Friday, 2 May 2025
TheStatesTimes

‘พักชำระหนี้เกษตรกร’ นโยบายฮิตใช้โกยคะแนน ชนวนเหตุทำลาย ‘วินัยทางการเงิน’ ของลูกหนี้

หลัง ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้เกษตรกรรายย่อย ตามนโยบายรัฐบาลระยะที่ 1 ย่อมมีเสียงทั้งการสนับสนุน และคัดค้าน ในนโยบายดังกล่าว ว่าจะเป็น ‘การช่วยเหลือ’ อย่างแท้จริง หรือเป็น ‘การซ้ำเติม’ เกษตรกรมากกว่าเดิมกันแน่

มาตรการพักชำระหนี้เกษตรกร ภายใต้หลักการ ‘ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้’ กำหนดให้มีการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ธ.ก.ส. ผู้ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรระยะเวลา 3 ปี โดยมีรายละเอียดมาตรการ ดังนี้

1. มาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล โดยเกษตรกรลูกค้ารายย่อย ธ.ก.ส. จำนวน 2.698 ล้านคน ที่มีต้นเงินคงเป็นหนี้คงเหลือทุกสัญญารวมกัน ณ วันที่ 30 ก.ย.2566 ไม่เกิน 300,000 บาท และมีสถานะเป็นหนี้ปกติและ/หรือเป็นหนี้ค้างชำระ (หนี้ 0-3 เดือน และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPLs) ได้รับสิทธิ์ในการพักชำระหนี้ระยะแรกดำเนินการ 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2566 ถึงวันที่ 30 ก.ย.2567

เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ต้องการรับสิทธิ สามารถแสดงความประสงค์เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ดังกล่าวได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2566 ถึงวันที่ 31 ม.ค.2567 สำหรับลูกหนี้ที่มีสถานะเป็น NPLs จะสามารถเข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ได้ เมื่อได้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของ ธ.ก.ส.แล้ว

2. การพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ธ.ก.ส. ผู้ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ดังกล่าวภายใต้หลักการ ‘ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้’ เพื่อเป็นการบรรเทาภาระหนี้สินเกษตรกรอย่างบูรณาการ ธ.ก.ส. ร่วมกับส่วนงานราชการและหน่วยงานภายนอกดำเนินการอบรมเกษตรกรคู่ขนานไปกับมาตรการพักชำระหนี้ที่ได้เพิ่มโอกาสให้เกษตรกรในการนำเงินไปลงทุนปรับเปลี่ยนหรือขยายการประกอบอาชีพ โดยการอบรมอาชีพเกษตรกรจะช่วยฟื้นฟูเกษตรกรให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างมีศักยภาพ มีความสามารถในการแข่งขัน มุ่งสร้างรายได้ให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต พร้อมทั้งเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมวินัยการเงินซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในระยะยาว

นอกจากนี้ เพื่อให้การกำหนดมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการ SMEs เป็นไปอย่างบูรณาการและให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดมาตรการในการพักหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) เป็นประธาน โดยคณะทำงานมีอำนาจและหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ และกำหนดมาตรการในการพักชำระหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการ SMEs รวมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ไขสถานการณ์หนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการ SMEs

ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ‘นโยบายพักชำระหนี้’ จะมีประกาศเป็นนโยบายจากพรรคการเมืองหลาย ๆ พรรค เพื่อที่จะหาเสียงจากกลุ่มเกษตรกร ลูกหนี้รายย่อย ซึ่งนักวิชาการหลาย ๆ ท่าน ก็ได้ให้ความเห็นคล้ายกันว่า นโยบายนี้ จะทำลายวินัยทางการเงินของลูกหนี้ ในวันข้างหน้า และมันก็ค่อย ๆ ปรากฏให้เห็นเป็นระยะ ๆ มาตลอด

การพักชำระหนี้ ถ้าในแง่เพื่อการส่งเสริมกระตุ้นเศรษฐกิจ การนำเงินที่จะต้องมาชำระหนี้ มาใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภค หรือ ลงทุนในกิจกรรมที่ก่อให้เกิดรายได้ ย่อมจะเป็นประโยชน์ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 

