'กองทุนดีอี' รุดหน้า!! ปลุกหลากเทคโนโลยีช่วยไทย ชี้!! ทุนหนุนโครงการ ขยายผลเลิศ
ต้องยอมรับว่า ในปัจจุบัน ‘กองทุนดีอี’ ถือว่ามีบทบาทสำคัญในการส่งเสริม สนับสนุน หรือให้ความช่วยเหลือหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และบุคคลทั่วไปในการดำเนินการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผ่านการให้ทุนอุดหนุนการวิจัย และพัฒนาที่เกี่ยวกับการพัฒนาดิจิทัลฯ มาอย่างต่อเนื่อง
แน่นอนว่า ‘เงินสนับสนุน’ เหล่านี้ ล้วนนำไปผลักดันนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จะช่วยพัฒนาประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ช่วยให้ความรู้ สร้างสิ่งใหม่แก่สาธารณชนได้ทั้งสิ้น
ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงผลการดำเนินงานของ ‘กองทุนดีอี’ ในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ที่ผ่านมากองทุนฯ ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเปิดรับข้อเสนอขอรับทุนสนับสนุน และระบบสนับสนุนภายใน หลากหลายด้าน ทั้งด้านการวิเคราะห์โครงการ และด้านการติดตามและประเมินผลโครงการ โดยมีการนำเอาผลสำรวจความพึงพอใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มาจัดทำเป็นแผนปรับปรุงคุณภาพการให้บริการ เพื่อพัฒนาและปรับปรุงการให้บริการแก่ผู้ขอรับทุนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผลการให้การสนับสนุนที่ผ่านมา ก็ถือว่าเดินหน้าได้อย่างยอดเยี่ยม โดยวันนี้ (25 ต.ค. 66) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้เป็นประธานเปิดกิจกรรมสัมมนาและนิทรรศการผู้รับทุนกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประจำปี พ.ศ. 2566 (กองทุนดีอี) พร้อมเผยถึงสาระสำคัญของงานนี้ ที่มีเป้าหมายน่าสนใจอยู่ตรงการ ‘สแกน’ ความคืบหน้าการดำเนินงานของผู้รับทุน พร้อมรับฟังปัญหาอุปสรรค และเสนอแนะแนวทางการยื่นขอรับทุน รวมทั้งมีการจัดนิทรรศการเพื่อการแสดงผลการดำเนินงานของโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนดีอี
ผลลัพธ์ที่ผ่านมา นายประเสริฐ พูดได้อย่างภูมิใจว่า ‘เป็นรูปเป็นร่าง’ อย่างมาก เนื่องจากมีหลากผลงานที่ต้องบอกว่า ‘แจ้งเกิด’ ได้จากการรับทุนดังกล่าว และนำไปปรับประยุกต์เป็นผลิตภัณฑ์/โซลูชัน ที่สามารถช่วยขับเคลื่อนสังคมและประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ...
เกิดโครงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับและเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เกิดโปรแกรมการชมพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ดิจิทัล ด้วยการเพิ่มทางเลือกในการเรียนรู้นอกห้องเรียนให้ประชาชนและเยาวชนของชาติได้สร้างความรู้ความเข้าใจผ่านพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ได้แบบเรียลไทม์
เกิดระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (DOPA-Digital ID) และระบบเปรียบเทียบภาพใบหน้า ที่ครอบคลุมในการเรียกข้อมูลบัตรประชาชน / ทะเบียนบ้าน / การฉีดวัคซีน โควิด-19 / การคัดและรับรองเอกสารงานทะเบียน / จองหมายเลขทะเบียนรถยนต์ / ยื่นภาษีออนไลน์ และอื่นๆ อีกในอนาคต
เกิดระบบในพัฒนาการรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน โดยใช้รถโมบายในการดูแลรักษาผู้ป่วย ซึ่งนำร่องไปแล้ว 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ / สุราษฎร์ธานี / ราชบุรี / ชลบุรี / เชียงราย และนครพนม
เกิดระบบในการให้บริการรายการข้อมูลภาครัฐ ที่ผนวกได้กว่า 50 หน่วยงาน ผ่านระบบคลาวด์ให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างเป็นธรรมและโปร่งใส
เกิดระบบดิจิทัลที่เข้าไปมีส่วนในการช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม และยกระดับวิสาหกิจชุมชนไปสู่วิสาหกิจนวัตกรรม เสนอ ที่สามารถเชื่อมต่อไปสู่ห่วงโซ่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ชาวบ้านรวยๆๆ
เกิดโครงการการพัฒนาห้องปฏิบัติการการทดลองทางเคมีในชุมชนโลกเสมือนจริง ช่วยลดข้อจำกัดจากการทำห้องปฏิบัติการทางเคมีที่มีค่าใช้จ่ายสูงได้อย่างมาก
เกิดโครงการศูนย์บริการประชาชน โดยกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพื่อให้บริการประชาชนตั้งแต่รับแจ้ง แก้ไข ป้องกัน บังคับใช้กฎหมายจนคดีถึงที่สุด
เกิดแพลตฟอร์มให้บริการการใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของประเทศไทย ให้เข้าถึงข้อมูลเพื่อรับรู้ว่าข้อกฎหมายใดที่เอื้อต่อการทำได้หรือไม่ได้
เกิดการพัฒนาชุดฝึกอบรมยานยนต์สมัยใหม่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเสมือนจริง เพื่อสร้างเสริมอาชีพให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ทุกกลุ่ม ให้มีความรู้ความสามารถ ในด้านยานยนต์ไฟฟ้า
แน่นอนว่า นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการสนับสนุนจาก ‘กองทุนดีอี’ ในวันที่ประเทศไทย มีเป้าหมายจะพาชาติก้าวไปสู่ ‘สังคมเมืองอัจฉริยะ’ ช่วยยกระดับภาครัฐ และสังคมไทยให้เท่าทันยุคแห่งเทคโนโลยี รวมถึงลดภาระภาครัฐในมิติต่างๆ ที่จะทำให้ปัญหาความโปร่งใส
ดังนั้น ผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้น ณ วันนี้ อาจจะยังเป็นส่วนหนึ่ง แต่ก็เป็นส่วนสำคัญภายใต้การผลักดันของ ‘กองทุนดีอี’ ที่ต้องทำงานหนักมากขึ้น เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนคนดีมีฝีมือให้ร่วมกันสร้างสรรค์ระบบนิเวศแห่งดิจิทัลให้เกิดขึ้นกับประเทศไทยได้แบบเต็มขั้นต่อไป...
ปัจจุบัน ‘กองทุนดีอี’ ได้สนับสนุนทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จนถึงปัจจุบัน ได้อนุมัติโครงการมาตรา 26 (1) (2) และ (6) รวมถึงการให้ทุนในกรณีสถานการณ์โควิด และการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 5G ไปแล้วจำนวน 244 โครงการ ซึ่งปัจจุบันโครงการได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้วกว่าร้อยละ 89.93 ยิ่งไปกว่านั้นทุกโครงการจะมีการนำไปขยายผลเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประชาชน สังคมและประเทศชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว