Sunday, 18 May 2025
TheStatesTimes

นักศึกษารัสเซีย ผุดไอเดียขอรับบริจาคบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อนำชิ้นส่วนภายในไปผลิตเป็นโดรนรบกับยูเครน

โดยทั่วไปแล้ว หลายประเทศมักมีแคมเปญรณรงค์ให้นักศึกษาเลิกสูบบุหรี่ไฟฟ้า ด้วยการยกเหตุผลด้านสุขภาพ ซึ่งหาก ‘ลด-ละ-เลิก’ ได้ ก็จะส่งผลดีต่อร่างกายในระยะยาว 

แต่ทว่า ที่ ‘รัสเซีย’ กลับมีแคมเปญที่แปลกกว่านั้น คือ ขอบริจาคบุหรี่ไฟฟ้า...เพื่อชาติ!!

แคมเปญดังกล่าวนี้ ถูกจัดขึ้นโดยนักศึกษาจากชมรม Falcon Patriotic Military Club ของ University of Samara ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของรัสเซีย ที่ผุดแคมเปญสุดพิสดาร ด้วยการผสมผสานไอเดียที่ใช้รณรงค์ลดการสูบบุหรี่ไฟฟ้า เข้ากับแนวคิดชาตินิยม 

โดยจะมีการจัดกลุ่มอาสาสมัคร ถือกล่องตระเวนรับบริจาคบุหรี่ไฟฟ้าจากเพื่อนๆ นักศึกษาในสถาบัน ด้วยเหตุผลจูงใจอย่างการสนับสนุนปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครน

นอกจากนี้ ยังมีการออกใบปลิว และ โปสเตอร์ประกอบแคมเปญด้วยการดัดแปลงภาพสไตล์ย้อนยุคสมัยสหภาพโซเวียต ที่เคยใช้จริงตอนที่รัฐบาลกำลังรณรงค์ให้ชาวรัสเซียลดการดื่มเหล้าวอดก้า เพียงแต่คราวนี้ เปลี่ยนจากวอดก้า เป็นบุหรี่ไฟฟ้าแทน  พร้อมสโลแกนเท่ๆ ว่า…

“1 e-cigarette = 1 drone attack on the enemy!” หรือ “บุหรี่ไฟฟ้า 1 มวน = โดรนพิฆาต 1 ลำ สำหรับโจมตีข้าศึกของเรา”

หลายท่านอาจจะงงว่า เป้าหมายสำคัญของการขอรับบริจาคบุหรี่ไฟฟ้าของนักศึกษากลุ่มนี้ จะมีส่วนให้กองทัพรัสเซีย นำไปใช้ผลิตโดรนพิฆาตในการสู้รบในสงครามรัสเซีย-ยูเครน จริงๆ ได้อย่างไร? ซึ่งเรื่องนี้ทางกลุ่มนักศึกษาเจ้าของแคมเปญ ก็อธิบายว่า... 

“อันที่จริงแล้ว ตัวบุหรี่ไฟฟ้าไม่สามารถนำมาใช้เป็นอาวุธได้ แต่ชิ้นส่วนภายใน เช่น แผงวงจรไมโครและแบตเตอรี สามารถนำไปดัดแปลงใช้ใหม่ในระบบปล่อยกระสุนของโดรนพิฆาตได้”

สำหรับชมรม Falcon Patriotic Military Club ก่อตั้งในปี 2008 มีวัตถุประสงค์ในการปลุกจิตสำนึกรักชาติแก่เยาวชน และ นักศึกษาของรัสเซีย  ซึ่งที่ผ่านมามีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับหน้าที่ของทหารในโรงเรียน หรือ รับบริจาคสิ่งของ และจัดส่งของจำเป็นให้กับทหารแนวหน้าในสงครามยูเครน อาทิ โทรศัพท์มือถือ, เตาภาคสนาม, เสื้อผ้า อาหาร ฯลฯ และล่าสุดทำแคมเปญบริจาคบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อนำไปผลิตโดรนพิฆาตให้กับกองทัพรัสเซีย 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเรื่องนี้เล็ดลอดถึงหูสื่อยูเครน ก็ได้มีการรายงานบลัฟอย่างรวดเร็วว่า “ไอเดียการดัดแปลงบุหรี่ไฟฟ้ามาเป็นโดรนโจมตีนั้น ได้มาจากนักศึกษาของยูเครนต่างหาก โดยสถาบัน Chernivtsi Polytechnic College ทางตะวันตกเฉียงใต้ของยูเครนเคยทำมาก่อนแล้ว  นอกจากนี้ยังมีโปรเจกต์สนับสนุนกองทัพที่ล้ำหน้านั้นอีก ด้วยการพัฒนาโครนโจมตีขนาดจิ๋ว Powerbank สุดอึดที่สามารถชาร์ตโทรศัพท์มือถือได้นานถึง 10 วันอีกด้วย” 