โครงการพักชำระหนี้ ‘ไม่ได้ห้ามส่งหนี้’ !! หากลูกหนี้ ที่เข้าร่วมโครงการนี้ สามารถที่จะบริการจัดการการเงินอย่างมีวินัยได้ ย่อมจะส่งผลดี และเกิดประโยชน์กับตัวลูกหนี้ได้ ดอกเบี้ยไม่เดิน จัดสรรเงินที่ไม่ต้องส่งชำระหนี้ มาลงทุนให้เกิดรายได้ แล้วแบ่งชำระหนี้บางส่วน จัดสรรใช้จ่าย อย่างเข้มงวด 3 ปี ย่อมบรรเทาภาระ แต่...จากอดีตที่ผ่านมา หากไม่มีอคติ ย่อมมองเห็นได้ว่า ปัจจุบัน มันเริ่มกลายเป็นการเสพติดพักหนี้ ที่ลูกหนี้ เฝ้ารอคอย ในทุกการเลือกตั้ง

'ศรีสุวรรณ' หอบหลักฐานร้อง 'ป.ป.ช.' สอบจริยธรรม 'สส.ก้าวไกล' หลังเหยื่อสาวแฉ!! มีพฤติกรรม ลามก-คุกคาม-ลวนลาม

(12 ต.ค.66) เวลา 10.30 น. ที่สำนักงานใหญ่ ป.ป.ช.นนทบุรี นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน ได้เดินทางมายื่นคำร้องพร้อมเอกสารพยานหลักฐานให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ดำเนินการไต่สวนและมีความเห็นกรณีมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดปราจีนบุรี มีพฤติการณ์แชตไลน์กับหญิงสาวซึ่งเป็นอาสาสมัครพรรคก้าวไกลในลักษณะลามกอนาจาร และอาจมีการข่มขู่คุกคามด้วยนั้น เข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากมีโซเชียลมีเดีย และสื่อมวลชนได้รายงานสอดคล้องต้องกันว่ามีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จังหวัดปราจีนบุรี ถูกร้องเรียนว่ามีพฤติกรรมไม่เหมาะสมทางเพศ แชตหาทีมงานอาสาสมัครของพรรคสาว ซึ่งมีทั้งภาพและคำลามกมากมาย ซึ่งบทสนทนาส่อแววพฤติกรรมคุกคามทางเพศ ทั้งยังมีการลวนลามอีกด้วย หลายกรรม หลายวาระ

ซึ่งกรณีดังกล่าว หญิงสาวซึ่งเป็นทีมงานอาสาสมัครของพรรคก้าวไกลคนดังกล่าว ได้อ้างว่าได้มีหนังสือร้องเรียนไปยังพรรคก้าวไกลเพื่อให้ดำเนินการสอบสวน เอาผิด และหรือลงโทษ สส.รายดังกล่าวตามข้อบังคับพรรคก้าวไกลมานานแล้ว ตั้งแต่เดือนสิงหาคมว่าทางพรรคก้าวไกลยังไม่มีการสรุปหรือดำเนินการลงโทษ สส.รายดังกล่าวแต่อย่างใด แต่กลับมีข้ออ้างสารพัด ซึ่งผิดวิสัยของพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ ที่หาเสียงมาโดยตลอดว่าจะทำการเมืองอย่างตรงไปตรงมา

กรณีที่เกิดขึ้นแม้ ส.ส.คนดังกล่าวจะออกมาไลฟ์สดชี้แจงเรื่องดังกล่าวแล้ว ในทำนองถูกดิสเครดิตเพื่อหวังผลการทำงานตรวจสอบในเชิงพื้นที่นั้น ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน เพราะหลักฐานการแชตไลน์ที่ปรากฏนั้น หากเป็นเรื่องจริง ย่อมจะเข้าข่ายการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ.2561 ในหลาย ๆ ข้อ อาทิ ข้อ 6 ข้อ 9 ข้อ 11 ข้อ 12 ข้อ 13 ข้อ 17 และข้อ 20 ประกอบ ข้อ 27 และยังเข้าข่ายความผิดตาม พรบ.คอมพิวเตอร์ 2550 แก้ไขปี 2560 อีกด้วย

