Wednesday, 30 April 2025
TheStatesTimes

ก.แรงงาน ส่งเจ้าหน้าที่ชุดที่ 2 เพิ่มอีก 5 คน ขึ้นเครื่องกองทัพอากาศ ปฏิบัติภารกิจอพยพแรงงานจากอิสราเอลกลับไทย

วันที่ 18 ตุลาคม 2566 เวลา 09.00 น. นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายภุชงค์ วรศรี ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ส่งทีมเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน เพิ่มเติมอีกจำนวน 5 คน จากชุดแรกที่ได้เดินทางไปเมื่อวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา มุ่งหน้าสู่อิสราเอลด้วยเที่ยวบินพิเศษจากกองทัพอากาศ เพื่อสมทบการปฏิบัติภารกิจอพยพแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอลกลับประเทศไทย ณ ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 พร้อมด้วยเครื่องอุปโภคบริโภค ได้แก่ ข้าวสาร อาหารแห้ง ซึ่งผู้ประกอบการภาคเอกชนบริจาคสมทบให้กระทรวงแรงงานนำไปช่วยเหลือพี่น้องแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบในอิสราเอลและไม่สามารถออกมาทำงานได้ เนื่องจากต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่หลบภัย โดยมี พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ ให้การต้อนรับ

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร  ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า หลังจากที่กระทรวงแรงงาน ได้ส่งเจ้าหน้าที่ชุดแรกเดินทางไปปฏิบัติภารกิจรับพี่น้องแรงงานไทยกลับบ้านที่อิสราเอลร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ และกองทัพอากาศ นั้น เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานได้เริ่มปฏิบัติภารกิจการอพยพ ช่วยเหลือแรงงานไทยในทันทีที่เดินทางถึงสนามบินนานาชาติ Ben Gurion อิสราเอล ซึ่งขณะนี้สามารถอพยพแรงงานไทยในจุดต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่อันตรายมาอยู่ในที่ที่ปลอดภัยแล้ว แต่อย่างไรก็ดี เนื่องจากปัจจุบันมีผู้แจ้งความประสงค์ขอกลับประเทศไทยเข้ามาจำนวนมากเกือบ 8,000 คน จึงทำให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ยังต้องการเจ้าหน้าที่สนับสนุนภารกิจ และเป็นกำลังเสริม ดังนั้นเพื่อให้การช่วยเหลือแรงงานไทยเป็นไปด้วยความรวดเร็ว และคล่องตัวมากยิ่งขึ้น กระทรวงแรงงานจึงส่งเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานในสังกัดเพิ่มเติมอีก 5 คน ซึ่งเจ้าหน้าที่เหล่านี้เป็นผู้มีจิตอาสาและสมัครใจไปปฏิบัติภารกิจ ที่มีเจตนารมย์เดียวกันที่ต้องการให้แรงงานไทยที่ต้องการกลับบ้านได้เดินทางกลับอย่างปลอดภัยและสามารถดำเนินการอพยพให้เร็วที่สุด

นายไพโรจน์ ยังกล่าวต่อว่า เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานชุดที่ 2 นี้ จะไปสมทบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานชุดแรกจำนวน 5 คน รวมเป็น 10 คน ซึ่งปฏิบัติงานในพื้นที่จุดอพยพต่างๆ รวมทั้งที่สนามบิน เพื่อทำหน้าที่ในการประสาน อำนวยความสะดวกด้านเอกสาร รวมถึงการรวบรวมแรงงานไทย นอกจากนี้ ยังได้นำเครื่องอุปโภคบริโภคไปเพิ่มเติม ได้แก่ ข้าวสาร อาหารแห้ง ที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ประกอบการ ภาคเอกชน สมาคม ตลอดจนห้างร้านต่างๆ ไปพร้อมกับเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานครั้งนี้ด้วย เพื่อมอบให้กับทูตแรงงานที่อิสราเอล นำไปแจกจ่ายให้กับแรงงานไทยที่พักพิงอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น 

“ ท่านพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมีความห่วงใยแรงงานไทยที่ไปทำงานที่อิสราเอลทุกคน และให้ความสำคัญกับภารกิจการช่วยเหลือพี่น้องแรงงานไทยในครั้งนี้  ผมและเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานทุกคนจะดำเนินการช่วยเหลืออย่างเต็มความสามารถและขอให้เชื่อมั่นว่าพวกเราจะสามารถพาแรงงานไทยทั้งหมดกลับมาได้อย่างปลอดภัย” นายไพโรจน์ กล่าวท้ายสุด

สำหรับรายชื่อทีมเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานชุดที่ 2 จำนวน 5 คน ที่เข้าร่วมปฏิบัติภารกิจในการอพยพแรงงานไทยที่อิสราเอลกลับประเทศไทยในครั้งนี้ ได้แก่1) จ่าเอก พันธ์ชิต กิจหวัง ผู้อำนวยการกลุ่มงานช่วยอำนวยการ กองกลาง สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน 2) นายธีระศักดิ์ อยู่เพชร นักวิชาการแรงงานชำนาญการพิเศษ กองพัฒนามาตรฐานและทดสอบฝีมือแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน 3) นายธนัตถ์ ช่างสาน นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการพิเศษ กองการเจ้าหน้าที่ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน 4) นายเบญจรงค์ ว่องจรรยากุล หัวหน้าสำนักงานประกันสังคมจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง สำนักงานประกันสังคมและ 5) นางสาวบุษบัญชลี ภู่แก้วเผือก นักวิชาการแรงงานชำนาญการ สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน

กลุ่ม ปตท. จัดงาน ‘PTT Group CG Day 2023’ ครั้งที่ 15 ผนึกกำลังยกระดับความโปร่งใสสู่การเป็น ‘วัฒนธรรมองค์กร’

เมื่อไม่นานมานี้ นายนพดล ปิ่นสุภา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) พร้อมด้วยผู้บริหารบริษัทในกลุ่ม ปตท. ประกอบด้วย บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP), บริษัท พีทีที  โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC), บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP), บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC), บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) และ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) ร่วมแสดงพลังขับเคลื่อนธุรกิจด้วยหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ในงาน PTT Group CG Day 2023 ครั้งที่ 15 ภายใต้แนวคิด ‘Good to Great : CG Empowering for the Future ผสานพลังร่วม รวมพลังสร้าง สู่อนาคตยั่งยืน’ ซึ่งเป็นการแสดงพลังร่วมของกลุ่ม ปตท. ที่ให้ความสำคัญและส่งเสริมการดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล และต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ

นายนพดล เปิดเผยว่า กลุ่ม ปตท. ร่วมกันจัดงาน PTT Group CG Day อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นเวทีแสดงพลังร่วมของกลุ่ม ปตท. ในการมุ่งมั่นขับเคลื่อนธุรกิจด้วยความโปร่งใสและมีธรรมาภิบาล พร้อมส่งเสริมบุคลากรในกลุ่ม ปตท. ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชันในทุกรูปแบบ และนำหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีไปปรับใช้ในการทำงานทั้งภายในและภายนอกองค์กร  

นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันของกลุ่ม ปตท. ลูกค้า คู่ค้า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับความร่วมมือด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี เตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจสู่อนาคตที่ยั่งยืน และสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน

ทั้งนี้ งาน PTT Group CG Day 2023 จัดขึ้นในรูปแบบ Hybrid เพื่อตอบสนองต่อรูปแบบการทำงานในปัจจุบัน มีผู้ร่วมงาน ณ ห้อง Synergy Hall ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ อาคาร C กว่า 400 คน และมีผู้ร่วมงานผ่านระบบออนไลน์จากทั่วประเทศ โดยกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การแสดงวิสัยทัศน์ของผู้บริหารระดับสูงของกลุ่ม ปตท. การประกวดผลงานด้าน CG ของพนักงานกลุ่ม ปตท. และการเสวนาหัวข้อ CG Talk : Great of Trust โดย ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ 

นอกจากนี้ ภายในงานมีการจัดนิทรรศการ รวมไปถึงกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้ด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี แก่ผู้บริหาร พนักงาน คู่ค้า ลูกค้า แขกรับเชิญจากหน่วยงานต่าง ๆ และสื่อมวลชน อีกด้วย

ประโยคชวนคิดจาก ‘สี จิ้นผิง’

ประโยคชวนคิดจาก ‘สี จิ้นผิง’ ประธานาธิบดีจีน ที่ได้กล่าวสุนทรพจน์ ณ พิธีเปิดการประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ (BRF) ครั้งที่ 3 

“เมื่อคุณมอบดอกกุหลาบให้ผู้อื่น กลิ่นหอมยังคงติดตรึงอยู่ที่มือคุณ”

'รัดเกล้า' ย้ำ!! ภารกิจใหญ่รัฐบาล ดันไทย 'ศูนย์กลางอาหารฮาลาล' เล็งเดินหน้า 8 มาตรการ พาอาหารฮาลาลไทยสู่เวทีโลก

(18 ต.ค. 66) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาล โดยกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) พร้อมมุ่งหน้าผลักดันนโยบายหลักด้านความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงการทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางสำหรับอุตสาหกรรมฮาลาลโลก ซึ่งไทยมีความพร้อมทั้งด้านวัตถุดิบและมีศักยภาพ ที่จะเดินหน้าสู่การเป็นแหล่งผลิตอาหารฮาลาลเติมเต็มความต้องการของหลายประเทศทั่วโลก

นางรัดเกล้ากล่าวว่า ตลาดอาหารฮาลาลเป็นตลาดที่มีศักยภาพ มีมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตเฉลี่ย 13.5% ตามสัดส่วนประชากรมุสลิมโลกที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดย อก. ได้จัดทำ 8 มาตรการสำคัญ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลของไทยสู่ตลาดโลก โดยเชื่อมโยงกับ Soft Power ในท้องถิ่น ได้แก่

1.ขับเคลื่อน Soft Power ยกระดับอาหารฮาลาลท้องถิ่นภาคใต้ของไทย เป็นอาหารแนะนำเสิร์ฟบนเครื่องบิน 

2. เชื่อมโยงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฮาลาล กับแหล่งอาหารฮาลาลในพื้นที่ พร้อมร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) แนะนำ และขึ้นทะเบียนเมนูอาหาร ตลอดจนส่งเสริมอาหารฮาลาลในเทศกาลต่าง ๆ 

3.ลดข้อจำกัด และอุปสรรคเกี่ยวกับการขอรับรองตราสัญลักษณ์ฮาลาล โดยร่วมกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เพื่อลดข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาในการรับรอง 

4.เจรจาความตกลง (MOU) เพื่อเปิดตลาดสินค้าอาหารฮาลาลใหม่ ๆ ในต่างประเทศ อาทิ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สาธารณรัฐทูร์เคีย

5.พัฒนาผู้ผลิตอาหารฮาลาลไทย ให้สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคมุสลิมรุ่นใหม่ 

6.สร้างเครือข่ายความร่วมมืออาหารฮาลาลไทยกับประเทศเป้าหมาย โดยร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์เดินสาย road show ในตลาดศักยภาพ อาทิ อาเซียน ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ 

7.พัฒนานิคมอุตสาหกรรมฮาลาลของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพื่อยกระดับศูนย์พัฒนาสินค้าอาหารของสถาบันอาหารในจังหวัดสงขลา 

8.พัฒนาและจัดทำต้นแบบ (Role Model) ในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อยกระดับสถานประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร ให้ได้มาตรฐานฮาลาลเพื่อการส่งออก รวมทั้งพัฒนาสายพันธุ์วัวใหม่ ๆ ที่มีคุณภาพสูง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการส่งออกสู่ประเทศที่มีกำลังซื้อสูง

“นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เน้นย้ำเสมอถึงความสำคัญของความมั่นคงทางอาหาร ไทยมีวัตถุดิบ และมีศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และพัฒนาคุณภาพของอาหารได้ (Food Technology) เพื่อเป็นแหล่งผลิตอาหารฮาลาลของหลายประเทศ เชื่อมตลาดไทยสู่ตลาดโลก ปูทางสู่การเป็นศูนย์กลางสำหรับอุตสาหกรรมฮาลาลของไทย” นางรัดเกล้ากล่าว

‘ตอลิบาน’ เข้าร่วมการประชุม ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ ที่กรุงปักกิ่ง ตอกย้ำมิตรภาพ ‘จีน-อัฟกานิสถาน’ หนุนค้าขายกับนานาชาติ-ฟื้น ศก.

เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 66 ผู้แทนของรัฐบาลตอลิบานอัฟกานิสถาน คาดว่า จะเข้าร่วมการประชุมเวที ‘ความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง เพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ’ (Belt and Road Forum for International Cooperation : BRF) ในกรุงปักกิ่ง ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์

บรรดาผู้เชี่ยวของจีนเชื่อว่า การมาปรากฏตัวของ ‘ตอลิบาน’ ในการประชุม ซึ่งเป็นเวทีระหว่างประเทศที่เปิดกว้างและครอบคลุมครั้งนี้ คือ ‘สิ่งตอกย้ำ’ ถึงความสัมพันธ์ที่กำลังเติบโตระหว่างจีนกับรัฐบาลอัฟกานิสถาน และตอกย้ำการสนับสนุนของจีน ในการนำพาประเทศที่ยับเยินจากสงครามมาเข้าร่วมในประชาคมโลก

ตามรายงานสำนักข่าวรอยเตอร์ ซึ่งอ้างโฆษกกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของอัฟกานิสถานนั้น ‘นายฮาจี นูรุดดิน อาซีซี’ (Haji Nooruddin Azizi) รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม พร้อมคณะจะเดินทางเยือนกรุงปักกิ่งเพื่อเข้าร่วมการประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง โดยคาดว่า ผู้แทนรัฐบาลตอลิบานคณะนี้ ต้องการเชิญชวนให้นักลงทุนเข้ามายังอัฟกานิสถาน

โดยที่ผ่านมา รัฐบาลตอลิบานอัฟกานิสถานได้มีการหารือกับจีนอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการทำเหมืองทองแดง และแผนการก่อสร้างถนนในภาคเหนือของอัฟกานิสถาน เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางขนส่งกับจีนโดยตรง

