Tuesday, 6 May 2025
TheStatesTimes

เช็กไทม์ไลน์ ‘แลนด์บริดจ์’ เชื่อมอ่าวไทย - อันดามัน เมกะโปรเจกต์ 1 ลลบ. 

‘แลนด์บริดจ์’ หรือ โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน เป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่วงเงิน 1,001,206.47 ล้านบาท เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประตูและทางเชื่อมโครงข่ายคมนาคมและโลจิสติกส์ของภูมิภาค เป็นนโยบายสำคัญที่รัฐบาลใช้เป็นแม่เหล็กดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

ตามไทม์ไลน์รัฐบาลตั้งเป้าหมายว่า หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบโครงการ การพัฒนาโครงการ ‘แลนด์บริดจ์’ เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 66 ที่ผ่านมาแล้ว หลังจากนี้จะมีการรับฟังความเห็นจากนักลงทุนต่างประเทศ จัดทำกฎหมายและจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายและสำนักงานนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) จากนั้นจะมีการออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน และจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน คัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน ก่อสร้างโครงการ โดยตั้งเป้าหมายเปิดให้บริการ ในเดือนตุลาคม 2573 

เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าชำแหละนโยบายแบนบุหรี่ไฟฟ้าล้มเหลวเกือบ 10 ปี

พร้อมเสนอรายงานคู่ขนานชี้ไทย “เพิกเฉย” ต่อหลักการลดอันตรายตามอนุสัญญาควบคุมยาสูบของ WHO ทำคนไทยเสียชีวิตกว่า 70,000 คนต่อปี เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเดินหน้าสนับสนุน “บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย” เต็มสูบพร้อมเสนอรายงานคู่ขนานเกี่ยวกับการไม่ดำเนินการตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบในบางข้อ หวังไทยกำหนดท่าทีประเทศไทยในการประชุมเวทียาสูบระดับโลก FCTC COP 10 โดยสะท้อนความล้มเหลวของการแบนบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศ 

นายมาริษ กรัณยวัฒน์ ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าและเพจ “บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร” ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 100,000 คน ได้เปิดเผยเรื่องการเข้าร่วมประชุมของคณะผู้แทนไทยในการประชุมสมัชชารัฐภาคีกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลกครั้งที่ 10 (COP10) พร้อมด้วยร่างระเบียบวาระการประชุม COP10 และรายงาน (Shadow Report) เกี่ยวกับการไม่ดำเนินการตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ มาตรา 1 (d) ว่าด้วยยุทธศาสตร์การลดอันตราย (Harm Reduction) ของประเทศไทย รวมทั้งความล้มเหลวของการแบนบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยว่า 
“มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าการเพิกเฉยต่อการดำเนินการตามมาตรา 1 (d) ที่ไม่ยอมรับทางเลือกในการลดอันตรายโดยการแบนบุหรี่ไฟฟ้านั้นล้มเหลว เพราะการใช้บุหรี่ไฟฟ้าสูงขึ้นในกลุ่มวัยรุ่นในกลุ่มประเทศที่มีการแบนบุหรี่ไฟฟ้าเช่น ไทย สิงคโปร์ ออสเตรเลีย อินเดีย เมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกา อังกฤษ แคนนาดา นิวซีแลนด์ ที่มีการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าให้ถูกต้องตามกฎหมาย และถึงแม้ประเทศเหล่านี้จะมีวัยรุ่นที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าแต่ก็ไม่มีนโยบายที่จะแบนโดยสิ้นเชิงแบบในประเทศไทย” 

รายงานดังกล่าวได้มีการกล่าวถึงการประชุมสมัชชารัฐภาคีกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบหรือ WHO Framework Convention on Tobacco Control (WHO FCTC) ครั้งที่ 10 (COP10) ซึ่งจัดขึ้นโดยองค์การอนามัยโลก ในวันที่ 20 ถึง 25 พฤศจิกายน 2566 นี้ ณ กรุงปานามา ซิตี้ ประเทศปานามา โดยใจความสำคัญของรายงานดังกล่าวพูดถึงอัตราการสูบบุหรี่ในไทยไว้ว่า “ประเทศไทยแม้จะได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำด้านการควบคุมยาสูบจากการประเมินล่าสุดขององค์การอนามัยโลก แต่ทว่ากลับไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในการลดอัตราการสูบบุหรี่ของประชากรถึง 2 ครั้งติดต่อกันคือ 18.7% ในปี 2557 และ 16.7% ในปี 2562 ตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติเพื่อการควบคุมยาสูบ” 

นอกจากนี้ยังมีการระบุว่า “ประเทศไทยวัดผลความสำเร็จในการควบคุมยาสูบจากจำนวนกฎระเบียบที่ออกมาแทนที่จะพิจารณาว่าอันที่จริงแล้วกฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งในการช่วยลดอัตราการสูบบุหรี่ แม้ว่าไทยจะมีการออกระเบียบข้อบังคับมากกว่าประเทศใดๆ ในโลกเพื่อให้ "ประสบความสำเร็จ" ในการปฏิบัติตามกรอบอนุสัญญาฯ แต่ทว่าอัตราการสูบบุหรี่ของประเทศไทยก็ไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา แต่กลับยังกีดกันผู้สูบบุหรี่ 9.9 ล้านคนมิให้เข้าถึงทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า” 

เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้ายังได้ระบุอีกว่า “ประเทศไทยควรพิจารณาเปิดรับหลักการลดอันตรายจากยาสูบดังเช่นประเทศอื่นๆ และพิจารณาข้อเสนอแนะในการนำหลักการลดอันตราย เช่นการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าให้ถูกกฎหมาย เข้ามาสนับสนุนมาตรการด้านกฎระเบียบและการรณรงค์อย่างสร้างสรรค์เพื่อสร้างความตระหนักในพิษภัยของยาสูบ ตามที่ปรากฎในคำแนะนำตามรายงานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎรชุดที่ผ่านมา สอดคล้องกับความเห็นของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสินและความเห็นของนางสาวแพรทองธาร ชินวัตรหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยในช่วงการเลือกตั้งในฐานะที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและยังดูแลกระทรวงสาธารณสุขอีกด้วย”  