เหตุดังกล่าวองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน จึงนำความพร้อมพยานหลักฐานมาร้องให้ ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนและเอาผิด สส.รายดังกล่าวตามครรลองของกฎหมาย เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อนักการเมืองรายอื่นๆ ต่อไป

3 การเคลื่อนไหวใหญ่ของญี่ปุ่น ทวงคืนการเติบโตทางเศรษฐกิจ

👉การเคลื่อนไหวครั้งสำคัญของญี่ปุ่น ก้าวสู่ยุคใหม่ของการเติบโตทางเศรษฐกิจ นั่นก็คือ การออกมาตรการล่าสุดภายใต้กฎหมายฉบับสำคัญที่มุ่งส่งเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น มีด้วยกัน 3 ด้าน ได้แก่

1.เทคโนโลยีคลาวด์
รัฐบาลญี่ปุ่นได้สนับสนุนโครงการคลาวด์ ของ ‘SAKURA internet’ โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการพัฒนาด้าน AI ของญี่ปุ่น รวมทั้งเร่งให้เกิดการวิจัยและพัฒนา generative AI และการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ภายในประเทศ

2.เซมิคอนดักเตอร์ 
รัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจให้เงินทุนส่งเสริมอุตสาหกรรมชิปเซมิคอนดักเตอร์ 8 โครงการ รวมถึงเงินทุนสนับสนุนให้กับ ‘SHINKO Electric Industries’ สูงถึง 17.8 พันล้านเยน หรือประมาณ 4.4 พันล้านบาท เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับซัพพลายเชนด้านเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศที่ครอบคลุมอุปกรณ์การผลิต ชิ้นส่วนและส่วนประกอบ วัตถุดิบ ตลอดจนการเป็นฐานการผลิต

3.เครื่องจักรกลและหุ่นยนต์อุตสาหกรรม
รัฐบาลญี่ปุ่นได้อนุมัติแผนการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรกลและหุ่นยนต์อุตสาหกรรม จำนวน 3 หมื่นล้านเยน หรือคิดเป็น 7.5 พันล้านบาท ภายใต้กฎหมายการส่งเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจเป็นครั้งแรก ซึ่งมุ่งไปยังผู้ผลิตหลักของกลุ่มเครื่องจักรกลและหุ่นยนต์อุตสาหกรรมในญี่ปุ่น โดยรัฐบาลต้องการเสริมสร้างขีดความสามารถในการผลิตอุปกรณ์ควบคุมที่มีผลกับการพัฒนาประสิทธิภาพของเครื่องจักรกลและหุ่นยนต์อุตสาหกรรม อุปกรณ์ควบคุมนี้จะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับญี่ปุ่นซึ่งมีความสำคัญต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ

14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ‘รัฐบาลทหาร’ ใช้กำลังสลายการชุมนุม จนนำไปสู่ ‘วันมหาวิปโยค’ ของคนไทย

ครบรอบ 50 ปี 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เหตุการณ์ครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เมื่อ นิสิต นักศึกษา และประชาชน ออกมาประท้วงรัฐบาลทหารของ จอมพลถนอม กิตติขจร อย่างรุนแรง

จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 มาจาก นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ออกมา เรียกร้องรัฐธรรมนูญ สถานการณ์ในตอนนั้นเกิดจากการสั่งสมกดดันของการเมืองการปกครองของไทย ที่ ถูกปกครองในระบอบเผด็จการทหารมาเป็นเวลาถึง 15 ปี นับตั้งแต่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหารในปี 2501 จนมาถึงการรัฐประหารซ้ำ ในปี 2514 นำโดย จอมพลถนอม กิตติขจร

แต่หลังจากนั้น รัฐบาลจอมพลถนอม ตอบโต้ด้วยควบคุมตัวกลุ่มบุคคล 13 คน หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘13 กบฏรัฐธรรมนูญ’ ที่บางส่วนออกมาแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม พร้อมตั้งข้อหาหลายข้อ รวมทั้งข้อหากระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์

