Wednesday, 30 April 2025
TheStatesTimes

ประชุมเพื่อหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้กับคณะทำงานด้านการค้ามนุษย์จาก (J/TIP)

​พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้แทนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ให้การต้อนรับและร่วมประชุมหารือการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในประเทศไทย กับคณะผู้แทนจาก สำนักงานต่อต้านการค้ามนุษย์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ((J/TIP)

​วันพฤหัสบดีที่ 12 ตุลาคม 2566 เวลา 13.30 น.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์  หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วย พล.ต.ท.สันติ์ สุขวัจน์ ที่ปรึกษา ศพดส.ตร.,พล.ต.ต.เขมรินทร์ หัสศิริ ที่ปรึกษา ศพดส.ตร.,พล.ต.ต.ศุภเศรษฐ์ โชคชัย รอง ผบช.ทท.,พล.ต.ต.ฐิตวัฒน์  สุริยฉาย ผบก.สอท.4 และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) โดย พ.ต.ต.สิริวชญ์ ชาญเตชะสิทธิ์กุล ผู้อำนวยการกองคดีการค้ามนุษย์,นายสุวัฒน์ ณ นคร ผู้อำนวยการส่วนอำนวยการคดีพิเศษ กองคดีการค้ามนุษย์,นายยศสันธ์ เรืองสรรงามศิริ รองผู้อำนวยการกองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ และ น.ส.กรรณิการ์ สุขสมนิล ผู้อำนวยการส่วนคดีละเมิดทางเพศเด็ก ให้การต้อนรับ Ms. Alexandria Boling Reports and Political Affairs, J/TIP และ Mr.Greg Borgstede Deputy Senior Coordinator in the Reports and Political Affairs, J/TIP คณะผู้แทนจาก สำนักงานต่อต้านการค้ามนุษย์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ((J/TIP) เพื่อร่วมประชุมหารือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ เกี่ยวกับปัญหาการค้ามนุษย์ที่มีผู้เสียหายเป็นเด็ก การป้องกันปราบปรามการร่วมละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเตอร์เน็ต (TICAC) ณ ห้องประชุม ชั้น 7 ศูนย์ฝึกอบรมพัฒนาบุคคลากร และสวัสดิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ศูนย์พิทักษเ์ด็ก สตรีครอบครัว ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 

พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล กล่าวว่า จากการประชุม คณะผู้แทนจาก สํานักงานต่อต้านการค้ามนุษย์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา (J/TIP) รับทราบสภาพปัญหาและการดำเนินการแก้ไขปัญหาการ ค้ามนุษย์ของศูนย์ พิทักษเเด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สํานักงานตํารวจแห่งชาติ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)ที่มีการดำเนินการอย่างจริงจังมีผลปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง สร้างความพึงพอใจและได้รับคำชื่นชมจากคณะผู้แทนจาก สํานักงานต่อต้านการค้ามนุษย์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา (J/TIP) จากนั้น พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล ได้นำ คณะผู้แทนจาก สํานักงานต่อต้านการค้ามนุษย์ของกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา (J/TIP) เยี่ยมชม ศูนย์ พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์และภาคประมง  สํานักงานตํารวจแห่งชาติ ชั้น ๗ อาคาร ๑ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้ คณะผู้แทนจาก สํานักงานต่อต้านการค้ามนุษย์ของกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา (J/TIP) รับทราบว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความพร้อมและมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในประเทศไทย อย่างจริงจัง

ผบ.ทร.นำกำลังพลทำบุญตักบาตรและจัดกิจกรรม เนื่องในวันนวมินทรมหาราช

วันที่ 12 ต.ค.66 กองทัพเรือ ได้จัดให้มีพิธีบำเพ็ญกุศล เนื่องในวันนวมินทรมหาราช เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมจัดกิจกรรม ในพื้นที่ต่าง ๆ ของกองทัพเรือ ซึ่งในส่วนของกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล จัดพิธีทำบุญตักบาตร พระภิกษุ และสามเณร จำนวน 89 รูป พิธีสวดพระพุทธมนต์ถวายเป็นพระราชกุศล พิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะ ณ บริเวณลานทัศนาภิรมย์ หอประชุมกองทัพเรือ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร 

โดยในเวลา 07.10 น. พลเรือเอก อะดุง  พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีทำบุญตักบาตร พระภิกษุและสามเณร โดยนิมนต์พระสงฆ์จาก วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร จำนวน 50 รูป วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร จำนวน 20 รูป และวัดชิโนรสารามวรวิหาร จำนวน 19 รูป รวมทั้งสิ้น จำนวน 89 รูป ณ ลานทัศนาภิรมย์ หอประชุมกองทัพเรือ โดยมี นางกีรตา พันธุ์เอี่ยม นายกสมาคมภริยาทหารเรือ และคณะนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพเรือ พร้อมภริยา เข้าร่วมพิธี

ต่อมาในเวลา 08.10 น. ผู้บัญชาการทหารเรือ และนายกสมาคมภริยาทหารเรือ ได้นำคณะนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพเรือ พร้อมภริยา ร่วมพิธีสวดพระพุทธมนต์ถวายเป็นพระราชกุศล ณ ห้องเจ้าพระยา หอประชุมกองทัพเรือ โดยนิมนต์พระสงฆ์จากวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร มีพระพรหมวัชรเมธี (สมเกียรติ โกวิโท) เจ้าอาวาสวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์

จากนั้น ในเวลา 09.10 น. ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะ และกล่าวน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ณ ห้องเจ้าพระยา หอประชุมกองทัพเรือ 

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ แผ่ไพศาลต่อพสกนิกรชาวไทย กองทัพเรือ นับเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ทรงมีพระราชดำริให้กองทัพเรือ สร้างเรือยนต์รักษาฝั่งไว้ใช้ได้เองโดยไม่ต้องจัดหา

จากต่างประเทศ ซึ่งในปี พ.ศ.2510 กรมอู่ทหารเรือ สามารถสร้างเรือยนต์รักษาฝั่งได้จำนวน 1 ลำ คือ เรือ ต.91 โดยพระองค์ได้พระราชทานคำแนะนำในการสร้างเรื่อยมาจนกระทั่งการต่อเรือเสร็จสมบูรณ์ และสามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้พระองค์ได้มีพระราชดำรัสที่สำคัญตอนหนึ่งว่า “บรรดาเรือรบที่ใช้ในราชการ เป็นเรือที่สั่งทำจากต่างประเทศ การที่ราชการกองทัพเรือ สามารถเริ่มการต่อเรือยนต์รักษาฝั่งขึ้นใช้ในราชการ ได้เช่นนี้ จึงควรเป็นที่น่ายินดี และน่าสนับสนุนอย่างยิ่ง นับว่าเป็นความเจริญก้าวหน้าของกองทัพเรือ”

นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงสนพระทัยและทรงเอาใจใส่ต่อกองทัพเรือเป็นอย่างยิ่ง ดังพระราชดำรัสของพระองค์ที่ว่า “เรือรบขนาดใหญ่มีราคาแพง และมีค่าใช้จ่ายปฏิบัติงานสูง กองทัพเรือจึงควรใช้เรือที่มีขนาดเหมาะสมและสร้างได้เอง ซึ่งเมื่อสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.91 ได้แล้ว ควรขยายแบบเรือให้ใหญ่ขึ้น และสร้างเพิ่มเติม” กองทัพเรือ จึงได้น้อมรับใส่เกล้าฯ และนำไปดำเนินการจนเกิดเป็นโครงการเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ชุดเรือ ต.991 ซึ่งจัดเป็นหนึ่งในโครงการเฉลิมพระเกียรติของกองทัพเรือ ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา

พระอัจฉริยภาพในด้านการต่อเรือของพระองค์ท่าน เป็นที่ประจักษ์แก่กำลังพลกองทัพเรือ นับตั้งแต่เริ่มโครงการ เรือ ต.91 จนถึงเรือ ต.991 พระองค์ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยให้แก้ไขแบบลายเส้น และรูปทรงของเรือ ซึ่งผลที่ได้จากการคำนวณเป็นไปตามที่ได้มีพระบรมราชวินิจฉัยไว้ กล่าวคือ เมื่อเปรียบเทียบกับผลการคำนวณเดิม ปรากฏว่า เรือ ต.991 มีความเร็วเพิ่มขึ้น และประหยัดเชื้อเพลิงได้ร้อยละ 6 ทั้งนี้ กองทัพเรือได้รับพระมหากรุณาธิคุณ เสด็จฯ ไปทรงวางกระดูกงูเรือ ต.991 ที่กรมอู่ทหารเรือด้วยพระองค์เอง อันเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างเรือชุดถัดไป หลังจากนั้นในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2550 พระองค์ท่านและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปทรงเป็นประธานพิธีปล่อยเรือ ต.991 ลงน้ำ อันเป็นความปลื้มปีติแก่เหล่าทหารเรืออย่างหาที่สุดมิได้ รวมทั้งทำให้กองทัพเรือสามารถพัฒนาศักยภาพการต่อเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ชุดเรือ ต.994 (ต.994 - ต.996) และชุดเรือ ต.997 (ต.997 - ต.998) รวมถึงเรือลำอื่น ๆ ที่ใช้ในราชการกองทัพเรือต่อมาตราบจนปัจจุบัน

สงครามอิสราเอล สถานการณ์วัดใจ ‘นายกฯ-รมว.ต่างประเทศ’ มือใหม่ ต้องผนึกพลังร่วมกันทำงาน ประสานทุกฝ่ายเร่งดูแลคนไทยให้ปลอดภัย

(13 ต.ค. 66) ผู้ซึ่งคร่ำหวอดในวงการแรงงานไทยได้บอกว่า การอพยพแรงไทยกลับออกจากอิสราเอลนั้น ทั้งวิธีคิดและวิธีปฏิบัติไม่ถูกต้อง เพราะทันทีที่แรงไทยออกจากอิสราเอลนั้น เท่ากับแรงงานไทยรายนั้น ๆ ต้องจากประเทศอิสราเอลแล้วทันที กระบวนการกลับไปทำงานต้องเริ่มต้นโดยการนับหนึ่งใหม่ แรงงานไทยรายไหนที่สัญญาจ้างเปิดกว้างและเอื้อประโยชน์ต่อแรงงานไทยรายนั้น ถือว่าโชคดีไป แต่โดยส่วนใหญ่แล้วมักไม่เป็นเช่นนั้น

สิ่งที่นายกรัฐมนตรีควรทำ คือให้รัฐมนตรีต่างประเทศสั่งการสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเทอาวิฟ อิสราเอล ประสานกับทางการอิสราเอลให้หาพื้นที่หลบภัยให้กับแรงงานไทยในพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบ แล้วอพยพแรงงานไทยดังกล่าวไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย จนกว่าเหตุการณ์จะกลับสู่สภาวะปกติ ซึ่งแรงงานไทยดังกล่าวก็จะสามารถกลับไปทำงานได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่เสียสิทธิในการจ้างงานตามสัญญาจ้าง

สิ่งที่รัฐบาลไทยควรดูแลใส่ใจ นอกจากการจัดตั้งศูนย์อพยพแรงงานไทยในพื้นที่ปลอดภัยแล้วคือ อาหารการกิน ชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานไทยทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ โดยจัดทีมดูแลเฉพาะทางจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย ไปดำเนินการจนกว่าเหตุการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ

สิ่งหนึ่งที่สังคมไทยไม่รู้ คือ ความเห็นแก่ตัวของนายจ้างชาวอิสราเอลที่ไม่สนใจ ไม่ใส่ใจต่อสวัสดิภาพของแรงงานไทยผู้เป็นลูกจ้าง เช่น การสั่งให้ลูกจ้างทำงานทั้งที่มีการยิงจรวดจากกลุ่ม Hamas สิ่งแรกที่นายจ้างชาวอิสราเอลควรจะสนใจและใส่ใจ ต่อสวัสดิภาพของแรงงานไทยผู้เป็นลูกจ้าง คือให้เข้าที่หลบภัย เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสีย เช่นกรณีนี้ ‘หัวใจสลาย แม่-พี่สาวร่ำไห้ หนุ่มอุดรฯ ถูกบังคับทำงานในไร่ซูกินี โดนระเบิดดับพร้อมเพื่อน หลังวิดีโอคอลวางสายไม่ถึง 10 นาที’ https://mgronline.com/local/detail/9660000091973

เพราะระบบป้องกัน Iron dome มีการคำนวณเพื่อเลือกเป้าหมายที่จะทำการสกัดกั้น ในกรณีที่จรวดที่กลุ่ม Hamas ยิงมาแล้วตกในเขตชุมชน Iron dome จะยิงสกัดกั้น เมื่อแรงงานไทยถูกสั่งให้ออกไปเก็บผักในไร่ซึ่งไม่ใช่เขตชุมชน ระบบป้องกัน Iron dome จึงไม่ทำการสกัดกั้น และทำให้จรวดตกใส่แรงงานไทยผู้เคราะห์ร้ายไป เหตุที่ Iron dome ไม่สกัดกั้นนั้น เพราะราคา Tamir ขีปนาวุธที่ใช้ในการสกัดกั้นจรวด ราคาสูงถึงลูกละ US $40,000 หรือราว 1,500,000 บาท

กสทช.-กตป.จัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในเรื่องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

กสทช.-กตป.จัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ‘Public Hearing’ ในเรื่องสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการติดต่อสื่อสารถึงกันจากทุกภาคส่วน โดยกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานฯ ร่วมกับที่ปรึกษา ม.บูรพา ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียง

วันที่ 12 ต.ค.2566 ตั้งแต่เวลา 08.30-16.00 น. ณ ห้องประชาสโมสร บอลรูม ชั้น 2 โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ อ.เมือง จ.ขอนแก่น พล.ร.อ.ประสาน สุขเกษตร ประธานคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน ตาม พรบ. กสทช. และ กตป. ด้านการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน กล่าวเปิดงานประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ(Public Hearing) การติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินการและการบริหารงานของ กสทช. สำนักงาน กสทช. และเลขาธิการ กสทช.ในด้านการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ประจำปี 2566 พร้อมด้วย ดร.ณฐาภพ สมคิด หัวหน้าโครงการ กล่าวรายงานความเป็นมาของโครงการ โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ หน่วยงานราชการ สื่อมวลชน ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมการผลิต บุคลากรจากสถาบันการศึกษา เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้นำชุมชน กลุ่มชาติพันธุ์ รวมทั้งเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียงกัน 