ทั้งนี้เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าได้ทำเอกสารรายงานคู่ขนาน (Shadow Report) ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลซึ่งสะท้อนถึงสภาวการณ์และความเป็นจริงของการควบคุมยาสูบในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนจากการแบนบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย ตั้งแต่ธุรกิจใต้ดินขนาดมหาศาล ภาษีที่รัฐไม่สามารถจัดเก็บได้ การควบคุมมาตรฐานผลิตภัณฑ์ การรีดไถของเจ้าหน้าที่ และการเข้าถึงของเด็กและเยาวชน ซึ่งเครือข่ายฯระบุว่า หวังว่าผู้มีอำนาจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำรายงานฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณาการกำหนดท่าทีของประเทศไทยในการเข้าร่วมการประชุม FCTC COP10 นี้ เพื่อให้จุดยืนของประเทศเป็นกลาง สอดคล้องกับความเป็นจริงในบริบทปัจจุบันที่ควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ด้วยการแบนแล้ว และทำให้การควบคุมยาสูบในไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อช่วยชีวิตคนไทย ช่วยชีวิตผู้สูบบุหรี่กว่า 70,000 ที่ต้องเสียชีวิตต่อปี และช่วยปกป้องเด็กและเยาวชนไปพร้อมกัน

ส่องสาระสำคัญ 'ไทย-จีน-รัสเซีย' จากงาน BRF ครั้งที่ 3 ท่ามกลาง 'ข้อเสนอ' ที่มีมากกว่า 'ท่วงท่า' และ 'ถุงเท้า' 

อาจจะถูกโฟกัสไปแต่ประเด็นทางกายภาพของนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ครั้นได้มีโอกาสเข้าหารือแบบทวิภาคีกับ วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำแห่งรัสเซีย รวมถึงผู้นำจีนอย่าง สี จิ้นผิง

แต่ถ้าย้อนกลับไปเมื่อวันที่ วันที่ 17-19 ต.ค.ที่ผ่านมา ในการเข้าร่วมการประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ (BRF) ครั้งที่ 3 ในช่วงที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีโอกาสหารือทวิภาคีกับนายวลาดิเมียร์ ปูติน (Mr. Vladimir Putin) ประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย ก็ต้องยอมรับว่า วันนั้นีสาระสำคัญมากมายที่ควรสรุปให้ทราบ...

>> กับ รัสเซีย...
การที่นายกฯ ได้พบหารือกับประธานาธิบดีปูติน ถือเป็นโอกาสอันดีในการแสดงเจตจำนงร่วมกัน เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซียให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น โดยรัสเซียถือเป็นมิตรประเทศที่มีความสัมพันธ์กับไทยมายาวนาน และทั้งสองฝ่ายก็เพิ่งฉลองครบรอบ 125 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างเมื่อปี 2565 และนี่ก็ถึงเวลาที่ ไทย-รัสเซีย ควรร่วมมือกันเพิ่มพูนความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นและเป็นรูปธรรม

ในวันนั้น ปูติน พูดกับนายกฯ เศรษฐา โดยกล่าวชื่นชมความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดยาวนานระหว่างไทยกับรัสเซีย พร้อมทั้งเห็นว่า ทั้งสองฝ่ายควรเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกันทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคีมากขึ้น โดยเฉพาะด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีความสัมพันธ์ในระดับประชาชนที่แน่นแฟ้นอย่างมาก

ที่น่าสนใจ คือ โดยปี 2567 (ค.ศ. 2024) จะเป็นปีแห่งการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวไทย-รัสเซีย โดยเชื่อว่าจะมีนักท่องเที่ยวรัสเซียมาท่องเที่ยวยังประเทศไทยมากกว่า 1 ล้านคน และนายกฯ ก็ได้ขานรับทันทีว่า เมื่อวันที่ 16 ต.ค.66 ทางครม. ของไทยได้มีมติเพิ่มวันพำนักให้ชาวรัสเซียจาก 30 วันเป็น 90 วัน แล้ว

นอกจากเรื่องท่องเที่ยว ยังมีการพูดคุยกันถึงสาระสำคัญด้านการเมือง โดยทั้งสองฝ่ายเห็นควรว่าต้องมีการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาระหว่างบุคลากรสภาความมั่นคงของทั้งสองประเทศอย่างต่อเนื่อง

ส่วนด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายเห็นควรเพิ่มการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกันมากขึ้น โดยนายกฯ ขอให้ฝ่ายรัสเซียส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกัน พร้อมทั้งเชิญชวนให้รัสเซียพิจารณาเพิ่มการลงทุนในไทย

นอกจากนี้นายกฯ ยังได้เชิญประธานาธิบดีรัสเซียเดินทางเยือนไทย ซึ่งประธานาธิบดีตอบรับ โดยจะได้ร่วมกำหนดวันที่ทั้งสองฝ่ายสะดวกต่อไป...สวยงาม!!

>> กับ จีน...

สี จิ้นผิง ได้กล่าวกับนายกฯ เศรษฐา ว่า จีนเป็นประเทศแรกนอกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่เศรษฐาเดินทางเยือนอย่างเป็นทางการ ซึ่งสะท้อนอย่างเต็มที่ว่ารัฐบาลชุดใหม่ของไทยให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ทวิภาคีอย่างมาก

โดยจีนพร้อมทำงานร่วมกับไทยเพื่อสร้างนิยมความเป็นไปได้ในยุคใหม่นี้ให้กับคำกล่าว "จีน-ไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน" อย่างต่อเนื่อง และทำให้ข้อได้เปรียบของมิตรภาพอันยาวนานเป็นพลังขับเคลื่อนความร่วมมือที่ได้ประโยชน์ร่วมกัน

สี จิ้นผิง กล่าวอีกว่า ทั้งสองฝ่ายควรเร่งรัดการก่อสร้างทางรถไฟจีน-ไทย พร้อมทั้งขยับขยายความร่วมมือด้านต่าง ๆ เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล, การพัฒนาสีเขียว และพลังงานใหม่ ตลอดจนเสริมความร่วมมือในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ เช่น การฉ้อโกงทางโทรคมนาคมและการพนันออนไลน์ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมอันปลอดภัยสำหรับการพัฒนาของ 2 ประเทศ

สี จิ้นผิงเสริมว่า จีนยินดีแบ่งปันโอกาสจากตลาดขนาดใหญ่และการเปิดกว้างระดับสูงของจีน เพื่อเพิ่มพูนพลังเชิงบวกสู่การพัฒนาของเอเชีย 

แน่นอนว่า ทางด้านนายกฯ ไทย ก็แสดงความยินดีในการที่จะทำงานร่วมกับจีน เพื่อสร้างประชาคมไทย-จีน ที่มีอนาคตร่วมกันอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนยิ่งขึ้น

ไม่เพียงเท่านี้ นายกฯ ก็ยังได้โชว์แผนแลนด์บริดจ์เชื่อม BRI ภายใต้งบลงทุนในระดับ 1 ล้านล้านบาท เพื่อเชิญชวนให้ภาคเอกชนจีนเข้ามาร่วมลงทุน มหาโปรเจกต์เชื่อมโยงสองฝั่งท่าเรืออันดามัน-อ่าวไทยครั้งใหญ่นี้