‘นายจู หย่งเปียว’ ผู้อำนวยการศูนย์อัฟกานิสถานศึกษาของมหาวิทยาลัยหลันโจว ระบุว่า การเข้าร่วมการประชุมของตอลิบานเท่ากับเป็น ‘สปอตไลต์’ ฉายส่องความพยายามของจีน ในการเปิดเวทีให้รัฐบาลตอลิบานอัฟกานิสถานได้มีโอกาสคบค้าสมาคมกับนานาชาติมากขึ้น และแสวงหาโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยทั้งรัฐบาลตอลิบานและรัฐบาลชุดก่อนของอัฟกานิสถาน ซึ่งชาติตะวันตกหนุนหลัง ต่างก็ชื่นชอบความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative : BRI) เนื่องจากคาดหวังว่า จะดึงให้จีนมาลงทุนในโครงการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ในประเทศได้นั่นเอง

การประชุม BRF ครั้งที่ 3 กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-18 ต.ค. ในกรุงปักกิ่ง มีผู้แทนจากกว่า 130 ประเทศ และ 30 องค์กรระหว่างประเทศเข้าร่วม โดยคาดว่า BRF จะเป็นเวทีที่เน้นย้ำถึงความสำเร็จอันน่าทึ่งของการก่อสร้างเชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐานภายใต้ BRI

‘นายอิ้น กัง’ นักวิจัยสถาบันเอเชียตะวันตกและแอฟริกาศึกษาแห่งสถาบันสังคมศาสตร์จีน ระบุว่า บริษัทจีนบางรายกลับมาดำเนินโครงการในอัฟกานิสถานอีกครั้งตั้งแต่ปี 2565 เช่น การขุดเจาะน้ำมัน และคงจะดีมาก หากการประชุม BRF ครั้งนี้ มีความคืบหน้าในการหารือเกี่ยวกับการทำเหมืองแร่ทองแดงขนาดใหญ่ทางภาคตะวันออกของอัฟกานิสถาน และการกลับมาดำเนินความร่วมมือในโครงการอื่นๆ มากขึ้น

‘โตโต้’ ไล่บี้ถาม ‘กทม.’ ละเว้นปฏิบัติหน้าที่หรือไม่? หลังปล่อยตลาดนัดเถื่อน ‘ซุกพนัน-ไร้ใบอนุญาต’

(18 ต.ค.66) ที่รัฐสภา นายปิยรัฐ จงเทพ สส.กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) แถลงถึงความคืบหน้าการเปิดตลาดนัดสัญจรที่มีการพนันอยู่เบื้องหลังในพื้นที่เขตบางนา ว่า เรื่องนี้เป็นมากกว่าการพนัน แต่เป็นขบวนการต้มตุ๋นประชาชนที่อาศัยพื้นที่ในตลาดดังกล่าว เพื่อหลอกลวงทรัพย์สินจากประชาชนเป็นจำนวนมากต่อเนื่องหลายเดือนติดต่อกัน ซึ่งประชาชนในพื้นที่ทราบดีว่าทุกๆ เดือน บ่อนเหล่านี้จะมาตลาดเดือนละ 10 วัน และเวียนไปเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่เขตบางนา เชื่อว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในเขตอื่นๆ อีก รวมถึงปริมณฑลด้วย ดังนั้นปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยในเขตบางนาเท่านั้น และจะต้องมีผู้มีอิทธิพลหรือผู้มีสีอยู่เบื้องหลังอย่างแน่นอน เนื่องจากเราได้ติดตามและร้องเรียนกับทุกหน่วยงานของรัฐ เริ่มจากสำนักงานเขตบางนา โดยตนทำหนังสือร้องเรียนไปเมื่อวันที่ 18 ก.ค. ซึ่งทางสำนักงานเขตฯ ตอบกลับมาว่า ตลาดกำลังขออนุญาตแต่ยังไม่ได้รับอนุญาต ตนจึงขอตั้งคำถามว่า 1. ตลาดเปิดได้อย่างไร 2. สำนักงานเขตฯ ชี้แจงว่า ได้มีการเปรียบเทียบปรับไปแล้ว แต่เมื่อตนดูในเอกสารเป็นเอกสารที่ปรับแค่เรื่องการสร้างความเดือดร้อนรำคาญ ไม่ได้ปรับตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สาธารณะว่าด้วยเรื่องตลาด และข้อบัญญัติของกรุงเทพฯ ว่าด้วยเรื่องการอนุญาตตั้งตลาด

นายปิยรัฐ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 7 ส.ค. ตนได้ทำหนังสือสอบถามไปยังกรมการปกครอง จนขณะนี้ก็ยังไม่ได้รับการติดต่อกลับมา และยังไม่ได้รับคำรับรองว่าจะดำเนินการอย่างไรจากกระทรวงมหาดไทย ตนจึงไปตั้งคำถามในสภาฯ เมื่อวันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา คิดว่าเรื่องที่จะได้รับการแก้ไขแต่ปรากฏว่า ได้มีการตั้งตลาดอีกครั้งในวันที่ 13 ต.ค. ต่อเนื่องจนถึงวันที่ 23 ต.ค. โดยประชาชนได้มีการร้องเรียนมายังตน ประชาชนรายที่เสียหายหนักที่สุดเป็นเงินมากถึง 3 แสนกว่าบาท ตนก็ถูกตราหน้าว่าส.ส. มีส่วนรู้เห็นหรือไม่ เพราะร้องเรียนไปหลายครั้งแล้วก็ไม่ได้รับการแก้ไข จึงเป็นปรากฏการณ์ที่ตนต้องไปยืนเตือนประชาชนที่จะเข้าไปใช้พื้นที่ตลาด จึงเป็นประเด็นที่ต้องมาถกเถียงกันในวันนี้

นายปิยรัฐ กล่าวต่อว่า ดังนั้นตนขอชี้แจงเพิ่มเติม 2 ประเด็น ประเด็นแรกตลาดไม่ได้มีการจัดในรูปแบบทั่วไป เนื่องจากมีกฎหมายระบุว่า ตามพ.ร.บ.สาธารณสุข ซึ่งการตั้งตลาดนัดจะต้องมีการอนุญาตจากท้องถิ่น ถึงจะสามารถจัดตั้งได้ ดังนั้นเมื่อทางกทม. ไม่ได้อนุญาต แล้วมีการจัดตั้งตลาดได้อย่างไร ล่าสุดทางกทม. ได้ออกมาแถลงว่า ไม่ได้มีการปรับในรอบล่าสุดเพราะตลาดขออนุญาตอย่างถูกต้องในปี 2564 ตนจึงตั้งคำถามว่า ใครเป็นคนขออนุญาต และขอตั้งแต่เมื่อไหร่ รูปแบบผังเป็นอย่างไร เรื่องนี้เป็นข้อผิดพลาดของกทม. หรือไม่ เป็นการละเว้นปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ประเด็นที่สอง ตลาดลักษณะนี้ไม่ได้เป็นไปตามผังตลาดอย่างแน่นอน เนื่องจากการทำตลาดนัดต้องมีผังชัดเจน ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนที่อาศัยข้างเคียง ซึ่งตลาดดังกล่าวกระทบแน่นอน ทั้งเสียง การจราจร นี่คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ตนยืนยันว่าตลาดล่าสุดที่เกิดขึ้นซึ่งใช้พื้นที่เอกชน ไม่ได้ขออนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย สำนักงานเขตฯ ต้องชี้แจงเรื่องนี้ หลังออกมาแถลงว่าไม่มีการปรับรอบนี้ ตนถือว่ารอบนี้มีปัญหา