ก็ไม่น่าเชื่อว่าจากแคมเปญเลิกบุหรี่ไฟฟ้า จะกลายมาเป็นไอเดียสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ที่เข้าไปช่วยเสริมศักยภาพในสงครามได้ ภายใต้แนวคิดปลุก ‘จิตสำนึกในความรักชาติ’ 

เพียงแต่มันก็ยังไม่รู้สึกถึงแง่มุมดีๆ ที่จะมีต่อโลกใบนี้ยังไงก็ไม่รู้!! 

เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์

States TOON EP.149

ผนง. แต่เจือกรวยกันหมด!!!

***สงวนลิขสิทธิ์ภาพดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียนแบบ ดัดแปลง หรือนำส่วนใดส่วนหนึ่งไปใช้ แต่อนุญาตให้นำไปเผยแพร่ต่อได้ ตามต้นฉบับนี้ โดยไม่ต้องขออนุญาต 

JKN ประกาศขู่เจ้าหนี้ หากคิดล้มแผนฟื้นฟู บริษัทต้องปิดกิจการ หุ้นเน่า เสียหายกันทั่วหน้า

(29 พ.ย.66) จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า บริษัทได้พยายามหาเงินมาชำระคืนหุ้นกู้ โดยเข้าเจรจากับนักลงทุน 3 กลุ่มเพื่อเพิ่มทุน ตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน รวมถึงขายสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตนและหาแนวทางการทำธุรกิจต่างๆ โดยในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ได้มีการเจรจากับนักลงทุนต่างๆ ตลอดทั้งเดือน แต่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปที่จะหาเงินทุนมาชำระหุ้นกู้ได้ บริษัทจึงมีความจำเป็นต้องยุติการเจรจาในวันที่ 30 ตุลาคม 2566

งบการเงินบริษัทมีทรัพย์สิน 67% เป็นทรัพย์สินไม่มีตัวตน ไม่สามารถแปลงมาเป็นเงินสดเพื่อชำระหนี้ได้ทันเวลา และในการเจรจากับผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้และผู้จัดจำหน่ายหุ้นกู้เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ทาง KPMG ได้ร่วมกับบริษัทจัดประชุมเพื่อหาข้อสรุปในการชำระคืนหนี้

ในการประชุมเห็นตรงกันว่า ผู้ถือหุ้นกู้มีแนวโน้ม ไม่ยอมรับการชำระคืนหนี้ยาวนานถึง 8 ปี ต้องการรับเงินคืนภายใน 3 ปี บริษัทเห็นว่าจะไม่สามารถดำเนินการตามแผนได้ บริษัทจึงตัดสินใจยื่นขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางตามแผนที่ได้รับจากที่ปรึกษาทางการเงิน โดยไม่ได้แจ้งที่ปรึกษาทางการเงินก่อนที่จะยื่นคำร้องในวันที่ 8 พฤศจิกายน  และบริษัทได้เข้าสู่สภาวะการพักชำระหนี้ทั้งหมด (Automatic Stay) ไปจนกว่าศาลล้มละลายกลางจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

จักรพงษ์ กล่าวว่า การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการเป็นทางออกที่เหมาะสมที่สุด และเป็นวิธีการแก้ปัญหาเพียงช่องทางเดียวที่บริษัทมีในเวลานั้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อบริษัทและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย และบริษัทได้ประเมินปัญหาและอุปสรรคที่อาจทำให้ไม่สามารถดำเนินการตามแผนได้มีดังนี้...

ต้องได้ความร่วมมือจากเจ้าหนี้ เพื่อหาทางออกเกี่ยวกับการชำระหนี้ร่วมกัน เพิ่มความสามารถในการปรับเปลี่ยนสัดส่วนธุรกิจจากธุรกิจ Content ไปเป็นธุรกิจใหม่ที่บริษัทได้เตรียมไว้ และ การหาพันธมิตร นักลงทุน ตลอดจนการจัดหาแหล่งเงินทุน สภาพเศรษฐกิจโดยเฉพาะภายในประเทศ

>> กรณีเลวร้ายที่สุด หากบริษัทไม่ได้รับอนุมัติให้เข้าแผนฟื้นฟูกิจการจะเกิดปัญหาตามมาดังนี้...