โดยนายกฯ ได้กล่าวอีกด้วยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งให้ความเห็นชอบแนวทางการศึกษาและแผนการดำเนินงานโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดียกับอ่าวไทยและมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นที่เรียบร้อย

ขณะเดียวกัน ยังเผยถึงแนวทางปรับปรุงการเชื่อมต่อในพื้นที่อันดามันทางตอนใต้ ลดเวลาการเดินทางผ่านช่องแคบมะละกา ภายใต้แนวคิด 'One Port, Two Sides' ในระยะทางทางบก 90 กิโลเมตรทางภาคใต้ของไทยด้วย

แน่นอนว่า สาระสำคัญเกิดขึ้นกับงาน BRF ครั้งที่ 3 ระหว่าง ไทย-จีน และ ไทย-รัสเซีย ไม่ใช่แค่การแวะเวียนมานำเสนอตัวเองของนายเศรษฐาเป็นแก่น แต่เป็นความพยายามของรัฐบาลที่ถือโอกาสใช้เวทีนี้โชว์ให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของไทยที่จะร่วมมือกันในด้านต่างๆ อย่างยั่งยืนกับทั้ง 2 ประเทศมหาอำนาจใหม่นี้ ภายใต้ความสัมพันธ์อันดีที่ถูกเปิดมาตั้งแต่ครั้นรัฐบาลก่อนหน้า

ที่เหลือก็แค่รอดูผลลัพธ์...ต่อไป!!
 

‘วิชัย ทองแตง’ เยือน ‘สกลนคร’ พบปะเกษตรกร ร่วมแชร์ไอเดียนวัตกรรมการเกษตร เสริมแกร่ง ‘สกลนครโมเดล’

นักปั้นนมือทอง!! ‘วิชัย ทองแตง’ เยือนถิ่นสกลนคร ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ พร้อมแชร์ไอเดีย หวังผลักดันนัวตกรรมการเกษตร สร้างรายได้ สร้างอาชีพ ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ ร่วมหนุนโครงการสกลนครโมเดลให้แข็งแกร่ง

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา คุณวิชัย ทองแตง นักธุรกิจและอดีตนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ประธานกรรมการบริษัท บิทคับ เวิลด์เทค จำกัด ผู้ผันตัวเองมาเป็นนักปั้นธุรกิจสตาร์ตอัป ได้เดินทางเยือนจังหวัดสกลนคร ในการลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลการพัฒนาเกษตรนวัตกรรมจังหวัดสกลนคร ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร

สำหรับเดินทางเยี่ยมเยียนเกษตรกรในครั้งนี้ คุณวิชัย ได้ถ่ายทอดประสบการณ์การทำธุรกิจ และแนวทางการทำตลาดสินค้าเกษตรในยุค ‘Digital Transformation’ ซึ่งถือเป็นยุคแห่งโอกาส ทั้งโอกาสในการพัฒนาสินค้า โอกาสในการขยายตลาด และโอกาสในการเรียนรู้ช่องทางการตลาดใหม่ ๆ แต่ที่สำคัญหากโอกาสมาถึงแล้ว อย่าปล่อยโอกาสให้หลุดมือไป

พร้อมกันนี้ คุณวิชัย ยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดกับเกษตรกรภายใต้โครงการ ‘สกลนครโมเดล’ โดยให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการปลดล็อกศักยภาพสูงสุดของการเกษตรเชิงนวัตกรรมในพื้นที่ และรับฟังการบรรยายสรุปภาพรวม จาก น.ส.สกุณา สาระนันท์ ส.ส. สกลนคร เขต 6 ถึงความสำเร็จในการยกระดับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ตั้งแต่พืชผักสวนครัว สมุนไพร กล้วยหอมทอง เห็ดป่า ผ้าทอ และผ้าย้อมคราม โดยเฉพาะผ้าย้อมคราม ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงของสกลนคร และสามารถต่อยอดเป็นสินค้าแฟชั่นในรูปแบบต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย 

แต่อย่างไรก็ดี ด้วยจุดเด่นของวัตถุดิบทางการเกษตรที่มีอยู่ในพื้นที่ รวมไปถึงทักษะของเกษตรกรสกลนคร คุณวิชัย เชื่อว่า หากได้รับการสนับสนุนและการนำด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ มาพัฒนาต่อยอด จะช่วยสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและยกระดับรายได้ให้เกษตรกรเพิ่มขึ้นได้อย่างแน่นอน

เมื่อการทำสงครามถล่มกาซาของอิสราเอล ทำให้เศรษฐกิจพัง วันละ 1.33 พันล้านบาท

(25 ต.ค. 66) อินโฟเควสท์ รายงานถึงสถานการณ์ในอิสราเอลภายใต้หัวข้อ 'ราคาของการแก้แค้น เมื่อการทำสงครามถล่มกาซาต้องแลกมาด้วยเศรษฐกิจของอิสราเอล' ระบุว่า...

สงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มติดอาวุธฮามาสในฉนวนกาซาไม่ใช่เป็นแค่เรื่องของแสนยานุภาพทางการทหารและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของผลสะเทือนทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนชาวอิสราเอลด้วย”

เหตุการณ์ที่กลุ่มฮามาสซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธในปาเลสไตน์ เปิดฉากโจมตีอิสราเอลแบบไม่ทันตั้งตัวเมื่อเช้าวันเสาร์ที่ 7 ต.ค. จนมีพลเรือนเสียชีวิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของอิสราเอลนั้น ทำให้อิสราเอลต้องการล้างแค้นและประกาศลั่นกลองรบโดยทิ้งระเบิดถล่มกาซาตลอด 2 สัปดาห์นับแต่นั้นมา อย่างไรก็ดี ราคาของการล้างแค้นต้องแลกมาด้วยความเสียหายทางเศรษฐกิจของอิสราเอล ซึ่งมีมูลค่าสูงอย่างที่อิสราเอลไม่ได้ประสบมาในรอบหลายทศวรรษ

>> ภาคธุรกิจหยุดชะงัก แรงงานโดนเกณฑ์ไปรบ
ขอบฟ้าของกรุงเทลอาวีฟที่มักจอแจไปด้วยเสียงรถเครนและกิจกรรมการก่อสร้างต้องเงียบสงัดอยู่หลายวันหลังจากที่เมืองสั่งปิดไซต์ก่อสร้าง โดยแม้จะเพิ่งกลับมาเปิดทำการอีกครั้งในสัปดาห์นี้ภายใต้มาตรการความปลอดภัยที่เข้มงวดขึ้น แต่การหยุดชะงักของภาคการก่อสร้างในช่วงที่ผ่านมาคาดว่าสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจให้อิสราเอลถึง 150 ล้านเชเกล (1.33 พันล้านบาท) ต่อวัน