การจับกุมตัวบุคคลกลุ่มดังกล่าวทำให้เกิดการประท้วงเริ่มต้น ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เดินทางไปตามถนนราชดำเนิน ผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปยังลานพระบรมรูปทรงม้า และหยุดชุมนุมประท้วงรัฐบาลอยู่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า

การประท้วงต่อเนื่องกลายเป็นการชุมนุมใหญ่ จนรัฐบาลเปลี่ยนท่าที และสัญญาว่าจะเร่งจัดทำรัฐธรรมนูญ และปล่อยตัวประชาชนที่ออกมาเรียกร้องขอรัฐธรรมนูญ รวมทั้งจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งปี

แต่หลังจากเจรจากลุ่มนักศึกษายังคงชุมนุมต่อไปอีกหนึ่งคืน และบางส่วนได้เข้ายึดกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อใช้ระบบวิทยุกระจายเสียงของรัฐ

เหตุการณ์ที่ควรจะจบลงด้วยความสงบ กลับถูกแทนที่ด้วยความรุนแรง ในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 รัฐบาลได้ใช้กำลังสลายฝูงชนจนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 77 คน และบาดเจ็บอีกหลายร้อยคน

หลังเกิดเหตุรุนแรง จอมพลถนอม กิตติขจร ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และนายสัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตประธานศาลฎีกา ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่

โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระราชดำรัสทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ทรงขอให้ประชาชนชาวไทยร่วมมือกันแก้ไขปัญหาบ้านเมืองเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยโดยเร็ว

หลังมีการประกาศแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เหตุการณ์ความรุนแรงยังคงดำเนินต่อไป จนถึงวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ที่มีข่าวว่า จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร เดินทางออกนอกประเทศแล้ว เหตุการณ์จึงค่อยสงบลง และทำให้เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ถูกจารึกในฐานะ ‘ชัยชนะของประชาชน’

ต่อมารัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้ทำการตั้ง ‘สมัชชาแห่งชาติ’ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘สภาสนามม้า’ ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจำนวน 2,347 คน และให้เลือกกันเองให้เหลือ 299 คน จากนั้นจึงแต่งตั้งบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกไปเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และกลายมาเป็นรัฐธรรมนูญ ปี 2517

ปัจจุบัน เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว จึงมีการก่อสร้างอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ขึ้นที่ สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง รวมถึง ในปี พ.ศ. 2546 สภาผู้แทนราษฎรมีมติเอกฉันท์กำหนดให้วันที่ 14 ตุลาคมของทุกปีเป็น ‘วันประชาธิปไตย’ เป็นวันสำคัญของชาติ

'เพจดัง' สะท้อนมุมมองเวที Miss Universe ในยุค 'แอน JKN' ผู้หญิง 'ไม่ควรตกเป็นความบันเทิง-ถูกล้ำเส้นจากผู้ชาย'

(12 ต.ค.66) จากเพจ 'บุญรอด เนล ปีเตอร์ จิระอนันต์' ได้โพสต์ข้อความสะท้อนนิยามเวที Miss Universe ในยุคของที่คุณแอน-จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ เป็นเจ้าของเวทีแห่งนี้ ไว้ว่า...

คุณแอนบอกว่า MU ในยุคของเธอ จะขยายขอบเขตให้ผู้หญิงทุกๆ คน จะไม่ตกเป็นความบันเทิง หรือ ถูกล้ำเส้นจากผู้ชาย คณะกรรมการ ผู้บริหาร และ เจ้าหน้าที่ทุกคนจะมีแต่ผู้หญิงที่ทรงพลัง การประกวดรอบชุดว่ายน้ำยังมีอยู่ แต่จะไม่โฟกัสไปที่เรือนร่าง นางงามสามารถเลือกชุดและผ้าคลุมที่เน้นสื่อสารถึงเรื่องราวของตัวเองได้ และ "จะไม่มีการคัดออก ในรอบชุดว่ายน้ำ"

ฟังดูเหมือน ฟอร์แมตเดียวกับปีที่แล้ว ที่ไม่ได้คัดตัวจากรอบชุดว่ายน้ำ ส่วนตัวชอบค่ะ นี่แหละคือการมีจุดยืน ให้เกียรติผู้หญิง และมีมาเพื่อ Empower ผู้หญิงจริงๆ 