“ส่วนสน.และตำรวจจะอ้างว่าไม่พบการพนันที่เกิดขึ้นหลังตรวจสอบแล้ว ตนมองว่าเป็นเรื่องปกติ ตำรวจมักจะไม่เจออะไรในสิ่งที่ตำรวจไม่อยากเจอ นี่คือข้อเท็จจริง เมื่อตำรวจไม่อยากเจอ เขาก็สามารถบันดาลว่าไม่เจอได้ ขอความเห็นใจจากประชาชนเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ และฝากว่าเรื่องนี้จะเกิดขึ้นในพื้นที่ของท่านหลายพื้นที่ อยู่ที่ว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะเห็นความสำคัญในเรื่องนี้หรือไม่“นายปิยรัฐ กล่าว

เมื่อถามว่า มูลค่าความเสียหายที่รวบรวมได้ขนาดนี้มีมูลค่าเท่าไหร่ นายปิยรัฐกล่าวว่า ที่มีการร้องเรียนมาถึงตนเองรวมๆ ก็เกือบล้าน รายเดียวก็ 3 แสนกว่า และรายอื่นๆ คนละ 2-5 หมื่นบาท ทั้งนี้จะเป็นคดีความหรือไม่ต้องแล้วแต่ความสะดวกผู้ร้องทุกข์ เนื่องจากรู้ว่านี่คือกลุ่มผู้มีอิทธิพล

“ผมคงไม่สามารถไประบุชัดเจนว่าเป็นบุคคลใดหรือสีไหน เพียงแต่ว่าหน่วยงานรัฐทุกหน่วยงานที่ผมไปร้องเรียน และดำเนินการไม่ว่าจะเป็นกระทรวงมหาดไทย สำนักงานเขต สถานีตำรวจ ก็ไม่ได้ดำเนินการอย่างจริงจัง แม้เราจะมีความพยายามแล้ว โดยเฉพาะตนได้มีการตั้งคำถามหารือผ่านประธานสภาไปตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย. ยังปล่อยให้มีลักษณะนี้อีก ผมก็ไม่รู้ว่าผู้ยิ่งใหญ่จะเป็นใคร และจะยิ่งใหญ่ขนาดไหน” นายปิยรัฐ กล่าว

เมื่อถามว่า จะมีการไปร้องเรียนกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือไม่ นายปิยรัฐ กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ (19 ต.ค.) ตนวางแผน และปรึกษาหารือกับพรรคว่าจะตั้งกระทู้ถามสดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หวังว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะเข้ามาตอบกระทู้ถามสดนี้ของตนเกี่ยวกับประเด็นนี้

เมื่อถามถึงกรณีที่นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ระบุว่า ถ้ามีเบาะแสหรือหลักฐาน ก็ยินดีที่จะรับเรื่องไว้ จะมีการไปพูดคุยกับนายชาดาหรือไม่ นายปิยรัฐ กล่าวว่า ตนได้ส่งเรื่องไปที่กระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่วันที่เข้ารับตำแหน่งก็ยังไม่มีความคืบหน้าอะไร ถ้านายชาดาต้องการเพิ่มเติม ตนก็พร้อมให้ความร่วมมือ เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่มีที่เขตบางนาเท่านั้น ดังนั้นในฐานะตนที่เป็นโฆษกและกรรมาธิการความมั่นคงฯ เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับความมั่นคงซึ่งจะนำเข้าหารือในที่ประชุมกมธ.ในวันพรุ่งนี้ด้วย

ส่องชะตากรรมพันธมิตรฯ ไม่คิดหลบหนีคดี ล้มละลายไม่พอ ตามลุ้นอาญาคดีสนามบินต่อ

หะแรก...ตั้งใจจะตามไปดูเรื่อง 'ซูเปอร์ แอป' ที่จะรองรับมหกรรมกระตุกเศรษฐกิจด้วยวงเงิน 5.6 แสนล้านบาทกับเขาหน่อย แต่ฟังว่าวันที่ 19 ต.ค.นี้ ท่าน รมช.คลัง 'จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์' จะนั่งหัวโต๊ะประชุมอนุกรรมการขับเคลื่อนพิจารณาเรื่องนี้กันอีกหน ก็ขอยกยอดไปว่ากันวันเสาร์ก็ละกัน 

แต่ถึงยังไงฟังการสัมภาษณ์ข้ามประเทศมาจากจีนแผ่นดินใหญ่...นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ก็ยอมรับว่าจะมีแอปฯ ใหม่ แต่ไม่ลงทุนเวอร์วังอลังการระดับ 1.2 หมื่นล้านแต่ประการใด และขอรับรองอีกต่างหากว่าเครือแสนสิริของท่านไม่เกี่ยวข้อง...

ทราบแล้วเปลี่ยน!!

จากเรื่องหมื่นล้านมาพูดถึงเรื่องพันล้านดีกว่า...เรื่องนี้ แรกเริ่มนั้นการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยหรือทอท.ฟ้องเรียกค่าเสียหายแค่ 522 ล้าน แต่ผ่านมาหลายปีดอกเบี้ยบานตอนนี้จะร่วมพันล้านบาทแล้ว และจำเลยที่ถูกฟ้อง 12 คน (เสียชีวิตไป 1 คน คือ อ.สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์) ก็ถูกศาลล้มละลายกลางสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ตามประกาศในราชกิจจา เมื่อวันที่ 17 ต.ค.2566 ที่ผ่านมา..

ครับ...'เล็ก เลียบด่วน' ขอบันทึกคดีประวัติศาสตร์นี้ไว้ให้ปรากฏในตำนานข่าว...กับเขาด้วยคน โดยใคร่สรุปว่าคดีนี้คือ คดีที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ไปชุมนุมขับไล่รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขยคุณทักษิณ ชินวัตร ที่หน้าอาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อปลายเดือน พ.ย.2551 

จบการชุมนุมพันธมิตรฯ ถูกฟ้องคดีอาญาข้อหาก่อการร้าย, ปลุกปั่น, ยุยง ฯลฯ 98 คน และถูกฟ้องคดีแพ่งจากการบินไทย, วิทยุการบินและ ทอท.จำนวนหลายคน  

จำเพาะที่ถูกฟ้องโดย ทอท.12 คน ก็ดังที่กล่าวไปแล้ว...ส่วนคดีที่การบินไทยและวิทยุการบินฟ้องแพ่งนั้นอยู่ระหว่างการพิจารณา...

แต่ที่น่าระทึกใจและมาช้ากว่าคดีแพ่งของ ทอท.ก็คือคดีอาญาของ 98 ผู้ต้องหา ตั้งแต่ระดับแกนนำอย่าง 'จำลอง-สนธิ' จนมาถึงชาวบ้านที่ช่วยเคาะกะละมังประกอบวงดนตรี คาดว่าน่าจะมีการตัดสินในปลายปีนี้หรือไม่ก็ต้นปีหน้า ซึ่งว่ากันตามหน้าเสื่อหน้าไพ่...ไม่ได้ก้าวล่วงศาลแต่ประการใด ก็น่าจะอนุมานได้ว่าต้องมีจำนวนหนึ่งที่ถูกตัดสินลงโทษจำคุก...และที่ต้องลุ้นกันแบบประมาทไม่ได้ แม้ศาลชั้นต้นจะยกฟ้องก็คือคดีชุมนุมหน้ารัฐสภา 7 ตุลา 2551 ซึ่งศาลอุทธรณ์นัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 2 พ.ย.2566 นี้...

