Saturday, 3 May 2025
TheStatesTimes

‘นายกฯ เศรษฐา’ บินลัดฟ้า หารือทวิภาคีกับ ‘ฮ่องกง’ หวังเดินหน้า EEC เชื่อมโยง เขตเศรษฐกิจ GBA

(9 ต.ค.66) ณ ทำเนียบผู้บริหารสูงสุดฮ่องกง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พบหารือทวิภาคีกับนายจอห์น ลี คา-ชิว (The Honorable John Lee Ka-chiu) ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีมุ่งส่งเสริมพลวัตความร่วมมือของทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ การแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน และความเชื่อมโยง ประเทศไทยและฮ่องกงเป็นพันธมิตรทางการค้า และการลงทุนที่สำคัญ อีกทั้งต่างยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของกันและกันอีกด้วย รวมถึงได้ชื่นชมความสะดวกสบายในการดำเนินธุรกิจ (ease of doing business) ของฮ่องกงด้วย หวังให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือน พร้อมเชิญผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกงเยือนไทยด้วย

ด้านผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง กล่าวว่า ไทยและฮ่องกงมีความสัมพันธ์ที่ดี และเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะมิติด้านเศรษฐกิจ และเทคโนโลยี เพื่อเป็นศูนย์กลางการดำเนินธุรกิจ และจุดหลอมรวมระหว่างตะวันออก และตะวันตกอีกทั้งประตูสู่จีนแผ่นดินใหญ่ จึงเป็นโอกาสที่ดีให้ทั้งสองฝ่ายร่วมกันต่อยอดผลประโยชน์เศรษฐกิจ และการเงินการธนาคาร ในสภาวะความท้าทายที่โลกกำลังเผชิญกับเศรษฐกิจที่ตกต่ำในขณะนี้

โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือที่มีความสนใจร่วมกัน ดังนี้นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ฮ่องกงมีบทบาทที่สำคัญ เชื่อมจีนกับส่วนอื่น ๆ ของโลก ตลอดจนบทบาทในฐานะศูนย์กลางภูมิภาคด้านการค้า การเงิน และบริการ

โดยไทยสามารถเป็นประตูสู่ภูมิภาคอาเซียนให้แก่ฮ่องกง และจีนได้ ซึ่งรวมถึงการเป็นประตูสำหรับธุรกิจ ตลอดจนสินค้า และบริการจากฮ่องกง และจีนได้ จึงหวังที่จะกระชับความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทั้งการค้า การลงทุน และความเชื่อมโยง

ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องที่จะกระชับความร่วมมือด้านนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งฮ่องกงมีความเชี่ยวชาญ และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศไทย เชิญชวนฮ่องกงมาลงทุนในไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่าย

โดยไทยหวังที่จะเดินหน้าความร่วมมือเชิงลึกกับฮ่องกง เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยง และนโยบายการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อประสาน และเชื่อมโยง EEC กับเขตเศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง - ฮ่องกง - มาเก๊า (Greater Bay Area: GBA)

‘รัดเกล้า’ เผย!! ‘ก.อุตสาหกรรม’ มุ่งแก้ปัญหา PM2.5 ยั่งยืน ผุดมาตรการ ‘คุม รับ รุก’ สร้าง ‘อุตฯ สีเขียว’ สอดรับ BCG Model

(9 ต.ค. 66) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รับทราบและไม่ได้นิ่งนอนใจในความกังวลใจของชาวภูเก็ตเรื่องมลภาวะจากโรงงานอุตสาหกรรม จึงได้เดินหน้าสั่งการอุตสาหกรรมจังหวัด ทำการตรวจสอบอย่างใกล้ชิด และกำกับติดตามดูแลตามมาตรการระเบียบและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องทันที

นอกจากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยังย้ำอีกว่ารัฐบาลให้ความสำคัญ และเดินหน้าแก้ไขปัญหา PM2.5 ด้วยมาตรการ ‘คุม รับ รุก’ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้วางวาระ PM2.5 เป็น 1 ใน 5 วาระเร่งด่วน ยกระดับสู่อุตสาหกรรมยั่งยืน รองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่ม อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) และสอดคล้องกับนโยบาย BCG Model

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า มาตรการ ‘คุม รับ รุก’ ได้แก่ 

1.คุม ควบคุมการระบายอากาศเสียจากโรงงาน โดยใช้อำนาจตาม พรบ. โรงงาน แก้กฎหมาย 
2.รับ การรับและรวบรวมข้อมูลด้านมลพิษอากาศจากโรงงานอย่าง Real-time 
3.รุก การตรวจโรงงานเชิงรุก กทม. ปริมณฑล เหนือ

โดย กระทรวงอุตสาหกรรมยังได้ดำเนินมาตรการควบคุมและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองการเชิงรุกกับโรงงานทั่วประเทศที่จำนวนกว่า 7 หมื่นโรงงาน ทั้งการตรวจโรงงานเชิงรุกในพื้นที่ กทม. และ ปริมณฑล ของโรงงานในกลุ่มเสี่ยงแล้วกว่า 896 โรงงาน (กทม. 260 โรงงาน ปริมณฑล 636 โรงงาน) ดำเนินการตรวจโรงงานเชิงรุกในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือจำนวน 668 โรงงาน

รวมทั้งขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้ควบคุมการผลิต และตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของระบบบำบัดมลพิษทางอากาศ ออกกฎหมายควบคุมด้านมลพิษอากาศ ออกกฎหมายกำหนดให้โรงงานบางประเภทที่อาจก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ให้ดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจสอบคุณภาพอากาศจากปล่องแบบอัตโนมัติอย่างต่อเนื่อง (CEMS) ตลอดจนการจัดระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยมลพิษระยะไกล (Pollution Online Monitoring System) เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามาติดตามและตรวจสอบ

“รัฐบาลเร่งยกระดับอุตสาหกรรมไทยสอดรับ BCG Model มุ่งสู่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มและอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) พัฒนาพาอุตสาหกรรมไทยให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มุ่งไปสู่ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงต้องร่วมกับผู้ประกอบการและฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ปรับตัวตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ” นางรัดเกล้าฯ กล่าว

