติและคนไทยที่มีความเป็นพิเศษได้เป็น สถาปนิกวิศวกรท้องถิ่นก็ออกแบบห้องพัก โรงแรม ทางเดินเข้าออกสนามบิน อาคารสาธารณะ ฟุตบาททางเท้า ห้องน้ำ ลานจอดรถ ที่คำนึงถึงผู้พิการจากต่างภาษาได้ เราก็จะสามารถมั่นใจได้ว่า เราย่อมพร้อมรับใครๆ ก็ได้ ไม่ว่าจะคนไทยและคนต่างชาติจากต่างภาษา ต่างวัฒนธรรมจากทั่วโลก

ทางลาด ห้องน้ำ ราวจับ ทางข้ามถนน ป้ายสัญลักษณ์และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่ดี จะทำให้ทุกคนใช้งานสะดวกและปลอดภัย ไม่ว่าจะเด็ก ผู้สูงอายุ คนท้อง รถเข็นทารก คนที่ลากกระเป๋าเดินทางใบใหญ่ นักกีฬาใส่เฝือก

ทำแล้วแม้ยังไม่มีแขกต่างชาติมาใช้ แต่ก็คนไทยเราเองนั่นแหละ ได้ประโยชน์

ที่เหลือก็คงเป็นเรื่องผู้จัดบริการ การใส่ใจ อธิบาย ให้ความอบอุ่น ให้ความมั่นใจ ให้ความปลอดภัย ให้ความสะอาดถูกหลักอนามัย และเสน่ห์จากวัฒนธรรมต่างๆ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ของไทย ให้กันและกัน

เท่านั้นเอง

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์

สมาชิกวุฒิสภา

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

อดีตเลขาธิการมูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย

ระบบรางไทยร้อนแรง!! ลอยกระทงวันเดียว โกยผู้โดยสารทะลุ 1.9 ล้านคน

‘กรมรางเผย’ วันลอยกระทง 66 ผู้โดยสารทะลุ 1.9 ล้านคน-เที่ยว ยอดใช้บริการเพิ่มจากลอยกระทงปีก่อน 29.62 % เปิด 2 สายน้องใหม่ “เหลือง-ชมพู”เพิ่มโครงข่ายเดินทาง ส่วน MRT สีม่วง ทุบสถิติต่อเนื่อง เกิน 8.2 หมื่นคน-เที่ยว เพิ่มขึ้น 73%

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งเป็นวันลอยกระทง พบว่ามีประชาชนใช้บริการระบบราง รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,900,664 คน-เที่ยว มากกว่าวันลอยกระทงปี 2565 ที่ผ่านมา จำนวน 434,307 คน-เที่ยว หรือ 29.62% โดยลอยกระทงปี 2565 (8 พ.ย. 65) มีผู้ใช้บริการระบบรางภาพรวม จำนวน 1,466,357 คน-เที่ยว ลอยกระทงปี 2564 (19 พ.ย.64) จำนวน 808,736 คน-เที่ยว และลอยกระทงปี 2563 (31 ต.ค.63) จำนวน 877,451 คน-เที่ยว) 

สำหรับลอยกระทง ปี 2566 จำนวน 1,900,664 คน-เที่ยว แบ่งเป็น รถไฟระหว่างเมืองของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จำนวน 67,561 คน-เที่ยว และรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (รวมรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง) จำนวน 1,833,103 คน-เที่ยว โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1.รถไฟระหว่างเมือง รฟท. ให้บริการรวม 213 ขบวน มีผู้ใช้บริการจำนวน 67,561 คน-เที่ยว มากกว่าวันลอยกระทงปี 2565 จำนวน 7,373 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 12.25% (ลอยกระทงปี 2565 (8 พ.ย.65) จำนวน 60,188 คน-เที่ยว ลอยกระทงปี 2564 (19 พ.ย.64) จำนวน 27,483 คน-เที่ยว และลอยกระทงปี 2563 (31 ต.ค.63) จำนวน 59,505 คน-เที่ยว) แบ่งเป็น ผู้โดยสารเชิงพาณิชย์ 21,015 คน-เที่ยว และเชิงสังคม 46,546 คน-เที่ยว