ผิดถูกอย่างไรก็ว่ากันไป...ทุกคนต้องเคารพการตัดสินของศาล และกระบวนการยุติธรรม ซึ่งต้องชื่นชมกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ไม่มีใครคิดหลบหนีคดี จนต้องประสบชะตากรรม อย่างที่เห็นและเป็นไป...

'เล็ก เลียบด่วน'...ไม่ได้มาซ้ำเติมชะตากรรม แต่ขอขานชื่อด้วยความคารวะต่อ 11 ท่านที่ศาลพิทักษ์ทรัพย์ ประกอบด้วย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, นายสนธิ ลิ้มทองกุล, นายพิภพ ธงไชย, นายสุริยะใส กตะศิลา, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข, นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์, นายอมร อมรรัตนานนท์, นายสำราญ รอดเพชร, นายศิริชัย ไม้งาม, นางมาลีรัตน์ แก้วก่า และนายเทิดภูมิ ใจดี...

ส่วนเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองของพรรคก้าวไกลไปถึงไหนอย่างไร ค่อยว่ากันวันหลัง แต่ในชั้นนี้ฟังมาว่าไม่ค่อยเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ซักเท่าใดนัก...เอวัง!!

‘Eco-Friendly Event’ เทรนด์อีเวนต์ยุคใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อมทุกมิติ ด้วยแนวคิด ‘BCG’ ใช้พลังงานหมุนเวียน-ลดมลพิษ-ลดขยะอย่างยั่งยืน

(18 ต.ค. 66) รู้จัก ‘ธุรกิจไมซ์’ (MICE) เป็นหนึ่งในสาขาของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศเป็นอย่างมาก เนื่องจากธุรกิจไมซ์ (MICE) เป็นธุรกิจการเดินทางท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพ และมีค่าใช้จ่ายตอบแทนหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลแต่ละทริป ในอัตราที่ค่อนข้างสูงกว่าการท่องเที่ยวประเภทอื่น ด้วยเหตุนี้ ในแต่ละประเทศ จึงค่อนข้างให้ความสำคัญกับธุรกิจนี้เป็นอย่างมาก เพื่อที่จะยกระดับประเทศตนเองให้เป็นมาตรฐาน ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศในการเป็นเจ้าภาพจัดงานกิจกรรมที่สำคัญ ๆ ของภูมิภาค และเพื่อเป็นจุดหมายปลายทางของการจัดประชุมนานาทวีป เช่น ยุโรป อเมริกา เป็นต้น

‘ธุรกิจไมซ์’ (MICE) คือ ธุรกิจที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการจัดประชุม การเดินทางเพื่อเป็นรางวัล และการจัดแสดงสินค้าเข้าด้วยกัน โดยมีการจัดการอย่างมืออาชีพ ประกอบด้วยธุรกิจต่าง ๆ คือ Meetings, Incentives, Conventions (หรือ Conferencing), และ Exhibitions ซึ่งแต่ละธุรกิจมีความหมาย ดังนี้

M : Meeting คือ ‘การประชุมของกลุ่มบุคคล’ ผู้แทนจากบริษัทเดียวกัน หรือบริษัทในเครือเดียวกัน มีวัตถุประสงค์เพื่อปรึกษาหารือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันเพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งอันจะนำไปสู่ผลประโยชน์ทางสังคมและธุรกิจร่วมกัน

I : Incentive Travel คือ ‘การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล’ เป็นการจัดนำเที่ยวเป็นหมู่คณะให้กับพนักงาน เพื่อตอบแทนที่ทำงานได้ตามเป้าหมายของบริษัท โดยบริษัทผู้ให้รางวัลจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าว

C : Convention หรือ ‘Conferencing’ คือ การประชุมที่มีวัตถุประสงค์หลัก คือ การมุ่งให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมงาน มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เข้าร่วมงานที่มีการอภิปราย การเข้าสังคม ส่วนใหญ่เป็นการจัดโดยสมาคมระดับนานาชาติ ซึ่งอาจจัดแบบหมุนเวียนตามประเทศสมาชิก หรือประมูล เพื่อเป็นประเทศเจ้าภาพในการจัดงาน

E : Exhibition คือ ‘การจัดงานแสดงสินค้า’ หรือนิทรรศการนานาชาติ การแสดงผลงาน สินค้า ผลิตภัณฑ์ หรือกิจกรรมให้กลุ่มเป้าหมายชม โดยการจัดแสดงงานสินค้า มีวัตถุประสงค์หลักเชิงพาณิชย์ในการก่อให้เกิดการติดต่อซื้อขายระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ

‘ธุรกิจไมซ์’ มีความสำคัญอย่างไร?
ประเทศไทย นอกจากจะมีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลายแห่งที่น่าสนใจแล้ว ยังมีจุดเด่นที่สร้างความประทับใจให้กับชาวต่างชาติ เช่น ประเพณีและวัฒนธรรม อาหารไทย สถานที่จัดประชุม สถานที่รับรองที่ได้มาตรฐาน ที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ ทำให้ประเทศไทยเป็นที่ต้องการของตลาดธุรกิจไมซ์จากหลายประเทศ และในอนาคต คาดว่าจะมีการผลักดันให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง

นอกจากธุรกิจไมซ์ จะส่งผลโดยตรงกับธุรกิจท่องเที่ยวแล้ว ยังช่วยกระจายรายได้ไปยังธุรกิจอื่น เช่น หน่วยงานการเที่ยว องค์กรรับจัดงานอิเวนต์ ศูนย์จัดการประชุม โรงแรม ร้านอาหาร เป็นต้น ซึ่งความน่าสนใจ คือ เมื่อธุรกิจไมซ์ มีการขยายตัวและเติบโตมากขึ้น ความต้องการของตลาดแรงงานจะสูงขึ้น เนื่องจากงานที่เกี่ยวข้องกับองค์กรธุรกิจไมซ์มีความหลากหลาย

อุตสาหกรรม MICE ลดโลกร้อนได้อย่างไร?
อุตสาหกรรมไมซ์ ได้ตั้งเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน (Decarbonization Pathways) โดยครอบคลุมการลดและเลี่ยงการปล่อยคาร์บอนที่เกิดจากการจัดงาน (Carbon Reduction and Avoidance) อันจะนำไปสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net-Zero Carbon Emission)

‘การประยุกต์ใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน’ (Circular Economy) หนึ่งในกลไกของโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) มาผสานเข้ากับแนวทางการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และปรับรูปแบบกิจกรรมในการจัดงานไมซ์ ให้เกิดการลดการใช้ (Reduce) ชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) ด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน (Decarbonization)