หลังเปิดงานอย่างเป็นทางการแล้ว ภาคเช้า พล.ร.อ.ประสาน สุขเกษตร ได้บรรยายสรุป บทบาทหน้าที่และภารกิจของคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน ศ.ดร.สุมาลี วงษ์วิฑิต คณะที่ปรึกษาโครงการและเป็นวิทยากรด้านกฎหมาย ได้บรรยายสรุปแนวทางการติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินการและการบริหารงานของ กสทช. สำนักงาน กสทช. และเลขาธิการ กสทช.ด้านการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ประจำปี 2566  และนายสัญญา กระจ่างศรี ผู้อำนวยการของสำนักงาน กสทช. ภาค 2 ร่วมเป็นวิทยากร บรรยายถึงบทบาทหน้าที่และภารกิจของสำนักงาน กสทช. ภาค 2 ภาคบ่ายได้มีการจัดกลุ่มย่อย 6 กลุ่มเพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ(Public Hearing) จากผู้เข้าร่วมประชุม เพื่อร่วมกันแสดงความคิดเห็นอย่างทั่วถึงกัน และก่อประโยชน์สูงสุด

พล.ร.อ.ประสาน สุขเกษตร เปิดเผยว่า “การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดย กตป.ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(สำนักงาน กสทช.) และที่ปรึกษา ม.บูรพา จัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ(Public Hearing) การติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินการและการบริหารงานของ กสทช. สำนักงาน กสทช. และเลขาธิการ กสทช.ในด้านการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ประจำปี 2566 ขึ้นที่จังหวัดขอนแก่น”

โดยกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ จะได้รับทราบบทบาทหน้าที่ และผลการดำเนินการในปี 2566 ของ กสทช. สำนักงาน กสทช. และเลขาธิการ กสทช. พร้อมทั้งสามารถให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ในการปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินการด้านการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการติดต่อสื่อสารถึงกัน ที่สำคัญ คือ ทาง กตป.และที่ปรึกษาจากมหาวิทยาลัยบูรพา จะได้รับทราบปัญหาขัดข้อง และข้อเสนอแนะในการติดต่อสื่อสารของประชาชนในจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งผู้ประกอบการ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และผู้แทนจากกลุ่มต่างๆ เพื่อรวบรวมไปวิเคราะห์และรายงานต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

ทั้งนี้ มิติหลักในการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญในการติดต่อสื่อสารถึงกัน ดำเนินการโดย กสทช. นั้น คือ การดำเนินการหลักเพื่อให้ประชาชนได้รับสิทธิและเสรีภาพในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์คลื่นความถี่ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้อย่างทั่วถึง เป็นธรรม  มีการแข่งขันอย่างเสรี รวมทั้งประชาชนได้สิทธิการเข้าถึงและใช้ประโยชน์คลื่นความถี่ จากการใช้วงโคจรดาวเทียม อันเป็นสมบัติของชาติ รวมทั้งประชาชนทุกภาคส่วน ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาสในทุกพื้นที่ รวมถึงในท้องถิ่นทุรกันการของประเทศไทยมีสิทธิในการรับบริการด้านการสื่อสารขั้นพื้นฐาน และด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่รัฐบาลจัดให้อย่างเท่าเทียมกัน

‘สรรเพชญ’ หนุนญัตติ ศึกษา ส่งเสริม สร้างสันติภาพ-ดับไฟชายแดนใต้ พร้อมชูแผนพัฒนา ครอบคลุมทุกมิติ ย้ำ!! คำนึงถึงความรู้สึกคนในพื้นที่

เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 66 ที่ห้องประชุมสุริยัน อาคารรัฐสภา นายสรรเพชญ บุญญามณี สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายสนับสนุนญัตติ ‘ศึกษาติดตาม และส่งเสริม การสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้’ โดยกล่าวว่า ปัญหาเรื่องความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาที่สะสมมายาว นานกว่า 20 ปี ซึ่งนับตั้งแต่กระสุนนัดแรกที่ลั่นออกมาเมื่อปี 2547 จวบจนถึงปัจจุบัน เหตุการณ์ต่าง ๆ ก็ยังไม่ทุเลาเบาบางลงแต่อย่างใด ซ้ำร้ายเหตุการณ์ล่าสุดที่พึ่งเกิดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดเหตุระเบิดที่อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บหลายราย

นี่ยังไม่นับรวมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมาเป็นระยะเวลากว่า 19 ปี มีผู้เสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 7,520 คน (ข้อมูลจาก Deep South Watch เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2566) ผู้สูญหาย บาดเจ็บ ล้มตายก็มีจำนวนมาก ท่ามกลางความรุนแรงที่เกิดขึ้นนี้ ผู้ที่ได้รับผลกระทบที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เลยก็คือประชาชน ตนเห็นด้วยที่จะมีการศึกษาในเรื่องนี้ แต่ขออย่างเดียว คือ ขอให้การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาครั้งสุดท้าย ขอให้มีผลการศึกษาออกมาให้ชัด ศึกษาให้รอบด้าน และหวังว่าคงไม่ต้องมาศึกษากันเรื่องนี้อีก เพราะในอดีตที่ผ่านมา ตนเชื่อว่าสภาแห่งนี้ ก็เคยได้ศึกษากันมาหลายครั้ง และตนเชื่อว่าสภาที่มีมาชุดไหน ๆ ก็ต้องตั้งกรรมาธิการศึกษาเรื่องนี้ ไม่จบ ไม่สิ้น และหลายหน่วยงานก็ทำการศึกษาเช่นเดียวกัน

นายสรรเพชญ ได้นำเสนอประเด็นการพัฒนาพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยกัน 5 ประเด็น หลัก ๆ คือ ด้านการปกครอง ด้านการส่งเสริมการกระจายอำนาจ ด้านกระบวนการยุติธรรม ด้านงบประมาณ และด้านการศึกษา

โดยในประเด็นเรื่องของการปกครอง ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการให้มีการแบ่งแยกดินแดน เพราะประชาชนยังคงอยากเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย สิ่งนี้คณะกรรมาธิการฯ จะต้องตั้งหลักให้มั่น และชัดเจน ว่าจะไม่เสนอให้มีการแบ่งแยกดินแดน เพื่อขัดกับเจตนารมณ์ของประชาชน และสำคัญที่สุด คือ ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 1 ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้