‘สหรัฐฯ’ เคลื่อนเรือรบประชิดชายฝั่งเมดิเตอร์ฯ หนุน ‘อิสราเอล’ ด้าน ‘กลุ่มชีอะห์’ เตือน!! พร้อมลุยฐานทัพสหรัฐฯ หากจุ้นกาซา

(9 ต.ค. 66) ‘ลอยด์ ออสติน’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ออกคำสั่งให้เคลื่อนพลกองเรือรบ เรือบรรทุกเครื่องบินรบ และอากาศยานอื่นๆ เข้าประชิดชายฝั่งด้านตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนแล้ว เพื่อตอบโต้การโจมตีของกลุ่มติดอาวุธฮามาสในอิสราเอล อันเป็นเหตุให้มีชาวอเมริกัน อย่างน้อย 4 คนเสียชีวิต

‘ลอยด์ ออสติน’ ได้กล่าวผ่านสื่อสหรัฐฯ ว่า ได้หารือกับ ‘โจ ไบเดน’ ผู้นำสหรัฐฯ ถึงสถานการณ์ในอิสราเอล และขั้นตอนการยกระดับบทบาทด้านการทหารของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ และในวันนี้ก็มีคำสั่งให้เคลื่อนเรือบรรทุกเครื่องบินรบ USS Gerald R. Ford ที่ได้ชื่อว่าเป็นเรือรบที่ใหญ่ที่สุดในโลก รวมถึงเรือรบติดขีปนาวุธ USS Normandy, USS Thomas Hudner, USS Ramage, USS Carney และ USS Roosevelt เข้าประชิดชายฝั่งตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งใกล้เขตน่านน้ำของอิสราเอล และบริเวณฉนวนกาซา

ด้านฝ่ายกลาโหมสหรัฐฯ ได้พูดคุยกับ ‘โยอาฟ แกลลันต์’ รัฐมนตรีกลาโหมของอิสราเอลว่า สหรัฐอเมริกาพร้อมจะสนับสนุนชาวอิสราเอลจากการโจมตีของกลุ่มฮามาส เพื่อคืนความมั่นคง ปลอดภัยให้แก่อิสราเอล ส่วนยุทโธปกรณ์ด้านการรบ จะมีการขนส่งด่วนมาทางเครื่องบินในอีกไม่กี่วันข้างหน้าอย่างแน่นอน

การเคลื่อนไหวของกลาโหมสหรัฐฯ เกิดขึ้นหลังจากที่โจ ไบเดน ได้พูดคุยกับ ‘เบนจามิน เนทันยาฮู’ นายกรัฐมนตรีอิสราเอล เมื่อวันอาทิตย์ (8 ตุลาคม 66) ที่ผ่านมา โดยรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ให้คำมั่นสัญญากับผู้นำอิสราเอลว่า จะส่งความช่วยเหลือถึงกองทัพอิสราเอลในเร็ววันนี้ และเน้นย้ำว่าสหรัฐฯ จะไม่รับฟังข้ออ้างใดๆ สำหรับการก่อการร้าย และทุกประเทศทั่วโลกต้องแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการต่อต้านการใช้อำนาจนิยมที่โหดร้ายเช่นนี้ อีกทั้งจะยกระดับการติดต่อทางการทูตอย่างเข้มข้นระหว่าง 2 ชาติตลอด 24 ชั่วโมง 

‘สหรัฐอเมริกา’ และ ‘อิสราเอล’ ถือเป็นประเทศพันธมิตรที่แน่นแฟ้นกันมายาวนาน ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ส่งงบประมาณช่วยเหลือด้านการทหารแก่อิสราเอลหลายพันล้านดอลลาร์ในแต่ละปี นับเป็นประเทศที่ได้รับงบประมาณจากสหรัฐอเมริกามากที่สุดประเทศหนึ่ง 

จึงไม่แปลกใจที่สหรัฐอเมริกาจะแสดงจุดยืนสนับสนุนฝ่ายอิสราเอลอย่างชัดเจน และเตรียมความพร้อมที่จะแทรกแซง หากสถานการณ์สงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ขยายวงความรุนแรงจนเกินควบคุม 

แต่ทว่า ด้านกลุ่ม ‘Kata'ib Sayyid al-Shuhada’ กองกำลังติดอาวุธกลุ่มชีอะห์ ในอิรัก ออกมาเตือนว่า หากสหรัฐอเมริกาแทรกแซงสงครามในกาซาเมื่อใด ฐานทัพสหรัฐฯ ทุกแห่งในภูมิภาคแถบตะวันออกกลาง มีความเสี่ยงที่จะถูกโจมตีโดยกองกำลังพันธมิตรของปาเลสไตน์ทันที เพราะปาเลสไตน์ ไม่ใช่ยูเครน ที่สหรัฐอเมริกาจะเข้าแทรกแซงได้ตามอำเภอใจ เพราะความขัดแย้งในดินแดนปาเลสไตน์ และระบอบไซออนนิสต์ มีความละเอียดอ่อนสูงกว่ามาก 

และการแก้ปัญหาด้วยการใช้กำลังทหาร และการเมืองตามแนวทางของสหรัฐอเมริกา ก็อาจไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นมากนัก และเกรงว่าจะยิ่งทับถมปมความขัดแย้งที่ยาวนานมากกว่า 75 ปี ให้ฝังลึกในดินแดนแถบนี้ลงไปอีกนั่นเอง

‘ไทย’ โล่ง!! ผลกระทบการโจมตีอิสราเอลน้อย เชื่อ!! ไม่สะเทือน ‘ส่งออก-ท่องเที่ยว-แรงงาน’

(9 ต.ค.66) ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ประเมินผลกระทบในด้านต่างๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม หลัง ‘อิสราเอล’ และ ‘ปาเลสไตน์’ ได้เปิดฉากการโจมตีใส่กันจนเข้าสู่ภาวะสงคราม โดยระบุว่า…

ประเมินผลกระทบการโจมตีอิสราเอล

หลังจากที่ฮามาสโจมตีอิสราเอล​ และมีการตอบโต้จนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก​ อีกทั้งสถานการณ์​ยังเสี่ยงรุนแรงและยืดเยื้อออกไป​ ผมมองว่าผลกระทบต่อไปมีทั้งทางตรงและทางอ้อม