นายราอูล ซารูโก ประธานสมาคมผู้รับเหมาก่อสร้างของอิสราเอลกล่าวว่า “นี่ไม่ใช่แค่กระทบกับผู้รับเหมาหรือนักอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียว แต่ยังกระทบต่อทุกครัวเรือนในอิสราเอลด้วย”

นอกจากนี้ ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ฮามาส ยังส่งผลให้แรงงานหายไปเป็นจำนวนมาก เนื่องจากทหารกองหนุนนับแสนรายถูกเรียกตัวเข้าประจำการ ส่วนแรงงานชาวปาเลสไตน์นับพันที่ทำงานให้อิสราเอลก็ไม่สามารถเดินทางข้ามพรมแดนจากฉนวนกาซากับเขตเวสต์แบงก์มาได้ ทำให้ภาคธุรกิจขาดแคลนกำลังคนและสร้างความปั่นป่วนต่อห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ท่าเรือไปจนถึงซูเปอร์มาร์เก็ต ในขณะที่ผู้ค้าปลีกก็ต้องให้พนักงานหยุดงานเนื่องจากไม่มีงานให้ทำ

โรงแรมต่าง ๆ มีชาวอิสราเอลที่อพยพจากพื้นที่ชายแดนมาพักอยู่ราว ๆ ครึ่งหนึ่ง ส่วนห้องที่เหลือส่วนใหญ่ไม่มีใครเข้าพัก โรงงานหลายแห่งแม้กระทั่งโรงที่ตั้งอยู่ใกล้กาซายังคงดำเนินงานต่อไป แต่ขาดแคลนคนขับรถบรรทุกจนไม่สามารถขนส่งสินค้าได้มากเท่าปกติ

บันไดเลื่อนและทางเดินในห้างสรรพสินค้าหลักของเมืองเยรูซาเลมร้างผู้คนในช่วงสองสัปดาห์แรกของสงคราม แม้ว่าช่วงหลังจะเริ่มมีลูกค้าทยอยเข้าห้างบ้างก็ตาม แต่นายเนทาเนล ชรากา ผู้จัดการร้านชุดกีฬาโคลัมเบียในห้างดังกล่าวให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า “จำนวนคนเดินผ่านไปผ่านมาลดลงไปมาก”

นายชรากากล่าวว่า พนักงานของเขาบางคนถูกเรียกตัวเข้ากองทัพ บางคนก็กลัวเกินกว่าจะมาทำงาน

อุตสาหกรรมเทคโนโลยี ซึ่งคิดเป็น 18% ของ GDP อิสราเอล ก็กำลังประสบความยากลำบาก โดยนายดรอร์ บิน ซีอีโอของสำนักงานนวัตกรรมอิสราเอลคาดว่า แรงงานในภาคไอทีประมาณ 10-15% ถูกเรียกตัวเข้าประจำการกองหนุน

“เราได้ติดต่อกับบริษัทเทคฯ หลายร้อยราย โดยเฉพาะพวกบริษัทสตาร์ตอัป” นายบินกล่าว พร้อมเสริมว่า หลายบริษัทกำลังจะหมดเงินทุนในการทำธุรกิจต่อไป

ด้านนายบารัค ไคลน์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินจากบริษัทฟินเทคทีตาเรย์กล่าวว่า “ผลิตภาพลดลงไปมาก เพราะเป็นเรื่องยากที่จะจดจ่ออยู่กับงานในแต่ละวันเมื่อในหัวคุณกังวลแต่เรื่องความเป็นความตาย”

>> 'วิกฤตทางจิตใจ' คนอิสราเอลพากันรัดเข็มขัด
ด้วยแนวโน้มที่อิสราเอลจะส่งทหารบุกภาคพื้นดินเข้าฉนวนกาซาและความเป็นไปได้ที่สงครามจะลุกลามกลายเป็นความขัดแย้งในภูมิภาค ชาวอิสราเอลต่างพากันรัดเข็มขัด พฤติกรรมดังกล่าวส่งผลให้การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตลดลง 12% ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยการใช้จ่ายลดฮวบฮาบในเกือบทุกด้าน ยกเว้นการซื้ออาหารในซูเปอร์มาร์เก็ต

เมื่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคคิดเป็นมากกว่าครึ่งของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของอิสราเอล ความเสียหายทางเศรษฐกิจย่อมมีมหาศาล

ลีโอ ไลเดอร์แมน หัวหน้าที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของแบงก์ฮาโปอาลิม (Bank Hapoalim) หนึ่งในธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของอิสราเอลกล่าวว่า มี “วิกฤตทางจิตใจ” ในหมู่ประชาชนชาวอิสราเอล

“ประชาชนจะลดการใช้จ่ายด้านการบริโภค เพราะสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนและบรรยากาศที่ไม่เป็นใจ” นายไลเดอร์แมนกล่าว

ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่อาวุโสในกระทรวงการคลังของอิสราเอลเปิดเผยกับทางรอยเตอร์ว่า “อิสราเอลฟื้นตัวได้ดีอย่างน่าทึ่งจากการสู้รบครั้งที่ผ่าน ๆ มา แต่เหตุการณ์ครั้งนี้มีความรุนแรงมากกว่าที่เคย แม้ตอนนี้ยังเร็วเกินกว่าที่จะบอกได้ก็ตาม”

>> เศรษฐกิจหด เครดิตลด หนี้เพิ่ม เงินอ่อนค่า แม้แบงก์ชาติมั่นใจว่าจะฟื้นตัว
เมื่อวันจันทร์ (23 ต.ค.) ธนาคารกลางอิสราเอลปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2566 เหลือ 2.3% จาก 3% และลดเหลือ 2.8% จาก 3.0% ในปี 2567 โดยตั้งสมมติฐานว่าสงครามจะถูกจำกัดวงไว้อยู่ในกาซาเท่านั้น

รัฐบาลอิสราเอลได้ให้สัญญาว่าจะใช้จ่ายในการทำสงครามครั้งนี้แบบ “ไม่จำกัด” นั่นหมายความว่างบประมาณจะยิ่งขาดดุลมากขึ้นและประเทศมีหนี้มากขึ้น โดยธนาคารกลางคาดการณ์ว่าอัตราส่วนหนี้สินต่อ GDP จะพุ่งแตะระดับ 62% ในปี 2566 และ 65% ในปี 2567 จากเดิมที่อยู่ระดับ 60.5% ในปี 2565

ขณะเดียวกัน นายอามีร์ ยารอน ผู้ว่าการธนาคารกลางอิสราเอล ได้แสดงความเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจของประเทศจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในไม่ช้านี้ หลังจากธนาคารกลางคงอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันในการประชุม 3 ครั้งเพื่อรักษาเสถียรภาพในระบบการเงิน พร้อมกับกล่าวว่า ธนาคารกลางยังไม่ควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยเมื่อพิจารณาภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน เนื่องจากการลดดอกเบี้ยจะส่งผลให้เงินเชเกลอ่อนค่าลงอีก และจะยิ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น