ประเด็นต่อมา ด้านการส่งเสริมการกระจายอำนาจ ตนเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าท้ายที่สุดแล้ว การกระจายอำนาจนี้ จะเป็นการสะท้อนความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริงผ่านการตัดสินใจของประชาชน ในส่วนของด้านกระบวนการยุติธรรมนั้น ตนเห็นว่าความยุติธรรมที่ว่านี้ ไม่ใช่เฉพาะในมิติเรื่องกฎหมายเพียงเท่านั้น เพราะความยุติธรรมในทางกฎหมายเป็นบรรทัดฐานที่อารยประเทศพึงมี และกรณีการอุ้มฆ่าที่เคยมีเหมือนแต่ก่อน ตอนนี้ก็ไม่มีแล้ว ถือได้ว่าที่ผ่านมาเราได้แก้เรื่องกฎหมายไปแล้วส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่นอกเหนือจากเรื่องของกฎหมายคือ การพัฒนาพื้นที่และกระจายทรัพยากรต่าง ๆ ที่ควรให้กับคนในสามจังหวัดได้เข้าถึง ไม่เป็นคนชายขอบในสังคม รวมถึงชายแดนห่างไกลของประเทศไทย เราควรที่จะให้ความสำคัญเท่าเทียมเหมือนคนกรุงเทพฯ

นายสรรเพชญ กล่าวอีกว่า ในเรื่องของงบประมาณ วันนี้รายได้ต่อหัวของประชากรในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงต่ำอยู่ เฉลี่ยประมาณปีละ 60,000 บาท รัฐบาลจะต้องอัดฉีดงบประมาณลงไปในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ในสามจังหวัดชายแดนให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรที่ดินทำกิน ส่งเสริมการใช้พื้นที่นาร้างว่างเปล่าให้สามารถปลูกพืชเศรษฐกิจ และส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางของความมั่นคงทางอาหารของโลก เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีอาชีพและรายได้เพิ่มมากขึ้น

ส่วนในด้านของการศึกษา วันนี้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีมหาวิทยาลัยครบทั้งสามจังหวัด ไม่ว่าจะเป็น ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, ม.ราชภัฏยะลา, ม.นราธิวาสราชนครินทร์ ฯลฯ แต่เรายังคงต้องเร่งยกระดับคุณภาพการศึกษา ให้สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ เหมาะสมกับสายอาชีพที่ให้ผู้เรียนจบออกมาแล้วมีงานทำและทำงานในสายงานที่ตนเองถนัด หวังว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญที่กำลังจะแต่งตั้งขึ้น จะศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาในสามจังหวัดชายแดนใต้ ให้ครอบคลุมทุกมิติ และให้คำนึงถึง ‘ความรู้สึก’ ของคนในพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การสร้างสันติภาพที่เป็นจริง

'พ.ต.อ.ทวี' ไม่ทิ้งภาคใต้ เตรียมคืนความเป็นธรรมชาวมูโนะ มอบเงินเยียวยาเหยื่อโกดังพลุระเบิดนราธิวาส 346 ราย กว่า 2.2 ล้านบาท พร้อมเปิดเวทีให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และหัวหน้าพรรคประชาชาติ มีแผนจะเดินทางลงพื้นที่ จ.นราธิวาส ในวันเสาร์ที่ 14 ต.ค.66 เพื่อเป็นประธานทำพิธีมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายในคดีอาญา กรณีโกดังพลุระเบิด อ.มูโนะ จ.นราธิวาส โดยพิธีจะจัดขึ้นบริเวณโรงเรียนบ้านมูโนะ ภายใต้กิจกรรม “คุ้มครองคน คุ้มครองสิทธิ เพื่อสร้างวิถีชีวิตแห่งความเป็นธรรม” 

สำหรับเงินเยียวยาที่จะมอบแก่ผู้เสียหาย จำนวน 346 ราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,241,888 บาท

กิจกรรมครั้งนี้จะมีการชี้แจงทำความเข้าใจความคืบหน้าในการช่วยเหลือเยียวยาของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง และรับเรื่องร้องทุกข์จากประชาชนในมิติอื่นๆ และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับกฎหมายอีกด้วย 

โอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ยังมีกำหนดการร่วมพบปะและรับฟังความคิดเห็นจากผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา ประชาชน ในพื้นที่ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ที่โรงเรียนสอนศาสนาตาดีกาดารุลฮูดา หมู่ 1 ต.กาวะ อ.สุไหงปาดี และจะเดินทางไปในพื้นที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส อีกด้วย

‘กองทุนดีอี’ ชูระบบสืบค้นข้อมูลอาคารชุด ‘CondoMaps’ หลังสนับสนุนงบ ‘กรมที่ดิน’ พัฒนาสู่ดิจิทัลแพลตฟอร์ม

ภายหลังจาก สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) โดยกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ กองทุนดีอี ได้สนับสนุนงบประมาณให้ กรมที่ดิน ให้ดำเนินโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มให้บริการการใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของประเทศไทย ในปีงบประมาณ พ.ศ.2565

จากผลการดำเนินงานล่าสุด ทางกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ได้พัฒนาระบบสืบค้นอาคารชุด ห้องชุด (CondoMaps) สำเร็จพร้อมเปิดให้บริการประชาชนเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ กรมที่ดิน ในฐานะผู้พัฒนาระบบ CondoMaps ได้ทำพิธีเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยได้รับเกียรติจาก นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิด โดยมีนายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมในพิธีเปิดด้วย 

สำหรับระบบสืบค้นอาคารชุด ห้องชุด (CondoMaps) พัฒนาขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้ภาคประชาชน ภาคเอกชน และผู้ประกอบการที่ถือครองห้องชุด เจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุด สามารถสืบค้นข้อมูลอาคารชุด ห้องชุด ได้โดยใช้เลขทะเบียนอาคารชุด ห้องชุด ที่ระบุในหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุด ระบบจะแสดงตำแหน่งที่ตั้งอาคารชุด ห้องชุด ในรูปแบบภูมิสารสนเทศ 3 มิติ ผู้ใช้งานสามารถมองเห็นทัศนียภาพเสมือนจริง โดยแสดงผลร่วมกับข้อมูลรูปแปลงที่ดินของกรมที่ดิน ภาพถ่ายดาวเทียม แผนที่ภูมิประเทศ (Open Street Map) และภาพถ่ายทางอากาศเชิงเลข (DMC) ให้บริการผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

โครงการนี้ เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรม ที่ช่วยสร้างฐานข้อมูลอาคารห้องชุดให้เป็นระบบ เชื่อมโยงข้อมูลเอกสารสิทธิห้องชุดทั่วประเทศ นอกจากจะสร้างความสะดวกสบายให้ประชาชนแล้ว ยังจะเป็นการสร้างศักยภาพของภาครัฐ ตอบโจทย์ทางด้านการลงทุนให้แก่นักลงทุนทั้งชาวไทย และ ชาวต่างชาติอีกด้วย

ทั้งนี้ จากข้อมูลในปัจจุบัน กรมที่ดินมีฐานข้อมูลห้องชุดแบบ 3 มิติ สำหรับให้บริการบนระบบ CondoMaps จำนวน 180,000 ยูนิต ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งในปีนี้กรมที่ดินอยู่ระหว่างดำเนินการนำเข้าฐานข้อมูลอาคารชุด ห้องชุด เพื่อให้มีฐานข้อมูลภูมิสารสนเทศ 3 มิติ เพิ่มมากขึ้นอีกจำนวน 480,000 ยูนิต หากดำเนินการแล้วเสร็จจะมีฐานข้อมูลห้องชุดรวมจำนวนทั้งสิ้น 660,000 ยูนิต