แต่ก็จะมีคนด่าแน่นอน เพราะอยากดูแบบยุคเก่า เน้นสนุกๆ ฟาดๆ จบ ไม่เน้นแก่นอะไรมาก

15 ตุลาคม พ.ศ. 2546 รถไฟฟ้า MRT ขบวนแรกมาถึงไทย ด้วยเครื่องบินขนส่ง ‘Antonov’

วันนี้เมื่อ 20 ปีก่อน รถไฟฟ้า MRT ขบวนแรก เดินทางถึงประเทศไทย ก่อนจะนำมาให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2547

วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2546 เป็นวันที่รถไฟฟ้า MRT ขบวนแรก ซึ่งเป็นรุ่น ซีเมนส์ โมดูลาร์ เมโทร ได้เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากยุโรปมาถึงประเทศไทย โดยถูกบรรทุกมาด้วยเครื่องบินขนส่ง Antonov ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

โดยรถไฟฟ้ารุ่นซีเมนส์ โมดูลาร์ เมโทร ได้เริ่มให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 ในเส้นทางโครงการรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคลหรือสายสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกในประเทศไทย มีระยะทาง 20 กิโลเมตร จากสถานีหัวลำโพง - สถานีบางซื่อ รวม 18 สถานี

เป็นเวลากว่า 19 ปีแล้ว ที่รถไฟฟ้ารุ่นนี้ยังคงวิ่งให้บริการอยู่ ทั้งหมด 19 ขบวน ตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ จนได้มีการเปิดให้บริการเพิ่มเติมครบลูปสายสีน้ำเงิน ไม่ว่าจะเป็นช่วงหัวลำโพง-บางแค หรือบางซื่อ-ท่าพระ โดยได้รับการดูแล บำรุงรักษาตามมาตรฐานอย่างดีเพื่อให้มีความปลอดภัย และพร้อมให้บริการอยู่ตลอดเวลา ปัจจุบันรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินมีรถไฟฟ้าให้บริการทั้งหมด 54 ขบวน 

16 ตุลาคม พ.ศ. 2336 พระนางมารี อ็องตัวแน็ต ราชินีแห่งฝรั่งเศส ถูกประหารชีวิตด้วยกิโยตีน ช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส

พระนางมารี อ็องตัวแน็ต (Marie Antoinette) นามเดิมตอนประสูติคือ อาร์ชดัชเชสมารีอา อันโทนีอา โยเซฟา โยฮันนา (Maria Antonia Josepha Johanna)

พระนางมารี อ็องตัวแน็ต เป็นพระราชธิดาในจักรพรรดิฟรันซ์ที่ 1 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ แกรนด์ดยุกแห่งตอสคานา (ราชวงศ์ลอแรน) กับจักรพรรดินีมาเรีย เทเรซา แห่งฮังการีและโบฮีเมีย อาร์ชดัชเชสแห่งออสเตรีย (ราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค) พระราชสมภพเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1755 เป็นพระธิดาองค์ที่ 14 ในจำนวน 16 พระองค์ของพระบิดาและพระมารดา

มารี อ็องตัวแน็ต (Marie Antoinette) องค์หญิงจากออสเตรีย วัย 14 ชันษา ถูกส่งตัวมาฝรั่งเศส จากนั้นอภิเษกสมรสกับ พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 (Louis XVI) ในปี ค.ศ. 1770 เป็นการเชื่อมอำนาจระหว่าง ออสเตรีย-ฝรั่งเศส สองผู้ยิ่งใหญ่ในยุโรปแห่งศตวรรษที่ 18 แต่วิถีชีวิตที่อยู่กับความมั่งคั่งจากมรดกของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14-15 กลายเป็นความฟุ้งเฟ้อ หรูหรา และลงท้ายด้วยการถูกประชาชนประณามถึงการใช้ทรัพย์สินในท้องพระคลัง จนเกือบถึงขั้นล้มละลาย ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่อยู่อย่างลำบากยากแค้น ปัญหาเศรษฐกิจที่แก้ไม่ออก จนนำไปสู่การเคลื่อนไหวปฏิวัติโค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และล้มล้างสถาบันกษัตริย์ เพื่อสถาปนาระบอบสาธารณรัฐขึ้นมาแทน