ทั้งนี้ นับตั้งแต่เริ่มสงคราม สกุลเงินเชเกลของอิสราเอลอ่อนค่าลง 5% และหากนับตั้งแต่ต้นปี 2566 ก็ร่วงลงไปแล้ว 15.5%

แม้ว่าธนาคารกลางอิสราเอลยังคงมีมุมมองเป็นบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศ แต่มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส ประกาศทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของอิสราเอล โดยมีแนวโน้มที่จะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ A1 เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส

“ความขัดแย้งทางทหารในครั้งนี้กำลังทำให้อิสราเอลมีความเสี่ยงด้านภูมิศาสตร์เพิ่มขึ้นอีก จากเดิมที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูงอยู่แล้ว ความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นนี้มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นเป็นเวลานานและส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของอิสราเอลอย่างเป็นรูปธรรม”

“ต่อให้ความขัดแย้งนี้เกิดขึ้นในระยะเวลาสั้น ๆ ก็ยังจะส่งผลกระทบต่ออันดับความน่าเชื่อถือของอิสราเอล ดังนั้นหากความขัดแย้งยืดเยื้อเป็นเวลานานขึ้น รุนแรงมากขึ้น และลุกลามเป็นวงกว้างมากขึ้น ก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบาย การคลังสาธารณะ (public finance) และเศรษฐกิจของอิสราเอล” มูดี้ส์กล่าว

มูดี้ส์ระบุว่า อิสราเอลได้ใช้จ่ายเงินด้านกลาโหมประมาณ 4.5% ของ GDP ซึ่งมากกว่าประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) และคาดว่าอิสราเอลจะเพิ่มการใช้จ่ายด้านกลาโหมเมื่อพิจารณาจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้

นอกจากมูดี้ส์แล้ว เมื่อวานนี้ (24 ต.ค.) เอสแอนด์พี โกลบอล เรทติ้งส์ (S&P) ประกาศลดแนวโน้มความน่าเชื่อถือของอิสราเอลลงสู่ “เชิงลบ” จาก “มีเสถียรภาพ” และคงอันดับความน่าเชื่อถือของอิสราเอลไว้ที่ระดับ AA- โดยระบุว่า ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสมีแนวโน้มที่จะบานปลาย และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระดับที่รุนแรงมากขึ้น

เอสแอนด์พีคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจอิสราเอลจะหดตัวลง 5% ในไตรมาส 4 ปีนี้เมื่อเทียบกับในไตรมาส 3 เนื่องจากสงครามในครั้งนี้ส่งผลให้เกิดภาวะชะงักงันและทำให้กิจกรรมทางธุรกิจอ่อนแอลง นอกจากนี้ ภาวะสงครามยังทำให้รัฐบาลอิสราเอลต้องเกณฑ์ทหารกองหนุนจำนวนมาก อีกทั้งทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวถูกชัตดาวน์ และบั่นทอนความเชื่อมั่นเป็นวงกว้าง

>> สิ่งที่ต้องแลกมาเพื่อ 'ตาต่อตา ฟันต่อฟัน'
เศรษฐกิจอิสราเอลในอดีตฟื้นตัวมาได้หลายต่อหลายครั้ง เช่นเมื่อปี 2549 ในการทำสงคราม 34 วันกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ของเลบานอนที่มีอิหร่านหนุนหลัง GDP ของอิสราเอลลดลงถึง 0.5% แต่ก็ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วหลังจากนั้น

อย่างไรก็ดี สงครามในปัจจุบันส่งผลสะเทือนทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้างมากยิ่งกว่าที่เคย ราคาของการล้างแค้นครั้งนี้ไม่เพียงต้องจ่ายด้วยชีวิตคนและความไร้เสถียรภาพทางภูมิรัฐศาสตร์เท่านั้น แต่ยังสร้างภาระหนักต่อเศรษฐกิจของอิสราเอลเองอีกด้วย

'กองทุนดีอี' รุดหน้า!! ปลุกหลากเทคโนโลยีช่วยไทย ชี้!! ทุนหนุนโครงการ ขยายผลเลิศ

ต้องยอมรับว่า ในปัจจุบัน ‘กองทุนดีอี’ ถือว่ามีบทบาทสำคัญในการส่งเสริม สนับสนุน หรือให้ความช่วยเหลือหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และบุคคลทั่วไปในการดำเนินการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผ่านการให้ทุนอุดหนุนการวิจัย และพัฒนาที่เกี่ยวกับการพัฒนาดิจิทัลฯ มาอย่างต่อเนื่อง

แน่นอนว่า ‘เงินสนับสนุน’ เหล่านี้ ล้วนนำไปผลักดันนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จะช่วยพัฒนาประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ช่วยให้ความรู้ สร้างสิ่งใหม่แก่สาธารณชนได้ทั้งสิ้น 

ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงผลการดำเนินงานของ ‘กองทุนดีอี’ ในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ที่ผ่านมากองทุนฯ ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเปิดรับข้อเสนอขอรับทุนสนับสนุน และระบบสนับสนุนภายใน หลากหลายด้าน ทั้งด้านการวิเคราะห์โครงการ และด้านการติดตามและประเมินผลโครงการ โดยมีการนำเอาผลสำรวจความพึงพอใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มาจัดทำเป็นแผนปรับปรุงคุณภาพการให้บริการ เพื่อพัฒนาและปรับปรุงการให้บริการแก่ผู้ขอรับทุนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

อย่างไรก็ตาม ผลการให้การสนับสนุนที่ผ่านมา ก็ถือว่าเดินหน้าได้อย่างยอดเยี่ยม โดยวันนี้ (25 ต.ค. 66) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้เป็นประธานเปิดกิจกรรมสัมมนาและนิทรรศการผู้รับทุนกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประจำปี พ.ศ. 2566 (กองทุนดีอี) พร้อมเผยถึงสาระสำคัญของงานนี้ ที่มีเป้าหมายน่าสนใจอยู่ตรงการ ‘สแกน’ ความคืบหน้าการดำเนินงานของผู้รับทุน พร้อมรับฟังปัญหาอุปสรรค และเสนอแนะแนวทางการยื่นขอรับทุน รวมทั้งมีการจัดนิทรรศการเพื่อการแสดงผลการดำเนินงานของโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนดีอี

ผลลัพธ์ที่ผ่านมา นายประเสริฐ พูดได้อย่างภูมิใจว่า ‘เป็นรูปเป็นร่าง’ อย่างมาก เนื่องจากมีหลากผลงานที่ต้องบอกว่า ‘แจ้งเกิด’ ได้จากการรับทุนดังกล่าว และนำไปปรับประยุกต์เป็นผลิตภัณฑ์/โซลูชัน ที่สามารถช่วยขับเคลื่อนสังคมและประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ...

เกิดโครงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับและเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

เกิดโปรแกรมการชมพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ดิจิทัล ด้วยการเพิ่มทางเลือกในการเรียนรู้นอกห้องเรียนให้ประชาชนและเยาวชนของชาติได้สร้างความรู้ความเข้าใจผ่านพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ได้แบบเรียลไทม์

เกิดระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (DOPA-Digital ID) และระบบเปรียบเทียบภาพใบหน้า ที่ครอบคลุมในการเรียกข้อมูลบัตรประชาชน / ทะเบียนบ้าน / การฉีดวัคซีน โควิด-19 / การคัดและรับรองเอกสารงานทะเบียน / จองหมายเลขทะเบียนรถยนต์ / ยื่นภาษีออนไลน์ และอื่นๆ อีกในอนาคต 

เกิดระบบในพัฒนาการรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน โดยใช้รถโมบายในการดูแลรักษาผู้ป่วย ซึ่งนำร่องไปแล้ว 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ / สุราษฎร์ธานี / ราชบุรี / ชลบุรี / เชียงราย และนครพนม 

เกิดระบบในการให้บริการรายการข้อมูลภาครัฐ ที่ผนวกได้กว่า 50 หน่วยงาน ผ่านระบบคลาวด์ให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างเป็นธรรมและโปร่งใส

เกิดระบบดิจิทัลที่เข้าไปมีส่วนในการช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม และยกระดับวิสาหกิจชุมชนไปสู่วิสาหกิจนวัตกรรม เสนอ ที่สามารถเชื่อมต่อไปสู่ห่วงโซ่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ชาวบ้านรวยๆๆ

เกิดโครงการการพัฒนาห้องปฏิบัติการการทดลองทางเคมีในชุมชนโลกเสมือนจริง ช่วยลดข้อจำกัดจากการทำห้องปฏิบัติการทางเคมีที่มีค่าใช้จ่ายสูงได้อย่างมาก

เกิดโครงการศูนย์บริการประชาชน โดยกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพื่อให้บริการประชาชนตั้งแต่รับแจ้ง แก้ไข ป้องกัน บังคับใช้กฎหมายจนคดีถึงที่สุด

เกิดแพลตฟอร์มให้บริการการใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของประเทศไทย ให้เข้าถึงข้อมูลเพื่อรับรู้ว่าข้อกฎหมายใดที่เอื้อต่อการทำได้หรือไม่ได้

เกิดการพัฒนาชุดฝึกอบรมยานยนต์สมัยใหม่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเสมือนจริง เพื่อสร้างเสริมอาชีพให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ทุกกลุ่ม ให้มีความรู้ความสามารถ ในด้านยานยนต์ไฟฟ้า 

แน่นอนว่า นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการสนับสนุนจาก ‘กองทุนดีอี’ ในวันที่ประเทศไทย มีเป้าหมายจะพาชาติก้าวไปสู่ ‘สังคมเมืองอัจฉริยะ’ ช่วยยกระดับภาครัฐ และสังคมไทยให้เท่าทันยุคแห่งเทคโนโลยี รวมถึงลดภาระภาครัฐในมิติต่างๆ ที่จะทำให้ปัญหาความโปร่งใส 

ดังนั้น ผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้น ณ วันนี้ อาจจะยังเป็นส่วนหนึ่ง แต่ก็เป็นส่วนสำคัญภายใต้การผลักดันของ ‘กองทุนดีอี’ ที่ต้องทำงานหนักมากขึ้น เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนคนดีมีฝีมือให้ร่วมกันสร้างสรรค์ระบบนิเวศแห่งดิจิทัลให้เกิดขึ้นกับประเทศไทยได้แบบเต็มขั้นต่อไป... 

ปัจจุบัน ‘กองทุนดีอี’ ได้สนับสนุนทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จนถึงปัจจุบัน ได้อนุมัติโครงการมาตรา 26 (1) (2) และ (6) รวมถึงการให้ทุนในกรณีสถานการณ์โควิด และการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 5G ไปแล้วจำนวน 244 โครงการ ซึ่งปัจจุบันโครงการได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้วกว่าร้อยละ 89.93 ยิ่งไปกว่านั้นทุกโครงการจะมีการนำไปขยายผลเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประชาชน สังคมและประเทศชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

‘มาคาเลียส’ อัดแคมเปญใหญ่ ‘Makalius Super Bonus’ ลุยตลาดท่องเที่ยวช่วงปลายปี 66 ส่วนลด-ดีลเด็ดเพียบ

(25 ต.ค. 66) มาคาเลียส แหล่งรวมอี-วอเชอร์ที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว อันดับ 1 ของประเทศไทย ชี้สิ้นปีนี้นักท่องเที่ยวชาวไทยเกินกว่า 50% ยังคงท่องเที่ยวในประเทศ สาเหตุจากสถานการณ์ความรุนแรงของหลายประเทศที่เกิดขึ้น เตรียมเดินหน้าผนึกกำลังพันธมิตรโรงแรม ที่พัก สถานที่ท่องเที่ยว จัดแคมเปญใหญ่ ‘Makalius Super Bonus’ (มาคาเลียส ซูเปอร์ โบนัส) มอบเป็นโบนัสพิเศษให้นักท่องเที่ยวชาวไทยส่งท้ายปี

นางสาวณีรนุช ไตรจักร์วนิช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท มาคาเลียส ประเทศไทย จำกัด (Makalius) แหล่งรวมอี-วอเชอร์ที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว อันดับ 1 ของประเทศไทย กล่าวว่า “มาคาเลียส คาดการณ์ว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 ที่จะเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น ตลาดการท่องเที่ยวในประเทศจะคึกคักอีกครั้ง และคาดว่าในช่วงสิ้นปีนี้นักท่องเที่ยวชาวไทยเกินกว่า 50% จะยังคงเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ เนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวเริ่มมีการปรับกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว”

ทางด้านมาคาเลียสเตรียมเดินหน้าผนึกกำลังกับพันธมิตรทั้งโรงแรม ที่พัก สถานที่ท่องเที่ยว อาทิ Eco Cozy Beachfront Resort, Taris river cottage, Golden Tulip Pattaya Beach Resort, Movenpick Resort Khao Yai, Centara Azure, Hotel Kuretakeso, Cross Vibe Pattaya Seaphere, Prima Hotel, Kooncharaburi Resort, Baiyoke Buffet, Sanay Rooftop Bar, ล่องเรือแม่น้ำเจ้าพระยา  เป็นต้น จัดแคมเปญใหญ่ส่งท้ายปี ‘Makalius Super Bonus’ (มาคาเลียส ซูเปอร์ โบนัส) อัดแน่นโปรโมชั่นสุดพิเศษเพื่อมอบเป็นโบนัสให้นักท่องเที่ยวชาวไทยส่งท้ายปี 