โดยผลกระทบทางตรง ได้แก่
1.) การส่งออก
2.) การท่องเที่ยว
3.) รายได้แรงงาน

ผลกระทบทางตรงน่าจะจำกัด​ อิสราเอลไม่ใช่คู่ค้าหลักของไทย​ (ส่งออกเน้นสินค้าเกษตร/อาหาร)​ ไม่ใช่กลุ่ม​ท่องเที่ยวสำคัญ​ แต่ให้ระวังด้านการขนส่งทางอากาศ ที่อาจต้องเปลี่ยนเส้นทางในตะวันออกกลางจนกระทบการท่องเที่ยวกลุ่มอื่นๆ อีกทั้งแรงงานไทยที่ไปทำงานที่อิสราเอลเพื่อส่งรายได้เข้าประเทศ​ ยังมีจำนวนมากเป็นอันดับ 2 รองจากไต้หวัน​ (ตรงนี้ต้องไปเช็กต่อที่กระทรวง​แรงงาน​กันดูครับ​ ไม่คอนเฟิร์ม) หรืออาจจะต้องขอดูจำนวนเทียบเกาหลีใต้ หรือประเทศในตะวันออกกลางอื่นๆ (และขอแสดงความเสียใจ​กับครอบครัว​แรงงานไทยที่เสียชีวิตด้วยครับ) ส่วนด้านการลงทุนก็ยังไม่มาก

โดยผลกระทบทางอ้อม
1.) ราคาน้ำมันพุ่ง
2.) เงินวิ่งสู่สินทรัพย์​ปลอดภัย​ (ดอลลาร์​สหรัฐฯ)
3.) ราคาทองคำขึ้น

ผมยังมองว่าผลทางอ้อมไม่น่ารุนแรง​ อิสราเอล​ไม่ใช่ผู้ผลิตน้ำมัน​ อีกทั้งประเทศรอบข้าง​อย่างจอร์แดน​ก็ไม่ได้มีน้ำมันมาก​นัก น่าจะห่วงการขยายวงกว้างไป​อิหร่านหรือซาอุดีอาระเบีย​มากกว่า​ (ตอนนี้ยังไม่มีท่าทีไปไกล)​ หรือจะกระทบการขนส่งน้ำมันดิบผ่านทะเล​เมดิเตอร์เรเนียน​ไปยุโรป​ แต่ก็ทำได้หลายช่องทาง​ (ระวังกระทบการขนส่งสินค้าทางเรือผ่านช่องแคบเช่นคลอง​ Suez และ​ Supply Chain Disruption กลุ่ม​ยานยนต์​ อิเล็กทรอนิกส์)

ผมจึงมองว่าราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นไม่น่าไปไกล​ เว้นแต่ประเทศอื่นเข้าร่วมสงครามนี้​ ส่วนพอน้ำมันพุ่ง​ ทองก็ขึ้นตาม​ ดอลลาร์​สหรัฐฯ ​กลับมาแข็ง เพราะเป็น​ Safe Haven

ที่ผมกังวลต่อตลาดทุน น่าจะมาจากบอนด์ยิลด์​พันธบัตร​รัฐบาลสหรัฐ​ฯ ที่ยังขึ้น​จนเกิดการเทขายสินทรัพย์​เสี่ยง​ บาทเลยอ่อนได้อีก​ และที่ยิลด์ขึ้นน่าจะมาจากข่าวเมื่อวันศุกร์ (6 ต.ค.) ที่ตัวเลขการจ้างงานนอกภาค​เกษตร​ของ​สหรัฐฯ ยังเพิ่ม​ แม้อัตราว่างงานจะคงที่​ 3.8% และอัตราเพิ่มของค่าจ้างจะเริ่มชะลอที่​ +0.2% จากเดือนก่อน​

แต่ยังห่วงว่า ‘เฟด’ อาจขึ้นดอกเบี้ยได้อีกในต้นเดือนพฤศจิ​กายนนี้​ CME​ Fedwatch มองโอกาสขึ้นเพิ่มไปมากกว่า​ 20%แล้ว​ และหากราคาน้ำมันเพิ่มยาว​ ความเสี่ยงเงินเฟ้อสูงก็มี

สรุป​ ผมห่วงปัญหาสงครามในอิสราเอล​จะยืดเยื้อ และลามไปกระทบประเทศอื่นในตะวันออกกลาง​ ที่จะทำให้ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นจนไทยขาดดุลการค้า​ ตลาดการเงินเสียเสถียรภาพ​ บาทอ่อน​ ห่วงการคุมราคาน้ำมันยิ่งทำให้รัฐบาลขาดทุนในกองทุนน้ำมัน​ หนี้เพิ่มไปอีก​ น่าหาทางใช้พลังงาน​ให้มีประสิทธิภาพ​ และอุดหนุนเฉพาะที่จำเป็น​ ผมยังเชื่อว่าสงครามจะจบในไม่ช้า​ แต่ก็ไม่มีใครรู้​ อย่าง ‘สงครามรัสเซีย-ยูเครน’ ที่ลากมาเป็นปีก็ยังทำได้​ เราคงต้องหาทางลดผลกระทบกันดูครับ

‘ข้าวสังข์หยดพัทลุง-ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้’ ขึ้นทะเบียน GI ในมาเลฯ แล้ว ‘กรมทรัพย์สินทางปัญญา’ ลุยผลักดัน สร้างโอกาสต่อยอด-รายได้ในอนาคต

(26 ก.ย.66) สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญามาเลเซีย (MyIPO) ได้ประกาศขึ้นทะเบียน GI ‘ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง’ และ ‘ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้’ ในประเทศมาเลเซียเรียบร้อยแล้ว

ปัจจุบันมีสินค้า GI ไทยได้รับการขึ้นทะเบียนในต่างประเทศ รวม 8 รายการ ครอบคลุมกว่า 30 ประเทศ ได้แก่

1) ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ในสหภาพยุโรป จีน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
2) ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ในสหภาพยุโรป มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
3) กาแฟดอยช้าง ในสหภาพยุโรป และญี่ปุ่น
4) กาแฟดอยตุง ในสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และกัมพูชา
5) เส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสาน ในเวียดนาม
6) ผ้าไหมยกดอกลำพูน ในอินเดีย และอินโดนีเซีย
7) มะขามหวานเพชรบูรณ์ ในจีน และเวียดนาม
8) ลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน ในเวียดนาม