- ปริมาณหุ้นกู้ทั้งหมด หากเจ้าหนี้ทุกรายเรียกร้องบริษัทให้ชำระหนี้คืน บริษัทจะไม่มีเงินสดเพียงพอในการดำเนินธุรกิจแน่นอนซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคู่ค้าและบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
- บริษัทอาจจะต้องปิดกิจการหรือถูกฟ้องร้อง จนไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ต่อไป และล้มละลายอันจะทำให้ทุกฝ่ายเสียหายอย่างมาก
- หุ้นของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะไม่มีมูลค่า ทำให้นักลงทุนและผู้ถือหุ้นได้รับผลกระทบรวมถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์
- หากบริษัทต้องปิดดำเนินกิจการหรือไม่สามารถดำเนินการต่อได้ จะส่งผลกระทบต่อพนักงานของบริษัททุกคน 

จักรพงษ์ บอกอีกด้วยว่า บริษัทยืนยันว่ามีเจตนาที่ดีในการชําระหนี้สินให้แก่เจ้าหนี้ทุกฝ่าย โดยการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการของบริษัทจะช่วยให้บริษัทแก้ไขปัญหาสภาพคล่องของบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีกฎหมายรองรับและให้ความคุ้มครองแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรม อีกทั้ง บริษัทฯ ยังสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ในระหว่างที่อยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ เพื่อการแก้ไขปัญหาของบริษัทฯ และเพื่อสร้างผลกําไรจากการดําเนินกิจการต่อไปในอนาคตได้อย่างมั่นคง

สำหรับ บริษัท JKN ได้ออกหุ้นกู้จำนวน 7 ชุด มูลค่ารวม 3,360 ล้านบาท แต่สภาพคล่องไม่เป็นไปตามแผน ทำให้หุ้นกู้รุ่น JKN239A ผิดนัดชำระหนี้ และถือเป็นเหตุให้เกิดการผิดสัญญาหุ้นกู้รุ่นอื่นๆ ทั้ง 6 รุ่น นอกจากนี้ยังเป็นเหตุให้เกิดการผิดสัญญาหุ้นกู้แปลงสภาพและหนี้เงินกู้จากสถาบันการเงินด้วย  บริษัทได้แต่งตั้ง บริษัท เคพีเอ็มจี ภูมิไชย ที่ปรึกษาธุรกิจ จำกัด (KPMG) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน KPMG

ส่อง 5 จังหวัดนำร่อง!! เปิดสถานบริการถึงตี 4

เมื่อวันที่ (28 พ.ย. 66) คณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดวันเวลาเปิดปิดสถานบริการ ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ โดยสาระสำคัญ คือ เป็นการกำหนดและแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง กำหนดวันเวลาเปิดปิดสถานบริการในเขตพื้นที่ที่อนุญาตให้ตั้งสถานบริการ

ด้วยเหตุว่า ‘เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ’ และการท่องเที่ยวของประเทศที่เพิ่งผ่านสถานการณ์โควิด-19 จึงจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องขยายเวลาเปิดปิดสถานบริการ ที่อยู่ในสถานที่ตั้งโรงแรมตามกฎหมาย และสถานบริการที่ตั้งอยู่ท้องที่กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่และ เกาะสมุย สุราษฎร์ธานี

โดยกำหนดให้เป็นพื้นที่นำร่อง ขยายเวลาเปิดสถานบริการ ถึงเวลา 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ส่วนพื้นที่อื่นที่มีความประสงค์จะขยายเวลาเปิดสถานบริการถึง 04.00 น. ให้เป็นไปตามประกาศของจังหวัด ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ที่ปลัดกระทรวงมหาดไทยได้กำหนด

‘ไทย’ ปิดจ๊อบ!! 7 บิ๊กเนม ‘มะกัน’ ปักธงลงทุน ‘Landbrigde’

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้นำโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (ชุมพร-ระนอง) หรือแลนด์บริดจ์ (Landbridge) วงเงินลงทุนโครงการ 1 ล้านล้านบาท ไปนำเสนอในงานเอเปค ครั้งที่ 30 ณ สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 12-19 พ.ย.66 ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจมากมาย และมี 7 บริษัทยักษ์ใหญ่ชื่อดังของสหรัฐฯ ที่ตกลงร่วมลงทุนในโครงการนี้แล้ว 

วันนี้ THE STATES TIMES ได้รวบรวมมาให้แล้ว จะมีบริษัทไหนบ้าง มาดูกัน!!

Dog's Story EP.2

ผนง. แต่เจือกรวยกันหมด!!!