ซึ่งนอกจากจะช่วยลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมการจัดงานไมซ์อย่างใช้ความคิดสร้างสรรค์ เพิ่มมูลค่าของงานอีเวนต์ (Value Added Event) อีกด้วยขณะเดียวกัน ผู้จัดงานไมซ์ทั่วโลก เริ่มนำแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนและคอนเซ็ปต์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาปรับใช้ในการจัดงาน โดยแนวคิดนี้ ไม่เพียงแต่จะสามารถสร้างภาพลักษณ์ในเชิงบวก แต่ยังช่วยลดต้นทุนการจัดงานได้อีกทางหนึ่ง

ตัวอย่างการจัดงานที่ลดคาร์บอน และนำหลักการ ‘BCG Model’ มาใช้
เมื่อธุรกิจไมซ์ นำแนวคิดรักษ์โลกมาใช้ยกระดับสถานที่จัดงานให้เป็น Green Venue ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ร่วมกับการประหยัดพลังงานภายในงาน และใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการนำเรื่อง ‘Eco-Friendly’ มาเป็นคอนเซ็ปต์หลักของงาน รวมถึงการจัดการและลดปริมาณขยะ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ช่วยสร้างรากฐานความยั่งยืน (Sustainability) ให้แก่โลก อีกทั้งเพิ่มภาพลักษณ์ให้กับองค์กร ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ดังตัวอย่างต่อไปนี้

‘โอลิมปิกเกมส์ 2020 กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น’ อีเวนต์ระดับโลก ที่เชื่อมโยง BCG Model ครบทุกมิติ แบบ ‘Eco-Friendly Event’ อย่าง มหกรรมโอลิมปิกเกมส์ 2020 กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นงานที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก มีการวางแผนที่ดีในหลากหลายมิติ ตั้งแต่ กระแสไฟฟ้าที่ใช้ในสถานที่แข่งขัน มาจากแหล่งผลิตพลังงานหมุนเวียน โดยไฟฟ้ามาจากพลังงานชีวมวลจากไม้ที่เหลือจากการก่อสร้าง หรือการตัดไม้ และจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยบางส่วนมาจากการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ และสึนามิ เมื่อปี 2011 ระบบการขนส่งใช้รถยนต์ไฟฟ้า ไฟที่ถูกจุดในกระถางคบเพลิงและตลอดการวิ่งคบเพลิงทั่วญี่ปุ่น ก็ใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจน รวมถึงแหล่งพลังงานบางส่วนในหมู่บ้านนักกีฬา มาจากพลังงานไฮโดรเจนเช่นกัน ไม่เว้นแม้แต่เหรียญรางวัลและโพเดียมที่ทำจากวัสดุรีไซเคิล ไปจนถึงการสร้างหมู่บ้านนักกีฬาที่เมื่อรื้อถอนแล้ว วัสดุก่อสร้างจะถูกนำกลับมาใช้ใหม่

ซึ่งหากการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกใช้วิธีการจัดงานแบบเดิม จะสร้างคาร์บอนฟุตพรินต์มากถึง 3,010,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ (t-CO2) แต่ด้วยความพยายามลด และหลีกเลี่ยงการปล่อยคาร์บอนด้วยวิธีต่าง ๆ ทำให้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 280,000 ตัน หรือเทียบเท่ากับปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานต่อปีมากกว่า 30,000 ครัวเรือน ถือเป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจ ให้กับผู้จัดงานที่ต้องการจัดอีเวนต์แบบรักษ์โลก

‘ศูนย์ประชุมนานาชาติบาร์เซโลนา’ ที่สามารถลดและควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีการผลิตพลังงานและพลังงานชีวภาพทดแทนแทนการใช้พลังงานเชื้อเพลิง ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 175 ตันต่อปี

‘งาน Expo CIHAC ที่ประเทศเม็กซิโก’ ที่สร้างโดยใช้วัสดุต้นทุนต่ำ และใช้แนวคิดการแปรรูปวัสดุเหลือใช้ให้มีมูลค่าเพิ่มแบบ Upcycling ด้วยการนำลังใส่น้ำอัดลมกว่า 5,000 ลัง มาสร้างเป็นบูธแสดงงาน ใช้ต้นทุนต่ำและไม่สร้างขยะเพิ่มเติมหลังจบงาน ทั้งยังสามารถนำกลับไปใช้ใหม่ได้อีกด้วย

‘Tote Bag Music Festival เทศกาลดนตรีรักษ์โลกของเมืองไทย’ ผู้จัดงาน ธุรกิจไมซ์ หลายราย เริ่มหันมาใช้ BCG Model เป็นแนวทางในการจัดงาน เช่น แผนคอนเสิร์ตรักษ์โลก จัดโดย ‘กรีนเวฟ’ ใช้คอนเซ็ปต์รักษ์โลกอย่างเต็มรูปแบบ เป็นคอนเสิร์ตแรกในไทยที่วางแผนการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ รวมทั้งลดพลังงานสิ้นเปลืองภายในงาน ไม่ว่าจะเป็น เครื่องปั่นไฟพลังงานทางเลือกแทนน้ำมันดีเซล การให้ผู้ร่วมงานพกถุงผ้า แก้ว จาน ช้อน ส้อม มากันเอง เพื่อช่วยลดปริมาณขยะ รวมทั้งการใช้ของทุกอย่างที่สามารถนำมาใช้ซ้ำ หรือนำไปรีไซเคิลได้ทั้งหมด เช่น หลังคาจากเวทีคอนเสิร์ต หลังจบงานจะถูกส่งต่อเพื่อไปทำหลังคาให้กับโรงเรียนในจังหวัดเชียงราย นับเป็นเทศกาลดนตรีในคอนเซ็ปต์ ‘ZERO WASTE’ อย่างแท้จริง

‘ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์’ ได้นํานวัตกรรมเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการจัดการด้านความยั่งยืน ตั้งแต่สถานที่ตั้งและการเดินทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าใต้ดิน และใกล้กับป้ายรถประจำทาง ทำให้ผู้เข้าร่วมสามารถเดินทางด้วยบริการขนส่งสาธารณะ เป็นการช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในการเดินทาง ตลอดจน มีบริการที่ชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า

ขณะที่อาคาร ลดการใช้แสงจากหลอดไฟ โดยเพิ่มแสงธรรมชาติและระบบไหลเวียนอากาศจากธรรมชาติทั่วอาคาร และติดตั้งอุปกรณ์และใช้สุขภัณฑ์แบบประหยัดน้ำทั่วทั้งอาคาร ใช้ระบบน้ำหยดและนำน้ำกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ ทำให้ลดการใช้น้ำได้ถึง 45%

รวมถึงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีการคำนวณการใช้พลังงานแบบเรียลไทม์ และติดตามการใช้งาน รวมทั้งใช้ระบบบริหารจัดการและควบคุมอาคารอัตโนมัติ ผนวกกับการตรวจสอบและการควบคุมอาคารอัจฉริยะ มีการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 5,400 ตารางเมตร บนชั้นดาดฟ้าของอาคารเพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียน ติดตั้งไฟ LED ในห้องจัดแสดงนิทรรศการทั้งหมด เพื่อลดการใช้พลังงาน และปรับความสว่างในบริเวณ Lobby และพื้นที่ร้านค้าให้สอดคล้องกับแสงธรรมชาติ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นอกจากนี้ ยังมีแนวปฏิบัติการก่อสร้างสีเขียว ประกอบด้วยการควบคุมมลพิษในการก่อสร้าง และแนวทางการจัดการของเสียจากการก่อสร้าง มุ่งเน้นการลดปริมาณขยะจากการก่อสร้างที่ต้องนำไปกำจัด ด้วยการกลบฝังได้มากกว่า 75%