โดยยังมีส้มโอทับทิมสยามปากพนัง อีก 1 สินค้าที่มาเลเซียอยู่ระหว่างพิจารณา

นายนภินทรกล่าวอีกว่า ชาวมาเลเซียบริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก โดยนิยมรับประทานเมนู นาซิ เลอมัก (Nasi Lemak) ซึ่งเป็นข้าวที่หุงกับกะทิและใบเตย รับประทานคู่กับแกงและเครื่องเคียงต่าง ๆ มาเลเซียจึงนำเข้าข้าวจากต่างประเทศกว่า 30% ตามความต้องการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งข้าวไทยได้รับความนิยมในประเทศมาเลเซีย

โดยในปี 2565 ไทยส่งออกข้าวไปประเทศมาเลเซีย มูลค่ากว่า 3,200 ล้านบาท โดย ‘ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้’ ปลูกในฤดูนาปีบนพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ด้วยสภาพพื้นที่เป็นแอ่งกระทะ ขนาดใหญ่ ดินเป็นดินร่วนปนทรายมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ความแห้งแล้ง และความเค็มในดิน ส่งผลให้ข้าวเกิดความเครียดและหลั่งสารหอม ข้าวจึงมีความหอมตามธรรมชาติมากกว่าข้าวจากแหล่งอื่น โดยมีเมล็ดข้าวยาว เรียว ข้าวสารมีเมล็ดใสและแกร่ง เมื่อหุงสุกจะหอมและนุ่ม มีผลผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ รวม 5 จังหวัดกว่า 24,500 ตัน/ปี ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 55 บาท สร้างรายได้กว่า 266 ล้านบาท/ปี

สำหรับ ‘ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง’ ปลูกในจังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นที่ราบกว้าง เหมาะสำหรับปลูกข้าว มีแหล่งน้ำจากทะเลสาบสงขลาหนุน และมีการทับถมของตะกอน ทำให้ข้าวสังข์หยดมีคุณภาพดี เมล็ดข้าวเรียวเล็ก อ่อนนุ่ม ข้าวกล้องมีสีแดงจนถึงแดงเข้ม ข้าวสารมีสีขาวปนแดงแกมชมพูเป็นเอกลักษณ์ มีผลผลิตข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง 8,000 ตัน/ปี สร้างรายได้กว่า 104 ล้านบาท/ปี

กรมทรัพย์สินทางปัญญา ยังคงเดินหน้าส่งเสริมสินค้า GI ไทยขึ้นทะเบียน GI ในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าให้กับผู้ประกอบการ GI สร้างรายได้ให้กับชุมชนและรายได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของไทยได้อย่างยั่งยืนต่อไป

‘บิ๊กก้อง’ นำทัพบุกค้น 114 เป้าหมาย ทลายปืนเถื่อนทั่วประเทศ หลังพบซื้อ-ขายเกลื่อนออนไลน์ เร่งสกัดจับ ป้องกันเหตุสลดซ้ำ

(9 ต.ค. 66) ที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. นำกำลังตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ รวมทั้งชุดปฏิบัติการพิเศษ ‘หนุมานกองปราบ’ กว่า 800 นาย ปล่อยแถวระดมเพื่อกวาดล้างอาชญากรรม

โดยเป้าหมายมุ่งเน้นไปที่การจับกุมผู้จำหน่าย และผู้ลักลอบใช้หรือพกพาอาวุธปืนเถื่อน และอาวุธปืนไทยประดิษฐ์ รวมทั้ง แบลงค์กัน หรืออาวุธปืนดัดแปลง ซึ่งปฏิบัติการมีขึ้นใน 47 จังหวัด รวม 114 เป้าหมายทั่วประเทศ

พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวว่า ได้สั่งการให้ตำรวจสอบสวนกลางทุกกองบังคับการในสังกัด จัดกำลังชุดปฏิบัติการออกระดมกวาดล้างหาเป้าหมายแหล่งอาชญากรรม มุ่งเป้าไปที่การจับกุมผู้จำหน่ายอาวุธปืนเถื่อน และผู้ที่พกพาอาวุธปืนผิดกฎหมาย หลังจากที่ผ่านมามีการลักลอบใช้อาวุธปืนเถื่อน อาวุธปืนติดมือ หรือแม้กระทั่งปืนถูกกฎหมายไปก่อเหตุร้ายในหลายพื้นที่

พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวต่อว่า ล่าสุดเกิดคดีเด็กวัย 14 ปี ก็นำอาวุธปืนแบลงค์กันไปก่อเหตุกราดยิงในศูนย์การค้า จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ซึ่งพบว่าอาวุธปืนเถื่อนส่วนมาก มีการซื้อขายกันผ่านระบบออนไลน์ จึงต้องเร่งกวาดล้างจับกุมอาวุธปืนอย่างเร่งด่วน ส่วนผลการตรวจค้นจะมีการสรุปผล และแจ้งให้ทราบต่อไป

‘คน 14 ตุลา’ ชี้!! 50 ปีผ่านไปคนไทยเป็นหนี้หนักขึ้น ‘ค่าครองชีพพุ่ง-ระบบทุนนิยม’ ฉุดรั้ง!! ลืมตาอ้าปากยาก

เวทีเสวนาหลัง 50 ปี 14 ตุลาชี้คนไทยเป็นหนี้มากขึ้น ช่องว่างคนรวย-คนจนยิ่งชัด เผยคนไทยกว่า 4.8 ล้านคน รายได้ต่ำกว่าเดือนละ 2,800 บาท อยู่ใต้เส้นความยากจน แนะแก้ปัญหาระยะสั้นต้องเอาอย่างจีน พุ่งเป้าดึงก้าวข้ามเส้นความยากจน

(9 ต.ค. 66) มูลนิธิสถาบันวิชาการ 14 ตุลา จัดเสวนา 50 ปี 14 ตุลา โดยมี รองศาสตราจารย์ วิทยากร เชียงกูล คณบดีกิตติคุณและอดีตคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้นำเสนอ ‘ทิศทางการแก้ปัญหาความยากจนของไทยหลัง 50 ปี 14 ตุลา’