2.ระบบรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ให้บริการรวม 3,248 เที่ยววิ่ง (รวมรถเสริม 36 เที่ยววิ่ง) มีผู้ใช้บริการรวมจำนวน 1,833,103 คน-เที่ยว มากกว่าวันลอยกระทงปี 2565 จำนวน 426,934 คน-เที่ยว หรือมากกว่า 30.36% (ลอยกระทงปี 2565 (8 พ.ย.65) จำนวน 1,406,169 คน-เที่ยว ลอยกระทงปี 2564 (19 พ.ย.64) จำนวน 781,253 คน-เที่ยว และลอยกระทงปี 2563 (31 ต.ค.63) จำนวน 817,946 คน-เที่ยว) โดยผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้าได้เพิ่มความถี่ในชั่วโมงเร่งด่วน และเพิ่มขบวนรถเสริม ประกอบด้วย

>>รถไฟฟ้า Airport Rail Link ให้บริการ 221 เที่ยววิ่ง (รวมเสริม 6 เที่ยววิ่ง) จำนวน 74,005 คน-เที่ยว มากกว่าวันลอยกระทงปี 2565 จำนวน 8,651 คนเที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 13.24% (ลอยกระทงปี 65 จำนวน 65,354 คน-เที่ยว)

>>รถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) ให้บริการ 294 เที่ยววิ่ง จำนวน 33,819 เที่ยว-วิ่ง (รวมผู้โดยสารรถไฟทางไกลต่อสายสีแดงฟรี 225 คน-เที่ยว) มากกว่าวันลอยกระทงปี 2565 จำนวน 14,284 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 73.12% (ลอยกระทงปี 65 จำนวน 19,535 คน-เที่ยว) สีม่วง ทุบสถิติต่อเนื่อง ผู้โดยสารพุ่ง 8.2 หมื่นคน-เที่ยว

>>รถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สีม่วง) ให้บริการ 319 เที่ยววิ่ง (รวมเสริม 3 เที่ยววิ่ง) จำนวน 82,358 คน-เที่ยว (นิวไฮ) สูงสุดตั้งแต่มีสถานการณ์ covid-19 มากกว่าวันลอยกระทงปี 2565 จำนวน 34,991 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 73.87% (ลอยกระทงปี 65 จำนวน 47,367 คน-เที่ยว)

>>รถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล (สีน้ำเงิน) ให้บริการ 487 เที่ยววิ่ง (รวมเสริม 27 เที่ยววิ่ง) จำนวน 510,288 คน-เที่ยว มากกว่าวันลอยกระทงปี 2565 จำนวน 131,538 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 34.73 % (ลอยกระทงปี 65 จำนวน 378,750 คน-เที่ยว)

>>รถไฟฟ้าบีทีเอสสายสุขุมวิทและสายสีลม (สีเขียว) ให้บริการรวม 1,264 เที่ยววิ่ง จำนวน 981,658 คน-เที่ยว มากกว่าวันลอยกระทงปี 2565 จำนวน 102,897 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 11.71% (ลอยกระทงปี 65 จำนวน 878,761 คน-เที่ยว)

>>รถไฟฟ้าสายสีทอง ให้บริการ 219 เที่ยววิ่ง จำนวน 17,182 คน-เที่ยว มากกว่าวันลอยกระทงปี 2565 จำนวน 780 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 4.76% (ลอยกระทงปี 65 จำนวน 16,402 คน-เที่ยว)

โดยวันลอยกระทงปีนี้มีรถไฟฟ้าให้บริการเพิ่มมา 2 เส้นทาง รวม 444 เที่ยววิ่ง จำนวน 133,793 คน-เที่ยว คือ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ให้บริการ 276 เที่ยววิ่ง จำนวน 40,198 คน-เที่ยว (ลอยกระทงปี 65 ยังไม่เปิดให้บริการ) และ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ให้บริการ 168 เที่ยววิ่ง จำนวน 93,595 คน-เที่ยว (ลอยกระทงปี 65 ยังไม่เปิดให้บริการ) 

นายพิเชฐ กล่าวว่า เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ขร. ได้มีการประชุมร่วมกับผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับการเดินทางของประชาชนที่จะไปลอยกระทงในช่วงเย็นถึงค่ำ โดยได้เน้นย้ำผู้ให้บริการระบบรางบริหารจัดการผู้โดยสารบนสถานีรถไฟฟ้า (Crowd Control) และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบเส้นทางการเข้าสู่สถานี รวมทั้งเพิ่มความถี่ จัดขบวนรถเสริม และจัดเจ้าหน้าที่เพิ่มเติม เพื่อดูแลอำนวยความสะดวกและเพื่อความปลอดภัยแก่ผู้ใช้บริการระบบรางด้วยแล้ว โดยพบว่า เมื่อวานไม่มีเหตุอันตรายต่อผู้ใช้บริการระบบรางแต่อย่างใด ทั้งนี้ จากข้อมูลข้างต้น พบว่า มีผู้ใช้บริการระบบรางภาพรวมและรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลสูงสุด (นิวไฮ) ตั้งแต่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19)

โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) มีผู้ใช้บริการจำนวน 82,358 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้น 73.87% ส่วนรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) มีผู้ใช้บริการจำนวน 33,819 เที่ยว-วิ่ง (รวมผู้โดยสารรถไฟทางไกลต่อสายสีแดงฟรี 225 คน-เที่ยว) เพิ่มขึ้น 73.12% เมื่อเทียบกับวันลอยกระทงปี 2565 ที่ผ่านมา เนื่องจากปีนี้มีเส้นทางรถไฟฟ้าให้บริการที่ครอบคลุมมากขึ้น ทำให้การเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้ามีการเชื่อมต่อที่สะดวกขึ้น (interchange) และมีราคาจูงใจด้วยค่าโดยสารสายสีม่วงและสายสีแดง ราคาสูงสุด 20 บาท

อย่างไรก็ดี ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป ผู้โดยสารที่เดินทางเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และรถไฟฟ้าชานเมือง สายนครวิถี (สายสีแดง) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะได้รับสิทธิชำระค่าโดยสารร่วมสองสายจ่ายสูงสุดไม่เกิน 20 บาทเท่านั้น เมื่อใช้บัตรโดยสาร EMV Contactless ใบเดียวกัน และเปลี่ยนถ่ายระบบ ณ สถานีบางซ่อน ภายในระยะเวลา 30 นาที

Dog's Story EP.1

แก้เยอะเกิน เริ่มงงก๊าบ ... ปิ๊โธ่!!!

***สงวนลิขสิทธิ์ภาพดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียนแบบ ดัดแปลง หรือนำส่วนใดส่วนหนึ่งไปใช้ แต่อนุญาตให้นำไปเผยแพร่ต่อได้ ตามต้นฉบับนี้ โดยไม่ต้องขออนุญาต
 

'เพจประวัติศาสตรพลัส' แชร์!! 'ไกด์พม่า' เผยเหตุผลที่อังกฤษขุดคลองให้ในอดีต เพื่อผลประโยชน์และทรัพย์สมบัติชาติที่วันนี้ยังตกค้างในลอนดอน

(29 พ.ย. 66) จากเพจ 'ประวัติศาสตร์พลัส' โพสต์ข้อความถึงเหตุผลที่ในอดีตอังกฤษขุดคลองให้พม่า ระบุว่า...