***สงวนลิขสิทธิ์ภาพดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียนแบบ ดัดแปลง หรือนำส่วนใดส่วนหนึ่งไปใช้ แต่อนุญาตให้นำไปเผยแพร่ต่อได้ ตามต้นฉบับนี้ โดยไม่ต้องขออนุญาต
 

ศาล รธน. ลงมติเอกฉันท์ ‘พรบ.คอมฯ’ ไม่ขัด รธน. ส่งผล ‘ไอซ์ รักชนก’ ต้องต่อสู้คดี 112 ในศาลอาญา

(29 พ.ย.66) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประชุมปรึกษาในคดีที่ศาลอาญา ส่งคำโต้แย้งของ น.ส.รักชนก ศรีนอก จำเลย ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ 683/2565 เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 212 ว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 26 และมาตรา 34 หรือไม่

ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า คำโต้แย้งของจำเลยและเอกสารประกอบปรากฏว่า น.ส.รักชนก แสดงเหตุผลประกอบคำโต้แย้งเฉพาะพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) (2) และ (3) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และมาตรา 34 วรรคหนึ่ง และคดีเป็นปัญหาข้อกฎหมาย และมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง กำหนดประเด็นที่ต้องพิจารณาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) (2) และ (3) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 26 และมาตรา 34 วรรคหนึ่ง หรือไม่

โดยศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์วินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) (2) และ (3) ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 26 และมาตรา 34 วรรคหนึ่ง 

สำหรับคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ 683/2565 เป็นคดีที่ น.ส.รักชนก ซึ่งขณะนั้นเป็นสมาชิกกลุ่มคลับเฮ้าส์เพื่อประชาธิปไตย ถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทสถาบัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 จากกรณีโพสต์ข้อความวิจารณ์รัฐบาล ประเด็นการจัดซื้อจัดหาวัคซีนโควิด-19 และกรณีรีทวีตภาพถ่ายในการชุมนุม 16 ตุลาไปแยกปทุมวัน ปี 2563 ซึ่งมีข้อความที่ถูกกล่าวหาว่าต่อต้านสถาบัน

โดยความผิดฐานนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จในระบบคอมพิวเตอร์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

‘แสนสิริ’ ท็อปฟอร์ม!! กำไรสุทธิ 9 เดือนแรกแตะ 4.7 พันลบ. สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 39 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมา

(29 พ.ย.66) ปี 2566 เป็นปีของ ‘แสนสิริ’ จริง ๆ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การประกาศเดินหน้าลงทุน 22 โครงการใหม่ มูลค่ารวม 36,000 ล้านบาท ในช่วงไตรมาส 4/66 ซึ่งเป็นช่วงโค้งท้ายปีที่คู่แข่งขันจำนวนหนึ่งกำลังอ่อนแรง

หากแต่ผลประกอบการ 9 เดือนแรก (มกราคม-กันยายน 2566) สามารถทำผลงานโดดเด่น ทำให้บริษัทพกความมั่นใจว่าจนถึงสิ้นปีนี้ แสนสิริจะสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ให้กับผลประกอบการที่ดีที่สุดในรอบ 39 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท

โดย ‘วิชาญ วิริยะภูษิต’ ประธานผู้บริหารสายงานการเงิน บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI เปิดเผยผลประกอบการรอบ 9 เดือนแรกปี 2566 มีกำไรสุทธิ 4,760 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 91% จากช่วงเดียวกันของปี 2565

โดยเป็นกำไรสุทธิเฉพาะไตรมาส 3/66 จำนวน 1,557 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

คำอธิบายส่วนหนึ่งมาจากการเพิ่มขึ้นของส่วนแบ่งกำไรจากการร่วมทุน โดยเฉพาะการร่วมทุนกับบริษัท โตคิว คอร์ปอเรชั่น การควบคุมและบริหารจัดการค่าใช้จ่ายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งแสนสิริมีแผนพัฒนาโครงการร่วมทุนกับพันธมิตรธุรกิจต่าง ๆ มากขึ้นในอนาคต

จุดโฟกัส คือ กำไรในงวด 9 เดือนปีนี้ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 39 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท และมากกว่ากำไรสุทธิทั้งปีของปี 2565 ที่มีจำนวน 4,280 ล้านบาท

สะท้อนถึงการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพของบริษัท เพื่อสร้างการเติบโตที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นในอนาคต และนับเป็นผลการดำเนินงานที่เติบโตตาม business direction ที่วางไว้