รองศาสตราจารย์วิทยากรกล่าวว่า ยุคนี้รายได้คนไทยดีกว่าเมื่อ 50 ปีก่อน แต่ถ้ายึดค่าครองชีพเป็นตัววัด สมัยก่อนเด็กจบใหม่สามารถเก็บเงินซื้อบ้านได้ แต่สมัยนี้เด็กจบใหม่ไม่มีปัญญาซื้อบ้าน เพราะค่าครองชีพสูง แม้ว่ารายได้สูงจริง แต่ค่าครองชีพสูง ทำให้แต่ละเดือนมีเงินไม่พอใช้ หนี้ก็มากขึ้น 

“ผ่าน14 ตุลา 16 มา 50 ปี คนเป็นหนี้มากขึ้น แต่คนมองว่าเป็นเครดิต รัฐบาลก็มองเหมือนกันว่าเป็นหนี้มากเป็นเครดิต แต่ความจริงเป็นหนี้มากต้องใช้หนี้ ถ้าไม่นับตัวเงินโดยรวมคิดว่าแย่ลง เพราะตัวเงินเหมือนกับรายได้สูงขึ้น แต่ค่าครองชีพสูงตาม รวมทั้งความแตกต่างระหว่างคนรวยมาก ๆ คนชั้นกลางกับคนจนก็มีมากขึ้น” รองศาสตราจารย์วิทยากรกล่าว    

อดีตคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิตมองว่า ระบบทุนนิยมสร้างปัญหามาก ถึงแม้จะอ้างว่า ทำให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้คนมีรายได้ มีเครื่องอุปโภคบริโภคมากขึ้นเมื่อเทียบกับสมัยก่อน แต่ถ้าเปรียบกับคุณภาพชีวิต การกระจายทรัพย์สินและรายได้ มันคือระบบของการกดขี่ ขูดรีด ซึ่ง คาร์ล มาร์กซ พูดไว้นานแล้วว่า คนรวยยินดีจะช่วยคนจนทุกอย่าง ยกเว้นลงมาจากหลังคนจน โดยนำเอาโครงการประชานิยมต่าง ๆ มาสารพัด แต่ไม่ยอมเปลี่ยนโครงสร้าง เขายินดีบริจาค ยินดีมีประชานิยมแบ่งให้ 

รองศาสตราจารย์วิทยากรกล่าวอีกว่า ความยากจนที่แท้จริง คือความยากจนทางด้านทรัพย์สิน เพราะรายได้เป็นเรื่องที่มาทีหลัง และทรัพย์สินคือตัวที่ก่อให้เกิดรายได้ เพราะฉะนั้นคนรวยก็จะได้ทั้งค่าเช่า ดอกเบี้ย และกำไร ส่วนคนจนได้แต่ค่าแรงงาน ซึ่งถูกกดขี่โดยระบบที่นายทุนมีอำนาจมากกว่า โดยระบบทุนนิยมครอบงำทุกเรื่อง แม้ทางเศรษฐศาสตร์ทำให้เราเชื่อว่าระบบทุนนิยมดีที่สุด และระบบสังคมนิยมล้มเหลว หรือระบบอื่นไม่มีแล้ว ทำให้เราต้องพยายามไล่ตามให้ทัน โดยกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่พัฒนาเศรษฐกิจมา 50 ปี เรากลับทำลายทรัพยากรมากขึ้น 

“สมัย 14 ตุลา เราคิดว่าประชาธิปไตยคือระบบรัฐสภา ต่อมาเราก็คิดว่าระบบรัฐสภาไม่ดี สังคมนิยมน่าจะดีกว่า แต่เราก็คิดแบบสังคมนิยมอย่างง่าย ๆ คือยึดอำนาจรัฐขึ้นมาแล้วแบ่งปัน แต่เราต้องสร้างประชาชนให้เป็นนักสังคมนิยมด้วย เป็นคนที่จิตใจมีอุดมคติเพื่อส่วนรวม ซึ่งความจริงไม่ขัดแย้งกับเรื่องส่วนตัว เพราะในระยะยาวทุกอย่างจะเป็นประโยชน์ต่อทุกคน” ดร.สถิตย์ กล่าว

ด้าน ดร.สถิตย์ ลิ่มพงษ์พันธ์ สมาชิกวุฒิสภาและอดีตปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ผ่านมา 50 ปีเราก็ยังอยู่ในวังวนกับปัญหาความยากจน แม้ว่าเราพยายามหาทางแก้ไข โดยเส้นความยากจนของไทยยังอยู่ที่ 2,800 บาท ต่อคน ต่อเดือน และมีคนไทยประมาณ 4.8 ล้านคนอยู่ใต้เส้นนี้ ถ้าจะแก้ปัญหาแบบพุ่งเป้าก็ต้องพุ่งเป้าไปที่ 4.8 ล้านคนว่าทำอย่างไรให้คนเหล่านี้ก้าวข้ามเส้นความยากจน ระบบการพุ่งเป้าเป็นการแก้ไขปัญหาแบบจีน โดยจีนจะสำรวจว่าในประเทศมีคนจนกี่คน อยู่ตรงไหน สาเหตุของความยากจนคืออะไร แล้วเข้าไปแก้ไขปัญหาให้กับคนจนเหล่านั้น ในชุมชนเหล่านั้นแบบพุ่งเป้า 

อดีตปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวอีกว่า การแก้ไขความยากจนในระยะสั้นต้องใช้วิธีการแบบจีน โดยกำหนดไปเลยว่าตำบลไหน อำเภอไหน จังหวัดไหนมีคนจนกี่คน และเราจะไปแก้ปัญหาความยากจนด้วยการสร้างทักษะอย่างไร ให้ที่ทำกินเขาอย่างไร ให้เทคโนโลยีทางด้านการเกษตรเข้าไปช่วยอย่างไร และช่วยให้ผลผลิตทางการเกษตรออกสู่ตลาดอย่างไร รวมทั้งตั้งเป้าว่า คนจนที่พุ่งเป้าในแต่ละปีควรจะลดลงเหลือเท่าใด และกี่ปีจะหมดไป ถ้ามองปัญหาในเชิงจุลภาคที่จะเข้าไปแก้ไขเราต้องใช้วิธีการแบบนี้ ใครจน และจะช่วยคนจนอย่างไร ซึ่งการช่วยเหลือคนจนแบบพุ่งเป้าเป็นการช่วยเหลือชุมชนด้วย  

ด้าน ดร.พีรพล ตริยะเกษม ประธานมูลนิธิสถาบันวิชาการ 14 ตุลา และอดีตนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาความยากจนของไทย ต้องทำอย่างไรให้คนอยู่ดีกินดีและใครที่มีความรับผิดชอบตรงนั้น เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็ต้องทำให้เกษตรมีความสำคัญมากๆ ไม่ใช่ทำเฉพาะเรื่องของอาหารสะอาดอย่างเดียว แบบนี้ยังไม่พอ หรือกินอาหารแค่ปลอดภัยเท่านั้น แต่ต้องทำอาหารปลอดภัยออกมาสู่ตลาด หรือถ้าทำเป็นออร์แกนิคได้ก็จะดี ซึ่งงานเหล่านี้เกี่ยวพันกับหลายหน่วยงาน จะต้องมีการจัดการให้เหมาะสม ทั้งการส่งเสริมรักษาสิ่งแวดล้อม หรือการจัดการในเรื่องของการเตือนภัยต่างๆ ซึ่งจะต้องสอนให้เกษตรกรรู้ถึงปัญหา

ประธานมูลนิธิสถาบันวิชาการ 14 ตุลา กล่าวอีกว่า ระบบการศึกษาของไทยที่เน้นการศึกษาแบบธุรกิจควรจะหันมาดูแลเรื่องวิชาการด้วย เพื่อให้เกษตรกรรู้ว่าจะต้องทำอะไร เช่น การเตือนภัย ซึ่งการให้คำแนะนำรัฐบาลทำได้เลย ส่วนการแก้ไขปัญหาหนี้ต้องแก้ครั้งเดียว ทั้งการสร้างทรัพย์สิน สร้างเครื่องมือหากินให้กับเกษตรกร และต้องหาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาสู่ตลาด โดยให้ความรู้ ให้การศึกษากับเกษตรกร 

“ส่วนตัวอยู่ในระหว่างการศึกษาปลูกกัญชา โดยทดลองปลูกในโรงเรือนประมาณ 500 ต้นได้ผลผลิตประมาณ 12 กิโลกรัมในครั้งแรก และครั้งที่ 2 ประมาณ 18 กิโลกรัม ราคาประมาณ 80 ดอลลาร์/กิโลกรัม หากใช้หลักวิทยาการมาปลูกแต่ละครอปที่ใช้เวลา 3 เดือน ก็อาจจะลดลงเหลือเพียง 2 เดือนครึ่ง ซึ่งหากเกษตรกรลงมือทำแบบนี้ก็จะช่วยให้เขาสามารถปลูกได้หลายครอปขึ้น และมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ปัญหาคือ ตลาดรองรับผลผลิตที่ออกมา ซึ่งรัฐต้องหาให้เขา อาจจะมีนิคมที่ส่งเสริมให้ต่างชาติเข้ามารับซื้อไปผลิตยา หรือมีตัวเลือกอื่น ที่สร้างความมั่นจว่าเมื่อผลผลิตออกมาแล้วต้องมีตลาดให้กับเกษตรกร” ดร.พีรพล กล่าว

นางมาลีรัตน์ แก้วก่า อดีตสมาชิกวุฒิสภา เสนอว่า การแก้ไขปัญหาความยากจน ทั้งภาครัฐ และภาคประชาสังคม ประชาชนจะต้องให้ความร่วมมือ ซึ่งที่ผ่านมาประชาชนให้ความร่วมมือค่อนข้างเด่นชัดอยู่แล้ว โดยเฉพาะอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ที่ฝ่าวิกฤตโควิด-19 มาได้ และสารพัดอาสาสมัครต่างๆ ที่ให้ความร่วมมือกับภาครัฐมาด้วยดีตลอด ขณะที่ภาครัฐเองโดยเฉพาะนักการเมืองไม่ได้ใส่ใจปัญหาของประชาชนอย่างแท้จริง และเห็นว่าต้นแบบของการแก้ไขปัญหาอยู่ที่การศึกษาของคนไทย

“ยกตัวอย่างโรงเรียนชัยพัฒนาซึ่งสร้างองค์ความรู้ทักษะการดำเนินชีวิตการจัดการเศรษฐกิจรวมถึงการตลาดโดยเอานักเรียนขึ้นมาบริหารโรงเรียนเองและนักเรียนของโรงเรียนนี้จะต้องเสียค่าเรียนปีละ 100,000 บาทก็ไม่ต้องจ่ายเป็นเงิน แต่เปลี่ยนมาใช้เป็นวิธีการปลูกต้นไม้ทดแทนปีละ 400 ต้นและทำความดีในชุมชน การทำความดีก็ต้องเขียนบันทึกความดีแล้วไปแจ้งต่อคณะกรรมการชุมชนให้รับทราบ สิ่งเหล่านี้เป็นตัวอย่างในการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาความยากจน และปัญหาการศึกษาให้กับคนไทย ที่สำคัญคือการแก้ปัญหาหรือป้องกันปัญหาทางด้านสุขภาพเพราะหากสุขภาพไม่ดีเงินที่หามาได้ทั้งชีวิตก็จะถูกใช้จ่ายไปกับการรักษาสุขภาพ” อดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าว

ด้านอดีตประธานวุฒิสภา นายสุชน ชาลีเครือ กล่าวว่า เรื่องที่น่าสนใจและควรจะห่วงใยคือเรื่องเงินดิจิตอลที่กำลังจะออกมา ซึ่งต้องให้ความสำคัญในเรื่องการต่อยอดจากเงินดิจิตอลที่กำลังพูดถึง เพราะมีการดึงมวลชนออกมา

“คณะที่ออกนโยบายเรื่องนี้เขาต้องการจะต่อยอดกระบวนการขับเคลื่อนตรงนี้ ซึ่งเขาก็ทำได้ดี ยกตัวอย่างเช่นการจับต่อยอดจากโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค จนถึงขณะนี้เราต้องยอมรับว่าคนในภาคอีสานจดจำและรัฐบาลที่ทำเรื่องนี้เขาทำได้อย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผล แต่พวกเราที่ทำงานมาโดยตลอด แต่อาจจะขาดช่วงความคิดที่จะปฏิรูปสังคมขับเคลื่อนเศรษฐกิจแผนใหม่ ดังนั้นเราอาจจะต้องหันไปมองดูเพื่อนบ้านอ่าง เวียดนาม ว่าทำไมเขาถึงเจริญรุดหน้าเราได้เร็ว เรื่องบางเรื่องเราควรจะต้องให้น้ำหนัก โดยเฉพาะกิจกรรมต่างๆ ว่าเราจะเดินหน้ากันอย่างไรเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนหลังจาก 50 ปี 14 ตุลาที่เราเดินมา” อดีตประธานวุฒิสภา กล่าว