นอกจากการถูกฝ่ายฝักใฝ่สาธารณรัฐ เกลียดชังในความฟุ้งเฟ้อแล้ว พระนางมารี อ็องตัวแน็ต ยังถูกเรื่องฉาวข่าวลือซุบซิบในราชสำนักไม่ว่างเว้น และหนึ่งในเรื่องที่เล่าขานต่อๆ กันมากที่สุดเรื่องหนึ่งก็คือพระนางมารี กับความสัมพันธ์ลับ ๆ กับผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นชู้รัก เคานต์ แอ็กเซิล ฟอน แฟร์ซอง (Axel von Fersen) เอกอัครราชทูตสวีเดน ซึ่งมาประจำการที่พระราชวังแวร์ซาย ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1774 

ข่าวลือเรื่องชู้รักรุนแรงถึงขั้นที่กล่าวกันว่า องค์รัชทายาท หลุยส์ที่ 18 (Dauphin Louis XVII เกิดปีค.ศ. 1785 - เสียชีวิต ปี ค.ศ. 1795) นั้นเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของแฟร์ซอง ไม่ใช่ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 โดยพบจดหมายที่ทั้งสองเขียนถึงกันหลายฉบับ เนื้อหาในจดหมายส่วนใหญ่เป็นการบอกข่าวความเป็นอยู่อย่างยากลำบากในสถานการณ์การเมืองที่ตึงเครียด และความพยายามขอความช่วยเหลือจากพันธมิตรต่างประเทศ เพื่อหนีจากเงื้อมมือคณะปฏิวัติ รวมทั้งการติดต่อขอความช่วยเหลือจากเหล่าผู้ปกครองราชวงศ์และขุนนางในยุโรป

หลังเกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองของฝรั่งเศส ในฐานะนักโทษของแผ่นดิน พระนางมารี อ็องตัวแน็ต ถูกกักบริเวณหรือจองจำอยู่ในพระราชวังตุยเลอรี ก่อนที่จะถูกสมัชชาแห่งชาติของคณะผู้นำการปฏิวัติฝรั่งเศสดำเนินคดีและพิพากษาประหารชีวิตบนแท่นกิโยตีนในวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2336 (ค.ศ. 1793) ในข้อหาผู้ทรยศโกงชาติ

‘ทีมวิจัยจีน’ เผยโฉม!! ต้นแบบคอมพิวเตอร์ควอนตัมรุ่นใหม่ เร็วกว่าซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่เร็วที่สุดในโลก ถึง ‘1 หมื่นล้านล้านเท่า’!!

นักข่าวดิจิทัลพาชม 'จิ่วจาง 3.0' ต้นแบบคอมพิวเตอร์ควอนตัมรุ่นใหม่ฝีมือจีน

เมื่อวันที่ (12 ต.ค. 66) เจิ้ง ผู้สื่อข่าวดิจิทัลของสำนักข่าวซินหัว พาชมและสำรวจพื้นที่ภายในจิ่วจาง 3.0 (Jiuzhang 3.0) ต้นแบบคอมพิวเตอร์ควอนตัมรุ่นใหม่ของจีน

คณะนักวิทยาศาสตร์จีนเปิดตัวต้นแบบคอมพิวเตอร์ควอนตัม ‘จิ่วจาง 3.0’ ซึ่งสามารถตรวจจับโฟตอนหรืออนุภาคของแสงได้ 255 ตัว ถือเป็นการก้าวข้ามขีดจำกัดของเทคโนโลยีการประมวลผลแบบควอนตัมโดยใช้แสงหรือโฟโตนิกส์อีกครั้ง

ทีมวิจัยนำโดยพานเจี้ยนเหว่ย นักฟิสิกส์ควอนตัมชื่อดังชาวจีน ประสบความสำเร็จในการประมวลผลแบบควอนตัมครั้งนี้ โดยสามารถแก้ปัญหาการสุ่มตัวอย่างแบบเกาส์เซียน โบซอน หรือ จีบีเอส (GBS) ด้วยความเร็วที่เร็วกว่าซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่เร็วที่สุดในโลกที่มีอยู่ ถึง 1 หมื่นล้านล้านเท่า