นายชยาวุธ จันทร อธิบดีกรมที่ดิน กล่าวย้ำว่า การดำเนินโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มให้บริการการใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของประเทศไทยผ่านระบบ CondoMaps นั้น เป็นการให้บริการกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ในรูปแบบ Data as a Service (Daas) เป็นการเพิ่มศักยภาพและยกระดับขีดความสามารถในการให้บริการ รวมทั้งเป็นข้อมูลพื้นฐานใช้ประกอบการวางแผนงาน นโยบาย หรือวางแผนต่อยอดทางด้านธุรกิจ สนับสนุนการพัฒนาประเทศ สอดคล้องกับหลักการภาครัฐของประชาชน เพื่อประชาชน และประโยชน์ส่วนรวมอย่างครบวงจร

หลักการทรงงาน 23 ประการ ของ ‘ในหลวงรัชกาลที่ 9’ พระผู้เป็นศูนย์รวมใจไทยทั้งชาติ

หลักการทรงงาน 23 ประการของ ‘ในหลวงรัชกาลที่ 9’ พระผู้เป็นศูนย์รวมใจไทยทั้งชาติ 🙏🏻🇹🇭✨

1.) ศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบ
การที่จะพระราชทานพระราชดำริเพื่อดำเนินงานโครงการ จะทรงศึกษาข้อมูลรอบด้านจากเอกสาร แผนที่ สอบถามเจ้าหน้าที่ นักวิชาการ และราษฎรในพื้นที่ ให้ได้รายละเอียดที่เป็นประโยชน์ครบถ้วน เพื่อพระราชทานความช่วยเหลือได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว ตรงความต้องการของประชาชน

2.) ระเบิดจากข้างใน
พระองค์ทรงมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาคน ทรงตรัสว่า “... ต้องระเบิดจากข้างใน หมายความว่า ต้องสร้างความเข้มแข็งให้คนในชุมชนที่เราเข้าไปพัฒนา ให้มีสภาพพร้อมที่จะรับการพัฒนาเสียก่อน แล้วจึงออกมาสู่สังคมภายนอก มิใช่การนำเอาความเจริญ หรือบุคคลจากสังคมภายนอกเข้าไปหาสังคมภายในหมู่บ้านที่ยังไม่ทันได้มีโอกาสเตรียมตัวหรือตั้งตัว”

3.) แก้ปัญหาที่จุดเล็ก
พระองค์ทรงเปี่ยมไปด้วยพระอัจฉริยภาพในการแก้ไขปัญหา ทรงมองปัญหาในภาพรวม (Macro) ก่อนเสมอ แต่การแก้ปัญหาของพระองค์จะเริ่มจากจุดเล็กๆ (Micro) คือ การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ที่คนมักจะมองข้าม

4.) ทำตามลำดับขั้น
ในการทรงงานพระองค์ทรงเริ่มต้นจากสิ่งที่จำเป็นของประชาชนที่สุดก่อน ได้แก่ งานด้านสาธารณสุข เมื่อร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงแล้วก็จะสามารถทำประโยชน์อื่นๆ ต่อไปได้ จากนั้นด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และสิ่งจำเป็นในการประกอบอาชีพ อาทิ ถนน แหล่งน้ำ เพื่อการเกษตร การอุปโภค บริโภค ที่เอื้อประโยชน์ต่อประชาชนโดยไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการให้ความรู้ทางวิชาการ-เทคโนโลยี เน้นปรับใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ราษฎรนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์สูงสุด

5.) ภูมิสังคม
การพัฒนาใดๆ ต้องคำนึงถึงสภาพภูมิประเทศของบริเวณนั้นว่าเป็นอย่างไร และสังคมวิทยาเกี่ยวกับลักษณะนิสัยใจคอของคน ตลอดจนวัฒนธรรมประเพณีในแต่ละท้องถิ่นที่มีความแตกต่างกัน

6.) องค์รวม
ทรงมีวิธีคิดอย่างองค์รวม (Holistic) หรือมองอย่างครบวงจรในการที่จะพระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับโครงการหนึ่งนั้น จะทรงมองเหตุการณ์ ที่จะเกิดขึ้นและแนวทางแก้ไขอย่างเชื่อมโยง ดังเช่นกรณีของ (ทฤษฎีใหม่) ที่พระราชทานให้แก่ปวงชนชาวไทยเป็นแนวทางประกอบอาชีพแนวทางหนึ่ง ที่พระองค์ทรงมองอย่างองค์รวม ตั้งแต่การถือครองที่ดิน โดยเฉลี่ยของประชาชนชาวไทยประมาณ 10-15 ไร่ การบริหารจัดการที่ดินและแหล่งน้ำอันเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการประกอบอาชีพ เมื่อมีน้ำในการเกษตรแล้ว จะส่งผลให้ผลิตดีขึ้น และหากมีผลิตมากขึ้น เกษตรกรต้องรู้วิธีการจัดการและการตลาด รวมถึงการรวมกลุ่มรวมพลังชุมชนให้มีความเข้มแข็ง เพื่อพร้อมที่จะออกสู่การเปลี่ยนแปลงของสังคมภายนอกได้อย่างครบวงจรนั้น คือ ทฤษฎีใหม่ ขั้นที่ 1 2 และ 3

7. ไม่ติดตำรา
การพัฒนาตามราชดำริของพระองค์ ลักษณะพัฒนาที่อนุโลมและรอมชอมกับสภาพธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และสภาพของสังคม จิตวิทยาแห่งชุมชน ‘ไม่ติดตำรา’ ไม่ผูกมัดติดกับวิชาการและเทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสมกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่แท้จริงของคนไทย

8.) ประหยัดเรียบง่าย
ได้ประโยชน์สุดในเรื่องของความประหยัดนี้ ประชาชนชาวไทยเคยเห็นว่า หลอดยาสีพระทนต์นั้นทรงใช้อย่างคุ้มค่าอย่างไร ฉลองพระองค์แต่ละองค์ทรงใช้อยู่เป็นเวลานาน หรือแม้แต่ฉลองพระบาทหากชำรุดก็จะส่งซ่อมและใช้อย่างคุ้มค่า ขณะเดียวกันการพัฒนาช่วยเหลือราษฎร ทรงใช้ความเรียบง่ายและประหยัดในการแก้ไขปัญหา ให้ราษฎรสามารถทำได้เอง ประยุกต์ใช้สิ่งที่มีอยู่ในภูมิภาคมาแก้ไขปัญหา โดยไม่ต้องลงทุนสูงหรือใช้เทคโนโลยีที่ไม่ยุ่งยากนัก