นายประเดิม ดำรงเจริญ อดีตหัวหน้าพรรคเครือข่ายชาวนาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาของไทยจะต้องยกภูมิศาสตร์ของประเทศขึ้นมาเป็นตัวตั้ง ว่าประเทศไทยอยู่ในเขตไหน เหมาะสมที่จะทำอะไร การเกษตรตรงไหน การท่องเที่ยวตรงไหน และทำไปได้อย่างไรกับการที่ปล่อยให้นักการเมืองเปิดโอกาสให้มีการสร้างเขตอุตสาหกรรมในเขตปากน้ำ เช่นที่สมุทรปราการ เพราะเขตเกษตรอุตสาหกรรม หรือเขตอุตสาหกรรมควรอยู่ในพื้นที่ห่างไกล เช่น โคราชหรือดงพญาเย็น

“เราจะต้องพิจารณาจากสภาพภูมิศาสตร์ว่าเหมาะสมกับอะไร ที่สำคัญเกษตร นายทุน รัฐบาล ทั้ง 3 ฝ่ายจะต้องมาร่วมกันแก้ปัญหาด้วยกัน ต้องยอมรับว่าปัจจุบันนี้เกษตรกรไทยลดลงเหลือแค่ไม่เกิน 10% จากจำนวนประชากรทั้งหมดโดยภาคเกษตรที่หายไปกลายมาเป็นแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมทั้งสิ้น” นายประเดิม กล่าว

“พิพัฒน์” เผย ข่าวดี แรงงานล็อตแรกจากอิสราเอลกลับถึงไทย 12 ต.ค. นี้ พร้อมสั่งการทูตแรงงาน เยี่ยมให้กำลังใจพี่น้องแรงงานชาวไทย ณ ศูนย์อพยพ ณ ประเทศอิสราเอล

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ในนาม รัฐบาลไทย ภายใต้การนำของท่านนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน มีความยินดีที่แจ้งข่าวดีสำหรับพี่น้องแรงงานชาวไทย ที่ภายหลังสถานการณ์ความรุนแรงในประเทศอิสราเอลตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม ที่ผ่านมา

กระทรวงต่างประเทศ และ กระทรวงแรงงาน ได้ร่วมทำงานอย่างหนักเพื่อดำเนินการอพยพพี่น้องแรงงานไทยไปยังจากพื้นที่สู้รบไปยังพื้นปลอดภัย พร้อมวางแผนในการดำเนินการอพยพพี่น้องแรงงานชาวไทยกลับสู่ประเทศไทย

โดยในวันที่ 9 ตุลาคม ทางรัฐบาลไทยได้รับข่าวดี และ ยืนยันในการนำพี่น้องแรงงานไทยกลุ่มแรก จำนวน 15 คน กลับสู่ประเทศไทยโดยแบ่งเป็น 2 เที่ยวบิน โดยเที่ยวบินแรก LY081 จำนวน 5 คน และ เที่ยวบินที่สอง LY083 จำนวน 10 คน โดยพี่น้องแรงงานชาวไทย จะเดินทางถึง สนามบินสุวรรณภูมิ ในวันที่ 12 ตุลาคม โดยเที่ยวบินแรกจะถึงในเวลา 10.35 น. และ เที่ยวบินที่สองเวลาในเวลา 12.35 น.

และ นายพิพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมาย อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ประจำสถานเอกอัครราชฑูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล ในการเดินทางเยี่ยม และ ให้กำลังใจ พี่น้องแรงงานที่อพยพมาจากเขตสู้รบ มายัง ศูนย์หลบภัยแรงงาน ของประเทศอิสราเอล ซึ่งมีพี่น้องแรงงานไทยที่อพยพมาพำนักประมาณ 256 คน

รมต.เกษตรฯ เตรียมศึกษาและพัฒนา Gene Bank เพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ข้าว

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2566 เวลา 14.00 น. ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานของศูนย์ปฏิบัติการและเก็บเมล็ดเชื้อพันธุ์ข้าวแห่งชาติ (ศขช.) หรือ Gene Bank โดยมี นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี   พลตำรวจโท คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี  เข้าร่วม ณ ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี กองวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว ตำบลรังสิต อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี

Gene Bank หรือธนาคารเชื้อพันธุ์ เป็นการรักษาและอนุรักษ์ความหลากหลายทางพันธุกรรม (Genetic Diversiy) ของพืชหรือสัตว์ ที่มีลักษณะพันธุกรรมที่น่าสนใจ เช่น มีความต้านทานโรคสูง เป็นชนิดพันธุ์ดั้งเดิม รวมทั้งเป็นชนิดพันธุ์ที่กำลังจะสูญหายไป เพื่อใช้ประโยชน์ในอนาคต สำหรับศูนย์ปฏิบัติการและเก็บเมล็ดเชื้อพันธุ์ข้าวแห่งชาติ (ธนาคารเชื้อพันธุ์ข้าว) เป็นศูนย์วิจัยข้าวแห่งแรกของประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2524 โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น มีหน้าที่ในการพัฒนาและปรับปรุงการผลิตข้าว รวบรวม อนุรักษ์ ทรัพยากรพันธุกรรมข้าวไทย รวบรวมข้อมูลประวัติและลักษณะประจำพันธุ์ข้าว ศึกษา ค้นคว้า และวิจัย ด้านการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรพันธุกรรมข้าว พร้อมให้บริการข้อมูลและเมล็ดเชื้อพันธุ์ข้าว มีการดำเนินงานในการฟื้นฟูเชื้อพันธุ์ข้าว 2,000 เชื้อพันธุ์ต่อปี บริการเมล็ดเชื้อพันธุ์ข้าว เชื้อพันธุ์ละ 5 กรัม ปี โดยในปี 2561 – 2566 ให้บริการ 106 ราย รวม 2,388 เชื้อพันธุ์ ส่งเมล็ดเชื้อพันธุ์ข้าวไปฝากเก็บที่ธนาคารเมล็ดพันธุ์พืชโลกสวาลบาร์ด ราชอาณาจักรนอร์เวย์ 7 ครั้ง รวม 1,239 เชื้อพันธุ์ ปัจจุบันมีเชื้อพันธุ์ข้าวเก็บรักษาไว้ประมาณ 24,000 เชื้อพันธุ์ แบ่งเป็น ข้าวพื้นเมือง 18,000 เชื้อพันธุ์ ข้าวสายพันธุ์ดี 2,000 เชื้อพันธุ์ ข้าวพันธุ์รับรอง 100 เชื้อพันธุ์ ข้าวสายพันธุ์ต่างประเทศ 3,000 เชื้อพันธุ์ และข้าวป่า 1,000 เชื้อพันธุ์ ใน Gene Bank แห่งนี้ มีห้องเก็บเมล็ดเชื้อพันธุ์ข้าว 2 ระยะคือ 1) ห้องอนุรักษ์ระยะสั้น (อุณหภูมิ 15 °C ความชื้นสัมพัทธ์ไม่เกิน 60%) เก็บรักษาได้ประมาณ 3 – 5 ปี และ 2) ห้องอนุรักษ์ระยะปานกลาง (อุณหภูมิ 5 °C ความชื้นสัมพัทธ์ไม่เกิน 60%) เก็บรักษาได้ประมาณ 20 ปี

โอกาสนี้ ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าวว่า “Gene Bank เป็นส่วนสำคัญที่ตั้งอยู่ที่ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี มีความสำคัญในการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ข้าว แต่เนื่องจากมีอายุการใช้งานที่เก่าแก่ และมีสภาพชำรุดทรุดโทรม ทำให้ไม่สามาถดำเนินการได้เต็มศักยภาพ อย่างไรก็ตาม การพัฒนาการผลิต ทั้งด้านงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้สามารถแข่งขันด้านการส่งออก จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาศูนย์แห่งนี้ให้มีความทันสมัย สามารถปฏิบัติการได้เต็มศักยภาพ จะส่งผลให้ได้พันธุ์ที่มีผลผลิตสูง เพิ่มรายได้ให้ชาวนาต่อไป” 

ทั้งนี้ จังหวัดปทุมธานีมีพื้นที่เกษตรกรรม 353,308.17 ไร่ (36.66% ของพื้นที่ทั้งหมด) เป็นพื้นที่เพาะปลูกพืช 332,992.02 ไร่ ได้แก่ ข้าว 248,536.81 ไร่ ไม้ผล 35,895.55 ไร่ ไม้ยืนต้น 15,418.63 ไร่ พืชผัก 21,445 ไร่ ไม้ดอกไม้ประดับ 6,093.14 ไร่ พืชไร่ 3,837.77 ไร่ สมุนไพร 1,765.13 ไร่ และพื้นที่ประมง 20,316.15 ไร่ มีพื้นที่ชลประทาน 501,937 ไร่ และไม่มีพื้นที่เกษตรกรรมนอกเขตชลประทาน อย่างไรก็ตาม จังหวัดปทุมธานีได้ยกย่องให้ข้าวหอมปทุมธานี (ข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1) เป็นสินค้าเกษตรที่สำคัญ และเป็นสินค้า GI ของจังหวัดปทุมธานี มีลักษณะเด่น คือ เป็นพันธุ์ข้าวที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์และคัดเลือกพันธุ์ ณ ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี มีลักษณะทางกายภาพ คือ เปลือกข้าวข้าวสีฟาง รูปทรงเมล็ดข้าวเรียว ยาว จมูกข้าวเล็ก เนื้อเมล็ดข้าวมีสีขาว ผิวค่อนข้างมัน เมื่อสุกแล้วข้าวนุ่มค่อนข้างเหนียวและมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ปลูกและผลิตในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เข้าพูดคุยรับฟังปัญหาจากแกนนำสมัชชาคนจน พร้อมสั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลความปลอดภัยให้กับผู้ชุมนุม

วันนี้ (9 ต.ค.66) เวลา 17.30 น. ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วยนายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และนายมงคลชัย สมอุดร รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้เข้าพบปะพูดคุยกับนายบารมี ชัยรัตน์ แกนนำกลุ่มสมัชชาคนจน กับผู้แทนชาวบ้านกลุ่มต่างๆ ที่บริเวณถนนลูกหลวง ข้างกระทรวงศึกษาธิการ แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ เพื่อรับฟังปัญหาที่กลุ่มผู้ชุมนุมได้มีการเรียกร้องให้รัฐบาลให้ความช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาปากท้องและความยากจน และปัญหาที่ดินทำกิน โดยมีมวลชนมาชุมนุมประท้วงจำนวน 2,000 คน โดยพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้ร่วมฟังปัญหา และขอให้ชุมนุมกันอย่างสันติ โดยให้ความมั่นใจกับผู้ชุมนุมว่า จะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลความปลอดภัยให้กับผู้ชุมนุม ในส่วนของปัญหาที่ชาวบ้านเรียกร้องให้มีการขับเคลื่อนการช่วยเหลือนั้น ร.อ.ธรรมนัส ได้รับเรื่องเพื่อจะนำข้อหารือที่ได้พูดคุยกัน นำเสนอ นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการนายกรัฐมนตรี ในการพิจารณาแก้ไขปัญหาร่วมกับพี่น้องประชาชนต่อไป

นอกจากนี้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ พร้อมด้วย นายมงคลชัย ได้เดินทางเข้าพูดคุยกับกลุ่ม P-Move โดยได้มีการรับฟังปัญหาเพิ่มเติมเกี่ยวกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่เกาะหลีเป๊ะ และบางกลอย ซึ่วประสบปัญหาเรื่องที่ดินพิพาทที่ใช้อยู่อาศัยและทำมาหากิน ซึ่ง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้รับทราบปัญหาและให้ความมั่นใจกับพี่น้องประชาชนว่า รัฐบาลจะเร่งแก้ปัญหาให้กัยพี่น้องประชาชนแน่นอน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top