การสุ่มตัวอย่างแบบเกาส์เซียน โบซอน ซึ่งเป็นอัลกอริทึมสร้างแบบจำลองดั้งเดิมถูกนำมาใช้ในการศึกษา เนื่องจากเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงที่แสดงให้เห็นความเร็วของการคำนวณแบบควอนตัมในการแก้ไขปัญหาบางประการที่กำหนดไว้

รายงานระบุว่า ‘จิ่วจาง 3.0’ สามารถแก้ปัญหาการสุ่มตัวอย่างแบบเกาส์เซียน โบซอนได้เร็วกว่า ‘จิ่วจาง 2.0’ ต้นแบบคอมพิวเตอร์ควอนตัมรุ่นก่อนหน้านี้ถึง 1 ล้านเท่า

อนึ่ง การศึกษาดังกล่าวถูกเผยแพร่ทางออนไลน์ในวารสารฟิสิคอล รีวิว เลตเตอร์ส (Physical Review Letters) เมื่อวันพุธ (11 ต.ค.) ตามเวลาปักกิ่ง

ตำรวจท่องเที่ยว เร่งเครื่อง! เพิ่มความเชื่อมั่นการดูแลนักท่องเที่ยว กระชับสัมพันธ์ต่างประเทศ-เอกชน

เมื่อวานนี้(12 ต.ค.2566) พล.ต.ต.อภิชาติ สุริบุญญา, Ph.D. รองผู้บัญชาการรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว เดินหน้าพูดคุยกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือ กับหน่วยงานทั้งต่างประเทศและภาคเอกชน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการดูแลนักท่องเที่ยว

โดยช่วงเช้า เวลา 10.00 น. Ms.Jane Ohlsson นายตำรวจประสานงานตัวแทนกลุ่มประเทศนอร์ดิก ประกอบด้วย นอร์เวย์ สวีเดน ฟินแลนด์ เดนมาร์ก และไอซ์แลนด์ เดินทางมาพูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมองด้านความปลอดภัยและกระชับความร่วมมือที่มีต่อกัน 

เวลาต่อมา ทีมงานนายตำรวจประสานงานจากประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ Mr.Yuichiro Doi และ Mr.Kobayashi Satoshi ได้เดินทางมาเยือนกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว เพื่อกระชับความร่วมมือและหารือร่วมกันถึงมาตรการที่จะดูแลนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยในช่วง high season ที่จะถึงนี้อีกด้วย

นอกจากนี้ ในช่วงบ่าย พล.ต.ต.อภิชาติ ยังได้เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามความร่วมมือเชิงสร้างสรรค์ (Consortium of Creative Collaboration) ของกลุ่มเอกชนภาคธุรกิจที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์และไอที เพื่อสนับสนุนบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมรวมไปถึงโครงสร้างพื้นฐานของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยในอนาคต อีกทั้งยังร่วมแลกเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยในอนาคต ณ ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน

พล.ต.ต.อภิชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า การกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือทั้งกับหน่วยงานต่างประเทศและภาคเอกชนในครั้งนี้ เป็นไปตามนโยบายของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ได้กำชับเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว โดยเน้นย้ำว่า “นักท่องเที่ยวจะต้องปลอดภัยตั้งแต่ก้าวแรกจนถึงก้าวสุดท้าย” เมื่อเดินทางมาประเทศไทย และภายใต้การอำนวยการของ นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่มอบหมายให้กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว เร่งสร้างความร่วมมือกับตำรวจต่างประเทศ และประชาสัมพันธ์เน้นย้ำกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้สาธารณะชนได้รับทราบถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ที่ออกเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยช่วง high season ที่จะถึงนี้ รวมถึงหลังจากนี้ด้วย ซึ่งกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยวจะดำเนินการเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจการท่องเที่ยวไทยให้มีความปลอดภัยตลอดไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top