ไปพม่าคราวนี้ ผมได้สนทนากับไกด์ท้องถิ่นซึ่งเป็นคนพม่า

ไกด์พม่าบอกว่า…อังกฤษขุดคลองให้ ไม่ใช่หวังดี แต่ขุดเพื่อขนไม้สักล่องน้ำไปปากน้ำ แล้วเอาไม้สักขึ้นเรือที่อันดามัน เพื่อเอาไปขาย

ไกด์พม่าบอกว่า…อังกฤษสร้างถนนให้ ไม่ใช่หวังดี แต่เอาไว้ขนสินค้าของพม่า จะได้เอาไปขายได้สะดวก

ไกด์พม่าบอกว่า…ชุดโบราณงามวิจิตรของกษัตริย์และราชินีที่ตกทอดมา มงกุฎ สมบัติในวังต่าง ๆ พระพุทธรูป อังกฤษบอกว่าจะเอาไปดูแลให้ เอาไว้ที่พม่ากลัวคนพม่าจะทำสมบัติเหล่านี้หาย สุดท้ายสมบัติพวกนี้ก็ไปปรากฎอยู่ในพิพิธภัณฑ์ที่ลอนดอน พม่าขอคืน อังกฤษก็คืนมาเพียงบางส่วน

ไกด์พม่าบอกว่า ส่วนดีก็มี อังกฤษมาวางรากฐานการศึกษาให้ มาวางผังเมืองให้ แต่ถ้าเลือกได้ เขาขออยู่กันเอง ปกครองกันเอง ทุกอาณาจักรย่อมต้องการอิสระเสรี ไม่ต้องการตกอยู่ภายใต้การปกครองของอาณานิคมหรือ อาณาจักรอื่นที่เข้ามาแล้วเหมือนมาปล้นชาติ แล้วเหลือเนื้อติดกระดูกให้คนในชาติเอาไปแทะกิน

ไกด์พม่าบอกว่า ศักดิ์ศรีมันกินไม่ได้หรอกครับ แต่บางครั้ง…มันก็จำเป็นต้องมี เพราะคนเรามักมองไม่เห็นคุณค่าในสิ่งที่ตัวเองมี 

ฟังแล้วก็ให้รู้สึกขอบคุณบรรพบุรุษของเราเหลือเกิน ที่รักษาชาติไทย จนเป็นชาติไทยอยู่จนทุกวันนี้

ขอบพระคุณจริงๆ 🙏🇹🇭

‘เฟท’ อดีต Siamese Kittenz แชร์ประสบการณ์การออดิชั่นเป็นไอดอล ล้มกี่ครั้งไม่เคยท้อ สุดท้ายเอาความฝันมาทำธีสิส หวังเปิดโอกาสให้ผู้อื่น

(29 พ.ย.66) ‘เฟท’ ฐิตา เกษรสมบัติ อดีตสมาชิกวง Siamese Kittenz ได้ออกมาโพสต์คลิปผ่านช่อง TikTok ‘withyourfate’ แชร์ประสบการณ์ในการวิ่งตามความฝันกับอุปสรรคที่ต้องเผชิญ พร้อมเปิดตัว ‘FiNESSE Project’ ซึ่งเป็นโปรเจกต์วงไอดอลระยะสั้นสำหรับใครที่ยังไม่หยุดวิ่งตามความฝันในการเป็นไอดอลเหมือนตน ที่ได้จัดทำขึ้นมาเพื่อเป็น Senior Project คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ตนกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 โดยระบุว่า…

“สวัสดี…เมื่อ 8 ปีที่แล้วเราเคยเป็นไอดอลมาก่อน ถึงใครหลายคนจะไม่รู้จักแต่ก็ไม่เป็นไร…เราเริ่มเป็นไอดอลตอนอายุ 14 แต่ก็จบการศึกษาไปประมาณตอนอายุ 17 จากนั้นก็ได้ไปเรียนแลกเปลี่ยนที่ประเทศญี่ปุ่น แต่เราก็ยังคงชอบการเป็นไอดอลอยู่มาก ๆ เพราะอย่างนั้นถึงอยู่ที่นั่นเราก็ยังเต้นอยู่ตลอด จนกลับไทยเราก็ได้ไปออดิชั่นเพื่อทําตามความฝันอีกครั้ง ทุกอย่างก็เหมือนกำลังจะไปได้ดี แต่สุดท้ายบางสิ่งก็ได้เข้ามาทําร้ายทุกอย่างลง นั่นก็คือโควิด…แต่ถึงอย่างงั้นเราก็ไม่ได้ยอมแพ้กับความฝันของตัวเอง เรายังคงร้องเพลง เต้น คอยพัฒนาตัวเองอยู่ตลอด แค่ช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเราก็ไม่รู้ว่าเราส่งออดิชั่นไปทั้งหมดกี่ครั้งแล้ว แต่จากทั้งหมดที่ส่งไป เราไม่เคยผ่านออดิชั่นเลย…