รายละเอียดรัว ๆ รายได้รวมรอบ 9 เดือนอยู่ที่ 28,047 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 70% ของเป้าทั้งปีที่ตั้งไว้ 40,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยเป็นรายได้รวมเฉพาะไตรมาส 3/66 ที่ 9,554 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/65 เป็นผลมาจากการเปิดตัวโครงการใหม่อย่างต่อเนื่อง ทั้งแนวราบและแนวสูง

“เป้ารายได้ทั้งปี 40,000 ล้านบาท ซึ่งงวด 9 เดือนเราบันทึกรายได้รวมไปแล้ว 28,047 ล้านบาท รายได้ที่เหลืออีก 12,000 ล้านบาท จะมาจาก backlog ของบ้านและคอนโดมิเนียมที่ขายแล้ว และกำลังทยอยส่งมอบ รวมถึงการขายโครงการใหม่ อาทิ เนีย บาย แสนสิริ และเศรษฐสิริ 5 โครงการใหม่”

และเมื่อเร็ว ๆ นี้ SIRI ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในกลุ่มหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ประจำปี 2566 ในระดับ AA และติดอันดับหุ้นยั่งยืนต่อเนื่อง 4 ปีซ้อน จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

สะท้อนถึงแนวคิดของแสนสิริในการดำเนินธุรกิจที่มุ่งสู่ความยั่งยืน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบต่อสังคม และบรรษัทภิบาล (ESG)

โดยการลงทุนในหุ้นยั่งยืนนี้ เป็นเทรนด์การลงทุนที่สำคัญของนักลงทุนทั่วโลกที่ใช้เป็นเกณฑ์ประกอบการตัดสินใจเลือกลงทุนในหุ้น ควบคู่ไปกับผลประกอบการทางธุรกิจ

ไฮไลต์ยังไม่หมด ล่าสุด แสนสิริ ได้รับความไว้วางใจให้เป็น Most Valuable Real Estate Brand 2023 หรือแบรนด์อันดับ 1 ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ที่มีมูลค่าแห่งอนาคตสูงสุดประจำปี 2023

โดยมีมูลค่าแบรนด์สูงสุดของวงการอสังหาริมทรัพย์อยู่ที่ 1.46 หมื่นล้านบาท

โดยเป็นความร่วมมือของบารามีซี่ กรุ๊ป (Baramizi Group) และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นการประเมินมูลค่าแบรนด์ ด้วยชุดเครื่องมือร่วมกันคิดค้นชุดใหม่ เรียกว่า Brand Future Valuation (BFV) ที่สามารถประเมินมูลค่าแบรนด์ได้รอบด้าน ทรงพลัง และสามารถประเมินไปถึงมูลค่าแบรนด์ในอนาคต

พระแก้วมรกต ถูกอัญเชิญออกจากที่ประดิษฐานกี่ครั้ง ครั้นสมัยรัตนโกสินทร์ และด้วยเหตุอันใด

ในช่วงสักเดือนกว่า ๆ มานี้ ผมได้พูดคุยและสัมภาษณ์นักวิชาการหลายต่อหลายท่านในเรื่อง ‘เมืองมรดกโลกเมืองศรีเทพ’ จังหวัดเพชรบูรณ์ แต่ในระหว่างที่พูดคุยผมก็เกิดนึกถึงเรื่องอื่น ๆ ของจังหวัดเพชรบูรณ์ไปด้วย โดยเฉพาะเรื่องของการตั้งนครบาลเพชรบูรณ์เป็นเมืองหลวงใหม่เพื่อหนีสงคราม และเรื่องการขนทรัพย์สินอันมีค่าหลาย ๆ อย่างของชาติไปเตรียมไว้ ณ ถ้ำฤาษีสมบัติ ซึ่งทรัพย์สินมีค่านั้น มี ‘พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร’ หรือ ‘พระแก้วมรกต’ รวมอยู่ด้วย 

การอัญเชิญพระแก้วมรกตไปประดิษฐาน ณ สถานที่ต่าง ๆ เคยเกิดขึ้นนับเนื่องเป็นร้อย ๆ ปีแล้ว ผมไม่ขอเล่าซ้ำ แต่ถ้าจำเพาะมาในยุครัตนโกสินทร์ของเรานี้ ‘พระแก้วมรกต’ เคยถูกอัญเชิญออกจากที่ประดิษฐานภายในพระอุโบสถ ‘วัดพระศรีรัตนศาสดาราม’ สักกี่ครั้ง? เคยถูกอัญเชิญออกจากพระบรมมหาราชวังสักกี่ครา? เรื่องนี้แหละ ที่ผมกำลังจะเล่าให้อ่านเพลิน ๆ กัน 

ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า ‘พระแก้วมรกต’ นั้นแกะสลักมาจากแท่งหินหยกทั้งก้อน ซึ่งไม่ได้มีแต่เพียงองค์พระที่เราเห็นเพียงอย่างเดียว แต่ด้านล่างขององค์พระที่ไม่ได้แกะสลักนั้น เป็นแท่งหินขนาดกว้างใกล้เคียงกับองค์พระคือประมาณ ๔๘ เซนติเมตร ลึกลงไปประมาณ ๒๙ เซนติเมตร สวมลงไปในฐานกลีบบัวคว่ำบัวหงายที่มีทองคำหุ้มอยู่ ถ้าจะอัญเชิญไปไหนก็ต้องเป็นการเฉพาะ เพราะไม่สามารถนำไปตั้งบนพื้นเรียบ ๆ ได้เลย 

การอัญเชิญ ‘พระแก้วมรกต’ ออกจากที่ประดิษฐานภายในพระอุโบสถแต่ไม่ได้นำออกจากพระบรมมหาราชวังนั้นเกิดขึ้นทั้งสิ้น ๕ ครั้ง ดังนี้...

ครั้งแรก ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มความสูงของบุษบกโดยนำพระแท่นเบญจาสามชั้นหุ้มด้วยทองคำ ที่เคยใช้ประดิษฐานรองรับพระบรมโกศ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ มาถวายเป็นพุทธบูชา เสริมหนุนองค์บุษบกที่ทรงพระแก้วมรกตให้สูงขึ้นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

ครั้งที่สอง ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง ‘พระพุทธปรางค์ปราสาท’ เพื่อประดิษฐานพระแก้วมรกตในปีพ.ศ. ๒๓๙๘ ครั้นก่อสร้างแล้วเสร็จในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระองค์มีพระบรมราชวินิจฉัยว่าปราสาทแห่งนี้มีขนาดเล็กไม่เพียงพอแก่การพระราชพิธีต่าง ๆ จึงนำไปประดิษฐานไว้ภายในพระอุโบสถตามเดิม พระพุทธปรางค์ปราสาทนี้คือ ‘ปราสาทพระเทพบิดร’ นั่นเอง 

ครั้งที่สาม ในปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ คือในปี พ.ศ. ๒๔๔๖ เกิดไฟไหม้พระพุทธปรางค์ปราสาทลุกลามไฟโหม เกรงไฟจะไหม้พระอุโบสถวัดพระแก้วไปด้วย จึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปประดิษฐาน ณ พระมหามณเฑียร ชั่วคราว 

ครั้งที่สี่ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ในโอกาสครบ ๑๕๐ ปีแห่งการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ในปีพ.ศ. ๒๔๗๕ ซึ่งเป็นครั้งที่ ๓ ตามรอบการบูรณะคือ ๕๐ ปี จะบูรณะใหญ่ ๑ ครั้ง จึงได้มีการอัญเชิญพระแก้วมรกตออกจากที่ประดิษฐานและทำการถ่ายภาพองค์พระแก้วมรกตเป็นครั้งแรก 

ครั้งที่ห้า ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ในคราวบูรณะวัดพระแก้วครบ ๒๐๐ ปี ในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ มาแล้วเสร็จ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ซึ่งเป็นการบูรณะซ่อมแซมโครงสร้างบุษบก ซึ่งทรุดตามพื้นอุโบสถจึงต้องอัญเชิญองค์พระแก้วมรกตลงจากบุษบก โดย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นแม่กองบูรณปฏิสังขรณ์ใหญ่ในครั้งนั้น 

ส่วนการอัญเชิญ ‘พระแก้วมรกต’ ออกจากที่ประดิษฐานสู่ภายนอกนั้นมีสองเหตุการณ์ที่พอจะเล่าให้อ่านกันได้ ดังนี้...

เหตุการณ์แรก เกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๓๖๓ ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ บ้านเมืองของเราได้เกิด “โรคห่า”ระบาด ผู้คนล้มตายไปกว่า ๓๐,๐๐๐ คน วัดต่างๆ มีซากศพของผู้ป่วยโรคห่าทับถมเหมือนกองฟืน ถนนเงียบไร้คนเดิน แม่น้ำก็ไม่สามารถดื่มกินเนื่องจากปนเปื้อน เพราะสมัยนั้นยังไม่รู้วิธีป้องกันหรือกำจัดโรคอย่างเป็นรูปธรรม 