ไม่ว่าจะเป็น Double Date Promotion 11.11 | 12.12 รวมถึง Signature Promotion อย่าง Makalius WoW deal และ Seasonal Promotion ต่าง ๆ อีกมากมาย โดยความพิเศษคือ ดีลพิเศษมากกว่า 15 ดีล กับส่วนลดสูงสุดกว่า 70% ทั้งโรงแรมที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว พร้อมการเพิ่มประสบการณ์ด้านการท่องเที่ยวที่เหนือระดับด้วยความพิเศษที่มาคาเลียสมอบให้ อาทิ ฟรีดินเนอร์ ฟรีดริ้งค์ ฟรีบัตรกำนันสถานที่ท่องเที่ยว เป็นต้น ตลอดเดือนพฤศจิกายน 2566 ถึง มกราคม 2567

นางสาวณีรนุช กล่าวต่อว่า “ภาพรวมของตลาดท่องเที่ยวในประเทศไทยปีนี้มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากปัจจัยหลายด้าน ทั้งการสนับสนุนจากภาครัฐ วิถีการทำงานแบบไฮบริดของคนออฟฟิศที่ทลายข้อจำกัดเรื่องวันการท่องเที่ยว รวมถึงผู้ประกอบการท่องเที่ยวหันมาให้ความสำคัญกับนักท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยจากปัจจัยดังกล่าวและการปรับแผนการตลาดช่วงโค้งสุดท้ายของมาคาเลียส คาดว่าในปีนี้ บริษัทฯ จะสามารถสร้างรายได้ตามเป้าที่วางไว้คือ 120 ล้านบาท”

'สรรเพชญ' ยัน!! จุดยืน 'ประชาธิปัตย์' หนุนแก้รัฐธรรมนูญ แต่ห้ามแตะหมวด 1 และ หมวด 2 หวั่นสังคมแตกแยก

เมื่อวานนี้ (25 ต.ค.66) เวลา 14.20 น. ที่ห้องประชุมสุริยัน อาคารรัฐสภา ในการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ช่วงของการอภิปรายญัตติ เรื่อง 'ขอให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาเห็นชอบ และแจ้งให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการ ให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่' ที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ พรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอ โดยมีนายสรรเพชญ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวอภิปรายสนับสนุนญัตติดังกล่าว

นายสรรเพชญ กล่าวว่า "สำหรับรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2560 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มีปัญหาทั้งเรื่องของที่มา และกระบวนการรับรอง โดยอาศัยกระบวนการจัดทำประชามติ เมื่อปี พ.ศ. 2559 ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ตามครรลองที่ควรจะเป็น เนื่องจากในตอนนั้นมีการปิดกั้นการแสดงความเห็น การรณรงค์ ที่จะเสนอเนื้อหาว่ารัฐธรรมนูญมีจุดบกพร่องอย่างไร จนมาถึงสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 ที่ผ่านมา ก็มีการเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยพรรคประชาธิปัตย์เองก็เคยมีส่วนร่วม ในการเสนอแก้ไขและได้ยื่นให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพิจารณามาแล้ว จำนวน 6 ฉบับ แต่ก็ผ่านแค่เรื่องเดียว เพราะติดอุปสรรคต่างๆ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้หลายประการ"

นายสรรเพชญ กล่าวต่อว่า "ในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญ ก็เคยมีคำวินิจฉัยไว้แล้วว่า ต้องมีการทำประชามติ ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมาก วินิจฉัยว่า รัฐสภามีอำนาจ และหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แต่ต้องจัดทำประชามติ 2 ครั้ง ครั้งแรก ให้ประชาชนลงมติว่าต้องการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และครั้งที่สอง เมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ต้องจัดให้มีการลงประชามติ ว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งหากรัฐบาลดึงดันพลิกลิ้น ไม่รับให้มีการทำประชามติ ก็เหมือนกับว่าเป็นการถ่วงเวลา ผมคิดว่าอันที่จริงแล้ว การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรเป็นวาระแรก ๆ ที่ท่านจะดำเนินการเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ท่านอย่าเอารัฐธรรมนูญมาเป็นตัวประกันให้เป็นระเบิดเวลาของตัวท่านเองเลยครับ"

อย่างไรก็ดี นายสรรเพชญ ได้พยายามกล่าวย้ำต่อว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะรัฐบาลเคยรับปากกับประชาชนไว้ตอนหาเสียงไว้ว่า จะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทันทีที่เป็นรัฐบาล แต่แม้ว่า นายสรรเพชญ จะสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และจัดให้มีการจัดทำประชามติ แต่อย่างไรก็ตาม นายสรรเพชญ ก็ได้ย้ำจุดยืนว่า "ตนและพรรคประชาธิปัตย์ มีจุดยืนสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่จะต้องไม่แตะหมวด 1 และ หมวด 2 ซึ่งจะทำให้เกิดความแตกแยกขึ้นในสังคม"

นายสรรเพชญ กล่าวในตอนท้ายว่า "เรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีความสำคัญไม่แพ้เรื่องปากท้องของประชาชน เพราะ รัฐบาลได้เคยพูดเอาไว้ตอนหาเสียง ก็ขอให้ทำตามที่ได้หาเสียงไว้ ว่าจะทำเป็นเรื่องเร่งด่วนทันที แต่เมื่อถึงการโหวตญัตติฯ ที่ประชุมสภาฯ มีมติ ตีตกญัตติดังกล่าว"

นายสรรเพชญ กล่าวว่า "รู้สึกผิดหวัง เพราะรัฐบาลเคยประกาศเอาไว้แล้วว่าจะทำการแก้ รธน. เป็นเรื่องเร่งด่วน เมื่อมีโอกาสกลับทิ้งโอกาสนี้ไป แต่ตนก็เคารพและยอมรับผลการลงมติดังกล่าว และก็หวังว่าหลังจากนี้รัฐบาลจะมีแนวทางที่ชัดเจนในการแก้ไข รธน. และรีบดำเนินการโดยเร็ว ตามที่ได้เคยหาเสียงไว้"

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 16 - 20 ต.ค. 66 จับตาปัจจัย ‘บวก-ลบ’ พร้อมแนวโน้ม 23 - 27 ต.ค. 66