9.) ทำให้ง่าย
ด้วยพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถของพระองค์ ทำให้การคิดค้น ดัดแปลง ปรับปรุงและแก้ไข งานพัฒนาประเทศตามแนวพระราชดำริดำเนินไปโดยง่าย และสอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่ระบบนิเวศโดยส่วนรวม ตลอดจนสภาพสังคมของชุมชนนั้นๆ ทรงโปรดที่จะทำสิ่งที่ยากให้กลายเป็นง่าย ทำสิ่งที่สลับซับซ้อนให้เข้าใจง่าย อันเป็นการแก้ปัญหาด้วยการใช้กฎธรรมชาติเป็นแนวทางนั้นเอง แต่การทำสิ่งที่ยากให้กลายเป็นง่ายนั้นเป็นของยาก ดังนั้นคำว่า “ทำให้ง่าย” หรือ “Simplicity” จึงเป็นหลักคิดสำคัญของการพัฒนาประเทศ ที่มาในรูปแบบของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

10.) การมีส่วนร่วม
พระองค์ทรงเป็นนักประชาธิปไตย จึงทรงนำ “ประชาพิจารณ์” มาใช้ในการบริหาร เพื่อเปิดโอกาสให้สาธารณชน ประชาชน หรือเจ้าหน้าที่ทุกระดับ ได้มาร่วมกันแสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่องที่จะต้องคำนึงถึงความคิดเห็นของประชาชน หรือความต้องการของสาธารณชน

11.) ประโยชน์ส่วนรวม
การปฏิบัติพระราชกรณียกิจ และการพระราชทานพระราชดำริในการพัฒนา และช่วยเหลือพสกนิกรของพระองค์ ทรงระลึกถึงส่วนรวมเป็นสำคัญ

12.) บริการรวมที่จุดเดียว
‘การบริการรวมที่จุดเดียว’ หรือ ‘One Stop Services’ เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในระบบบริหารราชการแผ่นดินของประเทศไทย โดยทรงให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นต้นแบบในการบริการรวมที่จุดเดียว เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนที่ใช้บริการ ให้ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย โดยมีหน่วยงานราชการต่างๆ มาร่วมดำเนินการและให้บริการประชาชน ณ ที่แห่งเดียว

13.) ทรงใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ
ทรงเข้าใจถึงธรรมชาติและต้องการให้ประชาชนใกล้ชิดธรรมชาติ ทรงมองอย่างละเอียดถึงปัญหาธรรมชาติ หากเราต้องการแก้ไขธรรมชาติ จะต้องใช้ธรรมชาติเข้าช่วยเหลือ เช่น การแก้ไขปัญหาป่าเสื่อมโทรม ได้พระราชทานพระราชดำริ ‘การปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก’ ปล่อยให้ธรรมชาติช่วยในการฟื้นฟูธรรมชาติ หรือแม้กระทั่ง ‘การปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง’

14.) ใช้อธรรมปราบอธรรม
ทรงนำความจริงเรื่องความเป็นไปแห่งธรรมชาติ และกฎเกณฑ์ของธรรมชาติมาเป็นหลักการแนวปฏิบัติที่สำคัญ ในการแก้ปัญหาและปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสภาวะที่ไม่ปกติเข้าสู่ระบบที่เป็นปกติ เช่น การทำน้ำดีขับไล่น้ำเสีย หรือเจือจางน้ำเสียให้กลับเป็นน้ำดีตามจังหวะการขึ้นลงตามธรรมชาติของน้ำ การบำบัดน้ำเน่าเสียโดยใช้ผักตบชวา ซึ่งมีตามธรรมชาติให้ดูดซึมสิ่งสกปรกปนเปื้อนในน้ำ ดังพระราชดำรัสความว่า “ใช้อธรรมปราบอธรรม”

15.) ปลูกป่าในใจคน
เป็นการปลูกป่าลงบนแผ่นดิน ด้วยความต้องการของมนุษย์ทำให้ต้องการบริโภคและใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลือง เพื่อประโยชน์ของตนเองและสร้างความเสียหายให้แก่สิ่งแวดล้อม ไม่รู้จักพอ ปัญหาความไม่สมดุลจึงบังเกิดขึ้น ดังนั้นในการฟื้นฟูธรรมชาติให้กลับคืนมา จะต้องปลูกจิตสำนึกในการรักผืนป่าให้แก่คนเสียก่อน

16.) ขาดทุนคือกำไร
“ขาดทุน คือ กำไร” (Our loss is our gain) “การเสีย คือ การได้ ประเทศชาติก็จะก้าวหน้า และการที่คนอยู่ดีมีสุข เป็นการนับที่เป็นมูลค่าเงินไม่ได้…” จากพระราชดำรัสดังกล่าว คือหลักการที่พระองค์ ทรงมีต่อพสกนิกรไทยด้วย ‘การให้’ และ ‘การเสียสละ’ เป็นการกระทำอันมีผลเป็นกำไร คือความอยู่ดี มีสุขของราษฎร ซึ่งสามารถสะท้อนเป็นรูปธรรมชัดเจนได้

17.) การพึ่งพาตนเอง
การพัฒนาตามแนวพระราชดำริเพื่อการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น ด้วยการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อให้ประชาชนแข็งแรง พอที่จะดำรงชีวิตต่อไป แล้วขั้นต่อไปก็คือ การพัฒนาให้ประชาชนอยู่ในสังคมได้ตามสภาพแวดล้อม และ ‘พึ่งตนเองได้’

18.) พออยู่พอกิน
การพัฒนาเพื่อให้พสกนิกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เริ่มจากการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในทุกภาคของประเทศ และพระองค์ได้ทอดพระเนตรความเป็นอยู่ของราษฎรด้วยพระองค์เอง จึงทรงเข้าพระราชหฤทัยสภาพปัญหาอย่างลึกซึ้ง ในการพัฒนานั้น หากมองในภาพรวมของประเทศมิใช่งานเล็กน้อย แต่ต้องใช้ความคิดและกำลังของคนทั้งชาติจึงจะบรรลุผลสำเร็จด้วยพระปรีชาญาณของพระองค์จึงทำให้คนทั้งหลายได้ประจักษ์ว่า แนวทางพระราชดำริในพระองค์นั้น ‘เรียบง่าย ปฏิบัติได้ผล’ เป็นที่ยอมรับโดยทั่วกัน

19.) เศรษฐกิจพอเพียง
‘เศรษฐกิจพอเพียง’ เป็นปรัชญาที่ทรงพระราชทานชี้แนวทางดำเนินชีวิต แก่พสกนิกรมานานกว่า 30 ปี ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังได้ทรงย้ำแนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้นและสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ และการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ดังปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ได้พระราชทานไว้ ดังนี้

“ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อมามีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้ต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบและระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน”

20.) ความซื่อสัตย์สุจริตจริงใจต่อกัน
“คนที่ไม่มีความสุจริต คนที่ไม่มีความมั่นคง ชอบแต่มักง่าย ไม่มีวันจะสร้างสรรค์ประโยชน์ส่วนรวมที่สำคัญอันใดได้ ผู้ที่มีความสุจริตและความมุ่งมั่นเท่านั้น จึงจะทำงานสำคัญยิ่งใหญ่ที่เป็นคุณ เป็นประโยชน์แท้จริงได้สำเร็จ”
- พระราชดำรัสฯ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2522

“ผู้ที่มีความสุจริตและบริสุทธิ์ใจ แม้จะมีความรู้น้อยก็ย่อมทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมได้ มากกว่าผู้มีความรู้มากแต่ไม่มีความสุจริต ไม่มีความบริสุทธิ์ใจ”
- พระราชดำรัสฯ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2533