สรุปได้ว่า การจัดงานแบบ ‘Eco-Friendly Event’ รักษ์โลก สามารถทำได้โดยยึดหลักการ 3 ขั้นตอน ได้แก่

1.) Eco-Friendly ตั้งแต่เริ่มเดินทาง ผู้จัดงานควรเลือกสถานที่จัดงาน ที่สามารถเดินทางสะดวกด้วยระบบขนส่งสาธารณะ อย่างรถไฟฟ้าหรือรถโดยสารประจำทาง เพื่อลดการใช้รถส่วนตัว

2.) เลือกสถานที่จัดงานที่ใส่ใจในความยั่งยืน ผู้จัดงานควรเลือกสถานที่จัดงานที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน (Sustainability) และได้รับการรับรองจากมาตรฐานต่าง ๆ รวมถึงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของสถานที่ เช่น ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประหยัดน้ำ-ไฟ มีมาตรฐาน ISO 20121 ในการบริหารการจัดงานอีเวนต์อย่างยั่งยืน

3.) ลดขยะในทุกมิติของงานอีเวนต์ เริ่มจากลงทะเบียน และอัปโหลดข้อมูลต่าง ๆ ลงช่องทางออนไลน์ทั้งหมด เพื่อลดการใช้กระดาษ ส่วนอาหารและของว่างสำหรับผู้เข้าร่วมงาน ควรเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้ และของที่ระลึกควรเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเช่นกัน รวมถึงวางแผนลดการสร้างขยะจากอาหาร ด้วยการส่งต่ออาหารที่สั่งมาเกินให้แก่ผู้ขาดแคลน โดยติดต่อมูลนิธิรักษ์อาหาร (SOS Thailand) เพื่อช่วยประสานงานรับอาหารส่วนเกินจากภาคธุรกิจ และส่งต่อให้ผู้ขาดแคลนโดยตรง

ทั้งหมดนี้ คือทิศทางที่ผู้ประกอบการไมซ์กับแนวทาง BCG Model จะเดินไปด้วยกัน เพื่อดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และโลก พร้อมทั้งสร้างจุดแข็งและความแตกต่างให้ขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจร่วมกันอย่างยั่งยืน (Sustainability)

19 ตุลาคม ของทุกปี กำหนดเป็น วันเทคโนโลยีของไทย เทิดพระเกียรติ ร.9 ‘พระบิดาเทคโนโลยีไทย’

วันที่ 19 ตุลาคมของทุกปี กำหนดเป็น วันเทคโนโลยีของไทย เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ในฐานะที่ทรงเป็น ‘พระบิดาแห่งเทคโนโลยีไทย’

จุดเริ่มต้น วันเทคโนโลยีของไทย มาจากเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2515 หรือเมื่อ 51 ปีที่แล้ว เมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ได้ทรงควบคุมบัญชาการและอำนวยการสาธิตฝนเทียมสูตรใหม่เป็นครั้งแรกของโลก ณ เขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี โดยใช้สนามบินบ่อฝ้าย อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นฐานปฏิบัติการ และประสบความสำเร็จฝนตกตามเป้าหมายอย่างแม่นยำ ซึ่งสร้างความประทับใจให้แก่คณะผู้แทนรัฐบาลสิงคโปร์และผู้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเป็นอย่างมาก

การสาธิตฝนเทียมในครั้งนั้นถือเป็นต้นกำเนิดเทคโนโลยีฝนหลวงที่พัฒนาเป็นการทำฝนเทียมของ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ทำอยู่ในปัจจุบัน และเพื่อจารึกไว้เป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ รัฐบาลจึงมีมติให้เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และกำหนดให้วันที่ 19 ตุลาคมของทุกปีเป็น ‘วันเทคโนโลยีของไทย’ เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดีและรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด 

พระองค์ได้ทรงศึกษาค้นคว้าวิจัย และทรงนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ตลอดจนเป็นการแสดงเทคโนโลยีที่คิดค้นประดิษฐ์ และพัฒนาโดยคนไทย เพื่อเป็นการกระตุ้นให้สาธารณชนเกิดความเชื่อมั่นและเข้าร่วมพัฒนาเทคโนโลยีของไทย นอกจากนี้ พระองค์ยัง ยังทรงศึกษาค้นคว้าวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ก่อกำเนิดเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากมายอีกด้วย

'อ.พงษ์ภาณุ' ห่วง!! สังคมไทยสูงวัยไม่พอ แต่คนรุ่นใหม่ เมินมีลูก เพราะห่วงภาระบาน

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น สังคมไทยใต้ปีกสังคมสูงวัย และ สถานการณ์ในยุโรปที่ต้องจับตา เมื่อวันที่ 22 ต.ค.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

10 ปีที่แล้วโลกเริ่มมีประชากรสูงวัยจากประเทศที่ร่ำรวย เช่น ประเทศญี่ปุ่น สังคมผู้สูงอายุจึงเริ่มเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ได้แก่ คนเสียชีวิตช้าลง คนเกิดน้อยลง ซึ่งปัญหาเด็กเกิดน้อยลงเป็นปัญหาสำคัญในปัจจุบัน โดยอัตราที่เหมาะสมคือแต่ละครอบครัวต้องมีบุตร 2.1 คน ตามหลักเศรษฐศาสตร์ แต่ปัจจุบันนี้อัตราการเกิดต่ำกว่า 2.1 คน 

สำหรับประเทศไทยอัตราการเกิดเหลือเพียง 1.3 คน ต่อครอบครัว แสดงว่า Generation ถัดไปประชากรจะเริ่มลดลง 

นิด้าโพลสำรวจพบกลุ่มตัวอย่างคนไทย ปรากฏว่าสาเหตุที่ไม่อยากมีลูก…

- ร้อยละ 38.32 ระบุว่า ไม่อยากเพิ่มค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงลูก และเป็นห่วงว่าลูกเราจะอยู่อย่างไรในสภาพสังคมปัจจุบัน 
- ร้อยละ 37.72 ระบุว่า ไม่อยากมีภาระต้องดูแลลูก 
- ร้อยละ 33.23 ระบุว่า ต้องการชีวิตอิสระ 
- ร้อยละ 17.66 ระบุว่า กลัวเลี้ยงลูกได้ไม่ดี 
- ร้อยละ 13.77 ระบุว่า อยากให้ความสำคัญกับงานมากกว่า 
- ร้อยละ 5.39 ระบุว่า สุขภาพตนเองหรือคู่ครองไม่ค่อยดี 
- ร้อยละ 2.10 ระบุว่า กลัวพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์จะไม่ดี ทำให้ลูกที่เกิดมาไม่ดีไปด้วย
- และร้อยละ 0.90 ระบุว่า กลัวกรรมตามสนองเนื่องจากเคยทำไม่ดีไว้กับพ่อ แม่ 