รัชกาลที่ ๒ จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบ ‘พระราชพิธีอาพาธพินาศ’ เพื่อปลอบประโลมจิตใจราษฎรและเป็นการปัดรังควานแก่พระนคร ด้วยความเชื่อที่ว่า ‘ห่า’ คือผีร้ายที่ทำให้เกิดโรคระบาด ซึ่งพิธีดังกล่าวประกอบด้วย การยิงปืนใหญ่รอบพระนครตลอดคืนยันฟ้าสาง การอัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบรมสารีริกธาตุธาตุออกแห่ไปรอบพระนคร พระภิกษุทรงสมณศักดิ์ร่วมเจริญพระพุทธมนต์ โปรยทราย ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ทั้งทางบกและทางเรือ ในหลวงรัชกาลที่ ๒ ทรงรักษาศีล ทรงไถ่ชีวิตสัตว์ ทรงปล่อยนักโทษ ห้ามประชาชนฆ่าสัตว์ตัดชีวิตและให้อยู่แต่ในบ้าน ลดการติดต่อ เว้นระยะห่าง จนเชื้อลดลงและหายไปในที่สุด 

เหตุการณ์ที่สอง ซึ่งเล่ากันว่าเกิดขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๔๘๖ ตรงกับช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ ‘พระแก้วมรกต’ ไม่ได้ถูกอัญเชิญออกจากที่ประดิษฐานโดยพระมหากษัตริย์ แต่ถูกอัญเชิญตามคำสั่งลับของนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นคือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งต้องการย้ายเมืองหลวงไปยังนครบาลเพชรบูรณ์เพื่อหนีสงคราม 

คำสั่งลับ ‘ปฏิบัติการทองคำ’ ระบุให้ ขนทรัพย์สินของชาติ ทองคำ และ ‘พระแก้วมรกต’ เพื่อหนีสงคราม ปฏิบัติการนี้ไม่มีการบันทึกหรือออกข่าวเป็นทางการ แต่กลับมีพบเห็นเหตุการณ์และบันทึกเรื่องราวที่สามารถปะติดปะต่อกันเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่การขนทรัพย์สินออกจากหัวลำโพงโดยทางรถไฟ จนกระทั่งไปถึงเพชรบูรณ์จึงต่อรถ และขนขึ้นเขาโดยเท้า ไปยัง ถ้ำฤาษี ต.บุ่งน้ำเต้า อ.หล่มสัก โดยอัญเชิญพระแก้วมรกต ใส่ลังไม้สักเดินทอง ขนาดกว้าง ๑ เมตร ยาว ๑.๕๐ เมตร 

ส่วนการอัญเชิญ ‘พระแก้วมรกต’ กลับกรุงเทพฯ เกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ โดยเป็นเรื่องเล่าจากความทรงจำของ ‘พระอุดมญาณโมลี’ (หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป) ซึ่งท่านได้รับพระบัญชาจาก สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ให้ไปเป็นสักขีพยานอัญเชิญพระแก้วมรกตจากถ้ำแห่งหนึ่งที่เมืองเพชรบูรณ์กลับไปยังกรุงเทพมหานคร โดยท่านเล่าถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่า...

“…การอัญเชิญพระแก้วมรกตในครั้งนี้มีทรัพย์สินอย่างอื่นด้วย คือ ทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ และสมบัติอื่น ๆ อันมีค่าของชาติ โดยมีพิธีการอัญเชิญ มีทหารยืนเข้าแถวเป็นระเบียบ ตั้งแถวเป็นแนวยาวรอรับ มีนายทหาร มีทหารฝรั่งต่างชาติด้วย และมีทหารผิวดำคล้าย ๆ ทหารจากแอฟริการ่วมในพิธีด้วย โดยการอัญเชิญกลับในครั้งนั้น บรรทุกเดินทางโดยขบวนรถยนต์ของทางการทหารกลับกรุงเทพฯ ซึ่งหลวงพ่อก็ไม่ได้กลับพร้อมขบวนรถนั้น โดยในระหว่างนั้นหลวงพ่อได้ไปพักที่วัดมหาธาตุ ในตัวเมืองเพชรบูรณ์ พักอยู่เป็นเวลาประมาณ ๗ วัน…” 

แม้ว่าหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรของเหตุการณ์ในครั้งนั้นไม่ได้มีบันทึกอยู่อย่างเป็นทางการ มีเพียงหนังสือแจ้งราชการทางทหารของ พันเอก หาญ อุดมสรยุทธ์ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการพื้นที่ จากพยานแวดล้อมที่เป็นชาวบ้าน ตอกย้ำด้วยคำบอกเล่าของพระเถระสายวิปัสสนากรรมฐานหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ก็น่าจะช่วยอนุมานเหตุการณ์ในครั้งนั้นได้พอสังเขป 

แต่อย่างไรก็ดี เราอาจจะต้องให้ความเป็นธรรมในเหตุการณ์ครั้งหลังสุด เพราะถือว่าเป็นเพียงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและประวัติศาสตร์กระซิบ ที่ยังคงต้องหาหลักฐานประกอบให้เกิดความเชื่อมากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อความกระจ่างชัดสมบูรณ์มากขึ้นต่อไป

‘เฉกอะหมัด กุมมี’ ข้าราชการชาวอิหร่าน ผู้มีบทบาทสำคัญในราชสำนักกรุงศรีอยุธยา

พิธีรำลึกถึง ‘ท่านเฉกอะหมัด กุมมี’ ชาวอิหร่าน ซึ่งมีความสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย ถูกจัดขึ้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมี ฯพณฯ ไซยิดเรซา โนบัคติ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านประจำราชอาณาจักรไทยเข้าร่วมงานด้วย

ผู้เข้าร่วมพิธีรำลึกดังกล่าวประกอบไปด้วย ชาวไทยผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากท่านเฉกอะหมัด, ตัวแทนจากญามิอะตุ้ลมุศฏอฟา และที่ปรึกษาด้านวัฒนธรรมของสถานเอกอัครราชทูตอิหร่าน-กรุงเทพฯ เข้าร่วม โดยเริ่มต้นพิธีด้วยการอัญเชิญโองการจากคัมภีร์อัลกุรอ่านและมีการพวงหรีดที่สถานที่ฝังศพของท่านเฉกอะหมัด

ในปี 1605 ท่านเฉกอะหมัด เดินทางยังกรุงศรีอยุธยา หลังจากนั้นท่านก็เป็นหนึ่งในข้าราชการระดับสูงในราชสำนักแห่งกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากความสามารถในการบริหารจัดการและไหวพริบของท่าน และได้เข้ารับราชการที่กรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยของพระมหากษัตริย์ถึง 6 พระองค์ นับตั้งแต่รัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และเนื่องจากท่านได้รับความไว้วางใจเป็นอย่างมาก จึงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ระดับสูงที่สำคัญ รวมทั้งตำแหน่งที่ปรึกษาส่วนพระองค์อีกด้วย

ท่านเฉกอะหมัด ได้รับพระราชโองการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี (ชัยคุลอิสลาม) คนแรกแห่งกรุงศรีอยุธยา จึงถือเป็นท่านแรกของราชอาณาจักรไทย โดยมีหน้าที่ในการเป็นผู้นำชาวมุสลิมและดูแลกิจการของชาวมุสลิมทั้งปวงในราชอาณาจักร

ในสมัยของท่านเฉกอะหมัด เหล่าข้าราชบริพารและขนบธรรมเนียมของพวกเขาได้รับอิทธิพลจากชาวอิหร่าน พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาก็ทรงรับเอาวัฒนธรรมอิหร่านในเรื่องการแต่งกาย, การรับประทานอาหาร และรูปแบบสถาปัตยกรรม และบรรดาชาวอิหร่านมีโอกาสได้เข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวอยู่เป็นประจำ

ท่านเฉกอะหมัด สมรสกับสตรีคนหนึ่งจากราชวงศ์ และผลของการแต่งงานครั้งนี้ ท่านจึงมีทายาท คือ บุตรชาย 2 คนและบุตรสาว 1 คน ซึ่งในปัจจุบันลูกหลานของท่านนั้นยังคงเป็นตระกูลที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักในประเทศไทย เช่น ตระกูลอะห์หมัดจุฬา และบุนนาค เป็นต้น

ท่านเฉกอะหมัด ถึงแก่อนิจกรรมในปี 1631 สิริรวมอายุ 88 ปี และหลุมฝังศพของท่านตกแต่งด้วยสถาปัตยกรรมอิสลาม-อิหร่าน ตั้งอยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา

จะมีการสร้างภาพยนตร์สารคดีที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องราวของบุรุษชาวอิหร่านผู้ยิ่งใหญ่ท่านนี้ เมื่อกว่าสี่ร้อยปีที่แล้วท่านได้เดินทางเข้าสู่ราชอาณาจักรไทย และมีบทบาทสำคัญในราชสำนักของไทย นับเป็นสิ่งสำคัญในการรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่มีร่วมกันของอิหร่านและไทย และยิ่งทำให้ผู้คนของทั้งสองประเทศใกล้ชิดกันและรู้จักกันมากขึ้น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top