จนตอนนี้เราเรียนอยู่ปี 4 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เราก็ยังไม่รู้เลยว่าเรียนจบแล้วจะทํายังไงดี…แถมยังมีธีสิสที่ต้องทําอีก และระหว่างที่เรากําลังกังวลเรื่องอายุที่ใกล้ถึงขีดจํากัดในการออดิชั่นแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เราก็นึกขึ้นมาได้ว่า…ถ้าเราเอาความฝันของเรา มาทำเป็นธีสิสล่ะ และนี่ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘FiNESSE Project’ ซึ่งเรากําลังตามหาอดีตไอดอลที่เคยยอมแพ้กับความฝันไปเหมือนเรา และคนที่ใฝ่ฝันอยากเป็นไอดอล เพื่อฟอร์มวงไอดอล T-POP ระยะสั้นด้วยคอนเซ็ปต์แบบ ‘FEMININE GROUP’ โดยรับสมัครตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไป หรือเรียนม.ปลายขึ้นไป แบบไม่จํากัดเพศ ซึ่งจะเปิดรับสมัครวันนี้ถึง 20 ธันวาคมนี้ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถรายละเอียดดูได้ที่ Facebook หรือ IG ตามชื่อของโปรเจกต์

ทั้งความฝันที่วาดไว้และความฝันที่เคยยอมแพ้ไป มาทําให้เป็นจริงด้วยกันนะ…”

‘ญี่ปุ่น’ ซื้อกล้วยหอมทองเมืองย่าโม 5 พันตัน กว่า 100 ลบ. หลังได้ชิมแล้วติดใจ เพราะ ‘ผลใหญ่ หวาน หอม อร่อย’

เมื่อวันที่ 28 พ.ย.66 ที่ผ่านมาที่ห้องประชุมลำตะคอง โรงแรมแคนทารี่ จังหวัดนครราชสีมา นางสาวณัฐิยา สุจินดา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ พร้อมด้วย นายสยาม สิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา, นายฉันทพันธ์ ปัญจมานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว, MRS.PIMJAI MATSUMOTO กรรมการผู้จัดการ บ.พีแอนด์เอฟ เทดโน จำกัด ผู้นำเข้าญี่ปุ่น และนายสมศักดิ์ แสงรัมย์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกล้วยหอมตำบลสุขไพบูลย์ หัวหน้าส่วนราชการ พาณิชย์จังหวัดนครราชสีมา-จ.ขอนแก่น หอการค้าฯ ภาครัฐ ภาคเอกชน พี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอมทอง อ.เสิงสางฯ ร่วมพิธี

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ได้ทำพิธีเซ็นสัญญาซื้อกล้วยหอมทองระหว่างคณะตัวแทนผู้ซื้อจากประเทศญี่ปุ่นกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกล้วยหอม ต.สุขไพบูลย์ อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา โดยมีการเซ็นสัญญาซื้อปริมาณ 5,000 ตัน มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท เป็นการช่วยขยายช่องทางในการจำหน่ายกล้วยหอมทองให้กับเกษตรกรในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกล้วยหอมตำบลสุขไพบูลย์ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่จะได้นำผลผลิตกล้วยหอมในพื้นที่ส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ

นางสาวณัฐิยา สุจินดา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า พิธีเซ็นสัญญาในครั้งนี้ เกิดขึ้นตามการผลักดันภายใต้นโยบายกระทรวงพาณิชย์ โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ และขยายโอกาสให้กับกลุ่มเกษตรกร โดยใช้การทำงานเชิงรุก และบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างพาณิชย์จังหวัด และทูตพาณิชย์ รวมทั้งให้เร่งใช้ประโยขน์จากผลของการเจรจา FTA ที่มีอยู่ มาใช้ในการผลักดันให้มีปริมาณการส่งออกของสินค้าไทยสู่ตลาดโลกได้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