ทั้งนี้ เมื่อถามถึงมาตรการที่รัฐควรสนับสนุนเพื่อให้คนไทยมีลูก…

- ร้อยละ 65.19 ระบุว่า สนับสนุนการศึกษาฟรีในประเทศจนถึงขั้นสูงสุดสำหรับคนมีลูก
- ร้อยละ 63.66 ระบุว่า รัฐอุดหนุนค่าเลี้ยงดูลูกจนถึงอายุ 15 ปี 
- ร้อยละ 30.00 ระบุว่า ลดภาษีเงินได้สำหรับคนมีลูก 
- ร้อยละ 29.47 ระบุว่า เพิ่มวันลาให้แม่และพ่อในการเลี้ยงดูลูก 
- ร้อยละ 21.91 ระบุว่า มีเงินรางวัลจูงใจที่สูงสำหรับเด็กแรกเกิด 
- ร้อยละ 19.92 ระบุว่า อุดหนุนทางการเงินแม่ พ่อเลี้ยงเดี่ยว 
- ร้อยละ 17.18 ระบุว่า พัฒนาและอุดหนุนการเงินศูนย์เลี้ยงเด็กเล็ก 
- ร้อยละ 9.85 ระบุว่า มีบริการฟรี ศูนย์ผู้มีบุตรยาก 
- ร้อยละ 7.48 ระบุว่า เพิ่มภาษีเงินได้สำหรับคนไม่มีลูก 
- ร้อยละ 5.50 ระบุว่า รัฐเปิดช่องทางในการอุ้มบุญมากขึ้น
- ร้อยละ 4.89 ระบุว่า รัฐมีหน่วยงานจัดหาคู่ให้กับคนไทย 
- ร้อยละ 2.75 ระบุว่า รัฐไม่จำเป็นต้องมีมาตรการใด ๆ 
- และร้อยละ 0.76 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

อาจารย์พงษ์ภาณุ กล่าวถึงตัวอย่างมาตรการที่รัฐควรสนับสนุน เช่น ประเทศสิงคโปร์ มีลูกจ่ายทันที 10,000 เหรียญ และจากผลการสำรวจของนิด้าโพลข้างต้นนี้ สรุปได้ว่าคนไทยอยากให้รัฐจัดสวัสดิการให้ แต่ถ้าเป็นการให้ทุนการศึกษาบุตรหลาน น่าจะเหมาะสมกว่าการสนับสนุนการศึกษาฟรีในประเทศจนถึงขั้นสูงสุดสำหรับคนมีลูก ส่วนปัญหาผู้สูงอายุที่ส่งผลกระทบ ได้แก่...

1.แรงงาน ดูผลของเศรษฐกิจซึ่งขึ้นอยู่กำลังแรงงาน ทุน และเทคโนโลยี เห็นว่าจะเกิดภาระค่าใช้จ่ายของผู้สูงวัยขึ้น ถ้าไม่ได้เก็บออมไว้ก่อนอาจประสบปัญหาได้ 

2.ทุน ถึงแม้ผู้สูงอายุมากขึ้นทำให้เกิดการออมจากกลุ่มผู้สูงอายุมากขึ้นก็เป็นไปได้ แต่บางส่วนที่ไม่มีรายได้ ไม่มีบำนาญก็ไม่สามารถลงทุนได้ 

3.เรื่องเทคโนโลยี ผู้สูงวัยมีประสบการณ์มากกว่า แต่เด็กรุ่นใหม่มีความคิดสร้างสรรค์มากกว่าต้องผสมผสานให้ดี โดยรัฐควรมองว่าทำอย่างไรให้มีแรงงานเพิ่มมากขึ้น ทำอย่างไรให้คนเกิดมากขึ้นได้หรือไม่ หรือขยายอายุเกษียณราชการให้ช้าลง ซึ่งควรพิจารณาโดยเร็ว 

อีกประเด็นคือ ควรเคลื่อนย้ายแรงงานจากต่างประเทศเข้ามาในไทยโดยเฉพาะแรงงานมีฝีมือ เช่น แพทย์ พยาบาล วิศวกร ซึ่งถึงเวลาแล้วที่ควรเปิดเสรีแรงงานระดับมืออาชีพเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน ถ้ารัฐไม่เร่งแก้ไขจะประสบปัญหากับการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะในภาคบริการในอนาคต

นอกจากเรื่องสังคมผู้สูงวัยแล้ว อาจารย์พงษ์ภาณุ ได้เล่าถึง สถานการณ์เศรษฐกิจยุโรปในปัจจุบัน โดยกล่าวถึงที่มาของการรวมกันของสหภาพยุโรปหรือ EU ซึ่งยุโรปในอดีตเกิดสงครามเยอะมาก การรวมตัวกันของ EU ก็เพื่อป้องกันการเกิดสงคราม และทำให้ยุโรปมีอำนาจต่อรองมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศในยุโรปที่มีขนาดเล็ก เกี่ยวกับการค้าขายและการลงทุน 

อย่างไรก็ตาม ยุโรปก็ยังมีข้อเสีย โดยมีวิกฤตเกิดขึ้นมาเป็นครั้งคราว เช่น วิกฤตหนี้สาธารณะยุโรป ประสบปัญหาเศรษฐกิจรุนแรง ซึ่งวันนี้ต้องยอมรับว่าภาคธุรกิจของจีนและสหรัฐอเมริกาขึ้นมาโดดเด่นกว่ายุโรปแล้ว เพราะธุรกิจยุโรปยังอยู่ในอุตสาหกรรมเก่า ซึ่งจีนและสหรัฐอเมริกา มีธุรกิจไอที ที่ก้าวนำยุโรปไปแล้ว 

ขณะเดียวกันประเทศที่เป็นแกนกลางของยุโรป เช่นเยอรมนี ตอนนี้เศรษฐกิจก็กำลังเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสงครามยูเครน-รัสเซีย อีกทั้งยังได้รับผลกระทบจากตลาดรถยนต์หดตัวลงอย่างรวดเร็ว และมีคู่แข่งรถยนต์พลังงานไฟฟ้า EV จากจีน ซึ่งแตกต่างกับประเทศฝรั่งเศส ที่ลงทุนทางโครงสร้างพื้นฐานอย่างมหาศาล เศรษฐกิจเข้มแข็ง โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย สินค้า Luxury แถมยังได้ลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี่เพื่อรถยนต์พลังงานไฟฟ้า EV ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในฝรั่งเศส รวมถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ทำรายได้หลัก ซึ่งฝรั่งเศสมีนโยบายหลายอย่างที่สนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างแท้จริง 

ขณะที่นโยบายด้านอาหารและเครื่องดื่มของฝรั่งเศสก็ส่งเสริมให้เกิดการเติบโต ซึ่งแตกต่างกับไทยที่มีนโยบายเก็บภาษีเครื่องดื่มแพงมาก เพราะฉะนั้นประเทศไทยควรมองจุดนี้ แล้วหันมาส่งเสริมนโยบายด้านอาหารและเครื่องดื่มให้มากขึ้นด้วย 

ส่วนบทบาทของไทยกับยุโรป มองว่าควรเจรจาเปิดการค้าเสรี ไทย-ยุโรป อย่างเร่งด่วนเพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการแข่งขัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างมาก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top