“ผู้ว่า CEO ต้องเป็นคนที่สุจริต ทุจริตไม่ได้ ถ้าทุจริตแม้แต่นิดเดียวก็ขอแช่งให้มีอันเป็นไป ข้าราชการหรือประชาชนที่มีการทุจริต ถ้ามีทุจริตแล้วบ้านเมืองพัง ที่เมืองไทยพังมาเพราะมีการทุจริต”
- พระราชดำรัสฯ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2546

21.) ทำงานอย่างมีความสุข
พระองค์ทรงพระเกษมสำราญ และทรงมีความสุขทุกคราที่จะช่วยเหลือประชาชน ซึ่งเคยมีพระราชดำรัสครั้งหนึ่งความว่า “ทำงานกับฉัน ฉันไม่มีอะไรจะให้ นอกจากการมีความสุขร่วมกัน ในการทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น”

22.) ความเพียร
พระองค์ทรงริเริ่มโครงการต่างๆ ในระยะแรกไม่ได้มีความพร้อมมากนัก และทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ทั้งสิ้น แต่พระองค์ก็มิได้ท้อพระราชหฤทัย ทรงอดทนและมุ่งมั่นดำเนินงานนั้น ให้สำเร็จลุล่วง ดังเช่นพระราชนิพนธ์ ‘พระมหาชนก’ ซึ่งพระองค์ทรงใช้เวลาค่อนข้างนานในการคิดประดิษฐ์ถ้อยคำให้เข้าใจง่าย และปรับให้เข้ากับสภาพสังคมปัจจุบัน เพื่อให้ประชาชนชาวไทยปฏิบัติตามรอยพระมหาชนก กษัตริย์ผู้เพียรพยายามแม้จะไม่เห็นฝั่งก็จะว่ายน้ำต่อไป เพราะถ้าไม่เพียรว่ายก็จะตกเป็นอาหารปู ปลา และไม่ได้พบกับเทวดาที่ช่วยเหลือมิให้จมน้ำ เช่นเดียวกับพระองค์ทรงริเริ่มทำโครงการต่างๆ ในระยะแรกที่ไม่มีความพร้อมในการทำงานมากนัก และทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ทั้งสิ้นแต่พระองค์ก็มิได้ท้อพระราชหฤทัย มุ่งพัฒนาบ้านเมืองให้บังเกิดความร่มเย็นเป็นสุข

23.) รู้ รัก สามัคคี
พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสในเรื่อง ‘รู้ รัก สามัคคี’ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติที่มีคุณค่าและมีความหมายลึกซึ้ง สามารถปรับใช้ได้กับทุกยุคทุกสมัย

รู้ : การที่เราจะลงมือทำสิ่งใดนั้น จะต้องรู้เสียก่อน รู้ถึงปัจจัยทั้งหมด รู้ถึงปัญหา และรู้ถึงวิธีแก้ปัญหา

รัก : คือ ความรัก เมื่อเรารู้ครบถ้วนกระบวนความแล้วจะต้องมีความรัก การพิจารณาที่จะเข้าไปลงมือปฏิบัติแก้ไขปัญหานั้นๆ คือ การสร้างฉันทะ

สามัคคี : การที่จะลงมือปฏิบัติควรคำนึงเสมอว่าเราจะทำงานคนเดียวไม่ได้ ต้องร่วมมือร่วมใจกันเป็นองค์กร เป็นหมู่คณะจึงจะมีพลังเข้าไปแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี

‘ดร.สุวินัย’ ยก ‘ในหลวงรัชกาลที่ 9’ เปรียบดั่งมหาบุรุษของแผ่นดินสยาม ขอคนไทยจงภูมิใจที่ครั้งหนึ่งเคยได้มีชีวิตอยู่ในรัชสมัยของพระองค์

(13 ต.ค. 66) ดร.สุวินัย ภรณวลัย ประธานยุทธศาสตร์วิชาการ สถาบันทิศทางไทย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Suvinai Pornavalai’ ถึงความเมตตาอันล้ำลึกของมหาบุรุษ โดยระบุว่า…

เมตตาอันล้ำลึกของ ‘มหาบุรุษ’

เมตตาอันล้ำลึก คือการยอมเสียเปรียบโดยไม่มีประมาณ

เมตตาอันล้ำลึก ดุจ ‘ใจน้ำ’ (水心)  ที่อยู่ใต้ทะเล 100 เชียะ (水下百尺)

มหาบุรุษทุกคนล้วนมีเมตตาอันล้ำลึกเช่นนี้

เมตตาเป็นพลังบุญชนิดหนึ่ง ทุกครั้งที่ใจแผ่เมตตาออกไป เปรียบดังเทหยดน้ำลงเติมใน ‘ทะเลบุญ’ หยดน้ำแห่งบุญที่เทเติมลงไปรวมกับทะเลบุญ ย่อมไม่มีวันสูญหายไปไหน ตราบใดที่ทะเลบุญยังอยู่ ทะเลแห่งบุญนี้ย่อมกลายเป็นคลื่นน้อมนำ เกื้อหนุน นำพาผู้นั้นว่ายข้ามสังสารวัฏ ลุถึงความรู้แจ้งได้ในที่สุด

โลกทั้งหมดก็คือ ‘ใจ’

โลกทั้งหมดมิใช่สิ่งใดอื่นที่อยู่นอกเหนือใจ การเห็นโลกทั้งหมดเป็นแค่บ้านที่กำลังถูกไฟไหม้ 
ย่อมนำมาซึ่งการตื่นรู้และความเมตตาอันล้ำลึก เพราะด้วยเมตตาอันล้ำลึกเช่นนี้ มหาบุรุษจึงมองมนุษย์ทุกคนคือเพื่อนกัน เป็นหนึ่งเดียว มหาบุรุษมักเป็นผู้มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ใช้ชีวิตเรียบง่าย รักสันโดษ ไม่มีนอกไม่มีใน มิหนำซ้ำ มหาบุรุษยังเป็นคนแบบเดียวกันกับทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา

คนทั้งโลกส่วนใหญ่ล้วนตกอยู่ใต้อำนาจแห่งวัตถุ เมื่อมีผู้ใดหลุดจากอำนาจนี้ได้ ผู้นั้นย่อมข้ามพ้นขีดจำกัดของความเป็นคนธรรมดา กลายเป็นมหาบุรุษผู้มีความพิเศษอันน่าทึ่ง และล้ำลึกสุดหยั่งถึง

มหาบุรุษทุกคนล้วนเป็นผู้ใช้ชีวิตที่ถูกต้องทั้งทางโลกและทางธรรม มหาบุรุษเป็นผู้ที่ทำหนึ่งแต่ได้ทั้งหมด… ไม่ใช่ผู้ทำทุกอย่างแต่ไม่ได้อะไรซักอย่าง…

ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าตรัสกับพระสารีบุตรเอาไว้ว่า “เรารักราหุลเยี่ยงไร เราก็รักเทวทัตเยี่ยงนั้น” 
หมายความว่า พระองค์ทรงรักผู้ที่เคยลอบปลงพระชนม์พระองค์ เท่ากับที่พระองค์ทรงรักบุตรชายคนเดียวของพระองค์

คนเราต้องใช้ความเมตตามากขนาดไหน จึงสามารถทำจิตใจให้เป็นเช่นนี้ได้?