อิสราเอลโจมตีฉนวนกาซาทางอากาศอย่างต่อเนื่อง และเตรียมบุกด้วยกำลังภาคพื้นดินเพื่อกวาดล้างกลุ่ม ฮามาสออกจากพื้นที่ ขณะที่กลุ่มฮิซบุลเลาะห์ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธสนับสนุนโดยอิหร่านมีที่ตั้งในเลบานอนเปิดฉากโจมตีทางตอนเหนือของอิสราเอล ขณะที่สหรัฐฯ นำเรือบรรทุกเครื่องบิน 2 ลำ ลอยลำในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเพื่อสนับสนุนอิสราเอล อย่างไรก็ดีกาตาร์และนานาชาติเจรจาต่อรองกับกลุ่มฮามาสทำให้ตัวประกัน 4 ราย ได้รับการปล่อยตัว

กระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ประกาศผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรน้ำมันต่อเวเนซุเอลาระยะเวลา 6 เดือน (มีผลบังคับใช้ถึงวันที่ 18 เม.ย. 67) จากรัฐบาลของประธานาธิบดีเวเนซุเอลา นาย Nicolas Maduro ลงนามในข้อตกลงกับพรรคฝ่ายค้าน จัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2567 ทั้งนี้เวเนซุเอลาผลิตน้ำมันดิบในเดือน ก.ย. 66 อยู่ที่ 760,00 บาร์เรลต่อวัน 

Joint Organizations Data Initiative (JODI) รายงานซาอุดีอาระเบียผลิตน้ำมันดิบในเดือน ส.ค. 66 ลดลงจากเดือน 1.1% อยู่ที่ 8.92 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำสุดในรอบ 26 เดือน และส่งออกลดลงจากเดือน 7.1% อยู่ที่ 5.58 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำสุดในรอบ 28 เดือน ทั้งนี้ ซาอุดีอาระเบียอาสาลดการผลิตน้ำมันดิบเพิ่มเติม 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ก.ค. - ธ.ค. 66

CEO ของ Saudi Aramco บริษัทน้ำมันแห่งชาติของซาอุดีอาระเบีย นาย Amin Nasser กล่าวว่าขณะนี้ซาอุดีอาระเบียมีกำลังการผลิตน้ำมันดิบส่วนเหลือ (Spare Capacity) อยู่ที่ 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน และคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกในครึ่งหลังของปี 2566 จะอยู่ที่ 103 ล้านบาร์เรลต่อวัน 

กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ประกาศซื้อน้ำมันดิบปริมาณ 6 ล้านบาร์เรล ส่งมอบเดือน ธ.ค. 66 - ม.ค. 67 เพื่อเก็บในคลังสำรองเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) และมีแผนเพิ่มปริมาณสำรองต่อเนื่องถึงเดือน พ.ค. 67 ที่ราคาเป้าหมายไม่เกิน 79 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล 

'การบินไทย' รีแคป!! 2 ทศวรรษแห่งการโบยบิน รันธุรกิจเคียงคู่ 'รักษ์โลก' ในทุกกระบวนการ

เมื่อวานนี้ (25 ต.ค.66) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จัดงานแถลงข่าว 'FROM PURPLE TO PURPOSE' การปรับเปลี่ยนเครื่องแบบพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิงที่ผสมผสานอัตลักษณ์ความเป็นไทยเข้ากับแนวคิดเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) อย่างลงตัว โดยจะเริ่มนำมาใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป โดยมี นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัทฯ พร้อมด้วย นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และคณะผู้บริหารร่วมแถลงข่าว

ตลอดระยะเวลากว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา การบินไทยดำเนินธุรกิจโดยตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากอุตสาหกรรมการบินมาอย่างต่อเนื่อง มีการปรับปรุงกระบวนการทำงานด้านต่าง ๆ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านกิจกรรมและโครงการริเริ่มต่าง ๆ ทั้งในรูปแบบการลดการใช้ทรัพยากร ลดปริมาณขยะด้วยการนำวัสดุที่ไม่ใช้งานแล้วกลับมาพัฒนาสร้างคุณค่าให้เกิดประโยชน์เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน และมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) ภายใต้แนวคิด Zero Waste Living ซึ่งประกอบด้วยหลักการหลัก 3 ประการ ได้แก่ 

FROM PLANES TO PLANET-การบินเพื่อสิ่งแวดล้อม
FROM WASTE TO WEALTH-การพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 
FROM PURPLE TO PURPOSE-จากใจสู่เป้าหมายเพื่อความยั่งยืน

เครื่องแบบชุดไทยเรือนต้นของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิงของการบินไทยเป็นที่รู้จักแพร่หลายในระดับนานาชาติ และได้รับการยอมรับในเรื่องความสวยงาม ได้รับการจดจำและเป็นสิ่งแสดงออกถึงเอกลักษณ์ที่สะท้อนถึงความเป็นสายการบินแห่งชาติที่เปรียบเสมือนประตูบานแรกที่เปิดต้อนรับผู้โดยสารจากประเทศต่าง ๆ มาเป็นระยะเวลากว่าครึ่งศตวรรษ ได้ถูกนำมาตัดเย็บด้วยเส้นไหมไทยถักทอผสมผสานกับเส้นใยแปรรูปจากวัสดุรีไซเคิล คงไว้ซึ่งความงดงามในความเป็นไทยที่เพิ่มคุณลักษณะพิเศษเฉพาะตัวด้วยประโยชน์ใช้สอยครบถ้วน โดดเด่นในเรื่องความง่ายในการดูแลรักษา การคงรูปแต่ให้ความยืดหยุ่นและคล่องตัวในการใช้งาน และยังได้มีการทดสอบในด้านความปลอดภัยที่เป็นตามมาตรฐานสากล

เครื่องแบบชุดไทยเรือนต้นดังกล่าวจะปรากฏในทุกที่สาธารณะทั่วโลกและทุกชั้นบริการบนเครื่องบิน ในฐานะเครื่องแบบของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิงของการบินไทย ซึ่งจะสวมใส่พร้อมกันตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป 

ที่ผ่านมา บริษัทได้เริ่มดำเนินการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานด้วยการนำเครื่องบินและเครื่องยนต์สมัยใหม่ที่มีอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงและการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำมาใช้ในการให้บริการ และปรับปรุงการปฏิบัติการบิน อาทิ การนำเทคนิค Single Engine Taxi และการลดน้ำหนักการบรรทุกมาปรับใช้ในการปฏิบัติการบิน เป็นต้น 

นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการปรับปรุงกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืนซึ่งรวมถึงการจัดทำแผนการนำเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF-Sustainable Aviation Fuel) มาใช้ทำการบิน และการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจด้านอื่น ๆ นอกเหนือจากกิจกรรมการบิน อาทิ กิจกรรมครัวการบิน กิจกรรมสายช่าง กิจกรรมการบริการภาคพื้น ตลอดจนกิจกรรมเพื่อสร้างความยั่งยืนทางสังคม อาทิ การสนับสนุนผลิตภัณฑ์จากภาคการเกษตรของเกษตรชาวไทยและผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่บริษัทฯ กำหนดไว้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top