โดยประเทศไทยเองก็ได้รับสิทธิประโยชน์จาก กรอบความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น JTEPA ซึ่งยกเว้นภาษีให้กล้วยจากประเทศไทยถึง 8,000 ตันอยู่แล้ว และที่ผ่านมาเราเองก็ยังใช้ประโยชน์ได้ไม่ถึงครึ่งของโควต้า จึงเป็นโอกาสอันดีในการเร่งผลักดันเชิงรุกผ่านช่องทางดังกล่าวนี้ จนสามารถสร้างผลลัพธ์เร่งด่วน Quick win ภายใน 100 วัน ด้วยยอดขายได้ถึง 100 ล้านบาทได้สำเร็จ

สำหรับที่มาของการเซ็นสัญญาสั่งซื้อกล้วย จำนวน 5,000 ตัน ของผู้ซื้อชาวญี่ปุ่นในครั้งนี้ นายฉันทพัทธ์ ปัญจมานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว กล่าวว่า หลังจากที่ได้จับมือทำงานบูรณาการร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครราชสีมาเพื่อมุ่งขยายตลาดกล้วยไทยในประเทศญี่ปุ่นแล้ว ตนก็ได้นำผู้เชี่ยวชาญด้านกล้วยชาวญี่ปุ่นลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา เพื่อพัฒนาเทคนิคการปลูกให้กล้วยในพื้นที่มีคุณภาพ และปริมาณตามความต้องการของตลาดญี่ปุ่นโดยทันที

นอกจากนี้กล้วยหอมของไทยนั้น เป็นพันธุ์กล้วยหอมทอง ซึ่งนอกจากรสชาติอร่อยแล้ว ในปัจจุบันไทยยังเป็นแหล่งผลิตที่ยังคงเหลืออยู่แห่งเดียวในโลก ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นหนึ่งในจุดขายในการทำการตลาดได้เป็นอย่างดี และเมื่อได้พาคณะผู้ซื้อชาวญี่ปุ่นไปเยี่ยมชม และลองชิมผลผลิตกล้วยหอมทองนั้น ต่างก็ได้รับความพอใจอย่างมาก จนตกลงทำสัญญาซื้อขายในทันที

นายสมศักดิ์ แสงรัมย์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกล้วยหอมตำบลสุขไพบูลย์ กล่าวว่า ตนในฐานะประธานกลุ่มฯ รู้สึกดีใจและภูมิใจที่กล้วยหอมทองจากอำเภอเสิงสาง ได้ส่งไปขายยังต่างประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกที่กล้วยหอมในพื้นที่ถูกนำไปขายยังต่างประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้ผลผลิตกล้วยหอมของกลุ่มฯ นั้น จำหน่ายเฉพาะภายในประเทศ โดยตนเชื่อมั่นว่ากล้วยหอมจากอำเภอเสิงสางนั้นจะถูกใจคนญี่ปุ่นอย่างแน่นอน เนื่องจากผลผลิตลูกใหญ่ หวาน หอม อร่อย ซึ่งจากการเซ็นสัญญาซื้อกล้วยหอมจากตัวแทนประเทศญี่ปุ่นในครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มโอกาสให้กับเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น

ด้านนายสยาม สิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมานั้นเป็นแหล่งผลิตกล้วยหอมทองใหญ่ที่สุดในจังหวัดนครราชสีมา โดยมีพื้นที่เพาะปลูกกล้วยหอมทองมากถึง 1,350 ไร่ ให้ปริมาณผลผลิตถึง 8,100 ตันต่อปีและทางจังหวัดนครราชสีมาก็เตรียมส่งเสริมในด้านการขยายพื้นที่การผลิตกล้วยหอมทองในพื้นที่ แต่ขณะนี้ยังคงต้องมุ่งเน้นไปที่คุณภาพของกล้วยหอมทองให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่ผู้ซื้อจากประเทศญี่ปุ่นต้องการ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top