มหาบุรุษทุกคนล้วนมีความเมตตาอันล้ำลึกเช่นนี้ หากแม้สามารถรับบาปกรรมในนรกอเวจีแทนสรรพสัตว์ได้ พวกท่านจะไม่ลังเลรีรอเลยที่จะทำ มิหนำซ้ำมหาบุรุษไม่เคยคาดหวังให้ผู้อื่นมองเห็นคุณค่าในสิ่งที่ตนเองได้กระทำ

“เขาตบแก้มขวา ให้เอียงแก้มซ้ายให้ตบอีก” มหาบุรุษท่านหนึ่งเคยกล่าว

“เรารักราหุลเยี่ยงไร เราก็รักเทวทัตเยี่ยงนั้น” มหาบุรุษพระองค์นั้นทรงตรัสไว้

“เมตตาแปลว่ายอมเสียเปรียบ” พระอริยเจ้ารูปหนึ่งเคยกล่าวไว้

“เศรษฐกิจพอเพียงคือทางรอด ความพอเพียงคือกุญแจสู่อิสรภาพ” มหาบุรุษคนล่าสุดของแผ่นดินนี้เคยสอนไว้

จะมีใครกี่คนกันที่รับรู้ถึงความลึกซึ้งของถ้อยคำเหล่านี้ได้?

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นวาทะจากจิตวิญญาณที่เขย่าโลก เพราะมันเป็นคำพูดที่มาพร้อมการกระทำอันเป็นแบบอย่าง จึงมีพลังถึงขั้นสามารถกระตุ้นปลุกความเมตตาในจิตใจของผู้ใฝ่ธรรมทั้งหลายให้ลุกโชน ตื่นรู้จากความเห็นแก่ตัวที่ปกปิดห่อหุ้มจิตวิญญาณให้มืดบอดหลับใหล

เมตตาอันล้ำลึกคืออะไร?
แม้เราเกลียดท่าน ท่านยังเมตตา
แม้เราทำร้ายท่าน ท่านยังรักใคร่
แม้เราแล้งน้ำใจต่อท่าน ไม่เคารพท่าน
ท่านก็ยังเอาชีวิตของท่านรับใช้เพื่อประโยชน์แห่งเราทุกคน

นี่มิใช่หรือ ที่เรียกว่า ‘ความเมตตาอันล้ำลึก’ เท่าที่มนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งสามารถยกระดับจิตวิญญาณของตนไปถึงได้ คนธรรมดาย่อมกลายเป็นคนไม่ธรรมดา หรือมหาบุรุษได้ หากมีความมุ่งมั่นในการปรับเปลี่ยนจิตวิญญาณของตนเพียงพอ

หากแม้น ชีวิตคือบทสนทนาไม่รู้จบ กับเหล่า ‘บุคคลต้นแบบ’ ของตนเอง นิยามใหม่ของชีวิต ย่อมมิใช่สิ่งใดอื่น… นอกจากการใช้เวลาทั้งชีวิตของตนเอง เพื่อถมเต็ม ‘ช่องว่าง’ ระหว่างจิตวิญญาณของตน กับจิตวิญญาณของมหาบุรุษเหล่านั้น ผู้มีเมตตาอันล้ำลึก และเป็น ‘บุคคลต้นแบบ’ ของตนนั่นเอง

จงภูมิใจเถิดว่า ครั้งหนึ่งพวกเราเคยมีชีวิตร่วมสมัยเดียวกับมหาบุรุษคนล่าสุดของแผ่นดินสยาม

สุวินัย ภรณวลัย
Suvinai Pornavalai

‘รัดเกล้า’ ย้ำ!! รัฐฯ ตั้งเป้าลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือน ร้อยละ 80 พร้อมเดินหน้าฟื้นเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายให้ ปชช.

(13 ต.ค. 66) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ธนาคารออมสิน ซึ่งกำกับดูแลโดยกระทรวงการคลัง เดินหน้าแก้ไขปัญหา และลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือน โดยเฉพาะปัญหาหนี้สินของประชาชนรายย่อย ตลอดจนให้ความรู้ทางการเงิน และพัฒนากำลังคน เพื่อรองรับการทำงานตามนโยบายรัฐบาลในอนาคต ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายและย้ำถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย แก้ปัญหาหนี้ภาคประชาชน โดยให้ดำเนินการให้ได้เร็วที่สุด

นางรัดเกล้า กล่าวว่า เพื่อเป็นการขานรับนโยบายของรัฐบาล ธนาคารออมสินจึงได้จัด โครงการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวันนวมินทรมหาราช วันที่ 13 ตุลาคม 2566 มาตรการแก้ไขหนี้ตามนโยบายรัฐบาลเพื่อลูกหนี้รายย่อยธนาคารออมสิน เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากการผ่อนชำระ และลูกหนี้บางส่วนที่มีสถานะ NPLs จากผลกระทบดังกล่าว โดยจะเปิดให้เข้าร่วมโครงการได้จนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2566

สำหรับมาตรการแก้ไขหนี้ดังกล่าว เพื่อช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยสินเชื่อธนาคารออมสิน ด้วยการให้พักชำระเงินต้นและให้ทางเลือกจ่ายดอกเบี้ยตั้งแต่ 25% - 100% แล้วแต่กรณี ตามเงื่อนไขธนาคารและสถานะของลูกหนี้แต่ละรายเมื่อสามารถผ่อนชำระได้ตามเงื่อนไขของมาตรการ ธนาคารจะยกเว้นดอกเบี้ยค้างชำระก่อนเข้ามาตรการให้

รวมถึงลูกหนี้ที่มีสถานะ NPLs อยู่ก่อนวันที่ 30 ธันวาคม 2565 ธนาคารจะชะลอกระบวนการดำเนินคดีตามกฎหมายโดยไม่ฟ้อง ไม่ยึดทรัพย์ ไม่ขายทอดตลาด และไม่ฟ้องล้มละลาย แล้วแต่กรณี โดยให้ผ่อนชำระได้สูงสุด 10 ปี และคิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษตามเงื่อนไขธนาคาร ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่ประสงค์เข้าร่วมมาตรการ สามารถติดต่อธนาคารออมสินสาขาเจ้าของบัญชีเงินกู้ หรือสาขาที่สะดวกได้ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2566

“รัฐบาลผลักดันนโยบายไปสู่การดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหา พลิกฟื้นเศรษฐกิจ และยกระดับชีวิตประชาชน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งเตรียมความพร้อมดำเนินมาตรการต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุดและยั่งยืน ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้สถานการณ์หนี้ครัวเรือนคลี่คลายขึ้นได้ในระยะต่อไปโดยมีเป้าหมายที่จะลดหนี้ภาพรวมให้ลดลงอยู่ในระดับที่ยั่งยืน หรือต่ำกว่า 80% ต่อจีดีพี” นางรัดเกล้า กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top